๓๕

๏ ลุศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงฉศก, ถึงณเดือนหก, สมเดจพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำรัศให้สมเดจพระเจ้าหลานเธอ, เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษเปนแม่ทับถือพลทหารห้าพัน, ยกกองทับเรือออกไปตีเมืองแซ่ง่อน, คืนให้องคเชียงสือจงได้, ให้เอาตัวองคเชียงสือไปในกองทับด้วย. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันได้ศุภฤกษมงคลดฤถี, จึ่งสมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ, แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลา, ยกกองทับเรือออกไปทางทเลถึงเมืองพุทไธมาศ. จึ่งเกนเอากองทับพระยาราชาเสรฐี, พระยาทัศดาเมืองพุทไธมาศ,เข้าบันจบทับยกไปด้วย,ไปตั้งค่ายอยู่อ่าวมนาว,ริมแม่น้ำแดนเมืองสักแดกเปนหลายค่าย แล้วให้องคเชียงสือแต่งขุนนางญวน, กับไทยข้าหลวงไปเกลี้ยกล่อมพวกญวนอาณาประชาราษฎร,ในแว่นแคว้นเมืองสักแดก, เมืองล่งโห้, เมืองสะม่าถ่อ ทั้งสามเมืองมาเข้าด้วยกันเปนอันมาก. ๚ะ

๏ ฝ่ายองคติงเวืองเจ้าเมืองแซ่ง่อนได้แจ้งว่า, กองทับไทยยกทับใหญ่ออกมามากกว่าครั้งก่อน. จึ่งแต่งขุนนางญวนเปนแม่ทับเรือขึ้นมาตั้งอยู่ณเมืองสักแดก, แล้วยกมาต่อรบกับทับเรือกรุงเทพฯ ได้รบกันเปนหลายครั้งยังไม่แพ้ชนะกัน. ๚ะ

๏ ครั้นเพลาวันหนึ่งทับเรือฝ่ายไทยยกไปรบทับเรือยวญ, แล้วถอยขึ้นมาเอาศีศะเรือรบเข้าจอดอยู่น่าค่าย, รี้พลขึ้นบกเข้าค่ายทิ้งเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือ, ด้วยมีความประมาทมิได้รวังฆ่าศึก. ครั้นเพลาน้ำขึ้นทับเรือยวญยกตามขึ้นมาถึงน่าค่าย, ยิงปืนเรือรดมขึ้นมาทำลายค่ายต้องไทยในค่ายตายเปนหลายคน. แลพลทหารไทยเสียทีจะลงเรือออกต่อรบมิทัน,ก็ทิ้งค่ายเสียแตกหนีเปนอลหม่าน, นายทับนายกองจะกดไว้มิอยู่ก็ภากันแตกหนีมาทั้งสิ้น. ครั้งนั้นเปนเทศการเดือนสิบสองน่าน้ำๆนองไปทั้งทุ่ง,พลทับไทยได้ความลำบาก, ลุยน้ำฦกเพียงอกบ้าง,เพียงเอวบ้าง, หนีฆ่าศึกมา. แลกรมหลวงเทพหริรักษนั้น, ข้าในกรมจับได้กระบือตัวหนึ่งมาให้ทรงลุยน้ำมา, ภากันแตกหนีเข้ามาแดนกรุงกัมพูชาทั้งสิ้น. กองทับยวญได้ไชยชำนะมิได้ติดตาม,เก็บได้เรือรบแลเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยไปทั้งสิ้น. แลจับได้ผู้คนซึ่งหนีมามิทันนั้นไปได้บ้าง, แล้วเลิกทับกลับไปเมืองแซ่ง่อน. แลกองทับกรมหลวงเทพหริรักษ, กับองคเชียงสือ, ก็มาอยุดภักพลอยู่ณเมืองกัมพูชา, แล้วบอกข้อราชการซึ่งเสียทีแก่ฆ่าศึกเข้ามาณกรุงฯกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ดำรัศให้ขุดหิบสพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ณเมรุวัดบางยิเรือใต้ให้มีการมหรรสพ,แลพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล เสดจพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงทั้งสองพระองค. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพวกเจ้าจอมข้างในทั้งพระราชวังหลวงวังน่า, ซึ่งเปนข้าราชการครั้งแผ่นดินเจ้าตาก,คิดถึงพระคุณชวนกันร้องไห้. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคทรงพระพิโรธ,ดำรัศให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทั้งสิ้น. ๚ะ

๏ ในปีมโรงฉศกนั้น, ทรงพระกรุณาให้ถาปนาพระมหาปราสาทในพระราชวังหลวง, แลการปราสาทนั้นยังมิได้สำเร็จ. ครั้งนั้นคลองขุดปากลัดนั้นกว้างออก, แลน้ำทเลขึ้นแรงเคมขึ้นมาถึงพระนคร. ๏ ครั้นถึงณวันศุกรเดือนสามขึ้นสิบเบดค่ำ จึ่งสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคกับทั้งกรมพระราชวังหลังแลเจ้าต่างกรมทั้งปวงพร้อมกัน,เสดจโดยทางชลมารคลงไปปิดคลองปากลัด, ดำรัศให้เกนข้าราชการขนมูลดินแลอิฐหักถมทำนบกั้นน้ำ, แล้วให้เกนกันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่า, บันทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง, แลน้ำเคมจะไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดนั้นมิได้, ไหลไปแต่ทางแม่น้ำใหญ่เปนทางอ้อม, ก็มิสู้เคมขึ้นมาถึงพระนคร, ราษฎรทั้งหลายได้รับพระราชทานนำจืดเปนศุขทั้งสิ้น. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันศุกเดือนสามแรมสิบค่ำ, หนังสือบอกข้อราชการทับกรมหลวงเทพหริรักษ, จึ่งเข้ามาถึงพระนคร. สมุหนายกนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคก็ทรงพระพิโรธ,ดำรัศให้มีตราหากองทับกลับเข้ามาพระนคร. แล้วลงพระราชอาญาจำสมเดจพระเจ้าหลานเธอ, เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ. แลท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งเสียทับ,กับทั้งเรือรบเรือลำเลียง,แลเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยทั้งสิ้นแก่ฆ่าศึกนั้น. ๚ะ

