๏ จะกล่าวถึงโฉมเจ้าพลายงาม |
เมื่อเป็นความชนะขุนช้างนั่น |
กลับมาอยู่บ้านสำราญครัน |
เกษมสันต์สองสมภิรมย์ยวน |
พร้อมญาติขาดอยู่แต่มารดา |
นึกนึกตรึกตราละห้อยหวน |
โอ้ว่าแม่วันทองช่างหมองนวล |
ไม่สมควรเคียงคู่กับขุนช้าง |
เออนี่เนื้อเคราะห์กรรมมานำผิด |
น่าอายมิตรหมองใจไม่หายหมาง |
ฝ่ายพ่อมีบุญเป็นขุนนาง |
แต่แม่ไปแนบข้างคนจัญไร |
รูปร่างวิปริตผิดกว่าคน |
ทรพลอัปรีย์ไม่ดีได้ |
ทั้งใจคอชั่วโฉดโหดไร้ |
ช่างไปหลงรักใคร่ได้เป็นดี |
วันนั้นแพ้กูเมื่อดำน้ำ |
ก็กริ้วซ้ำจะฆ่าให้เป็นผี |
แสนแค้นด้วยมารดายังปรานี |
ให้ไปขอชีวีขุนช้างไว้ |
แค้นแม่จำจะแก้ให้หายแค้น |
ไม่ทดแทนอ้ายขุนช้างบ้างไม่ได้ |
หมายจิตคิดจะให้มันบรรลัย |
ไม่สมใจจำเพาะเคราะห์มันดี |
อย่าเลยจะรับแม่กลับมา |
ให้อยู่ด้วยบิดาเกษมศรี |
พรากให้พ้นคนอุบาทว์ชาติอัปรีย์ |
ยิ่งคิดก็ยิ่งมีความโกรธา |
อัดอึดฮึดฮัดด้วยขัดใจ |
เมื่อไรตะวันจะลับหล้า |
เข้าห้องหวนละห้อยคอยเวลา |
จวนสุริยาเลี้ยวลับเมรุไกร |
เงียบสัตว์จัตุบททวิบาท |
ดาวดาษเดือนสว่างกระจ่างไข |
น้ำค้างตกกระเซ็นเย็นเยือกใจ |
สงัดเสียงคนใครไม่พูดจา |
ได้ยินเสียงฆ้องย่ำประจำวัง |
ลอยลมล่องดังถึงเคหา |
คะเนนับย่ำยามได้สามครา |
ดูเวลาปลอดห่วงทักทิน |
ฟ้าขาวดาวเด่นดวงสว่าง |
จันทร์กระจ่างทรงกลดหมดเมฆสิ้น |
จึงเซ่นเหล้าข้าวปลาให้พรายกิน |
เสกขมิ้นว่านยาเข้าทาตัว |
ลงยันต์ราชะเอาปะอก |
หยิบยกมงคลขึ้นใส่หัว |
เป่ามนตร์เบื้องบนชอุ่มมัว |
พรายยั่วยวนใจให้ไคลคลา |
จับดาบเคยปราบณรงค์รบ |
เสร็จครบบริกรรมพระคาถา |
ลงจากเรือนไปมิได้ช้า |
รีบมาถึงบ้านขุนช้างพลัน ฯ |
๏ เห็นคนนอนล้อมอ้อมเป็นวง |
ประตูลั่นมั่นคงขอบรั้วกั้น |
กองไฟสว่างดังกลางวัน |
หมายสำคัญตรงมาหน้าประตู |
จึงร่ายมนตรามหาสะกด |
เสื่อมหมดอาถรรพ์ที่ฝังอยู่ |
ภูตพรายนายขุนช้างวางวิ่งพรู |
คนผู้ในบ้านก็ซานเซอะ |
ทั้งชายหญิงง่วงงมล้มหลับ |
นอนทับคว่ำหงายก่ายกันเปรอะ |
จี่ปลาคาไฟมันไหลเลอะ |
โงกเงอะงุยงมไม่สมประดี |
ใช้พรายถอดกลอนถอนลิ่ม |
รอยทิ่มถอดหลุดไปจากที่ |
ย่างเท้าก้าวไปในทันที |
มิได้มีใครทักแต่สักคน |
มีแต่หลับเพ้อมะเมอฝัน |
ทั้งไฟกองป้องกันทุกแห่งหน |
ผู้คนเงียบสำเนียงเสียงแต่กรน |
มาจนถึงเรือนเจ้าขุนช้าง |
จุดเทียนสะกดข้าวสารปราย |
ภูตพรายโดดเรือนสะเทือนผาง |
สะเดาะดาลบานเปิดหน้าต่างกาง |
ย่างเท้าก้าวขึ้นร้านดอกไม้ |
หอมหวนอวลอบบุปผาชาติ |
เบิกบานก้านกลาดกิ่งไสว |
เรณูฟูร่อนขจรใจ |
ย่างเท้าก้าวไปไม่โครมคราม |
ข้าไทนอนหลับลงทับกัน |
สะเดาะกลอนถอนลั่นถึงชั้นสาม |
กระจกฉากหลากสลับวับแวมวาม |
อร่ามแสงโคมแก้วแววจับตา |
ม่านมู่ลี่มีฉากประจำกั้น |
อัฒจันทร์เครื่องแก้วก็หนักหนา |
ชมพลางย่างเยื้องชำเลืองมา |
เปิดมุ้งเห็นหน้าแม่วันทอง |
นิ่งนอนอยู่บนเตียงเคียงขุนช้าง |
มันแนบข้างกอดกลมประสมสอง |
เจ็บใจดังหัวใจจะพังพอง |
ขยับจ้องดาบง่าอยากฆ่าฟัน |
จะใคร่ถีบขุนช้างที่กลางตัว |
นึกกลัวจะถูกแม่วันทองนั่น |
พลางนั่งลงนอบนบอภิวันท์ |
สะอื้นอั้นอกแค้นน้ำตาคลอ |
โอ้แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ย |
ไม่ควรเลยจะพรากจากคุณพ่อ |
เวรกรรมนำไปไม่รั้งรอ |
มิพอที่จะต้องพรากก็จากมา |
มันไปฉุดมารดาเอามาไว้ |
อ้ายหัวใสข่มเหงไม่เกรงหน้า |
ที่ทำแค้นกูจะแทนให้ทันตา |
ขอษมาแม่แล้วก็ขับพราย |
เป่าลงด้วยพระเวทวิทยา |
มารดาก็ฟื้นตื่นโดยง่าย |
ดาบใส่ฝักไว้ไม่เคลื่อนคลาย |
วันทองรู้สึกกายก็ลืมตา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง |
ต้องมนต์มัวหมองเป็นหนักหนา |
ตื่นพลางทางชำเลืองนัยน์ตามา |
เห็นลูกยานั้นยืนอยู่ริมเตียง |
สำคัญคิดว่าผู้ร้ายให้นึกกลัว |
กอดผัวร้องดิ้นจนสิ้นเสียง |
ซวนซบหลบลงมาหมอบเมียง |
พระหมื่นไวยเข้าเคียงห้ามมารดา |
อะไรแม่แซ่ร้องทั้งห้องนอน |
ลูกร้อนรำคาญใจจึงมาหา |
จะร้องไยใช่โจรผู้ร้ายมา |
สนทนาด้วยลูกอย่าตกใจ ฯ |
๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
ครั้นรู้ว่าลูกยาหากลัวไม่ |
ลุกออกมาพลันด้วยทันใด |
พระหมื่นไวยเข้ากอดเอาบาทา |
