๓๗

๏ ฝ่ายนายกองทับพม่าได้แจ้งข่าวว่า, ทับกรุงเทพฯยกออกมา, แลแก่งหวุ่นแมงยีแม่ทับ, จึ่งให้เนมโยคุงนรัดนายทับนายกองๆน่า, ยกกองทับกลับเข้ามาต่อรบทับกรุงฯ, แล้วแม่ทับก็ยกทับใหญ่หนุนมา. แลกองน่าพม่ามาประทะทับไทยณเมืองไชยา, ยังมิทันจะตั้งค่าย. ทับไทยก็เข้าล้อมไว้รอบ, ขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงตั้งแต่เช้าจนค่ำ. ภอฝนห่าใหญ่ตกยิงปืนมิออก, ทับพม่าก็แหกหนีไปได้. แต่ตองพยุงโบ่นายทับคนหนึ่งต้องปืนตายในที่รบ. พลทหารไทยไล่ติดตามพม่าไปในเพลากลางคืน, ฆ่าฟันพม่าเสียเปนอันมาก. พม่ามิได้รั้งรอต่อรบ,แตกกระจัดพรัดพรายกันไปสิ้น, ที่จับเปนได้ก็มาก. แลแม่ทับพม่าซึ่งยกหนุนมารู้ว่า, ทับน่าแตกแล้ว, ก็มิได้ยกมาสู้รบ, เร่งรีบบากทางหนีไปข้างตวันตก. กองทับไทยได้ไชยชำนะแล้ว, ก็บอกมากราบทูลยังค่ายหลวงณเมืองชุมพร, แลส่งพม่าชเลยทั้งปวงมาถวาย. ๚ะ

๏ ขณะนั้นเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง, ซึ่งหนีพม่าไปนั้น,ก็กลับมาเฝ้าทั้งสิ้น. จึ่งมีพระราชบัณฑูลตรัสสั่งให้รวบรวมราษฎรหัวเมือง, แลครอบครัวทั้งหลาย,ซึ่งแตกฉานซ่านเซนหนีพม่าไปนั้น, ให้กลับมาอยู่บ้านเมืองตามภูมลำเนาดุจก่อน. แลให้เจ้าเมืองกรมการทั้งปวงไปอยู่รักษาบ้านเมืองของตนทุกๆเมือง, แล้วดำรัศให้เอาพม่าชเลยจำใส่เรือรบไปด้วย. จึ่งเสดจยาตรานาวาทับหลวงจากเมืองชุมพร, ไปประทับณเมืองไชยา, ให้ทับน่าเดินพลไปเมืองนครโดยทางบก, แล้วเสดจยกทับหลวงไปโดยทางชลมารคมาถึงเมืองนคร, เสดจขึ้นประทับอยู่ในเมือง ให้ชาวเมืองนำข้าหลวงไปสืบเสาะตามหาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช,ได้ตัวมาจะให้ลงโทษ, ทรงพระราชดำริหเหนว่า, ศึกเหลือกำลังจะสู้รบ, จึ่งให้ภาคยทัณฑ์ไว้, แล้วให้อยู่รวบรวมราษฎรรักษาบ้านเมืองดังเก่า. แล้วเสดจดำเนินทับหลวงทั้งทางชลมารค,สถลมารค,ไปประทับณเมืองสงขลา. ๚ะ

๏ จึ่งพระยาแก้วเการพพิไชยเจ้าเมืองพัทลุง, หลวงสุวรรณคีรีเจ้าเมืองสงขลา, แลกรมการทั้งสองเมืองมาเฝ้าพร้อมกัน. จึ่งดำรัศถามว่า,ผู้ใดคิดสู้รบพม่าบ้าง พระยาพัทลุงกราบทูลว่า,ได้แต่งกองทับไปรับทับพม่า,กับมหาช่วยเปนอาจาริยคุ้มครองไปในกองทับ, ยังหาทันได้สู้รบกันไม่. พม่ามิได้ยกออกไปตีเมืองพัทลุง, ยกถอยกลับไปเมืองนคร. จึ่งดำรัศยกความชอบมหาช่วยว่า, เปนใจด้วยราชการมีความชอบมาก. ให้มหาช่วยบริวัดออกแล้ว, ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เปนพระยาทุกขราษฎ์,ช่วยราชการเมืองพัทลุง, พระราชทานบำเหน็จรางวัลโดยควรแก่ความชอบ. ๏ จึ่งหลวงสุวรรณคิรีเจ้าเมืองสงขลา, กราบทูลกล่าวโทษพระยาจะหนะผู้น้องพระยาพัทลุงเปนขบถ, แต่งคนให้ถือหนังสือไปเข้าด้วยพม่า. จึ่งดำรัศให้เอาพระยาจะหนะมาให้พระยาพัทลุงผู้พี่ไต่ถาม, ได้ความเปนสัจว่าเปนขบถจริง. จึ่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย. แล้วดำรัศว่าเมืองตานี,แลเมืองแขกทั้งปวง, ยังมิได้มาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขันธสีมาตั้งแขงเมืองอยู่, จำจะยกทับหลวงออกไปตีเมืองแขกทั้งปวง,มาเปนเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขตรให้จงได้. จึ่งดำรัศให้กองน่ายกออกไปตีหัวเมืองแขกทั้งปวง, มีเมืองตานีเปนต้น, ทับหลวงก็เสดจยกหนุนไป. ด้วยเดชะพระบารมีพระราชกฤษดาธิการ, บันดานเมืองแขกทั้งปวงให้พ่ายแพ้แก่พลข้าหลวงทั้งสิ้น. ที่สู้รบปราไชย,จึ่งได้เมืองก็มีบ้าง. ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง. ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิก็มีบ้าง. แลเมืองตานีนั้นเปนเมืองใหญ่,ได้ปืนทองใหญ่ในเมืองสองบอก ทรงพระกรุณาให้เขนลงใส่สำเภา, แลได้เครื่องสรรพสาตราวุธต่างๆ, กับทั้งสรรพวัตถุสิ่งของทองเงินเปนอันมาก. บันดาเจ้าเมืองกรมการแขกมลายูทั้งปวงนั้น, ที่สู้รบตายในที่รบบ้าง, จับเปนได้ฆ่าเสียบ้าง, จำไว้บ้าง, ที่หนีไปได้บ้าง, ที่เข้าสวามิภักดิโดยดี,ก็มิได้ลงโทษบ้าง. แลพระเดชานุภาพก็ผ่านแผ่ไปในมลายูประเทศทั่วทั้งปวง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระยาไทร, แลพระยากลันตัน, พระยาตรังกนูก็เกรงกลัวพระราชกฤษดาเดชาธิการ, ก็แต่งศรีต่วนกรมการให้คุมเครื่องราชบรรณาการนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย, ขอเปนเมืองขึ้นข้าขอบขันธสีมากรุงเทพฯ. จึ่งมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการ, ซึ่งได้ไชยชำนะแก่พม่าปัจามิตร, แลเสดจไปปราบหัวเมืองแขกปราไชยได้บ้านเมืองเปนอันมาก, ที่มาฃอขึ้นก็หลายเมือง, ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณาสมเดจพระบรมเชษฐาธิราชเจ้ายังกรุงเทพมหานคร. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ, ก็ทรงพระโสมนัศ, ดำรัศสรรเสิญพระกฤษดาเดชานุภาพสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้า. แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไปแจ้งข้อราชการ. ซึ่งเสดจพระราชดำเนินทับหลวงขึ้นไปปราบอริราชไพรีณหัวเมืองฝ่ายเหนือปราไชยไปสิ้นแล้ว, ให้อัญเชิญเสดจสมเดจพระบรมราชอนุชา, ให้ยาตราพยุหทับหลวงกลับคืนยังพระมหานคร. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทราบในท้องตราว่า, มีพระราชโองการให้หาทับกลับ. จึ่งดำรัศให้กวาดครอบครัวแขกเชลยทั้งหลายบันทุกในเรือรบ, กับทั้งทรัพยสิ่งของทองเงิน, แลเครื่องสาตราวุธต่างๆ. แลให้แบ่งครอบครัวแขกทั้งหลาย, ให้ไว้สำรับบ้านเมืองบ้างทุกๆ เมือง. แล้วโปรดตั้งบันดาขุนนางแขกซึ่งมีใจสวามิภักดิ, เปนเจ้าเมืองกรมการอยู่รักษาหัวเมืองแขกทั้งปวงซึ่งตีได้นั้น. อนึ่งทรงทราบว่า, ธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ, จึ่งดำรัศให้ขนเข้าในหัวเมืองแขกทั้งปวงนั้น, ลงบันทุกในเรือกองทับทุกๆลำเสร็จแล้ว, จึ่งให้เลิกกองทับกลับมาทั้งทางบกทางเรือ, มาถึงพระมหานครในเดือนสิบเบ็ดปีมเมียอัฐศก, ศักราช ๑๑๔๘ ปี. เสดจขึ้นเฝ้าสมเดจพระบรมเชษฐาธิราช, กราบทูลแถลงราชกิจการสงครามซึ่งมีไชยชำนะ. แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาวสามวาศอกคืบสองนิ้วกึ่ง, กระสุนสิบเบ็ดนิ้วบอกหนึ่ง. ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้ว, กระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองตานี. แลครอบครัวแขก, แลพม่าเชลย, กับทั้งเครื่องสาตราวุธต่างๆ. จึ่งมีพระราชโองการดำรัศให้เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่เข้าไว้ณโรงในพระราชวัง, บอกใหญ่นั้นให้จาฤกนามลงกับบอกปืนชื่อพระยาตานี. แลพม่าเชลยซึ่งจับมานั้น, ให้จำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายกรมการเมืองถลางครั้นทับพม่าเลิกกลับไปแล้ว, ได้ข่าวว่าทับหลวงสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ, เสดจพระราชดำเนินออกมาตีทับพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว, จึ่งบอกข้อราชการมากราบทูล,ขณะเมื่อทับหลวงยังเสดจอยู่ณเมืองสงขลาฉบับหนึ่ง. บอกเข้ามากราบทูลณกรุงเทพฯฉบับหนึ่ง. แลขณะเมื่อสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯเสดจกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว. สมเดจพระพุทธเจ้าหลวงจึ่งมีพระราชโองการโปรดให้มีตราออกไปณเมืองถลาง, ให้ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงคราม,เปนพระยาถลางขึ้นใหม่, แล้วโปรดตั้งภรรยาพระยาถลางเก่า, ซึ่งออกต่อรบพม่านั้น, เปนท้าวเทพกระษัตรี. โปรดตั้งน้องสาวนั้น, เปนท้าวศรีสุนทร, พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิษัตรีออกไปทั้งสองคน, สมควรแก่ความซอบในการสงครามนั้น. ๏ แล้วโปรดตั้งหลวงสุวรรณคีรี, เปนพระยาสงขลา, ให้ยกเมืองนั้นเปนเมืองตรี, มาขึ้นกรุงเทพฯ แล้วให้ยกเมืองจหนะ, แลเมืองเทพามาขึ้นเมืองสงขลาแต่นั้นมา. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับแก่งหวุ่นแมงยี่พม่า, ซึ่งแตกไปทั้งทับบกทับเรือนั้น, ก็ไปพร้อมกันอยู่ณเมืองมฤท, แล้วบอกข้อราชการซึ่งเสียทับถอยมานั้น,ขึ้นไปกราบทูลพระเจ้าอังวะ, ซึ่งเลิกทับไปอยู่ณเมืองเมาะตมะ. แลกองทับทางทวาย, แลทางเหนือทั้งนั้น, ก็บอกลงมาทุกทับทุกทาง. แลศึกครั้งนั้นพระเจ้าอังวะเสียรี้พลเปนอันมาก, ทั้งไทยจับเปนไปได้, แลตายด้วยป่วยไข้, ตายในสงครามทุกทับทุกทาง, ประมาณกึ่งหนึ่ง, ที่เหลือกลับไปได้สักกึ่งหนึ่ง. พระเจ้าอังวะเสียพระไทยนัก, จึ่งให้เลิกทับหลวงกลับไปเมืองอังวะ. แล้วให้มีตราหากองทับทางเหนือทั้งนั้น, กลับไปยังเมืองอังวะสิ้น, แต่กองทับทางทวายนั้น, ให้ยกมาตั้งอยู่ณเมืองเมาะตมะ, ทับทางเมืองมฤท, ให้ยกมาตั้งอยู่ณเมืองทวาย, แลตรัสปฤกษาราชการกับอินแซะมหาอุปราช, ดำริหราชการสงครามซึ่งจะมาตีเอาพระนครศรีอยุทธยาให้จงได้. พระเจ้าอังวะจึ่งให้เกนกองทับห้าหมื่น, ให้อินแซะเปนแม่ทับหลวงยกมาอีกครั้งหนึ่ง, ในปีมเมียอัฐศก. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณเดือนสิบสอง, อินแซะมหาอุปราชก็ถวายบังคมลาพระเจ้าอังวะ, ยกทับบกทับเรือลงมาพร้อมทับอยู่ณเมืองเมาะตมะ, แต่มาทางเดียว, มิได้ยกแยกกันมาหลายทางเหมือนครั้งก่อน. อินแซะจึ่งให้เมี้ยนหวุ่น,กับเมี้ยนเมหวุ่นสองนายซึ่งเปนแม่ทับน่าครั้งก่อนนั้น, ถือพลสามหมื่นยกมาทำราชการแก้ตัว,เอาไชยชำนะเมืองไทยให้จงได้. แลแม่ทับทั้งสองนาย, ก็ยกกองทับมาถึงเมืองสะมิ. แล้วให้ตั้งค่าย,แลยุ้งฉางรายทางมาเปนอันมากจนถึงท่าดินแดงสามสบ, แล้วให้กองลำเลียงขนเอาเข้าปลาอาหาร, มาใส่ยุ้งฉางไว้ทุกตำบล. หวังจะมิให้ไพร่พลขัดด้วยเสบียงอาหาร,แต่บันดาค่ายน่าที่ทั้งปวงนั้นให้ชักปีกกาถึงกันสิ้น, แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามแน่นหนา, บันดาที่คลองน้ำ, แลห้วยธารทั้งปวงนั้น, ก็ให้ทำตพานเรือกข้ามทุกๆ แห่ง, ให้ม้าแลคนเดินไปมาได้สดวก. แลจัดแจงการทั้งปวงนั้นหมายจะตั้งรบพุ่งอยู่ค้างปี, กองทับหลวง,อินแซะก็ยกหนุนมาตั้งค่ายหลวงอยู่ตำบลแม่กระษัตร, คอยฟังข่าวกองน่าจะได้เพิ่มเติมทับมาช่วย. ๚ะ

๏ ฝ่ายชาวด่านเมืองกาญจนบุรี, เมืองศรีสวัสดิ์, เมืองไชยโยค, ออกไปลาดกระเวนสืบราชการณปลายแดนรู้ข่าวว่า, ทับพม่ายกมาอีก, ตั้งค่ายมั่นอยู่ณท่าดินแดงสามสบ, ก็กลับมาแจ้งแก่เจ้าเมืองกรมการทั้งสามหัวเมืองๆ, ก็บอกข้อราชการศึกเข้ามายังกรุงเทพฯในเดือนอ้ายข้างแรม, กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ได้ทรงทราบข่าวศึกอันยกมานั้น, จึ่งมีพระราชดำรัศให้เกนกองทับในกรุงเทพมหานคร,แลหัวเมืองไว้ให้พร้อมสรับ. ๚ะ

๏ ครั้นถึง ณวันพฤหัศบดีเดือนสามขึ้นสิบสี่ค่ำ, เพลาเช้าสามนาฬิกากับหกบาท, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็เสดจพระราชดำเนินพยุหยาตรานาวาทับหลวงจากกรุงเทพฯไปโดยทางชลมารค, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองฯทั้งหลาย, โดยเสดจตามขบวนน่าหลังพรั่งพร้อมเสรจ โปรดให้สมเดจพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ, แลกองทับเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ผู้ว่าที่สมุหนายกเปนกองน่า, พลโยธาหารทั้งพระราชวังหลวงพระราชวังบวรฯ เปนคนสามหมื่นยกล่วงไปก่อน. จึ่งเสดจยกพยุหโยธาทับหลวง, กับทั้งกรมพระราชวังหลัง, แลเจ้าต่างกรมทั้งปวง, เปนพลสามหมื่นเสศหนุนไป. ครั้งนั้นองคเชียงสือก็ตามเสดจไปด้วย, แลโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพอยู่รักษาพระนคร. ๚ะ

