๕
๏ ศักราช ๙๑๑ ปีรกาเอกศก, ก็เสด็จยาตราทัพลงมาพระนครศรีอยุทธยา, แลทัพพระมหาอุปราชากองน่า, ตั้งค่ายตำบลพะเนียด. ค่ายพระเจ้าแปรปีกซ้ายตั้งตำบลทุ่งวัดโพธารามไปคลองเกาะแก้ว. ทัพพระเจ้าอังวะปีกขวาตั้งค่ายตำบลวัดพุทไธสวรรยมาคลองตะเคียน. ทัพพระยาตองอู,ทัพพระยาจิตรตอง, ทัพพระยาละเคิ่งเกียกกายตั้งค่ายแต่วัดท่าการ้องลงไปวัดไชยวัฒนาราม.ทัพพระยาพสิม, ทัพพระยาเสรียงกองน่าทัพหลวงตั้งค่ายตำบลลุมพลี. ทัพหลวงตั้งตำบลวัดโพเผือกทุ่งขนอนปากคู. แลทัพสมเดจ์พระมหาธรรมราชาเจ้าก็ตั้งตำบลมขามหย่องหลังค่ายหลวง. แลทัพซึ่งตั้งรอบพระนครนั้น บันดาแม่น้ำห้วยคลองทั้งปวง, ก็ทำตะพานเรือกเดินม้าเดินพลตลอดถึงกันสิ้น, แต่ในวันเดียวนั้นเสรจ์.ฝ่ายข้าหลวงชาวพระนครผู้ตรวจการบลน่าที่เชิงเหินกำแพง, แลดูข้าศึกตั้งค่ายทำสะพานดั่งนั้น, ก็เอาคดีโดยได้เหนกราบทูลว่าเหนศึกครั้งนี้มากกว่าแต่ก่อนสามเท่าสี่เท่า, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือกได้แจ้งดั่งนั้น, เหนเหลือกำลังที่จะตั้งทัพออกตีข้าศึก, ก็กำชับตรวจตรารักษาน่าที่ไว้เปนสามารถ. ๚ะ
๏ สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, เสด็จถึงกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาได้เจ็ดวันแล้ว, ไม่เหนทัพผู้ใดออกมาต่อยุทธ. จึ่งแต่งพระราชสาสน์ในลักษณว่า, พระราชสาสน์สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ผู้เปนอิศราธิปไตยถวัลย์ราชมไหยสวรรยในรามัญประเทศ, ทรงพระราชกฤษฎาเดชานุภาพผ่านแผ่อาณาจักรขจรทั่วทิศานุทิศดั่งภาณุมาศ, เมื่อมัชฌันติกะสมัยมาถึงสมเดจ์พระเชฐาเรา, ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพหวาราวดีศรีอยุทธยา, ครั้งหนึ่งราชบุตรทั้งสองสมเดจ์พระเชฐายกพลโยธาทหารไปตัดท้ายพล, น้องท่านจับได้ก็มิได้กระทำชีวิตรภอันตราย, เพื่อจะเผื่อแผ่ผูกราชสัมพันธมิตรไมตรี ร่วมสามคีรศธรรมเปนสุวรรณปัถพีเดียวกันอันสนิท, มิได้ร้าวฉานจนพระเชฐาธิราชให้มีพระราชสาสน์ขึ้นมาขอ. ฝ่ายน้องท่านก็ส่งราชบุตรมายังพระเชฐา, แล้วยกกลับไปพระนครหงษาวดีรู้กฤติศรับท์ไปว่า, พระเชฐาธิราชมีกฤษฎาภินิหารมาก, กอปรด้วยเสวตรกุญชรชาติศุภลักษณะตระกูลพลายถึงเจ็ดช้าง, จึ่งส่งทูตานุทูตจำทูลลักษณราชสาสน์สุนทรภาพสวัสดิ, มาขอเสวตรกุญชรสองช้างไปไว้เปนศรีพระนครหงษาวดี, พระเชฐามิได้อาไลยในราชสำพันธมิตรไมตรี, กลับกล่าวกระทบท้าธรรมเนียมมาว่า, พระนครใดมีนางรูปงาม, แลช้างเผือกช้างเนียมเปนที่จะเกิดราชดัศกร. น้องท่านได้แจ้งจำเปนจึ่งต้องยกพยุหโยธาหาร, มาตามลักษณะพระราชสาสน์, บัดนี้ก็มาเหยียบชานเมืองพระนครถึงเจ็ดวันแล้ว,ไฉนจึ่งมิได้ออกมารณรงค์, โดยขัติยาภิรมยสำเริงราชหฤไทยบ้างเลย, ให้เร่งยกพยุหโยธาออกมากระทำสงครามกันดูเล่นเปนขวันตา, ฤๅไม่รณรงค์แล้ว, ก็เชิญเสด็จออกมาสนทนากัน, ถ้ามิออกมาก็อย่าให้พระเชฐาเราน้อยพระไทยเลย, น้องท่านจะซิงเอาเสวตรฉัตรให้จงได้. ครั้นแต่งเสรจ์แล้วให้ทูตถือเข้าไป. ๚ะ
๏ สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, ครั้นได้แจ้งในลักษณพระราชสาสน์, จึ่งทรงพระดำริหว่า, ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง, เหนเหลือมือเหลือกำลังทหารจะกู้พระนครไว้ได้, ถ้าเราจะมิออกไป, สมณชีพราหมณอาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าขอบขันธเสมา, จะถึงแก่พินาศฉิบหายสิ้น. ทั้งพระสาศนาก็จะเศร้าหมอง จำเราจะออกไป, มาทว่าสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีมิคงอยู่ในสัตยานุสัจดั่งราชสาสน์เข้ามานั้นก็ตามเถิด, แต่เราจะรักษาสัตยานุสัจให้มั่น, ทรงพระราชดำริหเท่านั้นแล้ว, ก็ให้แต่งลักษณราชสาสน์กำหนดที่จะเสด็จ, ให้ทูตานุทูตถือออกไปถวายพระเจ้าหงษาวดี, แล้วตรัสให้เจ้าพนักงานออกไปปลูกราชสันท์คาร ณตำบลวัดเมรุราชิการาม,กับวัดหัสดาวาษต่อกัน, มีราชบัลลังก์อาศน์สองที่นั่งสูงเสมอกัน, หว่างพระที่นั่งห่างกันสี่ศอก, แล้วให้แต่งรัตนัตยาอาศน์, สูงกว่าราชาอาศน์อีกที่นั่งหนึ่ง, ให้เชิญพระศรีรัตนไตรยออกไปไว้เปนประธาน. ครั้นรุ่งขึ้นสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ, พร้อมด้วยมุขมนตรีกวีชาติราชครูโหราโยธาทหารข้ามไปเสด็จขึ้นบนพระที่นั่ง ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดี พร้อมด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวงเสด็จมา. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าร้องอัญเชิญเสด็จ. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งแล้วตรัสว่า, สมเดจ์พระเจ้าพี่เราให้อาราธนาพระพุทธปัฏิมากรเจ้า, พระธรรมเจ้า, พระสงฆ์เจ้า, มาเปนประธานก็ดีอยู่แล้ว, ขอจงเปนศักขีทิพพยานเถิด, อันแผ่นดินกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานี้ยกถวายไว้แก่สมเดจ์พระเจ้าพี่เรา, แต่ทว่าน้องท่านให้ฃอช้างเผือกสองข้างพระเจ้าพี่มิได้ให้, บัดนี้น้องท่านต้องยกพยุหโยธาทหารมาโดยวิถีทุเรศกันดาร, จะขอช้างเผือกอีกสองช้างเปนสี่ช้าง, พระเจ้าพี่จะว่าประการใด. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ตรัสบัญชาให้. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, จะฃอพระราเมศวรไปเลี้ยงเปนราชโอรส, ถ้าพระเจ้าพี่เราให้เราแล้วจะยกทัพกลับไป. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าตรัสตอบว่า, ขอไว้เถิดจะได้สืบประยูรวงษ. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสตอบว่า, พระมหินทราธิราชผู้น้องนั้น, ก็จะสืบวงษ์ได้อยู่, อันจะเอาไว้ด้วยกัน, ถ้าพระเจ้าพี่เราสวรรคตแล้ว, ดีร้ายน้องจะหม่นหมองมีความพิโรธกัน, สมณพราหมณมุขมนตรีอาณาประชาราษฎร์จะได้ความเดือดร้อน. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า, ขัดมิได้ก็บัญชาตาม. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, ขอพระยาจักรี, พระสุนทรสงครามไปด้วยพระราชโอรส. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยอมให้แล้วตรัสว่า, อาณาประชาราษฎรหัวเมือง, แลขอบขันธเสมา, ซึ่งกองทัพจับไว้นั้นขอไว้สำหรับพระนครเถิด. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็บัญชาให้. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ตรัสสั่งสมเดจ์ พระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร, แลพระยาจักรี, พระสุนทรสงคราม, กับช้างพลายเผือกสี่ช้าง, คือ พระคเชนทโรดม, พระบรมไกรษร, พระรัตนากาษ, พระแก้วทรงบาท, ให้สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, แล้วเสด็จเข้าพระราชวัง. ๚ะ
๏ สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จไปพลับพลา, สั่งให้ประกาษแก่นายทัพนายกองว่า, อาณาประชาราษฎรพระนครศรีอยุทธยานั้นให้ปล่อยเสียจงสิ้น, แล้วให้สมเดจ์พระราเมศวร, พระยาจักรี, พระสุนทรสงคราม, เข้าไปรับบุตรภรรยา, ทั้งสามก็เข้ารับบุตรภรรยา, จึ่งถวายบังคมลาพระเจ้าแผ่นดินออกไปตามพระราชกำหนด. ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีมีพระราชบริหารดำรัสสั่งให้กองทัพน่าล่วงไปก่อนได้เจ็ดวันแล้ว, ก็เสด็จยกทัพหลวงไปทางเมืองกำแพงเพชร, สมเดจ์พระมหาธรรมราชาเจ้า, ก็ตามไปส่งเสด็จสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีถึงเมืองกำแพงเพชร, แล้วก็กลับมาเมืองพิศณุโลกย. ๚ะ
๏ ขณะนั้นพระยาตานีศรีสุลต่าน, ยกทัพเรือมาสองร้อยลำเข้ามาช่วยราชการสงคราม, ถึงทอดอยู่น่าวัดกุดบางกะจะ, รุ่งขึ้นยกมาทอดอยู่ประตูไชย, พระยาตานีศรีสุลต่านได้ทีกลับเปนขบถ, ก็ยกเข้าในพระราชวัง. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าไม่ทันรู้, เสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสักกลาดหนีไปเกาะมหาพราม, แลเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงพร้อมกันเข้าในพระราชวัง, สะพัดไล่ชาวตานีแตกฉานลงเรือรุดหนีไป. ฝ่ายมุขมนตรีทั้งปวง, ก็ออกไปเชิญเสด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก, เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศมหาสถาน. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๙๑๒ ปีจอโทศก, พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบว่า, พระราชบุตรีพระสูริโยไทย, ซึ่งขาดฅอช้างแก่กรุงหงษาวดีนั้นจำเริญไวยวัฒณาขึ้นแล้ว, พระองค์ก็แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสน์, คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาถวาย,แก่สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก. ในลักษณพระราชสาสน์นั้นว่า, ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต, ขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเดจ์พระบิตุราชาธิราช,ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธาณี, บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถานมโหฬารอันยิ่ง, เปนมิ่งมกุฎด้วยสัตวเสวตรกุญชรชาติตัวประเสริฐศรีเมือง. ข้าพระองค์ยังไม่มีเอกอรรคราชกัลยาณี, ที่จะสืบศรีสุริยวงษในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้, ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดา,อันทรงพระนามพระเทพกระษัตรี, ไปเปนปิ่นสุรางคนิกรกัลยาในมหานคเรศปาจิณทิศ,เปนทางราชสำพันธมิตรไมตรี สุวรรณปัตพีเดียวกันชั่วกัลปาวะสาน. ๚ะ
