๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตยเดือนแปดแรมสองค่ำ, ก็ยกทัพหลวงมาตั้งประตูข้างดอนแหลม, แล้วก็เร่งแต่งการให้เข้าปล้นเมืองนั้นเปนสามารถ. ชาวเมืองยิงปืนไฟพุ่งสาตราวุธมาต้องพลหลวงป่วยเจบล้มตายเปนอันมาก, จะปีนกำแพงขึ้นมิได้. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าก็ตรัสให้ลงโทษขุนอินทรเดช, ผู้เปนยกระบัตรอันบังคับต้อนพลเข้าปล้นเมือง, แลนายทัพนายกองทั้งหลายนั้น ให้มัดทะเวนรอบทัพ. จึ่งขุนอินทรเดช, แลข้าหลวงทั้งปวงถวายทานบนว่า, จะขอเข้าปล้นเมืองให้จงได้. พระยาไชยบูรณบังคมทูลว่า, ซึ่งมิได้ตั้งค่ายประชิ, แลจะปีนปล้นเอาเมืองดั่งนี้, พลทหารทั้งหลายจะทำการมิสดวก, เพราะชาวเมืองป้องกันถนัด, จะขอทำค่ายประชิ, แลปลูกหอรบขึ้นให้สูงเสมอกำแพง, แล้วจะได้ยิงปืนใหญ่น้อยสาดเข้าไป, เจ้าน่าที่ก็จะระสำรสายเหนจะได้เมืองโดยง่าย. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าก็เหนชอบด้วย, ก็ให้ตัดไม้ใหญ่แลไม้ตโหนดมาทำตามพระยาไชยบูรณกราบทูล. ๚ะ

๏ ครั้น ณวันจันทร์เดือนแปดแรมสามค่ำ, เพลาชายแล้วสองนาฬิกาห้าบาท, ยกพลทหารเข้าเผาประตูดอนแหลมนั้นทำลายลง. จึ่งให้พลทหารกรูกันเข้าเอาบันไดพาดกำแพงปีนเข้าไปในเมืองนั้นได้, แลตัวพระยาสวรรคโลกย์ก็หนีไปพึ่งอยู่บนกุฎีพระสงฆ์ณวัดไผ่ได้, แลชาวทหารก็ตามไปกุมตัวได้เอามาถวาย ส่วนพระยาพิไชยหนีจากเมืองสวรรคโลกย์, ไปถึงแดนเกาะจุลจะไปเชียงใหม่, ชาวด่านก็กุมเอาตัวพระยาพิไชยมาถวาย, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ดำรัศให้มัดพระยาสวรรคโลกย์, พระยาพิไชยทะเวนรอบทัพแล้วให้ฆ่าเสีย. จึ่งตรัสให้เทครัวอพยบทั้งปวงมายังเมืองพระพิศณุโลกย์, แล้วให้เชิญรูปพระยาร่วง,พระยาฦๅ, อันรจนาด้วยงาช้างเผือกนั้นมาด้วย. ถึงณวันพฤหัศเดือนแปดแรมหกค่ำ, เพลาสิบเบ็ดทุ่มแปดบาด, ให้เรียกช้างพระที่นั่งประทับเกย, เหนพระสาริริกบรมธาตุเสด็จปราฎิหาร, แต่ตวันตกผ่านช้างพระที่นั่งมาตวันออก, โดยทางที่จะเสด็จมานั้นเท่าผลมะพร้าวปอกแล้ว, ก็ยกทัพหลวงเสด็จคืนมาโดยทางน้ำขุ่นทางเมืองพิไชย, เสด็จมาเมืองพระพิศณุโลกย์. ๚ะ

๏ ขณะนั้นภอสมเดจ์พระราชบิดา, ดำรัศให้พระยาราชินิกุล, หมื่นทิพเสนา, หมื่นราชามาตย์นำเอาหนังสือ, กับขุนเทพโกษา, หมื่นไชยสงคราม, หมื่นเทพปรีชา, กับเขมรสามนาย, ซึ่งพระยาลแวกแต่งให้เปนทูตถือหนังสือมาคว่างไว้ ณด่านเมืองระยองขึ้นไปถวาย. ๚ะ

๏ ในหนังสือนั้นว่า, พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีรำพึงถึงคุณสมเดจ์บรมบพิตรพระเจ้ากรุงพระนครศรีอยุทธยา, แลสมเดจ์พระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตรอันเปนเจ้าเมืองพระพิศณุโลกย์, ได้เสวยราชครองพิภพกรุงศรีอยุทธยาโดยบูราณพระมหากระษัตราธิราชนั้น, เหนว่าพระบุญานุภาพประเสริฐนัก. ด้วยแต่ก่อนสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก. ทรงพระมหากรุณาพระเชษฐาข้าพระบาท, ซึ่งเปนประปักข์ต่อพระองค์, แล้วมิได้มีพระไทยอาฆาฎ, ปลูกเลี้ยงดำกลให้คงอยู่ในเสวตรฉัตรกรุงกัมพูชาประเทศแล้วรับเอานักพระสุโทนักพระสุทัน, ไปชุบเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรมนั้น, พระคุณใหญ่หลวงนัก. ฝ่ายข้าพระบาทนี้เล่า, ก็เปนคนโมหจิตรคิดประทุษฐร้าย, เปนปัจามิตรต่อพระองค์มานั้น, โทษผิดนัก, ขอพระองค์จงให้อไภยโทษ. บัดนี้ข้าพระบาทกับท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขสมณพราหมณาริยทั้งหลาย, ขอเปนพระราชไมตรีด้วยพระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทั้งสองพระองค์ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าทราบสารดั่งนั้น, ก็มีพระไทยยินดี, พระราชทานทูตานุทูต. แล้วดำรัศให้แต่งหนังสือตอบไปเปนใจความว่า, ซึ่งพระยาลแวกโมหจิตร, แล้วคิดกลับใจได้, มาขอเปนราชไมตรีนั้น, เราก็อไภยโทษให้, อันเมืองลแวกโพ้นจะถาวรบริบูรณ์, ทั้งสมณพราหมณาจารยไพร่ฟ้าข้าขอบขันทเสมากัมพูชาประเทษ, จะเปนศุขานุศุขสืบไป. ถึงเดือนแปดปัถมาสาธ, จึ่งดำรัศให้หมื่นศรีพิรมย์,ขุนพะศรี, หมื่นรามณรงค์, ถือรับสั่งออกไปกับทูตานุทูตเมืองลแวก ๚ะ

