๏ จะกลับกล่าวถึงลาวนางสาวไหม |
พอพระไวยเดินออกนอกเคหา |
กรุ้มกริ่มยิ้มละไมอยู่ไปมา |
กระซิบถามสร้อยฟ้าไปทันใด |
วันนี้เห็นทีค่อยแช่มชื่น |
มาเมื่อคืนยังว่าฤๅหาไม่ |
ฤๅดีแล้วเหมือนแต่ก่อนร่อนชะไร |
ฉันนอนหวั่นพรั่นใจไม่หลับเลย ฯ |
๏ สร้อยฟ้ายิ้มเมินสะเทิ้นอาย |
ที่ดุร้ายหายแล้วละเอ็งเอ๋ย |
กูปรักปรำหลายคำไม่เถียงเลย |
มีแต่ปลอบชอบเชยให้ชื่นใจ |
คุณท่านขรัวดับเข็ญเห็นทันตา |
จะหักอีศรีมาลาให้จงได้ |
จะพาโลเอาต่อหน้าพระหมื่นไวย |
ยุให้ผัวเฆี่ยนให้เจียนตาย |
อีไหมหัวเราะว่าเหมาะจริง |
ทีนี้เจ้าจอมหญิงหยิ่งจะหาย |
กำลังลมชักใบให้สบาย |
แต่หมายหมายมาก็สมได้ลมดี ฯ |
๏ ครานั้นจึงพระไวยวรนาถ |
เสด็จขึ้นอภิวาทลุกจากที่ |
ให้คิดถึงสร้อยฟ้านารี |
ทุกนาทีรำพึงถึงแต่นาง |
ให้ขุ่นเคียดเกลียดชังศรรีมาลา |
มันจะคิดริษยาอย่างไรบ้าง |
กลับถึงเคหามาหอกลาง |
สองนางออกนั่งอยู่พร้อมกัน |
ศรีมาลากำลังยกพานผ้า |
สร้อยฟ้าแกล้งเสียดเบียดถลัน |
ทำเซซวนม้วนล้มลงฉับพลัน |
เออกระนั้นสิคะหม่อมเจ้าจอมดู |
เอาแขนกั้นไว้ไม่ให้เข้า |
ถ่มน้ำลายรดเอาเปื้อนหัวหู |
กระซิบด่าอ้าปากน้ำหมากพรู |
ถีบให้ผัวดูเล่นดูตามที |
พระไวยเมินไปไม่ทันดู |
ได้ยินเสียงร้องอยู่ออกอึงมี่ |
เหลือบเห็นสร้อยฟ้านารี |
ล้มอยู่เคียงที่ศรีมาลานั้น |
ให้พิโรธโกรธใจดังไฟวับ |
ยืนขยับระรัวตัวสั่น |
ดูดู๋ทำได้ใจฉกรรจ์ |
ถีบยันเขาเล่นเช่นข้าไท |
ช่วยมากี่ชั่งตั้งข่มเหง |
จะกลัวเกรงสักนิดก็หาไม่ |
ถ่มถุยทิ่มตำเอาตามใจ |
ยิ่งกว่าเจ้าได้เชลยมา |
ศรีมาลาว่าฉันไม่ได้ทำ |
ฟ้าผ่าเถิดวิบากกรรมเป็นหนักหนา |
เสแสร้งแกล้งพาลมารยา |
ทำล้มลงแล้วก็ว่าข้าถีบทำ |
เอ๊ะเถียงอิกเล่าอีเจ้าเล่ห์ |
เมื่อถีบสร้อยฟ้าเซคะมำคว่ำ |
ยังพาโลโกหกไม่ตกคำ |
อีมุสามระยำสบถลน |
เห็นอยู่กับตาว่าไม่รับ |
สับปลับไม่น้อยนางสร้อยสน |
จับเช่นได้สิ้นลิ้นกะลาวน |
แต่ต้นก็หมายว่ามึงดี |
วันเมื่อวิวาทกับสร้อยฟ้า |
สารพัดจะว่าเป็นถ้วนถี่ |
ยุแยงแกล้งร้องจนต้องตี |
แต่เพียงนั้นยังไม่มีจะหนำใจ |
วันนี้ยังมาพาโลอีก |
จะให้ฉีกแล่เนื้อไปถึงไหน |
แม้นมิทำบ้างเลยจะเคยใจ |
ฉวยไม้ตีต้อนตลบมา |
ขวับขวับยับแตกตลอดหลัง |
ศรีมาลาแอบบังข้างคุณย่า |
ทองประศรีร้องอึงมึงอย่ามา |
ปากกล้าไม่กลัวจนผัวตี |
แปรดแปร้นแสนถ่อยน้อยไปฤๅ |
น่ามัดมือโยงเฆี่ยนให้เป็นผี |
ผัวว่ากลับเถียงเปรี้ยงเปรี้ยงดี |
ถีบทำย่ำยีออสร้อยฟ้า |
แกผลักไสว่าออไวยเอาอิกเหวย |
ชุมพลว่าอย่าเลยคุณพี่ขา |
ลุกถลันกั้นพี่ศรีมาลา |
พระไวยไล่หวดมาจนย่อยยับ |
ตีถูกศรีมาลาก็หลายหน |
ถูกชุมพลน้องชายก็หลายขวับ |
ศรีมาลาวิ่งร้องเข้าห้องลับ |
ทองประศรีเต้นหรับระงมไป |
พลางอุ้มชุมพลมาด่าอึงบ้าน |
มาตีหลานหลานกูทำไมให้ |
เมียมึงหึงกันสนั่นไป |
ไยไม่ตีกันอ้ายจันเคอะ |
อ้ายชาติชั่วกลัวเมียเสียน้ำหน้า |
อ้ายบ้าโสมมอ้ายจมเปรอะ |
หลับหูหลับตาอ้ายบ้าเฟอะ |
งมเงอะเปล่าเปล่าอ้ายเมาเมีย |
ฟักฟูมอุ้มหลานมาอาบน้ำ |
ช่างระยำหลังไหล่ดังไก่เขี่ย |
อ้ายจองหองตีน้องประชดเมีย |
น้ำตาเรี่ยบ่นพร่ำแกร่ำไร |
อุ้มหลานเข้าห้องยิ่งหมองช้ำ |
ดูชุมพลระยำทั้งหลังไหล่ |
แกปลอบเช็ดน้ำตาพลางทาไพล |
แล้วพาขึ้นเตียงใหญ่เข้านิทรา ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพลายชายชุมพล |
ขึ้นบนเตียงนอนกับท่านย่า |
พอพลบค่ำย่ำแสงสนธยา |
นิ่งนึกตรึกตราให้ตรอมใจ |
โอ้ว่าพี่ไวยของน้องเอ๋ย |
ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ |
เข้ากับพี่สร้อยฟ้าพาเชือนไป |
เขาใส่ไคล้กล่าวเท็จทุกสิ่งอัน |
ไม่ถามไถ่ไปเชื่อแต่คนผิด |
น้องนี้คิดสงสัยให้นึกพรั่น |
เห็นจะถูกเสน่ห์เล่ห์กลมัน |
ดูหน้าฝ้านั้นออกมอมมัว |
อนึ่งพี่ศรีมาลายาใจ |
พี่ไวยรักใคร่มิใช่ชั่ว |
ยังถูกหวายออกลายไปทั้งตัว |
คุณย่าก็ยังยั่วให้ตีรัน |
แต่เมียรักเขายังสักเอาด้วยหวาย |
เป็นน้องฤๅจะไม่ลายตลอดสัน |
แล้วก็ใช่พี่น้องท้องเดียวกัน |
เขาจะรักเรานั้นสักเพียงไร |
ถ้าขืนอยู่คงเป็นหมูสำหรับแล่ |
จะไปหาพ่อแม่ให้จงได้ |
สองคนกับกุมารจะซานไป |
คงเดินไพรไปถึงกาญจน์บุรี |
