๓๔
๏ ครั้นถึงณวันอาทิตย์เดือนเก้าแรมหกค่ำ, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจออกณโรงพระแก้ว, ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน, แลพระองคมีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญาวิปลาศ, สำคัญพระองคว่าได้โสดาปัตติผล, จึ่งดำรัศถามพระราชาคณะว่า, พระสงฆ์บุถุชน, จะไหว้นบเคารพย์คฤหัฐ,ซึ่งเปนพระโสดาบันบุทคลนั้น, จะได้ฤๅมิได้ประการใด. แลพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล,มิได้ถือมั่นในพระบาฬีบรมพุทโธวาท, เกรงพระราชอาญา,เปนคนประสมประสาร,จะเจรจาให้ชอบพระอัทยาไศรยนั้นมีเปนอันมาก มีพระพุทธโฆษาจารย,วัดบางว้าใหญ่ พระโพธิวงษ, พระรัตนมุนีวัดหงษเปนต้นนั้นถวายพระพรว่า, พระสงฆบุถุชน, ควรจะไหว้นพคฤหัฐ,ซึ่งเปนโสดาบันนั้นได้. แต่สมเดจพระสังฆราช,วัดบางว้าใหญ่. พระพุทธาจาริย,วัดบางว้าน้อย. พระพิมลธรรม,วัดโพธาราม. สามพระองค์นี้มีสันดานมั่นคง,ถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เปนคนสอพลอประสมประสาน, จึ่งถวายพระพรว่า, มึงมาทว่าคฤหัฐเปนพระโสดาบันก็ดี,แห่เปนหินะเพศต่ำ. อันพระสงฆถึงเปนบุถุชน,ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง. เหตุทรงผ้ากาสาวพัตถ์, แลพระจตุปาริสุทธศิลอันประเสริฐ. ซึ่งจะไหว้นบคฤหัฐอันเปนพระโสดาบันนั้นมิบังควร. สมเดจพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระพิโรธว่า, ถวายพระพรผิดจากพระบาฬี. ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นเปนอันมาก, ว่าไม่ควรแต่สามองค์เท่านี้. จึ่งดำรัศให้พระโพธิวงษ, พระพุทธโฆษา. เอาตัวสมเดจพระสังฆราช, พระพุทธาจาริย, พระพิมลธรรม, กับถานาเปรียญติ์อันดับ, ซึ่งเปนอันเตวาสิก, สัทธิงวิหาริก, แห่งพระราชาคณะทั้งสามนั้น,ไปลงทัณฑกรรมณะวัดหงษทั้งสิ้น แต่พวกพระราชาคณะให้ตีหลังองคละร้อยที, พระถานาเปรียญติ์ให้ตีหลังองค์ละห้าสิบที, พระสงฆอันดับ,ให้ตีหลังองคละสามสิบที. แต่พระสงฆซึ่งตั้งอยู่ในศิลในสัจพวกว่าไหว้ไม่ได้นั้นทั้งสามพระอาราม,เปนพระสงฆถึงห้าร้อยรูป,ต้องโทษถูกตีทั้งสิ้น. แลพวกพระสงฆทุศิล, อาสัจอาธรรมว่าไหว้ได้มีมากกว่ามากทุกๆอาราม. แลพระราชาคณะทั้งสามพระองค์, กับพระสงฆอันเตวาสิก,ซึ่งเปนโทษทั้งห้าร้อยนั้น, ให้ไปขนอาจมชำระเว็จกุฎีวัดหงษทั้งสิ้นด้วยกัน. แล้วให้ถอดพระราชาคณะทั้งสามนั้น, จากสมณะถานันดรศักดิ์ลงเปนอนุจร. จึ่งตั้งพระโพธิวงษ,เปนสมเดจพระสังฆราช. พระพุธโฆษาจาริย,เปนพระวันรัตน ครั้นนั้นมหาไภยพิบัติบังเกิดในพระพุทธสาศนาควรจะสังเวศยิ่งนัก, บันดาคนทั้งหลายซึ่งเปนสัมมาทฤษฐิ, นับถือพระรัตนไตรยนั้น,ชวนกันสลดจิตรคิดสงสารพระพุทธสาศนา, มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเปนอันมาก. ที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี, แลเสียงร้องไห้รงมไปทั่วทั้งเมืองเว้นแต่พวกมิฉาทิฐิ. ตั้งแต่นั้นมาพระราชาคณะพวกพาลอลัชชีมีสันดานบาปที่ว่าไหว้คฤหัฐได้นั้น, ก็เข้าเฝ้า กราบถวายบังคมหมอบกรานเหมือนข้าราชการฆราวาศ. จึ่งดำรัศสั่งพระสังฆราชใหม่,ให้เอาตัวพระราชาคณะซึ่งเปนโทษถอดเสียจากที่ทั้งสามองค์นั้น, คุมตัวไว้ณวัดหงษ, อย่าไห้ปล่อยไปวัดของตน. แล้วให้พระญาณไตรยโลกยวัดเลียบ,มาอยู่ครองวัดโพธาราม. แล้วดำรัศสั่งพระรัตนมุนี,ให้ขนานพระนามถวายใหม่. พระรัตนมุนี, จึ่งขนานพระนามถวายให้ต้องด้วยอัธยาไศรยว่า, สมเดจพระสยามยอดโยคาวจรบวรพุทธางกูรอดุลยขัติยราชวงษ, ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร, บวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมอุดมราชนิเวศมหาสถาน ก็ชอบต้องด้วยพระอัธยาไศรยสมด้วยพระไทยปราถนานั้น. ๚ะ
๏ ในขณะนั้นบ้านเมืองก็เกิดจลาจลเดือดร้อน, ทั้งฝ่ายพระพุทธจักรพระพุทธสาศนาก็เศร้าหมอง. ฝ่ายพระราชอาณาจักรประชาราษฎรก็ได้ความเดือดร้อนด้วยทุกขไภย, เพราะพระเจ้าแผ่นดินมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสุจริต,คิดให้ไนยแก่คนพาลให้ร้องฟ้องข้าทูลลอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งข้างน่าข้างใน, แลราษฎรทั้งหลายว่า, ขายเข้าขายเกลือแลนองาเนื้อไม้สิ่งของต้องห้ามทั้งปวงต่างๆเอาลงสำเภา,ไม่ขายว่าขาย. แลฟ้องว่าชายหญิงผู้นั้นๆเปนโจร,ลักพระราชทรัพยเงินทองในท้องพระคลัง, ไม่ลักว่าลัก, ล้วนแต่ควมเท็จไม่จริง, แกล้งใส่ความใส่โทษเอาเปล่าๆทั้งนั้น. แล้วให้ลงพระราชอาญาโบยตีจองจำ, แลให้ทำโทษเจ้าจอมข้างในว่า, ลักเงินเหรียนในพระคลังในหายไปกำปั่นหนึ่ง,ให้โบยตีแลจำไว้เปนอันมาก. แล้วให้เอาตัวเจ้าจอมโนรีชาวคลัง, ขึ้นย่างเพลิงจนถึงแก่ความตาย. ขณะนั้นพวกคนพาลเปนโจทถึงสามร้อยสามสิบสามคน, มีพันศรี,พันลาเปนต้น,นำเอาฟ้องมายื่นกับขุนโยธาบดี,เจ้ากรมทนายเลือกหอกซ้าย,ให้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน. พระเจ้าแผ่นดินทรงพิภาคษากลับเอาเท็จเปนจริง, บังคับว่า, ถ้าโจทสาบานได้ให้ปรับไหมลงเอาเงินแก่จำเลย,ตามคำโจทหามากแลน้อย. ถ้าจำเลยมิรับ,ให้เฆี่ยนขับผูกถือตบต่อยติดไม้แลย่างเพลิง, บ้างตาย, บ้างลำบากเปนอันมาก. แลฬ่อลวงให้ลุกโทษตามมีแลยาก. ฝ่ายข้าราชการ,แลราษฎรกลัวไภยคิดกันรับลุกโทษเปล่าๆว่า,ขายสิ่งของต้องห้ามสิ่งนั้นๆไปต่างประเทศ,เปนเงินเหรียน,เงินกู้บ้างคนละเท่านั้นๆ. สำคัญว่าสิ้นโทษแล้ว. ครั้นให้มีผู้ฟ้องอีก,กลับให้พิจารณา. ถ้าสิ่งของต้องในลุกโทษมากน้อยเท่าใด,ให้หักเสียเท่านั้น. ที่เหลือแลต่างกันออกไปให้ปรับไหม. แม้นรับตามฟ้องให้ปรับทวีคูณ,เอาเงินสองเท่า. ถ้าไม่รับต้องลงหวายจึ่งรับ,ให้ปรับจตุรคูณเอาเงินสี่เท่า,ที่คนมีก็ได้ให้,ที่คนจนขัดสนต้องทนให้เฆี่ยนไปทุกวันทุกเวลากว่าจะได้ทรัพย,บ้างตาย,บ้างลำบากยากแค้นทั่วไปจนหัวเมืองเอก,เมืองโท,เมืองตรี,เมืองจัตวาทั้งสิ้น. เร่งรัดเอาทรัพยส่งเปนของหลวง. คนทั้งหลายมีหน้าตาคร่ำไปด้วยน้ำตา,ที่หน้าชื่นใจบานอยู่แต่ฝ่ายคนพาลที่เปนโจท,พัคพวกโจท. จึ่งโปรดตั้งพันศรี,เปนขุนจิตรจุญ. ตั้งพันลา,เปนขุนประมูลพระราชธรัพย. เปนนายกองพวกโจททั้งนั้น. แลครั้งนั้นเสียงร้องครางพิลาปร่ำไรเซงแซ่ไปในพระราชวัง, ฟังควรจะสังเวศเหมือนอย่างในยมโลกย. ที่ทิ้งเย่าเรือนเสียยกครอบครัวอพยพหนีเข้าป่าดงไปก็มีเปนอันมาก, บ้านเรือนร้างว่างเปล่าอยู่ทุกแห่งทุกตำบล. อนึ่งทรงสงไสยแคลงชาวพระคลังข้าราชการต่างๆว่า,ลักฉกพระราชทรัพยสิ่งของในท้องพระคลังทั้งปวง. จึ่งจัดเอาพระราชาคณะพวกอะลัชชีเหล่านั้นมากำลังคลัง,คลังละองคทุกๆพระคลัง,มิได้ไว้พระไทยพวกชาวคลังคฤหัฐทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสิบสองแรมค่ำหนึ่ง, บังเกิดทุนิมิตรบนอากาศ, เมฆปรากฎเปนคันกระแพงฝ่ายทิศบูรพ. ครั้นณวันอาทิตยเดือนอ้ายแรมเก้าค่ำ, มีผู้เปนโจทมาฟ้องพระยาราชาเสรฐีว่า,คิดจะหนีไปเมืองพุทไธยมาศ. จึ่งดำรัศให้จับตัวพระยาราชาเสรฐียวญ,กับพวกยวญให้ประหารชีวิตรเสียสามสิบคนด้วยกัน. ๚ะ
๏ ครั้นณวันพุทธเดือนยี่แรมสิบสองค่ำ, ให้ประหารชีวิตรคนโทษเก้าคน ๚ะ
๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสามขึ้นสิบสองค่ำ, ให้ประหารชีวิตรจีนลูกค้าแปดคน ๚ะ
๏ ครั้นณวันจันทร์เดือนสามแรมสองค่ำ, ให้ประหารชีวิตรคนทิ้งไฟเจ็ดคน. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอังคารเดือนสี่แรมเจ็ดค่ำ, เพลาพระอาทิตยอัสฎงคต, บังเกิดทุนิมิตรบนอากาศ, เมฆปรากฎเปนลำภู่กันฝ่ายทิศประจิม. ๚ะ
๏ ครั้นณวันพุทธเดือนสี่แรมแปดค่ำ, กลางคืนเพลาสิบทุ่ม, ดาวอนุราธ,เข้าในดวงพระจันท์ตลอดไป. ๚ะ
