๓๓

๏ ภอข้างกรุงอังวะให้ม้าใช้ถือหนังสือลงมา, ถึงอแซหวุ่นกี้แม่ทับว่าพระเจ้ามังระทิวงกต บัดนี้จิงกูราชบุตร, พระชนได้ ๒๕ ปี,ได้เสวยราชสมบัติ, แล้วฆ่ามังโปอนาวิงด่อ, ซึ่งเปนอาวนั้นเสีย. มีรับสั่งให้หากองทับกลับไปกรุงอังวะ. อแซหวุ่นกี้ได้แจ้งเหตุดังนั้น, ก็ให้เลิกทับจากเมืองพิศณุโลกย, กวาดครอบครัวเดินทับไปทางเมืองศุโขไทย, ไปลงบ้านรแหงเมืองตาก ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับเจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรสีห, ซึ่งไปตั้งอยู่เพชรบูรณ์นั้น,ได้เสบียงอาหารเลี้ยงไพร่พลบริบูรณ, แล้วก็บอกลงมากราบทูลว่า, จะขอยกติดตามตีทับพม่าซึ่งเลิกถอยไป. แล้วยกกองทับกลับมาทางเมืองสรบูรี, ขึ้นทางป่าพระพุทธบาทยกติดตามทับพม่าไปทางเมืองศุโขไทย ขณะนั้นท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ซึ่งตั้งค่ายรบพม่าอยู่ในที่ต่างๆ ก็บอกลงไปกราบทูลว่า, พม่าได้เมืองพระพิศณุโลกยแล้ว, บัดนี้เลิกทับกลับไป สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัศน้อยพระไทยแก่ฆ่าศึกนัก, ดำรัศให้หาหลวงศรสำแดงเข้ามาถามน่าพระที่นั่งว่า, จะให้คุมเลขทหารเกนหัดไปตามรบพม่าจะได้ฤๅมิได้. หลวงศรสำแดงก้มน่านิ่งเสียไม่กราบทูลประการใด, ก็ทรงพระโกรธ, ดำรัศให้ประหารชีวิตรเสีย. แล้วดำรัศให้พระยาพิไชยยกกลับไปบ้านเมือง, ให้พระยาพิไชยสงครามไปด้วย, จัดแจงไพร่พลพร้อมแล้ว,ให้ยกไปก้าวสกัดติดตามตีพม่าจงได้. แล้วให้กองพระยาเทพวรชุน, พระยารัตนพิมล, พระยานครไชยศรี, พระยาทุกขราษฎเมืองพระพิศณุโลกย, หลวงรักษโยธา, หลวงอัคเนศรเปนกองน่า. ให้พระยาสุรบดินทรเจ้าเมืองกำแพงเพชร, เปนแม่ทับยกติดตามตีพม่าไปทางเมืองตาก ให้พระยาธิเบศบดี,คุมกองอาษาจามยกติดตามพม่าไปทางเมืองศุโขไทย. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทรเดือนหกแรมสิบเบ็ดค่ำปีวอกอัฐศก, จึ่งพระราชสงครามนำเอาหนังสือมหาโสภีตะเจ้าอธิการวัดใหม่, เขียนใส่ใบตาลไปถวาย, เปนเรื่องความว่า, พระพุทธทำนายมีในคัมภีร์พระธาตุวงษ. ข้อความว่าตระกูลเสนาบดีจะได้เปนกษัตริย์สี่พระองค์, เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยา, แลพระองคที่สุดนั้นพม่าจะยกมาย่ำยี, พระนครจะเสียแก่พม่า. แล้วจะมีบุรุษพ่อค้าเกวียน, จะได้เปนพระยาครองเมืองทิศใต้ชายทเลชื่อเมืองบางกอก. พระยาองค์นั้นจะได้สร้างเมืองเปนราชธานีขึ้นได้เจดปี, ในที่สุดเจ็ดปีนั้น, พม่าจะยกมาพยายามกระทำสงครามอยู่สามปี. ในพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๓๒๐ ปี, จุลศักราชได้ ๑๑๓๙ ปี. พระนครบางกอกจะเสียแก่พม่าฆ่าศึก. ให้เสดจขึ้นไปอยู่ณเมืองละโว้, คือเมืองลพบุรี, อันเปนที่ชุมนุมพระบรมธาตุ, ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย, ฆ่าศึกสัตรูจะทำร้ายมิได้เลย. ครั้นทรงอ่านแล้วจึ่งดำรัศว่า, ซึ่งจะละเมืองบางกอกเสียนั้นมิได้, แต่ปากสมณชีพราหมว่าแล้วจำจะทำตาม, จะไปอยู่เมืองลพบุรีสักเจดวัน, ภอเปนเหตุ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันเดือนหกแรมสิบเบ็ดค่ำได้ข่าวว่า, พม่าข้างทางเมืองอุไทยธานียกแยกขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์. จึ่งดำรัศให้พระยาพลเทพ, หลวงเนาวโชดิ์,จมื่นเสมอใจราช,ยกกองทับขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์ ถ้าพม่ายกไปภอจะต่อรบต้านทานได้, ก็ให้สู้รบต้านทานไว้. ถ้าเหลือกำลังจงผ่อนครอบครัวเสบียงอาหารลงไปกรุง. แล้วให้กองพระยานครสวรรค, พระยาสวรรคโลกย, ยกไปติดตามพม่าทางเมืองกำแพงเพชรอีกทับหนึ่ง. แลให้กองพระยายมราชยกลงมาอยู่รักษาค่ายหลวงณคลองบางเข้าตอก. แต่ทับหลวงเสดจแรมอยู่คอยรับครัว, ซึ่งแตกลงมาแต่เมืองพระพิศณุโลกยอยู่สิบเบดเวน ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพฤหัศบดีเดือนหกแรมสิบสี่ค่ำ, จึ่งเสดจยาตราทับหลวงมาทางชลมารค, อยุดประทับณค่ายมั่นเมืองนครสวรรค์. จึ่งดำรัศให้ประหารชีวิตรหลวงชาติสุรินทร, ซึ่งหนีตาทับลงมาแต่กองพระยาธรรมไตรยโลกยนั้นเสีย. แล้วให้แจกกฎหมายประกาศไว้สำหรับทับทุกทับทุกกองว่า, ถ้าไพร่ตามนายมิทันให้ฆ่าเสีย. ถ้าข้าราชการตามเสดจมิทันให้ลงพระราชอาญาถึงสิ้นชีวิตร. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง, จึ่งเสดจโดยทางชลมารค, ล่องลงมาประทับแรมณพลับพลาค่ายมั่นบางแขม, จึ่งหลวงวังเมืองนครสวรรคไปสืบราชการมากราบทูลว่า, เหนพม่าตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพชรประมาณสองพันเสศ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพุทธเดือนเจ็ดขึ้นห้าค่ำ, จึ่งหมื่นชำนิคชสารมากราบทูลว่า, พม่าเผาเมืองพระพิศณุโลกยเสียสิ้น, ยังเหลืออยู่แต่วัดมหาธาตุ. จึ่งดำรัศให้กองพระยายมราชยกไปทางแม่น้ำโพฟากตวันตก. ให้กองพระยาราชสุภาวดี, ยกไปทางฟากตวันออก. ให้พระยานครสวรรค์, ยกขึ้นไปบันจบกันณวังพระธาตุข้ามพร้อมกันทีเดียว, ไปตามตีทับพม่าณเมืองกำแพงเพชร,ไปพร้อมกันตั้งค่ายอยู่ณบ้านโคน. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนเจ็ดขึ้นหกค่ำ, จึ่งเสดจยกกองทับหลวงกลับขึ้นไป, ประทับแรมณพลับพลาค่ายตวันออกเหนือปากน้ำขลุม. ให้ประหารชีวิตรขุนสุนทรนุรัตน, หมื่นสนันกับบ่าวคนหนึ่งซึ่งหนีตาทับ, ตัดศีศะเสียบไว้ณหาดทรายน่าค่ายหลวง. ขณะนั้นหลวงวังไปสืบราชการณบ้านสามเรือนมากราบทูลว่า, พม่ายกลงไปประมาณพันเสศ. จึ่งดำรัศให้ข้าหลวงไปหากองพระยานครสวรรค, ให้ถอยทับลงมาจากค่ายบ้านโคน, มาเข้าในกองทับหลวง. จึ่งพระยาสุรบดินทร,ซึ่งยกไปตามพม่าบอกลงมากราบทูลว่า, พม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพชรนั้น, ยกเลิกไปทางตวันตกสิ้นแล้ว. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนเจ็ดแรมสิบสองค่ำ, จึ่งเสดจถอยทับหลวงลงมาประทับอยู่ณเมืองนครสวรรค์. จึ่งชาวด่านเมืองอุไทยธานี, บอกลงมากราบทูลว่า, ทับพม่ายกผ่านลงมาประมาณพันเสศ, เผาค่ายที่ด่านนั้นเสีย แทงหลวงตาลำบากอยู่องคหนึ่ง, แล้วยกไปทางนารี. จึ่งดำรัศให้หลวงเสนาภักดีกองแก้วจินดายกติดตามไป. ถ้าทันเข้าจงตีให้แตกฉาน,แล้วให้ยกตามไปจนถึงเมืองไซยโยค. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนเจดขึ้นสิบสี่ค่ำ, ปีวอกอัฐศก, จึ่งเสดจยาตรานาวาทับหลวงมาโดยทางชลมารค, กลับยังกรุงธนบุรีมหานคร. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระยายมราช, พระยาราชสุภาวดี, ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณบ้านโคนนั้น, ครั้นแจ้งว่าทับพม่าณเมืองกำแพงเพชรเลิกไปแล้ว, แล้วได้แจ้งว่าทับพม่ากองหนึ่ง, ยกลงไปทางเมืองอุไทยธานี, จึ่งยกกองทับผ่านลงมาทางด่านเขาปูน, แลด่านสลักพระ, ภบกองทับพม่าได้รบกันเปนสามารถ. แลทับพม่ากองหนึ่ง, กลับยกแยกเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์, คอยรับกองทับซึ่งไปหาเสบียงอาหาร, ณแขวงเมืองเพชรบูรณ์. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนเจ็ดแรมสองค่ำ, จึ่งพระยายมราช, พระยาราชสุภาวดี, บอกข้อราชการลงมากราบทูลณกรุงธนบุรี. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้ข้าหลวงไปหาพระเจ้าหลานเธอ, กรมขุนอนุรักษสงครามเข้ามาจากเมืองเพชรบุรี. แล้วดำรัศให้พระเจ้าลูกเธอ, กรมขุนอินทรพิทักษ, ถือพลพันหนึ่งยกทับเรือหนุนขึ้นไป. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนเจดแรมสี่ค่ำ, จึ่งเสดจยาตรานาวาทับหลวงจากกรุงธนบุรีโดยทางชลมารค, ขึ้นไปประทับพลับพลาค่ายเมืองไชยนาทบุรีฟากตวันออก. แล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ, กรมขุนอินทรพิทักษ, กลับลงมารักษากรุงธนบุรี. จึ่งพระยายมราช, พระยาราชสุภาวดี, บอกลงมากราบทูลว่า, ตั้งค่ายประชิรบทับพม่า, ณด่านเมืองอุไทยธานีนั้น, ขัดสนด้วยเสบียงอาหารนัก, บัดนี้ล่าทับลงมาตั้งอยู่ณดอนไก่เถื่อน. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองหม่อมอนุรุทธเทวา, แลหลวงเสนาภักดีกองแก้วจินดาบอกลงมากราบทูลว่า, ได้ยกติดตามพม่าไปทางเมืองอุไทยธานี, ภบพม่ากองหนึ่งยกลงมาทางแขวงเมืองสรรคบุรี,ได้รบกันณบ้านเดิมบาง,นางบวช, รบกันเปนสามารถ, ทับพม่าแตกหนีลงไปทางแขวงเมืองสุพรรณบุรี. จึ่งดำรัศว่าพม่ามิได้ตามลงมาติดพันแล้ว, แล้วก็เปนเทศกาลจะได้ทำนา ให้มีตราหากองทับเมืองพิจิตร, เมืองนครสวรรค์, เมืองอุไทยธานี, ลงมายังค่ายหลวงณเมืองไชยนาทบุรีให้สิ้น. แล้วให้มีตราไปถึงพระยายมราช, พระยาราชสุภาวดี, ซึ่งตั้งทับอยู่ณดอนไก่เถื่อน. กับให้กองมอญพระยารามัญวงษยกเติมไปอีกกองหนึ่งเปนสามทับ. ให้ยกลงไปทางเมืองสุพรรณบุรี, เมืองนครไชยศรี, เมืองราชบุรี. ถ้าภบทับพม่าให้ตีจงแตก, ถ้าปะครัวเร้นซ่อนอยู่ในป่า, ก็ให้กวาด ต้อนลงไปณกรุง. แล้วดำรัศให้กองพระเจ้าหลานเธอ, กรมขุนอนุรักษสงคราม, กรมขุนรามภูเบศร, แลเจ้าพระยามหาเสนา, ให้เร่งยกขึ้นไปตีพม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทรเดือนแปดขึ้นค่ำหนึ่ง, จึ่งเสดจยกทับหลวงหนุนขึ้นไป, แล้วเสดจกลับในวันนั้น, มาลงเรือพระที่นั่งณสรรพยา, ล่องลงมาประทับแรมณบ้านงิ้ว. ครั้นณวันพุทธเดือนแปดขึ้นสามค่ำ, จึ่งเสดจยาตรานาวาทับหลวง, กลับยังกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพม่าซึ่งตั้งอยู่ณด่านเมืองอุไทยธานีนั้น, ขัดสนด้วยเสบียงอาหารนักก็เลิกกลับไป. แต่ที่เมืองนครสวรรค์นั้น, พม่าตั้งอยู่ประมาณแปดร้อยเก้าร้อย, คอยถ้าพม่าซึ่งไปเที่ยวหาเข้าณแขวงเมืองเพชรบูรณ์ยังหาเลิกไปไม่ แลกองทับพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม, แลกรมขุนรามภูเบศร, แลเจ้าพระยามหาเทพเสนา, ก็ยกเข้าตีตั้งค่ายรบติดพันกันอยู่จึ่งบอกลงมาให้กราบทูลณกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันเสาร์เดือนเก้าขึ้นสิบสองค่ำปีวอกอัฐศก. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งเสดจยกพยุหโยธานาวาทับหลวง, พร้อมด้วยพลทหารสิบเบ็ดกองจากกรุงธนบุรีไปทางชลมารค, เสดจไปประทับณพลับพลาค่ายเมืองไชยนาทบุรี. ภอกองทับพระเจ้าหลานเธอตีทับพม่าแตกหนีไปทางเมืองกำแพงเพชร, จึ่งบอกลงมากราบทูลณเมืองไชยนาทบุรี. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนเก้าแรมสองค่ำ, จึ่งดำรัศให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศร, กับเจ้าพระยาอินทรอไภยอยู่รักษาค่ายเมืองนครสวรรค แล้วเสดจยกทับหลวงไปโดยทางชลมารคถึงเมืองตาก. แลพม่าซึ่งแตกไปอยู่ในป่าดงนั้น, กองทับทั้งปวงจับมาถวายสามร้อยสามสิบเสศ. จึ่งดำรัศให้กองทับทั้งปวงติดตามพม่าไป, จนปลายด่านเมืองตาก. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนเก้าแรมเก้าค่ำ, จึ่งเสดจถอยทับหลวงกลับมาถึงบ้านรแหง, ทอดพระเนตรเหนต้นเข้า, ซึ่งพม่าทำนาไว้สั่งให้ถอนเสีย ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทรเดือนเก้าแรมสิบสามค่ำ, เสดจถึงกรุงธนบุรี. แล้วทรงพระวิตกถึงสมณ, ซึ่งขับต้อนลงมาแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือ, จึ่งให้เผดียงสมเด็จพระสังฆราชไว้ว่า, ถ้าพระสงฆ์อนุจรอารามใดขัดสนอาหาร, ก็ให้มาเบิกเอาเข้าในฉางหลวงไปถวาย. แล้วทรงพระราชสัทธาถวายสมณบริกขาร, แก่พระสงฆอาคันตุกะทั้งปวงเปนอันมาก. แลให้เลิกคนซึ่งรักษาน่าที่เชิงเทิลพระนครเสีย,ให้ไปทำนาทำไร่หากินตามภูมลำเนา. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสิบขึ้นค่ำหนึ่ง, จึ่งพระยาราชภักดี, แลพระยาพลเทพ, ซึ่งไปตามพม่าทางเมืองเพชรบูรณ์นั้น, ภบพม่าที่บ้านนายมได้รบกัน, ตีทับพม่าแตกหนีไปทางเมืองอุไทยธานี, จับเปนได้เก้าคนบอกส่งลงมาถวาย. จึ่งโปรดให้มีตราไปถึงพระยาราชภักดี, ให้ยกไปติดตามพม่าซึ่งแตกหนีไปนั้น. แต่กองพระยาพลเทพให้ยกกลับลงมาณกรุง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนสิบขึ้นสี่ค่ำ, กองพระยายมราช, พระยาราชสุภาวดี, พระยารามัญวงษ, ยกติดตามพม่าไปทางด่านสุพรรณบุรี, ได้ตามตีพม่าไปจนถึงด่านแม่ลำเมา, จับเปนได้สิบเจ็ดคน, บอกส่งลงมาถวาย. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตย์เดือนสิบขึ้นห้าค่ำ, จึ่งกองเจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรสีห, แลกองพระยาธิเบศบดี, ซึ่งยกไปตามพม่าทางเมืองศุโขไทยนั้น, จับเปนได้สิบแปดคน, กับทั้งเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก, บอกส่งลงมาถวาย. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนสิบขึ้นสิบเบ็ดค่ำ, จึ่งพระยานครสวรรค, พระยาพิไชย, ซึ่งยกติดตามพม่าไปทางด่านเมืองตาก, จับเปนได้สี่สิบเก้าคน, บอกส่งลงมาถวาย แลกองพระเจ้าหลานเธอ, กรมขุนอนุรักษสงคราม, แลเจ้าพระยามหาเสนา, บอกส่งพม่าลงมาแต่แควเมืองกำแพงเพชรสิบเบ็ดคนลงมาถวาย. จึ่งดำรัศให้มีตราหากองทับทั้งปวง, กลับลงมายังพระนครพร้อมกันแล้ว, โปรดให้เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรสีห, พระยาธรรมา คุมไพร่พลทั้งปวง, ตั้งทำนาณะทเลตมฟากตวันออกกรุงธนบุรี, แลทุ่งบางกปิ, สามเส้น. ให้พระยายมราช, พระยาราชสุภาวดีคุมไพร่ทั้งปวง, ตั้งทำนาณะทะเลตมฟากตวันตก, แลทุ่งกระทุ่มแบน, หนองบัวแขวงเมืองนครไชยศรี. ๚ะ

