๏ มาจะกล่าวถึงแสนคำแมน |
เป็นนายแคว้นหมู่บ้านจอมทองใหญ่ |
กับนางศรีเงินยวงผู้ดวงใจ |
รักใคร่ได้กันแต่ก่อนมา |
สองเถ้ามีลูกสาวชื่อลาวทอง |
ปกป้องพิทักษ์รักษา |
เจริญรุ่นละมุนทั้งกายา |
อายุได้สิบห้าปีปลาย |
งามปลั่งดังบัวขึ้นบนนํ้า |
ยังไม่ต้องแดดช้ำเมื่อยามสาย |
ไฝฝ้าหน้านางไม่มีระคาย |
ไหล่ผายเอวกลมดังแกล้งรัด |
ชายใดยังมิได้จะมาต้อง |
ด้วยทั้งสองพี่เลี้ยงเขาเจนจัด |
นางเวียงนางวันนั้นสันทัด |
ปรนนิบัติปกไว้ในห้องนอน |
เมื่อนายพลายแก้วมาตีเวียง |
ชาวบ้านหลีกเลี่ยงไปซุ่มซ่อน |
ถูกไทยไล่แตกเข้าดงดอน |
เขาขับต้อนไว้ได้ก็มากมาย |
เว้นแต่บ้านจอมทองของคำแมน |
ยังหนาแน่นอยู่ได้ไม่ระสํ่าระสาย |
ปลดปลอดรอดตัวด้วยนายพลาย |
มิให้ทำอันตรายจึงอยู่ดี |
ครั้นการทัพระงับสงบแล้ว |
เจ้าพลายแก้วจะกลับไปกรุงศรี |
เงินยวงภิริยากับสามี |
ตรีตรึกนึกคุณของแม่ทัพ |
ร้อยบ้านพันเมืองได้เคืองแค้น |
หนีเแล่นป่นไปเขาไล่จับ |
ล้มตายชายหญิงก็ย่อยยับ |
เขาระงับเป็นสุขแต่บ้านเรา |
บัดนี้เขาจะกลับไปเมืองใต้ |
เขาจะทำอย่างไรไม่รู้เท่า |
จะมานั่งนิ่งอยู่เหมือนดูเบา |
ฉวยถ้าเขากวาดกว้านบ้านจอมทอง |
จะพากันย่อยยับอัปภาคย์ |
ได้ทุกข์ยากไปหมดทั้งบ้านช่อง |
ยายตาปรึกษากันปรองดอง |
ลาวทองลูกเราผู้ร่วมใจ |
จะพาไปยกให้เป็นคำนับ |
แม่ทัพเห็นทีจะรักใคร่ |
ถึงลูกเราจะเข้าไปกรุงไทย |
พอจะออกหน้าได้ไม่อับอาย |
แม่ทัพชุบเลี้ยงเจ้าลาวทอง |
คงมิให้พวกพ้องต้องระส่ำระสาย |
ชาวบ้านก็จะเป็นสุขสบาย |
ไม่ต้องหวั่นอันตรายที่ทัพไทย |
ครั้นตกลงปลงใจกันทั้งสอง |
จึงเรียกเจ้าลาวทองพิสมัย |
นางเวียงนางวันมาทันใด |
นั่งใกล้สองเถ้าแล้วเล้าโลม |
โอ้เจ้าลาวทองของพ่อแม่ |
เป็นสาวแส่บริสุทธิ์สวาดิโฉม |
ศึกเสือเหนือใต้มาไล่โรม |
ข้าวยากหมากโทรมทุกสิ่งไป |
ร้อยบ้านพันเมืองได้เคืองแค้น |
เหลือแสนที่จะซ่อนเจ้าไว้ได้ |
กองทัพเขาจะกลับไปเมืองไทย |
เห็นเขาจับขับไล่ซึ่งครอบครัว |
ทรัพย์สินสาระยำสํ่าเสีย |
ผัวพลัดเมียเมียก็พลัดผัว |
ผ้านุ่งสักนิดไม่ติดตัว |
พ่อกลัวเราจะเป็นเหมือนเช่นนั้น |
นายทัพเขาประคับประคองเรา |
ห้ามเหล่าพวกไพร่ไม่หํ้าหั่น |
จึงได้เป็นสุขทุกคืนวัน |
พ่อคิดพรั่นเมื่อเขาจะกลับไป |
บุราณท่านว่าเขาขุดบ่อ |
ล่อให้ปลาหลงไม่สงสัย |
ยังไม่กินค่อยประคิ่นประคองไว้ |
บัวในสระศรีมิให้ช้ำ |
สายชลมิให้ข้นขุ่นมัว |
ตัวปลาปล่อยกินอยู่คลาคล่ำ |
เหมือนเขาปล่อยเราไว้ยังไม่ทำ |
เมื่อเขากลับจับจำก็จวนเจียน |
จะหลบลี้หนีไปข้างไหนพ้น |
ต้องผ่อนปรนดับความหนามเสี้ยน |
อย่าให้เราหญ้าแพรกนี่แหลกเตียน |
เจ้าดังหนึ่งเทียนประทีปตาม |
พ่อแม่แก่แล้วไม่เห็นหน |
มืดมนอยู่ในป่าพนาหนาม |
จะแจ่มแจ้งก็เพราะแสงเจ้าส่องงาม |
พยายามเลี้ยงลูกจึงรำพึง |
เมื่อน้อยน้อยร้อยชั่งพึ่งพ่อแม่ |
ครั้นพ่อแม่เถ้าแก่พ่อแม่พึ่ง |
จะยกเจ้าให้เขาไปเคล้าคลึง |
แม่อย่าขึ้งเคียดแค้นรำคาญใจ |
เขาก็เป็นยอดทหารชาญณรงค์ |
คงไปได้ดีอย่าสงสัย |
เจ้าจะได้พึ่งพาข้างหน้าไป |
อันเชียงใหม่กับกรุงอยุธยา |
คงจะเป็นสงครามกันลามลั่น |
รบกันสืบไปเมื่อภายหน้า |
เจ้าเป็นสาวนวลละอองอันต้องตา |
ฝ่ายไหนไปมาจะย่ำยี |
ถ้าอยู่ยืดไปในจอมทอง |
ใครมาก็จะปองอยู่อึงมี่ |
ลวนลามแอ่วเจ้าเฝ้ายวนยี |
น่าที่จะต้องเสียเป็นเมียมัน |
ยากง่ายก็ไปตายเสียไกลไกล |
เห็นจะไม่เป็นไรดอกจอมขวัญ |
เขาก็หนุ่มเจ้าก็สาวพอคราวกัน |
