๏ จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิ์ข้าศึกนึกสยอง |
สมสู่อยู่ด้วยเจ้าลาวทอง |
ล่วงสองคืนข้ามเวลามา |
เที่ยงคืนตื่นขึ้นอยู่ในห้อง |
พระจันทร์ส่องแสงสว่างกระจ่างหล้า |
สงัดเงียบผู้คนไม่พูดจา |
วิเวกเสียงสกุณาเสนาะไพร |
เรไรหริ่งร้องระงมร่ำ |
เย็นฉํ่าน้ำค้างกระเซ็นใส |
พระพายพัดรวยรื่นชื่นฤทัย |
ใจคิดหวนถึงวันทองน้อง |
เอ๊ะดูกูนี้ประมาทจริง |
ควรฤๅทิ้งเมียรักไว้ห่างห้อง |
เมื่อวันถึงหึงกันกับลาวทอง |
ขุ่นหมองมากอยู่ในวันนั้น |
อ้ายขุนช้างสร้างหอรออยู่แล้ว |
ซ้ำน้องแก้วเคืองขุ่นหุนหัน |
ทิ้งช้าน่าจะสมอารมณ์มัน |
คิดคิดก็ยิ่งพรั่นฤทัยนัก |
อนิจจาความเพียรที่เวียนหวัง |
ตั้งแต่จะมีมารมาหาญหัก |
พอห่างหน่อยมันคอยเข้าชิงรัก |
จักแหล่นกลับมาไม่ทันที |
มาเห็นหน้าแล้วยังมามีวิบัติ |
ดังกำแก้วแล้วมาพลัดจากมือพี่ |
เฉพาะลงตรงโจรจะราวี |
เป็นราคีเสียแล้วกระมังนา |
เนื้อตกถึงเสือฤๅจะงด |
อร่อยรสคอยกินเป็นภักษา |
ทิ้งไว้ให้มันสองเวลา |
เจ้าแก้วตานี่จะเป็นประการใด |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นในอก |
แสนวิตกดาลเดือดหาเหือดไม่ |
อัดอึดฮึดฮัดให้ขัดใจ |
พรุ่งนี้กูจะไปยังสุพรรณ |
กลางคืนมะรืนก็คงรู้ |
จะสะกดเข้าไปดูให้แม่นมั่น |
ถ้าวันทองน้องนอนอยู่กับมัน |
จะฟันเสียให้ขาดทั้งสองคอ |
ทั้งอีศรีประจันอีเทพทอง |
เกี่ยวดองกูมิให้มันเหลือหลอ |
ทำให้สมนํ้าหน้าหมาหางงอ |
อีเถ้าแก่คนขอก็เหมือนกัน |
คิดพลางผลักเผยหน้าต่างดู |
เห็นแสงทองหรุบรู่พอไก่ขัน |
รีบลุกออกมาล้างหน้าพลัน |
รุ่งแจ้งแสงตะวันขึ้นทันใด |
จึงร้องเรียกบ่าวไพร่ทั้งไทยลาว |
แกล้งกล่าวเนื้อความหาช้าไม่ |
เร่งรัดจัดกันเร็วเร็วไว |
ข้าวสารใส่ไถ้สักสี่มื้อ |
เตรียมม้าครบขากันทุกคน |
ทั้งอาวุธของตนที่เคยถือ |
เลือกคัดแต่ที่มีฝีมือ |
จำเพาะเจาะชื่อยี่สิบคน |
กูจะไปตระเวนถึงปลายด่าน |
จะละเลยราชการไม่เป็นผล |
เอ็งเคยไปทัพได้อับจน |
ได้พวกเอ็งตามก้นกูไว้ใจ |
ว่าแล้วก็กลับเข้าในห้อง |
สั่งนางลาวทองพิสมัย |
พี่จะไปเที่ยวตระเวนท่านเกณฑ์ไว้ |
พี่ไปไม่นานจะกลับมา |
แล้วจัดแจงแต่งตัวคาดเครื่อง |
ถือดาบย่างเยื้องจากเคหา |
พวกไพร่พร้อมพรั่งทั้งอาชา |
ต่างคนขึ้นม้าด้วยทันใด |
ล้วนถือสาตราอาวุธ |
ข้าวปลาคบชุดประจุไถ้ |
ตัดทางกลางทุ่งมุ่งไป |
สองคืนเข้าในแดนสุพรรณ ฯ |
๏ หยุดม้าลงไว้ที่ชายป่า |
หุงข้าวเผาปลากินที่นั่น |
ครั้นคํ่าพลบลบแสงสุริยัน |
ให้ปลูกศาลนั้นขึ้นทันที |
จึงจุดเทียนชัยระเบิดศาล |
โอมอ่านพระเวทวิเศษศรี |
ปลุกเครื่องเรืองฤทธิ์ประสิทธี |
ข้าวสารเสกดีมะนาวมนตร์ |
สำเร็จเสร็จพลันมิทันช้า |
แต่งตัวผูกม้าอยู่สับสน |
จับอาวุธทั่วทุกตัวคน |
พอได้ฤกษ์บนในทันที |
ขาวช่วงดังดวงมณีรัตน์ |
แกว่งกวัดดาบเดินมาเร็วรี่ |
ขุนแผนเผ่นขึ้นหลังพาชี |
พวกรี้พลไพร่ก็ตามมา ฯ |
๏ ถึงบ้านประมาณสักสองยาม |
ดาวดาษกลาดอร่ามพระเวหา |
ขุนแผนลงจากอาชา |
ข้าวสารเสกมาก็ซัดไป |
ขับพรายทั้งพระภูมิเจ้าที่ |
จะมีใครตื่นตาก็หาไม่ |
ถึงหอขุนช้างพลันทันใด |
จุดเทียนติดไว้ที่เสาแรก |
เอามีดหมอตำเข้าต้ำฉับ |
ปลายเสาแตกยับเป็นสี่แฉก |
สะเดาะดาลหน้าต่างให้กว้างแยก |
ข้าวสารแทรกกระดูกผีก็ซัดไป |
ผู้คนบนเรือนที่เกลื่อนกล่น |
ต่างง่วงโงกทุกคนไม่ทนได้ |
นอนระเนนเอนพับหลับไป |
ก็ปีนหน้าต่างใหญ่นั้นขึ้นมา |
โดดลงพื้นกลางที่ข้างใน |
แสงไฟรางรางสว่างหน้า |
ตัดม่านกองไว้แล้วไคลคลา |
เปิดมุ้งเห็นหน้าเจ้าวันทอง |
หลับอยู่บนเตียงเคียงข้าง |
ขุนช้างกอดกลมประสมสอง |
อุเหม่ตัวดีอีคะนอง |
จองหองมีผัวไม่กลัวกู |
ความสัตย์สารพัดจะสัญญา |
ว่าไว้แต่หลังยังมีอยู่ |
ผัวไปไม่ทันพ้นประตู |
มึงคบชู้ไว้ล่อต่อหน้าตา |
