- คำนำ
- ความนำ
- คำสาบาน ณ ศาลเง็กเซียนฮ่องเต้
- บู๋ซ้งผู้ฆ่าเสือ
- บู๋ตั้วคนเมียงาม
- น้องผัว–พี่สะใภ้
- เจ้าสัวหนุ่มต้องเสน่ห์
- อุบายแม่สื่อ
- สวรรค์ในร้านน้ำชา
- ความลับรั่วไหล
- แผนการจับชู้
- ฆ่าผัวเพื่อเอาเมีย
- ฮั้วห่อเก้าผู้ชันสูตรศพ
- ความลับที่เปิดเผย
- พัวกิมเน้ยว้าเหว่
- ของขวัญจากนางบัวคำ
- สาส์นจากบู๋ซ้ง
- แม่นายคนที่ห้าของไซหมึ่งเข่ง
- บู๋ซ้งอาละวาด
- บู๋ซ้งต้องโทษ
- ไซหมึ่งเข่งฉลองชัย
- แค้นของบัวคำ
- ฮวยจื้อฮือเลี้ยงโต๊ะ
- ลำไพ่ของพัวกิมเน้ย
- บัวคำทำเสน่ห์
- เพื่อนเรา–เผาเรือน
- สัญญาสามข้อของไซหมึ่งเข่ง
- เพื่อนเก่า–เมียรัก
- สารท “ตงชิว” ที่เช็งฮ้อ
- ฉลองวันเกิดนางลีปัง
- รักแท้ที่ต้องอดทน
- ข่าวร้ายจากเมืองหลวง
- หม้ายสาวกำสรวล
- หมอเตกกัง แพทย์ผู้ชำนาญโรค
- อาชญากรผู้ค่าตัวห้าพันตำลึงทอง
- ไซหมึ่งเข่งพ้นคดี
- เขยหนุ่ม–แม่ยายสาว
- หมอเตกกังต้องวิบัติ
- วิวาห์วิบากของนางฮวยลีปัง
- ฟ้าสว่างหลังพายุฝน
- “ลีปัง–ไซหมึ่ง” เชิญกินเลี้ยง
- รักแท้–รักเทียม
- ตั้วเจ๊เป็นข่าว
- สาวใช้ต้องประสงค์
- เสน่ห์นางสาวใช้
- สามีคนเคราะห์ร้าย
- กลีบบัวใช้บาป
ความนำ
ครั้งนั้น, อยู่ในศตวรรษที่ ๑๖ ประมาณเอาว่าในราวปี ค.ศ. ๑๕๙๕–๑๖๐๐ มีหนังสือดีน่าอ่านที่จัดอยู่ในขั้น “หนังสือที่ขายดีที่สุด” เล่มหนึ่ง ปรากฏโฉมหน้าออกสู่ตลาดหนังสือในหมู่นักอ่านชาวจีน หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “บัญญัติของนักดื่มสุรา” (Rules for wine drinkers) หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ “คู่มือขี้เมา” ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ใช้นามจริงว่า หยวนฮังเต๋า (Yuan Hung Tao) ฮัง, ผู้ที่เป็นคนแต่งหนังสือเล่มนี้ ตามประวัติอ้างว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว ค.ศ. ๑๕๖๘ ถึง ค.ศ. ๑๖๑๐
จาก “คู่มือขี้เมา” หรือ “บัญญัติของนักดื่มสุรา” นี้เอง ฮังเต๋าได้กล่าวออกตัวไว้อย่างถ่อมว่า “การที่เขาเรียบเรียงงานเขียนเรื่องนี้ของเขาสำเร็จเรียบร้อยมาได้ถึงเพียงนี้ ก็ด้วยอาศัยสาระสำคัญๆ จากหนังสือวรรณคดีอันยิ่งใหญ่ประจำชาติ รวมสองเรื่องด้วยกันเป็นบรรทัดฐาน” และเขายังกำชับไว้สืบไปอีกว่า “หากท่านผู้อ่านคนใดดื่มด่ำในอรรถรสตามหนังสือที่เขาแต่งไว้แล้วนั้นไซร้ และเกิดพิสมัยจะใคร่ให้ซาบซึ้งตรึงใจยิ่งไปอีกละก็ ขอให้ติดตามค้นคว้าหนังสือดี ที่เป็นยอดของวรรณกรรมทั้งสองเล่มดังกล่าวนั้นอ่านเสียด้วย”
ในบรรดาวรรณกรรมของจีนที่ขึ้นชื่อลือนามและได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่ตลอดมาก็มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่เรื่อง คือ หนึ่ง “สามก๊ก” สอง “ไซอิ๋ว” สาม “ซ้องกั๋ง” และสี่คือ “กิมปังบ๊วย”
และสองเรื่องที่ฮังอ้างว่า เป็นยอดวรรณคดีจีน อันเขาได้อาศัยนำสาระของมันมาเป็นเล่าทางในการเขียนเรื่อง “บัญญัติของนักดื่มสุรา” นี้ ก็คือ “ซ้องกั๋ง” และ “กิมปังบ๊วย” นั่นเอง สำหรับเรื่องซ้องกั๋งอันมีท้องเรื่องโลดโผนเกี่ยวกับโจรผู้ยิ่งใหญ่นั้น มีนักอ่านส่วนมากรู้จักกันและเคยผ่านตากันมาแล้วตั้งแต่ในศตวรรษที่ ๑๔ แต่ “กิมปังบ๊วย” นี่สิ ยังไม่ค่อยจะได้มีนักอ่านคนใดได้พบได้เห็นเลย ก็ถ้าเช่นนั้นหยวนฮังเต๋าเอาที่ไหนมาอ้างเล่า?