๏ ครั้น ณวันอังคารเดือนแปดแรมสิบเบ็ดค่ำปีขานอัฐศก, จึ่งตรัสให้ส่งครอบครัวไทยใหญ่ซึ่งมาพึ่งบรมโพธิสมภารนั้น, ลงไปยังกรุงเทพมหานคร. สมเดจ์พระราชบิดาก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ไทยใหญ่ทั้งปวง, แล้วก็ให้ตั้งบ้านอยู่ตำบลวัดป้อม. ครั้นถึงเดือนแปดทุติยาสาธ, สมเดจ์พระนเรศรวรเปนเจ้า, ตรัสให้ขุนอินทรเดชเปนนายกองทัพยกพลสามพัน, ช้างเครื่องสามพันม้าร้อยหนึ่ง, ไปลาดถึงเมืองเชียงใหม่, ให้ฟังข่าวคราวเมืองหงษาวดีด้วย. ในวันจะยกทัพนั้น, พระมหาโพธิใหญ่ในกำแพงสนามน่าวังนั้นหาเหตุการมิได้, กิ่งขวาข้างตวันตกนั้นหักลง, กิ่งใหญ่ประมาณสามอ้อม. ถึงณวันอาทิตยเดือนเก้าแรมห้าค่ำ, ขุนอินทรเดชกลับลงมาถึงเมืองพระพิศณุโลกย์. แลในเดือนเก้านั้น, มีพระราชกำหนดสมเดจ์พระราชบิดา, ให้ขึ้นไปเทครัวอพยบชาวเมืองเหนือทั้งปวง, ลงมายังพระนครศรีอยุทธยา. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ครั้นแจ้งพระราชกำหนดดั่งนั้น, ตรัสให้เทครัวอพยบในเมืองพิศณุโลกย์, เมืองสวรรคโลกย์, เมืองศุโขไทย, เมืองกำแพงเพชร์, เมืองพิจิตร, เมืองเล็กน้อยทั้งนั้น, ลงบันทุกเรือบ้างแพบ้าง, แล้วแต่งเรือคุมเปนหมวดเปนกอง, แลแต่งกองทัพป้องกันสองฝั่งฟากน้ำลงมา, มิให้ครัวหนีได้, จนถึงกรุงเทพมหานคร. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกร์เดือนสิบเบ็ดแรมเก้าค่ำ, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ก็เสด็จจากเมืองพระพิศณุโลกย์, ลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา. พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ตรัสให้บำรุงการที่จะป้องกันพระนคร,แลซ่อมแปลงกำแพงต้ายค่ายปัอมหอรบทั้งปวงรอบพระนคร. แล้วให้ขุดคูเมืองเบื้องบูรพทิศนั้น, ให้กว้างฦกเปนแม่น้าประจบรอบพระนครเสร็จ, ก็ให้ถ่ายเข้าเทครัวอพยพเมืองนอกทั้งปวงเข้ามาในพระนคร, ซ่องจัดทหารอาษาทั้งหลายทุกขหมู่ทุกกรม, ตกแต่งเครื่องสรรพยุทธไว้สรัพ. ฝ่ายเมืองศรีพิรมย์แลขุนพศรี, ขุนรามณรงค์, ผู้ถือหนังสือรับสั่งนั้น, ครั้นไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดี, พระยาลแวกก็ให้แต่งรับ แล้วจึ่งให้เบิกเมืองศรีพิรมย์, แลขุนพศรี, ขุนรามณรงค์เข้ามาเฝ้า. แลได้ฟังลักษณราชอักษร, พระยาลแวกก็ยินดี, ซึ่งจะได้เปนพระราชไมตรี. พระยาลแวกให้รางวัลแก่เมืองศรีพิรมย์, ขุนพศรี ขุนรามณรงค์นั้นเปนอันมาก. พระยาลแวกก็แต่งให้พระยาอุไภย, พระอินทราเดโช, พระทรงคเชนทร, หลวงศรีราชนคร,.หลวงมฤทธิคเชนทร, หลวงนเรนทมฤทธิ, จำทูลพระราชสาสน์, แลเครื่องราชบรรณาการมาด้วยเมืองศรีพิรมย์, ขุนพศรี, ขุนรามณรงค์, ครั้นทูตานุทูตชาวลแวกมาถึงพระนคร, จึ่งพระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว,ก็ตรัสให้เบิกทูตานุทูตเข้ามาถวายบังคม,พระราชทานทูตานุทูตนั้นแล้ว,ก็ให้แต่งพระราชสาสน์ตอบพระยาลแวก,ให้พระศรีเสาวราชขุนหลวงธรรมาทิศ, ขุนมงคลรัตน, ขุนจันทราเทพ, ขุนเทียรฆราส, หมื่นธรรมเถียร, จำทูลพระราชสาสน์, แลเครื่องราชบรรณาการ, ไปด้วยทูตานุทูตอันมานั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีตั้งแต่พระนเรศวรภาพระมหาเถรคันฉ่อง, แลญาติโยม,กับพระยาเกียรติ, พระยาพระราม แล้วกวาดเอาครัวอพยพกลับไปยังพระนครศรีอยุทธยา, ทั้งนันทสุแลราชสงครามเล่า, ก็มาแจ้งเหตุทุกประการ,ทรงพระพิโรธคิดอาฆาฎหมายจะเอาพระนครศรีอยุทธยาให้จงได้ ๚ะ

๏ ครั้นลุศักราช ๙๒๙ ปีเถาะนพศกเดือนสิบขึ้นเก้าค่ำ, จึ่งตรัสให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือประมาณแสนหนึ่ง, ลงมาโดยทางเมืองกำแพงเพชร์. แลให้พระยาพสิมผู้เปนอายกช้างม้ารี้พลประมาณสามหมื่น, มาโดยทางเมืองกาญจน์บุรี. ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ให้จัดช้างม้ารี้พลโดยกระบวนทัพบกทัพเรือเสร็จ. ครั้นณวันพฤหัศเดือนสิบสองขึ้นสองค่ำ,เพลาเช้าสามโมงหกบาท, ได้มหาศุภวารดิถีไชยฤกษอันอุดม, ก็เสด็จทรงคชาธารพร้อมด้วยพลแสนยากรทวยหารมเหาฬารดิเรกด้วยกลิ้งกลด, แลฆ้องกลองแตรสังขศรับทพรินนิฤนาทกึกก้องมาโดยรัฐยางค์วิถีทางเมืองกำแพงเพชร์แลทัพพระยาพสิมนั้น, ยกมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ณวันพฤหัศเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง. ฝ่ายทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยังมิได้มาถึงเมืองนครสวรรค์. พระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ตรัสทราบข่าวศึกอันยกมาตั้งสองทางนั้น, ก็ตรัสให้สมเดจ์พระเจ้าลูกเธอพระนเรศวรเปนเจ้า, แลสมเดจ์พระเอกาทศรฐเตรียมช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือไว้สรับ.จึ่งตรัสให้พระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหะนายกเปนกองทัพเรือ. ตรัสให้พระยาพระคลังเปนยกระบัตร, ให้ยกทัพเรือนั้นไปเมืองสุพรรณบุรี, ครั้นทัพเรือไปถึงเมืองสุพรรณบุรี, พระยาพสิมก็ยกทัพออกมารบด้วยกองทัพกรุง, ๆ ก็วางปืนใหญ่ขึ้นไปแต่เรือรบต้องพลข้าศึกตายมากนัก. แลทัพพระยาพสิมจะตั้งอยู่มิได้, ก็เลิกออกไปโดยทางราชสิงห, แลไปตั้งทัพมั่นในตำบลเขาพระยาแมน, ถึงณวันพุทธเดือนยี่ขึ้นสองค่ำ, เพลาสองยามกับสองนาฬิกาเก้าบาท. จึ่งสมเดจ์บรมโอรสาธิราชทั้งสองพระองค์, เสด็จพยุห์บาตราจากพระนครศรีอยุทธยาไปโดยชลมารค, เสด็จขึ้นเหยียบเชิงไชยภูมตำบลลุมพลี. แลให้พระพิไชยสงครามฟันไม้ข่มนามแล้ว, เสด็จจากลุมพลีประทับเรือพระที่นั่งณเมืองวิเสศไชยชาญ. จึ่งเสด็จพยุหบาตราขึ้นโดยสถลมารค, ไปตั้งทัพหลวงณะตำบลสามขนอน. แลเมื่อตั้งทัพอยู่ณสามขนอนนั้น, ม้าตัวหนึ่งตกลูกเปนสองตัวศีศะเดียว, มีเท้าตัวละสี่เท้าชิงศีศะกัน. จึ่งบัญชาให้เจ้าพระยาศุโขไทยเปนนายกอง. แลท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลายยกช้างม้ารี้พลหมื่นหนึ่ง, ก้าวสกัดออกไปตีทัพพระยาพสิมณเขาพระยาแมน. แลภบทัพน่าศึกได้รบพุ่งกัน. พม่ามอญก็แตกฉานล้มตายเปนอันมาก. พระยาพสิมก็เลิกทัพรุดหนีไป. เจ้าพระยาศุโขไทย, แลข้าหลวงยกตามไปถึงกาญจนบุรี, จับได้ข้างชะวีกับช้างม้ามาถวาย, แลทัพหลวงตั้งอยู่ตำบลสามขนอนนั้นเจ็ดเวน. จึ่งเสด็จยกทัพหลวงมาโดยสุพรรณบุรี, ก็เสด็จเข้าพระนครศรีอยุทธยา. ๚ะ

