๓๐

๏ ในปีนั้นทรงพระกรุณาตั้งสมเด็จพระพันปีหลวง, เปนกรมพระเทพามาตย์ตามโบราณราชประเพณี. แลโปรดตั้งเจ้าครอกหอกลาง พระมเหษีเดิม, เปนกรมหลวงบาทบริจาริก. แลตั้งพระเจ้าหลานเธอสามพระองค์เปนเจ้าราชินิกุล, ชื่อเจ้านราสุริยวงษองค์หนึ่ง, เจ้ารามลักษณองค์หนึ่ง, เจ้าประทุมไพรจิตรองค์หนึ่ง. แลพระเจ้าลูกเธอใหญ่พระองค์เจ้าจุ้ย, กับพระเจ้าหลานเธอเจ้าแสง, เจ้าบุญจันท์สองพระองค์นั้น, ยังหาได้พระราชทานพระนามไม่. ๚ะ

๏ แล้วทรงคิดราชการซึ่งจะเกนกองทับ, ยกกองทับออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ภอข้างกัมพุชประเทศ, นักพระองค์ตน, ซึ่งชื่อพระอุไทยราชา, ไปขอรับญวนมาตีเมืองพุทไธเพชร์, นักพระรามาธิบดีผู้ครองเมืองสู้รบมิได้, ก็ภาสมัคพักพวกครอบครัวอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงธนบุรี. จึ่งมีพระราชดำรัศให้พระยาอไภยรณฤทธิ์, พระยาอนุชิตราชา, ยกกองทับพลสองพันไปทางเมืองปราจินทับหนึ่ง, ไปตีนักพระอุไทยราชาคืนเอาเมืองพุทไธเพชร์, ให้แก่นักพระรามาธิบดีจงได้. แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งสองทับ, ก็กราบถวายบังคมลายกกองทับ, สรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธไปทั้งสองทาง, ตามพระราชกำหนด. ๚ะ

๏ แล้วเกนกองทับโปรดให้เจ้าพระยาจักรีแขก, ซึ่งเปนหลวงนายศักดิ์อยู่ก่อนนั้นเปนแม่ทับ, กับพระยายมราช, พระยาศรีพิพัฒ, พระยาเพชรบุรี. ถือพลห้าพัน, พร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชชอีกทับหนึ่ง. เจ้าพระยาจักรี,แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลายกกองทับไปทางเมืองเพชร์บุรี, ไปถึงเมืองประทิว. ชาวเมืองปะทิว, เมืองชุมพร, ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น แลนายมั่นคนหนึ่งภาสมัคพักพวกเปนอันมากเข้ามาหาท่านแม่ทับ, ขอสวามีภักดิ์เปนข้าราชการ. จึ่งบอกเข้ามาให้กราบทูล, จึ่งโปรดให้มีตราตั้งออกไป, ให้นายมั่นเปนพระชุมพร,ให้เกนเข้ากองทับด้วย. ครั้นยกออกไปถึงแดนเมืองไชยา. หลวงปลัดเมืองไชยาก็ภาไพร่พลมาเข้าสวามีภักดิ์. จึ่งบอกเข้ามาให้กราบทูลอิก, โปรดให้มีตราตั้งออกไป, ให้หลวงปลัดเปนพระยาวิชิตรภักดีเจ้าเมืองไชยา. ให้เกนเข้าบันจบกองทับ, กองทับก็ยกออกไปตั้งอยู่ณเมืองไชยา ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชได้ทราบข่าวศึก, จึ่งเกนกองทับให้ขุนนางเมืองนครยกออกมาตั้งค่ายรับอยู่ณตำบลท่าหมาก แลกองทับกรุงยกข้ามแม่น้ำบ้านดอนไปถึงค่ายท่าหมาก, ได้รบกับทับเมืองนครเปนสามารถ พระยาเพชร์บุรี, พระยาศรีพิพัฒตายในที่รบ. แต่หลวงลักษณมนาบุตรเจ้าพระยาจักรีแม่ทับนั้น, ฆ่าศึกจับเปนไปได้. เจ้าพระยาจักรีก็ให้ล่าทับ. ถอยมาตั้งอยู่ณะเมืองไชยา. ๚ะ

๏ แลพระยายมราชจึ่งบอกกล่าวโทษเข้ามาว่า, เจ้าพระยาจักรีเปนกระบถ, มิเต็มใจทำราชการสงคราม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกนั้น, ก็ทรงพระวิจารณ์ด้วยพระปรีชาญาณ, ตรัสทราบเหตุว่า, นายทับนายกองเหล่านี้ทำสงครามไปไม่ตลอดแล้ว, จึ่งเกิดวิวาทแก่กัน. แลการศึกเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนี้เปนศึกใหญ่, แต่กำลังเสนาบดีเหนจะทำการไม่สำเร็จเปนแท้. จำจะต้องยกพยุหโยธาทับหลวงไปเอง, จึ่งจะได้เมืองนครศรีธรรมราช. จึ่งดำรัศให้จัดแจงทับเรือพร้อมด้วยพลรบหมื่นหนึ่ง, พลกรรเชียงหมื่นหนึ่ง, แลเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยทั้งปวงให้สรัพ. ๚ะ

๏ ครั้นถึงวันมหาพิไชยฤกษในอาสาทมาศกาฬปักษดิถี, จึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งสถุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ, ยาวสิบเอ็ดวา, ปากกว้างสามวาเสศ, พลกะเชียงญี่สิบเก้าคน. พร้อมด้วยเรือรบท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทนายทับนายกองทั้งปวง, โดยเสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนพยุหโยธาน่าหลัง, เสด็จกรีธานาวาทับหลวงออกจากกรุงธนบุรี. ไปทางชลมารค ออกปากน้ำเมืองสมุทสงคราม, ตกถึงท้องทเล. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตย์เดือนเก้าแรมสามค่ำ, เพลาสามโมงเช้าถึงตำบลบางทลุะ, บังเกิดพยุห์คลื่นลมหนัก, แลเรือรบข้าราชการในกองหลวง,แลกองน่า,กองหลัง, บ้างล่ม, บ้างแตก, บ้างเข้าจอดแอบบังอยู่ในอ่าว สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้ปลูกสาลขึ้นสูงเพียงตาบนฝั่ง, ให้แต่งตั้งเครื่องกระยาสังเวยบวงสรวงเทพารักษ, อันพิทักษท้องพระมหาสมุท,ให้จุดธูปเทียนทำสักการบูชา, แล้วทรงตั้งพระสัตยาธิฐาน, เอาคุณพระศรีรัตนไตรยเปนที่ตั้ง,กับทั้งพระบารมีซึ่งทรงบำเพ็ญมาแต่บุเรชาติ,แลในปัจจุบัน, ขอจงบันดานให้คลื่นลมสงบลงในบัดนี้. ด้วยเดชะอำนาทพระราชกฤษดาธิการอภินิหารบาระมีเปนมหัศจรรย์. คลื่นลมนั้นก็สงบราบคาบเหนประจักษในขณะทรงพระสัตยาธิษฐาน, แลเรือพระที่นั่ง, แลเรือข้าราชการทั้งหลาย, ล้วนเปนเรือรบน้อยๆ, ก็ไปได้ในมหาสมุทหาอันตรายมิได้ ๚ะ

