๔๑
๏ ลุศักราช ๑๑๕๑ ปีรกาเอกศก, ถึงณวันอาทิตยเดือนเจ็ดขึ้นค่ำหนึ่ง เพลาบ่ายสามโมงหกบาท, ฝนตกอสนีบาตลงต้องน่าบันมุขเด็ดพระที่นั่งอมรินทราพิเศกมหาปราสาท. ติดเปนเพลิงโพลงขึ้นไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาท, กับทั้งหลังคามุขทั้งสี่ทำลายลงสิ้น, แล้วเพลิงลามไปติดไหม้พระปรัศซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง. แลขณะเมื่อเพลิงฟ้า, แรกติดพระมหาปราสาทนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯแลพระราชวงษานุวงษทั้งปวง, กับข้าราชการผู้ใหญ่น้อย. แลพระราชาคณะ,ถานานุกรมทุกๆพระอารามหลวง, ก็เข้ามาในพระราชวังช่วยดับเพลิงพร้อมกันสิ้น. สมเดจพระพุทธเจ้าหลวงดำรัศให้ข้าราชการช่วยกันยกพระที่นั่งราชบัลลังก์ประดับมุข, ซึ่งกั้นเสวตรฉัตรอยู่บนพระมหาปราสาทนั้น, ลงมาพ้นเพลิงหาทันไหม้ไม่. พวกเจ้าจอมข้างในต่างตื่นตกใจเพลิง,หนีออกจากพระราชวัง, ไปอาไศรยอยู่ณบ้านเจ้าพระยารัตนาพิพิธบ้าง, บ้านเจ้าพระยายมราชบ้าง, ไปอยู่ณบ้านเจ้าพระยาธรรมาบ้าง, บ้านเจ้าพระยาพลเทพบ้าง, ที่ยังอยู่ในพระราชวังก็มีบ้าง, ฝ่ายพระสงฆ,แลคฤหัฐข้าราชการทั้งปวง, ที่เข้าสาดน้ำดับเพลิงบ้าง, ที่เข้าช่วยขนถุงพระราชทรัพยในพระคลังใน, ลงทิ้งในสระในพระอุทธยานภายในพระราชวังบ้าง. สมเดจพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระแสงง้าวเร่งให้ข้าราชการดับเพลิง. ครั้นเพลิงดับสงบแล้ว, จึ่งดำรัศให้พวกชาวที่ชาววัง, แลจ่าโขลนแยกย้ายกันไปตามพวกเจ้าจอมข้างใน, ซึ่งหนีไปอาไศรยอยู่ณบ้านเสนาบดีทั้งนั้นรับกลับเข้ามาพระราชวัง. แล้วตรัสถามมุขมนตรีทั้งปวงว่า, ซึ่งไฟฟ้าไหม้พระมหาปราสาทดังนี้, จะมีเหตุดีร้ายประการใด. จึ่งพระยาราชวังเมืองกราบทูลพระกรุณาว่า, แต่ครั้งแผ่นดินสมเดจพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง อสนิบาตลงพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท, ไฟฟ้าไหม้เหมือนครั้งนี้, แต่มิได้มีเหตุร้าย. เปนศุภนิมิตมหามงคลอันดี, ได้พระราชลาภต่างประเทศเปนอันมาก. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินตราชั่งหนึ่ง, แก่พระยาราชวังเมืองเปนรางวัล, ซึ่งกราบทูลทำนายเปนศุภนิมิตรนั้น,ต้องกับคำพระโหรากราบทูลทำนาย,เมื่อครั้งพึ่งจับต้นจันทน์ที่เกย,ฝ่ายปัจฉิมทิศถวายพยากรณ์ว่า, จะได้พระราชลาภแลนางต่างประเทศ. ๚ะ
