๓๑

๏ ครั้นถึงอาสุชมาศกาฬปักษ์ดิถีศุภวารมหาพิไชยฤกษ, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ทรงเรือพระที่นั่งสำเภาทอง, พร้อมกันด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ไทยจีนฝรั่งฝ่ายทหารพลเรือนทั้งปวง, เปนเรือรบสองร้อยลำ เรือทเลร้อยลำ, พลทหารหมื่นห้าพันเสศ. ให้พระยาพิไชยไอสวรรยเปนแม่กองทับน่า, แล้วยกพยุหยาตราพลนาวาทับหลวงจากกรุงธนบุรี, ไปออกปากน้ำเมืองสมุทปราการ, ตกถึงท้องทเลใหญ่. ด้วยเดชะพระบารมีบันดานให้คลื่นลมร้าย, ในมหาสมุทก็รำงับสงบราบคาบ, แลเสด็จโดยทางชลมารคได้ห้าเวน, ประทับปากน้ำเมืองจันทบุรี จึ่งโปรดให้พระยาโกษาธิบดีเปนแม่ทับ, ยกทับเรือล่วงลงไป,ตีเมืองกระพงโสม. แล้วทับหลวงก็เสดจไปอีกห้าเวน. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสิบสอบขึ้นแปดค่ำ, ถึงปากน้ำพุทไธมาศ จึ่งเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสถิตยณตึกจีนแห่งหนึ่ง, ฟากตวันตกเฉียงใต้เมือง. แล้วให้มีหนังสือพระยาพิไชยไอสวรรยแม่กองทับน่า, ให้ญวนเชลยซึ่งจับได้นั้นถือเข้าไป, ถึงพระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองพุทไธมาศ. ในลักษณนั้นว่า, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณกรุงธนบุรีศรีอยุทธยา, เสดจดำเนินพยุหโยธาทับบกทับเรือมาบัดนี้, ด้วยมีพระราชประสงคจะราชาภิเศก, นักองคพระรามาธิบดีให้ครองกรุงกัมพูชา. แล้วจะเอาตัวเจ้าจุ้ย,เจ้าศรีสังข์,แลข้าหลวงชาวกรุงเทพฯ ซึ่งไปอยู่ณหัวเมืองใดๆจงสิ้น. ถ้าพระยาราชาเสรฐีญวนมิได้สวามิภักดีอ่อนน้อม, เหนว่จะต่อยุทธนาการได้, ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรัพ แม้นเหนว่าจะสู้รบมิได้, ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่. ให้ออกมาเฝ้าทูลเกล้าฯ กราบถวายบังคม, อ่อนน้อมยอมสวามีภักดีโดยดี, เราจะช่วยพิททูลให้ทรงพระกรุณา. แม้นว่าถึงตัวชราแล้วจะออกมามิได้, ก็ให้แต่งหูเอี๋ยผู้บุตรออกมาถวายบังคมจงฉับพลัน. ถ้าช้าอยู่จะทรงพระพิโรธ, ให้พลทหารเข้าหักเอาเมืองฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง. ๚ะ

๏ ครั้นพระยาราชาเสรฐีได้แจ้งในหนังสือแล้ว, จึ่งให้หนังสือตอบออกมาว่า, ซึ่งให้มีหนังสือมาถึงข้าพเจ้า ๆ ขอบใจนัก, จะหาขุนนางมาปฤกษาให้พร้อมกันก่อน. ถ้ายินยอมพร้อมกันแล้ว, จึ่งจะบอกออกมาให้แจ้ง. ๚ะ

๏ ครั้นคอยถ้าอยู่สามวัน, พระยาราชาเสรฐีก็มิได้แต่งให้ผู้ใดออกมาเฝ้า, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, จึ่งมีพระราชดำรัสให้ท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวงยกเข้ามาตั้งค่ายล้อมเมือง. แล้วตรัสสั่งกรมอาจาริย, ให้จัดกันที่มีวิชาดีแกล้วหารทั้งนายไพร่ได้ร้อยสิบเบ็ดคน. จึ่งให้เกนพลทหารกรมอื่นสองพันสี่ร้อยเข้าสมทบกัน, แล้วพระราชทานฤกษแลอุบาย, ให้เข้าปล้นเอาเมืองในกลางคืนเพลาสองยาม. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาราชาเสรฐีก็เกนพลทหาร, ขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทิลปราการป้องกันเมือง. ครั้นเพลาสองยามพลทหารข้าหลวง, ก็เอาบันไดพาดกำแพงปีนขึ้นไปได้ในเมืองจุดเพลิงขึ้นแสงสว่าง, แลพวกญวนในเมืองออกต่อรบกันอยู่ช้านาน. แลนายทับนายกองรี้พลทั้งปวง, ซึ่งตั้งค่ายรายล้อมอยู่นั้น, จะบุกรุกเข้าไปช่วยก็มิได้. ด้วยจีนญวนชาวเมืองยังรักษาน่าที่เชิงเทิลยิงปืนใหญ่น้อยสู้รบอยู่หาทิ้งน่าที่ไม่, ไพร่พลกองทับก็อิดโรยลง. เดชะบรมโพธิสมภารบันดานดลจิตร, พลโยธาทับทหารทั้งปวงให้สำคัญว่า, เสดจพระราชดำเนินหนุนเข้าไป, ก็มีน้ำใจองอาจกล้าหารมากขึ้น, ตีกระโจมหนุนเนื่องกันเข้าไปทั้งทับบกทับเรือ พวกญวนจีนซึ่งรักษาน่าที่ต้านทานมิได้, ก็แตกฉานพ่ายหนีไป. ภอรุ่งขึ้นณวันอาทิตยเดือนสิบสองขึ้นสิบเบดค่ำเพลาเช้า, ก็เข้าเมืองได้พร้อมกัน. พระยาราชาเสรฐีก็ทิ้งเมืองเสีย, ลงเรือออกทเลแล่นหนีไปได้. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทร์เดือนสิบสองขึ้นสิบสองค่ำ, จึ่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าในเมือง, สถิตยประทับณจวนพระยาราชาเสรฐี, ให้พลทหารทั้งปวงเที่ยวเกบเอาทรัพยสิ่งของในเมืองใดมาเปนอันมาก. แล้วดำรัสถามพระยาประสิทธิ, พระสุธรรมาจาริย. แลอาจาริยจัน นายกองอาจาริยทั้งสามว่า, เมื่อคุมทหารขึ้นปล้นเอาเมืองนั้น เข้าได้ด้านไหนก่อน. อาจาริยทั้งสามกราบทูลไม่ต้องกัน. จึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่ทางทหารเข้านั้น, เหนผิดกับพระราชดำริห. จึ่งดำรัสว่าฆ่าศึกหนีได้เพราะเข้าผิดกับรับสั่ง แม้นต่อสู้ก็จะเสียราชการ. จึ่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน, ผู้ซึ่งเข้าเมืองได้ต่อทีหลังทั้งนายแลไพร่ ที่เข้าได้ก่อนก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลทั้งนายแลไพร่, เปนเงินถึงสามร้อยยี่สิบห้าชั่ง. แล้วให้มีกฎประกาศแก่รี้พลทั้งปวง, ห้ามอย่าให้ข่มเหงราษฎรจีนญวนชาวเมืองสืบไปอีก, ให้ค้าขายอยู่ตามภูมลำเนาเหมือนแต่ก่อน แล้วโปรดตั้งพระยาพิพิธผู้ช่วยราชการกรมท่า, เปนพระยาราชาเสรฐี, อยู่ครองเมืองพุทไธมาศ. แล้วเสดจยกพยุหโยธานาวาทับหลวงจากเมืองพุทไธมาศ, ขึ้นไปตีเมืองกัมพูชาธิบดี, คือเมืองพุทไธเพชร์, ประทับร้อนแรมไปโดยระยะทางชลมารค, จนถึงเกาะพนมเพ็ญ. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับบกเจ้าพระยาจักรี, ยกเข้าไปตีเมืองปัตบอง, เมืองโพธิสัตว, เมืองบริบูรณได้แล้ว, ก็ยกล่วงลงไปตีเมืองพุทไธเพชร์. แลนักองค์พระอุไทยราชาต่อรบต้านทานมิได้, ก็พาพวกพลแลครอบครัวยกหนีลงไปตั้งอยู่ณเมืองบาพนม. เจ้าพระยาจักรีเข้าตั้งอยู่ณเมืองพุทไธเพชร์. ครั้นได้ทราบว่า, ทับหลวงตีเมืองพุทไธมาศได้แล้ว, เสดจขึ้นมาถึงเกาะพนมเพ็ญ, จึ่งให้นักองคพระรามาธิบดีอยู่รักษาเมืองพุทไธเพชร์, แล้วก็ลงมาเฝ้ากราบถวายบังคมทูลว่า, นักองคพระอุไธราชาหนีลงไปตั้งอยู่ณเมืองบาพนมแล้ว. ครั้นได้ทรงทราบจึ่งดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี, ยกกองทับติดตามลงไปในวันนั้น. ครั้นเพลาบ่ายสองโมง, จึ่งเสดจยกทับหลวงลงไป. ภอเพลาค่ำประมาณยามหนึ่ง,เจ้าพระยาจักรีบอกหนังสือขึ้นมาให้กราบทูลว่า, ญวนเมืองลูกหน่วยมารับนักองคพระอุไทราชาลงไปณเมืองญวนแล้ว. จึ่งเสดจอยุดเรือพระที่นั่งประทับอยู่น่าบ้านตำหนักเวนหนึ่ง. ครั้นรุ่งเช้าจึ่งเสดจยกทับหลวงกลับคืนมาถึงปากคลองมักสา, ภบครัวเขมรตั้งอยู่ที่นั้นเปนอันมาก, ดำรัสให้พลทหารเข้าตี, ได้ครอบครัวแลเรือก็มาก, แล้วยกทับหลวงคืนมาประทับณเกาะพนมเพ็ญ. จึ่งนักองครามาธิบดีลงมาแต่เมืองพุทไธเพชร์เข้าเฝ้าในที่นั้น. ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสนองพระองค์ทรงประภาศอันเปนเครื่องต้น. กับทั้งปืนใหญ่น้อย, แลครอบครัวเขมร ซึ่งตีได้นั้นแก่นักองคพระรามาธิบดี. แล้วโปรดให้กลับไปครองเมืองพุทไธเพชร์, เปนใหญ่ในกัมพุชประเทศเหมือนแต่ก่อน. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพระยาโกษาธิบดี, ตีได้เมืองกระพงโสม, แล้วยกมาจะตีเอาเมืองกำปอช, พระยาปังกลีมาแขกจามเจ้าเมืองกำปอช, ออกมาอ่อนน้อมยอมเข้าสวามีภักดิมิได้ต่อรบ. พระยาโกษาธิบดีจึ่งภาตัวพระยาปังกลีมาขึ้นเฝ้า, กราบถวายบังคมณเกาะพนมเพญ, จึ่งโปรดให้พระยาปังกลีมากลับไปอยู่รั้งเมืองกำปอชดังเก่า, ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับเจ้าพระยาจักรียกลงไปได้เมืองบาพนม, เขมรมิได้สู้รบยอมเข้าสวามีภักดิโดยดี. จึ่งจัดแจงให้คงอยู่ตามภูมลำเนาเดิม. แล้วก็เลิกทับกลับมาเฝ้าณเกาะพนมเพญ, จึ่งดำรัศให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาโกษาธิบดี, อยู่ช่วยราชการณเมืองพุทไธเพชร, กว่าจะสงบราบคาบก่อน. แล้วเสดจยกพยุหโยธานาวาทับหลวงกลับมาถึงคลองท้องจีนจง, แลน้ำไปคลองนั้นตื้นเรือใหญ่จะไปมิได้. จึ่งดำรัศให้ไพร่พลทดน้ำทั้งกลางวันกลางคืน, เรือทั้งปวงจึ่งไปได้พร้อมกัน. ๚ะ

