๒๘
๏ แผ่นดินพระเจ้าตากสิน
๏ อนึ่งแต่ณวันเสาร์เดือนญี่ขึ้นสี่ค่ำปีจออัฐศก ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหาร นับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า ตรัสทราบพระญาณว่า กรุงศรีอยุทธยาจะเปนอันตราย แต่เหตุที่อธิบดีเมืองแลราษฎรมิเปนธรรม จึ่งอุษาห์ด้วยกำลังกรุณา แก่สมณพราหมณาจารย์แลบวรพุทธสาศนาจะเสื่อมสูญ จึ่งชุมนุมพักพวกพลทหารจีนไทย ประมาณพันหนึ่ง สรัพด้วยเครื่องสาตราวุธ ประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน พรหมเสนา ขุนอภัยภักดี หลวงพิไชยอาษา หมื่นราชเสน่หา หลวงราชเสน่หา ยกออกไปตั้งณวัดพิไชย อันเปนมงคลสฐาน ด้วยเดชบรมโพธิสมภาร เทพยเจ้าอภิบาลรักษาพระบวรพุทธสาศนา ก็ส้องสาธุการบันดานให้วรรษาการห่าฝนตกลงมาเปนมหาวิไชยฤกษ จับเดิมแต่นั้นมาจึ่งให้ยกพลพยุห์กองทัพออกจากวัดพิไชย ฝ่ากองทัพพะม่าออกมาเปนเพลาย่ำฆ้องค่ำ ยามเสาร์ได้รบกันกับพม่า ๆ มิอาจต่อต้านบาระมีได้ ถอยไป ก็ดำเนินด้วยพลทหารโดยสวัสดิภาพไปทางบ้านเข้าเม่า ก็บันลุถึงบ้านสามบัณฑิตย์ ๚ะ
๏ เพลาเที่ยงคืนประมาณสองยามเสศ เพลิงเกิดในกรุงเทพมหานคร ไหม้แต่ท่าทรายตลอดถนนหลวง ไปจนถึงวัดฉัตรทันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจโชตะนาการ ครั้นได้ทัศนาการเหนก็สังเวศสลดใจ ด้วยอาไลยถึงสมณพราหมณาจารย์ ขัติยวงษาณุวงษแลเสนาพฤฒามาตยราษฎร แลบวรพุทธสาศนามิใคร่จะไปได้ ดุจมีใจย่อหย่อนจากอุษาห ซึ่งตั้งปะนิธานจะแก้กรุงเทพมหานคร กับทั้งบวรพุทธสาศนา เทพยเจ้าจึ่งดลใจให้ตั้งสะติสมปฤดี มีกำลังกรุณาอุษาห ๚ะ
๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตย์เดือนยี่ขึ้นห้าค่ำ ลุศักราช ๑๑๒๘ ปีจออัฐศก ให้ยกกองทับไปถึงบ้านโพสาวหาร พะม่ายกกองทับติดตามไป จึ่งให้ตระเตรียมพลทหารจีน ทหารไทยไว้ ครั้นกองทับพม่ายกมาถึง จึ่งดำเนินนำหน้าพลทหารออกรบเปนสามารถ พม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไปเกบได้เครื่องสาตราวุธเปนอันมาก จึ่งอยุดประทับแรมอยู่ณะบ้านพรานนก ฝ่ายทแกล้วทหารออกไปลาดเที่ยวหาอาหาร จึ่งภบกองทับพม่ายกมาแต่บางคาง พม่าไล่ติดตามมาถึงที่ประทับ จึ่งขึ้นมากับม้าทหารสี่ม้า ออกรับกองทับพม่าก่อน จึ่งกองทับทั้งปวงตั้งเปนปีกกา ออกรบแซงสองข้าง กองทับพะม่าสามสิบม้า แตกย่นหกหลังลงไปถึงพลเดินท้าว ๒๐๐๐ แตกกระจายไป ๚ะ
๏ ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวง เหนกำลังบุญฤทธิ์เปนอัศจรรย์ดังนั้น ก็ยำเกรง ยกย่องว่า เปนจอมกระษัตริยสมมัติวงษ์ ๚ะ
๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันจันทร์เดือนยี่ขึ้นหกค่ำปีจออัฐศก ขุนชำนาญไพรสนแลนายกองสาภิภักดิ์เอาช้างมาถวายพลายห้าพังหนึ่ง เปนหกช้าง จึ่งนำเสด็จดำเนินไปถึงบ้านดง อยุดประทับร้อนในที่นั้น แล้วสั่งให้หาขุนหมื่นพันท์นายบ้านออกมาจะประสาทราโชวาทโดยดี ขุนหมื่นพันท์นายบ้าน มิได้เชื่อบาระมีขัดแขงคิดประทุษร้าย ซ่องสุมทหารโยธาไว้คอยจะปองทำร้าย ๚ะ
๏ ครั้นตรัสแจ้งเหตุนั้นแล้ว มิได้จองเวรว่าเปนข้าขอบขันทเสมา มีอิจฉาการ แต่จะให้เปนศุขพร้อมกัน จึ่งให้ทหารไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมโดยธรมราชประเพณีสามครั้ง ก็มิได้อ่อนน้อมท้าทายอีก ดำริหว่าเปนผลกรรม์แห่งสัตวทั้งปวงแล้ว ๚ะ
๏ ครั้นณวันอังคารเดือนยี่ขึ้นแปดค่ำปีจออัฐศก จึ่งขึ้นม้านำพลทหารยี่สิบฝ่าเข้าไป ขุนหมื่นทหารชาวบ้านดงมากกว่าพัน ออกต่อสู้ยิงปืนสกัดน่าหลังทำอันตราย ด้วยเดชบาระมีจะได้ถูกต้องผู้ใดๆ หามิได้ จึ่งขับม้านำหมู่ทหารบุกรุกไล่เข้าไป ให้ทหารปีนขึ้นหักค่ายเข้าได้ ไล่ตะลุมบอนฟันแทงทหารชาวบ้านดง ก็แตกกระจายแหกค่ายหนีไป ได้ช้างพลายช้างพังเจ็ดช้าง ได้หิรัญสุวรรณ์พัญาหารเปนอันมาก ๚ะ
๏ ครั้นณวันพุธเดือนยี่ขึ้นเก้าค่ำปีจออัฐศก ยกพลทหารออกมาประทับตำบลหนองไม้ทรุม ตามทางบ้านเมืองนครนายก ประทับร้อนแรมไปประมาณสองวันถึงบ้านนาเริ่งอยุดประทับ ยกแต่นั้นวันหนึ่ง จึ่งถึงเมืองปราจินท์ ข้ามด่านกบแจะอยุดภักพลหุงอาหารฝ่ายฟากตวันออก แล้วให้พลนิกายข้ามทุ่งไปจนเพลาบ่ายห้าโมง ตรัสทราบว่าพระเชียงเงิน ขุนพิพิตรวาที นักพระองค์รามเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีมามิทัน จึ่งทรงม้ามากับหลวงพรหมเสนา จะเร่งพวกพระเชียงเงินมิได้พบ ๚ะ
๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันจันทร์เดือนยี่ขึ้นสิบสามค่ำ ให้ยกพลทหารเข้าไปในป่าอยุดประทับที่สำนักหนองน้ำหุงอาหารสำเร็จแล้ว เพลาบ่ายประมาณสองโมง จึ่งพระเชียงเงินมาถึงให้โบยสามสิบทีแล้ว ก็ตรัสเหนกิริยาว่ามิเปนใจด้วยราชการ จึ่งสั่งให้ประหารชีวิตรเสีย นายทับนายกองทูลขอชีวิตรไว้ ครั้นเพลาบ่ายประมาณสี่โมง พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเลื่อยล้าวิ่งหนีมาตามทาง ทอดพระเนตรเหนจึ่งให้นายบุนมี ขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปได้ประมาณสองร้อยเส้น ภบกองทับพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ ทั้งทับบกทับเรือ มาขึ้นที่ท่าข้าม ครั้นเหนธงเทียวเสียงฆ้องกลองเสียงพูดจากันว่าเปนพม่ามั่นคงแล้ว ก็กลับม้าขวบมากราบทูลตามได้เหนนั้น จึ่งสั่งให้พลทหารตั้งปืนใหญ่ตับใหญ่ตับน้อยดาไว้ต่างค่าย แล้วให้คนหาบเสบียงครอบครัวไปก่อน แต่พระองค์กับทหารประมาณร้อยเสศ คอยรับพะม่า ครั้นเพลาบ่ายโมงเศศ พม่ายกกองทับมาถึง จึ่งเสด็จนำน่าทหารด้วยหลวงชำนาญไพรสนท์ พระเชียงเงิน นายบุญมี นายทองดีทหาร นายแสงทหาร ออกไปรับฬ่อพะม่านอกปืนใหญ่น้อยซึ่งดาไว้ประมาณหกเส้นเจดเส้น พะม่ายกทับเรียงเรียบมาจำเภาะในพงแขม ครั้นเข้ามาใกล้ได้ทีแล้วจึ่งให้ยิงปืนเปนอันหนึ่งอันเดียว ถูกพะม่าล้มตายเปนอันมาก พม่าที่ยังอยู่นั้นอุดหนุนกันเข้ามาอีก จึ่งฬ่อให้ไล่เข้ามาแล้วยิงปืนใหญ่น้อยถูกพะม่าล้มตายทับกันเปนอันมาก พม่าอุดหนุนกันเข้ามาอีก วางปืนตับเข้าโครมสาม พม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป จึ่งให้พลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับ พม่าแตกหนีไปจะคุมกันเข้ามิได้ จึ่งให้ยกพลนิกายประทับตามลำดับ บ้านหัวทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ นายกลม คุมไพร่พลทหารอยู่ที่นั้น, คอยสกัดคิดประทุษร้าย จึ่งทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพยุทธ, ทรงพระแสงปืนต้นรางแดง กับด้วยหมู่โยธาทหารเข้าไปในรว่างทหารนายกลมอยู่นั้น ด้วยเดชบรมโพธิสมภาร นายกลมแลพวกโยธาทหารทั้งนั้น, ให้สยดสยองกลัวพระอานุภาพ, วางสาตราวุธเสีย แล้วถวายบังคมอ่อนน้อมเปนข้าใต้ลอองฯ จึ่งนำเสด็จดำเนินเข้าไปประทับในสฐานอันเปนศุขสมควร, แล้วพระราชทานราชทรัพย์แลราโชวาท, ให้ตั้งอยู่ในยุติธรรม. ๚ะ
๏ ครั้นรุ่งขึ้นณวันอาทิตย์เดือนญี่แรมหกค่ำ, นายกลมคุมไพร่ร้อยหนึ่ง, นำเสด็จไปถึงทับอยุดประทับแรมอยู่ที่นั้น, รุ่งขึ้นยกมานาจอมเทียน ประทับแรมอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง, แล้วจึ่งมาแรมทุ่งไก่เตี้ย. รุ่งขึ้นมาประทับแรมสัตหีบ, แล้วยกมาชายทะเล ประทับแรม, เพลารุ่งขึ้นมาประทับแรมหินโด่ง, รุ่งขึ้นมาประทับแรมน้ำเก่า. ผู้รั้งบุญ,เมืองระยอง, กับกรมการทั้งปวง, ชวนกันมาต้อนรับเสด็จ, ถวายธัญาหารเกวียนหนึ่ง นำดำเนินมาถึงท่าประดู่, จึ่งพระราชทานปืนคาบสิลาบอกหนึ่งแก่ผู้รั้งเมืองระยอง, เสด็จมาประทับอยู่ ณวัดลุ่มสองเวน, สั่งให้จัดลำเลียงอาหารตั้งค่ายขุดคู, แลนายบุญรอดแขนอ่อน, นายหมวด, นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรี, เข้ามาถวายตัวทำราชการ. จึ่งนำเอาคุยหรหัถคดีมากราบทูลว่า, ข้าพระพุทธเจ้าแจ้งเหตุว่า, ขุนราม, หมื่นซ่อง, นายทองอยู่นกเล็ก, ขุนจ่าเมืองด้วง, หลวงพลแสนหาร กรมการเมืองระยอง, คบคิดกันคุมภักพวกพลทหารประมาณพันห้าร้อยเสศ, จะยกเข้ามากระทำประทุษฐร้าย. จึ่งมีพระราชบริหารดำรัศสั่งให้หาผู้รั้งเมืองมาถามว่า, กูมากระทำราชกิจทั้งนี้, ด้วยกรุณาจิตร, จะให้สมณทวิชาจารย์ประชาราษฎรทั้งปวงเปนสมานุศุขสามคี,มิได้มีวิหิงษาการอุบาย ประพฤดิทุจริตแก่ท่านทั้งปวงประการใดหามิได้ แลขุนหมื่นทั้งนี้คบคิดการจะทำประทุษฐร้าย, แต่กูมีกรุณาจิตรนี้, ยังจะจริงดุจหนึ่งนี้ฤๅประการใด. ผู้รั้งเมืองมิรับ, ตรัสทราบพระญาณด้วยอาการกิริยา. จึ่งตรัสสั่งให้หลวงพรหมเสนาคุมตัวจำไว้, แล้วมิไว้พระราชหฤไทย จึ่งสั่งให้ทหารตระเตรียมตัว, สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ผูกช้างม้าปืนใหญ่น้อยตั้งจุกช่องทางครบไว้สรรพ. ๚ะ
