๏ ในขณะนั้นสมเดจ์พระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ตรัสให้เจ้าพระยากำแพงเพชร์บังคับราชการในที่พระกระลาโหม, จึ่งตรัสให้เจ้าพระยากำแพงเพชร์, ถือพลทหารล้อมวังออกไปกันให้ราษฎรทั้งหลายเกี่ยวเข้าณทุ่งชายเคือง, ที่ทัพพระมหาอุปราชาตั้งอยู่นั้น. พระมหาอุปราชาแต่งพลมาประมาณพันหนึ่งยกออกมารบ. ทัพเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์ก็แตก. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ทรงพระโกรธแก่เจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์ ตรัสให้ลงพระราชอาชาโดยโทษตามพระอัยการศึก. สมเดจ์พระราชบิดาทรงพระกรุณาตรัสว่า, เจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์เปนแต่พลเรือน, มิได้เปนทแกล้วทหาร ขอโทษเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์ไว้ครั้งหนึ่งก่อน. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ก็มิได้ลงโทษเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์. แล้วตรัสปฤกษาด้วยท้าวพระยาเสนาอำมาตยโยธาทหารทั้งหลายว่า ซึ่งเจ้าพระยากำแพงเพ็ชร์พ่ายเข้ามาให้ฆ่าศึกได้ใจดั่งนี้. เราจะนิ่งไว้ช้ามิชอบ, ๆ เราจะยกพยุหบาตราทัพหลวงออกตีทัพมหาอุปราชา, อย่าให้ตั้งช้าอยู่ณชายเคืองนั้นได้, ราษฎรทั้งปวงจึ่งจะได้เกี่ยวเข้าในท้องทุ่งสะดวก แล้วตรัสให้ตรวจช้างม้ารี้พลทหารอาษา,ให้เอาเครื่องสรรพยุทธ,ปืนใหญ่แลปืนจ่ารงมณฑกนกสับลงบันจุเรือรบเรือไล่, สองร้อยลำนั้นสรรพ. จึ่งแต่งทหารให้ลอบออกไปทางบกทางเรือที่ชอบกล, ซุ่มพลทหารปืนใหญ่น้อยไว้, จึ่งจะยั่วให้ฆ่าศึกออกไล่,เหนได้ทีแล้วจึ่งจะออกทลวงตี,ทั้งปืนใหญ่น้อยยิงระดมสาตเอาฆ่าศึกให้แตกฉานอย่าให้คุมกันติด. ฝ่ายกองทหารอาษาก็ไปซุ่มอยู่ตามรับสั่ง. จึ่งสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้ากับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ก็เสด็จด้วยพระชลวิมานลำเดียวกันไปโดยทางชลมารค แลท้าวพระยาพระหัวเมืองขุนหมื่นทหารทั้งปวงก็ไปโดยขบวนน่าหลัง ครั้นถึงตำบลชายเคืองใกล้ทัพมหาอุปราชาตั้งอยู่นั้น, จึ่งตรัสให้ทหารอาษาขึ้นไปยั่วทัพฆ่าศึกน่าค่าย,แลฆ่าศึกก็ยกออกมาได้รบพุ่งกันเปนสามารถ. ฝ่ายกองทหารอาษาซึ่งซุ่มอยู่นั้น, ก็ยกพลออกทลวงตียิงปืนใหญ่น้อยสาตลงไปต้องฆ่าศึกล้มตายเปนอันมาก, ฆ่าศึกมิได้ระส่ำระสายยกหนูนวกลงมาทางริมน้ำ. ฝ่ายทัพกรุงก็วางปืนใหญ่แลปืนจ่ารงมณฑกนกสับขึ้นไปแต่เรือรบ, ต้องพม่ามอญแลช้างม้าตายเปนอันมาก, แลพลฆ่าศึกนั้นยังต่อรบอยู่. ขณะนั้นสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชเสดจออกยืนน่าพรที่นั่งทั้งสองพระองค, ทรงปืนนกสับยิงต้องฆ่าศึกช้างม้าแลพลตายมาก, ทหารชาวกรุงยิงปืนรดมไป. ฝ่ายฆ่าศึกก็ลงมาสะกัดข้างหลังเรือพระที่นั่ง, แลยิงปืนไฟตอบมาเปนสามารถ แลเรือรบทั้งหลายทั้งปวงทานมิได้ก็พ่ายมาสิ้น, ยังแต่เรือพระที่นั่งแลเรือรบห้าลำอยู่ยิงตอบกันไปมา. ฝ่ายฆ่าศึกยิงปืนไฟมาต้องฉลองพระองคสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมบพิตรอันทรงนั้น, แต่ปลายพระหัถขาดขึ้นไปถึงพระภาหุ. อนึ่งข้าศึกยิงปืนไฟมาต้องคนในเรือกันนั้น, เจ็บป่วยลำบากมาก. แต่กระสุนปืนนกสับ, ฆ่าศึกยิงมาตกอยู่น่าเรือพระที่นั่งนั้น ประมาณสามสิบกระสุน. ภอเพลาค่ำเสด็จคืนเข้าพระนคร. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตยเดือนหกแรมสิบเบดค่ำเพลาสิบเบ็ดทุ่ม, สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้า,กับสมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จยกพยุหบาตราทัพออกจากพระนครข้ามไป. สมเด็จพระเชฐาธิราชทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรจักรสูงหกศอกสิบเบ็ดนิ้วติดน้ำมันน่าหลัง. สมเดจ์พระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จทรงพระคชาธารจักรมหึมมาสูงหกสอกคืบติดน้ำมันน่าหลัง. เจ้าพระยามหาเสนาขี่ช้างปราบไตรภพสูงห้าศอกคืบ เจ้าพระยาจักรีขี่ช้างแก้วสังหารสูงหกศอกสี่นิ้ว. เอาขุนหมื่นกองช้างขึ้นช้างพังกั้นกลางหว่างละสี่ช้าง. ให้มอญเข้าไปร้องน่าค่ายพระเจ้าหงษาวดีว่า, มีหนังสือบอกพระมหาอุปราชา, ให้ขึ้นมากราบทูลให้เร่งเปิดประตูรับ. เจ้าน่าที่นายประตูร้องว่าจะกราบทูลก่อน, จะเปิดยังมิได้. สักครู่หนึ่งในค่ายหงษาวดีวางปืนจ่ารงมณฑกนกสับรดมมา. สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้ากับพระอนุชาธิราชเหนว่าฆ่าศึกรู้ตัวแล้ว, ก็เสดจลงเรือพระที่นั่งคืนเข้าพระนคร. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพุทธเดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง, เสด็จพระราชดำเนินออกไปตั้งทัพไชยณวัดช่องลม. ครั้น ณวันพุทธเดือนเจ็ดขึ้นแปดค่ำ, เอาปืนพระกาลมฤตยูราชลงสำเภาขึ้นไป, ยิงค่ายพระเจ้าหงษาวดี ณ ขนอนปากคู. พระเจ้าหงษาวดีเหนชาวพระนครเอาปืนลงสำเภามายิงได้ถึงค่าย, ก็เลิกทัพไปตั้งป่าโมกใหญ่.ครั้น ณวันศุกร์เดือนเจ็ดขึ้นสิบค่ำ, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเด็จพระอนุชาธิราช, ก็ยกขึ้นไปตีทัพพระเจ้าหงษาวดีถึงป่าโมกใหญ่, เสดจทางชลมารค, แต่งทัพบกสองฟากฝั่ง. ฆ่าศึกยกขนาบตีทัพบกสองฟากฝั่ง. ทัพกรุงแตกย่นลงมาถึงทัพหลวง. แลกระสุนปืนฆ่าศึกยิงลงมาต้องบ่อโทนเรือพระที่นั่ง. สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าศีศะร้าวลั่นออกไป. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ก็กรีธาทัพเรือขึ้นบกทหารล้วนถืออาวุธสั้น. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราช, ทรงพระแสงดาบสองพระหัถ, แลทัพบกซึ่งย่นลงมานั้น, ก็มีน้ำใจกลับมาพร้อมกัน. สมเดจพระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจพระอนุชาธิราช, ก็ต้อนพลทลวงไล่ฟันฆ่าศึก, ๆ ก็แตกฉานตาย, แลลำบากเปนอันมากแล้ว. สมเดจพระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจพระอนุชาธิราช, ก็เสดจเข้าพระนคร. ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดียกมาติดพระนครถึงหกเดือน, จนถึงวสันตรดูเสียพลทหารเปนอันมาก. เหนจะเอาพระนครมิได้, ก็เลิกทัพกลับไป ๚ะ

๏ ขณะเมื่อทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาถึงนั้น, ข่าวแจ้งออกไปถึงกรุงกัมพูชาประเทศ, พระยาลแวกก็ดีพระไทย, จึ่งแต่งให้เจ้าฟ้าทละหะ, พระยาเดโช, พระยาราชนายก, พระยามโนไมตรี, พระยาสวรรคโลกย, แสนท้องฟ้า, กับทหารหมื่นหนึ่ง, ให้เจ้าฟ้าทละหะเปนแม่ทัพ, ยกเข้าตีหัวเมืองแถบตวันออก. เจ้าฟ้าทละหะมิได้เดินตามทางใหญ่, ลัดมาทางป่าสี่เส้นมาบ้านหอก, บ้านควายเข้าตีเมืองปราจิณแตก. กรมการเมืองนครนายกบอกเข้ามา. สมุหนายกนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ. ก็ทรงพระโกรธตรัสแก่พระราชปิโยรสว่าเหตุไฉนพระยาลแวกจึ่งกลับมา. เปนประจามิตรดังนี้. สมเดจพระนเรศวรเปนเจ้ากราบถวายบังคมทูลสนองพระราชโองการว่า, พระยาลแวกมิได้ตั้งอยู่ในสัตยานุสัตย์, ปราศจากวิจารณญาณ, ฟังคำน้องชายให้เสียทางพระราชไมตรี, คอยซ้ำเติมดั่งนี้. ความแค้นข้าพระพุทธเจ้าดังต้องปืนพิศม์. ขอให้พระยาสีไสณรงค, ราชเดโช, กับพลทหารพันหนึ่งยกออกไปตี. พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชาตาม. พระยาศรีไสยณรงค, พระยาสีห์ราชเดโช, กราบถรายบังคมลา. แล้วก็ยกไปทางบ้านนาเวิ่ง, ถึงเมืองนครนายก. ๚ะ

๏ ณวันพฤหัศเดือนหกแรมเก้าค่ำ, เพลาสองโมงเช้า, ทัพเขมรก็ยกตีเข้ามาถึงเมืองนครนายก. พระยาศรีไสณรงค, พระยาสีห์ราชเดโช, ก็ยกออกตีทัพเขมรแตกถอยไปทางด่านหณุมาร, ออกทางพระจฤต พระยาศรีไสณรงค, พระยาสีห์ราชเดโชก็ตามตีไปจนสิ้นแดน. กองทัพเขมรป่วยตายรายทางไป, จับได้เปนแลเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก. พระยาศรีไสยณรงค, พระยาสีห์ราชเดโช, ก็กลับเข้ามาตั้งอยู่ณเมืองปราจิน. แล้วบอกเข้ามาว่า, กองทัพเขมรก็แตกออกไปแล้ว, จะขอเข้ามาทำราชการสนองพระเดชพระคุณ, ส่งเขมรเชลยแลสาตราวุธเข้ามาถวาย. พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว, จึ่งให้ตอบบอกไปว่า, ทัพพระเจ้าหงษาวดียังมิได้แตกฉาน, จะไว้ใจแก่พระยาลแวกยังมิได้. เกลือกว่าจะแต่งกองทัพให้ยกเข้ามาอีก, จะเสียปจันตชนบท. อย่าเพ่อให้พระยาศรีไสณรงค, พระยาสีห์ราชเดโชเลิกทัพเข้ามา. ให้อยู่รักษาหัวเมืองแถบตวันออกไว้ก่อน ต่อเมื่อใดทัพหงษาวดีแตกไปแล้ว, จึ่งให้เลิกทัพกลับเข้ามา ครั้นแจ้งไปว่าทัพหงษาวดีแตกไปแล้ว, พระยาศรีไสณรงค, พระยาสีห์ราชเดโช, ก็เลิกทัพกลับมาเฝ้า. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีเสดจ์มาถึงพระนครแล้ว, ก็ทรงตำริห์แต่ที่จะเอากรุงพระนครศรีอยุทธยาให้จงได้, ก็ให้จัดทแกล้วทหารบำรุงช้างม้า,รี้พลเครื่องสรรพสาตราวุธเสบียงอาหารกระสุนดินประสิวไว้พร้อมเสร็จ์. เมื่อพระเจ้าหงษาวดีให้เตรียมทัพนั้นพลทหารห้าแสน, ช้างเครื่องสามพัน, ม้าหมื่นหนึ่ง, ให้มหาอุปราชา, พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่นั้นเข้ากระบวนทัพด้วย, ๚ะ

๏ ครั้น ณวันอาทิตย์เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง, ลุศักราช ๙๓๒ ปีมเมียโทศก เพลาอุษาโยค, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงเครื่องพิไชยอาวุธลังกาภรณวิภูสิตพิพิธโภคมหิมาดูมโหฬาราติเรก, สำหรับขัติยราชรามัญประเทศโดยวารดิถีเสร็จ. ครั้นได้เพลามหามหุติฤกษมังคลาโหราธิบดีลั่นฆ้องไชย, ชีพ่อพราหมณถวายเสียงสังขประนังศับทฆ้องกลองก้องกาหฬนฤนาท, เสดจทรงช้างพลายไชยมงคลเปนราชพาหนะ, ประดับเครื่องคชาภรณอลังการเคลื่อนพยุหโยธาหารโดยกระบวนซ้ายขวาน่าหลัง, พลดาบดั้งโตมรสลอน, พลเสโล่ทวนทองยยาบ, พลดาบเขนเปนขนัดริ้วราย, ดูสุดสายตาไสว, เถือกธงไชยธงฉานวาลวิชนีกลิ้งกลดบดบังทิณกร, ไพโรจโชตนาการพิฦกอธึกดูพร้อมพรั่งดาษดา, รอนแรมมาโดยสถลมารค, ข้ามแม่น้ำเมาะตมะเข้าทางเมืองกำแพงเพชรเสดจ์มาถึงกรุงมหานครศรีอยุทธยา, ณวันอังคารเดือนอ้ายแรมสิบสี่ค่ำ. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตั้งทัพบางปะหัน, พระมหาอุปราชาตั้งทัพกุ่มดอง, พระเจ้าแปรตั้งทัพศรีกุก, พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งค่ายตำบลวัดสังฆาวาศ. ๚ะ

๏ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าตรัสทราบว่า, ทัพพระเจ้าหงษาวดียกมา, ก็ทรงม้าทวนกับทหารสามกอง, กองหนึ่งยี่สิบสองคน, กองหนึ่งสี่สิบสองคน, กองหนึ่งเจ็ดสิบสองคน, ขี่ม้าถือทวนครบมือยกออกไป. กองน่าฆ่าศึกออกมารับ, ทหารกรุงเทพมหานครตีแตกฉานเข้าไป สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ทรงพระแสงดาบกับทหารปีนค่ายขึ้นไป. ฆ่าศึกในค่ายเอาทวนแทงพลัดตกลงมาเปนหลายครั้งขึ้นมิได้, ทรงม้าพระที่นั่งกลับเข้าพระนคร. ข้าศึกเอาการซึ่งได้รบพุ่งนั้นไปกราบทูลสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, พระเจ้าหงษาวดีตรัสถามเสนาบดีว่า, พระนเรศวรออกมาทำเปนอย่างทหารดั่งนี้, เหมือนหนึ่งเอาภิมเสนมาแลกเกลือ, พระราชบิดานั้นเหนจะรู้ฤๅไม่ เสนาบดีกราบทูลว่า, เหนพระราชบิดาจะไม่รู้, ถ้ารู้แล้วเหนจะไม่ออกมาทำ. สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีจึ่งตรัสสั่งว่า, พระนเรศวรทำศึกอาจหารนัก, ถ้าออกมาอีกถึงมาทว่าเราจะเสียทหารมากก็จะแลกเอาตัวให้จงได้. แล้วสั่งให้จัดทหารที่มีฝีมือสันทัดทุกทัพทุกกองให้ได้หมื่นหนึ่ง, เอาไปช่วยค่ายลักไวทำมู, ทหารทศตำบลลุมพลี. ถ้าพระนเรศวรเปนเจ้าออกมาตีค่าย, ให้กุมเอาเปนให้จงได้. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าทรงม้าพระที่นั่งออกไป, ทหารสามกองกับล้อมวังพันหนึ่ง, ถือโตมรแลดาบดดั้งออกไป, ได้รบพุ่งกันแต่เพลาสามโมงจนสี่โมง, ฆ่าศึกแตกเข้าไปอยู่สักครู่หนึ่ง, กลับเอาม้าสามสิบออกมายั่วทัพ. จึ่งแต่งปีกฉะนาง, แลกองซุ่มไว้, ปีกหนึ่งลักไวทำมู, ปีกหนึ่งทหารทศ, สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าทรงม้าทวนไล่ฆ่าศึกเข้าไป, แลฆ่าศึกสองปีกหุ้มพระองค์แลทหารเข้าไว้, ลักไวทำมูถือดาบดั้งเข้ามาจะกุมเอาพระองค์, พระองค์ก็ทรงแทงด้วยพระแสงทวน, ถูกลักไวทำมู, ลักไวทำมูฟันต้องพระแสงทวนเปนแผล, แต่ลักไวทำมูนั้นตาย. ทหารทศถือโตมรแลหอกใหญ่ตรงเข้ามา, ทรงฟันด้วยพระแสงสะพายแล่งล้มลง. ก็เสด็จกลับเข้าพระนคร. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีให้เข้ามาตีค่ายขาวพระนคร, ถึงสองครั้งสามครั้งก็มิได้แตกฉาน, จึ่งตรัสว่าจวนเทศกาลฟ้าฝนน้ำนองอยู่แล้ว, ก็สั่งให้เลิกทัพเสดจ์กลับคืนไปเมืองหงษาวดี. ๚ะ

