๓๘

๏ ฝ่ายอินแซะมหาอุปราชเมื่อลาดทับกลับไปถึงเมืองเมาะตมะแล้ว, จึ่งบอกข้อราชการซึ่งเสียทับกลับมานั้น, ขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะ ๆได้ทราบเสียพระไทยนัก. จึ่งให้หากองทับกลับยังพระนคร, แล้วให้มีตราไปถึงอาปะระกามณีเจ้าเมืองเชียงแสน,ให้รักษาเมืองอยู่กับพลพม่าสามพัน,แล้วให้ปัญีเวซอ, กับลุยตองเวระจอแทงถือพลสองพันเปนกองน่า, ให้จอข่องนรทาเปนโบ่ชุกแม่ทับถือพลพันห้าร้อยยกมาณเมืองเชียงแสน, ให้เกนอาปะรกามณี,กับพลสามพันซึ่งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่นั้นให้เข้าบันจบทับจอข่องนรทา, ยกไปตีเมืองฝางลาวอยู่ฝ่ายตวันตกเมืองเชียงใหม่, ตั้งแขงเมืองอยู่ยังมิได้ไปขึ้นแก่เมืองอังวะ, แลอาปรกามณีได้พลพม่ามาเข้ากองทับจอข่องนรทาแต่ห้าร้อยสิบคน, หนีไปจากเมืองเชียงแสนแต่ก่อนนั้นสองพันห้าร้อย, แลโบชุกจอข่องนรทายกกองทับไปตีเมืองฝางได้แล้วก็ตั้งทำนาอยู่ที่นั้น, จึ่งให้อาปะรกามณีกับไพร่พลห้าร้อยสิบคนนั้นยกกลับไปเมืองเชียงแสน,ให้ตั้งทำนาสาสมเสบียงอาหารไว้จงมาก, อาปะรกามณีก็ยกกลับไปเมือง,จัดแจงไพร่พลให้ตั้งทำนาอยู่ได้ประมาณเดือนหนึ่ง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระยาแพร่ผู้ชื่อมังไชย, พม่าจับตัวไปได้แต่ทับอแซหวุ่นกี้ยกมาตีเมืองพระพิศณุโลกยคราวก่อนนั้น. แลครั้งเมื่อสโดะมหาสิริยอุจนายกทับมาตีเมืองนครลำปาง, แลเมืองเหนือทั้งปวง, ครั้งหลังนี้ก็ได้มากับกองทับพม่าด้วย. ครั้นทับพม่าแตกกลับไปจึ่งให้อยู่ณะเมืองยอง, แลพระยาแพร่ยังมีจิตรคิดสวามิภักดิ์, ในสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯมิได้ยอมอยู่เปนข้าพม่า. จึ่งคิดอ่านชักชวนพระยายองยอมเข้าด้วย, แล้วยกกองทับไปตีเมืองเชียงแสน. ฝ่ายอาปะรกามณีเจ้าเมืองมีไพร่พลพม่าน้อยตัว, เหนจะสู้รบรักษาเมืองไว้มิได้จึ่งภาพัคพวกหนีมาหาพระยาเชียงราย. ๚ะ

๏ พระยาแพร่, พระยายองก็ยกติดตามมาณเมืองเชียงราย, พระยาเชียงรายก็กลับเข้ากับพระยาแพร่, พระยายองด้วยเปนชาติลาวด้วยกัน, จึ่งจับตัวอาปะรกามณีพม่าเจ้าเมืองเชียงแสน, ส่งให้พระยาแพร่, พระยายอง แล้วบอกส่งมายังพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง,ๆก็บอกส่งพระยาแพร่ พระยายองกับทั้งจำอาปะรกามณีพม่าลงมาถวายณกรุงฯกราบทูลพระกรุณาให้ทราบว่า, พระยาแพร่ซึ่งพม่าจับไปได้นั้น, บัดนี้หนีพม่ากลับมาได้,แล้วชักชวนพระยายองมาด้วย, ทั้งจับตัวอาปะรกามณีเจ้าเมืองเชียงแสนมาถวายมีความชอบเปนอันมาก. ๚ะ