ก้าวขึ้นบนเตียงเคียงข้าง |
ผลักมาให้ห่างจะดูหน้า |
เลิกผ้าห่มปกที่อกมา |
ทุดสมน้ำหน้าอีหน้านวล |
ไม่รู้เลยว่ารูปจะร้างใจ |
ดังจะกลืนกินได้ด้วยงามถ้วน |
งามนมสมจริตกระบิดกระบวน |
ควรเลี้ยงน้อยฤๅที่รูปทรง |
มึงงามแต่รูปจูบไม่หอม |
อีหน้ามอมก้นหม้ออีคอหงส์ |
ถีบตกจากเตียงเคียงกันลง |
ให้มันคงชีวิตไปไยมี |
เงื้อดาบจะฟาดให้ขาดกลาง |
พอจิ้งจกทักขวางไม่ห่างที่ |
เงือดงดอดใจไม่ฆ่าตี |
เคราะห์ดีแล้วมึงจึงรอดตัว |
หาไม่ที่ไหนพรุ่งนี้เช้า |
หัวจะขาดอยู่เปล่าทั้งสองหัว |
มึงกล้าทำได้มึงไม่กลัว |
จะต้องให้รู้ตัวในวันนี้ |
จึงชักเอาเชือกด้ายที่สายม่าน |
ถึงงดไว้ไม่ผลาญให้เป็นผี |
จะทำให้สมน้ำหน้าอีกาลี |
เชือกเส้นนี้แลจะเล่นมึง |
ถีบเข้าให้ชิดติดกัน |
เชือกกระสันพันเข้าให้นอนขึง |
ผูกเป็นเปลาะเปลาะชะเนาะตรึง |
ปลายเชือกโยนถึงบนหลังคา |
เอาผ้าคลุมหุ้มไว้ให้เหมือนผี |
ทุดอีอัปรีย์สมน้ำหน้า |
จวนใกล้รุ่งสางสว่างตา |
ลงจากเคหาด้วยทันใด |
จึงถอดมีดหมอเสียจากเสา |
เรียกเหล่าไพร่มาหาช้าไม่ |
ให้มัดคบครบมือถือจุดไป |
ไต้ไฟดูดังเสด็จมา |
แล้วแก้สะกดพลันมิทันนาน |
คนในบ้านก็ตื่นขึ้นพร้อมหน้า |
ขุนแผนกลับขึ้นขี่อาชา |
เอาดาบตีฝาเข้าทันใด |
ให้บ่าวร้องเรียกออกเพรียกก้อง |
นางวันทองอยู่ฤๅไปข้างไหน |
ใครตื่นอยู่บ้างที่ข้างใน |
เข็นบันไดรับท่านขุนแผนมา ฯ |
๏ ครานั้นสายทองได้ยินเสียง |
ฟังสำเนียงเอ๊ะใครมาเรียกหา |
ลุกออกไปพลันมิทันช้า |
เห็นคนขี่ม้ามามากมาย |
ฟืนไฟไต้คบสว่างทั่ว |
สายทองคิดกลัวใจคอหาย |
ค่อยแอบมองเขม็งเห็นหม่อมพลาย |
อยู่แล้ววุ่นวายกระมังนา |
วันทองน้องรักก็เสียแล้ว |
หม่อมแก้วคืนกลับเข้ามาหา |
จำกูจะลงไปพูดจา |
ทัดทานต้านหน้าให้พอคลาย |
คิดแล้วลุกมาเปิดประตู |
เห็นทีโกรธอยู่ก็ใจหาย |
นี่หากหุนหันฟันกูตาย |
แต่มิใช่ใจร้ายไม่เป็นไร |
จึงเข็นบันไดแข็งใจลง |
ถึงตรงหน้าขุนแผนก็ร้องไห้ |
ฟูมฟายน้ำตาแล้วว่าไป |
สุดใจเสียแล้วนะหม่อมพลาย |
ช่างกะไรใจคอพ่อคุณเอ๋ย |
มาละเลยวันทองเสียง่ายง่าย |
วันนั้นวันทองผูกคอตาย |
พ่อช่างไม่เสียดายไม่แลดู |
แม่ศรีประจันท่านหักหาญ |
ขืนให้ไอ้หัวล้านนั้นเป็นคู่ |
ทุบตีวันทองน้องเลือดพรู |
ฉุดถูสู้กันเป็นเท่าไร |
ด้วยทุ่งย่างทางไกลเป็นหนักหนา |
จะไปบอกหม่อมมาก็ไม่ได้ |
จึงเสียตัวชั่วช้าเพราะจำใจ |
ได้สองวันแล้วพอหม่อมมา ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน |
เดือดดาลน้ำใจเป็นหนักหนา |
เจ้าสายทองไม่ต้องเจรจา |
ข้าเข้าใจแล้วที่เล่ห์กล |
เพราะข้าไร้ทรัพย์อัปภาคย์ |
จึงชิงพรากเพราะเห็นไม่เป็นผล |
ขุนช้างมั่งมีดีกว่าคน |
จะประทุกก็ทนทุกอย่างไป |
ที่มาหมายว่าจะมารับ |
ถ้ายังดีมิยับจะรักใคร่ |
นี่มันเน่าแล้วจะเอาไปทำไม |
ถึงจะใส่ตะกร้าล้างไม่มีเกลือ |
วันทองนั้นจะว่าไปไยเล่า |
ถึงตัวเจ้านานไปก็ไม่เหลือ |
น้องสาวขาดแคลนเจ้าแทนเจือ |
ด้วยเนื้อน้ำใจเดียวด้วยกันมา |
เข้านอกออกในได้ใช้สอย |
กลัวจะบ่อยเสียอิกอย่าพักว่า |
เสียแรงรักใคร่ได้สัญญา |
จะขอดูหน้าพวกสอพลอ |
คิดคิดจะฟ้องก็ป่วยการ |
ฟันเสียเถอะทั้งบ้านมิให้หลอ |
เกี่ยวดองสองคนจะผูกคอ |
อีคนขอคนไรได้เล่นกัน |
ถึงตัวเจ้าก็เป็นเมียของข้า |
คบหาเป็นใจกะไรนั่น |
จวนตัวกลัวก็มาหากระนั้น |
หันเอาแต่ชอบมาเชิดชู ฯ |
๏ สายทองร้องว่าอุแม่เอ๋ย |
อย่าพักพูดไปเลยไม่เข้าหู |
เหมือนปลาในข้องไม่มองดู |
ใครเน่าก็ให้รู้ว่าตัวใคร |
จวนแจ้งขึ้นแล้วหม่อมพลายขา |
ขอเชิญขึ้นมาบนเรือนใหญ่ |
ว่าแล้วขึ้นมาบนบันได |
เข้าไปในห้องศรีประจัน |
ลุกขึ้นเร็วเร็วแม่คุณขา |
ขุนแผนมาอยู่ข้างล่างกลางบ้านนั่น |
ทั้งคนทั้งม้ามาครามครัน |
