๒๙

๏ ครั้นถึงณะวันพุทธเดือนสิบขึ้นสิบสี่ค่ำปีจออัฐศก, กรมหมื่นเทพพิพิธจึ่งให้หม่อมเจ้าประยงกับหลวงมหาพิไชยหลวงปราบ,คุมไพร่สามสิบเสศ. กับพวกชาวบ้านซึ่งเข้ามาด้วยนั้น ยกลอบเข้าไปซุ่มอยู่ในเมือง ภอรุ่งขึ้นเปนวันพระ สิบห้าค่ำ, พระยานครราชสีมาไม่ทันรู้ตัว จะออกมาทำบุญที่วัดกลาง, ก็ยกกรูกันเข้าไปล้อมจวน, จับตัวพระยานครราชสีมาได้ก็ฆ่าเสีย, แต่หลวงแพ่งผู้น้องพระยานครราชสีมานั้น, โดดขึ้นม้าหนีออกจากเมืองทัน, หาจับตัวได้ไม่. หม่อมเจ้าประยงให้ยิงปืนใหญ่ขึ้นเปนฤกษ, แล้วเกนให้คนออกมารับเสดจกรมหมื่นเทพพิพิธ, เข้าไปในเมืองประทับอยู่ที่จวน. อยู่ประมาณห้าวัน, หลวงแพ่งไปชักชวนพระพิมาย, ซึ่งเปนเมืองขึ้นแก่เมืองนครราชสีมา, ยกกองทับเข้ามาล้อมเมืองนครราชสีมาเข้าไว้ กรมหมื่นเทพพิพิธให้เกนคนชาวเมืองขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิล, ได้คนน้อยเพราะชาวเมืองไม่เตมใจ หนีไปเสียมาก, ผู้คนซึ่งขึ้นอยู่รักษาน่าที่กำแพงนั้นเบาบางนัก, ต่อรบต้านทานอยู่ได้สี่วัน. พวกกองทับพระพิมาย, หลวงแพ่งก็ปีนเข้าเมืองได้, ข้างด้านป้อมวัดพายับ, จับได้ตัวหม่อมเจ้าประยง, เจ้าดารา, เจ้าธารา, บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ, กับพระพิไชยราชา, หลวงมหาพิไชย, แลขุนหมื่นนายหมวดนายกองฆ่าเสียเปนหลายคน. แลบุตรเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่เปนชายนั้น, ยังเหลืออยู่แต่หม่อมเจ้าที่น้อยน้อย, กับหม่อมเจ้าหญิง. แลนายแก่นพวกหลวงแพ่ง, ได้หม่อมเจ้าอุบลไปเปนภรรยา. นายย่นได้หม่อมเสนห้ามกรมหมื่นเทพพิพิธไปเปนภรรยา หลวงแพ่งให้ประหารชีวิตรกรมหมื่นเทพพิพิธเสีย, พระพิมายขอชีวิตรไว้. จึ่งเชิญเสดจไปอยู่ณเมืองพิมาย. หลวงแพ่งก็ได้เปนเจ้าเมืองนครราชสีมา แลพระพิมายนั้นรักษใคร่ นับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่า, เปนวงษราชกระกูล ช่วยทำนุบำรุงไว้. ครั้นรู้ข่าวว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้ว, พม่ากวาดเอาพระราชวงษานุวงษไปสิ้น, จึ่งยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเปนเจ้าแผ่นดิน, สืบพระวงษพระเจ้าแผ่นดินต่อไปเรียกว่าเจ้าพิมาย เจ้าพิมายจึ่งตั้งพระพิมายเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงษผู้สำเร็จราชการ. ตั้งนายสาบุตรผู้ใหญ่เปนพระยามหามนตรี, ตั้งบุตรผู้น้อยเปนพระยาวรวงษาธิราชเรียกว่าพระยาน้อย ๚ะ

๏ ในขณะเมื่อกรุงเสียแล้วนั้น, พวกข้าราชการแลเชื้อวงษผู้ดีณกรุงหนีขึ้นไปอยู่กับพระเจ้าพิมายเปนอันมาก, จึ่งโปรดตั้งให้เปนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่คุณานุรูป, แต่ยังหาครบตามตำแหน่งไม่. แลเจ้าพระยาศรีสุริยวงษจึ่งคิดกับบุตรทั้งสองว่า จะจับหลวงแพ่งเจ้าเมืองนครราชสีมาฆ่าเสียให้สิ้นเสี้ยนหนาม ขณะนั้นหลวงแพ่งทำบุญให้มีลคร เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ, กับพระยาทั้งสองผู้บุตรรู้, จึ่งภาทหารซึ่งมีฝีมือสิบคนกับไพร่พลห้าร้อย, ยกจากเมืองพิมายมาณะเมืองนครราชสีมา ฝ่ายหลวงแพ่งไม่ทันรู้ตัวว่าเขาคิดร้าย, ไว้ใจอยู่ว่าเปนมิตรกัน. แลพระยาทั้งสามก็เข้านั่งดูละครด้วยกันกับหลวงแพ่ง. ครั้นได้ทีเจ้าพระยาศรีสุริยวงษก็ฟันหลวงแพ่ง, พระยามหามนตรีฟันนายแก่น, พระยาวรวงษาธิราชฟันนายย่นตายทั้งสามคน. พวกทหารเมืองพิมายก็ฆ่าฟันทหารเมืองนครราชสีมาตายเปนอันมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงษให้พระยาวรวงษาธิราชตั้งอยู่ณะบ้านจ่อหอ, รักษาเมืองนครราชสีมา. แล้วเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ, แลพระยามหามนตรีก็กลับไปยังเมืองพิมาย ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนบำรุงอาณาประชาราฎร,แลทแกล้วทหารให้มีกำลังสมบุญบริบูรณ์, แลอาณาเขตรเมืองพิมายก็แบ่งออกเปนส่วนหนึ่ง ตั้งแต่แขวงหัวเมืองตะวันออกฝ่ายดอน ไปจนกระทั่งถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต, แลกรุงกำพูชาธิบดี. ฝ่ายใต้ลงมาถึงเมืองสระบุรีตลอดลำน้ำแควป่าสัก. แลแผ่นดินครั้งนั้นแบ่งออกเปนหลายส่วนหลายเจ้า. ข้างฝ่ายเหนือก็เปนสองส่วน, คือเมืองพระพิศณุโลกยส่วนหนึ่ง, เมืองสว่างคบุรีส่วนหนึ่ง, ข้างฝ่ายใต้ก็เปนสองส่วน, คือเมืองจันทบุรีฝั่งทเลฟากตะวันออกส่วนหนึ่ง, เมืองนครศรีธรรมราชฝั่งทเลฟากตะวันตกส่วนหนึ่ง ข้างฝ่ายดอนด้านตะวันออกนั้น, คือเมืองพิมายส่วนหนึ่ง แลแผ่นดินส่วนกลาง เปนของพระนายกองโพสามต้นส่วนหนึ่ง, เปนหกแดน, หกเจ้าด้วยกัน. ๚ะ

๏ ในขณะนั้นฝ่ายเจ้าตากซึ่งตั้งอยู่ณะเมืองจันทบุรีต่อเรือรบสำเร็จ, ได้ทราบข่าวว่ากรุงเทพมหานครเสียแก่พม่าแล้ว, สมณพราหมณาจาริยแลราชกระกูลสุริยวงษา, เสนาอำมาตย์ประชาราษฎรถึงซึ่งพินาศฉิบหาย, พม่ากวาดเอาไปเปนอันมาก ที่เหลืออยู่ก็ได้รับความทุกข์ลำบากอดอาหารล้มตาย, แลฆ่าฟันกันทุกแห่งทุกตำบล, เพราะหาพระเจ้าแผ่นดินมิได้, พม่าตั้งพระนายกองไว้รั้งกรุงเทพมหานคร. บันดาหัวเมืองทั้งปวงก็คิดกำเริบก่อเกิดอหังการ, ตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นเปนหลายเมือง. แผ่นดินแบ่งออกเปนหลายส่วน, เกิดจลาจลรบพุ่งกันเปนหลายพวก. แลสมณพราหมณาไพร่ฟ้าประชากร, ได้ความเดือดร้อนหาที่พึ่งมิได้, ทรงพระดำริหจะปราบยุคเข็ญซึ่งเปนจลาจลให้สงบราบคาบ, แลจะก่อกู้กรุงเทพมหานครให้คืนคงเปนราชธานี, มีพระราชอาณาเขตรปกแผ่ไปเปนแผ่นดินเดียว, ทั่วจังหวัดแว่นแคว้นแดนสยามประเทศเหมือนดั่งเก่า. จึ่งดำรัสสั่งนายทับนายกองทั้งปวง, ให้ตรวจเตรียมเรือรบครบด้วยพลโยธาสรรพาวุธปืนใหญ่น้อย, แลเรือลำเลียงเสบียงอาหารให้พร้อมเสรจ. แล้วตั้งข้าหลวงเดิมผู้มีความชอบอยู่ครองเมืองจันทบุรี, แลเมืองระยองทั้งสองหัวเมืองนั้น. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณะเดือนสิบเบดปีกุนนพศกนั้น, จึ่งเสด็จยาตราพลทับเรือร้อยลำเศส, พลทหารประมาณห้าพัน, ยกจากเมืองจันทบูรีมาทางทเล, ได้ทราบข่าวว่าพระยาอนุราชเจ้าเมืองชลบุรี, กับหลวงพลขุนอินเชียงมิได้ละพยศอันร้าย, กลับกระทำโจรกรรม ออกตีชิงสำเภาแลเรือลูกค้าวาณิชเหมือนแต่ก่อน, มิได้ตั้งอยู่ในธรรโมวาท, ซี่งมีพระประสารทสั่งสอนนั้น, จึ่งให้อยุดทับเรือเข้าประทับณะเมืองชลบุรี. แล้วให้หาพระยาอนุราชลงมาเข้าเฝ้าณเรือพระที่นั่ง ตรัสถามก็รับเปนสัตย์, จึ่งสั่งให้ขุนนางนายทหารไทยจีนจับพระยาอนุราชประหารชีวิตรเสีย. แลพระยาอนุราชคงกระพันในตัวแทงฟันหาเข้าไม่, เพราะด้วยสดือเปนทองแดง. จึงให้พันทนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทเลก็ถึงแก่กรรม. แล้วให้จับหลวงพลแลขุนอินเชียง, ซึ่งร่วมคิดกระทำโจรกรรมด้วยกันนั้นประหารชีวิตรเสีย. จึ่งตั้งผู้มีความชอบเปนเจ้าเมืองกรมการขึ้นใหม่, ให้อยู่รักษาเมืองชลบุรี. แล้วก็เสด็จยกพลทับเรือเข้ามาทางปากน้ำเมืองสมุทธปราการ, ถึงเมืองธนบุรี. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าทองอินซึ่งพะม่าตั้งไว้ให้รักษาเมืองธนนั้น, ก็ภาพวกพลออกต่อรบประมาณครู่หนึ่งก็แตกพ่าย. พลข้าหลวงจับตัวได้ก็ฆ่าเสีย. แลกรมการทั้งนั้นก็หนีไปในเพลากลางคืน, ขึ้นไป ณะค่ายโพสามต้นแจ้งความแก่สุกี้พระนายกอง, พระนายกองจึ่งจัดพลทหารไทยมอญให้ม่องญาเปนนายทับ, ยกทับเรือมาตั้งรับอยู่ณะเพนียด ในเพลากลางคืนวันนั้นเรือรบพระยากะลาโหม, ซึ่งบันทุกกระสุนดินดำมานั้นล่มลง. จึ่งให้ลงพระอาญาเฆี่ยนพระยากะลาโหม, แลขุนนางฝ่ายทหารเปนหลายคน. แล้วตรัสสั่งให้เร่งรีบยกทับเรือขึ้นไปณะกรุงในเพลากลางคืน. แลม่องญานายทับโพสามต้นนั้นรู้ข่าวว่า,ทับหลวงยกขึ้นมาถึงกรุงเทพแล้ว, ก็เกรงกลัวพระเดชานุภาพมิได้ตั้งอยู่สู้รบ, ก็ถอยหนีไปณะค่ายโพสามต้น ครั้นรุ่งเช้าเปนวันเดือนสิบสองข้างขึ้นเพลาสามโมงเสศ, ให้พลทหารยกเข้าตีค่ายโพสามต้นฟากตวันออกแตก. จึ่งตรัสสั่งให้ทำบันไดจะพาดเข้าปีนค่ายใหญ่ฟากตะวันตก, ซึ่งมีกำแพงที่พระนายกองอยู่นั้น แลกองพระยาพิพิธ, พระยาพิไชย, ทับจีนเปนกองน่ายกเข้าตั้งค่ายประชิดณะวัดกลาง, ห่างค่ายใหญ่ประมาณเจดเส้น,แปดเส้น. ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึ่งดำรัศให้ทับจีนกองน่า ยกเข้าตีค่ายพระนายกอง. พระนายกองก็คุมพลทหารออกต่อรบ, รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาเที่ยง พวกพระนายกองพ่ายหนีเข้าค่าย. ทับจีนไล่ติดตามเข้าไปในค่าย, พระนายกองสู้รบอยู่จนตัวตายในค่ายนั้น. พวกพลทับจีนไล่ฆ่าฟันพลทหารพระนายกองล้มตายในค่ายนั้นเปนอันมาก. ที่เหลืออยู่ก็แตกหนีไปจากค่าย, แต่ม่องยานั้นภาพักพวกทหารของตัวหนีขึ้นไปณะเมืองนครราชสีมา, ไปเข้าด้วยพระยาวรวงษาธิราช ซึ่งตั้งอยู่ด่านจ่อหอนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าตากครั้นตีได้ค่ายโพสามต้นแล้ว, จึ่งเสด็จด้วยพลโยธาทหารแห่เข้าไปในค่าย, ประทับอยนู่ณะจวนพระนายกอง. จึ่งพระยาธิเบศบดี ขุนนางเก่าในกรุงเทพมหานคร, ซึ่งตกอยู่ณะค่ายโพสามต้นนั้น, มากราบถวายบังคมต้อนรับ จึ่งตรัสสั่งมิให้พลทหารกระทำอันตรายแก่ผู้คนครอบครัวทั้งปวงอันอยู่ในค่าย, แลได้ทรงเหนราชกระกูล, แลข้าราชการเก่าในกรุง, ซึ่งได้ความทุกขทุรพลลำบาก, ก็ทรงพระกรุณาสังเวศ, จึ่งพระราชทานทรัพย์แลสิ่งของต่างๆ, แก่พวกขุนนางเก่ากับทั้งพระราชวงษานุวงษทั้งนั้น, แล้วเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลาประทับอยู่ในพระนคร, ให้ไปขุดพระสพพระเจ้าแผ่นดินซึ่งพระนายกองฝังไว้นั้น. กระทำพระโกษฐตามสังเขปใส่พระสพ, แลให้ทำพระเมรุหุ้มด้วยผ้าขาวแล้ว, เชิญพระบรมโกษฐเข้าตั้งที่ในพระเมรุ, ตั้งเครื่องบูชาสักการภอสมควร, ให้เที่ยวนิมนต์พระสงฆ์ซึ่งเหลืออยู่บ้างนั้นมาสดัปกรณ์, ทรงถวายไทยทานตามสมควร, แล้วก็ถวายพระเพลิง. ๚ะ

๏ ครั้นปลงพระสพเสรจแล้ว, จึ่งเสดจทรงช้างพระที่นั่ง, ไปเที่ยวประภาศทอดพระเนตรทั่วพระนครแลในพระราชวัง, เหนปราสารท, แลตำหนักใหญ่น้อยที่ข้างน่าข้างใน, แลอาวาศบ้านเรือนทั้งปวงในกรุงนั้น. เพลิงไหม้เสียบ้าง, ยังดีอยู่บ้าง, ก็ทรงพระสังเวศ, ดำริหจะกระทำปฏิสังขรณขึ้นให้ปรกติดีดังแต่ก่อน, แล้วจะรวบรวมไพร่ฟ้าประชากรแลสมณพราหมณาจาริยเข้ามาอยู่ในพระนครตามเดิม, จะเสด็จเข้าตั้งดำรงราชอาณาจักรสืบกระษัตริย, ครอบครองรักษาแผ่นดินต่อไป. จะก่อกู้กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา ซึ่งถึงกาลประไลยไปแล้วนั้น, ให้กลับคืนคงเปนราชธานีดังเก่า