๓
๏ ลุศักราช ๙๐๕ ปีเถาะเบญจศก สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทรงพระราชดำริว่าครั้งก่อนเรายกกองทัพรุดไปพระนครศรีอยุทธยา พลแต่สามหมื่นล่วงเข้าตั้งถึงชานเมืองตำบลลุมพลี หามีผู้ใดมาปะทะมือไม่ แต่หากทว่าพลน้อยจะทำการมิถนัด ครั้งนี้จะยกไปให้มากสักสิบเท่า ก็เหนจะได้พระนครศรีอยุทธยา. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทรงพระราชดำริแล้ว ให้เกณฑ์พลสามสิบหมื่น ช้างเครื่องเจ็ดร้อยม้าสามพัน. ให้พระมหาอุปราชเปนกองน่าพระเจ้าแปรเปนเกียกกาย พระยาพสิมเปนกองหลัง. ครั้นณวันอาทิตย์ เดือนสาม ขึ้นสองค่ำ เพลาอุษาโยค สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงเครื่องศรีธิราชปิลันธนาลังกาภรณ์บวรมหาสังวาลเนาวรัตน์ สะพักพระอังสาอลงกตอังคาพยพอย่างอรรคราชรามัญวิสัยตำหรับมหาพิไชยรณรงค์เสร็จ เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพลายปราบทวีปเปนราชพาหนะประดับ เครื่องคเชนทราลังกาภรณ์บวรมหาสังวาลเนาวรัตน์ พร้อมด้วยเสนางคนิกรพิริยโยธาหาญพลดาบเขนขนัดแน่น แสนเสโลห์โตมรมาศทวนทองทิวแถวดาษดา, ดูมโหฬารเลิศพันฦกอธึกด้วยธวัชธงฉานธงไชย, รุจิตรไพโรจอำภรวิถี, เดียรดาษด้วยทัพท้าวพระยารามัญรายเรียงเปนระยะ, โดยกระบวนพยุหบาตราน่าหลังทั้งปวงพร้อมเสร็จ, ได้เพลามหาสุภฤกษโหราธิบดีลั่นฆ้องไชย, เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์กังสดาน, ดลตรีศับท์ฆ้องกรองก้องสนั่นนฤนาท, ตำเนินธงคลาพยุหโยธาทัพออกจากกรุงหงษาวดี รอนแรมมาเจ็ดวัน, ข้ามแม่น้ำเมาะตมะเดินโดยทางสมี. ขณะนั้นมีหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีเข้ามาว่า, ชาวด่านไปถึงด่านถึงตำบลจอยยะได้เนื้อความว่า, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดียกมาข้ามพลเมืองเมาะตมะถึงเจ็ดวันจึ่งสิ้น. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชา, บัญชาตรัสให้เทครัวเมืองตรีจัตวา, แลแขวงจังหวัดเข้าพระนคร. แล้วมีพระราชกำหนฎขึ้นไปถึงเมืองพระพิศณุโลกย์ว่า, ถ้าศึกหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยาเมื่อใดให้สมเดจ์พระมหาธรรมราชาเอาทัพเหนือเปนทัพกระนาบ. แล้วตรัสให้พระยาจักรีออกตั้งค่ายตำบลสุมพลีพลหมื่นห้าพัน, ล้วนใส่เสื้อแดงหมวกแดง ฝ่ายพระมหานาคบวชอยู่ณวัดภูเขาทอง, ศึกออกรับตั้งค่ายกันทัพเรือ, ตั้งค่ายแต่วัดภูเขาทองลงมาจนวัดป่าพลู. พวกสมกำลังญาติโยมทาษชายหญิงของมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ, จึ่งเรียกว่าครองมหานาค. เจ้าพระยามหาเสนาถือพลหมื่นหนึ่ง, ออกตั้งค่ายบ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา, พลใส่เสื้อเขียวหมวกเขียว พระยาพระคลังถือพลหมื่นหนึ่ง, ตั้งป้อมท้ายคู, พลใส่เสื้อเหลืองหมวกเหลือง. พระสุนทรสงครามถือพลหมื่นหนึ่ง, ตั้งค่ายป้อมจำปาพล ใส่เสื้อดำหมวกดำ. แลบันดาการพระนครนั้น, ก็ตกแต่งป้องกันเปนสามาถ. ฝ่ายสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดียกทัพข้ามกาญจณบุรีถึงพระนครศรีอยุทธยา, ณวันเสาร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำ, ตั้งค่ายหลวงตำบลกุ่มดอง. ทัพพระมหาอุปราชาตั้งค่ายตำบลพะเนียด. ทัพพระเจ้าแปรตั้งค่ายตำบลบ้านใหม่มขามหย่อง. ทัพพระยาพสิมตั้งค่ายตำบลทุ่งประเชด. ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตย์เดือนสี่ขึ้นหกค่ำ, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหารออกไปดูกำลังฆ่าศึกณทุ่งภูเขาทอง. จึ่งทรงเครื่องราชอลังการยุทธ์, เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์, สูงหกศอกคืบห้านิ้วเปนพระคชาธาร, ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาน ฝ่ายพระสุริโยไทยผู้เปนพระอรรคมเหษี, ประดับองค์เปนพระยามหาอุปราชทรงเครื่องสำหรับราชรณรงค์, เสด็จทรงช้างพลายนาคพินายสุริยสำหรับกระษัตริย์, สูงหกศอกเปนพระคชาธาร, ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างแลควาน, พระราเมศรรทรงเครื่องศรีธิราชปิลันทนาวะราภรณ์, สำหรับพิไชยยุทธสงครามเสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักระพาฬสูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว, ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาน. พระมหินทราธิราชทรงราชวิภูสนาลังกาภรณ์สำหรับพระมหาพิไชยยุทธรณรงค์,เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักระพรรดิสูงห้าศอกคืบสิบแปดนิ้ว, ประดับด้วยกุญชรอลงกฎเครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาน. ครั้นได้มหาศุภวารฤกษราชดฤฐี, พระโหราลั่นฆ้องไชยประโคมอุโฆศแตรสังข์อึงอินทเภรี. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธาร, พระอรรคมเหษี, แลพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์โดยเสด็จ. เหล่าคชพยุหะดั้งกันแทรกแซงดาษไป, บ้างโลดเล่นเต้นรำระบำไป, มีทหารประจำขี่กรกุมปืนปลายฃอประจำฅอทุกตัวสารควานประจำท้ายล้อมเปนกันกงโดยขนัด, แล้วถึงหมู่พยุหะแสนยากรโยธาหารเดินเท้า, ถือดาบดั้งเสโลโตมรหอกใหญ่หอกคู่, ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาน่าหลังโดยขบวนคชพยุหะสงคราม. เสียงเท้าพลแลช้างสเทือนดั่งพสุธาดลจะทรุด. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, เสด็จยืนพระคชาธารประมวลพล, แลคชพยุหะโดยขะบวนตั้งอยู่ณโคกพระยา ฝ่ายกองกระเวนรามัญเหนดั่งนั้น, ก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าหงษาวดีโดยได้เหนทุกประการ สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, ชรอยจะเปนทัพพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, ยกออกมาจะกระทำคชพยุหสงครามกับเรา, พระองค์ตรัสให้ยกพลหลวงออกจากค่ายตั้งโดยกระบวน, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทรงเกราะเครื่องพิไชยยุทธย่อมทับถมด้วยวิชาสาตรเวชคาถา, แล้วสอดใส่พระมหาสุพรรณสังวาลประดับเพชร์พื้นถม, สรรพคุณเวชคาถาต่างต่าง, ทรงพระมหามาลาลงเลขยัญกันสรรสาตราวุธภยันตรายสำหรับราชรณรงค์ยุทธเสร็จ, เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลปราบทวีปสูงเจ็ดศอกเปนพระคชาธาร ,ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างแลควาน, เครื่องสูงสำหรับราชรณรงค์แห่โดยขนาด, มีหมู่ทหารถือดาบดั้งหมื่นหนึ่งล้อมพระคชาธาร. พระเจ้าแปรประดับเครื่องอลังการเครื่องพิไชยยุทธ, ทรงช้างต้นพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้วเปนพระคชาธาร, ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่นมีควานแลกลางช้างเปนกองน่า, มีทหารดาบสองมือพันห้าร้อยล้อมพระคชาธาร. ช้างท้าวพระยารามัญคับคั่งตั้งโดยกระบวนกันกงเปนขนัด, เหล่าพยุหโยธาหารเดินเท้าถือสรรพสาตราดาดาษโดยกระบวน. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็ยกพยุหโยธาทวยหารออกตั้งยังท้องทุ่ง, ตรงหน้าทัพสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าห่างกันประมาณร้อยเส้น, เสด็จยืนพระคชาธารคอยฤกษ, จึ่งตรัสให้พลม้ารำทวนชักชิงคลองกันไปให้เริงน่าทัพ. ฝ่ายพลเครื่องเล่นเต้นรำร้องเฮฮาเปนโกลาหล, ฝ่ายพลดาบดั้งดาบสองมือก็รำฬ่อเลี้ยวกันไปมา. ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตรดูอากาศ, เหนพระอาทิตย์แจ่มดวงหมดเมฆหมอก แล้วคิชราชบินนำน่าทัพ ครั้นเหนศุภนิมิตร์ราชฤกษดั่งนั้น, ก็ให้ลั่นฆ้องไชยอุโฆศแตรสังขอึงอินทเภรีขึ้นพร้อมกัน, ก็ตรัสให้ขับพลเข้าโจมตีทัพสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราช. ฝ่ายสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชดำรัศให้แยกพลเปนปีกกา, พลโยธาทั้งสองฝ่ายบ้างแห่โห่โกลาหล, เข้าปะทะประจันตีฟันแทงแย้งยุทธ์, ยิงปืนระดมสาตราธุมาการตรหลบไปทั้งอากาศ, พลทั้งสองฝ่ายบ้างตายบ้างลำบากกลิ้งกลาดเกลื่อนท้องทุ่งเปนอันมาก. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, ก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองน่าพระเจ้าหงษาวดี, พระคชาธารเสียทีให้หลังแก่ข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่. พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกดั่งนั้น, ก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า. พระสุริโยไทยเหนพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก, ทรงพระกตัญูภาพก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกระษัตริย์สะอึกออกรับ, พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด, พระคชาธารพระสุริโยไทยแหงนหงายเสียที, พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงฃอง้าว, ต้องพระอังษาพระสุริโยไทยขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ, พระราเมศรวรกับพระมหินทราธิราช,ก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระมารดาไม่ทันที, ภอสมเดจ์พระชนนีสิ้นพระชนม์กับฅอช้าง. พระราเมศวร พระมหินทราธิราชพี่น้องทั้งสององค์ถอยรับข้าศึก, กันพระสพสมเดจ์พระราชมารดาเข้าพระนครได้, โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเปนอันมาก. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, จึ่งให้เชิญพระสพพระสุริโยไทยผู้เปนอรรคมเหษีมาไว้ตำบลสวนหลวง. ครั้นรุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาแต่งพลเข้าตีค่ายพระสุนทรสงคราม, พระสุนทรสงครามต่อรบข้าศึกเปนสามารถแต่เพลาเช้าจนพลบค่ำ ข้าศึกหนุนเข้าหักค่ายพระสุนทรสงครามแตก, เสียค่ายแลป้อมจำปาพลตายบ้างลำบากบ้างเปนอันมาก. ครั้นเพลารุ่งขึ้นสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทรงช้างต้นพลายกามกวมสูงเจ็ดศอกตัวทาแดง, เสดจ์ยกพลมาทุ่งลุมพลี, ให้ทหารเดินเท้าแซงตามทิวไม้ไปสองฟากทุ่ง, เสดจ์ยืนช้างชี้พระหัดถ์ให้ทหารม้าห้าร้อยเข้ายั่วน่าค่ายพระยาจักรี, พระยาจักรีก็ขับทหารออกรบ ฝ่ายนายทหารหงษาวดีซึ่งซุ่มแซงสองชายทุ่งนั้น, เหนได้ที่ก็ยกออกโจมตีโอบลงไปเปนทัพกระหนาบจนใกล้ค่าย, ทหารก็ดาไล่ตลุมบอนฆ่าฟันทหารพระยาจักรีล้มตายเปนอันมาก, พระยาจักรีแลทหารทั้งปวงเสียทีก็ล่าทัพเข้าพระนคร. ครั้นได้ค่ายพระยาจักรีแล้ว, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จกลับยังค่ายหลวง. ทหารม้าที่ได้ศีศะชาวพระนครไปประมาณสี่ส่วนที่มิได้ศีศะประมาณส่วนหนึ่ง สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสให้ปลูกร้านขึ้น, แต่งเครื่องมัจฉะมังษาสุราบานให้รับพระราชทาน.