คิดพลางทางกลั้นซึ่งโศกไว้ |
ทำกอดจูบลูบไล้ทองประศรี |
เนื้อคุณย่าอ่อนละมุนดังสำลี |
วันนี้หลานรักจักไสยา |
ดูน่าชมสมบุญขึ้นล้ำเลิศ |
เล่านิยายไปเถิดคุณย่าขา |
ทองประศรีหัวร่อพ่อนี่นา |
นอนเถิดย่าจะเล่าให้เจ้าฟัง |
เอาเรื่องไชยเชฐเถิดฤๅเหวย |
เป็นกะไรมิรู้เลยลืมไปมั่ง |
กูจำได้แต่เมื่อไปอยู่ป่ารัง |
เมียออกลูกข้างหลังกลายเป็นแมว |
เอ๊ะผิดแล้วพ่อต่อจะมิใช่ |
กูหลงเล่อเพ้อไปแล้วหลานแก้ว |
ไม่ได้ดูเขาเล่นงานมานานแล้ว |
จะเป็นแมวฤๅท่อนไม้ไม่รู้เลย |
พลายชุมพลหัวร่อยอคุณย่า |
เพราะหนักหนาย่าเล่าแม่เจ้าเอ๋ย |
ทองประศรีกอดจูบลูบชมเชย |
แล้วก็เลยหลับกรนอยู่บนเตียง ฯ |
๏ เจ้าพลายน้อยนอนระวังฟังสดับ |
เห็นย่าหลับเงียบเซียบสงัดเสียง |
ค่อยเขยื้อนเลื่อนลุกขึ้นมองเมียง |
แสงตะเกียงแก้วกระจ่างสว่างตา |
ให้โศกแสนเสียใจจะไปจาก |
น้ำตาพรากพร่างพรายทั้งซ้ายขวา |
ถอดปะหล่ำกำไลสร้อยเสมา |
ที่คุณย่าจัดแจงให้แต่งตัว |
กำไลเท้าสองข้างง้างเสียสิ้น |
แล้วถอดปิ่นปักจุกออกจากหัว |
พิศดูสิ่งของยิ่งหมองมัว |
แม้นติดตัวไปเดี๋ยวนี้จะมีภัย |
เอาสิ่งของกองกับปลายตีนย่า |
ซบหน้าลงแล้วก็ร้องไห้ |
โอ้มีกรรมจำเป็นจะจากไป |
ด้วยเจ็บใจเหลือที่จะทนทาน |
จะพึ่งบุญคุณย่าอยู่ที่นี่ |
พี่ไวยโบยตีข่มเหงหลาน |
จึงจำจากดั้นเดินดงกันดาร |
ขึ้นไปกาญจน์บุรีบอกบิดา |
๏ เจ้าประคุณทูนหัวของหลานแก้ว |
ตื่นขึ้นแล้วจะหลงร้องเรียกหา |
ไม่เห็นหายก็จะฟายฟูมน้ำตา |
เจ้าก็กอดตีนย่าสะอื้นไป |
จนแซ่เสียงไก่ขันกลั้นสะอื้น |
กลับจะรู้สึกตื่นไม่หนีได้ |
ลงจากเตียงเมียงมองมาห้องใน |
ประจงใส่เสื้อสีกางเกงแดง |
กระหมวดจุกผูกผ้าประเจียดรัด |
คาดเข็มขัดผูกเครื่องดูเข้มแข็ง |
ถือกฤชน้อยค่อยย่องไม่เหยียบแรง |
แอบแฝงย่องออกมานอกชาน |
เข้าในเรือนพี่ศรีมาลา |
เห็นนิทราหลับใหลให้สงสาร |
จะปลุกขึ้นอำลาจะช้าการ |
ค่อยแหวกม่านนั่งเคียงบนเตียงนอน |
เจ้ากราบตีนศรีมาลาน้ำตาตก |
ระกำอกสะอึกสะอื้นอ้อน |
โอ้มีกรรมจำใจจะจากจร |
ค่อยอยู่ก่อนเถิดหนาจะลาไป |
สงสารพี่อยู่เดียวจะเปลี่ยวจิตร |
เขาจะพาลผิดตีด่าไม่ปราศรัย |
จะซูบผอมตรอมตรมระกำใจ |
น้องจะไปลับพี่วันนี้แล้ว |
โอ้รู้สึกจะสะอึกสะอื้นหา |
ด้วยได้เคยเห็นหน้าแต่น้องแก้ว |
เขาโบยตีพี่น้องยังเป็นแนว |
น้องคิดแล้วแสนแค้นแน่นอุรา |
ถึงอยู่ด้วยช่วยพี่ก็มิได้ |
จะรีบไปบอกพ่อลงมาหา |
แล้วอัดอั้นกลั้นสะอื้นกลืนน้ำตา |
ลุกออกมาห้องกลางสว่างไฟ |
เห็นขนมนมเนยในพานน้อย |
ชะรอยพี่ศรีมาลาหาไว้ให้ |
จะได้กินกลางทางในกลางไพร |
แล้วหยิบใสไถ้ออกมานอกเรือน |
ฝ่ายผีที่ชื่อกุมารทอง |
เดินเรียงเคียงน้องไปเป็นเพื่อน |
ฟ้ากระจ่างแจ่มแจ้งด้วยแสงเดือน |
ลงจากเรือนรีบรัดเดินลัดแลง |
มาถึงหนทางที่กลางทุ่ง |
พอย่ำรุ่งพระอุทัยเธอไขแสง |
ต้องละอองน้ำค้างที่กลางแปลง |
ค่อยมีแรงรีบเดินดำเนินไป |
กุมารทองนำน้องเข้าในป่า |
ร่มพฤกษายางยูงสูงไสว |
เจ้าพลายน้อยค่อยคลายสบายใจ |
ก็หมายไปยังบ้านกาญจน์บุรี ฯ |
๏ ขอเงือดงดบทพลายชุมพลก่อน |
จะกล่าวกลอนถึงท่านย่าทองประศรี |
หลับสนิทนิทราในราตรี |
พอไก่ตีปีกขันสนั่นดัง |
แกฝันว่าเสือใหญ่ไล่กระโชก |
มันโดดโฮกเข้าตบขบเอาหลัง |
สะดุ้งดิ้นโดนเตียงเสียงดังตัง |
ร้องโอยดังขึ้นทั้งหลับกลับฟื้นกาย |
แกลืมตาขึ้นดูรู้ว่าฝัน |
ยังนึกกลัวตัวสั่นมิใคร่หาย |
เหลียวซ้ายแลขวาหาหลานชาย |
ไม่เห็นพลายน้อยนึกอนาถใจ |
ลุกขึ้นมาร้องเรียกพลายชุมพล |
นี่มันลุกซุกซนไปข้างไหน |
แกบ่นพลางทางแลเห็นกำไล |
กับใบไม้ปิ่นซ่นสร้อยเสมา |
เห็นข้าวของกองกับปลายตีนเตียง |
ตกใจพ่างเพียงจะสังขาร์ |
ชะรอยหลบหนีไปพ่อไม่ลา |
โอ้พ่อทูนหัวย่านี่อย่างไร |
แล้วแกเที่ยวค้นคว้าหาไม่เห็น |
ฤๅตื่นนอนซ่อนเร้นอยู่ที่ไหน |
แกลุกลงจากเตียงเสียงโผงไป |
ร้องเรียกข้าไทอยู่วุ่นวาย |
เหวยอีมีอีเม้าอีเถ้าโต |
ทั้งอ้ายโพแม่มึงช่างนอนสาย |
เอามาเฆี่ยนเสียมั่งให้หลังลาย |
อ้ายฉิบหายตายโหงโก้งโค้งนอน |
พวกข้าไทได้ยินเสียงท่านย่า |
ตื่นตกใจคว้าหาผ้าผ่อน |
ลุกขึ้นกึกกักชักลิ่มกลอน |
ยังมัวนอนเยี่ยมหน้าออกมาดู |