๏ ครั้นเสด็จถึงเมืองไชยา จึ่งให้จอดประทับณะท่าพุมเรียง, เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับแรมอยู่บนพลับพลา, ซึ่งกองทับน่าตกแต่งไว้รับเสด็จ, เพื่อจะให้เปนศรีสวัสดิ์มงคลแก่เมืองไชยานั้น, แล้วดำรัศให้กองทับพระพิไชยราชานั้น, เข้าบันจบทับเจ้าพระยาจักรี, เร่งรีบยกไปทางบก, ให้ตีเอาค่ายทับเมืองนครให้แตกจงได้. แลกองทับบกก็กราบถวายบังคมลายกไปตามพระราชกำหนด. จึ่งเสด็จลงเรือพระที่นั่ง, ให้ยาตรานาวาทับโดยทางทเลสืบไป. ถึงตำบลปากทางคูหา, ได้ทอดพระเนตรเหนดาวหางขึ้นข้างทักษิณทิศ, เปนทุนิมิตรปรากฎแก่เมืองนครศรีธรรมราช สำแดงเหตุอันจะถึงกาลพินาศปราไชย, ก็มีพระราชหฤไทยโสมนัศ. จึ่งดำรัศเร่งกองทับเรือทั้งปวงให้รีบขึ้นไป, ให้ถึงปากน้ำเมืองนครโดยเรว ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับบกพระยายมราชเปนกองน่า, ยกข้ามท่าข้ามไปถึงลำพูญ, เข้าตีค่ายกองทับเมืองนคร, ซึ่งตั้งรับอยู่ณท่าหมากนั้น, แตกพ่ายหนี จึ่งยกติดตามไปตั้งค่ายอยู่ณเขาศีศะช้าง. ภอทับหลวงถึงปากน้ำเมืองนครในวันพฤหัสบดีเดือนสิบแรมหกค่ำ, เพลาเช้าสามโมง, ก็เสด็จยาตราทับขึ้นบกยกเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราช ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้านครแต่งให้เจ้าอุปราช, ยกกองทับออกมาตั้งรับที่ท่าโพ, ก็พ่ายแก่ทับหลวงแตกหนีเข้าเมือง. เจ้านครตกใจกลัวพระเดชานุภาพเปนกำลัง, มิได้ตั้งอยู่สู้รบทิ้งเมืองเสีย, ภาสมัคพักพวกญาติวงษออกจากเมืองหนีไปในเพลานั้น. แลนายคงไพร่ในกองพระเสนาภิมุข, เหนช้างพลายเพชร์ที่นั่งเจ้านครผูกเครื่องสรรภปล่อยอยู่จึ่งจับเอามาถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงช้างที่นั่งพลายเพชร์, เสด็จเข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย. นายทับนายกองทั้งปวงนั้น, ตามเสด็จมาทันบ้าง,ไม่ทันบ้าง. ๚ะ

๏ แลขณะเมื่อรบกันกับเจ้าอุปราช, เสียแต่นายเพชทนายเลือก, ถูกปืนตายคนเดียว, พลข้าหลวงจับได้ราชธิดาแลญาติวงษ, นางสนมเหล่าชแม่พนักงาน, บริวารของเจ้านคร,กับทั้งเจ้าอุปราช, แลขุนนางทั้งปวง. แลได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินเครื่องราชูประโภควัตถาลังกาภรณ์ต่างๆเปนอันมากนำมาถวาย. ครั้นท้าวพระยานายทับนายกองทับบกทับเรือมาถึงพร้อมกันแล้ว, จึ่งมีพระราชดำรัศภาคโทษไว้ครั้งหนึ่ง, ซึ่งตามเสด็จมิได้ทันในขณะงานพระราชสงครามนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้านครภาราชบุตรราชธิดาวงษานุวงษ, แลพระราชทรัพย์เกบไปได้บ้าง, หนีลงเรือไปณเมืองสงขลา. แลหลวงสงขลาภาหนีต่อไป, ถึงณเมืองเทพา,เมืองตานี. ๚ะ

๏ จึ่งมีพระราชดำรัศให้เจ้าพระยาจักรี, พระยาพิไชยราชา, เร่งยกทับเรือทับบกติดตามไปจับตัวเจ้านครให้จงได้, ถ้ามิได้จะลงพระราชอาญาถึงสิ้นชีวิตร. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันศุกร์เดือนสิบเบ็ดขึ้นหกค่ำ, เพลากลางคืนสองทุ่มเสศ. พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, จึ่งเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนนาวาพยุหจากเมืองนครศรีธรรมราช,ไปโดยทางมหาสาครสมุท, ประทับรอนแรมไปตามลำดับชลมารค, จนถึงเมืองสงขลา, เสดจขึ้นประทับอยู่ในเมือง. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีแม่ทับเรือ, พระยาพิไชยราชาแม่ทับบก, ยกติดตามเจ้านครไปถึงเมืองเทพา, จับจีนจับแขกมาไต่ถามได้ความว่า, เจ้านครหนีไปเมืองตานี, กับพระยาพัทลุง, แลหลวงสงขลา. แลแม่ทับทั้งสองนาย, จึ่งให้มีหนังสือไปถึงพระยาตานีศรีสุริยต่านว่า, ให้ส่งตัวเจ้านครกับพักพวกมาถวายให้สิ้น. แม้นมิส่ง, จะยกกองทับไปตีเมืองตานี. ๚ะ

๏ พระยาตานีกลัวบ้านเมืองจะเปนอันตราย, จึ่งส่งตัวเจ้านคร, พระยาพัทลุง, หลวงสงขลา, เจ้าพัด, เจ้ากลาง, กับทั้งบุตรภรรยามาให้แก่ข้าหลวง, ข้าหลวงก็จำคนโทษทั้งนั้น, ใส่เรือรบมาถวายณเมืองสงขลา. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสิบสองขึ้นสิบสองค่ำ, จึ่งเสด็จพระราชดำเนินนาวาทับหลวงกลับมายังเมืองนครศรีธรรมราช. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกร์เดือนสิบสองขึ้นสองค่ำปีฉลูเอกศก, เพลากลางคืนเจ็ดทุ่ม, เกิดเพลิงไหม้ในเมืองนครตำบลนายก่าย. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทรงพระอุษาหเสด็จพระราชดำเนินไป, ให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทดับเพลิง. จึ่งทรงพระกรุณาเรียกให้ช้างมาทะลายเรือน. ฝ่ายกรมช้างมามิทันเสด็จ, ให้ลงพระราชอาญาคละสามสิบทีบ้าง, ห้าสิบทีบ้าง, ตามบันดาศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย. ฝ่ายเจ้าราชินิกูล,แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย, ซึ่งตามเสด็จไปไม่ทันนั้น, ให้ลงพระราชอาญาทุกคนๆ. ๚ะ

๏ ครั้นสำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว, จึ่งทรงพระกรุณาให้มีกฎประกาศไปทั่วทั้งกองทับ, ห้ามมิให้ไพร่พลไทยจีนทั้งปวงฆ่าโคกระบือ, แลข่มเหงสมณชีพราหมณ์, อาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน. แล้วทรงพระกรุณาให้ขนเอาเข้าเปลือกลง, บันทุกสำเภาเข้ามาพระราชทาน, บุตรภรรยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือน, ที่ตามเสด็จไปณเมืองนครศรีธรรมราชครั้งนั้น. ๚ะ

๏ แลครั้งนั้นพวกฝีภายทนายเลือกซึ่งตามเสด็จ, ได้ทรัพย์สิ่งสินเปนอันมาก. ทรงพระกรุณาให้เล่นให้สนุกนิ์, แลให้กำถั่วน่าพระที่นั่ง, กระดานละห้าสิบชั่งบ้าง, ร้อยชั่งบ้าง, สนุกนิ์ปรากฎยิ่งกว่าทุกครั้ง. ๚ะ

๏ แล้วทรงพระราชศรัทธาให้สังฆการีธรรมการ, ไปนิมนต์พระภิกษุเถรเณรรูปชีทั่วทั้งในเมืองนอกเมืองมาพร้อมกัน, ทรงถวายเข้าสารองค์ละถัง, เงินตราองค์ละบาท, ที่ขาดผ้าสบงจีวรก็ถวายทุกๆองค์. แล้วทรงแจกยาจกวรรณิพกทั้งปวง,เสมอคนละสลึงทุกๆวันอุโบสถ แล้วเกนให้ข้าราชการต่อเรือรบเพิ่มเติมขึ้นอีกร้อยลำเสศ, สำรับจะได้ใช้ราชการทับศึกไปภายน่า. แลทรงพระกรุณาให้จ้างพวกข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ทั้งฝ่ายทหารพลเรือน, ให้บุรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวิหารการปเรียญติ์, แลพระระเบียงสาลากุฎีในพระอารามใหญ่น้อยเปนหลายพระอาราม, สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก. แล้วให้มีการมหรรศพสมโภชเวียนพระเทียน, พระมหาธาตุเจดียใหญ่ในเมืองนครนั้นครบสามวัน. ๚ะ