วันทองประคองสอดกอดลูกรัก |
ซบพักตร์ร้องไห้ไม่เงยหน้า |
เจ้ามาไยปานนี้นี่ลูกอา |
เขารักษาอยู่ทุกแห่งตำแหน่งใน |
ใส่ดาลบ้านช่องกองไฟรอบ |
พ่อช่างลอบเข้ามากะไรได้ |
อาจองทะนงตัวไม่กลัวภัย |
นี่พ่อใช้ฤๅว่าเจ้ามาเอง |
ขุนช้างตื่นขึ้นมิเป็นการ |
เขาจะรุกรานพาลข่มเหง |
จะเกิดผิดแม่คิดคะนึงเกรง |
ฉวยสบเพลงพลาดพล้ำมิเป็นการ |
มีธุระสิ่งไรในใจเจ้า |
พ่อจงเล่าแก่แม่แล้วกลับบ้าน |
มิควรทำเจ้าอย่าทำให้รำคาญ |
อย่าหาญเหมือนพ่อนักคะนองใจ ฯ |
๏ จมื่นไวยสารภาพกราบบาทา |
ลูกมาผิดจริงหาเถียงไม่ |
รักตัวกลัวผิดแต่คิดไป |
ก็หักใจเพราะรักแม่วันทอง |
ทุกวันนี้ลูกชายสบายยศ |
พร้อมหมดเมียมิ่งก็มีสอง |
มีบ่าวไพร่ใช้สอยทั้งเงินทอง |
พี่น้องข้างพ่อก็บริบูรณ์ |
ยังขาดแต่แม่คุณไม่แลเห็น |
เป็นอยู่ก็เหมือนตายไปหายสูญ |
ข้อนี้ที่ทุกข์ยังเพิ่มพูน |
ถ้าพร้อมมูลแม่ด้วยจะสำราญ |
ลูกมาหมายว่าจะมารับ |
เชิญแม่วันทองกลับคืนไปบ้าน |
แม้นจะบังเกิดเหตุเภทพาล |
ประการใดก็ตามแต่เวรา |
มาอยู่ไยกับไอ้หินชาติ |
แสนอุบาทว์ใจจิตริษยา |
ดังทองคำทำเลี่ยมปากกะลา |
หน้าตาดำเหมือนมินหม้อมอม |
เหมือนแมลงวันว่อนเคล้าที่เน่าชั่ว |
มาเกลือกกลั้วปทุมาลย์ที่หวานหอม |
ดอกมะเดื่อฤๅจะเจือดอกพะยอม |
ว่านักแม่จะตรอมระกำใจ |
แม่เลี้ยงลูกมาถึงเจ็ดขวบ |
เคราะห์ประจวบจากแม่หาเห็นไม่ |
จะคิดถึงลูกบ้างฤๅอย่างไร |
ฤๅหาไม่ใจแม่ไม่คิดเลย |
ถ้าคิดเห็นเอ็นดูว่าลูกเต้า |
แม่ทูนเกล้าไปเรือนอย่าเชือนเฉย |
ให้ลูกคลายอารมณ์ได้ชมเชย |
เหมือนเมื่อครั้งแม่เคยเลี้ยงลูกมา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง |
เศร้าหมองด้วยลูกเป็นหนักหนา |
พ่อพลายงามทรามสวาดิของแม่อา |
แม่โศกาเกือบเจียนจะบรรลัย |
ใช่จะอิ่มเอิบอาบด้วยเงินทอง |
มิใช่ของตัวทำมาแต่ไหน |
ทั้งผู้คนช้างม้าแลข้าไท |
ไม่รักใคร่เหมือนกับพ่อพลายงาม |
ทุกวันนี้ใช่แม่จะผาสุก |
มีแต่ทุกข์ใจเจ็บดังเหน็บหนาม |
ต้องจำจนทนกรรมที่ติดตาม |
จะขืนความคิดไปก็ใช่ที |
เมื่อพ่อเจ้าเข้าคุกแม่ท้องแก่ |
เขาฉุดแม่ใช่จะแกล้งแหนงหนี |
ถึงพ่อเจ้าเล่าไม่รู้ว่าร้ายดี |
เป็นหลายปีแม่มาอยู่กับขุนช้าง |
เมื่อพ่อเจ้ากลับมาแต่เชียงใหม่ |
ไม่เพ็ดทูลสิ่งไรแต่สักอย่าง |
เมื่อคราวตัวแม่เป็นคนกลาง |
ท่านก็วางบทคืนให้บิดา |
เจ้าเป็นถึงหัวหมื่นมหาดเล็ก |
มิใช่เด็กดอกจงฟังคำแม่ว่า |
จงเร่งกลับไปคิดกับบิดา |
ฟ้องหากราบทูลพระทรงธรรม์ |
พระองค์คงจะโปรดประทานให้ |
จะปรากฏยศไกรเฉิดฉัน |
อันจะมาลักพาไม่ว่ากัน |
เช่นนั้นใจแม่มิเต็มใจ ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายงาม |
ฟังความเห็นว่าแม่หาไปไม่ |
คิดบ่ายเบี่ยงเลี่ยงเลี้ยวเบี้ยวบิดไป |
เพราะรักไอ้ขุนช้างกว่าบิดา |
จึงว่าอนิจจาลูกมารับ |
แม่ยังกลับทัดทานเป็นหนักหนา |
เหมือนไม่มีรักใคร่ในลูกยา |
อุตส่าห์มารับแล้วยังมิไป |
เสียแรงเป็นลูกผู้ชายไม่อายเพื่อน |
จะพาแม่ไปเรือนให้จงได้ |
แม้นมิไปให้งามก็ตามใจ |
จะบาปกรรมอย่างไรก็ตามที |
จะตัดเอาศีรษะของแม่ไป |
ทิ้งแต่ตัวไว้ให้อยู่นี่ |
แม่อย่าเจรจาให้ช้าที |
จวนแจ้งแสงศรีจะรีบไป ฯ |
๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
เห็นลูกยากัดฟันมันไส้ |
ถือดาบฟ้าฟื้นยืนแกว่งไกว |
ตกใจกลัวว่าจะฆ่าฟัน |
จึงปลอบว่าพลายงามพ่อทรามรัก |
อย่าฮึกฮักว้าวุ่นทำหุนหัน |
จงครวญใคร่ให้เห็นข้อสำคัญ |
แม่นี้พรั่นกลัวแต่จะเกิดความ |
ด้วยเป็นข้าลักไปไทลักมา |
เห็นเบื้องหน้าจะอึงแม่จึงห้าม |
ถ้าเห็นเจ้าเป็นสุขไม่ลุกลาม |
ก็ตามเถิดมารดาจะคลาไคล |
ว่าพลางนางลุกออกจากห้อง |
เศร้าหมองโศกาน้ำตาไหล |
พระหมื่นไวยก็พามารดาไป |
พอรุ่งแจ้งแสงใสก็ถึงเรือน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง |
นอนครางหลับกรนอยู่ป่นเปื้อน |
อัศจรรย์ฝันแปรแชเชือน |
ว่าขี้เรื้อนขึ้นตัวทั่วทั้งนั้น |
หาหมอมารักษายาเข้าปรอท |
มันกินปอดตับไตออกไหลลั่น |
ทั้งไส้น้อยไส้ใหญ่แลไส้ตัน |
ฟันฟางก็หักจากปากตัว |
ตกใจตื่นผวาคว้าวันทอง |
ร้องว่าแม่คุณแม่ช่วยผัว |
ลุกขึ้นงกงันตัวสั่นรัว |