หอกดาบสารพันออกเต็มไป ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ตัวสั่นดังจะลอดแผ่นดินได้ |
ปากสั่นคอสั่นพรั่นนํ้าใจ |
เราจะทำกะไรออสายทอง |
เขามิมาเกาะกูแล้วฤๅ |
ผู้คนอึงอื้อทั้งบ้านช่อง |
ครั้งนี้จวนตัวหนังหัวพอง |
เขาจะถองกูยับลงกับดิน ฯ |
๏ แม่เอ๋ยครั้งนี้เขาดีจ้าน |
เจ้านายโปรดปรานเขาทั้งสิ้น |
เขาพูดกับไพร่ฉันได้ยิน |
เขาจะฉีกเนื้อกินสิ้นทั้งนั้น |
หอกดาบเชือกปอก็เอามา |
เขาจะผูกคอคร่าว่าแม่นมั่น |
เขาออกชื่อเทพทองศรีประจัน |
ว่าจะฟันทิ้งไว้ให้คนดู ฯ |
๏ ศรีประจันตัวสั่นดังลูกนก |
เหงื่อตกโซมหน้าลงมาหู |
น้ำตาไหลหลั่งลงพรั่งพรู |
ตัวกูคราวนี้ถึงที่ตาย |
กลับเข้าในมุ้งเอาฟูกคลุม |
ผ้าพันเป็นกลุ่มมิ่งขวัญหาย |
สายทองเอ็งช่วยร้องบอกเจ้าพลาย |
ว่ากูลมจับตายเสียหลายวัน ฯ |
๏ นี่จะซ่อนเขาไปที่ไหนพ้น |
เขามิเข้ามาค้นเอาฤๅนั่น |
ว่าแล้วก็ออกมานอกพลัน |
ผลักดันประตูเจ้าวันทอง |
เห็นลิ่มกลอนซ้อนปิดสนิทอยู่ |
มิรู้ที่จะเข้าไปในห้อง |
กลับมาที่ประตูดูเยี่ยมมอง |
ร้องเชิญขุนแผนให้ขึ้นมา ฯ |
๏ ขุนแผนบ่าวไพร่ไปบนเรือน |
ผู้คนกล่นเกลื่อนกันหนักหนา |
ถามสายทองไปมิได้ช้า |
อย่างไรไม่เห็นหน้าท่านแม่ยาย |
วันทองอยู่ฤๅไปข้างไหน |
หลับนอนกะไรตะวันสาย |
ทำเป็นร้องเรียกอยู่วุ่นวาย |
เอาไม้ป่ายฝาเข้าต้ำปึง |
ขุนช้างวันทองก็ตกใจ |
ลุกขึ้นไม่ไหวเชือกผูกขึง |
เสียงคนข้างนอกออกอึงคะนึง |
เชือกมันรัดตึงอยู่รอบตัว |
ม่านคลุมหุ้มพันอยู่ชั้นนอก |
หายใจไม่ออกลงกลอกหัว |
อกใจไหวหวั่นตัวสั่นรัว |
กลัวก็กลัวได้แต่แลดูกัน |
ขุนแผนร้องว่าเจ้าวันทอง |
ยังไม่ออกจากห้องเจียวฤๅนั่น |
ไม่ลุกขึ้นมาบ้างจนกลางวัน |
ออกมาพูดจากันบ้างเป็นไร |
วันทองจำได้ว่าเสียงผัว |
ยิ่งกลัวอกสั่นอยู่หวั่นไหว |
ติดกันสองคนก็จนใจ |
จะร้องบอกออกไปก็อับอาย |
ขุนแผนร้องเฮ้ยอ้ายขุนช้าง |
ไยไม่วางเมียกูอยู่จนสาย |
ตัวมึงวันนี้ถึงที่ตาย |
อย่าคิดมุ่งหมายจะรอดตัว |
กูไม่รู้ว่ามึงอยู่ข้างใน |
หาไม่กูจะเข้าไปบั่นหัว |
จับดาบหุนหันตัวสั่นรัว |
ถีบฝาให้กลัวอยู่วุ่นวาย |
ขุนช้างได้ฟังคำขุนแผน |
นึกแค้นคิดไปก็ใจหาย |
ด้วยถูกมัดรัดไว้เหมือนผีตาย |
วันทองยิ่งอายไม่ลืมตา ฯ |
๏ สายทองร้องว่าแม่ศรีประจัน |
ท่านจะฟันวันทองเสียแล้วหนา |
นอนนิ่งอยู่ไยไม่ออกมา |
เห็นว่าจะพ้นไปฤๅไร |
ท่านยายศรีประจันตัวสั่นรัว |
ความกลัวมิใคร่จะออกได้ |
กลัวเขาจะฟันถูกลูกตายไป |
แข็งใจจำออกไปตามบุญ |
เลิกเอาฟูกใหญ่ขึ้นพันตัว |
ความกลัวหนักหนาออกว้าวุ่น |
เอาเชือกรัดนอกพอกเป็นหุ่น |
ถึงจะฟันถูกนุ่นไม่เป็นไร |
แล้วเอาผ้ามาพับเข้าห้าชั้น |
โพกพันหุ้มหัวเสียให้ใหญ่ |
หูตาก็ปิดมิดทั่วไป |
ชักมือเข้าไว้เสียในฟูก |
ผ้าพอกหน้าตาหาเห็นไม่ |
ย่างเท้าก้าวไปก็ไม่ถูก |
หกล้มลงกำลังสั่งขี้มูก |
ลูกเอ๋ยสายทองมาช่วยกู |
สายทองได้ฟังวิ่งงังไป |
แลเห็นโตใหญ่อยู่มู่ทู่ |
ม้วนที่นอนออกมาคาประตู |
สายทองแลดูหัวเราะงัน |
เข้าปลํ้าคํ้าผ้ามาทั้งฟูก |
ก้าวผิดก้าวถูกมาตัวสั่น |
ออกประตูไม่ได้โตใหญ่ครัน |
ดันดันผลุดล้มจมตํ้าโครง |
พวกบ่าวขุนแผนแหงนแลดู |
หัวเราะอึงอยู่ว่าอ้ายโม่ง |
ม้าลาแลเห็นเต้นโกรงโกรง |
มันคิดว่าผีโป่งจะกินมัน |
สายทองประคองออกมานอกชาน |
ขุนแผนแสนสะท้านสู้อดกลั้น |
ร้องไปนี่อะไรเอาฟูกพัน |
สายทองแกล้งกันฤๅว่าไร |
ยายศรีประจันอยู่ไหนไม่แลเห็น |
จะฆ่าเสียทั้งเป็นหาไว้ไม่ |
ศรีประจันนึกว่าเขาไม่เข้าใจ |
พิงฝาเข้าได้ไม่พูดจา ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
ความคิดรอบคอบเป็นหนักหนา |
จึงให้ไปเชิญพันโชติมา |
ด้วยเป็นใหญ่ได้ว่าในแขวงนั้น |
ตัวท่านเป็นพันกำนันบ้าน |
เราไปราชการเชียงทองนั่น |
เรากับวันทองครอบครองกัน |
กี่เดือนกี่วันท่านแจ้งใจ |
