๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช |
ทุกประเทศเกรงเหลือทั้งเหนือใต้ |
สถิตยังปรางค์มาศปราสาทชัย |
สนมในกราบก้มประนมกร |
สำราญราชหฤทัยอยู่ในที่ |
พระสุริย์ศรีบ่ายคล้อยลงอ่อนอ่อน |
สำอางองค์ทรงเครื่องเรืองบวร |
บทจรออกพระโรงรัตนา |
ตรัสประภาษราชการบ้านเมือง |
ไม่ขุ่นเคืองพระทัยให้หรรษา |
ผันพระพักตร์ดำรัสตรัสมา |
ดูราจมื่นศรีผู้แว่นไว |
อ้ายพลายแก้วที่ตั้งเป็นขุนแผน |
ครั้งตีแดนเมืองลาวลงมาได้ |
ยังหนุ่มแน่นกล้าหาญชาญชัย |
ถ้าใช้สอยนานไปจะได้การ |
แต่เดี๋ยวนี้ให้เกณฑ์ตระเวนไพร |
ไม่เคยเอามาใช้ในราชฐาน |
ถ้าปล่อยปละละเลยเสียช้านาน |
การงานเวียงชัยไหนจะรู้ |
ญาติวงศ์พงศามันไม่มี |
จมื่นศรีสิสันทัดฝึกหัดอยู่ |
กูฝากอ้ายแผนด้วยช่วยเป็นครู |
เอามาใช้ในหมู่มหาดเล็ก |
ยังอ้ายขุนช้างชาวสุพรรณ |
พ่อมันก็มาให้ไว้แต่เด็ก |
หัวหูเลี่ยนล้านเหมือนกระบานเจ๊ก |
เมื่อแต่เล็กได้รับกับพ่อมัน |
ขอฝากเจ้าด้วยช่วยอิกคน |
ลองฝึกฝนดูไปเป็นไรนั่น |
ให้ไปทั้งกาญจน์บุรีที่สุพรรณ |
เอาอ้ายสองคนนั้นมาไวไว ฯ |
๏ ครานั้นพระหมื่นศรีได้รับสั่ง |
ถอยหลังคลานมาหาช้าไม่ |
บอกเจ้ากรมจัดพวกตำรวจใน |
รีบรัดเร่งไปในทันที |
ครั้นถึงเขาชนไก่ไปที่บ้าน |
เล่าขานแก่ขุนแผนเป็นถ้วนถี่ |
รับสั่งสมเด็จพระพันปี |
ให้หาท่านนี้ไปพารา |
จะฝึกสอนราชการที่ในวัง |
ขุนแผนได้ฟังก็หรรษา |
ไปแถลงแจ้งความแก่มารดา |
ลูกจะลาเข้ากรุงพรุ่งนี้เช้า |
ด้วยรับสั่งสมเด็จพระพันวษา |
ให้หาลูกนี้เข้าไปเฝ้า |
จะฝึกหัดราชการงานหนักเบา |
ขอฝากเจ้าลาวทองให้แม่ไว้ |
เมื่อลูกมีบ้านช่องข่องแขว |
ก็จะมารับแม่ไปไว้ใกล้ |
ถึงอยู่กรุงหนทางไม่ห่างไกล |
จะมาไปไม่นิ่งทิ้งมารดา ฯ |
๏ ครานั้นจึงนางทองประศรี |
ได้ฟังคดีที่ลูกว่า |
แกดีใจจนหลั่งถั่งน้ำตา |
ลูบหลังลูบหน้าด้วยปรานี |
ไปเถิดเจ้าอย่าเฝ้าเป็นห่วงใย |
เมียของเจ้านั้นไซร้ให้อยู่นี่ |
แม่จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงทางนี้ |
มิให้มีเดือดร้อนรำคาญใจ |
เจ้าอุตส่าห์อดเปรี้ยวไว้กินหวาน |
ฝึกหัดราชการให้จงได้ |
ถ้าได้ดีมียศปรากฏไป |
เหมือนแทนคุณขุนไกรผู้บิดา |
แต่ทว่าราชการงานเมือง |
จะสามารถปราดเปรื่องยากหนักหนา |
โบราณท่านจึงตั้งคติมา |
ว่าวุฒิมีสี่ประการ |
หนึ่งเป็นผู้ดีมีเชื้อชาติ |
กิริยามารยาทส่งสัณฐาน |
หนึ่งได้ศึกษาวิชาชาญ |
เป็นแก่นสารคือคุณอุดหนุนตัว |
หนึ่งว่าอายุเจริญวัย |
เข้าใจผิดชอบประกอบทั่ว |
หนึ่งปัญญาว่องไวไม่มึนมัว |
จึงจะรู้ดีชั่วในทางงาน |
ท่านว่าผู้เป็นข้าฝ่าธุลี |
วุฒิต้องมีทั้งสี่สถาน |
เจ้านี้ดูก็มีทุกประการ |
