๏ จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิ์ฦๅจบสยบสยอน |
แสยงเกล้ากลอกกลัวทั่วนคร |
ดังไกรสรสิงหราชกาจฉกรรจ์ |
นอนอยู่บนเตียงเมื่อเที่ยงคืน |
ผวาตื่นอกใจไหวหวั่น |
แต่นอนเดียวเปลี่ยวกายมาหลายวัน |
ให้กระสันเสียวจิตรคิดถึงเมีย |
อนิจจาอ้ายขุนช้างช่างร้างรัก |
เฝ้าแต่ควักดวงใจเอาไปเสีย |
มันก็เป็นนํ้ามิตรมันผิดเมีย |
แกล้งทำเยียทรยศขบถใจ |
ยังมิหนำซ้ำไปทูลยุแยง |
ว่าปีนกำแพงพาราออกมาได้ |
เป็นคราวเคราะห์เพราะกรรมนำพระทัย |
เผอิญมิให้ไต่ถามความจริงจัง |
ทรงพิโรธโปรดปรับเอาเป็นผิด |
จนลาวทองต้องติดอยู่วังขัง |
ทั้งห้ามเฝ้ามิให้เข้าไปในวัง |
แล้วซ้ำสั่งสาปให้ตระเวนไพร |
ยิ่งคิดดั่งจิตรจะจากร่าง |
อ้ายขุนช้างเจ้ากรรมมันทำได้ |
ถ้ามิทดแทนทำให้หนำใจ |
บรรลัยเสียยังดีกว่ามีชนม์ |
กูจะไปลักวันทองของกูมา |
ถ้าติดตามแล้วจะฆ่าเสียให้ป่น |
เกรงแต่จอมนรินทร์ปิ่นภูวดล |
จะให้ยกรี้พลติดตามไป |
ถ้าเขาไม่เมตตาจะฆ่าฟัน |
จะรับรองป้องกันฉันใดได้ |
มีแต่ตัวพลาดพลั้งลงอย่างไร |
คงบรรลัยแหลกลงเป็นผงคลี |
จะหมายพึ่งผู้ใดที่ในป่า |
เห็นแต่หน้าโหงพรายกับหุ่นผี |
ก็แก่เก่าเศร้าเสื่อมซึ่งฤทธี |
จะต่อตีเห็นไม่ได้ดังใจนึก |
จะตีดาบซื้อม้าหากุมาร |
ให้เชี่ยวชาญวิชาได้ฝ่าศึก |
ถ้าสามสิ่งนี้ได้สมอารมณ์นึก |
จะอึกทึกมาอย่างไรก็ไม่กลัว |
คิดคิดเดือดดาลให้พล่านพลุ่ง |
จนอุทัยใกล้รุ่งขมุกขมัว |
ก็ล้างหน้าหาเครื่องสำหรับตัว |
เรียกตาบัวคนเก่าให้เข้ามา |
กูจะไปราชการที่ด่านไพร |
เจ้าเป็นผู้ใหญ่อยู่เคหา |
แต่ผู้เดียวกูจะดั้นอรัญวา |
จะเร็วช้าเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ |
สั่งกำชับจับเครื่องเข้าใส่ย่าม |
กับเงินสามสิบใส่ในไถ้หู |
เหน็บกฤชที่ประสิทธิประสาทครู |
พอเช้าตรู่ก็ตรงเข้าดงดอน |
เที่ยวค้นคว้าหาของที่ต้องอย่าง |
นอนค้างไปตามตรอกซอกสิงขร |
เข้าบ้านกะเหรี่ยงข่าละว้ามอญ |
สู้ซอกซอนซุกซนเที่ยวด้นไป ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนายเดชกระดูกดำ |
อยู่บ้านถ้ำตั้งกองเป็นซ่องใหญ่ |
ได้เป็นที่หมื่นหาญชาญไชย |
เป็นหัวไม้มีฝีมือเลื่องฦๅชา |
สูงเกือบสี่ศอกตากลอกโพลง |
หนวดโง้งงอนปลายทั้งซ้ายขวา |
ขอบตาแดงฉาดดังชาดทา |
เนื้อแน่นหนังหนาดูน่ากลัว |
ผมหยิกหยักศกอกเป็นขน |
ทรหดอดทนมิใช่ชั่ว |
ปลุกเสกเครื่องฝังไว้ทั้งตัว |
เป็นปมปุ่มไปทั่วทั้งกายตน |
อยู่ปืนยืนยงคงอาวุธ |
เหยียบสะดุดขวากปักก็หักป่น |
มีทหารตัวดียี่สิบคน |
ล้วนอยู่ยงคงทนทุกคนไป |
โคกระบือช้างม้าทั้งข้าคน |
ออกเกลื่อนกล่นพลุกพล่านในบ้านใหญ่ |
เหย้าเรือนหลายหลังคับคั่งไป |
เครื่องใช้โต๊ะตั้งดังต่างกรม |
มีสาวสาวลาวไทยใช้สะพรั่ง |
ล้วนกำลังรุ่นรวยดูสวยสม |
หอนั่งปูเสื่ออ่อนหมอนพรม |
เครื่องนากเงินทองถมทุกสิ่งมี |
ได้นางสีจันทน์เป็นภรรยา |
มีลูกสาวชื่อว่านางบัวคลี่ |
พึ่งรุ่นสาวราวสักสิบเจ็ดปี |
ดูผ่องสีสำอางดังนางใน |
เจ้าเมืองกรมการบ้านบนบน |
แต่งคนมาขอพ่อไม่ให้ |
ได้ดูแลบ่าวข้าต่างตาใจ |
คุมคนทำไร่ไม่เว้นวัน |
ถ้าแม้นแขกแปลกหน้าเข้ามาบ้าน |
พวกทหารจับจำไว้แข็งขัน |
พอพลบค่ำแล้วก็พาไปป่าพลัน |
เอาไปฟันฝังดินให้สิ้นความ |
คนที่หนีเจ้าเหล่าลักช้าง |
ถ้าแหวกวางเข้าในซ่องที่ต้องห้าม |
ถึงเจ้าของมองเห็นไม่หาญตาม |
ต้องหาล่ามถอนไถ่ไปเป็นชนวน ฯ |
๏ ครานั้นบัวคลี่ศรีใส |
ครั้นรุ่งเรียกบ่าวไพร่ไปไร่สวน |
หนุ่มสาวบ่าวหลามตามเป็นพรวน |
ไปรดพวนผักผลทุกต้นไป |
เอาจอบเจาะเฉาะช่องเป็นร่องน้ำ |
แล้วปลูกทำหอห้างไว้กลางไร่ |
พอร่มร้อนนอนนั่งสบายใจ |
คอยบังคับข้าไทให้ทำการ ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนศักดา |
เที่ยวมาทุกตรอกออกทุกบ้าน |
เดินตัดลัดป่ามาช้านาน |
มาถึงไร่หมื่นหาญเข้าทันใด |
เห็นตัดต้นยูงยางลงขวางลำ |
แล้วปักทำเขื่อนขอบไว้รอบไร่ |
แลเห็นคนทำงานพลุกพล่านไป |
ประหลาดใจลัดแลงแฝงเข้ามา |
แลเห็นตัวบัวคลี่อยู่ที่ห้าง |
สำอางนวลละอองผ่องผิวหน้า |
พึ่งรุ่นสาวกะทัดรัดจำรัสตา |
ทั้งทรงศรีกิริยาก็น่าชม |
ตะลึงลืมปลื้มปลาบให้วาบใจ |
อยากจะใคร่เป็นคู่ได้สู่สม |
เป็นกุศลดลจิตรคิดนิยม |
ปลงอารมณ์รักใคร่ใจผูกพัน |
พินิจน้องก็ต้องตำรับนัก |
เห็นประจักษ์แจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
ถ้าเกิดบุตรหัวปีมีด้วยกัน |
แม่นมั่นคงเป็นชายเหมือนหมายมา |
นี่จะเป็นลูกเต้าเหล่าผู้ใด |
มีบ่าวไพร่ใช้สอยเป็นหนักหนา |
ทำไฉนจะได้แจ้งแห่งกิจจา |
จะเข้าหาถามไถ่บ่าวไพร่ดู |
คิดแล้วแหวกหนามข้ามเข้าไร่ |
พวกลาวไทยนั่งเล่นเป็นหมู่หมู่ |
แลเห็นแขกแปลกหน้ามาด้อมดู |
ทั้งชายหญิงวิ่งพรูมาเป็นทิว |
บ้างโบกมือร้องบอกให้ออกไป |
เข้ามาไยทางนี้อ้ายผีผิ่ว |
ลูกสาวท่านอยู่ห้างข้างต้นงิ้ว |
ไม่รู้ตัวหัวจะปลิวไปจากกาย |
เขาร้องบอกยังไม่ออกไปทางอื่น |
มายืนตาปริบปริบอ้ายฉิบหาย |
คุณพ่อดุราวกับเสือเหลือร้าย |
จะมาตายเสียเปล่าไม่เข้าการ ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนศักดา |
ได้ฟังคำบ่าวข้ามันว่าขาน |
แกล้งทำยอบตัวเหมือนกลัวลาน |
ดีฉานมิได้ทราบว่าผู้ใด |
ต้องกำราบปราบปรามห้ามผู้ชาย |
นี่ลูกสาวเจ้านายบ้านเมืองไหน |
ฉันเป็นคนชาวดงอยู่พงไพร |
ขออภัยเถิดที่เดินเกินเข้ามา |
อ้ายพวกบ่าวลาวไทยได้ฟังเสียง |
เห็นสำเนียงทั้งจริตผิดชาวป่า |
จึงร้องบอกออกไปมิได้ช้า |
ถ้าบิดาท่านมาเห็นไม่เป็นการ |
นี่เซอะซะเซ่อซ่ามาแต่ไหน |
แม่บัวคลี่นี้ไซร้ลูกหมื่นหาญ |
มิได้กลัวรั้วแขวงกรมการ |
ใครพ้องพานแล้วเอาตายเสียหลายคน |
