๑๑

เล่ม ๑๑

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนสิบสองแรมห้าค่ำ, มีหนังสือบอกพระยาจันทบูรี, ส่งตัวสมิงอุบากอง, ซึ่งถือหนังสือเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่ง, ฃออวยศรีสวัสดิ์มาถึงพระยากาญจน์บุรี, ด้วยข้าพเจ้ากับพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะ, เกิดมหากละหะแก่กัน. พระยาลาวจะยกมาตีเมืองข้าพเจ้า, ๆ หาที่พึ่งมิได้. จะฃอเอาพระเดชเดชานุภาบพระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, อันมีบุญราศรีกฤษฎาธิการมหิมา, ดุจหนึ่งสมเดจ์พระเจ้ามัณทาตุราชจาตุรงคทิพยจักรพรรติอันมีพระราชเดชาวราฤทธิอาณาจักรกันแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้งสี่, มีทวีปน้อยสองพันเปนบริวารเปนฉัตรแก้วกั้นเกษ. จะฃอกองทับยกไปช่วยกันเมือง, พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงทราบดั่งนั้น, ทรงพระโสมนัศ, จึ่งพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่สมิงอุบากองโดยสมควร. แล้วตรัสให้พระยาศรีไสณรงค์ถือพลสองพัน, สรัพไปด้วยเครื่องสาตตราวุธยกไปณเมืองเมาะลำเลิ่ง. ก็กลัวพระเดชเดชานุภาพ, มิได้คิดอาฆาฎต่อไป ขณะเมื่อพระยาศรีไสณรงค์ไปช่วยกันเมืองเมาะลำเลิงนั้น, เจ้าฟ้าแสนหวีถึงแก่พิราไลย, มีราชบุตรสององค์แต่ต่างมารดา. พี่น้องสององค์ทำยุทธชิงราชสมบัติแก่กัน. ผู้น้องสู้มิได้, กลัวพี่ชายจะฆ่าเสีย, ครั้นรู้ว่ากองทับไทยมาตั้งอยู่ณเมืองเมาะลำเลิ่ง. ก็ภาพรรคพวกประมาณร้อยเสศ, หนีลงมาหาพระยาศรีไสณรงค์ณเมืองเมาะลำเลิ่ง. พระยาศรีไสณรงค์ก็บอกส่งตัวเจ้าฟ้าแสนหวี มายังกรุงเทพมหานคร. พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ทรงพระมหาการุญภาพแก่เจ้าฟ้าแสนหวี. แล้วทรงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก, เลี้ยงไว้โดยถานาศักดิ์ ๚ะ

๏ ลุศักราช ๙๔๙ ปีกุนนพศก, ราชบุตรนักพระสัทธาผู้เปนพระยาลแวก. เมื่อสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจ์ไปปราบ, ขณะเมื่อข้าหลวงเข้าเมืองลแวกในเพลากลางคืนนั้น, ราชบุตรมาอยู่น่าที่. ครั้นทับไทยเข้าเมืองได้แล้วด้วยความกลัวก็มิได้หาบิดา, หนีออกจากน่าที่กับบ่าวสามสิบคนเข้าป่าภากันหนีไปถึงแดนเมืองล้านช้าง. ครั้งรู้ว่ากองทับหลวงเสดจ์พระราชดำเนินกลับไปกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาแล้ว, ก็ภากันกลับมาเมืองละแวก, เสนาบดีที่เหลืออยู่นั้น, กับสมณชีพราหมณประชาราษฎรทั้งหลาย, จึ่งพร้อมกันยกพระราชบุตรท่านขึ้นราชาภิเศก, เปนพระยาละแวกครอบครองแผ่นดินแทนพระบิดา พระยาละแวกครั้นได้ครองศิริราชสมบัติแล้ว, ก็อุษาหบำรุงสมณพราหมณมณาจาริยโดยยุติธรรมราชประเพณีมาได้เดือนเสศ. จึ่งตรัสปฤกษากับเสนาบดีมนตรีกระวีมุขทั้งหลายว่า, แต่ก่อนมาพระบิดาเราไปกระทำเสี้ยนหนามต่อกรุงศรีอยุทธยานี้, ไม่เกรงพระเดชเดชานุภาพสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, อันทรงอีศรภาพดุจพระสุริยเทพบุตรแลพระจันทรอันมีรัศมีสว่างทั่วโลกยธาตุ, ความพินาศฉิบหายจึ่งถึงพระองค์แลพระญาติประยุรวงษในกรุงกัมพูชาธิบดี. แลครั้งนี้เราจะทำดุจบิดานั้นไม่ควร. จำจะอ่อนน้อมเอาพระเดชเดชานุภาพพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา, เปนที่พึ่งที่พำนักนิ์ความศุขสวัสดิ์จะได้มีแก่เรา. ท่านทั้งปวงจะเหนประการใด เสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายกราบทูลว่า, ซึ่งพระองค์ดำรัศนี้ควรนัก, ขอพระราชทานให้พระองค์แต่งดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการ, มีพระราชสาสน,ไปอ่อนน้อมโดยราชประเพณี, เมืองขึ้นเมืองออกกรุงเทพมหานครแล้ว, ความศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลก็จะบังเกิดมีไปตราบเท่ากัลปาวสาน