บทที่ ๑๗

นครสังกาศยะ (สังกัสสะ). พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์ (ดาวดึงศ์).

และเสด็จกลับจากเทวโลก. กับนิยายอื่น ๆ.

ต่อจากบริเวณที่กล่าวแล้วนี้, ฟาเหียนได้เดินทางต่อลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้, เป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์, ก็ได้พบราชอาณาจักรแห่งหนึ่งเรียกว่าสังกาศยะ.๑๖๖ เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระพุทธองค์เสด็จกลับลงมายัง (มนุษย์) โลก, ภายหลังเวลาที่ได้เสด็จขึ้นไปประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์๑๖๗แล้ว. และ ณ สถานที่บนสวรรค์, พระองค์ได้ทรงประทับแสดงธรรมเทศนา เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่พระพุทธมารดา๑๖๘อยู่ ๓ เดือน. พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ด้วยทิพยอำนาจ, อันอยู่เหนือสภาพธรรมดาของพระองค์, โดยปราศจากสานุศิษย์ของพระองค์ผู้ใดจะได้ทราบ. ในสัปดาหะก่อนที่จะครบกำหนด (๓ เดือน), พระพุทธองค์ได้ทรงกำบังพระองค์มิให้ผู้ใดสามารถเห็นพระองค์ได้.๑๖๙ แต่ครั้งหนึ่งพระอนุรุทธะ๑๗๐ได้เล็งทิพยจักษุเห็นพระบรมโลกนาถ, และในทันใดนั้น ได้บอกกล่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงเกียรติรูปหนึ่งว่า ‘ท่านควรไปกระทำการนมัสการพระบรมโลกนาถสักครั้งหนึ่ง.’ ในทันใดนั้นพระมหาโมคคัลลานะก็ขึ้นไปกระทำการน้อมเศียรเกล้าถวายบังคมลงแทบพระบาทยุคล แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. เมื่อพระมหาโมคคัลลานะได้ถวายบังคมแล้ว, และได้ไต่ถามซึ่งกันและกันพอสมควรแล้ว, พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธดำรัสแก่พระมหาโมคคัลลานะว่า ‘ต่อจากนี้ไปอีก ๗ วัน ตถาคตจะกลับลงไปยังชมพูทวีป.’ ในทันใดนั้น พระมหาโมคคัลลานะ (กราบถวายบังคมลา) กลับ. ในขณะนั้น พระมหากษัตริย์ทั้ง ๘ แว่นแคว้น, พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราษฎร, ซึ่งมิได้เห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ามาเป็นเวลานาน, เขาทั้งหลายต่างมีความกระหายอยากจะได้เห็นพระองค์, โดยมิได้ตื่นตกใจกลัวความมืดคลุ้มแห่งเมฆในท้องนภากาศ, ซึ่งปกคลุมอยู่บนราชอาณาจักรขณะนั้น, ล้วนแต่ตั้งใจคอยท่าเฝ้าองค์พระบรมโลกนาถอยู่เท่านั้น

ขณะนั้นนางภิกษุณีอุทปละ๑๗๑คิดลำพึงอยู่ในใจตนว่า วันนี้บรรดากษัตริย์และเสนาอมาตย์ราษฎรทั้งหลาย, จะมาประชุม (ด้วยความโสมนัสยินดีต้อนรับ) องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. เราเป็นสตรี, ไฉนจึงจะได้เป็นหัวหน้าเข้าไปเฝ้าเห็นพระองค์เป็นคนแรก๑๗๒ได้สมปรารถนา? ในทันใดนั้น พระพุทธองค์ (ทรงทราบ) โดยอำนาจญาณวิถีแห่งพระหฤทัย, ได้ทรงแปลงร่างนางภิกษุณีอุทปละให้ปรากฏขึ้นเป็นท้าวจักรพรรดิราช๑๗๓อันบริสุทธิ์, และได้เป็นหัวหน้าซึ่งมวลหมู่ชนทั้งหลายต้องกระทำการเคารพยำเกรง.