๏ พระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองคก็ทรงพระโสมนัศ, ดำรัศให้เอาตัวอาปะรกามณีใส่คุกไว้. แล้วพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พระยาแพร่, พระยายองสมควรแก่ความชอบ. แต่ทรงพระราชดำริหยังแคลงพระยาแพร่อยู่, ด้วยตกไปอยู่กับพม่านานแล้ว, เกรงจะมาเปนกลอุบาย. ครั้นจะให้กลับขึ้นไปครองเมืองแพร่ตามเดิมเล่า,ก็ยังมิวางพระไทย. จึ่งโปรดพระราชทานเคหถานบ้านเรือนให้อยู่ทำราชการในพระนคร, แต่พระยายองนั้น,โปรดให้ขึ้นไปอยู่ช่วยราชการพระยากาวิละณเมืองนครลำปาง. แล้วสมเดจพระพุทธเจ้าหลวง,จึ่งมีพระราชดำรัศปฤกษาด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า, เมืองเชียงใหม่ยังร้างอยู่หาผู้คนจะอยู่รักษามิได้, เกลือกพม่าจะมาตั้งอยู่เอาเปนที่มั่น. จึ่งมีพระราชโองการโปรดให้สมเดจพระอนุชาธิราชเสดจขึ้นไปจัดแจงตั้งเมืองเชียงใหม่, ให้เอาพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง,ไปครองเมืองเชียงใหม่ด้วยเปนเมืองใหญ่. แล้วพระยากาวิละ,ก็มีฝีมือเข้มแขงในการสงคราม,จะได้ป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตร,ในมลาประเทศฝ่ายตวันตก, อย่าให้ปัจามิตรมาย่ำยีบีทาได้. ๚ะ

๏ ภอมีหนังลือบอกเมืองนครลำปางซ้ำลงมาอิกฉบับหนึ่งว่า,ได้ข่าวว่าจอข่องนรทาแม่ทับซึ่งตั้งอยู่ณเมืองฝาง, จะยกกองทับมาตีเมืองนครลำปาง, เอาตัวอาปะรกามณี, แลพระยาแพร่, พระยายองให้จงได้. สมเดจพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ก็กราบถวายบังคมลา, เสดจยาตราพยุหนาวาทับจากกรุงเทพฯโดยทางชลมารคขึ้นไปยังเมืองตาก, แล้วเสดจพระราชดำเนินทับบกไปถึงเมืองนครลำปาง, ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่นอกเมือง, แลทับพม่าก็หายกมาไม่. จึ่งมีพระราชบัณฑูร,ให้พระยากาวิละจัดแจงครอบครัวชาวเมืองเชียงใหม่เดิม, ซึ่งไปอาไศรยอยู่ณเมืองนครนั้น, ให้ยกกลับขึ้นไปอยู่ณเมืองเชียงใหม่ดังเก่า. แล้วโปรดตั้งพระยากาวิละ,ให้เปนพระยาเชียงใหม่. ให้น้อยธรรมผู้น้องที่สอง,เปนพระยาอุปราช,ให้พุทธสารผู้เปนญาติวงษของพระยากาวิละ,ฝ่ายข้างมารดานั้น,เปนพระยาราชวงษ. ให้ขึ้นไปอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่. พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเปนอันมาก. แลพระยาเชียงใหม่, พระยาอุปราช, พระยาราชวงษ, ก็กราบถวายบังคมลายกครอบครัวชาวเมืองทั้งปวง, ขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองเชียงใหม่ตามรับสั่ง. ๚ะ