๏ ในแรมเดือนสี่ปีฉลูตรีศกนั้น, จึ่งนายบุญนาก, นายบ้านแม่ลาแขวงกรุงเก่า,กับขุนสุรคิดอ่านกันว่า, บ้านเมืองเปนจลาจลเดือดร้อนทุกเส้นญ่า,เพราะเจ้าแผ่นดินไม่เปนธรรม, กระทำข่มเหงเบียดเบียฬประชาราษฎรเร่งเอาทรัพย์สิ่งสิน. เมื่อแผ่นดินเปนทุจริตดังนี้, เราจะละไว้มิชอบ. ควรจะชักชวนซ่องสุมประชาชนทั้งปวงยกลงไปตีกรุงธนบูรี, จับพระเจ้าแผ่นดินผู้อาสัจสำเร็จโทษเสีย. แล้วจะถวายสมบัติแก่สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก,ให้ครอบครองแผ่นดินสืบไป. การจลาจลจึ่งจะสงบราบคาบ, แผ่นดินจึ่งจะอยู่เย็นเปนศุข. จึ่งชักชวนซ่องสุมชาวชนบททั้งปวง,ยินดีมาเข้าด้วยเปนอันมาก. นายบุญนากกับขุนสุร,ก็ยกพวกพลลงไปในเพลากลางคืน,เข้าปล้นจวนพระพิชิตณรงค, ซึ่งเปนผู้รักษากรุงเก่า,ตั้งกองเร่งเงินชาวเมืองทั้งปวงอยู่นั้น, จับได้ตัวผู้รักษากรุง, กับกรมการฆ่าเสีย. แลกรมการซึ่งหนีรอดนั้น, ก็รีบลงมากรุงธนบุรีกราบทูลว่า, กรุงเก่าเกิดพวกเหล่าร้ายเข้าฆ่าผู้รักษากรุง, แลกรมการเสีย. ๚ะ
๏ ขณะนั้นพระยาสรรคบุรีลงมาอยู่ณกรุงธนบุรี, พระเจ้าแผ่นดินจึ่งดำรัศให้พระยาสรรคขึ้นไปณกรุงเก่า, พิจารณาจับตัวพวกขบถเหล่าร้ายให้จงได้. แลพระยาสรรค์ก็ขึ้นไปณกรุงเก่า, กลับไปเข้าพวกนายบุญนาก ขุนสุระ, นายบุญนากขุนสุร, จึ่งมอบให้พระยาสรรคเปนนายทับยกลงมาตีกรุงธนบุรี, แลจัดแจงพวกทหารให้ใส่มงคลแดงทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนสี่แรมเก้าค่ำ, ปีฉลูตรีศก, กองทับพระยาสรรค์ยกลงมาถึงพระนคร. ครั้นเพลาสิบทุ่ม,จึ่งให้พวกพลทหารโห่ร้องยกเข้าล้อมกำแพงพระราชวังให้รอบ, ตัวพระยาสรรคเข้าตั้งกองอยู่ณริมคุก, ฟากเหนือคลองนครบาล, ที่บ้านพวกกรมเมือง. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินทราบว่า, ฆ่าศึกมาล้อมพระราชวัง, แลพระยาสรรคซึ่งใช้ไปจับพวกขบถนั้น, กลับเปนนายทับยกลงมา. จึ่งสั่งข้าราชการซึ่งนอนเวรประจำซองอยู่นั้น, ให้เกนกันขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินรอบพระราชวัง,ได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายต่อรบกันอยู่จนรุ่ง. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอาทิตย์เดือนสี่แรมสิบค่ำ, พระเจ้าแผ่นดินจึ่งให้ออกไปนิมนตพระสังฆราช,พระวันรัต,แลพระรัตนมุนีเข้ามา. แล้วให้ออกไปเจรจาความเมืองกับพระยาสรรค, รับสาระภาพผิดยอมแพ้,ขอแต่ชีวิตรไว้จะออกบรรพชา, พระยาสรรคก็ยอม ๚ะ
๏ ในวันนั้นค่ำลงเพลายามเสศ, พระเจ้าแผ่นดินจึ่งทรงผนวช,ณพระอุโบสถวัดแจ้ง, ภายในพระราชวัง. แลเสดจดำรงราชอาณาจักรอยู่ในราชสมบัติได้สิบห้าปี, ก็เสียพระนครแก่พระยาสรรค ๆ จึ่งจัดพลทหาร, ให้ไปตั้งล้อมพระอุโบสถวัดแจ้งไว้แน่นหนา, มิให้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งบรรพชานั้นหนีไปได้. แล้วให้จับกรมขุนอนุรักษสงคราม พระเจ้าหลานเธอ, แลวงษานุวงษทั้งปวง, มาจำไว้ในพระราชวังทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันจันทรเดือนสี่แรมสิบสามค่ำ, วันจ่ายตรุศติ์นั้น, พระยาสรรค์จึ่งเข้าพระราชวัง, กับทั้งหลวงเทพผู้น้อง,เข้าอยู่ณท้องพระโรงว่าราชการแผ่นดิน, ให้ทอดนักโทษทั้งข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายใน, แลราษฎรซึ่งอยู่ในเรือนจำนั้นออกสิ้น. ๚ะ
๏ ฝ่ายคนทั้งหลายซึ่งต้องโทษได้พ้นโทษแล้ว, ชวนกันโกรธแค้นพวกโจทย,ก็เที่ยวไล่จับพวกโจทย, มีพันศรี,พันลาเปนต้น, ฆ่าฟันเสียเปนอันมาก. พวกโจทยหนีไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ณวัดบ้าง,บ้านบ้าง, ทุกแห่งทุกตำบล. ที่รอดเหลืออยู่นั้นน้อย, ที่ตายนั้นมาก, เกิดฆ่าฟันกันไปทุกแห่งทุกตำบลทั่วทั้งเมือง. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก, ถึงณวันอังคารเดือนห้าขึ้นหกค่ำเพลาเที่ยง, เหนพระจันทรปรากฎในกลางวัน. แลในกลางคืนวันนั้น,ดาวกฤษดิกาเข้าในดวงพระจันทร. ๚ะ
๏ แต่ก่อนพระยาสรรคยังไม่เข้าตีกรุงธนบุรีนั้น, ฝ่ายพระยาสุริยอไภยผู้ครองเมืองนครราชสีมาได้ทราบว่า, แผ่นดินเปนจลาจลมีคนขึ้นไปแจ้งเหตุ,จึ่งออกไปณเมืองนครเสียมราบ, แถลงการแผ่นดินเกิดยุคเขนนั้น, แก่สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก. ๆ จึ่งให้พระยาสุริยอไภยรีบยกกองทับลงไปยังกรุงธนบุรีก่อน,แล้วจะยกทับใหญ่ตามลงไปภายหลัง. พระยาสุริยอไภยก็กลับมาณเมืองนครราชสีมา, ให้พระอไภยสุริยาปลัดผู้น้อง,อยู่รักษาเมือง. แล้วก็จัดแจงกองทับได้พลไทยลาวพันเสศ, ก็รีบยกลงมาณกรุงธนบุรี. แลกองทับเมืองนครราชสีมามาถึงกรุงธนบุรี, ณวันศุกรเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำ, ภอพระยาสรรคตีกรุงได้เข้านั่งเมืองอยู่แล้ว. ๚ะ
๏ ครั้นพระยาสรรคได้แจ้งว่า, พระยาสุริยอไภยยกทับลงมา, จึ่งให้ไปเชิญมาปฤกษาราชการณท้องพระโรงในพระราชวัง, แจ้งการทั้งปวงให้ทราบ, แล้วว่าจัดแจงบ้านเมืองไว้, จะถวายแก่สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ให้ครอบครองแผ่นดินสืบต่อไป. แลพระยาสุริยอไภยกับพระยาสรรค, จึ่งปฤกษากันให้ศึกเจ้าแผ่นดินออก, แล้วพันธนาไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ. แลพระยาสุริยอไภยก็ไปตั้งกองทับอยู่ณบ้านเดิม, ที่บ้านปูนเหนือสวนมังคุด ๚ะ
๏ ครั้นภายหลังพระยาสรรคกลับคิดจะเอาราชสมบัติเอง, จึ่งคิดกันกับเจ้าพระยามหาเสนา, แลพระยารามัญวงษจักรีมอญเข้าด้วย. พระยาสรรคเอาเงินตราในท้องพระคลัง, ซึ่งเร่งรัดของคนทั้งปวงมาไว้นั้น, ออกแจกขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายน่าฝ่ายในแลทหารเปนอันมาก. ๚ะ
๏ ในขณะนั้นบันดาขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง, แตกออกเปนสองพวก, ที่ได้บำเหน็จรางวัลก็เข้าเปนพวกพระยาสรรค. ที่นับถือบุญาบารมีสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ก็มิได้รับรางวัลของพระยาสรรค, มาเปนพวกข้างพระยาสุริยอไภย. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอังคารเดือนห้าแรมห้าค่ำ, พระยาสรรคกับเจ้าพระยามหาเสนา, แลพระยารามัญวงษ, จึ่งคิดกันให้ถอดกรมขุนอนุรักษสงครามหลานเธอออกจากเวนจำ, แต่งให้เปนนายทับคุมขุนนางแลไพร่, ยกไปบ้านพระยาสุริยอไภย. แต่เพลาพลบค่ำ, ตั้งค่ายวางคนรายโอบลงมาวัดบางว้า. เพลาสามยามจุดไฟขึ้นณบ้านปูนแล้วยกลงมา ฝ่ายพระยาสุริยอไภยก็มิได้สดุ้งตกใจ, ให้ขุนนางแลไพร่พลยกออกต่อรบ, รายคนออกไปให้วางปืนตับ. พวกพลข้ามขุนอนุรักษสงคราม, ก็ยิงปืนรบโต้ตอบกันอยู่ทั้งสองฝ่าย. ครั้นเหนเพลิงไหม้ลามมาใกล้คฤหถานที่อยู่, พระยาสุริยอไภยจึ่งตั้งสัตยาธิฐานว่า, ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญศีลทานการกุศลสิ่งใดๆ, ก็ตั้งใจปราถนาพระโพธิญาณสิ่งเดียว. เดชะอำนาทความสัจนี้, ขอจงยังพระพายให้พัดกลับขึ้นไป, อย่าให้เพลิงไหม้มาถึงบ้านเรือนข้าพเจ้าเลย. พอขาดคำอธิฐานลง, ลมก็บันดานพัดกลับขึ้นไป, เพลิงก็ไหม้อยู่แต่ภายนอก, มิได้ติดลามเข้ามาในบ้าน, เหนประจักษ์แก่คนทั้งปวง. แต่รบกันอยู่จนรุ่งขึ้นเหนตัวกัน, จึ่งรู้ว่ากรมขุนอนุรักษสงครามยกมารบ. แต่รบกันอยู่จนถึงเพลาห้าโมงเช้า. ในวันพุทธเดือนห้าแรมหกค่ำ, ทับข้างกรมขุนอนุรักษสงคราม, จึ่งแตกพ่ายหนีไปข้ามคลองบางกอกน้อย. พระยาสุริยอไภยได้ไชยชำนะแล้ว, ให้พลทหารติดตามไปจับตัวกรมขุนอนุรักษสงครามมาได้, ในทันใดนั้นให้จำครบไว้. สืบเอาพวกเพื่อนได้เปนอันมาก, เอาตัวจำครบไว้ทั้งสิ้น. แลครั้งนั้นกองรามัญก็แตกกันออกเปนสองพวก, ที่มาเข้าด้วยพระยาสุริยอไภยนั้น ,คือกองพระยาพระราม, พระยาเจ่ง. ที่ไปเข้าด้วยพระยาสรรคนั้น, คือกองพระยารามัญวงษ, กับกองพระยากลางเมือง. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาสรรครู้ว่า, ทับกรมขุนอนุรักษสงครามแตก, พระยาสุริยอไภยจับตัวไปได้, ก็คิดเกรงกลัวย่อท้อ,มิอาจยกออกไปรบอีก, ก็รักษาตัวอยู่แต่ในพระราชวัง. พระยาสุริยอไภยก็ให้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ณบ้าน, แล้วจัดแจงพลทหารตั้งรายกองทับลงมาจนถึงคลองนครบาล. ๚ะ
