๏ ตั้งแต่ทับรามัญเหนทับช้าวพระนครถอยไป, ก็ไล่มิได้เปนกระบวน, จนพระมหาอุปราชาขาดฅอช้างแก่พระนเรศวรเปนเจ้า, แล้วจนพระนเรศวรยกไปเมืองกัมพูชา, เล่ม ๙ ๚ะ

๏ ฝ่ายทับรามัญเหนทับชาวพระนครพ่ายมิได้ตั้งรับ, ก็ยิ่งมีใจกำเริบไล่ระส่ำระสายมิได้เปนกระบวน สมเดจ์พระนเรศวรผู้เปนเจ้าเสดจ์คอยฤกษ, ทอดพระเนตรเหนมหาเมฆตั้งขึ้นมาแต่ทิศพายัพ, แล้วกลับเกลื่อนคืนกระจายอันตรธานไป, พระสุริยะเทวบุตรจรัศแจ่มดวงในนภดลอากาศ พระมหาราชครูพระครูปโรหิตาจารย์โหราธิบดี,ก็ลั่นฆ้องไชยดำเนินธง พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็เสดจ์ทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนคชาธาร, สมเดจ์เอกาทศรฐอิศวรบรมนารถราชอนุชา, เสด็จทรงเจ้าพระยาปราบไตรจักร เปนพระคชาธาร, พลทหารก็โห่สนั่นบันฦๅศับท์แตรสังข์, เสียงประโคมฆ้องกลองชนะกลองศึกสท้านสเทือนประหนึ่งแผ่นดินจะไหว, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ยาตราพระคชาธารเปนบาทย่างสเทินมาเบื้องขวา, ปะฝ่ายซ้ายฆ่าศึก เจ้าพระยาไชยานุภาพ, เจ้าพระยาปราบไตรยจักรได้ยินเสียงพล, แลเสียงฆ้องกลองศึกอึงคนึง, ก็เรียกมันครั่นครื้น, กางหูชูหางกิริยาป่วนเดินเปนบาทอย่างใหญ่เร็วไปด้วยกำลังน้ำมัน ช้างพระยามุขมนตรีแลโยธาหารซ้ายขวาน่าหลังทั้งนั้น, ตกไปมิทันเสดจ์พระคชาธาร สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ใกล้ทับน่าฆ่าศึก, ตรัสทอดพระเนตรเหนพลพม่ารามัญยกมานั้นเต็มท้องทุ่ง,เดินดุจคลื่นในมหาสมุท, ฆ่าศึกไล่พลชาวพระนครครั้งนั้น, สลับซับซ้อนกันมิได้เปนกระบวน สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็ขับพระคชาธารเข้าโจมแทงช้างม้ารี้พล, ไล่ส่ายเสียถีบฉัดลุมบอน พลพม่าล้มตายเกลื่อนกลาด, ช้างม้าฆ่าศึกได้กลิ่นน้ำมันพระคชาธาร, ก็หกหันตลปปะกันเปนอลมาน พลพม่ารามัญก็โทรมยิงธนูน่าไม้ปืนไฟระดมเอาพระคชาธาร, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, แลธุมาการก็ตระหลบมืดเปนหมอกมัวไปมิได้เหนประจักษ พระบาทสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, จึงประกาศแก่เทพยดาทั้งปวงว่า, ให้บังเกิดมาในประยูรมหาเสวตรฉัตร์, จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึ่งมิช่วยให้สว่างเหนฆ่าศึกเล่า ภอตกพระโอฐลง, พระพายก็พัดควันอันเปนหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเหนช้างเสวตรฉัตรสิบสองช้าง, มีช้างดั้งช้างกันยืนอยู่เปนอันมาก, แต่มิได้เหนอุปราชา ครั้นเลือบไปทิศขวาพระหัถ, ก็เหนช้างเสวตรฉัตรช้างหนึ่ง, ยืนอยู่ณฉายาไม้ข่อยมีเครื่องสูงแลทหารน่าช้างมาก ก็เข้าพระไทถนัดว่า, ช้างพระมหาอุปราชา พระเจ้าอยู่หัวทั้งองพระองค์, ก็ขับพระคชาธารตรงเข้าไป ทหารน่าช้างฆ่าศึก, ก็วางปืนจ่ารงมณฑกนกสับตระแบงแก้วระดมยิง, มิได้ต้องพระองค์แลพระคชาธาร สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, จึ่งตรัสร้องเรียกด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า, พระเจ้าพี่เวาจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธ์หัตถีด้วยกัน, ให้เปนเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด, พ่ายน่าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธ์หัตถีแล้ว พระมหาอุปราชาได้ฟังดั่งนั้นแล้ว, ลอายพระไทยมีขัติยราชมาณะ ก็บ่ายพระคชาธารออกมารับ เจ้าพระยาไชยานุภาพเหนช้างฆ่าศึก, ก็ไปด้วยฝีล้นน้ำมันมิทันยั้งเสียที, พลายพัทกอได้ล่างแบกรุนมา, พระมหาอุปราชาจ้วงฟันด้วยพระแสงฃอง้าว สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าเบี่ยงพระมาลารับ, พระแสงฃอมิได้ต้องพระองค์ เจ้าพระยาไชยานุภาพสบัดลงได้ล่างแบกถนัด, พลายพัทกอเพลี่ยงเบนไป สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าได้ที, จ้วงฟันด้วยพระแสงพลพ่าย, ต้องพระอังษาเบื้องขวาพระมหาอุปราชาตลอดลงมาจนประจิ่มุราประเทศ, ซบลงกับฅอช้าง แลนายมหานุภาพควานพระคชาธาร, ของพระนเรศวรเปนเจ้านั้น, ต้องปืนฆ่าศึกตายขณะเมื่อสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ชนช้างด้วยพระมหาอุปราชานั้น เจ้าพระยาปราบไตรยจักร, ซึ่งพระคชาธารสมเดจ์พระเอกาทศรฐ, ก็เข้าชนช้างด้วยพลายพัชเนียงช้างมางจาชะโร เจ้าพระยาปราบไตรยจักรได้ล่าง, พัชเนียงเสียทีเบนไป สมเดจ์เอกาทศรฐจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว, ต้องศอมางจาชะโรขาดตายกับฅอช้าง หมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเดจ์พระเอกาทศรฐนั้น, ต้องปืนฆ่าศึกตาย ๚ะ