จะสู่โพธิสมภารก็ควรแล้ว |
แต่ทว่าอย่าทะนงองอาจ |
โดยประมาทถือว่าข้ากล้าแกล้ว |
ถ้าประมาทราชภัยมักไม่แคล้ว |
ลูกแก้วจงจำคำมารดา |
โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์ |
ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา |
ท่านกำหนดจดไว้ในตำรา |
มีมาแต่โบราณช้านานครัน |
หนึ่งวิชาสามารถมีอย่างไร |
ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์ |
หนึ่งกล้าหาญทำการถวายนั้น |
มุ่งมั่นจนสำเร็จเจตนา |
หนึ่งมิได้ประมาทราชกิจ |
ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา |
หนึ่งสัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา |
เหมือนสมาทานศีลไว้มั่นคง |
หนึ่งเสงี่ยมเจียมตัวไม่กำเริบ |
เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเฟ้อหลง |
หนึ่งอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ |
ไม่ทำเทียมด้วยทะนงพระกรุณา |
หนึ่งไซร้ไม่ร่วมราชาอาสน์ |
ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา |
หนึ่งเข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา |
ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ |
หนึ่งผู้หญิงชาวในไม่พันพัว |
เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน |
หนึ่งสามิภักดิ์รักใคร่ในภูบาล |
ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน |
ราชสวัสดิ์จัดจบครบสิบข้อ |
พ่อจงจำไว้ให้หนักแน่น |
สัตย์ซื่อและสำคัญนั่นเป็นแดน |
พ่อแผนของแม่จงใส่ใจ |
จงไปดีมาดีศรีสวัสดิ์ |
พ้นวิบัติเสี้ยนหนามความเจ็บไข้ |
ให้พระองค์ผู้ทรงภพไตร |
โปรดปรานประทานให้เป็นพระยา |
ว่าพลางทางออกมานอกห้อง |
ร้องเรียกผู้คนพวกบ่าวข้า |
พ่อแผนเอาอ้ายเต่ากับอ้ายมา |
ไปติดหน้าตามหลังทั้งสองคน ฯ |
๏ ขุนแผนรับพรของมารดา |
แล้วมาหาลาวทองเห็นหมองหม่น |
ลูบหลังสั่งเสียด้วยทำวน |
จะก่นแต่ร้องไห้ทำไมน้อง |
พี่ไปมิใช่จะทิ้งขว้าง |
แต่พอว่างก็จะมาหาถึงห้อง |
ปลอบพลางทางชวนเจ้าลาวทอง |
จัดของเตรียมไว้จะไคลคลา |
รุ่งเช้าขุนแผนตำรวจนั้น |
ก็พากันยกออกจากเคหา |
ครั้นถึงสุพรรณทันเวลา |
ก็ตรงมายังเรือนเจ้าขุนช้าง ฯ |
๏ พอขุนช้างเหลือบแลเห็นขุนแผน |
ลุกแล่นไปปิดประตูผาง |
เข้ามากอดหมอนลงนอนคราง |
บอกนางวันทองด้วยตกใจ |
ขุนแผนขึ้นมาที่บนเรือน |
เพื่อนพาตำรวจมาเป็นไหนไหน |
เห็นจะเกิดถ้อยความลุกลามไป |
มิมีรับสั่งใช้ฤๅจึงมา ฯ |
๏ ครานั้นวันทองครั้นได้ฟัง |
ละล้าละลังตกใจเป็นหนักหนา |
จะทำฉันใดดีนะอกอา |
จะเอาหน้าฝากแฝงไว้แห่งไร |
ถึงถ้อยลามความใหญ่ดังไฟเลีย |
ถ้าพอเสียเงินทองหาทุกข์ไม่ |
กลัวจะเกาะไปศาลรำคาญใจ |
