- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๓๐
ศรัตปรณ, และปฐมสังคีติ. นิยายต่าง ๆ.
อัตตวิบาตกรรมของพระภิกษุรูปหนึ่ง.
ออกจากนครโบราณ, ภายหลังเมื่อได้เดินทางล่วงแล้วไปได้ ๓๐๐ ก้าว, บนฟากทางเบื้องตะวันตก. ฟาเหียนได้พบอุทยานป่าไม้ไผ่กรัณฑ์,๓๑๔ ณ ที่นี้ยังมีวิหาร (โบราณ) ปรากฏอยู่, และมีพระภิกษุทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาและรดน้ำปัดกวาด.
เหนือวิหารขึ้นไป ๔๐ หรือ ๖๐ เส้น, เป็นสถานที่ศมศานัม, ซึ่งนามคำนี้มีความหมายในภาษาจีนว่า ป่าช้าฝังศพ, ซึ่งเมื่อตายแล้วก็เอาไปทอดทิ้งไว้.๓๑๕
ฟาเหียนเดินเลียบไปตามทิวภูเขาทางใต้, และเมื่อได้ไปทางตะวันตกราว ๓๐๐ ก้าว ก็พบสถานที่พักอาศัยในระหว่างซอกศิลามีนามว่าปีปปลคูหา.๓๑๖ ซึ่งในถ้ำแห่งนี้พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับนั่งเจริญภาวนา, ในเวลาภายหลังเมื่อได้เสวยพระกระยาหาร (เที่ยงวัน) แล้วอยู่เสมอ
ต่อไปทางตะวันตก ๑๐๐ หรือ ๑๒๐ เส้น, ด้านเหนือแห่งเนินเขาในที่มีร่มเงาได้พบถ้ำนี้เรียกว่าศรัตปรณ.๓๑๗ ณ สถานนี้ภายหลังเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว, พระอรหันต์ ๕๐๐ได้กระทำการรวบรวมพระสูตรทั้งหลาย. เมื่อจะกระทำการรวบรวมชำระพระสูตรนั้น, ได้จัดที่นั่งให้สูงขึ้นข้างหน้าสำหรับผู้ที่จะนำสูตรมาแสดงไว้ ๓ แห่ง,๓๑๘ ซึ่งได้จัดการตกแต่งตระเตรียมไว้งดงาม. พระสารีบุตรเข้าประจำที่หนึ่งทางด้านซ้าย, และพระโมคคัลลานะทางขวา. ในจำนวน ๕๐๐ ยังขาดความต้องการอยู่อีก ๑ องค์. พระมหากัศยปเป็นประธาน (นั่งกลาง). ขณะนั้น พระอานนท์อยู่ภายนอกประตู, และไม่ได้เข้าไปข้างใน.๓๑๙ ณ สถานที่นี้ (สืบต่อมา) มีสตูปที่ได้สร้างขึ้นไว้องค์หนึ่ง, ซึ่งยังคงมีอยู่จนบัดนี้
ตามยาว (ด้านข้าง) ของเขาลูกนี้, มีโพรงเป็นช่องเข้าไปในระหว่างซอกศิลามากมายยิ่งนัก. โพรงหินเหล่านี้เป็นที่ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายนั่งเจริญภาวนาดุจเดียวกัน เมื่อออกจากเมืองเก่าไปทางด้านเหนือ, แล้วย้อนไปทางตะวันออก ๖๐ เส้น, ณ ที่นั้นเป็นศิลาอันเป็นสถานที่พักอาศัยของเทวทัตต์. และจากที่นี้ไประยะ ๕๐ ก้าว, มีศิลาดำแผ่นหนึ่งรูป ๔ เหลี่ยมใหญ่โต. แต่เดิมมามีพระภิกษุรูปหนึ่งขึ้นไปเดินกลับไปกลับมาบนหินแผ่นนี้, กระทำความระลึกพิจารณาถึงตนเองว่า ‘ร่างกาย๓๒๐นี้เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร, เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งที่ประกอบอยู่ด้วยโมหะโทสะและความหยิ่งเย่อประมาท,๓๒๑ ซึ่งไม่เห็นมีความสะอาดบริสุทธิ์.๓๒๒ เราต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะร่างกายนี้ และวุ่นวายยุ่งยากอยู่ด้วยความชั่วร้าย.’ แล้วและฉวยเอามีดเล่มหนึ่งจะกระทำการพิฆาตตนเอง, แต่แล้วก็คิดต่อไปอีกว่า ‘พระบรมโลกนาถทรงห้าม, ก็สงบการที่กำลังคิดจะประหารตนเองลงได้อีกครั้งหนึ่ง.