๏ ครั้นเสร็จการสมโภชพระบรมสาริริกธาตุแล้ว, จึ่งดำรัศให้เสนาบดีแลลูกขุนปฤกษาโทษเจ้านคร. แลเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันว่า, โทษถึงประหารชีวิตร. ทรงพระกรุณาโปรดว่าเรายังไม่เหนด้วย, ด้วยเจ้านครยังมิได้เปนข้าราชการแห่งเรา. ฝ่ายเจ้านครก็ตั้งตัวเปนใหญ่, ฝ่ายเราก็ถือว่าเราเปนใหญ่ไม่ง้องอนแก่กัน, จึ่งได้มารบสู้กันทั้งนี้, ถ้าแลเจ้านครทำราชการอยู่ด้วยเราแล้ว, คิดกระบถต่อไป, แม้นเสนาบดีปฤกษาโทษถึงตาย, เราจะเหนด้วย, แต่ว่าให้ยกไว้, ให้จำเจ้านครเข้าไปให้ถึงกรุงฯก่อน,จึ่งปฤกษากันใหม่. ๚ะ

๏ แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงษ, ไว้ครองเมืองนครศรีธรรมราช, แลให้พระยาราชสุภาวดี, กับพระศรีไกรลาศ, อยู่ช่วยราชการ. แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานโอวาทานุสาสน์สั่งสอนไว้ว่า, ให้ประพฤษดิ์ปรนิบัติเลี้ยงดูเสนาบดี, สมณพราหมณาจาริย, อาณาประชาราษฎรทั้งปวง, โดยยุติธรรมตามโบราณราชประเพณีกระษัตริยแต่ก่อน. แล้วทรงพระกรุณาจัดแจงตั้งแต่งผู้รั้งกรมการ, แขวงเมืองนครไว้พร้อมทุกเมือง. ๚ะ

๏ แล้วดำรัศให้ราชบัณฑิตยจัดพระไตรยปิฎกลงบันทุกเรือเชิญเข้ามาณกรุงฯ, แต่ภอจำลองได้ทุกๆพระคำภิร์แล้ว, จึ่งจะเชิญออกมาส่งไว้ตามเดิม. อนึ่งให้สังฆการีนิมนต์พระอาจารย์ศรีวัดพนัญเชิง, ซึ่งหนีพม่าออกมาอยู่ณเมืองนครนั้น, ให้รับเข้ามากรุง, กับทั้งพระสงฆ์สามเณรสิศทั้งปวงด้วย. ๚ะ

๏ จึ่งดำรัศให้ตระเตรียมกองทับจะกลับคืนยังกรุงธนบุรี. ครั้นถึงณเดือนสี่ปลายปีฉลูเอกศกนั้น เพลาเช้าเมื่อจะเสด็จกลับนั้น, สมณพราหมณาประชาราษฎรยาจกวรรณิพก, ชาวเมืองนครศรีธรรมราชทั้งปวงมาพร้อมกันถวายไชยมงคล, มีจักษุนองไปด้วยน้ำตาว่า, แต่นี้เราทั้งปวงเปนคนอนาถาหาที่พึ่งมิได้แล้ว. เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวยังเสด็จอยู่, ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินผ้าโภชนาหาร, เราได้รับพระราชทานเลี้ยงชีวิตร,เปนศุขทุกๆวันพระอุโบสถ. ตั้งแต่นี้ไปเราจะเปนคนอนาถาแล้ว, ชาวเมืองครั้งนั้นสลดระทดใจ, ควรจะวังเวศหนักหนา. ๚ะ

๏ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จราชดำเนินกลับมาครั้งนั้น, ด้วยพระกฤษดานุภาพบาระมี, ก็เสด็จมาได้โดยสดวกหาไภยอันตรายมิได้, ประทับร้อนแรมมาโดยลำดับ. ครั้นถึงณเดือนสี่, จุลศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก, เพลาเช้าสามโมงเสศถึงเมืองธนบุรี. ๚ะ

๏ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระอาจาริย์ศรี, เปนสมเด็จพระสังฆราช. แลพระไตรยปิฎกซึ่งเชิญเข้ามาแต่เมืองนครนั้น,ทรงพระกรุณาให้จ้างช่างจานๆพระไตรยปิฎก. พระราชทานค่าจ้างผูกหนึ่งเปนเงินบาทหนึ่ง, เข้าถังหนึ่ง, เงินค่ากับเข้าวันละเฟื้อง, หมากพลูวันละซอง, บู่หรี่วันละสิบมวน, ของกินกลางวันเสมอทุกวัน, เสมอทุกผูกทุกคำภีร์จนจบพระไตรยปิฎก. สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก. ครั้นลงรักปิดทอง, ทานสำเร็จแล้ว, ทรงพระกรุณาให้เชิญพระไตรยปิฎกฉบับ, กลับไปส่งเสียณเมืองนครดั่งเก่า. แลซึ่งเจ้านครนั้นก็พระราชทานโทษ, ให้ถอดออกจากพันทนาการ, แล้วให้รับพระราชทานน้ำพิพัทสัจจา, อยู่เปนข้าราชการ, พระราชทานบ้านเรือนที่อาไศรยให้อยู่เปนศุข. ๚ะ

๏ จำเดิมแต่นั้นมาพระพุทธสาศนาก็ค่อยวัฒนาการ, รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นเหมือนแต่ก่อน. แลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็เจริญพระราชกฤษดาธิคุณไพบุลย์ภิโยภาพยิ่งขึ้นไป. ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็ค่อยมีความผาศุกสนุกนิ์สบาย, บริบูรณ์ คงคืนขึ้นเหมือนเมื่อครั้งแผ่นดินกรุงเก่า, ยังปรกติดีอยู่นั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับซึ่งยกทับไปกัมพุชประเทศนั้น, ทับพระยาอไภยรณฤทธิ, พระยาอนุชิตราชา, ยกจากเมืองนครราชสีมา, ไปตีเมืองเสียมราบได้. ทับพระยาโกษาล่ายยกจากเมืองปราจิน, ไปตีได้เมืองปัตบองตั้งอยู่ที่นั้น. นักพระองค์ตนซึ่งเปนพระอุไทยราชา, ยกกองทับเรือมาทางทเลสาบ, จะมาตีเมืองเสียมราบคืน. พระยาอไภยรณฤทธิ์, พระยาอนุชิตราชา, จัดแจงได้เรือที่เมืองเสียมราบ, ยกทับเรือออกรบกับทับเขมรในทเลสาบ, ได้สู้รบกันหลายเพลา. ภอได้ข่าวเลื่องฦๅออกไปว่า, สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช, บัดนี้ทิวงคตเสียแล้ว. พระยาอภัยรณฤทธิ, พระยาอนุชิตราชาก็ตกใจ, เกรงแผ่นดินจะเกิดจลาจลขึ้นอีก, จึ่งเลิกทับกลับมา แต่พระยาอภัยรณฤทธิ์เกรงความจะไม่แน่, จึ่งรอทับอยู่ณเมืองนครราชสีมาก่อน. พระยาอนุชิตราชานั้น, รีบยกทับมาจนถึงเมืองลพบุรี. จึ่งรู้ความตระหนักว่าเสด็จยังอยู่หาอันตรายมิได้ บัดนี้ตีเมืองนครศรีธรรมราชได้,ทับหลวงจะกลับอยู่แล้ว จึ่งตั้งรออยู่ณเมืองลพบุรี, มิได้กลับมาถึงกรุง. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาโกษาแจ้งว่าทับทางเมืองเสียมราบเลิกถอยไปแล้ว, ก็ให้ลาดทับกลับมาณเมืองปราจิน. แล้วบอกกล่าวโทษเข้ามาณกรุงว่า, ทับพระยาอภัยรณฤทธิ์, พระยาอนุชิตราชาเลิกหนีมาก่อน, ครั้นจะอยู่แต่ทับเดียว, ก็เกรงทับเขมรจะยกทุ่มเข้ามามากจะเสียที, เหนจะเหลือกำลังจึ่งลาดถอยมาบ้าง ๚ะ