ทองประศรีชี้หน้าด่าเสียงแซ่ |
ชกโคตรแม่มึงยังออกมายืนอยู่ |
พลายชุมพลหนีไปก็ไม่รู้ |
ไปเที่ยวหาหลานกูเร็วเร็วมา |
ข้าคนอลหม่านทั้งบ้านช่อง |
บ้างก็ร้องตระโงนตะโกนหา |
บ้างวิ่งไปไต่ถามตามวัดวา |
ไม่พบแล้วกลับมาบอกกับนาย |
ทองประศรีตีอกสะอื้นไห้ |
แกเสียใจเป็นลมจนล้มหงาย |
ข้าไทชายหญิงวิ่งวุ่นวาย |
เข้าแก้ไขให้คลายฟื้นกายมา ฯ |
๏ ฝ่ายสร้อยฟ้าพระไวยนอนในห้อง |
เสียงคนร้องกรีดกราดหวาดผวา |
คิดว่าไฟไหม้ชิดติดหลังคา |
ลุกขึ้นคว้าข้าวของร้องอึงไป |
พัลวันกันออกนอกประตู |
แลดูหาเห็นไฟไหม้ไม่ |
เห็นคนบนนอกชานวิ่งพล่านไป |
ถามว่าใครเป็นไรวิ่งวุ่นวาย ฯ |
๏ ทองประศรีชี้หน้าด่าพระไวย |
อ้ายอัปรีย์อีจัญไรนอนจนสาย |
เพราะเมียมึงหึงหวงกันวุ่นวาย |
พลอยออพลายต้องตีจึงหนีไป |
ยังจะแค่นมีหน้าออกมาถาม |
โคตรแม่มึงไปตามมาให้ได้ |
ไม่ได้หลานกูมาอย่านึกไป |
กูจะต่อยหัวให้ลงเป็นเบือ |
แล้วบ่นด่าหลานสะใภ้พิไรร่ำ |
มันก่อกรรมเพราะอีลาวอีชาวเหนือ |
ทั้งคารมแปร้นเปรี้ยงจนเสียงเครือ |
ล้วนหน้าเนื้อใจเสือไม่เชื่อเลย |
แล้วครวญคร่ำร่ำไห้พิไรบ่น |
โอ้พ่อพลายชุมพลของย่าเอ๋ย |
พ่ออยู่บ้านปานฉะนี้ได้ชมเชย |
กลางวันเคยวานไหว้ให้ปั้นวัว |
เคยวิ่งเล่นเย็นเช้าเสียงแจ้วแจ้ว |
วันนี้เงียบเสียงแล้วพ่อทูนหัว |
ย่าจะอยู่ไปไยให้หมองมัว |
แกทอดตัวกลิ้งเกลือกกลางนอกชาน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมพระหมื่นไวย |
เห็นย่าร้องไห้ก็สงสาร |
จึงจับยามตามตำราพระอาจารย์ |
วันอังคารเศษเสาร์เข้ายามจันทร์ |
จะไปดีมาดีมิเป็นไร |
จะพานพบท่านผู้ใหญ่เกษมสันต์ |
จึงเข้าไปไหว้ย่าแล้วว่าพลัน |
พ่อพลายนั้นหลานเห็นไม่เป็นไร |
พิเคราะห์ดูฤกษ์ยามตามตำรา |
ในฝอยว่าจะไปอยู่กับผู้ใหญ่ |
หล่อนรำลึกถึงแม่นั้นแน่ใจ |
เห็นจะไปยังบ้านกาญจน์บุรี |
สิบห้าวันนั้นแลจะรู้ข่าว |
จะอื้อฉาวไปไยไม่พอที่ |
ใครจะทำอะไรได้นั้นไม่มี |
ไม่ช้าทีหน่อยหนึ่งก็กลับมา ฯ |
๏ ทองประศรีนิ่งนั่งฟังพระไวย |
ค่อยคลายใจเห็นจริงแล้วจึงว่า |
เอ็งสิรู้ดูยามตามตำรา |
แม้นเหมือนว่าจะค่อยหายวายทำวน |
ถ้าสับปลับกับกูดูไม่แน่ |
โคตรแม่มึงจะลงเป็นห่าฝน |
หลานกูยังเด็กเล็กกว่าคน |
ไปดั้นด้นเดินดงสันโดษเดียว |
เสือสางกลางดงมันปี้บป๊าบ |
จะหวั่นวาบวังเวงไม่วายเสียว |
ที่ทุ่งนาหญ้าดงออกรกเรี้ยว |
ทั้งงูเงี้ยวชุมชุกทุกประการ |
แกบ่นพลางทางกลับเข้าห้องใน |
เห็นข้าวของก็ยิ่งให้อาลัยหลาน |
เอาเชือกน้อยร้อยเบี้ยเข้าบนบาน |
ทุกโรงศาลผีสางสิ้นทั้งปวง |
จงพิทักษ์รักษาหลานข้าเจ้า |
ทั้งเป็ดไก่เหล้าข้าวจะบวงสรวง |
ศีรษะหมูคู่หนึ่งไม่ล่อลวง |
แล้วทำบ่วงห้อยเบี้ยไว้หัวนอน |
เช้าเย็นเป็นทุกข์ถึงหลานน้อย |
ยิ่งเศร้าสร้อยส้วมสอดกอดแต่หมอน |
พระสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน |
แกอาวรณ์ร้องไห้ไม่วายวัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้าพลายชายชุมพล |
ดั้นด้นเดินป่าพนาสัณฑ์ |
พอเข้าเขตบุรีศรีสุพรรณ |
กุมารนั้นก็กลายเป็นเด็กน้อย |
ชวนพูดเล่นเป็นเพื่อนพลายชุมพล |
ทั้งสองคนเดินตามกันร่อยร่อย |
พระสุริฉายบ่ายแสงลงอ่อนคล้อย |
เจ้าพลายสร้อยเศร้าโศกแสนคะนึง |
โอ้สงสารท่านย่านิจจาเอ๋ย |
จะวายเวยร้องไห้อาลัยถึง |
ที่ในบ้านปานนี้จะมี่อึง |
โกรธขึ้งถุ้งเถียงกันทั้งเรือน |
โอ้เอ็นดูแต่พี่ศรีมาลา |
น้องจากมาแล้วจะได้ใครเป็นเพื่อน |
ชาวบ้านปานฉะนี้จะเยี่ยมเยือน |
พี่เคยเตือนเกล้าจุกทุกเวลา |
เคยอาบน้ำทาขมิ้นให้กินอยู่ |
ความเอ็นดูน้องรักเป็นหนักหนา |
ถึงเป็นพี่สะใภ้ไม่ฉันทา |
เหมือนมารดาเลี้ยงน้องถนอมใจ |
กรรมเอ๋ยกรรมจำพรากให้จากพี่ |
ขณะนี้เห็นจะนั่งน้ำตาไหล |
จะแลลับนับวันจากกันไป |
เดินร้องไห้ครวญครางมากลางดง ฯ |
๏ กุมารทองเห็นน้องโศกสะอื้น |
แกล้งชวนชื่นชมไม้ไพรระหง |
ต้นตุมกากาฝากฝูงกาลง |
กาหลงกามองร้องกากา |
โน่นไม้คางข้างเขาล้วนเหล่าค่าง |
บ้างเกาคางห่มคางบ้างถ่างขา |
ตะลิงปลิงลิงวิ่งไล่ลิงมา |
ลิงถลาโลดไต่ไม้ลางลิง |
หมู่ไม้ใหญ่ยางยูงสูงระดะ |
ดูเกะกะเถาวัลย์ขึ้นพันกิ่ง |