เกิดทีหลังฮัง สิบปี และก็ตายทีหลังฮังอีกถึง ๓๒ ปี นี่คือ เชนเตฟู (Shen Te Fu) ตามประวัติกล่าวว่า เขามีชีวิตอยู่ในระหว่าง ค.ศ. ๑๕๗๘–๑๖๔๒ เตฟูนี้แลเป็นผู้เขียนไว้ว่า “ตามที่หยวนฮังเต๋าอ้างไว้ว่า งานเขียนเรื่อง ‘บัญญัติสำหรับนักดื่มสุรา’ ของเขาได้สำเร็จเป็นรูปเล่มลงก็ด้วยอาศัยเรื่อง ‘ซ้องกั๋ง’ และ ‘กิมปังบ๊วย’ เป็นรากฐานค้นคว้า ทว่าหนังสือทั้งสองเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่ยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้ข้าพเจ้า (เชนเตฟู) เสียใจอยู่ ค่าที่ยังมิเคยได้อ่านหนังสือดีดังกล่าวทั้งสองเรื่องนั้นเลย” กระทั่งถึงปีผิงหวู (ค.ศ. ๑๖๐๖) เชนเตฟูจึงได้มีโอกาสพบกับฮังที่กรุงปักกิ่ง เขาได้ถามฮังถึงนวนิยายเรื่องที่ชื่อ กิมปังบ๊วย นี้ขึ้น ซึ่งฮังได้ขยายให้เชนฟังว่า เขาเองก็ได้อ่านเพียงไม่กี่บทเหมือนกัน แต่ว่าไม่กี่บทของ ‘กิมปังบ๊วย’ ที่เขาได้อ่านนั้น รู้สึกช่างจับอกจับใจเขาเหลือเกิน แต่ต้นฉบับที่สมบูรณ์จริง ๆ นั้น ฮังบอกว่าอยู่ที่ลิหยิน–โป้ แห่งม้าเช็ง (Li Yen Po of Ma-ch'eng) ณ แขวงเมืองฮูเป (Hupeh) หรืออีกนัยหนึ่งเรียกกันว่า เล่าเช็งสี (Liu Ch'eng-hsi) ซึ่งใคร ๆ ก็รู้จักดี ต้นฉบับที่เล่าได้มานี้ ฮังบอกว่า “เช็งสีได้มอบให้แก่ภรรยาของเขาไว้ และมีบุคคลที่ลอกต้นฉบับนี้ไว้ได้อีกคนหนึ่ง คือ สื้อเวนเช็ง (Hsu Wen-Cheng) ซึ่งเป็นญาติทางภรรยาของเล่านั่นเอง”
สามปีต่อมา (ค.ศ. ๑๖๐๙) เชนได้มีโอกาสพบกับเสี้ยวสุย (Hsiao-hsiu) น้องชายของหยวนฮังเต๋าที่ปักกิ่ง เนื่องในโอกาสที่เสี้ยวสุยเข้ามาสอบแข่งขันเป็นลูกขุน น้องชายของฮังผู้นี้ได้นำเอาต้นฉบับเรื่อง “กิมปังบ๊วย” ติดมาด้วย เชนจึงถือโอกาสขอยืมต้นฉบับเพื่อจะเอาไปคัดไว้อ่าน ซึ่งสุยก็ยินดีให้ยืม เชนจึงนำเอาต้นฉบับ “กิมปังบ๊วย” นี้ไปยังเมืองซูเจา และที่ซูเจานี้เอง เชนได้รับการคะยั้นคะยอจากเพื่อน ๆ ให้จัดการนำออกตีพิมพ์จำหน่าย เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าเชนได้พิมพ์เรื่องนี้ออกขายแล้ว เรื่องการเงินจะขาดกระเป๋านั้นเป็นไม่มีวันต้องพูดถึงกันอีกละ (need never again be short of cash) “รวยตายเลย!”