๏ ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงกรุง, ได้ทรงทราบหนังสือบอกพระยาโกษาธิบดี, แล้วได้ทราบข่าวว่าพระยาอนุชิตราชา, ยกกลับมาตั้งอยู่ณเมืองลพบุรีก็ทรงพระโกรธ จึ่งดำรัศใช้ตำรวจให้ไปหาตัวพระยาอนุชิตราชาลงมาเฝ้า, แล้วตรัสถามว่า, ใช้ไปราชการสงครามยังมิได้ให้หาทับกลับ,เหตุไฉนจึ่งยกทับกลับมาเองดังนี้, จะคิดเปนกระบถฤๅ ๚ะ

๏ พระยาอนุชิตราชจึ่งกราบทูลพระกรุณาโดยจริงว่า, ข่าวฦๅออกไปว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เสด็จทิวงคตณเมืองนครศรีธรรมราช. ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่าฆ่าศึกอื่นจะยกมาชิงเอากรุงธนบุรี, จึ่งรีบกลับมาหวังจะรักษาแผ่นดินไว้, นอกกว่าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว, ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้ยอมเปนข้าผู้อื่นอีกนั้น, หามิได้เลยเปนอันขาด ๚ะ

๏ เมื่อได้ทรงสดับก็หายพระโกรธ, กลับทรงพระโสมนัศดำรัศสรรเสริญพระยาอนุชิตราชาว่า,เออเองเปนคนสัจซื่อแท้, น้ำใจสมักเปนข้าแต่กูผู้เดียว, มิได้ยอมเปนข้าผู้อื่นอิกสืบไป. แล้วโปรดให้มีตราหากองทับพระยาอภัยรณฤทธิ์, แลพระยาโกษาธิบดีกลับคืนมายังพระนคร. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๒ ปีขานโทศก, ถึงณเดือนหก, ฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งเปนใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น, ประพฤษดิพาลทุจริตทุศิลกรรมลามก, บริโภคสุรากับทั้งพวกสงฆ์อลัชชี, ซึ่งเปนนายทับนายกองทั้งปวงนั้น, แลชวนกันกระทำมนุษวิหฆาฏกรรมปราชิก แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัตรอยู่หาละเพศสมณไม่, แล้วเกนกองทับให้ลงมาลาดกระเวนตีเอาเข้าปลาอาหาร, แลเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล, จนถึงเมืองอุทัยธานี,เมืองไชยนาท, แลราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือ, ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตรได้ความเคืองแค้นขัดสนนัก. กรมการเมืองอุไทยธานี, เมืองไชยนาทบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณา. ๚ะ

๏ ครั้นได้ทรงทราบจึ่งมีพระราชดำรัสให้เกนกองทับ, จะยกไปปราบอ้ายพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือให้แผ่นดินราบคาบ. จึ่งโปรดให้พระยาพิไชยราชา, เปนแม่ทับถือพลห้าพัน, สรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ, ยกไปทางฟากตวันตกทับหนึ่ง. ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาอนุชิตราชา, เลื่อนที่เปนเจ้าพระยายมราช ให้เปนแม่ทับถือพลห้าพัน, สรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ, ยกไปทางฟากตวันออกทับหนึ่ง. แลทับบกทั้งสองทับเปนคนหมื่นหนึ่ง, ให้ยกล่วงไปก่อน. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันเสาร์เดือนแปดแรมสิบสี่ค่ำ เพลาเช้าสามโมงเสศ, ได้มหาพิไชยฤกษ. สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, จึ่งทรงเรือพระที่นั่งกราบยาวสิบเบ็จวา, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ฝ่ายทหารพลเรือนไทยจีนทั้งปวง,โดยเสด็จพระราชดำเนินตามขบวนพยุหยาตราน่าหลัง. แลพลโยธาทับหลวงหมื่นสองพันโดยกำหนด. ๚ะ