๏ แล้วดำรัศสั่งสมุหนายกให้จัดแจงการรื้อปราสาทเก่าเสีย, ให้ถาปนาปราสาทขึ้นใหม่, ย่อมกว่าองคก่อน. แลปราสาทองค์ก่อนนั้น, สูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสรรเพชปราสาทกรุงเก่า, มุขน่ามุขหลังนั้นยาวกว่ามุขข้าง. แลมุขเบื้องหลังนั้นอยู่ที่ข้างใน, ยาวไปจดถึงพระปรัศว์ซ้าย,ปรัศขวา. กระทำปราสาทองคใหม่นี้,ยกออกมาตั้งณที่ข้างน่าทั้งสิ้น. มุขทั้งสี่นั้นก็เสมอกันทั้งสี่ทิศ, ใหญ่สูงเอาแต่เท่าพระที่นั่งสุริยามรินทรกรุงเก่า, ยกปราลีเสียมิได้ใส่เหมือนองคก่อน. แต่มุมยอดทั้งสี่มุมนั้น,ยกทวยเสียใส่รูปครุทธเข้าแทน. แล้วให้ถาปนาพระที่นั่งขึ้นใหม่ที่ข้างใน, ต่อมุขหลังเข้าไปอีกหลังหนึ่ง, ภอเสมอท้ายมุขปราสาทองคเก่า, พระราชทานนามว่า,พระที่นังพิมานรัถยา. แลให้ทำพระปรัศซ้ายขึ้นใหม่คงตามเดิม. แลหลังคาปราสาทแลมุข, กับทั้งพระที่นั่งพิมานรัถยาแลพระปรัศ, ดาษด้วยดิบุกทั้งสิ้นเหมือนอย่างเก่า. ๚ะ
๏ ครั้นการพระมหาปราสาทลงรักปิดทองเสรจแล้ว, จึ่งพระราชทานนามปราสาทองค์ใหม่, ชื่อพระที่นังดุสิตมหาปราสาท. แล้วเร่งให้ทำการพระมณฑป,แลหอพระมณเฑียรธรรม,ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น,ลงรักปิดทองแล้วสำเร็จบริบูรณ. แล้วให้แผ่แผ่นเงินลาดพื้นในองคพระมณฑปนั้นด้วย, จึ่งให้เชิญตู้ประดับมุข, ซึ่งใส่พระไตรยปิฎกฉบับทอง, ขึ้นตั้งไว้ณภายในพระมณฑป. ซึ่งฉบับครูเดิมแลฉบับอื่น, ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่นั้น, ให้ใส่ตู้ปิดทองลายรดน้ำในหอพระมณเฑียรธรรมใหม่,เปนที่อยู่กรมพระราชบัณฑิตย, ให้บอกกล่าวพระไตรยปิฎกแก่พระสงฆ, สามเณรเหมือนอย่างแต่ก่อน. ๚ะ
๏ อนึ่งทรงพระกรุณาให้ช่างล่อๆรูปสิงห, แล้วด้วยทองสำริทขึ้นใหม่สิบรูป. ประสมกันกับรูปสิงหทองสำริท, ซึ่งได้มาแต่เมืองพุทไธมาศแต่ก่อนสองรูปเปนสิบสองรูป. ก่ออิฐเปนถานรองถือปูนเปนอันดี, ตั้งไว้นอกประตูกำแพงแก้วล้อมพระมณฑป, ชั้นล่างทั้งสองข้างประตู, ประตูละคู่ทั้งสี่ประตูเปนแปดรูป. กับที่มุมกำแพงแก้วทั้งสี่มุมๆ ละรูปเปนสี่รูป, ศริเปนสิงสิบสองรูปด้วยกันทั้งสิ้น. บนหลังกำแพงแก้วทั้งสามชั้นนั้น, 732ให้กระทำโคมเปนรูปม่อปรุะ, แล้วไปด้วยทองแดงเปนที่ตามประทีป, ตั้งเรียงรายไปโดยรอบ. หว่างโคมนั้นให้ปักฉัตรกระทำด้วยทองแดงลงรักปิดทอง, มีใบโพแก้วห้อยทุกชั้นทั้งสิ้นด้วยกัน, บูชาพระปริญัติไตรยปิฎกธรรมเปนมโหฬาราธิการยิ่งนัก. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๑๑๕๒ ปีจอโทศก, ครั้งนั้นนายบุญเรืองคนหนึ่ง,เปนคนมีศรัทธาโดยยิ่ง, มีสหายสองคน, คือขุนศรีกัณฐัศวกรมม้า,กับนายทองรัก, ภากันไปณพระอุโบสถวัดครุทธาราม, ต่างปราถนาพระพุทธภูมด้วยกันทั้งสามคน, ชวนกันนมัศการพระพุทธรูปพระประธาน. แล้วตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอกบูชาพระพุทธเจ้าว่า, ถ้าผู้ใดจะสำเร็จพระโพธิญาณในอนาคตแล้ว, ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นจงบานเหนประจักขโดยแท้. ครั้นรุ่งขึ้นดอกบัวของนายบุญเรืองนั้นบานดอกเดียว, ของขุนศรีกันฐัศว,แลนายทองรักนั้นหาบานไม่. ตั้งแต่นั้นมานายบุญเรืองก็มาอาไศรยอยู่ที่การปเรียญติเก่าณวัดแจ้ง, ตั้งสมาทานพระอุโบสถศีล, ฟังพระธรรมเทศนา. เอาสำลีชุบน้ำมันเปนเชื้อพาดแขนทั้งสองข้าง,จุดเพลิงบูชาต่างประทีปทุกวันๆ. ๚ะ
๏ ครั้นถึงณวันศุกร เดือนสามขึ้นแปดค่ำ, เพลากลางคืนประมาณทุ่มเสศ, นายบุญเรืองฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว, ก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมัน, เดินออกมาน่าการปเรียญติ์นั่งพับเพียบพนมมือ, ตั้งสติรักษาจิตรรำงับสงบดีแล้วก็จุดเพลิงเผาตัวเข้า. ขณะเมื่อเปลวเพลิงวูบขึ้นท่วมตัวนั้น, นายบุญเรืองร้องประกาศแก่คนทั้งปวงว่า, สำเร็จความปราถนาแล้ว. ขณะนั้นคนซึ่งดูอยู่ที่นั้นประมาณห้าร้อยหกร้อยเสศ, ชวนกันชื่นชมยินดี,บ้างก็ร้องส้องสาธุการเอิกเกริกอื้ออึง, ต่างก็เปลื้องผ้าห่มโยนเข้าไปบูชาในกองเพลิง, จนชั้นแต่พวกแขกมฤจฉาทฤษฐิภายนอกพระพุทธสาศนา, ก็บังเกิดศรัทธาเลื่อมใสถอดหมวกออกคำนับโยนเข้าไปในกองเพลิงด้วย. ๚ะ
๏ ในปลายปีจอโทศกนั้น, ทาษเจ้าจอมมารดาคุ้ม, มารดาพระองคเจ้าพลับ, เปนโจทฟ้องแก่ท้าวนางเจ้าครัวนายว่า, เจ้าจอมมารดาคุ้มคิดกันกับอีทาษเจ้าจอมซ่มเทศ, ทิ้งไฟจะให้ไหม้ในพระราชวัง. จึ่งนำเอาข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ
๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัสสั่ง,ให้พิจารณาไต่สวนไล่เลียง, ให้ได้ความเท็จจริงเปนประการใด, ครั้นพิจารณาชำระคดีได้ความเปนสัจ. จึ่งดำรัศให้เอาตัวเจ้าจอมมารดาคุ้มกับอีทาษเจ้าจอมซ่มเทศ, ซึ่งสมรู้ร่วมคิดด้วยกันนั้นไปลงพระราชอาญาคลอกเพลิงเสีย, ที่ตำบลจากแดงแขวงเมืองสมุทปราการ, โดยควรแก่โทษตามพระราชกำหนด กดพระอัยการ แต่พระราชบุตรีพระองค์เจ้าพลับนั้น, ยังทรงพระเยาวอยู่, ทรงพระกรุณาโปรดมอบให้สมเดจพระเจ้าพี่นางเธอ, กรมพระศรีสุดารักษ์ตำหนักแดงเอาไปเลี้ยงไว้. ๚ะ