บ้างกลมเกลียวเกี่ยวกันขันจริงจริง |
บ้างเป็นชิงช้าป่าน่าแกว่งไกว |
กุมารทองชวนน้องขึ้นนั่งเล่น |
ลมพัดเย็นเย็นร่มไม้ใหญ่ |
กินขนมนมเนยเลยชื่นใจ |
แล้วรีบไปจากนั่นตะวันเย็น |
เห็นไก่ป่าพากันสกัดวิ่ง |
เอาดินทิ้งไล่ทุบตะครุบเล่น |
พอพลบค่ำน้ำค้างพร่างกระเซ็น |
เดือนเด่นดวงสว่างกระจ่างตา |
ดาวกระจายรายรอบเรืองระยับ |
ดาษประดับในละแวกพระเวหา |
กุมารทองนำน้องดำเนินมา |
แล้วพูดจาชวนชี้ให้ชมเดือน |
ดูพระจันทร์นั่นแน่น้องเธอทรงกลด |
ดูเหมาะหมดไม่มีสิ่งใดเหมือน |
พ่อโตใหญ่ไปข้างหน้าหาแม่เรือน |
ให้ดวงหน้าเหมือนอย่างเดือนแล้วดีจริง |
เจ้าพลายว่าข้าจะเป็นสังฆราช |
ไม่อยากปรารถนาหาผู้หญิง |
มีเมียงามแล้วผู้ชายมันหมายชิง |
ต้องยุ่งยิ่งหยุกหยิกไม่อยากมี |
ต่างหัวร่อต่อกันทั้งสองข้าง |
ค่อยเสื่อมสร่างโศกเศร้าที่หมองศรี |
ครั้นจะร่ำพรรณนาจะช้าที |
มาถึงบ้านกาญจน์บุรีพอรุ่งราง |
กุมารทองนำน้องมาตามถนน |
เห็นผู้คนบ้านช่องทั้งสองข้าง |
เห็นจวนท่านกาญจน์บุรีชี้บอกพลาง |
ที่เรือนใหญ่ไม้กระถางตั้งอ่างปลา |
เรือนแม่แก้วกิริยาพ่อขุนแผน |
จำได้แม่นมั่นคงตรงไปหา |
บอกแล้วหายไปมิได้ช้า |
พลายชุมพลเดินมาตามหนทาง |
ตรงขึ้นเรือนใหญ่มิได้ยั้ง |
เห็นพ่อแม่ออกนั่งอยู่หอขวาง |
วิ่งเข้ากราบไหว้ร้องไห้พลาง |
ช่างทิ้งขว้างลูกไว้ให้ได้อาย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนศักดา |
กับนางแก้วกิริยาก็ใจหาย |
พลางเข้าส้วมสอดกอดลูกชาย |
ดูพ่อพลายบุกป่ามาทำไม |
คุณย่าขอพ่อไว้ในกรุงศรี |
เออนี่มิเคืองเข็ญเป็นไฉน |
จึงแกล้วกล้าสามารถมาเดินไพร |
อย่าร้องไห้บอกพ่อจะขอฟัง ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพลายชายชุมพล |
เล่าความแต่ต้นมาจนหลัง |
คุณย่าเลี้ยงลูกไว้ไม่ชิงชัง |
ท่านรักดังดวงตาไม่อาธรรม์ |
มาเป็นเหตุเพราะนางลาวเจ้าเสน่ห์ |
ทำโว้เว้ว้าวุ่นให้หุนหัน |
พี่สร้อยฟ้าศรีมาลาทะเลาะกัน |
พี่ไวยนั้นไปเข้าข้างเมียน้อย |
โบยตีศรีมาลาถึงสาหัส |
สารพัดหลังไหล่ก็ยับย่อย |
ลูกขอโทษศรีมาลาเขาว่าพลอย |
หวดเอาหลังยังเป็นรอยอยู่นี่แน |
ลูกสุดแสนแค้นใจในเท่านี้ |
จึงด้นหนีขึ้นมาหาพ่อแม่ |
เพราะพี่ไวยคุณย่าพากันแช |
ไม่มีใครที่จะแก้ให้คลายมนตร์ |
อันเกิดเหตุเภทภัยนั้นใหญ่อยู่ |
กุมารทองเขารู้ซึ่งเหตุผล |
เอาไว้ช้าข้าเห็นไม่เป็นคน |
มันเป็นต้นเพราะอีลาวทั้งบ่าวนาย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสงคราม |
ได้ฟังความแค้นใจมิใคร่หาย |
ทุดอ้ายหมื่นไวยมิใช่ชาย |
ช่างงมงายโง่เง่าเหมือนเต่านา |
ความรู้กูก็ให้ไว้ทุกสิ่ง |
ยังแพ้รู้ผู้หญิงให้ขายหน้า |
แล้วยังซ้ำโบยตีศรีมาลา |
พระพิจิตรบิดาจะน้อยใจ |
เมื่อกูจะมาจากได้ฝากฝัง |
น้อยฤๅยังมาเป็นเช่นนี้ได้ |
อีสร้อยฟ้าเจ้ากรรมทำอย่างไร |
กุมารทองไปไหนไม่บอกกู ฯ |
๏ ผีกุมารทองได้ฟังขุนแผนถาม |
เข้ากระซิบบอกความที่ริมหู |
สร้อยฟ้าให้อีไหมไปหาครู |
เป็นเถรอยู่ที่วัดพระยาแมน |
ชื่อเถรขวาดอาคมของเขาขลัง |
มันปั้นรูปรอยฝังทำเหลือแสน |
จึงเกิดเข็ญเป็นเรื่องให้เคืองแค้น |
ขอเชิญพ่อขุนแผนรีบลงไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน |
ให้สงสารศรีมาลาน้ำตาไหล |
ออไวยไม่พอที่นี่อย่างไร |
ประมาทใจให้มันทำจนเมามัว |
จำจะลงไปหาว่ากล่าวเสีย |
แก้กระทำยำเยียให้ยังชั่ว |
จะจับอ้ายคนร้ายให้ได้ตัว |
ทูลให้ไปตัดหัวตะแลงแกง |
แต่ตรองตรึกนึกสะท้อนถอนจิตร |
พระอาทิตย์ส่องฉายขึ้นสายแสง |
แต่บรรดาข้าไทก็จัดแจง |
ต้มแกงแต่งสำรับแล้วยกมา |
ขุนแผนชวนเมียกับลูกแก้ว |
กินข้าวปลาเสร็จแล้วก็หรรษา |
ลุกลงไปนั่งยังศาลา |
กรมการพร้อมหน้าปรึกษาความ |
อ้ายพวกขโมยควายผู้ร้ายซัด |
ไม่ได้สัตย์ผูกเข้าแล้วเฆี่ยนถาม |
ที่หลบลี้หนีหายให้ติดตาม |
ปรึกษาความสารพัดเป็นสัตย์ธรรม์ ฯ |
๏ ครานั้นนางแก้วกิริยา |
เห็นหน้าตาพลายน้อยนั้นโศกศัลย์ |
ทั้งจุกไรก็มิได้ทาน้ำมัน |
นางรับขวัญลูกแก้วแล้วเชยชม |
ให้อาบน้ำทาขมิ้นกินข้าวของ |
พาเข้าไปในห้องแล้วเกล้าผม |
เจ้ามาแม่สบายคลายอารมณ์ |
จะได้ชมลูกชายสบายใจ |
เมื่อแรกย่าว่าขอเจ้าไปเลี้ยง |