๏ ครั้งนั้นเข้าแพงถึงเกวียนละสามชั่ง, ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร, บันดานให้กำปั่นเข้าสานมาแต่เกาะทิศใต้เปนหลายลำ ในขณะเมื่อจะยกทับ, จึ่งทรงพระกรุณาให้รอทับอยู่, แล้วให้จัดซ้ือเข้าจ่ายแจกให้พลกองทับจนเหลือเฟือ, แล้วได้แจกจ่ายแก่สมณชีพราหมณยาจกวรรณิพก, แลครอบครัวบุตรภรรยาข้าราชการทั้งปวงทั่วกัน แล้วแขกเมืองตรังกนู, แลแขกเมืองยักกรา, นำเอาปืนคาบสิลาเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย,ถึงสองพันสองร้อยบอก, เปนพระราชลาภอันวิเสศ. จึ่งให้ยาตรานาวาพยุหทับจากกรุงธนบุรีไปโดยชลมารค, เสด็จประทับร้อนแรมอยู่สองเวน, แล้วยกขึ้นไปถึงตำบลชาลวันประทับแรมอยู่เวนหนึ่ง. รุ่งขึ้นณวันเสาร์เดือนเก้าแรมสิบสองค่ำ, จึ่งยกไปประทับร้อนณปากน้ำพิง. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ข่าวศึก, จึ่งให้หลวงโกษายังเมืองพระพิศณุโลกย, ยกกองทับลงมาตั้งรับอยู่ณเมืองพระพุศณุโลกย. ครั้นค่ำลงเพลาประมาณยามเสศในวันเสาร์, จึ่งดำรัศให้กองน่ายกเข้าตีเมืองพระพิศณุโลกย, ก็เข้าเมืองได้ในกลางคืนวันนั้น. แลหลวงโกษายังหนีออกจากเมืองขึ้นไปตั้งค่ายรับอยู่ตำลบโทก, ยังไม่ทันได้รบกันก็เลิกหนีไป. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทร์เดือนเก้าแรมสี่ค่ำ, เพลาเช้าจึ่งเสด็จเข้าเมืองพระพิศณุโลกย, นมัศการพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห, ทรงพระราชศรัทธาเปลื้องภูษาทรงสพักออกจากพระองค์, ทรงห่มพระพุทธชินราชเจ้าแล้ว, เสด็จประทับแรมอยู่ในเมืองอยุดถ้าทับบกอยู่เก้าเว้น. ภอกองทับพระยายมราชซึ่งยกมาทางฟากตวันออกนั้นขึ้นไปถึง. จึ่งพระราชทานเข้าปลาอาหารให้จ่ายแจกกันทั่วแล้ว, ดำรัศให้ทับบกยกรีบขึ้นไปติดเมืองสว่างคบูรี. รุ่งขึ้นอีกสองวันกองทับพระยาพิไชยราชาซึ่งยกมาฟากตวันตก, จึ่งขึ้นไปถึง, จึ่งดำรัศให้จ่ายเสบียงอาหารให้แล้ว, ให้ยกรีบขึ้นไปให้ทันทับพระยายมราชฟากตวันออก. แล้วตรัสว่าเราจะยกทับเรือขึ้นไปบัดนี้, น้ำในแม่น้ำยังน้อยนักตลิ่งยังสูงอยู่, ฆ่าศึกจะได้เปรียบยิงปืนลงมาแต่บนฝั่งถนัด, แต่ทว่าไม่ช้าดอกภอทับบกยกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้, สามวันน้ำก็จะเกิดมากขึ้น. ด้วยเดชพระบรมโพธิสมภารเปนมหัศจรรย. ครั้นเคารพสามวันน้ำก็เกิดมากขึ้นเสมอตลิ่งบ้างลบตลิ่งบ้าง, ประดุจกระแสพระราชดำรัศไว้นั้น. จำเดิมแต่นั้นบันดานายทับนายกอง,แลไพร่พลทับบกทับเรือทั้งปวงได้แจ้งเหตุแล้ว,ก็ยกมือขึ้นถวายบังคมทุกๆคน. เอาพระเดชานุภาพเปนที่พึ่งปกเกล้าฯ มีน้ำใจกล้าหารมิได้ย่อท้อต่อการณรงค, องอาจที่จะรบสู้หมู่ปัจามิตรฆ่าศึก, ด้วยเหนพระบารมีปรากดเปนแท้ ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระยายมราช, แลพระยาพิไชยราชาซึ่งยกขึ้นไปถึงเมืองสว่างคบุรี, ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้, แลเมืองสว่างคบุรีนั้นตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทอญดินหามีกำแพงไม่, เจ้าพระฝางก็เกนพลทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทอญรอบเมือง, ยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง, แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเปนกำลัง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นช้างพังช้างหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเปนพังเผือกสมพงษ, แลพระเจ้าฝางจึ่งว่าช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเปนของคู่บุญของเรา, เกิดเปนพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านแม่ทับใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น, ก็ยิ่งคิดเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก, แลสู้รบรออยู่ได้สามวัน. เจ้าพระฝางก็ภาสมัคพรรคพวกหนีออกจากเมืองในเพลากลางคืนไปข้างทิศเหนือ, พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกกับทั้งแม่ช้างภาหนีตามไปด้วย. กองทับกรุงก็เข้าเมืองได้. แล้วแต่งคนถือหนังสือบอกลงมายังทับหลวง, ณ ะเมืองพระพิศณุโลกย์ ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับหลวง,ถึงณวันอาทิตยเดือนเก้าแรมเจดค่ำเพลาเช้าสองนาฬิกา, ก็เสด็จยกพยุหยาตราจากเมืองพระพิศณุโลกยโดยทางชลมารค, ประทับร้อนแรมไป,ได้สามเวน, ภอภบผู้ถือหนังสือบอกกองน่า,บอกลงมาใจความว่า, ได้เมืองสว่างคบุรีแล้ว. แต่อ้ายเรือนพระฝางนั้น, ภาลูกช้างเผือกซึ่งเกิดในเมืองนั้นภาหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังให้ติดตามอยู่. จึ่งเสด็จเร่งรีบเรือพระที่นั่งไปทั้งกลางวันกลางคืน, ถึงที่ประทับพระตำหนักค่ายหาดสูงซึ่งกองน่าตั้งไว้รับเสด็จ, ก็เสดจขึ้นประทับแรมอยู่ที่นั้น, แล้วดำรัสสั่งให้นายทับนายกอง, เกนกันให้ติดตามอ้ายเรือนพระฝาง, แลนางพระยาช้างเผือกให้จงได้. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตยเดือนเก้าแรมสิบสามค่ำ หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิต, เจ้าเมืองวิเสศไชยชาญ, จับได้นางพระยาเสวตรมงคลคชสารตัวประเสริฐ, นำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย. ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จรางวันแก่พระยาอินทรวิชิต, แลหลวงคชศักดิโดยสมควรแก่ความชอบ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสิบขึ้นสิบค่ำ, จึ่งเสด็จยกพยุหยาตราทับหลวงไปโดยทางชลมารคถึงตำบลน้ำมืด, จึ่งดำรัสให้ตั้งด่านทางชั้นในชั้นนอก แลเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร, ชาวหัวเมืองเหนือทั้งปวง, ซึ่งอพยพหนีแตกฉานซ่านเซนเข้าป่าดงไป, ให้ออกมาอยู่ตามภูมลำเนาดุจแต่ก่อน. แล้วให้เที่ยวลาดตระเวนเสาะสืบสาวเอาตัวอ้รายเรือนพระฝางให้จงได้, แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระตำหนักค่ายหาดสูง. ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นวันเสาร์เดือนสิบแรมห้าค่ำ, จึ่งดำรัสสั่งให้แต่งกฎประกาศแก่กองทับบกทับเรือไทยจีนทั้งปวง, ห้ามอย่าให้ข่มเหงริบเอาทรัพยสิ่งของของราษฎรชาวบ้าน, แลฆ่าโคกระบือสัตวของเลี้ยง. อนึ่งถ้านายทับนายกองผู้ใด, ได้ปืนแลช้างพังพลายใหญ่ได้ศอกได้นิ้วรูปดี, แลรูปเปนกลางก็ให้ส่งเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย, อย่าให้ใครได้เบีบดบังไว้จะเอาตัวเปนโทษ.

๏ ครั้นถึงณวันพฤหัศบดีเดือนสิบเบดขึ้นสองค่ำ, มีใบบอกขึ้นไปแต่กรุงธนบุรีว่า, แขกเมืองตานีเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร, ถวายดอกไม้เงินทอง. แลเมืองยักกรา, ถวายปืนใหญ่ร้อยบอก. ๚ะ

๏ ครั้นถึงวันจันทรเดือนสิบเบดขึ้นหกค่ำ, ทรงพระกรุณาให้สืบเสาะจับพระสงฆพวกเหล่าร้าย, ได้ตัวพระครูคิริมานนท์หนึ่ง, อาจาริยทองหนึ่ง, อาจาริยจันหนึ่ง, อาจาริยเกิดหนึ่ง, ล้วนเปนแม่ทับอ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่รูป. แต่พระครูเพชรรัตน์, กับอ้ายเรือนพระฝางนั้นหาได้ตัวไม่. จึ่งดำรัสสั่งให้ผลัดผ้าคฤหัฐทั้งสี่คน, แล้วจำคงส่งมาใส่คุกไว้ณกรุง. ๚ะ

๏ ในวันนั้นให้นิมนตพระสงฆเมืองเหนือมาพร้อมกันน่าที่นั่ง. แลให้หาขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย, มาประชุมเฝ้าพร้อมกัน. จึ่งดำรัศปฤกษาว่า, พระสงฆบันดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้, เปนภักพวกอ้ายเรือนพระฝางทั้งสิ้น. ย่อมถืออาวุธแลปืน, รบศึกฆ่าคน, ปล้นเอาทรัพย์สิ่งของ, แลกินสุราเมรัย, สร้องเสพยอนาจารด้วยสิกา, ต้องจตุปราชิกาบัดดิ์ต่าง ๆ, ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธสาศนา, ล้วนลามก, จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศฉนี้มิได้. อนึ่งพระสงฆ์ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้, ก็จะแปลกปลอมปะปนกันอยู่ มิรู้ว่าองคใดดีองคใดชั่ว, จะได้ไหว้นบเคารพสักการบูชาให้เปนเนื้อนาบุญ, จะได้ผลานิสงษแก่เราท่านทั้งปวง, ให้พระสงฆให้การไปแต่ตามสัจตามจริง ถ้าได้ผิดในจตุปราชิกแต่ประการใดประการหนึ่ง, จะพระราชทานผ้าคฤหัฐให้ผลัดศึกออกทำราชการ. ที่ไม่รับนั้นจะให้ดำน้ำพิสูทธสู้นาฬิกาสามกลั้น แม้นชะนะแก่นาฬิกาจะให้เปนอธิการ. แลพระครู,ราชาคณะฝ่ายเหนือ,โดยสมควรแก่คุณธรรมที่รู้. แม้นแพ้แก่นาฬิกา, จะให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วศักข้อมือมิให้บวชได้อีก. แม้นเสมอนาฬิกา, จะถวายผ้าไตรยให้บวชใหม่. ถ้าแต่เดิมไม่รับ, ครั้นจะให้ลงดำน้ำพิสูทธแล้วก็กลับคืนคำว่าได้ทำผิด, จะให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตรเสีย. อนึ่งพระสงฆ์จะลงดำน้ำนั้น, ให้ตั้งศาลกั้นหม่านดาดเพดานผ้าขาวแต่งเครื่องพลีกรรมเทพยดาพร้อมแล้ว. จึ่งทรงพระสัตยาธิษฐานให้พระบารมีนั้นช่วย อภิบาลบำรุงรักษา,พระสงฆ์ทั้งปวง, ถ้าภิกษุองคใดมิได้ขาดจากสิกขาบทจัตุปาราชิก, ขอให้พระบารมีของเรา, แลอานุภาพเทพยดาอันศักสิทธิ, จงมาเปนสักขีพะยานช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระผู้เปนเจ้าองคนั้น, อย่าให้แพ้แก่นาฬิกาได้, ถ้าแลภิกษุรูปใดถึงซึ่งศิลวิบัติแล้ว, เทพเจ้าจงสังหาญให้แพ้แก่นาฬิกาเหนประจักษแก่ตาโลกย. แล้วเสด็จทรงพระเก้าอี้อยู่บนที่หาดทราย, ให้พระสงฆ์ลงดำน้ำพิสูทธตัวต่อน่าพระที่นั่ง, พลางทรงพระอธิฐานด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร. ๚ะ