ที่ไม่ได้ศีศะนั้นให้รับพระราชทานใต้ถุนร้าน, ให้ทหารซึ่งรับพระราชทานบนร้านนั้นราดน้ำล้างมือลงมา, ครบสามวันให้พ้นโทษ. ฝ่ายสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตรัสแก่มุขมนตรีว่า, ทหารหงษาวดียังกำลังกล้ารื่นเริงอยู่, ทั้งเสบียงอาหารก็ยังไม่ขัดสน, จำเราจะรักษามั่นไว้คิดการเดือน, คอยทัพเมืองพระพิศณุโลกย์, ซึ่งจะลงมากระหนาบนั้นด้วย แล้วจะคิดเอาปืนใหญ่ล้างค่ายทำลายความคิดให้อ่อนลง, จึ่งจะค่อยคิดการไชยชำนะเมื่อภายหลังเหนจะได้โดยง่าย, มุขมนตรีทั้งหลายก็เหนด้วย. จึ่งเชิญปืนนารายน์สังหารลงสำเภาขันฉ้อขึ้นไปทางบ้านป้อม, แต่งทัพปกป้องกันสองฝั่งฟากขึ้นไปถึงขนอนปากคู. ทหารขยับมาตั้งกองร้อยคอยเหตุอยู่, ก็เอาข่าวไปกราบทูลแก่สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีว่า, ชาวพระนครขันฉ้อสำเภาขึ้นมา, มีแม่ทัพปกป้องกันสองฝั่งฟาก, เหนทีจะบันทุกปืนใหญ่ขึ้นมาล้างค่าย. ทูลยังมิทันขาดคำ, ชาวพระนครยิงปืนนารายน์สังหารไป, กระสุนตกลงในค่ายใกล้พลับพลาสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีให้เอากระสุนปืนมาบวงสรวงพลี, แล้วให้เลิกไปตั้งค่ายหลวง ณทุ่งพุทธเลาอยู่สามวัน. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, เสด็จทรงช้างพระที่นั่งกระโจมทอง, ยกพลกองหลวงออกจากค่าย, ข้ามโพสามต้นมาทางทุ่งพเนียด, เสด็จยืนช้างอยู่ณวัดสามพิหาร, ตรัสให้พระมหาอุปราชาต้อนพลเข้าหักพระนคร. จึ่งพระยายามให้เอาปืนนารายน์สังหารลงใส่สำเภาไม้รักษ์แม่นาง, ขึ้นไปยิงค่ายสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ปืนถีบท้ายสำเภาจมลง, กระสุนปืนขึ้นไปถูกกิ่งมหาโพธิใหญ่ประมาณสามกำเสศขาดตกลงใกล้ช้างพระที่นั่งสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีประมาณสามวา. ขณะนั้นชาวป้อมมหาไชย์, ก็ยิงปืนใหญ่ระดมมาต้องพลหงษาวดีตายมาก, จะปล้นเอาพระนครก็ไม่ได้. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จยกทัพกลับยังพลับพลา. ฝ่ายสมเดจ์พระมหาธรรมราชาแจ้งข่าวขึ้นไปว่า, กองทัพสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีมาติดพระนครกรุงศรีอยุทธยา, ก็เกนทัพเมืองพระพิศณุโลกย์, เมืองสวรรคโลกย์, เมืองศุโขไทย, เมืองพิไชย, เมืองพิจิตร, เปนคนห้าหมื่นลงมาถึงเมืองไชยนาทบุรี, ตั้งค่ายมั่นสองฝั่งฟาก, แต่งกองร้อยลงมาสืบถึงแขวงสิงขบุรี, ภอภบสมิงจครานสมิงมะสุมคุมทัพสามพันไปลาดหาเสบียง, กองสอดแนมชาวเมืองพระพิศณุโลกย์เหนรามัญมากกว่าก็วิ่งหนี, พวกรามัญเอาม้าไล่สกัดจับได้สองคนคุมตัวลงมาถวาย. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสถามนายมั่นปืนยาวนายคงหนวดให้การกราบทูลว่า, สมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชผู้ครองเมืองพิศณุโลกย์, แจ้งขึ้นไปว่าทัพกรุงหงษาวดีมาติดพระนครศรีอยุทธยา, จึ่งยกพลเมืองพระพิศณุโลกย์, เมืองสวรรคโลกย์, เมืองศุโขไทย, เมืองพิไชย, เมืองพิจิตร, เปนคนห้าหมื่นลงมาช่วยตีกระหนาบ, บัดนี้มาตั้งอยู่ไชยนาทบุรี, แต่งให้พันโจมจัตุรงค์, พันยงใจหาญคุมข้าพเจ้าคนร้อยหนึ่งมาสืบทัพ. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีแจ้งดั่งนั้นแย้มพระโอษฐแล้วตรัสว่า, อ้ายสองคนนี้ให้โกนศีศะเสีย, ปล่อยขึ้นไปให้ทูลพระมหาธรรมราชาธิราชว่า, ซึ่งจะลงมาเปนทัพกระหนาบนั้นเราคอยอยู่. ถ้ามิลงมาให้มั่นไว้จะขึ้นไปหา. สมิงจครานรับสั่งสมเดจ์พระเจ้าหงษาวะดี, ก็เอาตัวนายมั่นปืนยาวนายคงหนวดไปโกนศีศะแล้ว, คุมขึ้นไปปล่อยถึงแขวงสิงขบุรี. นายมั่นนายคงก็ขึ้นไปถึงไชยนาท, ให้ขุนนางนำเฝ้ากราบทูลเนื้อความ, ซึ่งสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีสั่งมานั้นให้ทราบทุกประการ สมเดจ์พระมหาธรรมราชาตรัสถามว่า, เองเข้าไปถึงสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีนั้นเหนรี้พลประมาณเท่าใด, นายมั่นปืนยาวนายคงหนวดกราบทูลว่า, ข้าพเจ้ามิได้เที่ยวเหนแต่วงค่ายหลวงนั้น, ภอเต็มทุ่งพุทธ. สมเดจ์พระมหาธรรมราชาจึ่งตรัสแก่มุขมนตรีว่า, ซึ่งสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสสั่งมาทั้งนี้เหนจะจริงฤๅ, มุขมนตรีทั้งปวงกราบทูลว่า, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีลิ้นดำองค์นี้, ได้ยินเล่าฦๅกันว่า, ตรัสสิ่งใดเปนสัจจริง. สมเด็จพระมหาธรรมราชาตรัสว่า, อันการสงครามจะฟังเอาเปนสัจจริงนั้นยากนัก,เกลือกเกรงเรากระหนาบ,แลหากสำทับไว้จะเลิกทัพไปโดยทางมา, จะจำแต่งทับลงไปตั้งรอไว้ดูที. แล้วตรัสให้ทัพพระยาสวรรคโลกย์, พระยาศุโขไทย,สองทับคนสองหมื่นยกลงไปเมืองอินนบุรี. ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าหงษาวดี, ตรัสให้สั่งมหาอุปราชาให้ตีค่ายทุ่งหันตราเสีย, จะได้คิดการบาญชีเมือง. รุ่งขึ้นณวันอังคารเดือนสี่แรมสามค่ำเพลาเช้าตรู่, พระมหาอุปราชาก็ยกพลทหารไปตีค่ายเจ้าพระยามหาเสนา, ๆ นายทัพนายกองต่อสู้เปนสามารถ, ข้าศึกเอามิได้, พระมหาอุปราชาโกรธ, เสด็จบ่ายช้างไปยืนตรงน่าค่ายห่างกันประมาณสามเส้น, ให้ประกาษแก่นายทัพนายกองว่า, มิได้ค่ายเพลานี้จะตัดศีศะเสียบเสีย. นายทัพนายกองกลัว, ก็ต้อนพลทหารดาบดั้งหนูนแน่นกันเข้าไปฟันค่ายหักเข้าได้. เจ้าพระยามหาเสนานายทัพนายกองไพร่พลแตก, ก็ลาดลงคลองน้ำค่ามไปฟากวัดมเหยงคณ์, ที่ป่วยเจ็บล้มตายในน้ำก็มาก. พระมหาอุปราชาก็ยกทัพกลับไปค่าย, จึ่งเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหงษาวดีกราบทูลซึ่งมีไชยได้ค่ายให้ทราบทุกประการ ขณะนั้นไพร่พลในกองทัพขัดเสบียง, แต่งกองทัพออกลาศหามิได้, ที่ได้บ้างซื้อขายแก่กันเปนทนานละเฟื้อง, ท้าวพระยาพระหลวงหัวเมืองเอาเนื้อความกราบทูล, สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัสปฤกษาดูความคิดท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า, เสบียงอาหารซื้อขัดสนอยู่แล้ว, แล้วก็จวนเทศกาลฟ้าฝนจะทำการมิได้, จำจะคิดเลิกทัพกลับไป, แต่ทว่าจะไปโดยทางใดดี, ท้าวพระยามุขมนตรีปฤกษากราบทูลว่า, ถ้าเสด็จไปทางเมืองกำแพงเพชร, ออกด่านแม่ละเมาเล่า, กองทัพฝ่ายเหนือก็ตั้งมั่นรับอยู่ณเมืองไชยนาท, เกลือกราชการติดพันช้าไป, ไพร่พลจะขัดสนโดยเสบียงอาหารเหนจะเสียท่วงที่. แม้นเสด็จไปทางกาญจนบุรีแรกมาเหนจะสดวก. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, ซึ่งจะกลับไปทางกาญจนบุรีนั้นเหนจะขัดสนอีก, ด้วยเหตุว่ากองทัพเรายกเหยียบเมืองมา, เสบียงอาหารยับเยินสิ้นอยู่แล้ว,ประการหนึ่งได้สั่งไปถึงพระมหาธรรมราชาว่าให้ลงมา, ถ้ามิลงมาเราจะขึ้นไปตี, แลพระมหาธรรมราชามิลงมานั้น, ดีร้ายจะตั้งมั่นรับ, แลผ่อนเสบียงอาหารลามาไว้มาก, เหนสมคเนเราอยู่แล้ว, ทำไมกับทัพพระมหาธรรมราชาเท่านั้น, เพลาเดียวก็จะแตก, จะได้เสบียงอาหารภอไพร่พลเราไม่ขัดสน ท้าวพระยานายทัพนายกองก็บังคมทูลว่า, ทรงพระราชดำริหครั้งนี้ดีหาที่สุดมิได้. สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, ซึ่งเราจะล่าทัพไปครั้งนี้, จะต้องตีทั้งน่าทั้งหลัง. ด้วยเหตุว่าทัพพระมหาธรรมราชามาตั้งอยู่ไชยนาทบุรี, เหนจะรู้ถึงพระมหาจักรพรรดิ, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิทราบพระไทยว่า, ทัพพระราชบุตรเขยมาสลักกระหนาบอยู่แล้ว, ดีร้ายจะแต่งทัพตามต้อนพลเราเปนมั่นคง. เราจะคิดเอาไชยชำนะทั้งน่าทั้งหลังให้ได้. ตรัสแล้วให้มีพระราชกำหนดให้ทัพพระยาพสิม, พระยาละเคิ่ง, ทัพพระยาสเรียง, ทัพพระยาตองอู, ทัพพระยาจิตรตองห้าทัพ, ทัพละสามหมื่น, เปนคนสิบห้าหมื่น, ให้พระเจ้าแปรเปนแม่กองยกไป, ถ้าภบทัพพระมหาธรรมราชาตั้งรับแห่งใดตำบลใด, ให้ตีจงแตกแต่ในเพลาเดียว. ถ้าล่วงราศตรีไปจะเอาศีศะนายทัพนายกองเสียแทนเขลย. แลให้ทัพพระมหาอุปราชารั้งท้าว, ถ้ามีทัพพระนครศรีอยุทธยาตามมา,ให้มีทัพฬ่อทัพซุ่มหุ้มจับเอาตัวนายทัพนายกองให้ได้เปนมาคนหนึ่งสองคน.ถ้ามิทำได้ดั่งนี้จะเอาตัวมหาอุปราชาเปนโทษถึงสิ้นชีวิตร, แลให้นายทัพนายกองจัดแจงให้พร้อม, อีกสามวันจะเลิกทัพจากพระนครศรีอยุทธยา. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าแจ้งว่า, สมเดจ์พระมหาธรรมราชายกกองทัพเมืองพระพิศณุโลกย์, เมืองสวรรคโลกย์, เมืองศุโขไทย, เมืองพิไชย, เมืองพิจิตร, คนห้าหมื่นมาตั้งอยู่ไชยนาทบุรี, ทัพน่าลงมาตั้งเมืองอินทบุรี, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวดีพระไทยนัก, ก็ตรัสแก่มุชมนตรีว่า ถ้าสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีรู้ว่า,ทัพสมเดจ์พระมหาธรรมราชายกมาเหนจะไม่อยู่ช้า, ดีร้ายจะเลิกไป ถ้าไปทางเหนือสมคเนเราจะได้กระทบน่าหลังซ้ำเติมถนัด, เกลือกจะหลีกไปทางสุพรรณ, กาญจนบุรี, จะสลักซ้ำเติมไม่เตมที่. พระสุนทรสงครามกราบทูลว่า อันสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ประกอบด้วยกำลังสามประการ, คือกำลังปัญญาหนึ่ง, ความคิดหนึ่ง, มีทหารกล้าหนึ่ง, เหนไม่ไปทางสุพรรณ, กาญจนบุรี ด้วยเหตุว่าเปนต้นทางมา, เสบียงอาหารยับเย็นสิ้นแล้ว. เหนจะเดินทางเหนือหมายตีเอาเสบียงอาหารในกองทัพสมเดจ์พระมหาธรรมราชานั้นอีก. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวไม่เหนด้วย, จึ่งตรัสว่าถ้าดั่งนั้น, พระสุนทรสงครามสิเปนเจ้าเมืองสุพรรณบุรี, ชัดเจนป่าทางให้คุมทัพห้าพัน, ลอบออกไปเพลาค่ำพรุ่งนี้ ให้ตั้งชุ่มสลักคอยโจมตีทัพพระเจ้าหงษาวดีให้ได้เปนบำเหน็จมือมา, ถ้ามิได้สลักสำคัญมาจะเอาตัวเปนโทษ. พระสุนทรสงครามก็โดยพระราชบัญชาถวายทานบลไว้. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวจึ่งตรัสว่า, ถ้าพระเจ้าหงษาวดีเลิกทัพไปทางเหนือดุจคำพระสุนทรสงครามว่านั้น, ผู้ใดจะไปตาม. จึ่งพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร, พระมหินทราธิราชกราบทูลว่า, ข้าพเจ้าทั้งสองขอยาตามตีทัพพระเจ้าหงษาวดีให้เปนบำเหน็จมือ. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม. ๚ะ