แม่เกี่ยงอยู่หาใคร่จะให้ไม่ |
แต่พ่อเจ้าเขาให้ก็จนใจ |
ต้องจำใจจึงพรากจากเจ้ามา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าชุมพล |
เห็นได้ช่องชอบกลแล้วจึงว่า |
อันพี่น้องพวกพ้องของบิดา |
อยู่กรุงศรีอยุธยายังเต็มไป |
อันญาติพวกพ้องของคุณแม่ |
ไม่มีแต่สักคนนี่เป็นไฉน |
ฤๅอยู่ต่างถิ่นฐานบ้านเมืองไกล |
ฤๅว่าไม่มีแล้วแต่สักคน ฯ |
๏ โอ้ลูกเอ๋ยยังอุตส่าห์มาไต่ถาม |
เพราะไม่แจ้งเนื้อความตามเหตุผล |
แม่นี้ลำบากด้วยยากจน |
จะเล่าเรื่องเบื้องต้นให้เจ้าฟัง |
คุณตาเป็นพระยาสุโขทัย |
ต้องเร่งเงินพินัยห้าสิบชั่ง |
เขาจำไว้ในทิมที่ริมคลัง |
ได้ส่งไปแล้วยังสิบห้าตำลึง |
เอามารดามาขายขุนช้างไว้ |
ต้องลำบากยากไร้อยู่ปีครึ่ง |
เขาช่วงใช้ตรากตรำทำสะดึง |
พ่อเจ้าจึงช่วยไถ่ได้แม่มา |
อันพี่น้องของแม่เป็นไหนไหน |
แต่อยู่เมืองสุโขทัยไกลหนักหนา |
แม่รำลึกนึกอยู่ทุกเวลา |
ถึงคุณยายคุณตาของพ่อพลาย ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพลายชายชุมพล |
ฟังแม่เล่าความต้นก็ใจหาย |
นิจจาเอ๋ยตกยากมามากมาย |
ต้องแยกย้ายจากญาติอนาถนัก |
ค่ำวันนี้จะหนีขึ้นไปหา |
ให้คุณยายคุณตาท่านรู้จัก |
แล้วแกล้งทำพูดจาให้น่ารัก |
ขึ้นนั่งตักพร่ำพลอดฉอดฉอเลาะ |
ทำชะอ้อนวอนว่าลูกเปรี้ยวปาก |
ช่วยเคี้ยวหมากให้สักคำทำปะเหลาะ |
ฉันจะขับเสภาว่าให้เพราะ |
ต่างหัวเราะชอบใจกันไปมา |
ครั้นพระสุริยงลงลับไม้ |
พระจันทร์ไขแสงสว่างกลางเวหา |
นอนบนเตียงเคียงกันกับมารดา |
ทำหลับตานิ่งไปไม่กระพริบ |
จนดึกดื่นเดือนเที่ยงเสียงไก่ขัน |
คนทั้งนั้นหลับเงียบไม่เกรียบกริบ |
เรียกกุมารมาพูดกันซุบซิบ |
ขยับหยิบกฤชน้อยมาเหน็บไว้ |
แล้วกราบเท้ามารดาน้ำตาพราก |
ลูกจะจากแม่แล้วยังหลับใหล |
จะบอกแม่กลัวแต่จะขืนใจ |
จึงจำเป็นหนีไปไม่ทันลา |
โอ้ว่าเจ้าประคุณของลูกแก้ว |
ตื่นแล้วจะโศกเศร้าเฝ้าโหยหา |
ลูกไม่ไปไหนจะพบคุณยายตา |
ก็หักใจไคลคลามาจากเตียง |
ชวนกุมารร่วมใจมาไปเถิด |
ค่อยเปิดประตูย่างออกทางเฉลียง |
ลงมากลางบ้านกุมารเคียง |
ค่อยหลีกเลี่ยงลอดออกมานอกรั้ว |
เดินลัดตัดทางถึงกลางทุ่ง |
พอย่ำรุ่งเช้ามืดขมุกขมัว |
อันสิงห์เสือเนื้อถึกไม่นึกกลัว |
เย้ายั่วหยอกกับกุมารไป ฯ |
๏ ฝ่ายว่าท่านผู้หญิงแก้วกิริยา |
ครั้นเวลารุ่งแจ้งขึ้นแสงใส |
เสียงนกร้องพร้องเรียกสนั่นไพร |
วิเวกใจแว่วหวาดในวิญญาณ์ |
กอดแต่หมอนอ่อนอุ่นอกประทับ |
กำลังหลับคิดว่าลูกเสนหา |
พอตื่นขึ้นแลเหลียวเปลี่ยวอุรา |
ไม่เห็นหน้าพลายน้อยอนาถใจ |
หายทั้งเสื้อผ้าสาตรากฤช |
เอ๊ะผิดแล้วพ่อพลายหายไปไหน |
นางลุกเดินออกมาถามข้าไท |
ใครใครก็ไม่รู้ทุกผู้คน |
กลับเข้าห้องในใจคอหาย |
ไปปลุกท่านผู้ชายแจ้งเหตุผล |
คืนนี้ลูกชายพลายชุมพล |
นอนอยู่บนเตียงแล้วก็หายไป ฯ |
๏ ขุนแผนฟังเมียให้หวาดจิตร |
เอ๊ะนี่ผิดแล้วหล่อนจะไปไหน |
จึงจับยามตามเคยสังเกตใจ |
คืนนี้ไปยามจันทร์วันอังคาร |
ในตำราว่าอัมฤคโชค |
ไม่มีโศกจะเป็นสุขสนุกสนาน |
จะพานพบท่านผู้ใหญ่ในวงศ์วาน |
ไม่ช้านานก็จะมาเห็นหน้ากัน |
พิเคราะห์พลางทางบอกกับเมียแก้ว |
พี่จับยามดูแล้วอย่าโศกศัลย์ |
กุมารทองให้ไว้ไปด้วยกัน |
สารพันเภทภัยไม่แผ้วพาน |
บุราณว่าชาติเชื้อเนื้อแถว |
คงเป็นแนวน้ำเนื้อเชื้อทหาร |
เติบใหญ่เห็นจะได้ราชการ |
อย่าเป็นภารธุระทุกข์ถึงลูกเรา |
พี่คะเนในใจเห็นไม่ช้า |
ก็จะพาลูกสะใภ้มาให้เจ้า |
พลางหัวเราะเยาะหยอกยั่วเย้า |
ให้นางแก้วสร่างเศร้าถึงลูกยา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้าพลายชายชุมพล |
สองคนกับกุมารมาในป่า |
แสนระลึกนึกถึงบ้านกับมารดา |
เดินน้ำตาคลอคลอให้ท้อใจ |
ในทางมาป่าไม้ล้วนไพรชัฏ |
กิ่งก้านแกว่งกวัดกระหวัดไหว |
เจ้าเดินพลางวังเวงวิเวกใจ |
ขืนอารมณ์ชมไม้มาตามทาง |
ชะลูดเลี้ยวเกี้ยวกอดกิ่งอุโลก |
ซึกซากโศกสนสร้อยแคฝอยฝาง |
ต้นยูงสูงใหญ่ไทรมะทราง |
ต้นยางโยนเยนอยู่ยวบโย้ |
นกหกบินสล้างในกลางเถื่อน |
บ้างพาเพื่อนเที่ยวคะนองบ้างร้องโต้ |
นกแก้วป้อนลูกบนต้นชงโค |
แล้วบินโผพูดจ้ออยู่จอแจ |
ดูแม่นกแล้วคะนึงถึงคุณย่า |
เคยพูดเล่นเจรจาประจ๋อประแจ๋ |