ก็เสดจเข้าประทับแรมอยู่ณะพระที่นั่งทรงปืนที่เสดจออก,บันทมอยู่คืนหนึ่ง, จึ่งทรงพระสุบินนิมิตว่า, พระมหากระษัตริยแต่ก่อนมาขับไล่เสียมิให้อยู่. ครั้นรุ่งเช้าจึ่งตรัสเล่าพระสุบินให้ขุนนางทั้งปวงฟัง, แล้วจึ่งดำรัสว่าเราคิดสังเวศ, เหนว่าบ้านเมืองจะร้างรกเปนป่า, จะมาช่วยปะฏิสังขรณทำนุบำรุงขึ้นให้บริบูรณดีดั่งเก่า. เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่แล้ว, เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด. แล้วตรัสสั่งให้เลิกกองทับกวาดต้อนราษฎร, แลสมณพราหมณาจาริยทั้งปวง,กับทั้งโบราณขัติยวงษซึ่งยังเหลืออยู่นั้น, ก็เสดจกลับลงมาตั้งอยู่ณะเมืองธนบุรี แลให้ไปเที่ยวสืบหาพวกพระญาติพระวงษ์ของพระองค์, ซึ่งพลัดพรากกันไป,ไปได้มาจากเมืองลพบุรี, รับลงมาณะเมืองธนบุรี. แล้วให้ปลูกสร้างพระราชวัง แลพระตำหนักข้างน่าข้างในใหญ่น้อยทั้งปวงสำเร็จบริบูรณ์. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๐ ปีชวดสัมฤทธิศก, จึ่งท้าวพระยาข้าราชการจีนไทยผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง, ก็ปฤกษาพร้อมกันอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ, เปนบรมกระษัตริยผ่านพิภพสีมาณะกรุงธนบุรี, ตั้งขึ้นเปนราชธานีสืบไป. ทรงพระกรุณาให้แจกจ่ายอาหาร, แก่ราษฎรทั้งหลายซึ่งอดโซรอนาถา,ทั่วสีมามณฑล, เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่าหมื่น. บันดาข้าราชการฝ่ายทหาร,พลเรือนไทยจีนทั้งปวงนั้น, ได้รับพระราชทานเข้าสารเสมอคนละถังกินคนละญี่สิบวัน. ครั้งนั้นยังหามีผู้ใดทำไร่นาไม่, อาหารกันดารนัก, แลสำเภาบันทุกเข้าสารมาแต่เมืองพุทไธมาศ, จำหน่วยถังละสามบาทสี่บาทห้าบาทบ้าง ทรงพระกรุณาให้ซื้อแจกคนทั้งปวง. โดยพระราชอุษาหโปรดเลี้ยงสัตว์โลกยพระราชทานชีวิตรไว้,มิได้อาไลยแก่พระราชทรัพย, แล้วแจกจ่ายเสื้อผ้าเงินตรา, แก่ไพร่ฟ้าประชาชนจักนับมิได้. แลทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงตั้งแต่งขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย, ครบตามตำแหน่งถานานุศักดิ์ หมือนแต่ก่อน. แล้วโปรดตั้งเจ้าเมืองกรมการให้ออกไปครองหัวเมืองใหญ่น้อย, ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตรใกล้ๆ นั้นทุกๆ เมือง ให้ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมอาณาประชาราษฎร, ซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นไปนั้น, ให้กลับมาอยู่ตามภูมลำเนาเหมือนแต่ก่อนทุกบ้านทุกเมือง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระมหามนตรี จึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า, จะขอไปรับหลวงยกกระบัตราชบุรีผู้พี่นั้น เข้ามาถวายตัวทำราชการ. จึ่งโปรดให้ออกไปรับเข้ามา, แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เปนพระราชวรินท์. ๚ะ

๏ ในปีชวดสัมฤทธิศกนั้น, ฝ่ายพระเจ้าอังวะให้มีหนังสือรับสั่งลงมากับแมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวาย, ให้ยกกองทับเข้ามาสืบดูเมืองไทยว่าจะราบคาบอยู่ฤๅจะกำเริบขึ้นประการใดบ้าง, แมงกี้มารหญ่าก็คุมพลทหารเมืองทวายสองหมื่น, ยกเข้ามาทางเมืองไชยโยก, แลเรือรบเก่ายังอยู่ที่นั้น. จึ่งยกทับบกทับเรือลงมาณะค่ายฅอกระออม, แล้วก็ยกเลื่อนลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งใกล้จะเสียอยู่แล้ว, กรมการเมืองสมุทธสงครามบอกเข้ามาให้กราบทูล ครั้นได้ทราบจึ่งโปรดให้พระมหามนตรีเปนกองน่า, เสด็จยกทับหลวงไปทางชลทารคถึงเมืองสมุทธสงคราม, ให้ทับน่าเข้าโจมตีกองทับพม่าก็แตกฉานทั้งสิ้นในเพลาเดียว, พลทหารไทยไล่ตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายในน้ำในบกเปนอันมาก. ทับพม่าพ่ายหนีกลับไปทางด่านเจ้าขว้าวไปยังเมืองทวาย, เก็บได้เครื่องสาตราวุธแลเรือรบเรือไล่ครั้งนั้นเปน อันมาก แล้วเสด็จเลิก ทับกลับยังกรุงธนบุรี แลพระเกียรติยศก็ปรากฎขจรไปในสยาม ประเทศทุกๆเมือง ๚ะ