----------------------------

๏ แผ่นดินพระนเรศวรเปนเจ้า ๚ะ

๏ ครั้นลุศักราช ๙๔๐ ปีขานสัมฤทธิศก, ณวันอาทิตย์เดือนแปดแรมสิบสามค่ำ, พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวนหนัก ครั้นณวันอังคารเดือนสิบสองแรมสองค่ำ, เสดจ์สวรรณคต, พระชนม์ได้เจ็ดสิบหกพรรษา, อยู่ในราชสมบัติยี่สิบสองปี. สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, พระชนม์ได้สามสิบห้าพรรษา, ขึ้นเสวยราชสมบัติ, แต่งการถวายพระเพลิงสมเดจ์พระราชบิดาเสร็จแล้ว. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่มุขมนตรีแลอำมาตย์ว่า, แผ่นดินกรุงกัมพูชากุรุราฐนั้น ผู้ใดครองสมบัติจิตรมักเปนสันดานพาลทุจริต. เหมือนพระยาละแวก, บิดานักพระสุโท, นักพระสุทัน, เมื่อศึกกรุงหงษาวดียกมาคราวแรก, ครั้งสมเดจ์พระไอยกาธิราชเจ้าผ่านพิภพใหม่นั้นพระยาลแวกก็ยกทัพเข้ามาพลอยซ้ำตี, กวาดเอาครัวอพยพชาวเมืองปราจินบุรีไป, จนสมเดจ์พระบรมราชไอยกาต้องเสดจ์ยกทัพออกไปปราบจึ่งถวายนักพระสุโท, นักพระสุทันราชบุตรเข้ามา. แล้วนักพระสัฐาไปเอาทัพเข้ามาตี, ฆ่าบิดานักพระสุโท, นักพระสุทันเสีย. นักพระสัฐาได้สมบัติกรุงกัมพูชาธิบดีเปนพระยาลแวก. ครั้นแผ่นดินของพระราชบิดาเราก็ยกทัพจู่มาถึงวัดสามพิหาร, จนเสียพระจำปาธิราชลูกชายก็ยังหาเข็ดไม่. มีศึกหงษาวดีมาติดพระนครครั้งใด, ก็มีแต่ยกทัพมาพลอยซ้ำตี, กวาดเอาประชาราษฎรข้าขอบขันทเสมาไปทุกครั้ง แล้วแต่งทูตานุทูตมาขอเปนทางพระราชไมตรี, สมเดจ์พระบรมราชบิดาเราก็มิได้มีพระไทยอาฆาฎ, เพื่อมิให้เสียทางพระราชไมตรี, จนปันเขตรแดนปักเสาสิลาจาฤก. ครั้นทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกมา, พระยาลแวกให้น้องชายเข้ามาช่วยงานพระราชสงคราม. น้องขายนั้นมิได้มีสติสัมปะชัญ, ดุจหนึ่งสิงคาละชาติโปฎก. ฝ่ายพระยาลแวกก็ปราศจากวิจาณปัญญา, มีพาลทุจริตในสันดานละสุจริตธรรมเสีย, กลับยกทัพมาตีปัจันตะชนบทอีกเล่า, ความแค้นของเราดังว่าเสี้ยนยอกอยู่ในอุระไม่รู้หาย. ครั้งนี้แผ่นดินเปนของเราแล้ว, จะไปแก้แค้นเอาโลหิตพระยาลแวกล้างบาทเสียให้จงได้ ตรัสแล้ว, สั่งให้เกณฑ์ทัพสกรรธลำเครื่องเหยียบแสน, ช้างเครื่องแปดร้อย, ม้าพันห้าร้อย, น้ำแห้งท้าวช้างท้าวม้าแล้วก็จะยกไป. ๚ะ

๏ ฝ่ายสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีแจ้งข่าวไปว่า, สมเดจ์พระมหาธรรมราชาดับสูญทิวงคตแล้ว, ตรัสแก่พระมหาอุปราชาว่า, เจ้ากับพระมหาราชเจ้าพระนครเชียงใหม่, จงยกทัพลงไปฟังซึ่งกิจการดูพระนครศรีอยุทธยาผลัดแผ่นดินใหม่, เสนาพฤฒามาตย์ราษฎรทั้งปวงจะเปนจลาจลประการใดบ้าง, ถ้าภอจะทำได้ก็ให้ทำอย่าให้เสียที. พระมหาอุปราชากราบทูลพระราชบิดาว่า, โหรทายว่าชันษาข้าพระพุทธเจ้าร้ายนัก. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, พระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีบุตร, การสงครามไม่ภักให้พระบิดาใช้เลย, ต้องห้ามเสียอีก แลซึ่งเจ้าว่าเคราะห์ร้ายอยู่แล้วก็อย่าไปเลย, เอาผ้าอิสัตรีนุ่งเสียเถิด, จะได้สิ้นเคราะห์. พระมหาอุปราชาได้ฟังรับสั่งดั่งนั้น, กลัวพระราชอาชาพระบิดา, ก็ตรวจเตรียมรี้พล, แลมีพระราชกำหนดไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ให้ยกมา.พระเจ้าเชียงใหม่แจ้งพระราชกำหนดแล้ว, ก็ยกทัพมากรุงหงษาวดี. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๙๔๑ ปีเถาะเอกศก, พระมหาอุปราชา, เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกพลห้าสิบหมื่น, ช้างเครื่องเจ็ดร้อย, ม้าสามพันมาข้ามเมืองเมาะตมะ, มาโดยแม่น้ำแม่กระษัตร, เข้าทางพระเจดีย์สามองค์. ฝ่ายสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, ครั้นถึงณวันอาทิตยเดือนอ้ายขึ้นหกค่ำ, มีพระราชดำรัสสั่งให้เกนหัวเมืองปากใต้ทัพหนึ่งเสร็จแล้ว, กำหนดพระฤกษ์จะได้ยกไปเมืองลแวก. ครั้น ณวันเสาร์เดือนอ้ายขึ้นสิบสองค่ำ, จึ่งมีพระราชโองการสั่งมุขมนตรีผู้ใหญ่ให้รักษาพระนครว่า, ทัพพระเจ้าหงษาวดีแตกไปครั้งนี้, เปนทัพซึ่งจะบำรุงช้างม้ารี้พล, แลจะกลับในน้ำลงปีนี้เหนจะไม่ทัน. แต่ทว่าจะไว้ใจมิได้, เกลือกว่าจะคลั่งสงครามยกมา, ถ้ายกมาก็ให้รักษาเมืองไว้ถ้าเราเดือนหนึ่งให้ได้. สั่งแล้วภอเพลาเอย็น, มีหนังสือบอกเมืองกาญจนบุรีเข้ามาว่า, ทัพพระมหาอุปราชา, พระเจ้าเชียงใหม่, ยกมาถึงกาญจนบุรีทำตะพานข้ามอยู่แล้ว. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทราบดังนั้น, ก็ดำรัสว่า, เราเทียบช้างม้ารี้พลไว้จะยกไปเอาเมืองลแวก. บัดนี้ทัพหงษาวดียกมาอีกเล่า, จำจะยกออกไปเล่นสนุกนิ์กับมอญเสียก่อน, แล้วมีพระราชกำหนดออกไป, ให้พระอำมรินทฦๅไชยเจ้าเมืองราชบุรี, แต่งคนห้าร้อยออกไปตั้งซุ่มอยู่. ถ้าฆ่าศึกข้ามตะพานแล้ว, ให้ล้างตะพานเผาเสียให้จงได้. ฝ่ายพระมะหาอุปราชาเสดจ์ยกทัพมาถึงกาญจนบุรี, เหนเมืองร้างเปล่าไม่มีคน, ก็เข้าพระไทยว่า, ชาวพระนครรู้ความ, เทครัวอพยพเข้าเมืองสิ้น, เสดจประทับแรมณเมืองกาญจนบุรี, ให้เที่ยวลาดกระเวนจับคนจะถามกิจราชการก็มิได้. ส่วนพระยาจิตตองกองน่า, ก็เร่งทำตะพานข้ามพลเสร็จ. รุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาก็เสด็จกรีธาทัพล่วงลงมาโดยมารควิถี, ถึงตำบลพนมทวน. เพลาชายแล้วสามนาฬิกา, บังเกิดวายุเวรำพวาตพัดหวนหอบทุลี, ฟุ้งผันเปนกงจักร์, กระทบมหาเสวตรฉัตร, ซึ่งกั้นมาบนหลังพระคชาธารนั้นหักทบลง. พระมหาอุปราชาทอดพระเนตรเหนดังนั้น, ตกพระไทยให้โหรสำหรับทัพทำนายถวายพยากรณ์ว่า, เหตุนี้ถ้าเข้าในเที่ยงร้าย. นี่ชายแล้ว, เหนเปนศุภนิมิตรที่พระองคจะมีไชยได้พระนครศรีอยุทธยา, สมเดจ์พระราชบิดาจะเลื่อนพระองค์ขึ้นจากที่เสวตรฉัตร์มหาอุปราชา, ให้ถวัลย์ราชราไชยสวรรยาธิปัตในกรุงหงษาวดีเปนมั่นคง พระมหาอุปราชาตรัสได้ฟังดังนั้น, ก็ยังมิวางพระไทย, จนเสดจ์ถึงตำบลพังตรุแดนสุพรรณบุรี, ให้ตั้งทัพไชยโดยขบวน. แล้วตรัสให้กองม้าสามร้อยลาดมาดูถึงตำบลเอกราชบางกทิงว่า, ทัพพระนครจะตั้งรับอยู่ตำบลใดบ้าง. ส่วนสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า, กับสมเดจ์พระอนุชาธิราชตรัสปฤกษาแก่มุขมาตยาทั้งปวงว่า, ศึกมหาอุปราชายกมาครั้งนี้, เราจะกรีธาพลออกต่อยุทธนาการกลางแปลงดีฤๅ, ฤๅจะตั้งมั่นรับในพระนคร. มุขมนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทราบอยู่ว่า, พระมหาอุปราชาเกรงพระเดชเดชานุภาพสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ครั้งเสด็จไปช่วยงานพระราชสงครามกรุงหงษาวดี, ตีเมืองรุมเมืองคังครั้งหนึ่งแล้ว, แลครั้งเมื่อสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, กับมหาอุปราชาคิดเปนการลับลวงให้เสด็จขึ้นไปแลจะทำร้าย, ทำร้ายมิได้. จนทัพหลวงกวาดเอาพระมหาเถรคันฉ่อง, พระยาราม, พระยาเกียรติ, ญาติโยมครัวอพยพ, ในชนบทประเทศขอบขันทเสมา, กรุงหงษาวดีมาข้ามฝั่งแม่น้ำสโตง. มหาอุปราชาตามมาทันคนละฝั่งฟาก, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทรงพระแสงปืนนกสับ, ยิงข้ามฝั่งมหานัททีอันกว้าง, ต้องสุระกรรมานายกองน่านั้นตาย. พระมหาอุปราชาท้าวพระยาสมิงรามัญ, ก็ขยาดฝีพระหัถ, เกรงพระเดชเดชานุภาพเปนสองครั้งแล้ว. แลซึ่งพระมหาอุปราชายกมาครั้งนี้เปนการปลาดนัก. ด้วยศึกพ่ายไปเดือนเจ็ด, ยังไม่ทันบำรุงช้างม้ารี้พลถึงขนาด, แลเดือนยี่ยกมาถึงพระนครเหนเรวนัก. ดีร้ายจะได้ข่าวว่า, สมเดจ์พระพุทธเจ้าหลวงเสดจ์สวรรคต, คิดว่าแผ่นดินเปนจลาจล, จึ่งรุดมาโดยทำนองศึก. ครั้นจะรับหมั้นในกรุงฆ่าศึกจะได้ใจ, ขอเชิญเสดจ์ทัพหลวงออกตั้งแต่งกองทัพเข้าปทะฟังกำลังดู. ถ้าศึกหนักจึ่งทัพหลวงเสด็จยกออกหักต่อภายหลัง, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ได้ทรงฟังมุขมนตรีกราบทูลดังนั้น, ชอบพระไทยนัก, แย้มพระโอฐดำรัสว่า, ซึ่งปฤกษาการสงครามครั้งนี้, ต้องความดำริห์เรา. บัดนี้ทัพเตรียมพร้อมอยู่ณทุ่งบางขวดแล้ว, ให้ยกไปตั้งป่าโมก, เอาแต่ทัพหัวเมืองตรีจัตวายี่สิบสามหัวเมืองเปนคนห้าหมื่น. ให้พระยาศรีไสยณรงเปนแม่กอง, ให้พระยาราชฤทธานนท์เปนยกรบัตร, ยกไปขัดรับน่าฆ่าศึกอยู่ณตำบลทุ่งหนองสาร่าย. พระยาศรีไสณรงค์, พระยาราชฤทธานนท์, กราบถวายบังคมลาออกมาจัดแจงไพร่พล, ยกทัพไปโดยพระราชบัญชา. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้โหราหาฤกษ. พระโหราธิบดีหลวงโลกยทีปขุนเทพพยากรณ์, คำนวรพระฤกษถวายว่า, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวได้จัตุรงคโชกสรรพฤกษดีพร้อม มีไชยแก่ฆ่าศึก, ขอเชิญเสดจ์จากพระนครณวันอาทิตย์เดือนยี่ขึ้นสิบเบ็ดค่ำ, เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท. สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็ตรัสให้สมุหนายกกำหนดทัพหลวงจะเสดจ์โดยชลมารค, ไปตั้งทัพไชยณพนมโมก. สมุหนายกก็แจกพระราชกำหนดข้าทูลละอองทุลีพระบาท, ฝ่ายทหารพลเรือนเตรียมการอันจะเสดจ์พระราชดำเนินนั้นเสรจ์ ๚ะ

๏ ถึง ณวันอาทิตย์เดือนยี่ขึ้นสิบเบ็ดค่ำ, เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาห้าบาท, ได้ศุภมหุติมหาวิไชยฤกษ์. สมเด็จพระบาทบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ทรงเครื่องสำหรับพิไชยสงครามเสร็จ, ก็เสดจ์ทรงเรือพระที่นั่งสีสามรถไชย. สมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าทรงเรือพระที่นั่งไกรษรมุขพิมาน, อันอลังการรจนาด้วยมหาเสวตรบวรฉัตร์, ขนัดเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณ, บังรวิวันบังแซกสลอนสลับสรรพด้วยกรรชิงกลิ้งกลดจามรมาศดาษดา, ดูมเหาฬารเลิศพันฦกอธึกด้วยกระบี่ธุชธงฉานธงไชย, แลสว่างไสวไพโรจด้วยเรือจำนำท้าวพระยาสามนตราชรายเรียงเปนรยะ, โดยเสดจ์ขบวนพยุหบาตราน่าหลังทั้งปวงพร้อมเสร็จ. พอได้อุดมฤกษพระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย, ราชครูทวิชาจารย์เป่ามหาสังขทักษิณวัดประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีฆ้องกลองก้องนี่นันมหรรนพนัที, เคลื่อนเรือขบวนพยุหบาตราโดยชลมารค, ถึงประทับขนานน่าพลับพลาไชยป่าโมก. เพลาชายแล้วสองนาฬิกาสี่บาท, เสดจจัดทัพประทับแรมอยู่ที่นั่น, กำหนดสิบเบ็ดทุ่มสามบาท, ทัพหลวงเสดจ์พระราชดำเนิน. เมื่อเพลาสิบทุ่มสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตรว่า, น้ำนองถ้วมป่ามาฝ่ายปราจินทิศ, เสดจ์ลุยชลทีเที่ยวไป, ภบมหากุมภีตัวหนึ่งใหญ่, ได้สัประยุทยุทธนาการ, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวประหารกุมภีตาย. บรรทมตื่นขณะนั้นตรัสให้โหรทาย. พระโหราธิบดีทูลทำนายว่า, ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงจะได้รบพุ่งถึงซึ่งมหายุทหัตถ. แต่ทว่าพระองค์มีไชย, ลุยไล่ประหารประจามิตรฆ่าศึก. ดุจพระสุบินว่า, เที่ยวลุยกระแสน้ำฉนั้น. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดีพระไทยนัก. ทรงเครื่องสำหรับราชรณยุทธพร้อมเสร็จเสด็จยังเกยคอยฤกษ์. ทอดพระเนตรเหนพระสาริริกะบรมธาตุ, เสด็จปราฏิหารช่วงมาเท่าผลส้มเกลี้ยง, มาแต่ทักษิณทิศเวียนเปนทักษิณาวัต, แล้วเสดจผ่านไปอุดรทิศ, ทรงพระปีติซร่านไปทั้งพระองค์. ยกพระหัตถ์ถวายทัษนัขสโมธาน, อธิฐานสวัสดิมีไชยให้ชนะปรปักษ. พระโหราธิบดีก็ให้ประโคมแตรสังขดุรียางคดนตรีพร้อมกัน. สมเดจพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างต้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ, ติดน้ำมันหน้าหลัง, เปนราชพาหนะ สมเดจพระอนุชาธิราชเจ้าทรงช้างต้นเจ้าพระยาปราบไตรยจักร์, ติดน้ำมันหน้าหลัง, เปนราชพาหนะ. พร้อมด้วยช้างท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง, เสดจพยุหบาตราทัพโดยแถวสถลมารค, ไปเข้าที่เสวยตำบลบ้านละแก้วละเลา. แล้วเสดจยกไปตามท้องทุ่ง. เพลาเที่ยงพระอาทิตยทรงกลด, ร่มช้างพระที่นั่งไปจนบ่ายสามโมงภอกระทั่งกองหน้า, ซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองสาหร่าย. เสดจประทับเกยใต้ฉายาไม้ประดู่ใหญ่, อันสถิตยเหนือจอมปรวก, เอาเปนนีมิตรครุทธนามไชยภูม. สั่งให้เร่งสร้างค่ายกองน่าหลังปีกซ้ายขวา, เปนกระบวนประทุมพยุหบาตรา. ๚ะ