ฝูงนกเอี้ยงเรียงจับต้นแกแล |
เหมือนหม่อมแม่เคียงเราเฝ้าชมเชย |
เห็นนกเปล้าจับเจ่าเปล่าเปลี่ยวอก |
โอ้โอ๋นกเหมือนข้านิจจาเอ๋ย |
ต้องเดินเดียวเปลี่ยวใจไม่เสบย |
ทุกสิ่งเคยผาสุกมาทุกข์ตรอม |
กุมารทองเข้าประคองปลอบน้องรัก |
อย่าโศกนักเลยพ่อพลายจะผ่ายผอม |
โน่นลูกจันทน์ดกจริงจนกิ่งค้อม |
ชวนน้องน้อมเด็ดดมชมมาพลาง |
ครั้นจะร่ำไปนักก็ชักช้า |
ด้วยผีพารีบรัดไม่ขัดขวาง |
ครั้นสายัณห์หยุดหย่อนลงนอนค้าง |
ในกลางทางเภทภัยไม่แผ้วพาน |
สามวันครั้นถึงเมืองสุโขทัย |
เสียงชาวเหนือเกื๋อไก๋ไปทุกบ้าน |
แลเห็นจวนเจ้าพระยาฝากระดาน |
ผีกุมารบอกพลายชุมพลพลัน |
เรือนที่แขวนกรงนกหกเจ็ดหลัง |
ลับแลตั้งปิดประตูดูขึงขัน |
เรือนคุณตาคุณยายพ่อพลายนั้น |
ไปหากันเถิดสิพ่ออย่ารอรั้ง |
บอกแล้วหายไปมิให้เห็น |
กลับเป็นแต่เงาเข้าตามหลัง |
เจ้าพลายขึ้นนอกชานกุมารบัง |
คนที่นั่งแลไปไม่เห็นกาย |
เห็นยายตานั่งอยู่บนหอขวาง |
ขยับร่างรีรอใจคอหาย |
ผีที่มาเป็นเพื่อนเตือนเจ้าพลาย |
คลานเข้าไปไหว้คุณยายกับคุณตา ฯ |
๏ ครานั้นท่านผู้รั้งสุโขทัย |
คิดว่าลูกความใครลอบมาหา |
จะดูให้แน่ใจใส่แว่นตา |
มองเขม้นเห็นหน้าพลายชุมพล |
ไม่เห็นของกำนัลทำหันหุน |
ฉวยไม้หมุนเข้าไปหวดเอาสองหน |
ทุดอ้ายลูกหัวจุกนี้ซุกซน |
ขึ้นมาจนบนเรือนกูทำไม |
ท่านผู้หญิงวิ่งไปยึดไม้ห้าม |
ตาถามดูให้แน่มาแต่ไหน |
ผิดกับเด็กเมืองเราชาวสุโขทัย |
มันชื่อเรียงเสียงไรไล่เลียงดู |
ท่านตาเถ้าคุกคามถามเสียงอึง |
พ่อแม่มึงชื่อไรเฮ้ยอ้ายหนู |
บ้านช่องอยู่ไหนจะใคร่รู้ |
ไม่บอกกูกูจะให้เขาใส่คา ฯ |
๏ เจ้าพลายกลัวตัวงอร้องขอโทษ |
เจ้าคุณโปรดเถิดจะเล่าไม่มุสา |
หม่อมแม่ฉันทั่นชื่อแก้วกิริยา |
ที่ยายตาไปขายขุนช้างไว้ |
เดี๋ยวนี้พ่อขุนแผนแสนณรงค์ |
ให้เงินส่งพ้นข้าเขามาได้ |
จึงเกิดหลานอยู่ที่บ้านวัดตะไกร |
หม่อมแม่ให้ฉันชื่อพลายชุมพล |
ด้วยบิดาได้กินเมืองกาญจน์บุรี |
หลานจึงถามความนี้แจ้งเหตุผล |
ว่าคุณตาเป็นพระยาอยู่เมืองบน |
หลานจึงด้นเดินดงสันโดษมา |
ไม่รู้จักมักจี่อยู่ที่ไหน |
เห็นเรือนชานโตใหญ่เข้ามาหา |
แม้นเจ้าคุณมิใช่เป็นยายตา |
อย่าโกรธาหลานเลยขอโทษตัว ฯ |
๏ ท่านพระยาสุโขทัยยายเพ็ญจันทร์ |
รับขวัญว่าอ่อพ่อทูนหัว |
นี่แหละเรือนยายตาพ่ออย่ากลัว |
อนิจจาตานี้ชั่วจริงจริงแล้ว |
ไม่ซักไซ้ไต่ถามให้ถ้วนถี่ |
มาทำโพยโบยตีเอาหลานแก้ว |
น้อยฤๅหลังยังเห็นอยู่เป็นแนว |
รับขวัญแล้วอุ้มพามาในเรือน |
ร้องเรียกหาข้าไททั้งชายหญิง |
อีมิ่งอีมีแล้วอ้ายเหมือน |
ไปข้างไหนไม่เห็นหน้าพากันเชือน |
พวกผู้คนกล่นเกลื่อนมาพร้อมกัน |
จึงใช้ให้ข้าไทเย็บบายศรี |
ลูกหลานมาถึงนี่จะทำขวัญ |
บรรดากรมการในบ้านนั้น |
มาพร้อมกันถามข่าวทุกคนไป ฯ |
๏ ครั้นพระสุริยนสนธยา |
พอโพล้เพล้เพลาจะเข้าไต้ |
ท่านผู้เถ้าเจ้าเมืองสุโขทัย |
กับญาติวงศ์น้อยใหญ่อยู่พร้อมเพรียง |
ทำขวัญหลานชายพลายชุมพล |
พวกผู้คนโห่ลั่นสนั่นเสียง |
ท่านยายสุกยายสายกับยายเชียง |
เข้านั่งเคียงเรียกขวัญรำพันไป |
ขวัญเอ๋ยขวัญพ่อพลายชายชุมพล |
ที่อยู่ต้นไม้ยูงสูงไม้ใหญ่ |
จะอ้างว้างวังเวงวิเวกใจ |
ขวัญอย่าไปอยู่เขาลำเนาเนิน |
แต่ล้วนผีโป่งป่าคาแขมรก |
ทั้งนกหกหงส์ห่านทะยานเหิน |
ขวัญมาอยู่เรือนเถิดให้เพลิดเพลิน |
ขออัญเชิญขวัญพ่อชมเงินทอง |
อายุยืนหมื่นปีหนาพ่อหนา |
จงอยู่ด้วยยายตาอย่าเศร้าหมอง |
เป็นสังฆราชบาตรแก้วจีวรกรอง |
ถือไม้เท้ายอดทองเที่ยวเทศน์ธรรม์ |
แล้วพี่น้องพ้องญาติสิ้นทั้งหลาย |
เอาเงินตราผ้าลายมาทำขวัญ |
ค่อยอยู่เย็นเป็นสุขทุกคืนวัน |
ตายายนั้นรักใคร่กะไรเลย |
ค่อยซักไซ้ไต่ถามถึงความหลัง |
รู้หนังสือฤๅยังพ่อพลายเอ๋ย |
เจ้าพลายว่าย่าสอนพอถึงเกย |
เพียงละเลยเสียก็เฟือนออกเปื้อนไป |
ท่านยายว่าตาช่วยไปฝากวัด |
จะให้หัดอ่านเขียนเรียนไปใหม่ |
แล้วสอบถามหลานรักเฝ้าซักไซ้ |
เจ้าอยู่วัดยังจะได้ฤๅพ่อคุณ |
เจ้าพลายว่ากระนั้นขยันยิ่ง |
เป็นความจริงฉันคิดอยู่ครุ่นครุ่น |
ฉันจะใคร่ไปบวชเอาส่วนบุญ |
มาเทศนาให้เจ้าคุณฟังทุกวัน |
ท่านยายตาว่าจงเป็นสังฆราช |
ได้โปรดญาติให้ไปสวรรค์ |