ครั้นเราไปทัพกลับลงมา |
ก็หาเห็นหอห้องของเราไม่ |
หอใหม่เก้าห้องนี่ของใคร |
ท่านรู้ฤๅไม่ให้ว่ามา ฯ |
๏ ครานั้นพันโชติกำนันบ้าน |
บอกการตามรู้ไม่มุสา |
เมื่อท่านขึ้นไปยังไม่มา |
ตัวข้าได้รู้เห็นเป็นพยาน |
ด้วยท่านยายกลอยกับยายสา |
ขุนช้างพามาให้ว่าขาน |
ว่าตัวท่านนี้ตายวายปราณ |
จึงให้ผัดนัดงานกันทันที |
ก่อนวันขันหมากมาถึงบ้าน |
ศรีประจันกับท่านทองประศรี |
ทะเลาะว่ากล่าวกันยาวรี |
ว่าท่านขุนแผนนี้ไม่บรรลัย |
ห้ามไว้มิให้ทำการงาน |
ข้างนี้หักหาญหาฟังไม่ |
ฝ่ายท่านทองประศรีก็กลับไป |
ได้บอกกล่าวข้าไว้ได้รู้จริง ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน |
ได้ฟังนายบ้านบอกทุกสิ่ง |
นิ่งนึกตรึกความไปตามจริง |
วันทองนี้มิ่งเมียรักกู |
รักสนิทดังชีวิตอันเดียวกัน |
มันแกล้งบั่นอาลัยให้พลัดคู่ |
ขุนช้างเคี่ยวเข็ญเป็นศัตรู |
ล่อลวงขอสู่ทำการงาน |
วันทองอุตส่าห์ครองไมตรีท่า |
จนเลิกทัพกลับมาได้ถึงบ้าน |
มาเกิดเข็ญเป็นเหตุเภทพาล |
หักหาญให้เสียไมตรีมิตร |
เพราะกูเองเด็ดด่วนหวนหัน |
บุกบั่นถือโทษเอาเป็นผิด |
จึงเสียใจยอมให้ขุนช้างชิด |
คิดฤๅหนึ่งเล่าจะเอาไป |
แต่ก็หวนสงสัยน้ำใจนาง |
เมื่อขุนช้างสู่สมเข้าชมได้ |
เป็นกินน้ำเห็นปลิงทุกสิ่งไป |
จะคืนรักเข้ากะไรให้รำคาญ |
ครั้นจะทูลก็กระเทือนถึงวันทอง |
สงสารน้องจะขายหน้าอยู่คาศาล |
ได้เสียตัวชั่วผิดเพราะคนพาล |
ถ้าให้ทานเห็นจะเป็นประโยชน์ไป |
คิดฤๅหนึ่งเล่าก็น้อยหน้า |
มันทำได้ดังหาที่เกรงไม่ |
จองหองด้วยเงินทองมันคล่องใจ |
ละไว้ก็จะหยิ่งยิ่งยํ่ายี |
แต่เพียงนี้เห็นไม่ทำอะไรได้ |
ยืดไปมันจะเล่นกูป่นปี้ |
จำจะขู่เสียให้รู้ว่าชั่วดี |
คิดแล้วจึงมีซึ่งวาจา |
ตัวท่านพันโชติเป็นผู้ใหญ่ |
เร่งไปหาตัวมาต่อว่า |
ทั้งยายเทพทองผู้มารดา |
ยายกลอยยายสาให้พร้อมกัน ฯ |
๏ พันโชติได้ฟังสั่งนายสอน |
อย่านอนใจไปเดี๋ยวนี้ขมีขมัน |
นายสอนรีบไปในฉับพลัน |
ถึงบ้านก็รันขึ้นบนเรือน |
เทพทองร้องถามไปไหนมา |
เหงื่อออกโซมหน้านัยน์ตาเฝื่อน |
มีธุระอะไรมาในเรือน |
เสือกเชี่ยนหมากให้เพื่อนเชิญนายกิน |
นายสอนบอกออกว่าแน่คุณยาย |
เดี๋ยวนี้เกิดวุ่นวายขึ้นทั้งสิ้น |
ความใหญ่ตละไฟไหม้แผ่นดิน |
บ้านถิ่นเรานี้มิเป็นการ |
เทพทองตกใจว่าที่ไหนพ่อ |
เด็กเอ๋ยหาพร้าขอสำหรับบ้าน |
ลุกขึ้นเสือกสนอยู่ลนลาน |
นายสอนว่าท่านมิใช่ไฟ |
เทพทองร้องว่านายผู้ร้ายปลัน |
สิบหนก็หาหมดเหมือนไฟไม่ |
กลับนั่งลงถามความอะไร |
ปากสั่นพรั่นใจอยู่งกงัน |
นายสอนว่าความเรื่องวันทอง |
ผัวของเขามาที่บ้านนั่น |
เขาเป็นคนโปรดปรานประทานครัน |
บ่าวไพร่ตั้งพันยศศักดิมี |
เป็นที่ขุนแผนแสนสะท้าน |
ขู่เข็ญนายบ้านอยู่อึงมี่ |
เขาจะเกาะตัวไปในบุรี |
ทูลพระพันปีให้ฆ่าฟัน |
บัดนี้พันโชติให้มาหา |
ทั้งยายกลอยยายสาด้วยกันนั่น |
อันตัวขุนช้างวันทองนั้น |
กับยายศรีประจันเขามัดไว้ ฯ |
๏ เทพทองตำหมากทิ้งสากโผง |
ตายโหงจริงแล้วอีพ่อข้าไหว้ |
กรรมเอ๋ยกรรมกรรมทำอะไร |
จะแก้ไขถ้อยคำเป็นสำนวน |
เกิดมาแต่น้อยจนฟันหัก |
รู้จักแต่ทำนากับทำสวน |
ปลูกเผือกปลูกมันนั้นรดพวน |
จนจวนจะตายห่ามาค้าความ |
เพราะอ้ายขุนช้างคางเครา |
อ้ายขี้เค้ามันมิฟังคำแม่ห้าม |
อียายสายายกลอยพลอยลามปาม |
เขาจะผูกแหล่งล่ามเป็นวัววัด |
จึงร้องบอกยายกลอยกับยายสา |
อ้ายตายห่าขุนช้างวางเข้าถนัด |
ขุนแผนเขามาจับมันกลับซัด |
เขาจะมัดกลิ้งอยู่เป็นปูทะเล ฯ |
๏ ฝ่ายว่ายายกลอยพลอยตกใจ |
พลัดตกบันไดเดินขาเฉ |
นมยานฟัดพุงยุ่งหยำเป |
เง้ขึ้นบนเรือนท่านเทพทอง |
ยายสาตาไม่ดูกระดานต่อ |
ขอไปทีอีพ่อพลัดตกล่อง |
โก้งโค้งลากขานัยน์ตาพอง |
ค่อยย่องขึ้นไปให้ขัดนัก |
เทพทองว่าเป็นไรท่านยายสา |
เจ็บขาม่อยเมินกระทงเหินหัก |