๏ ครั้นนานมาจึ่งสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค, กราบทูลฃอพระราชทานโทษ, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ,กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการ, ซึ่งรับพระราชอาญาอยู่ในเวนจำนั้นให้พ้นโทษด้วยกันสิ้น. ๚ะ

๏ อนึ่งการพระมหาปราสาทนั้น, ยกเครื่องบนสำเร็จบริบูรณ, ลงรักปิดทองแล้ว. ถึง ณวันศุกร์เดือนสี่ขึ้นสิบค่ำ, เพลาเช้าสองโมงสี่บาทได้อุดมฤกษ, ให้ยกยอดเอกพระมหาปราสาท, ข้างต้นมีพรหมภักตร, แล้วปักพุ่มเข้าบิณฑ์บนปลายยอดด้วย, พระราชทานนามว่า, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันจันทรเดือนสี่แรมสิบสี่ค่ำ, ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎจากโรงในวังเก่าฟากตวันตก, ลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง, มีเรือแห่เปนขบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง, อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่. แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรม,สวดผูกพัทธเสมาในวันนั้น. แลการพระอารามนั้นสำเร็จบริบูรณแล้ว, จึ่งทรงตั้งพระนามว่า, วัดพระศรีรัตนสาศดาราม. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศก, สมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศบดินทร, ทรงพระประชวนพระโรคมารทลุน. ถึงณวันจันทรเดือนแปดขึ้นสิบสองค่ำทุติยาสาท, ก็ดับสูญสิ้นพระชนม. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, เสดจพระราชดำเนินไปสรงน้ำพระสพแล้วใส่พระโกศ, โปรดให้ปลูกพระเมรุที่วัดแจ้งในวังเก่า. แล้วให้เชิญพระโกษฐขึ้นพระยานุมาศ, แห่เปนขบวนมาเข้าพระเมรุ, ให้มีการมหรรสพสามวัน, นิมนตพระสงฆ์สดัปกรณ, ทรงถวายไตรยจีวรบริกขารไทยธรรมต่างๆ, แล้วพระราชทานเพลิง. ๚ะ

๏ ในปีมเสงสัปตศกนั้น, ทรงพระกรุณาให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลัง, แลเลกหัวเมืองทั้งเดิม, ทั้งขึ้นสักหลังมือทั้งสิ้น. แล้วให้เกนเลกหัวเมืองขึ้นทั้งไทยลาวเขมรทั้งปวง, กับทั้งเลกไพร่หลวงสมกำลัง, เกนทำอิฐจะก่อกำแพงสร้างพระนครใหม่, ให้รื้อป้อมวิไชเยนทรแลกำแพงเมืองเก่าฟากตวันออกเสีย, ขยายพระนครให้กว้างออกไปกว่าเก่า. แล้วเกนเลกลาวเขมรหัวเมือง,ให้ขุดคลองคูพระนครด้านตวันออก, ตั้งแต่วัดเชิงแลนขึ้นมาถึงวัดสแก,ไปถึงวัดบางลำภูออกบันจบแม่น้ำทั้งสองข้าง. แลวัดสแกนั้นพระราชทานนามไหม่ว่าวัดสเกษ. แล้วให้มีตราให้หาท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งปวงเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน. แล้วเกนน่าที่ข้าราชการในกรุงฯ, ทั้งพระราชวังหลวง,วังน่า,วังหลัง,แลหัวเมืองทั้งปวง, ขุดรากก่อกำแพงพระนครทั้งด้านแม่น้ำ, แลด้านในคลองบันจบกันโดยรอบ, ให้ก่อเชิงเทิลแลป้อมทำประตูใหญ่น้อยเปนอันมากรอบพระนคร. แล้วขุดคลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิมสองคลอง, ไปออกบันจบคลองคูใหม่นอกเมือง, ให้ทำตพานช้างแลตพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครเปนหลายตำบล. แล้วให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสเกษ, พระราชทานนามว่าคลองมหานาค,ไว้เปนที่สำรับประชาชนชาวพระนคร, ลงเรือไปประชุมกันเล่นเพลงเล่นสักวา,เทศกาลน้ำเหมือนครั้งกรุงเก่า. แล้วสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, เสดจพระราชดำเนินจะไปจะให้ก่อตพานช้างข้ามคลองคูเมืองที่เหนือคลองมหานาคนั้น. ๚ะ

๏ จึ่งพระพิมลธรรมวัดโพธารามออกไปถวายพระพรห้ามว่า, ซึ่งสมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า, จะให้ทำตพานใหญ่ข้ามคลองคูพระนครฉนี้, หามีอย่างธรรมเนียมมาแต่โบราณไม่. แม้นมีการสงครามมาถึงพระนคร, ฆ่าศึกก็จะได้โอกาศข้ามเข้ามาถึงชานกำแพงโดยง่าย. ประการหนึ่งแม้นจะแห่ขบวนเรือรอบพระนคร, ก็จะเปนที่กีดขวางอยู่. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ก็ทรงเหนชอบด้วย, ซึ่งพระพิมลธรรมถวายพระพรนั้น. จึ่งดำรัศสั่งให้เลิกการเสีย, มิให้ก่อตพานช้าง, ให้ทำแต่ท่าช้างไว้สำรับจะให้ช้างเดินข้ามคลองคูพระนคร, แล้วเสดจกลับเข้าพระราชวัง. ๚ะ

๏ ครั้นการถาปนาพระนครใหม่สำเร็จบริบูรณแล้ว, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้มีงานฉลองสมโพชพระนคร, ให้นิมนต์พระสงฆทุกๆอารามทั้งในกรุงนอกกรุง, ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกใบเสมา, ๆ ละองคๆ รอบพระนคร. พระราชทานเงินเกนให้ข้าราชการทำเข้ากระทงมาเลี้ยงพระสงฆ์ทั่วทั้งสิ้น. แล้วให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร, พระราชทานเลี้ยงยาจกวรรณิพกทั้งปวง. แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษรายรอบกำแพงเมือง, ทิ้งทานต้นละซึ่งทั้งสามวัน, สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก. ให้มีงานมหรรสพต่างๆ กับทั้งลคอนผู้หญิงโรงใหญ่, เงินโรงวันละสิบชั่ง. สมโพชวัดพระศรีรัตนสาศดาราม,กับทั้งพระนครด้วย,ครบสามวันเปนกำหนด. ๚ะ

