คำอธิบาย

เมื่อพิมพ์หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่มที่ ๑ ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องตำนานเสภา แลอธิบายถึงลักษณการที่ชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวไว้โดยพิสดารมีแจ้งอยู่ข้างต้นสมุดเสภาเล่ม ๑ นั้นแล้ว ไม่จำจะต้องอธิบายถึงข้อความซึ่งเป็นอย่างเดียวกันซ้ำใหม่ในเล่ม ๒ นี้อีก จะกล่าวแต่เฉพาะข้อความซึ่งเล่มนี้แปลก อันสมควรเป็นเครื่องสังเกตของผู้อ่านที่ตรงไหนบ้าง

บทเสภาใน ๒ เล่มนี้ ควรกล่าวอธิบายโดยเฉพาะมีอยู่บางตอน คือ

ตอนที่ ๑๖ เรื่องกำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่ บทที่พิมพ์ในเล่มนี้เป็นของครูแจ้งแต่ง พวกเสภาชอบขับกันแพร่หลายอยู่ แต่เข้าใจว่ายังไม่เคยพิมพ์มาแต่ก่อน เนื้อเรื่องเสภาตอนนี้ตามหนังสือบทเดิมว่าขุนแผนไปเที่ยวหาโหงพรายตามป่าช้า ไปพบผีตายทั้งกลมชื่ออีมากับอีเพชรคง ขุนแผนจึงขอลูกในท้องมาเลี้ยงเป็นกุมารทอง ความเดินสั้นเพียง ๔ หน้ากระดาษ ครูแจ้งเอามาขยายความ ผูกเรื่องให้ขุนแผนไปได้นางบัวคลี่อยู่กินด้วยกันจนมีครรภ์ แล้วเกิดเหตุนางบัวคลี่ตายทั้งกลม ขุนแผนจึงได้กุมารทองมา ว่าโดยย่อ ให้กุมารทองเป็นลูกของขุนแผนจริงๆ พ้นเรื่องกุมารทองถึงเรื่องตีดาบฟ้าฟื้นแลเรื่องซื้อม้าสีหมอกซึ่งมีอยู่ในตอนเดียวกัน ครูแจ้งเป็นแต่แต่งประชันตามเรื่องเดิมตอนตีดาบฟ้าฟื้นแต่งดีทั้งของเดิมแลของครูแจ้ง แต่ของเดิมเอาเรื่องตีดาบไว้ก่อนหากุมารทอง ของครูแจ้งเอาเรื่องตีดาบไว้ทีหลัง ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เป็นบทตอนสำคัญ เพื่อจะไม่ให้ต้องสับบทกันวุ่นวาย จึงเอาบทของครูแจ้งพิมพ์ต่อมาจนตลอดเรื่องตีดาบฟ้าฟื้น แต่เรื่องซื้อม้าสีหมอก เห็นว่าบทเดิมเขาว่าเป็นหลักฐานดี ของครูแจ้งแต่งใหม่สู้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเอาบทเดิมพิมพ์ ขึ้นแต่ว่า “จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ” เป็นต้นไปจนจบตอน

บทเสภาของครูแจ้งตอนนี้ มีถ้อยคำเป็นที่สังเกตสมกับความที่กล่าวกันมา ว่าแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ด้วยใช้คำว่า “ปัศตัน” มีอยู่แห่ง ๑ ที่หน้า ๓๒ บรรทัดที่ ๙ คำนี้หมายความว่า ดินปืนที่หอกระดาษไว้กับกระสุนสำเร็จ สำหรับบรรจุเป็นนัดๆ ใช้กับปืนแก๊บ เช่น ปืนเอนฟิลด์ เป็นต้น เข้าใจว่าพึ่งมีเมื่อรัชกาลที่ ๔

ถ้าว่าโดยส่วนบทกลอนของครูแจ้ง เห็นควรยอมว่าเป็นกวีคน ๑ สมกับที่กล่าวไว้ในคำไหว้ครูว่า “ครูแจ้งแต่งอักษรขจรฦๅ” แต่งดีในกระบวนว่าถึงอัธยาศัยใจคนคนสามัญ แต่ถ้ามีโอกาสมักจะหยาบ ถึงจะหยาบก็ช่างว่า มีในตอนที่ ๑๖ นี้ที่จำต้องตัดออกเสีย ๒ แห่ง ที่ตรงนางสีจันทน์มารดาสอนนางบัวคลี่แห่ง ๑ ตรงอัศจรรย์ขุนแผนเข้าห้องนางบัวคลี่แห่ง ๑