ณ ตำแหน่งซึ่งพระพุทธองค์เสด็จแต่เบื้องสูง จากสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์ลงมาสู่พิภพเบื้องล่างนั้น, ณ ที่นี้ปรากฏว่าได้กระทำเป็นบันไดอันวิเศษประเสริฐ ๓ ทาง. พระพุทธองค์เสด็จตามบันไดกลางซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการ. และดุจเดียวกันพระราชาแห่งพรหมโลก๑๗๔ได้นิรมิตบันไดเงินปรากฏขึ้นทางเบื้องขวา, และเป็นผู้เชิญจามรขาวถวายด้วยหัตถ์ตนเองตามลงมา. ท้าวสักกะผู้ครอบครองแห่งเทวดาทั้งหลาย,๑๗๕ นิรมิตบันไดทองสีม่วงทางด้านเบื้องซ้าย, และเชิญพระกลดอันประกอบด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการตามเสด็จลงมา. เหล่าทวยเทพ๑๗๖เหลือที่จะคณนานับติดตามเสด็จพระพุทธองค์ลงมา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาถึงพื้นโลกแล้ว, บันไดทั้ง ๓ ที่สูงลอยลิ่วก็ศูนย์หายลงไปในพื้นธรณี, เว้นแต่อีก ๗ ขั้นซึ่งยังคงเหลืออยู่ให้ปรากฏแก่ตาผู้ที่ได้ไปพบเห็น. สืบต่อมาพระเจ้าอโศกราชปรารถนาจะทรงทราบว่า ที่สุด (ของขั้นบันได) นั้น ลงไปหยุดพักอยู่เพียงไหน, จึงแต่งคนให้ขุดลงไปดู, คนเหล่านั้นได้ขุดลงไปจนถึงมีน้ำพุสีเหลือง,๑๗๗ แต่ก็หมดหวังที่จะลุถึงขั้นต่ำที่สุดแห่งบันไดนั้นได้. ต่อจากนี้พระเจ้าอโศกราชได้มีความเคารพและเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกมาก, และได้ทรงสถาปนาวิหารครอบลงเบื้องบนบันไดนั้นหลังหนึ่ง, กับประดิษฐานพระพุทธปฏิมาองค์หนึ่งสูง ๑๖ ศอกไว้บนเบื้องขวาแห่งบันไดกลางนั้น. เบื้องหลังของวิหารได้ทรงให้ตั้งเสาศิลาขึ้นเสาหนึ่ง, สูงประมาณ ๕๐ ศอก,๑๗๘ และมีสิงห์ตัวหนึ่งอยู่บนยอดเสา๑๗๙นั้น. ภายในช่องเสาทั้ง ๔ ด้าน๑๘๐ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาไว้ช่องละหนึ่งองค์, ทั้งภายในและภายนอก๑๘๑มีแสงสว่างแจ่มใสบริสุทธิ์, ประดุจสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยโลหะสีเขียวครามอันวิเศษชนิดหนึ่ง. ครั้งหนึ่งมีคณาจารย์ฝ่ายลัทธิอื่น๑๘๒เกิดโต้เถียงกันกับพระสมณะด้วยเรื่อง (กรรมสิทธิ์) สถานที่ซึ่งเป็นอาวาสแห่งนี้, และในตอนหลังได้ตกลงกันเป็นที่สุดแห่งการโต้เถียง, โดยทั้งสองฝ่ายกระทำปฏิญาณตามข้อที่ประสงค์นั้นว่า ถ้าสถานที่นี้เป็นของสมณะโดยแท้จริงแล้ว, ขอให้มีความอัศจรรย์บางประการเกิดขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งสิ่งนี้. เมื่อได้กล่าวถ้อยคำเหล่านั้นออกไปแล้ว, สิงห์บนยอดเสาก็ส่งเสียงคำรามขึ้นใหญ่โต, ดั่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความพิสูจน์. ซึ่งเป็นเหตุให้คู่พิพาททั้งหลายตกใจกลัว, แล้วและน้อมคำนับต่อคำชี้ขาดนั้น, และล่าถอยไป.

