๏ จะกล่าวถึงเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง |
ความสมัครรักนางให้ป่วนปั่น |
แต่เวียนคิดถึงพิมนิ่มนวลจันทร์ |
ตั้งแต่วันฟังเทศน์ไม่บรรเทา |
เช้าเย็นเป็นทุกข์ทุกเวลา |
ไม่เห็นหน้าพิมน้อยก็สร้อยเศร้า |
นอนหลับกลับเพ้อละเมอเมา |
จนล่วงเข้าปลายเดือนไม่เคลื่อนคลา |
ให้รุ่มร้อนนอนนั่งไม่เป็นสุข |
หลับแล้วรื้อลุกขึ้นมืดหน้า |
กอดหมอนนอนซึมไม่ลืมตา |
ข้าวปลาไม่นึกจะอยากกิน |
อดเปรี้ยวอดหวานไม่พานไส้ |
อกใจตึกตึกนึกถวิล |
ใครพูดจาว่าไรไม่ได้ยิน |
มัวถวิลถึงเจ้าพิมพิลาไลย |
ข้าไทในเรือนก็เกลื่อนกลาด |
หาอาจรอหน้าเข้ามาไม่ |
อีกริมยืนยิ้มอยู่บันได |
วันนั้นพอใกล้จะรุ่งราง |
เจ้าขุนช้างวุ่นวายอยู่ในห้อง |
เยี่ยมหน้าต่างมองเมื่อจวนสว่าง |
แว่วว่าเสียงพิมนิ่มนาง |
จึงเยื้องย่างเปิดประตูมาดูพลัน |
เหลียวแลมองเขม้นไม่เห็นใคร |
ก็หวนกลับเข้าในที่นอนนั่น |
เรียกเจ้าพิมนิ่มเนื้อดังเจือจันทน์ |
อีกริมคิดว่าเรียกมันขานเข้ามา |
เจ้าขุนช้างดีใจได้ยินขาน |
เสียงหวานจับใจเป็นหนักหนา |
จัดแจงแต่งตัวยังมัวตา |
อีกริมคลานเข้ามาจนข้างมุ้ง |
ขุนช้างกอดคอหัวร่อร่า |
แม่เอ๋ยทำไมมาจนจวนรุ่ง |
กอดจูบลูบท้องประคองพุง |
จะสะดุ้งกระเดื่องดิ้นไปทำไม |
อีกริมดีใจว่านายรัก |
หาพลิกผลักพูดจาอย่างไรไม่ |
พลอยพริ้งนิ่งแน่ให้ตามใจ |
ขุนช้างโลมไล้อยู่ไปมา |
ฟอนเฟ้นเน้นนมชมสำราญ |
เห็นย้อยยานยื่นยาวเป็นหนักหนา |
ผิดพิมนิ่มน้องที่ต้องตา |
ยุดถามใครหวามาแปลกปลอม |
อีกริมฟังนายสบายยิ้ม |
ฉันเองอีกริมเจ้าคะหม่อม |
เรียกฉันเข้ามาแล้วว่าปลอม |
ครั้นมิยอมกลัวหม่อมพาโลตี |
ขุนช้างนิ่งอึ้งไม่เจรจา |
มันขะเรอเก้อขะรากะไรนี่ |
เรียกพิมได้อีกริมมาทันที |
มันก็ดีครันครันถลันมา |
กูเรียกพิมอีกริมมึงรับขาน |
กำลังพล่านกูไม่ทันได้ดูหน้า |
มึงก็มีดอยู่ในเรือนเหมือนกับพร้า |
เลยไขว่คว้าเคล้าคลึงจนถึงใจ |
อัศจรรย์ลั่นเลือนในคงคา |
เภตราละลอกกระฉอกไหว |
ฟูมฝั่งกระทั่งฝาซ่าเซ็นไป |
ไหลเหลิงดาดฟ้าลงมาริม |
ขุนช้างเพลิดเพลินเจริญใจ |
หยอกเย้าเคล้าไปกระหยิ่มกริ่ม |
ตั้งจิตรคิดเอาว่าเจ้าพิม |
นอนยิ้มอยู่ในมุ้งจนรุ่งราง ฯ |
๏ ขุนช้างย่างออกมานอกห้อง |
ย่องมาล้างหน้าที่หน้าต่าง |
อีกริมยิ้มหยิบพานหมากวาง |
ขุนช้างพลุ่งพล่านรำคาญใจ |
อมหมากปากอ้าคาลูกคาง |
คะนึงนางพลางตะลึงหลงใหล |
ออกจากเรือนพลันทันใด |
เข้าไปกราบไหว้แม่เทพทอง ฯ |
๏ ครานั้นเทพทองผู้มารดา |
เห็นหน้าขุนช้างนั้นมัวหมอง |
กิริยาจริตผิดทำนอง |
ยกสองมือลูบเจ้าขุนช้าง |
หน้าคล้ำดำสิ้นดังมินหม้อ |
ขี้ไคลท่วมคอดูผิดอย่าง |
เอวไหล่ไผ่ผอมจนย่อมบาง |
บอกมาอย่าพรางแก่มารดา |
ทุกข์โศกโรคร้อนประการใด |
เจ้าจึงหม่นหมองไปเป็นหนักหนา |
ถามไถ่ก็ไม่ใคร่จะพูดจา |
ฤๅปวดหัวมัวตาประการใด ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างฟังแม่ถาม |
จะบอกความมิใคร่จะบอกได้ |
กลุ้มกลัดอัดอั้นให้ตันใจ |
ร้องไห้สะอึกสะอื้นโฮ |
มือเช็ดน้ำตาแล้วว่าพลาง |
ทุกข์ของลูกช้างนี้อักโข |
อกลูกเป็นหนองพองกะโต |
เหมือนใครโค่นต้นโพธิ์ลงทับกาย |
ดังกระดูกลูกแตกแหลกละเอียด |
เคร่งเครียดร้อยปีไม่มีหาย |
ยิ่งหนักลงเห็นคงตัวจะตาย |
จะช่วยรอดปลอดดายแต่มารดา |
แก่นแก้วตายแล้วไม่มีสุข |
ทุกข์ถึงเมียรักเป็นหนักหนา |
เช้าค่ำพร่ำกินแต่น้ำตา |
เป็นหม้ายทรมามากว่าปี |
เงินทองกองเกลื่อนอยู่มากมาย |
จะหายฤๅจะอยู่ไม่รู้ที่ |
จะตรวจตราว่าไปทำไมมี |
เมื่อขัดสนคนที่จะครอบครอง |
หญิงอื่นหมื่นแสนลูกไม่เห็น |
ใครจะเป็นแม่เรือนอยู่ร่วมห้อง |