ขายต้นฉบับหรือ? หรือว่าพิมพ์ขายเสียเอง? เปล่าทั้งเพ เงิน จริงอยู่มีความหมายไม่เบาทั้งด้วยตัวของเราเองและต่อตัวคนอื่น ทว่าสำหรับเชน เงินมิได้มีความหมายสำหรับเขาเลย โดยเฉพาะเงินที่จะเกิดแต่การพิมพ์หรือขายต้นฉบับหนังสือเรื่องนี้ในเวลานั้น อะไรหรือ? กาลเวลาที่เกี่ยวข้องอันแวดล้อมอยู่กับจิตสำนึกและศีลธรรมของประชาชนเป็นเรื่องที่ควรคำนึงมากกว่า เขาเกรงไปว่า หากด้วยประการใดก็ตาม หนังสือเรื่องนี้ได้ออกสู่สายตาประชาชนแล้ว เมื่อเขาตายไป บาปกรรมที่ทำไว้ในกรณีชักจูงผู้คนให้เสื่อมเสียศีลธรรมจะติดตามเขาไปเสมือนเงาตามตัว แลจะฟ้องเขาต่อยมบาล ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเขาคงมิรู้จะหาเหตุผลแก้ตัวกับพญามัจจุราช (King of Death) อย่างใดได้ ดังนั้นประการเดียวที่เชนเต–ฟู ตกลงใจ ในฐานะที่เขาเป็นผู้ครอบครองสิทธิ์ต้นฉบับนวนิยายเรื่องนี้ ก็คือ :- “เก็บใส่เซฟลั่นกุญแจตาย!”
แต่อย่างไรก็ตาม นิยายรักร้อนแรงเรื่องนี้ได้รับการนำออกมาตีพิมพ์ขายในเมืองซูเจาจนได้ หลังจากวันที่เชนได้ต้นฉบับมาแล้วมิช้ามินานนัก และก็ได้รับความนิยมจากนักอ่านในเมืองซูเจาเป็นที่อุ่นหนาฝาคั่งเอาการอยู่ หากเป็นที่น่าเสียใจประการหนึ่ง ในเรื่องที่ว่าสำนักพิมพ์ที่นำนวนิยายเรื่องนี้ออกตีพิมพ์ ได้ทำต้นฉบับบทหลัง ๆ ขาดหายไปเสียหลายบท อันเป็นการทำให้ขาดรสชาติเท่าที่ควรไป และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การที่สำนักพิมพ์ปุโลปุเลยัดเยียดให้นักเขียนชั้นสวะ ๆ แต่งเติมสำนวนความในบทที่ขาด ๆ หาย ๆ ไปนี้สิ นับว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของวรรณกรรมไปอย่างไม่น่าให้อภัยเลย เพราะปรากฏว่าผู้แต่งเติมในบทหลัง ๆ ที่ขาดหายไปนี้ ได้เขียนขึ้นด้วยสำนวนชนิดที่ “ไพร่และบัดซบสิ้นดี” อย่างที่ต้นฉบับเดิมว่าของเขาไว้ (roughest and clumsiest) แต่ถึงนวนิยายเรื่องนี้จะถูกต่อเติมตบแต่งไปในรูปลักษณะใด ๆ ก็ตาม ผลงานอันเจิดจ้าของผู้เขียนย่อมปรากฏอยู่ในบรรณพิภพตลอดกาล ดังนั้นนิยายเรื่องนี้จึงได้รับการนำออกตีพิมพ์อีกเป็นครั้งที่สอง โดยสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองซูเจาอีก (ค.ศ. ๑๖๙๕)
สนุกนักหรือ? น่าอ่านนักหรือ? หนังสือดีที่ชื่อ “กิมปังบ๊วย” เล่มนี้ สำนักพิมพ์ในเมืองซูเจาถึงได้กล้าลงทุนพิมพ์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อไปนี้คือที่มาของนวนิยายเรื่องนี้ ซึ่งได้ให้ชื่อเสียใหม่ในภาษาไทยว่า “บุปผาในกุณฑีทอง”
“ณ ราวกึ่งศตวรรษที่ ๑๖ หลังจากมรณกรรมของพระยีซัสคริสโตเจ้าองค์นั้น ยังมีขุนนางในเมืองจีนเจ้าตระกูลใหญ่อยู่สองตระกูล ตระกูลแรกผู้เป็นหัวหน้าชื่อว่า หวางยื้อ (Wang Yu) ยื้อผู้นี้เป็นคนดีมีอัธยาศัยละมุนละม่อม ยึดมั่นอยู่ด้วยคุณธรรมประจำใจแต่ว่ายากจน ตรงข้ามกับขุนนางผู้เป็นประมุขของครอบครัวอีกตระกูลหนึ่ง ขุนนางผู้นี้ต้นฉบับอ้างไว้ว่าเป็น “ข้าราชการที่โกงอย่างฉกรรจ์” ขุนนางกังฉินผู้นี้มีชื่อว่า “หยิ่นซุง” (Yen Sung) เขาเป็นคนร่ำรวยมาก
สาเหตุที่ขุนนางตงฉินกับกังฉินคู่นี้จะเกิดเป็นอริแก่กัน จนถึงขนาดจองล้างจองผลาญเป็นการใหญ่สืบชาติสืบตระกูลนั้น เรื่องมีอยู่ว่า หวางยื้อ, ท่านขุนนางผู้ตงฉินได้มีของดีอยู่ในครอบครอง เป็นสมบัติประจำตระกูลอย่างหนึ่ง คือ รูปภาพระบายสีที่เขียนโดยฝีมือจางซี-ต๋วน (Chang Tse-tuan) จิตรกรเอกแห่งยุคราชวงศ์ซ้อง รูปเขียนแผ่นนี้ปรากฏตามตำนานว่า ใช่จะมีความสำคัญอยู่ตรงที่เป็นภาพเขียนโดยฝีมือจิตรกรเอกซี-ต๋วน แต่เท่านั้นก็หาไม่ สิซ้ำยังนับเข้าอยู่ในขั้นของความเป็น “เอกสารอันรจิตยิ่งในทางประวัติศาสตร์” ของจีนในยุคกระโน้นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะภาพเขียนที่มีชื่อเรียกกันว่า “ทวนเหนือธารน้ำ” (Going up River) ของยื้อรูปนี้ เป็นรูปเขียนที่ผู้เขียนได้แสดงออกไว้ซึ่งภาพพจน์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของภูมิลักษณะแห่งมหานครไคฟอง (Kai Feng Fu) ราชธานีใหญ่แห่งแคว้นเหนือของอาณาจักรซ้องเมื่อ ณ วันอันรุ่งโรจน์ ก่อนแต่ที่จะได้ถูกทำลายลงราบคาบโดยน้ำมือของพวกโจรคินตาด (Kin Tartars) นั้นเอง.