ตลอดเวลา ๓ เดือน ที่พระพุทธองค์ทรงรับเสวยทิพยาหารแห่งสวรรค์มาแล้วนั้น, กระทำให้พระสรีรกายของพระองค์ระบายกลิ่นหอมของสวรรค์ออกมา, ซึ่งเป็นเหตุให้ผิดธรรมดากับสามัญชน, พระองค์จึงเสด็จไปสรงน้ำในทันใดนั้น. ณ ตำบลที่พระองค์เสด็จไปสรงน้ำ, ได้มีผู้สร้างเรือนสรงน้ำขึ้นไว้หลังหนึ่ง, และยังคงปรากฏอยู่. ณ สถานที่ที่นางภิกษุณีอุทปละเป็นคนแรกเข้ากระทำการเคารพต่อองค์พระพุทธเจ้านั้น, ก็ได้มีผู้สร้างสตูปขึ้นองค์หนึ่งปรากฏอยู่จนบัดนี้.

ณ สถานที่ ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ในโลก, ได้ทรงปลงพระเกษาและตัดพระนขา,๑๘๓ ได้มีผู้ก่อสร้างสตูปขึ้น. และ ณ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าในอดีต ๓ พระองค์,๑๘๔ กับพระศากยมุนีเคยทรงประทับนั่งมาแล้ว, กับสถานที่ที่พระองค์เคยทรงเดินประพาส,๑๘๕ และสถานที่ที่ประชาชนทั้งหลายได้สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นไว้. สถานที่ทั้งหมดเหล่านี้ได้มีพระสตูปทำขึ้นไว้และยังคงปรากฏอยู่ ณ สถานที่ที่ท้าวสักกะผู้ครอบครองทวยเทพ, กับท้าวพรหมโลกตามเสด็จพระพุทธองค์ลงมา (จากสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์) ก็มีสตูปเกิดขึ้นดุจเดียวกัน.

ณ สถานที่นี้อาจจะมีพระภิกษุและนางภิกษุณีอยู่ได้ตั้งพัน. พระภิกษุทั้งปวงได้รับอาหารจากโรงร้านสามัญ, และต่างขวนขวายศึกษาเล่าเรียนทางลัทธินิกายมหายานบ้าง, หินยานบ้าง. ณที่นี้มีพระยานาคหูขาวอยู่ตัวหนึ่ง, ซึ่งกระทำหน้าที่ในส่วนทานบดี๑๘๖แก่คณะสงฆ์เหล่านี้, โดยเป็นต้นเหตุให้การเก็บเกี่ยวข้าวในนครนี้ได้ผลอุดมสมบูรณ์, ด้วยการกระทำให้มีฝนชุกตกลงมาตามฤดูกาล, ปราศจากเหตุการณ์อันจะให้บังเกิดอันตรายใด ๆ. เพราะฉะนั้น ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงมีความยินดีและเป็นที่สงบใจอยู่ด้วยความสุขสำราญ. ด้วยความกตัญญูกตเวทีและเพื่อทดแทนต่อความเมตตากรุณา, คณะสงฆ์ได้ทำห้องสำหรับพระยานาคขึ้นห้องหนึ่ง, และปูพรมสำหรับเป็นที่นั่งไว้ให้ด้วย, และจัดให้มีพนักงานทำหน้าที่จัดเครื่องอาหารสำหรับการอวยพร, กับจัดอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงรักษา (พระยานาค) ด้วย, ทุกๆ วันมีคณะสงฆ์ชุดหนึ่ง ๓ องค์ ไปนั่งฉันอาหารในห้องเรือนแห่งนี้ ในเวลาเมื่อฤดูร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว, พระยานาคตนนี้ได้เปลี่ยนร่างจากเดิมทันที, และปรากฏเป็นงูเล็ก๑๘๗ๆ ตัวหนึ่ง, มีดวงขาวอยู่ที่ข้างหูทั้งสองข้าง. ดั่งนั้น จึงกระทำให้พระภิกษุทั้งหลายจำได้ทันที, จึงจัดการบรรจุนมข้นลงในภาชนะหม้อทองแดง, แล้วใส่งูน้อยตัวนี้ลงภายในไว้ด้วยกัน, และจัดการพาเอาไปโดยรอบ, จากที่นั่งอยู่ของผู้ใหญ่อันสูงสุดตลอดจนถึงผู้น้อยที่สุด, เป็นประหนึ่งให้ปรากฏว่าพระยานาคตัวนี้ได้ไปเที่ยวแสดงความเคารพ. เมื่อได้พาไปโดยรอบแล้ว, งูน้อยตัวนั้น ก็หายศูนย์ไปทันที. และทุกๆ ปี พระยานาคตัวนี้มาสำแดงตนปีละครั้งหนึ่งเท่านั้น.