๏ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งคำโสมผู้น้อง, รองพระยากาวิละ, เปนพระยานครลำปางแทน. ให้คำทิพผู้น้องที่สาม, เปนพระยาอุปราช. ให้หมูล่าผู้น้องที่สี่,เปนพระยาราชวงษ, อยู่รักษาเมืองนครสืบไป, พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเหมือนดังเมืองเชียงใหม่นั้น. แต่เมืองลำภูญว่างอยู่, ด้วยผู้คนยังเบาบางระส่ำระสาย จะแบ่งได้ตั้งยังมิได้ก่อน. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครในปลายปีมแมนพศกนั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, ทรงพระราชดำริหจะเสดจพระราชดำเนินทับหลวงไปตีเมืองทวาย, จึ่งดำรัศให้เกนกองทับไว้ให้พร้อมสรัพ. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณะวันเสาร์เดือนญี่ขึ้นห้าค่ำ, เพลาสามโมงเช้าสี่บาทได้มหาพิไชยมงคลมหุติฤกษ. จึ่งพระบาทสมเดจพระพุทธเจ้าหลวง, ก็เสดจยกพยุหยาตรานาวาทับหลวงจากกรุงเทพฯโดยทางชลมารค. แลยกพลโยธาหาญในขบวนทับหลวงจากกรุงครานั้นสองหมื่นเสศ, พร้อมด้วยเรือพระราชวงศานุวงษ, แลเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองฯ ทั้งหลายโดยเสดจพระราชดำเนินเปนอันมาก. ดำรัศให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ, เจ้าพระยามหาเสนา, เจ้าพระยายมราชเปนกองน่า. เจ้าพระยาพระคลัง, เปนเกียกกาย. สมเดจพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร,เปนยกรบัตร. สมเดจพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ,เปนทับหลัง. เสดจประทับร้อนแรมไปตามรยะทางชลมารคถึงท่าตกั่วแม่น้ำน้อย. จึ่งเสดจขึ้นประทับณะพระตำหนักค่ายซึ่งกองน่าตั้งไว้รับเสดจ, แล้วดำรัศให้กองน่ากองหนุนเปนคนหมื่นหนึ่งยกล่วงไปก่อน. แลครั้งนั้นเดินทับไปทางเขาสูง,ข้ามเขาไปลงด่านวังปอ. ทับหลวงจึ่งเสดจพระราชดำเนินตามไป. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจทรงช้างต้นพังเทพลีลาเปนพระคชาธาร,ผูกพระที่นั่งกูบทอง, ประดับด้วยเครื่องพระกันภิรมแห่โดยขนาด. พรั่งพร้อมด้วยพลสารดั้งกันแซกแซงเปนขนัด, แลพลอัศดรจตุรงคเรียบเรียงโดยพยุหยาตราน่าหลัง, คับคั่งทั้งพลบทจรเดินเท้าแปดพันเสศ,ล้วนสรวมใส่สรรพยุทธอาภรณ์, กรกุมอเนกวิธอาวุธโห่ร้องกึกก้องท้องทุรัฐยาวนาวสณฑ์, เคลื่อนพหลพยุหโยธาทับไปโดยลำดับแถวเถื่อนสถลมารควิถีไพร, ให้ตั้งค่ายแลพลับพลาอยุดประทับร้อนแรมไปตามรยะทางนั้น. ๚ะ