เอ็นดูดอกบอกเจ้าจะเอาบุญ |
ถ้าเจ้าคุณท่านมาเห็นไม่เป็นผล |
จงเร่งหลีกออกไปเสียให้พ้น |
เจ้าเป็นคนมีอัชฌาข้าปรานี ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
ได้แจ้งจิตรชื่อตัวว่าบัวคลี่ |
เป็นลูกสาวหมื่นหาญอยู่บ้านนี้ |
เป็นคนดีมีฝีมือเลื่องฦๅดัง |
จะบนบานบ่าวไพร่ให้ชักสื่อ |
ไม่พ้นมือคงจะสมอารมณ์หวัง |
กลัวแต่จะไม่ได้กันจริงจัง |
ตาพ่อจะคลั่งฉีกแหกแตกกันไป |
ครั้นสู้รบตบมือจะอื้อฉาว |
แตกร้าวเสียเปล่าเปล่าไม่เข้าได้ |
จะไม่สมน้ำจิตรที่คิดไว้ |
จำจะไปทอดสนิทกับบิดา |
สู้ถ่อมตนทนให้แกใช้สอย |
อยู่สักหน่อยก็จะรักเราหนักหนา |
คงจะยกให้เป็นภรรยา |
ไม่เคืองเข็ญเห็นว่าจะได้การ |
คิดแล้วลาลุกเดินบุกป่า |
ลัดดงตรงมาบ้านหมื่นหาญ |
ถึงศาลาหน้าตรอกนอกทวาร |
ค่อยบอกกล่าวชาวบ้านนั้นเข้าไป |
อ้ายพวกซ่องมองเห็นเขม้นมา |
ก็คุกคามถามว่าจะไปไหน |
ขุนแผนบอกออกพลันในทันใด |
นายเขาใช้เต็มทีก็หนีมา |
หมายจะพึ่งอยู่ในซ่องของเจ้าคุณ |
ได้พึ่งบุญป้องกันไปวันหน้า |
อ้ายพวกซ่องว่าถ้าจริงดังเจรจา |
อยู่ศาลาอย่าเที่ยวซุกซนไป |
แม้นเซอะเซ่อเร่อตรงเข้าวงบ้าน |
พวกทหารเขามาจับแล้วตับไหล |
เราจะไปบอกกล่าวชาวข้างใน |
ให้เข้าไปเรียนท่านหมื่นหาญนาย |
ว่าแล้วลุกตรงเข้าวงบ้าน |
บอกกล่าวเหล่าทหารสิ้นทั้งหลาย |
ว่ามีคนหลบลี้หนีมุลนาย |
หมายจะมาพึ่งบุญเจ้าคุณเรา |
พวกทหารไต่ถามได้ความจริง |
ก็วิ่งเข้าไปประนมก้มเกล้า |
ว่ามีชายหนีนายมานั่งเซา |
ฉันห้ามไว้มิให้เข้าในประตู |
นายซ่องได้ฟังสั่งทหาร |
ไปเอาตัวมาบ้านกูดูหรู |
ทหารรับจับหอกวิ่งออกพรู |
เข้าลากถูฉุดแขนขุนแผนมา |
ขึ้นไปหมอบลงศอกอยู่นอกชาน |
หมื่นหาญนิ่งพินิจพิศดูหน้า |
เพื่อนเป็นคนเคยดูรู้ตำรา |
เห็นลักขณาราศีดีแยบคาย |
มิใช่คนเซอะซุนสถุลชาติ |
เนื้อละเอียดอ่อนสะอาดประหลาดหลาย |
คงเล่นเบี้ยเสียถั่วเสียวัวควาย |
เต็มประดาก็ตะกายเซอะเซิงมา |
คิดแล้วคุกคามร้องถามไป |
เป็นข้าเจ้าบ่าวใครที่ไหนหวา |
มึงชื่อเรียงเสียงไรไปไหนมา |
จึงเซ่อซ่าซมซานมาบ้านเรา ฯ |
๏ ขุนแผนบอกออกความไปตามแนว |
ฉันชื่อแก้วอยู่กองข้างหกเหล่า |
ราชการด่านทางไม่บางเบา |
เหนื่อยเข้าเต็มทีก็หนีซน |
ทั้งพ่อแม่ภรรยาก็หาไม่ |
ยากไร้สารพัดจะขัดสน |
จึงดื้อดั้นดงรามเพราะความจน |
กลัวจะหนีเขาไม่พ้นเที่ยวซนมา |
หมายจะมาอยู่ในซ่องของเจ้าคุณ |
ได้พึ่งบุญคุ้มกายไปภายหน้า |
ถ้าเจ้าคุณปรานีมีเมตตา |
ฉันจะอยู่เป็นข้าจนบรรลัย |
พลางเป่าละลวยล่องให้ต้องพาน |
ถูกหมื่นหาญงวยงงสิ้นสงสัย |
เพราะฤทธิเดชเวทมนตร์เข้าดลใจ |
ให้รักใคร่ขุนแผนแม้นลูกตน |
นี่แน่เจ้าเราจะอยู่ด้วยกันไป |
ถ้าเห็นใจเถิดจะปลูกให้เป็นผล |
ถ้าแม้นจิตรคิดคดทรชน |
คงจะป่นลงเป็นแป้งในแขวงเรา |
ว่าแล้วจัดเคหาให้อาศัย |
ให้ยายไข่เป็นคนหาปลาข้าว |
ขุนแผนทำกลัวหมอบพินอบพิเทา |
แกล้งลงเข่าลงศอกหลอกทุกวัน |
ตาหมื่นหาญรักใคร่เอาใช้ชิด |
มิได้คิดขึ้งเคียดเดียดฉันท์ |
ลูกเมียข้าคนใช้ปนกัน |
ขุนแผนกลั้นอกใจไม่วี่แวว |
นางบัวคลี่เรียกพี่ทุกคำปาก |
หาหมากพลูบุหรี่ให้พี่แก้ว |
ท่านผู้หญิงก็เอ็นดูไม่รู้แกว |
ไม่เห็นแววโว้เว้สักเวลา ฯ |
๏ ครานั้นหมื่นหาญชำนาญไพร |
คิดจะไปเที่ยวยิงกระทิงป่า |
เรียกนายพลายแก้วนั้นเข้ามา |
เจ้าจะไปกับข้าฤๅว่าไร |
ขุนแผนรับเจ้าคะจะไปด้วย |
หมื่นหาญฉวยเอาย่ามมายื่นให้ |
กับหอกครํ่าสำหรับไปเที่ยวไพร |
แล้วสวมใส่เสื้อกั๊กกางเกงดำ |
เต้าชนวนเขนงคาดเอวมั่น |
แกหยิบปืนสุตันส้นครํ่า |
กระสุนสามบาทชาติพันลำ |
แบกนำหน้าตรงเข้าพงไพร |
ขุนแผนถือหอกออกตามหลัง |
เข้าดงรังลัดมาตามป่าไผ่ |
แลเห็นวัวแดงเข้าแฝงไม้ |
ย่องเข้าไปแอบโคนต้นลำแพน |
เทดินหูผลับหับหน้าเพลิง |
สอดเซิงซุ้มหวายแกหมายแม่น |
ยกประทับกับไหล่ไม่คลอนแคลน |
ไม่รู้ตัววัวมันแหงนขึ้นกินชัน |
ลั่นนกตบฉับหน้าเพลิงฉาด |
ประกายปราดลั่นเปรี้ยงเสียงสนั่น |
ยิงผิดวัวขวิดมาสวนควัน |
หมื่นหาญหันล้มผางลงกลางแปลง |
วัวกระทิงวิ่งถึงทะลึ่งโชน |
ขุนแผนโผนจับคางง้างเขาแข็ง |
วัวกระทบคนกระทั่งกำลังแรง |
วัวขวิดคนแข็งไม่วางกัน |
หลบเขาลอดขาคว้าจับหาง |
ชุลมุนวุ่นวางดังกังหัน |
โลดไวหลบหวิดขวิดไม่ทัน |
วัวแหงนขุนแผนถลันเข้าคั้นคอ |
วัวโดดคนแดกกระแทกเฮือก |
นัยน์ตาเหลือกล้มปุบลงฟุบข้อ |
หมื่นหาญซ้ำด้วยหอกเข้าซอกคอ |
ร้องมอมอล้มผางลงกลางดิน |
กลับทะลึ่งตึงตังกำลังเดือด |
กระทอกเลือดกระแทกล้มกระดิกดิ้น |
เลือดไหลโซมสาดลงดาษดิน |
กลิ้งเกลือกเสือกดิ้นจนสิ้นใจ ฯ |
๏ หมื่นหาญถอนหอกแล้วออกปาก |
หากออแก้วมาด้วยช่วยแก้ไข |
โจนเข้าจับรับรองไว้ว่องไว |
กูจึงมิบรรลัยในดงดาน |
แกขัดใจไม่เถือเนื้อกระทิง |
แทงทิ้งเสียเถิดเจ้าเราไปบ้าน |
แล้วจับปืนขึ้นบ่ามาลนลาน |
เดินง่านงกงกบุกรกมา |
เลาะลัดบัดเดี๋ยวก็มาถึง |
ขึ้นบันไดเดินดึ่งเข้าเคหา |
ทิ้งปืนผางพลางบอกกับภรรยา |
พี่ไปป่าเคราะห์ร้ายแทบวายชนม์ |
เล็ดลอดดอดไปยิงกระทิงผิด |
มันสวนควันไล่ขวิดมาติดก้น |
เจ้าแก้วเข้าประจันไม่ทันชน |
เราสองคนช่วยกันมันถึงตาย |
ถ้าคนอื่นไกลมิใช่แก้ว |
เห็นแววชีวิตจะฉิบหาย |
คุณเขาอยู่กับเราก็มากมาย |
แน่ท่านยายข้าจะว่าอย่าน้อยใจ |
จำต้องเกื้อหนุนแทนคุณเขา |
ออบัวคลี่ลูกเราจะยกให้ |
เห็นสมผัวสมเมียอย่าเสียใจ |
ยายจะเห็นเป็นอย่างไรให้ว่ามา ฯ |
๏ ฝ่ายท่านยายสีจันทน์ครั้นได้ฟัง |
ก็สมดังมุ่งมาดปรารถนา |
ด้วยแกรักพลายแก้วดังแววตา |
ครั้นผัวปรึกษาก็ดีใจ |
จึงตอบว่าตามใจจะให้ปัน |
สุดแต่ท่านฉันไม่ขัดทัดทานได้ |