ดวงชะตาเจ้านั้นก็ว่าดี |
สาววันสาวเวียงไปเลี้ยงน้อง |
ปกป้องกันกว่าจะเป็นผี |
ข้าไทแม่จะให้ไปตามมี |
อย่าโศการาคีจะขุ่นมัว ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าลาวทอง |
ยกสองมือทูนขึ้นเหนือหัว |
ร้องไห้กลิ้งเกลือกเสือกตัว |
ระเริ้มริกรัวรัวทั้งกายา |
กอดเท้าพ่อแม่สะอื้นไห้ |
นํ้าตาไหลซึมซาบลงอาบหน้า |
เช็ดน้ำตาคลอหล่อหลั่งตา |
แล้ววอนว่ารำพันพิไรไป |
เจ้าประคุณทูนหัวของลาวทอง |
ไม่ปกครองลูกแล้วฤๅไฉน |
ปกผมร่มเกล้าอยู่เท่าไร |
ลูกนี้จึงได้เป็นตัวมา |
อาบน้ำป้อนข้าวทุกเช้าเย็น |
ไม่วายเว้นพิทักษ์รักษา |
ปรนนิบัติสารพัดด้วยเมตตา |
จึงได้เป็นตัวมาถึงเพียงนี้ |
ลูกหมายว่าจะตายกับฝ่าเท้า |
แทนคุณแม่เจ้าจนเป็นผี |
คิดอยู่ทุกทิวาราตรี |
ถึงจะมีลูกผัวไม่ไปไกล |
ไม่สมนึกเสียแรงคะนึงปอง |
ลาวทองหาได้แทนพระคุณไม่ |
อยู่ด้วยหลัดหลัดจะพลัดไป |
เมื่อไรจะได้คืนมาพบกัน |
วิบากจากแล้วก็จำไป |
ถ้าใกล้ใกล้ก็มิสู้จะโศกศัลย์ |
ได้เห็นหน้ามาเยียนเวียนทุกวัน |
เพียงนั้นพอเห็นไม่เป็นไร |
นี่จะลิบลับไปนับปี |
หารู้ที่จะมาเยี่ยมมาเยียนไม่ |
สุดหล้าฟ้าดินสิ้นแดนไตร |
สุดใจจริงแล้วทุกเวลา |
เจ็บไข้ตายเป็นไม่เห็นกัน |
นับวันเช้าเย็นไม่เห็นหน้า |
ทุกข์ภัยใครเลยจะนำพา |
เหมือนพ่อแม่เมตตาคอยตามใจ |
ไปมีผัวถึงผัวจะรักนัก |
ฟูมฟักมิให้ห่างระคางได้ |
จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูประการใด |
ก็ไม่เหมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงมา |
เขาคนอื่นแท้แท้นี่แม่เอ๋ย |
ไหนเลยเขาจะเห็นแก่น้ำหน้า |
ผิดใจก็จะทำไม่นำพา |
มิใช่ว่าหนุ่มแท้อยู่เมื่อไร |
นี่หลับตาตามไต้กระทั่งตอ |
คอจะหักยังหารู้สึกไม่ |
ลูกเมียเขามีที่พอใจ |
จะหวงหึงอึงไปทุกประการ |
ลูกจะโต้ตอบเขาที่ไหนได้ |
คารมไทยมันแจดอยู่จัดจ้าน |
จะลำเลิกเบิกส่งถึงพงศ์ปราณ |
ฉวยทัดทานเถียงบ้างจะขัดใจ |
ตัวเป็นเมียน้อยนี้ร้อยยาก |
จะออกปากถุ้งเถียงก็ไม่ได้ |
ผัวเขาเขาจะเข้าด้วยกันไป |
ถ้ารักใคร่ไปตลอดพอรอดตัว |
จะเฝ้ากันอยู่อย่างไรทั้งตาปี |
มิทีหนึ่งก็ทีหนึ่งลับหลังผัว |
มันจะข่มด้วยคารมให้หลาบกลัว |
ถ้าดื้อดึงไปก็หัวจะเลือดย้อย |
ไหนเจ้ามันจะด่าข้ามันจะตี |
จะเหยียบขยี้ขยำให้ตํ่าต้อย |
ผัวมามันจะบอนค่อนตะบอย |
ถ้าเชื่อถือก็จะพลอยกันตีเอา |
สำหรับก็จะยับไปทุกท่า |
ลงเป็นข้าขี้ชกคนใช้เขา |
ยิ่งคิดไปใจเสียอยู่ซบเซา |
เกิดมาเสียเปล่าไม่เป็นตัว ฯ |
๏ ฝ่ายแสนคำแมนกับเงินยวง |
เหงาง่วงใจเสียทั้งเมียผัว |
นํ้าตาหลั่งไหลใจระรัว |
กลัวจะเหมือนลูกว่ายิ่งอาลัย |
แข็งขืนอารมณ์มาข่มทุกข์ |
ปล้ำปลุกปลอบลูกอย่าร้องไห้ |
ดูแล้วแก้วพ่อมิเป็นไร |
ชันษาเจ้าจะได้เป็นผู้ดี |
กำหนดในปีนี้จะมีคู่ |
พิเคราะห์ดูใคร่ครวญเป็นถ้วนถี่ |
ตามกระทรวงในดวงชะตานี้ |
ต้องตกที่นางสีดาพะงางาม |
ได้เมื่อทศพักตร์มันลักหนี |
พระรามตามตีไม่เข็ดขาม |
คืนไปได้คงกับองค์ราม |
อย่าครั่นคร้ามเลยจะมีที่พึ่งพา |
แต่จะกระเดื่องใจเมื่อไปถึง |
นิดหนึ่งเท่านั้นไม่หนักหนา |
พ้นนั้นนับวันนับเวลา |
จะลอยฟ้าฟูฟ่องไม่หมองใจ |
เกิดมาชะตาเจ้าอย่างนั้น |
จงกลืนกลั้นน้ำตาอย่าร้องไห้ |
อาบน้ำเสียจวนคํ่าจะได้ไป |
ข้าไทพี่เลี้ยงมาพร้อมกัน |
ปลอบนางย่างเยื้องมาถึงที่ |
ทาสีตักน้ำมาเต็มขัน |
ผลัดผ้าลูบทากระแจะจันทน์ |
ผัดหน้าผิวพรรณเป็นนวลใย |
เกล้าผมสมทรงกะทัดรัด |
