๔๐

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึงร้อยปี, ภิกษุชาววัชชีคาม, เปนอลัชชีสำแดงวัดถุสิบประการ,กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ. แลพระมหาเถรขิณาสพแปดพระอง, มีพระยศเถรเปนต้น, พระเรวัตเถรเปนปริโยสาน, ชำระทัศวัถถุอธิกรณ์รำงับยังพระพุทธสาศนาให้บริสุทธิ์แล้ว, เลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณเจ็ดร้อยพระองค, มีพระสัพกามิเถรเจ้าเปนประธาน, กระทำสังคายนาพระไตรยปิฎกในวาฬุการามวิหารใกล้เมืองเวสาลี, มีพระเจ้ากาฬาโศกราชเปนสาสนูปถัมภก, แปดเดือนจึ่งสำเร็จการทุติยสังคายนาย. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี, ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีเข้าปลอมบวชในพระสาศนา. จึ่งมีพระโมคลีบุตรดิศเถร, ยังพระเจ้าศรีธรรมาโสกราชให้เรียนรู้ในพระพุทธสมัย, แลชำระศึกเดียรถีเสียหกหมื่น,ยังพระพุทธสาศนาให้บริสุทธิ์, แล้วพระโมคลีบุตรดิสเถร, จึ่งเลือกพระอรหันต์, อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณพันพระองค์, กระทำสังคายนาพระไตรยปิฎกในอโสการามวิหาร, ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร, มีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเปนสาสนูปถัมภก, เก้าเดือนจึ่งสำเร็จการตติยสังคายนาย. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปี, จึ่งพระมหินทเถรเจ้าออกไปสู่ลังกาทวีป, บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริญัติธรรม, คือยังรากพระพุทธสาศนาลงในเกาะลังกาแล้ว, พระขีณาสพทั้งสามสิบแปดพระองค, มีพระมหินทรเถร, แลพระอริฐเถรเปนประธาน, กับพระสงฆซึ่งทรงพระปริญัติธรรมร้อยรูป, กระทำสังคายนาพระไตรยปิฎกในมณฑปถูปารามวิหาร,ใกล้กรุงอนุราธบุรี, มีพระเจ้าเทวานัมปิยดิศเปนสาสนูปถัมภกสิบเดือนจึ่งสำเร็จการจตุถสังคายนาย. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี, ครั้งนั้นพระอรหันตทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเหนว่า, พระพุทธสาศนาจะเสื่อมลง, เหตุเพราะพระสงฆซึ่งทรงพระไตรยปิฎกขึ้นปากเจนใจนั้น,เบาบางลงกว่าแต่ก่อน. จึ่งเลือกพระอรหันตอันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ, แลพระสงฆบุถุชนผู้ทรงพระปริญัติมากกว่าพัน, ประชุมกันในอภัยคิรีวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี, มีพระเจ้าวัฏคามินีอภัยเปนสาสนูปถัมภก, กระทำพระมณฑปถวายให้กระทำสังคายนายพระไตรยปิฎก, แล้วจาฤกลงลานทั้งพระบาฬี,แลอัฐกถา,เปนสิงหฬภาษา,ปีหนึ่งจึ่งสำเร็จการปัญจมะสังคายนาย. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี, จึ่งพระพุทธโฆษาจาริย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป, แปลพระไตรยปิฎกอันเปนสิงหฬภาษา, จาฤกลงลานใหม่, แปลเปนมคธภาษา. กระทำในโลหปราสาทณเมืองอนุราธบุรี. มีพระเจ้ามหานามเปนสาสนูปถัมภก, ปีหนึ่งจึ่งสำเร็จ, นับเนื่องเข้าในฉัฐมะสังคายนาย. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาถึง ๑๕๘๗ ปี, ครั้งนั้นพระเจ้าปรักกมะพาหุราช,ได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป, ย้ายพระนครจากอนุราธบุรี, มาตั้งอยู่ณเมืองจะลัดถิมหานคร. จึ่งพระมหากัศสยปเถร, กับพระสงฆ์บุถุชนมากกว่าพัน, ประชุมกันชำระพระไตรปิฎก, ซึ่งเปนสิงหฬภาษาบ้าง, มคธภาษาบ้าง, แปลงแปลออกเปนมคธภาษาทั้งสิ้น, จาฤกลงลานใหม่. มีพระเจ้าปรักมะพาหุราชเปนสาสนูปถัมภก, ปีหนึ่งจึ่งสำเร็จบริบูรณ, นับเนื่องเข้าในสัตตมะสังคายนาย. เบื้องน่าแต่นั้นมา, จึ่งพระเจ้าธรรมานุรุทธผู้เสวยราชสมบัติณเมืองอริมะทนะบุรี, คือเมืองภุกาม. เสดจ์ออกไปลอกพระไตรยปิฎกในลังกาทวีป, เชิญใส่สำเภามายังชมพูทวีปนี้. แต่นั้นมาพระปริญัติธรรมจึ่งแผ่ไพศาฬไปในนาๆประเทศทั้งปวง,บันดาที่เปนสัมมาทฤษฐิ,นับถือพระรัตนไตรนั้น,ได้ลอกต่อๆกันไป. เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาแห่งตนๆ, ก็ผิดเพี้ยนพิปลาดไปบ้างทุกๆพระคำภีร์,ที่มากบ้าง,ที่น้อยบ้าง. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาได้ ๒๐๒๐ ปี, จึ่งพระธรรมทินเถรเจ้า, ผู้เปนมหาเถรอยู่ณเมืองนพิสีนคร,คือเมืองเชียงใหม่. พิจารณาเหนว่า,พระไตรยปิฎกพิรุทมาก, ทั้งพระบาฬี,แลอัฐกถาฎีกา, จึ่งถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวัติดิลกราชาธิราช, ผู้เสวยราชสมบัติณเมืองเชียงใหม่ว่า จะชำระพระปริญัติธรรมให้บริบูรณ. พระบรมกระษัตริย์จึ่งให้กระทำพระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร. พระธรรมทินเถร, จึ่งเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรยปิฎกมากกว่าร้อย, ประชุมกันในมณฑปนั้น, กระทำสังคายนายพระไตรยปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ, ปีหนึ่งจึ่งสำเร็จ. มีพระเจ้าศิริธรรมจักรวัติลกราช,เปนสาสนูปถัมภก, นับเนื่องในอัฐมะสังคายนายอีกครั้งหนึ่ง. ๚ะ

๏ เบื้องน่าแต่นั้นมาพระเถรานุเถรในชมพูทวีป,ได้เล่าเรียนสร้างสืบต่อกันมา, แลท้าวพระยา, เสรฐีคหบดี, มีสัทธาสร้างไว้ในเมืองสัมมาทฤษฐิทั้งปวง, คือเมืองไทย, ลาว, เขมร, พม่า, มอญ, เปนอักษรส่ำสมกันอยู่เปนอันมาก, หาท้าวพระยา, แลสมณผู้ใดที่จะศัทธาสามารถ, อาจจะชำระพระไตรยปิฎกขึ้นไว้, ให้บริบูรณดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้มี. ๚ะ

๏ ครั้นพระพุทธสาศนาล่วงมาได้ ๒๓๐๐ ปีเสศแล้ว, บันดาเมืองสัมมาทฤษฐิทั้งปวง, ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กัน, ถึงพินาศฉิบหายด้วยไภยแห่งปัจามิตร. มีผู้ร้ายเผาวัดวาอาราม, พระไตรยปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป, จนถึงกรุงศรีอยุทธยาก็ถึงกาลพินาศฉิบหายด้วยไภยพม่าฆ่าศึก, พระไตรยปิฎกแลเจดีย์ถานทั้งปวง, ก็เปนอันตรายสาบสูญไป. สมณผู้จะรักษาร่ำเรียนพระไตรยปิฎกนั้น,ก็พรัดพรายล้มตายเปนอันมาก, หาผู้ใดที่จะเปนพำนักป้องกันฆ่าศึกศัตรูมิได้. เหตุฉนี้พระไตรยปิฎกจึ่งมิได้บริบูรณเสื่อมสูญร่วงโรยมาจนตราบเท่ากาลทุกวันนี้. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิศดารดังนั้น, จึ่งดำรัศว่าครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เปนเจ้าทั้งปวง, จงมีอุส่าหในฝ่ายพระพุทธจักร, ให้พระไตรยปิฎกบริบูรณ์ขึ้นจงได้. ฝ่ายอาณาจักรที่จะเปนสาสนูปถัมภกนั้น, เปนพนักงานโยม,ๆจะสู้เสียสละ,ละชีวิตรบูชาพระรัตนไตรย, สุดแต่จะให้พระปริญัติบริบูรณเปนมูลที่จะตั้งพระพุทธสาศนาจงได้. พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุแล้วถวายพระพรว่า, อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนักไม่เหมือนท่านแต่ก่อน. แต่จะอุสาหชำระพระปริญัติสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา. แลสมเดจบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า,ทรงทำนุกบำรุงพระพุทธสาศนาครั้งนี้, ก็นับได้ชื่อว่านวะมะสังคายนาคำรบเก้าครั้ง, จะยังพระปริญัติสาศนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัยสิ้นกาลช้านาน. แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกันณวัดบางว้าใหญ่. จึ่งสมเดจพระสังฆราช,ให้เลือกสันพระราชาคณะ,ถานานุกรม,ปเรียญติ์,แลอันดับ,ที่เล่าเรียนพระไตรยปิฎกได้บ้างนั้น, จัดได้พระสงฆ์สองร้อยสิบแปดรูป, กับราชบัณฑิตาจาริยอุบาสกสามสิบสองคน, จะกระทำการชำระพระไตรยปิฎก จึ่งจมื่นไวยวรนารถกราบบังคมทูลพระกรุณา. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, จึ่งมีพระราชดำรัศให้จัดแจงที่จะกระทำการสังคายนาณวัดนิพพาราม, เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้งสอง. แลครั้งนั้นจึ่งพระราชทานนามใหม่,ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพชดาราม. แล้วทรงพระมหาบริจาคพระราชทรัพย,แจกจ่ายเกนพระราชวงษานุวงษ, แลข้าราชการฝ่ายน่าฝ่ายใน, ทั้งพระราชวังหลวง, พระราชวังบวรฯ, แลวังหลัง. ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ,ซึ่งชำระพระไตรยปิฎก,ทั้งเช้าทั้งเพน, เพลาละสี่ร้อยสามสิบหกสำรับทั้งคาวหวาน. พระราชทานเปนเงินตราเปนค่าขาทนิยโภชนิยาหารสำรับคู่ละบาท. มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆประชุมพร้อมกัน,ณพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชดาราม, ในวันกติกบุรณมี, เพ็ญเดือนสิบสองในปีวอกสัมฤทธิศก, พระพุทธศักราชล่วงแล้ว, ๒๓๓๑ พรรษา, เปนพุทธวารศุกปักษดฤถี,เพลาบ่ายสามโมง สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ก็เสดจพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิศริยยศบริวารยศ, พร้อมด้วยเครื่องสูง, แลปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม, เสดจเข้าสู่พระอุโบสถทรงถวายนมัศการพระรัตนไตรยด้วยเบญจางคประดิฐ, แล้วอาราธนาพระพิมลธรรม,ให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ำกลางสงฆสมาคม. ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนาย,แล้วให้แบ่งพระสงฆออกเปนสี่กอง. สมเดจพระสังฆราช,เปนแม่กองชำระพระสุตันตปิฎกกองหนึ่ง. พระวันรัต, เปนแม่กองชำระพระวินัยปิฎกกองหนึ่ง. พระพิมลธรรม,เปนแม่กองชำระพระสัทธาวิเสศกองหนึ่ง. แลครั้งนั้นพระธรรมไตรยโลกย, เปนโทษอยู่มิได้เข้าในสังคายนาย. พระธรรมไตรยโลกยจึ่งมาทูลสมเดจพระสังฆราช,ขอเข้าช่วยชำระพระไตรยปิฎกด้วย, ก็ได้เปนแม่กองชำระพระปรมัดถปิฎกกองหนึ่ง. แลพระสงฆ์ทั้งสี่กองนั้น, ทรงพระกรุณาโปรดให้นิมนตแยกกันชำระพระปริญัติ. อยู่ณอุโบสถกองหนึ่ง. อยู่ณพระวิหารกองหนึ่ง. อยู่ณพระมณฑปกองหนึ่ง, อยู่ณการบุเรียญดิ์กองหนึ่ง, ทรงถวายปากไก่,กปุกหมึก,หรดาลครบทุกองค. แล้วสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว,เสดจพระราชดำเนินออกไปณะพระอารามทุกๆ วันๆละสองเวลาทั้งสองพระองค, เพลาเช้าทรงประเคนสำรับปณีตโภชนิยชาทนิยาหารแก่พระสงฆ,ให้ฉันณะพระระเบียงทั้งรอบ. เพลาเย็นทรงถวายอัฐบาน,แลทูปเทียนเปนนิจทุกวัน. แลพระสงฆกับทั้งราชบัณฑิตย,ประชุมกันพิจารณาดูพระปริญัติ, สอบสวนพระบาฬี, กับอัฐกถาฎีกา,ที่ผิดเพี้ยนพิปลาต, ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระ,ให้ถูกถ้วนบริบูรณทุกๆพระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น, แลที่ใดสงไสยเคลือบแคลง, ก็ปฤกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่, ซึ่งเปนมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดแลชอบ. แลกระทำการชำระพระไตรยปิฏก, ตั้งแต่วันเพญเดือนสิบสองจนกราบเท่าถึงวันเพญเดือนห้าปีรกาเอกศก, ภอครบห้าเดือนก็สำเร็จการสังคายนาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้จำหน่ายพระราชทรัพยเปนมูลค่าจ้าง, ให้ช่างจานคฤหัฐ,แลพระสงฆ,สามเณร, จาฤกพระไตรยปิฎกซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเรจแล้ว, ให้ปิดทองทึบทั้งใบปกน่าหลัง,แลกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง. ห่อด้วยผ้ายก, เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ์, มีฉลากงาแกะเปนลวดลายเขียนอักษรด้วยหมึก. แลฉลากทอเปนตัวอักษรบอกชื่อพระคำภีรทุกๆพระคำภีร. ๚ะ

๏ อนึ่งเมื่อสำเรจการสังคายนายนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ทรงถวายไตรจีวร,บริกขารภัณฑ์,แก่พระสงฆทั้งสองร้อยสิบแปดรูป,มีสมเดจพระสังฆราชเปนอาทิ. ล้วนปณีตทุกสิ่งเปนมหามหกรรมฉลองพระไตรยปิฎก, แลพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่ราชบัณฑิตยทั้งสามสิบสองคน, มีพระยาธรรมปโรหิต,แลพระยาพจนาพิมลเปนต้นนั้นด้วย. แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลังทักษิโณทกธารา, อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลสาสนูปถัมภกกิจไป, แก่เทพามนุษสรรพสัตวทั้งหลาย, ทั่วอนันตโลกธาตุเปนปัตตานุปทานบุญกิริยาวัดถุอันยิ่ง, เพื่อประโยชนแก่พระบรมโพธิสัพพัญุตญาณ. ครั้นเมื่อเสรจการสร้างพระไตรยปิฎกฉบับทองแล้ว. จึ่งให้เชิญพระคัมภีรทั้งปวง, ขึ้นพระยานุมาศพระราชยานต่างๆ, ตั้งขบวนแห่สมโพชพระไตรยปิฎก, มีเครื่องเล่นเปนอเนกนานุประการ,เปนมหรรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง, แล้วเชิญพระคัมภีรพระปริญัติธรรม, เข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก,ตั้งในหอพระมณเฑียรธรรมกลางสระ,ในวัดพระศรีรัตนสาศดาราม,ภายในพระราชวัง. แล้วให้มีงานมหรรสพฉลองพระไตรยปิฎก,แลหอพระมณเฑียรธรรม. ครั้งนั้นมีละคอนผู้หญิงด้วย, เพลาค่ำจุดดอกไม้เพลิงลูกพลุะไปตกลงบนหลังคาหอพระมณเฑียรธรรม,เพลิงติดไหม้ขึ้น. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ดำรัศสั่งข้าราชการทั้งปวง, ให้เข้าไปยกตู้ประดับมุก, แลขนพระไตรยปิฎกออกมาได้สิ้น, เพลิงมิได้ไหม้,ไหม้แต่หอพระมณเฑียรธรรมแห่งเดียวเท่านั้น. แลที่พระอุโบสถพระแก้วลูกไฟไปไม่ถึง,ยังบริบูรณดีอยู่. จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า, เทพยดาผู้บำรุงรักษาพระพุทธสาศนาเหนว่า, หอไตรยยังต่ำอยู่, จึ่งบันดาลให้เพลิงไหม้แต่เฉพาะหอไตรย, มิให้ไหม้พระอุโบสถ. ด้วยจะให้สร้างพระมณฑปขึ้นใหม่ใส่พระไตรยปิฎก จึ่งมีพระราชดำรัศสั่งพระยาราชสงคราม, ให้เปนแม่การทำพระมณฑป, ให้ถมสระเดิมนั้นเสีย, ขุดรากก่อพระมณฑปลงที่นั้น, มีชาลาแลกำแพงแก้วเปนที่ปทักษิณล้อมรอบพระมณฑป, ลดพื้นลงมาสามชั้น, แล้วให้ขุดสระใหม่ลงเบื้องบูรพทิศแห่งพระมณฑป, ก่ออิฐถือปูนทั้งรอบ, แล้วให้ก่อหอพระมณเฑียรธรรมขึ้นใหม่, ฝ่ายทิศอีสานแห่งพระมณฑป, แลการทั้งปวงยังมิได้สำเร็จ. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๔๐ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