พระยาลแวกได้ฟังดั่งนั้นยินดีนัก. จึ่งให้แต่งดอกไม้เงินทองจัดเครื่องราชบรรณาการเปนอันมาก, แล้วแต่งลักษณราชสาสนให้ออกยาวงษาธิบดี, พระเสนหามนตรี, หลวงบวรนายกเปนทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสน, คุมเครื่องราชบรรณาการ, ครั้นถึงด่านปราจินทบุรี, กรมการก็คุมทูตานุทูตเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานคร. เสนาบดีนำเอากิจานุกิจกราบบังคมทูล, พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสให้เบิกทูตเข้ามาเฝ้า ณมุขเด็จน่าพระที่นั่งมังคลาภิเศก.ตรัสพระราชประติสันฐารสามนัดแล้ว, พระศรีภูรีปรีชาก็อ่านพระราชสาสน, ในลักษณะพระราชสาสนนั้นว่า, ข้าพระองค์ผู้ครองอินทปัตกุรุรัตนธาณี, ฃอถวายบังคมแทบพระบวรบาทบงกชมาศ, สมเดจ์พระผู้จอมมกุฎกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภบนพรัตนราชธานีบุรีรมย์, อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน. ด้วยพระบิดาข้าพระองค์มิได้รักษาขอบขันทเสมาโดยราชประเวณี, กระทำพาลทุจริตมิได้รู้จักกำลังตนกำลังท่าน, มาก่อเกิดเปนปรปักษแก่กรุงเทพมหานคร อุปมาดั่งจอมปลวกมาเคียงเขาพระสิเนรุราชบรรพต, มิฉนั้นดังมฤคชาติตัวน้อยองอาจยุทธนาการด้วยพระยาราชสีห์, อันมีมหิทธิศักดานุภาพก็ถึงแก่กาลวินาศจากไอสูริย์สวรรยานั้น, ก็เพื่อผลกรรมได้ทำมาแต่ก่อน แลข้าพระองค์ครองแผ่นดินเมืองลแวกครั้งนี้จะได้เอาเยี่ยงอย่างพระบิดานั้นหามิได้, จะฃอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ปกเกล้าปกกระหม่อม, ดุจฉัตรแก้วแห่งท้าวมหาพรหม, อันมีปริมณฑลกว้างขวางร่มเย็นไปทั้งจักรวาฬ, ข้าพระองค์ขอถวายสุวรรณหิรัญรัตนมาลาบรรณาการ, โดยราชประเพณีสืบไปกราบเท่ากัลปาวสาน, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟัง, ก็มีพระไทยเมตา แก่พระสุธรรมราชาพระยาลแวกองคใหม่เปนอันมาก, สั่งให้ตอบพระราชสาสนไปว่า, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวจะได้อาฆาฎจองเวรแก่ราชบุตรนักพระสัทธานั้นหามิได้ แลซึ่งบิดาท่านเปนไปจนถึงพิราไลยนั้น, ก็เพื่อเวรานุเวรแต่อดีตติดตามมาให้ผลเหนประจักษ, แลให้พระยาลแวกองค์ใหม่นี้ครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร, โดยยุติธรรม, ราชประเพณีพระมหากระษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนนั้นเถิด แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานตอบเครื่องราชบรรณาการ แลพระราชทานเสื้อผ้า, แลเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยสมควร อยู่สามวันทูตก็กราบถวายบังคมลาไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี ๚ะ

๏ ครั้นเข้าเดือนห้าปีชวดสัมฤทธิศก, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้, เดือนสิบสองจะยกไปเมืองเมาะตมะเมืองหงษาวดี ในเดือนห้านั้นมีหนังสือบอกพระยาศรีไสณรงค์เข้ามาว่า, ซึ่งพระเจ้าแปรผู้เปนราชนัดา, เสียทับกลับไปเมืองหงษาวดี, พระเจ้าหงษาวดีเอาโทษถอดเสียจากถานะศักดิ์, ไพร่พลรามัญซึ่งไปกับพระเจ้าแปรนั้น จับได้ใส่เล้าคลอกเสีย ที่แตกฉานซร่านเซรนไป, ภายหลังรู้เนื้อความดั่งนั้นก็กลัวตาย, ก็มิได้เข้าเมือง คุมกันเปนพวกเปนเหล่าออกอยู่ป่า, แต่งข้าหลวงไปจับก๊ต่อรบ แลหัวเมืองทั้งปวงนั้นเหนว่า, พระเจ้าหงษาวดีถอดพระเจ้าแปรเสียก๊เสียใจ, ภากันกระด้างกระเดื่องเปนอันมาก, แลกรุงหงษาวดีเสียแก่มอญกระบถ สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทราบดั่งนั้น, จึ่งพระราชทานอาชาสิทธิ์ให้เจ้าพระจักรี, เปนนายทับนายกองยกพลหมื่นห้าพัน, ช้างเครื่องร้อยหนึ่ง, ม้าสองร้อย, ออกไปตั้งหมั้นปลูกยุ้งฉางทำไร่นาณเมืองเมาะลำเลิ่งไว้ถ้าทับหลวง จึงดำรัศให้เจ้าฟ้าแสนหวีไปด้วยเจ้าพระยาจักรี แล้วเกนทับเมืองทวายห้าพัน, ให้ขึ้นไปตั้งตำบลเกาะพรวกเมืองวังราวขอบฝั่งทเลตวันตก, หนุนทับเจ้าพระยาจักรี, ๆ จะได้ใช้ราชการสดวก แลกองทับพระยาศรีไสณรงค์ให้เอาไว้, แต่ตัวพระยาศรีสไสณรงค์, กับพรรคพวกนั้น, ให้เข้ามารับราชการณกรุง ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีกราบถวายบังคมลา, ยกไปถึงเมืองเมาะลำเลิงแล้ว, ตั้งค่ายขุดคู, ปลูกยุ้งฉาง, กะเกณฑ์มอญชาวเมืองเมาะลำเลิง, แลไทยกองทับทำไร่นา, แลตั้งทำเรือรบเรือไล่เปนอันมาก พระยาศรีไสณรงค์กับพรรคพวกก็กลับเข้ามารับราชการ ฝ่ายเจ้าเมืองเมาะตมะ, เจ้าเมืองละเคิ่ง, เจ้าเมืองขลิก, เจ้าเมืองบัวเผื่อน, เจ้าเมืองพสิม, เจ้าเมืองตองอูรู้ว่า, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัว ณกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา, ให้กองทับเจ้าพระยาจักรียกมาตั้งทำไร่นา, ณเมืองเมาะลำเลิงไว้เปนเสบียง, เดือนอ้ายปลายปีทับหลวงจะเสดจไปเมืองหงษาวดี, ต่างคนต่างเกรงพระเดชเดชานุภาพ ก็แต่งมอญพม่าผู้ดี, ให้ถือหนังสือแลเครื่องราชบรรณาการ, ลงมาณเมืองเมาะลำเลิง เจ้าพระยาจักรีบอกส่งผู้ถือหนังสือ, แลเครื่องราชบรรณาการเข้ามายังกรุงเทพมหานคร, เสนาบดีเอากราบทูล พระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ดำรัศให้เบิกพม่ารามัญผู้ถือหนังสือเข้ามาเฝ้า แลในหนังสือเจ้าเมืองเมาะตมะ, เจ้าเมืองพสิม, เจ้าเมืองบัวเผื่อน, เจ้าเมืองขลิก สี่เมืองนี้ว่า, จะขอเปนข้าขันทเสมากรุงเทพพระมหานครไปกราบท้าวกัลปาวสาน. แต่หนังสือเจ้าเมืองตองอู, เจ้าเมืองละเคิ่งนั้นว่า, จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ถ้าสมเดจ์พระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค, จะเสด็จพระราชดำเนินไปเอาเมืองหงษาวดีเมื่อใด, พระยาตองอู, พระยาละเคิ่ง, จะขอยกพลมาควบทับโดยเสดจ์งานพระราชสงคราม. สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวได้แจ้งในลักษณอักษรดังนั้น, มีพระไทยโสมนัศ, ตรัสให้พระราชทานรางวัลแก่พม่ามอญผู้ถือหนังสือมานั้นเปนอันมาก, ตรัสให้พระราชทานสิ่งของไปแก่เจ้าเมืองทั้งปวงโดยถานาศักดิ์ จึ่งให้ตอบหนังสือตอบไปแก่ท้าวพระยารามัญทั้งปวง ผู้ถือหนังสือก็กราบถวายบังคมลากลับไปเมือง ๚ะ

๏ ขณะเมื่อผู้ถือหนังสือกลับไปถึงเมืองตองอูนั้น พระมหาเถรเสียมเพรียมเจ้าอธิการรู้, จึ่งเข้าไปหาพระยาตองอู, แล้วถามว่า, มหาบพิตรจะเอามอญไปเปนตพุ่นหญ้าช้างกรุงศรีอยุทธยาฤๅ พระยาตองอูได้ฟังพระมหาเถรก็สงไสย, จึ่งถามว่า, ไยพระผู้เปนเจ้าจึ่งว่าดั่งนี้ พระมหาเถรจึ่งว่า อาตมาภาพแจ้งว่า, มหาบพิตรมีหนังสือถวายเครื่องราชบรรณาการไปอ่อนน้อมว่า, ถ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจะยกมาตีเมืองหงษาวดีเมื่อใด, มหาบพิตรจะยกไปโดยเสดจ์งานพระราชสงคราม เพราะเหตุฉะนี้อาตมาภาพจึ่งว่า พระยาตองอูจึ่งตอบว่า, ผู้เปนเจ้าไม่รู้ฤๅว่า, สมเดจพระนเรศวรบรมบพิตรเปนเจ้า, แลสมเดจ์พระเอกาทศรฐทั้งสองพระองค์นี้, ทรงศักดานุภาพมากดุจหนึ่งพระสุริยเทเวศรส่องโลกย, เมื่อเพลามัชฌันติกะไสมย, ศึกหงษาวดีลงมาทำศึกครั้งใด, มีแต่แตกฉานยับเยินไปทุกครั้ง บัดนี้พระเจ้าหงษาวดีก็สิ้นเขี้ยวศึกเขี้ยวสงครามอยู่แล้ว ๆ ได้ข่าวมาว่า, ปลายปีก็จะยกทับมาเอาเมืองหงษาวดี ๆ เหนไม่พ้นเงื้อมพระหัถท่าน