ดอกไม้ทองแซมทัดสะบัดไหว |
เกี้ยวกระหวัดปิ่นพลอยลอยวิไล |
สอดใส่ดอกมะเขือทองคำพราย |
ห้อยสายระย้าเพชรเก็จก่อง |
สังวาลทองพลอยพริ้งสะอิ้งสาย |
เด่นดวงกุดั่นพรรณราย |
กำไลสวมขวาซ้ายสอดพร้อม |
ใส่แหวนเพชรนิลมรกต |
สไบสีสุกสดตรลบหอม |
พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่จะไปดอม |
ข้าไทแวดล้อมกันลงเรือน |
ข้าวของกำนัลนั้นหนักหนา |
บ่าวข้ายกขนมากล่นเกลื่อน |
ลูกหลานพี่น้องไม่ต้องเตือน |
ไปเป็นเพื่อนลาวทองทุกตัวคน |
ตามมีตามยากมาฝากทัพ |
ตะลุ่มหับหาบหามอยู่สับสน |
ถึงค่ายเข้าไปด้วยบัดดล |
ชาวพลพวกทัพก็รับรอง |
แลชมโฉมลาวสาวเป็นขนัด |
ชะช่างจัดจริงหวาหน้าผ่องผ่อง |
นางเดินกลางเอวกลมนมเป็นกอง |
อล่องฉ่องผิวหน้าเป็นนวลจันทร์ |
อีเดินถัดหยัดเหยาะอย่างจะรำ |
ผิวขำเอวกลมดังแกล้งปั้น |
เหมาะเจาะจริงหวาตาเป็นมัน |
อ้ายมั่นว่ากูได้ไม่ไว้มือ |
ครั้นถึงพลายแก้วผู้แม่ทัพ |
นั่งพับเพียบพร้อมไม่อึงอื้อ |
ข้าวของกองตั้งนั่งพนมมือ |
นับถือไหว้ท่านผู้แม่ทัพ ฯ |
๏ พลายแก้วเชื้อเชิญท่านทั้งสอง |
ขึ้นบนพรมลาวทองเลื่อนขยับ |
นั่งไหว้เสงี่ยมเฟี้ยมพับ |
เจ้าพลายรับไหว้ท่านทั้งสองรา |
ชำเลืองดูลูกสาวขาวจิ้มลิ้ม |
เหมาะละม้ายคล้ายพิมพี่นักหนา |
ตายายชายตามาปะตา |
ก็หยิบพานหมากมาพูดอื่นไป ฯ |
๏ ฝ่ายว่าผัวเมียทั้งสองรา |
ต่างพูดตามประสาเป็นผู้ใหญ่ |
ข้อยออกมาหาอาญาไทย |
ด้วยขอบใจท่านนักที่ป้องกัน |
ร้อยบ้านพันเมืองไม่หลอเหลือ |
เป็นเบือฉิบหายด้วยห้ำหั่น |
จนน้ำกินบ่ได้ไหลเป็นมัน |
ฟันดังฟันปลาบ่ราครือ |
แต่บ้านจอมทองของข้าน้อย |
บ่ยับย่อยชาวทัพเขานับถือ |
ข้าวของสิ่งไรอยู่ในมือ |
มิได้ยื้อแย่งทำให้ช้ำใจ |
ข้อยขอบคุณท่านเป็นเที่ยงแท้ |
ถึงคุณพ่อคุณแม่บ่ปานได้ |
ท่านจะยกทัพกลับเมืองไทย |
สิ่งใดข้าวของก็บ่มี |
ตามจนตามยากมาฝากบ้าง |
เป็นเสบียงกลางทางจนถึงที่ |
เงินทองของตูบ่สู้มี |
จะแจกรี้พลท่านที่ขึ้นมา |
ข้อยมีแต่ลูกสาวลาวทอง |
กับข้าวของหน่อยนิดคิดมาหา |
เจ้าลาวทองลูกแก้วผู้แววตา |
ให้เป็นข้าช่วงใช้ไปจนตาย |
ไร้ญาติขาดแล้วนะนายเด |
อย่าทอดเททุ่มทิ้งให้สูญหาย |
ข้อยขอฝากตัวเจ้าขรัวนาย |
ด้วยพลัดพรายพ่อแม่ไปแต่ตัว |
แม้นหม่อมพลายแก้วมิเอ็นดู |
ลาวทองลูกตูบ่มีหัว |
ไกลตาข้าน้อยนี้นึกกลัว |
จะยังชั่วก็เพราะท่านกรุณา |
ข้าเถ้าทั้งคู่นี้อยู่ไกล |
เมื่อไรจะได้ล่องลงไปหา |
เมื่อหน้าถ้าท่านได้ขึ้นมา |
จงเมตตาแวะเยี่ยมให้เย็นใจ ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ยิ้มแล้วตอบมาหาช้าไม่ |
ท่านอย่าโศกาอาลัยไป |
รู้แล้วว่าไกลกันสุดตา |
ลูกท่านท่านรักดังดวงใจ |
เอามาให้ก็เพราะท่านรักข้า |
เป็นกุศลหนหลังได้สร้างมา |
จึงเพอิญเมตตาบ้านจอมทอง |
เข้าบ้านไหนไล่ตีแตกระยำ |
แต่บ้านนี้ไม่ทำช่วยปกป้อง |
ใช่ใครแนะนำในทำนอง |
ว่าลูกของท่านมีที่ต้องใจ |
ไม่แจ้งจริงจริงจึงนิ่งอยู่ |
พึ่งรู้เดี๋ยวนี้เอามาให้ |
ยินดีเหลือที่จะอุปไมย |
ถึงเราได้เงินทองมามากมาย |
หญิงชายคั่งคับนับพัน |
อยู่นั่นมิได้นึกคะนึงหมาย |
หญิงใดก็มิได้มาแอบกาย |
นอนดายเด็ดเดียวไม่ดูดี |
ท่านพาลาวทองมายกให้ |
จะเลี้ยงไว้ให้สมซึ่งศักดิศรี |
ท่านอย่าคิดกังขาราคี |
ร้อยปีไม่อยากให้จากกัน |
จะร่วมเรียงเคียงหน้ากว่าจะตาย |
ไม่เบื่อหน่ายแหนงจิตรบิดผัน |
บรรดาได้ทรัพย์มานับพัน |
ไม่แบ่งปันให้ใครเท่าใยยอง |
สารพัดสมบัติที่ตีได้ |
ชั้นต่ำลงไปจนข้าวของ |