๏ ครั้น ณวันอาทิตยเดือนสี่แรมเก้าค่ำ, เพลาสองยามถึงกำหนด, พระเจ้าแปร, แลพระยาพสิม, พระยาละเคิ่ง, พระยาเสรียงพระยาตองอู, พระยาจิตรตองก็เลิกทัพเดินเปนกองน่าทัพหลวง. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เดินเปนอันดับ, แลทัพพระมหาอุปราชาก็เดินกองหลัง. พระมหาอุปราชาแต่งม้า ๕๐๐ ให้อยู่รั้งท้ายคอยเหตุ. ถ้าเหนทัพตามมาประมาณพันหนึ่ง, ให้ม้าไปบอกม้าหนึ่ง. ถ้าพลประมาณสองพัน, ให้ม้าไปบอกสองม้า, ถ้าพลประมาณสามพันสี่พันห้าพัน, ก็ให้ม้าไปบอกสามม้าสี่ม้าห้าม้าเอาม้าเปนกำหนด. ๚ะ
๏ ฝ่ายทัพน่านำเดินค่ามคลองบางแก้ว, ไปตามทิวทุ่งลำแม่น้ำใหญ่เพื่อรี้พลช้างม้ามากจะได้อาไศรยน้ำ ครั้นเพลารุ่งเช้าชาวพระนครรู้ว่าทัพสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีเลิกไป, มุขมนตรีก็นำเอากิจกราบทูลสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวว่า, ทัพพระเจ้าหงษาวดีมิยกไปทางเมืองสุพรรณ์, กาญจนบุรี, ไปทางแนวแม่น้ำใหญ่. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัว, ก็ตรัสให้สมเดจ์พระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์, คุมทัพหมื่นหนึ่งยกตาม. จึ่งพระราเมศวร พระมหินทราธิราชปฤกษากันว่า, ซึ่งทัพล่าไปในวันหนึ่งสองวันนี้, เหนจะระวังนักจะคิดเอากองทัพรับเราเปนสามารถ, อันจะรีบจู่โจมเข้าตีนั้นเหนจะเอาไชยชำนะยาก, จะคอยสกดตามไปวันหนึ่งสองวันให้ประมาทลงก่อน ประการหนึ่งจะได้จวนกระทบทัพสมเดจ์พระมหาธรรมราชาพว้าพวังเปนสองฝ่าย, เราจึ่งจะเข้าโจมตีเหนจะได้ไชยชำนะโดยง่าย, ครั้นปฤกษากันแล้วก็ยกสกดตามไปแต่ห่าง ๆ ทางประมาณกึ่งวัน. ฝ่ายทัพกองน่าไปถึงเมืองอินทบุรี, เหนค่ายใหญ่สองค่าย, ก็กลับมาแจ้งนายทัพนายกอง. พระยาพสิม, พระยาละเคิ่ง, พระยาเสรียง, พระยาตองอู, พระยาจิตรตองดีใจ, ต่างคนแต่งตัวขี่ช้างพลายกั้นสัปประทนต้อนพลเข้าตีค่าย, พระเจ้าแปรทรงช้างมณีฉัตร,กั้นพระกลดไปยืนให้ทหารเข้าหักค่าย. เหล่าทหารหงษาวดีก็เห่โห่ลั่นปืนแกว่งหอกดาบดาแข่งกันกรูเข้าถอนขวากหนามปีนป่ายหักค่ายเปนโกลาหล. ทหารในค่ายก็วางปืนใหญ่น้อยออกต้องพระยามอญพะม่าล้มตายเปนอันมาก, ก็ยิ่งหนุนเนืองกันหนักเข้ามา, เย่อค่ายแหกค่ายจนถึงได้แทงฟันกันเปนสามารถ. พลพม่ามอญก็เข้าค่ายได้ไล่ตลุมบอนฆ่าฟันกันตายเปนอันมาก. ซึ่งเหลือนั้นก็หนีกระจัดกระจาย, ขึ้นมากราบทูลสมเดจ์พระมหาธรรมราชาโดยซึ่งเสียแก่ฆ่าศึกนั้นทุกประการ. ๚ะ
๏ ภอผู้ลงไปสอดแนมฟังราชการ ณกรุงเทพพระมหานครกลับขึ้นมาทูลว่า, ทัพพระเจ้าหงษาวดีเลิกขึ้นมาทางเหนือสิ้นแล้ว. สมเดจ์พระมหาธรรมราชาแจ้งว่า, กำลังศึกกล้ามากเหลือกำลังดั่งนั้นเหนจะรับมิอยู่, คิดจะเลิกทัพเสียให้พ้นน่าศึก, ซุ่มอยู่ณบ้านเนินฟากตะวันออกแล้ว, จะคอยตามสกดตี. จึ่งตรัสกำหนดให้นายทัพนายกองเลิกออกจากค่าย, ให้เปนหมวดเปนกองกัน. นายทัพนายกองก็ทำโดยพระราชบัญชาทุกประการ. ภอกองทัพพระเจ้าแปรยกมาถึงเหนค่ายเปล่า, ก็ตั้งอยู่ณเมืองไชยนาท, แล้วบอกลงมายังทัพหลวง, ขณะเมื่อวันกองทัพน่าตีค่ายพระยาสวรรคโลกย์, พระยาศุโขไทยณเมืองอินทบุรีนั้น, พระมหาอุปราชาตรัสปฤกษากับด้วยนายทัพนายกองว่า, ทัพเราล่ามาถึงสองวันสามวัน, ซึ่งทัพพระนครศรีอยุทธยามิได้ตามตีนั้น, ชรอยจะคิดเกรงว่าเราแต่งทัพป้องกันระวังอยู่มิได้ประมาท, จะคอยสกดตามสองวันสามวันให้เราประมาทก่อน. ประการหนึ่งจะให้ประทะทัพฝ่ายเหนือ, ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองไชยนาท, เมืองอินท์บุรีจึ่งจะโจมตี, ให้เราพว้าพวังเหนจะคิดดั่งนี้มั่นคง. จำจะซ้อนความคิดชาวพระนครศรีอยุทธยา, จับเอานายทัพแลไพร่ไปถวายสมเดจ์พระราชบิดา, ให้เปนบำเหน็ดมือจงได้. ตรัสมิทันขาดคำเหนม้าเร็วขึ้นมาสิบม้า, พระมหาอุปราชาก็แจ้งว่า