๏ สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าช้างเผือก,ทราบในลักษณพระราชสาสน์ก็ให้ประชุมท้าวพระยามุขมนตรีปฤกษา ๆ ว่า, กรุงพระมหานครศรีอยุทธยากับกรุงหงษาวดี, ก็เปนอริชอกช้ำดุจวัณโรคอันมีในพระทรวงจะรักษาเปนอันยาก, แลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ก็เปนกรุงกระษัตริย์อันใหญ่, ได้มีพระราชสาสนนอบน้อมมาแล้ว,ควรที่จะทรงพระกรุณาประทานให้. จะได้เปนทางพระราชสำพันธมิตรไมตรี, เกลือกมีราชการงานพระราชสงครามภายน่า, จะได้เปนมหากำลังยุทธนาการ. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัวก็เหนด้วย. ดำรัสให้ตอบพระราชสาสนขึ้นไปว่า, ซึ่งสมเดจ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, มีพระไทยจะร่วมพระราชโลหิตเปนมหาสำพันธไมตรีนั้น, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, อนุญาตแล้วให้แต่งมารับเถิด. ๚ะ
๏ ฝ่ายทูตานุทูตรับพระราชสาสน์, กราบถวายบังคมลากลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต, ถวายพระราชสาสน์ทูลประพฤติเหตุทุกประการ. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบดั่งนั้นดีพระไทยนัก, ก็แต่งทูตานุทูตกับไพร่ห้าร้อย, แลท้าวพระยานางเถ้านางแก่ลงมารับ. ขณะเมื่อทูตลงมาถึงนั้น, ภอสมเดจ์พระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรีทรงพระประชวรหนัก, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก. มิรู้ที่จะผ่อนผันฉันใดเลย, จึ่งทรงพระราชจินตนาการว่า, แม้นจะมีราชสาสน์บอกขึ้นไปโดยสัจไซ้, ไหนพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจะเหนจริง, ก็จะว่าเราเจรจาเปนสอง, จะหม่นหมองคลองพระราชไมตรีไป, ได้ออกวาจาแล้วจะให้เสียคำมิบังควร. พระองค์ก็ยกพระแก้วฟ้าพระราชธิดา, ให้แทนองค์พระเทพกระษัตรี, พระราชทานเครื่องราชูประโภคสำหรับอัคมเหษีกรุงกระษัตรีย, พร้อมด้วยสนมสาวใช้ทาษกรรมกรห้าร้อยหญิงห้าร้อยไปด้วย. ทูตกราบถวายบังคมลา, เชิญเสด็จพระแก้วฟ้าราชบุตรขึ้นไปถวาย. ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า, ใช่องค์พระเทพกระษัตรีก็เสียพระไทยนักจึ่งตรัสว่า, เดิมเราจำนงฃอพระเทพกระษัตรี, ซึ่งเปนราชธิดาพระสุริโยไทย, อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับฅอช้าง,เปนตระกูลวงษกระษัตริย์อันประเสริฐ, ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสนพระยานครพระทิพมนตรี, เปนทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุทธยา, แลมีพระราชสาสน์เครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกด้วย. ในลักษณะพระราชสาสน์ว่า, เดิมพระองค์ประสาทพระเทพกระษัตรีให้, กฤติศรับท์นี้รู้ทั่วไปในนิคมชนบทขอบขันธเสมากรุงศรีสัตนาคนหุตสิ้นแล้ว, บัดนี้พระองค์ส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรี, เปลี่ยนให้แทนนั้นถึงมาทว่า, พระแก้วฟ้าราชบุตรี จะมีศรีสรรพลักษณโสภาคยยิ่งกว่าพระเทพกระษัตรีร้อยเท่าพันทวีก็ดี, ยังไม่ล้างกฤติศรับท์พระเทพกระษัตรีเสียได้, ก็เปนที่อัปยศทั่วชั่วกัลปาวสาน, ข้าพระองค์ขอส่งพระแก้วฟ้าราชธิดาคืน, จงพระราชทานพระเทพกระษัตรีแก่ข้าพระองค์, ดุจมีพระราชสาสน์อนุญาตมาแต่ก่อน. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, แจ้งในลักษณะพระราชสาสน์,แลส่งพระแก้วฟ้าคืนมาดั่งนั้น, ก็ละอายพระไทยนัก, พอพระเทพกระษัตรีหายประชวรพระโรค, จึ่งตบแต่งการที่จะส่งพระราชธิดา, แลเถ้าแก่กำนัลสาวใช้ทาสชายห้าร้อยหญิงห้าร้อย. ๚ะ
๏ ครั้นถึงเดือนห้าศักราช ๙๑๓ ปีกุนตรีย์ศก, จึ่งมีพระราชโองการดำรัสให้พระยาแมนคุมไพร่พันหนึ่งไปส่ง. พระยาแมนกับทูตานุทูตก็เชิญเสด็จพระเทพกระษัตรี, ขึ้นทรงศรีวิกากาญจน์ยานุมาศ, ไปโดยสถลมารคสมอสอ. ฝ่ายพระมหาธรรมราชาแจ้งว่า, พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, จะส่งพระเทพกระษัตรีขึ้นไปศรีสัตนาคนหุต, ก็ให้ม้าเร็วถือหนังสือไปถวายสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี. ๆ ทราบก็แต่งให้พระตบะเปนนายกอง, ฟ้าเสือต่ามมังกลอกหม่อคุมพลหมื่นหนึ่ง,รุดมาตั้งซุ่มคอยอยู่ตำบลมเริ่งนอกด่านเพชรบูร, ออกสกัดตีชาวกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้นแตกฉาน, ได้พระเทพกระษัตรีไปถวายสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี. ฝ่ายพระยาลาวซึ่งมารับพระเทพกระษัตรี, ก็เอาคดีทั้งปวงไปกราบทูลพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทุกประการ. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งประพฤติเหตุก็ทรงพระพิโรธว่า, ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีแต่งรี้พลมาสกัดรบชิงเอาพระเทพกระษัตรีไปทั้งนี้,ก็เพราะเมืองพระพิศณุโลกยเปนต้น, จำจะแก้แค้นให้ถึงขนาด. พระองค์ก็ให้บำรุงช้างม้ารี้พลจะยกไปเอาเมืองพระพิศณุโลกย์. ฝ่ายสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกแจ้งก็ตรัสห้าม. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็งดโดยพระราชโองการมิได้ยกไป. ๚ะ
----------------------------
๏ แผ่นดินพระมหินทราธิราช ๚ะ
๏ ครั้นลุศักราช ๙๑๔ ปีชวดจัตวาศกเดือนสิบสอง, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, ก็ยกพระเจ้าลูกเธอพระมหินทราธิราช, เสด็จขึ้นผ่านพิภพไอสูริย์ววรรยาธิปัติถวัลยราชประเพณีย์, ครอบครองแผ่นดินกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกเสด็จไปอยู่วังหลัง, ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๕๙ พรรษา. ส่วนสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ, พระชนม์ได้ ๒๕ พรรษา สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก,เวนราชสมบัติแล้วถึงเดือนสามก็เสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรี,ตรัสให้ปฏิสังขณอารามพระศรีรัตนมหาธาตุให้บริบูรณ, แลแต่งผะขาวนางชีสองร้อยกับข้าพระ, ให้อยู่รักษาพระมหาธาตุ. แล้วก็เสด็จลงมายังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา. ครั้งนั้นเมืองเหนือทั้งปวงเปนสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า. อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด, สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องกระทำตามทุกประการ, ก็ขุ่นเคืองพระราชหฤไทย,จึ่งเอาความนั้นกราบทูลสมเดจ์พระราชบิดา, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกก็น้อยพระไทย. ขณะนั้นพระยารามออกจากที่กำแพงเพชร, เอามาเปนพระยาจันทบูรี. สมเดจ์พระมหินทราธิราชก็ตรัสกิจราชการทั้งปวงด้วยพระยารามเปนความลับ. แล้วก็ส่งข่าวไปกรุงสัตนาคนหุต,ให้ยกมาเอาเมืองพระพิศณุโลกย. จึ่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ก็ให้บำรุงช้างม้ารี้พลสรัพจะยกมาเอาเมืองพระพิศณุโลกย. พระมหาธรรมราชาตรัสว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจะยกทัพมามิได้แจ้งในกล ก็ส่งข่าวมาทูลแก่สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน ๆ ก็ให้พระยาศรีราชเดโช, พระยาท้ายน้ำขึ้นไปช่วย. แต่สั่งเปนความลับไปว่า, ถ้าทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตล้อมเมืองพิศณุโลกย์เมื่อใด, ก็ให้กุมเอาพระมหาธรรมราชาจงได้, เสร็จราชการแล้วจะเลี้ยงท่านให้ถึงขนาด. พระยาศรีราชเดโชไปถึงเมืองพระพิศณุโลกย์มิไว้ความลับ, กลับเอาคดีพระยารามกับสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, คิดการเปนความลับนั้น, ทูลแถลงแก่พระมหาธรรมราชาทุกประการ. พระมหาธรรมราชาแจ้งกระหนัก,ก็ให้ข้าหลวงเอาข่าวรุดขึ้นไปทูลแก่พระเจ้าหงษาวดี. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ก็ยกช้างม้ารี้พลยี่สิบแสนมาโดยทางเมืองนครไทย, มายังเมืองพิศณุโลกย์. พระมหาธรรมราชาก็ให้กวาดครัวเมืองนอกทั้งปวงเข้าเมืองพระพิศณุโลกย์, แลแต่งการที่จะกันเมืองไว้พร้อมเสร็จ. ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ยกมาถึงเมืองพระพิศณุโลกย์, ณวันเดือนยี่แรมสิบสามค่ำปีฉลูเบญจศก, ก็ตั้งทัพพลับพลาไชยในตำบลโพเรียงตรงประตูสวรรค์, ไกลออกไปประมาณห้าสิบเส้น. ทัพพระยาสุรินทคว่างฟ้าตั้งตำบลเตาหาย, ทัพพระยามือไฟตั้งตำบลวัดเขาพราม, ทัพพระยานครตั้งตำบลสระแก้ว, ทัพพระยามือเหล็กตั้งตำบลบางสแก. ฝ่ายสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้า กำหนดว่า, ทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมายังเมืองพระพิศณุโลกย์แล้ว, พระองค์ก็กรีธาพล เสด็จขึ้นไปทางชลมารค, ตั้งทัพหลวงตำบลปากน้ำพิง. พระยาราม, แลพระยาจักรีเปนกองน่าขึ้นไปตั้งตำบลวัดจุฬามนี, แลทัพเรือจอดแต่วัดจุฬามนี, ทั้งสองฟากน้ำตลอดลงไปจนทัพหลวงณปากน้ำพิง. แล้วก็บอกขึ้นไปว่า, จะยกขึ้นไปช่วยกันเมืองพระพิศณุโลกย์. พระมหาธรรมราชาตรัสทราบการอยู่แล้ว, ก็ให้นักการออกมาห้ามว่ามิให้เข้าไป. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งว่า, สมเดจ์พระมหินทราธิราชยกกองทัพเรือขึ้นมาเหมือนกำหนดก็ดีพระไทย, ตรัสให้ยกพลเข้าปีนเมือง, แลแต่งทหารห่มเสื้อเหลืองสามพันหนุนพลเข้าไป. เจ้าน่าที่เชิงเทินก็สาดปืนไฟแหลนหลาวต้องชาวล้านช้างตายมากนัก. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเหนดั่งนั้น, ก็เสด็จยกพลเข้ายืนช้างพระที่นั่งแฝงวิหารอยู่แทบคูเมือง, ให้เจ้าน่าที่ทูบทูบังตัว, ข้ามคูเข้าไปขุดถึงกำแพงเมืองพระพิศณุโลกย์. ผู้รักษากำแพงพุ่งอาวุธลงมามิได้ต้อง. จึ่งพระมหาธรรมราชาเสด็จไปยืนช้างพระที่นั่ง, ตรัสให้ขุนศรีเอาพลอาษาห้าร้อยออกทลวงฟัน, พลลาวก็พ่ายออกไป. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็ถอยไปยังค่ายหลวง, แลบัญชาให้นายทัพนายกองตั้งบาญชีเมือง. ฝ่ายสมเดจ์พระมหาธรรมราชาดำริหการที่จะทำลายทัพเรือ, ก็ตรัสให้เอาไม้ไผ่ผูกแพกว้างสิบวา, ยาวยี่สิบวาห้าสิบแพ, แล้วเอาเชื้อเพลิงใส่เต็มบนหลังแพ. ชันน้ำมันยางราดรดทั่วไปทั้งนั้น, แลให้แต่งเรือเร็วไว้สองลำสำหรับจะได้จุดเพลิง. ครั้นจัดการเสร็จ ณเดือนสี่ขึ้นสิบค่ำเพลาเดือนตก, ก็ให้ปล่อยแพติดกันลงไปถึงคุ้งเหนือจัดจุฬามนี. เรือเร็วสองลำก็เอาเพลิงจุดเชื้อไฟบนหลังแพตลอดขึ้นมาทั้งสองข้าง, เพลิงก็ติดรุ่งโรจเปนอันหนึ่งอันเดียว. ที่นั้นน้ำตื้นเชี่ยวก็พัดเร็วลงไป, กองทัพเรือมิทันรู้ตัว,เหนแพไฟเต็มแม่น้ำลงมาก็ตกใจ, ลงเรือทันบ้างมิทันบ้าง. เยียดยัดคัดคั่งกันเปนโกลาหฬ. แพไฟก็ไหม้เรือต่อกันไป, เสียเรือแลผู้คนตายเปนอันมาก, เรือแลคนกองน่าที่เหลืออยู่นั้น, ก็ร่นลงไปยังทัพหลวงณปากน้ำพิง. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งข่าวว่า, เมืองพระพิศณุโลกย์เกิดศึก,ก็ใช้พระยาภุกาม, พระยาเสือหารมาเปนนายกอง,ม้าพันหนึ่งพลพันหนึ่งรุดมาช่วยกันเมืองพระพิศณุโลกย์, เหนข้าศึกล้อมแล้ว, ก็ตีหักเข้าด้านพระยามือเหล็กซึ่งตั้งในบางสแก. ทัพพระยามือเหล็กต้านมิได้ก็พ่ายแยกออกไป. พระยาภุกาม, พระยาเสือหารก็ยกพลเข้าเมืองพระพิศณุโลกย์ได้. พระยาภุกาม พระยาเสือหารกับพลทหารชาวหงษาวดี, ก็เข้าไปถวายบังคมพระมหาธรรมราชา, พระมหาธรรมราชาก็ให้รางวัลแก่ผู้มาช่วยทั้งปวงเปนอันมาก.สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินรู้ว่า, พระเจ้าหงษาวดีให้กองทัพมาช่วยเมืองพระพิศณุโลกย์, เหนการศึกไม่สมหมาย, แล้วก็เลิกกองทัพลงมายังกรุงพระนครศรีอยุทธยา. ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเหนว่า, จะเอาเมืองพระพิศณุโลกย์มิได้, ก็เลิกทัพจากเมืองพระพิศณุโลกย์คืนไปโดยทางบางลมุง ดอนชมภู. จึ่งพระยาภุกาม, พระยาเสือหารทูลแก่สมเดจ์พระมหาธรรมราชาว่า, ข้าพเจ้าทั้งสองจะขอออกไปตามตีทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ให้แตกฉานเปนบำเหน็จมือ พระมหาธรรมราชาก็ตรัสห้ามว่า, ศึกใหญ่มิได้แตกฉานล่าไปดั่งนี้, อันจะยกตามนั้นหาธรรมเนียมมิได้. พระยาทั้งสองก็ทูลว่า, พระเจ้าหงษาวดีใช้ข้าพเจ้าทั้งสองมาคราวนี้ยังมิได้รบพุ่งเปนสามารถ. ครั้นข้าพเจ้ามิยกไปตามไซร้, เหนว่าพระเจ้าหงษาวดีจะเอาโทษ. พระมหาธรรมราชาตรัสว่า, ท่านทั้งสองยกมาก็ได้ทำการรบพุ่งมีไชยอยู่แล้ว. แลซึ่งว่าพระเจ้าหงษาวดีจะเอาโทษนั้นเปนภารธุระเรา, ถ้าท่านมิฟังจะขืนยกไปให้ได้เหนจะเสียทีข้าศึกเปนมั่นคง. พระยาภุกาม, พระยาเสือหารมิได้ฟังบัญชา, กราบถวายบังคมลาแล้ว, ก็ยกพลออกไปตาม. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อล่าไปนั้น, บัญชาให้พระยาแสนสุรินทคว่างฟ้า, พระยานคร, พระยามือไฟทั้งสามทัพนี้อยู่รั้งหลัง. ครั้นถึงตำบลวารีแลทางนั้นแคบ, พระยาแสนสุรินทคว่างฟ้า, พระยานคร, พระยามือไฟ, แต่งพลทหารซุ่มไว้สองข้างทาง, แลขยับมาตั้งพลอยู่ห่างทางประมาณ ๓๐ เส้น, แต่งม้าไว้คอยยั่วทัพอันตามไป. พระยาภุกาม, พระยาเสือหาร, ยกไปถึงตำบลวารีมิทันรู้ว่า, ทัพใหญ่ตั้งรับอยู่ในที่นั้น, เหนแต่ม้านั้นก็ไล่เข้าไป. ทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตก็ย่อพลออกรบปะทะกันจนถึงอาวุธสั้น. ฝ่ายทหารชาวล้านช้างอันซุ่มไว้เหนได้ที, ก็ออกโจมตีกระหนาบทัพพระยาภุกาม, ทัพพระเสือหารก็แตกฉาน. ทัพล้านช้างไล่ฟันพลหงษาวดีตายมากนัก, นายม้าผู้ดีตายหลายคน. ทัพพระยาภุกาม, พระยาเสือหาร, เสียม้าแลเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก, ก็พ่ายคืนมาเมืองพระพิศณุโลกย์. ครั้นเสร็จการศึกพระยาศรีราชเดโชมิได้ลงไป, ก็อยู่ด้วยพระมหาธรรมราชา. แต่พระท้ายน้ำหนีลงไปยังพระนครศรีอยุทธยา. ถึงณวันเดือนแปดปีขานฉศก, สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือกก็เสด็จออกทรงผนวช, ข้าราชการก็ออกบวชโดยเสด็จเปนอันมาก. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาทราบพระไทยกระหนักว่า, พระมหินทราธิราชเปนเจ้าแผ่นดินคิดการทั้งปวงด้วยพระยารามยุยง, แลสัญญาแก่พระเจ้าล้านช้างให้ยกมาเอาเมืองพระพิศณุโลกย์. พระองค์ก็มีหนังสือรับสั่งลงไปถึงสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินว่า, เมืองพิไชยหาเจ้าเมืองมิได้, จะขอพระยารามขึ้นมาเปนพระยาพิไชย. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, ครั้นตรัสทราบดั่งนั้นก็เคืองพระไทย. ฝ่ายพระยารามแจ้งดั่งนั้น, กลัวพระมหาธรรมราชาจะส่งตัวไปหงษาวดี, ก็ทูลแก่สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินว่า, ข้าพเจ้าได้ฟังซึ่งกิจการในเมืองพระพิศณุโลกย์นั้นว่า, พระมหาธรรมราชาคิดการทั้งปวงเปนฝ่ายพระเจ้าหงษาวดี, แลเอาเมืองเหนือทั้งปวงไปขึ้นแก่พระเจ้าหงษาวดีแล้ว, บัดนี้จะย้ายเอาท้าวพระยาผู้ใหญ่ในพระนครไปยังหงษาวดีเล่า. แลจึ่งพระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาพระองค์ลงมาเปนสิทธิดั่งนี้ข้าพเจ้าเหนมิควร. ถ้าแลศึกหงษาวดีมาถึงพระนครก็ดี, ข้าพเจ้าฃอประกันตบแต่งการป้องกันพระนครไว้ให้ได้. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินเหนชอบด้วยก็บัญชาโดยพระยาราม. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, แลพระยารามก็เอายุบลคดีซึ่งคิดทั้งปวงนั้น, กราบทูลแก่พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, แล้วอัญเชิญพระองค์ให้ทรงลาผนวชออกครองราชสมบัติ. พระเจ้าช้างเผือกก็มิได้รับ. จึ่งพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, แลพระยารามก็ทูลวิงวอนเปนหลายครั้งว่า, บัดนี้ไภยจะมาถึงอาณาประชาราษฎรทั้งปวงแล้ว, ขอทรงพระกรุณาเสด็จมาครองราชสมบัติ, ดำรงประชาราษฎรทั้งหลายไว้ให้รอดเถิด. พระเจ้าช้างเผือกก็ตรัสบัญชาตามสมเดจ์พระโอรสาธิราชกราบทูลนั้น. จึ่งเสด็จลาผนวชในเดือนสี่แรมสิบสามค่ำ. ๚ะ
----------------------------
๏ แผ่นดินพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชครั้งที่สอง ๚ะ
๏ ลุศักราช ๙๑๖ ปีขานฉศก, ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งความว่า, พระยาภุกาม, พระยาเสือหารซึ่งให้มาช่วยกันเมืองพระพิศณุโลกย์, กลับเสียทัพแก่ชาวล้านช้างก็ทรงพระโกรธ, แลให้ม้าใช้มาหาพระยาภุกาม. พระยาเสือหาร ๆ กลัวพระราชอาญาพระเจ้าหงษาวดี, ก็ทูลวิงวอนพระมหาธรรมราชา, เชิญเสด็จขึ้นไปช่วยขอโทษ. พระมหาธรรมราชาก็ทรงพระกรุณาแก่พระยาภุกามพระยาเสือหาร, จึ่งภาพระนเรศวรราชบุตรเสด็จขึ้นไปถึงเมืองหงษาวดี, ทูลขอโทษพระยาภุกาม, พระยาเสือหารแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ตรัสว่า, มันทั้งสองนี้โทษถึงตายอยู่แล้ว, แต่พระเจ้าน้องเราได้ขึ้นมาฃอแล้วเรายกโทษให้. พระมหาธรรมราชาก็โสมนัศรักษใคร่ในพระเจ้าหงษาวดีเปนอันมาก. ขณะเมื่อพระมหาธรรมราชาเสด็จไปกรุงหงษาวดีนั้น, ข่าวแจ้งลงไปถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา. สมเดจ์พระมหินทราธิราชก็กราบทูลแก่สมเดจ์พระราชบิดาว่า, พระมหาธรรมราชานี้มิได้สวามีภักดีต่อพระองค์แล้ว. ไปฝ่ายฝากไมตรีแก่พระเจ้าหงษาวดีถ่ายเดียว, จำจะยกทัพรีบขึ้นไปเชิญเสด็จพระเจ้าพี่นาง, กับราชนัดดาลงมาไว้ ณพระนครศรีอยุทธยา, ถึงมาทว่าพระมหาธรรมราชาจะคิดประการใด, ก็จะเปนห่วงอาไลยอยู่ อันพระมหาธรรมราชาเหนจะไม่พ้นเงื้อมมือพระหัตถ์. สมเดจ์พระราชบิดาก็เหนด้วย, จึ่งตรัสให้พระยารามอยู่จัดแจงรักษาพระนคร. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทราโอรสาธิราช, ก็กรีธาพลเสดจ์โดยชลมารคถึงเมืองพระพิศณุโลกย์, ก็รับสมเดจ์พระวิสูทธิกระษัตรี, กับเอกาทฐรถอันเปนพระภาคีไนยราช, แลครัวอพยบข้าหลวงเดิมซึ่งขึ้นมาแต่ก่อนนั้น. แล้วสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, กับพระมหินทราธิราช, ก็เสดจ์ล่วงจากเมืองพระพิศณุโลกย์, ไปประทัพยังเมืองนครสวรรค์.จึ่งสมเดจ์พระมหินทราธิราชกราบทูลสมเดจ์พระราชบิดาว่า, เมืองกำแพงเพชร์เปนทางศึกกำลังศึก, จะขอทำลายเมืองกำแพงเพชรกวาดเทเอาครัวอพยบลงไปไว้ ณกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, ถึงศึกมีมาก็จะได้หย่อนกำลังลง. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสเหนด้วย, ทัพหลวงก็ตั้งอยู่ณเมืองนครสวรรค์. สมเดจ์พระมหินทราธิราชก็ยกทัพขึ้นไปเมืองกำแพงเพชร์, ทัพหลวงตั้งค่ายอยู่แทบคู่เมือง. ๚ะ