ในนครแห่งนี้ อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร, ประชาชนมีความเจริญสุขสำราญจนเหลือที่จะกล่าวอุทาหรณ์เทียบเคียง. เมื่อมีชาวชนต่างถิ่นมาสู่, ต่างก็เอาใจใส่ต่อผู้เป็นแขกทั้งหลายอย่างดียิ่ง, ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลสิ่งที่ประสงค์, และที่ขาดตกบกพร่องทั้งปวง.

จากอารามแห่งนี้ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ๕๐ โยชน์, ถึงสถานที่อีกแห่งหนึ่งเรียกว่ากองใหญ่,๑๘๘ กองใหญ่เป็นนามของมารร้ายตนหนึ่ง, แต่ได้กลับความประพฤติโดยพระพุทธองค์ทรงโปรด. และสืบต่อมามีผู้สร้างวิหารหลังหนึ่งขึ้นไว้ที่ตรงนี้. เมื่อผู้สร้างกระทำการอุทิศถวายวิหารแห่งนี้แก่พระอรหันต์องค์หนึ่ง, ได้ตรวจน้ำให้หยดลงบนฝ่ามือ.๑๘๙ น้ำบางหยดได้ตกลงสู่พื้นธรณี, และยังคงติดอยู่ในที่ตรงนั้น. ถึงแม้ว่าใครจะไปปัดขัดถูจะให้หมดไปอย่างใด ๆ ก็ดี, หยดน้ำนั้นก็จะยังคงทนเห็นปรากฏอยู่เสมอ. ไม่มีใครสามารถจะกระทำให้ศูนย์หายไปได้เลย.

ณสถานที่แห่งนี้ มีสตูปที่อุทิศถวายพระพุทธองค์อีกแห่งหนึ่ง. มีปีศาจน้ำใจดีตนหนึ่งคอยรดน้ำปัดกวาดบำรุงรักษาอยู่เป็นนิรันดร์, โดยปราศจากความต้องการคนทำการงาน. ยังมีกษัตริย์น้ำพระหฤทัยชั่วองค์หนึ่ง, มาเห็นการกระทำของปีศาจครั้งหนึ่ง, จึงกล่าวแก่ปีศาจนั้นว่า ‘แต่ก่อนๆ มาเจ้าสามารถกระทำการสิ่งนี้ได้, แต่บัดนี้ข้าจะพาเอากองทหารอันมีจำนวนมากหลายให้มาพักอยู่ ณ ที่นี้, เพื่อให้ทำความเปรอะเปื้อนและโสโครกสกปรกต่าง ๆ สะสมเพิ่มเติมให้มากขึ้น, ดูทีหรือว่าเจ้าจะปัดกวาดเช็ดล้างให้สะอาดได้หรือไม่.’ ในทันใดนั้น ปีศาจก็บันดาลให้บังเกิดลมพายุใหญ่พัดมากระทำให้สถานที่สะอาดบริสุทธิ์ได้.

ณ ที่แห่งนี้ ยังมีสตูปเล็ก ๆ อีก ๑๐๐ องค์. ซึ่งบุคคลคนเดียวจะนับจำนวนให้ครบถ้วนเสร็จในวันเดียว ย่อมไม่สามารถจะทราบจำนวนที่ถูกต้องได้. แม้ว่าจะกระทำให้มั่นคงเพื่อได้ทราบจำนวนโดยไม่ผิดพลาด, จะจัดคนให้ไปอยู่ข้างสตูปองค์ละหนึ่งคน, เมื่อได้กระทำเช่นนี้แล้ว, และนับเอาจำนวนคนเหล่านั้นตามที่มากหรือน้อย, ก็จะยังไม่ทราบ (จำนวนเที่ยงตรง๑๙๐) ได้.