จะช่วยรักษาทรัพย์ประคับประคอง |
ลูกเที่ยวท่องดูทั่วทั้งสุพรรณ |
เห็นแต่นางพิมพิลาไลย |
อยู่เรือนใหญ่บ้านท่าพี่เลี้ยงนั่น |
นางเป็นลูกยายศรีประจัน |
รักกันกับข้ามาช้านาน |
รบให้ไปขอเป็นหอห้อง |
ครั้นมีท้องก็จะอายแก่เพื่อนบ้าน |
เร่งเร้าเช้าค่ำลูกรำคาญ |
แสนสงสารสุดที่จะทำวน |
แม่จงปรานีกับลูกช้าง |
ไปขอนางเป็นทีดูสักหน |
ถ้าหม่อมแม่ของหล่อนไม่ผ่อนปรน |
ลูกจะพาพิมด้นมาจากเรือน |
ถ้ายินยอมพร้อมใจให้ปัน |
ทุนสินกองกันไม่อายเพื่อน |
ได้สัญญามาแน่ไม่แชเชือน |
ในเดือนนี้ขึ้นค่ำเป็นวันดี |
ต้องเอกะปาสังเป็นอย่างเอก |
ลูกจะเสกขี้ผึ้งให้แม่สี |
แม่จงเมตตาปรานี |
วันนี้วันดีแม่จงไป ฯ |
๏ ครานั้นเทพทองผู้มารดา |
ฟังขุนช้างว่าหาเชื่อไม่ |
ตอบคำลูกพลันทันใด |
ออพิมพิลาไลยเขารูปงาม |
ล้ำคนในสุพรรณภารา |
รูปเอ็งเหมือนผ้าละว้าย่าม |
จะเสียแรงไปว่าพยายาม |
แม่จะเปรียบเนื้อความให้เข้าใจ |
นางพิมพริ้มเพราดังจันทรา |
เอ็งเหมือนเต่านาอยู่ต่ำใต้ |
อยากได้ดวงจันทร์สวรรค์ไกล |
เห็นจะได้แล้วฤๅนะลูกอา |
เงินทองกองไว้ทำไมเปล่า |
ช่วยเอาเถิดลูกฟังแม่ว่า |
เข้าไปในกรุงอยุธยา |
เลือกหางามงามเอาตามใจ |
ให้รูปร่างบางแบบดังกินนร |
อย่าทุกข์ร้อนคงคัดเอาดีได้ |
เงินทองมีมากยากอะไร |
งอนง้อขอเขาไยไม่ต้องการ |
แล้วก็เป็นเพื่อนเล่นเห็นกันมา |
เมื่อยังเด็กมันด่าเอ็งฉาดฉาน |
คารมข่มขู่กูรำคาญ |
ผุดขึ้นก็หัวล้านทุกคราวคำ ฯ |
๏ ขุนช้างตอบว่าเป็นเมียผัว |
ไม่กลัวฤๅจะมาด่าเล่นพลํ่าพลํ่า |
เป็นเด็กอยู่กูเอ็งไม่เกรงยำ |
เล่นทำตามประสายังทารก |
หนุ่มสาวคราวมีมารยาท |
ได้สมพาสอิงแอบอยู่แนบอก |
ความรักความกลัวที่ชั่วยก |
จะวิตกข้อนั้นไปไยมี |
สงสารเจ้าพิมพิลาไลย |
ได้สัญญาว่าไว้เป็นถ้วนถี่ |
ลูกรับคำมาเหมือนพาที |
ว่าในสามราตรีจะแต่งไป |
นางพิมว่าถ้าลูกไม่ไปขอ |
จะผูกคอตายเสียหาอยู่ไม่ |
ลูกรักได้ว่าถ้าบรรลัย |
อย่าสงสัยว่าลูกจะเป็นคน |
มีดพร้าจะผ่ากระบานหัว |
เนื้อตัวสับเสี่ยงให้ปี้ป่น |
แม่ไม่ปรานีทีนี้จน |
ไม่รู้จะผ่อนปรนไปพึ่งใคร |
ยกตีนของแม่ขึ้นทูนหัว |
กลิ้งเกลือกเสือกตัวแล้วร้องไห้ |
มือชกหัวล้านซมซานไป |
น้ำตาหลั่งไหลออกนองตา ฯ |
๏ ฝ่ายยายเทพทองร้องตวาด |
อ้ายนอกครูอุบาทว์ไม่ฟังว่า |
โกหกยกคอเจรจา |
ว่าเป็นชู้สู่หามารํ่าไร |
ไม่คิดเจียมตัวอ้ายหัวพรุน |
รูปเป็นกระชุนุ่นน่ารักใคร่ |
กูไม่เห็นใครเขาจะชอบใจ |
นางพิมพิลาไลยเขาโสภา |
อกเอวอ้อนแอ้นแม้นกินนร |
ฤๅจะมาสมจรกับหมูหมา |
ให้เพื่อนบ้านติฉินนินทา |
มึงช่างมุสาแต่โดยเดา |
กูไม่อยากจะเดินไปให้เหนื่อย |
เมื่อยหัวแม่ตีนเสียเปล่าเปล่า |
ทำร้องไห้เซ้าซี้อ้ายขี้เค้า |
ไปเรือนไปเหย้าให้พ้นกู ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างเห็นแม่ด่า |
ก็ลุกกลับออกมาไม่หยุดอยู่ |
ถึงเรือนเข้าไปในประตู |
เปิดมุ้งคุดคู้เข้าที่นอน |
โอ้ว่าพิมนิ่มนวลของช้างเอ๋ย |
เมื่อไรเลยจะได้เคียงอยู่เรียงหมอน |
อกใจดังไฟเข้าฟอกฟอน |
พี่จะข้อนตัวตายไม่วายครวญ |
รักใครไม่เหมือนพี่รักพิม |
เจ้างามพริ้มงามดีงามถี่ถ้วน |
งามรูปงามจริตกระบิดกระบวน |
งามล้วนขำคมเจ้าสมงาม |
รูปตัวช่างชั่วกะไรเลย |
ขุนช้างเอ๋ยเลี่ยนโล่งดังโขลงข้าม |
ถ้ากูพบฤๅษีชีพราหมณ์ |
จะชุบให้เหมือนพระรามธเรศตรี |
กรีดกรายชายไปให้เห็นหน้า |
สีดาก็จะพวยมาด้วยพี่ |
นี่เนื้อตัวชั่วช้าเป็นราคี |
ไม่มีดีสารพัดขัดระยำ |
ลดเลี้ยวเกี้ยวใครก็ไม่เป็น |
สร้างล่ำมาเล่นแต่รายปล้ำ |
กูจะนิ่งทรมาทารกรรม |
นอนคว่ำอยู่ไยไม่ต้องการ |