อย่าวิตกจะยกให้ลาวทอง |
สองท่านอย่าได้เป็นกังวล |
ว่าแล้วสั่งบ่าวให้จัดของ |
เสื้อผ้าเงินทองนั้นเป็นต้น |
วัวควายช้างม้าข้าคน |
ยกขนมาให้ยายกับตา |
บรรดาลูกบ้านทั้งปวงนั้น |
ก็ตอบของกำนัลให้หนักหนา |
ทั้งสิ้นยินดีปรีดา |
สาธุเป็นพ่อข้อยบ่แพั |
เงินคำทำได้จะไปบ้าน |
กลับมาให้ทานข้อยเหลือแหล่ |
ยิ่งพี่ยิ่งน้องมองชะแง้ |
แท้แล้วควรท่านเป็นเจ้านาย |
ยายตาพูดจากับแม่ทัพ |
คำนับลาท่านจะผันผาย |
ฝากลูกวอนว่าทั้งตายาย |
ลาวทองใจหายห่วงมารดา |
กราบไหว้ร้องไห้สะอึกสะอื้น |
เมื่อไรจะได้คืนขึ้นมาหา |
ต่างคนซึมซาบอาบน้ำตา |
สองราแข็งข่มอารมณ์ไป |
หาบขนเงินทองเสื้อผ้า |
บรรดาของนายพลายแก้วให้ |
บ้างพูดกันซิกซี้ดีใจ |
แต่สองเถ้าอาลัยถึงลาวทอง |
ทั้งบรรดาข้าคนบ่นถึงนาย |
ตะวันบ่ายก็มาถึงบ้านช่อง |
พ่อแม่โศกาน้ำตานอง |
เข้าห้องใจหายทั้งยายตา ฯ |
๏ ครานั้นพลายแก้วผู้แม่ทัพ |
ครั้นสุริยาลาลับพระเวหา |
พลบคํ่ายํ่าคลุ้มชอุ่มตา |
ดาษดาเทียนเถือกประเทืองพราย |
พร้อมพลทหารชาญณรงค์ |
แวดวงเมียงหมอบอยู่มากหลาย |
หัวเมืองท้าวพระยาบรรดานาย |
ก้มกายกราบกรานด้วยเกรงฤทธิ์ |
ปรึกษาเสร็จสงครามเมืองเชียงทอง |
ได้ครอบครัวเนืองนองอกนิษฐ |
บาญชีมีนายเสมียนคิด |
อาญาสิทธิ์นายหมวดให้ตรวจตรา |
อาวุธยุทธภัณฑ์ที่ลาวทิ้ง |
ลาวแตกต้อนชิงได้หนักหนา |
เป็นของหลวงทั้งปวงให้ตีตรา |
เงินขาเกวียนของที่ต้องการ |
ช้างม้าดีดีบาญชีหมาย |
วัวควายนั้นให้พวกทหาร |
เชี่ยนขันโตกถาดตะลุ่มพาน |
ผู้ใดรานรบได้ให้ผู้นั้น |
อย่าได้ส่อเสียดเบียดเบียนว่า |
ริษยายํ่ายี่ตีบังกั้น |
ทุกสิ่งสารพัดเป็นสัตย์ธรรม์ |
อิกห้าวันจะยกไปพารา |
อันซึ่งตัวพระยาเชียงทองนั้น |
ข้องเกี่ยวราชทัณฑ์อยู่หนักหนา |
จะพาเอาลงไปอยุธยา |
เฝ้าฟังบัญชาจะอย่างไร |
มาดแม้นพระองค์ลงโทษทัณฑ์ |
จะป้องกันทูลขอให้จงได้ |
กำแพงระแหงให้ลงไป |
จะเพ็ดทูลให้ด้วยชอบพอ |
ครั้นสั่งแล้วพลันมิทันช้า |
ต่างคนลุกลาไปสอสอ |
จัดแจงตามสั่งไม่รั้งรอ |
รู้ต่อต่อกันทั้งนั้นไป ฯ |
๏ พวกไพร่ในค่ายเจ้าพลายแก้ว |
ครั้นขุนนางไปแล้วหาช้าไม่ |
ปิดทับพับพรมระงมไป |
เวลาคํ่ายํ่าได้สักยามปลาย |
ข้าไทใช้สอยก็นอนหลับ |
เทียนดับสิ้นแสงสูญหาย |
พลายแก้วชำเลืองเยื้องกราย |
รูดม่านมั่นหมายเจ้าลาวทอง |
ไม่พบพักตร์ซักลาวที่เคยใช้ |
บอกว่าไปอยู่กับนางต่างห้อง |
ด้วยพี่เลี้ยงเคียงข้างคอยประคอง |
ร้องไห้ตั้งแต่พ่อแม่ไป |
เพื่อนไปเว้าเล่นเจรจา |
ยังหาหายโศกากำสรดไม่ |
เจ้าพลายแก้วสั่งพลันทันใด |
เอ็งจงลงไปอย่าช้าที |
บอกพี่เลี้ยงเวียงวันทั้งสอง |
ให้พาเจ้าลาวทองขึ้นมานี่ |
ว่ากูเชิญขึ้นมาพาที |
ปรึกษากันที่จะอยู่ไป ฯ |
๏ ฝ่ายสาวพรหมาก็รับคำ |
อำลาลุกมาหาช้าไม่ |
ถึงห้องลาวทองเข้าทันใด |
นั่งใกล้แล้วกล่าวซึ่งวาจา |
บอกสามนางนั่งอยู่พรั่งพร้อม |
ว่าหม่อมพลายแก้วเธอให้หา |
เชิญขึ้นไปสั่งสนทนา |
ว่าแล้วก็ลาไปทันใด ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าลาวทอง |
กอดสองพี่เลี้ยงสะอื้นไห้ |
รู้ว่าพลายแก้วแววไว |
จะให้ขึ้นไปถึงห้องนอน |
ให้หวาดหวั่นจิตรคิดพรั่น |
พี่วันพี่เวียงขึ้นไปก่อน |
ว่าพลางยกมือขึ้นไหว้วอน |
น้องห่อนที่จะเว้าเจ้านายเป็น |
เลี้ยงน้องมาจนน้องเป็นสาว |
บ่าวใดก็มิได้มาเบิ่งเห็น |
ฟ่อแม่ป้อนข้าวทุกเช้าเย็น |
กลางเวนกลางคํ่าบ่เคยใคร |
จะให้น้องไปเว้าเจ้านายทัพ |
จะขอรองขอรับเป็นสังไหน |