๏ ขณะเมื่อสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ทำคชสงครามได้ไชยชำนะมหาอุปราชาแลมางจาชะโรแล้ว, บันดาท้าวพระยามุขมนตรี, นายทัพนายกองซ้ายขวาน่าหลังทั้งปวง, จึ่งมาทันเสดจ์, เข้ารบพุ่งแทงฟันฆ่าศึกเปนสามารถ แลพวกพลพม่ารามัญทั้งนั้น, ก็แตกกระจัดกระจายไป, เพราะพระเดชเดชานุภาพ สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้นายทับนายกองทั้งปวง, ยกไปตามจับฆ่าศึก แล้วเสดจ์คืนมายังพลับพลา, พระราชทานชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนเจ้าพระยาปราบหงษาวดี บันดามุขมนตรีนายทับนายกองทั้งปวง, ซึ่งตามฆ่าศึกนั้น, ได้ฆ่าฟันพม่ามอญโดยทางไปกาญจนบุรี, สบเกลื่อนไปแต่ตะพังตรุนั้น, ประมาณสองหมื่นเสศ จับได้เจ้าเมืองมะลวน, แลนายทับนายกอง, กับไพร่เปนอันมาก ได้ช้างใหญ่สูงหกศอกสามร้อย ช้างพลายพังระวางเพรียวห้าร้อย, ม้าสองพันเศศมาถวาย สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสให้ก่อพระเจดียถาน สรวมศพพระมหาอุปราชาไว้ตำบลตะพังตรุ ขณะนั้นโปรดพระราชทานช้าง ๆ หนึ่ง, กับหมอแลควาน, ให้เจ้าเมืองมะลวนกลับขึ้นไปแจ้งแก่พระเจ้าหงษาวดี พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็เสด็จกลับคืนพระนครแล้วตรัสว่า, เจ้ารามคพกลางช้าง, กับขุนศรีคชคงควาน, ซึ่งได้ผจนฆ่าศึกจนมีใชยชำนะด้วยพระองค์ก็ปูนบำเหน็จพระราชทานยศถาศักดิ์, เครื่องอุประโภคบริโภค, เสื้อผ้าเงินทอง ฝ่ายนายมหานุภาพควานช้าง, หมื่นภักดีศวรกลางช้าง, ได้โดยเสดจ์งานพระราชสงคราม, จนถึงสิ้นชิวิตรในท่ำกลางศึกนั้นมีความชอบ, ให้เอาบุตร์ภรรยามาชุบเลี้ยง, พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค, เงินทองเสื้อผ้าโดยสมควร ๚ะ

๏ แล้วมีพระราชดำรัศให้ปฤกษาโทษนายทับนายกองว่า, ฆ่าศึกยกมาถึงพระนคร, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ตั้งพระไทยจะรักษาพระพุทธสาศนา, แลสมณพราหมณาจารยอาณาประชาราษฎร, มิได้คิดเหนื่อยยากลำบาก, พระองค์ทรงพระอุษ่าห์เสดจ์พยุหโยธาทับออกไปรณรงค์ด้วยฆ่าศึก, แลนายทับนายกองกลัวฆ่าศึกยิ่งกว่าพระราชอายา มิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินให้ทัน, ละแต่พระคชาธารสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ให้เข้าอยู่ท่ำกลางฆ่าศึก, จนได้กระทำยุทธหัดถีมีไชยชนะพระมหาอุปราชาเสร็จ, โทษนายทับนายกองทั้งนี้จะเปนประการใด พระมหาราชครูพระครูประโรหิตทั้งปวง, ปฤกษาใส่ด้วยพระอัยการศึก, ภบพระกฤษฎิกาว่า, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนินงานพระราชสงคราม, แลเกนผู้ใดเข้าในกระบวนแล้ว, มิได้โดยเสดจ์ให้ทันเมื่อขณะยุทธ, ท่านว่าโทษผู้นั้นเปนอุกฤษฐ, ให้ประหารชีวิตรเสียอย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง เอาคำพิภาคษากราบทูล, มีพระราชดำรัศสั่งให้ตามลูกขุนปฤกษา แต่ทว่าบัดนี้จวนวันจาตุทศีบัณรสีอยู่, ให้เอานายทัพนายกองจำเรือนตรุะไว้ก่อนสามวัน, พ้นแล้วจึ่งให้สำเร็จโทษโดยพระไอยกาศึก ๚ะ

๏ ครั้น ณวันอาทิตยเดือนเจดแรมสิบห้าค่ำ, สมเดจ์พระพนรัตน์ป่าแก้ว, แลพระราชาคณะยี่สิบห้ารูป, เข้ามาถวายพระพรถามข่าว, ซึ่งเสดจ์งานราชสงครามได้กระทำยุทธหัดถีมีไชยชนะพระมหาอุปราชา สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็แถลงการซึ่งปราบประจามิตรให้ฟังทุกประการ สมเดจ์พระพนรัตน์จึ่งถวายพระพรว่า, พระราชสมภารมีไชยแก่ฆ่าศึกอีก, เปนไฉนข้าราชการทั้งปวงจึ่งต้องราชทันฑ์เล่า สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งตรัสบอกว่า, นายทับนายกองเหล่านี้,อยู่ในกระบวนทับโยม,มันกลัวฆ่าศึกมากกว่าโยม, ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ำกลางศึก, จนได้กระทำยุทธหัดถีกับมหาอุปราชามีไชยชำนะแล้ว, จึ่งได้เหนหน้ามัน นี้หากว่าบาระมีของโยม, หาไม่แผ่นดินจะเปนของชาวหงษาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดั่งนี้โยมจึ่งให้ลงโทษพระไอยการศึก. สมเดจ์พระพนรัตน์จึ่งถวายพระพรว่า, อาตมภาพพิเคราะห์ดูอันข้าราชการเหล่านี้, จะไม่รักษไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ แลเหตุทั้งนี้จะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเปนมหัศจรรย์, เหมือนสมเดจ์พระสรรเพชพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสดจ์เหนืออปราชิตบันลังก์, ควงพระมหาโพธิณเพลาสายันห์ครั้งนั้น เทพยเจ้ามาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาฬ, แลพระยาวสวัติมารยกพลเสนามารมาผจนครั้งนั้น, ถ้าได้เทพยดาเจ้าเปนบริวาร, แลมีไชยแก่พระยามาร, ก็หาสู้เปนมหามหัศจรรย์นักไม่ นี่เผอินให้หมู่อมรอินทรพรหมทั้งปวงประลาศหนีไปสิ้น, ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจนพระยามาราธิราช, กับพลเสนามารให้ปราไชยพ่ายแพ้ได้ จึ่งสมเดจ์พระบรมโลกย์นารถเจ้าได้ทรงพระนามว่า, พระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชดาญาณ, เปนมหัศจรรยดาลดิเรกทั่วอนันตโลกธาตุเบื้องบนตราบเท่าถึงภวักคพรหม, เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเปนที่สุด ก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสดจ์พร้อมด้วยเสนานิกรโยธาทวยหารมาก, แลมีไชยแก่พระอุปราชานั้น, หาสู้เปนมหัศจรรยแผ่พระเกียรติยฑปรากฎไปนาๆประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระปริวิตกโทรมนัศน้อยพระไทยเลย, อันเหตุที่เปนนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์, จักสำแดงพระเกียรติยศดุจอาตมภาพถวายพระพรเปนแท้ สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังพระพนรัตน์ถวายวิสัชนากว้างขวาง, ออกพระนามสมเดจ์พระบรมโมลีโลกยครั้งนั้น, รฦกถึงพระคุณอันยิ่ง, ก็ทรงพระปีติโสมนัศตื้นเตมพระกระมลราชหฤๅไทยปราโมช, ยกพระกรประนมเหนือพระอุตมางคสีโรศม์, นมัศการออกพระโอฐว่า, สาธุสาธุพระผู้เปนเจ้าว่านี้ควรหนักหนา สมเดจ์พระพนรัตน์เหนว่า, พระมหากระษัตรีย์คลายพระโกรธแล้ว, จึ่งถวายพระพรว่า,พระราชาคนะทั้งปวงเหนว่า, ข้าราชการทั้งปวงซึ่งเปนโทษเหล่านี้, ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งสมเดจ์พระบรมราชไอยกา, แลสมเดจ์พระพุทธเจ้าหลวง, แลทำราชการมาใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา, ดุจพุทธบริสัตว์สมเดจ์บรมครูเหมือนกัน ขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด, จะได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า, พระผู้เปนเจ้าขอแล้ว, โยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเอาเมืองตนาวศรีเมืองทวายแก้ตัวก่อน สมเดจ์พระพนรัตน์ถวายพระพรว่า, การซึ่งจะให้ไปตีเมืองนั้น, สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ใช่กิจสมณ แล้วสมเดจ์พระพนรัตน์, พระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ พระราชกำหนฎให้พระยาจักรีถือพลห้าหมื่นไปตีเมืองตนาวศรี, ให้พระยาพระคลังถือพลห้าหมื่นยกไปตีเมืองทวาย พระยาจักรี, พระยาพระครัง, นายทับนายกอง, ก็ถวายบังคมลายกไปโดยพระราชกำหนด ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศว่า, ซึ่งเราทิ้งหัวเมืองฝ่ายเหนือเสียเลิกครอบครัวลงมานั้น, ก็หาสิ้นทีเดียวไม่ ครั้งนี้ศึกหงษาวดีก็ถอยกำลังแล้ว, ถึงมาทว่าจะมีมาก็ไม่เกรง, เราจะบำรุงเมืองทั้งนี้, จะให้เปนเกียรติยศไว้กราบเท่ากัลปาวสาน จึ่งตั้งให้พระยาไชยบูรณเปนเจ้าพยาสุรศรีครองเมืองพระพิศณุโลกย, ให้พระศรีเสาวราชไปรักษาเมืองศุโขไทย,ให้พระอ่างทองไปรักษาเมืองพิไชย, ให้หลวงจ่าไปรักษาเมืองสวรรคโลกย บันดาหัวเมืองทั้งปวง, ก็ให้เจ้าเมืองกรมการแต่งไปเรียกร้องรวบรวมไพร่พล, ซึ่งแตกฉานทร่านเซนอยู่ป่าดังนั้นทุกเมือง ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าเมืองมะลวนชาวหงษาวดี, ซึ่งสมเดจพระนเรศวรจับได้ให้ปล่อยกลับไปนั้น, ก็ภบนายทัพนายกองพม่ามอญ, ซึ่งแตกฉานซ่านเซนโดยด่านโดยทางไปรวบรวมกันได้, ก็ภากลับไปกรุงหงษาวดี, เข้าเฝ้ากราบทูลซึ่งประพฤติเหตุ, ซึ่งพระมหาอุปราชาเสียพระชนชีพกับฅอช้างนั้น, ให้ทรงทราบทุกประการ สมเดจพระเจ้าหงษาวดีแจ้งดั่งนั้น, ก็เสียพระไทยโทมนัศคิดอาไลยถึงพระราชบุตร, แล้วทรงพระโกรธแก่นายทับนายกองว่า, นเรศวรกับเอกาทศรฐน้องชายเข้ามารบแต่สองช้าง, เปนคนกลางคนควานช้างหกคนเท่านั้น, พลเราถึงห้าสิบหมื่น ถึงมาทว่าจะมิถือสาตราวุทธเลย, จะประหารด้วยก้อนดินแต่คลก้อน, ก็จะไม่ครณามืออีก นี่ละให้เสียพระราชโอรสแห่งเรา, ไหนจะเลี้ยงต่อไปได้ ให้ลงพระราชอาญาทั้งนายทั้งไพร่, แล้วจำใส่เรือนตรุไว้, อยู่ประมาณหกเจดวัน พระเจ้าหงษาวดีทรงพระราชดำริห์ว่า, นเรศวรทำศึกว่องไวหลักแหลมองอาจนัก, จนถึงยุทธหัตถีมีไชยแก่มหาอุปราชา, เอกาทศรฐเล่าก็มีไชยแก่มางจาชะโร เหนพี่น้องสองคนนี้จะมีใจกำเริบยกมาตีพระนครเราเปนมั่นคง แต่ทว่าจะคิดเอาเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ,เมืองทวายก่อน จำจะให้นายทับนายกอง, แลไพร่ซึ่งไปเสียทับมานี้, ให้ยกไปรักษาเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ, เมืองทวายไว้ให้ได้, ศึกจึ่งจะไม่ถึงหงษาวดี