แล้วเมืองมอญทั้งปวงก็อ่อนน้อมท่านสิ้น โยมเหนดั่งนี้, จึ่งมีหนังสือถวายเครื่องราชบรรณาการไปอ่อนน้อมบ้าง. พระมหาเถรได้ฟังดั่งนั้นหัวร่อ, แล้วว่า อันพระนเรศวรสองคนพี่น้องนี้, มีศักดานุภาพเข้มแขงสงครามนั้น, อาตมาภาพก็แจ้งอยู่สิ้น ถึงจะมีไชยแก่ชาวหงษาวดี, ก็แต่ในแว่นแคว้นขันทเสมากรุงมหานครศรีอยุทธยา, จะได้ล่วงเกินถึงแดนนี้ก็หามิได้ แลอาตมาภาพพิเคราะห์ดูลักษณราศรีมหาบพิตร, ก็เหนจะได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศอยู่ ไฉนน้ำพระไทยมหาบพิตรกับลักษณะจึ่งผิดกันนัก อันลักษณอย่างมหาบพิตรนี้ในตำราว่า องอาจดุจหนึ่งนิทานพระบรมโพธิสัตวเสวยพระชาติเปนกระแต, อาจสามารถเพียรจะวิดน้ำในมหาสมุทให้แห้ง มิฉะนั้นจะมีมานะเหมือนนกน้อย, อันบินแข่งพระยาครุทธ ข้ามมหาสาครทเลใหญ่ แลน้ำพระไทยมหาบพิตรมาอ่อนดุจอิสัตรี, อันกลัวปีสาจหลอนหลอกนั้น, ตำราของอาตมาภาพนี้ผิดเสียแล้ว, เอาไว้มิได้ จำเผาไฟทิ้งน้ำเสีย ว่าแล้วพระมหาเถรทำลาลุกจะไป พระยาตองอูยิ้มแล้วยกมืออาราธนาว่า, พระผู้เปนเจ้าอย่าเภ่อไปก่อน พระมหาเถรก็ทรุดนั่งลงดั่งเก่า พระยาตองอูจึ่งว่า, อันตำราของผู้เปนเจ้าเหนก็จะไม่ผิดกับใจของโยม แต่บัดนี้โยมยังอ่อนปัญญาความคิดอยู่ อุประมาดั่งบุรุษหลงอยู่ในถ้ำอันมืด, ถ้าพระผู้เปนเจ้าช่วยเอาแก้วมาส่องให้สว่างเหนหนทางแล้วก็จะเดินโดยทางได้สดวก พระมหาเถรจึ่งว่า, การอันนี้ใช่กิจสมณ, แต่อาตมาภาพเสียดายพระสาศนา กับเอนดูอาณาประชาราษฎรในรามัญประเทศทั้งปวง ก๊จะช่วยทำนุบำรุงไปตามสติปัญญา แลซึ่งมหาบพิตรว่ายังอ่อนปัญญาความคิดอยู่นั้น, จะคิดอย่างไรให้ว่าไปเถิด, จะช่วยชี้แจงให้. พระยาตองดูได้ฟังดั่งนั้นก๊ดีใจ, กราบนมัสการพระมหาเถรแล้วว่า โยมประมาณดูรี้พลเมืองหงษาวดี, มีอยู่มากก๊เหมือนน้อย, ด้วยว่าไปเข้าอ่อนน้อมต่อกรุงพระนครศรีอยุทธยาเปนอันมาก, จะคิดอ่านให้กลับใจมาได้นั้นยากนัก. พระมหาเถรหัวร่อแล้วว่า การแต่เพียงนี้จะเปนไรมี แม้นจะแกงให้อร่อยม่อหนึ่ง, เหนจะยากกว่าอีก. พระยาตองอูจึ่งว่า ถ้าพระผู้เปนเจ้าโปรดโยมให้ได้เปนใหญ่ในรามัญประเทศสมคิดแล้ว, จะสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิตร พระมหาเถระยิ้มแล้วจึ่งว่ามหาบพิตรอย่าวิตกเลย, อาตมาภาพจะช่วย. พระมหาเถรขยับเข้ามาให้ใกล้พระยาตองอูแล้วว่า มหาบพิตรเปนพระราชนัดดาพระเจ้าหงษาวดี หัวเมืองทั้งปวงก็นับถือมากมายอยู่, จงมีหนังสือไปประกาศแก่หัวเมืองทั้งปวงว่า, กรุงหงษาวดีเปนราชธานีใหญ่แต่ครั้งพระเจ้าช้างเผือกมากราบเท่าทุกวันนี้, ยังมิได้ไปเปนเชลยแก่เมืองใด. แลครั้งพระเจ้าแปรเสียทีมา, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีเอาโทษถอดเสียจากถานาศักดิ์ เราได้ยินข่าวว่า, หัวเมืองทั้งปวงภากันลอบใช้คนถือหนังสือคุมเครื่องบรรณาการไปออกแก่กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเราก็ยังไม่เชื่อ, จึงแซ่งแต่งคนถือหนังสือไปบ้าง, หวังจะฟังกิจกาให้แน่ ก็ได้ความประจักษว่า, เมืองเมาะตะมะ แลหัวเมืองทั้งปวงคิดกระบถคนเหล่านี้หารักชีวิตรแลโคตไม่ฤๅ, ให้เร่งบอกมาเราจะเอาความเข้ากราบทูลสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, แล้วเราจะยกทับไปฆ่าเสียทั้งโคตร. ถ้าแลหัวเมืองทั้งปรงรู้ศึกว่า ได้คิดผิดแล้วจะคืนหาความชอบ, ก็จะงดความไว้ครั้งหนึ่งก่อน. แต่ทว่าให้คิดอ่านจับไทยกองทับ, ซึ่งมาตั้งอยู่เมืองเมาะลำเลิ่งส่งให้ได้บ้าง, จึ่งจะเหนจริง. ถ้ามหาบพิตรมีหนังสือไปดั่งนั้น ดีร้ายหัวเมืองทั้งปวงจะสดุ้งตกใจกลัว, จะกลับไปคิดอ่านจับไทย, ก็จะเกิดอริวิวาทกันกับไทย, ทางไมตรีก็จะขาดกัน. เมื่อทับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกมา, ก็จะได้เปนรั้วขวากรั้วหนามกันให้ช้าลงไว้. ประการหนึ่งมหาบพิตรบำรุงช้างม้ารี้พลไว้ใหรื่นเริง, ถ้าได้ข่าวว่า