สายแล้วไปเถิดพเยิดพยัก |
เบาหนักเป็นอย่างไรจะได้รู้ |
ฉวยคว้าผาห่มปกนมยาน |
รีบไปให้การเถิดเหวยสู |
ข้าไทตามหลังมาพรั่งพรู |
แลดูหน้ากันงกงันมา |
ยิ่งเดินยิ่งใกล้ใจยิ่งพรั่น |
เทพทองผินผันหันมาว่า |
เจ้าสอนเอ๋ยเอ็นดูตูเถิดรา |
ข้าไม่ไปแล้วอีพ่อคุณ |
พ่อช่วยผ่อนปรนจะบนบาน |
อย่าให้เกิดรำคาญขึ้นว้าวุ่น |
เงินทองให้เจ้าพ่อเอาบุญ |
บอกว่าแม่ออขุนมันไปไกล |
อพยพครอบครัวตัวก็หนี |
ผู้คนก็หามีที่เรือนไม่ |
ทั้งยายกลอยยายสาพากันไป |
ช่วยแก้ให้รอดตัวพ่อหัวพัน ฯ |
๏ นายสอนว่าวอนข้าทำไม |
ข้าจะโกหกได้ฤๅไรนั่น |
ร้ายดีอย่างไรไปด้วยกัน |
เนื้อความกวดขันอย่าบนบาน |
ว่าแล้วก็พากันเดินมา |
มิช้าเข้าไปถึงในบ้าน |
ลูกความสามคนยิ่งลนลาน |
เห็นผู้คนพลุกพล่านก็ตกใจ |
นายสอนไปก่อนขึ้นนอกชาน |
เทพทองมองกรานหาขึ้นไม่ |
ลับลับล่อล่อคอบันได |
พันโชติว่าเป็นไรไม่ขึ้นมา |
สามคนรนขึ้นบนบันได |
ขุนแผนถือดาบไว้ไม่เงยหน้า |
ยืนขึ้นร้องไปว่าใครมา |
เทพทองร้องจ้าพลัดตกตึง |
ยายสายายกลอยพลอยตกตาม |
แม่บันไดหงายปามลงต้ำผึง |
บันไดคร่อมคอเขาหัวร่ออึง |
สามคนนอนขึงไม่ลุกเลย |
เทพทองร้องว่าข้าจะให้การ |
ไยมาใส่คาประจานพ่อคุณเอ๋ย |
ถ้อยความอะไรข้าไม่เคย |
ต่อเงยหน้ารู้ว่าบันไดทับ |
ต่างคนต่างลุกขึ้นจากที่ |
เนื้อตัวป่นปี้ดังมีดสับ |
ลุกขึ้นยื่นคอทำล่อลับ |
ช่วยกันจับบันไดใส่นอกชาน |
เทพทองแข็งใจขึ้นไปหน้า |
ยายกลอยยายสามางุ่นง่าน |
เสียงตุ๊กแกร้องลงมองคลาน |
เทพทองร้องขานว่าฉานเอง |
งกงันดันโดนประตูโกก |
กลอนโขกถูกหัวเข้าต้ำเผง |
สายทองร้องว่าไม่เป็นเพลง |
คนหัวเราะครื้นเครงเฮฮาไป |
ยายกลอยยายสามาข้างหลัง |
เทพทองเก้กังขึ้นหอใหญ่ |
แลเห็นขุนแผนก็ตกใจ |
คลานเลี่ยงหลีกไปข้างฝารี |
เห็นฟูกที่พันศรีประจันอยู่ |
ตายจริงอกกูมาพบผี |
ลุกโผนโดนฟูกเข้าทันที |
ศรีประจันล้มผางลงทางยาว |
ร้องขอโทษตัวกลัวแล้วพ่อ |
ยื่นหน้าป๋อหลอนัยน์ตาขาว |
ออกจากฟูกพันตัวสั่นท้าว |
พ่อเจ้าขอโทษโปรดเถิดรา ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
แค้นคิดเคืองขัดเป็นหนักหนา |
จึงถามความไปมิได้ช้า |
แน่ท่านมารดาเจ้าวันทอง |
เดิมเราได้เข้ามาขอสู่ |
ท่านยกลูกให้อยู่ประสมสอง |
เมื่อเราจากไกลไปเชียงทอง |
หอห้องยังอยู่เป็นสำคัญ |
วันทองของเราได้ฝากไว้ |
ฤๅว่าหย่าร้างให้เมื่อไรนั่น |
จึงยกให้ขุนช้างเสียกลางคัน |
เกียจกันฉันทาประการใด |
ฤๅเห็นว่าตํ่าศักดิจึงหักหาญ |
จะโต้ทานถ้อยคำหาได้ไม่ |
น้อยทั้งทรัพย์สินทุกสิ่งไป |
นํ้าหน้าหาไหนจะเป็นความ |
อันลูกเขยใหม่สิใหญ่ยิ่ง |
ทุกสิ่งสมบัติก็เหลือหลาม |
ช้างม้าสารพันจะครันคราม |
จึงคิดกันหยาบหยามไม่เกรงใจ |
หอเก่ารื้อเอาไปปลูกวัด |
เอาหอใหม่ใส่ยัดเข้าแทนให้ |
ช่วยกันฟันฆ่าเสียเป็นไร |
ให้สาสมนํ้าใจที่มันจน ฯ |
๏ ครานั้นศรีประจันผู้มารดา |
ฟังว่าปากแห้งแสยงขน |
ทั้งกลัวทั้งทุกข์ให้ลุกลน |
ยกก้นกระแทกฟากปากสั่นงก |
ถอนใจใหญ่พลางครางฮือฮือ |
สองมือขยี้หน้านํ้าตาตก |
นั่งเช็ดขี้มูกตละลูกนก |
ชกหัวเร่าเร่าเจ้าประคุณ |
เดิมทียายกลอยกับยายสา |
มาว่าพ่อตายอยู่วายวุ่น |
ให้กระดูกเผาไฟไหม้เป็นจุณ |
จึงขอให้ไอ้ขุนเป็นผัวเมีย |
กลัวท่านจะเก็บไปเป็นหม้ายหลวง |
แหนหวงไว้ไม่ได้จึงให้เสีย |
วันทองร้องไห้ไม่ปัวเปีย |
นํ้าตาเป็นลูกเบี้ยบ่นทุกวัน |
ถึงสิบห้าคืนจึงเข้าหอ |
มันจะทันสึกหรออะไรนั่น |
พึ่งพลัดเข้าในห้องได้สองวัน |
พ่ออย่าคิดเดียดฉันท์เอาคืนไป ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสา |
ฟังศรีประจันว่าไม่นิ่งได้ |
เปล่าเปล่าข้าจะเอามาว่าไย |
เทพทองวานให้ดีฉันมา |
ว่าไปทัพเชียงทองพ่อพลายแก้ว |
ลาวแทงเสียแล้วที่กลางป่า |