๏ ฝ่ายขุนอินทเสนา, แลขุนนางต่างใจข้าหลวงซึ่งตั้งไปแต่พระพิศณุโลกย์นั้น, แต่รู้ข่าวก็ตรวจจัดรี้พลแต่งกันเมืองกำแพงเพชร์เปนสามารถ ครั้นกองทัพเข้าตั้งแทบคูเมือง, ก็แต่งพลทหารออกหักค่ายพระยาศรี, ๆ ก็พ่ายแก่ชาวเมืองกำแพงเพชร์, จึ่งพระยาศรีก็แต่งการที่จะปล้นเมืองกำแพงเพชร์, ก็จัดชาวอาษาในหมวดพันตรีไชยพันหนึ่ง, แต่งการสรับก็ยกเข้าปล้นเมืองในเพลากลางคืน. เมื่อแรกยกเข้าไปนั้น, ชาวในเมืองสงบอยู่ละให้เข้าไปถึงเชิงกำแพงแล้ว, ก็วางปืนไฟแลพุ่งสาตราวุธมาต้องชาวอาษา, ๆ ก็พ่ายออกมา. แต่ยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน, รี้พลตายมากเหนจะเข้าเมืองมิได้. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้า, ก็เลิกทัพหลวงคืนลงมายังเมืองนครสวรรค์. สมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, แลสมเดจ์พระมหินทราธิราช,ก็เสดจ์ลงมายังพระนครศรีอยุทธยา, ส่วนพระยารามอยู่แต่งการซึ่งจะกันพระนคร, แลในน่าที่กำแพงรอบพระนครนั้น, ให้แต่งป้อมเพชร์แลหอรบรยะไกลกันเส้นหนึ่ง, วางปืนใหญ่ไว้รยะแต่สิบวา, ปืนบาเรียมจ่ารงมนทกรยะไกลกันแต่ห้าวา. อนึ่งกำแพงพระนครนั้นตั้งโดยขบวรเก่า, แลยังไปรื้อลงตั้งในริมน้ำ, พระยารามก็ให้ตั้งค่ายรายไปตามริมน้ำชั้นหนึ่ง, แลไว้ปืนจ่ารงมนฑกสำหรับค่ายนั้นก็มาก. แล้วให้ตั้งหอโทนในกลางน้ำ, ไกลริมฝั่งออกไปห้าวารอบพระนคร, มิให้ข้าศึกมาตีริมพระนครได้. ๚ะ
๏ ฝ่ายข้าหลวงในเมืองพระพิศณุโลกย์, ครั้นสมเดจ์พระมหาจักรพรรดิพระเจ้าช้างเผือก, แลสมเดจ์พระมหินทราธิราชนำพระวิสุทธิกระษัตรี,แลเอกาทฐรถกับครอบครัวอพยบข้าหลวงเดิมลงไปแล้ว, ก็ขึ้นม้ารีบไปยังกรุงหงษาวดีกราบทูนแก่พระมหาธรรมราชาเจ้าทุกประการ, พระมหาธรรมราชาได้แจ้งดั่งนั้นก็ตกพระไทย, จึ่งเข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี, เอาเหตูซึ่งพระยารามกับ,สมเดจ์พระมหินทราธิราช,คิดการกันแต่ต้นจนมาหักหารรับพระวิสุทธิกระษัตรี, ลงไปกรุงพระมหานครศรีอยุทธยานั้น, ทูลแก่พระเจ้าหงษาวดีทุกประการ. พระเจ้าหงษาวดีแจ้งเหตุดั่งนั้นก็เคืองพระราชหฤไทย, จึ่งตรัสแก่พระมหาธรรมราชาว่า, ซึ่งกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาเสียสัตยานุสัจ,กลับเปนปะระปักข์ข้าศึกแก่พระเจ้าน้องเรานั้น จะละไว้มิได้, พระเจ้าน้องเราเร่งลงไปจัดแจงกองทัพเจ็ดเมืองเหนือ, แลเสบียงอาหารไว้ให้สรัพ. เดือนสิบสองเราจะยกลงไป. พระมหาธรรมราชารับบัญชาพระเจ้าหงษาวดี, แล้วก็ถวายบังคมลามายังเมืองพระพิศณุโลกย์, จัดแจงเสบียงอาหารช้างม้ารี้พลทั้งเจ็ดเมืองเหนือไว้. ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีให้บำรุงช้างม้ารี้พลสรัพ. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๙๑๗ ปีเถ้าสัปตศก, ณวันพฤหัศเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำ, เพลารุ่งแล้วสองนาฬีกาหกบาท, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, เสด็จทรงปริกโตทกธาราภิเศกเสรจ์,เสด็จทรงเครื่องศิริราชวิภูสนาธารกาญจน์วิเชียรมาลียมณีมาศมงกุฎสำหรับพิไชยยุทธราชรณภูมเสรจ์, เสด็จทรงช้างต้นพลายชมภูทัตสูงหกศอกสองนิ้ว,ผูกพระที่นั่งสุวรรณมหามณฑปเปนบรมอรรคยานพาหนะ พร้อมด้วยแสนสุรชาติโยธาพลากรเหี้ยมหาร,พลโล่เขนหวนธนูดูดิเรกมะเหาฬารนานาวุทธประภูศักดิ,สารสินธพจัตุรงคภาชียชาติพันฦกอธึกด้วยกาญจน์กลิ้งกลดอภิรุมบังสุริย์ไพโรจรุจิตร, พิพิธปะฎาการธงไชยประฎาก. เปนขนัดแน่นไสวเดียรดาษ, ด้วยท้าวพระยาพลากรกันกงริ้วรายระยะโดยขบวรบทจรพยุหบาตราซ้ายขวาน่าหลังทั้งปวงเสร็จ, ได้เพลามหาวิไชยฤกษโหราลั่นฆ้องไชย, ทวิชาจารย์เป่าสังข์ประโคมฆ้องกลองกาหฬกึกก้องนฤนาทนีสนันพสุธาดล. ดำเนินธวัชลิลาพลพยุห์แสนยากรทัพหลวง, ออกจากหงษาวดี, รอนแรมยี่สิบห้าเวนถึงแดนเมืองกำแพงเพชร, เสด็จประทับเถลิงราชพลับพลาไชยราชาอาศน์. จึ่งดำรัศให้พระเจ้าแปรเปนนายกองทัพเรือณเมืองนครสวรรค์, แลพลพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น, คือพลพะม่ามอญในหงษาวดี, อังวะตองอูเมืองปรวนแลเมืองประแสนทวิเมืองกองเมืองมิตเมืองตาละเมืองหน่ายเมืองอูมวง, เมืองละพัวบัวแสแลเมืองสรอบเมืองไทยใหญ่. อนึ่งทัพเชียงใหม่นั้นพระเจ้าเชียงใหม่ประชวร, จึ่งแต่งให้พระแสนหลวงพิงไชเปนนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวง, มาด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนทัพหนึ่ง. แลกำหนดพลนั้นมีบาญชีร้อยหมื่น, สมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเปนนายกอง, ถือพลเมืองเหนือทั้งเจ็ดหัวเมือง, มาด้วยพระเจ้าหงษาวดีเปนทัพหนึ่ง. ครั้นได้ศุภวารฤกษดิถีพระเจ้าหงษาวดี,ก็กรีธาพยุหโยธาทัพทั้งปวงลงมายังพระนครศรีอยุทธยา. พระเจ้าช้างเผือกแลพระมหินทราธิราชแจ้งข่าว, ก็ให้ขับพลเมืองนอกทั้งปวงเข้าพระนคร, แลได้แต่ในแขวงจังหวัด, ซึ่งอยู่ใกล้พระนครทั้งสี่แขวงนั้นประมาณส่วน, แลซึ่งมิได้เข้านั้นออกอยู่ป่าเปนอันมาก. อนึ่งพลเมืองเล็กน้อยทั้งปวงมิได้เข้าพระนคร, แลออกอยู่ป่ามาก. ได้แต่ตัวเจ้าเมืองแลพลสำหรับเจ้าเมืองนั้นเข้ามาพระนคร. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวก็ให้พระยารามตรวจจัดพลสรรพายุทธขึ้นประจำน่าที่กำแพงรอบพระนคร, แลค่ายทั้งปวงก็มั่นคงนัก. แล้วก็แต่งกองแล่นไว้ทั้งสี่ด้านรอบพระนครด้านละห้ากอง. ส่วนพระยารามนั้นตั้งกองทัพในท้องสนามหลวงเปนกองกลาง, จะได้ยกไปช่วยทั้งสี่ด้าน. อนึ่งน่าที่ใดเปนน่าที่กวดขัน, พระเจ้าอยู่หัวก็ไว้พระกลาโหม. แลพระพลเทพเมืองไชยนาท, เมืองสุพรรณบุรี, เมืองลพบุรี, เมืองอินทบุรี, เมืองเพชรบุรี, เมืองราชบุรี, เมืองนครนายก, เมืองสระบุรี, เมืองพรหมบุรี, เมืองสรรค์บุรี, เมืองนครไชยศรี, เมืองธนบุรี, เมืองมฤท, ทั้งนี้อยู่ประจำน่าที่แต่มุมหอรัตนไชยลงไปจนเกาะแก้ว, ซึ่งมีแต่คูหาแม่น้ำกั้นมิได้. แลน่าที่สามด้านไซ้แต่ในไก่ไปถึงประตูไชย, พระยาพระคลังเปนนายกองใหญ่. แต่ประตูไชยไปถึงวังไชย, พระอินทรานครบาลเปนนายกองใหญ่. แต่มุมวังไชยไปถึงประตูชีขัน, พระท้ายน้ำเปนนายกองใหญ่. แต่มุมศาลหลวงมาพระราชวัง, แต่พระราชวังไปขื่หน้า, พระยาธรรมาธิกรณ์เปนนายกองใหญ่, ถือพลทหารในทั้งปวงรักษาน่าที่. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดียกทัพมาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา, ครั้นณวันพุทธเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง, ตั้งทัพมั่นณตำบลลุมพลี. จึ่งพระยารามก็ให้เอาปืนนารายน์สังหารยาวสามวาศอก, กระสุนสิบสองนิ้วลากไปตั้งในช่องมุมสพสวรรค์, ให้จังกายิงเอากลางทัพพระเจ้าหงษาวดี, ต้องช้างม้ารี้พลตายมาก แลกระสุนนั้นไปตกใกล้พลับพลาพระเจ้าหงษาวดี, พระเจ้าหงษาวดีก็ให้เอากระสุนขึ้นสรวงพลี, แล้วก็เสด็จเลิกกองทัพมาตั้งณมหาพราม. ภอทัพบกทัพเรือถึงพร้อม, จึ่งพระเจ้าหงษาวดี, ก็ตรัสกำหนดให้ทัพทั้งปวงเข้าล้อมพระนคร. ในขื่น่าทิศบูรพ์ไซ้, ทัพพระมหาอุปราชา, พระมหาธรรมราชา, ทัพพระเจ้าอังวะ. ไปข้างทักสีน ทัพพระยาทะละ, แลเจ้าฟ้าไทยใหญ่. แลพระยาแสนหลวงชาวเชียงใหม่ไปข้างปจิมทิศทัพพระยาพสิม, แลทัพพระยาตองอู, ทัพพระยาอไภยคามะนี. พระยาเลา, พระยาพะตะบะ, พระยาพะตะเบิดตั้งทิศอุดร. ฝ่ายทัพหลวงก็ยกมาตั้งณวัดมเหยงคณ์. แลทัพอันล้อมพระนครทั้งสี่ด้านนั้น, เมื่อแรกยกเข้าล้อมนั้น, ตั้งไกลริมน้ำออกไปประมาณสามสิบเส้น. แลเอาไม้ตาลทำค่ายพูนดินกันปืนใหญ่, กว่าจะตั้งมั่นคงลงได้. ชาวพระนครวางปืนใหญ่ออกไป, ต้องพลพระเจ้าหงษาวดีตายมากนัก. ครั้นตั้งค่ายมั่นกันปืนใหญ่ได้แล้ว, ประมาณสามสิบวัน, ก็ยกเข้ามาตั้งค่ายอีกชั้นหนึ่ง, ห่างค่ายเดิมสิบเส้น, ยังประมาณยี่สิบเส้นจะถึงริมน้ำ. ชาวพระนครแต่งพลอาษาออกทลวงฟัน, แล้ววางปืนใหญ่ออกไปต้องพลพระเจ้าหงษาวดี, เมื่อตั้งค่ายนั้นตายมากนัก. แลนายทัพนายกองเหนจะตั้งค่ายในกลางวันมิได้, ให้ลอบเข้าตั้งกลางคืน, ช้านานจึ่งตั้งค่ายชั้นนั้นมั่นลงได้. แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ให้ยกเข้าตั้งค่ายอีกชั้นหนึ่งเล่า, ให้ถึงริมน้ำคูเมือง. แลค่ายชั้นนี้ตั้งยากนัก, ด้วยชาวพระนครวางปืนใหญ่แลปืนจินดาจ่ารงค์มณฑกถนัดเต็มแม่นยำ. พลทั้งปวงต้องปืนไฟตายมากนัก, จึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้ขุดอุโมงค์, ให้พลทั้งปวงเดินเข้ามาเปนหลายแห่งหลายสาย, ครั้นถึงริมแม่น้ำที่จะตั้งค่ายนั้น, ก็ขุดเปนอุโมงค์แล่นหากันโดยน่าค่าย. แลลอบตั้งค่ายนั้นในกลางคืน, แล้วห้ามพลทั้งปวงให้สงบมิให้มี่ฉาว. ฝ่ายในพระนครรู้ว่าชาวหงษาวดีขุดอุโมงค์เดิน, ก็เอาปืนใหญ่ยิงออกไปมิได้ต้องข้าศึก, ก็จัดกองอาษาออกไปทลวงฟัน, ได้หัวเข้ามาถวายหลายครั้ง, แลชาวหงษาวดีตั้งค่ายชั้นนั้นเปนเดือนเสศจึ่งตั้งได้. แต่พระเจ้าหงษาวดียกมาให้ตั้งค่ายล้อมเปนสามครั้ง, ประมาณสองเดือนจึ่งเข้าล้อมได้ถึงริมแม่น้ำคูเมือง. ๚ะ