ตาจะให้อ้ายพุกลูกอ้ายจัน |
ไปอยู่วัดด้วยกันกับพ่อพลาย |
ให้หาธูปเทียนข้าวตอกดอกไม้ |
กับหมากพลูจะได้ไปถวาย |
แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งหลานชาย |
ให้นุ่งลายห่มแพรม่วงดวงพุดตาน |
ยายเพ็ญจันทร์นั้นนุ่งตารางไหม |
ห่มปักตะนาวใหม่สมภูมิฐาน |
เจ้าขรัวตานุ่งผ้าปูมประทาน |
แล้วหยิบส่านมาห่มสมตัวครัน |
ชวนหลานชายพลายน้อยออกเดินทาง |
ต่างกางร่มปีกค้างคาวกั้น |
บ่าวถือพานทองรองตะบัน |
ตามกันออกไปวัดกระพังทอง |
ถึงกุฎีที่ท่านสังฆราชา |
ถามเจ้าเณรบอกว่าอยู่ในห้อง |
ท่านยายตาพาหลานถือพานทอง |
ค่อยย่างย่องเข้าไปไหว้กราบลง ฯ |
๏ ครานั้นท่านสังฆราชา |
แลมามั่นจิตรว่าศิษย์สงฆ์ |
จึงร้องถามไปด้วยใจจง |
ชีต้นคงฤๅเป็นไรไม่เข้ามา |
ท่านผู้รั้งฟังถามหัวเราะคัก |
ไม่รู้จักผมฤๅเจ้าคุณขา |
ท่านสมภารตกใจใส่แว่นตา |
อ่อโยมพระยาดอกฤๅคิดว่าใคร |
ข้างหลังนั่นทั่นผู้หญิงแล้วสินะ |
กินหมากคะโยมขยดมาให้ใกล้ |
อาตมาขาแข้งมันขัดไป |
จึงมิได้บิณฑบาตยาจนา |
ท่านทั้งสองผ่องแผ้วไม่เจ็บป่วย |
ดูกระชุ่มกระชวยอยู่หนักหนา |
รูปพิศดูโฉมโยมพระยา |
เหมือนจะหาได้อิกสักสองคน ฯ |
๏ ท่านสุโขทัยได้ฟังนั่งหัวร่อ |
จะหาอิกนั้นก็พอไม่ขัดสน |
แต่ท่านยายหึงไม่หยุดเป็นสุดทน |
ทั้งสามคนหัวร่ององอไป |
แล้วผินหน้ามาเรียกให้เจ้าพลาย |
เอาธูปเทียนไปถวายแล้วกราบไหว้ |
ฉันจะเอาหลานยามาฝากไว้ |
จงโปรดให้เรียนธรรมให้ชำนาญ |
เออนี่ลูกใครที่ไหนเล่า |
จึงโยมเจ้าพระยาว่าเป็นหลาน |
ท่านสุโขทัยไหว้กราบแล้วแจ้งการ |
ขอประทานลูกแก้วกิริยา |
เมื่อโยมต้องเร่งเงินพินัยนั้น |
ไปยากอยู่เมืองสุพรรณเป็นหนักหนา |
ขุนแผนเพื่อนรักใคร่ให้เงินตรา |
พากันมาอยู่บ้านวัดตะไกร |
จึงเกิดพลายชุมพลคนนี้ |
เมื่ออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ |
เดี๋ยวนี้เจ้าขุนแผนผู้แว่นไว |
โปรดให้ไปกินเมืองกาญจน์บุรี ฯ |
๏ ท่านสมภารว่าอ่อออทองแก้ว |
มันมีลูกผัวแล้วเจียวฤๅนี่ |
เมื่อกระนั้นท่านพามากุฎี |
ใส่ตุ้มปี่ลงไม่รอดมันทอดทิ้ง |
เมื่อรูปไปบ้านท่านคราวแล้ว |
เห็นออแก้วมันยังผูกกระจับปิ้ง |
ดูคืนวันมันกระชั้นเข้าจริงจริง |
ช่างโตเร็วเจียวยิ่งทั้งหญิงชาย |
นี่ฤๅโฉมพระยากับข้าเจ้า |
มันจะมิแก่เถ้าน่าใจหาย |
แล้วลูบหลังลูบหน้าว่าออพลาย |
ลูกผู้ชายหน้าตาน่าเอ็นดู |
เอ็งอุตส่าห์ร่ำเรียนทั้งเขียนอ่าน |
เป็นทหารเหมือนพ่อเถิดออหนู |
จะให้นอนห้องในใกล้กับกู |
จะได้ดูมันด้วยช่วยระวัง ฯ |
๏ ท่านพระยาสุโขทัยยายเพ็ญจันทร์ |
ต่างรำพันพูดจาแล้วฝากฝัง |
จนจวนสวดมนต์ค่ำย่ำระฆัง |
ก็อำลามายังที่บ้านเรือน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนารีศรีมาลา |
นางโศกาตรอมใจใครจะเหมือน |
แต่พลายน้อยจากไปไม่ถึงเดือน |
เจ้าอยู่เรือนอกร้อนเหมือนนอนไฟ |
เพราะพระไวยไปอยู่กับเมียน้อย |
ย่าก็พลอยด่าว่าไม่ปราศรัย |
จนซูบผอมตรอมตรมระทมใจ |
ร้องไห้ถึงเจ้าพลายชายชุมพล |
โอ้น้องเอ๋ยเคยอยู่เป็นเพื่อนพี่ |
จะร้ายดีพ่อก็แจ้งซึ่งเหตุผล |
เห็นเขาตีพี่แล้วเป็นทำวน |
ช่วยฝนไพลให้ทาน้ำตาคลอ |
ความรักพี่นี้แสนสุดสวาดิ |
จึงสามารถบุกป่าไปหาพ่อ |
จะแจ้งความตามที่เขาด่าทอ |
พี่ห้ามเจ้าเจ้าไม่รออารมณ์เลย |
น่าสงสารปานฉะนี้เจ้าพลายน้อย |
จะเศร้าสร้อยมัวหมองแล้วน้องเอ๋ย |
ไปเดินทางกลางป่าเจ้าไม่เคย |
น้ำค้างเปรยตกต้องจะหมองมอม |
ทั้งจุกไรใครเล่าจะเกล้าสาง |
ที่สำอางกลิ่นอายจะหายหอม |
จะเปลี่ยวอกไปตระกรกตระกรำตรอม |
ถึงบ้านพ่อก็จะผอมลงผิดตา |
โอ้พ่อคุณขุนแผนของลูกแก้ว |
รู้แล้วน่าจะรีบลงมาหา |
นี่คอยหายหลายวันไม่เห็นมา |
ฤๅพ่อลืมศรีมาลาแล้วกระมัง |
อยู่เดียวเหลียวหาใครไม่แลเห็น |
เขาเคี่ยวเข็ญตีโบยระบมหลัง |
ทั้งเรือนนี้มีแต่เขาชิงชัง |
ทุกวันยังแต่ชีวิตจะวางวาย |
ทั้งแม่พ่อเล่าก็อยู่ถึงพิจิตร |
โอ้คิดคิดขึ้นมาน่าใจหาย |
สะอื้นอ้อนอ่อนทอดระทวยกาย |
ไม่เว้นวายวันทุกข์ทรมาน ฯ |
๏ จำจะให้ไปบอกถึงแม่พ่อ |
ลงมาต่อว่ากันให้แตกฉาน |
แม้นหม่อมไวยไม่รักทำหักราน |
จะก้มหน้าไปบ้านบวชเป็นชี |
นางจึงเรียกข้าเก่าชาวพิจิตร |