๏ ฝ่ายจีนทั้งปวงซึ่งเคยไปมาแต่ก่อน, ก็สรรเสิญว่าเดือนอ้ายนี้, น้ำเคยแห้งคลองขาด, เรือจะไปมามิได้, นี่อาไศรยบุญานุภาพพระเจ้าอยู่หัวมาก, เรือจึ่งไปมาได้สดวกในเทศกาลนี้. ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทรเดือนอ้ายขึ้นสามค่ำ, เพลาบ่ายสามโมงเสศ, เสดจถึงเมืองพุทไธมาศ, สถิตย์อยู่ในพระราชวัง. แล้วทรงพระราชศรัทธาให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกอารามใจจังหวัดแขวงเมืองพุทไธมาศ, เข้ามาในพระราชวัง, แล้วทรงพระกรุณาพระราชทานถวายจีวรแพรแก่พระสงฆ์ทุกองค. ที่มิได้จีวรนั้น, ถวายเงินแทนจีวรรูปละห้าตำลึง แล้วเสดจไปณวัดญวน, ถวายนมัศการพระพุทธปฏิมากรซึ่งมีในวิหาร. ฝ่ายหลวงญวนก็สวดมนตให้ทรงฟัง, จึ่งมีพระราชบริหารโดยภาษาญวน, พระราชทานพระราโชวาทแก่หลวงญวนทั้งปวงว่า, ให้อุษาหรักษาศิล, อย่าให้ส้องเสพด้วยสิกา. แล้วเสดจกลับยังพระราชวังที่ประทับ. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันอังคารเดือนอ้ายแรมสามค่ำ, จึ่งเสดจลงเรือพระที่นั่งสำเภาทอง, ให้เคลื่อนคลายขบวนพยุหโยธานาวาทับจากเมืองพุทไธมาศ, ออกท้องทเลใหญ่กลับคืนยังกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาราชาเสรฐีญวน, ซึ่งแตกหนีไปนั้นขึ้นอาไศรยอยู่เกาะ, ตั้งส้องสุมรี้พลญวนจีนได้มากแล้ว, ก็ยกทับเรือมาตีเอาเมืองพุทไธมาศคืน, แลพระยาราชาเสรฐีเจ้าเมืองใหม่มิทันรู้ตัว, ยกพลทหารจีนออกต่อรบต้านทานอยู่ประมาณสามนาฬิกา, เหนเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเสีย, ภารี้พลแลครอบครัวทั้งปวงลาดถอยมาอาไศรยอยู่ณเมืองกำปอช. แลพระยาปังกลิมาก็ช่วยจัดแจงไพร่พลอยู่สามวันภอพร้อม, ก็ยกกลับไปจะปล้นเอาเมืองพุทไธยมาศ. ในกลางคืนเพลาดึกสองยาม, ให้พลทหารจีนทั้งปวงเอาไม้ติ้วเข้าคาบทุกคนๆ, อย่าให้มีปากเสียง. แล้วให้ว่ายน้ำเข้าปีนปล้นเอาเมืองได้, พวกญวนมิทันรู้ตัวก็แตกพ่ายหนี. กองทับจีนไล่ฆ่าฟันญวนจีนพวกพระยาราชาเสรฐีญวน, ซึ่งอยู่ในเมืองล้มตายเปนอันมาก, จนโลหิตตกอาบไปทั้งเมือง. แต่ตัวพระยาราชาเสรฐีญวนนั้นลงเรือหนีไปได้. จับตัวหาไม่ได้. แลพระยาราชาเสรฐีจีนก็กลับคืนเอาเมืองได้, เข้าตั้งอยู่ในเมืองดังเก่า. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี, ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองพุทไธเพชร, ทราบข่าวไปว่า, เมืองพุทไธยมาศกลับเสียแก่ญวนอีก. จึ่งจัดแจงกองทับจะยกลงมาช่วยพระยาราชาเสรฐี, ภอได้ข่าวว่า, พระยาราชาเสรฐีกลับตีเอาเมืองคืนได้แล้ว, ก็อยุดทับไว้มิได้ยกลงมาเมืองพุทไธยมาศ. ๚ะ

๏ จึ่งพระยาราชาเสรฐีก็ส่งหนังสือ, บอกข้อราชการเข้ามาณกรุงธนบุรี. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ, จึ่งดำรัศว่าเมืองพุทไธมาศอยู่ฬ่อแหลมนัก, จะรักษาไว้เปนอันยากป่วยแรงทแกล้วทหาร. จึ่งโปรดให้มีท้องตราออกไปว่า, ให้พระยาราชาเสรฐีทิ้งเมืองพุทไธมาศเสียเถิดอย่าอยู่รักษาเลย, ให้เลิกทับกลับเข้ามารับราชการณกรุงดั่งเก่า ครั้นพระยาราชาเสรฐี, ได้แจ้งในท้องตรารับสั่งแล้ว, ก็กวาดครอบครัวชาวเมืองลงเรือใหญ่น้อย, แล้วเลิกกองทับจีนกลับเข้ามาณกรุง, ตามพระราชกำหนดให้หานั้น. แล้วจึ่งโปรดให้มีท้องตราให้หากองทับเจ้าพระยาจักรี, พระยายมราชกลับคืนมายังพระนคร, ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๔ ปีมโรงจัตวาศก, ฝ่ายโปสุพลาซึ่งมาอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองเชียงใหม่นั้น, ยกทับมาตีเมืองลับแลแตกแล้ว, ยกลงมาตีเมืองพิไชย, ตั้งค่ายอยู่ณวัดเอกา. พระยาพิไชยก็จัดแจงการป้องกันเมืองเปนสามารถ. จึ่งเจ้าพระยาสุรสีห, ก็ยกกองทับเมืองพระพิศณุโลกย, ขึ้นไปช่วยเมืองพิไชย. แลเจ้าพระยาสุรสีห, กับพระยาพิไชย, ยกพลทหารเข้าตีค่ายพม่า ๆ ออกต่อรบกันถึงอาวุธสั้น. พลทับไทยไล่ตลุมบอนฟันแทงพลพม่าล้มตายเปนอันมาก, พม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีเลิกทับกลับไปเมืองเชียงใหม่. จึ่งบอกหนังสือแจ้งข้อราชการศึกลงมาณกรุง, กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๕ ปีมเสงเบ็ญจศก, ทรงพระกรุณาให้ศักท้องมือ, หมายหมู่เลขไพร่หลวง, แลเลขสังกัดพัน, กับทั้งเลขหัวเมือง. ส่งสารบาญชีเถบียนหางว่าวยื่นกรมพระสุรัสวดีทั้งสิ้น, ให้รู้จำนวนไพร่พลไว้, จะได้ใช้ราชการแผ่นดินแลการทับศึกต่างๆ ๚ะ

๏ ครั้นถึงณเดือนอ้ายข้างขึ้น, โปสุพลายกกองทับลงมาตีเมืองพิไชยอีก. พระยาพิไชยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังไม่มาถึงเมือง. เจ้าพระยาสุรสีหก็ยกทับเมืองพระพิศณุโลกยขึ้นไปช่วย, ได้รบกับทับพม่าเปนสามารถ. แลพระยาพิไชยถือดาบสองมือ, คุมพลทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก. จึ่งลือชื่อปรากฎเรียกว่า, พระยาพิไชยดาบหักแต่นั้นมา. ๚ะ

๏ ครั้งถึงณวันอังคารเดือนยี่แรมเจ็ดค่ำ กองทับพม่าแตกพ่ายหนีไป. จึ่งบอกหนังสือลงมากราบทูลพระกรุณาณกรุงธนบุรี. ๚ะ

๏ ลุศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริหการซึ่งจะไปตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้, ด้วยพม่ายกกองทับมาย่ำยีบีทาหัวเมืองฝ่ายเหนือเนืองๆ. จึ่งดำรัศให้เกนกองทับหัวเมืองฝ่ายเหนือสิบหัวเมือง, เปนคนสองหมื่นสรัพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ, ให้ยกคอยรับเสดจอยู่ณบ้านรแหงให้พร้อม. แล้วให้เกนกองทับในกรุงฯ แลหัวเมืองใกล้ทั้งปวง, ได้พลสกรรธ์ลำเครื่องหมื่นห้าพัน, ช้างเครื่องร้อยแปด, ม้าร้อยม้า, สรัพด้วยเครื่องสรรพยุทธพร้อมเสรจ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนสิบสองแรมสิบเบดค่ำ, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็เสดจทรงเรือพระที่นั่งกราบ, ยาวสิบสามวา, พลพายสี่สิบคน, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาพระหัวเมือง, แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยไทยจีน ฝ่ายทหารพลเรือนทั้งหลาย, โดยเสดจในขบวนทับหลวงเปนอันมาก. จึ่งเสดจยกพยุหยาตรานาวาทับหลวงจากกรุงธนบุรีโดยชลมารค, ประทับร้อนแรมไปตามระยะทางหลายเวน. ๚ะ

๏ ถึงณวันพุทธเดือนอ้ายขึ้นสี่ค่ำ, เสดจถึงเมืองกำแพงเพชร, แล้วยกไปถึงบ้านระแหงแขวงเมืองตาก, เสดจประทับแรมณพระตำหนักสวนมม่วง. ดำรัสให้พระยาจักรีเปนแม่กองทับน่า, ถือพลทับในกรุงแลหัวเมืองยกขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองเถิน. แล้วให้ทับเมืองเหนือทั้งสิบเมือง, ยกไปเข้ากองเจ้าพระยาจักรีกองน่าไปตีเมืองเชียงใหม่ ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงรัตนบุระอังวะพระเจ้ามังระทราบว่า, กรุงไทยพระยาตากตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าแผ่นดิน, สร้างเมืองบางกอกขึ้นใหม่, เปนราชธานีใหญ่แทนกรุงศรีอยุทธยา, ซึ่งพินาศฉิบหายนั้นกลับตั้งตัวต่อรบ. จึ่งทรงพระดำริหว่า, จะละไว้ให้ช้ามิได้ไทยจะมีกำลังกำเริบมากขึ้น, จำจะแต่งกองทับใหญ่ให้ไปตีปราบปรามเสียให้สิ้นเสี้ยนหนามราบคาบ, อย่าให้แผ่นดินไทยตั้งตัวเปนปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นไปสืบไปอีกในภายน่า. จึ่งให้แพกิจจาคุมพลพม่าห้าร้อย, ถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตมะ, ให้เกนพลรามัญเมืองเมาะตมะสามพัน, เข้ากองแพกิจจาเปนนายทับยกไปทำทาง, แลตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางที่ตำบลสามสบท่าดินแดง, จัดแจงพลเสบียงอาหารผ่อนไปไว้ก่อน. แล้วภายหลังจึ่งจะให้กองทับใหญ่ยกไปตีเอาเมืองบางกอก, ซึ่งตั้งขึ้นใหม่นั้นจงได้. แลปกันหวุ่นก็เกนพลรามัญเมืองเมาะตมะ. แลเมืองขึ้นสามสิบสองหัวเมืองเปนคนสามพัน. ให้พระยาเจ๋ง, พระยาอุตละ, เสี้ยงตละ, เกล็บคุมมา, กับกองแพกิจจานายทับ. แพกิจจาก็ยกทับมาณสามสบท่าดินแดง, จัดแจงการทั้งปวงตามรับสั่งพระเจ้าอังวะ ๚ะ