๏ ครั้นทัพพระยาพสิมแตกฉานพ่ายไปแล้ว, ในเดือนนั้นฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่มิได้รู้ว่าพระยาพสิมพ่ายไป, ก็ยกทัพบกทัพเรือลงมาเมืองนครสวรรค์. แล้วก็ล่วงลงมาถึงเมืองไชยนาท,ก็ให้ไชยกะยอสู,แลนันทกะยอสู, ยกช้างม้าแลพลประมาณห้าพัน, เปนทัพน่าลงมาตั้งถึงบางพุทรา, แลบางเกี่ยวหญ้า. ฝ่ายสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชแจ้งข่าว, ก็เสด็จยกทัพบกทัพเรือขึ้นไปโดยลำน้ำใหญ่ตั้งตำบลชะไว, ก็ตรัสให้พระราชมาณูเปนนายกอง, ขุนรามเดชะเปนยุกรบัตร, ยกทัพม้าสองร้อย, แลพลทหารอาษาสามพัน, ขึ้นไปตีทับข้าศึกอันมาตั้งตำบลบางเกี่ยวหญ้า. พระราชมาณูแลขุนรามเดชะ, ก็ยกขึ้นไปตั้งเปนทัพซุ่มอยู่ในป่า ครั้นข้าศึกออกเกี่ยวหญ้าช้าง, แลออกลาดหากินก็ดี, พระราชมาณูแลขุนรามเดชะ, ก็ออกโจมตีฆ่าฟันข้าศึกไปจนค่าย, ได้ช้างม้าแลเชลยส่งลงมาถวายเปนอันมาก. ไชยกะยอสูแลนันทกะยอสูเหนเหลือกำลัง ก็เลิกทัพขึ้นไปหาทัพใหญ่ณเมืองไชยนาท. พระราชมาณูแลขุนรามเดชะ ตามตีข้าศึกขึ้นไปถึงค่ายใหญ่ณเมืองไชยนาทบุรี. ขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่รู้ข่าวว่า, ทัพพระยาพสิมซึ่งยกมาทางกาญจน์บุรีนั้น, แตกฉานพ่ายหนีไปแล้ว, ก็ปฤกษาด้วยท้าวพระยาทั้งหลายว่า, กำหนดพระเจ้าหงษาวดีบัญชาให้พระยาพสิมมาบันจบพร้อมกับทัพเรา, แลทัพพระยาพสิมรีบรุดยกเข้ามาก่อนแล้ว, แล้วแตกฉานไปดั่งนี้,ควรเราจะเลิกทัพกลับคืนไปฟังกำหนดพระเจ้าหงษาวดีก่อน.อนึ่งเรายกมาครานี้ยังมิได้บำรุงการศึกเปนสามารถ, ทั้งมิได้ควบคุมทัพพร้อมมูลกันจึ่งเสียที. บัดนี้เราจะยกทัพคืนไปก่อน จะบำรุงการไว้ถ้าพระราชกำหนดพระเจ้าหงษาวดี. ครั้นปฤกษาพร้อมกันแล้ว, พระเจ้าเชียงใหม่ก็เลิกทัพจากไชยนาทบุรีคืนไปเชียงใหม่. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชแจ้งว่า, ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกเลิกไปแล้ว, ก็เสด็จคืนเข้ายังพระนครศรียุทธยา, กราบทูลประพฤติเหตุแก่สมเดจ์พระราชบิดาทุกประการ. ๚ะ

๏ ในเดือนสี่ปีเถาะนั้น, พระยาลแวกก็ใช้พระยาอุไภยพงษา, แลหลวงสุภาทิพจำทูลพระราชสาสน์, แลเครื่องราชบรรณาการมาด้วยพระศรีเสาวราช, แลทูตานุทูตทั้งหลายอันไปนั้น. ในลักษณพระราชสาสน์พระยาลแวกคราวนั้นว่า, ขอให้หลั่งน้ำสิโตทก, ตั้งสีมาจาฤก, สำหรับการพระราชไมตรีตามประเพณีโบราณพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน. พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็แต่งท้าวพระยามุขมนตรี, แลสมณพราหมณาจาริย์ทั้งหลายให้หลั่งน้ำสิโตทก. ฝ่ายมุขมนตรีใช้เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก, เจ้าพระยาศุโขไทย, พระยาเทพรณรงค์ฤๅไชย, พระพลเทพ, พระศรีภูริปรีชา, แลขุนหมื่นทั้งหลาย. ฝ่ายพระสงฆ์ไซ้, สมเดจ์พระสังฆ์ราชคามวาสี, อรัญวาสี, พระครูสะดำ, พระครูเฉวียง, แลพระสงฆ์ยี่สิบรูป. ฝ่ายพราหมณาจาริยไซ้, พระมเหธราชสุภาวดี, พระราชปโรหิตาจาริย์, พระเทพาจาริย์, พระโหราธิบดี, แลชีพ่อพราหมณาจาริย์สิบคน. ฝ่ายพระยากัมพูชาธิบดี, ก็แต่งเจ้าฟ้าทะละหะ, พระยาธรรมเดโช, พระยาจักรรัตน์ พระศรีภูริปรีชา, แลท้าวพระยาเสนาบดีสมณพราหมณาจาริย์, ในกรุงกัมพูชาประเทศนั้น, มาหลั่งน้ำสิโตทก. จึ่งท้าวพระยาเสนาบดี, แลพราหมณาจาริย์ทั้งสองฝ่าย, ก็ประชุมกันตำบลท้ายสะเกษ, ก็แต่งการที่จะหลั่งนำสิโตทกในที่นั่น, ถึง ณวันพฤหัศเดือนสิบสองขึ้นแปดค่ำ, ประกอบด้วยสุภฤกษจึ่งฝังสีมาจาฤกสัตยาธิฐานลงในสีลาบาต. แล้วก็หลั่งน้ำสิโตทกเหนือมหาปัถพีเปนสักขีทิพยาน, เพื่อจะให้พระราชไมตรีสีมามณฑลทั้งสองฝ่ายมั่นคงตรงเท่ากัลปาวะสาน. แล้วก็ให้อูปสมบทกรรมภิกษุหกรูปในที่นั่น. ๚ะ