๏ ครั้นณวันเพลาประมาณทุ่มเศศ อ้ายเหล่าร้ายยกพลให้ทหารลอบเข้ามาตั้งค่ายล้อมได้สองด้านแล้ว, โห่ร้องยิงปืนใหญ่น้อยรดมเข้ามา, จึ่งตรัสให้ดับแสงเพลิงเสีย. จัดทหารประจำน่าที่สงบกันไว้แล้ว, เสดจกับด้วยทะหารจีนทะหารไทย, ๆ ถือปืนคาบศิลา, หลวงชำนาญไพรสน, นายทองดีทหาร, หลวงพล, หลวงเชียงเงินท้ายน้ำ, หลวงพรหมเสนา, นายบุญมี, นายแสงทหาร, นายศรีสงคราม, นายนากทหาร, ธำมรงคอิ่ม, ทหารจีน, หลวงพิพิตร, หลวงพิไชย, ขุนจ่าเมืองเสือร้าย, หมื่นท่อง, หลวงพรหม, ถือดาบง้าว. เสด็จออกเที่ยวตรวจตรารอบค่ายดูท่าทางฆ่าศึก, จะเข้ามาแห่งใดตำบลใด. แลอ้ายเหล้าร้ายชื่อขุนจ่าเมืองด้วง, กับทหารประมาณสามสิบคน, ล้อมใต้ตะพานวัดเนิน, เข้ามาใกล้ค่ายหลวงประมาณห้าวาหกวา. จึ่งสั่งให้วางปืนพร้อมกัน, ถูกขุนจ่าเมืองด้วงกับทหารทั้งปวง, ซึ่งเดินตามกันนั้นตกตะพานลงพร้อมกัน, ตายเปนอันมาก. จึ่งตรัสให้ทหารจีนเข้าตะลุมบอน, ฟันแทงฆ่าศึกหักค่ายอ้ายเหล่าร้าย, ล้มตายแตกหนีไป, หมู่ทหารไล่ติดตามไปทางประมาณ ๕๐ เส้น ๖๐ เส้น, จึ่งให้ลั่นฆ้องไชยสัญญาเรียกพลทหารเข้าค่ายให้พร้อม, แลหมู่ทหารทั้งปวงเข้าในค่าย, จุดเพลิงเผาขึ้นแห่งหนึ่ง. เก็บเอาเครื่องสาตราวุธ หิรัญสุวรรณวัดถาทัญาหาร, ครอบครัวเปนอันมาก. ตรัสให้ยับยั้งอยู่บำรุงทแกล้วทหาร,ให้มีกำลัง ณเมืองระยองนั้นช้านานประมาณ ๗ วัน ๘ วัน ๚ะ
๏ ครั้นณวัน ๚ะ จึ่งสั่งให้ประชุมเสนาทหารนายทับนายกองไทยจีนทั้งปวงพร้อมกัน, จึ่งตรัสประภาษให้ปฤกษาว่า,เราจะกระทำการทั้งนี้,ด้วยวิเหษาอาธรรมหามิได้. จะให้เปนศุขมีประโยชน์, แก่สมณพราหมณาประชากรทั้งปวง, จึ่งจะเปนเกียรติยศสืบไป และเมืองจันทบุรีนี้จะถึงแก่กาลพินาศ, ดุจเมืองระยอง. เอนดูสัตวทั้งปวง, จะเหนผู้ใดมีอาฌาไศรยจะให้ไปเจรจาโดยยุติธรรม. ให้พระยาจันทบุรีอ่อนน้อมลง, อย่าให้เกิดยุทธสงครามได้ความเดือดร้อนแก่สมณพราหมณาประชาราษฎรได้นั้น. จึ่งเสนาบดีนายทับนายกองทั้งปวงปฤกษาพร้อมกัน, กราบบังคมทูลว่า, เหนแต่นายบุญมีมหาดเล็ก, นายบุญรอดแขนอ่อน, นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบุรี,สามคนนี้จะได้ราชการ. ๚ะ
๏ ครั้นตรัสเหนด้วยแล้ว, จึ่งสั่งให้ไปตามคำปฤกษา. จึ่งนายเผือกญวน, นักมาเขมร, รับอาษาภาข้าหลวงสามคนไปโดยทางชลมารค, แต่ณวันไปอยุดอยู่ปากน้ำระยอง. ใช้ใบไปประมาณห้าวัน,ถึงปากน้ำจันทบุรี. ครั้นเพลารุ่งขึ้นเช้าจึ่งเข้าไปหาพระยาจันทบุรี, เจรจาโดยธรรมราชประเพณีกระแสรับสั่งนั้น. ๚ะ
๏ พระยาจันทบุรีมีความยินดี, สั่งให้ขุนจางวางทำสัมมาคารวะเลี้ยงดูโดยปรกติยิงยอมด้วย, ว่าอิก ๑๐ วันข้าพเจ้าจึ่งจะแต่งออกไปรับเสดจ,ณะกองทับเข้ามาณะเมืองจันทบุรี จะได้คิดราชการแก้ฝีมือพม่า ครั้นณะวันเพลาบ่ายสามโมงจึ่งแต่งเรือรบลำหนึ่งมีพลกะเชียงยี่สิบ,สรรพด้วยเครื่องอาวุธ. พระยาจันทบุรีลงเรือด้วยข้าหลวง, นายเผือก, นักมา. ขึ้นบนสาลาเทพารักษ์, ชวนกันให้กระทำความสัจแก่กัน, แล้วกลับแคลงมาถามว่า, เราได้ให้ความสัจเปนมิสหายร่วมชีวิตรกันแล้ว, อย่าได้อำพรางกัน. เหตุผลร้ายดีประการใด, จงบอกกล่าวแก่เราแต่ตามจริงเถิด ๚ะ
๏ ข้าหลวงจึ่งตอบว่า, เราได้เปนมิตรร่วมชีวิตรเดียวกันด้วยท่านแล้ว, จะสู้เสียชีวิตรรักษาสัจธรรมนั้นไว้มิให้เสีย, ท่านอย่าได้แคลงใจเลย อันสมเดจพระเจ้าอยู่หัวแห่งเรานี้, มีพระราชจริตปราศจากฬ่อลวง ถ้าจะมีราชบริหารตรัสสิ่งใดแล้ว, ก็เปนสัตย์มิได้หวาดไหว, ตั้งพระไทยสถิตอยู่ในพรหมวิหาร, เพื่อจะให้เปนพระพุทธบารมีสืบไป. อันบุคคลผู้ใดมิได้คิดประทุษฐร้ายก่อนแล้ว, และจะได้เบียดเบียฬนั้นมิได้มีเลย. ท่านจงตั้งภักดีจิตรอย่าให้จลาจล. พระยาจันทบุรีมีใจยินดีสวามีภักดี, แล้วฝากเครื่องราชกระยาหารให้มาถวาย, แล้วข้าหลวงก็ออกจากปากน้ำจันทบุรี, วันหนึ่งก็ถึงปากน้ำระยอง, จึ่งเอาเนื้อความนั้นกราบทูล. ครั้นได้ทรงฟังก็มีพระวิจารณราชดำริหโดยรอบคอบแล้ว, ทรงพระมัทยัดไว้ในพระราชหฤไทย. ครั้นอยู่มาประมาณ ๑๐ วันถึงปัฏิญาณสัญญาแล้ว, พระยาจันทบุรีจะได้มาหามิได้. ใช้ให้คนเอาเข้าเปลือกบันทุกเรือประมาณสี่เกวียน, มาถวายณเมืองระยอง. ๚ะ
๏ ครั้นณวัน ๚ะ นายบุญเรืองมหาดเล็ก, ผู้รั้งบางละมุงคุมไพร่ ๒๐ คนว่า, พม่าใช้ให้ถือหนังสือออกไปเมืองจันทบุรี, ให้แต่งดอกไม้ทองเงินเข้าไปณะโพสามต้น. พระหลวงขุนหมื่นนายทับนายกองแจ้งกิจนั้นมิได้ไว้ใจ, ว่าเปนพวกพม่า ๆ ให้มาด้วยกลอุบายใช้ให้ติดตามเรา,จะไว้ใจให้อยู่ในกองทับเรามิได้, ด้วยเอาไจออกหากจากกรุงเทพแล้ว และนายบุญรอดแขนอ่อน, กราบทูลจะขอเอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย. ทรงพระพรุณาขอชีวิตรไว้, จึ่งตรัสประภาษด้วยพระราชอธิบายว่า, พม่ามาล้อมกรุงฯครั้งนี้, ผู้ใดจะตั้งใจเข้าด้วยพม่านั้นหามิได้, แต่ถึงกาลแล้วหากจำเปน. อนึ่งนายบุญเรืองผู้รั้งบางละมุง, มิได้เปนข้าใช้เรามาแต่ก่อน, เหนภอจะได้ราชการอยู่. แล้วราชการเมืองจันทบุรีก็ยังมี, ผู้รั้งบางลมุงกับพระยาจันทบุรี, เปนมิตรชอบกัน เราจะใช้ให้เอาหนังสือพม่านี้ไปถึงพระยาจันทบุรี, ๆ ก็จะยกกองทับมารับเราเข้าไปคิดราชการด้วยกันตามปฏิญาณสัญญา, แลจะได้แจ้งในความสัตย์สุจริตนั้นด้วย. ๚ะ
๏ อนึ่งพม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี, แลล้อมกรุงเทพ, ๆ ได้มีหนังสือบอกมาถึงพระยาราชาเสรฐี, พระยาราชาเสรฐีแต่งกองทับลำเลียงอาหาร, เข้ามาช่วยถึงปากน้ำ. พม่าทำอันตรายสกัดทางอยู่ไปมิถึง, สิ้นเสบียงอาหารแล้วกลับไป, เหนว่าความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่. บัดนี้เราจะให้มีศุภอักษร, ไปให้พระยาราชาเสรฐียกพลทหารเข้ามาช่วยกันตีพม่า, ซึ่งตั้งอยู่เมืองธนบุรี, จึ่งจะเปนความชอบแก่พระยาราชาเสรฐีสืบไป, นายทับนายกองทั้งปวงเหนชอบด้วย. จึ่งให้แต่งศุภอักษร, ออกไปเมืองพุทไธมาศ. ๚ะ
๏ ณวันเดือนสี่แรมค่ำศก, เมื่อเสดจสถิตย์ณเมืองระยองนั้น, หมู่ประจามิตรซึ่งแตกไปจากเมืองระยอง, ลักลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าเนือง ๆไป. จึ่งตรัสว่าเรากรุณามันว่า, เปนข้าในขันทเสมาจะใคร่ทะนุบำรุง, จึ่งมิได้กระทำอันตราย, มันก็ได้อ่อนน้อมยังจะคิดประทุษฐร้ายสืบไป, ก็เปนผลวิบากให้บังเกิดเปนอาสัจอาธรรมฉนี้, จะละไว้มิได้. จึ่งกรีธาพลทหารยกออกจากเมืองระยอง, ไปณบ้านกระแสบ้านไร่บ้านดำบ้านตราแกลง, ซึ่งอ้ายขุนรามหมื่นช่องตั้งอยู่นั้น. ครั้นเพลาอุษาโยกทรงเครื่องราชวิภูสิต, สำหรับรณรงค์ยุทธสงคราม, เสดจนำพลทหารเข้าไล่กระโจมฟันแทงยิงปืนใหญ่ปืนน้อย, อ้ายเหล่าร้ายแตกตื่นไป. แลอ้ายขุนราม, หมื่นช่องหนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี, จับได้ทหารหมื่นช่องนายบุญมีบางเหี้ย, นายแทน, นายมี, นายเมืองพม่า, นายสนหม, นายบุญมีบุตรนายสน, ครอบครัวช้างม้าผู้คนโคกระบือเกวียน, ซึ่งอ้ายเหล่าร้ายลักเอาไปไว้แต่ก่อนเปนอันมาก. แล้วเสดจยกพลนิกายกลับมาณเมืองระยอง, บำรุงทแกล้วทหาร, เครื่องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อย เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร, อันแตกตื่นออกไปอยู่ป่าดง, ได้เปนอันมาก ก็เสดจยับยั้งถ้าพระจันทบุรีอยู่ณป่าดง. ๚ะ
๏ ครั้นณวันเดือนสี่แรมสิบสี่ค่ำศก, พระยาพิไชย, แลนายบุญมี,ไปถึงปากน้ำพุทไธมาศ. จึ่งนำเอาศุภอักษร, และสนองพระองค์อย่างฝารั่งขึ้นไปพระราชทาน, แลเจรจาตามศุภอักษรนั้น พระยาราชาเสรฐีก็มีความยินดี, ว่าระดูนี้จะเข้าไปขัดด้วยลมจะมิทัน ต่อเดือนแปด,เดือนเก้า,เดือนสิบ, จึ่งจะยกพลทหารเข้าไปช่วยราชการ. ครั้นณวันอาทิตย์เดือนห้าแรมสิบสี่ค่ำศก, ได้ศุภอักษรตอบ, แลเครื่องราชบรรณาการ, มาถึงปากน้ำระยอง ณวัน ๚ะ นายบุญมีจึ่งนำเอาองค์ใดเรือง, ทหารจีน, เครื่องราชบรรณาการ, ขึ้นกราบทูลถวายณค่ายท่าประดู่. ๚ะ
๏ ลุศักราช ๚ะ พระราชตำริหแล้ว,ให้หาเสนาบดีนายทับนายกองมาเฝ้าพร้อมกัน, จึ่งประภาษว่าเราปรารพการครั้งนี้สู้เสียชีวิตร, เพราะกรุณาแก่สัตวโลกย์ซึ่งหาที่พำนักนิ์มิได้, และแผ่นดินจะไม่จลาจลสมบูรณ์, เปนที่ตั้งประสาสนาได้นั้น, เพาะปราศจรากหลักตอ, คือคนอาสัจอาธรรม. แลบัดนี้นายทองอยู่นกเล็ก, ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองชลบุรี. ประพฤดิ์พาลทุจริตคอยปองกระทำข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่พึ่งมิได้, บันดามีน้ำใจภักดีจะมาพึ่งเรานั้น, นายทองอยู่เปนเสี้ยนหนามคอยสกัดตัดสัญจรคนทั้งปวงไว้ เราควรจะไปสั่งสอนธรมารนายทองอยู่, ให้ตั้งอยู่ตามทางราบคาบก่อน, สมณพราหมณอาณาประชาราฎรจึ่งจะได้อยู่เปนศุข. เสนาบดีนายทับนายกองก็เหนพร้อมกันตามพระราชดำริห์ ๚ะ
๏ ครั้นณวัน๚ะศก จึ่งสั่งให้ยกพลทหารเสดจพระราชดำเนินไปตามสถลมารค, เสดจพระทับอยู่ณบ้านหนองมน ให้ทหารไปสอดแนมดูได้เนื้อความว่า, นายทองอยู่ให้เตรียมพลทหารสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยไว้พร้อม, จึ่งให้พลทหารเข้าไปอยุดประทับณวัดหลวง, ทางไกลเมืองประมาณร้อยหนึ่ง, จึ่งให้นายบุญรอดแขนอ่อน, นายชื่นบ้านไข้, ซึ่งเปนสหายกับนายทองอยู่, เข้าไปว่ากล่าวโดยยุติธรรม. นายทองอยู่ก็อ่อนน้อมโดยดี นายบุญรอด, นายชื่น, จึ่งภานายทองอยู่นกเล็กเข้ามาเฝ้าณวัดหลวง, สวามิภักดิกระทำความสัตยถวาย. แล้วก็นำเสดจให้เข้าไปณเมืองชลบุรี, ประทับอยู่ณเก๋งจีน. นายทองอยู่จึ่งนำเสดจทรงช้างพระที่นั่ง, นายทองมีมหาดเล็กควานท้าย, เลียบทอดพระเนตรเมืองชลบุรี, แล้วภาขุนหมื่นกรมการมาถวายบังคม. ทรงพระกรุณานายทองอยู่, ให้เปนพระยาอะนุราฐบุรีศรีมหาสมุท, ตั้งขุนหมื่นกรมการตามถานาศักดิ์เมืองชลบุรี. แล้วพระราชทานกระบี่บั้งเงินหนึ่ง, เสื้อแพรเข้มขาบดอกใหญ่พื้นแดงดุมทองเก้า, เขมขัดทองประดับพลอยสายหนึ่ง. แล้วพระราชทานราโชวาทสั่งสอนว่า, แต่ก่อนท่านประพฤษดิการอันเปนอาธรรมทุจริตนั้นจงละเสีย, จงประพฤษดิกุศลสุจริต, ให้สมควรด้วยถานาศักดิ์แห่งท