ครั้นทรงพระราชดำริห์แล้วเพลารุ่งเสดจ์ออก, ตรัสสั่งให้ถอดนายทับนายกองออกจากสังขลิกพันทนาการ, แล้วให้เร่งยกลงไปรักษาเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ, เมืองทวาย, ไว้ให้ได้ ถ้าเสียเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ, เมืองทวาย, แก่ฆ่าศึก, จะเอานายทับนายกองทั้งปวง, แลไพร่พลทั้งนี้ใส่เล่าเผาเสียให้สิ้นทั้งโคต นายทับนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลา, ยกกองทับไปจากกรุงหงษาวดี ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งกิจการในกรุงเทพมหานคร, ขึ้นไปเสร็จสิ้นทุกประการ, ก็เกรงพระเดชเดชานุภาพ จึ่งตรัสแก่แสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า, บัดนี้สมเดจ์พระเจ้ากรุงพระนครศรีอยุทธยาถึงแก่สวรรคต, สมเดจ์พระนเรศวรราชบุตรได้ครองราชสมบัติ, พระมหาอุปราชายกลงมาได้กระทำคชพยุห์ถึงแก่พิราไลยกับฅอช้าง แล้วทับกรุงเทพพระมหานครศรีอยุทธยาออกไปตีเมืองมฤทธิ, เมืองทวายอยู่แล้ว. อันหมู่ราชปรปักษ์ที่จะเข้ารอต่อยุทธด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานั้น, ดุจหนึ่งฝูงมิคชาติอันจะเข้าไปต่อสักดาเดชพระยาสิงหราช. ถ้ามิชนั้น, ดุจหนึ่งโลมชาติสกุณปักษาอันเข้าไปรอเปลวเพลิง, มีแต่จะพินาศฉิบหายลงทุกที. บัดนี้เล่าพิเคราะห์ดูพระเจ้าหงษาวดีเสียพระมหาอุปราชาราชบุตร, เหมือนหนึ่งพระกรเบื้องขวาขาดแล้ว. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชเล่า, ทรงพระกฤษฎาเดชานุภาพยิ่งทวีขึ้น, ดุจพระทินกรสถิตยลอยอยู่เหนืออากาศอันปราศจากเมฆ, ขณะเมื่อเพลาเที่ยงแสงรัศมีมีแต่กล้าขึ้นไป, ที่ไหนกรุงหงษาวดีจะพ้นเงื้อมพระหัถ จำเราจะลงไปอ่อนน้อมถวายเครื่องราชบรรณาการพึ่งพระเดชเดชานุภาพ, จึ่งจะพันไภยอันตราย. แสนท้าวพระยาล้าวทั้งปวงได้ฟังราชบัญชาก็มีความยินดี, ดุจหนึ่งมัณฑกชาติอันพ้นจากปากอสรพิศม์. พระเจ้าเชียงใหม่จึ่งแต่งลักษณพระราชสาสน์, ให้นันทพย์, กับแสนหนังสือ, แลแสนหลวงจำทูลพระราชสาสน์, คุมเครื่องราชบรรณาการมาโดยด่านเมืองตาก. พระยากำแพงเพชร์ก็แต่งขุนหมื่นกรมการคุมทูตลงมาถึงพระนครศรีอยุทธยา. อัศมาเสนาธิบดีจึ่งกราบทูล, พระบาทสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, เสดจ์ออก ณพระที่นั่งมังคลาพิเศก, พร้อมด้วยหมู่มุขอุไภยสมุหมนตรีกระวีราชประโรหิตาโหราจารย, เฝ้าพระบาทบงกชมาศดาษดั่งดวงดารากร รายรอบพระรัชนิกรเทวบุตร, จึ่งดำรัศสั่งให้เบิกทูตานุทูตเข้าเฝ้า พระศรีภูริปรีชาอ่านในลักษณพระราชสาสน์นั้นว่า, พระเจ้าเชียงใหม่เปนอิศราธิปไตยในมลาประเทศ, ฃอโน้มน้อมศรีโรดมถวายวันทนะประนามมาแทบพระบาทยุคลสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ด้วยข้าพระบาทแต่ก่อนขัดพระราชอาชาผู้เปนอิศราธิปไตยในรามัญประเทศมิได้, อาจยกพยุหโยธามากระทำจลาจลแก่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเปนหลายครั้ง, ให้เคื่องใต้เบื้องบาทบงกชมาศ, ฃอพระองค์จงทรงพระกรุญภาพ บัดนี้ข้าพระบาทจะขอพระราชกฤษฎาเดชานุภาพอพินิหารบารมีปกเกล้าเกษ, ดุจหนึ่งปริมณฑลร่มพระมหาโพธิ. ถ้าพระองคจะเสดจยกพยุหโยธาทับไปแห่งใด, จะขออาษาโดยเสดจงานพระราชสงครามกว่าจะสิ้นกำลัง. ข้าพระองค์ให้นันทพย, กับแสนหนังสือ, แสนหลวงจำทูลพระราชสาสน์เชิญเครื่องมงคลราชบันณาการลงมาจำเริญทางพระราชไม้ตรี. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟัง, ทรงพระโสมนัศ, จึ่งมีพระราชประติสัณฐารปราไศรยแก่ทูตานุทูตสามนัดแล้ว, ดำรัศสั่งให้พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยถานานุกรม. แล้วแต่งตอบพระราชสาสน์ส่งทูตานุทูตกลับไป. ฝ่ายนันทพย, กับแสนหนังสือ, แสนหลวงกลับขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่ทูลราชกิจเสร็จสิ้นทุกประการ. พระเจ้าเชียงใหม่ก็โสมนัศ, ดุจหนึ่งผู้เดินมาตามสถลรัษฐยากันดานไกล, ในเพลาเที่ยงร้อนกระวลกระวายด้วยแสงพานุมาศกล้า, แลมีผู้เอาน้ำอันเอย็นมาโสมาโสดสรงกายาให้เอย็นสบาย. ๚ะ