๓๒๓ (แต่แล้ว) สิ่งอันเป็นมูลเหตุที่เป็นมาแต่ครั้งก่อนก็กลับทวนมาสู่แนวความคิดของพระภิกษุองค์นั้นอีกว่า ‘ถูกแล้ว, เราต้องกระทำ. เพราะเดี๋ยวนี้เราปรารถนาโดยเฉพาะที่จะสังหารอ้ายผู้ร้ายอันเป็นตัวยาพิษทั้ง ๓.๓๒๔ ในทันใดนั้นมีดก็เริ่มตัดลงที่หน้าคอของพระภิกษุรูปนั้น เมื่อเริ่มเป็นบาดแผลลงไปในมังสาครั้งแรก, พระภิกษุรูปนั้นก็บรรลุถึงแดนโศรตาปันนะ.๓๒๕ เมื่อลึกเข้าไปได้ตลอดครึ่งหนึ่ง, ก็บรรลุถึงอนาคามินะ๓๒๖: และเมื่อได้ตัดลงไปตลอดแล้ว, พระภิกษุรูปนั้นก็ถึงซึ่งอรหัตและบรรลุถึงปรินิรพาน๓๒๗ (มรณะ)
-
๓๑๔. กรัณฑ เวฬุวัน. อุทยานซึ่งพระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธองค์, และได้สร้างวิหารถวายในที่นี้ด้วยหนึ่งหลัง. (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๖. กับ M. B. หน้า ๑๘๔). ที่เรียกสถานที่นี้ว่ากรัณฑ์นั้น นัยว่ามาจากนามของสัตว์เดรัจฉานชนิดหนึ่งมีนิยายว่า พระราชาผู้ทรงความเที่ยงธรรมองค์หนึ่ง, พอตื่นบรรทมขึ้นมาก็เกือบถูกงูกัด, แต่พระองค์ป้องกันชีวิตของพระองค์ไว้ได้ ในหนังสือ Hardy ว่าเป็นสัตว์กระรอก. แต่ Eitel แปลคำกรัณฑ์ว่านกชนิดหนึ่งร้องเสียงหวานคล้ายนกเม็กไปหรือนกกางเขน. (ดูหนังสือ Buddhist Birth Stories หน้า ๑๑๘) ↩
-
๓๑๕. สุสาน. สำนวนที่ตรงนี้ออกจะเป็นการหมิ่นประมาทไปสักหน่อย, ประดุจว่า (ฟาเหียน) ผู้แต่งหนังสือนี้มิได้มีความสมเพชต่อคนอื่น ๆ, ที่ได้ตระเตรียมทำการกันสำหรับเมื่อเวลาตายเลย, ซึ่งตนเองก็เป็นพุทธศาสนิกชนจำพวกที่เมื่อตายแล้วก็จะต้องเผาเหมือนกัน. ↩
-
๓๑๖. ในภาคจีนใช้ตัวอักษรสำหรับนามของถ้ำแห่งนี้ดุจเดียวกันกับนามของต้นไม้ปิปปล (ปีปุล), ฟิกุส เรลิยิโอซ่า. (โพ). ที่เรียกดั่งนี้ทำให้คิดไปว่า จะเป็นเพราะมีต้นปิปุลขึ้นเป็นร่มเงาเบื้องบนถ้ำนี้กระมัง. ↩
-
๓๑๗. บาลี-สตฺตปณฺณ ปฐมสังคายนา. การกระทำสังคีติครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่ปรากฏในพงศาวดารของพุทธศาสนา. การประชุมที่ศรัตปรณคูหาครั้งนี้กระทำขึ้นโดยไม่ทันจะรู้ตัวกันทั่วไป. จึงดูมาไม่พร้อมเพรียงกันนัก. แต่ปรากฏว่า พระเถระผู้มีอาวุโสเป็นผู้ใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในธรรมวินัยเป็นผู้ออกคำสั่งเรียกประชุม. พระเจ้าอชาตสัตรุเป็นผู้จัดแจงให้มีขึ้นที่คูหาแห่งนี้ในสมัยของพระองค์. สำนวนถ้อยคำที่กล่าวสาธยายกันนั้นว่า ‘เอาตามแบบของพระราชา.’ เช่นนี้เหมือนว่าสูตรหรืออื่นๆ อีกบางอย่างซึ่งมีมาแต่ก่อนนั้น, จะได้กระทำการเขียนจดกันไว้แล้ว, ซึ่งไม่ควรจะตีความหมายของคำว่าราชาให้กว้างขวางถึงเป็นแทนคำว่าสูตรหรือวินัย, แต่คงให้เป็นคำตามแบบที่เข้าใจกันตามธรรมดาทั่วไป, ก็จะต้องเป็นจริงดั่งได้กล่าวแล้ว (ดู David’s Manual บทที่ ๙. กับ Sacred Books of the East เล่ม ๒๐ วินัยคัมภีร์ หน้า ๓๗๐-๓๘๕). และมีข้อที่เราควรสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ในสมัยเดียวกันนี้มีตัวอักษรปรากฏอยู่ในโลกภาคที่เจริญแล้ว, คืออักษรเฟนิเชี่ยน, ซึ่งเป็นต้นเค้าของอักษรพราหมี, และแปลงรูปเป็นอักษรเทวนาครีของอินเดียฝ่ายเหนือ, และฆฤนถ์หรือครนถ์ของอินเดียฝ่ายใต้ แต่หนังสือพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑๐ กล่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้ว ๔ เดือน, จึงกระทำสังคีติครั้งนี้. พระมหากัสสปะเป็นประธาน, พระอานนท์แสดงพระธรรม, พระอุบาลีแสดงพระวินัย, แสดงกันด้วยปากเปล่า, ด้วยยังไม่มีประเพณีจดลงเป็นตัวอักษร. ↩
-
๓๑๘. ‘ที่สำหรับนั่งสูง,’ คำนี้ใช้ในฉบับเกาหลี, แต่ในฉบับจีนมีคำว่า ‘ว่างเปล่า.’ และคำว่า ‘ตระเตรียม,’ ในฉบับเกาหลีใช้ ‘ปูลาด.’ บางทีจะมีทั้งเบาะนั่ง พรมเสื่อปูไว้บนพื้นสำหรับทั่วไป, ส่วนผู้ที่ดำรงศักดิ์สูงก็จัดที่นั่งให้สูงขึ้นอีก. ↩
-
๓๑๙. ไม่น่าจะกระทำให้คิดไปว่าพระอานนท์จะมาล่าช้าเช่นนั้นเลย. พระอานนท์เป็นสมาชิกอันสง่างามของที่ประชุมองค์หนึ่ง, ดั่งนั้น จะบรรจุสมาชิกอันสำคัญเช่นนี้ไว้ภายนอกจะควรหรือ ? ↩
-
๓๒๐. ‘ชีวิตของร่างกายนี้’ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความคิดที่ผุดขึ้นจากใจอันสุจริตของพระภิกษุรูปนั้น. ↩
-
๓๒๑. ดูเรื่องราวพระพุทธองค์ทรงเทศนาในบทที่ ๑๘. ↩
-
๓๒๒. คิดจนบังเกิดความรู้สึกว่า ข้อนี้ไม่เป็นสิ่งที่จะยึดถือให้ตรึงติดอารมณ์ไว้ได้ง่ายๆ. ↩
-
๓๒๓. E. M. หน้า ๑๕๒. พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติห้ามไว้ไม่ให้ฆ่าตนเอง. พระภิกษุองค์นี้จึงได้หักห้ามใจอันกำลังอยู่ในห้วงมหันตทุกข์แห่งชีวิต, ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความอำมหิต, เพราะระลึกถึงพระพุทธโอวาทได้ครั้งหนึ่ง ดู M. B. หน้า ๔๖๔-๔๖๕. ↩
-
๓๒๔. Beal กล่าวว่า คือความเจตนาชั่ว, ความขัดแค้น. อวิชชา. ของพระภิกษุรูปนั้นเอง. ↩
-
๓๒๕. ดูหน้า ๑๒๐ บทที่ ๒๒ โน๊ต ๑. ↩
-
๓๒๖. อนาคามิน. เป็นลำดับชั้นที่ ๓ แห่งการบรรลุถึงธรรมในพุทธศาสนา หรือชั้นที่ ๓ แห่งอารยธรรม (โน๊ต ๑ หน้า ๑๐๒), อาจไม่กลับมาบังเกิดเป็นมนุษย์อีก, แต่จะไปบังเกิดเป็นเทวดา. เมื่อได้ถึงพระอรหันต์ในชาติเดียวนั้นก็จะบรรลุถึงปรินิพพาน (E. H. หน้า ๘-๙. วินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๕๑). ↩
-
๓๒๗. ฟาเหียนไม่ได้คิดถึงข้อบัญญัติห้ามอันมีอยู่นั้นว่า จะเป็นผลถึงการกระทำของพระภิกษุรูปนี้ประการใด. สิ่งที่กระทำลงแล้วนี้จะต้องไม่เป็นคุณงามความดีตามบัญญัติแน่ ในลัทธิพุทธศาสนาไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะยับเยินถึงกับจะแสดงให้ปรากฏได้ดั่งนี้. การกระทำเช่นนี้ไม่ชวนให้เกิดความเอ็นดูหรือเห็นเป็นประโยชน์ประการใดเลย. เหมาให้เป็นความปรากฏจากความคิดของพระภิกษุรูปนั้นเองจะดีกว่า. แต่คำพิพากษ์เหล่านี้เป็นของ (ข้าพเจ้า) ผู้ตั้งต้นเป็นเจ้าพนักงานพลิกศพ (พระรูปนั้น) คนหนึ่ง, ที่ได้ตรวจพิจารณาในสมัยปัจจุบันนี้, จึงขอให้ถ้อยคำว่าการฆ่าตัวตายเช่นนี้ สมควรปรับปรุงเข้าในความวิกลจริต. ↩