๏ ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เลิกทัพขึ้นไปถึงเชียงใหม่, ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งก็ทรงพระโกรธว่า, พระเจ้าเชียงใหม่มิได้ยกลงไปโดยพระราชกำหนด, จึ่งไม่ทันกองทัพพระยาพสิม, ๆ จึ่งเสียทีแก่ข้าศึก. ๚ะ

๏ ครั้นศักราช ๙๓๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก, พระเจ้าหงษาวดีดำรัศให้พระยาอไภยคามณี, กับซักแซกกยอถาง, สมิงโยคราชสามนาย, ไปกำกับทัพเชียงใหม่, ให้เร่งยกไปตีเอาพระนครศรีอยุทธยาให้ได้. พระเจ้าเชียงใหม่แจ้งพระราชกำหนด, ก็จัดช้างม้ารี้พลทัพบกทัพเรือพร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธ. ให้พระยาเชียงแสนถือพลหมื่นห้าพัน, ช้างเครื่องร้อยห้าสิบ, ม้าพันหนึ่งเปนทัพน่า. ครั้นเดือนสิบสองก็ยกจากเมืองเชียงใหม่มาโดยทางเมืองลี่,แลทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาคราวนั้นแสนหนึ่ง,ช้างเครื่องสามร้อย,ม้าสามพัน, เรือรบลำเลียงพันลำ, แล้วเคลื่อนทัพบกทัพเรือลงมาตั้งชุมพลณเมืองนครสวรรค์, ในวันอังคารเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง ฝ่ายพระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบข่าวศึกยกมาตั้งนั้น,ก็ดำรัศให้ถ่ายเข้าเทครัวเข้าในพระนครแล้ว,ให้ตรวจจัดรี้พลเครื่องสรรพยุทธไว้สำหรับน่าที่กำแพงรอบพระนครแล้ว, จึ่งมีพระราชกำหนดให้นายทหารอาษาทั้งปรงคุมพลเปนหลายกองยกออกไปซ่องคนซึ่งซ่านเซนอยู่ป่า แล้วยกเปนกองโจรคอยก้าวสกัดตีโดยทางข้าศึกจะยกมา, อย่าให้ออกลาศหากินได้สดวก. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาลแวกแจ้งข่าวออกไปว่า, กองทัพเมืองหงษาวดียกมากระทำแก่พระนครศรีอยุทธยา, จึ่งดำรัศปฤกษาท้าวพระยาเสนามุขมนตรีว่า, กรุงกัมพูชาธิบดี, กับพระนครศรีอยุทธยาพึ่งเปนทางพระราชไมตรีกัน, บัดนี้มีปัจามิตรข้าศึก. ครั้นจะมิไปช่วย, พระราชไมตรีก็ไม่ถาวรวัฒนาสืบไป, จำจะให้กองทัพยกไปช่วย. ท้าวพระยาเสนามุขมนตรีทั้งปวงก็เหนพร้อมด้วย. พระยาลแวกก็ให้พระศรีสุพรรมาธิราชผู้เปนพระอนุชา, ถือพลหมื่นหนึ่ง, ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง, ม้าสามร้อย,ยกเข้ามาช่วยทางด่านเมืองปราจินทบุรี. กรมการบอกเข้ามาให้กราบทูล. สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้หลวงราชเสนา, หลวงเสนาภักดี, ขุนพิพิธวาที หมื่นพจนาพิจิตร, ออกไปรับพระศรีสุพรรมาธิราชเข้ามาเฝ้า, แล้วตรัสสั่งให้กองทัพเขมรตั้งอยู่ตำบลวัดผะแนงเชิง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศเดือนอ้ายแรมสองค่ำ, พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพบกทัพเรือล่วงลงมาตั้งค่ายมั่นตำบลสระเกษ, แล้วแต่งให้เจ้าเมืองพเยาคุมทัพม้าพันหนึ่งไปลาดจับคน, ดูกองทัพกรุงจะออกมาตั้งอยู่ตำบลใดบ้าง. เจ้าเมืองพเยายกทัพม้ามาถึงตะพานขายเข้า, ก็เที่ยวเผาบ้านเรือน. ฝ่ายสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับพระอนุชาทราบดั่งนั้น, ก็เสด็จโดยชลมารคถึงตะพานขายเข้าให้ทหารยกขึ้นไป, ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน, ยิงแทงถูกเจ้าเมืองพเยากับทหารตกม้าตายยี่สิบคนเจ็บป่วยก็มาก, ม้าทั้งนั้นก็ถอยไปได้ม้ายี่สิบม้า, แล้วเสด็จคืนเข้าพระนคร. ๚ะ

๏ ครั้นถึงเดือนห้าปีมเสงเอกศก, พระเจ้าหงษาวดีดำรัศให้พระมหาอุปราชาถือพลห้าหมื่น, ลงมาตั้งทำนาณเมืองกำแพงเพชร์ แล้วแต่งหนังสือรับสั่งให้สมิงพะตะเบิดถือไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ว่า, อันพระนครศรีอยุทธยานั้น, แม่น้ำเปนคูรอบ, แต่องค์สมเดจ์พระราชบิดาเรามีบุญบารมีปราบได้ทั้งสิบทิศยังทำการปี. ครั้งนี้พระมหาธรรมราชาก็มีราชบุตรสององค์, การสงครามก็องอาจกล้าหาร.ถึงมาทว่าพลทหารเราจะมากกว่าสักร้อยเท่าก็ดี, อันจะดูหมิ่นหักเอาโดยเร็วเหมือนเมืองทั้งปวงนั้นมิได้, จำจะคิดเปนการปีจึ่งจะได้. บัดนี้ก็ให้พระมหาอุปราชาถือพลห้าหมื่นยกหนุนลงมา,ทั้งทำนาอยู่ ณเมืองกำแพงเพชร์, ให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งหมั้นไว้อย่าให้ชาวพระนครออกหักได้, แล้วให้ทำไร่นาตั้งยู้งฉางผ่อนสเบียง ณเมืองเชียงใหม่ลงไปไว้จงมาก. ประการหนึ่งให้แต่งออกลาดอย่าทำไร่นาลงได้,พระนครศรีอยุทธยาจึ่งจะผอม,ออกพรรษาแล้วทัพหลวงจะเสด็จลงไปพร้อมกันจะหักเอาทีเดียว. พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งพระราชกำหนดพระเจ้าหงษาวดีนั้น. ก็ให้ขยายค่ายขุดคูตั้งป้อมพูนเชิงเทินหอรบมั่นคงตามรับสั่ง,แล้วแต่งกองทัพออกเที่ยวลาดเปนหลายกอง,ได้รบกันกับกองกระเวน ชาวพระนครตีแตกไปเปนหลายครั้ง, ที่จับได้เปนก็ส่งเข้าไปถวาย, ถามได้เนื้อความแจ้งสิ้นทุกประการ. ๚ะ