ตะวันบ่ายชายแสงทินกร |
พิมพี่ก็จะจรออกจากบ้าน |
กับข้าไทเล่นน้ำอยู่สำราญ |
กูจะพาบริวารกูลงไป |
เดชะบุญขุนช้างสร้างกุศล |
พอจะคิดติดสินบนใครเข้าได้ |
เก้าชั่งสิบชั่งช่างเป็นไร |
นีตเน้นเข้าไปคงได้การ |
คิดแล้วเท่านั้นมิทันช้า |
ลุกแหงนดูฟ้าอยู่งุ่นง่าน |
อุแม่เจ้ากูตายบ่ายพอการ |
เรียกข้าคนลนลานมาหลายคน |
หยิบถุงใส่เงินตราเข้าห้าชั่ง |
ผุดลุกผุดนั่งอยู่สับสน |
นุ่งยกห่มส่านเข้าลานลน |
น้ำมันจันทน์ทาตนให้หอมฟุ้ง |
เข็มขัดรัดเอวดูพลุ่มผลุ |
อลุฉุไม่สมกับผ้านุ่ง |
ขนอกรกเต็มตลอดพุง |
มุมุ่งด่วนเดินลงจากเรือน |
บ่าวไพร่ตามหลังมาพรั่งพรู |
ขุนช้างเห็นคนดูอยู่กล่นเกลื่อน |
ดุบ่าวตามนายทำกรายเชือน |
กูจะเฆี่ยนหลังเปื้อนระงมไป |
ครั้นถึงท่าน้ำนางพิมอาบ |
ผินหน้ากระซิบกระซาบกับบ่าวไพร่ |
ให้แอบพุ่มซุ่มดูอยู่แต่ไกล |
เขามาอย่าให้เขาเห็นตัว |
ขุนช้างแอบซุ้มพุ่มชิงชี่ |
ฉวยผ้าส่านคลี่ขึ้นพันหัว |
คอยพิมหน้ากริ่มเป็นใบบัว |
ยิ้มหัวเบิกบานสำราญใจ ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมกับสายทอง |
อยู่ในห้องปักสะดึงกรึงไหม |
ตะวันชายบ่ายแสงอโณทัย |
จะลงไปอาบน้ำด้วยทันที |
พร้อมด้วยข้าไทอยู่ก่ายกอง |
กับนางสายทองผู้เป็นพี่ |
ถึงท่าผลัดผ้าด้วยยินดี |
ลงนํ้าแล้วก็สีซึ่งเหงื่อไคล |
อีมาอีมีอีสีเสียด |
อีเขียดชักชวนกันเล่นไล่ |
ใครจะซ่อนใครจะหาก็ว่าไป |
เปรียบหนีเปรียบไล่ให้อยู่โยง |
ปะเปิงเลิงแมวแอวออก |
นอกซ่อนนางจันกระโต้งโห่ง |
จำเพาะลงที่อีโคกโยกโก้งโค้ง |
กระโดดโผงลงน้ำดำผุดไป |
อีมาอีมีอีสีเสียด |
อีเขียดดำหนีอีโคกไล่ |
อีรักหนักท้องไม่ว่องไว |
อีโคกกระโชกใกล้เข้าทุกที |
อ้ายโห้งโก้งโค้งอยู่กอแขม |
แพลมหัวปอหลอหัวร่อฉี่ |
ขุนช้างขัดใจเอาไม้ตี |
อ้ายโห้งจึงชี้ให้นายดู |
นั่นแน่แม่พิมอยู่ริมตลิ่ง |
นมโตจริงจริงสีตัวอยู่ |
ขุนช้างด่ามึงอย่าว่าแม่ของกู |
อีปูแสมนั่นแหละของมึง |
อ้ายโห้งฟังนายสบายจิตร |
ดีฉันคิดไว้แต่แรกลงมาถึง |
ความรักไม่ชั่วจนตัวตึง |
ค่าตัวชั่งหนึ่งอีคนนี้ |
รูปราวกับตะโพนโผนลงน้ำ |
ฉันยักคิ้วเอาคว่ำไปเมื่อกี้ |
กลับพลิกหงายท้องขึ้นสองที |
เสน่ห์ของฉันมีครูให้มา |
อีโคกกระโชกไล่อีรัก |
ฉวยขาคว้าชักเอาชายผ้า |
จมน้ำดำฟอดกอดกันคา |
ผุดขึ้นมาตาเหลือกเสือกซวนไป |
อีรักสำลักน้ำท่วมปาก |
รากน้ำออกมาสักชามใหญ่ |
ร้องด่าว่าอุบาทว์จะขาดใจ |
นอนไถลผ้านุ่งไม่ติดตัว |
อายโห้งโก้งโค้งขึ้นตบมือ |
อออืออุแหม่แม่ทูนหัว |
ราวกับปากปลาม้าดูน่ากลัว |
สั่นรัวหน้าแหงนชักแอ่นไป ฯ |
๏ สายทองนางพิมอยูริมตลิ่ง |
หัวเราะล้มกลิ้งไม่ลุกได้ |
ขุนช้างทะยานงุ่นง่านใจ |
ผ้านางพิมไพล่จากรักแร้ |
ขุนช้างเห็นนมกลมตละปั้น |
มือคั้นหน้าแข้งยืนแยงแย่ |
โคลงตัวคลุกคลุกเหมือนตุ๊กแก |
สิแม่เอ๋ยวันนี้นี่กูตาย |
นางพิมสายทองร้องเรียกข้า |
ไปเหวยไปวาตะวันบ่าย |
ขึ้นมาผลัดผ้าทั้งบ่าวนาย |
นาดกรายตามกันเป็นหลั่นไป ฯ |
๏ ขุนช้างออกจากพุ่มชิงชี่ |
บ่าวไพร่ตามมี่ทั้งน้อยใหญ่ |
ร่วมทางนางพิมที่จะไป |
เดินเรียงเคียงไหล่ยิ้มไปล่มา |
สายทองนางพิมหลีกริมทาง |
ขุนช้างเดินเกินนางขึ้นมาหน้า |
แกล้งอ่านเพลงยาวกล่าวกระทบมา |
โอ้ว่าดวงดอกฟ้ามณฑาธาร |
อ้ายโห้งโก่งคอต่อกลอนนาย |
พี่เห็นเจ้าเข้าหมายว่าของหวาน |
ดูกระเพื่อมตละเชื่อมซึ่งเต้าตาล |
ขุนช้างเดินผ่านพ้นนางไป |
นางพิมโกรธาด่างุ่นง่าน |
แม่มึงอ้ายหัวล้านกระบานใส |
แล้วเดินลัดมาบ้านเสียทันใด |
บ่าวไพร่ก็ตามมาถึงเรือน ฯ |
๏ ฝ่ายขุนช้างออกไปไกลขอบรั้ว |
แสงแดดแผดหัวจนหน้าเฝื่อน |