๏ ฝ่ายปกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตมะ, ให้เร่งรัดเกบเอาเงินทองแก่ครอบครัวสมิงรามัญ, แลไพร่พลเมืองทั้งปวงได้ความยากแค้น. บ้างหลบหนีมาบอกกันยังกองทับ. แลนายทับนายกองรามัญทั้งปวงก็โกรธว่า, พม่าข่มเหงเบียดเบียนครอบครัวข้างหลัง. จึ่งชวนกันคิดกระบถฆ่าแพกิจจานายทับ, กับทั้งไพร่พลพม่าห้าร้อยเสียทั้งสิ้นที่ท่าดินแดง. แล้วก็ยกทับกลับไปเมืองเมาะตมะ. แลบันดารามัญนายไพร่ซึ่งอยู่ที่เมืองแลเมืองขึ้นทั้งปวงนั้น, ก็พร้อมใจเข้าด้วยกันทั้งสิ้น, ชวนกันยกเข้าปล้นเมืองเมาะตมะในเพลากลางคืน, โห่เปนเสียงไทย. ปกันหวุ่นแลกรมการพม่าทั้งปวงตกใจไม่สู้รบทิ้งเมืองเสีย, ลงเรือหนีไปเมืองย่างกุ้ง. แล้วบอกขึ้นไปถึงเมืองอังวะว่า, มอญเมืองเมาะตมะเปนขบถสิ้นทั้งเมือง. ๚ะ

๏ ฝ่ายนายทับนายกองสมิงรามัญเมาะตมะ, ก็ยกกองทับรามัญติดตามขึ้นไปตีได้เมืองจิตตอง,เมืองหงษา. แล้วยกขึ้นไปตีเมืองย่างกุ้งเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองไว้, แล้วยกเข้าปล้น. เจ้าเมืองย่างกุ้งต่อรบเปนสามารถ มอญหักเข้าไปได้เมืองกึ่งหนึ่ง. พม่าตั้งค่ายในเมืองกั้นไว้ได้ครึ่งเมือง. ๚ะ

๏ ครั้นพระเจ้าอังวะทราบในหนังสือบอก, จึ่งให้อแซหวุ่นกี้ถือพลพม่าหมื่นหนึ่ง, ยกลงมารบมอญขบถ, ภอทับน่าอแซหวุ่นกี้ลงมาถึงก็เข้าตีทับมอญ. ๆ ต่อรบสู้มิได้, ก็ลาดถอยไปกลับลงมาเมืองเมาะตมะ. กองทับอแซหวุ่นกี้ก็ยกติดตามลงมา. รามัญทั้งปวงเหนเหลือกำลัง, จะสู้รบพม่ามิได้, ก็กวาดครอบครัวหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, แยกกันเปนหลายพวก, เข้ามาทางด่านพระเจดียสามองคบ้าง, ทางด่านเมืองตากบ้าง. กองทับพม่าก็ยกติดตามมอญมาทุกทาง, ที่ตามมาทันก็กวาดต้อนครอบครัวมอญกลับคืนไปได้บ้าง. ๚ะ

๏ ในขณะเมื่อทับหลวงตั้งอยู่ณบ้านรแหงนั้น, จึ่งขุนอินทคิรีนายด่านเมืองตาก, นำเอาครัวไทยมอญซึ่งหนีมาแต่เมืองเมาะตมะ, เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร. แล้วภาตัวสมิงสุรายกลั่นซึ่งเปนตัวนายมานั้น, เข้ามาเฝ้ากราบถวายบังคมณพระตำหนักสวนมม่วง. จึ่งพระราชดำรัศให้ล่ามถามว่า, พระเจดียถานอันชื่อว่ากลอมป้อมณเมืองเมาะตมะนั้น, ยังปรกติดีอยู่ฤๅ. สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่า, ยังปรกติดีอยู่. จึ่งดำรัสให้ถามว่า พระมหาเจดียเกษธาตุณเมืองย่างกุ้ง, ซึ่งว่าฉัตรยอดหักลงมานั้น, ยกขึ้นได้แล้วฤๅ. สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่า, พระเจ้าอังวะให้ลงมาปฏิสังขรณสามปีแล้ว, ยังหายกขึ้นได้ไม่, จึ่งตรัสให้ถามว่า, ข่าวฦๅมาว่านางรามัญบุตรีคนเขญใจ, อายุได้สิบสี่ปีสิบห้าปีรู้อรรถธรรม, เกิดที่เมืองเมาะตมะนั้นมีจริงฤๅ. สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่ามีจริงอยู่แต่ยังหาได้ส่งขึ้นไปเมืองอังวะไม่. ๏ ภอเพลาบ่ายจึ่งดำรัศให้พระยายมราชแขก, ยกกองทับไปขัดด่านอยู่ณท่าดินแดงรับครัวมอญ, กับจะได้ต่อรบทับพม่า, ซึ่งยกตามมอญมานั้นด้วย. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันศุกร์เดือนอ้ายแรมห้าค่ำเพลาเช้า, บันดานฝนห่าใหญ่ตกเปนมหาพิไชยราชฤกษ. จึ่งโปรดให้พระยาคำแหงวิชิตคุมพลสองพันเสศ, อยู่รักษาเมืองตากคอยรับครัวมอญ. แล้วเสดจทรงช้างต้นพังเทพลีลา, ให้ยาตราพลทับหลวงดำเนินโดยสถลมารค, ประทับร้อนแรมไปโดยระยะทางหลายเวน ถึงตำบลนาเพียกเหนือเมืองนครลำปาง. แล้วดำเนินทับหลวงไปอีกหลายเวน. ถึงวันอังคารเดือนยี่ขึ้นสองค่ำ, เสดจถึงเมืองลำภูญ, ให้ตั้งค่ายอยุดประทับอยู่ที่นั่น. ๚ะ

๏ ฝ่ายโปสุพลารู้ว่า, กองทับไทยยกขึ้นมาจะตีเมืองเชียงใหม่, จึ่งให้พระยาจ่าบ้าน, แลแสนท้าวพระยาลาวทั้งปวง, ยกกองทับลาวพันหนึ่ง, เปนกองน่าให้ยกล่วงน่าไปก่อน. แล้วให้โปมยุง่วนเจ้าเมืองอยู่รักษาเมือง, โปสุพลา, จึ่งยกกองทับพม่าทับลาวเก้าพัน, จะยกลงมารับทับไทย. ๚ะ

๏ ฝ่ายพระยาจ่าบ้าน, กับพระยากาวิละ, ขุนนางเมืองนครลำปาง, ซึ่งเปนกองน่านั้น, เข้ามาหากองทับเจ้าพระยาจักรี, ขอสวามีภักดิ์เข้าด้วยจะกลับต่อรบพม่า เจ้าพระยาจักรีจึ่งบอกลงมาให้กราบทูล, แล้วให้กองทับพระยาจ่าบ้าน, พระยากาวิละนำทับขึ้นไป. ๚ะ

๏ ฝ่ายโปสุพลายกกองทับมาได้คืนหนึ่งรู้ข่าวว่า, พระยาจ่าบ้าน, พระยากาวิละ, กลับคิดร้ายเข้าด้วยกับไทย. จึ่งถอยทับกลับไปเมืองเชียงใหม่. แลกองทับเจ้าพระยาจักรี, ก็ยกขึ้นไปถึงแม่น้ำเมืองเชียงใหม่. ทับพม่ายกออกมาขุดสนามเพลาะ, คอยสกัดรบตามริมน้ำ, จะข้ามทับไปยังมิได้. จึ่งให้หมื่นศรีสหเทพลงมากราบทูล. มีพระราชดำรัศสั่งให้เอาปืนจ่ารงต้นกรมทำร้านขึ้นยิงให้พม่าแตก, แล้วจงยกข้ามน้ำไป. อันจะรั้งรออยู่ฉนี้มิได้, การศึกจะเนิ่นช้า. หมื่นศรีสหเทพก็กลับไปบอกตามรับสั่ง ภอกองทับน่า, ตีทับพม่าแตก, ยกข้ามน้ำไปได้,ตั้งค่ายล้อมเมืองได้สามสิบสี่ค่าย. เจ้าพระยาจักรีจึ่งให้พระยาธิเบศบดี, ลงมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ, จึ่งพระราชทานม้าพระที่นั่ง, กับพระแสงปืนสั้นบอกหนึ่ง, ไปให้เจ้าพระยาจักรี, แล้วพระราชทานพระแสงปืนสั้นอีกสองบอก, ไปให้เจ้าพระยาสุรสีหบอกหนึ่ง, เจ้าพระยาสวรรคโลกยบอกหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นค่ำลงเพลาห้าทุ่มเสศ, จึ่งลาวสามสิบเอ็ดคน, เปนบ่าวแสนหนังสือ, มาแต่บ้านพแวน, บอกให้กราบทูลว่า, กองทับพม่าประมาณสองพัน, ยกมาแต่เมืองเมาะตมะ, ตามครัวมอญเข้ามาทางบ้านนาเกาะดอกเหล็กด่านเมืองตาก. จึ่งดำรัศให้พระเจ้าหลานเธอรามลักษณเปนแม่ทับ, ถือพลพันแปดร้อยเสศ, ยกไปทางบ้านจอมทอง, ตัดลงไปบ้านนาเกาะดอกเหล็ก, ตีทับพม่าซึ่งยกเข้ามานั้น. ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าพระยาสวรรคโลกย, ลงมาแต่ค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่, นำเอากระสุนปืนทองคำสองกระสุน, ซึ่งพม่ายิงออกมาแต่ในเมือง, มาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย, แล้วกราบถวายบังคมลากลับไป. จึ่งทรงพระอธิฐานแล้วสั่งให้พราหมณ์เอากระสุนปืนทองคำทั้งคู่นั้น, ไปประกาศแก่เทพยดาในบริเวณพระมหาธาตุในเมืองลำภูญ, แล้วให้ฝังไว้ณที่ใกล้พระมหาธาตุนั้น. ๚ะ

๏ ในวันนั้นพระเสมียนตราในเจ้าพระยาสวรรคโลกย, บอกข้อราชการลงมากราบทูลว่า, ได้เกลี้ยกล่อมลาวชาวเมืองลำภูญ, เมืองเชียงใหม่, ซึ่งแตกหนีออกอยู่ป่า, มาเข้าเปนอันมาก, ทั้งครอบครัวถึงห้าพันเสศ. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัศสรรเสิญสติปัญาพระเสมียนตรา, แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เปนพระยาอักษรวงษ, ให้คุมพวกลาวซึ่งมาเข้าเกลี้ยกล่อมนั้น, จัดเอาแต่ที่สกรรธ์ไปเข้ากองทับเจ้าพระยาจักรี, ตีพม่าณเมืองเชียงใหม่ ๚ะ

๏ ครั้นณวันจันทรเดือนอ้ายขึ้นแปดค่ำเพลาบ่าย, จึ่งพระราชฤทธานนท์, ถือหนังสือมาแต่กองทับพระยาคำแหงวิชิต, ซึ่งตั้งอยู่รักษาเมืองตากว่า, ณวันพุทธเดือนยี่ขึ้นเก้าค่ำ, สุวรรณเทวะกับทามุมวยสองนาย, ภาครัวรามัญเข้ามาถึงเมืองตาก, เปนคนห้าสิบคนให้การว่า, มาแต่เมืองเริง, ครอบครัวชายหญิงประมาณพันเสศ. ครั้นมาถึงตำบลอุวาบ, พม่าตามมาทันได้รบพุ่งกัน, แลจักกายวอซึ่งเปนนายใหญ่มานั้นถูกปืนตาย. พวกครัวทั้งปวงแตกหนีกระจัดพรัดพรายตามมาข้างหลัง, เข้าทางบ้านนาเกาะดอกเหล็ก. อนึ่งลาวชาวฟอนบาหง, ก็แตกเข้ามาทางด่านสตอง, ครอบครัวชายหญิงร้อยสี่สิบคน. ผู้รักษาด่านสตองก็น้อยตัว, แลบ้านนาเกาะดอกเหล็กก็หามีผู้อยู่รักษาไม่. ๚ะ