๏ สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, จึ่งดำรัศแก่พระบรมราชโอรสทั้งสองพระองค์ว่า, พระเจ้าหงษาวดีคิดการปี, ให้พระมหาอุปราชาผู้เปนพระราชบุตร, ถือพลห้าหมื่นยกมาตั้งทำนาอยู่ณเมืองกำแพงเพชร์ พระเจ้าเชียงใหม่ถือพลแสนหนึ่ง, ยกมาตั้งหมั้นอยู่ตำบลสะเกษ, ปลูกยุ้งฉางถ่ายเสบียงอาหารมาไว้, ออกพรรษาแล้วทัพพระเจ้าหงษาวดีจะยกมาบันจบกัน. ซึ่งเราจะละไว้ให้ทัพประชุมกันเข้าทั้งสามทัพนั้น, กำลังศึกก็จะมากขึ้น, จะหนักมือเหนื่อยแรงทหารนัก, ทั้งไพร่ฟ้าประชากรก็จะมิได้ทำไร่นา, กำลังพระนครก็จะถอยลง. เราจะยกไปตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่เสียก่อนอย่าให้ตั้งอยู่ได้, ประการหนึ่งก็จะได้ชมมือทหารทั้งปวงด้วย. ๚ะ

๏ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชกราบถวายบังคมฉลองพระราชโองการว่า, อันทัพพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งมาตั้งอยู่ตำบลสระเกษนี้, ชีวิตรข้าพระเจ้าทั้งสองอยู่ใต้เบื้องบาท, อย่าทรงวิตกเลย, จะตีเสียให้เลิกไปจงได้. สมเดจ์พระราชบิดาได้ทรงฟังพระราชโอรสทั้งสองทูลดั่งนั้น, ก็แย้มพระโอษฐ, จึ่งสั่งให้ตรวจพลแปดหมื่น, ช้างเครื่องห้าร้อย, ม้าพันหนึ่ง, เรือรบห้าร้อยลำทัพบกทัพเรือสรัพ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตย์เดือนห้าขึ้นเจ็ดค่ำ, เพลารุ่งแล้วสี่นาฬิกากับบาทหนึ่ง, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับพระอนุชาธิราชก็ยกไปตั้งทัพไชยตำบลลุมพลี. ถึงณวันเสาร์เดือนห้าขึ้นสิบค่ำ, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชก็ตรัสให้เทียบเรือรบเรือไล่ทั้งปวง, แล้วเสด็จด้วยพระชลวิมานขึ้นไปถึงป่าโมกน้อย, เพื่อจะดูกำลังข้าศึก. ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งว่า, กองกระเวนได้รบพุ่งกับกองทัพกรุงเปนหลายครั้งแตกขึ้นมา, จึ่งแต่งให้สเรนันทสุคุมทหารห้าพัน, ช้างเครื่องสามสิบ,ม้าห้าร้อยยกเข้ามาป่าโมกน้อย.แล้วให้พระยาเชียงแสนเปนนายกองเปนทัพน่าคุมพลทหารหมื่นหนึ่ง,ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง,ม้าห้าร้อยยกตามลงมาอีกทัพหนึ่ง. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชแจ้งว่าข้าศึกยกเข้ามา, ก็ให้เทียบเรือรบเรือไล่ทั้งปวงเข้าฝั่ง, ให้พลทหารอาษาขึ้นบกยกเข้าไปตั้งต่อข้าศึก, แล้วก็เสด็จขึ้นจากพระชลวิมานทั้งสองพระองค์, ทรงสุพรรณรัตนป่าทุกา.จึ่งตรัสให้พลทหารทั้งปวงขึ้นยั่วข้าศึก, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าทรงพระแสงปืนนกสับ, ยิงถูกนายม้าผู้ดีห่มเสื้อสักกลาชแดงขัดดาบบั้งทองตกม้าตาย. ฝ่ายข้าศึกอันยกมานั้นก็พ่ายไป, ทหารอาษาก็ไล่ฟันแทงขึ้นไปปะทะทัพพระยาเชียงแสน, ๆ เหนดั่งนั้น. ก็ให้แยกพลออกรับตีประดาลงไป. ทหารกรุงเหนเหลือกำลังก็ถอยรอรับลงมา. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับพระอนุชาธิราช, เหนข้าศึกยกใหญ่ออกมาตี, ทหารเสียทีจะลงเรือมิทัน, จึ่งเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปเหนือคลองป่าโมกน้อย, แลขนานเรือพระที่นั่งทั้งสองลำ, เสด็จอยู่กับพลเรือรบแลทหารอันอยู่ริมน้ำนั้น, ข้าศึกก็วางช้างม้ารี้พลมาถึงริมน้ำนั้น, แลได้รบพุ่งกันเปนสามารถ. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชทรงพระแสงปืนนกสับ, ยิงต้องข้าศึกตายเปนอันมาก. ข้าศึกพุ่งสาตราวุธตกถึงเรือพระที่นั่ง. จึ่งพระบาทสมเดจ์พระอนุชา, ก็ให้สอดเรือพระที่นั่งเสด็จเข้าไปข้างฝั่ง, กันเรือพระที่นั่งสมเดจ์พระเชษฐาธิราชแล้วดำรัศสั่งให้ยิงปืนใหญ่ในเรือรบเรือไล่ทั้งปวงขึ้นไป, ต้องช้างม้าข้าศึก, แลรี้พลตายมากข้าศึกทั้งปวงก็พ่ายไป. ๚ะ