แกล้งชวนบ่าวข้าพาเที่ยวเชือน |
หลบเลื่อนไถลให้ช้าที |
ครั้นนานประมาณสักครู่หนึ่ง |
จึงห้ามบ่าวไพร่มิให้มี่ |
เดินเป็นระเบียบเรียบร้อยดี |
เข้าบ้านท่านศรีประจันพลัน |
หยุดอยู่ที่ประตูแล้วถามหา |
อีบ่าวบอกว่าท่านอยู่นั่น |
แน่ข้ามาหาเมตตากัน |
บอกคุณแม่ศรีประจันว่าเรามา |
อีพวกข้ารับคำขุนช้างไป |
ถึงบันไดก็ขึ้นบนเคหา |
นั่งลงเล่าความตามกิจจา |
ว่าขุนช้างเขามาหาคุณนาย ฯ |
๏ ศรีประจันครั้นเยี่ยมที่หน้าต่าง |
แลเห็นขุนช้างก็ใจหาย |
เหงื่อไหลอาบมาหน้าผากพราย |
ทั้งแดดนายไยฝ่ามาดังนี้ |
ร้องเกริ่นเชิญคะขึ้นมาเรือน |
ช่างทนแดดแผดเผื่อนเหงื่อไหลรี่ |
ลูบตัวเถิดขาน้ำท่ามี |
เรียกข้าด่ามี่สับสนไป |
ขุนช้างย่างขึ้นบนนอกชาน |
คุกคลานเข้าไปในเรือนใหญ่ |
นั่งบนเสื่อพลันในทันใด |
ยกมือขึ้นไหว้ศรีประจัน |
ท่านยายศรีประจันก็รับไหว้ |
แล้วบอกให้กินหมากขมีขมัน |
กินหมากแล้วถามเนื้อความพลัน |
แดดนายร้อนครันไปไหนมา |
ขุนช้างกะอักกะไอมิใคร่บอก |
อู้อี้ค่อยๆ ออกเนื้อความว่า |
ลูกนี้ขัดสนพ้นปัญญา |
แล้วก้มหน้านิ่งอยู่ไม่พาที ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
เห็นขุนช้างขยั้นทำอู้อี้ |
จะใคร่ได้แจ้งแห่งคดี |
เซ้าซี้ซํ้าถามเนื้อความไป |
อนุสนธิ์ทำวนสิ่งใดมี |
บอกแต่โดยดีอย่าสงสัย |
เป็นคนกันเองอย่าเกรงใจ |
ต้องการอะไรพ่อจึงมา ฯ |
๏ ขุนช้างหมอบชิดจนติดหมอน |
ว่าโปรดก่อนขอรับคุณแม่ขา |
ลูกนี้ขัดสนพ้นปัญญา |
จะปรึกษาใครได้ก็ไม่มี |
แก่นแก้วตายแล้วเป็นหลายเดือน |
เงินทองกองเกลื่อนไม่เป็นที่ |
มันลักฉกฉวยไปใช่พอดี |
ตาเดียวเท่านี้ไม่ดูทัน |
วันนี้ก็หายไปหลายชั่ง |
แต่มิใช่เงินฝังเงินกำปั่น |
หักกุญแจเข้าง้างเอากลางวัน |
ผ้าผ่อนสารพันลักเนืองไป |
ถ้ามีใครรับจะปกครอง |
ทรัพย์สินเงินทองทั้งปวงได้ |
จะยกให้ไร่นาทั้งข้าไท |
มอบเหย้าเรือนให้เป็นแม่เรือน |
แม่หม้ายร้ายทานก็ไม่ว่า |
แต่พอมีกิริยาไม่อายเพื่อน |
ช่วยเก็บช่วยชักช่วยตักเตือน |
แต่พอเหมือนแม่พิมพิลาไลย ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ฟังขุนช้างรำพันไม่นิ่งได้ |
คิดโลภขึ้นมาว่าออกไป |
มีเงินเหตุใดจะไร้ทอง |
พอเลือกคัดจัดหาที่ดีดี |
ถ้วนถี่รู้เก็บซึ่งข้าวของ |
รู้การรอบคอบครอบครอง |
ปกป้องข้าไททั้งไร่นา |
เหมือนอย่างพ่อช้างอย่างนี้นี่ |
พอจะหาเมียดีได้สมหน้า |
ไม่อายแขกไทยที่ไปมา |
เจรจาอ่อนหวานการผู้ดี |
เสมอทั้งสองราบรรดาศักดิ์ |
รู้ปักเย็บกรองให้ต้องที่ |
จะเลือกสรรในสุพรรณบุรี |
เห็นไม่มีใครเสมอกับพ่อช้าง |
ที่จริงออพิมพิลาไลย |
พอจะเป็นผู้ใหญ่ก็ได้บ้าง |
แต่พอเพียงสถานปานกลาง |
ไม่เหมือนอย่างในศรีอยุธยา ฯ |
๏ ขุนช้างฟังว่าบานหน้ายิ้ม |
อันจะหาเหมือนแม่พิมนั้นเหลือหา |
ลูกคิดเป็นนิจทุกเวลา |
จะให้มาว่าเป็นไมตรี |
ครั้นหารือกับแม่เทพทอง |
จะรับคำปรองดองก็ใช่ที่ |
มิใช่อื่นไกลเห็นไม่ดี |
ด้วยเล่นกันแต่ก่อนกี้เหมือนพี่น้อง |
เมื่อปลงศพบิดาหารือกัน |
จะให้เด็กผูกพันเป็นหอห้อง |
กลัวแม่ข้างนี้มิปรองดอง |
ข้างแม่เทพทองจึงไม่มา |
แม้นแม่มิโกรธถือโทษภัย |
จะหาท่านผู้ใหญ่ให้มาว่า |
ยกทั้งวัวควายแลไร่นา |
ทั้งเงินทองเสื้อผ้าสารพัน ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมกับสายทอง |
ฟังอยู่ในห้องให้ป่วนปั่น |
แค้นด้วยมารดาว่ากับมัน |
อ้ายหัวควั่นลวนลามหยามเต็มที |
ทำเปิดหน้าต่างแล้วร้องไป |
อ้ายผลไปไหนมึงมานี่ |
อ้ายหัวล้านอกขนคนอัปรีย์ |
งานการยังมีไม่นำพา |
ตาผลหัวล้านร้องขานนาย |
อะไรวุ่นวายหม่อมแม่ขา |
ออกจากทับได้หัวใสมา |