บ่ฮู้บ่หันประการใด |
น้องไปบ่ฮอดพี่นางวัน ฯ |
๏ ครานั้นนางวันกับนางเวียง |
พี่เลี้ยงฟังนางพลางรับขวัญ |
ต่างปลอบตอบเจ้าลาวทองพลัน |
แม่จะคิดเดียดฉันท์ไปไยมี |
พ่อแม่ให้มาเป็นข้าเขา |
จงถือใจไยเล่านะเจ้าพี่ |
ต้องให้เขาเมตตาปรานี |
จะได้ดีก็เพราะรู้บำรุงใจ |
ถ้าขืนขัดอารมณ์เขาตรมเกรียม |
โหดเหี้ยมไมตรีหาดีไม่ |
พี่น้องจะต้องซึ่งโทษภัย |
ลุกเลยลามไปถึงบิดา |
คุณท่านคุ้มครองป้องกันเรา |
จึงยกเจ้าลาวทองให้เป็นข้า |
หมายใจว่าจะได้เป็นหน้าตา |
ฟอแม่พี่งพาจนกันตาย |
เจ้าลืมอีสังบ่ฟังข้า |
จะพลอยพาพ่อแม่เราฉิบหาย |
จงเอ็นดูปูย่าตายาย |
หมายพึ่งจึงให้มาเป็นเมีย |
อย่าจู้จี้เลยพี่จะไปเพื่อน |
แก้มเปื้อนแม่เช็ดน้ำตาเสีย |
นิจจาน้องยังหมองระทวยเพลีย |
อย่าปลกเปลี้ยปลอบให้เอาแป้งทา |
พี่เลี้ยงเคียงนางข้างละคน |
แต่เวียนวนวุ่นวายกันหนักหนา |
เดินใกล้ถึงม่านคลานเข้ามา |
สองนางต่างพากันเข้าไป |
เจ้าลาวทองถอยหลังลงนั่งทรุด |
กระชุ่นฉุดมือมาหาช้าไม่ |
พอม่านแหวกสว่างกระจ่างไป |
แสงไฟปลาบต้องละอองนวล |
เจ้าลาวทองซบหน้าไม่นั่งตรง |
บังม่านหมอบลงให้ปั่นป่วน |
พี่เลี้ยงเลี่ยงหลีกให้ลอยนวล |
นางก็ซวนทรุดแอบพี่เลี้ยงบัง ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
เห็นนางมาแล้วยังแอบหลัง |
ก็รู้ว่านางประหม่าละล้าละลัง |
อยู่ข้างหลังพี่เลี้ยงลออตา |
พินิจน้องผ่องผิวเจริญพักตร์ |
สวาดิรักมิได้วายเสนหา |
นึกถวิลยินดีปรีดา |
ยิ้มเยื้อนสนทนาปราศรัยนาง |
ร้อยชั่งนั่งขึ้นเป็นไรเจ้า |
อย่าบังเงาเชิญนั่งข้างสว่าง |
สนทนากันเล่นเย็นเย็นพลาง |
ขอถามนางทุกข์ร้อนแต่ก่อนไร |
วันทัพมาถึงบ้านจอมทอง |
น้องตระหนกตกใจฤๅหาไม่ |
บ้านอื่นตื่นแตกกระจายไป |
ไยเจ้ากล้าอยู่แต่บ้านเดียว |
ฤๅเข้าใจใครบอกว่าพี่มา |
เมตตาไม่จับขับเคี่ยว |
ฤๅคนดีมีอยู่อย่างไรเจียว |
จึงไม่เที่ยวทิ้งบ้านประการใด ฯ |
๏ ครานั้นนางวันกับนางเวียง |
ทั้งสองหมอบเมียงยกมือไหว้ |
สะกิดเจ้าลาวทองให้ตอบไป |
นางไม่สนทนาพาที |
ทั้งสองพี่เลี้ยงจึงเบี่ยงบ่าย |
ยิ้มพรายตอบความไปตามที่ |
วันเมื่อทัพไทยไล่ตี |
หนีไม่ทันด้วยว่าไม่รู้ตัว |
อนึ่งก็ขึ้นกับลำพูน |
ไม่มีมูลเหตุศึกสงบทั่ว |
จึงปกป้องครองทรัพย์และครอบครัว |
หนีไปก็กลัวจะม้วยมรณ์ |
จึงคิดกันเข้าสงบสงัดอยู่ |
แต่ผู้คนบนเรือนนั้นเร้นซ่อน |
พ่อเถ้าห้ามว่าอย่าซอกซอน |
ค่อยนิ่งนอนอยู่กับเหย้าอย่าเศร้าใจ |
ถึงกองทัพจะมาจับไปทั้งบ้าน |
หาพลัดวงศ์วานนั้นไปไม่ |
เดชะบุญคุณท่านช่วยคุ้มภัย |
จอมทองจึงได้เป็นตัวมา |
ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายเศร้า |
ต่อเจ้าลาวทองมาเป็นข้า |
หมายใจจะได้เป็นหน้าตา |
ขอพึ่งบาทาคุ้มวันตาย ฯ |
๏ พลายแก้วยิ้มแล้วก็ตอบคำ |
ชะรอยบุญเราทำไว้มากหลาย |
จึงพิกลดลใจทั้งไพร่นาย |
มิได้ทำอันตรายบ้านจอมทอง |
ที่จริงใจก็ไม่คิดคะนึงความ |
ว่าจะได้เมียงามมาร่วมห้อง |
เวลาเย็นเห็นหน้ามาเนืองนอง |
สองท่านพาเจ้าลาวทองมา |
ความนิยมสมคิดเหมือนจิตรใจ |
ถึงได้เชียงทองก็น้อยกว่า |
เหตุไรเจ้าจึงไม่สนทนา |
ฤๅว่าใจนางไม่เต็มใจ |
ทั้งสองพี่เลี้ยงเคียงข้าง |
ช่วยถามนางดูให้สิ้นสงสัย |
มิสมัครไม่รักก็แล้วไป |
อย่าร้องไห้แก้มน้องจะหมองมัว ฯ |
๏ ครานั้นนางวันกับนางเวียง |
พี่เลี้ยงเชิงดีมิใช่ชั่ว |
สะกิดเจ้าลาวทองต้องตัว |
ทูนหัวนิ่งไยไม่เจรจา |
ถ้าได้ดีสองพี่จะได้พึ่ง |