๏ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, จึ่งตรัสแก่สมเดจ์พระอนุชาธิราช, แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงว่า, พระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพแสนหนึ่งลงมาตั้งอยู่ ณ สระเกษถึงสี่เดือนห้าเดือนแล้ว,พึ่งให้เหนฝีมือกำลังทหารวันนี้, ดีร้ายจะเปนบ้าสงคราม, ในสองวันสามวันนี้จะยกมาอีก. ถ้ายกลงมาเราจะตีให้ถึงค่ายสระเกษทีเดียว, ตรัสเท่าดั่งนั้น, ก็มิได้เสดจ์กลับลงมาลุมพลีตั้งอยู่ ณป่าโมก. ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แจ้งว่า, สเรนันทสุ, พระยาเชียงแสนแตกขึ้นไป, ก็ทรงพระโกรธสั่งให้ประหารชีวิตรเสีย. พระยาพเยาวน้องพระเจ้าเชียงใหม่, กับท้าวพระยาแสนขุน, แสนหมื่น, ทูลขอโทษให้แก้ตัว. พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้ยกโทษ, แต่ทว่าให้ไปทเวนประจารรอบทัพ. แล้วตรัสปฤกษาแก่นายทัพนายกองแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวงว่า, พระยาเชียงแสน, สเรนันทสุแตกข้าศึกขึ้นมา, พระนเรศวรพี่น้องจะมีใจกำเริบจะยกขึ้นมาตีถึงค่ายเรา, เราคิดจะยกลงไปหักเสียก่อน, ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงก็เหนด้วย. พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้โหรหาฤกษ, ได้ฤกษณวันพฤหัศเดือนห้าแรมสองค่ำ, เพลาตีสิบเอ็ดทุ่มห้าบาท, จึ่งบัญชาให้ตรวจเตรียมกองทัพ, ให้พระยาเชียงแสน, สเรนันทสุถือพลหมื่นห้าพันเปนทัพน่าแก้ตัว. ทัพพระเจ้าเชียงใหม่พลหมื่นหนึ่ง, ช้างเครื่องสามร้อย, ม้าพันหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นถึงวัณพฤหัศเดือนห้าแรมสองค่ำเพลาตีสิบทุ่มห้าบาทก็ยกลงมา. ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่คิดเตรียมทัพจะลงมาตีนั้น. ฝ่ายสมเดจ์พระณเรศวรเปนเจ้า, ตรัสแก่ท้าวพระยามุขมนตรีว่า, เราตีทัพเชียงใหม่แตกขึ้นไป, เหนประหนึ่งว่าจะยกเพิ่มเติมกันมาอีก. ถึงสองวันสามวันแล้วก็มิได้ยกลงมา. ณวันพฤหัศเดือนห้าแรมสองค่ำ, เราจะยกขึ้นไปให้ทหารยั่วดูทีสักเพลาหนึ่ง. ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง, ก็เหนพร้อมโดยพระราชบริหาร. จึ่งให้พระราชมาณูถือพลหมื่นหนึ่ง, ขี่ช้างต้นพลายพัทธกรร, ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง, มีธงสามชายสำหรับทุกตัวช้างเปนทัพน่าชั้นหนึ่ง, ให้พระยาศุโขไทยขี่ช้างต้นพลายสังหารคชสีห์. ช้างนายทัพนายกองขี่ยี่สิบช้าง, มีธงสามชายสำหรับทุกตัวช้างเปนทัพน่าชั้นสอง. ให้ยกในเดือนห้าแรมสองค่ำเพลาบ่าย, ให้ตั้งอยู่ต้นทาง. ครั้นเวลาตีสิบเบ็ดพระณเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชทรงเครื่องศิริราชปิลันทนาลังการยุทธ์. สมเดจ์พระณเรศวรเปนเจ้าทรงช้างต้นพลายมงคลทวีปเปนพระคชาธาร, สมเดจ์พระอนุชาธิราชทรงช้างต้นเจ้าพระยา ปราบไกรจักรเปนพระคชาธาร. พร้อมช้างดั้งกันแซรกแซรงล้อมวังพังคาร้อยหนึ่ง, กับพลทหารสามหมื่นก็เสดจ์พยุห์บาตราทัพโดยสถลมารควิถี. ภอแสงทิณกรเรื่อเรืองพโยม, ทัพน่าพระเจ้าเชียงใหม่กับทัพพระราชมาณูปะทะรบกันตำบลบางแก้ว. ทัพหลวงเสดจ์ถึงตำบลบ้านแห, ได้ยินเสียงปืนรบ, ก็มิได้ยกหนุนพระราชมาณูขึ้นไป, เข้าซุ่มทัพอยู่ในป่าจิก, ป่ากะทุ่มฟากทางตวันตก. จึ่งใช้ให้หมื่นทิพรักษากับม้าเร็วสิบม้าขึ้นไปสั่งพระราชมาณูให้ลาดล่าลงมาถึงทัพหลวง. พระราชมาณูก็บอกลงมาให้กราบทูลว่า, ศึกได้รบติดพันกันอยู่แล้ว, ถ้าถอยก็จะแตก. พระราชมาณูก็มิได้ถอย. สมเดจ์พระณเรศวรเปนเจ้า, ก็ให้หมื่นทิพรักษาขึ้นไปสั่งอีก.พระราชมาณูก็มิได้ถอย. หมื่นทิพรักษากลับลงมากราบทูลก็ทรงพระโกรธตรัสสั่งว่า, ให้กลับขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง, ถ้ามันยังขัดมิถอยให้เอาศีศะลงมาเถิด, หมื่นทิพรักษาก็กลับขึ้นไปแจ้งตามรับสั่ง. พระราชมาณูแจ้งรับสั่งก็ตกใจ. ให้โบกฝ่ายธงฝ่ายซ้ายเปนสำคัญ. พระยาศุโขไทยแลทหารทั้งปวงเหนดั่งนั้น, ก็ขยายลาดถอยลงมา. ฝ่ายทหารเชียงใหม่สำคัญว่าแตกก็โห่ร้องไล่รุกโจมตีลงมา. ทหารม้าก็วางม้าทหารช้างขับช้าง. พระเจ้าเชียงใหม่ดีพระไทยก็เร่งพลขับช้างที่นั่งตาม, ปนกองน่าหลังมามิเปนกระบวน. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าเหนข้าศึกเสียกระบวน, จึ่งให้ลั่นฆ้องโบกธงเปนสำคัญ. สมเดจ์พระณเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชก็ขับพระคชาธาร, แลรี้พลช้างม้าโยธาหาร, เข้าย่อกลางทัพข้าศึกจนถึงอาวุธสั้น. ฝ่ายพระราชมาณู, พระยาศุโขไทยเหนดั่งนั้น. ก็ต้อนพลเข้าตีกระหนาบขึ้นมา. ทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็แตกพ่ายไป. สมเดจ์พระณเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชก็เสดจ์ตาม,ตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่, แตกฉานยับเยินไปไม่คุมกันได้. พลทหารชาวกรุงก็ไล่ฟันแทงพลข้าศึก, ทั้งนายแลไพร่ตายริมทางแลกลางทุ่งนั้นมากนักแลท้าวพระยาฝ่ายข้าศึกฅอขาดในยุทธภูมนั้น, คือพระยาพเยาน้องพระเจ้าเชียงใหม่, พระยาลอ, พระยากาว, พระยานครล้านช้าง, พระยาเชียงราย, มางยามงิป, สมิงโยคราช, เจพะยะอางคบุน, สเรนันทสุเมืองเตริน. แสนเชียงใหม่ตายในที่นั้นประมาณพันเสศ. ได้ช้างใหญ่ญี่สิบช้าง, ม้าร้อยเสศ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชเจ้า, ก็เสด็จตามตีทัพพระเจ้าเชียงใหม่ไปถึงปากน้ำชะไว. ๚ะ