๏ ฝ่ายสมิงจักตราน, สมิงเปว, สมิงทราย, มอญนายกองม้าคอยเหตุเหนกองทัพน่า, แลกองทัพหลวงดังนั้น, ก็ขับม้าวางใหญ่กลับไปค่ายพังตรุ. เอาคดีกราบทูลแก่พระมหาอุปราชาทุกประการ. พระมหาอุปราชาแจ้งดังนั้นก็ทรงพระดำริหว่า ชรอยจะเปนทัพกรุงพระมหานคร. ถ้ามิดังนั้นจะเปนทัพเอกาทศรฐน้องชายยกมาเปนหมั้นคง. แล้วตรัสถามสมิงนายกองม้าว่า, คเณคนประมาณสักเท่าใด. สมิงจตราน, สมิงเปว, สมิงทรายมอญกราบทูลว่า, พลประมาณสิบเจ็ดสิบแปดหมื่น พระมหาอุปราชาได้ฟังดังนั้น, จึ่งตรัสปฤกษานายทัพนายกองว่า, ทัพพระมหานครยกมาครานี้, ก็เปนทัพใหญ่อยู่แล้ว, แต่ทว่าน้อยกว่าเราสองเท่าสามเท่า. จำจะยกทุ่มตีเอาทัพแรกนี้ให้แตกฉานยับเยินแล้วภายหลังก็จะเบามือลง, เหนจะได้พระนครศรีอยุทธยาโดยง่าย. นายทัพนายกองก็เหนโดยพระราชบัญชา, พระมหาอุปราชากำหนดแก่นายทัพนายกอง, ให้เตรียมพลแต่ในเพลาสามยามให้พร้อม, ตีสิบเบ็ดทุ่มจะยกเคอารุ่งไว้น่า. นายทัพนายกองก็จัดแจงกระบวนทัพเทียบไว้ตามรับสั่งทุกประการ. ครั้นเพลาสิบเบ็ดทุ่มพระมหาอุปราชาก็สอดสนองพระองค์ ทรงเกราะสุวรรณประดับพลอยสภักสังวาลมรกฎสามสาย, ทรงสุวรรณรัตนมหามกุฎ, อย่างขัติยราชรามัญยอดเงื้อมไปน่า, ดุจเสียรวาสุกรี, แล้วทรงเครื่องสำรับกันสรรพาวุธพร้อมเสร็จ. เสดจทรงช้างต้นพลายพัตกอหกศอกคืบห้านิ้ว, ติดน้ำมันหน้าหลัง, เปนพระคชาธารกั้นเสวตรฉัตร. สมิงมันทมางเปนกลางช้าง, เจ้าเมืองมลวนเปนควาน พร้อมด้วยแวงจัตุลังคบาท, แลน่าช้างพระมหาอุปราชานั้น, ทวนทองสี่ร้อย. ถัดออกมานั้นวางปืนจ่ารงมณฑกนกสับ, กระแบงแก้ว, ดาบโล่ดาบดั้งสิ่งลห้าร้อย. แลมางจาดโรพี่เลี้ยงพระมหาอุปราชานั้น, เปนกองน่า, ขี่ช้างพลายพัชเนียงสูงหกศอกคืบสองนิ้ว, ติดน้ำมันหน้าหลัง. สมิงปราบศึกเปนกลางช้าง, สมิงมือเหล็กเปนควาน, พระมหาอุปราชาให้แต่งช้างชนะงาผูกพระคชาธาร, มีเสวตรฉัตรทั้งสิบหกชั้นพรางไว้ แลจัดสมิงรามัญที่เข้มแขงขี่ประจำครบอยู่, ช้างมางจาชโรพี่เลี้ยงมีช้างดั้งกันแทรกแซงเปนขนัด. แล้ววางปืนจ่ารงมณฑกนกสับหามแล่น, พลดาบโล่, แลดาบดั้ง, ดาบสองมือสิ่งละพัน, เปนชั้นๆ ออกไป. แล้วช้างท้าวพระยารามัญเกียกกายกองน่า. แลพลเดินเท้ายี่สิบหมื่น แลพลม้าสามพัน, แซงสองฟากทุ่ง, ทัพหลังนั้นพระเจ้าเชียงใหม่, ขี่ช้างพลายชมภูสูงหกศอกคืบนิ้วหนึ่ง, ติดน้ำมันน่าหลัง. พระยาเชียงแก้วหลานเปนกลางช้าง, แสนหารใจศึกเปนควาน, กอบไปด้วยช้างดั้งกันแซกแซงพลเดินเท้าสิบหมื่น. พระมหาอุปราชาจัดทัพเปนสัตเสนางค์เจ็ดแถว, ๆ ลเจ็ดกองเปนสี่สิบเก้ากอง. พร้อมพลาพลทวยหาร. ให้ลั่นฆ้องใหญ่, ฆ้องกระแตตีรับตามหมวดกอง. ยกจากค่ายพังตรุครั้งนั้น.สนั่นนฤนาทด้วยศรับท์สำเนียงเสียงช้างม้าพลาพลเดินสท้านสเทือน, ดุจแผ่นพสุธาดลจะถล่มลง. ๚ะ

๏ ฝ่ายสมเดจพระนเรศวรเปนเจ้า, ขณะเมื่อเสดจประทัพอยู่ณฉายาไม้ประดู่, เร่งให้ตั้งค่ายหมั้น. ทอดพระเนตรเหนพม่ารามัญตามซายทุ่งควบม้ากลับไป. จึ่งตรัสแก่มุขมนตรีว่า, พลม้าซึ่งกลับไปนั้นเหนทีพระมหาอุปราชาให้มาคอยเหตุไปแจ้ง. ดีร้ายเพลารุ่งพรุ่งนี้จะได้ยุทธใหญ่. ให้กองทัพพระยาศรีไสณรงค, พระยาราชฤทธานนเร่งยกไปในเพลาตีสิบเบ็ดทุ่มไปปทะน่าฆ่าศึกฟังกำลังดู. แลในกองหลวงก็ให้พร้อมไว้แต่ในเพลาย่ำรุ่ง. ท้าวพระยานายทัพนายกองก็ตรวจเตรียมโดยพระราชกำหนด. ครั้นอรุณรุ่งแสงสุริโยภาศ, พระบาทสมเดจบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทั้งสองพระองคเสดจยังเกย, ตรัสให้ท้าวพระยานายกองทัพหลวง, ยกกระบวนเบญจเสนา. พระยาสีห์ราชเดโชไชยขี่ช้างพลายโจมไตรยภพ, ถือพลหมื่นหนึ่งเปนกองน่า. พระยาพิไชยรณฤทธิ์ขี่ช้างพลายโจมไตรยจักร, ถือพลห้าพันเปนปีกขวา. พระยาพิชิตรณรงคขี่ช้างพลายจู่โจมทัพ, ถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย. พระยาเทพวรชุนขี่ช้างพลายจับโจมยุทธ, ถือพลหมื่นหนึ่งเปนเกียกกาย. พระยาพิไชยสงครามขี่ช้างพลายฝ่ายพลแมน, ถือพลห้าพันเปนปีกขวา. พระรามกำแหงขี่ช้างพลายแสนพลพ่าย, ถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย. แลน่าพระคชาธารออกไปปลายเชือกนั้น, ขุนโจมจัตุรงคขี่ช้างพลายกุญชรไชย.