แม้นแข็งขึงมิฟังคำพี่ว่า |
ตัวน้องต้องไปอยุธยา |
ไม่เห็นหน้าสองพี่จะหนีคืน |
เลี้ยงมาหมายว่าจะพึ่งบุญ |
ไม่ให้พึ่งก็หมุนมุ่งไปอื่น |
เสียแรงวอนสอนสั่งทุกวันคืน |
ยังสะอื้นไม่เอ็นดูกับพี่ยา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าลาวทอง |
ได้ฟังทั้งสองพี่เลี้ยงว่า |
จะออกปากยากสุดจะเจรจา |
ด้วยไม่เคยสนทนาภาษาไทย |
นึกกลัวสองพี่จะหนีทิ้ง |
ถ้าไปจริงแล้วหามีที่เห็นไม่ |
จะโต้ตอบคำชายให้อายใจ |
หวั่นไหวสะทึกสะเทินทั้งกายา |
จำเป็นจำใจจะออกปาก |
ยังกระดากกระเดื่องเขินเมินหน้า |
พี่เลี้ยงหยิกเน้นให้เจรจา |
นางประหม่าเสียงสั่นให้พรั่นใจ |
ตัวข้อยจะประนอมยอมเป็นข้า |
หมายว่าจะเมื้อถึงเมืองใต้ |
แต่หากห่วงหลังนักจะหักไป |
เป็นจนใจไม่รู้ที่จะพาที ฯ |
๏ พลายแก้วเห็นนางยังประหม่า |
พูดไม่เงยหน้าขึ้นจากที่ |
ครั้นจะสนทนาให้ช้าที |
เซ้าซี้อยู่ก็เนิ่นเกินเวลา |
จึงเอื้อมมือหยิบหมากที่ในพาน |
อัดอั้นใจอ่านพระคาถา |
ด้วยเคยเชื่อใจแต่ไรมา |
ไม่ช้าส่งให้พี่เลี้ยงพลัน |
ช่วยยื่นหมากไปให้เจ้าลาวทอง |
ทั้งสองพี่กินหมากในพานนั่น |
สนทนาเวลาก็ดึกครัน |
ไปเถิดวันอื่นจึงขึ้นมา |
พี่เลี้ยงรับหมากมายื่นให้ |
เจ้าลาวทองรับไว้ไม่เงยหน้า |
ไม่กินกลัวจะไม่ให้ไคลคลา |
ครั้นกินหมากมนตราให้เสียวใจ |
ตั้งแต่ยามเย็นนางมาอยู่ |
หาได้ดูหน้าตาเจ้าพลายไม่ |
ครั้นต้องหมากมนตร์เคี้ยวประเดี๋ยวใจ |
ก็อาลัยลอบเหลือบชำเลืองตา |
เห็นเจ้าพลายนายทัพขยับยิ้ม |
ปิ้มประหนึ่งจะคลานเข้าไปหา |
เจ้าพลายแก้วแว่วเห็นกิริยา |
ก็รู้ว่าต้องเทพรำจวนใจ |
เบือนหน้ามาบอกกับสองนาง |
ไปพลางวันอื่นจงมาใหม่ |
หาวนอนแล้วสิน้องลาวทองไป |
ดับไฟมืดมิดทำนิทรา |
สองนางเยื้องย่างมาทั้งคู่ |
ปิดประตูรีบไปไม่คอยท่า |
ลาวทองเพ่งพิศยิ่งติดตา |
ไม่ออกมาหมายอยู่เป็นคู่ครอง ฯ |
๏ พลายแก้วลุกลงมาจากเตียง |
เดินเมียงมาจะปิดประตูห้อง |
มือคลำขยำถูกเจ้าลาวทอง |
นางนิ่งอยู่มิได้ร้องประการใด |
หยุดยั้งนั่งใกล้ใครนี่หือ |
หาอออือออกปากกะไรไม่ |
ต่อปัดมือจากอกจึงตกใจ |
คิดว่าใครนี่เล่าเจ้าลาวทอง |
ร้อยชั่งนั่งไยไม่บังควร |
เวลาจวนรุ่งสางสว่างห้อง |
เลียมลูบจูบโฉมประโลมลอง |
ประคองกอดอุ้มแก้วขึ้นเตียงพลัน |
ทรุดลงประจงวางกลางที่นอน |
อย่าอาวรณ์มาพี่จะรับขวัญ |
ยิ้มพลางทางเคล้าพัลวัน |
รวยระรื่นรสจันทน์กระแจะทา |
อ่อนนุ่มเนื้อหนังสนิทนิ่ม |
จิ้มลิ้มน่ารักเป็นหนักหนา |
เต้าตั้งดังดอกปทุมา |
เมื่อกลีบแย้มผกาเสาวคนธ์ |
คึกคึกพายุกล้าเมฆาเกลื่อน |
ธุลีเลื่อนฝุ่นฟุ้งเป็นลมฝน |
ประเปรี้ยงเสียงซ่าในสากล |
ไม่ทานทนไหลนองทั้งแดนไตร |
เสื่อมคลายหายมืดมัวพยับ |
เดือนกลับส่องกระจ่างสว่างไสว |
ทั้งสองสุขเกษมเปรมใจ |
ตีเหล็กไฟจุดประทีปประเทืองพราย |
ลาวทองระทวยใจในที่นอน |
ซบซ่อนหน้าลงไปเงยหงาย |
เจ้าพลายแอบแนบข้างไม่ห่างกาย |
ประจงจูบมิได้วายทำวนใจ |
เชยคางให้นางลุกขึ้นกินหมาก |
ไม่เปรี้ยวปากฤๅช่างทนกะไรได้ |
ตระกองกกยกสะพักใส่ตักไว้ |
ระทวยใจอกอ่อนละมุนงาม |
จูบผมชมแอบแนบหน้า |
อย่าหลับตาลุกขึ้นเถิดจะขอถาม |
เป็นสัตย์จริงนะเจ้าจะเล่าความ |
พี่แสนรักจักตามอารมณ์นาง |
ถ้าไม่กีดราชการงานทัพ |
พี่นี้ไม่กลับลงไปล่าง |
สงสารโศกใจไม่วายวาง |
ด้วยจะร้างแรมท่านผู้ใหญ่ไป |
ตัวพี่ถึงที่ได้เคล้าคลึง |
รำลึกถึงพ่อแม่ยังร้องไห้ |
สงสารท่านทั้งสองจะหมองใจ |
ต่างอยู่ต่างไปใจเสียดาย |