๏ ครั้นกองทับน่ายกไปถึงเมืองไซยโยค, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ จึ่งดำรัศให้กองเจ้าพระยารัตนาพิพิธ, แลกองพระยากระลาโหมราชเสนา, พระยาจ่าแสนยากร, แลทับหัวเมืองทั้งปวงเปนคนสองหมื่น, ขึ้นบกยกช้างม้ารี้พลเปนกองน่าล่วงไปก่อน. แล้วสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าจึ่งเสดจยาตราทับพลหมื่นหนึ่งยกหนุนไปโดยลำดับ. ครั้นทับหลวงเสดจไปถึงตำบลท่าขนุน, จึ่งเสดจพระราชดำเนินพยุหโยธาทับไปโดยทางสถลมารค, หนุนทับสมเดจพระบรมราชอนุชาไปในเบื้องหลัง, แลกองน่ายกไปถึงค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ณสามสบ, ก็ให้ตั้งค่ายลงเปนหลายค่าย, สมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าก็เสดจดำเนินกองทับหนุนขึ้นไป, ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายกองน่าลงมาทางประมาณห้าสิบเส้น กองทับหลวงก็เสดจพระราชดำเนินตามขึ้นไปเบื้องหลัง, ตั้งค่ายหลวงห่างค่ายสมเดจพระบรมราชอนุชาลงมาทางประมาณเจ็ดสิบเส้นเสศ. ดำรัศให้ท้าวพระยานายทับนายกอง, แบ่งกองทับออกจากทับหลวง, ทั้งพระราชวังหลวง, พระราชวังบวรสถานมงคล, ยกขึ้นไปบันจบกองน่า, ให้เร่งเข้าตีค่ายพม่าทุกทับทุกกองพร้อมกันทีเดียว. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพุธเดือนสี่ขึ้นห้าค่ำเพลาเช้า, จึ่งท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ก็ยกพลทหารออกรดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกๆ ค่าย, นายทับน่าพม่าก็เร่งพลทหารให้ต่อรบในค่ายทุกๆค่าย, พลทับไทยขุดสนามเพลาะเข้าตั้งประชิดค่ายพม่า, ต่างยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งกลางวันกลางคืนมิได้อยุดหย่อน, เสียงปืนสนั่นลั่นเสทื้อนสท้านไปทั่วทั้งป่า, รบกันอยู่สามวัน. ๚ะ

๏ ถึงณวันศุกรเดือนสี่ขึ้นเจ็ดค่ำ, พลทับไทยยกหนุนเนื่องกันเข้าไปหักค่ายปีนค่ายเย่อค่ายพม่าๆต่อรบเปนสามารถ, ตั้งแต่เพลาบ่ายจนพลบค่ำประมาณสองทุ่มเสศ, นายทับพม่าเหนเหลือกำลังจะต่อรบต้านทานมิได้,ก็แตกฉานทิ้งค่ายเสียพ่ายหนีไปในกลางคืนวันนั้น. กองทับไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น, แล้วยกติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าล้มตาย,แลลำบากไปตามทางเปนอันมากที่จับเปนได้ก็มาก. ฝ่ายอินแซะแม่ทับหลวงได้ทราบว่า,ทับน่าแตกแล้วก็ตกพระไทย, มิได้คิดอ่านจะตั้งรอรบก็ให้เร่งเลิกทับหลวงกลับไปยังเมืองเมาะตมะ. พลทับไทยไล่ติดตามพม่าไปจนถึงค่ายหลวงแม่กระษัตร, เก็บได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก. จึ่งมีพระราชดำรัศให้ข้าหลวงไปสั่งกองน่า, ให้จุดเพลิงเผายุ้งฉางพม่า, ซึ่งใส่เข้าปลาเสบียงอาหารเสียทุกตำบล, แล้วก็ให้ถอยทับกลับมายังกองทับหลวง, แลสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์. ครั้นมีไชยชำนะแก่อริราชสงครามภุกามปัจามิตรเสรจแล้ว, ก็ดำรัศให้เลิกกองทับทางชลมารค, สถลมารค, กลับคืนยังพระมหานคร บวรรัตนโกสินทรมหินทรอยุทธยาในแรมเดือนสี่ปลายปืมเมียอัฐศกนั้น. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๗ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