จะคิดอยางไรเล่าเจ้าประคุณ |
กรรมของเราแท้แม่วันทอง |
ถ้าเขาฟ้องแล้วเห็นจะเล่นวุ่น |
เงินทองเท่าไรไม่คิดทุน |
เดชะบุญขอแต่ให้ได้ตัวน้อง |
ลำพังพี่นี้จะด้านไปศาลหลวง |
นี่เป็นห่วงด้วยเจ้าจึงเศร้าหมอง |
น้ำตาคลอกอดคอเจ้าวันทอง |
ตรองตรองแล้วขุนช้างลงครางฮือ ฯ |
๏ ตำรวจร้องเรียกเร้าเจ้าช้างเถื่อน |
เข้าเรือนนอนนิ่งเสียแล้วฤๅ |
ร้องเรียกเท่าไรก็ไม่อือ |
จะนิ่งดื้ออยู่ได้ฤๅไรนา |
รับสั่งให้มาหาตัวไป |
จะพูดจาว่าไรก็ไม่ว่า |
ไปเสียเห็นวันทันเวลา |
ถ้าช้าจะฉุดกันรุดไป |
ขุนช้างเดือดดาลรำคาญอก |
ตัวสั่นงันงกจนเหงื่อไหล |
ร้องตอบไปพลันในทันใด |
ข้าลุกนั่งไม่ได้เจ้าขรัวนาย |
หมอว่าเป็นไข้สันนิบาต |
วันนี้ถึงฆาตในตอนบ่าย |
เมื่อตะกี้แน่นิ่งไม่ติงกาย |
อย่าเพ่อวุ่นวายจะตั้งใจ |
ตำรวจว่าเห็นนั่งอยู่ตะกี้ |
ปิดประตูลุกหนีแล้วปดได้ |
เมื่อไม่ออกมาก็แล้วไป |
จะไปดูข้างในให้เห็นตัว ฯ |
๏ ขุนช้างตกใจสะกิดเมีย |
ลั่นดาลเข้าเสียแม่ทูนหัว |
วันทองย่องมาขาสั่นรัว |
ชักหัวดาลลั่นเข้าทันใด ฯ |
๏ ฝ่ายว่าขุนแผนตำรวจนั้น |
ลุกเข้ามาพลันหาช้าไม่ |
ผลักดูประตูไม่เปิดไป |
ขุนแผนเข้าใจว่าใส่กลอน |
จึงเป่าคาถามหาสะเดาะ |
กลอนหลุดผลุดเผลาะดังคนถอน |
กรูกันเข้าไปในที่นอน |
ขุนช้างฉวยหมอนขึ้นออกยักษ์ |
โยกตัวโคลงหัวว่าผีเข้า |
กูนี้เจ้าพระประแดงกำแพงหัก |
เหลือกตายักคอหัวร่อคัก |
มึงรู้จักกูฤๅไม่ไอ้ขุนโรง |
ตำรวจร้องชะเจ้าขุนช้าง |
ทำเล่นหลายอย่างอ้ายตายโหง |
ขุนช้างลุกโลดโดดโกรงโกรง |
ด่าโผงซ้ำขู่กูจะหักคอ |
อ้ายเหล่านี้มึงไปข้างไหนมา |
อุกอาจหนักหนาไม่กลัวพ่อ |
ยักคิ้วหลิ่วตาทำหน้างอ |
ล้อพ่อเล่นอึงมึงต้องดี ฯ |
๏ ขุนแผนแค้นใจดังไฟกาล |
จะใคร่ผลาญชีวิตให้เป็นผี |
โกรธวันทองถ่อยพลอยกาลี |
มีดาบจะฟาดให้ขาดกลาง |
ทำเป็นกลัวเจ้าจะหักคอ |
ต่อล้อโลดเล่นเต้นโผงผาง |
ทำเหยียบม่านล้มพลาดขาดกลาง |
ปะเตะนางวันทองล้มควํ่าไป |
วันทองล้มควํ่าคะมำจุก |
มือกดท้องลุกขึ้นไม่ได้ |
ขุนช้างตัวสั่นพรั่นตกใจ |
กอดเมียเข้าไว้ว่ากรรมกรรม ฯ |
๏ ตำรวจถามว่าออกแล้วฤๅเจ้า |
ทำไมไม่เข้าไปยังคํ่า |
นี่คลั่งไคล้ไข้ป่านัยน์ตาดำ |
ฤๅเลือดลมมันทำงกเงิ่นไป |
บัดนี้รับสั่งให้เรามา |
หาตัวเข้าไปอย่าช้าได้ |
ด้วยบิดาของนายถวายไว้ |
ยังมิได้ใช้สอยราชการ |
จะเอาไปฝึกสอนให้เข้าใจ |
นี่คิดอย่างไรทำงุ่นง่าน |
ผีเข้าเจ้าออกหลอกลนลาน |
ออกยักษ์ออกมารอยู่วุ่นวาย ฯ |
๏ ขุนช้างฟังไปมิใช่ฟ้อง |
หายใจทั่วท้องทุกข์ร้อนหาย |
ถ้าแรกมารู้ว่าไม่วุ่นวาย |
เจ้านายท่านจะเข้าเราทำไม |
จะเข้าเวรเกณฑ์ใช้ราชการ |
ข้าหาเกียจคร้านสักนิดไม่ |