ผิดชอบอย่างไรได้เมตตา |
เขาสอนให้ว่าก็ว่าไป |
เทพทองงันงกตีอกผาง |
อ้ายขุนช้างมันบอกดอกพ่อข้าไหว้ |
ข้าก็หลงงงงมซมซานไป |
จนใจอยู่แล้วขอโทษตัว ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนศักดา |
เห็นพูดจางกงันก็กลั้นหัว |
เมื่อแรกทำผิดไม่คิดกลัว |
เขารู้อยู่ทั่วทั้งสุพรรณ |
แม่ทองประศรีมาถึงบ้าน |
ห้ามหองานการทุกสิ่งสรรพ์ |
ข้างยายเทพทองศรีประจัน |
ดุดันดื้อดึงตะบึงไป |
กลับว่าท้าทายให้ร้องฟ้อง |
เงินทองมีเสียหากลัวไม่ |
เดี๋ยวนี้ขอตัวกลัวทำไม |
จะได้เห็นกันในวันนี้ |
ไหนอ้ายขุนช้างมันอยู่ไหน |
มุดหัวอยู่ไยออกมานี่ |
ถ้าฮึกฮักเจรจาจะฆ่าตี |
ถ้าดีก็จะคิดว่ามิตรกัน |
ศรีประจันเทพทองร้องว่าไป |
อย่างไรไม่ออกมาหาทั่น |
สนุกใจนอนเล่นเป็นค่อนวัน |
อ้ายชาติชั่วหัวควั่นจนท้ายทอย |
เรียกเรียกเท่าไรก็ไม่ขาน |
กูแค้นจ้านตลอดจนคอหอย |
ขุนช้างขานขานัยน์ตาปรอย |
เขาผูกดอยฉันไว้เสียทั้งตัว |
ศรีประจันเข้าดันประตูห้อง |
ช่างนอนร้องอยู่ได้ไอ้ชาติชั่ว |
เพราะมันอยู่ข้างในจึงไม่กลัว |
เทพทองจิกหัวออกมาที |
เทพทองศรีประจันดันประตู |
แน่นอยู่ไม่เปิดออกจากที่ |
ขุนแผนอัดใจให้ลมดี |
เป่ารี่ส่งไปด้วยใจจง |
ประตูลั่นศรีประจันเทพทอง |
เข้าไปในห้องร้องเสียงหลง |
ตัวสั่นงันงกหกล้มลง |
ใครเอาผีอ้ายเจ๊กคงเข้ามาไว้ |
ขุนช้างร้องแม่ช่วยแก้ที |
อย่าตกใจเลยว่าผีนั้นมิใช่ |
เทพทองร้องกลิ้งยิ่งตกใจ |
เออผีพูดได้ดังคนเป็น |
ศรีประจันร้องว่าอีแก่แดด |
ผีตายฝาแฝดกูไม่เคยเห็น |
เทพทองว่ามันตายเมื่อบ่ายเย็น |
อีเมียถ่อยพลอยเต้นจนดิ้นตาย |
ขุนช้างจุปากดีฉันเอง |
สองยายเต้นเหยงลงนอนหงาย |
ศรีประจันผ้าหลุดยุดแต่ชาย |
สองยายปลํ้ากันสนั่นไป |
ศรีประจันคิดได้เหลียวไปดู |
เป็นไรหางหนูหามีไม่ |
เทพทองร้องอึงคะนึงไป |
ก็นั่นฤๅมิใช่ไว้หางเปีย |
ศรีประจันว่านั่นวันทองดอก |
เทพทองร้องบอกนั่นแม่อ้ายเบี้ย |
ทำไมมาฆ่าตัวทั้งผัวเมีย |
เป็นไรไม่เผาเสียใครเอามา |
ขุนช้างร้องว่าดีฉันเอง |
สองยายเต้นเหยงหัวตำฝา |
สายทองเอ็งช่วยกูด้วยรา |
สองมือปิดตาภาวนาอึง |
สายทองร้องว่าอะไรนั่น |
ลุกเดินถลันเข้าไปถึง |
โดนศรีประจันหันล้มตึง |
ศรีประจันว่ามึงผลักกูไย |
เทพทองร้องว่าช่วยกูด้วยที |
อะไรนี่ผีเจ๊กฤๅมิใช่ |
เชือกปอตราสังรุงรังไป |
มิใช่วันทองกับขุนช้าง ฯ |
๏ สายทองแลเห็นก็ตกใจ |
เออนั่นเป็นอย่างไรตีอกผาง |
ไม่มีผ้าผ่อนนอนมัดคราง |
เมินหน้าว่าพลางช่างกะไร |
ใครบอกกับแม่ว่าเจ๊กคง |
ช่างหลงหลับตาว่าไปได้ |
เห็นคนเป็นผีร้องมี่ไป |
คิดอายแก่ใจก็ออกมา |
ศรีประจันเทพทองลงมองดู |
อดสูเป็นจะตายให้ขายหน้า |
หลับนอนนี่กะไรไม่ลืมตา |
ให้ขโมยแก้ผ้าเอาเชือกพัน |
ฉวยได้มีดหมากกระชากเถือ |
บาดเนื้อเข้าแล้วกระมังนั่น |
แม่ผัวแม่ยายวุ่นวายครัน |
ช่วยกันตัดเชือกชักสาวมา |
ศรีประจันหยิบผ้าให้ลูกสาว |
มันทำฉาวใจหายกูขายหน้า |
แล้วบอกขุนช้างพลันไม่ทันช้า |
ขุนแผนเขามาว่าวุ่นวาย |
เขาจะไปกราบทูลให้เข่นฆ่า |
ฟอแม่จะพากันฉิบหาย |
ทรัพย์สินจะกระจัดพลัดพราย |
เมื่อกี้ออพลายเขาพูดจา |
ว่าถ้าดีจะคิดว่ามิตรกัน |
ถ้าเอ็งดึงดันเขาจะฆ่า |
เอ็งจงออกไปไหว้วันทา |
พูดจาขอโทษให้โกรธคลาย |
จะถืออะไรกับเท่านั้น |
โอนอ่อนผ่อนผันให้ความหาย |
เขาก็ได้เมียใหม่ไว้แนบกาย |
เห็นจะไม่เสียดายวันทองนัก |
เพื่อนมาจะว่าให้เป็นที |
ว่าเรานี้ทำการหาญหัก |
ง้อไปเห็นจะไม่กะไรนัก |
เอ็งอย่าพักย้อนยอกเร่งออกไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนศักดา |
เห็นช้าหาออกมานอกไม่ |
จึงร้องเตือนไปพลันทันใด |
เป็นไรไม่มาพูดจากัน |
ถ้ามาดีดีมิเป็นไร |
ถ้าดื้อดึงไปจะหํ้าหั่น |
เทพทองฟังว่านัยน์ตาชัน |
ศรีประจันร้องว่าอ้ายขุนช้าง |