และเพราะความมีชื่อเสียงของภาพเขียนภาพนี้เอง ทำให้กังฉินหยิ่นซุงเกิดความอยากได้มาไว้เป็นสมบัติของตนยิ่งนัก หยิ่นพยายามตลอดเวลาและโดยทุกวิถีทาง เพื่อแก่การที่จะได้เป็นเจ้าของรูป “ทวนเหนือธารน้ำ” นี้ ทว่า “หวาง” ขุนนางผู้ซื่อ คนอันเป็นเจ้าของเดิมนั้น เขาก็หวงแหนอยู่เป็นที่ยิ่งเหมือนกัน เขาได้พยายามผัดเจ้าล่อหยิ่นครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่เนิ่นนานวัน ตราบล่วงเข้าสมัย “อัศวินทระนง” กล่าวคือหยิ่นซุงได้เข้าไปร่วมเป็นผู้ก่อการฯ ทำปฏิวัติรัฐประหารอันใดอันหนึ่งเข้ากับกลุ่มชนชั้นปกครองของแคว้นขึ้น หยิ่นก็เกิดเป็นบุคคลมีอำนาจขึ้นมาทันที ในเวลานั้นเขาอาจบันดาลอะไรก็ได้ มิว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นใคร ทั้งความเป็นและความตาย โดยเฉพาะกับหวางแล้ว หยิ่นอาจสั่งการได้ตามใจชอบ ตลอดจนถึงครอบครัวของเขาเลยทีเดียว ก็เมื่อรูปการณ์เป็นมาถึงเช่นนี้ เรื่องที่จะไปขัดขืน พณฯ หยิ่นซุงน่ะใช่วิสัยเสียแล้ว “ทวนเหนือธารน้ำ” ภาพเขียนฝีมือจิตรกรพู่กันทองสมัยราชวงศ์ซ้อง, อันเป็นสมบัติสืบตระกูลชิ้นลายครามที่หวางยื้อหวงแหนนักหนา จำต้องถูกเปลี่ยนมือไป และเจ้าของคนใหม่ก็คือ พณฯ หยิ่นซุงผู้ยิ่งใหญ่ในวงการปกครองของแคว้น–คนนี้เอง.
ปลาบปลื้มใจหยินนัก, ประสงค์มานานแล้วพึ่งจะสำเร็จก็ในครั้งนี้เอง “เลี้ยง–กินเหล้าซีวะ ดีใจนี่หว่า ฉลองความสำเร็จด้วย, อวดรูปเสียด้วย ฮะ ฮะ, นี่ไงละ ‘ทวนเหนือธารน้ำ’ ภาพเขียนจากปลายพู่กันอันลือชื่อของจางซี-ต๋วน ละ!”
พณฯ หยิ่นซุงจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้นเป็นการใหญ่ ณ ทำเนียบของเขา บุคคลสำคัญ ๆ ในวงการเมือง, รัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียง, นักเขียน, นักประพันธ์ ฯลฯ เชิญหมด เชิญท่านมากินเลี้ยงบ้านข้าพเจ้า และตลอดเวลาที่การเลี้ยงดำเนินอยู่เหนือผนังห้องโถงใหญ่ที่จัดงานก็ผงาดหราอยู่ด้วยรูปเขียนแผ่นนี้ แต่ประดาผู้ที่ได้รับเชิญมาหาเห็นมีใครสักคนไม่ที่จะสนใจไยดีกับภาพเขียนฝีมืองามแผ่นนี้ เอ, ชักไม่สบใจท่านเจ้าภาพขึ้นมาละซี ก็ที่เราอุตส่าห์เชิญมากินเลี้ยงครั้งนี้ก็เพื่อจะอวดภาพ “ทวนเหนือธารน้ำ” รูปนี้นี่นา ไหงไม่เห็นมีใครเหลือบตามอง? ถามไปถามมาเกิดไปถามเอาตั๋งฉุน-จี้ (Tang Chun-chih) นักเขียนชั้นแนวหน้าของแคว้นเข้าให้ “บ๊า, แล้วกันใต้เท้า ก็นี่มันรูปภาพจำลองของเขาต่างหากเล่า ใช่ “ทวนเหนือธารน้ำ” ตัวจริงเขาเสียเมื่อไหร่!”