๏ ในขณะนั้นบันดานายชุมนุมทั้งปวง ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่ในแขวงอำเภอหัวเมืองต่างๆ, แลรบพุ่งชิงอาหารกันอยู่แต่ก่อนนั้น, ก็สงบราบคาบลงทุกๆแห่ง, มิได้เบียดเบียลแก่กันสืบไป, ต่างๆ เข้ามาถวายตัวเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ได้รับพระราชทานเงินทองแลเสื้อผ้า, แลโปรดชุบเลี้ยงให้เปนขุนนางในกรุงแลหัวเมืองบ้าง, บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย, แลราษฎรก็ได้ตั้งทำไร่นา, ลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเปนศุข, เข้าปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณขึ้น, คนทั้งหลายก็ค่อยได้บำเพ็ญการกุศลต่างๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธสาศนา, ก็ได้รับบิณฑบาตรจตุปัจจัยค่อยได้ความศุขบริบูรณ์, เปนกำลังเล่าเรียนบำเพ็ญเพียรในสมณกิจ, ฝ่ายคัณฐธุระ, วิปัศนาธุระทั้งปวงต่าง ๆ. ๚ะ

๏ ในปีชวดสัมฤทธิศกนั้น, สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหว่า, พระพุทธสาศนาจักวัฒนาการรุ่งเรืองนั้น, เพราะอาไศรยจตุบรรพสัตวทั้งสี่ประฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาท. แลพระสงค์ทุกวันนี้ยังประฏิบัติในจัตุปาริสุทธศิลบมิได้บริบูรณ์, เพราะเหตุหาพระราชาคณะซึ่งจะทรงพระปริยัติธรรมแลสมถะวิปัศนา,จะสั่งสอนบมิได้. จึ่งมีพระราชโองการสั่งพระศรีภูริปรีชาราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์, ให้สืบเสาะหาพระสงฆ์เถรานุเถรผู้รู้อรรถธรรมยังมีอยู่ที่ใดบ้าง, ให้ไปเที่ยวนิมนต์มาประชุมกันณะวัดบางว้าใหญ่, ตั้งแต่งขึ้นเปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย, โดยสมควรแก่คุณานุรูปตามตำแหน่งเหมือนเมื่อครั้งกรุงเก่านั้น. แลพระศรีภูรีปรีชาก็สืบหาได้พระเถรานุเถรซึ่งเปนพระราชาคณะบ้าง, เปนเปรียญบ้าง, เปนอาจาริยผู้บอกบ้าง, แต่ครั้งกรุงเก่านั้นได้มาหลายรูป, ประชุมณวัดบางว้าใหญ่, แล้วปฤกษาพร้อมกัน, ตั้งพระอาจาริยดีวัดประดู่รู้คุณธรรมมาก, ทั้งแก่พรรษาอายุ, เปนสมเด็จพระสังฆราช. แล้วตั้งพระเถรานุเถรทั้งนั้น, เปนพระราชาคณะ, ถานานุกรมผู้ใหญ่ผู้น้อย, ตามลำดับสมณถานันดรศักดิ์เหมือนอย่างแต่ก่อน, ให้อยู่ในพระอารามต่างๆ ในจังหวัดกรุงธนบุรี, บังคับบัญชาแลสั่งสอนบอกกล่าว, ฝ่ายคันฐธุร,แลวิปัศนาธุระ, แก่พระสงฆสามเณรทั้งปวง. แล้วทรงพระราชศรัทธาจ้างข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน, สร้างพระอุโบสถวิหารแลเสนาศนะกุฏี, หลายพระอารามมากกว่าสองร้อยหลัง, สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก. แล้วตรัสเผดียงตักเตือนถวายพระราชโอวาทไว้ว่า, ขอพระผู้เปนเจ้าทั้งปวงจงตั้งใจประฏิบัติสำรวมรักษาในพระจตุปาริสุทธศิล ให้บริสุทธผ่องใสอย่าให้เศร้าหมอง, แม้นพระผู้เปนเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยสิ่งใดนั้น, เปนธุระโยมจะรับอุปถากผู้เปนเจ้าทั้งปวง. แม้นถึงจะปราถนามังษแลรุธิระของโยม, โยมก็อาจสามารถเชือดเนื้อแลโลหิต, ออกถวายเปนอัชฌัติกะทานได้. แล้วทรงพระราชดำริหว่า, พระพุทธสาศนาจะรุ่งเรืองเจริญจีรถีติการนั้น, ก็อาไศรยกุลบุตรเล่าเรียนพระปริญัติธรรม. จึ่งทรงพระกรุณาให้สังฆการี, ธรรมการทำสารบาญชี, พระสงฆ์รูปใดที่บอกที่เรียนพระไตรยปิีฎกมาก, ก็ทรงถวายไตรจีวรผ้าเทศเนื้อเลอียด, แล้วทรงถวายปัจจัยแก่เถรเณรตามที่เล่าเรียนได้มากแลน้อย. อนึ่งให้โปรยปรายพระราชทรัพย์, แลแจกทานแก่ยาจกทุกวันอุโบสถแปดค่ำ, สิบห้าค่ำ แล้วตั้งโรงทานไว้สำหรับแจกคนโซรทั้งปวง ๚ะ