ถ้าเห็นดีแล้วไม่ห้ามตามแต่ใจ |
ด้วยมิใช่ทรพลชาติคนพาล |
ครั้นผัวเมียปรึกษาว่ากันแล้ว |
เรียกเจ้าแก้วเข้ามาแล้วว่าขาน |
เจ้าจะอยู่กับข้าไปช้านาน |
ฤๅจะคิดกลับบ้านประการใด |
ข้าจะคิดฝังปลูกเป็นลูกเต้า |
ออบัวคลี่ลูกเราจะยกให้ |
ฤๅไม่ชอบใจกันฉันใด |
อย่าเกรงใจบอกความตามจริงจัง ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ได้ฟังแล้วตอบไปด้วยใจหวัง |
ฉันลำบากยากจนคนเซซัง |
ท่านจะคิดปลูกฝังเป็นลูกชาย |
ถ้าเจ้าคุณเอ็นดูจะอยู่ด้วย |
กว่าจะม้วยเป็นผีไม่หนีหาย |
ฉันเป็นคนกำพร้าเอกากาย |
หมายจะฝากชีวิตไม่คิดไป ฯ |
๏ หมื่นหาญสีจันทน์ภรรยา |
ได้ฟังว่ายินดีจะมีไหน |
ก็จัดแจงเคหาเรียกข้าไท |
ให้เข้าไปปูปัดจัดเรือนชาน |
เครื่องโอโถกระถางกระโถนถาด |
ตั้งในเรือนเกลื่อนกลาดสะอาดสะอ้าน |
โต๊ะตั้งปิ่นโตเตียบทั้งโตกพาน |
มุ้งม่านฟูกหมอนที่นอนดี |
ก็พร้อมเครื่องประดับสำหรับห้อง |
กระโถนขันคันฉ่องกระจกหวี |
จะสวดมนต์ก็ขัดวัดไม่มี |
เราเซ่นผีเซ่นสางอย่างบุราณ |
ท่านยายสีจันทน์ผู้มารดา |
ก็จัดแจงข้าวปลากระยาหาร |
เนื้อหมูปูปลาสุราบาน |
ก็สำเร็จเสร็จการทุกสิ่งอัน ฯ |
๏ รุ่งขึ้นวันพฤหัสก็จัดแจง |
ตกแต่งเซ่นวักแล้วทักขวัญ |
จึงอวยพรสอนสั่งสารพัน |
ให้กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงกันจนบรรลัย |
ครั้นเซ่นวักตักแต่งสำเร็จแล้ว |
ให้เจ้าแก้วเข้าอยู่ในเรือนใหญ่ |
ก็มอบทรัพย์เงินตราทั้งข้าไท |
ท่านผู้เถ้าเข้าไปปูที่นอน |
เจ้าพลายแก้วประนมก้มกราบไหว้ |
ท่านผู้ใหญ่อยู่หลังแล้วสั่งสอน |
ครั้นสั่งสิ้นเสร็จสรรพก็กลับจร |
พอสิ้นแสงทินกรลงทันใด ฯ |
๏ เวลาดึกสงัดกำดัดนอน |
พระจันทรแจ่มจัดจำรัสไข |
ท่านยายสีจันทน์นั้นเข้าไป |
ประโลมไล้ลูกสาวแล้วกล่าววอน |
ดวงใจเจ้าจะไปอยู่กับผัว |
รักษาตัวทำตามแม่สั่งสอน |
พอสมควรเวลาอย่าอาวรณ์ |
แม่จะจรพาเจ้าไปส่งตัว ฯ |
๏ ครานั้นนวลนางบัวคลี่ |
ยังทุกข์ร้อนเต็มทีจะมีผัว |
ได้ฟังคำมารดาประหม่ากลัว |
แม่ทูนหัวของลูกได้เมตตา |
แม่จะไปมอบหมายให้ชายเชย |
ลูกไม่เคยมีคู่รู้เดียงสา |
ได้โปรดก่อนผ่อนผันเถิดมารดา |
ช้าช้าสักหน่อยจึงค่อยไป ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายสีจันทน์ |
รับขวัญลูกพลางทางปราศรัย |
ประเวณีมีผัวกลัวอะไร |
ไปเถิดแก้วตาอย่าอาวรณ์ |
อันซึ่งการประเวณีไม่มีครู |
กลัวจะรู้เสียหนักไม่พักสอน |
ประเดี๋ยวใจได้สุขสิ้นทุกข์ร้อน |
พ่อแม่มาแต่ก่อนก็เหมือนกัน |
เมื่อยายเจ้าเอาแม่ไปส่งตัว |
พอเข้าชิดคิดกลัวจนตัวสั่น |
พ่อแกช่างฉอเลาะออเซาะครัน |
เฝ้าวอนว่าสารพันจะเอาใจ |
แม่ฟังไม่เท่าไรใจก็รัก |
ไม่ช้านักก็ต้องหย่อนผ่อนลงให้ |
ประเวณีเช่นนี้แต่ไรไร |
จึงมีลูกเต้าได้ไปออกเต็ม |
ไม่ต้องเรียนต่อครูดอกรู้ง่าย |
เหมือนหนึ่งด้ายร้อยสนเข้าก้นเข็ม |
ที่ยังพึ่งหัดเย็บต้องเก็บเล็ม |
พอรู้รสหมดเล่มก็แล้วกัน |
ไปเถิดแก้วตาอย่าอาวรณ์ |
ลูกผัวเขาคงสอนให้ผ่อนผัน |
ไม่ช้านักสักครู่ได้รู้กัน |
ไก่ขันขึ้นมาแล้วแก้วแม่อา |
แกเร่งรัดจัดแจงให้แต่งตัว |
อาบน้ำหวีหัวแล้วผัดหน้า |
ครั้นเสร็จแล้วนำนางเยื้องย่างมา |
เข้าในห้องเคหาด้วยทันที ฯ |
๏ ครานั้นพลายแก้วแววสวาดิ |
นิ่งอนาถนอนคอยเจ้าบัวคลี่ |
มิได้หลับได้นอนค่อนราตรี |
เหตุไฉนป่านฉะนี้ยังมิมา |
ได้ยินเสียงสายยูประตูกริก |
ขยับพลิกตัวยกผงกหน้า |
มองเขม้นเห็นท่านผู้มารดา |
พานางมาส่งลงจากเตียง |
ท่านมารดาเข้าไปถึงในห้อง |
ค่อยเมียงมองกระแอมไอแล้วให้เสียง |
ด้วยกระจ่างแจ่มแจ้งแสงตะเกียง |
นางค่อยเมียงมารดาคลาไคล |
ครั้นถึงที่ชนนีก็ลงนั่ง |
เจ้าพลายตั้งเทพนมก้มกราบไหว้ |
เจ้าบัวคลี่แฝงม่านพล่านพลุ่งใจ |
ด้วยยังไม่เคยชายอายเต็มที |
ท่านมารดาว่ากับเจ้าพลายพลัน |
ให้กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงกันจนเป็นผี |
สารพัดโรคาอย่ายายี |
ให้คับคั่งมั่งมีขึ้นทุกวัน |
ลูกข้ายังเด็กเล็กหนักหนา |
เจ้าอุตส่าห์สั่งสอนค่อยผ่อนผัน |
ทั้งสองจงเป็นสุขทุกนิรันดร์ |
ไก่กระชั้นเซ็งแซ่แม่จะลา |
เจ้าพลายแก้วคำนับรับพรพลัน |
ท่านสีจันทน์ลุกออกนอกเคหา |
นางยึดไว้มิให้แม่ไคลคลา |
มารดาปลอบนางให้วางพลัน |
พอเลี่ยงลับหับห้องแล้วย่องหนี |
เจ้าบัวคลี่นึกกลัวจนตัวสั่น |
คิดจะตามมารดามาไม่ทัน |
พลายแก้วกั้นนางไว้มิให้มา |
เจ้าบัวคลี่มิอาจจะออกได้ |
อ่อนละไมแฝงม่านเข้าเมียงฝา |
เจ้าพลายรับขวัญจำนรรจา |
มานั่งนิ่งก้มหน้าอยู่ว่าไร |
นี่แน่เจ้าพี่จะเล่าความจริงจิตร |
ได้พินิจน้องนางที่กลางไร่ |
กำเริบรักหนักหน่วงในดวงใจ |
จึงมาให้ท่านใช้ไม่คิดกลัว |
ทั้งนี้เพราะกุศลเข้าดลใจ |
ท่านยกให้เลี้ยงกันฉันเมียผัว |
จงผ่อนปรนสนทนาเถิดอย่ากลัว |
พอต้องตัวเข้าเท่านั้นก็สั่นงก ฯ |
๏ ครานั้นบัวคลี่ศรีใส |
วาบใจค่อนค่อนสะท้อนอก |
ชายกระทบกระทั่งถูกเหมือนลูกนก |
งันงกตกประหม่าไม่พาที |
เจ้าพลายแก้วเห็นนางระคางจิตร |
กระหมุดกระหมิดหมางเมินสะเทินหนี |
จึงแคะค่อนวอนว่าได้ปรานี |
มิพอที่จะมาอายระคายใจ |
แนบนางพลางเป่าละลวยลม |
เสกประสมเนตรนางทางปราศรัย |
พี่รักเจ้าเท่าเทียมชีวาลัย |
จะค้อนควักผลักไสไปไยมี |
แล้วอุ้มนางขึ้นวางกลางที่นอน |
วิงวอนหยอกเย้าเจ้าบัวคลี่ |
จงผินผันหันหน้ามาข้างนี้ |
เสียแรงพี่รักเจ้าเท่าดวงใจ ฯ |
๏ ครานั้นบัวคลี่ศรีสมร |
เห็นปลอบวอนค้อนติงไม่นิ่งได้ |
ทำสะบัดเบือนหน้าแล้วว่าไป |
อะไรนี่มาเฝ้าแต่เซ้าซี้ |
ก็รู้ว่าคุณพ่อยอยกให้ |
จะไปไหนพ้นมือฤๅขาพี่ |
จงงดน้องไว้สักสองสามราตรี |
ประเวณีอย่างไรฉันไม่เคย ฯ |