ยกขาก้าวขึ้นบนบันได ฯ |
๏ ขุนช้างได้ฟังนางพิมด่า |
คิดอายบ่าวข้าไม่ช้าได้ |
ลายายศรีประจันงกงันไป |
ย่างเท้าก้าวไวลงเรือนพลัน |
ตาผลขึ้นมาคาบันได |
หลีกขุนช้างไปอยู่ตัวสั่น |
ขุนช้างเงยหน้าเหลอเก้อยิงฟัน |
นานนานนะปะกันแต่สักครั้ง |
ตาผลงันงกยกมือไหว้ |
บาปเพราะชนไก่แต่หนหลัง |
ขุนช้างไขหูไม่อยู่ฟัง |
เก้กังหน้าเง้าเหย่าเหย่าไป ฯ |
๏ ครั้นสิ้นแสงสุริยงอัสดงคด |
เลี้ยวลดลับเหลี่ยมขุนไศล |
พระจันทร์เรืองอิทธิ์ฤทธิไกร |
สถิตในทิพรถอันรูจี |
ประดับด้วยแสนสุรางค์นางสวรรค์ |
ชักรถผยองผันเร็วรี่ |
พลาหกผกเผ่นด้วยฤทธี |
เลี้ยวเหลี่ยมคิรียุคันธร |
เปล่งแสงสว่างหล้าธาตรี |
ดิเรกดาราศรีสลับสลอน |
บันดาลวงทรงกลดขจายจร |
งามบวรแสงจันทร์พรรณราย |
พิมน้อยแสนละห้อยถึงพลายแก้ว |
ล่วงหลายวันแล้วไม่เห็นหาย |
ครวญเคร่าเช้าคํ่าไม่กลํ้ากราย |
ปรึกษาสายทองพี่ผู้ปรีชา |
เจ้าพลายแก้วไปแล้วหามาไม่ |
หลายวันหายไปไม่เห็นหน้า |
น้องเสียใจครันที่สัญญา |
ความเดิมที่ว่าเห็นกลับกลาย |
จะโทษแต่พี่ก็มิได้ |
โทษใจของน้องนี้มักง่าย |
ไปเชื่อคำที่เพราะเราะราย |
ซ้ำหลงรูปเจ้าพลายจึงเสียรัก |
ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรได้ |
เจ็บใจวิตกเพียงอกหัก |
แม้นซื่อตรงคงเรื่องไม่เยื้องยัก |
คงเวียนมาให้ประจักษ์แก่น้ำใจ |
ร้อนเย็นจะได้เป็นที่ปรึกษา |
เมื่อไม่มานี่จะทำไฉนได้ |
จะรู้ที่ผินหน้าไปหาใคร |
พี่เห็นฤๅไม่พี่สายทอง |
อ้ายขุนช้างมันกล้ามาหาแม่ |
ไชแชขอเล่นแต่คล่องคล่อง |
กิริยาแม่ว่าเป็นปรองดอง |
ช่างโลภทรัพย์สิ่งของนี้สุดใจ |
จะนิ่งดูอยู่ฉะนี้ฤๅพี่เอ๋ย |
อย่านึกเลยน้องหาอยู่เป็นคนไม่ |
พี่สายทองจะคิดประการใด |
บอกให้น้องแจ้งด้วยเถิดรา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางสายทอง |
ปลอบน้องกอดแอบแนบหน้า |
ช้อนคางพลางช่วยเช็ดน้ำตา |
อย่าโศกายังไม่เกินกำหนดการ |
เจ้าพลายหมายรักแม่พิมพี่ |
กว่าชีวีจะวายอวสาน |
ใช่จะคิดลวงเล่นพอเป็นการ |
ปฏิญาณสัญญาไว้มากมาย |
จะเมื่อยเหน็บเจ็บจุกประจุบัน |
ฤๅธุระสำคัญนั้นมากหลาย |
ฤๅรู้ถึงสมภารท่านวุ่นวาย |
จึงสูญหายเงียบไปไม่เข้ามา |
จะอาวรณ์ร้อนใจไปไยมี |
พรุ่งนี่พี่จะออกไปตามหา |
ให้สิ้นแคลงแจ้งใจในกิจจา |
จะปรึกษาร้ายดีอย่าด่วนตรอม |
แม้นอยู่ดีไม่มีภารธุระ |
พี่ปะแล้วจะพามาถนอม |
จงเสื่อมสร่างกำสรดต้องอดออม |
จะผ่ายผอมผิดร่างแบบบางไป |
ผัดหน้าไว้ท่าเจ้าพลายแก้ว |
คํ่าพรุ่งนี้แล้วจะหายไข้ |
ปลอบพลางโลมเล้าเอาใจ |
กระพือพัดวีให้เจ้าพิมนอน |
พิมหลับกลับลุกมาจากห้อง |
สายทองเอนตัวลงกับหมอน |
หลับสนิทนิทราให้อาวรณ์ |
พอแจ้งแสงทินกรขึ้นทันใด ฯ |
๏ ครั้นสว่างกระจ่างแสงทินกร |
สายทองตื่นนอนหาช้าไม่ |
บ้วนปากล้างหน้าแล้วคลาไคล |
เข้าไปหาท่านศรีประจัน |
นั่งลงเล่าไปมิได้ช้า |
คืนนี้ท่านขาแม่พิมฝัน |
ประหลาดนักหนักใจฉันครันครัน |
เรื่องฝันเห็นร้ายไม่ไว้ใจ |
ในฝันว่าไปนอนอยู่เรือนอื่น |
กลางคืนนอนหลับแล้วไฟไหม้ |
ยุบลงถึงดินสิ้นสูญไป |
เนื้อตัวถูกไฟออกพองพัง |
ไม่รู้ว่าร้ายดีประการใด |
แม่พิมเศร้าใจเจียนจะคลั่ง |
จะไปวัดป่าเลไลยจะใคร่ฟัง |
เล่าสิ้นเล่ายังกับสมภาร ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ได้ฟังเล่าความฝันส่งเสียงฉาน |
รีบไปไวไวอย่าได้นาน |
เล่าขานท่านให้แจงทั้งต้นปลาย |
หมากพลูดูหาออพิมเอ๋ย |
ทั้งขนมนมเนยเอาไปถวาย |
ส้มสูกลูกไม้ให้มากมาย |
จวนจะสายไปให้ทันท่านฉันข้าว |
นางพิมยิ้มแต้แม่ไม่รู้ |
ปอกหมากพันพลูกระปรี้กระเปร่า |
ขนมส้มใส่ลงไม่เบา |