๏ ฝ่ายสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, เมื่อให้พระยาสุริยอไภยยกมาแล้ว,จึ่งแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินอันเปนจลาจล, ให้คนสนิทถือลงไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห, ซึ่งลงไปตั้งทับอยู่ณเมืองพนมเพญ. ให้กองทับเขมรพระยายมราช, เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้อย่าให้รู้ความ. แล้วรีบเลิกทับกลับเข้าไปณกรุงโดยเรว. แล้วให้บอกไปถึงพระยาธรรมา, ซึ่งตั้งทับอยู่ณเมืองกำพงสวาย, ให้จับกรมขุนรามภูเบศรจำครบไว้, แล้วให้เลิกทับตามเข้ามาณกรุงธนบุรี. แล้วสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ให้ตรวจเตรียมพลโยธาหารพร้อมแล้ว, ให้เอาช้างเข้าเทียบเกย, แล้วขึ้นบนเกยจะขี่ช้าง. ๚ะ
๏ ในเพลานั้นบังเกิดศุภนิมิตรเปนมหัศจรรย, ปรากฎแก่ตาโลกย, เพื่อพระราชกฤษฎาเดชานุภาพพระบารมี, จะถึงมหาเสวตรราชาฉัตร. บันดานให้พระรัศมีโชดช่วงแผ่ออกจากพระกายโดยรอบ, เหนประจักษทั่วทั้งกองทับ บันดารี้พลนายไพร่ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย, ชวนกันยกมือขึ้นถวายบังคมพร้อมกัน, แล้วเจรจากันว่า, เจ้านายเราคงมีบุญเปนแท้, กลับเข้าไปครั้งนี้จะได้ผ่านพิพิภพเปนมั่นคง. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ก็ทรงช้างแล้วยกทับช้างม้ารี้พลคนประมาณห้าพันเสศ, ดำเนินทับมาทางด่านพระจาฤกมาถึงเมืองปราจิน. แล้วข้ามแม่น้ำเมืองปราจิน,เมืองนครนายก, ตัดทางมาลงท้องทุ่งแสนแสบ. ๚ะ
๏ ขณะนั้นชาวพระนครรู้ข่าวว่า, สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ยกทับกลับมาก็ชวนกันมีความยินดีถ้วนทุกคน, ยกมือขึ้นถวายบังคมแล้วกล่าวว่า, ครั้งนี้การยุคเขนจะสงบแล้ว, แผ่นดินจะราบคาบ, บ้านเมืองจะอยู่เอย็นเปนศุขสืบไป. จึ่งหลวงสรวิชิตนายด่านเมืองอุไทยธานีลงมาอยู่ณกรุง,ก็ขึ้นม้าออกไปรับเสดจถึงทุ่งแสนแสบ, นำทับเข้ามายังพระนคร. ๚ะ
๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนห้าแรมเก้าค่ำเวลาเช้าสองโมงเสศ, ทับหลวงมาถึงกรุงธนบุรีฟากตวันออก. พระยาสุริยอไภยจึ่งให้ปลูกพลับพลารับเสดจริมตพานท่าวัดโพธาราม, แล้วให้แต่งเรือพระที่นั่งกราบข้ามมาคอยรับเสดจ. แลท้าวทรงกันดานทองมอญ, ซึ่งเปนใหญ่อยู่ในพระราชวัง, ก็ลงเรือพระที่นั่งมาคอยรับเสดจด้วย. จึ่งเสดจทรงช้างพระที่นั่งกรีธาพลทับหลวงเข้ามาในกำแพงเมือง, ดำเนินพลช้างม้าแลพลเดินท้าวแห่มาทางถนนหว่างวัดโพธาราม, เสดจลงจากช้างอยุดประทับอยู่ณพลับพลาน่าวัด. แล้วท้าวทรงกันดารกราบถวายบังคมทูลเชิญเสดจลงเรือพระที่นั่ง. แลพระยาสุริยอไภยกับข้าราชการทั้งปวง, ก็ข้ามมาคอยรับเสดจเปนอันมาก, แล้วกราบทูลแถลงข้อราชการแผ่นดินทั้งปวง. จึ่งเสดจลงเรือพระที่นั่งข้ามไปเข้าพระราชวัง, เสดจขึ้นประทับบนศาลาลูกขุนมหาดไทย. ข้าราชการทั้งหลายก็มาเฝ้ากราบถวายบังคม. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาสรรค, แลพัคพวกก็กลัวพระเดชานุภาพเปนกำลัง, มิรู้ที่จะหนีจะสู้ประการใด, ก็มาเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมด้วยขุนนางทั้งปวง จึ่งตรัสปฤกษาด้วยมุขมนตรีทั้งหลายว่า, เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเปนอาสัจอาธรรมดั่งนี้แล้ว, ท่านทั้งปวงจะคิดอ่านประการใด. มุขมนตรีทั้งหลายพร้อมกันกราบทูลว่า, พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสีย, ประพฤดิ์การทุจริตฉนี้, ก็เหนว่าเปนเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน, จะละไว้มิได้ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย. จึ่งรับสั่งให้มีกระทู้ถามเจ้าตากสิน, เจ้าแผ่นดินผู้ทุจริตว่า, ตัวเปนเจ้าแผ่นดิน, ใช้เราไปกระทำการสงคราม,ได้รับความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ, เราอุสาหกระทำศึกมิได้อาไลยแก่ชีวิตร, คิดแต่จะทำนุกบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม, จะให้สมณะพราหมณาจาริย, แลไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เอย็นเปนศุขสิ้นด้วยกัน. ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลัง, ตัวจึ่งเอาบุตรภรรยาเรามาจองจำทำโทษ, แล้วโบยตีพระภิกขุสงฆ์, แลลงโทษแก่ข้าราชการ, แลอาณาประชาราษฎร, เร่งรัดเอาทรัพย์สินโดยพลการ, ด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า, ทั้งพระพุทธสาศนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมอง, ดุจเมืองมิจฉาทฤษฐิฉนี้. โทษตัวจะมีประการใด, จงให้การไปให้แจ้ง แล้วเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ. จึ่งมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตรสำเร็จโทษเสีย. เพชฆาฎกับผู้คุม, ก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไป, กับทั้งสังขลิกพันธนาการ. เจ้าตากสินจึ่งว่าแก่ผู้คุมเพชฆาฎว่า, ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายแล้ว, ช่วยภาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ,จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ,ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา. ครั้นได้ทอดพระเนตรเหน, จึ่งโบกพระหัตถมิไห้นำมาเฝ้า. ผู้คุมแลเพชฆาฎก็ให้หามออกไปนอกพระราชวัง, ถึงน่าป้อมวิไชยประสิทธิ์, ก็ประหารชีวิตรตัดศีศะเสีย, ถึงแก่พิราไลย. จึ่งรับสั่งให้เอาสพไปฝังไว้,ณวัดบางยี่เรือใต้. แลเจ้าตากสินขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้น, อายุได้สี่สิบแปดปี.
----------------------------
๏ แผ่นดินสมเดจพระบรมราชา, พระพุทธยอดฟ้า, จุฬาโลกย. ๚ะ
๏ ในทันใดนั้นจึ่งท้าวพระยามุขมนตรีกระวีชาติ, แลราษฎรทั้งหลาย, ก็พร้อมกันกราบทูลวิงวอนอัญเชิญสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก,ขึ้นครองพิภพเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลย์ราชดำรงแผ่นดินสืบไป. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีภาพ, แล้วก็เสดจพระราชดำเนินไปถวายนมัศการพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎ แล้วเสดจมาประทับแรมอยู่ณพลับพลา,น่าโรงพระแก้วนั้น. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอาทิตยเดือนห้าแรมสิบค่ำ, จึงพระยาสุริยอไภย, พระเจ้าหลานเธอ,ให้ตำหรวจคุมตัวกรมขุนอนุรักษสงคราม,กับขุนนางมีชื่อซึ่งเปนสมักพัคพวกสามสิบเก้าคน. มีอ้ายพระยาเพชรพิไชยหนึ่ง, พระยามหาอำมาตยหนึ่ง, พระยากลางเมืองหนึ่ง, พระมหาเทพหนึ่ง, หลวงราชวรินทรหนึ่ง, หลวงคชศักดิ์หนึ่งเปนต้น, เข้ามาถวายน่าพระที่นั่ง. แล้วกราบทูลว่าคนเหล่านี้, เข้าพวกกรมขุนอนุรักษสงครามยกมารบ. ๚ะ
๏ จึงดำรัศให้เอาขุนนางสามสิบเก้าคนนั้น,ไปประหารชีวิตรเสีย. แลตัวกรมขุนอนุรักษสงครามนั้น}ให้เอาไว้ก่อน. แล้วให้พิจารณาชำระเอาพวกเพื่อนอีก, ให้การซัดถึงพระยาสรรคแลหลวงเทพผู้น้อง, กับเจ้าพระยามหาเสนา, พระยารามัญวงษจักรีมอญ, พระพิชิตณรงค์, หลวงพัศดีกลาง. คนเหล่านี้คิดกันให้ข้าพเจ้าไปรบพระเจ้าหลานเธอ. ๚ะ
๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัศ,ให้เอาตัวกรมขุนอนุรักษสงคราม, แลพระยาสรรค, หลวงเทพผู้น้อง, กับขุนนางทั้งสี่คนซึ่งคิดกันนั้นให้ประหารชีวิตรเสีย. ภอกองทัพพระยาธรรมามาถึง,คุมเอาตัวกรมขุนรามภูเบศรเข้ามาถวาย. จึงดำรัศให้เอาไปประหารชีวิตรเสียด้วยกันในวันนั้น, กับทั้งพวกญาติวงษเจ้าตากสิน, บันดาที่เปนชายนั้นทั้งสิ้น. ยังเหลืออยู่แต่ราชบุตร,แลบุตรีซึ่งน้อยๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ,อันเปนพระราชนัดาของพระองคนั้นเปนต้น. แลเจ้าอั่น, ซึ่งเปนน้าของเจ้าตากสิน. แลเจ้าส่อนหอกลางซึ่งเปนกรมหลวงบาทบริจาริกอัคมเหษี. กับญาติวงษซึ่งเปนหญิงนั้นให้จำไว้ทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ครั้นณวันจันทรเดือนห้าแรมสิบห้าค่ำ, จึงทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จพระราชทานเงินตราเสื้อผ้า, แก่ข้าราชการผู้มีความชอบ, กับทั้งพักพวกข้าหลวงเดิมทั้งปวงโดยมากแลน้อย, ตามสมควรแก่ถานาศักดิ์ถ้วนทุกคน. แล้วดำรัศว่าพระราชคฤหถาน,ใกล้อุปจารพระอารามทั้งสองข้าง, คือวัดแจ้ง,แลวัดท้ายตลาดมิบังควรยิ่งนัก. จึงดำรัศแก่พระยาธรรมาธิบดี,พระยาวิจิตรนาวี, ให้เปนแม่กองคุมช่างแลไพร่, ไปถาปนาพระราชนิเวศวังใหม่, ฟากพระนครข้างตวันออก, ณที่บ้านพระยาราชาเสรฐี,แลบ้านจีนทั้งปวง. ให้พระยาราชาเสรฐียกพวกจีนลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่ณที่สวน, ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มลงไป, จนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง. ๚ะ