ทับกรุงพระนครศรีอยุทธยาล่วงแดนมาเมืองใดแล้ว, จงเร่งยกพลไปเมืองหงษาวดี ทำทีว่าจะช่วยงานพระราชสงครามให้ไว้ใจแล้ว, เข้าปลอมปล้นเอาเมืองหงษาวดี, เชิญสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, แลกวาดครัวอพยพไพร่พลเมืองเข้าปลาอาหารมาเมืองตองอูให้สิ้น. ถึงมาทว่าทับพระนเรศวรจะยกมาติดตามถึงเมืองตองอูก็ดี, เมื่อแลเราตัดเสบียงอาหารเสียได้สิ้นแล้วก๊จะเลิกทับกลับไปเอง. ถ้าศึกกลับไปแล้วพระเจ้าหงษาวดีก๊อยู่ในเงื้อมพระหัถพระองค์ก๊จะสิทธิขาดขึ้นกว่าเก่าได้ร้อยเท่าพัททวี, จะคิดประการใดก็จะสำเร็จ. แลซึ่งอาตมาภาพว่าทั้งนี้, มหาบพิตรจะเหนผิดชอบประการใด พระยาตองอูมีความยินดี, กราบนมัสการแทบบาทพระมหาเถรแล้ว ๆ เล่า ๆ แล้วว่า, พระผู้เปนเจ้าคิดนี้ดั่งเทพยุดาเอาแว่นแก้วมาส่องให้สว่างเหนทั้งกลางวันแลกลางคืน, พระคุณนั้นหาที่สุดมิได้. พระมหาเถรจึ่งว่ามหาบพิตรเร่งมีหนังสือไปเถิด, ถ้าขัดสนไปภายน่า, จึ่งให้ไปบอกอาตมาภาพจะช่วย. แล้วพระมหาเถรก็ลาไปอาราม. รุ่งขึ้นพระยาตองอูแต่งหนังสือตามถ้อยคำพระมหาเถรว่า, ให้คนถือไปประกาศแก่หัวเมือง. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยารามัญหัวเมืองทั้งปวง, แจ้งในหนังสือพระยาตองอูดั่งนั้น, ก็ตกใจกลัวต่างคนต่างปฤกษากรมการนายบ้านนายอำเภอว่า, คิดการทั้งนี้หมายว่าจะลับก็ไม่ลับ, พระยาตองอูรู้ความสิ้น, จึ่งมีหนังสือมาว่ากล่าวทั้งนี้, เพราะเอนดูเราผู้เปนตระกูลรามัญ. ครั้นจะขืนผันหน้าพึ่งกรุงพระนครศรีอยุทธยาทีเดียว, ก็เปนรยะทางไกล, จะต้องคำโบราณว่า, กว่าถั่วจะสุกสิงาไหม้. ด้วยพระยาตองอูมีกำลังรี้พลมาก แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็นับถือว่าเปนเชื้อพระวงษ, จะว่าประการใดก๊สิทธิ์ขาด. จำเราจะหาความซอบจับเอาไทยส่งเข้าไปให้ได้, คิดกันดั่งนั้น, ก็แต่งหนังสือขึ้นไปถึงพระยาตองอูเปนใจความว่า, ข้าพเจ้าหัวเมืองทั้งปวงขอน้อมเศียรเกล้าบังคมมาถึงใต้เบื้องบาทบงกชพระยาตองอู, ด้วยข้าพเจ้าทั้งปวงเปนคนโมหะคิดทุจริตผิดไปนั้น, พวกข้าพเจ้าทั้งปวงถึงที่ตาย. ซึ่งโปรดให้มีหนังสือชี้แจงให้ข้าพเจ้าเหนผิดแลชอบนั้น ดุจเทพยดามาชุบเอาชีวิตรข้าพเจ้า, แลชีวิตรไพร่ฟ้าประชาราษฎรขึ้นมานั้น, พระคุณไม่มีที่จะเปรียบได้. ข้าพเจ้าจะฃอทำตามโอวาทเอาเปนที่พึ่งพำนักนิ์สืบไป, แล้วก็ส่งหนังสือให้, ผู้ถือก็กลับไปยังเมืองตองอู. พระยาตองอูแจ้งในหนังสือดั่งนั้น, ก็มีความยินดี, ตั้งแต่นั้นมาก๊บำรุงช้างม้า, เอาใจไพร่พลในเมืองตองอูให้รักใคร่เปนอันมาก ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะ, สั่งแก่ท้าวพระยารามัญทั้งปวง, ให้คิดอ่านจับกองทับไทยให้ได้ส่งเข้าไปเมืองตองอูเอาความชอบ. ท้าวพระยารามัญทั้งปวงก็คอยช่องจะจับไทยให้ได้. ครั้นณเดือนอ้ายเข้าเบาศุก, เหล่าไทยออกไปเกี่ยวเข้าณทุ่งเมาะลำเลิง, แต่พวกขุนจบสิบห้าคนออกไปเกี่ยวเข้าณชายป่า, สมิงสุรานายบ้านจอยยะกับพวกรามัญร้อยหนึ่ง, ลอบคอยดูอยู่ในป่า, ครั้นเหนได้ทีก็วิ่งกรู่เข้าจับขุนจบ, แลพวกบ่าวไปได้เก้าคน, ไพร่ห้าคนหนีได้, ก๊วิ่งไปบอกพวกกองทับว่า, มีรามัญประมาณร้อยเศศ, มาจับเอาขุนจบกับไพร่เก้าคน, นายทับนายกองแจ้งดั่งนั้น, ก็ให้จัดแจงกันไปตามสามร้อย ทับพวกรามัญได้รบกันกับพวกไทยป่วยตายหลายคน ทนทานมิได้ก็แตกไป. กองทับไทยได้ตัวขุนจบกับไพร่เก้าคน, กลับมาแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาจักรีจึ่งหาตัวพระยาภะโร่เจ้าเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งถามว่า, เหตุผลทั้งนี้เปนประการใด. เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งไม่รับ ว่ามิได้รู้. เจ้าพระยาจักรีมิฟังจะให้จำพระยาภะโร, ๆ เหนความจะไม่พ้นตัว, จึ่งอุบายว่า, จะฃอไปเอามอญเหล่าร้ายให้ได้, เจ้าพระยาจักรีมิทันพิเคราะห์, สำคัญว่าจริงก็ปล่อยตัวไป. พระยาภะโรจึ่งคิดกับกรมการว่า, เราจะตามจับบ่าวของเรามากะไรเล่า, ถึงจะแก้ไขประการใด, ความอันนี้เหนจะไม่ลับ, จะนิ่งอยู่ฉะนี้จะภากันตายเสียสิ้น, จำจะหนีขึ้นไปเมาะตมะ. คิดเหนพร้อมกันแล้ว, ก็แต่งคนเร็วเอาการไปแจ้งแก่พระยาลาว, ๆ ก็ให้เรือมาคอยรับ. ครั้นเพลาสองยามพระยาภะโรก็ภาครัวอพยพหนีออกจากเมือง, ภอรุ่งก็ลงเรือข้ามไปเมืองเมาะตมะ เพลารุ่งเช้าเจ้าพระยาจักรีรู้ว่า, พระยาภะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งภาครัวหนีไปสิ้น ก็แต่งกองทับมาตามถึงฝั่งไม่ทันก็กลับไป ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาภะโร ก็แจ้งการแก่พระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะทุกประการ. พระยาลาวจึ่งว่า, ซึ่งทำการมิได้ไทยมา,เสียทีเสียครั้งหนึ่งแล้วไปเถิด. แต่ว่าเราวิตกอยู่ว่า. ท่านอยู่ณเมืองเมาะลำเลิงนั้น, อุประมาเหมือนหมู่มฤคชาติอันอยู่ในปากเสือ, ซึ่งภากันอพยพมาได้สิ้นนั้น, เรามีความยินดีนัก. จึ่งค่อยคิดอ่านกันไปใหม่, จะเกรงอะไรกับกองทับไทยเท่านั้น, แล้วเมืองเมาะตมะแต่งกองทับโจรกองละสองร้อย, สามร้อยให้เที่ยวเปนเสือป่า. ถ้าเหนไทยออกเที่ยวหากิน, แลเกี่ยวเข้าก็ให้ลอบฆ่าตี, ภอจะจับได้ก็ให้จับตัวมา. ถ้าเหนทำได้จึ่งให้ทำ, ถ้าทำมิได้อย่าให้ทำ, สุดแต่อย่าให้เสียการ. กองรามัญทั้งปวงแจ้งกำหนดดั่งนั้นแล้ว, ก็ข้ามไปซุ่มอยู่ในป่า. ครั้นเหนไทยออกมาเกี่ยวเข้า, ก็ลอบยิงลอบแทง, แต่ทำดั่งนี้เนือง ๆ นายทับนายกองทั้งปวง, ก็เอาเหตุไปแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรี, ๆ เหนมอญกลับเปนกระบถ, ทำการกำเริบหนักขึ้น, ก็บอกหนังสือเข้ามาให้กราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ, เสนาบดีก็นำเอาหนังสือบอกเจ้าพระยาจักรีกราบบังคมทูล. พระบาทสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบก็ทรงพระโกรธ, ตรัสว่าเจ้าพระยาจักรีเปนผู้ใหญ่ก็เคยทำศึกสงครามมา, ยังจะไปตีเอาเมืองเหล่านี้ก็หาได้ตีไม่. เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเข้าสวามีภักดี, ขอกองทับออกไปรักษาเมือง, ไพร่บ้านพลเมืองก็ปรกติอยู่สิ้น. ฝ่ายเมืองเมาะตมะ, เมืองละเคิ่ง, เมืองบัวเผื่อน, เมืองพสิม, เมืองขลิก, เมืองตองอูเล่าก็อ่อนน้อม, ควรฤๅให้เปนได้ถึงเพียงนี้.ประการหนึ่งเมืองเมาะลำเลิ่งก็อยู่ฝากตวันออก, เหมือนอยู่ในกำมือก็ยังให้เลิกหนีไปได้. ด้วยว่าทำศึกดุจทารกอมมือ, ครั้นจะให้ฆ่าเสียก็เสียดายคมหอกดาบ, ตรัสเท่าดั่งนั้น, ก็ให้มีตราตอบฆาฎโทษออกไปว่า, เจ้าพระยาจักรีจะตีเอาเมืองเมาะตมะได้ฤๅมิได้, ถ้าเหนได้ฝ่ายเดียวแล้วให้ตีเอา, ถ้าเหนมิได้ให้รักษาค่ายเมาะลำเลิ่งไว้ให้มั่น. ทับหลวงเสดจพระราชดำเนิรถึง, จึ่งจะตีเมืองเมาะตมะทีเดียว. ผู้ถือหนังสือก็กลับไปแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรีทุกประการ. ๚ะ

๏ เจ้าพระยาจักรีแจ้งในท้องตรารับสั่งดั่งนั้น, ก็กลัวพระราชอาชาเปนอันมาก. แลเร่งรัดให้นายทับนายกองทำเรือรบเรือไล่เสร็จ, แล้วก็ให้ลากลงไว้ในคลองน้ำ. แลคิดแต่งกองทับไปป้องกันให้เกี่ยวเข้าสี่กอง, กองละห้าร้อยคอยสกัดตีเหล่ารามัญกระบถทุกวัน พวกมอญเหนกองทับไทยมาก, ต้านทานมิได้ก๊หลบหลีกเข้าไปในป่า นายทับนายกองให้เร่งเกี่ยวเข้าเบา, แลเข้านักในท้องนาแขวงเมืองเมาะลำเลิ่ง, บวกขนเข้าไว้ในฉางได้ประมาณสองพันเกวียน. ๚ะ