ข้าวแกงแตงเต้าเอาแต่ดี |
สายทองจากห้องไปอาบน้ำ |
ห่มผ้าแพรดำซับในสี |
ลงจากเรือนพลันทันที |
ข้าไทตามรี่รีบเร่งมา ฯ |
๏ ครั้นถึงวัดพลันทันใด |
ขึ้นบนกุฎีใหญ่ทั้งบ่าวข้า |
กราบไหว้มิให้ใครสงกา |
แล้วว่ากับทาสาพวกข้าไท |
เอ็งพากันไปที่วิหาร |
พิกุลบานหล่นอยู่เป็นไหนไหน |
อีพวกข้าพากันไปทันใด |
สายทองเป็นผู้ใหญ่อยู่บนนั้น |
ข้าวแกงแต่งตั้งทั้งของหวาน |
ถวายสมภารให้ท่านฉัน |
หมากพลูบุหรี่ที่สำคัญ |
แกล้งกลั่นซ่อนไว้ให้เณรพลาย |
ส้มสูกลูกไม้เป็นของแห้ง |
เณรแก้วจัดแจงเอาไปถวาย |
สายทองคอยช่องดูแยบคาย |
สงฆ์ทั้งหลายนั่งฉันจังหันไป |
ฉันแล้วต่างลุกไปในห้อง |
สายทองผู้มีอัชฌาสัย |
เห็นลับคนดีไม่มีใคร |
จึงเข้าในห้องเณรด้วยฉับพลัน |
ยื่นให้หมากพลูทั้งบุหรี่ |
แล้วเล่าคดีขมีขมัน |
พิมน้อยคอยท่ามาหลายวัน |
โศกศัลย์หนักหนาด้วยปรารมภ์ |
คํ่าวันนี้สั่งให้เข้าไปหา |
แต่คอยคอยฟังมาไม่เห็นสม |
ดูเป็นล่อแต่พอได้เชยชม |
จะทิ้งไว้ให้ตรมระกำตาย |
พิมน้อยคิดแคลงแหนงใจอยู่ |
เท็จจริงมิได้รู้ซึ่งเงื่อนสาย |
จึงใช้ให้มาหาพ่อเณรพลาย |
มีทุกข์โศกโรคร้ายประการใด |
เมื่อกลางวันวานนี้ไปอาบนํ้า |
อ้ายขุนช้างระยำทำหยาบใหญ่ |
เดินแซงแข่งหน้าแม่พิมไป |
นางขัดใจด่าว่าสารพัน |
แล้วมันมาหาท่านมารดา |
พูดจาลวนลามแต่ความขัน |
เอื้อมขอต่อคุณแม่ศรีประจัน |
เห็นจะเป็นการมันทุกสิ่งไป |
เพราะเหตุทั้งนี้ที่มีมา |
พิมจึงว่าสายทองไม่ทนได้ |
ว่าข้าสื่อชักทำหักใจ |
ชักให้เสียตัวด้วยเณรพลาย |
สารพัดพูดแต่ดีถี่ถ้วน |
ดูกระบวนทีจะเลื่อมเสื่อมหาย |
แกล้งทำให้ช้ำระกำตาย |
สงสารสุดที่สายสวาดิวอน |
ไหนจะสงสารตัวนี้ชั่วแล้ว |
ไหนเณรแก้วจะคลายสโมสร |
ไหนจะทุกข์ไปข้างหน้าอนาทร |
ไหนข่าวชั่วจะขจรกระจายไป |
ไหนอ้ายขุนช้างมาขอสู่ |
เป็นไม่รู้ที่จะทำกะไรได้ |
เพื่อนรักหมายจักได้ร่วมใจ |
ก็ไม่ให้ปรึกษาเมื่อคราวจน |
จึงให้ตามมาดูให้รู้เหตุ |
ด้วยสังเกตผิดเรื่องแต่เบื้องต้น |
ซึ่งว่าไว้จะมิให้ได้อายคน |
จะคิดอ่านผ่อนปรนประการใด |
จะสู้หน้าฤๅว่าเอาตัวรอด |
อย่าอิดออดบอกความแต่ใกล้ใกล้ |
พ่อเณรพลายก็สบายเพราะอยู่ไกล |
สายทองเจ็บใจด้วยชิดกัน |
อุปมาเหมือนงาระคนถั่ว |
ประดังไฟใส่คั่วกระเบื้องนั่น |
งาร้อนฤๅจะผ่อนให้ถั่วทัน |
พอถั่วสุกก็จะอันตรายงา |
อยู่วัดเหมือนรำเล่นนอกม่าน |
อยู่บ้านเขาก็ใส่เอาแต่ข้า |
จะคิดอ่านฉันใดให้ว่ามา |
สายแล้วจวนเวลาจะคลาไคล ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรพลาย |
ยิ้มพรายผันแปรแก้ไข |
สารพัดสัตย์จริงทุกสิ่งไป |
ได้สัญญาว่าไว้กับพี่นาง |
ว่าพิมนิ่มนวลกับสายทอง |
เป็นสองสุดสวาดิไม่แหห่าง |
สู้ตายหมายจิตรไม่จืดจาง |
ซึ่งจะร้างแรมรักอย่ารำพึง |
ช้าช้าว่ากันเถิดสายทอง |
นั่นก็พี่นี่ก็น้องอย่าควรขึ้ง |
สงบความอย่าให้ลามเลื่องฦๅอึง |
ถ้ารู้ถึงหูคนจะแพร่งพราย |
ทุกวันกระสันอยู่สุดจิตร |
รำพึงคิดคิดอยู่ไม่รู้หาย |
กีดด้วยสมภารท่านวุ่นวาย |
ให้สาธยายรํ่าเรียนซึ่งวิชา |
แต่กินข้าวเช้าแล้วจนดึกดื่น |
เที่ยงคืนสามยามไปกว่ากว่า |
วันน้องไปหาเจ้าพิมมา |
ต้องตีด่าผูกมัดท่านตัดรอน |
พี่สายทองต้องตีเพราะเณรน้อง |
ได้รับรองแล้วจงรับธุระก่อน |
จะแทนคุณมิให้อนาทร |
ช่วยว่าวอนกับเจ้าพิมพิลาไลย |
แต่พอว่างห่างตาท่านเจ้าคุณ |
ลงวันใดก็จะผลุนไปจนได้ |
ความสัตย์สารพัดมาแต่ไร |
อย่าได้แคลงคดจงจดจำ |
ว่าพลางทางเป่าลมละลวย |
พี่สายทองจงช่วยอุปถัมภ์ |
เปรี้ยวปากฤๅกินหมากเสียสักคำ |
เสกซ้ำส่งไปให้ทันที ฯ |
๏ สายทองรับหมากใส่ปากเคี้ยว |