๏ ฝ่ายสมเดจ์พระราชบิดา, ดำรัศให้เตรียมรี้พลแลเรือพระที่นั่งดั้งกัน, เรือรบเรือไล่พร้อมเสร็จ. แล้วพระราชทานเรือพระที่นั่งรองแลเรือทั้งปวง, ให้พระศรีสุพรรมาธิราช, น้องพระยาลแวกโดยเสด็จด้วย, ครั้นณวันเสาร์เดือนห้าแรมสี่ค่ำ, เพลารุ่งแล้วห้าบาทได้ศุภฤกษสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็ยกพยุหบาตราทัพเสด็จโดยชลมารคด้วยพระชลวิมานขึ้นไป ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกรุดรีบขึ้นไปเข้าในค่ายหลวงในวันนั้น. เพลาจวนค่ำสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ตั้งทัพหลวงอยู่ณปากน้ำชะไว. จึ่งมีพระราชกำหนดแก่ท้าวพระยาหัวเมืองทั้งหลายว่า, เพลาย่ำรุ่งจะยกพลทหารเข้าหักค่ายพระเจ้าเชียงใหม่. ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นไปถึงค่าย, เสียพระไทยมิได้คิดที่จะรับ. ครั้นแจ้งว่ากองทัพพระนเรศวรยกตามขึ้นมาถึงปากน้ำชะไว, เกรงจะรับมิอยู่,หนีก็มิพ้น. ครั้นเพลาค่ำก็ขึ้นช้างเร็วเลิกทัพหนีรีบไป. ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันเสาร์เดือนห้าแรมห้าค่ำเพลาเช้าโมงเศศ, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, เสด็จยกพยุหโยธาทัพใกล้ถึงสระเกษ. ก็แจ้งว่าพระเจ้าเชียงใหม่เลิกทัพหนีไปถึงตำบลปากน้ำบางพุทรา, มิได้ทันพระเจ้าเชียงใหม่. ทหารกองน่าจับได้พระยาเชียงแสน, ลูกพระยาเชียงแสน, แลแสนหลวงล่ามแขกมางจอจอยลูกแม่นมพระเจ้าเชียงใหม่, แลได้ช้างพังพลายใหญ่หกศอกมีนิ้วร้อยยี่สิบช้าง, ได้ม้าห้าร้อยเศศ. แต่ช้างใหญ่หกศอกคืบมีเศศ, พลายจนาจ์ศักหนึ่ง, พลายปองหลูรายภักหนึ่ง, พลายลุเกียนกะยอหนึ่ง, พลายพิไชยโลกาหนึ่ง พลายมะรุกตองอูหนึ่ง, พลายมณีจักรพรรดิหนึ่ง, พลายสิงคาหนึ่ง, พลายมงคลชาตรีหนึ่ง, พลายแขแมหนึ่ง, พลายแก้วไกรลาศหนึ่ง, พลายอุโบสถหนึ่ง, ช้างพระที่นั่งพระเจ้าเชียงใหม่พลายมหาเมฆหนึ่ง, พลายหัษถีราชาหนึ่ง, พลายเกิดสวัสดิหนึ่ง, พลายภาพยาวหนึ่ง, พลายยาตราหนึ่ง, พลายแปรหนึ่ง, พลายศรีบุญเรืองหนึ่ง, พลายรำชายหนึ่ง, พลายมหากุณฑลหนึ่ง, แต่ได้ช้างสูงใหญ่ยี่สิบช้าง, แลพม่ามอญลาวเชียงใหม่, แลชาวไทยใหญ่,ชายหญิงหมื่นเสศ. ได้เรือรบเรือเสบียงสี่ร้อยเสศ. แลได้เครื่องสรรพยุทธ์, แลเครื่องช้างเครื่องม้า, ปืนใหญ่จะรงมณฑกนกสับมาก แลได้เครื่องราชูประโภคพระเจ้าเชียงใหม่. แตรเงินแตรทอง, กระโจมหุ้มทองสำรับหนึ่ง. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชแต่งทหารกำหนดให้ตามพระเจ้าเชียงใหม่, ให้ถึงเมืองนครสวรรค์. แลทัพหลวงตั้งอยู่บางพุทรา, ประทับแรมอยู่ทั้งทัพบกทัพเรือเวนหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตย เดือนห้าแรมห้าค่ำ, ฝ่ายสมเดจ์พระราชบิดาเสด็จถึงบางพุทรา, พระราชโอรสทั้งสองพระองค์มาเฝ้า, กราบถวายบังคมทูลเรื่องยุบลซึ่งได้รณรงค์ข้าศึกมีไชยชำนะ, ถวายเสร็จสิ้นทุกประการ. สมเดจ์พระราชบิดาได้ทรงฟัง, ก็ทรงพระโสมนัศยินดี,เสด็จประทับอยู่สองเวน ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้น ณวันอังคารเดือนห้าแรมเจ็ดค่ำ, เพลาบ่ายสามโมง, สมเดจ์พระราชบิดา, ก็เลิกทัพคืนเข้าพระนครโดยชลมารค. ครั้นณวันศุกร์เดือนห้าแรมสิบค่ำ, กองทัพซึ่งไปตามพระเจ้าเชียงใหม่กลับมาถึง. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับพระอนุชาธิราชก็เลิกทัพ, เสด็จด้วยพระชลวิมานพร้อมด้วยดั้งกันนำตาม. ครั้นถึงตำบลโพสามต้น, ทอดพระเนตรเหนเรือพระศรีสุพรรมาธิราช, กับเรือนายทัพนายกองเขมรทั้งปวง,จอดอยู่ณฝั่งฟากตวันตก, แต่พระศรีสุพรรนามาธิราชนั้น, มิได้หมอบนั่งดูเสด็จอยู่, ก็ทรงพระพิโรธ, ให้รอเรือพระที่นั่งไว้. แล้วดำรัศให้หลวงพิไชยบูรินทราตัดเอาศีศะลาวเชลยซึ่งจับได้นั้น, ไปเสียบไว้ตรงเรือพระศรีสุพรรมาธิราช หลวงพิไชยบูรินทราก็ไปทำโดยรับสั่ง. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชก็เสด็จเข้าพระนคร. ฝ่ายพระศรีสุพรรมาธิราชเหนดั่งนั้น,ก็น้อยพระไทย,คิดอาฆาฏมิได้ว่าประการใด,ก็ล่องเรือมาที่อยู่ ครั้นรุ่งขึ้นสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, เสด็จออกพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตยทั้งปวง. จึ่งดำรัศว่า,ซึ่งพระญาลแวกให้พระศรีสุพรรมาธิราชผู้เปนอนุช, เข้ามาช่วยงานพระราชสงครามจนเสร็จนั้นขอบใจ. ให้พระราชทานพานทองคำ,กับสนองพระองค์อย่างเทศอย่างน้อย. แลนายทับนายกองเขมรทั้งปวงนั้น, ก็พระราชทานเสื้อผ้าโดยสมควร. พระศรีสุพรรมาธิราชกับพระยาเขมรทั้งปวงกราบถวายบังคมลา, ก็เลิกทัพกลับไปยังพระนคร. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร ไปเฝ้าพระมหาอุปราชา, แจ้งการซึ่งได้รบกับกองทับพระนเรศวร, จนแตกขึ้นมานั้นเสร็จสิ้นทุกประการ พระมหาอุปราชาก็เสียพระไทย, จึ่งแต่งทหารมอญออกก้าวสกัดต้นทาง, ซึ่งพลชาวเชียงใหม่แตกกระจัดกระจายขึ้นมานั้น, ประมวนกันเข้าได้, แล้วก็ให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพชร,นั้นด้วย, แล้วบอกหนังสือส่งตัวพระยาอไภยคามณี, ซักแซกกะยอถาง, ซึ่งกำกับทับพระเจ้าเชียงใหม่, ให้พลกำกองรีบไปณเมืองหงษาวดี. พระมหาอุปราชาก็เกณท์กันให้รีบทำไร่นา,ให้พระเจ้าเชียงใหม่ทำเรือกะจังเหลาคา. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระศรีสุพรรมาธิราชนั้นคิดแค้นอยู่มิได้ขาด. ครั้นไปถึงเมืองลแวกขึ้นเฝ้ากราบทูลว่า, ซึ่งรับสั่งให้ข้าพระบาทยกเข้าไปช่วยการสงครามพระนครศรีอยุทธยาครั้งนี้, ได้ความอัประยศนักด้วยพระนเรศวรดูหมิ่นหยาบช้า,ให้ตัดเอาศีศะชเลยมาเสียบไว้ริมเรือตรงน่าข้าพระบาท, ความแค้น, ความอายปี้มจะไม่เหนฟ้าดิน พระยาลแวกแจ้งดั่งนั้น, ก็ทรงพระโกรธตรัสว่า,เราก็เปนกระษัตริย, เขาก็เปนกระษัตริย์มาดูหมิ่นกันดั่งนี้, เหนกรุงกัมพูชาธิบดี, กับกรุงศรีอยุทธยาจะเปนทางพระราชไมตรีกันสืบไปไม่ได้. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งว่า, พระเจ้าเชียงใหม่แตกขึ้นมาเสียไพร่พลมาก, ก็ทรงพระโกรธ, คิดจะเอาโทษก็เกรงจะเสียเมืองลาว. จึ่งตอบลงมาว่า, ครั้งก่อนกำหนดให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกไปบันจบกับทัพพระยาพสิม, ก็ไม่ไปทัน, จนเสียทัพพระยาพสิมครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ยกพลลงไปแสนหนึ่ง, ก็แตกแก่ฆ่าศึกขึ้นมา, ทำการมิได้มั้นคงดุจทารกโคบาลให้เสียรี้พลมากมาย, ฆ่าศึกได้ใจดังนี้. เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่มีความละอาย, ไม่ไว้เกียรติยศในแผ่นดินแล้ว, ก็แล้วไปเถิด, ออกพรรษาแล้วทัพหลวงจะยกไปตระทำ, อย่าให้พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพชร,เลย. ให้เปนกองทัพลำเลียงขึ้นไปจัดแจงเสบียงอาหารณเมืองเชียงใหม่, ผ่อนลงมาไว้, ให้ภอพลสามแสนอย่าให้ขัดสนได้. ถ้าขัดสนด้วยสเบียงอาหารมิภอพลสามแสนจะมีโทษ. ครั้นแต่งหนังสือเสรจแล้ว, ก็ส่งให้พลกำกองถือหนังสือกลับลงมาณเมืองกำแพงเพชร์. ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งในรับสั่งนั้น, ก็กลัวพระอาญา, ลาพระอุปราชากลับขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่, เร่งรัดทำการลำเลียงตามรับสั่ง ๚ะ