๏ ครั้นได้ทรงทราบในใบบอก, จึ่งให้มีหนังสือรับสั่ง, ไปหากองทับพระเจ้าหลานเธอรามลักษณกลับมา. แล้วให้มีหนังสือตอบไปถึงพระยาคำแหงวิชิต, ให้แบ่งทับยกออกไปตั้งอยู่ณบ้านนาเกาะดอกเหล็ก, เกลี้ยกล่อมลาวมอญซึ่งแตกตื่นหนีมานั้นประมวญเข้าไว้, แล้วออกคอยก้าวสกัดตีทับพม่า, อันติดตามครัวมาให้แตกฉานไปจงได้. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันพุทธเดือนญี่ขึ้นค่ำหนึ่ง, จึ่งเจ้าพระยาจักรี, ให้พระยาวิจิตรนาวีลงมากราบทูลว่า, กองเจ้าพระยาสวรรคโลกยเข้าตั้งค่ายล้อมเมืองด้านสกัดฝ่ายใต้ได้สองค่าย. แลด้านรีฝ่ายตวันออกตวันตกนั้น, ก็ให้กองทับหัวเมืองทั้งปวง, เข้าตั้งค่ายล้อมชักปีกกาถึงกันตลอดสองด้านแล้ว, ยังแต่ด้านสกัดฝ่ายเหนือด้านเดียว. ถ้ายกเข้าตั้งค่ายเหนจะได้รบกันเปนสามารถ, แม้นได้ท่วงทีจะกรูเข้าหักเอาเมืองทีเดียว. ๚ะ

๏ สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ได้ทรงสดับไม่เหนด้วย, ดำรัศว่า, พม่าตั้งค่ายรับอยู่ในเมือง, ซึ่งจะกรูเข้าไปนั้นเกลือกจะเสียที, ทแกล้วทหารก็จะถอยกำลังกล้าย่อหย่อนลง. ถ้าล้อมรอบเมืองได้แล้ว, จะหักเข้าที่ไหน, ก็ให้ตั้งน่าทำเข้าไปเฉพาะที่นั้น. แลบันดาค่ายทั้งปวงให้ขุดคูลงขวากกันข้าศึก, แต่ซึ่งค่ายประชิจะได้วางปืนหามแล่นนั้น, ให้ขุดคลองเดินบังปืนพม่า. ให้ดูที่ค่ายใดซึ่งตั้งเข้าใกล้เมืองได้, ก็ให้ขุดคลองโปรยขวากกระจับที่ค่ายนั้น. แม้นฆ่าศึกจะยกออกมาหักค่าย, ก็ให้ไล่คลุกคลีตีตามเข้าเมืองทีเดียว. พระยาวิจิตรนาวีก็กราบถวายบังคมลา, กลับไปแจ้งข้อรับสั่งแก่เจ้าพระยาจักรี, ๆ ก็จัดแจงการทั้งปวงตามกระแสพระราชดำรัสสั่งไปนั้น ๚ะ

๏ ฝ่ายโปสุพลา, โปมยุง่วน, ก็ให้นายทับนายกองพม่า, ยกพลทหารออกมาตั้งค่ายรับนอกเมืองเปนหลายค่าย. แล้วยกออกปล้นค่ายเจ้าพระยาจักรี, ซึ่งตั้งอยู่ด้านตวันออกในเพลากลางวัน. เจ้าพระยาจักรีมิได้ครั่นคร้าม, นั่งเล่นหมากรุกอยู่ในค่ายพลาง, ร้องสั่งพลทหารให้วางปืนใหญ่น้อยออกไปจากค่ายยิงพม่า ๆ ถูกปืนล้มตายลงมาก, จะปล้นเอามิได้, ก็ถอยกลับเข้าค่าย. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสาร์เดือนยี่ขึ้นสิบสามค่ำเพลาย่ำรุ่งเช้า, จึ่งสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็ทรงเครื่องราชวิภูษิตสำหรับราชรณยุทธ, ทรงราชาวุธสรัพเสรจ, ก็เสดจทรงช้างต้นพลายคเชนทรบรรยงค์เปนราชพาหนะ, ให้ยาตราพลากรทับหลวงจากค่ายริมเมืองลำภูญ, ขึ้นไปณเมืองเชียงใหม่. อยุดประทับร้อนณพลับพลาไชยในค่ายบ่อคก, ไกลเมืองเชียงใหม่ทางสามร้อยห้าสิบสองเส้น. แล้วดำเนินทับหลวงไปประทับณค่ายมั่นริมน้ำใกล้เมือง. ๚ะ

๏ ในวันนั้นเจ้าพระยาจักรีแม่ทับน่า ยกพลทหารออกตีค่ายพม่า, ซึ่งออกมาตั้งรับนอกเมืองด้านตวันออก, แตกหนีเข้าเมืองทั้งสิ้น. แลกองเจ้าพระยาสุรสีห, ซึ่งตั้งค่ายตรงประตูท่าแพ, ก็ยกออกตีค่ายพม่าแตกทั้งสามค่าย. ตำรวจผู้ไปตรวจการมากราบทูล. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ, ยกพระหัถตบพระเพลาทั้งสองข้าง, ดำรัศสรรเสริญเจ้าพระยาทั้งสองว่า, จะว่าพี่ดีฤๅน้องดีไฉนในครั้งนี้. ๚ะ

๏ ครั้นค่ำเพลายามเสศ, โปสุพลา, แลโปมยุง่วน, เจ้าเมืองเชียงใหม่, ก็ภาครัวหนีออกจากเมืองทางประตูช้างเผือก, ด้านค่ายพระยาสรรคโลกย, ซึ่งตั้งล้อมยังไม่ตลอด, เบียดเสียดเยียดยัดกันตายที่ประตูเมืองประมาณสองร้อยเสศ. พวกพลทับไทยออกไล่ตามจับพม่า, แลชิงเอาครัวลาวได้เปนอันมาก ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตยเดือนยี่ขึ้นสิบสี่ค่ำเพลาเช้า, จึ่งสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, เสดจทรงช้างพระที่นั่งไปทอดพระเนตรค่าย, ซึ่งล้อมเมืองเชียงใหม่, แลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, มาเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมกัน. จึ่งมีพระราชดำรัศถามว่า, พม่ายกทับหนีไปครั้งนี้, ด้วยอุบายความคิดแลฝีมือของผู้ใด. เจ้าพระยาจักรีแลท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลว่า, ซึ่งพม่าแตกหนีไปครั้งนี้, ด้วยพระราชกฤษดาเดชานุภาพเปนแท้ เพราะเหตุพระสงฆในเมืองออกมาบอกข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงว่า, ณวันศุกรเดือนยี่ขึ้นสิบสองค่ำ, กลางคืนเพลายามเสศ, บังเกิดอัศจรรยในเมืองเชียงใหม่แผ่นดินไหว. ภอรุ่งขึ้นทับหลวงก็เสดจมาถึงเมือง. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสนองพระองค์เข้มขาบ, กับผ้าส่านแก่เจ้าพระยาจักรี, เจ้าพระยาสุรสีห, ทั้งสองเปนรางวัลเสมอกัน. แล้วให้ปฤกษาโทษเจ้าพระยาสวรรคโลกย, ซึ่งมิได้ปลงใจในราชการสงคราม, ตั้งค่ายไม่ตลอดด้าน, ไว้หนทางให้พม่าหนีไปได้, ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนห้าสิบทีแล้วจำครบไว้. แลเมื่อสำเร็จราชการศึกได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น, ได้ปืนใหญ่น้อยสองพันร้อยสิบบอก, ฆ้องสามสิบสองคู่, ม้าสองร้อยม้า, ไทยมอญห้าร้อยครัว, ไทยชาวเมืองสวรรคโลกยห้าร้อยเสศ. จึ่งดำรัศว่า, พวกครัวสวรรคโลกยเปนขบถต่อแผ่นดิน, นำทับพม่ามาตีเมือง, จะเอาไว้มิได้, ให้คลอกเสียทั้งสิ้น. ท้าวพระยานายทับนายกองทั้งปวง, กราบทูลขอพระราชทานชีวิตรไว้เปนตพุ่นญ่าช้าง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพุธเดือนยี่แรมสองค่ำเพลาเช้า, จึ่งเสดจพระราชดำเนินเข้าไปนมัศการพระพุทธปฏิมากรพระสิหิงคิ์ในเมืองเชียงใหม่, ทอดพระเนตรเรือนโปมยุง่วนเจ้าเมือง. แลพวกลาวชาวเมืองบอกแก่พวกข้าหลวงว่า, แต่ก่อนมาเทศการเดือนยี่นี้, น้ำในแม่น้ำน่าเมืองเชียงใหม่เคยลงขอด แลบัดนี้น้ำขึ้นประมาณศอกหนึ่งเปนอัศจรรย. จึ่งเสดจออกมาประทับอยู่ณตำหนักในค่ายนอกเมือง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนยี่แรมสามค่ำ, จึ่งทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระยาจ่าบ้านเปนพระยาวิเชียรปราการ, ให้ถืออาญาสิทธครองเมืองเชียงใหม่ ให้พระยาวังพร้าวผู้หลาน,เปนพระยาอุปราช. น้อยโพธิ, เปนพระยาราชวงษ. ให้พระยาลำภูญเปนพระยาไวยวงษา, ถืออาญาสิทธครองเมืองตามเดิม. น้อยต่อมต้อผู้น้อง,เปนพระยาอุปราช. ให้พระยากาวิละ, ถืออาชญาสิทธครองเมืองนครลำปาง. คำโสมผู้น้องเปนพระยาอุปราช. น้อยธรรมน้องอีกคนหนึ่ง, เปนพระยาราชวงษ. ยังน้องอีกสี่คน, ชื่อคำทิพหนึ่ง, หมูล่าหนึ่ง, คำฟั่นหนึ่ง, บุญมาหนึ่ง,ให้เปนผู้ช่วยราชการ. แล้วโปรดพระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่ถานานุศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย. โปรดให้เจ้าพระยาจักรีอยู่ช่วยจัดแจงว่าราชการบ้านเมืองทั้งปวง, ให้ราบคาบเปนปรกติก่อน. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนยี่แรมสี่ค่ำเพลาเช้า, จึ่งเสดจดำเนินทับหลวงกลับจากเมืองเชียงใหม่, ลงมาอยู่ประทับแรมอยู่ณเมืองลำปาง, นมัศการลาพระมหาธาตุ, ทรงถวายสัการบูชาด้วยดอกไม้ทองเงิน, แล้วถวายครัวลาวสิบเจดคนเปนข้าไว้ประฎิบัติพระมหาธาตุ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนยี่แรมสิบห้าค่ำ, จึ่งพระเชียงทองบอกข้อราชการขึ้นไปกราบทูลว่า, ทับพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ลำเมา. จึ่งเสดจราชดำเนินทับหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก, ณวันพฤหัศบดีเดือนสามขึ้นสองค่ำ. ดำรัศให้หลวงมหาเทพเปนแม่ทับ, กับจมื่นไววรนารถ, ถือพลสองพันยกรีบไปตีกองทับพม่า, ซึ่งยกเข้ามาทางด่านแม่ลำเมานั้นแตกไป, จึ่งบอกหนังสือมากราบทูล, ดำรัศให้นายควรรู้อรรถ, นายเวรมหาดไทย, ลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต, ซึ่งตั้งทับอยู่ณบ้านรแหงใต้เมืองตากนั้น, ให้เร่งยกกองทับออกไปก้าวสกัดตีทับพม่าซึ่งแตกไปนั้น. ๚ะ