สั่งเสียเมียพลันทันใด |
เรียกหาบ่าวไพร่ลงเรือนมา |
ตำรวจขุนแผนกับขุนช้าง |
ตัดทางดั้นดัดลัดป่า |
ครั้นถึงกรุงศรีอยุธยา |
ไปเข้าหาจมื่นศรีด้วยทันใด ฯ |
๏ ครานั้นจมื่นศรีเสาวรักษ์ |
ถามทักพูดจาปราศรัย |
บอกว่าพระองค์ผู้ทรงชัย |
รับสั่งให้ฝึกสอนทั้งสองคน |
ถ้าทำราชการนานไป |
ใครตั้งใจให้ดีจะมีผล |
ขุนช้างบอกลนลานดีฉานจน |
ขัดสนราชการไม่เข้าใจ |
เคยแต่ตวาดควายอยู่ปลายนา |
เจ้านายนั้นหารู้จักไม่ |
เล่นแต่ไม้หึ่งอื้ออึงไป |
คุกคลานอย่างไรเจ้าขรัวนาย ฯ |
๏ พระหมื่นศรีหัวร่ออยู่คากคาก |
วิบากสุดใจไอ้ฉิบหาย |
สันทัดถนัดแต่เลี้ยงควาย |
เอ็งอย่าวุ่นวายไม่เป็นไร |
ยังไม่เอาเข้าไปใช้สอยก่อน |
จะผันผ่อนสอนสั่งให้จำได้ |
ว่าแล้วเท่านั้นในทันใด |
ก็ฝึกสอนกันไปทุกเวลา |
ขุนแผนนั้นสอนง่ายได้ดังใจ |
ขุนช้างจัญไรยากนักหนา |
คุกคลานเข้าเฝ้าเหมือนเต่านา |
หลายวันมาจึงได้ไปใช้เวร |
มหาดเล็กเขาล้อหัวร่อฮา |
ตั้งให้ไฉยาว่าขุนเถน |
นานไปใช้สอยค่อยจัดเจน |
เข้าเวรร่วมกันทั้งสองรา ฯ |
๏ ฝ่ายขุนเพชรขุนรามอินทรานั้น |
วันหนึ่งพากันมาพร้อมหน้า |
ที่เรือนพระหมื่นศรีผู้ปรีชา |
จัดเหล้าข้าวปลามาเลี้ยงกัน |
พระหมื่นศรีขุนเพชรขุนรามมา |
เป็นห้าทั้งขุนแผนขุนช้างนั่น |
กินเหล้าเมาหราตาเป็นมัน |
รินเหล้าเกลือรันลงสาบาน |
สารพัดสัตย์ซื่อต่อกันสิ้น |
กินเมาพูดโอ้ด้วยโวหาร |
สร่างเมาเหล้าหมดก็สำราญ |
ต่างคนไปบ้านด้วยฉับพลัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงลาวทองผ่องโสภา |
อยู่กับมารดาของผัวขวัญ |
ล้มไข้เจียนตายมาหลายวัน |
มดหมอหากันมาวางยา |
ไม่หายท่านยายก็ร้อนรน |
บวงบนเซ่นวักเป็นหนักหนา |
แต่ประทังยังรอไม่มรณา |
ทองประศรีรักษาก็สุดใจ |
จึงสั่งบ่าวพลันมิทันช้า |
ไปหาขุนแผนให้จงได้ |
บอกความให้รู้สูเร็วไว |
บ่าวยกมือไหว้ลงเรือนมา |
ถึงเรือนพระหมื่นศรีที่นายอยู่ |
อ้ายอู๋จู่รีบขึ้นไปหา |
บอกนายเร็วพลันมิทันช้า |
ตามในกิจจาทุกสิ่งไป ฯ |
๏ ขุนแผนฟังบ่าวบอกข่าวน้อง |
ประหวั่นถึงลาวทองที่เป็นไข้ |
แล้วนิ่งระงับดับใจ |
ดูในฤกษ์ยามตามนาที |
วันเสาร์ข้างเช้าเป็นยามจันทร์ |
ไข้นั้นหนักเจียนจะเป็นผี |
แต่ยามจันทร์ท่านทายว่าคลายดี |
ผู้มาบอกนั่งที่ก็ไม่ร้าย |
ผิดทั้งหลาวเหล็กราหูจร |
อยู่ข้างต้นศรว่าพลันหาย |
ฤกษ์ยามตามตำราว่าไม่ตาย |
แต่แก้วตาจะกระวายกระวนใจ |
เจ็บไข้ผัวมิได้อยู่เห็นหน้า |
ถึงสิบหมอจะรักษาหาเหมือนไม่ |
จะหมองมัวเพราะผัวนี้อยู่ไกล |
โรคภัยจึงได้กลุ้มรุมร้อน |
วันนี้ก็เป็นวันเวรของตัวเรา |
จำจะฝากเวรเขาออกไปก่อน |
คิดแล้วลุกมาด้วยอาวรณ์ |
นั่งถอนใจใหญ่ใกล้ขุนช้าง |