๏ ครั้งนั้นพระสงฆ์ที่ศีลบริสุทธิ์, ก็ชะนะแก่นาฬิกาบ้าง เสมอบ้าง. ที่ภิกษุทุศิลก็แพ้แก่นาฬิกาเปนอันมาก. เสนาบดีก็กระทำตามรับสั่งโดยสมควรแก่คุณแลโทษ, แต่ผ้าไตรยที่พระสงฆ์พวกแพ้ต้องศึกนั้น, ให้เผาเปนสะมุกไปทาพระมหาธาตุเมืองสว่างคบุรี. แล้วทรงพระกรุณาให้เยบจีวรสบงให้ได้พันไตรย, จะบวชพระสงฆฝ่ายเหนือ. จึ่งดำรัสสั่งให้สังฆการีลงมาอาราธนารับพระราชาคณะ, กับพระสงฆอันดับณกรุงธนบุรี ๕๐ รูป, ขึ้นไปบวชพระสงฆไว้ณหัวเมืองเหนือทุกๆเมือง. แลให้พระราชาคณะอยู่สั่งสอนในข้อพระวินัยสิกขาบท, กับให้เกบพระไตรยปิฎกลงมาเปนฉบับสร้างณกรุงด้วย. โปรดให้พระพิมลธรรม, ไปอยู่เมืองสว่างคบุรี. ให้พระธรรมโคดม, ไปอยู่เมืองพิไชย. ให้พระธรรมเจดีย, ไปอยู่เมืองพระพิศณุโลกย ให้พระพรหมมุนี, ไปอยู่เมืองศุโขไทย ให้พระเทพกระวี, ไปอยู่เมืองสวรรคโลกย, ให้พระโพธิวงษ, ไปอยู่เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง. ๚ะ

๏ ครั้งถึงณวันศุกรเดือนสิบเบดแรมสิบค่ำ, จึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองสว่างคบุรี, กระทำการสมโพชพระมหาธาตุสามวัน. แล้วเปลื้องพระภูษาทรงสภักออกจากพระองค, ทรงพระมหาธาตุ. แล้วให้บุรณปฏิสังขรณพระอาราม, แลพระมหาธาตุให้บริบุรณดังเก่า. จึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง, กระทำการสมโภชพระแท่นศิลาอาศน์สามวัน. แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองสวรรคโลกย, กระทำการสมโภชพระมหาธาตุสามวัน. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสิบสองขึ้นสามค่ำ, จึ่งเสดจพระราชดำเนินกลับลงมายังเมืองพระพิศณุโลกย, กระทำการสมโภชพระมหาธาตุ, แลพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีหสามวันแล้ว. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิม. ซึ่งมีความชอบในการสงคราม, ให้อยู่ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง. บันดาหัวเมืองใหญ่นั้น, โปรดให้พระยายมราชเปนเจ้าพระยาสุรสีห, อยู่ครองเมืองพระยาพิศณุโลกย, ประมวญไพร่พลเมืองมีอยู่หมื่นห้าพัน. ให้พระยาพิไชยราชาเปนเจ้าพระยาสวรรคโลกย, มีไพร่พลเมืองอยู่เจดพัน. ให้พระยาสีหราชเดโช, เปนพระยาพิไชย, มีไพร่พลเมืองอยู่เก้าพัน. ให้พระยาท้ายน้ำ, เปนพระยาศุโขไทย, มีไพร่พลเมืองอยู่ห้าพัน. ให้พระยาสุรบดินทร, เปนพระยากำแพงเพชร. ให้พระยาอนุรักษภูธร, เปนพระยานครสวรรค. ทั้งสองเมืองนั้น, มีไพร่พลเมืองๆละสามพันเสศ. แลเมืองเล็กน้อยทั้งปวงนั้น, ก็โปรดให้ขุนนางผู้น้อย, ซึ่งมีความชอบไปครองเมืองทุกๆเมือง. แลเจ้าพระยาจักกรีแขกนั้นมิได้แกล้วกล้าในการสงคราม, จึ่งโปรดตั้งพระยาอไภยรณฤทธิ์, เปนพระยายมราช, ให้ว่าราชการณที่สมุหนายกด้วย. แล้วเสด็จกรีธาทับหลวงกลับ, แล้วให้รับนางพระยาเสวตรกิริณี, ลงแพล่องลงมายังกรุงธนบุรี. ให้ปลูกโรงรับณสวนมังคุด, แล้วให้มีงานมหรรสพสมโภชสามวัน ๚ะ

๏ ครั้นถึงณเดือนสามในปีขานโทศกนั้น, ฝ่ายอาปรกามณีซึ่งเรือกว่าโปมยุง่วน, เจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น. ยกกองทับพม่า, กองทับลาว, ลงมาตีเมืองสวรรคโลกย, เข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้. เจ้าพระยาสวรรคโลกย, ก็เกนไพร่พลขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทอญกำแพงเมือง, ต่อรบป้องกันเมืองเปนสามารถ, แล้วบอกลงมาณกรุง, ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ, จึ่งโปรดให้มีตราขึ้นไปเกนกองทับเมืองพระพิศณุโลกย, เมืองศุโขไทย, เมืองพิไชย, ให้ยกขึ้นไปตีกองทับพะม่าช่วยเมืองสวรรคโลกย. เจ้าพระยาสุรสีห, พระยาพิไชย แลพระยาศุโขไทย, ก็ยกกองทับทั้งสามหัวเมือง, ไปณเมืองสวรรคโลกย, เข้าตีค่ายกระหนาบค่ายพะม่าซึ่งตั้งล้อมเมือง. พม่าต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีไปยังเมืองเชียงใหม่. จึ่งบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งมีพระราชดำรัสให้เกนกองทับ, จะเสดจยกไปตีเมืองเชียงใหม่. แลพลโยธาหารในกระบวนทับหลวงครั้งนั้น, ทั้งไทยจีนแขกฝรั่งเปนคนหมื่นห้าพัน, สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธแลเรือไล่เรือรบทั้งปวงพร้อมเสรจ. ๚ะ

๏ ครั้นผคุณมาสศุกปักษ์ดิถีศุภวารมหาพิไชยฤกษ, จึ่งเสดจลงเรือพระที่นั่งกราบ, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ผู้ใหญ่ผู้น้อยไทยจีนฝ่ายทหารพลเรือน, โดยเสดจพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราน่าหลัง, คับคั่งท้องแถวมหาคงคา, ก็เสด็จยาตรานาวาทับหลวงจากกรุงธนบุรี, ไปโดยชลมารค, ประทับร้อนแรมไปตามระยะทาง, ไปหลายเวนถึงเมืองพิไชย. จึ่งให้ตั่งค่ายแลตำหนักทับพลับพลาณหาดทราย, ฝ่ายฟากตวันออกตรงน่าเมืองข้าม, แลเสดจขึ้นประทับอยู่ที่นั่น. ๚ะ