๏ ในขณะนั้นเรือพระที่นั่งยังจอดอยู่ณท่าสวนมม่วงบ้านรแหง, หาทันขึ้นไปรับเสดจถึงเมืองตากไม่. ครั้นค่ำลงเพลาสองยาม, จึ่งเสดจลงทรงเรือจมื่นจงกรมวัง, ล่องลงมาภบเรือนายควรกลับขึ้นไป. นายควรกราบทูลว่า, เหนกองไฟอยู่ริมน้ำ, ได้ยินเสียงพม่าเห่ขึ้น. ก็ทรงพระวิมัติสงไสย. จึ่งดำรัศให้นายควรเปนเรือนำๆเสดจลงไป. จึ่งภบเรือตรางใส่พม่าเมืองเชียงใหม่,พระเพชรปาณีคุมมาอยุดอยู่ให้พม่าเห่ขานยาม ก็เสดจล่องลงมา, ภอเรือพระที่นั่งกระทบตอล่มลง,เสดจขึ้นณหาดทราย, ภบนายเกด, นายชูลคอนนั่งผิงไฟอยู่. นายชูถวายผ้าลายผืนหนึ่งเช็ดพระชงค์, เช็ดพระบาท. จึ่งหลวงราชโกษาเชิญห่อพระภูษาซึ่งชุ่มน้ำมาแก้ออก, เหนพระภูษาส่วนองคหนึ่งแห้งปรกติอยู่เปนอัศจรรยนัก, จึ่งน้อมนำเข้าไปถวาย. แล้วเสดจพระราชดำเนินด้วยพระบาท, มาโดยทางสถลมารคถึงพระตำหนักสวนมม่วงบ้านรแหง. ๚ะ

๏ จึ่งดำรัศให้ข้าราชการปฤกษาคุณแลโทษนายควร. แลข้าราชการทั้งปวงปฤกษาว่า, ทรงพระกรุณาใช้ไปราชการ, นายควรมิได้พิจารณาให้ถ่องแท้, เอาความมากราบทูลด้วยเสียงพม่าเห่นั้น, เปนความผิดโทษมีแก่นายควร. อนึ่งนายควรได้โดยเสดจพระราชดำเนินเปนเพื่อนพระองคในคราวกันดารนั้น, เปนความชอบ, คุณมีแก่นายควร. แลคุณกับโทษภอกลบลบกัน. ประการหนึ่งซึ่งนายชูลคอนได้ถวายผ้าลาย,ได้เช็ดพระชงค, พระบาทเมื่อกันดารนั้น, เปนความชอบมีแก่นายชูลคอน. จึ่งโปรดให้พระราชทานเงินตราห้าตำลึง. แก่นายชูลคอนเปนบำเหน็จ. ๚ะ

๏ ครั้นณวันเสารเดือนสามขึ้นสี่ค่ำเพลาเช้า, จึ่งทรงพระกรุณาพระราชทานเงินแจกราษฎรชาวบ้านรแหง, สิ้นทั้งผู้ใหญ่, ทั้งเด็กเสมอคละสลึง. จึ่งพระยาคำแหงวิชิตกราบทูลกล่าวโทษพระยานนท์บุรี, ซึ่งเปนลูกกองว่า, หลบหลีกย่อท้อต่อการสงครามเกรงกลัวฆ่าศึก จึ่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระยานนท์บุรีร้อยที, แล้วให้จำครบส่งลงไปณกรุง, ให้ประหารชีวิตรเสีย. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสามขึ้นแปดค่ำ, จึ่งเสดจไปนมัศการพระพุทธปฏิมากรณวัดกลาง, วัดดอยเขาแก้ว. แล้วตรัสถามพระสงฆ์ว่า, ผู้เปนเจ้าจำได้ฤๅไม่, เมื่อโยมยังอยู่บ้านรแหงนี้, โยมยกระฆังแก้วขึ้นชูไว้, กระทำสัตยาธิษฐานเสี่ยงบารมีว่า, ถ้าจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสมโพธิญาณในอนาคตกาลเปนแท้แล้ว, ข้าพเจ้าจะตีระฆังแก้วเข้าบัดนี้, ขอจงให้แตกเฉพาะที่จุก, จะได้ทำเปนพระเจดียถาน, บันจุพระบรมสาริริกธาตุ. ครั้นอธิฐานแล้วจึ่งตีเข้า, ระฆังแก้วก็แตกที่จุกดุจอธิฐานนั้น, เปนอัศจรรยเหนประจักษ. พระสงฆ์ถวายพระพรว่า, จริงดังกระแสพระราชดำรัศนั้น. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสามขึ้นเก้าค่ำ, จึ่งเสดจลงเรือพระที่นั่งล่องลงมาโดยทางชลมารค, ห้าเวนถึงกรุงธนบุรีมหานคร. ๚ะ

๏ ฝ่ายข้างกรุงรัตนบุระอังวะพระเจ้ามังระลงมาณเมืองย่างกุ้ง} กระทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดียเกษธาตุ ๚ะ

๏ ฝ่ายเสนาบดีซึ่งรักษาเมืองอังวะบอกลงมาว่า พระยาหงษาวดี, พระยาอุปราชา, กับตละเกิงแลรามัญทั้งปวง, ซึ่งกวาดขึ้นไปไว้ครั้งตีเมืองหงษาวดีได้, แต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้ามังลองนั้น, คิดกันเปนขบถ. เหนว่าเสดจไม่อยู่จะยกเข้าปล้นเอาเมืองข้างหลัง, บัดนี้จับจำไว้สิ้นแล้ว. พระเจ้ามังระจึ่งให้มีหนังสือตอบขึ้นไป, ให้ประหารชีวิตรพระยาหงษาวดี, พระยาอุปราชา, แลตละเกิงสมิงรามัญตัวนายซึ่งร่วมคิดกันเปนขบถนั้นเสียให้สิ้น. แล้วให้ข้าหลวงมาเร่งกองทับอแซหวุ่นกี้, ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองเมาะตมะนั้น, ให้ยกตามมอญขบถเข้าไป, ตีเอาเมืองไทยให้ได้. ๚ะ

๏ อแซหวุ่นกี้จึ่งให้งุยอคุงหวุ่นเปนแม่กองทับน่า, กับอุตมสิงหจอจัวหนึ่ง, ปะคันเลชูหนึ่ง, เมี้ยนหวุ่นหนึ่ง, อคุงหงุ่นมุงโยะหนึ่ง, เนมโยแมงละนรทาหนึ่ง, ยุยยองโบ่หนึ่ง, ถือพลห้าพันยกล่วงมาก่อน. แล้วให้ตะแคงมรหน่องเปนเชื้อวงษพระเจ้าอังวะ, กับหม่องจ่ายิด, ถือพลสามพันอีกทับหนึ่งยกหนุนมา. แลกองน่าพม่ายกตามครัวมอญเข้ามา, เข้าตีกองน่าทับไทยซึ่งตั้งค่ายอยู่ณท่าดินแดงนั้นแตก. พระยายมราชแม่ทับก็ถอยลงมา, แล้วบอกเข้ามาให้กราบทูลว่า, พม่ายกทับใหญ่มาเหลือกำลังจะต้านทานต่อรบ, ขอพระราชทานกองทับเพิ่มเติมไปช่วย. จึ่งดำรัศให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย, กับพระยาธิเบศบดีเปนแม่ทับ, ถือพลสามพันยกไปตั้งค่ายรับณเมืองราชบุรี ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระยายมราชบอกส่งพระยาอไภยรณฤทธิหนึ่ง, พระยาเพชรบุรีหนึ่ง, หลวงสมบัติบาลหนึ่ง, หลวงสำแดงฤทธาหนึ่ง, ทั้งสี่นายซึ่งแตกพม่าเข้ามานั้น. แต่พระยาสุนทรพิพิธหนึ่ง, หลวงรักษมณเฑียรหนึ่ง, พระยาสุพรรณบุรีหนึ่ง, พระยากาญจนบุรีหนึ่ง, พระยานครไชยศรีหนึ่ง, ทั้งห้านายนี้ยังไม่ภบตัว. จึ่งดำรัศให้จับเอาบุตรภรรยามาจำไว้, ให้ทำราชการแก้ตัวส่งไปเข้ากองพระเจ้าลูกเธอ, แลพระยาธิเบศบดี. แล้วดำรัศให้พระเจ้าหลานเธอรามลักษณถือพลพันหนึ่ง, ยกไปช่วยพระเจ้าลูกเธอคิดอ่านการสงครามเอาไชยชำนะให้จงได้. ๚ะ

๏ ถึงณวันจันทรเดือนสามแรมสี่ค่ำเพลาเช้า, เสดจลงพระตำหนักแพให้เรือตำรวจขึ้นไปเร่งกองทับ, ซึ่งกลับมาแต่เมืองเชียงใหม่ยังล้าหลังอยู่ตามเสดจมาไม่ทันนั้น, ให้เร่งรีบลงมาโดยเรวอย่าให้ใครแวะเข้าบ้านเปนอันขาด. ถ้าใครแวะเข้าบ้าน, จะประหารชีวิตรเสีย. แลเรือท้ายพระยาพระหลวงขุนหมื่นข้าราชการทั้งปวงนั้น, ก็รีบเร่งลงมาถึงหน้าพระตำหนักแพ, ภอกราบทูลทวายบังคมลาแล้ว,ก็โบกพระหัถสั่งให้รีบออกไปเมืองราชบุรี ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระเทพโยธาจอดเรือแวะขึ้นบ้าน, ตำรวจลงมากราบทูล. พระธิโรธดำรัศให้เรือตำรวจรีบไปเอาตัวมาในทันใดนั้น, แล้วเอาตัวพระเทพโยธาขึ้นมัดไว้กับเสาพระตำหนักแพ, ทรงถอดพระแสงดาบออกฟันพระเทพโยธาด้วยพระหัถบนพระตำหนักแพ, ศีศะขาดตกลง,ให้ตำรวจนำเอาไปเสียบประจานไว้ที่น่าป้อมวิไชยประสิทธ แลอาสพนั้นให้ทิ้งน้ำเสีย, อย่าให้ใครดูเยี่ยงอย่างสืบไป. ๚ะ

๏ ฝ่ายพวกรามัญซึ่งหนีพม่านั้น, พระยาเจ่ง, ตละเสี้ยง, ตละเกล็บ, กับพระยากลางเมืองซึ่งหนีเข้ามาครั้งกรุงเก่า, พม่าตีกรุงได้ๆตัวไป. แลสมิงรามัญนายไพร่ทั้งปวง, ภาครอบครัวเข้ามาทุกด่านทุกทาง, ให้ข้าหลวงไปรับมาถึงพระนครพร้อมกันแล้ว. ทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ณะแขวงเมืองนนท์บ้าง, เมืองสามโคกบ้าง. แต่สกรรธ์จัดไว้สามพัน, โปรดให้หลวงบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่าเปนเชื้อรามัญ, ให้เปนพระยารามัญวงษ, เรียกว่าจักรีมอญ, ควบคุมกองมอญใหม่ทั้งสิ้น. แลโปรดให้พระราชทานตราภูมคุ้มห้ามสรรพากรขนอนตลาดทั้งปวง, ให้ค้าขายทำมาหากินเปนศุข แล้วให้เกนพระยารามัญวงษคุมกองมอญ,ยกหนุนออกไปต่อรบพม่าอีกทับหนึ่ง. แล้วโปรดให้มีตราขึ้นไปหากองทับเจ้าพระยาจักรี, แลทับหัวเมืองฝ่ายเหนือ, เมืองตวันออกทั้งปวง, ให้เร่งรีบลงมาช่วยราชการสงคราม. ๚ะ

