บทที่ ๒๘

นครราชคฤห์ใหม่และเก่า.

นิยายและเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน.

ฟาเหียนได้ออกเดินทางจากสถานที่ที่กล่าวแล้ว ต่อลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๙ โยชน์ ถึงเนินเขาน้อยๆ ซึ่งเดียรดาษไปด้วยศิลาอันอ้างว้างวังเวง,๒๙๖ ณ ตรงที่ศีรษะหรือที่สุด๒๙๗มีห้องคูหาศิลาอยู่แห่งหนึ่งหันหน้าไปทางใต้. เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์นั่งประทับ,๒๙๘ ในครั้งเมื่อท้าวสักกเทวราชพาฝูงเทวามาเล่นดนตรีเพลงปัญจ๒๙๙ (ศิขา), และองค์ท้าวสักกะทรงดีดพิณถวายเพื่อความบันเทิง. และเมื่อท้าวสักกะกราบทูลถาม (ปัญหา) พระพุทธองค์โดยประมาณ ๔๒ ข้อ, และได้ขีดเขียน (ปัญหา) ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของท้าวสักกะเองลงบนพื้นหิน.๓๐๐ รอยขีดเขียนของท้าวสักกะยังคงปรากฏอยู่. ดังนั้น ณ ที่นี้จึงมีอารามอยู่แห่งหนึ่ง.

จากสถานที่นี้ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๑ โยชน์, ฟาเหียนกับพวกไปถึงหมู่บ้านแห่งนาละ,๓๐๑ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของพระสารีบุตร,๓๐๒ และในที่แห่งเดียวกันนี้ท่านได้กลับมาดับขันธปรินิพพาน. ในตำบลนี้มีสตูปที่ได้ก่อสร้างขึ้นไว้ (ณ สถานที่ประชุมเพลิงศพพระสารีบุตร) องค์หนึ่ง, ซึ่งยังคงมีปรากฏอยู่.

โดยระยะทางอีก ๑ โยชน์ไปทางทิศใต้, ฟาเหียนกับพวกไปถึงนครราชคฤห์ใหม่,๓๐๓ เป็นนครที่พระเจ้าอชาตสัตรุสร้างขึ้นใหม่. ในนครนี้มีอารามอยู่ ๒ แห่ง ออกจากประตูนครด้านตะวันตกไป ๓๐๐ ก้าว, พระเจ้าอชาตสัตรุได้สร้างพระสตูปไว้องค์หนึ่ง, สูงใหญ่ไพศาลและงดงามยิ่งนัก, เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ได้รับส่วนแบ่งมา. ออกจากเมืองโดยทางประตูด้านใต้, และเดินไปทางทิศใต้ ๘๐ เส้น, ผ่านเข้าไปในที่ราบซึ่งเป็นที่เวิ้งว้างเป็นวงกลมอยู่ในระหว่างเนินเขา ๕ ยอดอันตั้งอยู่โดยรอบ, และภายในบริเวณขอบเขตแห่งนี้ยังมีกำแพงของนครแห่งหนึ่งปรากฏอยู่. ณ ที่นี้คือนครโบราณของพระเจ้าพิมพิสาร,๓๐๔ จากตะวันออกไปตะวันตกประมาณ ๑๐๐ หรือ ๑๒๐ เส้น, และจากเหนือลงใต้ ๑๒๐ หรือ ๑๖๐ เส้น. ณ สถานที่นี่ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะได้พบกับพระอุปเสนะ.๓๐๕ และเป็นตำบลที่พวกนิครนถ์ทำหลุมไฟ,๓๐๖ และใส่ยาพิษลงในข้าว, แล้วและอาราธนาพระพุทธองค์ (ให้เสวย). ณ ที่นี้พระเจ้าอชาตสัตรุ๓๐๗ได้กระทำช้างดำตัวหนึ่งให้มึนเมาด้วยน้ำสุรา, ปรารถนาที่จะให้ทำร้ายพระพุทธองค์. และทางตะวันออกเฉียงเหนือด้านมุมของนครมีที่ว่างเป็นวงโค้งอยู่แห่งหนึ่ง, ชีวกได้สร้างวิหารหลังหนึ่งไว้ภายในสวนของอัมพปาลี,๓๐๘ แล้วอาราธนาพระพุทธองค์กับศิษย์ของพระองค์ ๑,๒๕๐ มาที่นี่. เพื่อทำการสักการบูชาและเกื้อกูล, (ณ สถานที่เหล่านี้) ยังคงมีอยู่ดุจเดิม, แต่ตอนภายในของนครทั้งหมดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า, ไม่มีผู้คนตั้งพักอาศัยอยู่เลย.