๏ ฝ่ายสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้า, จึ่งตรัสแก่พระยารามให้มีศุภอักษรขึ้นไปถึงเมืองล้านช้าง, ฃอกองทัพลงมาช่วย. พระยารามก็แต่งศุภอักษรโดยพระราชบริหารเสร็จแล้ว, จึ่งแต่งให้ขุนราชเสนา, ขุนมหาวิไชยกับไพร่ห้าสิบ, ถือขึ้นไปยังเมืองล้านช้าง. เมื่อศึกหงษาวดียกมาล้อมพระนคร, แต่ตั้งค่ายได้สามครั้ง, พระเจ้าช้างเผือกเสด็จเลียบพระนครมิได้ขาด แลแต่งขุนหมื่นทหารอาษา, ยกออกไปกองละพันสองพันทั้งที่ด้าน, เปนหลายหมู่หลายกอง. ได้รบชาวเมืองหงษาวดี, ซึ่งมาตั้งค่ายนั้นทุกวัน. แลได้ฆ่าพลชาวหงษาวดีตาย, ได้หัวเข้ามาถวายก็มาก. ฝ่ายชาวหงษาวดีแม้นล้มตายเท่าใด, พลทั้งปวงก็มิได้แตกฉาน, ยกหนุนกันเข้ามานักหนา, ป้องกันให้ตั้งค่าย. ครั้นตั้งค่ายมั่นล้อมทั้งสี่ด้านแล้ว, พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัสแก่มหาอุปราชา, พระเจ้าแปร, พระเจ้าอังวะ, ท้าวพระยาทั้งหลายว่า, เราไปรบเมืองทุกแห่งไซ้, ครั้นยกเข้าล้อมได้แล้วดั่งนี้, ก็แต่งการที่จะเข้าปีนปล้นเอาได้ด้วยฉับพลัน. แผ่นดินศรีอยุทธยานี้เปนราชธานีใหญ่หลวง, เอาสมุทเปนคูคั่นรอบ, ดุจเขาพระสิเนรุราช. อันมีแม่น้ำสีทันดรนัทีรอบขอบ แลที่จะปล้นได้ไซ้, เปนแต่ขื่น่าด้านเดียว. ถึงดั่งนั้นก็ดีจะปล้นเอาเหมือนนครทั้งปวงนั้นมิได้. แลซึ่งจะเอาอยุทธยาครานี้, เราจะแต่งการเปนงานปีจึ่งจะได้. ให้ท้าวพระยาทั้งหลายกำหนดให้แก่นายทัพนายกองทั้งปวง,ให้รักษาแต่มั่นไว้อย่าเภอรบพุ่ง. ให้แต่งการออกลาดหาเข้าไว้เปนเสบียง, ไพร่พลทั้งปวงให้ครบปีหนึ่ง. แล้วจะให้สำหรวดเอาให้ถ้วนตัวคนจงทุกหมู่ทุกกอง, ถ้านายทัพนายกองผู้ใด, เสบียงพลนั้นมิครบถึงปีไซ้, จะให้ลงโทษแก่นายทัพนายกองผู้นั้นถึงสิ้นชีวิตร.จึ่งท้าวพระยาทั้งหลายก็แต่งพลไว้ประจำค่ายทั้งปวง, แต่ภอรบพุ่งป้องกันน่าค่าย. แล้วก็แต่งพลออกไปลาดหาเข้าทุกหมู่ทุกกอง, โดยพระราชกำหนด, ก็ปลูกยุ้งฉางใส่เสบียงทั้งปวงไว้. ครั้นถึงกำหนดที่จะสำหรวด, พระเจ้าหงษาวดีสำหรวดทุกทัพทุกกอง. แลเสบียงพลทั้งปวงนั้นก็ครบปีหนึ่งดุจราชกำหนด. แต่หมวดมะโดดข้าหลวงเดิมนั้นเสบียงมิครบปี, พระเจ้าหงษาวดีให้ลงโทษถึงสิ้นชีวิตร. ขณะนั้นพระเจ้าช้างเผือกทรงพระประชวรหนัก, ประมาณยี่สิบห้าวัน, ก็เสดจ์สวรรคตในศักราช ๙๑๗ ปีเถาะสัปศก อยู่ในราชสมบัตินั้น ๒๒ ปี. ๚ะ
----------------------------
๏ แผ่นดินพระมหินทราธิราชครั้งที่สอง ๚ะ
๏ ครั้นพระเจ้าช้างเผือกสวรรคตแล้ว, สมเดจ์พระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินมิได้นำภาด้วยการศึก, แลเสด็จอยู่ในพระราชวัง, ไว้การทั้งปวงแก่พระยารามให้บังคับบัญชาตรวจทหารทั้งปวง,เปนผู้รักษาน่าที่รอบพระนคร ขณะนั้นพระยารามขี่คานหามทอง, มีมยุรฉัตร์ประดับซ้ายขวา, แลพลทหารแห่น่าหลังเปนแน่นหนา, แต่พลถือปืนนกสับนั้นเจ็ดร้อย, เที่ยวเลียบน่าที่ทุกวัน, แลเกนพลทหารออกมารบชาวหงษาวดีเปนสามารถ. ขณะนั้นพระยาจักรัตน์ถือพลทหารออกไปหักค่ายข้าศึก ณท้ายคู, แลเผาค่ายน่าที่พระยาเกียรติได้ประมาณแสนหนึ่ง. พลศึกอันประจำค่ายพ่ายลงไป, จึ่งพระยาเกียรติยกพลออกมารบ, พระยาจักรัตน์รบถลำเข้าไปก็เสียตัวแลชาวอาษาทั้งปวงก็พ่ายเข้ามาพระนคร. พระยาเกียรติจับพระยาจักรัตน์ไปถวายแก่พระเจ้าหงษาวดี, พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธแก่พระยาเกียรติ, ตรัสแก่พระมหาอุปราชาว่า, ซึ่งพระยาเกียรติมิได้รักษาค่ายให้มั่น,ให้ชาวพระนครออกมาเผาเสียได้. มิลงโทษพระยาเกียรติด้วยประการใด. พระมหาอุปราชาทูลว่า, พระยาเกียรติเสียค่ายได้นายกองซึ่งถือพลออกมานั้น เหนว่าโทษพระยาเกียรติกลบลบกันจึ่งมิได้ลงโทษ. พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธแก่พระมหาอุปราชาว่า, ถึงพระยาเกียรติจับได้นายกองก็ดี, ยังมิคุ้มโทษ. แลมหาอุปราชาว่าคุ้มโทษแล้ว, แลมิได้เอาโทษพระยาเกียรตินั้น, เหนว่ามหาอุปราชามิได้เอาใจลงในการศึก. อย่าให้มหาอุปราชาอยู่บังคับบัญชาการศึกในทัพนั้นเลย, จะไปแห่งใดก็ตามใจเถิด. ให้มหาอุปราชาเอาแต่ช้างตัวหนึ่ง, คนขี่ท้ายกลางไปด้วย. นอกกว่านั้นอย่าให้เอาไป. พระเจ้าหงษาวดีก็ให้ขับมหาอุปราชาเสียแล้ว, ก็ให้ลงโทษแก่พระยาเกียรติถึงสิ้นชีวิตร. พระมหาอุปราชากลับมายังทัพ, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ก็ใช้สนองพระโอษฐมาขับพระมหาอุปราชา, ให้ไปจากทัพจงพลัน. ขณนั้นพระเจ้าแปร, พระเจ้าอังวะ, กลัวพระราชอาญาพระเจ้าหงษาวดี, มิอาจจะทูลขอโทษพระมหาอุปราชาได้. พระมหาอุปราชาก็ให้มาทูลแก่พระมหาธรรมราชาว่า, สมเดจ์พระราชบิดาทรงพระโกรธ, ให้ขับเราเสียจากทัพ. แลพระเจ้าแปร, พระเจ้าอังวะ. จะทูลขอโทษนั้นพ้นกำลังทูลมิได้. แลซึ่งจะช่วยเราครานี้, เหนแต่พระเจ้าพี่เรา, ภอจะทูลขอโทษเราได้. เมื่อพระมหาอุปราชาให้มาทูลแก่พระมหาธรรมราชานั้น, พระเจ้าหงษาวดีใช้สนองพระโอษฐมาเล่า, ว่าให้พระมหาอุปราชาเร่งไปจงพลัน. พระมหาอุปราชากลัวพระราชอาญา, ก็แต่งตัวจะขึ้นช้างไปจากทัพ. จึ่งพระมหาธรรมราชา, ตรัสให้ข้าหลวงไปห้ามพระมหาอุปราชาว่า, ให้งดอยู่เราจะไปทูลขอโทษก่อน, พระมหาธรรมราชาก็เสด็จมาทูลขอโทษพระมหาอุปราชา. พระเจ้าหงษาวดีก็โปรดยกโทษให้. ขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดี, ให้พระเจ้าแปรยกทัพเรือลงไปโดยคลองตะพานขายเข้า, ไปออกบางไซร. เลี้ยวขึ้นมาตั้งท้ายคู, กันมิให้เรือขึ้นล่องเข้าออกได้. แล้วพระเจ้าแปรก็แบ่งทัพเรือลงไปลาดถึงเมืองนนทบุรี, เมืองธนบุรี, เมืองสาครบุรี. ๚ะ
๏ ขณะนั้นสำเภาจีนจังจิ๋วมิทันรู้ว่า, ศึกหงษาวดีมาล้อมพระนคร. ก็ใช้ใบเข้ามาถึงสันดอนหลังเต่า. พระเจ้าแปรรู้ก็ยกทัพเรือออกไป, จะเอาสำเภาจีนจังจิ๋ว, จีนจังจิ๋วรู้ว่าข้าศึกมาล้อมพระนคร, แต่งทัพเรือลงมาลาด. จีนจังจิ๋วก็ใช้ใบสำเภาออกไป แลทัพเรือพระเจ้าแปรยกออกไป, เหนสำเภาจีนจังจิ๋วคลาดออกไปตกฦกแล้ว, จะตามเอามิได้ก็ยกทัพคืนมา. พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระโกรธแก่พระเจ้าแปรว่า สำเภาจีนเข้ามาถึงปากน้ำแล้ว, แลมิได้ติดตามออกไปเอาจงได้, ให้สำเภาจีนหนีไปรอดนั้นพระเจ้าแปรผิด. ตรัสให้เอาตัวพระเจ้าแปรทเวนรอบทัพแล้ว, ให้คงเปนนายทัพเรือดุจดั่งเก่า. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดี, ก็แต่งทหารให้เข้าหักค่ายริมน้ำด้านประตูหอรัตนไชย พระยาราม, แลพระยากลาโหม, พระอินทรา, พระมหาเทพ, พระมหามนตรี, แลพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลาย, ช่วยกันเอาใจลงในราชการรบพุ่งป้องกัน, มิให้ชาวหงษาวดีหักเข้ามาได้. แลพระมหาเทพแต่งพลอาษาทลวงฟัน, ชาวหงษาวดีก็แตกฉานเปนหลายครั้ง. แลการศึกนั้นก็ช้าอยู่, พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธ, ก็ให้เอานายทัพนายกองนั้นลงโทษ, แล้วบัญชาการให้พระมหาอุปราชาไปตั้งค่าย, ตำบลวัดเขาดินตรงเกาะแก้ว. พระเจ้าอังวะบุตรเขยนั้น, ตั้งค่ายตำบลวัดตะพานเกลือ. พระเจ้าแปรผู้หลาน, ตั้งค่ายตำบลวัดจันตรงบางเอียน. ให้เร่งถมดินเปนถนนข้ามแม่น้ำเข้าไป, ให้ถึงฟากทั้งสามตำบลจงได้. พระมหาอุปราชา, พระเจ้าอังวะ, พระเจ้าแปรก็มาเร่งให้ทำตามรับสั่ง. ชาวพระนครเจ้าน่าที่เหนดั่งนั้น, ก็เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกล้มตายเปนอันมาก. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีเสด็จไปทอดพระเนตร,เหนยังไม่เปนถนนขึ้นได้ก็ตรัสว่า, พระมหาอุปราชา, พระเจ้าอังวะ, พระเจ้าแปรสามคนนี้, จะให้พูนแต่ถนนค่ามคูเท่านี้ยังมิได้, ที่ไหนจะได้กรุงศรีอยุทธยาเล่า, ถ้าตายลงสักคนหนึ่งคนใด, จึ่งจะเปนถนนขึ้นได้. ตรัสเท่าดั่งนั้นแล้วเสด็จกลับไป. พระมหาอุปราชา, พระเจ้าอังวะ, พระเจ้าแปร, ยิ่งเกรงพระราชอาญา. จึ่งดำริห์ให้เอาไม้โตนดทำทูบทูบังพลขนดินเข้าไปถมถนน. ชาวพระนครก็วางปืนใหญ่ออกมาทำลายทูบทู, พลล้มตายเปนอันมาก. ผู้ตรวจการเหนดั่งนั้น, ก็ไปกราบทูลพระเจ้าหงษาวดีทุกประการ. พระเจ้าหงษาวดีจึ่งตรัสถามผู้ตรวจว่า, พลแบกมูลดินตายลงคนหนึ่ง, จะเปนมูลดินสักกี่ก้อน. ผู้ตรวจการทูลว่า, คนตายคนหนึ่ง เปนมูลดินประมาณเจ็ดก้อนแปดก้อน. พระเจ้าหงษาวดีจึ่งตรัสว่าเอาเถิด, จงไปบอกเจ้าน่าที่ให้เร่งพลขนมูลดินถมถนนเข้าไปอย่าให้ขาดได้. ผู้ตรวจการก็มาทูลพระมหาอุปราชา, พระเจ้าอังวะ, พระเจ้าแปร, ตามรับสั่งทุกประการ. พระมหาอุปราชา, พระเจ้าอังวะ, พระเจ้าแปร, ก็เร่งให้พวกพลทั้งปวงขนมูลดินเข้าไปถมถนนนั้น, ทั้งสามตำบลมิได้ขาดทั้งกลางวันกลางคืน. แลการพูนถนนนั้นถึงสามเดือน. จึ่งถึงฟากกำแพงพระนคร. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาราม, พระยากลาโหม, พระมหาเทพ, เหนเชิงศึกแหลมเข้ามา, ก็ให้ตั้งค่ายในกำแพงพระนครชั้นหนึ่งเปนวงพาด, เอาปืนใหญ่ปืนมณฑกมาตั้งไว้ ณน่าค่ายนั้น. ฝ่ายพลอันอยู่น่าที่กำแพงเชิงเทินนั้น, ก็ยังรบพุ่งป้องกันอยู่. พระเจ้าหงษาวดีให้ยกพลเข้ามาโดยถนนมุมเกาะแก้ว, แล้วเอาทัพเรือมากระหนาบ, เอาปืนจ่ารงค์มณฑกนกสับยิงแย้งระดมเจ้าน่าที่ดั่งห่าฝนซึ่งมุมเกาะแก้วนั้น. ชาวทหารอาษาซึ่งอยู่น่าที่มุมเกาะแก้วนั้น, จะยิงรบพุ่งป้องกันมิได้, ก็พ่ายลงมายังค่ายซึ่งตั้งไว้นั้น. ชาวหงษาวดีรุกเข้ามาทลายกำแพงมุมเกาะแก้วได้. ขณะนั้นพระยารามก็สลดใจ, จะบังคับบัญชาการศึกมิได้เปนสิทธิ์ดุจก่อน, ก็คิดด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายว่า, จะป้องกันสืบไปเหนพ้นกำลัง, แลจะแต่งออกไปให้เจรจาเปนไมตรี. ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายก็ว่า, ซึ่งจะเปนไมตรีไซ้แต่ยังมิได้รบกันเปนสามารถ. แลซึ่งได้รบพุ่งจนพระเจ้าหงษาวดีเสียรี้พลเปนอันมากดั่งนี้แล้ว, พระเจ้าหงษาวดียังจะรับเปนไมตรีฤๅ.