ตอนที่ ๑๗ เมื่อขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างแลเข้าห้องนางแก้วกิริยา ตอนนี้กล่าวกันมาว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ พิเคราะห์ดูสำนวนกลอน เห็นว่ามิใช่สำนวนเดียวตลอดทั้งตอน ถ้าทรงพระราชนิพนธ์ เข้าใจว่าพระราชนิพนธ์เริ่มตั้งแต่ขุนแผนไปถึงบ้านขุนช้าง ขึ้นตรงว่า “มาถึงบ้านขุนช้างเข้ากลางแปลง เป็นเขื่อนแข็งคูรอบขอบโตใหญ่” ไปข้างท้ายตอนนี้ดูเป็นสำนวนอื่นแทรกอยู่หน่อยหนึ่ง ขึ้นตรง “วันทองต้องลมก็ลืมแค้น ท้าวแขนก้มเคียงเข้าเรียงหน้า” พระราชนิพนธ์เห็นจะมาลงเพียง “แสนเอ๋ยแสนคม คารมนี้หย่อนลงแล้วฤๅ” ดูทำนองกลอนเป็นทีสำหรับส่งพิณพาทย์

ตอนที่ ๑๘ เมื่อขุนแผนพานางวันทองหนี ตอนนี้เมื่อพิจารณาไป เข้าใจว่าสำนวนเดียวกับตอนที่ ๑๗ ถ้าตอนที่ ๑๗ เป็นพระราชนิพนธ์ ตอนที่ ๑๘ ก็เห็นจะเป็นพระราชนิพนธ์เหมือนกัน แต่มีสำนวนอื่นอยู่ตรงนางวันทองครวญถึงตัวอยู่ข้างท้าย บทครวญอย่างที่พิมพ์ในเล่มนี้ พบแต่เสภาฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฉบับเดียว ฉบับอื่นๆ นอกจากนั้นบทครวญนี้ว่าแต่สั้นๆ

เสภาตอนที่ ๑๗ ที่ ๑๘ ซึ่งกล่าวมานี้ เกือบจะนับถือกันว่าเป็นยอดของบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นตอนที่คนชอบฟังแลชอบจำกันมากกว่าตอนอื่นๆ เสภาก็ขับกันแพร่หลายมาก พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ไม่ฟังตอนอื่นนอกจากตอนนี้ ได้ถามต่อไปว่าถ้าขับให้ท่านฟังจนขุนแผนลงจากเรือนขุนช้างแล้วทำอย่างไร พระแสนท้องฟ้าบอกว่า ก็ต้องย้อนกลับมาขึ้นเรือนใหม่

เหตุที่ชอบเสภา ๒ ตอนนี้มาก เห็นจะเป็นเพราะใน ๒ ตอนนี้มีทำนองเรื่องประกอบกันหลายกระบวน มีทั้งกระบวนชม กระบวนสังวาส กระบวนตัดพ้อ กระบวนโศก กระบวนตลก กระบวนแค้น รวมอยู่ในตอนนี้ เป็นช่องที่ผู้แต่งจะว่าได้หลายกระบวน และแต่งดีได้ถึงอกถึงใจจริงๆ ด้วย เมื่อเลือกฟังกันแต่เฉพาะตอน จึงไม่มีตอนไหนสู้ ๒ ตอนนี้ แต่การชำระฉบับสำหรับพิมพ์ในครั้งนี้ ชำระ ๒ ตอนที่กล่าวมาเป็นยากยิ่งกว่าตอนอื่นๆ ในบทเสภาทั้งสิ้น เพราะเป็นตอนที่จำกันได้มากกว่าตอนอื่นๆ แต่ฉบับที่หามาได้ ทั้งที่เป็นหนังสือและที่ขอจดมาจากผู้ที่จำได้ มีพระแสนท้องฟ้าเป็นต้น มีถ้อยคำแตกต่างกันเกือบจะทุกฉบับ จำต้องเลือกว่าอย่างไรเป็นถูกสำหรับที่จะพิมพ์ในฉบับนี้ ความข้อนี้ได้ทำด้วยพยายามอย่างที่สุด แต่รู้สึกว่าคงจะไม่พ้นติเตียนได้ ด้วยถ้อยคำตามที่พิมพ์ในฉบับนี้ คงจะไม่ตรงกับพวกเสภาจำไว้ได้เหมือนกันหมดทุกคน คนนั้นก็จะว่าตรงนี้ผิด คนนี้ก็จะว่าตรงโน้นผิด เพราะต่างคนต่างถือว่าตามที่ตนจำได้นั้นเป็นถูกต้อง ไม่มีหน้าที่ต้องเลือกเชื่อเหมือนผู้ชำระหนังสือนี้