ให้นึกกลัวปรอทจะตอดตาย |
ลืมตาเหลียวหาเจ้าวันทอง |
ไม่เห็นน้องห้องสว่างตะวันสาย |
ผ้าผ่อนล่อนแก่นไม่ติดกาย |
เห็นม่านขาดเรี่ยรายประหลาดใจ |
ตะโกนเรียกในห้องวันทองเอ๋ย |
หาขานรับเช่นเคยสักคำไม่ |
ทั้งข้าวของมากมายก็หายไป |
ปากประตูเปิดไว้ไม่ใส่กลอน |
พลางเรียกหาข้าไทอยู่ว้าวุ่น |
อีอุ่นอีอิ่มอีฉิมอีสอน |
อีมีอีมาอีสาคร |
นิ่งนอนไยหวามาหากู |
บ่าวผู้หญิงวิ่งไปอยู่งกงัน |
เห็นนายนั้นแก้ผ้ากางขาอยู่ |
ต่างคนทรุดนั่งบังประตู |
ตกตะลึงแลดูไม่เข้ามา |
ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้ |
ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า |
แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังก้า |
ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ตัว |
ยายจันงันงกยกมือไหว้ |
นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว |
ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว |
ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ |
สองมือปิดขาเหมือนท่าเปรต |
ใครมาเทศน์เอาผ้ากูไปไหน |
ให้นึกอดสูหมู่ข้าไท |
ยายจันไปเอาผ้าให้ข้าที |
ยายจันตกใจเต็มประดา |
เข้าไปฉวยผ้าเอามาคลี่ |
หยิบยื่นส่งไปให้ทันที |
เมินหนีอดสูไม่ดูนาย |
ขุนช้างตัวสั่นทาวบอกบ่าวไพร่ |
วันทองไปไหนอย่างไรหาย |
เอ็งไปดูให้รู้ซึ่งแยบคาย |
พบแล้วอย่าวุ่นวายให้เชิญมา ฯ |
๏ ข้าไทได้ฟังขุนช้างใช้ |
ต่างเที่ยวค้นด้นไปจะเอาหน้า |
ทั้งห้องนอกห้องในไม่พบพา |
ทั่วเคหาแล้วไปค้นจนแผ่นดิน |
เห็นประตูรั้วบ้านบานเปิดกว้าง |
ผู้คนนอนสล้างไม่ตื่นสิ้น |
เสาแรกแตกต้นเป็นมลทิน |
กินใจกลับมาหาขุนช้าง |
บอกว่าได้ค้นคว้าหาพบไม่ |
แล้วเล่าแจ้งเหตุไปสิ้นทุกอย่าง |
ข้าเห็นวิปริตผิดท่าทาง |
ที่นวลนางวันทองนั้นหายไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างฟังบ่าวบอก |
เหงื่อออกโซมล้านกระบานใส |
คิดคิดให้แค้นแสนเจ็บใจ |
ช่างทำได้ต่างต่างทุกอย่างจริง |
สองหนสามหนก่นแต่หนี |
พลั้งทีลงไม่รอดนางยอดหญิง |
คราวนั้นอ้ายขุนแผนมันแง้นชิง |
นี่คราวนี้หนีวิ่งไปตามใคร |
ไม่คิดว่าจะเป็นเห็นว่าแก่ |
ยังสาระแนหลบลี้หนีไปไหน |
เอาเถิดเป็นไรก็เป็นไป |
ไม่เอากลับมาได้มิใช่กู ฯ |
๏ จะกล่าวถึงโฉมเจ้าพลายงาม |
เกรงเนื้อความนั่งนึกตรึกตรองอยู่ |
อ้ายขุนช้างสารพัดเป็นศัตรู |
ถ้ามันรู้ว่าลักเอาแม่มา |
มันก็จะสอดแนมแกมเท็จ |
ไปกราบทูลสมเด็จพระพันวษา |
ดูจะระแวงผิดในกิจจา |
มารดาก็จะต้องซึ่งโทษภัย |
คิดแล้วเรียกหมื่นวิเศษผล |
เอ็งเป็นคนเคยชอบอัชฌาสัย |
จงไปบ้านขุนช้างด้วยทันใด |
ไกล่เกลี่ยเสียอย่าให้มันโกรธา |
บอกว่าเราจับไข้มาหลายวัน |
เกรงแม่จะไม่ทันมาเห็นหน้า |
เมื่อคืนนี้ซ้ำมีอันเป็นมา |
เราใช้คนไปหาแม่วันทอง |
พอขณะมารดามาส่งทุกข์ |
ร้องปลุกเข้าไปถึงในห้อง |
จึงรีบมาเร็วไวดังใจปอง |
รักษาจนแสงทองสว่างฟ้า |
ไม่ตายคลายคืนฟื้นขึ้นได้ |
กูขอแม่ไว้พอเห็นหน้า |
แต่พอให้เคลื่อนคลายหลายเวลา |
จึงจะส่งมารดานั้นคืนไป ฯ |
๏ หมื่นวิเศษรับคำแล้วอำลา |
รีบมาบ้านขุนช้างหาช้าไม่ |
ครั้นถึงแอบดูอยู่แต่ไกล |
เห็นผู้คนขวักไขว่ทั้งเรือนชาน |
ขุนช้างนั่งเยี่ยมหน้าต่างเรือน |
ดูหน้าเฝื่อนทีโกรธอยู่งุ่นง่าน |
จะดื้อเดินเข้าไปไม่เป็นการ |
คิดแล้วลงคลานเข้าประตู ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง |
นั่งคาหน้าต่างเยี่ยมหน้าอยู่ |
เห็นคนคลานเข้ามาเหลือบตาดู |
นี่มาล้อหลอกกูฤๅอย่างไร |
อะไรพอสว่างวางเข้ามา |
เด็กหวาจับถองให้จงได้ |
ลุกขึ้นถกเขมรร้องเกนไป |
ทุดอ้ายไพร่ขี้ครอกหลอกผู้ดี ฯ |
๏ ครานั้นวิเศษผลคนว่องไว |
ยกมือขึ้นไหว้ไม่วิ่งหนี |
ร้องตอบไปพลันในทันที |
คนดีดอกข้าไหว้ใช่คนพาล |
ข้าพเจ้าเป็นบ่าวพระหมื่นไวย |
เป็นขุนหมื่นรับใช้อยู่ในบ้าน |
ท่านใช้ให้กระผมมากราบกราน |
ขอประทานคืนนี้พระหมื่นไวย |
เจ็บจุกปัจจุบันมีอันเป็น |
แก้ไขก็เห็นหาหายไม่ |
ร้องโอดโดดดิ้นเพียงสิ้นใจ |
จึงใช้ให้ตัวข้ามาแจ้งการ |
พอพบท่านมารดามาส่งทุกข์ |
ข้าพเจ้าร้องปลุกไปในบ้าน |