“จบกัน, อ้ายยื้อต้มกูเสียแล้ว ชะช้าทำได้ หนอยแน่” ก็ลงมือชั้นบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ที่สารพัดจะรอบรู้ยืนยันว่าไม่ใช่ละก็จะให้ใช่ไปได้อย่างไรกัน “ดีละ, กูต้องเอาชีวิตมึงให้จงได้” นี้คือชนวนแรกของที่มาแห่งการผูกพยาบาทจองล้างจองผลาญระหว่างตระกูลของกันและกัน แลเป็นที่มาของงานเขียนนวนิยายแสนพิศวาสที่ชื่อ “กิมปังบ๊วย”–“บุปผาในกุณฑีทอง” เรื่องนี้ด้วย.
โอกาสแก้แค้นที่หยิ่นคอยมาถึงนั้น คือ ในปีคริสต์ศักราช ๑๕๕๐ ค่ายชิห์ลิ (Chi hli) เมืองป้อมด่านหน้าซึ่งอยู่ในความบังคับบัญชาของหวางยื้อ ได้ถูก แอมดา หัวหน้าโจรชาวตาด (Tar Tar Chieftain Amda) คุมไพร่พลเข้าจู่โจมตีจนแตกย่อยยับ นับเป็นความผิดของนายด่านอย่างร้ายแรงยิ่ง หยิ่นซุงได้นำคดีเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาโทษ และโทษสถานเดียวที่หวางยื้อจะต้องได้รับคือ ตาย––และต้องตายอย่างชนิดตายโหง! นั่นคือ “ตัดหัว!”
เหตุการณ์อย่างนี้มีกันทุกยุคทุกสมัยมิใช่หรือ?
หวางยื้อ, ตายโหงไปแล้วสิบแปดปี ใน ค.ศ. ๑๕๖๘ หยิ่นซุงก็ตายตาม เขาจบชีวิตอันสกปรกโสมมไปจากโลกนี้ตามวิสัยอันไม่เที่ยงแท้ของสังขาร แต่ว่าเขาหาได้จบความเคียดแค้นชิงชังผูกพยาบาทที่คน ๆ หนึ่งมีต่อเขาไปด้วยไม่ และคน ๆ นั้นคือ หวางฉี-เชง (Wang Shih-cheng) ลูกชายของหวางยื้อ ความอาฆาตชนิดที่ต้องแก้แค้นให้ถึงที่สุดนี้เมื่อไม่มีตัวพ่อ ผู้รับช่วงต่อก็ต้องเป็นลูก ซึ่งก็คือ หยิ่นชีฝัน (Yen Shih-fan) ผู้เป็นทายาทของซุงนั่นเอง.
ถ้ากระนั้น เรามาฟังกันถึงพฤติการณ์ตามล้างตามผลาญของลูกชายต่อลูกชายคู่อริกันสืบไป.
จากท้องเรื่องเดิมปรากฏว่า พฤติการณ์การแก้แค้นของหวางและหยิ่นคู่นี้มีมากมายหลายประการนัก ทั้งคู่ต่างชิงไหวชิงพริบกันตลอดมา ฝ่ายคิดจะฆ่าก็หาทางแต่คิดจะฆ่า ข้างฝ่ายป้องกันตัวเล่าก็หนังเหนียวทายาด เขามีของดีที่ทำให้แคล้วคลาดได้ทุกทีไป ทั้งนี้นอกจากหยิ่นจะมีคนคุ้มกันอย่างฝากชีวิตไว้ต่อกันได้แล้ว ชี-ฝันยังมีอาวุธพิเศษสำหรับป้องกันตัวในเวลาเข้าที่คับขันอีกอย่างหนึ่งด้วยคือ “พู่กันมฤตยู” พู่กัน (Pitch) นี้ เมื่อนำไปลนไฟแล้ว มันจะสามารถปล่อยกระสุนระเบิดออกสังหารศัตรูได้ในทันที.