๏ ครั้นณวันศุกรเดือนหกขึ้นค่ำหนึ่ง, เพลาบ่ายสี่โมง, จึงเสดจเข้าไปสถิตยแรมอยู่ยังท้องพระโรง. ดำรัศให้ชำระโทษพวกเจ้าจอมข้างใน. ๚ะ
๏ ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีหพระราชอนุชา, ครั้นได้ทราบหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินแล้ว, จึงสั่งให้พระยายมราชคุมกองทับเขมรสามพัน, เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ, แลพระยากำแหงสงคราม, กับทั้งไพร่พลไว้ณเมืองพุทไธยเพชร, แลเลิกกองทัพรีบกลับมาณกรุง. ๚ะ
๏ ถึงณวันจันทรเดือนหกขึ้นสี่ค่ำ, เพลาห้าโมงเช้า, สมเดจพระอนุชาธิราชเสดจเดินทัพมาถึงพระนคร, ขึ้นเฝ้าสมเดจพระบรมเชษฐาธิราชณท้องพระโรง. ดำรัศปฤกษาราชการแผ่นดินด้วยกันแล้ว, เสดจออกจากเฝ้า. ให้ตำรวจไปจับตัวข้าราชการทั้งปวง, บันดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองคมาแต่ก่อน, ให้ประหารชีวิตรเสีย,สิ้นทั้งแปดสิบคนเสศ. ๚ะ
๏ ฝ่ายกรมขุนอินทรพิทักษ, แลพระยากำแหงสงครามมิทันแจ้งว่า, ข้างในพระนครผลัดแผ่นดินใหม่. จึงแต่งหนังสือบอกให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลใจความว่า, เขมรกลับเปนขบถ, ยกเข้ามาล้อมกองทับพระเจ้าลูกเธอไว้, ณเมืองกำแพงเพชร. แต่กองทับสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, กับทับเจ้าพระยาสุรสีหนั้นเลิกหนีไป, มิรู้ว่าจะไปแห่งใด. ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์,ได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระสรวญ, จึ่งดำรัศว่าอ้ายหูหนวกตาบอด,มิได้รู้การแผ่นดินเปนประการใด, กลับบอกกล่าวโทษกู,เข้ามาถึงกูอีกเล่า. ๚ะ
๏ ฝ่ายกรมขุนอินทรพิทักษ, แลพระยากำแหงสงคราม, ก็ยกพลทหารออกตีกองทับเขมร, ซึ่งตั้งล้อมอยู่นั้นแหกออกมาได้ก็รีบยกทับเข้ามาถึงเมืองปราจิน. ครั้นแจ้งเหตุว่าผลัดแผ่นดินใหม่แล้ว, ไพร่พลทั้งปวงก็หนีกระจัดกระจายเข้ามาหาครอบครัวสิ้น, กรมขุนอินทรพิทักษ,แลพระยากำแหงสงครามนั้นเหลือแต่คนสนิทติดตามอยู่ห้าคน,เปนเจ็ดคนทั้งตัวนาย, ก็ภากันหนีไปอยู่ตำบลเขาน้อยแห่งหนึ่งใกล้กับเขาปัถวี. แลกรมการเมืองปราจีนบอกเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอาทิตยเดือนหกแรมสองค่ำ, สมเดจพระอนุชาธิราชจึ่งกราบถวายบังคมลา, ยกพลขึ้นไปหกพันเสศถึงเมืองสรบุรี, ให้แยกกันออกเปนหลายกองเที่ยวค้นในป่า, เข้าล้อมจับกรุงขุนอินทรพิทักษ, กับพระยากำแหงสงคราม, แลบ่าวห้าคน, ได้ตัวที่เขาน้อยนั้น, คุมลงมาถวายณะกรุงธนบุรี, ดำรัศให้จำครบไว้แต่ตัวนายสองคน. แลบ่าวห้าคนนั้นทรงพระกรุณาดำรัศว่า,เปนคนมีกะตัญูไม่ทิ้งเจ้า, โปรดปล่อยไปเสียไม่มิไดเอาโทษ. ๚ะ
๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนหกแรมแปดค่ำ, ทรงพระกรุณาให้ถามกรมขุนอินทรพิทักษว่า, ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยง, ด้วยตัวหาความผิดมิได้. กรมขุนอินทรพิทักษ์ให้การว่า,ไม่ยอมอยู่จะขอตายตามบิดา. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, จึงดำรัศให้เอาตัวนายจุ้ย,ผู้เปนที่กรมขุนอินทรพิทักษ, แลขุนชนะ, พระยากำแหงสงครามนั้นไปประหารชีวิตรเสีย. ๚ะ
๏ ครั้นถึงณวันอาทิตยเดือนหกแรมเก้าค่ำปีขานจัตวาศก,ศักราช .๑๑๔๔ ปี, ให้ตั้งการพระราชพิธียกหลักเมือง. ๚ะ
๏ ถึงณวันจันทรเดือนหกแรมสิบค่ำ, จับการตั้งพระราชวังใหม่, แลล้อมด้วยรเนียดก่อนยังมิทันได้ก่อกำแพงวัง. ๚ะ
๏ ถึงณวันจันทรเดือนแปดขึ้นค่ำหนึ่งปฐมาสาท, ให้ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเศกโดยสังเขป. นิมนตพระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ครบสามวันแล้ว. รุ่งขึ้นณวันพฤหัศบดีเดือนแปดขึ้นสี่ค่ำ, เพลารุ่งแล้วสี่บาท, ได้มหาอุดมวิไชยมงคลนักขัตรฤกษ, พระสุริยเทพบุตรทรงกลดจำรัศดวง, ปราศจากเมฆผ่องพื้นนภากาศ. พระบาทสมเดจบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็เสดจทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์ศรีสักลาด, ประดับด้วยเรือจำนำท้าวพระยาข้าทูลลอองฯทั้งปวง,แห่โดยขบวนพยุหยาตราน่าหลังพรั่งพร้อมเสร็จ, ก็เสดจข้ามมหาคงคามาณฝั่งฟากตวันออก. เสดจขึ้นฉนวนน่าพระราชวังใหม่, ทรงเสลี่ยง ตำรวจแห่น่าหลัง, เสดจขึ้นยังพระราชมณเฑียรสถาน, ทรงถวายนมัศการพระรัตนไตรย,ด้วยเบญจางคประดิษฐ, แล้วเถลิงสถิตย์เบื้องบนมงคลราชมัญจะอาศน์พระกระยาสนาน, พระสงฆ์ถวายพระปริโตทกธารเบญจสุทธคงคามุทธาภิสิตวารี. ชีพ่อพราหมณ์ถวายตรีสังข์หลั่งมงคลธารา, อวยอาเศียรพาศพิศณุอิศวรเวทถวายไชยวัฒนาการ, พระโหราลั่นฆ้องไชยให้ประโคมขานเบญจางคดุริยดนตรีแตรสังข, ประนังศับทสำเนียงเสียงนฤนาท. พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็เสดจสถิตยเหนือพัทธบิฐอันกั้นบวรเสวตรราชาฉัตร. พระราชครูปโรหิตาจารย์ก็กราบบังคมทูลถวายไอสุริยราชสมบัติ, แลเครื่องเบญจพิธราชกุกกุภัณฑพระแสงอัศฎาวุธ. อัญเชิญเสดจขึ้นปราบดาภิเศกเสวยสวรรยาธิปัตยถวัลยราชดำรงแผ่นดินสืบไป. ๚ะ
๏ ขณะเมื่อได้เสวยราชสมบัตินั้น, พระชนมายุได้สี่สิบหกพรรษา. จึงสมเด็จพระสังฆราช, ราชาคณะคามวาสี,อรัญวาสี.แลชีพ่อพราหมณ์พฤฒาจาริยทั้งหลาย พร้อมกันถวายพระนามว่า, พระบาทสมเดจพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี, ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์, ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาศกรวะงษองคบรมาธิเบศ, ตรีภูวเนตรวรนายกดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย, สมุทัยตโรมนตสกลจักรวาฬาธิเบนทร, สุริเยนทราธิบดินทรหริหรินทราธาดาธิบดี, ศรีวิบุลยคุณอัคนิฐฤทธิราเมศวรมหันตบรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร, ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชษฐวิสุทธิรัตนมกุฎ, ประเทศคตามหาพุทธางกูรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา, มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยอุดมพระราชนิเวศมหาสถาน, จาฤกลงพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัตร. ๚ะ
๏ จึงมีพระราชโองการดำรัศให้สมเดจพระอนุชาธิราช, เสดจเถลิงราชมไหสวรรย ณที่พระมหาอุปราช, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล, ว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่ง, โดยดังโบราณจารีตราชประเพณีมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนมา. แลสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ, ก็ไปถาปนาพระราชธานีขึ้นใหม่ใกล้คามคฤหถานที่เดิม, ตั้งเปนพระราชวังน่า. ๏ จึ่งสมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, ทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระเชษฐภคินีพระองคใหญ่, เปนสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอ, กรมพระเทพยสุดาวดี. เจ้ากรมตั้งเปนพระยา. แลตั้งพระเชษฐภคินีพระองคน้อย, เปนสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอ, กรมพระศรีสุดารักษ. ๏ โปรดให้พระยาสุริยอไภยพระราชนัดาผู้ใหญ่, เปนสมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร. ครั้นภายหลังทรงเหนว่ายศศักดิ์ยังไม่สมควรแก่ความชอบที่มีมาก. จึ่งโปรดให้เลื่อนขึ้นเปนกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลัง, รับพระราชบัญชา. ตั้งวังอยู่ณสวนลิ้นจี่ในเมืองฟากตวันตกริมคลองบางกอกน้อย. ๏ แลดำรัศให้ข้าหลวงไปหาพระอไภยสุริยาราชนัดา, ลงมาแต่เมืองนครราชสีมา, โปรดตั้งเปนสมเดจพระเจ้าหลานเธอ, เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร, ให้เสดจไปอยู่ณวังเก่าเจ้าตาก. ๚ะ