๏ อนึ่งในเดือนสิบนั้น, กปิตันเหล็กอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมาก, ส่งปืนนกสับเข้ามาถวายพันสี่ร้อยบอก, กับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ

๏ ถึงณวันจันทรเดือนสิบแรมสิบสองค่ำ, ปีวอกอัฐศก, เพลาบ่ายสี่โมง, นางพระยาช้างเผือกล้ม จึ่งดำรัศให้เอาศพไปฝังณวัดสามเพง, ที่ฝังสพเจ้าพระยาปราบไตรยจักรแต่ก่อนนั้น. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสิบเบ็ดขึ้นสามค่ำ, ข้าหลวงแลกรมการเมืองนครศรีธรรมราชบอกเข้ามาว่า, เจ้านราสุริยวงษผู้ครองเมืองนั้นถึงพิราไลย จึ่งทรงพระกรุณาโปรด,ให้เจ้านครกลับคืนออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชดั่งเก่า, พระราชทานเครื่องยศ, แลราชูประโภคเปนอันมาก ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระยาราชภักดี, ยกติดตามพม่าไปทางด่านเมืองอุไทยธานี, ภอฝนตกหนักน้ำนองท่วมป่าจะติดตามต่อไปลำบากนัก, จึ่งถอยทับกลับมา, แล้วบอกลงมากราบทูลณะกรุงฯว่าพม่ายกหนีไปโดยเรวยกติดตามไปมิทัน. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอกก็ทรงพระพิโรธ, จึ่งให้ตำรวจลงเรือเรวรีบขึ้นไปหากองทับพระยาราชภักดีกลับลงมายังพระนคร. แล้วดำรัศให้ปฤกษาโทษพระยาราชภักดี, แลนายทับนายกองทั้งสิบนาย, ซึ่งเปนลูกกองนั้นว่า, เกียจคร้านย่อท้อต่อราชการศึก, ให้ประหารชีวิตรเสียทั้งสิ้น. พระยาราชภักดีจึ่งกราบทูลว่า, ราชการครั้งนี้โทษผิดแต่ข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว, ด้วยข้าพระพุทธเจ้าเปนนายทับ, เมื่อแลมิได้ไปแล้ว, นายทับนายกองทั้งปวงอยู่ในบังคับก็ต้องตามบัญชาถอยมาด้วยกันทั้งสิ้น. จะขอรับพระราชอาญาตายแต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว, แลนายทับนายกองทั้งปวงนั้น, ขอพระราชทานชีวิตรไว้ให้ทำราชการแก้ตัวสืบไปพายน่า. จึ่งดำรัศว่านายทับนายกองทั้งปวงไม่ทัดทานกัน, ลงใจพร้อมกันทั้งสิ้น. ครั้นจะไว้ชีวิตรก็จะเปนเยี่ยงอย่างกันสืบไป, จงตายเสียด้วยกันทั้งสิ้นเถิด. แล้วดำรัศให้เอาตัวพระราชภักดี, แลขุนนางมีชื่อทั้งสิบนาย, ซึ่งเปนลูกกองนั้นไปประหารชีวิตรเสียสิ้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงรัตนบุระอังวะพระเจ้ามังระสวรรคต, อยู่ในราชสมบัติสิบสามปี, จิงกูจาราชบุตรได้ครองราชสมบัติสืบไปในปีวอกอัฐศก. ครั้นกองทับอแซหวุ่นกี้ยกกลับไปถึง, จึ่งเข้าเฝ้าทูลแถลงการซึ่งไปตีหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือได้ทั้งสิ้น. พระเจ้าจิงกูจาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่อแซหวุ่นกี้, แลนายทับนายกองทั้งปวง,โดยสมควรแก่ความชอบ. ครั้นอยู่มาแชลงจาผู้น้องพระเจ้าจิงกูจา, ซึ่งเปนเจ้าเมืองแชลงอยู่ก่อนนั้น, คิดกันกับอตวนหวุ่นอำมาตยเปนขบถต่อพระเจ้าจิงกูจา,ๆให้จับแชลงจา,กับอตวนหวุ่นอำมาตยประหารชีวิตรเสีย. ยังแต่อาวสามคนคือมังแวงตแคงปะดุงหนึ่ง, มังจูตแคงปคานหนึ่ง, มังโพเชียงตแคงแปงตะแลหนึ่ง, มิได้เลี้ยงเปนเจ้า, ให้แยกบ้านกันอยู่คนละบ้านไกลเมืองอังวะ. แล้วพระเจ้าจิงกูจาให้อำมลอกหวุ่น,แลต่อหวุ่น,กับพระยาอู่รามัญ, ถือพลหกพันยกไปตีเมืองเชียงใหม่อีกเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้. พระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่, ต่อรบพม่าเหลือกำลังทิ้งเมืองเสีย, ภาครอบครัวอพยพเลิกหนีลงมาอยู่เมืองสวรรคโลกย. แล้วบอกลงมาณกรุงธนบุรีกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างแผ่นดินเมืองญวนองค์เหียวหูเบือง,เปนเจ้าเมืองเว้ทำสงครามกับเมืองตังเกี๋ยเปนหลายปีมา, แลองค์เหียวหูเบืองมีบุตรชายห้าคน, ชื่อองค์ดิกมูหนึ่ง, องค์คางเบืองหนึ่ง, องค์เทิงกวางหนึ่ง, องค์เชียงชุนหนึ่ง, องค์ทางหนึ่ง. แลองค์ดิกมูบุตรผู้ใหญ่, มีบุตรชายชื่อองค์หวางตนหนึ่ง องค์คางเบืองบุตรที่สองมีบุตรชายสามคน, ชื่อองค์ยาบาหนึ่ง, องค์เชียงสือหนึ่ง, องค์มันหนึ่ง. แลองค์ดิกมู, องค์คางเบืองนั้น, ถึงแก่กำก่อนองค์เหียวหูเบืองผู้บิดา. ครั้นอยู่มาองเหียวหูเบืองเจ้าเมืองเว้ถึงพิราไลยแล้ว. จึ่งองค์กวักพอขุนนางผู้ใหญ่, เปนบิดาเลี้ยงองค์เทิงกวางได้ครองเมืองเว้, ขุนนางแลราษฎรไม่เต็มใจ. ครั้งนั้น อ้ายอยากเปนโจรป่า, อยู่ณแดนเมืองกุยเยิน, ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนจะตีเอาเมืองเว้ให้ได้, จะจับองค์เทิงกวาง,แลองค์กวักพอฆ่าเสีย จะยกองค์หวางตน, บุตรองค์ดิกมูขึ้นครองเมืองเว้. อาณาประชาราษฎรทั้งปวงเชื่อฟังยินดีด้วย, มาเข้าเกลี้ยกล่อมเปนอันมาก. แลอ้ายอยากนั้นมีน้องชายสองคน, ชื่ออ้ายบายหนึ่ง, อ้ายดามหนึ่ง, จึ่งยกไพร่พลทั้งปวงมาตีเมืองเว้ ฝ่ายองค์กลิงเกียมมหาอุปราชเมืองตั้งเกี๋ย, ได้แจ้งข่าวว่าอ้ายอยากจะยกกองทับไปตีเมืองเว้, จึ่งแต่งให้องค์กวักเหลาเปนแม่ทับ, ยกกองทับมาตีเมืองเว้ด้วย แลกองทับอ้ายอยากตีด้านหนึ่ง,ทับองค์กวักเหลาตีด้านหนึ่ง. ฝ่ายองค์เทิงกวาง องค์หวักพอ จึ่ง แต่งกองทับออกไปต่อรบครั้งหนึ่งก็แตกถอยเข้าเมือง องค์เทิงกวาง, องค์กวักพอเหนจะต่อสู้เหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย. ภาองเชียงชุนหนึ่ง, องค์ยาบาหนึ่ง, องค์เชียงสือหนึ่ง, องค์หมันหนึ่ง, หนีลงเรือแล่นมาทางท้องทเลมาอยู่ณเมืองแซ่ง่อน. แลกองทับอ้ายอยาก, แลทับเมืองตังเกี๋ยก็ตีเมืองเว้ได้. อ้ายอยากจับองค์หวางตน,บุตรองค์ดิกมูได้, มิได้ตั้งให้เปนเจ้าเมืองเว้, ภาเอาตัวไปไว้เมืองกุยเยิน. แลองค์กวักเหลาแม่ทับเมืองตั้งเกี๋ย, จับองค์ทางได้ให้จำจองไว้, แล้วเก็บทรัพย์สิ่งสีน, แลคุมเอาตัวองค์ทางเลิกทับกลับไปเมืองตั้งเกี๋ย. ๚ะ