จึงอยู่มาวันหนึ่ง เขาทั้งคู่ได้รับเชิญไปงานสาธารณะพิธีแห่งหนึ่ง บังเอิญได้เกิดประจัญหน้ากันเข้าอย่างมิได้คาดฝัน และอย่างหมดทางจะบ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลบซึ่งกันและกัน (เวลานั้นชื่อของหวางฉี-เชง ใคร ๆ ในแคว้นก็รู้จัก เขากำลังมีชื่อเสียงเฟื่องฟุ้งในทางวรรณคดีและเปรื่องปราชญ์อย่างหาใครเทียมยากในด้านอักษรศาสตร์ และก็หวางฉี-เชงผู้นี้แหละที่มิไยว่าจะเป็นนามแฝง นามปากกา หรือว่านามจริงๆ ของเขา จากหลักฐานการค้นคว้าที่ใกล้เคียงที่สุดยืนยันว่า เป็นบุคคลผู้รจนานวนิยายเรื่อง “บุปผาในกุณฑีทอง” นี้แน่นอน)
เมื่อคู่อริทั้งสองเจอกันเข้าจังๆ หน้าเช่นนั้น จะมีอะไรดีไปกว่ายิ้มแย้มเข้าหาและทักทายแก้ขวยกันไปตามเรื่อง “เฮ้, เดี๋ยวนี้ลื้อกำลังเขียนหนังสือเรื่องอะไรอยู่ล่ะ?” ชี-ฝันถามฉี-เชง “ก็พุทโธ่! รูปอย่างมึงมีรึที่จะมาเอาใจใส่กับหนังสือหนังหา กูรู้กำพืดมึงดีอยู่นี่” หวางนึก ดีละกูจะเอาชีวิตมึงให้จงได้ในครั้งนี้ ฉับพลันนั้นเองเขาก็นึกได้โดยแยบคายในอันจะแก้แค้นแทนพ่อ ต่อศัตรูของตระกูลเขา เพราะชั่วขณะที่เขากวาดตาไปรอบๆ นั้น พลันเขาก็ประสบเข้ากับ “ดอกเหมยช่องามสวยสดสล้างปักอยู่ในกระถางทอง” ความที่หวางรู้ว่าชี-ฝันชอบอ่านหนังสือประโลมอารมณ์ประเภทเร้าราคะกำหนัด เขาจึงตอบชี-ฝันไปทันทีว่า “ถูกล่ะ, อั๊วกำลังเขียนนิยายรักอยู่เรื่องหนึ่ง พึ่งจะจบเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ชื่อ กิมปังบ๊วย” (บุปผาในกุณฑีทอง) อยากอ่านไหมล่ะ?”
แล้วเขาทั้งคู่ก็จากกันไป––
ฝ่ายหวางฉี-เชงเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบมาทบทวนจับอ่านเรื่อง “ซ้องกั๋ง” เป็นการใหญ่ โดยกำหนดเอาเค้าโครงจาก “ซ้องกั๋ง” นี้เองเป็นเลาทางในการเขียน และอาศัยที่ว่า ลูกชายหวางยื้อผู้นี้เป็นนักศึกษาที่เก่งกาจ (มีที่อ้างในหลักฐานว่า เขาต้องเป็นบุคคลคนเดียวกับนักศึกษาผู้มีชื่อเสียงของศักราช เจียจิ้ง (Chia ching-period) ซึ่งประมาณเวลาอยู่ใน ปี ค.ศ. ๑๕๒๒–๑๕๖๖ แน่ๆ) ดังนั้นเมื่อเขาจับงานเขียนนวนิยายเรื่อง “บุปผาในกุณฑีทอง” นี้ ชั่วเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์เขาก็สุดสิ้นกระบวนความได้หนังสือถึง ๑,๖๐๐ หน้ากระดาษ มีถ้อยสำนวนความสอดแทรกคารมเสียดสี ชนิดอ่านแล้วถึงใจพระเดชพระคุณท่าน และก็เป็นไปตามชีวิตที่เป็นจริงของศัตรูคู่อาฆาต คือหยิ่นฝัน เสียด้วย หากได้รับการบิดเบือนให้เป็นในนามของไซหมึ่งเข่ง ทว่าผู้ใดใครอ่านก็ย่อมเดาได้ไม่ผิด เพราะชื่อ ไซหมึ่ง ตามรูปศัพท์แปลว่า ปัจฉิมทวาร (Western Gate) ซึ่งเป็นชื่อของนายโรงเอกในนวนิยายเรื่องนี้ ส่วนชื่อของชีฝัน ตัวจริงอีกชื่อนั้นเรียกกันว่า ตั๋งโล่ (Tung Lou) ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ว่า บูรพาปราการ (Eastern Tower) แล้ว ยิ่งกว่านั้น ชื่อเล่น ๆ ที่เรียกกันในหมู่ญาติของชี-ฝัน ก็เกิดมีชื่อว่า “เข่ง” เสียอีกด้วย จึงสมแล้วที่ตามหลักฐานอ้างอิงของที่มาในการค้นคว้าต้นกำเนิดงานเขียนของนวนิยายเรื่องนี้ อ้างว่าเป็นการเขียนที่สอดแทรกสำนวนเย้ยหยันไว้ระหว่างกันของเพื่อนนักศึกษาสมัยเจียจิ้งโดยถูกต้อง.