๏ ขณะนั้นภอมีหนังสือบอกเจ้าเมืองเชียงแสนมาว่า, ชาวด่านเมืองล้านช้างไปตรวจกระเวนด่าน, ภบกันเข้าวิวาทฆ่าฟันกันตาย. บัดนี้พระเจ้าล้านช้างแต่งให้พระยาเมืองหลวง, เมืองแสนเปนแม่ทับพลประมารณเจ็ดพัน, ยกขึ้นถึงเมืองเชียงแสนได้รบพุ่งกันอยู่แล้ว. ขอให้พระเจ้าพื้นหอคำจัดแจงเอากำลังมาช่วยค้ำเอา. พระเจ้าเชียงใหม่ได้ทราบก็จัดกองทับไปช่วย, แล้วแต่งหนังสือบอกลงไปให้กราบทูลพระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวว่า, กองทัพล้านช้างยกมาตีเมืองเชียงแสน, ขอให้กองทับกรุงขึ้นมาช่วย. แต่งแล้วสั่งให้พระยาหลวงเมืองแก้ว, หมื่นโยธากับไพร่ยี่สิบคนถือลงไป.ครั้นถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, อัคมหาเสนาบดีนำหนังสือบอกเข้ากราบบังคมทูล. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคตรัสทราบ, จึ่งดำรัศให้พระราชฤทธานนทถือพลห้าพันสรัพไปด้วยเครื่องสาตราวุทธใหญ่น้อย, ช้างเครื่องห้าสิบ, ม้าสองร้อย. เอาพระรามเดโช, ซึ่งเปนชาวเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปด้วย. แล้วจึ่งมีพระราชดำรัศสั่งให้พระราชฤทธานนทว่า, ถ้าสำเร็จราชการแล้ว, ให้พระรามเดโชอยู่ช่วยราชการพระเจ้าเชียงใหม่. พระราชฤทธานนทกราบถวายบังคมลา, ยกทับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่. ครั้นถึงเข้าเฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่, ต่างแจ้งราชการโดยควร, แล้วก็ยกไปตั้ง ณเมืองเชียงแสน ฝ่ายกองทับล้านช้างแจ้งว่า, กองทับกรุงเทพพระมหานครยกขึ้นไปก็งดการรบไว้. พระยาเสนากับพระยาหลวงเมืองแสนแม่ทับล้านช้างเจรจาความเมืองกัน, พระยาหลวงเมืองแสนเกรงพระเดชเดชานุภาพ, ก็เลิกทับกลับไปเมือง. พระราชฤทธานนท์, ก็ให้พระรามเดโชอยู่ช่วยราชการเมืองเชียงใหม่โดยพระราชกำหนด. พระยาราชฤทธานนท์ก็เลิกทับกลับมาถึงกรุงเทพมหานครกราบทูลซึ่งได้ไปประจบกองทับเมืองล้านช้าง, กับกองทับเมืองเชียงแสนเสร็จสิ้นทุกประการ. ๚ะ

๏ ฝ่ายทับพระยาจักรีก็ถึงเมืองตนาวศรี, ทับพระยาพระคลังก็ถึงเมืองทวาย. เจ้าเมืองตนาวศรี, เจ้าเมืองทวายก็บอกหนังสือขึ้นไปณเมืองหงษาวดี. ฝ่ายนายทับนายกองรามัญก็ยกมาถึงเมืองเมาะตมะ, ภอเรือถือหนังสือบอกเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ์, เมืองทวายไปถึงเมาะตมะ, ว่ากองทับไทยยกไปตีเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ์, เมืองทวาย, ชาวเมืองได้รบพุ่งกันเปนสามารถ. แลทับไทยครั้งนี้หักหารชาวเมืองมฤทธิ์, เมืองทวาย, เมืองตนาวศรีรับกลางแปลงมิอยุด. บัดนี้ได้แต่รักษาน่าที่อยู่, แลกองทับไทยเข้าล้อมเมืองตนาวศรีได้เก้าวัน, ล้อมเมืองทวายได้เจ็ดวันแล้ว. ขอกองทับเร่งลงไปช่วยโดยเร็ว, เมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิ์ เมืองทวายจึ่งจะพ้นเงื้อมมือฆ่าศึก. เจ้าเมืองเมาะตมะบอกข้อราชการขึ้นไปกรุงหงษาวดี. พระเจ้ากรุงหงษาวดีแจ้งดั่งนั้น, ก็แต่งให้ข้าหลวงลงไปเร่งกองทับให้รีบยกไปช่วยให้ทัน.ฝ่ายพระยาจักรี่มาถึงแดนเมืองตนาวศรี ตีบ้านรายทางกวาดผู้คนไปได้ไว้เปนอันมาก. แล้วยกเข้าล้อมเมืองตนาวศรี.ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันเปนสามารถสิบห้าวัน. พระยาจักรีก็แต่งทหารเข้าปล้นเมืองในเพลาตีสิบเบ็ดทุ่ม, ภอรุ่งเช้าประมาณโมงเศศก็เข้าเมืองได้. ฝ่ายกองทับพระยาพระคลังยกเข้าตีแดนเมืองทวาย, ชาวทวายยกออกมารับก็แตก, เสียเครื่องสาตราวุธล้มตายเปนอันมาก. พระยาพระคลังก็ยกเข้าไปภักพลค่ายริมน้ำฟากตวันออก เหนือคลองละหาหมั้นแล้ว ก็ยกตามไปล้อมเมืองไว้อยู่ถึงยี่สิบวัน. ทวายจ่าเจ้าเมืองทวายเหนเหลือกำลัง, จะรักษาเมืองไว้มิได้. จึ่งแต่งให้เจตองวุน, กับจุนทก, ออกไปขอเปนข้าขอบขันทเสมา ถวายดอกไม้ทองเงิน.ขณะเมื่อพระยาจักรีได้เมืองตนาวศรีนั้น, คิดว่ากองทับเมืองหงษาวดี, เมืองเมาะตมะจะยกทุ่มเทลงมาช่วย. จึ่งจัดได้สะลุบลูกค้าฝรั่งลำหนึ่ง, แขกสองลำ, เรือรบ ๑๕๐ ลำ. ให้หลวงเทพวรชุนเปนแม่กองเรือรบถือพลหมื่นหนึ่ง, ยกขึ้นไปเมืองทวายโดยทางทเล. ให้พระยาศรีไสณรงค์คุมไพร่หมื่นหนึ่ง, อยู่รักษาเมืองตนาวศรี. แลพระยาจักรีก็ยกพลสามหมื่นขึ้นไปเมืองทวายทางบก, ๚ะ

๏ ฝ่ายหลวงเทพวรชุนซึ่งเปนแม่ทับเรือนั้น, ยกขึ้นมาถึงตำบลบ้านการบอแดนเมืองทวาย, ภอภบทับเรือสมิงอุบากอง, สมิงพะตะบะยกมาแต่เมืองเมาะตมะ, เรือรบเรือบันทุกสองร้อยลำ, พลประมาณหมื่นหนึ่ง, จะลงไปช่วยเมืองตนาวศรี. ได้รบกันแต่เพลาเช้าจนเที่ยง, ภอคลื่นหนักก็ทอดรอยิงกันอยู่ ฝ่ายพระยาพระคลังได้เมืองทวายแล้ว, คิดว่าพระยาจักรีตีเมืองตนาวศรี, เมืองมฤทธิจะได้ฤๅมิได้ก็ไม่รู้. จึ่งแต่งให้พระพิไชยสงคราม, พระรามกำแหง, คุมไพร่ห้าพันบันจุเรือรบร้อยลำ, ยกไปช่วยพระยาจักรี. ขณะเมื่อพระพิไชยสงคราม, พระรามกำแหงยกออกมาปากน้ำเมืองทวายไปแล้ว, ก็ได้ยินเสียงปืนรบกัน.