มีอาวาสอีกแห่งหนึ่ง บางทีจะบรรจุพระภิกษุได้ในราว ๖๐๐ หรือ ๗๐๐ องค์, ในอาวาสนี้ มีสถานที่ที่พระปัจเจกพุทธะ๑๙๑องค์หนึ่งนั่งฉันอาหาร, และตรงพื้นดินที่นิพพาน (สุสานที่เผา๑๙๒), มีเนื้อที่กว้างใหญ่ดุจเท่ากงล้อรถล้อหนึ่ง, ไม่มีหญ้าขึ้นโดยรอบบนพื้นที่แห่งนี้เลยสักต้นเดียว. มีพื้นที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งท่านตากผ้าให้แห้ง, ก็บรรดาลให้ไม่มีหญ้าขึ้นดุจเดียวกัน. ร่องรอยของพระปัจเจกพุทธะทั้งนี้ ยังคงมีปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้.

  1. ๑๖๖. นามแห่งนี้ยังคงเหลือเป็นหมู่บ้านอยู่ในแขวงซัมกัสซัม, โดยระยะทาง ๑,๘๐๐ เส้นจากตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกะเนาจ์. แลตติจู๊ต ๒๗°๓′ เหนือ. ลองติจู๊ด ๗๙°๕๐′ ตะวันออก.

  2. ๑๖๗. สวรรค์ของพระอินทร์หรือสักกะ, หมายถึงเทวโลก ๓๓ ชั้น ซึ่งมีคำบรรยายตามหนังสือประวัติศาสตร์กับชุมนุมนิกาย. ดังที่ปรากฏอยู่ในฉบับ Eitel หน้า ๑๔๘ ว่า สวรรค์ชั้นฟ้า เป็นคะแนนของความเคารพนับถือทั้งหลาย. อันเป็นนิยายของพวกพราหมณ์. สวรรค์ตั้งอยู่ในระหว่างยอดทั้ง ๔ แห่งภูเขาพระสุเมรุ, อันประกอบไปด้วยนครของเทวดาทั้งหลาย ๓๒ นคร. ทุก ๆ ๘ นครมีมุมทั้ง ๔ ด้วยภูเขา, นครหลวงของพระอินทร์อยู่ศูนย์กลาง, พระองค์ประทับอยู่เป็นปกติบนพระที่นั่งเสมอ, มีพระเศียรพันหนึ่ง, พระเนตรพันหนึ่ง, มี ๔ พระกร, ทรงถือคุมไว้ซึ่งวัชระ, มีมเหษีรวมทั้งนางกำนัลที่เป็นบาทบริจาริกา (เมียหลวงเมียน้อย) ถึงแสนหนึ่งหมื่นเก้าพัน. พระองค์ได้รับรายงานจากท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทุก ๆ เดือน, ซึ่งว่าด้วยความเป็นไปของโลกมนุษย์ ว่าอยู่กันเป็นสุขเจริญดีหรือมีเหตุเภทภัยประการใด.

  3. ๑๖๘. พระพุทธมารดา คือพระนางมายาหรือมหามายา เป็นพระราชชนนีอันสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทินโทษของพระองค์. ทิวงคตภายหลังเวลาที่พระพุทธองค์อุบัติมาในโลกนี้ได้ ๗ ราตรีเท่านั้น. Eitel กล่าวว่า ‘พระองค์กลับชาติไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต, เมื่อพระราชโอรสตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแล้วได้เสด็จขึ้นไปเยี่ยม. สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นสถานที่ได้พบกันอีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่ไตรตรึงศ์.’ (เป็นสถานที่มีมาแต่เดิม. แต่พึ่งรู้จักกันในภายหลังต่อมากระนั้นหรือ ?). Hardy ใน M. B. หน้า ๒๙๘-๓๐๒, กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปเยี่ยมสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์ไว้ยืดยาว, เรียกสวรรค์ชั้นนี้ว่าตวุติสา, และเรียกนามพระพุทธมารดาว่ามาตรุ, และว่าพระองค์เสวยชาติเป็นเทวดาโดยเปลี่ยนเพศจากสตรี. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๐๒-๔๑๙.