ครั้นจะทิ้งเจ้าไว้ในจอมทอง |
พี่รำลึกถึงน้องไม่เหือดหาย |
ได้เมียจากเมียก็เสียดาย |
คิดไปให้ระคายรำคาญใจ |
เอาความรักหักเสียทั้งสองข้าง |
จะไปล่างด้วยกันอย่าร้องไห้ |
ฤๅจะอยู่เมืองบนก็ตามใจ |
ผัวไม่ว่าเจ้าให้เคืองระคาย ฯ |
๏ ลาวทองสะเทิ้นเมินหน้า |
เสนหาเหิมใจไม่เหือดหาย |
กอดแนบแอบอิงกับอกพลาย |
นางไม่คิดกลับกลายประการใด |
พ่อแก่แม่เถ้าเป็นที่รัก |
ฟูมฟักเฝ้าเลี้ยงมาจนใหญ่ |
บ่ตอบคุณสองท่านได้ปานใด |
ก็อาลัยเหลือที่จะรำพัน |
จากอกสองเถ้ามาเว้าผัว |
ระวังตัวกลัวจะปะปิสังหั้น |
เมื่อใหม่ใหม่ก็พิไรว่ารักกัน |
ครั้งถึงเวียงใต้ข้อยคิดกลัว |
ถ้าปะแคล่วคล่องเป็นสองรัก |
ก็ยากนักด้วยเขาเป็นเจ้าผัว |
ถ้าหม่อมรักฟักฟูมพอรอดตัว |
ครั้นถึงเมียน้องกลัวมิเป็นการ |
รักหม่อมยอมตามไปจนถึง |
อย่าคะนึงเลยที่ว่าจะอยู่บ้าน |
เพราะความรักเข้ามาทำจัณฑาล |
ด้านไปกว่าจะตายลงต่อตา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ยิ้มรับขวัญแล้วจึงตอบว่า |
พี่รักเจ้าลาวทองผ่องโสภา |
ยิ่งกว่าร้อยรักผู้ใดใด |
ถึงเมียพี่มีอยู่ก็อย่าพรั่น |
แต่เช่นน้องนึกนั้นอย่าสงสัย |
ถนอมนวลให้ถ้วนทุกคนไป |
ตามน้อยตามใหญ่ให้เสมอกัน |
เจ้าแก้วตากำพร้าไม่มีญาติ |
อย่าหวั่นหวาดวิโยคโศกศัลย์ |
ปลอบพลางทางเคล้าพัลวัน |
ป่วนปั่นเปี่ยมรสรัญจวนใจ |
สัพยอกหยอกนวลชวนพูด |
กระซิบสูดสองแก้มเจ้าแจ่มใส |
ประคองนมผงมแก้มแนมใน |
ฟูมไฟราคร้อนระบมทรวง |
จนเวลาสุริยาจะใกล้เช้า |
เฝ้าคลึงเคล้ามิได้งีบระงับง่วง |
ครั้นเวลาสุริยาระยับดวง |
หอมพวงพุ่มช่อผกาการ |
รวยรื่นภุมรินบินเคล้า |
ดุเหว่าแว่วเสียงเพราะเสนาะหวาน |
แสนภิรมย์ชมชิดสนิทนาน |
ก็รูดม่านออกมานอกด้วยทันใด |
พวกเหล่าลาวเชลยก็หมอบคลาน |
ประคองพานน้ำผ้าเช็ดหน้าให้ |
พานหมากตั้งวางไว้ข้างใน |
เจ้าพลายแก้วออกไปนั่งยังขุนนาง ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าลาวทอง |
อยู่ในห้องคิดตริดำริร่าง |
จะจากไปเช้าเย็นเว้นวาง |
จะสืบสร้างฝีมือให้ฦๅดี |
คิดแล้วจึงเรียกสองพี่เลี้ยง |
พี่เวียงพี่วันเข้ามานี่ |
จึงแจ้งความพลันทันที |
น้องนี้ตรึกไว้เห็นได้การ |
ตัวเราสิจะลงไปเมืองใต้ |
เมื่อไรจะคืนขึ้นมาบ้าน |
ฝีมือปักทำเราชำนาญ |
จะปักม่านไว้ให้เห็นประจักษ์ตา |
ถวายไว้ในวัดเมืองลำพูน |
ให้เป็นเค้ามูลไปเบื้องหน้า |
สองพี่หาผ้าเนื้อดีมา |
จัดหาสิ่งของด้วยทันใด |
ตำต้มประสมแล้วย้อมผืน |
สดชื่นม่วงมันด้วยเนื้อไหม |
เข้าสะดึงกรึงมุมเสมอไป |
นางก็นั่งตั้งใจด้วยปรีดา |
สองนางพี่เลี้ยงเคียงข้าง |
ร้อยไหมให้พลางทั้งซ้ายขวา |
ปักเป็นเรื่องพระยามารา |
ยกพลโยธากองทัพชัย |
มาประจญใต้ต้นมหาโพธิ |
กริ้วโกรธกระทืบช้างที่นั่งไล่ |
พวกพลแปรร่างต่างต่างไป |
บ้างสวมใส่เสนาะเกราะพราย |
บ้างแบกตะบองตะแบงมาน |
ขี่สารสูงสุดพระเมรุหมาย |
กำซาบศรขรรค์พรรณราย |
จักรแก้วแพรวพรายคทาธร |
ตรีศูลเสน่าเกาทัณฑ์ |
กั้นหยั่นโล่เขนแลสลอน |
ขี่คชสารกล้างางอน |
สิงหราชฤทธิรอนระเหิดตาม |
มิ่งม้าแม้นม้าพลาหก |
ผจงยกย่ำย่างกลางสนาม |
ล้วนประดับประดาเครื่องม้างาม |
บ้างขี่โคโตหลามกระบวนทัพ |
ปักเป็นธงหน้าคลาเคลื่อน |
เมฆเกลื่อนอาทิตย์ก็มิดดับ |
เทพทุกราศีก็หนีลับ |
ระยับด้วยทองถมทุกแห่งไป |
ที่ม่วงก็ม่วงเป็นมันแสง |
ที่แดงก็แดงดังชาดใส่ |
ต้นไม้ไสวพริ้งทั้งกิ่งใบ |
ปักนกหกไล่ไต่ตามกัน |