จะกลับขึ้นเคหาเห็นช้านาน |
ท่านจึงรีบไปในกลางคืน |
พยาบาลคุณพระนายพอคลายไข้ |
คุณอย่าสงสัยว่าไปอื่น |
ให้คำมั่นสั่งมาว่ายั่งยืน |
พอหายเจ็บแล้วจะคืนไม่นอนใจ ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างได้ฟังว่า |
แค้นดังเลือดตาจะหลั่งไหล |
ดับโมโหโกรธาทำว่าไป |
เราก็ไม่ว่าไรสุดแต่ดี |
การไข้เจ็บล้มตายไม่วายเว้น |
ประจุบันอันเป็นทั้งกรุงศรี |
ถ้าขัดสนสิ่งไรที่ไม่มี |
ก็มาเอาที่นี่อย่าเกรงใจ |
ว่าแล้วปิดบานหน้าต่างผาง |
ขุนช้างเดือดดาลทะยานไส้ |
ทอดตัวลงกับหมอนถอนฤทัย |
ดูดู๋เป็นได้เจียววันทอง |
เพราะกูแพ้ความจมื่นไวย |
มันจึงเหิมใจทำจองหอง |
พ่อลูกแม่ลูกถูกทำนอง |
ถึงสองครั้งแล้วเป็นแต่เช่นนี้ |
อ้ายพ่อไปเชียงใหม่มีชัยมา |
ตั้งตัวดังพระยาราชสีห์ |
อ้ายลูกเป็นหมื่นไวยทำไมมี |
เห็นกูนี้คนผิดติดโทษทัณฑ์ |
มันจึงข่มเหงไม่เกรงใจ |
จะพึ่งพาใครได้ที่ไหนนั่น |
ขุนนางน้อยใหญ่เกรงใจกัน |
ถึงฟ้องมันก็จะปิดให้มิดไป |
ตามบุญตามกรรมได้ทำมา |
จะเฆี่ยนฆ่าหาคิดชีวิตไม่ |
ยิ่งคิดเดือดดาลทะยานใจ |
ฉวยได้กระดานชนวนมา |
ร่างฟ้องท่องเทียบให้เรียบร้อย |
ถ้อยคำถี่ถ้วนเป็นหนักหนา |
ลงกระดาษพับไว้มิได้ช้า |
อาบน้ำผลัดผ้าแล้วคลาไคล |
วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช |
เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่ |
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน |
ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช |
เสด็จคืนนิเวศน์พอจวบค่ำ |
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ |
เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา |
พอเรือพระที่นั่งประทับที่ |
ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า |
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา |
ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ |
เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา |
เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ |
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ |
ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา |
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ |
มิใช่เสือกระหม่อมฉานล้านเกศา |
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา |
แค้นเหลือปัญญาจะทานทน ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา |
ทรงพระโกรธาโกลาหล |
ทุดอ้ายจัญไรมิใช่คน |
บนบกบนฝั่งดังไม่มี |
ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา |
ฤๅอ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่ |
เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที |
ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป |
มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา |
ตำรวจคว้าขุนช้างหาวางไม่ |
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้ |
พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา |
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป |
หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา |
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา |
ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง |
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน |
ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง |
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์ |
แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิฦๅจบพิภพไหว |
อยู่บ้านสุขเกษมเปรมใจ |
สมสนิทพิสมัยด้วยสองนาง |
ลาวทองกับเจ้าแก้วกิริยา |
ปรนนิบัติวัตถาไม่ห่างข้าง |
เพลิดเพลินจำเริญใจไม่เว้นวาง |
คืนนั้นในกลางซึ่งราตรี |
นางแก้วลาวทองทั้งสองหลับ |
ขุนแผนกลับผวาตื่นฟื้นจากที่ |
พระจันทรจรแจ่มกระจ่างดี |
พระพายพัดมาลีตรลบไป |
คิดคะนึงถึงมิตรแต่ก่อนเก่า |
นิจจาเจ้าเหินห่างร้างพิสมัย |
ถึงสองครั้งตั้งแต่พรากจากพี่ไป |