๏ ครั้นถึงเดือนสิบสองปีมเสงเอกศก, พระเจ้าหงษาวดี, ยกช้างม้ารี้พลมาโดยทางเมืองเชียงทองแลชุมพลทัพบกทัพเรือทั้งปวง ณเมืองกำแพงเพชร์, ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่, ก็ยกทัพลำเลียงมาถึงทัพพระเจ้าหงษาวดี. พลสองแสน, ช้างเครื่องพันหนึ่ง, ม้าเจ็ดพัน, แลเรือกะจังเหลาคาพันลำ. ฝ่ายทัพพระมหาอุปราชา, ช้างเครื่องสี่ร้อย, ม้าสามร้อย, พลห้าหมื่น. กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่เปนทัพลำเลียงเรือรบ,เรือลำเลียงห้าร้อย, พลสองหมื่น. พระเจ้าหงษาวดียกช้างม้ารี้พลลงมาถึงเมืองนครสวรรค์,ให้ทัพพระมหาอุปราชา,แลพระยาตองอูยกมาทางฟากตะวันออก. ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมทัพเรือ, ทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาฟากตวันตก. ๚ะ

๏ ถึงณวันพฤหัศเดือนยี่ขึ้นสองค่ำ, พระเจ้าหงษาวดีก็ยกทัพใหญ่เข้ามาตั้งมั่นตำบลขนอนปากคู, แลให้มังมอดลูกพระเจ้าหงษาวดีแลพระยาพระรามมาตั้งตำบลมขามหย่องทัพหนึ่ง, ให้ตั้งค่ายขุดคูเอามูลดินภูนค่ายขึ้นเปนกำแพงดิน. ให้พระยานครมาตั้งตำบลปากน้ำพุทธเลาทัพหนึ่ง, พลหมื่นห้าพัน. ให้นันทสุมาตั้งตำบลขนอนบางล้างฟากตวันออกทัพหนึ่งพลห้าพัน, เรือกะจังเหลาคาสี่ร้อยลำ. ฝ่ายพระมหาอุปราชา,แลพระยาตองอูก็ยกทัพมาโดยทางลพบุรีแลสระบุรี, แล้วเข้ามาตั้งทัพมั่นณตำบลชายเคือง.พระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ตรัสให้ตกแต่งการป้องกันพระนครนั้นมั่นคง, แล้วก็ให้ชุมท้าวพระยาพฤฒามาตย์, เสนามนตรีข้าทหารทั้งหลาย, จึ่งมีพระราชบริหารตรัสปฤกษาการศึกว่า พระเจ้าหงษาวดียกทัพมาคราวนี้ใหญ่หลวง, เหนจะได้รบพุงกันเปนสามารถ, ยิ่งกว่าศึกพระเจ้าเชียงใหม่ยกมาคราวก่อนนั้น. แลเราอย่าเพ่อยกกองทัพใหญ่ออกรบก่อน, ให้ท้าวพระยา พระหัวเมือง ทั้งหลาย ตรวจจัดพลทหารอาษา, กับทัพบกทัพเรือทั้งปวงให้สรัพไว้. แลจะแต่งพลทหารอาษาแต่เปนกองไป, ให้ราษฎรทั้งปวงเกี่ยวเข้า, ซึ่งเหลืออยู่ในท้องนาแขวงจังหวัดรอบพระนครนั้น, ให้ได้จงสิ้นเชิงก่อน, อย่าให้ฆ่าศึกได้เปนกำลัง, แล้วจึ่งจะยกทัพใหญ่ออกตีทีเดียว,มุขมนตรีเหนด้วย. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ตรัสให้แต่งขุนหมื่นทหารอาษาทั้งหลาย, ถือพลอาษาออกไปเปนหลายกอง,แล้วป่าวร้องให้ราษฎรทั้งปวงออกไปเกี่ยวเข้าทุกตำบล, แลพลทหารซึ่งออกไปกำกับให้เกี่ยวเข้านั้น,ได้รบพุ่งด้วยฆ่าศึก, ฆ่าศึกแตกพ่ายไป,ได้ศีศะเข้ามาถวายทุกวันมิได้ขาด. พระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ให้พระราชทานรางวัลแก่นายทัพนายกอง, แลทหารทั้งปรงโดยบำเหน็จอันได้รบพุ่งมากแลน้อยตามสมควร. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