๏ ขณะนั้นภอหลวงนายฤทธิราชนัดา, ซึ่งเปนอุปทูตออกไปกรุงปกิ่งนั้นกลับเข้ามา. จึ่งโปรดให้แต่งเรือพระที่นั่งลงไปรับมาแต่เมืองสมุทปราการ, คนทั้งหลายจึ่งเรียกว่าเจ้าปกิ่ง โปรดตั้งเปนสมเดจพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรนเรศวร, ให้ตั้งวังอยู่ณสวนมังคุด. แลกรมพระราชวังหลังกับกรมหลวงทั้งสองพระองค์นี้, เปนพระราชบุตรสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่. ๏ อนึ่งเจ้าตันราชนัดาซึ่งเปนพระราชบุตรสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอองคน้อยนั้น,โปรดตั้งเปนสมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยหริรักษ. ๏ แลเจ้าลาซึ่งเปนพระอนุชาต่างพระมารดานั้น,โปรดตั้งเปนสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา. ๏ แลนายกวดมหาดเลกซึ่งเปนสามีเจ้ากุะ, อันเปนพระกนิฐภคินีต่างพระมารดานั้น,โปรดตั้งเปนพระองคเจ้ากรมหมื่นนรินทรพิทักษ. อนึ่งพระเจ้าลูกเธอพระองคใหญ่,พระชนได้สิบหกพระพรรษา, ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเปนสมเดจพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร, ให้เสดจอยู่ณบ้านหลวง ที่วังเดิม พระราชทานเครื่องราชูประโภค มีพานพระศรีทองเปนต้น, โดยควรแก่ยศถาศักดิ์ทุกๆพระองค. ๏ แล้วดำรัศให้ศึกพระรัตนมุนีแก้ว, กับพระพนรัตทองอยู่ออกจากพระสาศนา ดำรัศว่าเปนคนอาสัจสอพลอทำให้เสียแผ่นดิน แล้วตั้งนายแก้วรัตนมุนี, เปนที่พระอาลักษณตามเดิม, ให้ขนานพระนามเจ้าต่างกรมทั้งนั้น. แต่นายทองอยู่พนรัตนั้น, สมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เอาตัวไปลงพระราชอาญาเฆี่ยนร้อยที, ด้วยมีความผิดกับด้วยพระองคมาแต่ก่อน, แล้วจะให้ประหารชีวิตรเสีย. มีพระราชโองการตรัสขอชีวิตรไว้, แล้วเอามาตั้งเปนหลวงอนุชิตพิทักษ, อยู่ในกรมมหาดไทยแล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งแต่งข้าราชการเก่า, แลข้าหลวงเดิมทั้งปวงตามมีความชอบมากแลน้อย,โดยอันควรแก่ถานานุศักดิ. ๏ ตรัสเอาพระอักขรสุนทร, เสมียนตรากรมมหาดไทยข้าหลวงเดิม, เปนเจ้าพระยารัตนาพิพิธ,ว่าที่สมุหนายก. ๏ ตรัสเอาพระยาทุกขราษฎร์เมืองพระพิศณุโลกย, เปนเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม. ๏ ตรัสเอาพระยาพิพัฒโกษา, เปนเจ้าพระยาพระคลัง. ๏ ตรัสเอาพระอินทราธิบดีศรีราชรองเมือง, เปนเจ้าพระยายมราช. ๏ ตรัสเอาเสมียนปิ่นข้าหลวงเดิม, เปนเจ้าพระยาพลเทพ. ๏ ตรัสเอาพระยาธรรมาธิบดี, เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยา, ว่ากรมวังอยู่ตามเดิม. ๏ ตรัสเอานายบุนนากแม่ลา, ซึ่งเปนต้นคิดทำการปราบจลาจลในแผ่นดิน, เปนเจ้าพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชผู้รักษากรุงเก่า. ตรัสเอาเสมียนหงข้าหลวงเดิม, เปนพระยาเพชรพิไชย. ตรัสเอาพระยาราชนิกุล, เปนพระยามหาอำมาตย. ตรัสเอาขุนไชยเสนีข้าหลวงเดิม, เปนพระยาราชินิกุล. ตรัสเอาหม่อมบุนนากทนายข้าหลวงเดิม, เปนพระยาอุไทยธรรม. ตรัสเอาพระราชประสิทธ, เปนพระยาศรีพิพัฒ. ตรัสเอาพันพุทอนุราช, เปนพระยาราชสุภาวดี. ตรัสเอาพระยาชลบูรี, เปนพระยาราชวังสัน. ตรัสเอาเสมียนปานข้าหลวงเดิม, เปนพระยาสมบัติบาล. ตรัสเอาเสมียนพูนข้าหลวงเดิม, เปนพระยาประชาชีพ. ตรัสเอานายบุญจันบ้านถลุงเหล็กข้าหลวงเดิม, เปนพระยากำแพง ตรัสเอาพระยาอินทรอัคราชอุปราชเก่าเมืองนครศรีธรรมราช, เปนพระยาราชวังเมือง. ตรัสเอาขุนสิทธิรักษข้าหลวงเดิม, เปนพระยาศรีสุริยพาหะ. ตรัสเอาเสมียนสาข้าหลวงเดิม, เปนพระอินทราธิบดีศรีราชรองเมือง. ตรัสเอาเสมียนปิ่นเปนข้าหลวงเดิม, เปนอักขรสุนทรเสมียนตรามหาดไทย. ตรัสเอาพระยาเจ่งรามัญ, เปนพระยามหาโยธาว่ากองมอญทั้งสิ้น, แล้วตั้งผู้มีความชอบทั้งปวง, เปนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรุงครบตำแหน่ง. อนึ่งพระราชวงษานุวงษซึ่งห่างออกไปนั้น, ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเปนที่เจ้าราชินิกุล. ตรัสเอาหม่อมทองด้วง, เปนพระยาฦๅราชสุริยวงษ. ตรัสเอาหม่อมเงิน, เปนพระบำเรอราช. ตรัสเอาหม่อมฮวบ, เปนพระอนุรุทธเทวา. ตรัสเอาหม่อมทองคำ, เปนพระราชานุวงษ. แล้วตั้งผู้มีความชอบออกไปเปนพระยาพระหลวง, ครองหัวเมืองเอก,เมืองโท,เมืองตรี,เมืองจัตวา, ปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงทุกๆ เมือง. ๚ะ
๏ ฝ่ายตำแหน่งขุนนางข้าราชการข้างวังน่านั้น, สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ก็มีพระราชบัณฑูรโปรดตั้งแต่งโดยควรแก่ความชอบตามลำดับถานานุศักดิ, ตรัสเอาพระยาพลเทพเดิม, เปนสมเดจเจ้าพระยา ตรัสเอาพระไชยบูรณ, ปลัดเมืองพระพิศณุโลกย, เปนพระยากระลาโหมราชเสนา. ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิศณุโลกย, เปนพระยาจ่าแสนยากร. ตรัสเอาหม่อมสดทะนายข้าหลวงเดิม, เปนพระยามณเฑียรบาล. ตรัสเอานายทองอินข้าหลวงเดิมเมืองพระพิศณุโลกย,เปนพระยาเสน่หาภูธรจางวางมหาดเล็ก. แล้วตั้งแต่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง, ครบตำแหน่งในพระราชวังน่าทั้งสิ้น. อนึ่งหม่อมเรือง, ชาวเมืองชลบุรีข้าหลวงเดิม, มีความชอบในพระองคมาแต่ก่อนเปนอันมาก, เปนคนสนิทเหมือนเชื้อพระวงษ. โปรดตั้งเปนที่เจ้าราชินิกุล, ให้ชื่อพระบำเรอภูธร แล้วสมเดจพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เสดจลงมาเฝ้ากราบทูลว่า, บันดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสินนั้น, จะขอพระราชทานเอาใส่เรือไปล่มน้ำเสียให้สิ้น, ตามคำบุราณกล่าวไว้ว่า, ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ, ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก. ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชนไม่, จะเปนเสี้ยนหนามไปภายน่า. สมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, ทรงพระอาไลยอยู่ในเจ้าฟ้าสุพันธุวงษพระราชนัดา. จึ่งดำรัศแก่สมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าว่า, ขอชีวิตรไว้ทั้งสิ้นด้วยกัน. แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยหม่อมอั้น,แลหม่อมส่อนหอกลางออกจากเวนจำให้พ้นโทษ. ๚ะ
๏ ในปีขานจัตวาศกนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, จึ่งดำรัศปฤกษากันว่า, ฝ่ายข้างอาณาจักร, เราจัดแจงตั้งแต่งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว. ควรจะจัดแจงฝ่ายพุทธจักร, ทำนุบำรุงพระพุทธสาศนา, ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้น,ให้วัฒนาการรุ่งเรืองสืบไป. จึ่งดำรัศให้สมเดจพระสังฆราช,พระพุทธาจาริย,พระพิมลธรรม, ซึ่งเจ้าตากให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะนั้น, โปรดให้คงที่สมณะถานันดรศักดิ์ดังเก่า, ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม. แลสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, จึ่งดำรัศสรรเสริญว่า, พระผู้เปนเจ้าทั้งสามพระองคนี้, มีสันดานสัจซื่อมั่นคงดำรงรักษาพุทธสาศนาโดยแท้, มิได้อาไลยแก่กายแลชีวิตร, ควรเปนที่นับถือไหว้นบเคารพยสการบูชา. แม้นมีข้อสงไสยสิ่งใดในพระบาฬีไปภายน่า, จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม. ถ้าพระผู้เปนเจ้าทั้งสามพระองคว่ายังนี้แล้ว, แลพระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างหนึ่งไป, ก็คงจะเชื่อถือถ้อยคำพระผู้เปนเจ้าทั้งสาม. ซึ่งจะเชื่อถ้อยฟังความคำพระราชาคณะอื่นๆ ที่พวกมากนั้นหามิได้, ด้วยเหนใจเสียครั้งนี้แล้ว.ๆโปรดให้พระสงฆ์วัดบางว้าใหญ่, แลวัดโพธาราม,เข้ามาบิณฑบาตรในพระราชวังหลวงทั้งสองพระอาราม,ให้ผลัดเวนกันวัดละเจดวันเปนนิจนิรันตรกาล. แล้วให้รื้อพระตำหนักทองของเจ้าตากนั้น,ไปปลูกเปนกุฎีถวายสมเดจพระสังฆราชณวัดบางว้าใหญ่. แล้วดำรัศว่าพระสังฆราชชื่นวัดหงษ, ซึ่งเจ้าตากตั้งขึ้นใหม่นั้น, ก็เปนพวกอาสัจสอพลอพลอยว่า,ตามนายแก้วนายทองอยู่,แต่มิได้เปนตัวต้นเหตุ. แต่รู้พระไตรยปิฎกมากเสียดายอยู่, อย่าให้ศึกเสียเลย. แลที่พระวันรัตนนั้นว่างอยู่หาตัวมิได้, จึ่งโปรดตั้งให้เปนที่พระธรรมธิราชมหามุนีว่าที่พระวันรัต. อนึ่งพระราชาคณะทั้งปวงนั้น, ก็ว่าตามกันไปด้วยกลัวพระราชอาญา, ทรงพระกรุณาให้ยกโทษเสียทั้งสิ้น. แต่ที่พระธรรมโคดมนั้น, ต้องกับพระนามพระสัพพัญญูเจ้า. จึ่งดำรัศให้แปลงนามเสียใหม่,โปรดให้พระเทพกระวี,เลื่อนขึ้นเปนพระธรรมอุดม. ให้พระธรรมโฆษาวัดปากน้ำ ,เปนพระเทพกระวี, ให้มหานากปเรียญติเอกวัดบางว้าใหญ่, เปนพระพุทธโฆษาจาริย. ให้มหาเรืองข้าหลวงเดิมอยู่วัดบางว้าใหญ่, เปนพระเทพมุนี,ให้มหาเกสรปเรียญติโทวัดโพธาราม, เปนพระญาณสิทธิ. ๚ะ