ดังเด็ดใจจากร่างก็ราวกัน |
กูก็ชั่วมัวรักแต่สองนาง |
ละวางให้วันทองน้องโศกศัลย์ |
เมื่อตีได้เชียงใหม่ก็โปรดครัน |
จะเพ็ดทูลคราวนั้นก็คล่องใจ |
สารพัดที่จะว่าได้ทุกอย่าง |
อ้ายขุนช้างไหนจะโต้จะตอบได้ |
ไม่ควรเลยเฉยมาไม่อาลัย |
บัดนี้เล่าเจ้าไวยไปรับมา |
จำกูจะไปสู่สวาดิน้อง |
เจ้าวันทองจะคอยละห้อยหา |
คิดพลางจัดแจงแต่งกายา |
น้ำอบทาหอมฟุ้งจรุงใจ |
ออกจากห้องย่องเดินดำเนินมา |
ถึงเรือนลูกยาหาช้าไม่ |
เข้าห้องวันทองในทันใด |
เห็นนางหลับใหลนิ่งนิทรา |
ลดตัวลงนั่งข้างวันทอง |
เตือนต้องด้วยความเสนหา |
สั่นปลุกลุกขึ้นเถิดน้องอา |
พี่มาหาแล้วอย่านอนเลย ฯ |
๏ นางวันทองตื่นอยู่รู้สึกตัว |
หมายใจว่าผัวก็ทำเฉย |
นิ่งดูอารมณ์ที่ชมเชย |
จะรักจริงฤๅจะเปรยเป็นจำใจ |
แต่นิ่งดูกิริยาเป็นช้านาน |
หาว่าขานโต้ตอบอย่างไรไม่ |
ทั้งรักทั้งแค้นแน่นฤทัย |
ความอาลัยปั่นป่วนยวนวิญญาณ์ ฯ |
๏ โอ้เจ้าแก้วแววตาของพี่เอ๋ย |
เจ้าหลับใหลกะไรเลยเป็นหนักหนา |
ดังนิ่มน้องหมองใจไม่นำพา |
ฤๅขัดเคืองคิดว่าพี่ทอดทิ้ง |
ความรักหนักหน่วงทรวงสวาดิ |
พี่ไม่คลาศคลายรักแต่สักสิ่ง |
เผอิญเป็นวิปริตพี่ผิดจริง |
จะนอนนิ่งถือโทษโกรธอยู่ไย |
ว่าพลางเอนแอบลงแนบข้าง |
จูบพลางชวนชิดพิสมัย |
ลูบไล้พิไรปลอบให้ชอบใจ |
เป็นไรจึงไม่ฟื้นตื่นนิทรา ฯ |
๏ เจ้าวันทองน้องตื่นจากที่นอน |
โอนอ่อนวอนไหว้พิไรว่า |
หม่อมน้อยใจฤๅที่ไม่เจรจา |
ใช่ตัวข้านี้จะงอนค่อนพิไร |
ชอบผิดพ่อจงคิดคะนึงตรอง |
อันตัวน้องมลทินหาสิ้นไม่ |
ประหนึ่งว่าวันทองนี้สองใจ |
พบไหนก็เป็นแต่เช่นนั้น |
ที่จริงใจถึงไปอยู่เรือนอื่น |
คงคิดคืนที่หม่อมเป็นแม่นมั่น |
ด้วยรักลูกรักผัวยังพัวพัน |
คราวนั้นก็ไปอยู่เพราะจำใจ |
แค้นคิดด้วยมิตรไม่รักเลย |
ยามมีที่เชยเฉยเสียได้ |
เสียแรงร่วมทุกข์ยากกันกลางไพร |
กินผลไม้ต่างข้าวทุกเพรางาย |
พอได้ดีมีสุขลืมทุกข์ยาก |
ก็เพราะหากหม่อมมีซึ่งที่หมาย |
ว่านักก็เครื่องเคืองระคาย |
เอ็นดูน้องอย่าให้อายเขาอิกเลย ฯ |
๏ พี่ผิดจริงแล้วเจ้าวันทอง |
เหมือนลืมน้องหลงเลือนทำเชือนเฉย |
ใช่จะเพลิดเพลินชื่นเพราะอื่นเชย |
เงยหน้าเถิดจะเล่าอย่าเฝ้าแค้น |
เมื่อติดคุกทุกข์ถึงเจ้าทุกเช้าค่ำ |
ต้องกลืนกล้ำโศกเศร้านั้นเหลือแสน |
ซ้ำขุนช้างคิดคดทำทดแทน |
มันดูแคลนว่าพี่นี้ยากยับ |
อาลัยเจ้าเท่ากับดวงชีวิตพี่ |
คิดจะหนีไปตามเอาเจ้ากลับ |
เกรงจะพากันผิดเข้าติดทับ |
แต่ขยับอยู่จนได้ไปเชียงอินท์ |
กลับมาหมายว่าจะไปตาม |
พอเจ้าไวยเป็นความก็ค้างสิ้น |
หัวอกใครได้แค้นในแผ่นดิน |
ไม่เดือดดิ้นเท่าพี่กับวันทอง |
คิดอยู่ว่าจะทูลพระพันวษา |
เห็นช้ากว่าจะได้มาร่วมห้อง |
จะเป็นความอิกก็ตามแต่ทำนอง |
จึงให้ลูกรับน้องมาร่วมเรือน |
จะเป็นตายง่ายยากไม่ยากรัก |
จะฟูมฟักเหมือนเมื่ออยู่ในกลางเถื่อน |
ขอโทษที่พี่ผิดอย่าบิดเบือน |
เจ้าเพื่อนเสนหาจงอาลัย |
พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ |
จะคุมโกรธคุมแค้นไปถึงไหน |
ความรักพี่ยังรักระงมใจ |
อย่าตัดไมตรีตรึงให้ตรอมตาย |
ว่าพลางทางแอบเข้าแนบอก |
ประคองยกของสำคัญมั่นหมาย |
เจ้าเนื้อทิพหยิบชื่นอารมณ์ชาย |
ขอสบายสักหน่อยอย่าโกรธา ฯ |
๏ ใจน้องมิให้หมองอารมณ์หม่อม |
ไม่ตัดใจให้ตรอมเสนหา |
ถ้าตัดรักหักใจแล้วไม่มา |
หม่อมอย่าว่าเลยว่าฉันไม่คืนคิด |
ถึงตัวไปใจยังนับอยู่ว่าผัว |
น้องนี้กลัวบาปทับเมื่อดับจิต |
หญิงเดียวชายครองเป็นสองมิตร |
ถ้ามิปลิดเสียให้เปลื้องไม่ตามใจ |
คราวนั้นเมื่อตามไปกลางป่า |
หน้าดำเหมือนหนึ่งทามินหม้อไหม้ |
ชนะความงามหน้าดังเทียนชัย |
เขาฉุดไปเหมือนลงทะเลลึก |
เจ้าพลายงามตามรับเอากลับมา |
ทีนี้หน้าจะดำเป็นน้ำหมึก |
กำเริบใจด้วยเจ้าไวยกำลังฮึก |
จะพาแม่ตกลึกให้จำตาย |
มิใช่หนุ่มดอกอย่ากลุ้มกำเริบรัก |
เอาความผิดคิดหักให้เหือดหาย |
ถ้ารักน้องป้องปิดให้มิดอาย |
ฉันกลับกลายแล้วหม่อมจงฟาดฟัน |
ไปเพ็ดทูลเสียให้ทูลกระหม่อมแจ้ง |
น้องจะแต่งบายศรีไว้เชิญขวัญ |
ไม่พักวอนดอกจะนอนอยู่ด้วยกัน |
ไม่เช่นนั้นฉันไม่เลยจะเคยตัว ฯ |
๏ นิจจาใจเจ้าจะให้พี่เจ็บจิตร |