๏ เจ้าพลายแก้วฟังนางทางว่าวอน |
จะผัดผ่อนไยเล่าเจ้าพี่เอ๋ย |
แก้วตาอย่าปรารมภ์การชมเชย |
ถึงไม่เคยก็จะรู้ในครู่เดียว |
ว่าพลางทางเป่าเทพรัญจวน |
ให้ปั่นป่วนซาบซ่านในทรวงเสียว |
จูบแก้มแนมนมเข้ากลมเกลียว |
อย่าบิดเบี้ยวไปให้บอบระบมกาย |
เจ้าบัวคลี่ต้องอาคมลมละลวย |
อ่อนระทวยด้วยคาถาประหม่าหาย |
แต่ร้อนรักหนักจิตรให้คิดอาย |
ชม้อยชม้ายเมินหน้าไม่พาที |
เจ้าพลายแก้วกอดน้องสะพ้องสะพัก |
นางก็ผลักข่วนหยิกแล้วพลิกหนี |
เจ้าพลายต้องนางป้องพอเป็นที |
สองฤดีเดือดดิ้นอยู่แดยัน ฯ |
๏ เจ้าพลายแก้วสมสู่อยู่ด้วยน้อง |
ไม่เคืองข้องรังเกียจเดียดฉันท์ |
แต่ฝากตัวหมื่นหาญมานานวัน |
จนบัวคลี่มีครรภ์ได้หลายเดือน |
เขาทำมาหากินสิ้นทั้งบ้าน |
พวกทหารบ่าวทาสออกกลาดเกลื่อน |
เจ้าพลายแก้วนิ่งดูอยู่กับเรือน |
ทำเสมือนมืดมนคนไม่เคย ฯ |
๏ ครานั้นสีจันทน์ท่านหมื่นหาญ |
ดูอาการเจ้าพลายนายลูกเขย |
งานการสิ่งใดไม่ทำเลย |
ช่างเฉยเมยดูดายมาหลายเดือน |
กูประมาทคาดผิดคิดว่าดี |
ช่างย่อยยับอัปรีย์ไม่เทียมเพื่อน |
มัวนอนมุดคุดคู้อยู่กับเรือน |
จะให้เตือนด้วยศอกดอกฤๅไร |
ครั้นผัวเมียปรึกษาว่ากันแล้ว |
เรียกนายพลายแก้วเข้ามาใกล้ |
เดี๋ยวนี้เจ้าคิดอ่านประการใด |
จึงจะได้เลี้ยงตนจนมรณา |
ไม่ดูเยี่ยงพวกเราเหล่าทหาร |
เห็นได้การสิ่งไรก็ไปหา |
เที่ยวปล้นวิ่งชิงชัยก็ได้มา |
ทั้งเงินตราผ้าผ่อนแลแพรพรรณ |
วัวควายช้างม้าคว้าเอาสิ้น |
เขาถอนไถ่ได้กินทุกสิ่งสรรพ์ |
ไม่ลำบากยากเย็นเว้นแต่ละวัน |
มาจัดแจงแบ่งปันกันบ่อยไป |
ตัวเจ้ามาอยู่บ้านก็นานช้า |
เงินสักเฟื้องหนึ่งก็หามาไม่ได้ |
ไม่อับอายขายหน้ากับข้าไท |
แกล้งดูใจเจ้ามาเป็นช้านาน ฯ |
๏ ครานั้นพลายแก้วแกล้วกล้า |
จึงตอบวาจาตาหมื่นหาญ |
ฉันคิดจะมอบกายจนวายปราณ |
หมายว่าท่านจะชุบเลี้ยงฉันเที่ยงแท้ |
ถ้าผิดชอบสิ่งไรให้สอนสั่ง |
แม้นมิฟังถ้อยคำของพ่อแม่ |
ถ้าขืนขัดบิดเบือนแกล้งเชือนแช |
ก็ตามแต่ท่านจะทำให้หนำใจ |
ซึ่งลักช้างขโมยคนปล้นตีบ้าน |
ล้วนแต่การโจรกรรมไม่ทำได้ |
ถ้าเกิดเหตุเภทพาลประการใด |
ไม่ให้ร้อนถึงท่านจะรับแทน ฯ |
๏ ครานั้นหมื่นหาญชำนาญป่า |
ครั้นได้ฟังวาจาเจ้าขุนแผน |
ชิชะพูดแก้เอาตามแกน |
เจ้านี้แสนรู้หลักสักเพียงไร |
อันพวกทหารในบ้านกู |
คนเดียวก็สู้สิบคนได้ |
ล้วนอยู่ยงคงทนทุกคนไป |
จะฟันแทงสักเท่าไรไม่ไหวติง |
เหมือนตัวเองอ้อนแอ้นแค่นอวดอ้าง |
ดูกิริยาท่าทางอย่างผู้หญิง |
จะสู้รบใครได้ไม่เห็นจริง |
แต่ลมพัดก็จะกลิ้งลงกลางดิน ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน |
ฟังหมื่นหาญบริภาษประมาทหมิ่น |
อวดทหารชาญชัยใจทมิฬ |
ว่าอยู่สิ้นทุกคนทนทาน |
ยิ้มแล้วเจ้าพลายแก้วแกล้วกล้า |
จึงตอบวาจาตาหมื่นหาญ |
ถึงอยู่ยงคงทนพ้นประมาณ |
ไม่พอการฉานยังไม่ชอบใจ |
ที่เรี่ยวแรงแข็งขันฟันไม่เข้า |
จะนับเอาว่าดียังไม่ได้ |
ถ้าเขารุมแทงฟันตะบันไป |
คงช้ำในหักป่นไม่พ้นตาย |
ถ้าแม้นมาดอาจหาญการวิชา |
ต้องแคล้วคลาศสาตราสิ้นทั้งหลาย |
ให้ยัดปืนยืนยิงเข้ารอบกาย |
ไม่ระคายปลายขนสักนิดเดียว ฯ |
๏ ครานั้นหมื่นหาญชำนาญป่า |
ได้ฟังพลายแก้วว่านัยน์ตาเขียว |
อ้ายนี้อวดหยิ่งจริงจริงเจียว |
เออประเดี๋ยวจะเล่นให้เห็นกัน |
แกลุกตรงลงบันไดไปกลางบ้าน |
เรียกทหารบ่าวข้าจ้าละหวั่น |
ให้ยัดปืนเคยถือครบมือกัน |
มาลองลั่นชันสูตรเจ้าตัวดี |
ทหารฟังนายว่ามาคว้าปืน |
ขึ้นยืนยัดปัศตันขมันขมี |
ขึ้นนกสองชั้นไว้ทันที |
พร้อมทั้งยี่สิบบอกวิ่งออกมา |
หมื่นหาญเรียกพลายแก้วแจ้วแจ้วไป |
เป็นกระไรไม่ใคร่ลงจากเคหา |
อย่าหลอกเล่นไม่ได้ให้รีบมา |
ถ้าวิชาดีครันอย่าพรั่นพรึง |
แม้นแคล้วคลาศสาตราเหมือนว่าจริง |
ถึงปืนยิงก็ไม่ถูกสักลูกหนึ่ง |
ถ้าไม่ดีเหมือนหมายตายแล้วมึง |
จะปรุเป็นรวงผึ้งทั้งกายา |
พลายแก้วได้ฟังทำนั่งนิ่ง |
จะยิงจริงเจียวฤๅคุณพ่อขา |
ของดก่อนผ่อนพักสักเวลา |
ได้ฤกษ์พาสักหน่อยจึงค่อยลอง |
หมื่นหาญฮึดฮือมือชี้หน้า |
เจรจาอวดอย่างไรไอ้จองหอง |
แม้นมิลงมาจริงให้ยิงลอง |
กูจะถองเสียให้ยับขับจากเรือน ฯ |
๏ ครานั้นพลายแก้วแกล้วกล้า |
แกล้งล้อพ่อตาจนหน้าเฝื่อน |
เห็นแกเรียกหลายคำแล้วซ้ำเตือน |
ทำค่อยเลื่อนลดลงบันไดไป |
ด้วยพูดดังพลั้งจิตรผิดถ้อยคำ |
มิให้ทำท่านจะถองต้องขับไล่ |
แล้วลุกเดินมาพลันด้วยทันใด |
อย่าขัดใจเลยเจ้าคะจะให้ยิง |
ปลงอารมณ์โอมอ่านพระคาถา |
ภาวนาตั้งจิตรสนิทนิ่ง |
เป็นหนึ่งแน่วแน่ใจไม่ไหวติง |
พยักหน้าว่าให้ยิงมาพร้อมกัน |
พ่อตาร้องว่าเอาเจ้าทหาร |
จึงยกปืนยืนกรานประทับมั่น |
ยี่สิบบอกกรอกตรงเข้าพร้อมกัน |
ลากลั่นนกฉับวับวับตึง |
เอ็งลั่นกูลั่นควันตรลบ |
หินกระทบปราดเปรี้ยงเสียงผึงผึง |
ยิงแล้วยัดใหม่ใส่ตะบึง |
อึงคะนึงไปทั้งบ้านสะท้านใจ |
ทั้งหญิงชายวิ่งพรูมาดูเล่น |
ควันกลบอยู่หาเห็นเจ้าพลายไม่ |
ที่บางคนสำคัญว่าบรรลัย |
ด้วยมิได้ขาดปืนออกครี้นเครง |
ยิงแล้วยัดใหม่ใส่กระหนํ่า |
รุกรํ่าเอาจนดินสิ้นเขนง |
เจ้าพลายนิ่งตั้งตัวไม่กลัวเกรง |
เหล่านักเลงสั่นหัวกลัวทุกคน |
พวกชาวบ้านว่าท่านนี้ดีจริง |
เขายัดปืนยืนยิงดังห่าฝน |
หมดดินสิ้นลูกไม่ถูกตน |
ไม่ระคายปลายขนคนคีครัน ฯ |
๏ หมื่นหาญเห็นพลายแก้วนั้นแคล้วคลาศ |
คิดขยาดในใจให้ไหวหวั่น |
อ้ายแก้วนี้ฉกาจบังอาจครัน |
เดิมสำคัญว่ามันเคอะเซอะซานมา |
มาหมกคลุมซุ่มอยู่ไม่รู้แจ้ง |
มันมาแกล้งถ่อมตนเหมือนคนบ้า |
กูก็เป็นคนดีมีวิชา |
ยังอ้ายนี่ดีกว่าน่าน้อยใจ |
ดังพญาสีหราชอันกราดเกรี้ยว |
อยู่ถํ้าเดียวสองตัวเห็นไม่ได้ |
ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นให้แน่นใจ |
เดินขึ้นบันไดไปเรือนพลัน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
เป็นหนึ่งแน่วแน่ใจไม่ไหวหวั่น |
สงบปืนลืมตาขึ้นมาพลัน |
แกล้งกลั่นกล่าวว่าเป็นท้าทาย |
เป็นไรไม่ยัดปืนจึงยืนนิ่ง |
จะยิงอีกฤๅไม่เล่าเจ้าทั้งหลาย |
อันชีวิตของข้าอย่าเสียดาย |
จงมุ่งหมายเอาทุกบอกกรอกเข้ามา |
พวกทหารกลัวราบกราบพลายแก้ว |
ลูกดินสิ้นแล้วคุณพ่อขา |
ที่ตั้งใจยิงพ่อขอษมา |
ได้เมตตาอย่าโกรธเอาโทษทัณฑ์ |
พลายแก้วตอบว่าพ่อตาใช้ |
มิใช่เจ้าเหล่านั้นจะเสกสรร |
ขัดไม่ได้จริงจริงต้องยิงกัน |
จะโกรธเจ้าเหล่านั้นด้วยอันใด |
ว่าพลางทางลุกมาผลัดผ้า |
หน้าตาดำดังเขม่าไต้ |
ด้วยดินปืนเปื้อนตัวออกทั่วไป |
เพื่อนมิให้อนาทรร้อนรน |
พวกทหารยิงกว่าห้าร้อยนัด |
มิได้พลัดเข้าไปข้องต้องปลายขน |
พวกทหารสั่นหัวกลัวทุกคน |
ว่าเลิศล้นล้ำมนุษย์เห็นสุดดี |
เจ้าพลายกรายเข้าในเคหา |
หยิบผ้ามาผลัดแล้วขัดสี |
เอานํ้ารดล้างดินสิ้นราคี |
เจ้าบัวคลี่คลอเคล้ามาเอาใจ |
บิดผ้าแล้วพาผัวเข้าห้อง |
นั่งประคองเคียงข้างหาห่างไม่ |
ฝ่ายตาหมื่นหาญรำคาญใจ |
มิได้กินข้าวแลเหล้ายา |
จะนั่งนอนรอนร่ำระสํ่าระสาย |
เรียกท่านยายสีจันทน์มาปรึกษา |
อ้ายแก้วเจนจัดชะงัดวิชา |
มันเก่งกาจเกินหน้าเราขึ้นไป |
มันก็เป็นช้างงาอันกล้าหาญ |
เราก็เป็นคชสารอันสูงใหญ่ |
จะอยู่ป่าเดียวกันนั้นฉันใด |
นานไปก็จะยับอัประมาณ |
ช้างม้าผู้คนแลลูกเมีย |
จะเป็นของมันเสียสิ้นทั้งบ้าน |
แต่เพียงนี้สิยังทำอหังการ |
จะคิดผลาญชีวันมันให้ตาย ฯ |
๏ ครานั้นสีจันทน์ภรรยา |
ได้ฟังว่าอกสั่นขวัญหาย |
มันก็ชาติอสรพิษฤทธิแรงร้าย |
ไม่เหมือนหมายมันจะทำเรารำคาญ |
ถ้าเสียทีเหมือนตีงูให้หลังหัก |
มันคงจักพยาบาทชาติทหาร |
ได้ทำแล้วให้มันตายวายปราณ |
จงตรองจิตรคิดอ่านให้จงดี |
หมื่นหาญว่าเราไม่ฆ่าด้วยอาวุธ |
จะอุตลุดแทงฟันกันอึงมี่ |
มันก็คนมนตร์เวทวิเศษดี |
เราทำทีให้สนิทคิดวางยา |
ว่าพลางทางใช้ให้ทาสี |
ไปเรียกตัวบัวคลี่เข้ามาหา |
ค่อยโลมเล้าเอาใจลูกยา |
พ่อจะถามแก้วตาแต่จริงใจ |
ด้วยพ่อแม่เลี้ยงเข็นมาเป็นตัว |
ส่วนผัวพึ่งมาพบเมื่อเติบใหญ่ |
พ่อจะขอถามเนื้อความใน |
จะรักใครมากกว่าว่าให้จริง ฯ |
๏ ครานั้นบัวคลี่ศรีโสภา |
ตอบว่าตามจิตรไม่คิดกริ่ง |
ฉันไม่แกล้งเจรจาว่าจริงจริง |
ถึงรักผัวก็ไม่ยิ่งเท่าพ่อตัว |
อันสามีเขาจะรักสักเพียงไหน |
ลงบันไดสามขั้นก็ขาดผัว |
ที่ตรงท่านพ่อแม่จนแก่ตัว |
ถึงลูกชั่วฉันใดไม่ขาดกัน |
หมื่นหาญสีจันทน์ภรรยา |
ได้ฟังว่าลูบต้องประคองขวัญ |
เสียแรงพ่อรักเจ้าเท่าชีวัน |
ถ้าจริงจังอย่างนั้นพ่อขอบใจ |
เดี๋ยวนี้พ่อแต่งลูกปลูกเรือนผิด |
จำจะคิดฝังปลูกลูกเสียใหม่ |
อ้ายแก้วมันยากจนคนเข็ญใจ |
จะมิให้เลี้ยงดูอยู่ด้วยกัน |
จะให้เจ้าตั้งตัวมีผัวใหม่ |
จะมอบทรัพย์นับให้ทุกสิ่งสรรพ์ |
เอาที่เขาเป็นผู้ดีมีเผ่าพันธุ์ |
เงินทองกองกันให้ถึงใจ |
เจ้าก็ยังงามปลั่งอยู่ทั้งตัว |
ทำไมกับลูกผัวมีเอาใหม่ |
เราวางยาฆ่ามันให้บรรลัย |
เจ้าจะเห็นเป็นอย่างไรให้ว่ามา ฯ |
๏ ครานั้นบัวคลี่ศรีสมร |
ได้ฟังคำบิดรอ้อนวอนว่า |
กำลังรักพลายแก้วดังแววตา |
แต่อยู่มาไม่กระเดื่องเคืองอารมณ์ |
แต่ใจนึกมักมากอยากได้ของ |
ด้วยพ่อเอาเงินทองเข้าทับถม |
เป็นอกุศลดลจิตรคิดนิยม |
จะต้องตายทั้งกลมจึงกลับใจ |
ด้วยพ่อแม่มีทรัพย์นั้นนับถัง |
ตัวก็ยังสาวอยู่ดูสดใส |
ถ้าคลอดลูกจากตัวกลัวอะไร |
คนจะไขว่กันมาขอกรอทุกวัน |
เป็นเวรตนคนจะตายให้หน่ายผัว |
เชื่อคำพ่อตัวทุกสิ่งสรรพ์ |
คิดแล้วตอบวาจาบิดาพลัน |
สุดแต่พ่อเถิดฉันไม่ขัดใจ |
หมื่นหาญเห็นลูกพร้อมลงยอมจิตร |
จึงประกอบยาพิษหาช้าไม่ |
เป็นหลายสิ่งประสมกันเข้าทันใด |
ตำรับใหญ่ได้มาจากตาครู |
ดีนกยูงดีหนูดีงูเห่า |
บดเข้าคุลีการกับสารหนู |
น้ำมะนาวบีบระคนปนดีงู |
ห่อใบพลูส่งให้ลูกสาวพลัน |
ทำสำรับข้าวแกงแต่งขึ้นไว้ |
เอายานี้แทรกใส่ทุกสิ่งสรรพ์ |
จงระวังปกปิดให้มิดควัน |
วางเสียวันนี้แหละอย่านอนใจ |
บัวคลี่รับห่อยาแล้วลาพ่อ |
เอาผ้าห่อปิดมาหาช้าไม่ |
ค่อยย่างเกรียบเหยียบย่องเข้าห้องใน |
ซุกเข้าไว้ที่ลับกลับมาครัว |
มาจัดแจงแกงเนื้อตะพาบนํ้า |
แย้ยำห่อหมกทั้งนกคั่ว |
ข้าวใหม่ใส่ในชามกลีบบัว |
เอายานั้นโรยทั่วทุกสิ่งอัน |
ผู้คนหญิงชายไม่พรายแพร่ง |
จัดแจงสำรับไว้สรรพสรรพ์ |
ครั้นสำเร็จยกสำรับออกมาพลัน |
กระโถนขันน้ำตั้งสะพรั่งไป ฯ |
๏ ครานั้นโหงพรายเจ้าพลายแก้ว |
เห็นแล้วว่าเขาเอายาใส่ |
กระซิบบอกนายพลันด้วยทันใด |
เดี๋ยวนี้เมียเสียไปใจไม่ตรง |
ข้าวแกงที่แต่งใส่ในสำรับ |
มันประกับโรยมาด้วยยาผง |
ล้วนยาพิษทั้งนั้นเป็นมั่นคง |
พ่อจงระวังระไวอย่าได้กิน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ได้ฟังแล้วหวาดจิตรคิดถวิล |
แต่อยู่ด้วยกันมาไม่ราคิน |
ใจทมิฬหมายจะล้างชีวากัน |
อยากจะใคร่เห็นตระหนักประจ้กษ์แจ้ง |
จึงหยิบเอาข้าวแกงทุกสิ่งสรรพ์ |
แกงหมูฉู่ฉี่หมี่ทอดมัน |
เอาระคนปนปั้นเป็นก้อนเดียว |
โยนขึ้นบนหลังคากาโฉบรับ |
พอกลืนปับดิ้นปัดในบัดเดี๋ยว |
เชื่อพรายหายกริ่งจริงจริงเจียว |
จะแกล้งเคี่ยวฆ่าผัวอีตัวพาล |
อยู่ด้วยกันเกือบปีไม่มีผิด |
เห็นจะเป็นความคิดอ้ายหมื่นหาญ |
หากรู้เพราะโหงพรายไม่วายปราณ |
จะตรองการแทนทำให้หนำใจ |
จำจะล้างชีวาฆ่ามันเสีย |
จะเลี้ยงมันเป็นเมียที่ไหนได้ |
แล้วจึงกลับเกลื่อนกลบสงบใจ |
แกล้งเกลี่ยไกล่ให้สนิทปิดเงื่อนงำ |
อุบายบอกบัวคลี่ว่าพี่เจ็บ |
ให้เมื่อยเหน็บไปทั้งตัวริกรัวรํ่า |
พอข้าวตกถึงท้องสองสามคำ |