เกลอเอ๋ยเมียข้าเป็นไข้เหนือ |
ล้นเหลือบ่าวบอกเห็นสุดอย่าง |
จะขอฝากเวรไว้กับเกลอพลาง |
รับราชการต่างได้เอ็นดู |
นานไปเบื้องหน้าถ้ามิตาย |
เราก็ลูกผู้ชายเห็นกันอยู่ |
เกลอมีที่ไปจึงใช้ตู |
รู้จักคุณกันจนวันตาย ฯ |
๏ ขุนช้างรับว่าเออจะเป็นไร |
พอทำแทนกันได้ไม่ยากง่าย |
ตามใจไปเถิดอย่าวุ่นวาย |
ขุนแผนบ่าวนายก็ออกมา |
ถมปักพันพุงพะรุงพะรัง |
เซซังเดินตัดลัดป่า |
ถึงเขาชนไก่มิได้ช้า |
ขึ้นบนเคหาด้วยทันใด |
กราบกับบาทามารดาเล่า |
เมียเจ้าอยู่หลังนั้นล้มไข้ |
แม่บนบานมดหมอจนท้อใจ |
รักษามิใคร่จะบรรเทา ฯ |
๏ ขุนแผนลุกลามาหาเมีย |
อย่าเสียใจผัวมาแล้วนะเจ้า |
เนื้อหอมผอมร่างลงบางเบา |
ข้าวปลากินได้ฤๅไม่เลย |
เด็กไปบอกรู้ก็รีบมา |
ใช่ว่าจะบิดเบือนเชือนเฉย |
ผัวประคองลาวทองค่อยเสบย |
เงยหน้าแก้มนวลแต่ล้วนยา |
แต่จะดับเสียไม่นับเวลาได้ |
น้องนี้รอใจไว้คอยท่า |
ถ้าช้าไปหลายวันไม่กลับมา |
หยูกยาน้องไม่กินให้ขมคอ |
เห็นหน้าหม่อมมาเหมือนหายไข้ |
ยิ่งกว่าได้พระอินทร์มาเป็นหมอ |
ขุนแผนเอนตัวหัวร่องอ |
ประคองคอให้เจ้าผินมากินยา |
รักษามาหลายวันก็พลันหาย |
ค่อยสบายคลายทุกข์เป็นสุขา |
ขุนแผนนิ่งนึกตรึกตรา |
จะกลับไปอยุธยาในพรุ่งนี้ |
กลางคืนวันนั้นเข้านอนหลับ |
อยู่กับลาวทองผ่องศรี |
สองราสุขเกษมเปรมปรีดิ์ |
มิได้คิดว่าจะมีซึ่งเหตุมา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ทรงธรณี |
เสด็จออกประทับที่ข้างฝ่ายหน้า |
พร้อมด้วยอำมาตย์มาตยา |
ผาสุกสำราญหฤทัย |
พอเห็นขุนช้างพลันมิทันช้า |
อ้ายขุนแผนนั้นหวามันไปไหน |
ไม่ร่วมเวรเกณฑ์กันฤๅฉันใด |
อ้ายนี่ใช้สอยเรียบร้อยดี ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างฟังรับสั่ง |
คิดถึงความหลังดังไฟจี้ |
ขุนแผนความแค้นของมันมี |
ถ้าได้ทีนานไปคงใส่กู |
เอาวันทองของมันมาจากข้าง |
มันก็หมายจะล้างทำลายอยู่ |
กูจะผลาญชีวิตดังพิษงู |
ครู่เดียวให้ยับดังสับปลา |
คิดแล้วยกข้อขอเดชะ |
ข้าพระพุทธเจ้าไม่มุสา |
เข้าเวรร่วมกันหลายวันมา |
เห็นบ่นถึงภรรยาอยู่ทุกวัน |
วานนื้บอกว่าจะไปบ้าน |
เกล้ากระหม่อมทัดทานก็หุนหัน |
ขู่รู่ด่าว่าสารพัน |
ครั้นดึกได้สักสามยามปลาย |
ขุนแผนปีนข้ามกำแพงวัง |
โอหังหยาบช้าเป็นเหลือหลาย |
หม่อมฉันว่าก็จะฆ่าเสียให้ตาย |
เห็นจะป่ายไปบ้านภรรยา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบก็กริ้วเป็นหนักหนา |
กระทืบพระบาทตวาดมา |
อ้ายนี่ตกว่าไม่เกรงใคร |
อ้ายขุนช้างว่ากล่าวกลับห้าวหาญ |
บังอาจปีนปราการออกไปได้ |
โทษถึงฆ่าฟันให้บรรลัย |
เสียบหัวอย่าให้ดูเยี่ยงกัน |
หากคิดนิดหนึ่งความชอบมี |
ถ้าหาไม่ชีวีจะอาสัญ |