เมื่อหวางฉี-เชงเขียนหนังสือเล่มนี้จบลง เขาได้จัดการป้ายยาพิษไว้ตามริมขอบหน้ากระดาษหนังสือทุก ๆ หน้า หน้าละหยดสองหยดเพื่อเวลาที่คนอ่านพลิกหน้ากระดาษโดยใช้นิ้วจิ้มน้ำลายแตะขอบหนังสือเปิดอ่านนั้น จะได้มีโอกาสลิ้มยาพิษที่ป้ายนี้เข้าไปทีละหยดสองหยด ทั้งนี้เพราะหนังสือจีนในสมัยนั้นต้องเขียนด้วยกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้ซึ่งเปื่อยยุ่ยและขาดง่าย จำเป็นผู้อ่านต้องบรรจงพลิกเปิดอ่านแต่เบามือ ด้วยวิธีนิ้วจิ้มน้ำลายแตะขอบหนังสือแล้วเปิดพลิกโดยเร็ว จึงด้วยวิธีนี้เองยาพิษที่ป้ายไว้จะซึมเข้าลำไส้คนอ่านทีละหยดสองหยุดกระทั่งตาย (นี่ก็เป็นความมุ่งหมายของฉี-เชง ในอันที่จะฆ่าศัตรูคู่อาฆาตรายนี้ให้ฉกรรจ์เป็นที่สุด โดยฆ่าทีละน้อย ๆ ไม่ให้คนถูกฆ่าทันรู้สึกตัว)
แล้วเขาก็ส่งนวนิยายเรื่องนี้ไปให้หยิ่นชี-ฝันในฐานะหนังสืออภินันทนาการ!
เอาละซี, บ๊ะ ยิ่งอ่านยิ่งสนุก ยิ่งอ่านยิ่งติดใจ–หยิ่นอภิรมย์อยู่ด้วยนวนิยายรักเรื่องนี้ อย่างชนิดที่อ่านแล้ววางไม่ลงจนกระทั่งจบเรื่อง ซึ่งตลอดเวลาที่เขาพลิกอ่านทุกหน้าหนังสือ ความตายก็เกาะกุมชีวิตเขาตามไปทุกตัวอักษร จึงเมื่อเขาจบ “กิมปังบ๊วย” เขาก็พลันจบชีวิตของเขาไปพร้อมด้วย ยาสั่งของยื้อสัมฤทธิ์ผลสมประสงค์แล้ว หยิ่นชี-ฝันตาย! เขาตายไปด้วยผลของการแก้แค้นจากน้ำมือของลูกชายของคนที่บิดาเขาเคยทำให้ตายมา สาสมแล้ว สุดสิ้นกันเสียทีได้แล้ว–มิใช่หรือ?
ช้าก่อน, อย่าเพิ่งลุกขึ้นไป ที่ไหนได้ใครว่าจบ ยังอีก ยังจะต้องตามฆ่ากันอีกให้สมกับใจที่แค้น นี่คือปณิธานของการแก้แค้นอันชนชาวจีนถือเป็นแบบฉบับของความกตัญญู มา เรามาติดตามฟังพฤติการณ์ของฉี-เชง สืบไป, ดังนี้ :-
เสียงพิลาปร่ำไห้ยังระงมไปทั้งเคหาสน์ ร่างอันไร้วิญญาณของหยิ่นชี-ฝันทอดอยู่เหนือเตียงภายในห้องอันรโหฐานของเขา เพื่อรอคอยเวลาที่จะรับการบรรจุศพลงโลงตามประเพณี ขณะนั้นเองมีชายแปลกหน้าในเสื้อคลุมอันรุ่มร่ามผู้หนึ่งมาที่บ้าน “ข้าพเจ้ามีความอาลัยเหลือเกิน เพราะท่านผู้ตายเป็นคนดีมาก–เราเคยเป็นเพื่อนเก่าแก่กันมานาน ขอให้ข้าพเจ้าเข้าเยี่ยมคำนับศพท่านผู้ตายอีกสักครั้งเป็นครั้งสุดท้ายสักหน่อยเถิด” คนในบ้านได้รับคำบอกเล่าดั่งนี้จากเขา–––ชายแปลกหน้าผู้มาในเสื้อคลุมคนนั้น “เอ๊ะ, ก็จะเป็นไรไปเล่า เชิญซิ นอนตัวแข็งทื่ออยู่ในห้องโน้นแน่ะ” ก็จะไปหวงห้ามกันไว้หาสวรรค์วิมานทำไมเล่า ไหน ๆ คนก็ตายแล้ว สิเพื่อนเก่ารักแรงอุตส่าห์มาจากแดนไกลถึงเพียงนี้ ด้วยซ้ำยังนับเป็นเกียรติยศอย่างสูงเสียอีก คนในบ้านจึงอนุญาตให้ชายแปลกหน้าที่แต่งตัวรุ่มร่ามผู้นั้น เข้าไปคำนับศพชี-ฝันได้แต่ลำพัง ณ ภายในห้องตามความปรารถนา สักครู่นั้นเองก็มีเสียงร้องอย่างเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสดังลอดออกมาจากห้องไว้ศพ เป็นที่ประจักษ์อยู่แก่หูของทุกผู้ภายในบ้าน แล้วต่อมาไม่นานชายแปลกหน้าคนนั้นก็เดินออกมาจากห้องไว้ศพ เขากลับออกมาด้วยท่าทางอันสำรวม มีศีรษะอันค้อมแลประสานมือกรอมไว้ในเสื้อคลุมเป็นที่เคร่งขรึมสมสภาพของคนผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความอาลัย ดูเป็นที่น่าเลื่อมใสอยู่ แล้วชายแปลกหน้าผู้นี้ก็อำลาไปด้วยอาการอันรีบร้อนจากเคหาสน์ของหยิ่นชี-ฝันผู้ตายแต่ทัน ณ เพลานั้นเอง.