จะกินซ้ำอิกไม่ได้ให้อาเจียน |
ยกสำรับไปวางข้างโน้นก่อน |
พี่จะนอนให้สบายพอหายเหียน |
จะนั่งอยู่ไม่ได้ให้วิงเวียน |
เจ้าบัวคลี่มิได้เปลี่ยนแปลกน้ำใจ |
เอาฝาชีปิดปกยกสำรับ |
แล้วลุกกลับมานั่งนวดหลังให้ |
เจ้าพลายแก้วมิให้แคลงระแวงใจ |
พอสิ้นแสงอโณทัยลงทันที |
เจ้าพลายแก้วทอดสนิทปิดเงื่อนงำ |
เฝ้าเคล้นคลำคลึงเคล้าเจ้าบัวคลี่ |
ลูกน้อยที่ในท้องของน้องนี้ |
ขอให้พี่เถิดเป็นไรจงให้ปัน |
บัวคลี่พาซื่อไม่ถือสา |
จึงตอบว่าไยพ่อมาขอฉัน |
ลูกรักกำเนิดเกิดในครรภ์ |
มิใช่ลูกพ่อนั้นฤๅฉันใด |
พลายแก้วเห็นบัวคลี่มิรู้เท่า |
ค่อยโลมเล้าลวงเมียแกล้งเกลี่ยไกล่ |
ลูกรักเกิดด้วยกันก็จริงใจ |
พี่อยากได้เป็นสิทธิ์คิดขอนาง |
ลูกหัวปีมีใหม่ได้กับพ่อ |
พี่จึงขอแก้วตาอย่าขัดขวาง |
ถ้าสมัครรักใคร่ไม่จืดจาง |
ขอเชิญนางอนุญาตอย่าขัดกัน |
บัวคลี่ฟังผัวแล้วหัวร่อ |
ช่างวอนขอฉันไปได้อย่างไรนั่น |
ลูกรักกำเนิดเกิดด้วยกัน |
ก็คงเป็นลูกของทั่นฉันว่าไร |
เจ้าพลายแก้วฟังนางทางตอบว่า |
นิจจาเจ้าเฝ้าขัดอัชฌาสัย |
พี่ขอเจ้าเท่านี้มิยอมใจ |
เสียแรงพี่รักใคร่เจ้าไม่คิด |
ให้น้องออกวาจาว่ายอมให้ |
พี่จะได้เอาไว้เป็นกรรมสิทธิ์ |
จะกล่อมเกลี้ยงดูเป็นคู่ชีวิต |
เจ้าไม่คิดถึงแล้วก็แล้วไป ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าบัวคลี่ |
จะถึงสิ้นชีวีประสิทธิ์ให้ |
พลั้งปากหากแกล้งประชดไป |
ฉันยอมให้ละตามแต่ความคิด |
มาค่อนขอไค้แคะแหวะเอาสิเธอ |
ขุนแผนรับว่าเออให้เป็นสิทธิ์ |
เพราะมารดาอนุญาตประสาทฤทธิ์ |
ก็สมจิตรที่ประสงค์จำนงปอง |
เข้าอิงแอบแนบนวลทำยวนยี |
เจ้าบัวคลี่มิได้หมางระคางหมอง |
เจ้าพลายแก้วอิงแอบเข้าแนบน้อง |
กอดจูบลูบต้องให้ตายใจ ฯ |
๏ ครั้นเวลาดึกสงัดกำดัดหลับ |
คนระงับนอนเงียบไม่เกรียบไหว |
ก็เป่าคาถาสะกดประกับใจ |
แล้วลุกไปลนลานเตรียมการพลัน |
เอาเครื่องอานสารพัดยัดลงย่าม |
กับเทียนสามเล่มใส่ขมีขมัน |
กลักเหล็กไฟสายสิญจน์ทั้งเลขยันต์ |
ก็พร้อมสรรพฉับพลันด้วยทันที |
หยิบเอามีดครํ่าด้ามกัลปังหา |
ตรงมาถึงตัวเจ้าบัวคลี่ |
แหวกม่านตลบมุ้งขึ้นทันที |
อัจกลับริบหรี่เห็นรำไร |
ยืนขึ้นบนเตียงเข้าเคียงข้าง |
พินิจนางนิ่งนอนถอนใจใหญ่ |
ไม่รู้เลยว่าร่างมันร้างใจ |
จะฆ่าผัวเสียได้ช่างไม่คิด |
แล้วชักมีดตั้งท่าง่าขยับ |
ใจกลับมืออ่อนสะท้อนจิตร |
แล้วกลับนึกขึ้นถึงนางวางยาพิษ |
เอาชีวิตเสียเถิดอย่าไว้มัน |
เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก |
เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน |
นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน |
เลือดก็ดั้นดาดแดงดังแทงควาย |
แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก |
แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย |
พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย |
ก็สมหมายดีใจไม่รั้งรอ |
อุ้มเอาทารกยกจากท้อง |
กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ |
หยิบเอาย่ามใหญ่ใส่สวมคอ |
เอาผ้าห่อลูกชายสะพายไป |
เปิดประตูจู่ออกมานอกบ้าน |
รีบเดินผ่านป่าตัดเข้าวัดใต้ |
ปิดประตูวิหารลั่นดาลใน |
ลิ่มกลอนซ้อนใส่ไว้ตรึงตรา |
วางย่ามเปิดกลักแล้วชักชุด |
ตีเหล็กไฟจุดเทียนขึ้นแดงร่า |
เอาไม้ชัยพฤกษ์พระยายา |
ปักเป็นขาพาดกันกุมารวาง |
ยันต์นารายณ์แผลงฤทธิ์ปิดศีรษะ |
เอายันต์ราชะปะพื้นล่าง |
ยันต์นารายณ์ฉีกอกปกปิดกลาง |
ลงยันต์นางพระธรณีที่พื้นดิน |
เอาไม้รักปักเสาขึ้นสี่ทิศ |
ยันต์ปิดปักธงวงสายสิญจน์ |
ลงเพดานยันต์สังวาลอมรินทร์ |
ก็พร้อมสิ้นในตำราถูกท่าทาง |
เอาไม้มะริดกันเกราเถากันภัย |
ก่อชุดจุดไฟใส่พื้นล่าง |
ตั้งจิตรสนิทดีไว้ที่ทาง |
ภาวนานั่งย่างกุมารทอง |
ร้อนทั้งตัวทั่วกันนํ้ามันฉ่า |
กลับหน้ากลับหลังไปทั้งสอง |
เกราะแกร่งแห้งได้ดังใจปอง |
พอรุ่งแจ้งแสงทองขึ้นทันใด ฯ |
๏ จะกล่าวถึงยายลาวบ่าวบัวคลี่ |
อยู่ในที่ทับดินใต้ถุนใหญ่ |
เห็นโลหิตโซมสาดออกดาษไป |
ก็ตกใจวิ่งร่าขึ้นมามอง |
เห็นมุ้งม่านแหวกเวิกเลิกมู่ลี่ |
เจ้าบัวคลี่นอนตายอยู่ในห้อง |
ดูหน้าเผือดเลือดฝาดออกดาษนอง |
ตกใจวิ่งร้องกรีดกรีดมา |
ตีประตูตึงตึงเรียกอึงมี่ |
แม่บัวคลี่ตายแล้วคุณพ่อขา |
เขาฟันสับยับทั่วทั้งกายา |
ทั้งหม่อมพลายหายหน้าไม่เห็นตัว ฯ |
๏ หมื่นหาญสีจันทน์ครั้นได้ฟัง |
ลุกทะลึ่งตึงตังทั้งเมียผัว |
วิ่งมางกงกตกใจกลัว |
มาเห็นลูกตัวนั้นสิบรรลัย |
เขาผ่าเชือดเลือดนองเป็นถ่องแถว |
ชะอ้ายแก้วชิงคมเอากูได้ |
ออกจากเคหาเรียกข้าไท |
บ่าวไพร่ทุกคนวิ่งลนลาน |
อ้ายแก้วฆ่าบัวคลี่แล้วหนีหน้า |
มึงตามกูมาให้ทั้งบ้าน |
พวกบ่าวไพร่ทุกคนวิ่งลนลาน |
ทั้งในบ้านนอกบ้านพล่านทุกทิศ |
ถือหอกดาบง้าวทวนล้วนสาตรา |
ทั้งปืนยามีดตรีกระบี่กฤช |
ธนูหน้าไม้ใส่ยาพิษ |
จำเริญรอยโลหิตติดตามไป |
เห็นโลหิตติดหญ้ามาห่างห่าง |
ตรงทางป่าตัดเข้าวัดใต้ |
เห็นประตูวิหารลั่นดาลใน |
ย่องเข้าไปมองดูตามรูดาล |
แลเห็นแสงไฟไวแววแวว |
เจ้าพลายแก้วนั่งอยู่ในวิหาร |
จึงเรียกกันมาพร้อมล้อมอุปจาร |
กระทุ้งบานกังกังไม่รั้งรอ ฯ |
๏ ขุนแผนไม่สะทกสะท้านอ่านมนตร์ปลุก |
ผีลูกผุดลุกขึ้นพูดจ้อ |
ขุนแผนเต้นเผ่นโผนโจนขี่คอ |
กุมารทองช่วยพ่อให้พ้นภัย |
กุมารทองโลดปึงทะลึ่งปร๋อ |
พาพ่อออกตามรูดาลได้ |
พวกหมื่นหาญไม่เห็นตัวข้ามหัวไป |
ด้วยฤทธิไกรไสยเวทวิชาการ |
ครั้นมาถึงข้างนอกอุโบสถ |
จะทำให้ปรากฏกับหมื่นหาญ |
ให้มันรู้ฤทธิไกรว่าชัยชาญ |
แล้วจึงจะไปบ้านกาญจน์บุรี |
