- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
ประวัติของพระภิกษุฟาเหียน, ยังไม่มีปรากฏโดยเฉพาะในหนังสือฉบับใด, นอกจากจะเก็บได้บ้างจากข้อความในหนังสือจดหมายเหตุการณ์เดินทางไปอินเดียของฟาเหียนที่ได้เขียนไว้เองฉบับหนึ่ง. กับหนังสือจดหมายเหตุว่าด้วยเรื่องพระภิกษุผู้มีเกียรติ ซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๒. และจดหมายเหตุ ว่าด้วยความมหัศจรรย์ของพระภิกษุ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์หมิงอธิราชแห่งประเทศจีน, ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๗. แต่กระนั้นก็ดี ข้อความอันนับเนื่องเข้าในเรื่องราวที่ควรจะกล่าวเป็นประวัติกาลของฟาเหียนก็ได้ความแต่เพียงเล็กน้อย ยังขาดความสมบูรณ์อยู่เป็นอันมาก.
พระภิกษุฟาเหียน, นามเดิมที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า กัง.๑ คำว่า ‘ฟาเหียน’ เป็นนามสำหรับเมื่อเป็นภิกษุแล้ว. ฟาเหียนเป็นชาวชนบท วูยัง ในจังหวัด ปิยัง๒, ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นอันกว้างใหญ่แห่งมณฑลชานซี. ฟาเหียนมีพี่ที่แก่กว่าตน ๓ คน แต่บรรดาพี่เหล่านั้นได้ถึงแก่กรรมไปหมด ตั้งแต่เยาว์วัย ขณะเมื่อฟันน้ำนมเริ่มผลิขึ้นทั้งนั้น. ด้วยเหตุนี้ บิดาของฟาเหียนจึงนำเอาตัวเด็กชายฟาเหียนไปถวายให้ไว้เป็นศิษย์พระภิกษุสงฆ์ และขอให้บรรพชาเป็นสามเณรด้วยทีเดียว. แต่เพราะฟาเหียนยังเยาว์วัยอยู่มาก, บิดาจึงขอให้สามเณรฟาเหียนกลับไปอยู่ที่บ้านรวมกับครอบครัวของตนไปพลางก่อน. ต่อมาไม่ช้าฟาเหียนก็เกิดมีอาการป่วยหนักขึ้นครั้งหนึ่ง, จนเกือบจะเอาตัวไม่รอด. พออาการป่วยของฟาเหียนค่อยทุเลา, บิดาจึงรีบพาฟาเหียนส่งคืนให้ไปอยู่ที่วัด, และได้ทำสัตย์อธิษฐานต่อคุณพระรัตนตรัย ขอให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่บุตรชายของตน. นับแต่นั้นสืบมา ฟาเหียนจึงค่อยได้รับความสุขสบายหายจากการป่วยไข้จนเป็นปกติ ดั่งนั้น จึงเป็นเหตุให้ฟาเหียนไม่ยอมกลับไปอยู่รวมกับบิดามารดาของตนอีกต่อไป.
เมื่ออายุของฟาเหียนได้ ๑๐ ขวบ, บิดาของฟาเหียนก็ถึงแก่มรณกรรมลง, มารดาของฟาเหียนตกอยู่ในฐานะเป็นคนอนาถา. ลุงของฟาเหียนคนหนึ่ง พิเคราะห์เห็นหญิงหม้ายมารดาของฟาเหียนอยู่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ขาดผู้อุปการะที่พึ่งพาอาศัย, จึงไปพูดชี้แจงชักชวนให้ฟาเหียนลาจากเพศสามเณร ออกจากวัดกลับไปอยู่บ้านเพื่อปฏิบัติเลี้ยงดูมารดาของตน. แต่สามเณรฟาเหียนได้ตอบแก่ลุงว่า “ข้าพเจ้ามิได้สละครอบครัวมาเพื่อทำความปรารถนาของบิดาข้าพเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น, แต่เพราะเหตุว่าข้าพเจ้ายังปรารถนาที่จะอยู่ให้ไกลจากละอองมลทินโทษ, และความหยาบคายในทางดำเนินแห่งชีวิตด้วย, เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเอาเพศพรหมจรรย์เป็นที่พึ่ง.” ลุงเห็นชอบด้วยถ้อยคำของฟาเหียน จึงได้เลิกชักชวนยอมให้เป็นไปตามความเห็นชอบของฟาเหียน. ต่อมาเมื่อมารดาของฟาเหียนถึงแก่มรณกรรมลงอีก ฟาเหียนสำแดงความกตัญญูกตเวทีและด้วยความจงรักภักดีต่อมารดา, ได้เข้าไปพักจัดการปลงศพมารดาของตนที่บ้าน, เมื่อสำเร็จธุระแล้วก็กลับไปสู่อาวาสอันเป็นที่อยู่ของตนสืบไป.