๏ ในปีชวดสัมฤทธศกนั้น, สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว, เสด็จยกพยุหโยธาไทยจีนพร้อมสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งทางบกทางเรือ, ขึ้นไปตีเมืองพระพิศณุโลกยถึงตำบลเกยไชย. แลเจ้าพระพิศณุโลกยเรืองได้ทราบข่าวศึก, จึ่งแต่งให้หลวงโกษายัง, ยกกองทับลงมาตั้งรับได้รบกันเปนสามารถ, ข้าศึกยิงปืนมาต้องพระฌงค์เบื้องซ้าย, จึ่งให้ล่าทับหลวงกลับมายังกรุงธนบุรี. ครั้นประชวนหายแล้วได้ทราบข่าวว่า, ม่องยาปลัดพระนายกองค่ายโพสามต้น, หนีขึ้นไปเข้าพวกกรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพระพิมาย, จึ่งเสดจยกทับหลวงขึ้นไปตีเมืองนครราชสีมา. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าพิมายได้ทราบข่าวศึก, จึ่งแต่งให้พระยาวรวงษาธิราช,ซึ่งเรียกว่าพระยาน้อย,ยกกองทับลงมาตั้งค่ายรับอยู่ณะด่านขุนทดทางหนึ่ง, ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ, พระยามหามนตรี, กับทั้งม่องยา, ยกกองทับมาตั้งค่ายรับอยู่ณะบ้านจ่อหอทางหนึ่ง. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้พระมหามนตรี, แลพระราชวรินทร์, ยกกองทับขึ้นไปตีทับพระยาวรวงษาธิราช, ซึ่งตั้งอยู่ณะด่านขุนทดนั้น, แล้วเสดจยกทับหลวงขึ้นทางด่านจ่อหอ, เข้าตีทับเจ้าพระยาศรีสุริยวง,ๆ ออกต่อรบเปนสามารถ. พลทับหลวงเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้, ไล่ฆ่าฟันพลทหารเมืองพิมายล้มตายเปนอันมาก. พวกข้าศึกแตกพ่ายหนี,ไปจับได้ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ, แลพระยามหามนตรี, กับทั้งม่องญาด้วย, ดำรัศสั่งให้ประหารชีวิตรเสียทั้งสามนาย. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระมหามนตรี, พระราชวรินทร์ก็ยกเข้าตีค่ายด่านขุนทด. แลพระยาวรวงษาธิราชต่อรบต้านทานเปนสามารถ, รบกันอยู่เปนหลายวัน, พลข้าหลวงจึ่งเข้าหักเอาค่ายข้าศึกได้. แลพระยาวรวงษาธิราชก็แตกพ่ายหนีไปณะเมืองเสียมราบแดนกรุงกัมพูชาธิบดี. จึ่งตำรัศให้พระมหามนตรี, พระราชวรินทร์ยกติดตามไปตีเมืองเสียมราบได้. แต่พระยาวรวงษาธิราชนั้นหนีสูญไปหาได้ตัวไม่, จึ่งเลิกทับกลับมาเฝ้าณะเมืองนครราชสีมา ๚ะ

๏ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบว่า, เสียพระยาทั้งสามแล้ว, ก็ตกพระไทยมิได้ตั้งอยู่สู้รบ, ภาพักพวกหนีไปจากเมืองพิมาย, จะขึ้นไปแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต. จึ่งขุนชนะชาวเมืองนครราชสีมา, ไปติดตามจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้กับทั้งบุตรภรรยา, คุมเอาตัวจำมาถวาย. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งขุนชนะให้เปนพระยากำแหงสงคราม, ครองเมืองนครราชสีมา. พระราชทานเครื่องยศ, แลบำเหนจรังวัลเปนอันมากสมควรแก่ความชอบ. แล้วเสดจเลิกทับหลวงกลับยังกรุงธนบุรี, จึ่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาน่าพระที่นั่ง. แลกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม, จึ่งตำรัศว่าตัวเจ้าบุญวาศนาบารมีมิได้, ไปอยู่ที่ใดก็ภาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น. ครั้นจะเลี้ยงเจ้าไว้, ก็จะพาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก, เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด. อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างน่าอีกเลย. แล้วตำรัศสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตรเสีย. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหนจตั้งพระราชวรินทรผู้พี่เปนพระยาอไภยรณฤทธิ. จางวางพระตำหรวจฝ่ายขวา ตั้งพระมหามนตรีผู้น้องเปนพระยาอนุชิตราชา. จางวางพระตำหรวจฝ่ายซ้าย สมควรแก่มีความชอบในการสงครามนั้น. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณะวันอังคารเดือนอ้ายแรมสี่ค่ำปีชวดสัมฤทธิศก, เพลาเช้าโมงเสศเสดจออกณะท้องพระโรง, พร้อมด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายผู้ใหญ่ผู้น้อย, เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยอันดับ. จึ่งมีพระราชดำรัศประภาษด้วยเรื่องคดี, จีนแสงซื้อเอาทองพระพุทธรูปไปลงสำเภา, ตรัสสั่งให้ลูกขุนปฤกษาโทษ, ในขณะนั้นบังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว, อยู่ช้านานประมาณสองโมงเสศ. ๚ะ

๏ ในปีชวดสัมฤทธิศกนั้น. ฝ่ายเจ้าพระพิศณุโลกย์เรือง, เมื่อมีไชยชำนะแก่ข้าศึกฝ่ายใต้แล้ว, ก็มีน้ำใจกำเริบถือตัวว่ามีบุญาธิการมาก. จึ่งตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าแผ่นดิน, รับพระราชโองการอยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน, ก็บังเกิดวัณโรคขึ้นในฅอถึงพิราไลย. จึ่งพระอินท์อากรผู้น้องก็กระทำฌาปนะกิจปลงสพเสรจแล้ว, ก็ได้ครองเมืองพระพิศณุโลกยสืบไป, แต่หาตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าไม่, ด้วยกลัวจะเปนจันไรเหมือนพี่ชายซึ่งตายไปนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ข่าวว่า, เจ้าพระพิศณุโลกยเรืองถึงพิราไลยแล้ว, จึ่งยกกองทับลงมาตีเมืองพระพิศณุโลกยอีก, ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ. แลพระอินท์เจ้าเมืองพระพิศณุโลกยใหม่นั้นฝีมืออ่อน, มิได้แกล้วกล้าในการสงคราม, ต่อรบต้านทานอยู่ได้ประมาณสามเดือน, ชาวเมืองไม่สู้รักษใคร่นับถือ. ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง, เปิดประตูเมืองรับฆ่าศึกในเพลากลางคืน. ทับฝางก็เข้าเมืองได้, จับได้ตัวพระอินทเจ้าเมืองพระพิศณุโลกย์. เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตรเสีย, แล้วเอาสพขึ้นประจานไว้ในเมือง. จึ่งให้เก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินต่างๆ, ของเจ้าเมืองกรมการ, แลชาวเมืองทั้งปวงได้เปนอันมาก. แล้วให้ขนเอาปืนใหญ่น้อย, แลกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพระพิศณุโลกย์, ขึ้นไปยังเมืองสว่างบุรี, แล้วก็เลิกทับกลับไปเมือง. ขณะนั้นบันดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น, ก็เปนสิทธิ์แก่เจ้าพระฝางสิ้น. แลประชาชนชาวเมืองพระพิศณุโลกย์, เมืองพิจิตร, ที่แตกหนีภาครอบครัวอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร, ณะกรุงธนบุรีก็เปนอันมาก. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก, ถึงณะวันเสารเดือนห้าขึ้นสองค่ำ, เพลากลางคืนดึกประมาณสองยาม, บังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหวอีกครั้งหนึ่ง, แต่ไหวน้อยกว่าครั้งก่อน ๚ะ