กระสันเสียวสยองพองเกศี |
ความรักเร็วแล่นแสนทวี |
เมื่อกระนี้แล้วมาตกแก่สายทอง |
อีคนจนสำหรับทนแต่ฝ่ายทุกข์ |
คราวสนุกแล้วก็เงียบอยู่ในห้อง |
ตัวข้าอุปมาเหมือนใบตอง |
ประคองห่อหุ้มขนมไว้ |
แก้สาดเสียสิ้นกินแต่ของ |
อันใบตองหาทะยาทะแยไม่ |
เป็นคนจนก็ต้องทนระกำไป |
มิให้สูญสิ้นทั้งสองรา ฯ |
๏ ทำคุณไว้เถิดสีกาพี่ |
ชั่วดีคงจะเห็นไปภายหน้า |
มิทีหนึ่งก็ทีหนึ่งนะสีกา |
จะออกปากชมว่าเจ้าเณรดี |
ซึ่งข้อว่าคำก่อนจงผ่อนโกรธ |
ขอโทษเสียเถิดสีกาพี่ |
เวทนาสีกาทุกราตรี |
ไหนต้องตีขอเปิดผ้าห่มดู |
สายทองอึดอัดทำขัดใจ |
นี่อะไรเจ้าเณรเถนตู้ |
มาฉกชักผ้าห่มชมชู |
นมจู้เจ้าเณรนี้ราคี ฯ |
๏ ครานั้นเถรไทยไปถานมา |
ได้ยินเสียงสีกาอยู่อู้อี้ |
แอบฝาตามองตามช่องมี |
เห็นเย้ายีหยอกยุดผ้าห่มกัน |
เอวกลมนมโตดูโอ่โถง |
อีตายโหงมาประเคนให้เณรฉัน |
ออแก้วสามานย์ก็หาญครัน |
กลางวี่กลางวันไม่เกรงใคร |
ซุกซนบนกะฏิริถาน |
กูจะบอกสมภารให้มาไล่ |
มองดูอยู่นานฟุ้งซ่านใจ |
เถรไทยกลัดกลุ้มเดินดุ่มมา |
ครั้นถึงร้องตะโกนมาแต่ไกล |
เณรแก้วสีไฟพุทธิเจ้าข้า |
เห็นพูดเซ้าซี้กับสีกา |
ฉวยผ้าห่มยุดฉุดชิงกัน ฯ |
๏ สมภารได้ฟังเถรไทยว่า |
ขบเหงือกเหลือกตาโกรธตัวสั่น |
ลุกฉวยไม้เท้าก้าวงกงัน |
ถลันรีบมาเปิดประตูโกรง |
เณรแก้วสายทองทั้งสองคน |
จวนจนเข้าไปแอบอยู่ข้างโอ่ง |
แกหวดด้วยไม้เท้าวิ่งตะโพง |
อ้ายตายโหงอีตายห่าด่าเกนเกน |
สายทองลอดล่องมาลับตัว |
ท่านขรัวร้องเบื่อมันเหลือเถน |
ปรนปรือทุกอย่างจนกลางเพล |
ฝ่ายเจ้าเณรวิ่งวนซุกซนไป |
กระโดดลงหน้าต่างวางวิ่งโทง |
ผ้าผ่อนล่อนโล่งไม่ติดได้ |
สมภารค้นกุฎีไม่มีใคร |
ยังขัดใจบ่นบ้าด่าอึงมา |
ทุดอ้ายเณรหน้าหมาสีกาผี |
โสโครกกุฎีกูหนักหนา |
นั่งลงตำหมากทิ้งสากคา |
ตำพลางด่าว่าจนสาใจ ฯ |
๏ สายทองลอดล่องหนีสมภาร |
ลนลานออกนอกกุฎีได้ |
เหลียวหาเณรพลายก็หายไป |
ไม่มีใครจะรู้ว่าร้ายดี |
ถึงกลางวัดหยุดยืนจัดแจงตัว |
ด้วยความกลัวท่านสมภารจะรีบหนี |
จึงร้องเรียกข้าไทไปทันที |
อีมีเร็วนะกูจะไป |
อีพวกข้าได้ยินนายร้องเรียก |
จึงสำเหนียกถนัดไม่ช้าได้ |
เก็บพิกุลห่อผ้ามาทันใด |
บัดเดี๋ยวใจก็พร้อมกันฉับพลัน ฯ |
๏ สายทองส่งกระทายให้บ่าวข้า |
อีมีรับมาขมีขมัน |
รีบกลับไม่นานถึงบ้านพลัน |
ขึ้นเรือนศรีประจันแล้วยิ้มพราย |
ศรีประจันครั้นเห็นสายทองมา |
เอ็งไปวัดกะไรช้ามาจนสาย |
ไปไหนหน่อยแหละแฉะจะตาย |
ท่านขรัวทายร้ายดีประการใด |
สายทองตอบคำของมารดา |
ช้าอยู่ด้วยท่านฉันจังหันได้ |
ต้องคอยท่านยถาเป็นเท่าไร |
ท่านไปถานเป็นนานจึงกลับมา |
ท่านได้ทักทายข้อร้ายดี |
ว่าเคราะห์แม่พิมนี้เป็นหนักหนา |
ระวังตัวกลัวภัยในสามเวลา |
พ้นนั้นท่านว่าสวัสดี |
ว่าแล้วลุกลามาในห้อง |
แนบน้องพลางกระซิบว่าพิมพี่ |
เณรพลายสู้ตายด้วยพาที |
ให้สัญญาถ้วนถี่ที่จริงจัง |
ถึงอย่างไรคงจะสึกซมมาหา |
ดาบจะล่อคอฆ่าไม่ถอยหลัง |
ไม่ช้าคงจะมาเหมือนสัจจัง |
แม่จงฟังคำพี่อย่าเสียใจ ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว |
หนีสมภารไปแล้วไม่กลับได้ |
ยิ่งคิดเวียนวนให้จนใจ |
อยู่วัดป่าเลไลยก็ช้านาน |
วิชาไม่ชำนาญเชี่ยวชาญแน่ |
ยังวัดแคนั้นว่าเยี่ยมเหี้ยมหาญ |
แม่ทองประศรีบอกมาก็ช้านาน |
ว่าสมภารชื่อคงเป็นคนดี |
อยู่สุพรรณแล้วให้ด้นไปค้นหา |
เพื่อนสนิทบิดาที่เป็นผี |
ไปเรียนต่อพอจะได้ความรู้ดี |
แต่เป็นห่วงพิมพี่นี้สุดใจ |
จะว่าเราหลบลี้หนีสัจจา |
จะสึกไปก็วิชาหาชะงัดไม่ |
ถึงรักสัตย์ต้องตัดความอาลัย |
คิดแล้วห่มสไบรีบเดินมา |