๏ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี อยู่ณเมืองเชียงใหม่, แลพระยาเชียงใหม่, พระยานครลำปางบอกว่า, เมืองน่านผู้คนมากยังมิได้เข้ามาสวามีภักดิ์. เจ้าพระยาจักรีจึ่งให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เมืองนครลำปาง, กับขุนนางไทยข้าหลวงไปเจรจาเกลี้ยกล่อมพระยาน่านโดยดี. พระยาน่านก็ยอมเข้าสวามิภักดิ์, ขอขึ้นเปนข้าขอบขันทสีมา. แล้วแต่งขุนนางสองนายให้ลงมาเฝ้าด้วย. ภอข้าหลวงถือตราขึ้นไปหากองทับกลับ, แลเกนทับหัวเมืองทั้งปวง เจ้าพระยาจักรีแลท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งหลาย,ก็จัดแจงกองทับทุกๆเมือง, ยกลงมาตามพระราชดำรัศให้หานั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายกองทับพม่าก็ยกแยกกันไปเที่ยวไล่จับผู้คนครอบครัว, ณแขวงเมืองกาญจนบุรี, เมืองราชบุรี, เมืองนครไชยศรี, เมืองสุพรรณบุรี, ทุกบ้านทุกตำบล. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนสามแรมหกค่ำ, กรมการเมืองนครไชยศรีบอกเข้ามากราบทูลว่า, พวกตำรวจหลังถือท้องตราพระราชสีหไปเมืองสุพรรณบุรี, ถึงตำบลบ้านภูมภบพม่าประมาณสามสิบคนควบม้าไล่ก็วิ่งหนี, กะทอผ้าซึ่งใส่หนังสือท้องตรานั้นตกหายเสีย. พม่าเข้าล้อมบ้านภูมอยู่, แต่นายพูน, นายสา, นายแก่สามคนนี้หนีได้, นายพรมนั้นหายไปไม่ภบกัน. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้พระยาพิไชยไอสวรรยผู้ว่าที่กรมท่า, ยกกองทับพลพันหนึ่งไปเมืองนครไชยศรี, ตีทับพม่าซึ่งยกมานั้น. ๚ะ

๏ ฝ่ายทับพม่าซึ่งยกมาทางเมืองกาญจนบุรี, มาตั้งค่ายใหญ่อยู่ณะปากแพรก. แล้วแบ่งทับมาสามพันเสศ, ยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ณบ้านนางแก้ว, แขวงเมืองราชบุรีสามค่าย. ทับพระยายมราชก็เลิกถอยเข้ามา. พระเจ้าลูกเธอกับพระยาธิเบศบดี, จึ่งให้หลวงมหาเทพเปนกองน่าคุมคนพันหนึ่ง, ยกไปตั้งค่ายประชิโอบค่ายพม่าด้านตวันตก. แลทับพระเจ้าหลานเธอรามลักษณพลพันหนึ่ง, ยกไปตั้งค่ายประชิด้านตวันออก. พระเจ้าลูกเธอกับพระยาธิเบศบดี, ตั้งค่ายมั่นอยู่ณโคกกระต่าย. แล้วบอกข้อราชการเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ. ๚ะ

๏ ครั้นถึงณวันอาทิตยเดือนสามแรมสิบเบ็ดค่ำ ได้มหาพิไชยฤกษ, จึ่งสมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสดจทรงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา, พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาข้าทูลลอองธุลีพระบาทเปนอันมาก. เสดจยกพยุหยาตรานาวาทับสรรพด้วยพลโยธาหารแปดพันแปดร้อยเสศ. จากกรุงธนบุรีไปโดยทางชลมารค, อยุดประทับพลับพลาณเมืองสาครบุรีคอยน้ำขึ้น. ครั้นค่ำเพลา ๕ ทุ่ม, จึ่งให้เคลื่อนกองทับไป. เพลารุ่งเช้าเข้าที่เสวยณวัดกลางค่ายบางกุ้ง. เพลาบ่ายโมงเสศ, เสดจไปถึงค่ายมั่นเมืองราชบุรี. ดำรัศให้พระยาวิจิตรนาวี, ไปสืบข่าวราชการณค่ายบ้านนางแก้ว, แล้วเกนท้าวพระยานายทับนายกอง, ยกพลทหารหนุนเพิ่มเติมไปล้อมค่ายอีกเปนหลายทับหลายกอง. ๚ะ

๏ ฝ่ายตแคงมรหน่องยกกองทับพลสามพัน, ติดตามทับพระยายมราชเข้ามาตั้งค่ายอยู่ณปากแพรก. อแซหวุ่นกี้เกนกองทับพม่าทับรามัญ, หนุนเพิ่มเติมมาอีกพันหนึ่ง. แลกองทับพระยายมราชนั้น. ถอยลงมาตั้งค่ายอยู่ณดงรังหนองขาว. สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึ่งดำรัศให้พระยาสีหราชเดโช, กับพระยาอินทรวิชิตเจ้าเมืองวิเสศไชยชาญ, ถือพลสองพันยกหนุนไปช่วยกองทับพระยายมราช. ๚ะ

๏ ครั้นณวันอังคารเดือนสามแรมสามค่ำ, จึ่งพระยาวิจิตรนาวีซึ่งไปสืบราชการค่ายบ้านนางแก้วกลับมากราบทูลว่า, พม่าประมาทฝีมือไทย, นิ่งให้ตั้งค่ายล้อมมิได้ออกมารบพุ่ง. ให้ร้องถามออกมาเปนภาษาไทยว่า, ตั้งค่ายมั่นแล้วฤๅยัง. ฝ่ายข้างเราร้องบอกไปว่า,ยังไม่ได้ตั้งมั่น,แต่บัดนี้ตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าไว้รอบแล้ว. ครั้นค่ำเพลายามเสศ, จึ่งเสดจยกพยุหโยธาทับจากค่ายเมืองราชบุรี,ไปทางวัดอรัญญิก, ประทับร้อนณพลับพลาค่ายศาลาโคกกระต่าย. ครั้นรุ่งเช้าจึ่งเสดจไปประทับแรมณพลับพลาค่ายวัดเขาพระ, คอยฟังข่าวราชการอยู่ที่นั่น. แลพม่าหายกออกตีค่ายไทยไม่,นิ่งให้ล้อม, ด้วยมีจิตรประมาทว่าไทยฝีมืออ่อน, จะออกตีเมื่อไรก็จะแตกเมื่อนั้น,จะได้จับผู้คนได้มาก. ฝ่ายทับไทยก็ตั้งค่ายล้อมไว้ถึงสามชั้น. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสี่ขึ้นค่ำหนึ่ง, เพลาเช้าจึ่งเสดจพระราชดำเนินพยุหยาตราทับไปทอดพระเนตรถึงค่ายล้อม, พระยารามัญวงษ, หลวงบำเรอภักดี, หลวงราชเสนามาเฝ้า. จึ่งดำรัศสั่งให้ไปตั้งค่ายรักษาหนองน้ำณเขาชงุ้มไว้,ในวันนั้นขุนปลัด, เมืองราชบุรีบอกเข้ามากราบทูลว่า, ทับพม่ายกเข้ามาทางประตูสามบานด่านเจ้าขว้าว, จับเชาด่านไปได้สองคน, จะยกกลับไปฤๅจะตั้งอยู่ประการใดมิได้ทราบ. จึ่งดำรัสสั่งพระเจ้าลูกเธอกับกองทับจีนพระยาราชาเสรฐี, ให้ยกลงไปรักษาค่ายเมืองราชบุรี, แล้วให้รื้อค่ายเปล่าลงไปตั้งริมน้ำให้สิ้น,ให้ปักขวากหนามจงมาก, แล้วให้กองเจ้าพระยาอินทรอไภย, ยกไปรักษาสระน้ำเขาซั่วพราน,ตั้งค่ายอยู่สามค่าย, เพลาค่ำวันนั้นพม่าออกมาตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอไภยครั้งหนึ่ง,แล้วแตกถอยไป. ในคืนวันนั้นพม่ายกออกตีถึงสามครั้ง, ได้รบกันเปนสามารถ. จับพม่าได้เปนสามคน,เจบป่วยลำบากไปเปนอันมาก. จึ่งบอกข้อราชการแลส่งพม่ามาถวาย. ครั้นได้ทรงทราบจึ่งให้เตรียมพลทหารจะเสดจยกไปช่วยพระยาอินทรอไภย. จึ่งพระยาเทพวรชุน, หลวงดำเกิงรณภพ, ทูลห้ามไว้รับอาษาจะยกไป. ๚ะ

๏ ครั้นรุ่งขึ้นจึ่งดำรัศให้เกนทหารกองในกองนอก, แลกองอาจาริย, กองทนายเลือก,ได้เจดร้อยสี่สิบห้าคน. ให้พระยาเทพวรชุน, หลวงดำเกิงรณภพ, ยกไปเปนกองโจร,ไปช่วยเจ้าพระยาอินทรไภย. แล้วให้ถามพม่าๆให้การว่า, นายทับซึ่งยกมาตีค่ายสระน้ำนั้น, ชื่อเนมโยแมงละนรทาถือพลพันหนึ่ง, ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณบ้านนางแก้วนั้น. นายทับชื่องุยอคุงหวุ่นถือพลสองพันเสศ, ซึ่งตั้งค่ายอยู่ณปากแพรกนั้น. นายทับชื่อตแคงมรหน่องเปนเชื้อวงษพระเจ้าอังวะ. กับหม่องจ่ายิดพลประมาณสามพันเสศ, ยังยกทับหนุนมาอีกเปนอันมาก. แลทางทวายนั้นก็ยกมาอีกทับหนึ่ง, แต่นายทับข้าพเจ้ามิได้รู้จักชื่อ. จึ่งโปรดให้พระณรงควิชิตไปตัดเอาศีศะพม่าซึ่งถูกปืนตายณค่ายเขาชั่วพราน,ไปเสียบไว้น่าค่ายเข้าประชิให้พร้อม แล้วสั่งให้ประกาศแก่นายทับนายกองค่ายล้อมทั้งปวงว่า, ให้ขังพม่าไว้กว่าจะโซจึ่งเอาเข้าฬ่อเอา. ถ้าพม่าเรรวนออกจากค่าย, อย่าให้ชิงเอาค่าย, แต่ให้รับรองไว้จงอยุด. แม้นพม่าหนีไปได้, จะเอาโทษถึงสิ้นชีวิตร. ครั้นค่ำลงเพลายามเก้าบาท, พม่าออกแหกค่ายน่าด้านหลวงมหาเทพ, พลทหารยิงปืนรดมไปก็กลับเข้าค่าย ที่ถูกปืนตายก็เปนอันมาก. อนึ่งในเพลาคืนวันนั้น, ทับพม่ายกมาแต่ปากแพรก, จะเข้าช่วยพม่าซึ่งอยู่ในค่ายล้อม. จึ่งยกเจ้าตีค่ายหนองน้ำเขาชงุ้ม,ล้อมกองรามัญเข้าไว้. จึ่งกองพระยาธิเบศบดีตีเข้าไป, กันเอากองรามัญออกมาได้, เสียขุนณรงคคนหนึ่งในที่รบ. พม่าตีวกหลังหักออกมา, ได้รบกันเปนสามารถ. กองทับพระยาธิเบศบดีต่อรบต้านทานเหลือกำลังก็แตกถอยมา. พม่าได้ค่ายหนองน้ำเขาชงุ้มก็เข้าตั้งมั่นอยู่ในค่าย. ครั้นได้ทรงทราบภอกองทับพระยานครสวรรคยกมาถึง, จึ่งดำรัศให้พระยานครสวรรคเร่งยกไปช่วยพระยาธิเบศบดี. ในคืนวันนั้นจึ่งทราบว่า, กองมอญพระยารามัญวงษออกจากที่ล้อมได้แล้ว. จึ่งเสดจกลับมาณค่ายศาลาโคกกระต่าย พระยานครสวรรค,พระยาธิเบศบดี, จึ่งปฤกษากันบอกส่งพระยารามัญวงษ, แลหลวงบำเรอภักดี, หลวงราชเสนา, ซึ่งเสียค่ายลงมาณพลับพลาโคกกระต่าย. จึ่งดำรัศให้มีตราขึ้นไปให้พระยานครสวรรค, พระยาธิเบศบดี, ถอยทับลงมาตั้งค่ายรับพม่าอยู่นอกค่ายล้อมบ้านบางแก้วไว้ไกลประมาณห้าเส้น. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพุทธเดือนสี่ขึ้นสิบเบดค่ำจึ่งพระยายมราช, พระยาสีหราชเดโช, พระยาอินทรวิชิต, บอกลงมากราบทูลว่า, ตั้งค่ายอยู่ณดงรังหนองขาว, ทับพม่ายกมาแต่ค่ายปากแพรก, เข้าตีค่ายได้ต่อรบกันเปนสามารถ, พม่าถูกปืนตายแลบาดเจบลำบากไปเปนอันมาก, จับได้เปนสองคนส่งมาถวาย. แต่บัดนี้กระสุนดินดำนั้นยังอยู่น้อย, ขอพระราชทานเพิ่มเติมขึ้นไปอีก จึ่งดำรัสสั่งให้มีตราตอบขึ้นไปว่า, ถ้ากองทับเจ้าพระยาจักรียกลงมาถึง, จึ่งจะให้ยกหนุนขึ้นไป,ให้คอยเอากระสุนดินดำที่กองทับเจ้าพระยาจักรีนั้นเถิด. ๚ะ