๏ ฝ่ายองค์หวางตนไปอยู่เมืองกุยเยิน, คิดเกรงอ้ายอยากจะฆ่าเสีย, จึ่งหนีลงเรือแล่นมาอยู่ณเมืองแซ่ง่อน. แลองค์เทิงกวางจึ่งคิดอ่านกับญาติแลขุนนางทั้งปวง, จะยกองหวางตนขึ้นเปนเจ้า. จึ่งคิดจัดแจงกองทับจะยกไปตีอ้ายอยากณเมืองกุยเยิน, ยังมิทันได้ยกทับไป. ฝ่ายอ้ายอยากรู้ข่าว, ก็ยกกองทับรีบมาปล้นเมืองแซ่ง่อนแตก, จับองค์เทิงกวาง, องค์หวางตนได้ให้ประหารชีวิตรเสีย. แลองค์ยาบา,องค์หมัน,หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่า. อ้ายอยากให้พลทหารไปติดตามจับตัวไดให้ประหารชีวิตรเสีย แต่องค์เชียงสือนั้นหนีได้,ไปตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ณป่าตำบลหนึ่ง. แลองเชียงชุนนั้น, หนีมาอาไศรยพระยาราชาเสรฐีญวนณเมืองพุทไธมาศ. อ้ายอยากยกกองทับมาตีเมืองพุทไธมาศ, พระยาราชาเสรฐีญวน, กับองค์เชียงชุน,ภาบุตรภรรยาสมัคพักพวกลงเรือหนี, เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงธนบุรี. ทรงพระกรุณาให้รับไว้, แล้วพระราชทานบ้านเรือนให้อาไศรยในพระนครฟากตวันออก ๚ะ

๏ ฝ่ายองค์เชียงสือตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้เปนอันมากแล้ว, ก็ยกเข้าตีอ้ายอยากคืนเอาเมืองแซ่ง่อนได้. อ้ายอยากถอยทับไปตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่ณเมืองกุยเยิน, แล้วเปลี่ยนชื่อๆ องคไก่เซิน อ้ายบายน้องกลางเปลี่ยนชื่อๆ องคดิงเวือง. อ้ายดามน้องผู้น้อยเปลี่ยนชื่อๆ องคลองเยือง, ไปเปนเจ้าเมืองเว้. ๚ะ

๏ ฝ่ายขุนนางทั้งปวงในเมืองแซ่ง่อน, จึ่งยกองคเชียงสือขึ้นเปนเจ้าเมืองแซ่ง่อน, ตั้งซ่องสุมไพร่พลจะทำสงครามกับองคไก่เซินสืบไป. ๚ะ

๏ ฝายองค์เชียงชุนซึ่งเข้ามาอยู่ณกรุงธนบุรีนั้น, มิได้มีจิตต์สวามีภักดิ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยง, คิดการจะหนีกลับคืนไปเมืองญวน. ๚ะ

๏ ครั้นสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ, จึ่งให้จับตัวองค์เชียงชุนกับทั้งบุตรภรรยาสมักพักพวก, ประหารชีวิตรเสียทั้งสิ้นด้วยกัน. ๚ะ

๏ ในเดือนสิบสองนั้น, เจ้าพระยาพิไชยราชา, ผู้เปนเจ้าพระยาสวรรคโลกย, ลงมารับราชการอยู่ณกรุงฯแต่งผู้เถ้าผู้แก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิมพระสนมเอก, เปนบุตรีเจ้านครศรีธรรมราช, ซึ่งอยู่ในพระราชวังจะมาเลี้ยงเปนภรรยา. ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ก็ทรงพระพิโรธดำรัศว่า มันทำบังอาจจะมาเปนคู่เขยน้อย,เขยใหญ่กับกูผู้เปนพระเจ้าแผ่นดิน. จึ่งดำรัศให้เอาตัวเจ้าพระยาพิไชยราชาไปประหารชีวิตรเสีย, ตัดศีศะมาเสียบประจานไว้,ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ, อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างกันสืบไปภายน่า. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันจันทรเดือนอ้ายขึ้นแปดค่ำ, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสัทธา, เสดจไปทรงเจริญพระกรรมฐาน, ณพระอุโบสถวัดบางยี่เรือใต้, แล้วทรงพระราชอุทิศถวายเรือโขมดยาปิดทองทึบลำหนึ่ง, หลังคาบัลลังก์ดาดศรีสักลาดเหลือง, คนพายสิบคน, พระราชทานเงินตราคนละกึ่งตำลึง, แลผ้าขาวให้บวชเปนประขาวไว้สำรับพระอาราม. แล้วทรงถวายหีบปิดทองคู่หนึ่ง, สำรับใส่พระไตรยปิฎก, แลวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน. แล้วทรงตั้งพระสัตยาธิฐานว่า, เดชะผลทานบูชานี้ขอจงยังพระลักขณะปีติทั้งห้า, ให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้วอย่าได้อันตรธาน. แลพระธรรมซึ่งยังมิได้บังเกิดนั้น, ขอจงบังเกิดภิญโญภาวยิ่งๆขึ้นไป. อนึ่งขอจงเปนปัจจัยแก่พระปรมาภิเสกสมโพธิญาณ,ในอนาคตกาลภายภาคน่า, แล้วให้เชิญหีบพระไตรยปิฎกลงตั้งในบัลลังก์เรือศรีนั้น, ให้เกนเรือข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือน, แลเรือราษฎรแห่เรือหีบพระไตรยปิฎกขึ้นไปตามแม่น้ำถึงบางยี่ขัน, แล้วแห่กลับคืนเข้าไปณวัดบางยี่เรือ. เชิญหีบพระไตรยปิฎกขึ้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถดังเก่า แล้วให้พระราชาคณะ, แลเสนาบดีกำกับกันเอาเงินตราสิบชั่ง, ไปเที่ยวแจกคนโซทั่วทั้งในกรุง, นอกกรุงธนบุรีทั้งสิ้น ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันจันทรเดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ, ทรงพระกรุณาให้เชิญพระโกษฐพระอัษฐิ, สมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตยลงเรือบัลลังก์, มีเรือแห่เปนขบวนไปแต่พระตำหนักแพ แห่เข้าไปวัดบางยี่เรือไต้. แล้วเชิญพระโกษฐขึ้นสู่พระเมรุ, นิมนตพระสงฆ์สดัปกรณพันหนึ่ง, ทรงถวายไทยทานเปนอักมาก. ครบสามวันแล้วเชิญพระโกษฐลงเรือแห่กลับเข้าพระราชวัง. แลสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงสมาทานอุโบสถศีล, แล้วทรงเจริญพระกรรมฐานภาวนา, เสดจประทับแรมอยู่ณพระตำหนักวัดบางยี่เรือใต้ห้าเวน ให้เกนข้าราชการปลูกกุฎีร้อยยี่สิบหลัง. แล้วให้บุรณปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากร, แลพระอุโบสถเจดียวิหารให้บริบูรณสิ้นทั้งพระอาราม. อนึ่งที่คูรอบพระอุโบสถนั้น, ให้ชำระแผ้วถางขุดให้กว้างออกไปกว่าเก่า, ให้ปลูกบัวหลวงทั้งรอบ. แล้วให้นิมนตพระสงฆ์ฝ่ายวิปัศนาธุระมาอยู่ณกุฏีซึ่งปลูกถวาย. แล้วเกนข้าทูลลอองธุลีพระบาทให้ปฏิบัติทุกๆพระองค แล้วเสดจไปถวายพระราชโอวาทแก่พระสงฆโดยอธิบาย, ซึ่งพระองคทรงบำเพญได้ให้ต้องด้วยวิธีพระสมถะกรรมฐานภาวนา, จะได้บอกกล่าวแก่กุลบุตรเจริญในปฏิบัติสาสนาสืบไป. แล้วทรงถาปนาพระอุโบสถ, แลการบเรียญติ์,เสนาศนกุฏิณวัดหงษสำเร็จบริบูรณ ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสามแรมแปดค่ำ,กลางคืนเพลาสองยาม, เสือเข้ากินเขมรซึ่งเฝ้าสวนหลังวัดบางยี่เรือ จึ่งมีพระราชดำรัศให้พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ, แลเจ้าพระยาจักรี, พระยายมราช, กับข้าหลวงทั้งปวงออกไปล้อมจับเสือ, ให้วางยาเบื่อเสือกินเมาลงนอนอยู่, จึ่งแต่งคนเข้าไปแทงเสือนั้นตาย. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันจันทรเดือนสามแรมสิบเบ็ดค่ำ, เพลาบ่ายสามโมงเสศ บังเกิดลมพยุหใหญ่ฝนห่าใหญ่ตก, ลูกเห็บตกลงเปนอันมาก, โรงปืนแลฉนวนน้ำประจำท่าหักพังทำลายลง. แลเย่าเรือนในพระนครหักทำลายประมาณร้อยหลัง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสี่ขึ้นค่ำหนึ่ง, ทรงพระกรุณาให้หล่อปืนพระพิรุณณสวนมังคุด. ในเดือนนั้นกรมการเมืองนครราชสีมาบอกลงมาว่า, พระยานางรองคบคิดกันกับเจ้าโอ, เจ้าอิน, แลอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์, กระทำการกำเริบเปนขบถ. จึ่งมีพระราชดำรัศให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่ทับ, ยกกองทับขึ้นไปณเมืองนครราชสีมา. แล้วให้กองน่ายกไปจับตัวพระยานางรองมาได้, พิจารณาได้ความเปนสัจว่า,คิดการขบถ, จึ่งให้ประหารชีวิตรเสีย แต่เจ้าโอ,เจ้าอิน,กับอุปฮาดนั้น,ยังตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ณเมืองจำปาศักดิ์, ไพร่พลมีมากทั้งลาวทั้งข่าประมาณหมื่นเสศ. จึ่งบอกข้อราชการลงมากราบทูล. ครั้นได้ทรงทราบจึ่งดำรัศให้เจ้าพระยาสุรสีห, คุมทับหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง, ยกขึ้นไปบันจบกองทับเจ้าพระยาจักรีแม่ทับใหญ่ณเมืองนครราชสีมา. เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรสีห, ก็ยกกองทับออกไปตีเมืองจำปาศักดิ์, เมืองโขง, เมืองอัตปือได้ทั้งสามเมือง. จับตัวเจ้าโอ,เจ้าอิน,แลอุปฮาดได้,ให้ประหารชีวิตรเสีย. แล้วตั้งเกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดงเมืองตลุง, เมืองสุรินท, เมืองสังข, เมืองขุขัน, มาเข้าสวามีภักดิ์ทั้งสี่เมือง, ไพร่พลมากประมาณสามหมื่น. จึ่งบอกข้อราชการลงมากราบทูล. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ, ดำรัศให้มีตราหากองทับกลับยังกรุงธนบุรี. เจ้าพระยาทั้งสองก็เลิกกองทับกลับมาถึงพระนคร. ๚ะ

๏ ในเดือนหกปีรกานพศก, ศักราช ๑๑๓๙ ปี. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จเจ้าพระยาจักรี, ตั้งให้เปนสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, พิฦกมหิมาทุกนัคราระอาเดชนเรศวรราชสุริยวงษ์องอัคบาทมุลิกากรบวรรัตนบรินายก, ณกรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา. แล้วพระราชทานพานทองเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม, ใหญ่ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวง. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพฤศบดีเดือนเจ็ดแรมแปดค่ำปีรกานพศก, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวเข้าทรงนั่งสมาธิ, ให้โต๊ะแขกดูประมาณห้าบาท. ออกจากที่ทรงนั่งแล้ว, ตรัสถามโต๊ะแขกว่า, เหนเปนประการใด. โต๊ะแขกกราบทุลว่า, ซึ่งทรงนั่งสมาธิอย่างนี้, อาจาริยซึ่งได้เล่าเรียนมาแต่ก่อน, จะได้ภบเหนเสมอพระองค์ดังนี้หามิได้. ๚ะ

๏ ถึงณวันพุทธเดือนเจ็ดแรมสิบสี่ค่ำเพลาเช้า, จึ่งสมเดจพระสังฆราช, พระราชาคณะทั้งปวง, เข้ามาถวายพระบาฬีวิธี, ซึ่งเข้านั่งภาวนาสมาธิกรรมฐาน. แลโต๊ะริด,โต๊ะทอง,โต๊ะนก,แขกสามคน, ก็เอาหนังสือแขกซึ่งนั่งรักษาสมาธิจิตรเข้ามาอ่านถวาย. ๚ะ

๏ ในวันนั้นมีหนังสือบอกเมืองนครศรีธรรมราช, ส่งเข้ามากราบทูลว่า, เมืองตานีแขงเมืองอยู่มิได้อ่อนน้อม, ถึงปีน่าเจ้านครจะขอยกกองทับออกไปตี. จึ่งมีพระราชดำรัศว่า, มีราชการศึกพม่ายกกองทับมาตีเมืองเชียงใหม่, พระยาเชียงใหม่เลิกครัวอพยพลงมาตั้งอยู่ณเมืองสวรรคโลกย, ยังมิได้ทันจัดกองทับขึ้นไปตีทับพม่าณเมืองเชียงใหม่, พม่าเลิกทับกลับไปเองโดยเร็ว. ด้วยฦๅข่าวมาว่า,มีศึกกระแซยกมาตีเมืองอังวะ, ทั้งทับห้อก็ยกมาด้วย, จะตีเปนศึกขนาบ. เราคิดจะให้ราชทูตออกไปแจ้งราชกิจแก่พระเจ้ากรุงปกิ่งว่า, จะยกกองทับขึ้นไปช่วยตีเมืองอังวะ, ด้วยราชการสงครามยังติดพันกันมากอยู่, ให้เจ้านครรอทับไว้อย่าเพ่ออยกไปตีเมืองแขกก่อนเลย. ต่อเมื่อใดราชการข้างกรุงเทพมหานครสงบแล้ว, จึ่งจะให้มีตรากำหนดการออกไปให้กองทับเมืองนครศรีธรรมราช, ยกออกไปตีเมืองตานีเมื่อนั้น. ๚ะ

๏ แล้วตรัสประภาษถึงเรื่องพระกรรมฐานกับพระราชาคณะว่า, พระนาภีของพระองค์นั้นแขงไป, กระแหมบมิเข้า, ผิดกับสามัญสัตวโลกยทั้งปวงเปนอัษจรรย. แล้วดำรัศถามพระราชาคณะด้วยพระรูปแลพระลักขณว่า, ทรงส่องพระฉายดูเหนพระกายเปนบริมณฑลฉนี้, จะต้องด้วยพระบาฬีประการใดบ้าง. พระราชาคณะถวายพระพรว่า, พระบาฬีพระพุทธลักขณะนั้นว่า, สมเดจพระสัพพัญูมีพระกายเปนบริมณฑล, ดุจบริมณฑลแห่งต้นไทร, มิได้สูงต่ำยาวสั้น. แลพระกายซึ่งสูงนั้นวัดเท่ากับวาของพระองค์. อนึ่งมีมังษที่หนานั้นเจ็ดแห่ง, คือหลังพระหัถซ้ายขวา, หลังพระบาทซ้ายขวา, พระอังษาทั้งสองซ้ายขวา, กับลำพระสอเปนเจ็ดแห่งด้วยกัน. จึ่งทรงพระกรุณาสั่งให้ช่างหล่อๆพระพุทธรูป, ให้ต้องด้วยพระพุทธลักขณจงพร้อมบริบูรณทุกประการ. ให้สมเดจพระสังฆราช, เอาพระบาฬีพระพุทธลักขณออกบรรยายให้ช่างทำ. สมเดจพระสังฆราช,จึ่งแปลพระบาฬีพระพุทธลักขณถวายว่า, พระทวดึงษมหาบุรุษลักษณใหญ่นั้น, สามสิบสองประการ, คือพระลักขณอย่างนั้นๆ. แลพระอสิตยานุพยัญชน,พระลักขณน้อยนั้น,แปดสิบประการ, คืออย่างนั้นๆ. จึ่งส่องพระฉายทอดพระเนตรดู พระลักขณในพระองค์สอบกับพระบาฬี, เหนต้องด้วยพระพุทธลักขณ, คือพระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์ประการหนึ่ง. มีเส้นพระอุณาโลม, อยู่ที่หว่างพระขนงประการหนึ่ง มีพระอุทรเวียนเปนทักษิณวัฎประการหนึ่ง. มีพื้นพระปฤษฎางคเสมอประการหนึ่ง. มีพระมังษที่น่าพร้อมทั้งเจ็ดแห่งประการหนึ่ง. มีพระปรางอิ่มมิได้บกพร่องประการหนึ่ง. แล้วให้สมเดจพระสังฆราช, อ่านพระบาลีสอบกับพระลักขณในพระองคไปทุกๆลักขณ ต้องพระพุทธลักขณสิบสองประการ, สิ่งที่ไม่ต้องนั้นก็ตรัสบอกว่าไม่ต้อง. ๚ะ

๏ ในเพลานั้นพระมหาอำมาตย, ทูลเบิกพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ลงมาเฝ้า. จึ่งดำรัศว่าพม่ามันเลิกทับกลับไปเมือง,ๆมันมีศึกอยู่แล้ว, พระยาวิเชียรปราการจะภาครอบครัวกลับไปเมืองเชียงใหม่ก็ไปเถิด ๚ะ