ออกทุ่งมุ่งทางต้นไม้เสียด |
ถึงเพนียดเที่ยวด้นค้นถามหา |
เขาชี้บอกเห็นวัดถนัดตา |
หมายศาลารีบตะบึงถึงวัดพลัน |
พอเถรอ้นกวาดวัดอยู่คนเดียว |
เห็นเณรแก้วแกเหลียวขมีขมัน |
ถามเถรเอ็นดูอย่าพรางกัน |
ท่านสมภารคงนั้นอยู่แห่งไร |
เถรอ้นฟังคดีที่เณรถาม |
ไม่พรางความบอกที่แล้วชี้ให้ |
สามหลังกุฎีมีหอไตร |
เณรแก้วดีใจรีบไคลคลา |
พอขรัวคงลุกออกมานอกชาน |
เณรแก้วกราบกรานเข้าไปหา |
ท่านสมภารถามไปมิได้ช้า |
เอ็งไปไหนมาออเณรนี้ |
เณรแก้วตอบคำท่านขรัวไป |
ฉันคือบุตรขุนไกรที่เป็นผี |
ชื่อว่าพลายแก้วผู้ภักดี |
ท่านทองประศรีเป็นมารดา |
บอกไว้ให้มาหาพระอาจารย์ |
เณรหลานนี้จึงด้นค้นมาหา |
เข้าสุพรรณดั้นถามเนื้อความมา |
จะขอเรียนวิชาสืบต่อไป ฯ |
๏ ครานั้นท่านสมภารได้ฟังว่า |
อออือจริงหวาหาลืมไม่ |
กูชอบชิดเป็นมิตรกับขุนไกร |
ยังแค้นใจที่มันม้วยไม่ต่อมือ |
โดยจะสิ้นความคิดวิทยา |
จะซานมาหากูไม่ได้ฤๅ |
ถ้าใครกล้าตามมาไม่มีครือ |
จะฟันเสียให้ฦๅเป็นแทงลาว |
ถึงยกทัพนับหมื่นเต็มพื้นภพ |
จะผูกผ้าพยนต์รบรับให้ฉาว |
ไม่ทันล่วงราตรีให้หนีกราว |
กลัวจะยกธงขาวไม่ชิงชัย |
กูคิดคิดเสียใจเป็นหนักหนา |
ดังเสียลูกตาขวาก็ว่าได้ |
รำพึงถึงมันทุกวันไป |
กูหมายใจฝากผีมันทีเดียว |
แล้วเหลียวหน้ามาพิศดูพลายน้อย |
กะจ้อยร่อยดูไม่น่าจะอดเหนียว |
กาญจน์บุรีกับสุพรรณไกลกันเจียว |
อุตส่าห์เที่ยวด้นป่ามาหากู |
ทองประศรีอยู่ดีฤๅไฉน |
ต่างคนต่างไกลถิ่นฐานอยู่ |
เจ็บไข้สิ่งใดก็ไม่รู้ |
อยู่กับกูเถิดจะบอกซึ่งวิชา |
กูเห็นแก่ขุนไกรที่ตายแล้ว |
อ้ายเณรแก้วนี่ก็เหมือนมันหนักหนา |
อย่าอาวรณ์กูจะสอนสิ้นตำรา |
มิให้ฆ่าเหมือนพ่อของมึงนี้ ฯ |
๏ เณรแก้วบอกท่านสมภารไป |
พ่อมิใช่สิ้นฤทธิ์คิดถอยหนี |
หากรับสัตย์พระพิพัฒน์วารี |
ไม่ราคีคิดคดขบถใจ |
สู้ยอมตายไว้ชื่อเชื้อทหาร |
มิให้พาลผิดเสียความสัตย์ได้ |
อาคมจึงเสื่อมทุกสิ่งไป |
ท่านไม่เลี้ยงแล้วก็ตามบุญ |
ถ้าบิดาข้าคดต่อแผ่นดิน |
ละสัตย์เสียสิ้นก็จะวุ่น |
เพราะฉะนั้นเขาจึงฟันเล่นเป็นจุณ |
พระคุณอย่าละเหี่ยเสียนํ้าใจ |
อันซึ่งท่านแม่ทองประศรี |
ปีนี้ชราลงไหนไหน |
แต่ไม่หลงกำลังยังว่องไว |
ไม่เจ็บไข้เป็นสุขสำราญดี ฯ |
๏ สมภารได้ฟังเณรแก้วว่า |
อ่อชราลงครันฤๅทองประศรี |
ไม่เห็นหน้ามาประมาณสักสิบปี |
เอ็งอยู่นี่กูจะสอนการณรงค์ |
ความสัตย์ต้องรักษาอย่าให้พลาด |
เพราะประมาทพ่อมึงจึงเป็นผง |
เอ็งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเดินป่าดง |
จงไปอยู่กุฏิข้างหอกลางไป ฯ |
๏ เณรแก้วรับคำแล้วอำลา |
บ่ายหน้าเข้าห้องหาช้าไม่ |
พร้อมทั้งเตียงหมอนที่นอนใน |
ยิ่งเศร้าใจถึงพิมผู้นิ่มนวล |
ยิ่งเย็นยิ่งกระสันประหวั่นถึง |
นอนคะนึงอยู่ในห้องไม่หายหวน |
พอสิ้นแสงสุริยาเวลาจวน |
อุตส่าห์ด่วนหมอบมองเข้าห้องใน |
โบกปัดพัดวีพระอาจารย์ |
ให้สำราญรื่นจิตรพิสมัย |
ปฏิบัติมิให้ขัดข้องเคืองใจ |
สมภารแนะนำให้ไม่ช้าการ |
สะกดทัพจับพลทั้งปลุกผี |
ผูกพยนต์ฤทธีกำแหงหาญ |
ปัถมังกำบังตนทนทาน |
สะเดาะดาลโซ่กุญแจประจักษ์ใจ |
ทั้งพิชัยสงครามล้วนความรู้ |
อาจจะปราบศัตรูไม่สู้ได้ |
ฤกษ์พานาทีทุกสิ่งไป |
ทั้งเสกใบมะขามเป็นต่อแตน |
ชำนาญทั้งกลศึกลึกลับ |
คุมพลแม่ทัพนับตั้งแสน |
สู้ศึกได้สิ้นทั้งดินแดน |
มหาละลวยสุดแสนเสน่ห์ดี |
จังงังขลังคะนองล่องหน |
ฤทธิรณแรงราวกับราชสีห์ |
ถอนอาถรรพ์กันประกอบประกับมี |
เลี้ยงผีพรายกระซิบทุกสิ่งไป |
วิชาสารพัดจะเรียนพร้อม |
ซักซ้อมท่องเล่าทั้งเก่าใหม่ |
แต่คะนึงถึงพิมมิได้ไป |
เพราะอาลัยหลงรักเรียนวิชา ฯ |