๏ ครั้นเสรจการฉลองพระนครแล้ว, จึ่งพระราชทานนามพระนครใหม่, เปลี่ยนแปลงกรุงเก่าว่า, กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทรมหินทรอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมอุดมราชนิเวศมหาสถาน, อมรพิมานอวตารสถิตย สักทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันจันทรเดือนสิบเบ็ดขึ้นสิบสี่ค่ำ, อสนิบาตลงซุ้มประตูฉนวนพระราชวังบวรฯแลลงยอดพระมหาปราสาท, พระราชวังหลวงในวันเดียวกัน. ๚ะ

๏ ในเดือนสิบสองปีนั้น, น้ำมากฦกถึงแปดศอกคืบสิบนิ้ว, เข้ากล้าในท้องนาเสียเปนอันมาก, บังเกิดทุพภิกขไภย,เข้าแพงถึงเกวียนละชั่ง, ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก. จึ่งมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายเข้าเปลือกในฉางหลวง,ออกแจกจ่ายราษฎรทั้งปวงเปนอันมาก. ๚ะ

๏ ในปีมเสงสัปตศกนั้น,ฝ่ายข้างกรุงภุกามประเทศ, มังโพเชียงซึ่งชื่อว่าตแคงแปงตแล, น้องพระเจ้าปดุงนั้นคิดกระบถ. พระเจ้าปดุงให้จับประหารชีวิตรเสีย. แล้วได้ทราบอึงกิดาการแห่งกรุงไทยว่า,ผลัดแผ่นดินใหม่, จึ่งดำริหการสงครามซึ่งจะมาตีพระนครศรีอยุทธยา. ให้เกนกองทับพม่ามอญเมง,ทวาย,ยะไข่,กะแซ,ลาว,แลเงียว, เปนคนหลายหมื่น,หลายทับ. ให้เนมโยคุงนรัดเปนแม่ทับกองน่า, กับนัดมิแลงหนึ่ง, แบตองจาหนึ่ง, ปเลิงโปหนึ่ง, นัดจักกีโบ่หนึ่ง, ตองพยุงโบ่หนึ่ง, ถือพลสองพันห้าร้อยเปนทับบก, ยกมาทางเมืองมฤท, มาตีเมืองชุมพร, เมืองไชยา. ให้แก่งหวุ่นแมงยี, ถือพลสี่พันห้าร้อย, เปนแม่ทับยกหนุนมาทางหนึ่ง. แล้วเกนทับเรือให้ยิหวุ่นเปนแม่ทับ, กับบาวาเชียงหนึ่ง, แองยิงเดชะหนึ่ง, ปคินยอหนึ่ง, ถือพลสามพันยกมาตีเมืองถลาง. ให้เกนหวุ่นแมงยีเปนโบ่ชุก, บังคับทั้งทับบกทับเรือ. แลทางทวายนั้น,ให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวาย, เปนแม่กองทับน่า, กับจิกแกปลัดเมืองทวายหนึ่ง, มณีจอข่องหนึ่ง, สีหแยจอช่องหนึ่ง, เบยะโบ่หนึ่ง, ถือพลสามพันยกมาทางด่านเจ้าขว้าว. ให้จิกสินโบ่เปนแม่กองทับหนุน, กับตเรียงยามะชูหนึ่ง, มณีสินตะหนึ่ง, สุรินทจอช่องหนึ่ง, ถือพลสามพันยกหนุนมา. แลให้อนอกแผกติคหวุ่นถือพลสี่พัน, เปนโบ่ชุกแม่ทับทั้งสามกอง,เปนคนหมื่นหนึ่ง, ยกมาตีเมืองราชบุรีทางหนึ่ง. แลทางเมาะตมะนั้น, ให้เมี้ยนหวุ่นเปนแม่กองทับน่าที่หนึ่ง, กับขุนนางสิบนาย, คือกะลาหวุ่นหนึ่ง, ปิลุงยิงหนึ่ง, สเลจอหนึ่ง, ปิญาอูหนึ่ง, อากาจอแทงหนึ่ง, ลานซางโบ่หนึ่ง, อคุงหวุ่นหนึ่ง, ปันญีตะจวงหนึ่ง, ลไมหวุ่นหนึ่ง, ชุยตองอากาหนึ่ง, ถือพลหมื่นหนึ่งยกมาทางด่านพระเจดียสามองค. แล้วให้เมี้ยนเมหวุ่นเปนแม่กองทับน่าที่สอง,กับย่อยแหลกยาแยช่องหนึ่ง, จอกกาโบ่หนึ่ง, จอกแยโบ่หนึ่ง, ตเหรี่ยงปัญีหนึ่ง. ถือพลห้าพันยกหนุนมาอีกทับหนึ่ง. แลทับที่สามนั้น, ให้ตแคงกามะพระราชบุตรที่สาม, เปนแม่ทับ, กับยานจุหวุ่นหนึ่ง, จิตกองศิริยะหนึ่ง, แยเลหวุ่นหนึ่ง, อตอนหวุ่นหนึ่ง, ถือพลหมื่นหนึ่ง, ยกหนุนมาอีกทับหนึ่ง. แลทับที่สี่นั้น, ให้ตแคงจักกุราชบุตรที่สอง, เปนแม่ทับ, กับเมฆราโบ่หนึ่ง, อกิตอหนึ่ง, อากาปัญีหนึ่ง, มโยลัดหวุ่นหนึ่ง, ถือพลหมื่นหนึ่ง, ยกหนุนมาอีกทับหนึ่ง. แลกองทับหลวงพระเจ้าปดุงเจ้าอังวะเปนที่ห้า, ไพร่พลสองหมื่น. ให้อแซวังมูเปนแม่กองน่า, กับจาวาโบ่หนึ่ง, ยะไข่โบ่หนึ่ง, ปกันหวุ่นหนึ่ง, ลอกาซุงถ่องหวุ่นหนึ่ง, เมจุนหวุ่นหนึ่ง, เปนหกนาย. แลปีกขวานั้น, ให้มหยอกวังมูเปนแม่กอง, กับอำมลอกหวุ่นหนึ่ง, ตวนแซงหวุ่นหนึ่ง, แลจาลพวาหนึ่ง, ยัดจอกโบ่หนึ่ง, งาจุหวุ่นหนึ่ง, เปนหกนาย แลปีกซ้ายนั้น, ให้ตองแวงมูเปนแม่กอง, กับแลกรุยกีมูหนึ่ง, เลแซหวุ่นหนึ่ง, ยวนจุหวุ่นหนึ่ง, เยกีหวุ่นหนึ่ง, สีบอจอพวาหนึ่ง, เปนหกนาย. แลกองหลังนั้น, ให้อหนอกแวงมูเปนแม่กอง, กับรวาลัดหวุ่นหนึ่ง, ออกกะมะหวุ่นหนึ่ง, โมกองจอพวาหนึ่ง, โมเยียงจอพวาหนึ่ง, โมมิกจอพวาหนึ่ง, เปนหกนาย. ศริรวมทั้งห้าทับเปนคนห้าหมื่นห้าพัน, ยกมาทางเมืองกาญจนบุรีทางหนึ่ง. แลทางเมืองตากนั้น, ให้ซุยตองเวระจอแทงเปนแม่ทับ, กับชุยตองนรทาหนึ่ง, ชุยตองสิริยะจอจวาหนึ่ง, ถือพลสามพันเปนกองน่า. ให้จอของนรทาถือพลสองพันเปนกองหนุน, ทั้งสองทับเปนคนห้าพันยกมาทางหนึ่ง. แลทางเมืองเชียงใหม่นั้น, ให้สโดะมหาสิริยะอุจนาเจ้าเมืองตองอู,เปนโบ่ชุกแม่ทับ, กับนายทับนายกองเปนหลายนาย, ถือพลสองหมื่นสามพันยกมาทางหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นมาถึงเมืองเชียงแสน, สโดะมหาสิริยอุจนา, จึ่งบังคับให้เนมโยสีหชุยเปนแม่ทับ, กับปัญีตจองโบ่หนึ่ง, ลุยลันตวงโบ่หนึ่ง, ปลันโบ่หนึ่ง, มัดซุมรันโบ่หนึ่ง, มิกะอุโบ่หนึ่ง, แยจอนรทาหนึ่ง, สาระจอชูหนึ่ง, เปนแปดนาย, ถือพลห้าพันยกแยกมาตีเมืองสวรรคโลกยทางหนึ่ง, เมืองศุโขไทยทางหนึ่ง, เมืองพระพิศณุโลกยทางหนึ่ง. แลทางแจ้หมนั้นแต่งให้อาปะรกามณีเจ้าเมืองเชียงแสนเปนแม่ทับ, กับพระยายองหนึ่ง, พระยาไชยหนึ่ง, เชียงกะเลหนึ่ง, น้อยอรรถหนึ่ง, เปนห้านาย, ถือพลพม่าลาวสามพันเปนกองน่า. สโดะมหาศิริยะอุจนาเปนแม่ทับ, กับแจกแกโบ่หนึ่ง, อคุงหวุ่นหนึ่ง, อุติงแจกกะโบ่หนึ่ง, เนมโยยันตมิกหนึ่ง, พระยาแพร่หนึ่ง, เปนหกนาย, ถือพลหมื่นห้าพัน, ทั้งสองทับเปนคนหมื่นแปดพัน, ยกมาตีเมืองนครลำปางทางหนึ่ง, แลกองทับพม่ายกมาครั้งนั้น, มากกว่ามากหลายทับหลายกองยิ่งกว่าครั้งก่อนๆ, ศริรวมรี้พลทั้งสิ้นทุกทับ,เปนคนถึงแสนหนึ่งกับสามพันด้วยกัน, สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธพร้อมทุกทับทุกกอง, แต่ยกมาหาพร้อมกันทุกทางไม่. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าอังวะให้อินแซะมหาอุปราชราชบุตรผู้ใหญ่,กับอินแซะหวุ่นอำมาตยอยู่รักษาพระนคร. แล้วก็ยกทับบกทับเรือพร้อมทับ อยู่ณะเมืองเมาะตมะ เร่งให้ทับน่าที่หนึ่งยกมาตั้งอยู่ณะเมืองสมิะ, แล้วเดินทับล่วงเข้ามาถึงด่านพระเจดียสามองคก่อนทับทางอื่นๆทั้งนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างพระมหานครศรีอยุทธยา, ถึงณวันอาทิตยเดือนสิบสองแรมเก้าค่ำ, พวกกองมอญออกไปกระเวรด่าน, กลับเข้ามากราบทูลว่า, รู้ข่าวว่าพม่ายกกองทับมาตั้งอยู่ณเมืองสมิะ, จะยกเข้ามาตีพระนคร. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ได้ทรงทราบข่าวศึกดังนั้น, จึ่งดำรัศให้ประชุมพระราชวงษานุวงษ, มีกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลังเปนต้น, กับทั้งท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายพร้อมกัน, ดำรัศปฤกษาราชการสงครามเปนหลายเวลา. ในลำดับนั้นหนังสือบอกเมืองชุมพร, เมืองถลาง, เมืองกาญจนบุรี, เมืองราชบุรี, เมืองตาก, เมืองกำแพงเพชร, เมืองพระพิศณุโลกย, เมืองศุโขไทย, เมืองสวรรคโลก, เมืองนครลำปาง, บอกข้อราชการศึกว่า, ทับพม่ายกมาเปนหลายทับหลายทางทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือ, แลหนังสือบอกมาถึงเนืองๆกัน. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, จึ่งมีพระราชโองการโปรดให้สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ, เสดจพระราชดำเนินยกพยุหโยธาทับหลวง, ไปรับทับพม่าฆ่าศึกทางเมืองกาญจนบุรี. โปรดให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ, ผู้ว่าราชการณที่สมุหนายก, คุมกองทับท้าวพระยาข้าทูลลอองฯฝ่ายพระราชวังหลวง, แลทับหัวเมืองทั้งปวงโดยเสดจพระราชดำเนินอีกทับหนึ่ง. แล้วโปรดให้เจ้าพระยาธรรมาธิบดี, กับเจ้าพระยายมราชเปนแม่ทับ, ยกกองทับออกไปตั้งรับทับพม่าณเมืองราชบุรีทับหนึ่ง. แลทางเหนือนั้นมีพระราชดำรัศให้พระเจ้าหลานเธอ, กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลัง, กับสมเดจพระเจ้าหลานเธอ, เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรนเรศน์, แลเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม, เจ้าพระยาพระคลัง, พระยาอุไทยธรรม, แลท้าวพระยาข้าราชการในกรุงฯ แลหัวเมืองทั้งปวง, ยกกองทับไปทั้งรับพม่าณเมืองนครสวรรค์ทับหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นถึงวันศุภวารมหาพิไชยมงคลนักขัตฤกษ, ในมิคศิรมาศศุกปักษดฤถี. จึ่งสมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ก็ถวายบังคมลาสมเดจพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า, เสดจทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพัดิปิดทองทึบ. พระที่นั่งสวัสดิชิงไชยประกองพื้นดำ,ทรงพระไชยนำเสดจ, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองฯโดยเสดจดาษดา, ดำเนินพยุหโยธาทับหลวงจากกรุงเทพฯโดยทางชลมารค ดำรัศให้พระยากลาโหมราชเสนา, พระยาจ่าแสนยากรเปนกองน่า. ให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้ว่าที่สมุหนายกเปนทับเกียกกาย. สมเดจพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาเปนยุกรบัตร พระยามณเฑียรบาลเปนกองหลัง. แลพลทหารในกองทับหลวงทั้งสิ้นนั้น, เปนคนสามหมื่น, สรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเปนอันมาก, ดำเนินทับไปทั้งทางบกทางเรือ. ถึงตำบลลาดญ่า, เหนือเมืองกาญจนบุรี. ๚ะ