่าน. จะได้เปนเกียรติยศสืบไปในกลาปาวะสาน, จะเปนพาศนาติดตามไปในอนาคต. แล้วจึ่งพระราชทานเงินตราไว้สองชั่ง, สำรับสงเคราะห์แก่สมณพราหมณาจาริย์, ประชาราษฎรผู้ยากไร้เขนใจ, ซึ่งขัดสนด้วยเข้าปลาอาหารนั้น. จึ่งตรัสสั่งพระยาอนุราฐว่า, ผู้ใดจงใจอยู่ในสำนักนิ์ท่าน, ท่านจงโอบอ้อมอารีย์เลี้ยงดูไว้ให้เปนผล. ถ้าผู้ใดมีน้ำใจสาภิภักดิ์จะติดตามเราออกไป, ท่านจงอย่ามีน้ำใจอิจษา, จงมีปมุทิตาปราโมชอย่าได้ขัดขวาง. ช่วยส่งผู้นั้นออกไปให้ถึงสำนักนิ์แห่งเรา, อย่าให้เปนเหตุการประการใดได้. แลท่านจงบำรุงบวรพุทธสาศนา, อาณาประชาราษฎรให้ทำมาหากินโดยภูมลำเนา, อย่าให้มีโจรแลผู้ร้ายเบียดเบียลแก่กันได้. แล้วพระราชทานเงินตราแก่สัปะเหร่อ, ให้ขนทรากกะเฬวะราก, อันอดอาหารตายนั้นเผาเสีย พระราชทานบังสุกุลทานแล้ว, พระราชทานเงินตราอาหารแก่ยาจกวรรณีพกแต่เมืองชลบุรีเปนอันมาก. แล้วอุทิศกัลปะนาพระราชทานพระราชกุศลให้แก่หมู่เปรต, ไปในประโลกยนั้น, เพื่อเปนปัจจัยแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ครั้นณวันฯศก, เสดจกลับมาเมืองระยอง ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาจันทบุรีซึ่งถวายสัจปัฏิญาณว่าจะมารับเสดจนั้น, จะได้มาตามสัญญาหามิได้. ด้วยขุนราม, หมื่นซ่องอันเปนคนอาสัจนั้น, ยุยงว่ากล่าวให้คิดประทุษฐร้าย, ตกแต่งป้อมค่ายคูประตูหอรบเชิงเทิล, ตระเตรียมโยธาทหารสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่ปืนน้อยเสรจ, แล้วจึ่งคิดอุบายแต่งให้พระสงฆ์สี่รูป, ขึ้นมาเชิญเสดจเข้าไปในเมืองจันทบุรี, แล้วจึ่งจะกุมจับพระองค์. พระสงฆ์สี่รูปมามิทัน, เสดจไปเมืองชลบุรี, พระสงฆ์นั้นก็ยังอยู่ถ้าณเมืองระยอง. ครั้นเสดจถึงเมืองระยองเพลาเช้า, จึ่งเข้าไปถวายพระพรตามเรื่องราวพระยาจันทบุรีใช้ให้มานั้น. จึ่งทรงพระตำริหด้วยพระวิจารณญาณอันคำภิรภาพก็ทราบว่า, กรรมนิยมแล้วจึ่งจำให้เปนไปตามเหตุนั้น. ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้า, จึ่งมีพระราชบริหารตำรัสด้วยนายทับนายกองทั้งปวงว่า, พระยาจันทบุรีให้พระสงฆ์มารับเรานี้, ใครจะเหนร้ายดีประการใดบ้าง, นายทับนายกองปฤกษาพร้อมกันแล้วกราบทูลว่า, ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเหนว่า, พระยาจันทบุรีคิดประทุษฐร้ายเปนมั่นคง. จึ่งตรัสว่าเมื่อเหตุเปนฉะนี้แล้ว, ชอบจะไปฤๅอย่าไปประการใด. นายทับนายกองพร้อมกับกราบทูลว่า, ควรจะเสดจพระราชตำเนินไป, ด้วยจะได้ประโยชน์สองประการ. ประการหนึ่งแม้นว่าพระยาจันทบุรีจะเสียสัจ, คิดประทุษฐร้ายก็ดี, จะได้ธรมารให้เสียพยศอันร้าย. ถ้าพระยาจันทบุรียังตั้งอยู่ในความสัจ, ก็จะได้พระราชทานราโชวาทสั่งสอน, ให้ตั้งอยู่โดยยุติธรรม, ก็จะเอย็นอกสมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง, จะได้เปนอายุพระสาสนาสืบไปในอนาคตไสมยนั้น. ๚ะ
๏ ครั้นณวันพฤหัสบดีศก, เพลาเช้าอุษาโยคยามพฤหัศบดี, ตรัสให้ยกพลนิกายสรัพด้วยเครื่องสรรพาวุธออกจากเมืองระยอง, พระสงฆ์สี่รูปนำเสดจมาประทับร้อนแรมโดยระยะทางห้าวันถึงตำบลบ้านบางกะจะหัวแหวน. ครั้นณวันจันทร๚ะศก, จึ่งยกไปใกล้เมืองจันทบุรี. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาจันทบุรีจึ่งให้หลวงปลัด, กับขุนหมื่นมีชื่อ, ออกมานำทับคิดเปนอุบาย, จะให้กองทับหลวงเลี้ยวไปข้างทางใต้เมือง, จะให้ข้ามน้ำไปฟากตวันออก, แล้วจะยกพลทหารออกโจมตีเมื่อข้ามน้ำนั้น. ครั้นตรัสทราบจึ่งให้นายบุญมีมหาดเลก, ขึ้นม้าขวบไปห้ามทหารกองน่ามิให้ไปตามทางหลวงปลัดนำนั้น. ให้กลับมาตามทางขวา, ตรงเข้าประตูท่าช้าง. เสดจประทับพลตำบลวัดแก้วริมเมืองจันทบุรี. จึ่งให้พลทหารตั้งกองทับล้อมรอบพระวีหารวัดแก้ว, ซึ่งเสดจประทับอยู่นั้น ๚ะ
๏ ฝ่ายพระยาจันทบุรี, ก็ให้พลทหารขึ้นประจำรักษาน่าที่, แล้วจึ่งใช้ขุนพรหมธิบาล, ผู้เปนพระท้ายน้ำ, นายลิ่ม, นายแก้วแขก, ธรรมรงคพอน, นายไม้แขก, ออกมาต้อนรับเชิญเสดจเข้าเมือง จึ่งตรัสว่าพระยาจันทบุรีให้มาเชิญเราเข้าไปนั้น, เหนไม่ต้องตามประเวณีธรรม, ด้วยเหตุว่าผู้น้อยควรจะกระทำสัมมาคารวะแก่ผู้ใหญ่จึ่งจะชอบเปนมงคลแก่ตัว, แลจะให้เราเปนผู้ใหญ่เข้าไปหาท่านอันเปนผู้น้อยก่อนนั้น, มิบังควรเปนมงคลแก่พระยาจันทบุรีเลย. เรายังไม่เข้าไปก่อน, ให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเรา, เราจะได้แจ้งเนื้อความซึ่งขัดข้องในใจเรา. ด้วยขุนราม,หมื่นซ่อง,อันเปนปัจามิตรเรา,เข้าไปอยู่ด้วยพระยาจันทบุรี, จะทำให้เราทั้งสองมีน้ำจิตรพิโรธแคลงกัน. แม้นพระยาจันทบุรีจะมิออกมาหาเราก็ดี, จงส่งแต่ขุนราม,หมื่นซ่อง,ออกมากระทำความสัจแก่เราแล้ว เราจะเข้าไปด้วยมิได้แคลง, เราตั้งเมตาจิตรรักเอนดูพระยาจันทบุรี, ประดุจน้องในอุทรเดียวกันแห่งเรา, ถึงพระยาจันทบุรีจะทำร้ายแก่เรา, ๆ ก็มิได้ตอบแทน,จะรักษาเมตาธรรมนั้นไว้, ด้วยพระยาจันทบุรีมิได้มีพิโรธอันใดกันกับเรา. แล้วพระราชทานเงินแก่ขุนพรหมธิบาล, ๆ ก็กลับเข้าไปว่ากล่าวตามตำรัสนั้น. พระยาจันทบุรีจึ่งใช้ให้ธำมรงคพอน,กับคนมีชื่อเอาของเสวยมาถวาย. ให้พระสงฆ์สี่รูป, ซึ่งนำเสดจมานั้นออกมาถวายพระพรว่า, พระยาจันทบุรีให้เชิญเสดจเข้าไป. ตรัสว่าในเมืองจันทบุรีนี้, ไม่มีฆะราวาศจะใช้แล้วฤๅจึ่งใช้สมณ.