  4. ๑๖๙. เทียบเคียงดูกับเรื่องราวที่กล่าวถึงพระอรหันต์องค์หนึ่ง, ได้ส่งช่างเขียนแกะสลักขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดุสิตในบทที่ ๕. เป็นสำนวนที่จะกล่าวให้เป็นความพิสดารใหญ่โตลึกซึ้งขึ้นไป. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๑๖-๔๑๘.

  5. ๑๗๐. พระอนุรุทธะเป็นพุทธสาวกสำคัญองค์หนึ่งของพระศากยมุนี เป็นราชโอรสของพระเจ้าอมฤโทธนะ ซึ่งเป็นพระปิตุลา (อาว์) ขององค์พระศากยมุนี. จะพบนามท่านนี้บ่อย ๆ ในเรื่องราวที่กล่าวถึงองค์พระพุทธเจ้า. และเป็นผู้ทรงอิทธิพิเศษในทางทิพยจักษุ. ซึ่งเป็นยอดแห่งอภิญญา ๖ ประการ. หรือทางปัญญาเหนือความเป็นธรรมดา. ด้วยฤทธิความสามารถอันลึกลับไพศาลอาจเพ่งเล็งเห็นได้ในที่ทั่วไปทันที, หรือการเพ่งเล็งดูด้วยทางใจอันอาจเห็นได้ทั่วโลก. Hardy กล่าวไว้ใน M. B. หน้า ๒๓๒ ว่า ท่านผู้นี้แลเห็นไปได้ตลอดทั่วทั้งแสนจักรวาล, ซึ่งจะกำเมล็ดพันธุ์ผักกาดไปหว่านลงแห่งละเมล็ดก็ไม่ทั่วได้. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๑๖-๔๑๘.

  6. ๑๗๑. Eitel ให้นามว่าอุทปละเหมือนกันกับสำเนียงจีนในฉบับนี้. ในสันสกฤตอธิบายนามคำนี้ว่าดอกบัวสีคราม. และ Hsüan Chwang’s เรียกว่านางชีดอกบัวสี. ซึ่งเหมือนกันกับของ Hardy’s ว่าอุบลวรรณหรืออุบลวรรณา.

  7. ๑๗๒. บางทีเราอ่านความตอนนี้ ที่ว่าเมื่อนางได้เห็นพระพุทธองค์แล้ว, อาจเข้าใจเอาว่าอุทปละแปลงรูปกลับจากท้าวจักรพรรดิราชเป็นภิกษุณีตามเดิมเอาเองก็ได้. หรือจะเข้าใจเอาว่ายังค้างอยู่ในร่างที่อาศัยอยู่ในขณะนั้นก็ได้. เพราะมิได้ชี้แจงไว้เลยว่านางจะหยุดการกระทำตนกลับจากเป็นท้าวจักรพรรดิได้ก่อน, หรือจะต้องคอยให้พระพุทธเจ้าทรงจัด. การที่วิจารณ์เช่นนี้จะเป็นการสมควร, หรือไม่ควรคิดเสียเลยจะดีกว่านั้น, แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิเคราะห์เอาเอง.

  8. ๑๗๓. จักรพรรดิราช คือ พระราชาอันบริสุทธิ์หมุนล้อกงรถ. โดยนัยว่า กษัตริย์ผู้ชนะทั้งหมดหรือตลอดสากล. Eitel (หน้า ๑๔๒) กล่าวว่า คำยกยอสำหรับจักรพรรดินั้นมีว่า กษัตริย์ผู้ซึ่งจะขึ้นครองราชบัลลังก์จักรพรรดิราชนั้น, ต้องเป็นผู้ที่จุติมาจากสวรรค์, มีเครื่องราชูปโภคล้วนแล้วไปด้วยเงินและทองแดงหรือเหล็ก, และมีพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาล. แต่อย่างไรก็ดี ณ สถานที่ทำการอันสูงสุดของพระมหาจักรพรรดิราช, ผู้ขว้างกงล้อของพระองค์ไปในระหว่างปัจจามิตรทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้น้อยบังเกิดความสงบสุขราบคาบนั้น คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งถ่อมพระองค์ลงมาหมุนกงล้อไปตามธรรมวินัย, และถึงความมีชัยแล้วทั่วสากลโลกโดยฐานะแห่งพระบรมศาสดาจารย์.