๏ จึ่งมีพระราชบัณฑูรดำรัศให้อยุดทับหลวงอยู่ที่นั้น. แล้วให้กองน่ากองหนุนตั้งค่ายรายกันอยู่เปนหลายค่าย,ชักปีกกาถึงกันทุกๆ ค่าย แลค่ายหลวงนั้นตั้งห่างค่ายน่าลงมาทางห้าเส้น. แล้วให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามตามทำนองศึกพร้อมเสรจ. แล้วดำรัศให้พระยามหาโยธาคุมกองมอญสามพัน, ยกออกไปตั้งค่ายขัดทับอยู่ณด่านกรามช้าง. ๚ะ

๏ ฝ่ายทับเจ้าพระยาธรรมาธิบดี, เจ้าพระยายมราช, ถือพลห้าพันยกออกไปตั้งค่ายอยู่ณเมืองราชบุรีเปนหลายค่าย. แลกองทับกรมพระราชวังหลัง, แลเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรนเรศร์พลหมื่นห้าพัน, ก็ยกไปตั้งค่ายหลวงอยู่ณเมืองนครสวรรค. ให้พระยามหาเสนาเปนกองน่า, ไปตั้งค่ายณเมืองพิจิตร เจ้าพระยาพระคลัง, แลพระยาอุไทยธรรมเปนกองหลัง, ตั้งค่ายอยู่ณเมืองไชยนาท, ระวังพม่าจะยกมาทางด่านเมืองอุไทยธานี. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระเจ้าอังวะ, ซึ่งยกมาทางเมืองเมาะตมะ, ทับน่าที่หนึ่งล่วงเข้ามาทางด่านกรามช้าง, เข้าตีค่ายทับพระยามหาโยธาแตกพ่ายเข้ามา, แล้วเดินทับมาถึงตำบลลาดญ่า, ซึ่งทับหลวงออกไปตั้งค่ายรับอยู่นั้น. แลทับน่าที่สองก็ยกหนุนมาถึง, เปนคนหมื่นห้าพันด้วยกัน, เมี้ยนหวุ่นกับเมี้ยนเมหวุ่นแม่ทับทั้งสองกอง, ก็ให้นายทับนายกองทั้งปวง. เกนพลทหารตั้งค่ายรายกันไปเปนหลายค่ายชักปีกกาถึงกัน. แลทับตะแคงกามะทีสาม, ก็ยกหนุนมาตั้งค่ายอยู่ณท่าดินแดง. ทับตแคงจักกุที่สี่, ยกมาตั้งค่ายอยู่ณสามสบ ทับหลวงพระเจ้าอังวะ, ยกมาตั้งค่ายใหญ่อยู่ณะพระเจดียสามองคที่แดนต่อแดน, คอยฟังข้อราชการ, ซึ่งกองน่าจะบอกมาประการใด, จะได้เกนทับอุดหนุนเพิ่มเติมมาช่วย. แล้วให้เกนรี้พลกองลำเลียงขนเสบียงอาหารมาส่งกองน่า,ซึ่งมาตั้งรับอยู่นั้นมิได้ขาด. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ จึ่งมีพระราชบัณฑูรดำรัศให้ท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ยกพลทหารออกโจมตีค่ายพม่า พม่าต่อรบเปนสามารถ, พลทหารไทย, ทหารพม่าต่างยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย, ล้มตายแลลำบากทั้งสองข้าง, ทับไทยจะหักเอาค่ายพม่ามิได้ก็ถอยเข้าค่าย. จึ่งมีพระราชบัณฑูรให้ทำครกทำสากใหญ่ไว้ในค่ายหลวงสามสำรับ. ดำรัศให้ประกาศแก่นายทับนายกองแลทหารทั้งปวงว่า, ถ้าผู้ใดถอยหนีฆ่าศึก, จะเอาตัวลงโทษใส่ครกโขลกเสีย. แล้วดำรัศให้พระยาสีหราชเดโช, พระยาท้ายน้ำ, พระยาเพชรบุรี, สามนายเปนนายทับกองโจร. พระยารามกำแหง, พระเสนานนท์, เปนปลัดทับ, ถือพลห้าร้อย, ยกลัดป่าไปคอยสกัดตีตัดกองลำเลียงพม่า, ที่ตำบลพุะไคร้ช่องแคบ, อย่าให้พม่าส่งลำเลียงกันได้. พระยาสีหราชเดโช,แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง,ก็กราบถวายบังคมลายกพลทหารไปกระทำการตามพระราชกำหนด, คอยสกัดตีกองลำเลียงพม่า, จับพม่าได้บ้างส่งลงไปยังทับหลวง. แล้วคิดย่อท้อต่อฆ่าศึกหลีกหนีไปตั้งซุ่มทับอยู่ที่อื่น. แลขุนหมื่นในกองทับมาฟ้องกล่าวโทษให้กราบทูลพระกรุณา. จึ่งดำรัศให้พระยามณเฑียรบาล, แลข้าหลวงหลายนาย, ยกพลทหารไปจับตัวพระยานายทับกองโจรทั้งสามนาย, ประหารชีวิตรเสียตัดศีศะนำมาถวาย. แต่ปลัดทับสองนายนั้น, ให้เอาดาบสับศีศะคนละสามเสี่ยง, ให้ขุนหมื่นผู้เปนโจทนำทางไป. พระยามณเฑียรบาล,แลข้าหลวงทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลายกไปถึงทับกองโจรไปตั้งซุ่มทับอยู่, จึ่งพิจารณาไต่ถามได้ความเปนสัจสมคำโจท, จึ่งตัดศีศะพระยาสีหราชเดโช, พระยาท้ายน้ำ, พระยาเพชรบุรี, ทั้งสามนายใส่ชลอม แล้วเอาดาบสับศีศะพระยารามกำแหง, แลพระเสนานนท์คละสามเสี่ยง, ตามพระราชบัณฑูรตรัสสั่ง. แล้วนำเอาชลอมใส่ศีศะนายทับทั้งสามกลับมากราบทูลถวายณค่ายหลวง. มีพระราชบัณฑูรให้เอาศีศะไปเสียบประจานไว้น่าค่าย, อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง. แล้วดำรัศให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณร, เปนนายทับกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย, คุมพลทหารพันหนึ่ง, ยกไปบันจบกับกองโจรเดิมเปนคนพันห้าร้อย, ไปคอยก้าวสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่ตำบลพุะไคร้ดั่งก่อน, อย่าให้พม่าส่งลำเลียงเสบียงอาหารกันได้, กองทับพม่าซึ่งมาตั้งรบอยู่นั้นจะได้ถอยกำลังลง. พระองค์เจ้าขุนเณรแลนายทับนายกองทั้งปวง, ก็กราบถวายบังคมลายกไปกระทำการตามรับสั่ง, คอยซุ่มสกัดตีตัดกองล่าเลียงพม่า, จับได้พม่าแลช้างม้าโคต่าง,ส่งมาถวายเนืองๆ. ๚ะ