มีทัพตามมาประมาณหมื่นหนึ่ง, จึ่งให้สมิงพัตเบิด, สมิงพัตบะคุมทัพห้าพัน, ม้าสองร้อยยกไปตั้งซุ่มสงบอยู่ตามทิวไม้ฟากทุ่งกำหนดว่า, ถ้าเหนทัพตามมาอย่าเภอให้ตีก่อนให้ล่วงถลำขึ้นมา, ต่อได้ยินเสียงปืนรบจึ่งให้โจมตี ก็ยกซุ่มอยู่ตามรับสั่ง, แล้วก็เดินทัพขึ้นไปตั้งอยู่ทางประมาณสองร้อยเส้น. ฝ่ายพระราเมศวร, พระมหินทราธิราชดำริหว่า, วันนี้เหนทัพหงษาวดีจะถึงเมืองอินทบุรี, จะได้ติดกับทัพฝ่ายเหนืออยู่แล้ว, ก็เร่งรีบเดินทัพหวังจะโจมตี. ขณะนั้นสมิงพัตเบิด, สมิงพัตบะเหนทัพยกมาก็สงบสังเกตดู, เหนช้างที่นั่งหลังคาทองสองช้างก็แจ้งว่า, เปนนายพล. ภอได้ยินเสียงปืนทัพพระมหาอุปราชา, ก็ยกออกโจมตีเอาตรงช้างที่นั่ง,ทัพชาวพระนครไม่ทันรู้ตัวก็แตกฉาน. เหล่ารามัญก็ล้อมจับเอาพระราเมศวร,พระมหินทราธิราช, กับมหาดเล็กท้ายช้างสองคนไปถวายสมเดจ์พระมหาอุปราชา ๆ ก็พาไปถวายสมเดจ์พระราชบิดา, พร้อมกันกับคนพระเจ้าแปรซึ่งให้ลงมาทูลว่า, ค่ายเมืองไชยนาทบุรีก็เลิกหนีไปแล้ว. ๚ะ
๏ สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีดีพระไทย, ก็เสดจ์ไปตั้งประทับแรมอยู่ณเมืองไชยนาท, จึ่งให้เอาพระราเมศวร, พระมหินทราธิราชเข้ามา, แล้วตรัสว่า, เจ้าทั้งสองสิเปนข้าศึกกับเรา, บัดนี้เราจับได้แล้วจะคิดประการใดเล่า. พระราเมศวร, พระมหินทราธิราชกราบบังคมทูลว่า, ข้าพระองค์นี้จนอยู่แล้ว.จะฆ่าเสียก็จะตาย. ถ้าพระองคโปรดพระราชทานชีวิตรไว้ก็จะรอด. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังก็แย้มพระโอษฐ. แล้วตรัสให้พระมหาอุปราชาเอาพระราเมศวร, พระมหินทราธิราชไปคุมไว้. ๚ะ
๏ ฝ่ายนายทัพนายกองซึ่งแตกจากทัพพระราเมศวร, พระมหินทราธิราชก็กลับไปพระนคร, เอาเหตุกราบทูล. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าได้แจ้งดั่งนั้น, ก็ตกพระไทยโทมนัศถึงสมเดจ์พระราชโอรสทั้งสองพระองค์นั้น. แล้วแต่งพระราชสาสนให้พระมหาราชครูปโรหิต ขุนหลวงพระเกษม, ขุนหลวงพระไกรศรี, ถือมาทางเรือขึ้นไปถึงเมืองไชยนาทบุรี. ท้าวพระยารามัญนำเข้าเฝ้าทูลถวายพระราชสาสนแด่พระเจ้าหงษาวดี. แลในลักษณสาสนนั้นว่า, พระราชสาสนสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าพระนครศรีอยุทธยา, ขอจำเริญทางพระราชไมตรีมายังสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี ผู้มีอิศรภาพใหญ่ยิ่งกว่าขัติยราชสามนตในชมภูทวีป, ด้วยพระองคยกพยุหะโยธาทัพมากระทำยุทธนาการกับพระนครศรีอยุทธยา, เปนที่สำเริงราชหฤไทยในบรมกระษัตราธิราชโดยบูรพประเพณี, แลเลิกทัพไปโดยปรกติมิได้แพ้พ่ายฝ่ายโอรสแห่งข้ามิได้รู้ในเชิงไชยยุทธ, ยกติดตามมาตีกองทัพพระองคจับไว้นั้น, โอรสทั้งสองถึงซึ่งปราไชยอยู่แล้ว, อุประมาดุจสกุณโบฎก, อันต้องแร้วพเนจรใส่กรงขังไว้. ขอพระองค์อย่าได้มีอาฆาฎจองเวรเลย, จงปล่อยโอรสแห่งข้าให้คืนพระนครก็จะเปนพระเกียรติยศแห่งพระองค์สืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีได้แจ้งในลักษณะพระราชสาสนดั่งนั้นก็แย้มพระโอษฐ, แล้วตรัสแก่ผู้จำทูลพระราชสาสนว่า, สมเดจ์พระเจ้าพี่เราให้มาอ่อนง้อฃอราชโอรสแล้วเราอนุญาตให้, จึ่งดำรัศสั่งพระราเมศวร,พระมหินทราธิราชว่า, เจ้าทั้งสองจงไปทูลแก่พระราชบิดาว่า, เราฃอช้างพลายศรีมงคล, ช้างพลายมงคลทวีปทั้งสองช้างไปชมเล่นกรุงหงษาวดี. ๚ะ