๏ แล้วทรงพระกรุณาให้หลวงวิจิตรนฤมล, ปั้นประพุทธรูปให้ต้องด้วยพระพุทธลักขณ, พระสมาธิองค์หนึ่ง, ยืนองค์หนึ่ง, เปนสองพระองค์, จะให้ช่างหล่อด้วยทองสำริด. แล้วดำรัศนิมนตพระเทพกระวี, ให้ออกไปกรุงกัมพูชาธิบดี. ให้พระพรหมมุนีออกไปเมืองนครศรีธรรมราช, ค้นพระคำภีรพระวิสุทธิมัคนำเข้ามาเปนฉบับสร้างไว้ในกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ อนึ่งพระอาลักษณนั้นกราบทูลถวายบังคมลาออกบวช, ครั้นบวชแล้วทรงตั้งให้เปนพระรัตนมุนีที่วิเสศ, ตามนามเดิมชื่อแก้ว. อนึ่งดำรัศสั่งปลัดวังให้หาชาวตลาดเรือตลาดบกเข้ามา,ทรงพระกรุณาตรัสทำนายว่า, หญิงคนนั้นกับสามีคนนั้น, จะอยู่ด้วยกันยืน, ผัวเมียคู่นั้นจะอยู่ด้วยกันไม่ยืด, หญิงคนนั้นราคกล้า, ยินดีในกามคุณมาก. หญิงคนนั้นราคเบาบาง,รักแต่ทรัพย์สีน. หญิงคนนั้นใจบาป. หญิงคนนั้นใจบุญ,ภอใจทำการกุศล, ทรงทายชาวตลาดทุกๆคน. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก, จึ่งพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษสงคราม, ซึ่งออกไปรักษาเมืองเพชรบุรี, กับพระยาทุกราษฎ์กรมการ, แลพระกุย, พระปรานบอกส่งคน, บ่าวข้าราชการซึ่งลามุลนายไปหากิน, แลหนีออกไปทั้งครอบครัวก็มีเปนอันมาก, ส่งเข้ามายังกรุงธนบุรี. ทรงพระกรุณาให้ส่งให้แก่เจ้าหมู่, มุลนายทั้งปวงตามหมู่ตามกรม. ๚ะ

๏ ในปีจอนั้นฝ่ายข้างกรุงศรีสัตนาคนหุต, พระวอผู้หนึ่งเปนอุปฮาด, มีความพิโรธขัดเคืองกันกับพระเจ้าล้านช้าง จึ่งภาสมักพักพวกออกจากเมือง, มาตั้งอยู่ณหนองบัวลำภู, ซ่องสุมผู้คนได้มากจึ่งสร้างขึ้นเปนเมืองตั้งค่ายเสาไม้แก่น. ให้ชื่อเมืองจัมปานครแขวางกาบแก้วบัวบาน. แล้วแขงเมืองต่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต,แต่งกองทับให้ยกมาตี. พระวอก็ต่อรบตีทับล้านช้างแตกกลับไป. แล้วพระวอแต่งให้ขุนนางนำเครื่องราชบรรณาการขึ้นไปตีเมืองอังวะ, ขอกองทับพม่าลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต. พระเจ้าอังวะให้แมงละแงเปนแม่ทับถือพลสี่พัน, ยกลงมาจะตีกรุงศรีสัตนาคนหุต. ทับพม่ามาถึงกลางทาง, พระเจ้าล้านช้างได้ทราบข่าวศึก, จึ่งแต่งท้าวเพลี้ยให้นำเครื่องบรรณาการไปให้แก่แม่ทับพม่า, ขอขึ้นแก่กรุงอังวะ, ให้กองทับยกไปตีพระวอณเมืองหนองบัวลำภู, ซึ่งเปนขบถแก่กรุงศรีสัตนาคนหุต. แล้วนำทับพม่ามาพักพลณเมืองล้านช้าง, พระเจ้าล้านช้างแต่งต้อนรับแม่ทับพม่า, แล้วจัดแจงกองทับเข้าบันจบทับพม่า. แมงละแงแม่ทับก็ยกทับพม่าทับลาว,ไปตีเมืองหนองบัวลำภู. พระวอต่อสู้เหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย, ภาครอบครัวอพยพแตกหนี, ไปตั้งอยู่ตำบลดอนมดแดง, เหนือเมืองจำปาศักดิ์. แล้วแต่งท้าวเพลี้ยถือศุภอักษร, แลเครื่องบรรณาการมาถึงพระยานครราชสีมา, ขอเปนเมืองขึ้นข้าขอบขันธสีมากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา, เอาพระเดชานุภาพสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวเปนที่พึ่งพำนักสืบไป. พระยานครราชสีมาก็บอกส่งทูตแลศุภอักษร, เครื่องบรรณาการลงมายังกรุงธนบูรี สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานสิ่งของตอบแทนไปแก่พระวอ, แล้วโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ณดอนมดแดงนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพม่าตีได้เมืองหนองบัวลำภูแล้ว,ก็เลิกทับกลับไปเมืองล้านช้าง. พระเจ้าล้านช้างก็ให้บำเหน็จรางวัลแก่แมงละแงแม่ทับ, กับทั้งเครื่องราชบรรณาการส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าอังวะ. แล้วทูลถวายเครื่องราชบรรณา, ซึ่งพระเจ้าล้านช้างส่งมาถวาย, แลขอเปนเมืองขึ้นเขตรขันธสีมากรุงรัตนบุระอังวะนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบว่า, พระวอยกลงไปตั้งเมืองอยู่ณดอนมดแดง, จึ่งแต่งให้พระยาสุโภเปนนายทับ,ยกพลทหารลงมาตีเมืองดอนมดแดง, จับตัวพระวอได้, ให้ประหารชีวิตรเสีย, แล้วก็เลิกกองทับกลับไปเมืองล้านช้าง. ๚ะ

๏ ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอแล้วท้าวเพลี้ยทั้งปวง, จึ่งบอกหนังสือมาถึงพระยานครราชสีมาว่า, กองทับเมืองล้านช้าง, ยกมาตีเมืองดอนมดแดงแตกฆ่าพระวอเสีย. ข้าพเจ้าทั้งปวงมีกำลังน้อยสู้รบตอบแทนมิได้, จะขอทับกรุงเทพมหานครยกไปตีเมืองล้านช้างแก้แค้น. พระยานครราชสีมาก็บอกลงมายังกรุงธนบุรี, กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระพิโรธดำรัสว่า, พระวอเปนข้าขอบขันสีมาเมืองเรา, แลพระยาล้านช้างมิได้ยำเกรงทำบังอาจ, มาตีบ้านเมือง, แลฆ่าพระวอเสียฉนี้. ควรเราจะยกกองทับไปตีเมืองล้านช้าง, ให้ยับเยินตอบแทนแก้แค้นให้จงได้. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณเดือนอ้ายปีจอสัมฤทธิศก, จึ่งมีพระราชดำรัศให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกเปนแม่ทับ, กับเจ้าพระยาสุรสีห, แลท้าวพระยามุขมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อย, ทั้งในกรุงแลหัวเมืองเปนอันมาก, พลทหารสองหมื่น, สรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธพร้อมเสรจ, ให้ยกกองทับไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต, คือเมืองล้านช้าง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันได้มหามหุติพิไชยฤกษ, จึ่งสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก, แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลา, ยกกองทับขึ้นไปชุมพลอยู่ณเมืองนครราชสีมา, สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก, จึ่งให้เจ้าพระยาสุรสีหผู้น้อง, แยกทับลงไปณเมืองกัมภูชาธิบดี. ให้เกนพลเมืองเขมรหมื่นหนึ่ง, ต่อเรือรบเรือไล่ให้จงมาก. แล้วให้ขุดคลองอ้อมเขาลี่ผี, ยกทับเรือขึ้นไปตามลำแม่น้ำของ, ไปบันจบทับบกพร้อมกันณะเมืองล้านช้าง. เจ้าพระยาสุรสีห,ก็ยกกองทับแยกลงไปณเมืองกัมพูชา,เกนพลเขมรต่อเรือรบ, ตามบัญชาสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึกบังคับนั้น. ๚ะ