ยังทำตาปริบปริบอ้ายฉิบหาย |
แกเอาตีนป่ายเข้าสีข้าง |
เทพทองร้องไปไอ้หัวบาง |
ขุนช้างแข็งตัวทำหัวโคลง |
เทพทองชกซํ้าเข้าต้ำเหงาะ |
ยิ่งกว่าฉุดเจ้าเงาะอ้ายตายโหง |
ผ้าผ่อนไม่นุ่งทำพุงโกง |
จะเอาเรือนเป็นโลงอ้ายอัปรีย์ |
ขุนช้างแหกฝานัยน์ตามอง |
วันทองจงออกไปด้วยพี่ |
ถึงเขาโกรธาจะฆ่าตี |
ก็จะคิดปรานีเพราะแม่ไป ฯ |
๏ วันทองว่ามึงอย่าพักว่า |
ถึงพระอินทร์ลงมาหาไปไม่ |
ยิ่งฆ่าฟันเสียที่นี่กูดีใจ |
อันกูจะออกไปอย่าสงกา |
ขุนช้างว่าแม่ไม่ออกไป |
พี่จะออกไปไยให้เขาฆ่า |
ไปตายไกลเจ้าไม่เข้ายา |
ผิดชอบเห็นหน้าตายด้วยกัน |
ให้มันตายติดกันฟันเสียเถิด |
จะได้ติดกันไปเกิดบนสวรรค์ |
ว่าแล้วลุกมานัยน์ตาชัน |
กอดวันทองไว้มั่นไม่ออกไป ฯ |
๏ เทพทองศรีประจันตัวสั่นงก |
ทุดอ้ายกระยาจกมึงทำได้ |
ไม่นุ่งผ้าเสียมั่งอ้ายจังไร |
แกเอาไม้แพ่นผางเข้ากลางตัว |
อย่าตีลูกเลยจะออกไป |
เจ็บปวดนี่กะไรแม่ทูนหัว |
ฉวยผ้ามาพันตัวสั่นรัว |
ความกลัวไม่เป็นสมประดี |
ลับลับล่อล่อต่อประตู |
แหกฝามองดูจะวิ่งหนี |
ป่ายปีนขึ้นฝาตาขวางรี |
ศรีประจันฉวยตีนอย่าปีนไป |
เทพทองร้องด่าอ้ายหน้ากาก |
ฉวยตีนหนึ่งลากลงมาได้ |
ขุนช้างผ้าหลุดฉุดชายไว้ |
ฉวยเอาตะเกียงได้ทูนหัวมา |
ยกสองมือง่าถึงหน้าผาก |
เชิญพ่อกินหมากพ่อพลายขา |
กราบลงกับตักชักตีนมา |
ยกทูนเกศาข้าดีใจ |
อีพ่อเนื้อหอมทูลกระหม่อมแก้ว |
เขาว่าพ่อตายแล้วกลับมาได้ |
บุญญาธิการพ่อชาญชัย |
เครื่องในของพ่องามดังดอกบัว |
เข้าเลิกผ้าคว้าไขว่จะขอจูบ |
เอามือลูบโน่นนี่มาขยี้หัว |
หอมเป็นกระแจะปนเห็นพ้นตัว |
เขาก็ชวนกันหัวอยู่งันงัน |
ขุนแผนว่าอย่าอย่าเจ้าขุนช้าง |
ผลักพลางปิดผ้าขมีขมัน |
ขุนช้างจูบลูบเล่นอยู่พัลวัน |
เทพทองศรีประจันหันหน้าไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
แค้นคิดขบฟันมันไส้ |
เฮ้ยขุนช้างมิตรคิดอย่างไร |
นางพิมพิลาไลยนี้เมียเรา |
เรายังไปทัพไม่กลับมา |
ฤๅร้างหย่าซื้อขายให้แก่เจ้า |
จึงรื้อหอปลูกใหม่ใส่สวมเอา |
แล้วพูดจาว่าเรานี้บรรลัย |
เอากระดูกห่อผ้ามาถึงบ้าน |
ขุดต้นโพธิ์พิษฐานให้เป็นไข้ |
สมสู่ทำชู้แต่โดยใจ |
คิดอ่านเป็นอย่างไรให้ว่ามา ฯ |
๏ ขุนช้างได้ฟังขุนแผนถาม |
ครั่นคร้ามขนพองสยองฉ่า |
กอดขุนแผนไว้ไม่ลืมตา |
มิได้ถุ้งเถียงว่าประการใด |
ขุนแผนซักถามถึงสามหน |
ขุนช้างขัดสนไม่ตอบได้ |
ขุนแผนฮึดฮัดให้ขัดใจ |
ร้องถามไปดูก่อนเจ้าวันทอง |
กะไรเลยเจ้าเอ๋ยเรามาหา |
ช่างซ่อนหน้านอนได้อยู่ในห้อง |
สำมะหาแขกมาจะปรองดอง |
พูดจารับรองกันโดยดี |
เชี่ยนหมากพานพลูสู่หา |
ตามประสาเข็ญใจแลเศรษฐี |
ข้าวปลาหาเลี้ยงกันตามที |
ไม่ถือที่มั่งมีแลเข็ญใจ |
นี่แต่เช้าจนพลบไม่พบหมาก |
เปรี้ยวปากเห็นแต่ตะเกียงไต้ |
ฤๅอับอายชาวบ้านประการใด |
ไม่ควรพูดด้วยได้จึงไม่มา ฯ |
๏ วันทองหมองใจอยู่ในห้อง |
ได้ยินร้องเรียกรำคาญเป็นหนักหนา |
ออกปากยากจริงจะเจรจา |
แค้นขัดอัธยาระกำใจ |
กลัวจะผลุนหุนหันเข้าในห้อง |
เจ้าวันทองคิดพรั่นหวั่นไหว |
กระถดออกมาพลันด้วยทันใด |
ขัดประตูเข้าไว้ให้มิดชิด |
ลิ่มกลอนซ้อนในใส่สลัก |
ถึงจะผลักก็ไม่ไหวแต่สักนิด |
นั่งนิ่งรำพึงตะลึงคิด |
เจ็บจิตรเจียนนางจะขาดใจ ฯ |
๏ ไม่มาแล้วฤๅเจ้าวันทอง |
อยู่ในห้องเห็นเราเข้าไม่ได้ |
เจ้าเอาลิ่มทิ่มยัดแล้วอัดใน |
จะเล่นข้าท่าไรเจ้าวันทอง |
ฤๅจะลวงให้เราเข้าที่ลับ |
จะจับตัวกินตับเสียในห้อง |
เป็นตายจะป่ายเข้าไปลอง |
แล้วจะร้องพาโลดอกกระมัง |
ว่าพลางถอดดาบขึ้นยืนจ้อง |
ขุนช้างกอดตีนร้องระเสิดระสัง |
ขุนแผนสลัดวัดเตะตัง |
ขุนช้างรั้งผ้าหลุดทรุดนั่งลง |
มือจับชายพกยกดาบง่า |
เทพทองร้องจ้าจนเสียงหลง |
ศรีประจันหกล้มจมยายคง |
ขุนแผนส่งเสียงร้องตวาดมา |