จึ่งให้ขุนโจมจัตุรงค์กับเรือรบกองน่าสามลำลงไปสืบ. ขุนโจมจัตุรงค์ก็ลงไปถึงหลวงเทพวรชุน, แล้วกลับขึ้นมาแจ้งข้อราชการทุกประการ. พระพิไชยสงคราม, พระรามกำแหงแจ้งดั่งนั้น, ก็ตีกระนาบเข้าไป. ฝ่ายหลวงเทพวรชุนก็ตีกระทบขึ้นมา, วางปืนกำปั่นไปต้องสมิงอุบากองตาย. เรือสมิงพะตะบะแตกจมน้ำตายทั้งนายไพร่, กองทับมอญทั้งนั้นแตกกระจัดกระจาย. บ้างหนีเข้าฝั่งชักใบกลับไป, ตายในน้ำแลต้องปืนตายเปนอันมาก. ได้เรือรบเรือบันทุก, ปืนใหญ่แลเครื่องสาตราวุธต่าง ๆ จับได้เปนประมาณห้าร้อยเศศ ก็แจ้งว่ากองทับบกยกมาช่วยเมืองทวายด้วย. พระพิไชยสงคราม, พระรามกำแหง, หลวงเทพวรชุน, ก็ภากันเข้าไปณะเมืองทวาย. ภอพระยาจักรีก็ยกมาถึง. นายกองทับเรือทั้งสามคนก็เอามอญเชลย, แลเรือรบปืนใหญ่ปืนน้อยเครื่องสาตราวุธนั้น, เข้าไปให้พระยาจักรี, พระยาพระครัง, แล้วแจ้งว่ากองทับบกยกมาช่วยเมืองทวาย, บัดนี้ข้ามแม่น้ำเมาะตมะแล้ว. พระยาจักรี, พระยาพระคลังแจ้งดั่งนั้น ก็แต่งทับเปนสองทับ, ทับพระยาจักรีเดินทางฟากตวันออก, ทับพระยาพระคลังเดินทางฟากตวันตก, ไปซุ่มอยู่ทั้งสองฟากโดยทางทับมอญจะยกมา. ๚ะ

๏ ฝ่ายท้าวพระยารามัญนายกองยกมาใกล้เมืองกลีออง, มิได้รู้เหตุว่าเมืองตนาวศรี, เมืองทวายเสียแล้ว, ก็แยกทับกัน. เจ้าเมืองมะลวนเดินทางกลีอองมาเสียข้างฟากตวันออก, ทับเจ้ากลิตตองบูเดินทางริมชายทเลฟากตวันตก, มาถึงตำบลป่าเหนือบ้านหวุ่นโพะ. ทับไทยซึ่งตั้งอยู่ทั้งสองฟากเหนทับพม่ารามัญยกล้ำลงมา, ก็ออกโจมตีทับมอญมิทันรู้ก็แตกกระจัดกระจายไป. กองทับทั้งสองฟากจับได้ข้างพลายร้อยเศศ, ม้าพันเศศ, พม่ารามัญสี่ร้อยเศศ, เครื่องสาตราวุทธเปนอันมาก. ได้นายทับนายกองสิบเบ็ดคน. พระยาจักรี, พระยาพระคลังบอกข้อราชการเข้ามา, ให้กราบทูล. สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ดีพระไทย. ตรัสให้ตอบออกไป, ให้พระยาศรีไสณรงค์อยู่รั้งเมืองตนาวศรี, ให้เอาทวายจ่าเจ้าเมืองทวายเข้ามาเฝ้าพระยาจักรี, พระยาพระคลังจัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้ว, ก็ให้ยกกลับมาเถิด. พระยาจักรี, พระยาพระคลังแจ้งดั่งนั้นแล้ว, ก็บอกลงไปเมืองตะนาวศรี, ตามพระราชบัญหารทุกประการ. แล้วให้ทวายจ่าเจ้าเมืองทวายอยู่ดั่งเก่า, ให้จัดชาวทวายเปนปลัดที่ปลัดชื่อออพระปลัด, ผู้หนึ่งให้เปนยกกระบัตร์ชื่อออลังปลัด, ผู้หนึ่งเปนที่นาชื่อออลนัตร์, ผู้หนึ่งเปนที่วังชื่อคงปลัด, ผู้หนึ่งเปนที่คลังชื่อแมงจกี, ผู้หนึ่งเปนที่สัศดีชื่อคงแวง, ทัตคงจ่าเปนที่เจ้าเมือง ๚ะ

๏ ครั้นตั้งแต่งขุนหมื่นผู้ใหญ่ผู้น้อย, แลจัดแจงบ้านเมืองเปนปรกติเสร็จแล้ว, ครั้นณเดือนห้าขึ้นสิบเอ็ดค่ำ, พระยาจักรี, พระยาพระคลัง, ก็ภาเอาตัวทวายจ่าเจ้าเมืองกับผู้มีชื่อตั้งไว้หกคนนั้นเข้ามาด้วย. ขณะนั้นยกกองทับเข้ามาโดยขมองส่วยถึงตำบลเขาสูง, ช่องแคบแดนพระนครศรีอยุทธยากับเมืองทวายต่อกัน, หาที่สำคัญมิได้, จึ่งให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวง, มาประสมกันเข้าเปนใบสอก่อพระเจดียถานสูงหกศอก, ภอหุงอาหารศุกก็เสรจ, แล้วยกเข้ามาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยาเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเดจพระเจ้าอยู่หัว โดยประพฤติเหตุทั้งปวง สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงทราบดังนั้น, ก็มีความยินดี. จึ่งโปรดให้พระยาจักรี, พระยาพระคลัง, นายทับนายกองทั้งปวงพ้นโทษ แล้วมีพระราชบริหารกำหนด, ให้ชุมนุมท้าวพระยามุขมนตรีกระวีราชปะโรหิตาจารย, ทุกหมู่,ทุกกระทรวงครั้นถึงณวันพระราชกำหนด, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคเสดจออก, ให้เบิกแขกเมืองทวายจ่ากับขุนนางหกคนเข้าเฝ้า แล้วพระราชทานเครื่องอุปะโภคบริโภคแล้ว ตรัสพระราชทานโอวาทโปรดให้ทรายจ่ากับขุนนางหกคนกลับออกไปรักษาเมืองทวาย. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๙๔๓ ปีมเสงตรีศก, สมเดจพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า, เมืองตนาว, เมืองมฤทธิ, เมืองทวาย, เมืองเชียงใหม่, เปนของเราแล้ว, เหนศึกหงษาวดีจะห่างลง, จำจะยกไปแก้แค้นพระยาลแวกให้ได้, น้ำลงแห้งท้าวช้างท้าวม้าแล้วจะยกไป. ครั้นถึงณวันเสาร์เดือนยี่ขึ้นห้าค่ำ, พระบาทสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ตรัสให้เทียบพลทุ่งหารตรา, สกันลำเครื่องแสนหนึ่ง, ช้างเครื่องแปดร้อย, ม้าพันร้อยห้าสิบ. ให้พระราชมาณู, ถือพลห้าพันเปนกองน่า ครั้นได้ศุภวารฤกษ, ก็ยกทับหลวงเสดจไปโดยทางถนลมารคล่วงด่านพระพิจิตรออกไป ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาลแวกแจ้งข่าวว่า, กองทับกรุงศรีอยุทธยายกออกมา, ก็ให้พระยาแสนท้องฟ้าคุมพลหมื่นหนึ่ง, ไปตั้งอยู่ณเมืองโพธิสัตว์ ให้พระยาบวรนายกคุมพลหมื่นห้าพัน,ไปตั้งอยู่ณเมืองปัตบอง. ขณะเมื่อพระยาแสนท้องฟ้า, พระยาบวรนายกไปตั้งอยู่นั้น, ก็แต่งให้พระยาราชดึงษากับพระยามโนไมตรี, เมืองปัตบอง, คุมพลห้าพันไปตั้งซุ่มป่ารนามตำบลพาศ. ฝ่ายทัพสมเดจพระเจ้าอยู่หัวยกไปข้ามลำน้ำโตนด, เข้าป่าระนามช่องแขบ. พระยาราชดึงษาเหนกองน่าถลำขึ้นไปก็โจมตี. ทับพระราชมาณูก็แตกลงมาถึงน่าช้างพระที่นั่ง. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคทอดพระเนตรเหนดังนั้น, ก็ให้แยกทับไปตีกระนาบขึ้นไป. กองทับเขมรแตกรี้พลล้มตายเปนอันมาก. สมเดจพระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระพิโรธว่า, พระราชมาณูเปนกองน่าให้เสียทีแก่ฆ่าศึกจนปะทะทับหลวงดั่งนี้, ตรัสให้ลงโทษถึงสิ้นชีวิตร. สมเดจเอกาทศรฐผู้เปนพระอนุชาธิราชกราบทูลว่า, พระราชมาณูเปนนายกองทับน่าพ่ายฆ่าศึกลงมาปะทับหลวงนั้น, โทษถึงสิ้นชีวิตร. แต่ทว่าได้โดยเสดจงานพระราชสงครามก็มาก. ประหนึ่งฆ่าศึกก็ยังมีอยู่ขอพระราชทานโทษไว้, ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่ง. สมเดจพระนเรศวรเปนเจ้าก็บัญชาโดยพระอนุชาธิราชแล้ว, ดำรัศให้พระราชมาณูเร่งยกเข้าตีปัตบอง, เมืองโพธิสัตให้แตกฉานทั้งสองตำบล, ทับหลวงก็ยกตาม. พระราชมาณูก็ยกไปตีเมืองปัตบอง, แลเมืองโพธิสัตวแตกฉานทั้งสองตำบล. ได้ผู้คนแลเครื่องสาตราวุธมาถวายเปนอันมาก. สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ยกพยุหบาตราทับไปเมืองลแวก. ตรัสให้มุขมนตรีนายทับนายกองทั้งปวงให้เข้าล้อมเมือง. แต่งทหารเข้าหักค่าย, ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันเปนสามารถเข้ามิได้ แต่ล้อมเมืองอยู่สามเดือนเศศ, ไพร่พลในกองทัพหลวงขัดสนเสบียงอาหาร แต่งให้ออกลาดหาเสบียงอาหารก็มิได้. เข้าเปนทะนาลบาท, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสว่า, เรายกมาครั้งนี้หมายว่าจะได้เข้าในท้องนา, ก็หาสมคิดสมขเนไม่. ฝ่ายกรุงกัมพูชาธิบดีเล่าฝนก็แล้ง,เข้าต้นในท้องนาก็ได้ผลน้อย ประการหนึ่งมิได้มีทับเรือลำเลียงมาด้วย, กองทับเราจึ่งขัดสนเสบียงอาหาร, แลเสียทีมิได้เมืองดังนั้นก็ดี, ถึงกระนั้นก็ดีภอรู้จักกำลังศึกหนักมืออยู่แล้ว. จำเปนจำจะถอยทับกลับไปก่อน. ครั้นวันอังคารเดือนสี่ขึ้นสิบเบ็ดค่ำ, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็เลิกทับกลับไปยังพระนคร. ตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้ปีน่าจะยกไปเอากัมพูชาธิบดีให้จงได้. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๙๔๔ ปีมเมียจัตวาศกเดือนสิบสองข้างแรม, พระเจ้าหงษาวดีเสดจ์ออกว่าราชการแผ่นดิน. จึ่งตรัสปฤกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงว่า ในปีมเสงนั้นเหนประหนึ่งทับพระนเรศวรจะถึงหงษาวดี, แลสงบอยู่มิได้มานั้น, ราชการพระนครศรีอยุทธยาจะเปนประการใด. จำจะแต่งกองทับไปตรวจด่านจะได้ฟังกิจการแห่งเมืองไทยให้กระหนักด้วย. ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงก็พร้อมโดยพระราชบริหาร. สมเดจ์พระพุทธเจ้าหงษาวดีก็ตรัสให้พระเจ้าแปรถือพลห้าหมื่น, ช้างเครื่องสองร้อย, ม้าห้าร้อย, ยกไปตรวจด่านทาง, แลให้ฟังกฤษติศรัพดู. ถ้าแผ่นดินพระนครศรีอยุทธยายังเปนของพระนเรศวรอยู่, ก็อย่าให้ล่วงแดนเข้าไป, แต่หญ้าเส้นหนึ่งก็อย่าให้อันตรายเลย. ครั้นได้ศุภวารฤกษดิฐีอุดมฤกษ, พระเจ้าแปรถวายบังคมลายกช้างม้ารี้พลไปตรวจทางกระเวนด่านโดยสถลมารค. ครั้นมาถึงด่านแดนต่อแดน ก็แจ้งว่าแผ่นดินเปนของพระนเรศวรเปนเจ้า. พระเจ้าแปรมิได้อยู่ในพระราชบัญญัติพระเจ้าหงษาวดี, คิดกำเริบจะเอาความชอบ, ก็ยกล่วงด่านเข้ามาตั้งอยู่ตำบลสงขลา. เจ้าเมืองกาญจนบุรีรู้ข่าวก็ตรวจตรารักษาค่ายคู่ประตูหอรบไว้หมั้นคง, แล้วถึงบอกเข้าไปกราบทูล. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ทรงทราบดังนั้นก็ตรัสว่า, จะไปเล่นตรุดเมืองลแวก, สิสงครามชิงมาก่อนเล่า. จำจะยกออกไปเล่นสงครามกับมอญให้สนุกนิ์ก่อน แล้วกำหนดให้เกนท์พลสกรรลำเครื่องแสนหนึ่ง, ข้างเครื่องแปดร้อยม้าพันห้าร้อย, ให้ทำพิธีโขลนทวานตัดไม้ข่มนามตำบลลุมพลีตั้งทับไชยทุ่งภูเขาทอง. ครั้นณวันอาทิตยเดือนอ้ายขึ้นสิบเบ็ดค่ำ, ได้เพชรฤกษอันอุดม, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ทรงช้างพลายโจมจักรพาฬ, เปนพระคชาธารสัพด้วยคชาภรณ์เครื่องมั่น. สมเดจ์เอกาทศรฐทรงช้างพลายสัตรูวินาศ เปนพระคชาธารประดับเครื่องคชาภรณ์. เสด็จยกพยุหแสนยากรทวยหารโดยกระบวน. ให้พระยาเดโชถือพลห้าพรรเปนกองน่า