ดังเอากฤชแกระกรีดในอกผัว |
เกรงผิดคิดบาปจึงหลาบกลัว |
พี่นี้ชั่วเพราะหมิ่นประมาทความ |
อื่นไกลไหนพี่จะละเล่า |
นี่เจ้าว่าดอกจะยั้งไว้ฟังห้าม |
เสียแรงมาว่าวอนจงผ่อนตาม |
อย่าหวงห้ามเสนหาให้ช้าวัน |
ว่าพลางคลึงเคล้าเข้าแนบข้าง |
จูบพลางทางปลอบประโลมขวัญ |
ก่ายกอดสอดเกี่ยวพัลวัน |
วันทองกั้นกีดไว้ไม่ตามใจ |
พลิกผลักชักชวนให้ชื่นชิด |
เบือนบิดแบ่งรักหาร่วมไม่ |
สยดสยองพองเสียวแสยงใจ |
พระพายพัดมาลัยตรลบลอย |
แมลงภู่เฝ้าเคล้าไม้ในไพรชัฏ |
ไม่เบิกบานก้านกลัดเกสรสร้อย |
บันดาลคงคาทิพกะปริบกะปรอย |
พรมพร้อยท้องฟ้านภาลัย |
อสนีครื้นครั่นสนั่นก้อง |
น้ำฟ้าหาต้องดอกไม้ไม่ |
กระเซ็นรอบขอบสระสมุทไท |
หวิวใจแล้วก็หลับกับเตียงนอน ฯ |
๏ ครั้นเวลาดึกกำดัดสงัดเงียบ |
ใบไม้แห้งแกร่งเกรียบระรุบร่อน |
พระพายโชยเสาวรสขจายจร |
พระจันทรแจ่มแจ้งกระจ่างดวง |
ดุเหว่าเร้าเสียงสำเนียงก้อง |
ระฆังฆ้องขานแข่งในวังหลวง |
วันทองน้องนอนสนิททรวง |
จิตรง่วงระงับสู่ภวังค์ |
ฝันว่าพลัดไปในไพรเถื่อน |
เลื่อนเปื้อนไม่รู้ที่จะกลับหลัง |
ลดเลี้ยวเที่ยงหลงในดงรัง |
ยังมีพยัคฆร้ายมาราวี |
ทั้งสองมองหมอบอยู่ริมทาง |
พอนางดั้นป่ามาถึงที่ |
โดดตะครุบคาดคั้นในทันที |
แล้วฉุดคร่าพารี่ไปในไพร |
สิ้นฝันครั้นตื่นตกประหม่า |
หวีดผวากอดผัวสะอื้นไห้ |
เล่าความบอกผัวด้วยกลัวภัย |
ประหลาดใจน้องฝันพรั่นอุรา |
ใต้เตียงเสียงหนูก็กุกกก |
แมลงมุมทุ่มอกที่ริมฝา |
ยิ่งหวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวมรณา |
ดังวิญญาณ์นางจะพรากไปจากกาย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
ฟังความตามนิมิตก็ใจหาย |
ครั้งนี้น่าจะมีอันตราย |
ฝันร้ายสาหัสตัดตำรา |
พิเคราะห์ดูทั้งยามอัฐกาล |
ก็บันดาลฤกษ์แรงเป็นหนักหนา |
มิรู้ที่จะแถลงแจ้งกิจจา |
กอดเมียเมินหน้าน้ำตากระเด็น |
จึงแกล้งเพทุบายทำนายไป |
ฝันอย่างนี้มิใช่จะเกิดเข็ญ |
เพราะวิตกหมกไหม้จึงได้เป็น |
เนื้อเย็นอยู่กับผัวอย่ากลัวทุกข์ |
พรุ่งนี้พี่จะแก้เสนียดฝัน |
แล้วทำมิ่งสิ่งขวัญให้เป็นสุข |
มิให้เกิดราคีกลียุค |
อย่าเป็นทุกข์เลยเจ้าจงเบาใจ ฯ |
๏ ครั้นว่ารุ่งสางสว่างฟ้า |
สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล |
จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงชัย |
เนาในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์ |
พร้อมด้วยพระกำนัลนักสนม |
หมอบประนมเฝ้าแหนแน่นขนัด |
ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด |
ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน |
แสนถ่อยใครจะถ่อยเหมือนมันบ้าง |
ทุกอย่างที่จะชั่วอ้ายหัวลื่น |
เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน |
น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา |
คราวนั้นฟ้องกันด้วยวันทอง |
นี่มันฟ้องใครอิกไอ้ชาติข้า |
ดำริพลางทางเสด็จยาตรา |
ออกมาพระที่นั่งจักรพรรดิ |
พระสูตรรูดกร่างกระจ่างองค์ |
ขุนนางกราบราบลงเป็นขนัด |
ทั้งหน้าหลังเบียดเสียดเยียดยัด |
หมอบอัดถัดกันเป็นหลั่นไป |
ทอดพระเนตรมาเห็นขุนช้างเฝ้า |
เออใครเอาฟ้องมันไปไว้ไหน |
พระหมื่นศรีถวายพลันในทันใด |
รับไว้คลี่ทอดพระเนตรพลัน |
พอทรงจบแจ้งพระทัยในข้อหา |
ก็โกรธาเคืองขุ่นหุนหัน |
มันเคี่ยวเข็ญทำเป็นอย่างไรกัน |
อีวันทองคนเดียวไม่รู้แล้ว |
ราวกับไม่มีหญิงเฝ้าชิงกัน |
ฤๅอีวันทองนั้นมันมีแก้ว |
รูปอ้ายช้างชั่วช้าตาแบ้งแบว |
ไม่เห็นแววที่ว่ามันจะรัก |
ใครจะเอาเป็นผัวเขากลัวอาย |
หัวหูดูเหมือนควายที่ตกปลัก |
คราวนั้นเป็นความกูถามซัก |
ตกหนักอยู่กับเถ้าศรีประจัน |
วันทองกูสิให้กับไอ้แผน |
ไยแล่นมาอยู่กับอ้ายช้างนั่น |
จมื่นศรีไปเอาตัวมันมาพลัน |
ทั้งวันทองขุนแผนอ้ายหมื่นไวย ฯ |
๏ ฝ่ายพระหมื่นศรีได้รับสั่ง |
ถอยหลังออกมาไม่ช้าได้ |
สั่งเวรกรมวังในทันใด |
ตำรวจในวิ่งตะบึงมาถึงพลัน |
ขึ้นไปบนเรือนพระหมื่นไวย |
แจ้งข้อรับสั่งไปขมีขมัน |
ขุนช้างฟ้องร้องฎีกาพระทรงธรรม์ |
ให้หาทั้งสามทั่นนั้นเข้าไป ฯ |
๏ ครานั้นวันทองเจ้าพลายงาม |