๏ อนึ่งที่พระอุบาฬีนั้น, ก็ต้องกับนามพระอรหันต์, จึ่งดำรัศให้แปลงนามเสียใหม่. ให้มหามีปเรียญติ์เอกวัดเลียบ, เปนพระวินัยรักขิตแทนที่พระอุบาฬี. แลพระพุทธาจาริยวัดบางว้าน้อยนั้น, ชราอาพาธลงก็ดับสูญ. ทรงพระกรุณาให้กระทำฌาปนกิจแล้ว, ให้นิมนต์พระเทพมุนีไปอยู่ครองอารามวัดบางว้าน้อยแทน. จึ่งโปรดให้พระพรหมมุนีวัดบางว้าใหญ่, เลื่อนเปนพระพุทธาจาริย. โปรดให้มหาทองดีปเรียญติ์เอกวัดหงษ, เปนพระนิกรมไปครองวัดนาค. แล้วโปรดให้พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี, พระครูศรีสุนทราสรวิจิตร, เปนตำแหน่งคู่สวดในสมเดจพระสังฆราชไปอยู่วัดกลาง. แล้วให้นิมนต์พระอาจาริยวัดท่าหอย, คลองตะเคียนแขวงกรุงเก่า, ลงมาอยู่ครองวัดพลับ, ให้เปนพระญาณสังวรเถร. ให้พระอาจาริยวัดสมอราย, เปนพระปัญาวิสารเถร. ให้พระญาณไตรยโลกยวัดเลียบ, เลื่อนที่เปนพระพรหมมุนี. ๚ะ
๏ อนึ่งหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการีขวา, ซึ่งเปนพระพิมลธรรมก่อนนั้น, ต้องศึกครั้งแผ่นดินเจ้าตากว่า, ต้องอธิกรณ์อทินนาทาน, ทรงแคลงอยู่ จึ่งให้พิจารณาไล่เลียงดูใหม่, ก็บริสุทธิอยู่หาขาดสิกขาบทไม่. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้กลับบวชเข้าใหม่, ให้เปนพระญาณไตรยโลกยอยู่วัดสลัก. โปรดให้มหามีปากแดงปเรียญติ์เอกวัดคอกกระบือ, เปนพระโพธิวงษ. ๚ะ
๏ อนึ่งที่พระราชาคณะฝ่ายรามัญนั้น, ยังหาตัวมิได้. จึ่งทรงพระกรุณาให้จัดพระมหาเถรฝ่ายรามัญ, ซึ่งรู้พระวินัยปริยัติ,ได้สามพระองค. ทรงตั้งเปนพระมหาสุเมธาจาริยพระองค์หนึ่ง, พระไตรสรณธัชพระองคหนึ่ง, พระสุเมธน้อยพระองค์หนึ่ง. แลสมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ทรงสร้างพระอารามขึ้นใหม่,ให้นามวัดทองปุะ. นิมนต์พระสงฆ์รามัญมาอยู่, ให้พระมหาสุเมธาจารยเปนเจ้าอาราม. อนึ่งพระไตรยสรณธัชนั้น, มีพระราชโองการโปรดให้อยู่ณวัดบางหลวง, เปนเจ้าคณะรามัญในแขวงเมืองนนทบุรี, แลเมืองสามโคก พระสุเมธน้อยนั้น,ให้เปนเจ้าอารามวัดบางยี่เรือใน. ๚ะ
๏ อนึ่งครั้งแผ่นดินเจ้าตากนั้น, พระราชาคณะ, ถานาปเรียญติ์ทั้งปวง, ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด, เหมือนข้าราชการฝ่ายฆราวาศนั้น, เหนว่าไม่ควร. จะทรงถวายเงินเดือน,เปนนิจภัตรทุกๆเดือน. จึ่งพระธรรมธิราราชมหามุนีถวายพระพรว่า, ซึ่งจะทรงถวายเงินแก่พระสงฆ์ ๆ รับนั้นไม่ควร, ต้องอาบัติปาจิตตีย. จึ่งดำรัศให้วิเสศนอกแต่งสำรับกัปปียจังหัน,ไปถวายพระราชาคณะแลปเรียญติ์ในเพลาเช้าทุกๆพระอาราม. ๚ะ
๏ ขณะนั้นพระเทพมุนี,ซึ่งเปนข้าหลวงเดิม, จึ่งเข้ามาถวายพระพรว่า, ซึ่งสมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า, จะมาทรงเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำสมเดจเจ้าชื่นนั้นไม่ควรนัก, ด้วยสมเดจเจ้าชื่นองค์นี้, เปนคนอาสัจสอพลอ, กระทำให้แผ่นดินเจ้าตากฉิบหายเสียครั้งหนึ่งแล้ว. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธว่า, พระเทพมุนีมาเจรจาอยาบช้าแช่งให้เหมือนแผ่นดินเจ้าตาก. จึ่งดำรัศให้ถอดเสียจากพระราชาคณะ, แล้วโปรดให้พระเทพโมฬีวัดสังฆจาย,เปนพระเทพมุนีแทน. โปรดให้มหาศรีปเรียญติ์เอกวัดพลับ,เปนพระเทพโมฬี. แล้วดำรัศว่าวัดแจ้ง, วัดท้ายตลาดทั้งสองพระอารามนี้, แต่ก่อนเปนวัดภายในพระราชวังไม่มีพระสงฆอยู่. จึ่งทรงพระกรุณาให้สร้างกุฎีเสนาศนสงฆ์ทั้งสองอาราม. แล้วโปรดให้นิมนตพระเทพโมฬีวัดพลับ, กับพระสงฆ์อันดับมาอยู่ณวัดท้ายตลาด. แล้วโปรดให้พระปลัดสมเดจพระสังฆราช,เปนพระโพธิวงษาจารย. โปรดให้พระครูเมธังกร, เปนพระศรีสมโพธิ. ให้นิมนตพระราชาคณะทั้งสองพระองค, กับทั้งพระสงฆอันดับมาจากวัดบางว้าใหญ่, ลงมาอยู่ณวัดแจ้ง, ให้มีพระสงฆ์ขึ้นทั้งสองพระอารามแล้ว. ครั้งนั้นโปรดให้แจกกฎหมายประกาศห้ามมิให้พระสงฆ์ทั้งปวง, รับวัดถุปัจจัยของทายก. ๚ะ
๏ ขณะนั้นพระพุฒฒาจาริย, ซึ่งเปนสิศสมเดจพระสังฆราชไปเข้าพวกพระธรรมธิราราชมหามุนีวัดหงษ, ปฤกษาเหนด้วยกันว่า,วัดนาค,วัดกลางมีอุปจารใกล้กันนัก,จะมีภัทธสีมาต่างกันนั้นมิควรๆจะมีภัทธสีมาแห่งเดียว. ร่วมกระทำอุโบสถสังฆกรรมในภัทธสีมาอันเดียวกัน. จึ่งให้พระพุฒฒาจาริยเปนผู้ว่า, เข้ามาถวายพระพร. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, จึ่งดำรัศให้ประชุมพระราชาคณะปฤกษาพร้อมกันณวัดบางว้าใหญ่, ในสำนักนิ์สมเดจพระสังฆราชว่า, จะควรมิควรประการใด. แลพระราชาคณะทั้งปวง, มีสมเดจพระสังฆราชเปนประธาน, ปฤกษาเหนพร้อมกันว่า, อารามทั้งสองนั้นมีคลองขั้นเปนเขตร, ควรจะมีภัทธสีมาต่างกันได้. ด้วยมีตัวอย่างมาแต่โบราณ, ครั้งกรุงเก่านั้นพระอารามก็ใกล้ๆ กัน, มีอุโบสถผูกภัทธสีมาต่างๆกันมีมาแต่ก่อนเปนอันมาก, ซึ่งจะว่าเปนภัทธสีมาอันเดียวกันนั้นมิชอบ. แลพระธรรมธิราราชมหามุนี,กับพระพุฒฒาจาริย,ก็แพ้ในที่ชุมนุมพิภากษา. ราชบุรุษนำเอาคำปฤกษาพระราชาคณะขึ้นกราบบังคมทูล, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็ทรงพระพิโรธแก่พระพุฒฒาจาริยว่า, เจรจาอวดรู้กว่าผู้ใหญ่,ดำรัศให้ถอดพระพุฒฒาจาริยเสียจากพระราชาคณะ. แลสมเดจพระสังฆราชจึ่งตรัสประกาศเรียกว่า,มหาอะกตัญู มิได้นับถือถ้อยคำชีต้นอาจาริยของตน,ไปเข้าด้วยพวกวัดหงษ. ครั้นอยู่มามิได้ช้าจึ่งพระปลัดจัน,เปนปลัดพระรัตนมุนีแก้ว, ซึ่งศึกออกมาเปนพระอาลักษณนั้น, มาฟ้องยกอธิกรณ์พระธรรมธิราราชมหามุนี,ในสำนักนิ์สมเดจพระสังฆราชว่า, เดิมพระธรรมธิราราชมหามุนี, ถวายพระพรสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน, ห้ามมิให้พระสงฆ์รับวัตถุปัจจัย. บัดนี้พระธรรมธิราราชมหามุนี, เอาผ้าส่านซึ่งทรงถวายเปนบริขารเครื่องยศนั้น, ไปขายแก่พระศุภรัต,ๆซื้อไว้เปนวัตถุแปดตำลึง สมเดจพระสังฆราชจึ่งให้ราชบุรุษกราบบังคมทูล, ทรงพระกรุณาดำรัศให้พระยาพระเสด็จเปนตระลาการชำระคดี, พิจารณาสืบสวนได้ความเปนสัจสมฟ้อง. ทรงพระพิโรธดำรัศให้สมเดจพระสังฆราชพิภากษาโทษพระธรรมธิราราชมหามุนี, ลงทัณฑกรรมให้ขนทรายห้าร้อยตะกร้า, แล้วให้ถอดเสียจากที่, ให้ลดลงมาเปนพระธรรมไตรยโลกย แล้วโปรดให้พระธรรมเจดียวัดสลัก, เลื่อนขึ้นเปนพระวันรัตแทน. โปรดให้พระญาณสมโพธิ์วัดหงษ, เลื่อนขึ้นเปนพระธรรมเจดีย. ๚ะ
๏ ในลำดับนั้นพระปลัดจีนวัดนาค, มาฟ้องยกอธิกรณ์พระนิกรมเจ้าอารามในสำนักนิ์สมเดจพระสังฆราชว่า, พระนิกรมจูบผ้าห่มฉิมภรรยาพระยามหานุภาพ สมเดจพระสังฆราชให้ราชบุรุษกราบทูล, ทรงพระกรุณาให้พระยาพระเสดจชำระ, พิจารณาได้ความเปนสัจดำรัศจะให้ศึกเสีย. สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ, กราบทูลขอไว้ว่ายังหาถึงศีลวิบัติไม่. จึ่งดำรัศให้ถอดพระนิกรมเสียจากพระราชาคณะ,แล้วให้บัพพาชนิยกรรมเสียจากพระอาราม, ไปอาไศรยอยู่กับพระสุเมธน้อยณวัดบางยี่เรือใน. แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งมหาอยู่พุฒฒาจาริยซึ่งถอดเสียนั้น,เปนธรรมกิติ์ไปครองวัดนาค. โปรดให้มหาเรืองเทพมุนีซึ่งถอดเสียนั้น,เปนพระธรรมโฆษาครองอารามวัดบางว้าน้อยดังเก่า. แล้วโปรดให้พระอาจาริยเป้าปเรียญติ์เอกแต่ครั้งกรุงเก่า, ลงมาแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือ, มาอยู่ณวัดบางยิเรือใต้นั้น, ตั้งให้เปนพระพุฒฒาจาริยอยู่ครองพระอารามนั้น. แล้วดำรัศให้เลิกกดหมายซึ่งห้ามมิให้พระสงฆรับวัตถุปัจจัยแต่ก่อนนั้นเสีย, จึ่งทรงถวายเงินตราเปนค่าบิณฑบาตปัจจัย,แก่พระราชาคณะปเรียญติ์ทุกๆ อารามเปนนิจภัตรทุกๆเดือนมิได้ขาด. ๚ะ