คิดแล้วคลายมนตร์ให้คนเห็น |
ขึ้นยืนเด่นเผ่นผงาดดังราชสีห์ |
มือขวาถือกฤชเรืองฤทธี |
มือซ้ายจูงผีกุมารทอง |
ผู้คนเซ็งแซ่แลเห็นกาย |
ก็เวยวายบอกกันสนั่นก้อง |
ถือธนูกำซาบดาบไม้พลอง |
วิ่งทะลวงควงตะบองตรงเข้าไป |
ขุนแผนตวาดอำนาจครุฑ |
ดาบหลุดหกล้มไม่ลุกได้ |
หมื่นหาญถือง้าวก้าวเข้าไป |
ขับพวกไพร่ไล่บุกเข้ารุกราน |
ขุนแผนร้องว่าอ้ายไพร่ไม่มีผิด |
กูจะล้างชีวิตแต่หมื่นหาญ |
อย่าดึงดื้อถือนายจะวายปราณ |
หัวจะขาดพาดพ่านพสุธา |
ทหารเคยเห็นแล้วว่าแคล้วคลาศ |
จึงมิอาจจะสู้ได้ซึ่งหน้า |
แต่กลัวนายซังตายทำโกรธา |
ต่างเต้นแร้งเต้นกาชุลมุน ฯ |
๏ หมื่นหาญโมโหโกรธา |
ชี้หน้าว่าเหวยเฮ้ยอ้ายสถุล |
มึงอกตัญญูไม่รู้คุณ |
เสียแรงพ่อขนขุนมาเท่าไร |
กูให้กินข้าวนํ้าทุกคํ่าเช้า |
แต่ลูกสาวในอกยังยกให้ |
มึงยังทรยศขบถใจ |
ครั้งนี้กูไม่ไว้ชีวิตมึง ฯ |
๏ ขุนแผนเดือดดาลทะยานจิตร |
ถอดกฤชรำคว้างย่างเข้าถึง |
มาตะโกนโพนทะนาว่าออกอึง |
โทษของมึงนั้นไม่เห็นกลับเจรจา |
มึงทรยศทุกอย่างวางยาพิษ |
พ่อลูกคบคิดริษยา |
มึงซื่อกูซื่อต่อเป็นพ่อตา |
มึงคิดคดกูจึงฆ่าลูกมึงตาย |
อย่าดึงดื้อถือดีว่ามีฤทธิ์ |
ที่จะรอดชีวิตอย่าคิดหมาย |
หัวจะขาดหน้าขาวทั้งบ่าวนาย |
พลางก็ร่ายรำกฤชเข้าชิดตน ฯ |
๏ หมื่นหาญย่างเท้าเงื้อง้าวฟาด |
แคล้วคลาศมิได้ข้องต้องปลายขน |
เจ้าพลายฉวยชักมีดหมอมนตร์ |
แทงปั๋งหนังย่นไม่เข้ามัน |
หมื่นหาญฟันผับแผนรับผัวะ |
เอากฤชแยงแทงฉัวะแล้วไพล่หัน |
ปิดป้องคล่องแคล่วพัลวัน |
สู้กันพักใหญ่ไม่เสียที |
หมื่นหาญถือง้าวยาวกว่ากฤช |
ขุนแผนชิดเข้าขยับโขยกหนี |
กฤชแทงง้าวฟาดพลาดทุกที |
หมื่นหาญตีแผนตำด้วยกฤชตึง |
หมื่นหาญฟันผับแผนรับผัวะ |
เอากฤชแยงแทงฉัวะเข้าตํ้าผึง |
หมื่นหาญเซแผนซ้ำล้มควํ่าตึง |
แผนทะลึ่งเหยียบคออ้ายพ่อตา |
พวกทหารโหมแห่เข้าแก้นาย |
บางกลัวตายซอกซนเข้าด้นป่า |
ที่ขี้ขลาดวุ่นวิ่งทิ้งสาตรา |
อ้ายคนกล้าตรงเข้ารับยับย่อยไป |
หมื่นหาญดิ้นกระเดือกเสือกยันยัน |
อ้ายคนเหล่านั้นไม่อาจใกล้ |
ขุนแผนเงื้อกฤชง่าแล้วว่าไป |
มึงเห็นฤทธิ์กูฤๅไม่ไอ้ทมิฬ |
อย่าถือว่าอยู่ยงคงกระพัน |
หอกแทงดาบฟันไม่เข้าสิ้น |
จะเอากฤชกรอกปากลากลิ้น |
เฮ้ยมึงดีก็ดิ้นให้รอดตัว |
หมื่นหาญเสือกดิ้นสิ้นกำลัง |
เอาจนหลังไหล่ถลอกลงกลอกหัว |
ให้ครั่นคร้ามความตายเสียดายตัว |
ร้องว่ากลัวแล้วพ่อขอชีวิต |
เป็นความจริงเพราะยิงพ่อไม่ถูก |
จึงได้ผูกใจโกรธเป็นโทษผิด |
จึงตรองการผลาญล้างวางยาพิษ |
ข้อนี้ผิดแล้วพ่อขอโทษที ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
เห็นหมื่นหาญกลัวชีวิตจะเป็นผี |
จึงกล่าวคำสำทับไปทันที |
โทษของมึงถึงที่จะวายปราณ |
หากกูคิดนิดหนึ่งมึงมีคุณ |
ได้เกื้อหนุนเลี้ยงดูอยู่ในบ้าน |
ให้ข้าวแกงพริกเกลือได้เจือจาน |
ไม่ประหารชีวิตเพราะคิดคุณ |
ทั้งท่านผู้หญิงสีจันทน์ภรรยา |
ให้เงินตราผ้าเสื้อได้เกื้อหนุน |
ถ้าไม่คิดแล้วชีวิตมึงเป็นจุณ |
ครั้งนี้บุญของมึงไม่ถึงตาย |
มึงอยู่เถิดกูจะไปบ้าน |
เรียกกุมารผีโขมดสิ้นทั้งหลาย |
โหงพรายพรั่งพร้อมล้อมรอบกาย |
เผ่นขึ้นคอปร๋อหายไปบัดดล |
ข้ามคลองหนองนํ้าแลลำธาร |
แบกบิดาพาผ่านเข้าไพรสณฑ์ |
เหมือนควันฉิวปลิวไปไม่เห็นคน |
ประจวบจนเข้าบ้านกาญจน์บุรี |
หนทางพันกว่ามาครู่เดียว |
ประเปรียวเรี่ยวแรงด้วยฤทธิ์ผี |
ขึ้นบนเรือนพลันด้วยทันที |
ยินดีดังได้ดวงจินดา ฯ |
๏ ฝ่ายตาหมื่นหาญสะท้านจิตร |
ได้เห็นฤทธิ์พลายแก้วแกล้วกล้า |
แสนประเสริฐเลิศดีมีศักดา |
ทั้งกำลังวังชาก็ชาญชัย |
กูก็คนเรืองฤทธิ์ประสิทธิ์เจียว |
จะเปรียบเสี้ยวซีกมันหาถึงไม่ |
จะขืนอยู่ดูหน้ามันท่าไร |
อ้ายบ่าวไพร่ที่ยังมีจะตรีชา |
ถึงชีวิตไม่ตายอายสุดใจ |
ถ้ารู้ข่าวถึงไหนก็ขายหน้า |
เสียแรงคนเลื่องชื่อเขาฦๅชา |
จะเสียสง่าเสียชื่อฦๅไปนาน |
ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นให้แน่นใจ |
แล้วร้องเรียกบ่าวไพร่ให้ไปบ้าน |
ต่อโลงใส่บัวคลี่ตะลีตะลาน |
ให้ทหารเอาไปฝังเสียหลังวัด |
ฝ่ายตาหมื่นหาญให้ดาลเดือด |
ไม่หายเหือดวิตกแน่นอกอัด |
มันประเสริฐเลิศวิชาสารพัด |
ให้กลุ้มกลัดอารมณ์เฝ้าตรมตรอง ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิ์รังสีไม่มีสอง |
ได้ลูกชายเชี่ยวชาญกุมารทอง |
ก็สมปองคิดไว้แต่ไรมา |
จะจัดแจงตีดาบไว้ปราบศึก |
ตรองตรึกหาเหล็กไว้หนักหนา |
ได้เสร็จสมอารมณ์ตามตำรา |
ท่านวางไว้ในมหาสาตราคม |
เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ |
ยอดปราสาททวารามาประสม |
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม |
เหล็กตรึงโลงตรึงปั้นลมสลักเพชร |
หอกสำริดกฤชทองแดงพระแสงหัก |
เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด |
พร้อมเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด |
เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้ |
เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง |
เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่ |
ทองคำสำริดนากอแจ |
เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง |
เอามาสุมคุมควบเข้าเป็นแท่ง |
เผาให้แดงตีแผ่แช่ยาผง |
ไว้สามวันซัดเหล็กนั้นเล็กลง |
ยังคงแต่พองามตามตำรา |
ซัดเหล็กครบเสร็จถึงเจ็ดครั้ง |
พอกระทั่งฤกษ์เข้าเสาร์สิบห้า |
ก็ตัดไม้ปลูกศาลขึ้นเพียงตา |
แล้วจัดหาสารพัดเครื่องบัตรพลี |
เทียนทองติดตั้งเข้าทั้งคู่ |
ศีรษะหมูเป็ดไก่ทั้งบายศรี |
เอาสูบทั่งตั้งไว้ในพีธี |
เอาถ่านที่ต้องอย่างวางในนั้น |