๏ ในปีฉลูเอกศกนั้น, ฝ่ายข้างมลาประเทศกรุงศรีสัตนาคนหุต, กับเมืองหลวงพระบางเปนอริแก่กัน, พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, เกรงเมืองหลวงพระบางจะยกทับมาตีเอาเมือง, จึ่งแต่งราชบุตรชื่อจ้าวหน่อเมือง, ให้ขุนนางนำเอาไปถวายพระเจ้าอังวะ, กับทั้งเครื่องราชบรรณาการ, ขอเปนเมืองขึ้นข้าขอบขันธสีมาแก่กรุงรัตนบุระอังวะ. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงธนบุรีขณะนั้น, มีผู้เปนโจทย์ฟ้องกล่าวโทษสมเด็จพระสังฆราชว่า, แต่ครั้งอยู่ในค่ายพระนายกองโพสามต้นนั้น, ได้คิดอ่านกับพระนายกอง, บอกให้เร่งรัดเอาทรัพย์แก่ชาวเมืองซึ่งตกอยู่ในค่าย, ส่อว่าผู้นั้นๆ มั่งมีๆทรัพย์มาก. ครั้นกราบทูลพระกรุณาขึ้นตามคำโจทย์ฟ้อง, จึ่งดำรัศให้พระยาพระเสดจชำระ. ถามสมเดจพระสังฆราช,ๆไม่รับ. จึ่งโปรดให้พิสูทธลุยเพลิงชำระตัวให้บริสุทธิ์เหนความจริง, แลสมเด็จพระสังฆราชแพ้แก่พิสูทธเพลิง, จึ่งดำรัศให้สึกเสีย. อนึ่งสามเณรสิษพระพนรัตน์ก็มาฟ้องกล่าวโทษว่า, พระพนรัตน์สร้องเสพเมถุนธรรมทางเว็จมัคแห่งตน. จึ่งโปรดให้พิจารณารับเปนสัจให้ศึกเสีย, แล้วเอามาตั้งเปนหลวงธรรมรักษา, เจ้ากรมสังฆการี. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันอาทิตย์เดือนสามแรมหกค่ำ, แขกเมืองลาวเมืองหล่มสักลงมาสู่พระบรมโพธิสมภาร, นำเอาช้างช้างอนึ่ง, ม้าห้าม้ามาทูลเกล้าฯ ถวายขอเปนข้าขอบขันธสีมา. อนึ่งในปลายปีฉลูเอกศกนั้น, บังเกิดทุพภิกขไภยเข้าแพง, เข้าสารเปนเกวียนละสองชั่ง, อาณาประชาราษขัดสนกันดารด้วยอาหารนัก. จึ่งทรงพระกรุณาสั่งให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันทำนาปรังทุกแห่งทุกตำบล. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณะวันจันทร์เดือนสามแรมสิบสี่ค่ำ, กรมการเมืองจันทบุรีส่งหนังสือบอกเข้ามาว่า, กองทับเมืองพุทไธมาศ, จะยกเข้ามาตีกรุงเทพมหานคร. จึ่งโปรดให้พระยาพิไชยจีนเปนที่โกสาธิบดี, ให้ลงไปตั้งค่ายณะพระประแดง, แลปากน้ำเมืองสาครบุรี, เมืองสมุทสงคราม. แลข่าวทับญวนนั้นก็สงบไปหายกเข้ามาตีกรุงเทพมหานครไม่. แลในปีฉลูเอกศกนั้น, ยังเกิดหนูมาก,เข้ากินเข้าในยุ้งฉางสิ่งของทั้งปวงต่างๆ จึ่งมีรับสั่งให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรทั้งหลาย,ดักหนูมาส่งแก่กรมพระนครบาลทุกวันทุกวัน, หนูก็สงบเสื่อมสูญไป. ๚ะ

๏ อนึ่งซึ่งพระขัติยวงษครั้งกรุงเก่านั้น, บันดาเจ้าหญิงทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้ในพระราชวัง. แลเจ้าฟ้าสุริยา, เจ้าฟ้าจันทวะดี, สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์. ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวะดี, พระองค์เจ้าฟักทอง, พระองค์เจ้าทับทิม, ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบุูรีนั้น แลเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง, โปรดให้ชื่อเจ้าประทุม. หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร, โปรดให้ชื่อเจ้าบุบผา. กับหม่อมเจ้าอุบลบุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจิตร, ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเปนห้าม. ๚ะ

๏ ถึงวันจันทรเดือนเจ็ดแรมค่ำหนึ่ง, ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก, หม่อมเจ้าอุบลบุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ, หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจิตร กับนางลคอนสี่คน, เปนชู้กับฝารั่งมหาดเล็กสองคน. พิจารณาเปนสัจแล้ว, สั่งให้ฝีภายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน, แล้วตัดแขน, ตัดศีศะ, ผ่าอกเสียทั้งชายทั้งหญิง, อย่าให้ใครดูเยี่ยงกันสืบต่อไป. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๒๙ สมุดไทย ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