๏ ครั้นทรงจัดแจงฝ่ายพระพุทธจักรเสรจแล้ว, จึ่งโปรดให้พระยาราชาเสรฐีกลับออกไปครองเมืองพุทไธยมาศดังเก่า. แล้วทรงเหนว่าเมืองพุทไธยมาศเปนเมืองน่าศึกใกล้กันกับแดนเมืองยวญ, จึ่งโปรดให้พระยาทัศดาออกไปช่วยราชการป้องกันเมืองด้วย. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาปังกลิมา,เจ้าเมืองกำปอชรู้ข่าวว่า, กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่, ก็คิดขบถแขงเมือง, มิได้มาขึ้นเปนข้าขอบขันธสีมาเหมือนแต่ก่อน. พระยาราชาเสรฐี, พระยาทัศดา, ก็บอกเข้ามากราบทูล จึ่งดำรัศให้มีตราตอบออกไป, ให้พระยาราชาเสรฐี, พระยาทัศดา, คิดอ่านจับตัวพระยาปังกลิมาจำส่งเข้ามาณกรุงฯ พระยาราชาเสรฐี,พระยาทัศดา, ก็ยกกองทับมาจากเมืองพุทไธยมาศ, มาณเมืองกำปอช, จับตัวพระยาปังกลิมาได้จำส่งเข้ามาถวาย. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งลองพระองค์, จึ่งดำรัศให้เอาตัวพระยาปังกลิมาไปตัดเท้าแล้ว, แล้วผูกขึ้นแขวนห้อยศีศะลงมาเบื้องต่ำ, กระทำประจารไว้,ที่ป่าช้าวัดโพธารามนอกพระนคร,ด้านตวันออกจนถึงแก่ความตาย. ๚ะ
๏ ขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลังมีความผิดในราชการ, ทรงพระกรุณาให้ถอดเสีย, แล้วโปรดตั้งให้พระยาศรีอัคราช, ช่วยราชการในกรมท่า. จึ่งดำรัศเอาพระยาพิพัฒโกษา,เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาพระคลังแทน. ตรัสเอาจหมื่นสรรพเพธภักดีข้าหลวงเดิม,เปนเจ้าพระยาพิพัฒโกษา. ๚ะ
๏ ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศนั้น, ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไปตั้งพระยายมราชเขมรผู้มีความชอบ, เปนเจ้าพระยาอไภยภูเบศร์ครองกรุงกัมพูชาธิบดี. แล้วส่งเจ้าสี่องคราชบุตรนักพระอุไทยราชานั้นเข้ามากรุงฯ. เจ้าพระยาอไภยภูเบศร,ก็ส่งเข้ามาตามรับสั่ง. แล้วตั้งเมืองอยู่ณะตำบลอุดงฤาไชย,มิได้อยู่ที่เมืองพุทไธยเพชร. ๚ะ
๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงนักพระองค์เอง, เปนพระราชบุตรบุญธรรม. แต่นักพระองค์มินนั้น,ถึงแก่พิราไลย. แลพระองค์อี, พระองค์เภา, หญิงทั้งสองนั้น, สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ขอพระราชทานไปเลี้ยงไว้เปนพระสนม, อยู่พระราชวังน่า. ๚ะ
๏ ฝ่ายข้างลาวประเทศนั้น, เจ้าบุญสาร พระเจ้าล้านช้างเก่า, กลับมาแต่เมืองคำเกิด,มาณะเมืองล้านช้าง จับพระยาสุโภ,ซึ่งอยู่รั้งเมืองนั้นฆ่าเสีย, แล้วเข้าตั้งอยู่ในเมือง. แลท้าวเพลี้ยขุนนางซึ่งไม่ยอมเข้าด้วยนั้น, ก็หนีลงมาณกรุงฯ กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ
๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, จึ่งมีพระราชดำรัศโปรดให้เจ้านันทเสนราชบุตรนั้น, ให้กลับขึ้นไปครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป. แล้วเจ้านันทเสนจึ่งกราบทูลขอพระบางนั้นกลับคืนไปด้วย. ครั้นขึ้นไปถึงเมืองบมิได้ช้า, เจ้าบุญสารผู้บิดาก็ถึงแก่พิราไลย. แล้วพระเจ้าล้านช้างใหม่กระทำฌาปนะกิจเสรจแล้ว, ก็บอกส่งเจ้าอิน,เจ้าพรม, แลเจ้าน้องทั้งปวงนั้นลงมาถวายณกรุงฯทรงพระกรุณาให้เลี้ยงไว้. ๚ะ
๏ ในปีขานจัตวาศกนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทรงตั้งพระราชบุตร, พระราชบุตรี, พระราชนัดา, ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น,เปนสมเดจพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าหลานเธอ, เปนเจ้าฟ้าทั้งสิ้น. แลพระราชนัดาเจ้าฟ้าสุพันธุวงษนั้น, พระราชทานพระนามใหม่ว่า, สมเดจพระเจ้าหลานเธอ, เจ้าฟ้าอภัยธิเบศนเรศรสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมาร. ๚ะ
๏ อนึ่งแต่ครั้งเมื่อปีฉลูตรีศกนั้น, ฝ่ายข้างแผ่นดินภุกามประเทศ, พระเจ้าจิงกูจา, ผู้เสวยราชสมบัติณกรุงรัตนบุระอังวะ, ยกกองทับขึ้นไปนมัศการพระสิงหดอ, เหนือเมืองอังวะขึ้นไปทางไกลห้าคืน. ๚ะ
๏ ขณะนั้นมังหม่อง,เปนราชบุตรพระเจ้ามังลอก,ผู้เปนลุงพระเจ้าจิงกูจา,บวชเปนสามเณรอยู่, ตั้งซ่องสุมผู้คนได้พัคพวกเปนอันมาก, จึ่งศึกออกคิดการขบถ, ยกเข้าปล้นชิงเอาเมืองอังวะได้. มังหม่องจึ่งให้ไปเชิญอาวทั้งสาม, คือตแคงปดุงหนึ่ง, ตแคงปคานหนึ่ง, ตแคงแปงตแลหนึ่ง. มาพร้อมกันแล้วมอบราชสมบัติให้. อาวทั้งสามมิได้รับ, ยอมให้มังหม่องเปนเจ้าแผ่นดิน, มังหม่องก็ได้ครองราชสมบัติเปนพระเจ้าอังวะ. จึ่งไปขอบุตรีอแซหวุ่นกี้มาเปนพระมเหษี. แลพวกข้าไทยมังหม่องนั้นเปนคนอยาบช้า, เที่ยวข่มเหงขุนนาง,แลอาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน. อแซหวุ่นกี้จึ่งคิดการขบถ. ภอเพลาเย็นมังหม่องเสวยอาหารอยู่, อแซหวุ่นกี้ก็ภาพัคพวกเข้าไปในพระราชวัง, จับตัวมังหม่องประหารชีวิตรเสีย. แลมังหม่องอยู่ในราชสมบัติได้เจดวันก็ถึงพิราไลย อแซหวุ่นกี้ขึ้นนั่งเมืองอยู่ได้คืนหนึ่ง. จึ่งตแคงปดุง, ตแคงปคาน, ตแคงแปงตะแลทั้งสาม, กับขุนนางทั้งปวงพร้อมกันยกพลทหารเข้าปล้นเอาพระราชวังได้. จับตัวอแซหวุ่นกี้ได้ให้ฆ่าเสีย. ขุนนางทั้งปวงจึ่งเชิญตแคงปดุง, ขึ้นเสวยราชสมบัติณเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงจึ่งตั้งตแคงอินแซะ, ราชบุตรผู้ใหญ่เปนมหาอุปราช แล้วให้มหาศีลวะอำมาตย์, กับจอกตลุงโบ่, เปนนายทับเรือห้าสิบลำ, คนสองพันยกขึ้นไปจับพระเจ้าจิงกูจา, ซึ่งขึ้นไปไหว้พระสิงหดอได้ตัวมา, กับทั้งบุตรกรรยาแลขุนนางทั้งปวง. พระเจ้าปดุงให้เอาตัวพระเจ้าจิงกูจา, ไปถ่วงน้ำเสียให้ถึงแก่ความตาย บุตรภรรยาขุนนางพัคพวกนั้น, ให้ประหารชีวิตรเสียสิ้น แลพระเจ้าจิงกูจาอยู่ในราชสมบัติได้หกปีเสศ. ๚ะ
๏ ในปีขานนั้นฝ่ายข้างแผ่นดินเมืองญวน, องคไก่เซินเจ้าเมืองกุยเยิน, ยกกองทับไปตีเมืองแซ่ง่อน, องคเชียงสือเจ้าเมือง, ยกพลทหารออกต่อรบ, ต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีทิ้งเมืองเสีย, ภาบุตรภรรยาแลขุนนางสมักพัคพวก, ลงเรือแล่นหนีมาทางทเล, ขึ้นอาไศรยอยู่ณเกาะโดดน่าเมืองพุทไธยมาศ. ครั้นพระยาราชาเสรฐี, พระยาทัศดาได้แจ้ง, จึ่งแต่งคนไปเจรจาเกลี้ยกล่อมได้ตัวองคเชียงสือ, กับทั้งสมัคพัคพวกมาสิ้น, แล้วบอกส่งเข้ามาถวายณกรุงฯ ทรงพระกรุณาให้เลี้ยงไว้, โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลคอกกระบือ. ๚ะ
๏ ฝ่ายองคไก่เซินครั้นตีเมืองแซ่ง่อนได้แล้ว, จึ่งให้องคติงเวืองน้องชายกลางอยู่รักษาเมืองแซ่ง่อน แล้วให้องคลองเยืองน้องชายน้อย, ไปเปนเจ้าเมืองเว้. ตัวองไก่เซินก็เลิกกองทับกลับไปเมืองกุยเยิน. ๚ะ
๏ ครั้นถึงปีเถาะเบญจศก, ศักราช ๑๑๔๕ ฝ่ายข้างกรุงภุกามประเทศพม่าคนหนึ่งชื่องะพุง, มีพัคพวกประมาณสามร้อย, คิดขบถยกเข้าปล้นเมืองอังวะ. พระเจ้าปดุงให้ขุนนางคุมทหารออกต่อรบ,ก็แตกฉานพ่ายหนี พลข้าหลวงติดตามจับตัวงะพุงกับพัคพวกได้, พระเจ้าปดุงให้ฆ่าเสียทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ในปีเถาะนั้น พระเจ้าปดุงให้สร้างเมืองใหม่,ที่ตำบลบ้านทองกา, อยู่ทิศตวันตกไกลเมืองอังวะทางสามร้อยเส้น. ครั้นการเมืองสำเรจแล้ว, จึ่งให้นามชื่อเมืองอมรบุระ. พระเจ้าปดุงยกไปจากเมืองอังวะ, ไปอยู่ณเมืองใหม่นั้นตั้งเปนเมืองหลวง. แล้วจัดแจงกองทับจะยกไปตีเมืองธัญวดี, คือเมืองยะไข่. แต่งให้แอกกะบัดหวุ่น,ถือพลสี่พันเปนทับน่า. ให้ตแคงจักกุราชบุตรที่สอง,ถือพลหมื่นหนึ่งเปนแม่ทับบกยกไปทางหนึ่ง. แล้วให้แมงคุงหวุ่นถือพลสี่พันเปนทับน่า. ให้ตแคงกามะราชบุตรีที่สาม,ถือพลหมื่นหนึ่งเปนแม่ทับบกบกยกไปทางหนึ่ง. แล้วให้ศิริกเหรี่ยงหนึ่ง, แยข่องเดชะหนึ่ง, แจกกะเรจอโบ่หนึ่ง, ถือพลสี่พันเปนทับน่า. ให้อินแซะมหาอุปราช, ถือพลหมื่นหกพันเปนแม่ทับยกไปทางหนึ่ง, เปนสามทับไปตีเมืองธัญวดี. ๏ แลทับเรือนั้นให้มหาจอแทงตละยาเปนแม่ทับ, กับแยจออากาหนึ่ง, แยจอสมุทหนึ่ง, ถือพลห้าพัน, เรือรบเรือทเลสามร้อยลำ, ยกไปทางทเล. แลกองทับบกทับเรือทั้งสี่ทับ, ยกไปตีหัวเมืองขึ้นยะไข่รายทางไปได้เปนหลายเมือง. แล้วยกไปบันจบพร้อมกันเข้าดีเมืองธัญวดี, ซึ่งเปนเมืองหลวงยะไข่นั้น. พระเจ้ายะไข่ให้พลทหารออกต่อรบ,สู้ฝีมือพม่ามิได้. ทับพม่าก็เข้าหักเอาเมืองได้, จับได้ตัวพระเจ้ายะไข่, แลขุนนางไพร่พลครอบครัวประมาณห้าหมื่นเสศ, กวาดเอามาเมืองอมรบุระ. แล้วตั้งจอกะชูคุมพลพม่าหมื่นหนึ่ง,ให้อยู่รักษาเมืองธัญวดี. แลพระเจ้ายะไข่นั้น, พระเจ้าปดุงให้เลี้ยงไว้, ป่วยลงก็ถึงแก่ความตาย. ๚ะ