๏ ฝ่ายแม่ทับน่าพม่าทั้งสองนาย, ให้แต่งหอรบขึ้นณค่ายน่าเปนหลายแห่ง, ให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบลหอรบยิงค่ายทับไทย. จึ่งมีพระราชบัณฑูรให้เอาปืนลูกไม้ครั้งแผ่นดินเจ้าตากเขนออกไปตั้งน่าค่าย, ยิงค่ายแลหอรบพม่าหักพังลงเปนหลายตำบล. แลพลพม่าในค่ายถูกกระสุนปืนลูกไม้ล้มตายแลลำบากเปนอันมาก, มิอาจยกออกนอกค่ายได้, รักษามั่นอยู่แต่ในค่าย, ทั้งขัดเสบียงอาหารถอยกำลังลง. จึ่งมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการสงคราม,ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบบังคมทูล, สมเดจพระบรมเชษฐาธิราชณกรุงเทพมหานคร. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง, ได้ทรงทราบในข้้อราชการสงคราม, ก็ทรงพระราชปริวิตกเกรงจะเอาไชยชำนะฆ่าศึกมิได้โดยเรว,. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันอาทิตยเดือนยี่ขึ้นเก้าค่ำ, จึ่งเสดจทรงเรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาฬประกอบพื้นแดง, พระที่นั่งพิมานเมืองอินทประกอบพื้นดำ ทรงพระไชยนำเสดจ, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองฯ โดยเสดจพระราชดำเนินเปนอันมาก. แลพลโยธาหาญในขบวนทับหลวงสองหมื่น, เสดจยาตราพลนาวาพยุหออกจากกรุงเทพฯไปโดยทางชลมารคถึงเมืองกาญจนบุรี. สมเดจพระอนุชาธิราชได้ทรงทราบ, ก็เสดจพระราชดำเนินลงมาถวายบังคมรับเสดจ. จึ่งทรงช้างพระที่นั่งพังเทพลีลา, สูงห้าศอกกับหกนิ้ว, ผูกกูบทองพร้อมด้วยเครื่องพระกันภิรม, แลธงไชยราชกระบี่ธุชพระครุทธพาหนะแห่โดยขนาด, พลโยธาหาญล้วนสวมใส่เสื้อสักลาดแดงหมวกแดง, พรั่งพร้อมด้วยพลสารสินทพแลธงทวนขบวนปืนนกสับ, สรรพอเนกวิวิธาสาตราวุธแหนแห่แลไสว, ประโคมฆ้องไชยเบญจดุริยดนตรีแตรสังข์กลองชนะ, โครมคฤกกึกก้องท้องทุรัษฐยางคพนสณฑสถาน, สำเนียงพลทหารโห่ร้องบันฦๅศรับทอุโฆษกาหลนฤนาท, คลี่พยุหยาตราโยธาทับหลวง, บันลุถึงพระตำหนักค่ายสมเดจพระอนุชาธิราช, เสดจยาตราพระคชาธารเข้าบันทับเกยเถลิงราชาคารกะที่ประทับพลับพลาไชยแล้ว. มีพระราชโองการดำรัศปฤกษาราชกิจการสงครามกับด้วยสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้า. ๆ จึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า, ทับพม่าฆ่าศึกจวนจะแตกอยู่แล้ว, อย่าทรงพระวิตกเลย, ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชธุระอาษาในราชการงานสงคราม, เอาไชยชำนะพม่าปัจามิตรสนองพระเดชพระคุณให้จงได้. ขออัญเชิญเสดจพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนครเถิด, จะได้ทรงพระราชดำริหจัดแจงการซึ่งจะต่อสู้อริราชสัตรูดัศกรในทางอื่นๆสืบไป. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเหนชอบด้วย, ซึ่งสมเดจพระบรมราชอนุชากราบทูลพระกรุณานั้น. ครั้นเพลาค่ำลงวันนั้น, จึ่งเสดจยาตราทับหลวงกลับมาโดยขบวนตราบท่าวถึงเมืองกาญจนบุรี, แล้วเสดจลงเรือพระที่นั่งดำเนินพลนาวาพยุหทับกลับคืนยังพระมหานคร. ๚ะ