ขุนทรงเดชขี่ช้างพลายไกรษร, ถือพลเขนทองข้างละห้าร้อย. พระราชมาณูขี่ช้างพลายหัศดินทพิไชย, ถือพลปี่กลองชะนะซ้ายขวาข้างละห้าร้อย. แลหลวงพิเดชสงครามขี่ช้างพลายบุญยิ่ง. หลวงรามพิไชยขี่ช้างพลายมิ่งมงกุฎ, ถือพลดาบโล่, ดาบดั้งข้างละห้าร้อย. พระราชวังสรรค์ขี่ช้างพลายแก้วมาเมือง, ถือพลอาษาจามห้าร้อย. พระเสนาภิมุขขี่ช้างพลายเฟื่องปราบไตรย, ถือพลอาษายี่ปุ่นห้าร้อย. ถัดนั้นทหารทลวงฟันคู่พระไทยร้อยสามสิบหกคน, ถือดาบเขนยี่สิบสองคน, ถือดาบโล่สิบสองคน, ถือดาบสองมือเจ็ดสิบสองคน. น่าพระคชาธารนั้นหัวหมื่นพันทนายสี่พระตำรวจล้วนดาบสพายแล่ง, ถือทวนทองห้าร้อย กำหนดทั้งกองทัพหลวงเปนพลแสนหนึ่ง. ให้เอาพลายภูเขาทองขึ้นรวางสพัด, ชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ, สูงหกศอกคืบสองนิ้ว, ติดน้ำมันน่าหลังผูกคชาภรณเครื่องมั่น, ปักมหาเสวตรฉัตรเปนพระคชาธาร. เจ้ารามคบเปนกลางช้าง, นายมหานุภาพเปนควาน. แลแวงจัตุลังคบาทนั้น พระมหามนตรีอยู่ท้าวน่าฝ่ายขวา. พระมหาเทพอยู่ท้าวน่าฝ่ายซ้าย. หลวงอินทรเทพอยู่ท้าวหลังเบื้องขวา. หลวงพิเวนทรเทพอยู่ท้าวหลังเบื้องซ้าย. แลพระคชาธารสมเดจพระอนุชาธิราชเจ้านั้น, พลายบุญเรืองขึ้นรวางสพัด, ชื่อเจ้าพระยาปราบไตรยจักร, สูงหกศอกคืบ, ติดน้ำมันน่าหลังผูกคชาภรณเครื่องมั่น, ปักบวรเสวตรฉัตร. หมื่นภักดีศวรเปนกลางช้าง, ขุนศรีคชเปนควาน. แลปีกทัพหลวงนั้น, พระยามหาเสนาขี่ช้างพลายมารประไลย, ถือพลหมื่นห้าพันเปนปีกขวา. พระยาจักรีขี่ช้างพลายไฟพัทกัลป, ถือพลหมื่นห้าพันเปนปีกซ้าย. พระยาพระคลังขี่ช้างจักรมหิมา, ถือพลหมื่นหนึ่งเปนยกระบัตร. พระราชสงครามขี่ช้างพลายสังหารคชสีห, ถือพลห้าพันเปนปีกขวา. พระรามรณภพขี่ช้างพลายมณีจักรพรรดิ์, ถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย พระยาท้ายน้ำขี่ช้างพลายสวัสดิพิไชย, ถือพลหมื่นหนึ่งเปนกองหลัง. หลวงหฤๅไทยขี่ช้างพลายทรงภูบาล, ถือพลห้าพันเปนปีกขวา. หลวงราชภักดีขี่ช้างพลายสารภูทร, ถือพลห้าพันเปนปีกซ้าย. ประดับด้วยหมู่หมวดคชินทรดั้งกันแทรกแซงสลับค่าย, ค้ำพังคาโคตรแล่นล้วนสารพยุหดูมหิมา. อันท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาทวยหารแสนพลากรพลพฤนทรพร้อมพรั่งตั้งตามขบวน, เบญจะยุทธเสนางคนิกรเสร็จ. พระมหาราชครูพระครูสิวพราหมณโหราธิบดี, ก็อัญเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทั้งสองพระองคทรงมูรธาภิเศก, ถวายอาศิรพาศอวยไชย. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงเครื่องประดับสำรับราชกระษัตรีย, สู่สมรภูมสงคราม วันนั้นเปนวันอาทิตย์ทรงพระแสงธนูแล้ว, เสด็จขึ้นเกยคอยฦกษ แลชีพ่อพราหมณ์ทำโขลนทวานลว้าเส้นไก่ ขุนมหาวิไชยตัดไม้ข่มนามเสดจแล้ว, ภอได้ยินเสียงปืนยิงยุทธแย้งสุดเสียง ตรัสให้จมื่นทิพเสนาเอาม้าเรวไปฟังราชการ เหนทับน่าพ่ายมาเปนอลมาน, จมื่นทิพเสนาภาเอาขุนหมื่นในกองน่าเข้ามาเฝ้า สมเดจพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า, เหตุใดจึ่งพ่ายฆ่าศึก ขุนหมื่นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า, ยกขึ้นไปถึงท้ายโคกเผาเข้าเพลาประมาณโมงเศศ, ภบกองทับรามัญยกมาปทะตีกันถึงตลุมบอน ศึกหนักกว่าทุกครั้งจึ่งพ่าย สมเดจพระเจ้าอยู่หัวตรัสดูความคิดมุขมนตรีว่า, ทัพน่าพ่ายดั่งนี้จะคิดเปนประการใด เสนาบดีมุขมนตรีกราบทูลว่า, ขอเชิญเสดจทับหลวงตั้งหมั้นอยู่ก่อน, แต่งทับไปตั้งรับหน่วงไว้, ต่อได้ทีแล้ว, จึ่งยกทับหลวงออกทำยุทธหัต, เหนจะได้ไชยชำนะ สมเดจพระเจ้าอยู่หัวไม่เหนด้วย, ดำรัสว่า, ทับน่าแตกฉานมาแล้ว, แลจะแต่งทับออกไปรับไว้, ก็จะมาปทะกันเข้า, จะพลอยให้แตกเสียอีก ชอบให้เปิดลงมาทีเดียว, ให้ฆ่าศึกไล่ลเลิงใจเสียกระบวนมา, เราจึ่งยกทับใหญ่ยอฆ่าศึกเหนจะได้ไชยชำนะโดยง่าย ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงกราบถวายบังคมเหนโดยพระราชดำริหพร้อมกัน สมเดจพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสให้จมื่นทิพเสนา, จมื่นราชามาตย, เอาม้าเรวขึ้นไปประกาศแก่นายทับนายกองพลทหารทั้งปวง, อย่าให้รอรับเลย, ให้เปิดลงมาทีเดียว ๚ะ

๏ สิ้นเล่ม ๘ สมุดไทยแต่เท่านี้ ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