อ้ายทิดเอ๋ยอยู่ไหนเข้ามานี่ |
อ้ายทิดขานเจ้าขามาทันที |
หม่อมแม่ศรีมาลาเรียกฉันทำไม |
ศรีมาลาว่ากระถดมาให้ชิด |
กระซิบบอกอ้ายทิดแล้วร้องไห้ |
เอ็งเอ็นดูข้าด้วยช่วยขึ้นไป |
บอกพ่อแม่แก้ไขตามปัญญา |
ว่าข้านี้เจ็บไข้ใจจะขาด |
ที่วิวาทตีรันนั้นอย่าว่า |
ช่วยลวงล่อพ่อแม่ให้ลงมา |
เนื้อความใหญ่ไว้ข้าจะบอกเอง ฯ |
๏ อ้ายทิดสงสารนายร้องไห้ด้วย |
หม่อมแม่เหมือนเขาช่วยมาข่มเหง |
ทั้งตีด่าสารพัดไม่ยำเกรง |
ดีฉันเองกับเมียพลอยเสียใจ |
ลูกจะรอดขึ้นไปมิให้วุ่น |
บอกเจ้าคุณสองรามาให้ได้ |
แล้วเดินมาข้างนอกไม่บอกใคร |
จับถุงย่ามใหญ่ใส่ข้าวปลา |
ทั้งหมากพลูบุหรี่มีทุกอย่าง |
ลายฉลางคาดพุงหม้อตุ้งก่า |
ครั้นเสร็จสรรพแล้วจับหอกละว้า |
เอาย่ามใหญ่ใส่บ่ารีบคลาไคล |
ขัดเขมรจังกาตามุ่งหมาย |
หนทางขโมยควายมันจำได้ |
ออกทุ่งโพธิ์สามต้นด้นป่าไป |
ค่ำนอนบนต้นไม้ไหว้คุณครู |
ครั้นเช้ากลับลงมาหาห้วยหนอง |
เอาฟืนกองก่อไฟตั้งหม้อหนู |
แต่พอปลงหม้อข้าวเผาปลาทู |
กินอยู่แล้วก็ไปไม่รั้งรอ |
ครั้นแดดร้อนผ่อนพักชักตุ้งก่า |
เมากัญชางกเงิ่นเดินหัวร่อ |
เสียงแกรกกรากก็กลัวจนตัวงอ |
ใบไม้สวบควบห้อตะบึงไป |
เดินสามวันครึ่งถึงพิจิตร |
เพื่อนทักว่าอ้ายทิดจะไปไหน |
มันแกล้งทำไขหูไม่ดูใคร |
ตรงขึ้นเรือนใหญ่ไม่รอรั้ง |
พระพิจิตรนั่งชิดกับบุษบา |
เห็นพูดจากันจ้อที่หอนั่ง |
เข้าไปทั้งย่ามถุงพะรุงพะรัง |
กราบแล้วนั่งก้มหน้าทำตาปรอย ฯ |
๏ ครานั้นจึงท่านพระพิจิตร |
เห็นอ้ายทิดขึ้นมาทำหน้าจ๋อย |
แกด่าว่าน่าเฆี่ยนสักแปดร้อย |
ดูโคลนคล่อยช่างพาขึ้นมาเลอะ |
นี่อะไรในถุงอ้าวตุ้งก่า |
อ้ายทิดสูบกัญชาจนตาเปรอะ |
มันช่างเมายังค่ำทำหยำเยอะ |
นี่เที่ยวเซอะมาทำไมไอ้ขี้คุก |
ทำไมมึงจึงไม่อยู่กับมุลนาย |
มึงมาเที่ยวขโมยควายหมายสนุก |
เขาจับได้ฤๅหวานำหน้าทุกข์ |
ให้เขาเอาเข้าคุกสาแก่ใจ ฯ |
๏ อ้ายทิดนิ่งนั่งฟังนายด่า |
ทำเกาหัวขยี้ตาแล้วร้องไห้ |
อันวัวควายฉันไม่หมายขโมยใคร |
นายผู้หญิงท่านใช้มากราบท้าว |
ด้วยเดี๋ยวนี้แม่ศรีมาลาเจ็บ |
เนื้อเย็นเป็นเหน็บสะท้านหนาว |
ไม่มีสุขจุกเสียดเป็นคราวคราว |
ให้ลงมดลงท้าวว่าถูกคุณ |
หมอหลวงหมอราษฎร์ออกกลาดเกลื่อน |
มาแน่นเรือนรักษากันว้าวุ่น |
ข้าวปลาไม่กินเห็นสิ้นบุญ |
เชิญฝ่าเท้าเจ้าคุณรีบลงไป ฯ |
๏ พระพิจิตรบุษบาน้ำตาตก |
ตีอกผางผางพลางร้องไห้ |
พ่อทิดเอ๋ยพ่อทิดแม่ผิดใจ |
เป็นอะไรจึงมาเป็นถึงเช่นนี้ |
แล้วเรียกหาข้าคนอลหม่าน |
เหวยอ้ายปานอ้ายเป้าอ้ายเถ้าศรี |
ไปถอยเรือกัญญาออกมาที |
จะลงไปกรุงศรีอยุธยา |
ผู้คนอลหม่านทั้งบ้านช่อง |
ที่ไม่อยู่กู่ก้องตะโกนหา |
บ้างฉวยได้พายถ่อวิ่งสอมา |
ลงถอยเรือกัญญาอยู่วุ่นวาย |
มาจอดท่าหน้าบ้านสะพานใหญ่ |
เอาแคร่ใส่ผูกพนักจักตอกหวาย |
ล้วนชาวเหนือเรือแพไม่เคยพาย |
เกี่ยงกันถือท้ายเอะอะไป |
พวกผู้หญิงริงเรือหอบเสื่อสาด |
ทั้งโต๊ะถาดถ้วยชามรามไหม |
ข้าวสุกข้าวสารเชิงกรานไฟ |
ขนส่งลงไปใส่ข้างท้าย |
พระพิจิตรบุษบาละล้าละลัง |
กำชับสั่งบ่าวไพร่สิ้นทั้งหลาย |
อยู่รักษาเรือนเหย้าเฝ้าวัวควาย |
ทั้งหญิงชายชวนกันหมั่นระวัง |
สั่งพลางทางลงจากเรือนใหญ่ |
อ้ายทิดถือชุดไฟเดินตามหลัง |
ครั้นถึงท่าลงเรือไม่รอรั้ง |
ท่านพระพิจิตรนั่งเอกเขนกไป |
อ้ายทิดโบกมือบอกให้ออกเรือ |
พลพายชาวเหนือเสียงเกื๋อไก๋ |
ยังไม่เคยเลยพ่อพายอย่างไร |
ทำขวักไขว่เกะกะกีดกันเอง |
คนหนึ่งยาวคนหนึ่งไล่ไม่ถนัด |
ข้างหัววาดท้ายคัดตุนัดตุเหน่ง |
น้ำเพรื่อเรือโคลงอยู่โงงเงง |
ไม่เป็นบทเป็นเพลงโก้งเก้งมา |
อ้ายทิดนั่งยองยองร้องเกนเกน |
พลพายเหลือเถนเจ้าคุณขา |
พระพิจิตรถือหวายกรายหวดมา |
อ้ายลูกหมามึงไม่วาดหัวลงไว้ |
พวกบ่าวเห็นนายถือหวายจ้อง |
ลุกขึ้นนั่งยองยองขยุ้มใหญ่ |
อ้ายทิดลุกชะเง้อเออนั่นเป็นไร |
ประเดี๋ยวโดนกอไผ่เข้าต้ำตึง |
โขนพนักหักพับกัญญาย่น |
พระพิจิตรล้มก้นกระแทกผึง |
ลุกขึ้นนิ่วหน้าด่าเสียงอึง |
อ้ายทิดลุกทะลึ่งไปถือท้าย |
แล้วเปลี่ยนผลัดหัดกันมากลางน้ำ |
กว่าจะพร้อมทั้งลำจนเที่ยงสาย |
รีบเร่งเร็วรุดไม่หยุดพาย |
ล่องน้ำตามสบายมากรุงไกร ฯ |