  1. ๒๙๖. Hsüan-Chwang เรียกว่า ‘อินทร-ศิล-คูหา’ (บาลี-อินฺทสาลคูหา) หรือถ้ำพระอินทร. เป็นเขาลูกหนึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านเคอรเยก บนฝั่งแม่น้ำปัญจนะ, ห่างจากพุทธคยาประมาณ ๑,๕๐๐ เส้น. บนยอดทั้งสองของเขาพืดนี้เป็นที่ตั้งต้นของแม่น้ำสายหนึ่ง. สิ่งที่ฟาเหียนกล่าวถึงนี้อยู่บนไหล่เขาเบื้องสูงทางทิศเหนือ, ซึ่งเป็นบริเวณที่ลาดไปตามยาวมีศิลาเงื้อมปกคลุม. มีวิหารอันเป็นสิ่งสำคัญหลังหนึ่งกับถาวรวัตถุที่ได้ก่อสร้างไว้แต่กาลก่อนอีกมากหลาย, ซึ่งบัดนี้รกร้างสลักหักพังแล้ว.

  2. ๒๙๗. ความตรงนี้ไม่ทราบความหมายว่าจะเป็นจอมเนินหรือยอดของภูเขาแน่, แต่แดนที่สุดของภูเขาพืดนี้เป็นที่ตั้งต้นของแม่น้ำสายหนึ่ง.

  3. ๒๙๘. เรื่องราวท้าวสักกะมาเฝ้าพระพุทธองค์ตอนนี้ ดูหนังสือ M. B. หน้า ๒๘๙-๒๙๐. และปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๓๗-๑๓๘. นามเต็มของเพลงในที่นี้ได้จากหนังสือ M. B. ของ Hardy, ซึ่งฟาเหียนเรียกไว้เพียงว่าปัญจหรือห้าเท่านั้น. และเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในภาคบาลีพระไตรปิฎกสยามรัฐว่า เทพบุตรชื่อปัญจสิขคนธรรพ ดีดพิณร้องเพลงสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยและเกี่ยวไปในทางกามารมณ์พาดพิงเกี่ยวพันถึงสุริยวัจฉสาเทพธิดา. เพื่อประสงค์จะปลุกพระพุทธเจ้าให้ตื่นจากการเข้าฌาน โดยความมุ่งหมายของท้าวสักกะเพื่อจะเข้าเฝ้า และเรื่องนี้ได้แปลลงในหนังสือธรรมจักษุ เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๓ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว ผู้ประสงค์จะทราบความพิสดาร พึงดูที่นั่น หรือมิฉะนั้นในภาคบาลีสยามรัฐ เล่ม ๑๐ หน้า ๓๐๐.

  4. ๒๙๙. เรื่องราวท้าวสักกะมาเฝ้าพระพุทธองค์ตอนนี้ ดูหนังสือ M. B. หน้า ๒๘๙-๒๙๐. และปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๓๗-๑๓๘. นามเต็มของเพลงในที่นี้ได้จากหนังสือ M. B. ของ Hardy, ซึ่งฟาเหียนเรียกไว้เพียงว่าปัญจหรือห้าเท่านั้น. และเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในภาคบาลีพระไตรปิฎกสยามรัฐว่า เทพบุตรชื่อปัญจสิขคนธรรพ ดีดพิณร้องเพลงสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยและเกี่ยวไปในทางกามารมณ์พาดพิงเกี่ยวพันถึงสุริยวัจฉสาเทพธิดา. เพื่อประสงค์จะปลุกพระพุทธเจ้าให้ตื่นจากการเข้าฌาน โดยความมุ่งหมายของท้าวสักกะเพื่อจะเข้าเฝ้า และเรื่องนี้ได้แปลลงในหนังสือธรรมจักษุ เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๓ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว ผู้ประสงค์จะทราบความพิสดาร พึงดูที่นั่น หรือมิฉะนั้นในภาคบาลีสยามรัฐ เล่ม ๑๐ หน้า ๓๐๐.