ตอนที่ ๑๙ เมื่อขุนช้างตามนางวันทอง ตอนนี้สังเกตดูเป็นสำนวนเดียวกับเมื่อขุนช้างขอนางพิม ที่พิมพ์ไว้ในตอนที่ ๕ เล่ม ๑ ถ้าหากตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม แลตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ตอนขุนช้าง ๒ ตอนที่กล่าวมาเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๓ ด้วยทำนองกลอนแลสำนวนดูคล้ายกับบทละครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย แลเฉพาะอยู่ต่อพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ด้วยทั้ง ๒ ตอน ความข้อนี้เป็นความคาดคะเนของข้าพเจ้าบอกไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดู

ตอนที่ ๒๓ เมื่อขุนแผนติดคุก มีที่สังเกตแห่ง ๑ ซึ่งรู้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตรงขุนช้างเล่นหมากรุกกับศรพระยา มีบทศรพระยาว่า “ถึงพระครูก็สู้พ่อไม่ได้ มันเหลือใจกินกันจนชั้นขุน”

ตรงนี้ต้องกับบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตรงราชาภิเษกพระราม สังฆการีไปนิมนต์พระวสิฐฤๅษี พระวสิฐฤๅษีกำลังเล่นหมากรุก มีบทฤๅษีว่า “แต่หนุ่มหนุ่มเมื่อกระนั้นขยันอยู่ อินทร์เดชะพระครูก็สู้ได้”

ตอนที่ ๒๔ กำเนิดพลายงาม ตอนนี้ถ้าใครเคยสังเกตกลอนสุนทรภู่ จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด ว่าเป็นของสุนทรภู่แต่ง จะเป็นสำนวนผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ายิ่งสังเกตกระบวนกลอนในตอนนี้ จะเห็นได้อิกชั้นหนึ่งว่า สุนทรภู่ประจงแต่งตลอดทั้งตอน โดยจะไม่ให้แพ้ของผู้อื่น ดูเหมือนจะกล่าวได้ ว่าสำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่างๆ ไว้ จะเป็นพระอภัยก็ตาม เรื่องลักษณวงศ์ ฤๅเรื่องอะไรๆ ก็ตาม ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้

ตอนที่ ๒๕ เมื่อพระเจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่สมเด็จพระพันวษา ตอนนี้เป็นสำนวนเก่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเสภาชั้นเดิมก่อนรัชกาลที่ ๒ ควรเป็นตัวอย่างให้สังเกตสำนวนเดิม ตามที่กล่าวไว้ในตำนานเสถาได้อิกตอน ๑

บทเสภาที่พิมพ์ในเล่ม ๒ มีข้อความซึ่งควรอธิบายเป็นพิเศษเพียงเท่าที่กล่าวมานี้ นอกจากนี้ในกระบวนชำระก็มีที่ต้องตัดแลเติมบทเสภาเดิมอยู่บ้างด้วยเหตุต่างๆ เหมือนกับเล่ม ๑ คือที่เชื่อมหัวต่อ แลตัดที่หยาบหรือแต่งแก้ที่ผิด เป็นต้น

อนึ่งหนังสือเสภาฉบับเดิมแบ่งส่วนเป็นเล่มสมุดไทย คือเขียนไปหมดเล่มสมุดเพียงไหน ก็นับเพียงนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้กำหนดที่ตัวเรื่องเสภาเป็นประมาณ เมื่อจะพิมพ์ฉบับนี้ เห็นว่าลักษณะแบ่งเป็นเล่มสมุดไทยไม่เข้ากับกระบวนพิมพ์ จึงตัดแบ่งใหม่ ใช้วิธีจัดเป็นตอน ตามเนื้อเรื่อง เดิมประมาณว่าจะเป็น ๔๑ ตอน แต่เมื่อตรวจสอบเห็นควรแบ่งเป็น ๔๓ ตอน การพิมพ์แบ่งเป็น ๓ เล่มสมุด และได้กะแบ่งเล่มให้ลงพอเหมาะกับเนื้อเรื่อง ด้วยเหตุนี้ จำนวนตอนแลหน้ากระดาษจึงไม่เท่ากันได้ทุกเล่ม เล่ม ๑ มี ๑๔ ตอน เล่ม ๒ มี ๑๒ ตอน เล่ม ๓ ต่อไปจะมี ๑๗ ตอน จึงจะจบบทเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