๏ ครั้งนั้นฝ่ายข้างเมืองทวาย, พระเจ้าอังวะตั้งแมงแกงซาบุตรเมฆราโบ่ลงมาเปนเจ้าเมือง. อนึ่งกองทับพม่าซึ่งยกลงไปทางเมืองมฤตแต่ครั้งก่อนนั้น, ก็พร้อมกันอยู่ณเมืองทวายสิ้น. ครั้นทวายหวุ่น, กับแก่งหวุ่น, แมงยีแม่ทับ, แลนายทับนายกองทั้งปวงได้แจ้งว่า, กองทับไทยยกมาทางด่านวังปอเขาสูงจะตีเมือง, แม่ทับจึ่งแต่งให้นัดมิแลงถือพลสามพัน, ยกมาตั้งค่ายรับอยู่ณวังปอทับหนึ่ง. แล้วให้ทวายหวุ่นเจ้าเมืองทวายถือพลสี่พันยกมาตั้งค่ายรับอยู่ณเมืองกะลิออง,เหนือเมืองทวายทับหนึ่ง. แล้วตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งทางซึ่งจะมาแต่เมืองกะลิอ่องถึงเมืองทวาย, เกนให้นายทับนายกองทั้งปวง, ยกพลทหารห้าพันออกไปตั้งรับอยู่อีกตำบลหนึ่ง, แล้วจัดแจงพลทหาร, ทั้งพม่าแลทวายชาวเมืองขึ้นประจำรักษาน่าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ, กอบด้วยเครื่องสรรพาวุธ,ปืนใหญ่น้อยพร้อมสรัพ แลตัวแก่งหวุ่นแมงยีแม่ทับนั้น, ตั้งมั่นรักษาอยู่ในเมือง, จัดแจงการป้องกันเมืองเปนสามารถ. แล้วบอกหนังสือขึ้นไปทูลพระเจ้าอังวะว่า, พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกทับหลวงมาตีเมืองทวาย. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยารัตนาพิพิธแม่ทับน่า,เดินทับข้ามเขาสูงไป, จึ่งให้พระยาสุรเสนา, พระยามหาอำมาตย, แลท้าวพระยานายทับนายกองเปนหลายนาย,คุมพลทหารห้าพันล่วงน่าไปก่อน, ลงตกเชิงเขาสูงข้างโน้น,ถึงค่ายวังปอซึ่งทับพม่ามาตั้งรับอยู่นั้น. จึ่งพระยาสุรเสนา,พระยามหาอำมาตยนายกองน่า, ก็ให้ตั้งค่ายลงเปนหลายค่ายเข้าประชิค่ายพม่า,ๆ ก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่าย. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันศุกรเดือนสามขึ้นเก้าค่ำเพลาเช้า, จึ่งพระเสนานนท์กับขุนหมื่น,แลไพร่ในกองยกเข้าปล้นค่ายพม่า.ๆยิงปืนนกสรับออกมาแต่ในค่าย, ต้องต้นขาเบื้องซ้ายพระเสนานนท์, พลทหารเข้าช่วยพยุงถอยออกมาเข้าค่าย. จึ่งพระมหาอำมาตยก็ขับพลทหารหนุนเข้าไปปล้นค่ายพม่า.ๆ ต่อรบเปนสามารถ,จะหักเอาค่ายมิได้ก็ถอยอกมา. แต่ยกเข้าปล้นดังนั้นเปนหลายวันเสียพระยาสุรเสนา, แลพระยาสมบัติบาลต้องปืนฆ่าศึกตายในที่รบ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอาทิตยเดือนสามแรมสิบค่ำ, จึ่งเจ้าพระยารัตนาพิพิธ, เจ้าพระยามหาเสนา, ก็ยกพลทหารหนุนไปช่วยกองน่า, เข้ารดมตีค่ายพม่า.ๆต่อรบเปนสามารถ,รบกันตั้งแต่เช้าจนค่ำ. พลทับไทยยกหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอยบ้างเย่อค่ายปีนค่าย. พม่าสู้รบอยู่จนเพลาประมาณยามหนึ่ง. นัดมิแลงนายทับเหนเหลือกำลังจะต้านทานมิได้, ก็ภาพลทหารแตกออกข้างหลังค่ายพ่ายหนีไปณค่ายเมืองกะลิอ่อง. กองทับไทยก็ได้ค่ายวังปอ, แล้วให้ม้าใช้รีบลงมากราบทูลพระกรุณายังทับหลวง, แล้วตั้งภักรี้พลอยู่ค่ายวังปอสองวัน. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพุทธเดือนสามแรมสิบสามค่ำ, กองทับน่าจึ่งยกตามลงไปถึงค่ายเมืองกลิอ่อง,เข้าตั้งค่ายติดเมืองกลิอ่อง. ฝ่ายทับหลวงก็เสดจขึ้นข้ามเขาสูงหนุนไป, แลเขานั้นชันนักจะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นไปมิได้. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศให้ผูกราว, แล้วต้องทรมานพระกาย, เสดจพระราชดำเนินด้วยพระบาทยุดราวขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขาแต่เช้าจนเที่ยง,จึ่งถึงยอด. แลช้างซึ่งขึ้นเขานั้นเอางวงยุดต้นไม้,จึ่งเหนี่ยวกายขึ้นไปได้ลำบากนัก. จึ่งมีพระราชดำรัศว่า,ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยาก,ภาลูกหลานมาได้ความลำบากยิ่งนัก, เมื่อจะลงไปเชิงเขาข้างโน้น, ก็ต้องเสดจพระราชดำเนินยุดราวลงไปเหมือนกัน. ครั้นกองทับหลวงยกข้ามเขาสูงล่วงพ้นไปแล้ว, จึ่งเสดจยังทับหลวงอยุดประทับแรมอยู่ณค่ายวังปอ, ให้ตำรวจไปเร่งกองน่าให้ตีเมืองกลิอ่องให้แตกโดยเรว. เจ้าพระยารัตนาพิพิธ, เจ้าพระยามหาเสนา, เจ้าพระยายมราช, ก็ขับพลทหารเข้าหักค่ายเมืองกลิอ่อง, พม่าต่อรบเปนสามารถ, แลรบกันทั้งกลางวันกลางคืน, เสียงปืนยิงโต้ตอบกันมิได้อยุดอย่อน. ๚ะ