ท้าวพระยาทั้งหลายก็มิลงด้วยพระยาราม. แต่นั้นมาท้าวพระยามุขมนตรีลูกขุนทหารทั้งปวง, มิฟังบังคับบัญชาพระยาราม, ต่างคนต่างรบพุ่งข้าศึก. สมเดจ์พระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดิน, ก็มิเอาพระไทยลงในการสงคราม, ละให้แต่มุขมนตรีทั้งหลายรบพุ่ง. ขณะนั้นพระมหาเทพถือพลอาษา, อยู่รักษาน่าค่ายมุมเกาะแก้วที่กำแพงทลายนั้น. ข้าศึกหงษาวดียกเข้ามาปล้นค่ายเปนหลายครั้ง, แลพระมหาเทพก็รบป้องกันไว้, ข้าศึกหักเข้าไม่ได้. อนึ่งพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราช, เสดจ์มายืนช้างพระที่นั่งให้พลอาษาช่วยพระมหาเทพรบ, แลแต่งทหารอาษาออกทลวงฟัน, แล้วก็วางปืนใหญ่ยิงทแยงออกไป, ต้องพลหงษาวดีตายเปนอันมาก, ข้าศึกจะปล้นเอาค่ายนั้นมิได้, ก็ตั้งประชิดกันอยู่. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า, กรุงพระนครศรีอยุทธยานี้ป้องกันเมืองเปนสามารถ, ซึ่งจะหักเอาโดยง่ายนั้นยาก, แล้วก็จวนเทศกาลฟ้าฝนจะลำบากไพร่พลนัก. ก็ตรัสด้วยพระมหาธรรมราชาว่า, จำเราจะเพโทบายให้ถือหนังสือเอาตัวพระยาราม, ผู้เปนเจ้าการป้องกันพระนครนั้นได้แล้วก็จะเบามือลง, เหนจะได้เมืองถ่ายเดียว. พระมหาธรรมราชาเหนด้วย, ก็แต่งนายก้อนทองข้าหลวงเดิม, ให้ถือหนังสือลอบเข้าไปถึงขุนสนมข้าหลวง, ซึ่งสมเดจ์พระเจ้าช้างเผือกไปเอาลงมาแต่เมืองพระพิศณุโลกย, กับด้วยพระวิสุทธิกระษัตรีย์นั้น, ขุนสนมก็ส่งหนังสือนั้นเข้าไป, ถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน. แลในลักษณหนังสือนั้นว่า, พระเจ้าช้างเผือกตรัสคิดด้วยพระยาราม, ซึ่งแต่งการรบพุ่งป้องกันพระนคร, ละให้เสียสัตย์คลองพระราชไมตรีนั้น. บัดนี้พระเจ้าช้างเผือกเสด็จสวรรคตแล้วยังแต่พระยาราม, แลพระไทยพระเจ้าหงษาวดียังไปเสียคลองพระราชไมตรี ตรัสว่า, ถ้าพระเจ้าแผ่นดินส่งตัวพระยารามผู้ก่อเหตุออกไปถวายแล้ว, พระเจ้าหงษาวดีก็จะเปนไมตรี, มิให้ยากแก่สมณพราหมณาจารประชาราษฎรทั้งปวง จะเลิกทัพกลับคืนไปเมืองหงษาวดี. จึ่งสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน, ก็เอาหนังสือนั้นมาแถลง, แก่พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน. พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, ได้ฟังโดยลักษณหนังสือนั้น, ก็ให้หาท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งปวง, มาประชุมกันปฤกษาว่า, ซึ่งพระเจ้าหงษาวดี, จะให้ส่งพระยารามออกไป, แลจะเปนไมตรีนั้นยังเหนควรจะส่งพระยารามออกไปฤๅ, ฤๅมิชอบ จึ่งท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งปวงปฤกษาว่า, ถ้าพระเจ้าหงษาวดี, จะเปนพระราชไมตรีจริง, ควรจะส่งพระยารามออกไป, อย่าให้ได้ยากแก่ประชาราษฎรทั้งหลาย. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน.ก็ตรัสให้แต่งหนังสือตอบออกไปว่า, ถ้าพระเจ้าหงษาวดีจะเปนไมตรีสัจจริงดุจจะให้มีหนังสือเข้ามานี้ไซ้, ก็จะส่งพระยารามออกไป.จึ่งนายก้อนทองเอาหนังสือออกไปถวายแต่พระมหาธรรมราชา, พระมหาธรรมราชาก็ตรัสใช้นายก้อนทองเข้ามาเล่าว่า, พระเจ้าหงษาวดีจะเปนพระราชไมตรีสุจริตจริง, ให้ส่งตัวพระยารามออกไปเถิด. ซึ่งจะเอาพระยามรามไว้จะให้ได้ยากแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้นดูมิบังควร ฝ่ายท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายมิได้รู้กลพระเจ้าหงษาวดีสำคัญว่าจริง, ก็พร้อมกันทูลพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, ให้ส่งพระยารามออกไปแก่พระเจ้าหงษาวดี. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินจึ่งตรัสสั่งนายก้อนทอง, ให้ออกไปทูลแก่พระมหาธรรมราชาว่า, จะส่งพระยารามออกไปกำหนดให้มารับ.ครั้นนายก้อนทองไปแล้ว, พระเจ้าแผ่นดินให้จำพระยาราม, แต่งคนคุมออกไปส่ง อาราธนาพระสังฆราชกับภิกษุสี่องค์ออกไปด้วย, ครั้นพระสังฆราช,แลผู้คุมพระยารามไปถึง,สมเดจ์พระมหาธรรมราชาให้ถอดจำพระยารามออก, แล้วก็ภาเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าหงษาวดี, ๆ ก็ให้เบิกพระสังฆราชเข้ามา, แล้วตรัสให้หาพระมหาอุปราชา, แลท้าวพระยาผู้ใหญ่ทั้งปวงมาประชุมในน่าพลับพลา, พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัสแก่ท้าวพระยาทั้งหลายว่า,พระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, ให้พระสังฆราชเอาพระยารามผู้ก่อเหตุมาส่งแก่เรา, แลว่าจะฃอเปนพระราชไมตรีด้วยเราดุจก่อน,ท้าวพระยาทั้งหลายจงพิภาคษา, ยังจะชอบรับเปนพระราชไมตรีฤๅประการใด. ท้าวพระยาทั้งหลายก็ทูลว่า ซึ่งได้พระยารามออกมาแล้วดั่งนี้, เสมอได้แผ่นดินศรีอยุทธยา,อันจะเปนราชไมตรีนั้นหาต้องการไม่,ขอให้ยกเข้าหักเอากรุงจงได้. พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่าเราเปนกระษัตรีย์จะทำการสงครามสืบไป, ซึ่งจะทำดั่งนี้หาควรไม่ แล้วสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้รักษาแต่มั่นไว้ อย่าให้ประชิรบพุ่งเข้าไป ฝ่ายชาวพระนครก็มิได้รบ, ต่างคนต่างสงบอยู่ทั้งสองฝ่าย. จึ่งพระเจ้าหงษาวดี, ก็สั่งพระสังฆราชเข้ามาว่าถ้าพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, จะเปนพระราชไมตรีด้วยเราจริงให้พระเจ้าแผ่นดิน,แลท้าวพระยาใหญ่ทั้งปวงมาถวายบังคม,จึ่งจะรับเปนราชไมตรีด้วย. ๚ะ
๏ ครั้นพระสังฆราชเข้ามาถึงกรุง. ถวายพระพรแก่สมเดจ์พระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดิน, โดยคำพระเจ้าหงษาวดีสั่งเข้ามานั้น. จึ่งท้าวพระยาทั้งหลายทูลพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินว่า, การทั้งนี้พระเจ้าหงษาวดีหากเพโทบายมาฬ่อลวงให้ออกไปแล้ว, จะกุมเอาท้าวพระยาผู้ใหญ่ทั้งปวงไว้, แล้วก็จะให้เข้ามาเทเอาครัวอาณาประชาราษฎรทั้งหลายอพยบไปเปนเชลย แลศึกครั้งนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถวายชีวิตร, รบพุ่งป้องกันจนถึงขนาด จึ่งสมเดจ์พระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดิน, ก็ตรัสให้ท้าวพระยาทั้งหลายพิภาคษาเปนหลายยกหลายเกน, แลท้าวพระยาทั้งปวงลงด้วยกันเปนคำเดียวว่า, จะอาษารบพุ่งแต่พระยาธรรมาธิกรณ์ไซร้มิได้ลงด้วยท้าวพระยาทั้งปวง. ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีถ้าฟังทูตซึ่งออกไปแต่นอกพระนครช้าอยู่ถึงเจ็ดวัน, จึ่งตรัสด้วยสมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าว่า, กรุงพระมหานครศรีอยุทธยามิให้ทูตออกมาเจรจาความเมือง, แลช้าอยู่ดั่งนี้เหนว่ามิเปนพระราชไมตรีกันแล้ว, เราจะให้แต่งการที่จะปล้นนั้นดุจเก่า. สมเดจ์พระมหาธรรมราชาก็ทูลแก่์พระเจ้าหงษาวดีว่าขอให้งดก่อน,ข้าพเจ้าจะเข้าไปแถลงการทั้งปวง, ให้พระเจ้าแผ่นดินแลท้าวพระยาผู้ใหญ่เหนแท้ว่า, จะเปนทางพระราชไมตรี, อย่าให้ยากแก่สมณพราหมณประชาราษฎรทั้งหลาย. พระเจ้าหงษาวดีก็ตรัสบัญชาโดยสมเดจ์พระมหาธรรมราชาเจ้า สมเดจ์พระมหาธรรมราชาเจ้าก็เสด็จด้วยพระราชยาน, มายืนอยู่ตรงน่าที่พระมหาเทพ, ร้องเรียกเจ้าน่าที่เข้าไปว่า, เราจะเข้าไปรงับการแผ่นดิน, พระมหาเทพเจ้าน่าที่มิไว้ใจยิงปืนใหญ่น้อยออกไป. พระองค์ลงจากพระเสลี่ยง, ขุนอินทรเดชแบกพระองค์วิ่งกลับออกมา. สมเดจ์พระมหาธรรมราชา, ก็มาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี, แล้วก็กราบทูลทุกประการ. ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีก็ตรัสว่า, อันชาวพระนครศรีอยุทธยามิไว้ใจนั้น, ก็เปนสำหรับที่จะให้พระนครเสีย, ซึ่งจะพ้นมือเราไปนั้นก็หาไม่. แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็สั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวง, เร่งประชิทำการทั้งกลางวันกลางคืน, ชาวพระนครก็รบพุ่งป้องกันเปนสามารถ. ๚ะ
๏ ขณะนั้นพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราช, ถือพลหมื่นห้าพันตั้งเปนกองกลางอยู่ณห้องนามหลวง, ถ้าเจ้าน่าที่มาทูลว่า, ข้าศึกเข้าหักหารด้านใดหนัก, ก็มิได้กราบทูลพระราชบิดาก่อน, แต่ทหารให้ไปช่วยรบพุ่งทุกครั้ง. ส่วนสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, มิได้เอาพระไทยใส่ในการศึก, อยู่มาคิดแคลงพระเจ้าลูกเธอพระศรีเสาวราชว่า, การศึกหนักเบามิได้มาแจ้งก่อน, ทำแต่โดยอำเกอใจ. จึ่งให้หาพระศรีเสาวราชเข้ามาแล้ว, สั่งพระยาธรรมาธิกรณ์ให้เอาตัวพระศรีเสาวราชไปล้างเสีย ณวัดพระรามาวาศ, ข้าราชการนายทัพนายกองทหารทั้งปวงก็เสียใจ แต่เหตุว่ารักบุตรภรรยาอยู่ ก็อดส่ารบป้องกันไว้ทุกน่าที่. ฝ่ายขุนราชเสนา, ขุนมหาวิไชย, กับไพร่ห้าสิบคน, ภากันเล็ดลอดขึ้นไปถึงเมืองล้านช้าง, จึ่งเอาศุภอักษรนั้นให้แก่เสนาบดี. ในลักษณนั้นว่า,ศุภอักษรบวรสฐาผลวิมลเชษฐาคุณานันต์วิกษิต, วิจิตรคำภีราอัทธยาไศรย, ในท่านอรรคมหาเสนาธิบดินทรนรินทรามาตย์, อันสวามีประวาสบาทมูลิกากรบวรยุคลเรณุนาศ, ในพระบาทสมเดจ์บรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว, ณกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน, มีมธุรจิตรสนิทเสนหามายังเสนาธิบดี ณกรุงศรีสัตนาคนหุต, บัดนี้กรุงพระนครศรีอยุทธยามีราชดัศกร, คือพระเจ้าหงษาวดีกอปไปด้วยโลภเจตนาหาหิริโอตัปปะมิได้. ยกกองทัพลงมากระทำปไสยหาการย่ำยีพระนครศรีอยุทธยา,สมพราหมณาจาริยไพร่ฟ้าประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แลกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา, ก็เปนเขื่อนเพชรขันทแก่กรุงศรีสัตนาคนหุต,ถ้าพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่กองทัพหงษาวดีแล้ว,เหนศึกหงษาวดีจะติดถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตด้วย, เชิญเสด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, ยกพยุหโยธาทัพลงมาช่วยรณยุทธปราบปรามข้าศึกให้ปราไชยประลาศไป แล้วจะได้ช่วยกันดำริหการตอบแทนแก้แค้นพระเจ้าหงษาวดีให้ถึงขนาด เสนาบดีครั้นแจ้งในศุภอักษรแล้ว, ก็ภาขุนราชเสนาขุนมหาวิไชย, เข้าเฝ้าทูลโดยสำเนาศุภอักษรเสร็จสิ้นทุกประการ. ๚ะ