ยกไปโดยทางสุพรรณบุรี. ครั้นเสด็จถึงเมืองกาญจนบุรีเสด็จประทับแรม จึ่งมีพระราชบริหารดำรัศสั่งพระมหาเทพ, ให้ถือพลห้าพันยกไปตั้งซุ่มอยู่ ที่ทางทับพระเจ้าแปรยกมา. ถ้าทับข้าศึกแตกถอยไปก็ให้ยกออกโจมตี, ซ้ำเติมให้แตกฉานยับเยิน. พระมหาเทพก็ยกไปซุ่มตามรับสั่ง สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, เสดจยกพยุหบาตราทับจากเมืองกาญจนบุรี, ไปถึงตำบลสงขลาก็ให้ตั้งค่ายประชิด. แล้วให้ทหารขึ้นไปร้องน่าทับว่า, อ้ายมอญเหล่านี้หาเกรงพระเดชเดชาณุภาบไม่ฤๅ, ล่วงแดนเข้ามาไย. บัดนี้พระกาลเสดจมาจะประหารชีวิตรเองทั้งปวง แล้วสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็แยกทับขับพระคชาธาร, พร้อมด้วยทแกล้วทหารซ้ายขวาน่าหลังเข้าโจมตีฆ่าฟันพม่ามอญแตกฉานล้มตายเปนอันมาก, พระเจ้าแปรเหนเหลือกำลังจะทานมิได้ก็รุดหนี, ทหารกรุงพระมหานครศรีอยุทธยายกตามไป ฝ่ายทับพระมหาเทพซึ่งไปซุ่มอยู่นั้น, เหนได้ทีก็ยกออกโจมตีแทงฟันฆ่าศึกก็ตายแลลำบากเกลื่อนไปโดยชายป่าชายดงจนถึงพระเจดีย์สามองค์. จับได้มอญแลช้างม้า, เครื่องสาตราวุธมาถวายเปนอันมาก สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็เลิกทับกลับพระนคร ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศเดือนสามขึ้นหกค่ำ, ก็ปูนบำเหน็จมุขมนตรีนายทับนายกองทั้งปวงโดยสมควร. แล้วมีพระราชบริหารสั่งพระยานครนายก, พระยาประปราจินท์, พระวิเศศเจ้าเมือง, ฉเชิงเทรา, พระสระบุรีทั้งสี่หัวเมือง, ให้พระยานครนายกเปนแม่กองใหญ่, ให้คุมพลหมื่นหนึ่งออกไปตั้งค่าย, ขุดคูปลูกฉางถ่ายลำเลี้ยงไว้ตำบลทำนบ, รักษาให้หมั้น ,อย่าให้เสียที่แก่ฆ่าศึก. ฝ่ายพระยานครนายก พระยาปราจินท์, พระวิเศศเมืองฉเชิงเทรา, พระสระบุรีกราบถวายบังคมลา, แล้วก็ไปทำตามพระราชบัญชาสั่ง. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าแปรเมื่อแตกหนีมาถึงเมืองหงษาวดี, เหลือช้างม้ารี้พลประมาณกึ่งหนึ่ง. พระเจ้าหงษาวดีทรงพระพิโรธตรัสว่า, พระเจ้าแปรล่วงพระราชบริหาร, ให้เสียรี้พลช้างม้าดังนี้, ให้ประหารชีวิตรเสีย. ท้าวพระยามุขอำมาตยทั้งปวง, กราบบังคมทูลขอชีวิตรไว้. พระเจ้าหงษาวดีโปรดพระราชทานให้ แต่ถอดเสียจากที่ถานาศักด์ ๚ะ

๏ ลุศักราช ๙๔๕ ปีมแมเบญจศก, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า ครั้นเสร็จการพระราชพิธีอาสายุทธแล้ว, มีพระราชบริหารสั่งให้เกนทับเตรียมไว้, แต่พลสกันลำเครื่องแสนหนึ่ง, ช้างเครื่องแปดร้อย, ม้าพันห้าร้อย, กำหนดเดือนอ้ายจะยกไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี, ให้เกนทับเมืองนครราชสีมาหมื่นหนึ่ง, ยกตีลงมาทางตพานทิพตพานแสงไปเอาเสียมราบ, ตีไปฟากตวันออกตั้งกระพงสวาย. แลให้เกนทับเมืองปักใต้สองร้อยห้าสิบลำ, ให้พระยาเพชบุรีเปนแม่ทับ, เกนเรือลำเลียงเมืองนครศรีธรรมราช,เมืองพัทลุง, เมืองสงขลาเมืองไชยา,สองร้อยลำ,บันทุกเข้าลำเลียง, ให้ได้สองพันเกวียน, ทั้งทับเรือแลทับลำเลียงเปนคนสองหมื่น, สรรพไปด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว, ไปตีเอาเมืองป่าสักทับหนึ่ง, ให้กองทับอาษาจาม, แลกองทับเมืองจันทบุรีคุมเรือรบร้อยห้าสิบลำ, พลรบพลแจวหมื่นหนึ่งสรัพไปด้วยเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิว. ให้พระยาราชวังสันเปนแม่ทับตีไปทางปากน้ำพุทไธมาศ. แลทับบกทับเรือหัวเมืองทั้งนี้, กำหนฎเดือนอ้ายขึ้นห้าค่ำ, ให้ยกพร้อมวันทับหลวงเสดจ์. ท้าวพระยาพระหลวงหัวเมือง, ก็จัดแจงทับบกทับเรือไว้โดยพระราชกำหนด. ครั้น ณวันศุกร์เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้ไปตั้งพิธีชุมพลตำบลทุ่งหารตรา. ถึง ณวันอังคารเดือนอ้ายขึ้นห้าค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็ทรงเครื่องอาภรณวิจิตรอลงการประดับสำหรับพิไชยยุทธเสรจ์.ครั้นได้เพชรฤกษมงคลอันประเสริฐ, พระโหราลั่นฆ้องไชยชีพ่อพราหมณถวายเสียงสังข. สมเดจ์พระนเรศวรบรมเชฐาธิราชทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพ, เปนพระคชาธาร. สมเดจ์เอกาทศรฐทรงเจ้าพระยาปราบไตรจักร์, เปนพระคชาธาร. เข้าโขลนทวารพระสงฆ์ราชาคณะประน้ำพุทธมนต์. พระยานนตัดไม้ข่มนามโดยสาตร, พร้อมด้วยเสนามาตยานิกรทวยหารแห่แหนริ้วรายโดยกระบวน, พยุหะบาตราเปนขนัด. แสงเสวตรฉัตร์ชุมสายวาลวิชนีบังพระสุริย์อลงการโกลาหล, ศรับร์สำเนียงแตรสังขฆ้องกลองอึงอลเสดจ์กรีธาพลเดินโดยสถลมารคทางด่านพระจาฤต, ประทับรอนแรมไปตามระยะ, ก็ถึงตำบลค่ายทำนบ. ๚ะ

๏ สิ้นเล่ม ๙ สมุดไทยแต่เท่านี้ ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