๏ ถึงณวันเสาร์เดือนสี่ขึ้นสองค่ำ, เพลากลางคืนยามเสศ, เจ้าเมืองทวายแลนัดมิแลง, เหนเหลือกำลังจะต้านทานต่อรบ, ก็แหกหนืออกทางหลังค่ายแตกหนีพ่ายลงไปเมืองทวาย. กองทับไทยก็ได้เมืองกลิอ่อง, ให้อยุดพักพลจัดแจงเสบียงอาหารอยู่ที่นั้นหลายวัน. แล้วแต่งให้กองสอดแนมลงไปสืบแจ้งว่า, พม่าตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งคอยรับอยู่กลางทาง, ซึ่งจะลงไปเมืองทวาย. จึ่งบอกไปกราบทูลพระกรุณายังทับหลวงณค่ายวังปอ จึ่งมีพระราชดำรัศให้กองน่าตรวจเตรียมรี้พลจงกวดขันทุกทับทุกกอง, อย่าประมาทให้เสียทีแก่ฆ่าศึก, ให้ยกไปตีค่ายปีกกาพม่าให้แตกแต่ในในวันเดียว. แม้นล่วงวันไปจะเอาโทษแก่นายทับนายกองถึงสิ้นชีวิตร. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสี่แรมแปดค่ำเพลาเช้า, แม่กองน่าก็ยกพลทหารลงไปตีค่ายปีกกา, แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งหลาย, กั้นสัปทนแดงดาษไปทั้งท้องทุ่ง,ปันน่าที่กันเร่งขับพลทหารเข้ารบหักค่ายปีกกาพร้อมกันทุกทับทุกกอง, รดมยิงปืนใหญ่น้อยเสียงเสทื้อนสท้านไปทั้งท้องทุ่ง. พม่าก็ยิงปืนใหญ่น้อยออกจากค่ายปีกกาทุกน่าที่, รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาพลบค่ำ. พลทหารไทยเยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ท้อถอย ,บ้างปีนค่ายเย่อค่ายต่อรบกันถึงอาวุธสั้น. พลพม่าสู้รบต้านทานมิได้เหลือกำลัง, ก็แตกฉานพ่ายหนีเข้าเมือง. พลทับไทยตีค่ายปีกกาแตกแล้ว, ก็ยกติดตามลงไปณเมืองทวายในเพลากลางคืนวันนั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายแก่งหวุ่นแมงยีแม่ทับใหญ่, แลแมงแกงซาเจ้าเมืองทวาย, กับทั้งนายทับนายกองทั้งปวง, ภากันตื่นตกใจเหนจะรักษาเมืองไว้มิได้, ก็ชวนกันหนีออกจากเมือง, ที่ข้ามแม่น้ำไปฟากข้างโน้นก็มีบ้าง, ที่ยังอยู่ในเมืองก็มีบ้าง, แต่มิได้มีผู้คนขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินกำแพงเมือง. ๚ะ

