- คำนำ
- ความนำ
- คำสาบาน ณ ศาลเง็กเซียนฮ่องเต้
- บู๋ซ้งผู้ฆ่าเสือ
- บู๋ตั้วคนเมียงาม
- น้องผัว–พี่สะใภ้
- เจ้าสัวหนุ่มต้องเสน่ห์
- อุบายแม่สื่อ
- สวรรค์ในร้านน้ำชา
- ความลับรั่วไหล
- แผนการจับชู้
- ฆ่าผัวเพื่อเอาเมีย
- ฮั้วห่อเก้าผู้ชันสูตรศพ
- ความลับที่เปิดเผย
- พัวกิมเน้ยว้าเหว่
- ของขวัญจากนางบัวคำ
- สาส์นจากบู๋ซ้ง
- แม่นายคนที่ห้าของไซหมึ่งเข่ง
- บู๋ซ้งอาละวาด
- บู๋ซ้งต้องโทษ
- ไซหมึ่งเข่งฉลองชัย
- แค้นของบัวคำ
- ฮวยจื้อฮือเลี้ยงโต๊ะ
- ลำไพ่ของพัวกิมเน้ย
- บัวคำทำเสน่ห์
- เพื่อนเรา–เผาเรือน
- สัญญาสามข้อของไซหมึ่งเข่ง
- เพื่อนเก่า–เมียรัก
- สารท “ตงชิว” ที่เช็งฮ้อ
- ฉลองวันเกิดนางลีปัง
- รักแท้ที่ต้องอดทน
- ข่าวร้ายจากเมืองหลวง
- หม้ายสาวกำสรวล
- หมอเตกกัง แพทย์ผู้ชำนาญโรค
- อาชญากรผู้ค่าตัวห้าพันตำลึงทอง
- ไซหมึ่งเข่งพ้นคดี
- เขยหนุ่ม–แม่ยายสาว
- หมอเตกกังต้องวิบัติ
- วิวาห์วิบากของนางฮวยลีปัง
- ฟ้าสว่างหลังพายุฝน
- “ลีปัง–ไซหมึ่ง” เชิญกินเลี้ยง
- รักแท้–รักเทียม
- ตั้วเจ๊เป็นข่าว
- สาวใช้ต้องประสงค์
- เสน่ห์นางสาวใช้
- สามีคนเคราะห์ร้าย
- กลีบบัวใช้บาป
คำนำ
แด่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย––ซึ่งจะเป็นผู้ใดใครบ้างก็ตามเถิด แต่ละล้วนที่ได้ติดตามงานเขียนของข้าพเจ้า ในความเป็นคน ที่อ้างไปก็ใช่จะผิดแผกแตกต่างจากบรรดาท่านทั้งหลายที่ล้วนต่างก็เป็นลูกของพ่อและแม่ด้วยกันมา หากไฉนทุกวันนี้ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นลูกที่มีพ่อและแม่เต็มไปทั้งบ้านเมือง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุตรของประชาชนคนอ่านไปเสียแล้ว หาใช่ลูกบิดามารดาของตัวเองไม่
อาชีพของเราหนอ ดูช่างเป็นวิชาชีพที่เต็มไปด้วยทุกข์ยากปิ้มว่าจะแขวนไส้อันคอดกิ่วไว้กับปลายปากกาก็ว่าได้ แต่บางเวลาคนก็คิดไปว่าอาชีพนี้น่าผยอง ที่ข้าพเจ้าก็ควรจะมีชีวิตอยู่ไปได้ แม้ด้วยอาชีพเขียนหนังสือ
ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณต่อสำนักพิมพ์วรรธนะวิบูลย์ไว้ในโอกาสนี้ ที่ได้เอื้อเฟื้อแก่ข้าพเจ้าในยามเจ็บหนัก นายแพทย์ผู้ดูแลชีวิตสั่งห้าม––และห้ามเป็นเด็ดขาด มิให้ข้าพเจ้าทำงานสิ่งไรในการใช้ความคิด––ไม่ให้เขียนหนังสือ ที่สุดแม้แต่พูด ก็เช่นนี้จะให้ข้าพเจ้ายืนยงชีวิตอยู่ได้อย่างไร?
การเขียนหนังสือเป็นสิ่งบริสุทธิ์และใสสะอาดสิ่งเดียวในอาชีพของข้าพเจ้า
“วันนี้ คุณมีเรื่องอะไรดีๆ ที่จะให้ผมพิมพ์บ้าง?”
นี่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ได้อย่างนี้
ดิ้นรนออกจากคำสั่งแพทย์ เอาเถิดแม้ไม่ได้เขียนขอเพียงได้อ่าน––ก็ยังดี! ข้าพเจ้าได้อ่าน––
หนังสือเล่มนั้นดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะอาศัยความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษา และความละมุนละไมตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น–เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน––บัดนี้ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!
หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “Chin P'ing Mei” ซึ่ง เบอร์นาร์ด เมียลล์ (Bernard Miall) ชาวอังกฤษ เป็นผู้แปลจากภาษาเยอรมัน ที่ ฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn) ได้แปลออกมาจากภาษาจีนอันเป็นต้นฉบับดั้งเดิมที่แท้จริง––หนังสือเล่มนี้แลจับใจข้าพเจ้านัก จนมิจักอาจจะวางมันลงได้
ขอได้รับความคารวะด้วยน้ำใสใจจริงจากข้าพเจ้าอีกครั้ง ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ที่ตลอดเวลาอันเนิ่นนานนับแต่ข้าพเจ้าเริ่มเสนองานเขียนต่อท่านมา แต่ละท่านล้วนได้มีความสัมพันธ์และอาทรต่อตัวข้าพเจ้า เฉกบิดามารดาพึงมีแก่บุตรโดยสม่ำเสมอตลอดมา
จึงครั้งนี้แม้ในยามเจ็บหนัก และทั้ง ๆ ที่พยาธิกำลังตะลุมบอนข้าพเจ้าอยู่อย่างกระชั้นชิด หากเมื่อเกิดอารมณ์ดื่มด่ำซาบซึ้งต่อหนังสืออันทรงรสชาติไพเราะเล่มนั้นขึ้นมา ก็เป็นอีกครั้งที่ข้าพเจ้าไม่อาจหยุดมืออันมีกรรมของข้าพเจ้านี้เสียได้
และในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอเสนอเรื่องที่ข้าพเจ้าดื่มด่ำใจต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายด้วย––
อธิษฐานเถิด–ท่านผู้อ่าน ผู้กอปรเมตตาจิตต่อข้าพเจ้าทั้งหลาย หากบุญเราได้เกิดมาร่วมกันในชาตินี้ ขอได้เมตตาแก่ “นักเขียน” คนนี้––คนที่ไม่เป็นภัยต่อการคบหาสมาคมของใครเลย ข้าพเจ้าหากินใส่ปากใส่ท้องอยู่ตราบทุกวันนี้ ก็ด้วยอาศัยวิชาชีพติดตัวชิ้นเดียวนี้ที่มีอยู่ จะชั่วดีทุกข์ยากแต่ก็น่าผยองเกียรติมิใช่หรือ?
ครั้งนี้ข้าพเจ้าขอเสนอ “บุปผาในกุณฑีทอง” ซึ่งก็คือ Chin P'ing Mei หรือ กิมปังบ๊วย วรรณคดีจีนอันเลื่องชื่อเล่มนั้น––เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วนั่นเอง
ยาขอบ
๒ กันย์ ๒๔๙๗