อีเมียอย่างไรไม่จากกัน |
ฤๅลอยมาแต่สวรรค์จึงลืมกลัว |
เหวยราชามาตย์ไปบัดนี้ |
พาอีลาวทองมาจากผัว |
อ้ายขุนแผนกูไม่ขอเห็นตัว |
มันทำชั่วให้อยู่กาญจน์บุรี |
ให้คุมไพร่ไปเที่ยวตระเวนด่าน |
ต่อราชการเกิดศึกในกรุงศรี |
จึงจะเกณฑ์มันให้ไปต่อตี |
แต่ไนราตรีจงรีบไป |
ฝ่ายราชามาตย์ก็รับสั่ง |
ออกมาจากวังไม่ช้าได้ |
ขึ้นม้าพาพวกตำรวจใน |
ออกจากเวียงชัยในราตรี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงลาวทองผ่องโสภา |
ค่อยคลายโรคาที่หมองศรี |
กลางคืนนอนแนบแอบสามี |
เปรมปรีดิ์จนหลับกับที่นอน |
นางฝันว่ายักษ์ใหญ่เข้าในห้อง |
จับลาวทองมัดลากไปจากหมอน |
ไปใส่กรงเหล็กไว้ให้อาวรณ์ |
เดือดร้อนทุกข์ทนทั้งตาปี |
ในฝันนั้นว่าผัวตัวตามไป |
ก็ตกในเหวห้องคิรีศรี |
ได้ความยากแค้นแสนทวี |
แล้วมีชายหนึ่งเรืองฤทธิไกร |
มาอุ้มเจ้าลาวทองกับขุนแผน |
ออกจากแดนยักษ์ตรงมาส่งได้ |
สิ้นฝันพลันฟื้นตื่นตกใจ |
ปลุกปลอบผัวให้ทำนายพลัน ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
นิ่งคิดความน้องลาวทองฝัน |
เอ๊ะฤกษ์ยามร้ายเข้าพร้อมกัน |
ในวันรุ่งพรุ่งนี้จะมีภัย |
กูกับลาวทองจะต้องพราก |
เกิดกรรมวิบากขึ้นโตใหญ่ |
ต่อเนิ่นนานจะค่อยคลายสบายใจ |
จะมีผู้แก้ไขให้พบกัน |
ครั้นจะทักทายว่าร้ายนัก |
กลัวลาวทองน้องรักจักโศกศัลย์ |
จึงบอกแชแก้ไขไปฉับพลัน |
ฝันนี้ไม่ร้ายไม่ดีนัก |
เพราะธาตุแปรปรวนด้วยเป็นไข้ |
จึงฝันฟั่นเฟือนไปไม่ประจักษ์ |
พูดจากลบเกลื่อนเตือนเมียรัก |
ชวนชักพูดอื่นให้ชื่นใจ ฯ |
๏ พระอาทิตย์เร่งรถมาเรื่อฟ้า |
แสงทองส่องหล้ากระจ่างไข |
เสียงดุเหว่าเร่าร้องคะนองไพร |
เรไรหริ่งเรื่อยอยู่รวงรัง |
พระพายพัดฮือกระพือกลิ่น |
ภุมรินบินวู่อยู่คับคั่ง |
สะกิดเจ้าลาวทองชวนน้องฟัง |
วังเวงหวั่นหวาดวิเวกใจ |
หนูกกจิ้งจกกระเจิงทัก |
แมลงมุมทุ่มทรวงอักหาหยุดไม่ |
วิปริตผิดนักตระหนักใจ |
ดังจะบอกเหตุให้ประจักษ์ตา |
พอรุ่งตำรวจในก็ไปถึง |
ลงจากม้าหน้าบึ้งขึ้นเคหา |
ขุนแผนพอเห็นตำรวจมา |
ดังใครควักชีวาออกจากกาย |
แข็งใจไปหาราชามาตย์ |
ผู้คนเกลื่อนกลาดเป็นมากหลาย |
ธุระสิ่งไรไปไหนนาย |
ฤๅเกิดการวุ่นวายศึกเสือมี ฯ |
๏ ฝ่ายราชามาตย์ได้ฟังถาม |
บอกความขุนแผนเป็นถ้วนถี่ |
ขุนช้างกราบทูลพระพันปี |
ว่านายหนีปีนข้ามกำแพงมา |
ขุนช้างว่าได้ขัดทัดทาน |
กลับห้าวหาญหุนหันจะฟันฆ่า |
โทษนายถึงที่มรณา |
พระเมตตาว่าตีได้เชียงทอง |
ห้ามเฝ้ามิให้เข้าไปวังใน |
สั่งให้พรากเมียเสียจากห้อง |
เหตุเพราะว่าผัวตัวลำพอง |
เมียของท่านเราจะเอาไป ฯ |
๏ ขุนแผนได้ฟังราชามาตย์ |
ไหวหวาดใจเย็นจะเป็นไข้ |
ลุกเข้าห้องพลันทันใด |