แล้วจึ่งมีพระราชบริหารตำรัสแก่พระสงฆว่า, ความนี้โยมก็ได้สั่งไปแก่ขุนพรหมธิบาลแล้ว, ขอผู้เปนเจ้าจงไปบอกแก่พระยาจันทบุรีว่า,อ้ายขุนราม,หมื่นซ่อง,เปนปัจามิตรแก่ข้าพเจ้า, ยุยงพระยาจันทบุรี, ๆ หนุ่มแก่ความจะฟังเอาถ้อยคำอ้ายเหล่านี้, ก็จะเสียทีที่รักษเอนดูกัน. ถ้าแลพระยาจันทบุรีตั้งอยู่ในสัตย์ไมตรี, ก็จงส่งขุนราม,หมื่นซ่อง,ออกมากระทำความสัจเสียเถิด. พระสงฆก็ถวายพระพรลามา,ว่าแก่พระยาจันทบุรี ๆ จึ่งใช้หลวงปลัดออกมาทูลว่า,พระยาจันทบุรีที่จะมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์สวามิภักดีนั้นหามิได้, จะใคร่ส่งขุนราม, หมื่นช่องออกมาอยู่. แต่ขุนราม, หมื่นซ่อง, กลัวพระราชอาชา, ด้วยตัวนั้นเปนคนผิดจะออกมามิได้. จึ่งตรัสว่าพระยาจันทบุรีมิได้ตั้งอยู่ในสัตย์, แล้วเหนว่าขุนราม, หมื่นซ่อง, จะช่วยป้องกันเมืองไว้ได้, ก็ให้เร่งตกแต่งบ้านเมืองไว้ให้หมั้นคงเถิด, เราจะตีเอาให้ได้ ๚ะ
๏ แล้วจึ่งตรัสสั่งให้โยธาทหารทั้งปวง, ให้หุงอาหารรับพระราชทานแล้ว. เหลือนั้นสั่งให้สาดเททุบต่อยม่อเข้าม่อแกงเสียจงสิ้น. ในเพลากลางคืนวันนี้จะเข้าตีเอาเมืองจันทบุรีให้ได้, ไปกินเข้าเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันจงพร้อมกันทีเดียว. ๚ะ
๏ ครั้นณวันอาทิตย์ ๗ ค่ำ, ศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศก, เพลาสามยามเปนยามเสาร์ปลอดห่วง, ตรัสให้ยกทับบ่ายน่าต่อทิศอิสาร, เข้าตีเมืองจันทบุรี, จัดทหารไทยจีนลอบเข้าไปประจำด้านอยู่ทุกด้าน, เพลาจะเข้าอย่าให้โห่ร้องขึ้นก่อน, ถ้าเข้าได้แล้วให้โห่ร้องขึ้นพร้อมกัน, จึ่งทรงช้างพระที่นั่งพังคิรีบัญชรขับเข้าทลายประตูเมือง. โยธาทหารซึ่งรักษาประตูแลป้อมเชิงเทินนั้น, ยิงปืนใหญ่น้อยดุจหนึ่งห่าฝน, จะได้ถูกต้องโยธาผู้ใดผู้หนึ่งนั้นหามิได้, ลอดท้องช้างพระที่นั่งไป. ควานช้างเกี่ยวพังคีรีบัญชรให้ถอยออกมา. ทรงพระโพรธเงื้อพระแสงจะลงพระราชอาชา, นายท้ายข้าง,ๆ ขอพระราชทานโทษได้. จึ่งทรงพระแสงกฤชแทงพังคิรีบัญชร, ขับเข้าทลายประตูเมืองพังลง, ทหารน่าช้างลอดเข้าไปได้, ให้โห่ร้องขึ้นพร้อมกันดุจพระราชทานสัญญาไว้นั้น. ๚ะ
๏ ฝ่ายทหารซึ่งอยู่รักษาประตูแลน่าที่เชิงเทินนั้น, แตกตื่นหนีออกจากเมือง, พระยาจันทบุรีภาบุตรภรรยาลงเรือไปปากน้ำพุทไธมาศ. พลโยธาทหารไทยจีนเข้าไปจับได้ครอบครัว, หิรัญสุวรรณวัดถาธัญาหารปืนจ่ารงมณฑกนกสับคาบสิลา, สรรพอาวุธทั้งปวงเปนอันมาก, ก็เสดจยับยั้งอยู่ณเมืองจันทบุรี. ๚ะ
๏ ฝ่ายหลวงนายศักดิ์เปนเชื้อแขก, ออกไปราชการณะเมืองจันทบุรี, แต่ก่อนทับพม่ายังไม่มาล้อมกรุงเทพมหานครนั้น, ยังค้างอยู่ในเมือง. จึ่งมาเฝ้าถวายตัวเปนข้าราชการสืบไป ก็โปรดเลี้ยงไว้ด้วยเปนข้าราชการเก่ารู้ขนบธรรมเนียม, จะได้ปฤกษาราชกิจการงานทั้งปวง. แล้วจึ่งตั้งที่ถานันดรตำแหน่งผู้ใหญ่แลผู้น้อย, แก่ผู้มีความชอบตามสมควรแก่คุณานุรูปถ้วนทุกนาย. แล้วโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัล, สิ่งของทองเงินต่างๆ แจกทั่วกันแล้ว, จึ่งเสดจดำเนิรทับจากเมืองจันทบุรี, โดยทางสถลมารคยกออกไปเมืองกราด ดำรัสให้พระรามพิไชยกับหลวงราชวรินทรเปนแม่กองทับเรือ, เรือประมาณห้าสิบลำยกไปทางทเล. ขณะเมื่อเสดจยาตราทับบกยกไปครั้งนั้น, ด้วยเดชะพระบารมีบันดาลฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน, ตามระยะทางไปจนบรรลุถึงเมืองกราด, เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎรให้อยู่เอย็นเปนศุข. แล้วได้ทราบข่าวว่าสำเภาจีนลูกค้ามาทอดอยู่ณะท้องทเลน่าปากน้ำเมืองตราดเปนหลายลำ จึ่งให้ข้าหลวงไปหาตัวนายสำเภาเข้ามาโดยดี, แลนายสำเภาขัดแขงไม่มา, กลับต่อรบยิงเอาเรือข้าหลวง. ๆ กลับเข้ามากราบทูลก็ทรงพระพิโรธ, จึ่งเสดจลงเรือใหญ่ยกกองทับเรือออกไปล้อมไว้คืนหนึ่ง. พวกจีนนายสำเภายังไม่อ่อนน้อม, ครั้นเพลารุ่งเช้าจึ่งตรัสสั่งนายทับนายกองให้ยกเข้าตีสำเภา, พวกจีนต่อรบยิงปืนโต้ตอบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน. พลข้าหลวงปีนขึ้นสำเภาได้, ไล่ฆ่าฟันจีนบนสำเภาตายเปนหลายคน. พวกจีนลูกค้าก็พ่ายแพ้, เก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินแลผ้าแพรเปนอันมาก. แลจีนเจียมผู้เปนใหญ่กว่านายสำเภาทั้งปวง, ก็อ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์นำเอาบุตรหญิงคนหนึ่งมาถวาย. ในวันนั้นก็เสดจกลับมาณะเมืองจันทบุรีโดยทางทเล, ตั้งยับยั้งอยู่ต่อเรือรบณะเมืองจันทบุรีประมาณสามเดือน, ได้เรือร้อยลำเสศ. ๚ะ