๏ ถึงณวันเสาร์เดือนสี่แรมเก้าค่ำเพลาเช้า, พลทับไทยกองน่าก็ยกไปถึงเชิงกำแพงเมืองทวาย,ไม่เหนผู้คนขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิน, แต่ประตูเมืองปิดอยู่. แม่ทับน่าจึ่งปฤกษากันว่า, ครั้นจะทำลายประตูเมืองเข้าไปในเมือง, ก็เกรงว่าพม่าจะแต่งกลซุ่มพลทหารไว้. จึ่งให้รอทับอยู่แต่นอกเมืองก่อน, คอยดูท่วงทีพม่าจะทำประการใด, อย่าให้เสียทีแก่ฆ่าศึก. ก็ถอยออกมาตั้งค่ายล้อมเมืองไว้สามด้าน, เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำ. ๚ะ

๏ ฝ่ายนายทับนายกองพม่าเหนว่า, ทับไทยยังอยู่มิได้เข้าเมือง, แล้วก็ผ่อนกันกลับเข้ามาในเมือง, เกนพลทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินกำแพงเมือง,ป้องกันเมืองเปนสามารถ. ๚ะ

๏ ฝ่ายทับหลวงก็เสดจพระราชดำเนิน, ยกตามกองน่าเข้าไปตั้งค่ายหลวงใกล้เมือง, ห่างค่ายกองน่าซึ่งตั้งล้อมเมืองออกมาประมาณห้าสิบเส้น, ดำรัศให้กองสมเดจพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร, ยกไปตั้งค่ายใหญ่หนุนค่ายกองน่าอยู่น่าค่ายหลวง. ๚ะ

๏ ขณะนั้นช้างต้นพังเทพลีลา, ซึ่งเปนพระคชาธารนั้นป่วยลงไม่จับญ่าถึงสามวัน. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกนัก, ด้วยเปนช้างพระที่นั่งข้าหลวงเดิม,ได้เคยทรงเสดจไปงานพระราชสงครามมาแต่ก่อนทุกครั้ง. ทรงพระอาไลยว่า, เปนราชพาหนะเพื่อนทุกขเพื่อนยากเกรงจะล้มเสีย. จึ่งทรงพระอธิฐานเสกเข้าสามปั้นให้ช้างนั้นกิน. ด้วยเดชะพระบารมีเปนมหัศจรรย, ช้างนั้นก็หายไข้เปนปรกติ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวดีพระไทยยิ่งนัก. ๚ะ

๏ ฝ่ายนายทับนายกองพม่า, ซึ่งตั้งรักษาเมืองทวายอยู่นั้น, เกรงกลัวพระเดชานุภาพเปนกำลัง, มิได้ยกพลทหารออกมาต่อรบนอกเมือง, นิ่งรักษาเมืองมั่นอยู่. แต่กองทับไทยตั้งล้อมเมืองอยู่ถึงกึ่งเดือน, เสบียงอาหารก็เบาบางลง. ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๘ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