๏ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งดั่งนั้นก็ทรงพระโกรธตรัสว่า, พระเจ้าหงษาวดีมิได้ตั้งอยู่ในขัติยราชประเพณี, ประพฤติพาลทุจริตให้ทหารมาสกัดชิงพระเทพกระษัตรีไปครั้งหนึ่งแล้ว, มิหนำยังมีใจกำเริบยกมากระทำย่ำยีพระนครศรีอยุทธยาอีกเล่า, จำจะยกไปตีเปนกระหนาบไปดูหน้าพระเจ้าหงษาวดีจะทำเปนประการใด. ประหนึ่งทั้งทางพระราชไมตรีกรุงศรีอยุทธยาก็จะถาวรวัฒนาการสืบไป, แล้วก็มีพระราชกำหนดให้เตรียมพลห้าหมื่น, ช้างเครื่องสามร้อยม้าสามพัน. ครั้น ณวันเสาร์เดือนสามแรมห้าค่ำ ได้ศุภวารดิถีมหามงคลฤกษอันประเสริฐ, ก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่งพร้อมด้วยแสนท้าวพระยาลาว, แลพลพิริยโยธาหารแห่โดยกระบวนซ้ายขวาน่าหลัง, ดั้งแซงเปนขนัดแน่นนันด้วยเครื่องสรรพสาตราวุธ, ยกออกจากกรุงศรีสัตนาคนหุตรอนแรมมาโดยวิถีทางสถลมารค. ๚ะ
๏ ฝ่ายด่านเมืองนครไทยรู้ข่าวว่า, เมืองล้านช้างยกลงมา, ก็บอกข้อราชการลงไปให้กราบทูลพระมหาธรรมราชา. สมเดจ์พระมหาธรรมราชาแจ้งดั่งนั้น, จึ่งเสด็จไปเฝ้ากราบทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า, บัดนี้กองทัพพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาทางเมืองเพชรบูร, จะลงเมืองสระบุรีเปนทัพกระหนาบ. พระเจ้าหงษาวดีทราบแล้วตรัสถามพระยารามว่า, ทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมานี้, มาช่วยเองฤๅๆไปขอให้มาช่วย. พระยารามกราบทูลว่า,สมเดจ์พระมหินทราธิราชสั่งข้าพเจ้าให้มีศุภอักษร, ขึ้นไปขอกองทัพลงมาช่วย. พระเจ้าหงษาวดีตรัสว่า, ซึ่งทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาครั้งนี้, ครั้นจะละให้มาใกล้ชาวพระนครจะแขงมือขึ้น, การที่จะทำเอาพระนครจะช้าวันไป, จำจะตีเสียให้แตกฉานแต่ไกล, แล้วให้สมเดจ์พระมหาธรรมราชากับพระยาราม, เอาช่างที่มีฝีมือมาแกะตราให้เหมือนตราพระราชสีห์เสร็จแล้ว, จึ่งแต่งเปนศุภอักษรว่า, ทับพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนี้, กรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแต่งออกรับก็หาหักหารได้ไม่, บัดนี้รับแต่มั่นไว้แต่งให้ออกลาดกระเวนตัดเสบียง, กองทัพเมืองหงษาวดีก็ขาดเสบียงลง, จวนจะเลิกถอยไปอยู่แล้ว, ให้เชิญเสด็จพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต, เร่งยกพยุหโยธาลงมากระหนาบก็ได้ไชยชำนะโดยง่าย. ครั้นเสร็จแล้วจึ่งให้สมเดจ์พระมหาธรรมราชา. แต่งไทยซึ่งมีสติปัญาไว้ใจได้ถือรีบไป, แล้วสั่งให้พระมหาอุปราชายกกองทัพขึ้นไปคอยสกัดตี. พระมหาอุปราชาก็เสด็จยกพยุหบาตราทัพโดยสถลมารคแนวน้ำแควป่าสักฟากตวันออก, พักพลซุ่มไว้ใกล้เมืองสระบุรีทั้งสองฟากน้ำ. ๚ะ
๏ ฝ่ายผู้ถือศุภอักษร,ไปภบกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต ณเมืองเพชรบูร, เสนาบดีนำเข้าเฝ้าทูลข้อความตามศุภอักษรทุกประการ. พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแจ้งมิได้รังเกียจสำคัญว่าจริงดีพระไทย, ก็ยกกองทัพรุดรีบลงมาเมืองสระบุรี, ถึงตำบลหมากสองต้น, กองทัพยังมิทันพร้อม. พระมหาอุปราชาก็กำหนดให้ทหารเข้าโจมตี, กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ทันรู้ตัวก็แตก, รี้พลเจ็บป่วยล้มตายเปนอันมาก, พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็ขึ้นช้างหนีไป, กองทัพพระมหาอุปราชาไล่ติดตามไปได้ช้างม้าเปนอันมาก, จับพลลาวเปนได้ประมาณร้อยเสศ, แล้วยกลงมาเฝ้าพระเจ้าหงษาวดีทูลซึ่งได้ไชยชำนะ, แล้วถวายช้างม้ากับเชลยชาวล้านช้างซึ่งได้มานั้น. พระเจ้าหงษาวดีดีพระไทย, จึ่งให้ปล่อยชาวล้านช้างเข้าไปแจ้งเหตุทั้งปวงในพระนคร. ฝ่ายพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, นายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงแจ้งว่า, เสียทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตก็เศร้าใจ, พระเจ้าหงษาวดีก็คิดซึ่งจะเข้าหักเอาพระนครให้ได้. ๚ะ
๏ ฝ่ายสมเดจ์พระมหาธรรมราชา, ครั้นเพลาค่ำก็ให้หาพระยาจักรี, ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีได้ขึ้นไปครั้งพระราเมศวรนั้น, มาเฝ้าแต่สองให้สาบาลแล้วจึ่งตรัสปฤกษาเปนความลับว่า, แต่ก่อนท่านกับเราก็เปนข้าพระเจ้าช้างเผือก. ครั้นนี้มาเปนข้าพระเจ้าหงษาวดีด้วยกัน,ฝ่ายพระเจ้าช้างเผือกก็สวรรคตแล้ว, ตัวเราก็ได้ทำความชอบ, แต่ตัวท่านหามีความชอบสิ่งใดไม่. เราคิดจะให้ท่านมีความชอบไว้ต่อหน้าพระเจ้าหงษาวดี, เราเหนอุบายอันหนึ่งซึ่งจะเปนความชอบของท่านกราบเท่ากัลปาวสาน, ถ้าท่านเปนใจด้วยแล้วก็จะได้เมืองโดยง่าย. พระยาจักรีก็รับว่าจะสนองพระคุณไปกว่าจะสิ้นชีวิตร. สมเดจิ์พระมหาธรรมราชาเอาความลับทั้งนี้, ไปกราบทูลแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ยินดีนัก. จึ่งอุบายให้เอาพระยาจักรีมาลงพระราชอาญา, แล้วให้จำไว้ให้พม่ามอญลาวคุมอยู่สามสิบคน. ครั้นอยู่มาประมาณห้าวันหกวัน,สมเดจ์พระมหาธรรมราชาแต่งคนให้ลอบปล่อยพระยาจักรี, เข้าไปในกรุงสังขลิกพันธ์เข้าน่าที่พระยาธรรมาตรงวัดสพสวรรค์ในเพลากลางคืน. ครั้นรุ่งขึ้นพระเจ้าหงษาวดีทำเปนให้ค้นหาพระยาจักรีทุกกองทัพ, ไม่ภบแล้วก็ให้เอาผู้คุมสามสิบคนไปทเวนรอบกองทัพ,แล้วประหารชีวิตรเสียบไว้น่าค่ายวัดธรรมาในเพลานั้น. พระยาธรรมาก็ภาตัวพระยาจักรีเข้าไปเฝ้า. สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินสำคัญว่า, พระยาจักรีหนีมาจริงมีความยินดีนักก็ให้ถอดเครื่องพันธนาการออกแล้ว, จึ่งพระราชทานบำเหน็จรังวัลเปนอันมาก, ให้พระยาจักรีบังคับการซึ่งจะป้องกันพระนคร. แล้วสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, พระราชทานอาชาสิทธิพระยาจักรี, ให้แห่เครื่องสูงมีปี่กลองชนะแตรสังขประโคมเที่ยวตรวจน่าที่. แลพระยาจักรีนั้นจัดแจงค่ายคูประตูหอรบ, บำรุงทแกล้วทหารรบพุ่งโดยฉันอันจริงมาได้ประมาณเดือนหนึ่ง, แต่นั้นไปเหนเจ้าน่าที่ผู้ใดรบพุ่งเข้มแขงกล้าหาร, ก็พาลผิดลงโทษว่า, ละน่าที่เสียมิได้เปนใจต่อราชการ, แลเอาพลเรือนมาเปนทหาร, เอาทหารไปเปนพลเรือน, นายทัพนายกองทั้งปวงเสียใจ, การศึกก็ถอยกำลังลง,แล้วให้หนังสือลับกำหนดออกไปว่า, ณวันศุกร์เดือนเก้าแรมสิบค่ำให้ยกเข้ามา. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีแจ้งดั่งนั้น, ก็กำหนดให้ท้าวพระยานายทับนายกองทหารทั้งปวง, ซึ่งจะเข้าหักเอาพระนคร, แต่งทหารเปนสี่เหล่า, ๆ หนึ่งใส่เสื้อดำถือดาบดั้ง, เหล่าหนึ่งใส่เสื้อเขียวถือดาบสองมือ, เหล่าหนึ่งใส่เสื้อแดงถือปืนนกสับคาบชุด, เหล่าหนึ่งใส่เสื้อสีม่วงถือหอกทวนดาบสพายแล่ง, ให้พระมหาธรรมราชา, กับพระมหาอุปราชา, ถือพลทั้งนี้ยกเข้าโดยถนนเกาะแก้ว. แลพระเจ้าอังวะพระเจ้าแปรยกเข้าตามน่าที่พร้อมกันทั้งสามถนน, เจ้าน่าที่ก็สาดปืนไฟแหลนหลาวมา, ต้องพลล้มตายเปนอันมาก, พลข้าศึกก็มิได้ถอยเยียดยัดหนุนเนื่องกันเข้าไปมิได้ขาด, เสียงพลเสียงปืนดั่งแผ่นดินจะไหว, แลกองทัพพระมหาธรรมราชา, พระมหาอุปราชา, โจมตีหักเข้าไปได้ค่ายพระมหาเทพ, ๆ แตกถอยเข้าไปตั้งรับอยู่ตำบลน่าวัดโค, วัดกระบือ, แล้วก็แตกเข้ามาตั้งรับตำบลวัดเผาเข้า แล้วก็ซ้ำแตกกระจัดพรัดพราย, คุมกันไม่ติด, ข้าศึกก็เข้าเมืองได้. ๚ะ