๏ ส่วนพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะ, แต่งชาวด่านให้มาประจำฟังข่าวราชการ, อยู่ทางแม่น้ำละเมา, ทางตองปุ, ทางแม่จัน, ทางแม่กระษัตร, ให้รู้ว่ากองทับหลวงณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะมาฤๅมิมา ๚ะ

๏ ฝ่ายสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ครั้นให้หนังสือตอบมายังเมืองเมาะลำเลิ่งแล้ว, ก็มีพระราชโองการแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงให้เตรียมทับพร้อมเสร๊จ, กำหนดทับหลวงจะเสดจโดยทางชลมารค์ ณวันเสาร์เดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง, เสดจไปขึ้นบกเมืองกาญจนบุรี, ให้กองทับทั้งปวงล่วงไปคอยรับเสดจให้พร้อม. ท้าวพระยานายทับนายกองก็ยกช้างม้ารี้พลไปทางเมืองกาญจนบุรีตามพระราชกำหนด. ๚ะ

๏ ครั้น ณวันเสาร์เดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง, เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกา, ได้มหาอุดมฤกษ, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์, ก็ทรงเครื่องอลังการสรรพาภรณ์วิไชยยุทธสรัพเสร็จ. เสดจลงสู่พระที่นั่งกระนกรัตนวิมานมหานาวา, อันรจนาด้วยกาญจนมณีรัตน์ชัชวาลทั้งคู่ดูพันฦก, อธึกด้วยเรือจำนำท้าวพระยาสามนตราช, ฝ่ายทหารพลเรือนเรียงประจำจับสลากสลับสลอนคับคั่งตั้งโดยกระบวนพยุห์บาตรา, พระโหราราชครูธิบดีศรีพิชาจารย์. ก๊ลั่นฆ้องไชยให้ขยายเรือพระที่นั่งสุวรรณ์หงษ์, อันทรงพระพุทธปัฏิมากรทองนพคุณ, บันจุพระษารีริกบรมธาตุ, ถวายพระนามสมยาพระไชยนั้นก่อน. แลเรือกระบวนน่าทั้งปวงเดินโดยลำดับ, เรือพระที่นั่งแลเรือแห่ซ้ายขวาทั้งปวง, เดินโดยเสดจดาดาษในท้องพระมหานัทีธารประทับรอนแรมห้าเวนก็ถึงเมืองกาญจนบุรี เสดจยังพลับพลาที่ประทับ สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, เสดจ์แรมภักช้างม้ารี้พลจัดกองทับสามเวน แลกองทับหลวงเสดจครั้งนั้น, พลสกรรลำเครื่องแสนหนึ่ง, ช้างเครื่องแปดร้อย, ม้าพันห้าร้อย. ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นเสเดจในเพลาสิบทุ่ม สมเดจ์พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระสุบินว่า, ยังมีสิงฆาลาตัวน้อยมาคาบเอาพระยาคชสารตัวใหญ่ไปสู่ประเทศตนได้ ในพระสุบินว่า, สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสเหนประหลาด. เสดจ์ตามไปจะชิงเอาพระยาคชสารก็มิได้, ด้วยป่านั้นเปนทางทุรัศกัปดารนัก. เท่านั้นก๊ประทมตื่น, ภอตีสิบเอ็ดทุ่ม. จึ่งตรัสให้พระโหราซ้ายขวาพยากรณ โหราธิบดีถวายพยากรณ์ทำนายว่า. เสดจ์พระราชดำเนิรมาครั้งนี้เพื่อจะไปทำยุทธนาการด้วยพระเจ้าหงษาวดี. เอาฌานพระเจ้าหงษาวดีเปนที่ตั้งดั่งพระยาคชสาร. ซึ่งว่าสิงฆาลาตัวน้อยมาคบคาบเอาพระยาคชสารไปได้นั้น, ดีร้ายจะมีปรปักข์เมืองใดเมืองหนึ่ง, แต่ทว่าเปนเมืองน้อยมาปลอมปล้นลดต่ำพระองค์ พระเจ้าหงษาวดีลงเสียจากเสวตรฉัตรแล้วภาไปเมืองตน. ทับหลวงเสดจจะได้ติดตามไป, แต่ทว่าเหนจะมิได้พระเจ้าหงษาวดีคืนมา. จะขัดสนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, เปนเทพสังหรบอกเหตุ, ใช่จะร้ายสิ่งหนึ่งสิ่งใดหามิได้. ๚ะ

๏ สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดั่งนั้น, จึ่งทรงพระกรุณาตรัสว่า, ซึ่งทำนายครั้งนี้โดยลักษณสุบิน. แต่เราเหนว่า, พระเจ้าหงษาวดีเปนใหญ่ในรามัญประเทศ, แต่ครั้งพระบรมราชบิดามา, เปนปึกแผ่นมั่นคงดุจเขาพระสิเมรุราช, ซึ่งผู้ใดจะอาจเอื้อมทำอันตรายนั้นเหนยังมิได้ก่อน. จำเราจะยกไปแก้แค้นเมืองเมาะตมะ, แลหัวเมืองรามัญทั้งปวงซึ่งเปนประทุฐร้ายหมิ่นเราให้สาใจ, จึ่งค่อยคิดราชการต่อไป ๚ะ