๏ ในขณะนั้นกรมการเมืองคลองวานบอส่งเมงเข้ามาว่า, พม่าเมืองมฤตยห้าร้อยยกเข้ามาตีบ้านทับสแก, ได้ตั้งค่ายรับไว้, แต่ข้าพเจ้ากรมการน้อยตัวนัก, ขอพระราชทานกองทับไปช่วย. จึ่งดำรัศสั่งให้มีตราตอบออกไปว่า, ราชการศึกยังติดพันกันอยู่,ให้ผู้รั้งกรมการทั้งปวงรับรองสู้รบพม่าไว้จงได้. ๚ะ

๏ ในทันใดนั้นหลวงมหาแพทย์ออกไปแต่กรุงธนบุรี, เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลพระกรุณาว่า, สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย, ทรงพระประชวรพระยอดอัคเนสันเสดจทิวงคต, แต่ณวันอังคารเดือนสี่ขึ้นหกค่ำปีมเมียฉศก, ในราษตรีเพลาสองยามแปดบาท. แลในวันนั้นได้เชลยพม่าสองคน, หนีออกมาจากค่ายล้อมบ้านนางแก้ว. ให้การแก่นายทับนายกองว่า, อดอาหารอยู่ได้เจดวันแล้ว, ได้รับพระราชทานแต่เนื้อช้างเนื้อม้า แต่น้ำในบ่อนั้นยังมีอยู่. อนึ่งปืนใหญ่ซึ่งยิงเข้าไปในค่ายนั้น, ถูกพม่าล้มตายเปนอันมาก, พม่าขุดหลุดลงอยู่. จึ่งทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานม้าสิบม้า. ให้พระยารามัญวงษคุมกองรามัญใหม่, ทั้งนายทั้งไพร่สี่ร้อยคน, สรัพด้วยเครื่องสรรพาวุธเปนกองโจร,ยกไปลาดกระเวนข้างหลังเขาชงุ้ม, คอยตีพม่าซึ่งจะยกมาช่วยพม่าในค่ายล้อมนั้น. ๚ะ

๏ ในขณะนั้นกองทับเจ้าพระยาจักรี, ซึ่งยกลงมาแต่เมืองเชียงใหม่นั้นมาถึง. เจ้าพระยาจักรีจึ่งนำขุนนางเมืองน่าน, สองนายเข้าเฝ้าณพลับพลาโคกกระต่าย, กราบถวายบังคมทูลข้อราชการ, ซึ่งให้ไปเกลี้ยกล่อมได้เมืองน่าน, มาเปนเมืองขึ้นข้าขันธสีมานั้น, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัศ, ดำรัศสรรเสริญความชอบเจ้าพระยาจักรี, แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระแสงดาบฝักทอง, ด้ามทอง, กับพระธรรมรงค์เพชรวงหนึ่ง, ให้เจ้าพระยาจักรีเปนแม่ทับ, ถืออาญาสิทธิ์ยกไปตั้งค่ายมั่นอยู่เหนือพระมหาธาตุวัดเขาพระ, แลให้ตั้งค่ายรายกันขึ้นไปถึงหลังค่ายล้อมบ้านนางแก้ว, อย่าให้พม่าออกวกหลังได้. แล้วดำรัศให้หลวงบำเรอภักดิ, คุมพลทหารกองน้อยสี่ร้อยจัดเปนสองกอง, ไปคอยด้อมมองจับพม่า, ซึ่งออกมาตักน้ำณะหนองเขาชงุ้มจงได้. ๚ะ

๏ ครั้นค่ำเพลาห้าทุ่มเสศพม่าในค่ายล้อมยกออกมาแหกค่าย, น่าที่พระยาพิพิธโกษา, พระยาเพชรบุรีพลทับไทยรดมปืนใหญ่น้อยยิงออกไปจากค่าย, ถูกพม่าเจ็บป่วยล้มตายมาก, พม่าจะแหกออกมิได้ก็ถอยกลับเข้าค่าย. ครั้นเพลาสามยามพม่าออกแหกค่ายน่าที่หลวงราชินิกุล, หลวงราชินิกุลให้ระดมยิงปืนใหญ่น้อยออกไป, ถูกพม่าเจ็บลำบากล้มตายเปนอันมาก, จะแหกออกมิได้ก็ถอยกลับเข้าค่าย. แต่เพลานั้นเสียนายสุจินดาต้องปืนพม่าตายคนหนึ่ง. ๚ะ

๏ ครั้นณวันพฤหัศบดีเดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ, เพลาบ่ายสามโมง, สมเดจพระพุทธเจ้าอยู่หัว, เสดจทรงม้าพระที่นั่งดำเนินทับไปอยุดอยู่ณะหลังค่ายหลวงมหาเทพ. จึ่งดำรัศให้จักกายเทวรามัญร้องเข้าไปเปนภาษาพม่าว่า, ให้พม่าทั้งปวงออกมาหาโดยดีเถิด, ทรงพระกรุณาโปรดปล่อยให้ไปสิ้น. พม่านายทับในค่ายร้องตอบออกมาว่าท่านล้อมไว้ครั้งนี้, ซึ่งจะหนีไปให้รอดจากความตายหามิได้แล้ว. แต่เอนดูไพร่พลทั้งปวงมากนักจะพลอยตายเสียด้วย, ถึงตัวเราผู้เปนนายทับจะตายก็ ตามกรรมเถิด, แต่จะขอภบตละเกล็บสักหน่อยหนึ่ง. จึ่งดำรัศให้ตละเกล็บซึ่งเปนพระยาพระราม, ขี่ม้ากั้นร่มรย้าออกไปเจรจาด้วยพม่า ๆเขียนหนังสือใส่ใบตาลขดเปนภาษาภุกามทิ้งออกมาแต่ในค่าย, แปลออกเปนคำไทยได้ความว่า, พระเจ้าช้างเผือกณะกรุงศรีอยุทธยามีบุญบารมีมากนัก, พระราชอาณาจักรผ่านแผ่ไปในชมภูทวีปทั้งปวง. ฝ่ายพระเจ้าปราสาททองณกรุงรัตนบุระอังวะ, ก็มีบุญบารมีมากเปนมหัศจรรย. แลพระมหากระษัตริยทั้งสองฝ่ายเปนเวรแก่กัน, ใช้ให้ข้าพเจ้านายทับนายกองทั้งปวง, มากระทำสงครามกับท่านอัคมหาเสนาบดีกรุงศรีอยุทธยาในครานี้. แลข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่านๆล้อมไว้, จะพากันออกไปก็มิได้, จะหนีไปก็ขัดสนนัก. อันจะถึงแก่ความตายบัดนี้,ใช่แต่ตัวข้าพเจ้านายทับนายกองเท่านั้นหามิได้, จะตายสิ้นทั้งไพร่พลเปนอักมาก. แลการสงครามแห่งพระมหากระษัตริยทั้งสองฝ่าย, จักสำเร็จเสร็จสุดสิ้นแต่ครั้งนี้ก็หามิได้. ฝ่ายท่านอัคมหาเสนากรุงไทย, ก็ถือน้ำพิพัทสัตยา, แลพระราชกำหนดกฎหมายพิไชยสงคราม. ฝ่ายข้าพเจ้าก็เหมือนกัน, ดุจถือดาบอาวุธไม้ค้อนไว้ทั้งสองมือ. อันสมเดจพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาไว้ว่า, ซึ่งเกิดมาเปนมนุษแต่ละคนนี้ยากนัก, ไฉนข้าพเจ้าทั้งปวงจะได้รอดชีวิตร, ถือน้ำพิพัทสัตยาเปนข้าพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้น, ก็สุดแต่ปัญญาท่านอัคมหาเสนาบดีนั้นเถิด. ๚ะ

๏ จึ่งดำรัศให้เขียนหนังสือทิ้งตอบเข้าไปในค่ายล เปนอักษรไทยฉบับหนึ่ง, อักษรรามัญฉะบับหนึ่ง, เปนใจความว่า, ถ้าท่านทั้งปวงออกมาถวายบังคมโดยดี,เราจะช่วยทูลขอพระราชทานชีวิตรไว้ทั้งนายทั้งไพร่. ถ้ามิออกมาเราจะฆ่าเสียให้สิ้น. ๚ะ

๏ ในวันนั้นเจ้าพระยาสุรสีหยกกองทับเมืองพระพิศณุโลกยมาถึง, แลทับเมืองเหนือทั้งปวงมาถึงเนื่องๆกัน, จึ่งเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม. ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานร่มแพรแดงมีรย้า, ด้ามปิดทองแก่เจ้าพระยาสุรสีหแล้ว, ให้ยกขึ้นไปดูการณค่ายล้อมบ้านนางแก้ว. ๚ะ

๏ ขณะนั้นพระยาเพชรบุรี, มิเปนใจในราชการศึก, คิดย่อท้อต่อการสงคราม, เจรจากับบ่าวว่า, ถ้าพม่ารบแหกค่ายออกได้, รับรองมิอยุด, เราจะภากันหนีข้ามเขากลับไปเมือง. แลบ่าวนั้นเปนโจทมาฟ้องแก่ข้าหลวงให้กราบทูล. จึ่งดำรัศให้เอาตัวพระยาเพชรบุรีมาสอบกับโจทก็รับเปนสัจ. จึ่งตรัสสั่งให้มัดมือไพล่หลัง, แล้วเอาไปทเวนรอบทับ, แล้วให้ประหารชีวิตรตัดศีศะไปเสียบประจานไว้น่าค่าย. อย่าให้ผู้ใดดูเยี่ยงอย่าง. ๚ะ