ได้ฟังความคร้ามครั่นหวั่นไหว |
ขุนแผนเรียกวันทองเข้าห้องใน |
ไม่ไว้ใจจึงเสกด้วยเวทมนตร์ |
สีขี้ผึ้งสีปากกินหมากเวท |
ซึ่งวิเศษสารพัดแก้ขัดสน |
น้ำมันพรายน้ำมันจันทน์สรรเสกปน |
เคยคุ้มขังบังตนแต่ไรมา |
แล้วทำผงอิทธิเจเข้าเจิมพักตร์ |
คนเห็นคนทักรักทุกหน้า |
เสกกระแจะจวงจันทน์น้ำมันทา |
เสร็จแล้วก็พาวันทองไป ฯ |
๏ ครานั้นทองประศรีผู้มารดา |
ครั้นได้แจ้งกิจจาไม่นิ่งได้ |
เด็กเอ๋ยวิ่งตามมาไวไว |
ลงบันไดงันงกตกนอกชาน |
พลายชุมพลกอดก้นทองประศรี |
กูมิใช่ช้างขี่ดอกลูกหลาน |
ลุกขึ้นโขย่งโก้งโค้งคลาน |
ซมซานโฮกฮากอ้าปากไป |
ครั้นถึงยั้งอยู่ประตูวัง |
ผู้รับสั่งเร่งรุดไม่หยุดได้ |
ขุนแผนวันทองพระหมื่นไวย |
เข้าไปเฝ้าองค์พระภูมี ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ปิ่นปักนัคเรศเรืองศรี |
เห็นสามราเข้ามาอัญชลี |
พระปรานีเหมือนลูกในอุทร |
ด้วยเดชะพระเวทวิเศษประสิทธิ |
เผอิญคิดรักใคร่พระทัยอ่อน |
ตรัสถามอย่างความราษฎร |
ฮ้าเฮ้ยดูก่อนอีวันทอง |
เมื่อมึงกลับมาแต่ป่าใหญ่ |
กูสิให้ไอ้แผนประสมสอง |
ครั้นกูขัดใจให้จำจอง |
ตัวของมึงไปอยู่แห่งไร |
ทำไมไม่อยู่กับอ้ายแผน |
แล่นไปอยู่กับอ้ายช้างใหม่ |
เดิมมึงรักอ้ายแผนแล่นตามไป |
ครั้นยกให้สิเต้นกลับเล่นตัว |
อยู่กับอ้ายช้างไม่อยู่ได้ |
เกิดรังเกียจเกลียดใจด้วยชังหัว |
ดูยักใหม่ย้ายเก่าเฝ้าเปลี่ยนตัว |
ตกว่าชั่วแล้วมึงไม่ไยดี ฯ |
๏ ครานั้นวันทองได้รับสั่ง |
ละล้าละลังประนมก้มเกศี |
หัวสยองพองพรั่นทันที |
ทูลคดีพระองค์ผู้ทรงธรรม์ |
ขอเดชะละอองธุลีบาท |
องค์หริรักษ์ราชรังสรรค์ |
เมื่อกระหม่อมฉันมาแต่อารัญ |
ครั้งนั้นโปรดประทานขุนแผนไป |
ครั้นอยู่มาขุนแผนต้องจำจอง |
กระหม่อมฉันมีท้องนั้นเติบใหญ่ |
อยู่ที่เคหาหน้าวัดตะไกร |
ขุนช้างไปบอกว่าพระโองการ |
มีรับสั่งโปรดปรานประทานให้ |
กระหม่อมฉันไม่ไปก็หักหาญ |
ยื้อยุดฉุดคร่าทำสามานย์ |
เพื่อนบ้านจะช่วยก็สุดคิด |
ด้วยขุนช้างอ้างว่ารับสั่งให้ |
ใครจะขัดขืนไว้ก็กลัวผิด |
จนใจจะมิไปก็สุดฤทธิ |
ชีวิตอยู่ใต้พระบาทา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบกริ้วขุนช้างเป็นหนักหนา |
มีพระสิงหนาทตวาดมา |
อ้ายบ้าเย่อหยิ่งอ้ายลิงโลน |
ตกว่ากูหาเป็นเจ้าชีวิตไม่ |
มึงถือใจว่าเป็นเจ้าที่โรงโขน |
เป็นไม่มีอาญาสิทธิคิดดึงโดน |
เที่ยวทำโจรใจคะนองจองหองครัน |
เลี้ยงมึงไม่ได้อ้ายใจร้าย |
ชอบแต่เฆี่ยนสองหวายตลอดสัน |
แล้วกลับความถามข้างวันทองพลัน |
เออเมื่อมันฉุดคร่าพามึงไป |
ก็ช้านานประมาณได้สิบแปดปี |
ครั้งนี้ทำไมมึงจึงมาได้ |
นี่มึงหนีมันมาฤๅว่าไร |
ฤๅว่าใครไปรับเอามึงมา ฯ |
๏ วันทองฟังถามให้คร้ามครั่น |
บังคมคัลประนมก้มเกศา |
ขอเดชะพระองค์ทรงศักดา |
พระอาญาเป็นพ้นล้นเกล้าไป |
ครั้งนี้จมื่นไวยนั้นไปรับ |
กระหม่อมฉันจึงกลับคืนมาได้ |
มิใช่ย้อนยอกทำนอกใจ |
ขุนแผนก็มิได้ประเวณี |
แต่มานั้นเวลาสักสองยาม |
ขุนช้างจึงหาความว่าหลบหนี |
ขอพระองค์จงทรงพระปรานี |
ชีวีอยู่ใต้พระบาทา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ฟังเหตุขุ่นเคืองเป็นหนักหนา |
อ้ายหมื่นไวยทำใจอหังการ์ |
ตกว่าบ้านเมืองไม่มีนาย |
จะปรึกษาตราสินให้ไม่ได้ |
จึงทำตามน้ำใจเอาง่ายง่าย |
ถ้าฉวยเกิดฆ่าฟันกันล้มตาย |
อันตรายไพร่เมืองก็เคืองกู |
อีวันทองกูให้ไอ้แผนไป |
อ้ายช้างบังอาจใจทำจู่ลู่ |
ฉุดมันขึ้นช้างอ้างถึงกู |
ตะคอกขู่อีวันทองให้ตกใจ |
ชอบตบให้สลบลงกับที่ |
เฆี่ยนตีเสียให้ยับไม่นับได้ |
มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ |
อ้ายหมื่นไวยก็โทษถึงฉกรรจ์ |
มึงถือว่าอีวันทองเป็นแม่ตัว |
ไม่เกรงกลัวเว้โว้ทำโมหันธ์ |
ไปรับไยไม่ไปในกลางวัน |
อ้ายแผนพ่อนั้นก็เป็นใจ |
มันเหมือนวัวเคยขาม้าเคยขี่ |
ถึงบอกกูว่าดีหาเชื่อไม่ |
อ้ายช้างมันก็ฟ้องเป็นสองนัย |
ว่าอ้ายไวยลักแม่ให้บิดา |
เป็นราคีข้อผิดมีติดตัว |
หมองมัวมลทินอยู่หนักหนา |
ถ้าอ้ายไวยอยากจะใคร่ได้แม่มา |
ชวนพ่อฟ้องหาเอาเป็นไร |
อัยการศาลโรงก็มีอยู่ |
ฤๅว่ากูตัดสินให้ไม่ได้ |
ชอบทวนด้วยลวดให้ปวดไป |