๏ เมื่อเสียกรุงพระมหานครแก่พระเจ้าหงษาวดีนั้น, ณวันเสาร์เดือนเก้าแรมสิบเบ็ดค่ำ,ศักราช ๙๓๘ ปีมโรงอัฐศกเพลาเช้าสามนาฬิกา. ขณะนั้นพระมหาอุปราชากับสมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า. ก็เสด็จเข้ามายืนช้างพระที่นั่งน่าพระราชวัง. จึ่งสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดิน, ก็เสด็จด้วยพระราชยานออกไปยังพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า. จึ่งพระมหาอุปราชาก็ให้รับสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินออกไปถวายพระเจ้าหงษาวดี ณพลับพลาวัดมเหยงค์ณ. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทอดพระเนตร์เหนจึ่งตบพระหัตถลงที่ราชอาศน์, แล้วเชิญเสด็จพระมหินทราธิราชให้เข้ามานั่ง สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าก็คลานเข้าไปตามรับสั่ง, แต่ทว่าหาถึงที่ตบพระหัตถไม่. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีจึ่งยกพานพระศรีเลื่อนมา, ให้สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าเสวย, สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้ามิได้เสวย. พระเจ้าหงษาวดีก็หยิบเอาพระศรีในพานประทานให้, สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าก็รับมากำไว้น่อยหนึ่งแล้วจึ่งเสวย. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีจึ่งยิบบ้วนพระโอษฐส่งให้, สมเดจ์พระมหินทราธิราชก็มิได้บ้วนลง. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีจึ่งตรัสว่า, ซึ่งเรายกมากระทำสงครามทั้งนี้, เปนประเพณีกระษัตริย์ขัติยราชจะเอาไชยไว้เกียรติยศ, แผ่ขอบขันทเสมาอาณาจักร์ให้กว้างขวางในทิศานุทิศทั้งปวง, เจ้าอย่าโทมนัศน้อยพระไทยเลย, จะเชิญขึ้นไปอยู่กรุงหงษาวดีด้วยกัน. แล้วสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีจึ่งตรัสแก่พระมหาธรรมราชา, ให้นำสมเดจ์พระมหินทราธิราชไปทำนุบำรุงไว้, พระเจ้าหงษาวดีก็ให้เทเอาครัวอพยบชาวพระนคร แลรูปภาพทั้งปวงในน่าพระบัญชรชั้นสิงห์นั้นส่งไปเมืองหงษาวดี, แล้วทรงพระราชดำริห์การซึ่งจะราชาภิเศกสมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า, ให้ครองกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา. จึ่งไว้พระยานครศรีธรรมราช, พระศรีอรรคราช, ขุนเกษตราธิบดี, ขุนรักษมณเฑียร, หมื่นนรินทร์เสนี, แลขุนหมื่นทั้งปวงร้อยหนึ่ง, แลไพร่พลชายหญิงอพยบหมื่นหนึ่ง, ให้อยู่สำหรับกรุงศรีอยุทธยา ๚ะ
----------------------------
๏ แผ่นดินพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเปนสมเดจ์พระสรรพเพช ๚ะ
๏ ลุศักราช ๙๑๘ ปีมโรงอัฐศก ณวันศุกรเดือนอ้ายขึ้นหกค่ำ พระเจ้าหงษาวดีให้แต่งการพระราชพิธีปราบดาภิเศก,สมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า,เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติผ่านพิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยา,ทรงพระนามสมเดจ์พระสรรเพชวงษกุรสุรโยดมบรมมหาธรรมราชาธิราชราเมศรปวเรศธรรมิกราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพ นฤบดินทรภูมินทรเทพสมมัตติราชบรมบพิตรเจ้ากรุงพระนครศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธาณีบูรีรมย์, เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษา,พระเจ้าหงษาวดีก็ให้พระสุนทรสงคราม, อันส่งไปหงษาวดีขณะเมื่อครั้งได้พระราเมศวร,กับช้างเผือกสี่ช้างไปนั้น,อยู่เปนพฤฒามาตยสำหรับพระองค์ แลไว้เมืองนครพรหมแลพลสามพันให้อยู่ช่วยรักษาพระนคร. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ตรัสแก่สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าว่า, จงจัดพระสนมแลราชบริวารแลเครื่องราชูประโภคทั้งปวงออกมา, จะได้ขึ้นไปด้วยกัน, แล้วมีพระราชบัญชาตรัสแก่สมเดจ์พระมหาธรรมราชาว่า, ให้จัดเครื่องราชปีลันทนาสรรพาภรณสำหรับขัติยาธิบดี, แลพระสนมราชบริวารส่งให้สมเดจ์พระมหินทราธิราชด้วย. สมเดจ์พระมหาธรรมราชาก็จัดให้ตามรับสั่งทุกประการ. แล้วสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จเลิกพลพยุหบาตราทัพกลับไปทางเมืองกำแพงเพชร,สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าก็โดยเสด็จ, ครั้นถึงแดนเมืองแครง, สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก, ลักไวทำมูเอาพระอาการมากราบทูลสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดี, ๆ จึ่งพระราชทานแพทย์ไปรักษา, แล้วตรัสคาดโทษแพทย์มาว่า, ถ้าสมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าทิวงคตจะลงโทษถึงสิ้นชีวิตร์. ครั้นรุ่งขึ้นสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จมาเยือนจึ่งตรัสว่า, อดส่าเสวยยาแลพระกระยาหารอย่าท้อแท้พระไทยเราจะได้ไปด้วยกัน, ครั้นพระราชทานโอวาทดั่งนั้นแล้ว, ก็เสด็จกลับมาพลับพลา, สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีแต่ประทับแรมอยู่ที่นั่นถึงสิบเบ็ดเวน, สมเดจ์พระมหินทราธิราชเจ้าก็สวรรคต. สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีทรงพระโกรธตรัสให้ลงพระราชอาชญาแก่แพทย์พะม่ามอญไทยสิบเบ็ดคนแล้วพระราชทานเพลิงเสรจ์ทรงพระกรุณาให้เอาพระอัฐิแลพระสนมเครื่องราชูประโภคทั้งปวง, ให้พม่ามอญลาวคุมลงมาส่งยังพระนครศรีอยุทธยาแล้วสมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จไปเมืองหงษาวดี. ๚ะ
๏ ฝ่ายสมเดจ์พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าแผ่นดินตรัสเอาพระสุนทรสงคราม, เปนพระยาธรรมาธิบดี. ตรัสเอาพระยาศรีธรรม, เปนพระยาพระเสด็จ. ตรัสเอาพระยาเพทราชา, เปนพระยาอินทราธิบดีพระนครบาล. ตรัสเอาพระยาเลื่อง, เปนพระยาจักรี. ตรัสเอาขุนหลวงเสนามาตย์, เปนพระยาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม. ตรัสเอาพระศรีเสาวราช, เปนพระยาเดโช. ตรัสเอาพระจันทบุรี, เปนพระท้ายน้ำ. ตรัสเอาพระศรีอัคราชคง, เปนที่พระคลัง. ตรัสเอาขุนจันทรา, เปนพระยาพลเทพ แล้วก็ตั้งพระหัวเมืองมนตรีมุขทหารพลเรือนทั้งปวงทุกกระทรวงการ, แล้วให้ซ่องจัดไพร่พลหมู่องครักษจักรนารายน์ชาวดาบชาวเรือ, แลหมู่ทหารอันกระจัดพรัดพรายทั้งปวงประมูลเข้ามาโดยหมู่โดยกรม, แล้วก็ให้จัดซ่องไพร่พลหมู่สิบสองพระกำนัล, แลหมู่พลเรือนทั้งปวงอันกระจัดพรัดพรายนั้น, มาประมูลไว้โดยหมู่โดยกรมรับราชการทุกพนักงานแล้ว,ก็ตั้งท้าวพระยาสามนต์ราชแลพระหัวเมืองทั้งหลาย, ให้ออกไปอยู่ครองอาณาประชาราษฎรทุกหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง, สำหรับขอบขันธเสมากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา, โดยบูรพประเวณีพระเจ้าแผ่นดิน สยามาธิราชเจ้าแต่ก่อนมา. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๙๑๙ ปีมเสงนพศกเดือนยี่, พระยาลแวกยกช้างม้ารี้พลมาทางนครนายก, แลไพร่พลพระยาลแวกมาครั้งนั้นประมาณสามหมื่น กรมการเมืองนครนายกบอกข้อราชการเข้ามาณกรุง, มุขมนตรีจึ่งเอาหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัว, ๆ ครั้นตรัสทราบ, ก็ให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองมุขมนตรีทั้งหลายพิภาคษาว่า, เมื่อพระยาลแวกยกช้างม้ารี้พลมาดั่งนี้, ท้าวพระยาทั้งหลายจะคิดประการใด. จึ่งพระยาเพทราชาผู้เปนพระยาอินทรานครบาลทก็ทูลว่า, กรุงพระมหานครไซ้พึ่งเปนอันตรายรี้พลบอบบางยังมิได้สมบูรณ, แลทหารซึ่งจะขึ้นประจำน่าที่รอบพระนครนั้นเหนมิครบน่าที่.อนึ่งปืนใหญ่น้อยสำหรับพระนครนั้น,สมเดจ์พระเจ้าหงษาวดีก็เอาไปเปนอันมาก. แลปืนซึ่งตั้งช่องทั้งปวงนั้นเปนอันน้อยนัก, ทั้งกระสุนดินประสิวก็ยังมิได้ประมูลไว้สำหรับที่จะกันพระนคร, แลซึ่งจะตั้งอยู่รบพุ่งป้องกันพระนครครั้งนี้เหนเหลือกำลัง, ขอเชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองพระพิศณุโลกย์ให้พ้นราชศัตรูก่อน. ท้าวพระยาพระหัวเมืองมนตรีทั้งหลายก็ลงเปนคำเดียวพระยาเพทราชา, สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ตรัสบัญชาตามท้าวพระยาทั้งหลาย. จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่ขุนเทพวรชุนให้แต่งเรือพระที่นั่ง. แลเรือพระประเทียบให้สรัพ. ในขณะนั้นพระเพชรัตนเจ้าเมืองเพชรบุรีมีความผิด, ทรงพระกรุณาให้ยกออกเสียจากน่าที่. พระเพชรรัตนก็คิดเปนกระบถ, แลซ่องสุมชาวนอกทั้งปวงไว้มากแล้ว, คิดจะปล้นทัพหลวงเมื่อเสด็จขึ้นไปนั้น. จึ่งสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ตรัสถามขุนเทพวรชุนด้วยเรือพระที่นั่งทั้งปวง, แล้วตรัสถามว่า, ซึ่งจะไปจากพระนครนี้, ขุนเทพวรชุนยังคิดเหนประการใด. จึ่งขุนเทพวรชุนกราบทูลว่า,พระยาลแวกมาครานี้มิได้เปนศึกใหญ่, ขอทรงพระกรุณาเสด็จอยู่, แลให้รบพุ่งป้องกันพระนครให้รู้จักษ์กำลังศึกก่อน. ครั้นจะด่วนละพระนครเสียไซ้, พระเจ้าหงษาวดีจะตรัสติเตียนได้. สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวตรัสเหนชอบด้วย, ก็มีพระราชโองการตรัสสั่งขุนเทพวรชุนให้เตรียมเรือพระที่นั่ง, แลตรวจจัดพลสำหรับเรือพระที่นั่งไว้ให้สรรพ. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาลแวกก็ยกทัพเข้ามาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยา, แลตั้งทัพตำบลบ้านกะทุ่ม. ขณะนั้นสมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว, ก็ตรัสให้เมืองนครพรหม, แลพลชาวเมืองหงษาวดีสามพันอยู่ประจำน่าที่ในขื่อน่า. แล้วท้าวพระยาพระหัวเมืองทั้งปวง ตรวจพลทหารขึ้นประจำน่าที่กำแพงแลรายกันอยู่รอบพระนคร. พระยาลแวกยกพลเข้ามายืนช้างในวัดสามพิหาร, แลพลฆ่าศึกรายกันมาถึงวัดโรงฆ้องแลวัดกุฎีทอง. แล้วเอาช้างมายืนอยู่ในวัดพระเมรุราชิการามประมาณสามสิบช้าง, พลประมาณสี่พัน. พระยาลแวกให้พลทหารลงเรือห้าลำข้ามเข้ามาปล้นในมุมเจ้าสนุก. สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปยืนพระราชยาน, แลให้พลทวยหารขึ้นรบพุ่งข้าศึกก็พ่ายออกไป. จึ่งตรัสให้ยิงปืนจ่ารงค์เอาช้างข้าศึกซึ่งยืนอยู่ในวัดสามพิหารนั้น, ต้องพระจำปาธิราช, ซึ่งเปนกองน่าตายกับฅอช้าง, พระยาลแวกก็ยกถอยคืนไปยังทัพบ้านป่ากะทุ่ม, แต่ยกเข้ามาปล้นถึงสามครั้งก็มิได้. พระยาลแวกก็ล่าทัพกลับไปจึ่งกวาดเอาตำบลบ้านนา, แลนครนายกไปเมืองลแวก. ๚ะ