ทอดตัวในที่นอนถอนใจพลาง |
มือซ้ายก่ายหน้าขวากอดน้อง |
นิจจาเจ้าลาวทองจะจากข้าง |
ดังใครเอาดาบฟาดให้ขาดกลาง |
อ้ายขุนช้างฆ่าพี่ครั้งนี้แล้ว |
เมื่อมาลาจากฝากเวรไว้ |
ช่างพิไรทูลพระจอมกระหม่อมแก้ว |
ความผิดของพี่ไม่มีแวว |
มันเหมือนแร้วดักไว้ที่ในดง |
พี่เหมือนนกผกผินบินอากาศ |
เพราะประมาทเสียเชิงกระเจิงหลง |
จะหาร่มลมจัดบินลัดลง |
จำเพาะตรงเข้าแร้วที่ราวี |
สำคัญว่ากิ่งไม้มิใช่แร้ว |
ต้องติดตีนดิ้นแด่วจนเป็นผี |
ทรงพระโกรธคาดโทษถึงชีวี |
นี่หากมีความชอบแต่ก่อนมา |
จึงยกไว้ให้เอาแต่เจ้าไป |
โอ้ที่ไหนตายเป็นจะเห็นหน้า |
สุดจิตรสุดใจไกลแก้วตา |
สุดปัญญาพี่แล้วเจ้าลาวทอง ฯ |
๏ ลาวทองน้องรักประจักษ์จิตร |
ดังคมกฤชกรีดทรวงออกเป็นสอง |
สะอื้นออกปากว่าน้ำตานอง |
พ่อครองเมียอยู่ไม่ถึงปี |
จะจากอกเหมือนตกเมรุมาศ |
จะกลิ้งตายกายขาดลงเป็นผี |
กระดูกเย็นเช่นผงเถ้าธุลี |
สิ้นสีทินกรไม่ผ่อนทุกข์ |
เดือนแรมน้องจะแรมไปตามเดือน |
เดือนขึ้นฟั่นเฟือนไม่มีสุข |
จนสิ้นมิคสัญญีกลียุค |
จะเฝ้าปลุกปลํ้าโศกไม่เคลื่อนคลาย |
โอ้กรรมใดหนอมาดลจิตร |
สองคิดเคืองขุ่นไม่สูญหาย |
ถ้าศึกเสือมาล้างให้วางวาย |
ถึงจะตายนํ้าใจไม่ย่อท้อ |
น้อยใจเวรใดมาดลจิตร |
ให้หม่อมพลายวายคิดที่แค้นหนอ |
มันคนผิดมาแต่หลังยังรั้งรอ |
ในใจคอพ่อไม่เห็นว่ากฤชคด |
ทั้งวันทองห้องหอก็หาญหัก |
ชิงรักริบรวบเอาจนหมด |
ดังแมลงป่องหางงอนช้อนชด |
บอกพยศกูนี้ไม่มีตรง |
พ่อยังไปไว้เนื้อเชื่อใจ |
เหมือนพ่อเปิดช่องให้สมประสงค์ |
ทางเตียนฤๅไปเวียนเข้าในดง |
ต่อเดินหลงแล้วจึงรู้ว่าผิดทาง |
เข้าตาจนเพราะผลแห่งความสัตย์ |
เมียจะต้องพรากพลัดไปห่างข้าง |
แสนระทมกรมใจร้องไห้พลาง |
กลิ้งกลางห้องไห้ไม่สมประดี ฯ |
๏ ขุนแผนผินปลอบประโลมขวัญ |
จะไกลกันไปแล้วนะแก้วพี่ |
พลัดแก้วแววตาด้วยปรานี |
เพราะพี่มาเป็นเหตุให้จำไกล |
รักเมียเหมือนชักให้รักร้าง |
ดังพี่ขว้างเจ้าลงทะเลใหญ่ |
น้องเอ๋ยผลกรรมเราทำไว้ |
จะร้องไห้ไปจนเลือดตากระเด็น |
อกพี่อกน้องจะพองพัง |
ใครจะหยั่งในทรวงมาล่วงเห็น |
รักษาตัวเถิดนะเจ้าทุกเช้าเย็น |
เช่นชั่วฉันใดอย่าได้ทำ |
เดชะบุญเราสร้างแต่ปางก่อน |
คงมีวันผันผ่อนที่ครวญครํ่า |
สิ่งดีมีอยู่เจ้าจงจำ |
ทนกรรมไปกว่าจะบรรเทา |
ท่านผูใดเป็นใหญ่ใช้สอยน้อง |
จงปรองดองฝากตัวกลัวเกรงเขา |
ปากคอรู้จักที่หนักเบา |
ถือเอาแต่สัตย์เป็นประมาณ |
อย่าโศกาช้านักก็ไม่ได้ |
ตำรวจในเขาจะรีบไปจากบ้าน |
จัดของข้าวแล้วมิทันนาน |
ไปหาท่านมารดาทั้งผัวเมีย |
กราบกับบาทาน้ำตาหลั่ง |
รับสั่งให้พรากลาวทองเสีย |
เกิดเหตุเภทภัยดังไฟเลีย |