ปรับไหมให้เท่ากับชายชู้ |
มันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะหญิง |
จึงหึงหวงช่วงชิงยุ่งยิ่งอยู่ |
จำจะตัดรากใหญ่ให้หล่นพรู |
ให้ลูกดอกดกอยู่แต่กิ่งเดียว |
อีวันทองตัวมันเหมือนรากแก้ว |
ถ้าตัดโคนขาดแล้วก็ใบเหี่ยว |
ใครจะควรสู่สมอยู่กลมเกลียว |
ให้เด็ดเดี่ยวรู้กันแต่วันนี้ |
เฮ้ยอีวันทองว่ากะไร |
มึงตั้งใจปลดปลงให้ตรงที่ |
อย่าพะวังกังขาเป็นราคี |
เพราะมึงมีผัวสองกูต้องแค้น |
ถ้ารักใหม่ก็ไปอยู่กับอ้ายช้าง |
ถ้ารักเก่าเข้าข้างอ้ายขุนแผน |
อย่าเวียนวนไปให้คนมันหมิ่นแคลน |
ถ้าแม้นมึงรักไหนให้ว่ามา ฯ |
๏ ครานั้นวันทองฟังรับสั่ง |
ให้ละล้าละลังเป็นหนักหนา |
ครั้นจะทูลกลัวพระราชอาชญา |
ขุนช้างแลดูตายักคิ้วลน |
พระหมื่นไวยใช้ใบ้ให้แม่ว่า |
บุ้ยปากตรงบิดาเป็นหลายหน |
วันทองหมองจิตรคิดเวียนวน |
เป็นจนใจนิ่งอยู่ไม่ทูลไป ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์ |
หาได้ยินวันทองทูลขึ้นไม่ |
พระตรัสความถามซักไปทันใด |
ฤๅมึงไม่รักใครให้ว่ามา |
จะรักชู้ชังผัวมึงกลัวอาย |
จะอยู่ด้วยลูกชายก็ไม่ว่า |
ตามใจกูจะให้ดังวาจา |
แต่นี้เบื้องหน้าขาดเด็ดไป ฯ |
๏ นางวันทองรับพระราชโองการ |
ให้บันดาลบังจิตรหาคิดไม่ |
อกุศลดลมัวให้ชั่วใจ |
ด้วยสิ้นในอายุที่เกิดมา |
คิดคะนึงตะลึงตะลานอก |
ดังตัวตกพระสุเมรุภูผา |
ให้อุทัจอัดอั้นตันอุรา |
เกรงผิดภายหน้าก็สุดคิด |
จะว่ารักขุนช้างกะไรได้ |
ที่จริงใจมิได้รักแต่สักหนิด |
รักพ่อลูกห่วงดังดวงชีวิต |
แม้นทูลผิดจะพิโรธไม่โปรดปราน |
อย่าเลยจะทูลเป็นกลางไว้ |
ตามพระทัยท้าวจะแยกให้แตกฉาน |
คิดแล้วเท่านั้นมิทันนาน |
นางก้มกรานแล้วก็ทูลไปฉับพลัน |
ความรักขุนแผนก็แสนรัก |
ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์ |
สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน |
สารพันอดออมถนอมใจ |
ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา |
คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่ |
เงินทองกองไว้มิให้ใคร |
ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว |
จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก |
ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว |
ทูลพลางตัวนางระเริ่มรัว |
ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบแค้นคั่งดังเพลิงไหม้ |
เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ |
ดูดู๋เป็นได้อีวันทอง |
จะว่ารักข้างไหนไม่ว่าได้ |
น้ำใจจะประดังเข้าทั้งสอง |
ออกนั่นเข้านี่มีสำรอง |
ยิ่งกว่าท้องทะเลอันล้ำลึก |
จอกแหนแพเสาสำเภาใหญ่ |
จะทอดถมเท่าไรไม่รู้สึก |
เหมือนมหาสมุทรสุดซึ้งซึก |
น้ำลึกเหลือจะหยั่งกระทั่งดิน |
อิฐผาหาหาบมาทุ่มถม |
ก็จ่อมจมสูญหายไปหมดสิ้น |
อีแสนถ่อยจัญไรใจทมิฬ |
ดังเพชรนิลเกิดขึ้นในอาจม |
รูปงามนามเพราะน้อยไปฤๅ |
ใจไม่ซื่อสมศักดิเท่าเส้นผม |
แต่ใจสัตว์มันยังมีที่นิยม |
สมาคมก็แต่ถึงฤดูมัน |
มึงนี่ถ่อยยิ่งกว่าถ่อยอีท้ายเมือง |
จะเอาเรื่องไม่ได้สักสิ่งสรรพ์ |
ละโมบมากตัณหาตาเป็นมัน |
สักร้อยพันให้มึงไม่ถึงใจ |
ว่าหญิงชั่วผัวยังคราวละคนเดียว |
หาตามตอมกันเกรียวเหมือนมึงไม่ |
หนักแผ่นดินกูจะอยู่ไย |
อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา |
กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น |
คนอื่นรู้ว่าแม่ก็ขายหน้า |
อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา |
กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย |
หญิงกาลกิณีอีแพศยา |
มันไม่น่าเชยชิดพิสมัย |
ที่รูปรวยสวยสมมีถมไป |
มึงตัดใจเสียเถิดอีคนนี้ |
เร่งเร็วเหวยพระยายมราช |
ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี |
อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี |
อย่าให้มีโลหิตติดดินกู |
เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน |
ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่ |
ฟันให้หญิงชายทั้งหลายดู |
สั่งเสร็จเสด็จสู่ปราสาทชัย ฯ |