ช่างเหล็กดีฝีมือฦๅทั้งกรุง |
ผ้าขาวนุ่งผ้าขาวห่มดูคมสัน |
วางสายสิญจน์เสกลงเลขยันต์ |
คนสำคัญคอยดูซึ่งฤกษ์ดี |
ครั้นได้พิชัยฤกษ์ราชฤทธิ์ |
พระอาทิตย์เที่ยงฤกษ์ราชสีห์ |
ขุนแผนสูบเหล็กให้แดงดี |
นายช่างตีรีดรูปให้เรียวปลาย |
ที่ตรงกลางกว้างงามสามนิ้วกึ่ง |
ยาวถึงศอกกำมาหน้าลูกไก่ |
เผาชุบสามแดงแทงตะไบ |
บัดเดี๋ยวใจเกลี้ยงพลันเป็นมันยับ |
อานดีมิได้มีขนแมวพาด |
เลื่อมปราดเนื้อเขียวดูคมหนับ |
เลื่อมพรายคล้ายแสงแมลงทับ |
ปลั่งปลาบวาบวับจับแสงตะวัน |
ด้ามนั้นทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ |
จารึกยันต์พุทธจักรที่เหล็กกั่น |
เอาผมพรายร้ายดุประจุพลัน |
แล้วเอาชันกรอกด้ามเสียบัดดล |
ครั้นเสร็จสรรพจับแกว่งแสงวะวับ |
เกิดโกลาฟ้าพยับโพยมหน |
เสียงอื้ออึงเอิกเกริกได้ฤกษ์บน |
ฟ้าคำรนฝนพยับอยู่ครั่นครื้น |
ฟ้าผ่าเปรี้ยงเปรี้ยงเสียงโด่งดัง |
ขุนแผนฟังจิตรฟูให้ชูชื่น |
ได้นิมิตฟ้าเปรี้ยงดังเสียงปืน |
ให้ชื่อว่าฟ้าฟื้นอันเกรียงไกร |
ยกขึ้นวางกลางศาลอ่านพระเวท |
โดยเดชดาบดิ้นกระเดื่องไหว |
เห็นประจักษ์ศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร |
ดีใจได้สมอารมณ์ปอง |
เอาไม้ระงับสรรพยามาทำฝัก |
ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง |
กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง |
ทำด้วยทองล้วนบาทชาติบางตะพาน |
เทเอาเงินสิบห้าออกทันใด |
ส่งให้นายช่างแล้วว่าขาน |
ฝีมือนี้ดีล้นพ้นประมาณ |
ปูนบำเหน็จให้ท่านในทันที |
เห็นต้นรังงามงามสามกำกึ่ง |
หวดผึงขาดพับลงกับที่ |
เบาไหล่ไม่ระคายคล้ายหยวกปลี |
ก็จรลีกลับมาไม่ช้านาน |
ได้ดาบดังเทพสาตรา |
ต้องตำราฤทธิแรงกำแหงหาญ |
มาถึงเรือนไว้ที่นมัสการ |
แล้วคิดอ่านจะไปหาม้าสำคัญ |
เอาเงินชั่งห้ามาใส่ไถ้ |
เที่ยวไปทั่วประเทศเขตขัณฑ์ |
ไม่ชอบตาหาต่อไปทุกวัน |
ทั้งราชบุรีสุพรรณเพชรบุรี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ |
พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี |
ไปตั้งอยู่มะริดเป็นครึ่งปี |
กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป |
ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า |
ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่ |
ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นใบ |
เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา |
หลวงศรีได้ม้ามามอบให้ |
ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า |
อีเหลืองเมืองมะริดพลอยติดมา |
ผัวมันท่านว่าเป็นม้านํ้า |
มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก |
มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าคํ่า |
ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ |
เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา |
มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด |
ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า |
กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา |
ผ่านชะอำถึงท่าเพชรบุรี |
เลี้ยงม้าอยู่ศาลาบ้านแตงแง |
บันไดอิฐติดแค่คิรีศรี |
สีหมอกลองเชิงเริงฤทธี |
เข้ากัดฟัดขยี้เอาม้าเทศ |
ฝ่ายหลวงทรงพลแกขัดใจ |
ให้ไพร่ไล่ตีม้าผีเปรต |
มันดุร้ายซุกซนเป็นพ้นเพศ |
เข้าที่ไหนไล่เฉดมันออกไป |
สีหมอกจะเข้าไปหาแม่ |
ถูกเขาทิ้งวิ่งแร่ออกมาใหม่ |
พอคนนิ่งวิ่งเข้าไปทันใด |
ต้องเวียนไล่เขาชังกันทั้งกอง ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
ทุกทิศฦๅทั่วกลัวสยอง |
เห็นม้าสีหมอกออกลำพอง |
สมปองปรารถนาที่นึกไว้ |
ลักษณะถูกต้องตำราสิ้น |
ดังองค์อินทร์เทวราชประสาทให้ |
ท่วงทีแคล่วคล่องว่องไว |
ก็เข้าไปหาหลวงทรงพลพลัน |
อาชาตัวน้อยของท่านฤๅ |
จะขายซื้อฤๅเอาไว้อย่างไรนั่น |
ถ้ากะไรจงได้เมตตากัน |
จะขอปันซื้อม้าสีหมอกไป ฯ |
๏ ครานั้นจึงท่านหลวงทรงพล |
อนุสนธิ์เล่าแจ้งแถลงไข |
อันม้าสีหมอกตัวนั้นไซร้ |
มิใช่ม้าหลวงที่หวงกัน |
มันเป็นลูกม้าเมืองมะริด |
ติดแม่มาแต่มะริดนั่น |
รูปร่างท่วงทีก็ดีครัน |
แต่ว่ามันซุกซนจนระอา |
เผลอไม่ได้ไล่กัดเอาม้าหลวง |
ต้องเป็นห่วงบ่วงใยอยู่หนักหนา |
ท่านซื้อเราจะหย่อนผ่อนราคา |
เอาเถิดสิบห้าตำลึงนาย ฯ |
๏ ขุนแผนได้ฟังเจ้าของว่า |
สมมาดปรารถนาที่มุ่งหมาย |
แก้เงินนับให้ไม่กลับกลาย |
แล้วเยื้องกรายมาที่สีหมอกม้า |
เสกหญ้าด้วยมหาละลวยใหญ่ |
เขาใกล้สีหมอกแล้วบอกว่า |
จะไปกับเราก็เข้ามา |
ยื่นหญ้าให้พลันในทันที |
สีหมอกรับหญ้ามาเคี้ยวกลืน |
ชมชื่นปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
ให้มีใจจงรักด้วยภักดี |
ติดขุนแผนเดินรี่ตามหลังไป |
ขุนแผนลูบหลังสีหมอกม้า |
ผูกอานผ่านหน้าบังเหียนใส่ |
ซองหางเชิดชูดูละไม |
ล้วนขลิบทองของใหม่วิไลตา |
ขุนแผนเหยียบโกลนโผนขึ้นขี่ |
พาชีโผนผกยกหน้า |
ควบใหญ่ใส่น้อยรอยเรียบมา |
บ่าวข้าตามหลังสะพรั่งไป |
เดินทางกลางป่ามาสามวัน |
สุริยันเย็นลับเหลี่ยมไศล |
ถึงสถานบ้านเก่าเขาชนไก่ |
สั่งบ่าวไพร่ทำโรงให้พาชี |
ขุนแผนเข้าไปในเคหา |
บอกเล่ามารดาเป็นถ้วนถี่ |
ได้กุมารได้ม้าสาตราดี |
ทองประศรีเห็นลูกชายสบายครัน |
ชวนลูกกินข้าวจนอิ่มแล้ว |
พลายแก้วปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ลุกไปหอนั่งสั่งอ้ายจัน |
ผลัดกันกับอ้ายเกลี้ยงเลี้ยงม้ากู |
อ้ายเกลี้ยงอ้ายจันได้ฟังนาย |
วุ่นวายจัดแจงแต่งที่อยู่ |
ทอดหญ้ากองไฟในประตู |
เลี้ยงดูม้าไว้ดังใจปอง ฯ |