ต้องพรากเมียครั้งนี้เพราะขุนช้าง |
ลาวทองจะต้องไปอยู่วัง |
เล่าให้แม่ฟังสิ้นทุกอย่าง |
ลาวทองร้องไห้พิไรพลาง |
แต่ลูกร้างแรมจากเชียงทองมา |
พ่อแม่อยู่ไกลได้พึ่งคุณแม่ |
เผื่อแผ่ให้ลูกเป็นสุขา |
ปรานีลูกนี้แต่วันมา |
หวังว่าจะแทนพระคุณทำ |
เมื่อคราวลูกเกิดเข็ญเป็นไข้ |
ก็อาศัยคุณแม่ทุกเช้าค่ำ |
รักษาหยูกยาอุตส่าห์ทำ |
หยอดข้าวน้ำปลอบลูกให้คลายใจ |
ถึงกะไรให้ได้แทนพระคุณบ้าง |
นี่มาร้างตายเป็นหาเห็นไม่ |
ต่างมีต่างจนต่างคนไกล |
จะได้เห็นมารดาเวลาเดียว ฯ |
๏ ทองประศรีสงสารรำคาญใจ |
น้ำตาไหลรินรํ่าดังน้ำเชี่ยว |
ชะเนื้อกรรมนำชักไปจริงเจียว |
แม่จะเหลียวเห็นใครเหมือนลาวทอง |
ไม่แง่งอนสอนได้เหมือนใจแม่ |
โอ้จะแลหายลับทุกหับห้อง |
กอดลูกโศกาน้ำตานอง |
แม่หมายปองจะให้เจ้าเผามารดา |
จะลับลี้หนีไปมิได้เผา |
จะไกลเจ้าเช้าเย็นไม่เห็นหน้า |
ถ้าอยู่ไปหลายเดือนเขาเคลื่อนคลา |
จงมาหาแม่บ้างให้คลายใจ |
จึงนับเงินออกให้ไปสามชั่ง |
หมดแล้วทีหลังมาเอาใหม่ |
อีสีอีสาอย่าช้าไว |
นางเวียงเป็นผู้ใหญ่กับนางวัน |
ไปกับลูกข้าเป็นห้าคน |
ผ่อนปรนอย่ารังเกียจเดียดฉันท์ |
ลุกออกมาว่ากับตำรวจพลัน |
นายทั่นเมตตาได้ปรานี |
เป็นลาวชาวไพรไม่รู้การ |
ผิดชอบว่าขานแต่ควรที่ |
ราชามาตย์ตอบไปเป็นไรมี |
ขุนแผนนี้กับข้าก็ชอบกัน |
ค่อยอยู่เถิดหนาช้าไม่ได้ |
ว่าแล้วลุกไปขมีขมัน |
ลาวทองกราบลามารดาพลัน |
สะอื้นอั้นหันมาลาสามี |
ยิ่งแข็งใจไหวหวั่นยิ่งพรั่นจิตร |
ดังเหยียบแผ่นดินผิดถล่มหนี |
ขุนแผนแสนชํ้าระกำทวี |
ลาวทองโศกีสะอื้นไป |
สงสารตัวสงสารผัวสงสารบ้าน |
สงสารท่านมารดาน้ำตาไหล |
สงสารสวนหวนหอมสุมาลัย |
สงสารทั้งข้าไทสงสารกัน |
ขุนแผนแสนโศกสงสารน้อง |
สงสารห้องฟูกหมอนที่นอนนั่น |
แต่แลแลลับไปเข้าไพรวัน |
หันหับห้องร้องไห้ในที่นอน ฯ |
๏ ฝ่ายราชามาตย์มากลางทาง |
ลาวทองขี่ช้างสะอื้นอ้อน |
สองวันคืนหนึ่งถึงพระนคร |
บ่าวไสช้างย้อนมาบ้านพลัน |
ราชามาตย์ก็เข้าไปในวัง |
ลาวทองตามหลังขมีขมัน |
พาเข้าเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ |
ผินผันพระพักตร์ชำเลืองมา |
เอออีนี่ฤๅเมียอ้ายขุนแผน |
ดูอ้อนแอ้นเอวกลมสมหน้า |
ผ่องผิวคิ้วคางสำอางตา |
ติดจะเคียงเข้ามากับเด็กกู |
กระนี้ฤๅอ้ายขุนแผนจะละเลย |
ปีนกำแพงแรงเตยไม่หยุดอยู่ |
เจ้าขรัวนายจงหมายสั่งประตู |
คอยดูอย่าให้ออกไปนอกวัง |
ให้เป็นชาวสะดึงกรึงไหม |
เจ้าขรัวนายผู้ใหญ่ก็รับสั่ง |
ให้ลาวทองอยู่ทิมที่ริมคลัง |
ปักสะดึงกรึงนั่งทุกเวลา |
เย็นเช้าเฝ้ารำพึงถึงแต่ผัว |
ราชการงานตัวก็แน่นหนา |
ฝากตัวเจ้าขรัวนายทั้งหลายมา |
อุตส่าห์เจียมตัวกลัวโทษกรณ์ ฯ |