  5. ๓๐๐. หนังสือของ Hardy (M. B. หน้า ๒๘๘-๒๘๙) กล่าวไว้เฉพาะ ๑๓ ข้อ, ซึ่งว่าได้พบจากสูตร (พิก สงฺก. ใน ศกฺร ปฤษฺณ สูตร). แต่ยังมีข้อที่จะต้องวิจารณ์ต่อไปว่า ท้าวสักกะเขียนปัญหาถามไว้, หรือพระพุทธองค์ทรงเขียนตอบ ? ที่ยังค้างอยู่ในเวลานี้, แต่ดูเหมือนให้พระอินทร์เป็นคนเขียนไว้จะดีกว่า.

  6. ๓๐๑. นาละ หรือ นาลันทะ เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้คือพรคง. มีอารามอันกว้างใหญ่งดงามอยู่แห่งหนึ่ง, ซึ่งสร้างขึ้น ณ ที่นี้ในเวลาภายหลังต่อมา, และมีชื่อเสียงปรากฏว่า Hsüan-Chwang ได้มาพักอาศัยอยู่ ๕ ปี.

  7. ๓๐๒. ดูหน้า ๗๖ บทที่ ๑๖ โน๊ต ๓. (แต่เป็นที่น่าฉงนในข้อความตามที่กล่าวว่านาละเป็นที่เกิดของพระสารีบุตร).

  8. ๓๐๓. ราชคฤห์ใหม่ เป็นนครที่ตั้งพระราชวังหลวง, อันเป็นที่สถิตของกษัตริย์มคธจากพระเจ้าพิมพิสารถึงพระเจ้าอโศก. และเป็นนครหลวงแห่งแรกของพุทธศาสนา, มีพระพุทธบาทอยู่บนเขาคิชฌกูฏ. การประชุมพระเถรานุเถระกระทำสังคายนาครั้งแรก, ภายหลังระหว่างเวลา ๑ ปีองค์พระศากยมุนีเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็กระทำที่นครนี้. เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้างคงมีแต่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเรียกว่าราชคหิระ, ห่างจากพิหารไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๖๒๐ เส้น. และเป็นสถานที่ที่สำหรับผู้คนเดินทางมาจากทางไกลๆ มาไหว้พระกัน, ทำนองพระพุทธบาทสระบุรี. ที่เรียกว่าราชคฤห์ใหม่นั้น, ปรากฏมีนครกุศาคารปุระอันเป็นที่สถิตของกษัตริย์แต่โบราณขึ้นอีกแห่งหนึ่ง, ห่างกันเพียง ๔๐ เส้นเศษเท่านั้น. นครนี้ Eitel กล่าวว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้สร้าง, แต่ฟาเหียนเหมาเอาว่าเป็นพระเจ้าอชาตสัตรุสร้างทั้งหมด. ข้าพเจ้าคาดคะเนว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นบิดา, และมาสำเร็จลงในตอนพระราชโอรสทรงราชย์.