ครั้นเมื่อถึงเวลาสัปเหร่อมาทำการมัดตราสังจะยกศพลงโลง “ไอ้หยา, ตายแล้ว นี่อะไรกัน แขนขวาถูกตัดขาดไปไหนก็ไม่รู้?!” ก็จะใครกันเสียอีกเล่า? เจ้าคนแปลกหน้าที่มาแล้วและจากไปแล้วนั้นเอง อา, ดูเอาเถิด แรงแห่งความพยาบาทที่ร้อนแรงยิ่งกว่าสิ่งใด “ทั้ง ๆ ที่ได้วางยาเบื่อให้ศัตรูตายไปแล้วก็ยังไม่สะใจ ขอให้ได้ฆ่าด้วยน้ำมือตนอีกที แม้เจ้าจะตายไปแล้วก็ตาม” และบัดนี้การแก้แค้นของหวางฉี-เชงก็ได้สุสิ้นลงแล้วทุกประการ สมดังปณิธานที่เขาได้ตั้งใจไว้––
สนุกนักหรือ? น่าอ่านนักหรือ? “บุปผาในกุณฑีทอง” เรื่องนี้ หยิ่นชี-ฝันถึงได้อ่านจนวางไม่ลงและต้องตายโดยไม่รู้ตัว ท่านผู้อ่านที่รัก นวนิยายเรื่องนี้ที่นับแต่ชี-ฝันอ่านแล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีการตีพิมพ์ออกมาอีกสองครั้งอย่างที่เล่ามาแล้วข้างต้น ในการพิมพ์ครั้งที่สองซึ่งสำนักพิมพ์ในเมืองซูเจาจัดพิมพ์นั้น ปรากฏว่าอยู่ในปี ๑๖๙๕ แล้วต่อมาก็ยังได้รับพระบรมราชานุมัติให้พิมพ์เผยแพร่ได้อีกครั้งหนึ่งโดยจักรพรรดิกังสี (K'ang Hsi) ใน ปี ๑๖๘๗ แล้วก็ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาแมนจูต่อมาในปี ๑๗๐๘ โดยพระอนุชาของจักรพรรดิกังสีนี้อีก แต่พอถึงปี ๑๗๕๓ ชื่อเสียงของนวนิยายเรื่องนี้ก็พลันสะดุดหยุดชะงักลงทันที ทั้งนี้โดยพระบรมราชโองการขององค์เอมเปอเรอเจียนลุง (Chi'en Lung) ในประการที่ว่า กุลบุตรกุลธิดาชาวแมนจูควรจะใฝ่ใจแต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์และปรัชญาของขงจื๊อเท่านั้น (ดังนั้นพระองค์จึงห้ามมิให้ผู้ใดแปลนวนิยายจีนออกเป็นภาษาแมนจู) และนับตั้งแต่นั้นมาชั่วระยะเวลาหนึ่งคือ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๒๕ จนถึง ปี ค.ศ. ๑๙๑๒ อันเป็นปีที่วงศ์แมนจูสิ้นอำนาจ นวนิยายเรื่องนี้ได้มีอันถูกเก็บงำเงียบอยู่ ทั้งนี้โดยมีพระราชกฤษฎีกาว่าไว้ในสมัยราชวงศ์แมนจู ในประการที่กำหนดโทษไว้อย่างร้ายแรงยิ่งนักสำหรับการนำออกเผยแพร่ ซึ่งนวนิยายแสนพิศวาสเรื่องนี้ว่า “ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเขียนหรือพิมพ์ ชั้นที่สุดจะอ่านก็มิได้ หากผู้ใดฝ่าฝืน ท่านว่าถ้าเป็นขุนนางข้าราชการให้ถอดออกจากยศ ถ้าเป็นทหารให้ตีฝ่าเท้า ๑๐๐ ที แล้วขับไล่ออกนอกท้องถิ่นเป็นระยะทาง ๙๐๐ ไมล์ สำหรับผู้ชายหากจับได้ให้ลงโทษโบย ๑๐๐ ที แล้วเนรเทศออกจากท้องที่เดิมมีกำหนดสามปี ส่วนประชาชนคนซื้อและคนอ่านนั้น หากจับได้ไล่ทันจะถูกลงโทษรับโบย ๑๐๐ ที แต่ไม่มีการเนรเทศ”
นี้เป็นที่มาของยอดวรรณกรรมจีนเรื่อง “บุปผาในกุณฑีทอง” ตามที่ค้นคว้าได้มา.