๏ จึ่งพระยารามัญใหม่กับหมื่นศรีสหเทพมากราบทูลว่า, ขึ้นไปเจรจากับพม่าว่า, สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจยกพยุหโยธาทับขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว. โปสุพลา,โปมะยุง่วนหนีไปได้, โปสุพลาจะฆ่าโปมยุง่วนเสีย. โปมะยุง่วนหนีเข้ามาสวามิภักดีเข้าเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้. แม้นพม่าตัวนายจะออกมาถวายบังคมขอสวามิภักดี, เราจะพิททูลให้รอดชีวิตร. พม่าจึ่งว่าตละเกล็บ, พึ่งเข้ามาเปนข้าเจ้ากรุงศรีอยุทธยาใหม่, จะไว้ใจมิได้. จะใคร่ภบท่านนายทับนายกองผู้ใหญ่, จึ่งดำรัศให้กลับไปว่าแก่พม่าว่า, ให้แต่งพม่าตัวนายออกมาเถิด, เราจะภาไปให้ภบกับแม่ทับผู้ใหญ่. งุยอคุงหวุ่นจึ่งให้พม่านายกองคนหนึ่งกับไพร่ห้าคน, ออกมาหาตละเกล็บ, ซึ่งเปนพระยาพระราม. จึ่งดำรัศให้พระยาพระราม, ภาตัวพม่านายไพร่ไปให้ภบ, กับพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์, กับเจ้าพระยาจักรี. จึ่งให้พระยาพระรามบอกแก่พม่าว่า, ถ้านายมึงออกมาถวายบังคม, กูจะช่วยให้รอดจากความตาย. ถ้ามิออกมาจะฆ่าเสียทั้งสิ้น. พม่าตัวนายจึ่งว่าขอให้ยับยั้งอยู่แต่ในเพลาพรุ่งนี้สามโมงเช้าจะขอปฤกษาให้พร้อมกันก่อน, จึ่งให้ปล่อยพม่านายไพร่กลับเข้าไปค่าย. ๚ะ

๏ ครั้น ณวันเสาร์เดือนสี่แรมสองค่ำ, เจ้าพระยาสุรสีหก็กราบถวายบังคมลายกกองทับไปตั้งค่ายล้อมพม่าณะค่ายเขาชงุ้ม, จึ่งดำรัศให้กองทับหัวเมืองทั้งปวง, แลข้าหลวงในกรุงยกไปตั้งล้อมอยู่หลายค่าย. ๚ะ

๏ ในวันนั้นพระกุยบุรี, พระคลองวานบอกเข้ามาให้กราบทูลว่า, พม่าประมาณสี่ร้อยเสศยกมาตีเมืองบางสพาน,ได้รบกันเปนสามารถ. พม่าแหกค่ายหนีออกไปแล้วเผาเมืองบางสพานเสีย,ยกไปทางเมืองประทิว. จึ่งทรงร่างท้องตราให้ไปถึงพระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจัน, แลพระยาธิเบศบดีครั้งกรุงเก่า, ซึ่งโปรดตั้งเปนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช, ผู้อยู่รักษากรุงธนบุรีนั้น, ให้มีหนังสือตอบบอกไปว่า, ให้พระกุยบุรี, พระคลองวานรักษาด่านทางไว้. ให้ใส่ยาเบื่อหนองน้ำบ่อน้ำที่ทางฆ่าศึกจะมานั้นอย่าให้กินน้ำได้. แล้วให้เอาพม่าเมืองเชียงใหม่, ซึ่งจำไว้ณคุกสามคน, ทวายคนหนึ่ง, กับพม่าซึ่งปล้นค่ายเจ้าพระยาอินทรอไภย, ณเขาชั่วพรานคนหนึ่ง. ให้ลงพระราชอาชญาตัดมือตัดเท้าเสีย. แล้วให้เขียนหนังสือผูกแขวนฅอไปใจความว่า, บอกแก่เจ้านายมันให้เร่งยกมาอีกเถิด. แล้วเสดจไปทอดพระเนตรค่ายเจ้าพระยาอินทรอไภยแลพระโหราธิบดี, ซึ่งตั้งรักษาสระน้ำอยู่ณเขาชั่วพรานนั้น. จึ่งพระยารามัญวงษ,แลหลวงบำเรอภักดิ์จับพม่าได้สองคนนำมาถวาย. ดำรัศให้ถามพม่า,ๆให้การว่า, มาแต่ค่ายปากแพรกมาส่งลำเลียง. แลพม่าซึ่งตั้งค่ายอยู่ณปากแพรกนั้นคนสามพันเสศ ซึ่งยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ณเขาชงุ้มนั้น,สี่กองคนมากหลายพัน. จึ่งดำรัศให้หลวงภักดีสงครามทหารกองนอก, อยู่ในกองพระยาเทพวรชุน, ซึ่งยกมาช่วยเจ้าพระยาอินทรอไภยนั้น. ให้คุมพลทหารห้าร้อยยกไปเปนกองโจร, ให้ถมห้วยหนองบึงบ่อที่มีน้ำตามทางมาแต่ปากแพรกเสียให้สิ้น, อย่าให้เปนกำลังแก่ฆ่าศึกได้, ถ้าถมไม่ได้ก็ให้เอาเปลือกไม้เบื่อเมา, แลอาสพใส่ลงอย่าให้กินน้ำได้, แล้วให้ออกก้าวสกัดตีตัดลำเลียงพม่าอย่าให้ส่งกันถึง. ๚ะ

๏ ครั้นค่ำลงประมาณสองยาม, พม่าในค่ายเขาชงุ้มทำค่ายวิหลั่นยกออกปล้นค่ายเจ้าพระยาสุรสีห. แลทหารในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกไปต้องพม่าล้มตายป่วยลำบากเปนอันมาก พลพม่ารวนมาถึงค่ายจมื่นศรีสรรักษ, แล้วถอยกลับเข้าค่าย. ครั้นเพลาสามยามเสศพม่ายกออกเราะค่ายพระยานครสวรรคจนรุ่ง, พลทหารในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกไปต้องพลพม่าตายแลลำบากก็มาก. ครั้นเพลาเช้าณวันพุทธเดือนสี่แรมหกค่ำ, จึ่งเสดจดำเนินพยุหยาตราทับขึ้นไปช่วย, ดำรัศให้กองอาจาริย,แลฝีพายพนายเลือกเข้ารบ, ถ้าเหนหนักที่ไหนให้เข้าช่วยที่นั้น. ครั้นเพลาสองโมงพม่าถอยกลับเข้าค่าย. ทรงเหนว่าข้าศึกถอยแล้ว,ก็เสดจกลับมาณะพลับพลาค่ายโคกกระต่าย. ในวันนั้นเกิดพยุหใหญ่มหาเมฆตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศมืดไปทั้งอากาศ. จึ่งทรงตั้งสัตยาธิฐาน, ก็บันดานให้เมฆเกลื่อนไปไม่ตกที่ค่ายพม่าไปตกเสียที่อื่น. ๚ะ

๏ ครั้นณวันศุกรเดือนสี่แรมแปดค่ำ, จึ่งงุยอคุงหวุ่นนายทับค่ายบ้านนางแก้ว, ให้พม่าตัวนายเจดคนออกมาเจรจาความเมือง, ด้วยพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ,แลเจ้าพระยาจักรีว่า, ถ้าท่านแม่ทับกรุณาช่วยทูลขอชีวิตรไว้ได้, นายทับนายกองทั้งปวงก็จะชวนกันออกมาถวายบังคมทั้งสิ้นด้วยกัน. พระเจ้าหลานเธอ,แลเจ้าพระยาจักรี, จึ่งสั่งให้ล่ามว่าแก่พม่าว่า, เราจะทูลขอให้รอดชีวิตรจงภากันออกมาเถิด. จึ่งให้ปล่อยกลับเข้าไปสองคนเอาตัวไว้ห้าคน, แล้วว่าครั้งก่อนลวงว่าจะออกมา, ให้เรากราบทูลพระเจ้าอยู่หัวเปนเท็จไปครั้งหนึ่งแล้ว, ถ้าครั้งนี้เปนเท็จอีกเราช่วยไม่ได้. ครั้นเพลาเที่ยงในวันนั้น, กองทับพระยานครราชสีมา, พลพันเก้าร้อยยกลงมาถึง. พระยานครราชสีมาจึ่งเข้าเฝ้ากราบถวายบังคม, ก็ทรงพระพิโรธดำรัศคาดโทษว่า, มาช้ากว่าหัวเมืองทั้งปวง. พระยานครราชสีมากราบทูลว่า, ข้าพระพุทธเจ้าช้าอยู่ด้วยเลขหัวเมืองขึ้น, เกนเข้ากองทับครั้งไปตีเมืองเชียงใหม่, หนีตาทับกลับมาบ้าน, ข้าพระพุทธเจ้าให้เที่ยวจับตัวกับทั้งบุตรภรรยาเอามาด้วย, เปนคนชายหญิงเก้าสิบหกคนด้วยกัน. จึ่งดำรัศว่าเลขหนีตาทับจะเอาไว้มิได้, ตรัสสั่งให้ตัดศีศะเสียให้สิ้นทั้งบุตรภรรยา, ที่ริมค่ายทางนอกโคกกระต่าย. ๚ะ

๏ ในวันนั้นงุยอคุงหวุ่นนายทับ, ให้อุตมสิงหจอจัวปลัดทับ, กับพม่าตัวนายหมวดนายกองสิบสามคน, นำอาวุธต่างๆมัดเอาออกมาเฝ้าพระเจ้าหลานเธอรามลักษณ์, ๆ จึ่งให้พระยาพิพัฒโกษา,แลหลวงมหาเทพ, มัดอุตมสิงหจอจัว,แลพม่าตัวนายสิบสามคนนั้น, แล้วนำมาถวายณพลับพลาค่ายโคกกระต่าย. จึ่งดำรัศให้ถามพม่าสิบสี่คน,ๆให้การว่า, ข้าพระพุทธเจ้านายทับนายกองทั้งปวงปฤกษาพร้อมกันแล้ว, จึ่งนำเอาเครื่องสาตราวุธออกมาถวายบังคม. ถ้าทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานชีวิตรแล้ว, จะขอถือน้ำพระพิพัทสัจาเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท, ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป. จึ่งดำรัศว่ากูจะให้จำไว้ก่อน, กว่าจะได้ตัวนายมาพร้อมกัน ถ้าเองสวามีภักดิโดยจริงแล้ว, แม้นสำเรจราชการศึกได้เมืองอังวะจะให้รั้งเมืองอังวะ. แล้วดำรัศให้พระยาพระราม,กับข้าหลวงมีชื่อคุมตัวอุตมสิงหจอจัวกับพม่าสิบสามคน, กลับไปณค่ายล้อม, ให้ร้องเรียกงุยอคุงหวุ่น, แลพม่านายทับนายกองทั้งปวงให้ออกมา. พม่าตัวนายซึ่งอยู่ในค่ายร้องตอบออกมาว่า, จะปฤกษากันก่อน. พวกข้าหลวงก็ภาพม่าสิบสี่คนกลับมายังค่ายหลวง. แลอุตมสิงหจอจัวออกมาเจรจาด้วยนายทับนายกองไทยครั้งนั้น, จะได้ไหว้ผู้ใดหามิได้. ถวายบังคมแต่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว จึ่งดำรัศสรรเสริญว่า มิเสียทีที่เปนขุนนางนายทหาร, น้ำใจองอาจรักษายศมิได้เข็ดขามย่อธ้อ, ควรเปนนายทหารเอก. แล้วดำรัศให้เอาพม่าสิบสี่คน, ไปจำไว้ที่ตรางในค่ายหลวง ๚ะ

๏ จบเล่ม ๓๑ สมุดไทย. ๚ะ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