กูจะฆ่ามึงเสียทั้งเมียผัว |
ระวังตัวจงดีทั้งสี่ห้า |
นางวันทองรักห้องไม่ยาตรา |
กลัวนวลหน้าจะหมองต้องลมพัด |
กระนี้แลสมชื่อว่าวันทอง |
เจ้าแปดน้ำทำนองเนื้อกษัตริย์ |
จะพูดออกกลัวดอกจำปาพลัด |
ด้วยคำตัดวันนั้นเป็นมั่นคง |
ฝ่ายเจ้าสิเจ้าประมาทใจ |
กลับสัตย์ตัดได้โดยประสงค์ |
เราคิดถึงความหลังเรายังตรง |
พาซื่อรื้อหลงมาเรือนนาง |
สำคัญจิตรว่าจะคิดอยู่บ้างเล่า |
ไม่ทันรู้ว่าเจ้าจะสิ้นอย่าง |
ตัดปลียังมีอาลัยยาง |
เจ้านี้จางจืดแล้วก็ลืมไป |
เมื่อแรกเชื่อว่าเนื้อทับทิมแท้ |
มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้ |
กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ |
ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา |
คิดว่าหงส์เราจึงหลงด้วยลายย้อม |
ช่างแปลงปลอมท่วงทีดีหนักหนา |
ดังรักถิ่นมุจลินท์ไม่คลาศคลา |
ครั้นหลับตาฝูงหงส์ก็ลงโคลน |
สมมมมอมเคล้าแต่เน่าชั่ว |
เจ้าถอดหัวเปลี่ยนได้ดังเล่นโขน |
เมื่อรักรำก็ให้ทำกลองตะโพน |
ครั้นรักโลนเล่นโลนให้คนดู |
มิเสียทีที่เรียนพากเพียรหัด |
สันทัดทำนองดีไม่มีสู้ |
แคล่วคล่องต้องแบบแยบคายครู |
เมื่อพี่อยู่ไม่มีใครหางาน |
แต่เพียงได้ครูใหม่ใช้ขยัน |
ถึงประชันก็แพ้เจ้าทั้งบ้าน |
เขาออกชื่อฦๅทั่วเจ้าตัวการ |
ไม่ช้านานจะต้องหาเจ้าไปรำ |
คงจะเหนี่ยวเคี่ยวเข็ญให้ตลอด |
ไม่ให้ถอดชฎากว่าจะคํ่า |
วันนี้มาหานางวางประจำ |
กลับไปโรงจะทำสำรองไว้ |
อยู่จงดีเถิดเจ้าสีชบาทัด |
ลุกขัดใจมาหาช้าไม่ |
ขึ้นม้าพากันดั้นพงไพร |
กลับไปเขาชนไก่กาญจน์บุรี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้าขุนช้างล้าน |
อยู่กับท่านแม่ยายไม่หลีกหนี |
ฟังเหตุเภทภัยเห็นไม่มี |
เงียบดีประมาณสักเดือนปลาย |
จึงกราบลาแม่ยายจะไปบ้าน |
นานนักช้างม้าจะสูญหาย |
เงินทองจะกระจัดพลัดพราย |
ลูกชายจะลาไปบ้านตัว |
ขุนช้างวันทองก็ไปพลัน |
อยู่บ้านกลางแปลงนั้นทั้งเมียผัว |
ครอบครองถิ่นฐานบ้านของตัว |
เมียผัวเป็นสุขสำราญใจ ฯ |
๏ บทนี้จะยกไว้ก่อน |
จะกล่าวกลอนชูเชิดขึ้นไปใหม่ |
จะกล่าวถึงเจ้าขรัวสุโขทัย |
ต้องเร่งเงินพินัยอยู่ในคลัง |
ได้ส่งมั่งยังค้างอยู่สิบห้า |
ทนทุกข์เวทนาอยู่ทิมขัง |
จึงปรึกษาลูกน้อยเจ้าร้อยชั่ง |
ช่วยหลังพ่อเถิดแก้วกิริยา |
ลูกสาวก็ยอมพร้อมใจ |
จะขายไว้กับใครคุณพ่อขา |
เจ้าขรัวบอกไปมิได้ช้า |
ลูกเกลอของข้าอยู่สุพรรณ |
จึงประกันเชิงลาออกมาได้ |
พาลูกไปหาขุนช้างพลางโศกศัลย์ |
ขุนช้างไต่ถามเนื้อความพลัน |
พ่อท่านนั้นกับน้องมาทำไม |
เจ้าขรัวบอกไปมิได้ช้า |
สารทุกข์หนักหนาเป็นข้อใหญ่ |
จะเอาน้องสาวมาฝากไว้ |
ต้องเร่งเงินพินัยยังไม่พอ |
ลูกเกลอก็เหมือนดังลูกตัว |
ทูนหัวจงได้เอ็นดูพ่อ |
จะเอาเงินสิบห้าอย่ารั้งรอ |
ขอเขียนกรมธรรม์นั้นฝากไว้ |
ขุนช้างจึงเรียกเจ้าวันทอง |
เอาเงินมากองนับส่งให้ |
จะต้องทำกรมธรรม์นั้นทำไม |
เลี้ยงไว้เหมือนน้องร่วมท้องมา |
เจ้าขรัวลาสั่งท่านทั้งสอง |
ฝากน้องด้วยเถิดพ่อแม่ขา |
ผิดพลั้งอย่างไรได้เมตตา |
ออแก้วกิริยาอยู่จงดี |
จงเสงี่ยมเจียมตัวเป็นข้าท่าน |
การงานเอาใจใส่ให้ถ้วนถี่ |
สิ่งชั่วอย่าให้ตัวเป็นราคี |
ข้าวของท่านมีช่วยปิดงำ |
ตัวเป็นข้าอย่าให้ผ้านั้นเหม็นสาบ |
จงสุภาพเจียมตนเป็นคนขำ |
อย่านอนสายนายมุลจงเกรงยำ |
ข้าวน้ำผักปลาหาให้นาย |
เสียสินดีกว่าอย่าเสียศักดิ์ |
ที่ต่ำหน้ากว่านักอย่าพักหมาย |
สงวนศักดิรักยศจงอดอาย |
สามเดือนปลายแล้วพ่อจะกลับมา ฯ |
๏ นางแก้วคำนับแล้วรับถ้อย |
เศร้าสร้อยกราบไหว้พิไรว่า |
พ่อไปแล้วอย่าให้ลูกอยู่ช้า |
สามเดือนบิดากลับมาพลัน |
เจ้าขรัวสุโขทัยไปจากลูก |
ใจผูกไม่วายใฝ่ฝัน |
ถึงศรีอยุธยาเข้ามาพลัน |
เงินนั้นส่งเสร็จสำเร็จไป ฯ |