๏ ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร, เมื่อกองทับพม่ายกกลับไปแล้ว, จึ่งพระนายกองผู้อยู่รักษากรุง,ฯ ก็ใช้ผู้คนให้ไปเที่ยวค้นหาพระเจ้าแผ่นดินทุกแห่งทุกตำบล, จึ่งไปภบที่สุมทุมไม้ใกล้บ้านจิก, อดอาหารมิได้เสวยถึงสิบเบดสิบสองวัน. คนทั้งนั้นจึ่งหามพระองค์มาลงเรือ, รับขึ้นไปณะค่ายโพสามต้น, ภอถึงก็ดับสูญสิ้นพระชนม์. แลสมเดจพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินท์, อยู่ในราชสมบัติเก้าปีก็เสียพระนคร. ๚ะ
๏ รวมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชสมบัติ, ในกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานั้น, ตั้งแต่สมเดจพระเจ้าอู่ทองเปนประถม, แรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้น, กราบเท่าถึงสมเดจพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินท์, เปนพระองค์ที่สุด, เสียกรุงเทพมหานครศรีอยุทธยานั้น, นับกระษัตริย์ได้สามสิบสี่พระองค์ด้วยกัน. แลอายุพระนครตั้งแต่แรกสถาปะนา, ในศักราช ๗๑๒ ปีขานโทศก, ตราบเท่าจนเสียในศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศกนั้น. คิดอายุพระนครได้ ๔๑๗ ปีโดยกำหนด. ๚ะ
๏ ฝ่ายพระนายกองจึ่งให้เชิญพระศพไปฝังณะโคกพระเมรุ, ที่ถวายพระเพลิงในพระนครนั้น ต่อจัดแจงการบ้านการเมืองราบคาบแล้ว จึ่งจะคิดการถวายพระเพลิง. ๚ะ
๏ ขณะนั้นแต่บันดาประชาชนทั้งหลาย, ซึ่งหนีพม่าเหลืออยู่นั้น, ต่างคนต่างคุมสมัคพักพวกครอบครัวอยู่เปนพวกเปนเหล่า ผู้ใดที่มีฝีมือเข้มแขงก็ตั้งตัวเปนนายชุมนุม, ซ่องสุมคุ้มครองผู้คนครอบครัวเปนอันมากตั้งชุมนุมอยู่แห่งหนึ่ง. แต่ชุมนุมตั้งอยู่ดังนี้, มีในจังหวัดแขวงกรุง, แลแขวงหัวเมืองแลสวน, แลหัวเมืองอื่นฝ่ายเหนือ, ฝ่ายใต้เปนอันมาก, หลายแห่งหลายตำบล. ขัดสนด้วยเข้าปลาอาหารและเกลือไม่มีจะกิน, ต่างรบพุ่งชิงอาหารแก่กัน, ชุมนุมนี้ยกไปตีชุมนุมนั้น, ชุมนุมนั้นยกไปตีชุมนุมโน้นต่อๆกันไป. ที่นายชุมนุมไหนเข้มแขงก็มีไชยชำนะ, แลเกิดฆ่าฟันกันเปนจลาจลไป. ทั่วทั้งแผ่นดินในเขตรแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ. เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้,เหมือนดุจสัตถันดรกลัป,แลทุพภิกขันดรกลัป. แลพระราชวงษานุวงษซึ่งเหลืออยู่, พม่ามิได้เอาไปนั้น, ตกอยู่ณะค่ายโพสามต้นก็มีบ้าง, ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง. แลเจ้าฟ้าสุริยาหนึ่ง, เจ้าฟ้าพินทวะดีหนึ่ง, เจ้าฟ้าจันทะวดีหนึ่ง, พระองค์เจ้าฟักทองหนึ่ง. ทั้งสี่พระองคนี้เปนราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกษฐ. แลเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวังหนึ่ง, หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทรหนึ่ง, หม่อมเจ้ามนีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดีหนึ่ง หม่อมเจ้าฉิมบุตรี เจ้าฟ้าจีดหนึ่ง, เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกองณะค่ายโพสามต้น. อนึ่งพระองคเจ้าทับทิมบุตรีสมเดจพระอัยกานั้น, พวกข้าไทยภาหนีออกไปณะเมืองจันทบุรี. เจ้าตากก็สงเคราะหรับเลี้ยงดูไว้ แลเจ้าจุ้ยเจ้าศรีสังข์บุตรกรมพระราชวังนั้น, หนีออกไปอยู่เมืองพุทไธมาศ. อนึ่งขุนนางข้าราชการซึ่งเหลืออยู่นั้น, ที่ตกอยู่กับพระนายกองก็มีบ้าง, ที่หนีไปอยู่หัวเมืองเหนือใต้ต่างต่างก็มีบ้าง. และนายสุดจินดามหาดเลกนั้น. หนีออกไปสำนักนิ์อยู่ณะเมืองชลบุรี ครั้นรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ณะเมืองจันทบุรี, จึ่งภาพักพวกบ่าวไพร่เดิรบกออกไปเข้าพึ่งอยู่ด้วยเจ้าตาก, เจ้าตากก็รับไว้ชุบเลี้ยงตั้งเปนพระมหามนตรี, เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสียนั้น. ๚ะ