๏ ฝ่ายพม่าได้ยินเสียงรี้พล, แลเสียงช้างม้าฆ้องกลองกึกก้องสนั่นไปทั้งป่า, จึ่งขึ้นดูบนหอรบเหนทับหลวงยกหนุนมาช้างม้ารี้พลเปนอันมาก, ก็คิดครั่นคร้ามขามพระเดชานุภาพเปนกำลัง. แม่ทับทั้งสองนายจึ่งให้เก็บเอาลูกปืนไม้ซึ่งยิงไปตกลงในค่ายนั้น, ให้ตอยากับไพร่นำไปถวายพระเจ้าอังวะกราบทูลว่า, ไทยเอาไม้เปนลูกปืน, ต่อไม้หมดสิ้นทั้งป่าจึ่งจะสิ้นกระสุนปืนเขา, เมื่อใดไม้ในป่าจะสิ้น ซึ่งจะตีเอาเมืองไทยให้ได้นั้นเหนเปนเหลือกำลัง. ทั้งกองโจรไทยก็มาตั้งซุ่มสกัดตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะส่งกันก็ขัดสน, รี้พลก็อดอยากถอยกำลังลงทุกวันๆ, จะขอพระราชทานล่าทับ. พระเจ้าอังวะก็เหนด้วย, จึ่งให้มีหนังสือตอบมาถึงแม่ทับน่าว่า, ให้รั้งรอดูท่วงทีก่อน, ถ้ารี้พลอิดโรยนักเหนจะทำการไปไม่สำเร็จ, จึ่งค่อยลาดถอยทับอย่าให้เสียทีแก่ฆ่าศึก. แม่ทับได้แจ้งในหนังสือรับสั่งพระเจ้าอังวะก็รั้งรออยู่ต่อรบแต่ในค่าย,มิได้ยกออกรบนอกค่าย. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร,ฯ จึ่งทรงพระราชดำริหเปนกลศึก, เพลากลางคืนให้ผ่อนช้างม้ารี้พลลงมายังค่ายเมืองกาญจนบุรี. ครั้นเพลาเช้าจึ่งให้ยกกลับขึ้นไปยังค่ายหลวง, ให้เดินพลแลช้างม้าเรี่ยรายกันเนื่องขึ้นไปอย่าให้ขาด, ตั้งแต่เข้าจนเอย็น, ลวงพม่าให้เหนกองทับยกหนุนขึ้นมาเปนอันมาก, กระทำดังนี้ทุกวัน.ๆ. ๚ะ

๏ ฝ่ายพม่าขึ้นดูบนหอรบเหนดังนั้นก็สำคัญว่า, กองทับไทยยกเพิ่มเติมมากขึ้นมาทุกวัน, ก็ยิ่งย่อท้อเกรงกลัวเปนอันมาก. อนึ่งด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภาร, บันดานให้รี้พลพม่าบังเกิดไข้ทรพิศม์ป่วยเจ็บลำบากล้มตายก็มาก, ทั้งขัดเสบียงอาหารกำลังศึกถอยลงทุกประการ. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันศุกรเดือนสามแรมสี่ค่ำ, จึ่งมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้ท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, ยกพลทหารออกรดมตีค่ายพม่าทุกทับทุกกอง, ให้เอาปืนใหญ่ลากฬ้อออกยิงค่ายพม่าทุกๆค่าย, ค่ายแลหอรบหักพังทำลายลงเปนหลายตำบล, พม่าต่อรบยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบอยู่ตั้งแต่เข้าจนค่ำ. ครั้นเพลาประมาณทุ่มเสศ, แม่ทับพม่าเหนเหลือกำลังจะต่อรบมิได้, ก็แตกฉานออกจากค่ายพ่ายหนีไป. พลทหารไทยเข้าค่ายพม่าได้ทั้งสิ้น, จับได้ผู้คนทั้งดีแลป่วยกับเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยเปนอันมาก. จึ่งมีพระราชบัณฑูรตรัสสั่งให้กองทับทั้งปวงยกติดตามพม่าไปจนปลายแดน, จับได้พม่าซึ่งหนีไปมิทันกับทั้งช้างม้าเครื่องสาตราวุธมาถวายเปนอันมาก. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองโจรพระองคเจ้าขุนเณรได้แจ้งว่า, ทับพม่าแตกพ่ายหนีแล้ว, ก็ยกออกก้าวสกัดตีตามกลางทางจับได้ผู้คน, แลเครื่องสาตราวุธช้างม้าก็มาก, ส่งลงมาถวายณค่ายหลวง, แล้วยกติดตามไปถึงท่าดินแดงแลสามสพ. ๚ะ

๏ ฝ่ายตะแคงกามะแม่ทับที่สามแจ้งว่าทับแตกแล้ว, ก็แต่งหนังสือบอกให้ม้าใช้รีบถือไปแจ้งแก่ตแคงจักกุแม่ทับที่สี่, แลกราบทูลพระเจ้าอังวะแล้วก็เร่งรีบเลิกทับกลับไป. พระเจ้าอังวะได้ทราบในหนังสือบอกว่า, ทับน่าแตกแล้วก็เสียพระไทย, สั่งให้เลิกกองทับทั้งปวงกลับไปณเมืองเมาะตมะโดยเรว. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อมีไชยชำนะแก่พม่าปัจามิตรสำเร็จราชการสงครามแล้ว. จึ่งดำรัศให้ข้าหลวงถือหนังสือบอกเข้าไปกราบทูลณกรุงเทพฯแล้วดำรัศให้กองทับพระยากระลาโหมราชเสนา, กับพระยาจ่าแสนยากรยกทับบกลงมาทางด่านเมืองราชบุรี, แล้วเสดจลงเรือพระที่นั่งเคลื่อนทับหลวงลงมา, โดยขบวนนาวาพยุหทางชลมารคมายังเมืองราชบุรี. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพม่าซึ่งยกมาจากเมืองทวายนั้น, เดินทับมาช้าไม่พร้อมกัน. ต่อทับทางลาดญ่าแตกไปแล้ว, จึ่งพึ่งมาถึงด่านเจ้าขว้าว. แลทับเจ้าเมืองทวายกองทับน่าล่วงด่านเข้ามาตั้งค่ายอยู่นอกเขางู, แดนเมืองราชบุรี, ทับจิกสินโบ่กองหนุนยกมาถึงด่าน, ทับอนอกแผกติกหวุ่นแม่ทับมาตั้งค่ายอยู่ณท้องช้าตรี, แลไพร่พลพม่ากองน่าลอบเข้ามาเกบผลหมากมพร้าวของสวนในแขวงเมืองราชบุรีเอาไปยังกองทับ, แลเจ้าพระยายมราช, เจ้าพระยาธรรมาแม่ทับซึ่งตั้งค่ายอยู่ณเมืองราชบุรีนั้น, มีความประมาทมิได้จัดแจงแต่งลาดตระเวนไปสืบราชการศึก, หารู้ว่ากองทับพม่ายกเข้ามาตั้งอยู่ที่ใดไม่. ๚ะ