๏ ในขณะนั้นจึ่งมังไชยเจ้าเมืองแพร่, ภาขุนนางกรมการแลไพร่พลลงมาเฝ้า, กราบถวายบังคมขอเปนข้าขอบขันธสีมา, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เปนพระยาศรีสุริยวงษ ให้เกนเข้าในขบวนทับด้วย. แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีแขก, กับพระยามหาราชครูปะโรหิตาจาริย,อยู่รักษาเรือพระที่นั่ง, แลเรือข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงณเมืองพิไชย. แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นจัดกองทับบกณเมืองพิไชย, ให้กองทับหัวเมืองทั้งปวงเปนกองน่ายกล่วงไปก่อน. จึ่งเสด็จทรงช้างพระที่นั่งดำเนินพยุหโยธาทับหลวงไปโดยทางชลมารค, ประทับร้อนแรมไปหลายเวนถึงตำบลกุ่มเหลือง. จึ่งให้ตั้งค่ายมั่นแทบเชิงเขาม้าพลาด, เสดจอยุดประทับแรมณพลับพลาในค่าย. แลครั้งนั้นเปนเทศกาลคิมหระดูกันดานด้วยน้ำนัก, ผู้ซึ่งเปนมัคคุเทศนำมารคนั้นกราบทูลว่า, แต่เชิงเขาข้างนี้จะข้ามภูเขาไป, ลงถึงเชิงเขาข้างน่าโน้น, เปนระยะทางไกลถึงสามร้อยเส้น, หามีที่น้ำแห่งใดไม่, ไพร่พลจะอดน้ำกันดานนัก. จึ่งดำรัศว่าอย่าปรารมเลยเปนภารธุระของเรา, ค่ำวันนี้อย่าให้ตีฆ้องยามเลย, จงกำหนดแต่นาฬิกาไว้, เพลาห้าทุ่มเราจะให้ฝนตกลงให้จงได้. แล้วจึ่งดำรัศสั่งให้พระยาราชประสิทธิให้ปลูกศาลสูงเพียงตา, ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนเขาเสรจแล้ว, จึ่งทรงตั้งสัตยาธิษฐาน, เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค, ซึ่งทรงสันนิจยาการมาแต่อดีตบุเรชาติ, ตราบเท่าถึงปัจจุบันภพนี้, จงเปนที่พึ่งพำนักนิ์แก่ไพร่พลทั้งปวง กับทั้งอานุภาพเทพยดา, ขอจงบันดารให้ท่อธารวโสทกจงตกลงมาในราษตรีวันนี้ให้เหนประจักษ. แลในเพลาวันนั้นพื้นอากาศก็ปราษจากเมฆผ่องแผ้วเปนปรกติอยู่, ด้วยเดชอำนาถกำลังพระอธิฐานบารมี, กับทั้งอานุภาพเทพยดา, ภอถึงเพลาสี่ทุ่มแปดบาท, บันดานให้ฝนห่าใหญ่ตกลงหนัก, จนน้ำไหลนองไปทั่วท้องป่า, แลขอนไม้ในป่าก็ลอยไหลไปเปนอัศจรรยยิ่งนัก, ครั้นเพลาเช้าก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง, ให้ยกพลโยธาหารข้ามเขานั้นไป, แล้วดำเนินพลกองทับไปตามลำดับวิถีสถลมารค, ประทับร้อนแรมไปโดยระยะทางถึงเมืองลัมภุญ, ให้ตั้งค่ายประทับอยู่ที่นั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายโปมยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่, ก็แต่งทับพม่าทับลาวยกออกมาตั้งค่ายรับนอกเมือง. แลกองน่าหัวเมืองซึ่งเปนกองน่า, ก็ยกเข้าตีค่ายทับพม่าแตกพ่ายเลิกถอยเข้าเมือง กองน่าก็ยกติดตามล่วงเข้าไปในกำแพงดินชั้นนอก, แล้วตั้งค่ายรายล้อมกำแพงชั้นในไว้. แลทับหลวงก็ยกเข้าไปตั้งค่ายใหญ่ในกำแพงดิน, แล้วดำรัศให้บันดาทับหัวเมืองกองน่า, แลนายทับนายกองในกองหลวงยกพลทหารเข้าปล้น, เอาบันไดพาดปีนกำแพงเมืองในเพลากลางคืน, เพลาสามยามเสศเพื่อจะดูกำลังฆ่าศึก. แลพลทหารพม่าลาวชาวเมือง, ซึ่งขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทิลนั้น, ยิงปืนใหญ่น้อยแลพุ่งแทงสาตราวุธ, ต่อรบต้านทานเปนสามารถ. จนเพลารุ่งพลทหารไทยเข้าหักเอาเมืองมิได้, ก็ลาดถอยออกมา. จึ่งมีพระราชดำรัศว่า, อันเมืองเชียงใหม่นี้, ต้องทำนายอยู่, คำปะรำปะราเล่าสืบๆกันมาว่า, กระษัตริยพระองคใด, ยกทับไปตีเมืองเชียงใหม่นี้,ครั้งเดียวมิได้ ต่อยกไปเปนสองครั้งจึ่งตีได้. แม้นจะหักหารบุกรุกเอาด้วยกำลังกล้าบัดนี้ก็จะได้,แต่จะเสียไพร่พลมาก แลยกมาครั้งนี้เหมือนจะดูท่วงทีท่าทาง, แลกำลังฆ่าศึกก็ได้เหนประจักอยู่แล้ว, ถ้ายกมาครั้งหลัง,เหนคงจะได้ถ่ายเดียว. จึ่งดำรัศให้เลิกทับหลวงล่วงมาก่อนวันหนึ่ง, จึ่งให้กองทับหัวเมืองทั้งปวง, เลิกเลื่อนถอยตามมาต่อภายหลัง ๚ะ

๏ ฝ่ายพม่าก็ยกกองทับลัดเลาะป่าก้าวสกัดติดตาม, ยิงปืนกระหนาบน่าหลัง, กองทับหัวเมืองทั้งนั้นก็ตื่นแตกระส่ำระสาย, ถอยหนีย่อย่นลงมาจนกระทั่งถึงทับหลวง, อันตั้งอยุดประทับรับอยู่ณเขาช่องแคบ ๚ะ

๏ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึ่งถอดพระแสงดาบ,ไล่ต้อนพลโยธาทหารทั้งปวงในกองทับหลวงให้กลับออกรบพม่า, ไล่ตลุมบอนฟันแทงถึงอาวุธสั้น, สู้รบเปนสามารถ, พลพม่าล้มตายเปนอันมาก. ก็แตกกระจัดกระจายพรายพรัดพ่ายหนีไป, ก็เสด็จดำเนินทับหลวงล่วงมาถึงท่าเรือณะเมืองพิไชย. จึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่ง, ให้ยาตรานาวาทับกลับคืนยังกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก, ฝ่ายข้างมลาประเทศ, เจ้าวงษผู้เปนเจ้าเมืองหลวงพระบาง, ยกกองทับลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต, ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้. แลเจ้าบุญสารผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต, ก็เกนพลทหารออกต่อรบ, แลขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทิลปราการป้องกันเมืองเปนสามารถ, รบกันอยู่ประมาณสองเดือนยังไม่แพ้แลชนะกัน. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึ่งแต่งขุนนางให้ถือศุภอักษร, ขึ้นไปถึงกรุงอังวะขอกองทับมาช่วย. พระเจ้าอังวะมังระจึ่งให้ชิกชิงโบ่, คุมพลสองพันเปนกองน่า. ให้โปสุพลาเปนแม่ทับคุมพลสามพัน, ยกกองทับลงมาตีเมืองหลวงพระบาง. แลกองทับเมืองหลวงพระบางก็เลิกทับกลับไปเมือง, ต่อรบกับทับพม่า. ทับพม่าตีเอาเมืองหลวงพระบางได้. เจ้าหลวงพระบางก็ขอขึ้นแก่กรุงอังวะ, ทับพม่าก็เลิกกลับไปยังกรุงอังวะ. พระเจ้าอังวะได้ทราบว่า, กองทับไทยยกมาตีเมืองเชียงใหม่, จึ่งให้โปสุพลาถือพลสามพัน, ยกลงมาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่. ๚ะ