๏ ตรัสแล้วรุ่งขึ้นสามนาฬิกาหกบาท, ได้มหาเพชร์ฤกษ, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค, ทรงเครื่องสำรับพิไชยสงครามเสร็จ. สมเดจ์พระนเรศวรบพิตร์เปนเจ้า, เสด็จทรงช้างเจ้าพระยาปราบไกรจักร์เปนพระคชธาร. สมเดจ์เอกาทศรฐอิศวรบรมนาถร, เสดจ์ทรงช้างเจ้าพระยาปราบมหิมาเปนพระคชาธาร. ประดับด้วยพิริย์ทวยหารแห่เปนขนัดแน่น, แสนสารสินทพพยุห์สมุห์ดูพิฤก,. ดาดาษด้วยธงทิวแถวทวนทองน่าพระคชาธาร, อลังการด้วยเครื่องอภิรุมชุมสายพรายพรรณ์, กลิ้งกลดจ่ามรมาศบังบรมทิพากรร้อนส่อง. อุโฆษด้วยเสียงโกลาหฬฆ้องกลองชะนะ, นำเสดจ์โดยมารควิถีแถวเถื่อนทางทุเรศประทับร้อนแรมเจ็ดเวน, บันลุด่านพระเจดีย์สามองค์, เสดจไปประทับแรมตั้งค่ายหลวงตำหนักแม่กระษัตร์. ฝ่ายชาวด่านรามัญซึ่งมาประจำคอยข่าวอยู่นั้น, เหนกองทับยกมาก็ลอบดูในป่าประจักษ์แจ้งว่าเปนกองทับ, ก็รีบกลับเอาเนื้อความไปแจ้งแก่เจ้าเมืองเมาะตมะ, จึ่งบอกข้อราชการไปเมืองหงษาวดี แลเมืองตองอู. ๚ะ

๏ ขณะเมื่อหนังสือบอกเมืองเมาะตมะไปถึงนั้น, พระเจ้าหงษาวดีทรงพระประชวนอยู่. จึ่งสั่งแก่เสนาบดีว่า ราชการครั้งนี้เราป่วยทุพลภาพอยู่แล้ว, ให้คิดกันรักษาพระนครให้ดี. แล้วให้บอกไปถึงพระยาตองอูหลานเรา, ให้เร่งยกพลมาช่วยการสงคราม. เสนาบดีบอกข้าราชการไปยังเมืองตองอู, แลหัวเมืองทั้งปวงให้ยกมาช่วยป้องกันเมืองเมาะตมะ. แลเมืองหงษาวดีนั้น, กะเกนไพร่พลรักษาน่าที่เชิงเทินตามธรรมเนียม. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระเจ้าตองอูรู้แล้ว, จึ่งให้ไปอาราทะนาพระมหาเถรเสียมเพรียมเข้ามา, แล้วบอกประพฤติเหตุให้พระมหาเถระฟังทุกประการ. แล้วว่าพระผู้เปนเจ้าช่วยคิดให้โยมด้วย, พระมหาเถรได้ฟังแล้วก็หัวร่อแล้วว่า, มหาบพิตรกลัวนเรศวรนักฤๅ, พระยาตองอูจึ่งว่า, พระผู้เปนเจ้าช่วยบำรุงอยู่แล้ว, โยมหากลัวไม่. พระมหาเถรยิ้มแล้วจึ่งว่า, มหาบพิตร์อย่าวิตกเลย, ซึ่งทับพระนเรศวรพี่น้องยกมาครานี้, อุปมาเหมือนเทพยดาอันจรในจักราศี, อุดหนุนฉตามหาบพิตร์. โชกตกทวารลักษณจันท์จะขึ้นนะระอยู่แล้ว อย่าช้าเลยจงเร่งยกพลลงไปเมืองหงษาวดี. แล้วแต่งม้าใช้ถือหนังสือไปถึงเจ้าเมืองเมาะตมะว่าให้กวาดครัวเร่งการไพร่พลหัวเมือง, ซึ่งขึ้นแก่เมืองเมาะตมะเข้าไว้ในเมืองให้หมั้นคง. แล้วให้ตั้งคูให้หมั้นคง, จงช่วยกันเปนใจรบ, อย่าให้กองทับกรุงศรีอยุทธยาข้ามมาได้. ถ้าศึกหนักแน่นประการใด, ให้บอกมาเราจะยกลงไปช่วย. แต่บัดนี้เราจะเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีคิดราชการ. มหาบพิตรคิดมีหนังสือเอาใจเมืองเมาะตมะดั่งนี้แล้ว, จงแต่งม้าเร็วยี่สิบม้า, สามสิบม้าให้ประจำฟังข่าวอยู่นั่น. แล้วให้ผลัดเปลี่ยนกันเอาข่าวมาแจ้งจงเนือง ๆ. ถ้าศึกไทยกับรามัญยังไม่ติดกันเข้า, อย่าเภ่อทำจะเสียการ. ถ้าศึกติดตีกันเข้าเมื่อใดแล้ว, ก็ให้ทำการใหญ่เถิด. แลเมื่อจะเข้าเมืองหงษาวดีมาเมืองตองอูนั้น, ให้จุดเผาบ้านเรือนเสบียงอาหารให้สิ้น, กำลังข้าศึกก็จะถอยลง. ถ้าเหนยังติดตามมา, ให้เอาของพระเจ้าหงษาวดีสิ่งหนึ่งสองสิ่ง, แต่งคนถือหนังสือไปถวายหน่วงทับไว้, แต่งการกันเมืองให้หมั้นคง. ถึงมาทว่าจะเสียของไปหนิดหนึ่งเท่านั้น, ก็อย่าเสียดายเลย. อุประมาเหมือนดอกไม้หล่นไปดอกหนึ่งสองดอกเท่านั้น. ถ้าต้นรากยังบริบูรณ์อยู่แล้ว, ก็คงจะผลิดอกออกผลสืบไป. พระมหาเถรสั่งความแก่พระยาตองอูทุกประการแล้ว, ก็ลาไปอาราม. ๚ะ

๏ สิ้นเล่ม ๑๑ สมุดไทยแต่เท่านี้. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