สารพัดหยัดยืนเหมือนอย่างเป็น |
แลเขม้นจิกกินแล้วบินผัน |
ปักเขาสุทัศน์สัตภัณฑ์ |
วินันตกการวิกยุคันธร |
ถัดมาห้าแถวแนวสมุทร |
คงคาใสสุดแลสลอน |
เป็นละลอกกระฉอกชโลธร |
ฝูงกินนรวิทยามาอาบกิน |
ปักเป็นบัวบานตระการตา |
ภุมราบินร่อนกระพือผิน |
ปักเป็นสัตว์จัตุบาทดาษดิน |
กินรินร่อนร่าอยู่เรียงราย |
ลาวทองน้องนั่งมาแต่เช้า |
เท่าถึงพระอาทิตย์ก็ตกหาย |
เจ้าพลายแก้วชำเลืองเยื้องกราย |
ถึงห้องเห็นม่านพรายดูพราวตา |
ยืนพิศดูน้องลาวทองปัก |
น่ารักฝีมือเจ้าหนักหนา |
นั่งเฟี้ยมเสงี่ยมงามทั้งกายา |
ละม้ายหน้าเจ้าพิมพิลาไลย |
ยิ่งแสนพิศวาสจะขาดจิตร |
หวนคิดถึงพิมเพื่อนพิสมัย |
ฝีมือม่านลาวทองต้องใจ |
ได้กับฝีมือพิมก็ยิ้มมอง |
นั่งใกล้ใจเสียวไม่อยู่ได้ |
ลุกหันเข้าไปถึงในห้อง |
เอนตนบนฟูกเจ้าลาวทอง |
นอนตรองอยู่ในทับจนหลับไป ฯ |
๏ ลาวทองกับสองนางพี่เลี้ยง |
ตามตะเกียงปักม่านหานอนไม่ |
พอสว่างสางแสงอโณทัย |
ก็แล้วเสร็จดังใจจินตนา |
ตัดจากสะดึงที่ขึงกาง |
สองนางอาบน้ำแล้วผัดหน้า |
เครื่องหอมจอมจันทน์กระแจะทา |
มาหาพลายแก้วผู้แววไว |
สามนางหมอบเมียงเคียงข้าง |
เจ้าพลายแก้วเห็นนางลงนั่งใกล้ |
ยังคิดถึงเจ้าพิมพิลาไลย |
ปราศรัยว่าเจ้าปักฝีมือดี |
ช่างรู้เรื่องนิทานมารประจญ |
ฉลาดล้นหญิงใดในกรุงศรี |
ถึงในอยุธยาธานี |
ไม่เหมือนฝีมือพิมโอ๊ยลาวทอง |
ลาวทองได้ฟังเรียกพลั้งชื่อ |
ยื่นมือมาสะกิดพี่ทั้งสอง |
คิดแล้วตอบไปด้วยใจปอง |
ม่านของข้อยนี้จำนงใจ |
จะถวายไว้ในวัดเจดีย์หลวง |
ด้วยตัวนี้จะล่วงไปเวียงใต้ |
แล้วจะปั้นรูปทรงจำนงใจ |
เชิญไปด้วยข้อยหน่อยเถิดรา |
พ่อแม่แก่เถ้าเป็นทุกข์ถึง |
จะค่อยคลายคะนึงด้วยรูปข้า |
บ้านกับวัดใกล้พอไปมา |
จะจารึกรูปข้าว่าชื่อพิม |
เออดูนี่อะไรทำใจหวาด |
ฝีปากบางดังชาดประจงจิ้ม |
นี่มินึกว่าเมียข้าชื่อพิม |
ยิ้มแล้วก็ลุกไปทันใด |
ลาวทองสองนางก็ตามมา |
บ่าวข้าเดินตามงามไสว |
พวกชายตามหลังสะพรั่งไป |
เข้าในวัดเมืองลำพูนพลัน |
กราบพระนมัสการแล้วออกมา |
จัดได้นายสาเป็นช่างปั้น |
ข้าไทโขลกปูนพร้อมมูลกัน |
นํ้าเชื้อโมงนั้นทั้งหนังวัว |
เหนียวดีแล้วขยี้ขยำปั้น |
นั่งดูอยู่ด้วยกันทั้งเมียผัว |
ปั้นเหมือนสนิทไม่ผิดตัว |
งามดีถ้วนทั่วทั้งกายา |
แล้วจารึกรูปว่าชื่อลาวทอง |
เรียกสองพี่เลี้ยงเข้ามาหา |
กราบกรานม่านคลี่ด้วยปรีดา |
ร้อยสายสอดมาค่อยผูกพัน |
แล้วนั่งลงพินิจพิษฐาน |
ขอเดชะม่านข้าสร้างสรรค์ |
ปักเสร็จสิ้นผืนคืนกับวัน |
กางกั้นถวายพระปฏิมากร |
เป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน |
สมบัติพัสถานอย่าย่อหย่อน |
แม้นตายวายชีพม้วยมรณ์ |
ขอให้จรฟากฟ้าสุราลัย |
อนึ่งนั้นรูปปั้นกับม่านนี้ |
ร้อยปีอย่าให้สาบสูญได้ |
ถ้าว่าเมืองลำพูนสูญเมื่อใด |
จึงให้สาบสูญไปตามกัน |
ครั้นพิษฐานแล้วก็กราบลา |
ชวนหม่อมผัวมาขมีขมัน |
มาถึงกองทัพเข้าฉับพลัน |
ชวนกันเข้าในค่ายสบายใจ ฯ |
๏ ครั้นสนธยายํ่าคํ่าแล้ว |
พลายแก้วลาวทองผ่องใส |
นอนในห้องทั้งสองสำราญใจ |
ลาวทองหลับไปในไสยา |
เวลาดึกเดือนส่องผ่องแผ้ว |
เจ้าพลายแก้วนึกคะนึงถึงเคหา |
ปานนี้พิมนิ่มน้องของพี่ยา |
จะละห้อยคอยท่าทุกคืนวัน |
ถ้ามีรับสั่งมาให้หาทัพ |
จะได้กลับไปชมภิรมย์ขวัญ |
การศึกก็สำเร็จเสร็จพลัน |
นี่อิกสักกี่วันจะได้ไป |
แต่อัดอึดฮึดฮัดให้ขัดจิตร |
หลับนอนหาสนิทลงได้ไม่ |
ยิ่งคิดก็ยิ่งนานรำคาญใจ |
ต้องจำกลํ้ากลืนไว้ในใจคอ ฯ |