๏ ในปีเถาะเบญจศกนั้น, ฝ่ายข้างพระมหานครศรีอยุทธยา, เกิดขบถอ้ายบัณฑิตยสองคน,มาแต่เมืองนครนายกอวดตัวว่า, มีวิชาการความรู้ล่องหนหายตัวได้. คบคิดกับขุนนางเปนหลายคน, มีพระยาอไภยรณฤทธิเปนต้น, กับทั้งหญิงพวกวิเสศปากบาตรพระราชวังน่า. ๚ะ
๏ ครั้นถึงณวันศุกรเดือนห้าแรมสองค่ำเพลาเช้า, พวกหญิงวิเสศวังน่า, ขนกระบุงใส่เข้าทรงบาตรเข้าไปทางประตูดินวังน่า, เอี้ยงผู้เปศนายวิเสศปากบาตร, ภาอ้ายบัณฑิตยทั้งสองคน, นุ่งผ้าห่มผ้าอย่างผู้หญิง, ถือดาบซ่อนในผ้าห่มปลอมเข้าไปในวังน่า. แล้วขึ้นไปแอบอยู่สองข้างพระทวารพระราชมณเฑียร, ทางที่จะเสดจลงมาทรงบาตร, คอยจะทำร้ายสมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ. ด้วยเดชะพระบารมีเพลาวันนั้น,หาเสดจลงทรงบาตรพระทวารมุขนั้นไม่. เทพยดาดลพระไทยให้ทรงพระราชดำริหจะลงมาเฝ้าณพระราชวังหลวง, ก็เสดจออกทางพระทวารข้างน่า. แล้วเสดจลงมายังพระราชวังหลวงแต่เพลาเช้าก่อนทรงบาตร. อ้ายขบถบัณฑิตยทั้งสอง, หาได้โอกาศที่จะทำร้ายไม่. ภอนางพนักงานเฝ้าที่มาภบเข้าก็ตกใจ, วิ่งร้องอื้ออึงลงมาว่า, ผู้ชายสองคนถือดาบขึ้นมาอยู่ที่พระทวารบนที่. อ้ายบัณฑิตยทั้งสองก็ไล่นางเฝ้าที่ลงมา. ๚ะ
๏ ขณะนั้นภอขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่ง, คุมไพร่เข้าไปก่อถนนในพระราชวัง. อ้ายขบถบัณฑิตยก็เอาดาบฟันขุนหมื่นผู้นั้น, ศีศะขาดล้มลงตายอยู่กับที่ พวกเจ้าจอมข้างใน,แลจ่าโขลน, ที่ตกใจร้องอื้ออึงวิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างน่า. ข้าราชการข้างน่าทั้งปวงก็เข้าไปในพระราชวัง, ไล่ล้อมจับอ้ายขบถบัณฑิตยทั้งสอง. บ้างเอาไม้พลองแลอิดทุบตีทิ้งขว้างเปนอลหม่าน. บ้างก็วิ่งลงมายังพระราชวังหลวงกราบทูลเหตุให้ทราบ. ภอเสดจเข้าอยู่ในท้องพระโรง. ๚ะ
๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคได้ทรงทราบ, จึ่งดำรัศให้ข้าราชการทั้งปวง, แลตำรวจทั้งพระราชวังหลวงวังน่า, เร่งขึ้นไปจับอ้ายขบถ, ช่วยกันทุบตีล้มลงจับตัวได้มัดไว้. แล้วจำครบตบติดไม้เฆี่ยนถาม. ให้การซัดพวกเพื่อนร่วมคิดขบถด้วยกันเปนอันมาก, ถูกข้าราชการทั้งวังหลวง,วังน่าเปนหลายคน, มีพระยาอไภยรณฤทธิเปนต้น, กับทั้งพวกหญิงวิเสศปากบาตรวังน่าทั้งนายทั้งไพร่. มีพระบัณฑูรให้เฆี่ยนสอบกับอ้ายบัณฑิตยรับเปนสัจ, ดำรัศให้ประหารชีวิตรอ้ายบัณฑิตขบถสองคน, กับพวกเพื่อนชายหญิงทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ครั้นถึงณวันศุกรเดือนห้าแรมเก้าค่ำ, พระยาอไภยภูเบศรผู้ครองกรุงกัมพูชาธิบดี, ให้พระยาพระเขมรเชิญเอาพระขรรคไชยศรี, แต่ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงษ,ส่งเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย. ในวันนั้นบังเกิดพยุหใหญ่ฝนตกอสนีบาตลงศาลาลูกขุนใน. ๚ะ
๏ ในปีเถาะเบญจศกนั้น, ทรงพระกรุณาดำรัศให้พระยานครสวรรค,ยกกองทับออกไปณกรุงกัมพูชา, ให้เกนกองทับเขมรเข้าบันจบด้วย, ยกไปรบยวญตีเมืองแซ่ง่อนคืนให้องคเชียงสือ, ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระยานครสวรรคก็กราบถวายบังคมลา, ยกกองทับออกไปณกรุงกัมพูชาตามพระราชกำหนด. ๚ะ
๏ ถึงณวันศุกรเดือนสิบเบดแรมสิบสี่ค่ำ, เกิดพยุหใหญ่พัดเย่าเรือนในพระนครทำลาย, แลใบเสมากำแพงเมืองก็หักพังลงเปนอันมาก. ๚ะ
๏ ในปีเถาะนั้น สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ดำรัศให้จับการก่อกำแพงทั้งพระราชวังหลวงวังน่า, แล้วให้ถาปนาพระราชมณเฑียร, ทั้งข้างน่าข้างในสำเรจบริบูรณ. ๚ะ
๏ พระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, ทรงพระกรุณาให้ถปนาพระอารามขึ้นภายในพระราชวัง, พร้อมทั้งอุโบสถพระเจดียวิหาร, แลศาลารายเปนหลายหลัง, แล้วให้ขุดสระน้ำทำหอไตรยลงในสระใส่ตู้พระไตรยปิฎก. แล้วโปรดให้พระอาลักษณ์แก้ว, เปนพระยาธรรมปโรหิต, จางวางราขบัณฑิตย. ตั้งพระอาลักษณ์ขึ้นใหม่. แล้วให้หลวงอนุชิตพิทักษ,เปนพระยาพจณาพิมล, ช่วยราชการในกรมราชบัณฑิตย. แล้วให้ราชบัณฑิตยทั้งปวงบันดาที่เปนอาจาริยนั้น,บอกพระไตรยปิฎกพระสงฆสามเณรเปนอันมากบนหอไตรยๆ นั้นให้นามว่าทอพระมณเฑียรธรรม. ๚ะ
๏ อนึ่งให้อัญเชิญรูปพระเทพบิดา, คือสมเดจพระเจ้ารามาธิบดีอู่ทอง, ซึ่งเปนปฐมกระษัตริยสร้างกรุงเก่า, มาแปลงเปนพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทอง, แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหาร,ๆนั้นให้นามว่าหอพระเทพบิดร. แลการพระอารามนั้นยังมิได้สำเรจ. ๚ะ
๏ ฝ่ายสมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ, ก็ทรงปฏิสังขรณวัดสลัก, ให้กระทำอุโบสถพระวิหารการปเรียญดิ์,แลพระมณฑปขึ้นใหม่. แล้วก่อพระเจดียบันจุพระบรมธาตุไว้ภายในพระมณฑป, ก่อพระรเบียงล้อมรอบ, แลสร้างกุฎีเสนาศนฝากระดานถวายพระสงฆ์. แลให้ก่อตึกสามหลังถวายพระวันรัตผู้เปนเจ้าอาราม, ให้ก่อกำแพงแก้วล้อมรอบพระอาราม. แล้วตั้งนามใหม่ว่าวัดนิพพานาราม. ๚ะ
๏ ในปีนั้นเจ้าจอมทองดีอยู่งานในพระราชวังหลวง, เปนบุตรีหลวงอินทโกษา, คบคิดกับหม่อมบุญศรีพระพี่เลี้ยง, สมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าอไภยธิเบศร. แลแทนข้าหลวงตำหนักใหญ่, ให้แทนเปนผู้ไปหาหมอทำเสน่ห. จะให้สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวโปรดปรานจงมาก. แลรู้เหนด้วยกันกับทั้งมารดา,แลทาษคนหนึ่ง. ทาษในเรือนมาฟ้องแก่เจ้าตรัวนายท้าวนางผู้ใหญ่.ๆนำเอาข้อความขึ้นกราบบังคมทูล. จึ่งดำรัศสั่งให้พิจารณาได้ความเปนสัจ. มีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวเจ้าจอมทองดี, กับพัคพวกสี่คน,แลหมอคนหนึ่ง,ไปประหารชีวิตรเสียณวัดตเคียนทั้งสิ้น. ๚ะ
๏ ฝ่ายกองทับพระยานครสวรรค, แลท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทเปนหลายนาย, ซึ่งยกออกไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดี. แล้วเกนเอากองทับเขมรเข้าบันจบ, ยกทับเรือลงไปณเมืองญวน. แลองติงเวืองเจ้าเมืองแซ่ง่อนได้แจ้งว่า,กองทับไทยยกล่วงแดนลงมา. จึ่งเกนทับเรือให้ขุนนางเมืองแซ่ง่อน, ยกกองทับเรือขึ้นมาต่อรบป้องกันเมืองสักแดก, ซึ่งเปนเมืองขึ้น, ได้รบกันกับทับไทยเปนสามารถ. พระยานครสวรรคมีฝีมือเข้มแขง, ยกทับเรือเข้าตีทับญวนแตกพ่ายไปเปนหลายครั้ง. ได้เรือแลไพร่พลญวน,เครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเปนอันมาก, แล้วส่งคืนลงไปให้แก่แม่ทับญวน. แลพระยาพิชิตณรงค, กับข้าหลวงมีชื่อเปนหลายนาย, เหนพระยานครสวรรคกระทำผิด,คิดการขบถจะไปเข้าด้วยฆ่าศึก. จึ่งบอกกล่าวโทษเข้ามา ณกรุงฯ, กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ. ๚ะ
๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระพิโรธ. ดำรัศให้ข้าหลวงถือท้องตราออกไป, ให้หากองทับพระยานครสวรรคกลับคืนเข้ามาณกรุงฯ ทรงพระกรุณาให้เสนาบดีพิจารณาไต่สวนไล่เลียง, ได้ความจริงตามหนังสือบอกกล่าวโทษ. จึ่งดำรัศให้เอาตัวพระยานครสวรรค, กับขุนนางพัคพวกสิบสองนาย,ซึ่งร่วมคิดด้วยกันนั้น, ไปประหารชีวิตรเสียณป่าช้าวัดโพธาราม,นอกพระนครข้างทิศตวันออก, แล้วให้เอาศีศะเสียบประจานไว้ทั้งสิ้น. ๚ะ