๏ ในขณะนั้นหัวเมืองตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นอิกหลายตำบล, คือเจ้าพระยาพระพิศณุโลกยเรือง, ก็ตั้งตัวเปนเจ้าขึ้นอิกตำบลหนึ่ง. แลพระสังฆราชาเมืองสว่างคบุรี, นามเดิมชื่อมหาเรือน, ชาติภูมิเปนชาวเหนือ, แต่ลงมาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ณะ กรุง, ได้เปนที่พระพากุลเถรราชาคณะอยู่วัดศรีโยธยา. ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งขึ้นไปเปนที่พระสังฆราชาณะเมืองสว่างคบูรี, แต่ครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. แลมีสมัคพักพวกผู้คนนับถือมาก. ครั้นรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้ว, จึ่งซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเปนหลายเมือง, ตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าอิกตำบลหนึ่ง. แต่หาสึกออกเปนคฤหัฐไม่, คงอยู่ในเพศสมณ, แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่าเจ้าพระฝาง. บันดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือ, ตั้งแต่เหนือพระพิศณุโลกย์ขึ้นไป, ก็กลัวเกรงนับถืออยู่ในอำนารถทั้งสิ้น แลเมืองเหนือครั้งนั้นมีเจ้าขึ้นสองแห่ง, แบ่งแผ่นดินออกเปนสองส่วน. ตั้งแต่เมืองพระพิศณุโลกยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์, กับแควปากน้ำโพนั้น, เปนอาณาเขตรข้างเจ้าพระพิศณุโลกย์. ตั้งแต่เหนือเมืองพระพิศณุโลกยขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด, กระทั่งแดนลาวกับแควแม่น้ำปากพิงนั้น, เปนอาณาเขตรข้างเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทับนายกองแต่พื้นสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูคิริมานนท์หนึ่ง, พระครูเพชรัตน์หนึ่ง, พระอาจาริย์จันท์หนึ่ง, พระอาจาริยทองหนึ่ง, พระอาจาริยเกิดหนึ่ง แต่ล้วนเปนอาลัชชี, มิได้ละอายแก่บาปทั้งนั้น แล้วจัดแจงกองทับยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลกย, ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ, แลเจ้าเมืองพระพิศณุโลกย, ยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ, ทับฝางจะหักเอาเมืองมิได้, แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน, ทับฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง.
ฝ่ายแผ่นดินข้างปากใต้ก็มีเจ้าขึ้นอีกตำบลหนึ่ง, คือเมื่อครั้งกรุงยังไม่เสียนั้น, ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชสุภาวดีออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้หลวงนายสิทธิ์ออกไปเปนพระปลัด แลเจ้าพระยานครศรีธรรมราชนั้นถูกอุทธรต้องถอดกลับเข้ามาณะกรุง. จึ่งโปรดให้ปพระปลัดว่าราชการอยู่, ภายหลังยังหาได้ตั้งเจ้าเมืองไม่. ครั้นพระปลัดรู้ข่าวว่ากรุงเทพมหานครเสียแก่พม่า, หาพระเจ้าแผ่นดินมิได้แล้ว, จึ่งตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าครองเมืองนครศรีธรรมราช. คนทั้งหลายเรียกว่าเจ้านคร, มีอาณาเขตรแผ่ไปฝ่ายข้างนอกถึงแดนเมืองแขก, ข้างในถึงเมืองชุมพรเมืองปทิว, แบ่งแผ่นดินออกไปอิกส่วนหนึ่ง. แลราษฎรทั้งหลายในหัวเมืองปากใต้ฝ่ายตะวันตก, ก็นับถืออยู่ในอำนารถเจ้านครทั้งสิ้น. แล้วตั้งแต่งขุนนางตามตำแหน่ง, เหมือนในกรุงเทพมหานครนั้น. ๚ะ
๏ ฝ่ายเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธ, กับพระยารัตนาธิเบศร์, แลขุนนางซึ่งหนีออกไปจากกรุงเปนหลายนาย, ภาสมักภักพวกไพร่พลครอบครัวหนีพม่า, ไปแต่เมืองปราจินท์ขึ้นทางด่านช่องเรือแตก, ไปณะเมืองนครราชสีมา,แต่ครั้งกรุงยังไม่เสียนั้น,ไปตั้งอยู่ณะด่านโคกพระยา, ภอพระยารัตนาธิเบศป่วยลงถึงแก่กรรม, กรมหมื่นเทพพิพิธก็กระทำการปลงสพในที่นั้น ๚ะ
๏ ฝ่ายพระพิมลสงครามเจ้าเมืองนครนายก, กับหลวงนรินทร์, ภาไพร่พลแลครอบครัวชายหญิงประมารสามร้อย, หนีพม่าไปทางเขาพนมโยง, ขึ้นไปเมืองนครราชสีมา, ไปตั้งอยู่ณด่านบ้านจันทึก. แลพระยานครราชสีมาเปนอริกันอยู่แต่ก่อน, จึ่งใช้ทหารให้ลงมาลวงฆ่าพระพิมลสงคราม,กับหลวงราชรินทร์เสีย, กวาดต้อนผู้คนครอบครัวเข้าไปไว้ในเมืองเสียสิ้น. ๚ะ
๏ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธจึ่งให้หลวงมหาพิไชย, แลนายทองคำ, นำเอาหมวกฝรั่งหนึ่ง, เสื้อกระบวนจีนหนึ่ง, ผ้าเกี้ยวลายสองผืน, ไปประทานพระยานครราชสีมา, ครั้นอยู่ประมาณสองสามวัน, จึ่งหลวงพลกรมการออกมาเฝ้า, กราบทูลว่าพระยานครราชสีมาเกนเขมรสี่ร้อย,จะให้ออกมาจับพระองค์เจ้าส่งลงไปณะกรุงเทพมหานคร. กรมหมื่นเทพพิพิธตกพระไทยคิดการจะหนี, แลหม่อมเจ้าประยงผู้บุตรไม่เหนด้วยก็ทูลห้ามไว้, แล้วทูลขอเงินตราห้าชั่ง, กับผ้าน้ำกิ่งสิบพับ, นำเอาไปเที่ยวแจกพันทนายบ้านสิบสองตำบล, เกลี้ยกล่อนคนชาวบ้านมาเข้าด้วย, ได้คนสี่ร้อยห้าสิบเสศ. ๚ะ