  9. ๓๐๔. ราชคฤห์ใหม่ เป็นนครที่ตั้งพระราชวังหลวง, อันเป็นที่สถิตของกษัตริย์มคธจากพระเจ้าพิมพิสารถึงพระเจ้าอโศก. และเป็นนครหลวงแห่งแรกของพุทธศาสนา, มีพระพุทธบาทอยู่บนเขาคิชฌกูฏ. การประชุมพระเถรานุเถระกระทำสังคายนาครั้งแรก, ภายหลังระหว่างเวลา ๑ ปีองค์พระศากยมุนีเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็กระทำที่นครนี้. เดี๋ยวนี้เป็นเมืองร้างคงมีแต่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเรียกว่าราชคหิระ, ห่างจากพิหารไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๖๒๐ เส้น. และเป็นสถานที่ที่สำหรับผู้คนเดินทางมาจากทางไกลๆ มาไหว้พระกัน, ทำนองพระพุทธบาทสระบุรี. ที่เรียกว่าราชคฤห์ใหม่นั้น, ปรากฏมีนครกุศาคารปุระอันเป็นที่สถิตของกษัตริย์แต่โบราณขึ้นอีกแห่งหนึ่ง, ห่างกันเพียง ๔๐ เส้นเศษเท่านั้น. นครนี้ Eitel กล่าวว่าพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้สร้าง, แต่ฟาเหียนเหมาเอาว่าเป็นพระเจ้าอชาตสัตรุสร้างทั้งหมด. ข้าพเจ้าคาดคะเนว่าสร้างขึ้นตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นบิดา, และมาสำเร็จลงในตอนพระราชโอรสทรงราชย์.

  10. ๓๐๕. พระอุปเสน, เป็นพระอรหันต์องค์ ๕ ซึ่งติดตามพระศากยมุนีมาแต่แรก. มีนามที่เรียกท่านผู้อีกอย่างหนึ่งว่า อัศวชิต, ซึ่งในภาคบาลีว่า อัสสชิ. แต่คำว่า อัศวชิต, ดูเหมือนจะเป็นตำแหน่งนายม้าต้น, คือครูผู้ฝึกหัดม้า. เมื่อท่านผู้นี้ได้พบกับศิษย์อันมีชื่อเสียงทั้งสอง (อุปติสสะกับโกลิต = สารีบุตรและโมคคัลลานะ) ของพระพุทธองค์นั้น, ไม่ได้พาเอาตัวไปทีเดียว, แต่ได้ชี้แจงให้ไปเฝ้าพระพุทธองค์. (ดู Sacred Books of the East เล่ม ๑๓ วินัยคัมภีร์ หน้า ๑๔๔-๑๔๗. ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๗๙-๒๘๕).

  11. ๓๐๖. นิครนถ์, เป็นพวกหนึ่งในหกแห่งตีรธยัส, (ตีรธกัส = ครูสอนสิ่งที่ผิด. M. B. หน้า ๒๙๐-๒๙๒). ข้าพเจ้ายังไม่พบเรื่องราวในตอนที่ว่ามีพราหมณ์กระทำความเพียรประทุษร้ายพระพุทธองค์ ตามที่ฟาเหียนกล่าวไว้นี้. แต่อาจเป็นคนที่เคร่งครัดจำพวกหนึ่ง, ซึ่งเป็นวงศ์วานพวกชญาติ, ที่เรียกว่านิครนถชญาติ. พวกนี้งสอนลัทธิว่าด้วยสิ่งทั้งหลายในสากลโลกนี้เกิดแต่โชคและเคราะห์กรรม, ปรับโทษชนเจ้าพวกที่ถือพรตใช้เครื่องแต่งกาย, และมุ่งหมายที่จะคอยปราบอยู่เสมอ. พวกนี้มีแต่ร่างกาย, และเรียกนามตนเองดั่งที่กล่าวแล้วนี้ ( Eitel หน้า ๘๔-๘๕).

  12. ๓๐๗. ดูหน้า ๑๓๗ บทที่ ๒๖ โน๊ต ๓. ราชาองค์นี้กระทำตามเทวทัตต์สอน, และเมื่อไม่สมความปรารถนาของตนแล้ว, ก็เข้ากระทำการถวายบังคมต่อพระพุทธองค์. (ดู Sacred Books of the East เล่ม ๑๗ วินัยคัมภีร์ หน้า ๗๑-๑๙๔. ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๔๔)

  13. ๓๐๘. ดูหน้า ๑๓๐ บทที่ ๒๕ โน๊ต ๓. ชีวกเป็นโอรสของนางอัมพปาลีกับพระเจ้าพิมพิสาร, เป็นผู้เลื่อมใสในทางวิทยาการ. และมีความขำนาญในทางแพทย์. (ดู Sacred Books of the East เล่ม ๑๗ วินัยคัมภีร์ หน้า ๑๗๑-๑๙๔).

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