๏ ส่วนสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึกแม่ทับใหญ่, ก็ยกกองทับบกจากเมืองนครราชสีมา, เดินทับไปถึงแดนเมืองล้านช้าง. ให้กองน่ายกล่วงไปก่อน, ตีหัวเมืองรายทางได้เปนหลายตำบล, ทับใหญ่ก็ยกติดตามไปภายหลัง. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีหครั้นต่อเรือรบเสร็จแล้ว, ก็เกนพลเขมรแลลาวทั้งปวงขุดคลองอ้อมเขาลี่ผี, ซึ่งตั้งขวางแม่น้ำอยู่ใต้เมืองโขงนั้น. แล้วยกทับเรือขึ้นมาทางคลองขุด, มาณเมืองจำปาศักดิ์. แล้วยกขึ้นมาตีเมืองนครพนม,แลเมืองหนองคาย, ซึ่งขึ้นแก่เมืองล้านช้างได้ทั้งสองตำบล. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบว่า, กองทับไทยมาตีเมือง จึ่งแต่งแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวง,ให้ยกกองทับมาต่อรบต้านทานเปนหลายทับหลายตำบล, ได้รบกันเปนสามารถ. พลทหารลาวสู้รบต้านทานมิได้, ก็แตกฉานพ่ายหนีไปเปนหลายครั้งหลายแห่ง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระเจ้าร่มขาวเจ้าเมืองหลวงพระบาง, เปนอริอยู่กับเจ้าเมืองล้านช้าง. ด้วยเมืองล้านช้างไปเอากองทับพม่ามาตีเมืองหลวงพระบางแต่ก่อนนั้น. ครั้นได้ทราบว่ากองทับไทยมาตีเมืองล้านช้าง, ก็มีความยินดีนัก. จึ่งแต่งขุนนางให้ยกกองทับลงมาช่วยตีเมืองล้านช้าง, แล้วขอเปนเมืองขึ้นพระมหานครศรีอยุทธยา. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก,จึ่งให้กองพระยาเพชรบูร, กำกับทับเมืองหลวงพระบาง, เข้าตีเมืองด้านข้างเหนือเมือง. แล้วยกทับใหญ่ไปตีเมืองพะโค, แลเวียงคุก, ตั้งค่ายล้อมไว้ทั้งสองเมือง. เจ้าเมืองขับพลทหารต่อรบเปนสามารถ, จะเข้าหักเอาเมืองยังมิได้. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีหเข้าตั้งอยู่ณเมืองหนองคาย, ให้ตัดศีศะลาวชาวเมืองเปนอันมาก, เอาศีศะลงใส่ในเรือ, แล้วให้หญิงลาวคอนเรือขึ้นไป, ให้ร้องขายศีศะลาวที่น่าเมืองพะโค. ชาวเมืองเหนก็มีใจทดท้อย่ออย่อนลง. ทับใหญ่ก็เข้าหักเอาเมืองพะโค,แลเวียงคุกได้ทั้งสองเมือง. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึกจึ่งให้ยกทับใหญ่มาตีเมืองพานพร้าว, ซึ่งตั้งอยู่ฟากฝั่งตวันตกทรงน่าเมืองล้านช้างข้าม. ชาวเมืองต่อรบเปนสามารถ, พลทหารไทยเข้าปีนปล้นเอาเมืองได้, ฆ่าลาวล้มตายเปนอันมาก. แล้วให้ทับเรือรับกองทับทั้งปวง, ข้ามไปฟากตวันออกพร้อมกันเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองล้านช้าง. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ก็เกนพลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทิลรอบเมือง, ป้องกันเมืองเปนสามารถ. แล้วให้เจ้านันทเสนราชบุตร, ขี่ช้างพลายคำเพียงอกสูงหกศอกสามนิ้ว, คุมพลทหารยกออกจากเมือง, มาตีทับไทยซึ่งตั้งค่ายล้อมอยู่ด้านข้างท้ายเมืองนั้น. พลทหารไทยยกออกตีทับเจ้านันทเสนแตกพ่ายกลับเข้าเมือง, พลลาวล้มตายเปนอันมาก. แต่รบกันอยู่ถึงสี่เดือนเสศ, พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเหนเหลือกำลัง, จะต่อรบต้านทานทับไทยมิได้ก็ทิ้งเมืองเสีย, ภาเจ้าอินท, เจ้าพรมราชบุตร, แลข้าหลวงคนสนิทลอบลงเรือหนีไปณเมืองคำเกิด, อันเปนเมืองขึ้นแก่เมืองล้านช้าง. กองทับไทยก็เข้าเมืองได้, จับได้ตัวเจ้าอุปฮาด, เจ้านันทเสน, แลราชบุตรีวงษานุวงษชแม่สนมกำนัล, แลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง, กับทั้งทรัพย์สิ่งสีนแลเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเปนอันมาก. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก,ให้กวาดขนข้ามมาไว้ณเมืองพานพร้าวฟากตวันตก, กับทั้งครอบครัวลาวชาวเมืองทั้งปวง. แล้วให้อัญเชิญพระพุทธปติมากรแก้วมรกฏ, แลพระบาง, ซึ่งสถิตยอยู่ณพระวิหารในวังพระเจ้าล้านช้างนั้น, อาราธนาลงเรือข้ามฟากมาประดิษฐานไว้ณเมืองพานพร้าวด้วย. แล้วให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ณเมืองพานพร้าวอารามหนึ่ง, แลแต่งให้ขุนนางไทยลาว, ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวทั้งปวงฝ่ายตวันออกได้สิ้น. แล้วแต่งหนังสือบอกให้ขุนหมื่นมีชื่อถือลงมายังกรุงธนบุรี, กราบทูลข้อราชการซึ่งตีกรุงศรีสัตนาคนหุตได้สำเร็จแล้ว, ได้ทั้งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฏ, แต่พระเจ้าล้านช้างนั้นหนีไป,ไม่ได้ตัว. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบในหนังสือบอก, ก็ทรงพระโสมนัศ, ดำรัศให้มีตราหากองทับกลับยังพระมหานคร. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึกได้ทราบในท้องตราแล้ว, จึ่งจัดแจงบ้านเมืองตั้งให้พระยาสุโภ, ขุนนางเมืองล้านช้างให้อยู่รั้งเมือง แล้วก็กวาดครอบครัวลาวชาวเมือง, กับทั้งพระราชบุตรธิดาวงษานุวงษ, แลขุนนางท้าวเพลี้ยทั้งปวง, กับทรัพย์สิ่งของเครื่องสาตราวุธ, แล้วช้างม้าเปนอันมาก. แลเชิญพระพุทธปฏิมากร, พระแก้ว, พระบางขึ้นรถ, เลิกทับกลับยังกรุงธนบุรีโดยพระราชกำหนด. แลกองทับมาถึงเมืองสระบุรี, ในเดือนยี่ปีกุนเอกศก,ลุศักราช ๑๑๔๑ ปี. จึ่งบอกลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งมีพระราชดำรัศ,ให้นิมนต์สมเดจพระสังฆราช,พระราชาคณะทั้งปวง,ให้ขึ้นไปรับพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎถึงเมืองสรบุรี. แล้วให้แต่งเรือกิ่ง,เรือไชยขึ้นไปรับพระพุทธรูปด้วย. ครั้นพระมาถึงตำบลบางธรณี, จึ่งเสดจพระราชดำเนินขึ้นไปโดยทางชลมารค, พร้อมด้วยขบวรนาวาพยุหแห่ลงมากราบเท่าถึงพระนคร. แล้วให้ปลูกโรงรับเสดจพระพุทธปฏิมากรพระแก้ว, พระบาง, อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ณโรงริมพระอุโบสถวัดแจ้งภายในพระราชวัง, ตั้งเครื่องสักการบูชาอันมโหฬาราธิการโดยยิ่ง. แล้วมีงานมโหรสพถวายพระพุทธสมโพชครบสามวัน แล้วพระราชทานบำเหน็จรางวัล, แก่สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, แล้วท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวงโดยสมควรแก่ความชอบในราชการสงครามนั้น. ๚ะ

๏ ในปีกุนเอกศกนั้น, มหาดาบวชอยู่ณวัดพระรามกรุงเก่า, ประพฤติการทุจริตมิได้ตั้งอยู่ในศีลสังวรวินัย, ประกอบการโกหกแจกน้ำมนต์รดประชาชนทั้งปวง, ฬ่อลวงให้เชื่อถือว่า, เปนผู้มีบุญ, ผู้คนเข้าด้วยเปนอันมาก. แล้วคิดกำเริบเปนขบถต่อแผ่นดิน, ตั้งแต่งชาวชนบถเปนขุนนางทุกตำแน่ง, ยังขาดอยู่แต่ที่พระยายมราช. จึ่งผู้รักษากรุงกรมการบอกลงมากราบทูลพระกรุณา. ๚ะ