  9. ๑๗๔. พระพรหมเป็นมนุษย์คนแรกแห่งพราหมณ์ตฺริมูรติ. ในพระพุทธศาสนายอมรับไว้เหมือนกัน, แต่ใส่ไว้ในตำแหน่งผู้น้อยตำแหน่งหนึ่ง, สูงกว่านักบวชที่บรรลุเพียงโพธิทุกๆ องค์. ดูปทานุกรมธรรมการ หน้า ๔๙๑.

  10. ๑๗๕. ดูหน้า ๔๘ บทที่ ๙ โน๊ต ๒.

  11. ๑๗๖. ดูหน้า ๒๖ บทที่ ๓ โน๊ต ๔.

  12. ๑๗๗. เป็นธรรมดาของน้ำที่อยู่ใต้บาดาล. ในบ่อที่ขุดหาแร่ลงไปลึกๆ ก็พบน้ำสีเหลือง.

  13. ๑๗๘. ความสูงที่ให้ไว้ในฉบับจีนว่าเท่ากับ ๓๐ เจา, เจาหนึ่งมีระยะแต่ข้อศอกถึงปลายนิ้วมือ.

  14. ๑๗๙. ในโน๊ตหนึ่งของ Mr. Beal กล่าวไว้ดังนี้ ‘นายพลคันนิงแฮมเป็นผู้ได้ไปเยี่ยมถึงตำบลนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕, ได้พบเสาหินต้นนี้แล้ว. สำแดงลักษณะชัดเจนว่าเป็นในสมัยพระเจ้าอโศกราช, มีรูปจำลองที่แกะสลักเป็นช้างตัวหนึ่งอยู่บนยอดเสา, แต่ว่าไม่เห็นมีงวงและหาง.’ เขาคาดคะเนเอาว่าเป็นเสาต้นเดียวกันนี้ที่ฟาเหียนได้ดูแล้ว และสำคัญผิดไปว่าสิ่งที่อยู่บนยอดนั้นเป็นสิงห์. สิ่งที่เป็นไปทั้งนี้ต้องเป็นการสำคัญผิด, ดุจเรื่องราวของเสาต้นหนึ่งที่นครสาวัตถี, ฟาเหียนกล่าวว่าเป็นโค, แต่ฝ่าย Hsüan Chwang เรียกว่าช้าง. (หน้า ๑๙. Arch. Survey).

  15. ๑๘๐. ตั้งไว้ในช่องทุกด้าน. เสาศิลาต้นนี้จะต้องเป็น ๔ เหลี่ยม.

  16. ๑๘๑. เป็นช่องเท่ากันและทะลุตลอดถึงกันทั้ง ๔ ด้าน.

  17. ๑๘๒. ความตรงนี้ต้องแปลอยู่เสมอๆ. อาจารย์ผู้สอนลัทธิที่ผิด. สถานศึกษาและสมาคมใด ๆ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนา, ลัทธิพราหมณ์, หรือลัทธิเท็จใด ๆ ที่ฟาเหียนเห็นว่าเป็นเช่นนั้น. ในสำนวนจีนใช้ว่า ‘ภายนอกหรือต่างประเทศ.’ ในบาลีว่า อฺติตฺถิยา. สถานการศึกษาฝึกสอนของคนอื่นๆ.