๏ ฝ่ายทับพระยากลาโหมราชเสนา, พระยาจ่าแสนยากรยกอ้อมป่ามาทางบก, ภบค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่นอกเขางู, ก็ขับพลทหารเข้าโจมตีหักเอาค่าย. พม่าต่อรบเปนสามารถ, ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย, พลทหารไทยเข้าปีนค่ายเย่อค่ายได้รบกันถึงตลุมบอน, พลพม่าต้านทานมิได้ก็แตกฉานพ่ายหนีเปนอลหม่าน. พลทับไทยไล่ติดตามไปจนถึงด่านกองน่าพม่าที่ไทยตีแตกหนีไปนั้น,ไปประทะกองหนุนซึ่งตั้งอยู่ณด่านก็ภากันแตกหนีไปมิได้ต่อรบ. กองทับไทยจับได้ไพร่พลพม่า,แลได้เครื่องสาตราวุธต่าง ๆ, แม่ทับทั้งสองจึ่งแต่งหนังสือบอกข้อราชการ, ซึ่งได้ไชยชำนะแก่ฆ่าศึกกับทั้งพม่าชเลย, แลเครื่องสาตราวุธ, ให้นายไพร่ในกองทับนำเข้ามากราบทูลถวาย, ภอทับหลวงเสดจมาถึงเมืองราชบุรี, ได้ทรงทราบในหนังสือบอก, ให้ลงพระราชอาญาจำเจ้าพระยายมราช, เจ้าพระยาธรรมาแม่ทับ, แลนายทับนายกองไว้ณค่ายเมืองราชบุรี. แล้วบอกเข้ามากราบทูลพระกรุณาณะกรุงเทพมหานครว่า, จะขอพระราชทานประหารชีวิตรแม่ทับทั้งสองเสีย. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง, จึ่งโปรดให้มีตราตอบออกไปขอชีวิตรเจ้าพระยาทั้งสองไว้, ด้วยมีความชอบมาแต่ก่อน. ให้ลงแต่พระราชอาญากระทำโทษประจาน, ตามพระไอยการศึก. ๚ะ

๏ สมเดจพระอนุชาธิราชได้ทรงทราบในท้องตรารับสั่งแล้ว, จึ่งให้ลงพระราชอาญาแก่เจ้าพระยาทั้งสอง, ให้โกนศีศะสามแฉกแล้ว,ให้ตเวนรอบค่าย,ให้ถอดเสียจากถานาศักดิ์. แลนายทับนายกองทั้งนั้น, ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งสิ้น. แล้วเสดจเลิกทับกลับคืนเข้าพระนคร, ขึ้นเฝ้าสมเดจพระบรมเชษฐาธิราช, กราบทูลแถลงข้อราชการสงครามทั้งปวง, แล้วสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, จึ่งดำรัศปฤกษาราชการแก่กันว่า, กองทับพม่าซึ่งยกมาตีหัวเมืองชายทเลฝ่ายตวันตกนั้น, ยังหาทันได้แต่งกองทับออกไปต่อตีช่วยหัวเมืองทั้งปวงไม่. ด้วยศึกติดพันกันอยู่, ทางไกลพระนคร, ต้องต่อรบทางที่ใกล้เสียก่อน. บัดนี้ราชการสงครามทางใกล้ก็สำเร็จแล้ว. จึ่งมีพระราชโองการดำรัศให้สมเดจพระอนุชาธิราช, ยาตรานาวาทับหลวงออกไปทางทเล, ปราบปรามราชดัศกรหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก. สมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, จะเสดจพระราชดำเนินพยุหโยธาทับหลวง, ไปปราบอริราชไภรีณหัวเมืองฝ่ายเหนือ. ครั้นตรัสปฤกษาราชการสงครามกันเสร็จแล้ว, สมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าก็ให้จัดแจงเรือรบเรือทเลเปนอันมาก. สรัพด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธปืนใหญ่น้อยพร้อมเสร็จ. ๚ะ

๏ ถึงณวันเสาร์เดือนสี่ขึ้นห้าค่ำ, ได้มหาพิไชยมงคลนักขัตรฤกษ, สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล, ก็กราบถวายบังคมลาสมเดจพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า, เสดจทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ, ให้ยาตรามหานาวาพยุหทับหลวงออกจากกรุงเทพมหานคร ไปโดยทางท้องทเลใหญ่ พลรบพลแจวสองหมื่นเศส, ล้วนแต่ข้าหลวงพระราชวังน่าทั้งสิ้น. ใช้ใบเรือรบทั้งปวงไปยังเมืองชุมพร, เพื่อจะไปปราบอริราชดัศกร, อันมาย่ำยีบีทาพระราชอาณาเขตร, ณหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกนั้น. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง, จึ่งมีพระราชดำรัศให้เอาพม่าเชลยทั้งหลาย, ซึ่งจับเปนได้นั้นจำใส่คุกไว้ทั้งสิ้น. แล้วโปรดให้พระยาเทพสุดาวดี,เจ้ากรมในสมเดจพระเจ้าพี่นางเธอตำหนักใหญ่, ถือท้องตรารับสั่งขึ้นไปถึงสมเดจพระเจ้าหลานเธอ, กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขฝ่ายหลังว่า, บัดนี้ราชการศึกทางเมืองราชบุรี, เมืองกาญจนบุรี. สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ, เสดจพระราชดำเนินพยุหยาตราทับหลวง, ไปปราบปัจามิตรได้ไชยชำนะสำเร็จแล้ว. แลราชการข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ, แม้นกรมพระราชวังหลังกระทำไม่สำเร็จ, พระเศียรก็จะมิได้คงอยู่กับพระกายเปนแท้. แลบัดนี้ทับหลวง, ก็จะเสดจพระราชดำเนินขึ้นมาโดยเร็วอยู่แล้ว. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๕ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