๏ ครั้นได้ทรงทราบจึ่งโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปจับตัวมหาดา, กับทั้งสมัคพัคพวกทั้งสิ้นเอาลงมายังกรุงธนบุรี,ให้มหาดาผลัดผ้าขาวศึก, แล้วลงพระราชอาญาสิ้นทั้งพัคพวกแล้วจำครบไว้. ครั้นได้ทรงทราบว่า,อ้ายดาผู้คิดมิชอบตั้งแต่งพัคพวกเปนขุนนางครบตามตำแหน่ง, ยังขาดอยู่แต่ที่พระยายมราช. ขณะนั้นพระยายมราชแขก,เปนโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ในเรือนจำ. จึ่งดำรัศว่าที่พระยายมราชของมันยังมิได้ตั้งขาดอยู่,ให้เอาพระยายมราชของเราไปใส่ให้มัน,จงครบตำแหน่งขุนนาง. แล้วให้เอาพระยายมราชแลอ้ายดาขบถ, กับทั้งสมักพักพวกทั้งปวง, ซึ่งตั้งแต่งเปนขุนนางนั้น,ไปประหารชีวิตรเสียที่น่าป้อมวิไชยประสิทธิ์, ตัดศีศะเสียบไว้ทั้งสิ้น. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๒ ปีขานโทศก, ทรงพระกรุณาให้พระยาคำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา, ลงมารับราชการอยู่ณกรุงธนบุรี จึ่งโปรดให้หลวงนายฤทธิ์,ผู้หลานสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, เปนพระยาสุริยอไภยขึ้นไปครองเมืองนครราชสีมาแทน. ให้นายจ่าเรศผู้น้อง, เปนพระอไภยสุรียาปลัดเมือง. แล้วให้นายพลพันน้องผู้น้อย, เปนหลวงนายฤทธิ์, รับราชการสืบไป. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนห้าขึ้นสิบสี่ค่ำ, มีผู้เปนโจทยมาฟ้องหลายคน, ยกข้ออธิกรณพระพิมลธรรมวัดโพธาราม, ด้วยข้ออทินนาทานปาราชิก. ยกอธิกรณพระธรรมโคดม, พระอไภยสารท วัดหงษ, แลพระพรหมมุนีวัดบางยี่เรือ, ด้วยข้อเมถุนปราชิกกับสิษโดยทางเว็จมัค. พระยาพระเสดจกราบทูลพระกรุณา, ดำรัศสั่งให้ชำระคดีพระราชาคณะทั้งสี่องค์ได้ความเปนสัจ, จึ่งให้ศึกเสีย. แต่พระธรรมโคดม, แลพระอไภยสารทนั้น, กลับบวชเข้าเปนเถร. แลนายอินพิมลธรรม, โปรดตั้งให้เปนหลวงธรรมรักษา, เจ้ากรมสังฆการีขวา นายอินพรหมมุนี,โปรดตั้งให้เปนหลวงธรรมาธิบดี, เจ้ากรมสังฆการีซ้าย. พระราชทานภรรยาหลวงราชมนตรีผู้ถึงแก่กรรม, ให้เปนภรรยาทั้งสองคน. แล้วโปรดให้พระธรรมเจดียวัดนาค,เลื่อนเปนพระพิมลธรรมมาอยู่ครองวัดโพธารามสืบไป. แล้วโปรดให้พระญาณสมโพธิวัดสลัก, เลื่อนเปนพระธรรมเจดีย. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพฤหัศบดีเดือนห้าแรมแปดค่ำเพลาบ่าย, บังเกิดธุมชาถในอากาศ, แลมหาวาตพยุหใหญ่พัดมาแต่บุรพทิศ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนเจ็ดขึ้นสิบห้าค่ำ, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องใหญ่. ครั้นเสรจแล้วทรงส่องพระฉายทอดพระเนตรเหนพระเกษาเหนือพระกรรณเบื้องซ้ายยังเหลืออยู่เส้นหนึ่ง, ก็ทรงพระพิโรธเจ้าพนักงานเชาพระมาลาภูษาซึ่งทรงเครื่องนั้นว่า, แกล้งทำประจานพระองค์เล่น. จึ่งดำรัศถามพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ว่า, โทษคนเหล่านี้จะเปนประการใด. กรมขุนอินทรพิทักษกราบทูลว่า, เหนจะไม่ทันพิจารณา, พระเกศาจึ่งหลงเหลืออยู่เส้นหนึ่ง, ซึ่งจะแกล้งทำประจานพระองค์เล่นนั้น, เหนจะไม่เปนๆแท้. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธพระเจ้าลูกเธอเปนกำลัง, ดำรัศว่ามันเข้ากับผู้ผิดกล่าวแก้กัน, แกล้งให้เขากระทำประจานพ่อดูเล่นได้ไม่เจบแค้นด้วย. จึ่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ร้อยทีแล้วจำไว้, ให้เอาตัวชาวพระมาลาภูษาซึ่งทรงเครื่องทั้งสองคน, กับทั้งพระยาอุทัยธรรมจางวางว่า, ไม่ดูแลตรวจตรากำกับ, เอาไปประหารชีวิตรเสียทั้งสามคน. ๚ะ

๏ ถึงณวันศุกรเดือนเจดแรมหกค่ำ, ดำรัดสั่งให้รื้อตำหนักพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ, แล้วริบเครื่องยศให้ถอดเสียจากยศ. ครั้นนานมาหายพระพิโรธแล้ว,จึ่งโปรดให้พ้นโทษ,พระราชทานเครื่องยศ,แล้วให้คงยศดั่งเก่า ภอพระชันษาครบอุปสมบท, จึ่งโปรดให้ออกมาทรงผนวชอยู่ณวัดหงษ. ๚ะ

๏ ในปีชวดโทศกนั้น, ฝ่ายข้างกัมพุชประเทศเกิดจราจล, เปนเหตุด้วยเจ้าฟ้าทลหะหมู, กับพระยากลาโหมชู, พระยาเดโชแทน, พระยาแสนท้องฟ้าพาง, สี่คนคบคิดกันเปนขบถ,คุมสมัคพัคพวกเข้าจับนักพระองครามาธิบดีเจ้ากัมพูชา, ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองพุทไธเพชรนั้นฆ่าเสีย. แล้วไปรับเอาราชบุตรธิดานักพระองคตน, ผู้เปนพระอุไทยราชา, ซึ่งถึงพิราไลยนั้นมาเมืองบาพนม, คือพระองคเอง, พระองคมินชายสอง, พระองคอี, พระองคเภาหญิงสอง. เชิญมาไว้ณเมืองพุทไธเพชรแล้ว, เจ้าฟ้าทลหะตั้งตัวเปนเจ้ามหาอุปราช. พระยากลาโหมเปนสมเดจเจ้าพระยา, พระยาเดโชเปนพระองคพระยา, พระยาแสนท้องฟ้าเปนพระยาจักรี, นั่งเมืองรักษาเจ้าทั้งสี่องคว่าราชการแผ่นดิน. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยายมราช, แลพระยาพระเขมรทั้งปวง, ซึ่งเปนข้านักองคพระรามาธิบดีนั้น, จึ่งภากันหนีเข้ามาณเมืองปัตบอง. แล้วบอกข้อราชการซึ่งบ้านเมืองเกิดจราจลนั้น, เข้ามายังกรุงธนบุรีในเดือนยี่ปีชวดโทศก, กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ สมเดจพระเจ้าอยู่หัว, จึ่งมีพระราชดำรัศให้สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, เปนแม่ทับใหญ่ถืออาชญาสิทธิ์. ให้เจ้าพระยาสุรสีหเปนทับน่า. แล้วให้พระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษลาผนวช, โปรดให้ยกกองทับกับพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมาเก่า, เปนเกียกกายกองหนุน. พระยานครสวรรค์,เปนยกกรบัตรทับ. พระเจ้าหลานเธอกรมขุนรามภูเบศร, เปนกองหลัง พระยาธรรมา, เปนกองลำเลียง. ทั้งหกทับเปนคนหมื่นหนึ่งยกไปตีเมืองพุทไธยเพชร จับเจ้าฟ้าทลหะ,แลขุนนางพัคพวกซึ่งเปนขบถนั้นฆ่าเสียให้สิ้น,ปราบปรามแผ่นดินให้ราบคาบแล้ว,ให้สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, ตั้งพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ, อยู่ครองเมืองกัมพูชาธิบดีสืบไป. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันได้มหาพิไชยนักขัตรฤกษ, จึ่งพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค, แลสมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึก, กับท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลายกขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมา, แล้วเดินทับไปณกัมพุชประเทศ. สมเดจเจ้าพระยามหากระษัตริยศึกไปตั้งทับใหญ่อยู่ณเมืองนครเสียมราบ, ให้กองทับเจ้าพระยาสุรสีหยกไปทางเมืองปัตบอง,ฟากทเลสาบข้างตวันตก เอากองทับเขมรพระยายมราช, แลพระยาเขมรทั้งปวง, ยกออกไปตีเมืองพุทไธยเพชร. ทับพระเจ้าลูกเธอกรมขุนอินทรพิทักษ, แลพระยากำแหงสงครามก็ยกหนุนออกไป. แลให้ทับพระเจ้หลานเธอกรมขุนรามภูเบศร, แลทับพระยาธรรมายกไปทางฟากทเลสาบฝ่ายตวันออก, ไปตั้งทับอยู่ณเมืองกำพงสวาย. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าฟ้าทลหะซึ่งตั้งตัวเปนเจ้าฟ้ามหาอุปราช, แลสมเดจเจ้าพระยารู้ว่า, กองทับไทยยกออกมามากตกใจกลัว, มิได้ตั้งอยู่สู้รบ, ภาครอบครัวหนีลงไปอยู่ณเมืองพนมเพ็ญ, แล้วบอกลงไปขอกองทับญวนเมืองแซ่ง่อนมาช่วย. ทับญวนก็ยกทับเรือมาณเมืองพนมเพ็ญ. กองทับเจ้าพระยาสุรสีหก็ยกตามลงไปณเมืองพนมเพ็ญ, ตั้งค่ายรอกันอยู่ยังมิได้รบกัน. กองทับพระเจ้าลูกเธอก็ยกหนุนลงไป, ตั้งอยู่ณเมืองพุทไธยเพชร. ๚ะ

๏ ฝ่ายราชการแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่างๆ, เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสติ, พระจริตนั้นก็ฟั่นเฟือนไป. ฝ่ายพระพุทธจักร,แลอาณาจักรทั้งปวงเล่า, ก็แปรปรวนวิปริต,มิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน. ๚ะ

๏ ครั้นลุศักราช ๑๑๓๓ ปีฉลูตรีศก ทรงพระกรุณาให้แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสน์, คุมเครื่องราชบรรณาการลงสำเภาออกไปณเมืองจีน, เหมือนตามเคยมาแต่ก่อน แลปีนั้นโปรดให้หลวงนายฤทธิ์, เปนอุปทูตออกไปด้วย. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๓ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