  18. ๑๘๓. ดูบทที่ ๑๓,

  19. ๑๘๔. พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้ตรัสรู้มาก่อนองค์พระศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในสมัยมหาภัทรกัลป. พระศากยมุนีเป็นองค์ที่ ๔, คือในสมัยปัจจุบันนี้. พระไมเตรย (ศรีอริยเมตตรัย) เป็นองค์ที่ ๕ ยุคสุดท้าย. พระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง ๓ คือ ๑. กรกุจันท (บาลี กกุสนฺธ), ท่านผู้นี้ตรัสรู้ตัดข้อวิมุติทั้งหลายได้โดยเร็ว. เป็นหน่อเนื้อคนหนึ่งในวงศ์พระกัศยปะ. ชีวิตมนุษย์ในครั้งนั้นยืนนานถึงสี่หมื่นปี, ดังนั้น บุคคลมากหลายจึงกลับความประพฤติได้เพราะพระองค์ท่าน. ๒. กนกมุนี (บาลี โกนาคมนะ), พระกายมีแสงและวรรณประดุจทองคำอันบริสุทธิ์, อยู่ในสกุลวงศ์เดียวกับพระองค์ก่อน. ชีวิตมนุษย์ในยุคนั้นยืนนานถึงสามหมื่นปี, ดั่งนั้น บุคคลมากหลายจึงกลับความประพฤติได้เพราะพระองค์ท่าน. ๓. กัศยปะ (บาลี กสฺสป) ผู้กลืนแสงสว่าง. ชีวิตมนุษย์ในยุคนั้นยาวสองหมื่นปี, ดั่งนั้น บุคคลมากหลายจึงกลับความประพฤติได้เพราะพระองค์ท่าน (ดูหนังสือ Eitel ในคำนามเหล่านี้. กับ Hardy’s M. B. หน้า ๙๕-๙๗. และ Davids’ Buddhist Birth Stories หน้า ๕๑).

  20. ๑๘๕. เป็นการเดินตรึกตรอง. ดั่งที่เรียกว่าจงกรม. เดินตากลมบนเฉลียงหรือระเบียงหรือรอบๆ วัด. กระทำเป็นครั้งคราว, เพื่อความมุ่งหมายที่จะไตร่ตรองพิจารณาธรรมวิทยา. การเพ่งใจตรึกตรองด้วยอาการเช่นนี้, เมื่อหยุดพักนั่งจะไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หรือต้องหยุดลงในกลางคันเลย. ดูหนังสือ E. H. หน้า ๑๔๔.

  21. ๑๘๖. ดูหน้า ๑๔ บทที่ ๑ โน๊ต ๑.

  22. ๑๘๗. ตัวอักษรในฉบับเกาหลีเป็น 虵 แต่ในฉบับจีนเป็น 蛇 ซึ่งคงจะผิดพลาดไป, หากจะหมายถึงสัตว์ตัวเล็ก ๆ ในทะเลชนิดหนึ่ง.

  23. ๑๘๘. คำตรงนี้ในฉบับจีนว่าแดนไฟ. คำที่พระพุทธองค์กล่าวนั้นว่า 本, มารของพระองค์ละพยศร้าย. ตามตัวอักษรจีน Beal ยอมรับมาแต่แรกแล้วว่าเป็นภาคหนึ่งของพระองค์. แต่ได้ตีความในการแปลเอาใหม่ว่าพระองค์เอง. ในระหว่างคำว่า 本 กับ 昔 ตามธรรมดาฟาเหียนใช้ในความหมายต่างกัน ตามในเรื่องราวของฟาเหียนตลอดทั้งเรื่อง. 本 ย่อมเล็งถึงว่าเป็นการกำลังกระทำขององค์พระศากยมุนีเสมอไป. แต่คำว่า 昔 เป็นเก่าก่อน. คำนี้มีบ่อยๆ ที่ใช้ในคราวอื่น ๆ เช่นในวัยก่อนหรือเกิดมาก่อน.

  24. ๑๘๙. Hardy M. B. หน้า ๑๙๔, มีความตอนหนึ่งว่า เป็นที่ระลึกสำคัญในการมอบอุทยานให้โดยเด็ดขาด, โดยพระราชาได้ทรงหลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์แห่งองค์พระพุทธเจ้า. และต่อจากเวลานี้ไปเป็นหลักฐานอันแสดงว่า สถานที่นี้เป็นอาวาสของพระองค์สืบต่อไป.

  25. ๑๙๐. ความตรงนี้ดูไม่น่าจะเชื่อถือ. แต่ความประสงค์ของผู้เขียน (ฟาเหียน) แสดงชัดว่า ชวนให้คิดเห็นเป็นไปในทางลึกลับบางประการของจำนวนสตูปทั้งหมด.

  26. ๑๙๑. ดูหน้า ๖๗ บทที่ ๑๓ โน๊ต ๓.

  27. ๑๙๒. ดูเหมือนความหมายจะเป็นเช่นนี้, เพราะพระภิกษุที่มรณภาพ. ตามธรรมเนียมต้องเผาทั้งหมด. ดู Hardy’s E. M. หน้า ๓๒๒-๓๒๔.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