ครั้งหนึ่ง ฟาเหียนกับพวกเพื่อนศิษย์ในวัด ราว ๒๐ หรือ ๒๒ คน ไปประสบเหตุการณ์เข้าเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ พวกผู้ร้ายกำลังเข้าขโมยลักเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวในนา พวกเพื่อนของฟาเหียนต่างหนีกลับหมด. ยังเหลือแต่ฟาเหียนเด็กหนุ่มผู้กล้าหาญยืนนิ่งอยู่คนเดียว แล้วและได้เข้าไปกล่าวแก่พวกผู้ร้ายเหล่านั้นว่า “ถ้าท่านประสงค์จะเอาเมล็ดข้าวนี้ไป ท่านก็สามารถทำได้ตามความพอใจของท่าน. แต่นี่แน่ะท่าน ! สิ่งที่ท่านจะทำลงอีกนี้ มันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ท่านขาดความเมตตากรุณาอุปการะเผื่อแผ่ (แก่เพื่อนสัตว์) มาแล้วแต่ปางก่อน ดั่งนั้นผลแห่งความยากจนข้นแค้นจึงตามมาสนองท่านอยู่ในปัจจุบันนี้. และเดี๋ยวนี้ท่านก็ยังมาก่อกรรมทำการอทินนาทานอื่น ๆ อยู่ดั่งนี้อีก ฉันเกรงว่าท่านจะต้องประสบความเศร้าโศกและความอับจนทุกข์ยากอันใหญ่หลวงยิ่งขึ้นอีกสืบต่อไป. ฉันนึกถึงกรรมที่ท่านได้ทำลงแล้ว รู้สึกเวทนาท่านจริง ๆ.” เมื่อฟาเหียนกล่าวถ้อยคำแก่ผู้ร้ายดั่งนี้แล้ว ก็เดินตามพวกกลับไปสู่อาราม. ฝ่ายพวกผู้ร้ายก็เลิกการลักข้าว และออกจากที่นั้นไป. บรรดาพระภิกษุทั้งหลายมีจำนวนหลายร้อยรูปเมื่อได้ทราบเรื่องนี้ ต่างแสดงความเคารพนับถือในอัธยาศัย และความกล้าหาญของสามเณรฟาเหียนเป็นอย่างยิ่ง.
เมื่อฟาเหียนมีอายุเจริญวัยพ้นเขตแห่งการเป็นสามเณร ถึงกำหนดครบถ้วน, ก็ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ตามพระวินัย. ปรากฏว่าพระภิกษุฟาเหียนเป็นผู้มีความเพียรขวนขวายและกล้าหาญ, มีปัญญาเฉลียวฉลาด, เคร่งครัดต่อธรรมวินัย, จนเป็นที่ประจักษ์ในอัธยาศัยใจคอของฟาเหียนอยู่ทั่วไป. ต่อมาภายหลังอีกเล็กน้อย ฟาเหียนก็ยอมเข้ารับภาระเป็นผู้เดินทางไปอินเดีย เพื่อเสาะแสวงหาคัดเอาคัมภีร์พระไตรปิฎก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาเหียนได้เดินทางท่องเที่ยวไปในอินเดียตลอดแล้ว และกลับเมืองจีนโดยทางทะเล. ฟาเหียนได้ทำตนให้กระชับเข้ากับเรื่องราว ซึ่งเพิ่มความมหัศจรรย์บางประการ, ในเหตุการณ์ที่เป็นไปและบังเกิดขึ้นในขณะเมื่อฟาเหียนได้ไปเยี่ยมถึงยอดเขาคิชฌกูฏใกล้ราชคฤห์นั้น.
เมื่อพระภิกษุฟาเหียนกลับจากอินเดียแล้ว ได้ไปพักอยู่ในนครนานกิง. ณ ที่นั้นฟาเหียนได้สมทบกับพระสมณะอินเดียองค์หนึ่ง มีนามว่าพุทธภัทร ช่วยกันแปลคัมภีร์ที่คัดเอามาจากอินเดียออกเป็นภาษาจีนได้หลายเล่ม. แต่ก่อนที่จะทำการสำเร็จลง, ฟาเหียนได้ย้ายไปอยู่กิงเจา๓ในมณฑลฮูเป และได้ถึงมรณภาพลง ณ ที่นั้น ภายในเพศพรหมจรรย์ผู้ทรงศีล เมื่ออายุ ๘๘ ปี. เป็นเหตุให้บังเกิดความเศร้าโศกสลดใจแก่บุคคลที่รู้จักทั่วไป.
-
๑. 龔, นิยายในหนังสือไซอิ๋ว กล่าวว่า, ฟาเหียนเมื่อยังเล็กชื่อ ‘กังลิ้ว’ เมื่ออุปสมบท อาจารย์ให้นามว่า ‘เหี้ยนจึง’ เป็นบุตรตั๋นกวงหยีกับนางอุนเกี๋ยว. ตระกูลขุนนาง. เมื่อบิดามารดาเดินทางจะไปเป็นเจ้าเมืองกังจิว ถูกโจรปล้นและเอาเด็กชายกังลิ้วทิ้งน้ำลอยไป, สมภารฮวดเม้งวัดกิมซั่วยี่ เก็บเอาไปเลี้ยงแล้วให้บวช. ↩
-
๒. 平陽, 武陽 ↩
-
๓. 荆洲 ↩