๏ อนึ่งแต่เมื่อครั้งปีชวดสัมฤทธิ์ศกนั้น, กองทับห้อยกมาจะตีกรุงอังวะ, มาถึงเมืองแสนหวี, เปนแผ่นดินเงี้ยว, คือไทยใหญ่, ขึ้นแก่พม่า ใกล้เมืองอังวะทางสิบห้าคืน. แลกองทับห้อยกเข้าตีเมืองแสนหวีได้,ก็ตั้งทับอยู่ที่นั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบข่าวศึก, จึ่งให้ติงจาโบคุมพลห้าพันเปนกองน่าให้อแซหวุ่นกี้เปนแม่ทับถือพลหมื่นหนึ่ง, ยกมาตีกองทับห้อ,ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองแสนหวี. ได้รบกันเปนสามารถ, ทับห้อก็แตกพ่ายกลับไปครั้งหนึ่ง. แล้วห้อกลับยกกองทับมาอีก, ตีหัวเมืองขึ้นพม่าแตกเปนหลายเมือง. แล้วยกล่วงเข้ามาตั้งถึงตำบลบ้านยองนี, ใกล้เมืองอังวะทางคืนหนึ่ง. พระเจ้าอังวะจึ่งให้อะแซหวุ่นกี้หนึ่ง, มโยลัดหวุ่นหนึ่ง, เปนแม่ทับสองทับ, ถือพลทับละหมื่น. กับเมี้ยนหวุ่นทับหนึ่ง, ถือพลห้าพัน, ทั้งสามทับเปนคนสองหมื่นห้าพัน, ยกไปสามทางเข้ารดมตีทับห้อ, ได้รบกันอยู่สามวัน. ทับห้อก็แตกพ่ายไปเปนสองครั้ง, จับได้นายทับห้อสี่นาย, ชื่อแอซูแยหนึ่ง, กุนตาแยหนึ่ง, เมียนกุนแยหนึ่ง, ประซูแยหนึ่ง, กับไพร่พลหกพันพระเจ้าอังวะให้เลี้ยงไว้. ๚ะ

๏ ครั้งถึงปีฉลูเอกศก, ห้อกลับยกกองทับมาอีกเปนสามครั้ง, ครั้งหลังนั้นกวยชวยแยเปนแม่ทับห้อ, พลหลายหมื่นมากกว่าสองครั้ง, ยกมาถึงเมืองกองดุงปมอ, ทางไกลเมืองอังวะห้าคืน. พระเจ้าอังวะเหนเปนศึกใหญ่กว่าทุกครั้ง. จึ่งให้อแซหวุ่นกี้, กับติงจาโบ, ตะเรียงราม, ถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง. ให้อำมลอกหวุ่น, กับงาจูหวุ่น, แลต่อหวุ่น, ถือพลหมื่นห้าพันยกไปทางหนึ่ง, เปนสองทับ. ได้ต่อรบกับกองทับห้อ ทับห้อรี้พลมาก, เหนเหลือกำลังจะต่อตีให้แตกพ่ายมิได้, จึ่งบอกส่งมากราบทูลพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้แม่ทับเจรจาความเมืองกับแม่ทับห้อ, ขอเป็พระราชไมตรีต่อกัน. แล้วแต่งนางแลเครื่องบรรณาการให้ไปแก่แม่ทับห้อ, ทับห้อก็เลิกทับกลับไป. แต่นั้นมาห้อก็มิได้ยกมาตีเมืองอังวะอีก, เปนเมืองมิตรสัณฐวะไมตรีแก่กัน. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงไทยในปีเถาะตรีศกนั้น, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหพิจารณาเหนว่า, กรุงธนบุรีไม่มีกำแพงเปนที่มั่น, จะได้ป้องกันราชศัตรูหมู่ปัจามิตร, ยังไม่เปนภูมราชธานี. จึ่งทรงพระกรุณาให้เกนข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย, ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวง, ตั้งค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้น, ล้อมพระนครทั้งสองฟากน้ำ. แลให้เกนไพร่พลในกรุง, พลหัวเมือง, มารดมกันทำค่ายฝ่ายฟากตวันตก, ตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าไปจนวัดบางว้าน้อย, วงลงไปริมแม่น้ำใหญ่, ตลอดลงมาจนถึงกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเปนพระราชวัง. แล้วให้ขุดคลองเปนคูข้างหลังเมือง, แต่คลองบางกอกน้อย, มาออกคลองบางกอกใหญ่. เอามุลดินขึ้นถมเปนเชิงเทิลข้างในทั้งสามด้าน, เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำ. ๏ แลฟากตวันออกก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน, ให้ขุดคลองเปนคูข้างหลังเมือง, ตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชยเยนท์, วงขึ้นไปจนถึงสาลเทพารักษหัวโขด, ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง, เอามุลดินขึ้นถมเปนเชิงเทินทั้งสามด้าน, เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำดุจกัน. แล้วให้เกนคนไปรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าณเมืองพระประแดง, แลกำแพงค่ายพม่าณโพสามต้น, แลสีกุก, บางไทร, ทั้งสามค่าย, ขนบันทุกเรือมาก่อกำแพงแลป้อม, ตามที่ถมเชิงเทิลดินสามด้านทั้งสองฟาก เอาแม่น้ำไว้ห่างกลางเหมือนอย่างเมืองพระพิศณุโลกย. แลแม่น้ำตรงน่าเมืองทั้งสองฟากนั้น, เปนที่ขุดลัดแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ. ๚ะ

๏ อนึ่งป้อมวิไชเยนท์ท้ายพระราชวังนั้น, ให้ชื่อป้อมวิไชยประสิทธิ์. แล้วให้ขุดที่สวนเดิม, เปนที่ท้องนานอกคูเมืองทั้งสองฟาก, ให้เรียกว่าทเลตม, ไว้สำหรับจะได้ทำนาใกล้พระนคร. แม้นมาทว่าจะมีทับศึกการสงครามมา, จะได้ไว้เปนที่ทำเลตั้งค่ายต่อรบฆ่าศึกถนัด. แลกระทำการถาปนาพระนครขึ้นใหม่ครั้งนั้น, หกเดือนก็สำเร็จบริบูรณ. ๚ะ

๏ ในปีเถาะตรีศกนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหการสงคราม, ซึ่งจะไปปราบปรามกัมพุชประเทศให้ราบคาบ, คืนเอาเมืองพุทไธเพชร์ให้แก่นักองคพระรามาธิบดี, อันเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้นให้จงได้. แลขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีแขกถึงแก่กรรม, จึ่งโปรดตั้งพระยายมราช, ผู้ว่าที่สมุหนายกอยู่แต่ก่อนนั้น, เปนที่เจ้าพระยาจักรีแทน. แล้วโปรดตั้งพระยาราชบังสัน, ผู้บุตรเจ้าพระยาจักรีแขกนั้น, เปนพระยายมราช. จึ่งดำรัสให้เกนกองทับบกทับเรือทหารไทยจีน, แลทับหัวเมืองทั้งปวงให้พร้อม, สรัพด้วยช้างม้าแลเรือรบเรือลำเลียง, เครื่องสรรพาวุธต่างๆ, แล้วโปรดให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่ทับบก, ถือพลหมื่นหนึ่ง. ยกไปทางเมืองปราจินท์ให้ตีเมืองปัตบอง, เมืองโพธิสัตวตลอดลงไปจนถึงเมืองพุทไธเพชร์. แลเอานักองคพระรามาธิบดีไปในกองทับด้วย. เจ้าพระยาจักรี, แลท้าวพระยาพระหลวงเมืองนายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลายกกองทับออกไปตามพระราชกำหนด. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๐ สมุดไทย ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