- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒๕
นครไวศาลี. สตูปนามว่า ‘วางอาวุธ.’
ที่ประชุมมนตรีของนครไวศาลี.
จากรามนครไปทางตะวันออก ๑๐ โยชน์, ฟาเหียนกับพวกถึงราชอาณาเขตต์แห่งนครไวศาลี. ทิศเหนือของนครเป็นป่าไม้ใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง, ภายในป่าไม้มีวิหารสูง ๒ ชั้นหลังหนึ่ง,๒๗๒ เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จมาพัก, และมีสตูปองค์หนึ่งซึ่งบรรจุอัฏฐิพระอานนท์ครึ่งหนึ่งไว้ตอนบน.๒๗๓ ภายในนครนางอัมพปาลี๒๗๔ได้ก่อสร้างวิหารขึ้นถวายพระพุทธองค์หลังหนึ่ง, ซึ่งบัดนี้ยังมั่นคงดีอยู่เหมือนเมื่อแรก. จากนครไปทางทิศใต้ ๖๐ เส้น, เบื้องตะวันตกของทาง (มี) สวนแห่งหนึ่ง (ซึ่ง) นางอัมพปาลีคนเดียวกันนั้นอุทิศถวายแด่พระพุทธองค์, ในขณะที่นางกำลังอาศัยอยู่. เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จบัลลุดับขันธปรินิพพาน, พระองค์อำลาจากนครที่ประตูเมืองด้านตะวันตก, โดยทรงทอดพระเนตรกลับไปทางเบื้องขวาของพระองค์โดยรอบพระนคร, แล้วมีพระพุทธดำรัสแก่นครว่า ‘เราได้มาเดินที่นี่เป็นครั้งสุดท้าย.๒๗๕’ สืบต่อมามีบุคคลก่อสร้างสตูปองค์หนึ่งขึ้นที่ตำบลนี้.
ทิศตะวันออกเอียงเหนือของนครนี้ไป ๖๐ เส้น, ณ ที่นั้นมีสตูปองค์หนึ่งเรียกว่า ‘วางธนูและอาวุธ.’ เหตุอย่างไร (สตูป) จึงได้นามเช่นนี้ คือ มเหษีรองของกษัตริย์องค์หนึ่ง, มีนครอยู่ในที่ราบระหว่างแม่น้ำกันจีส์, ประสูติโอรสออกมาปรากฏเป็นก้อนเนื้อกลม ๆ ลูกหนึ่ง. มเหษีผู้เป็นใหญ่คิดริษยามเหษีรองจึงกล่าวว่า สิ่งที่มเหษีรองคลอดออกมาปรากฏเช่นนี้ เป็นลางร้ายที่จะบังเกิดเป็นภัยอันตราย. และในทันใดนั้นนางก็เอาก้อนเนื้อใส่ลงภายในหีบไม้ แล้วทิ้งลงไปในแม่น้ำ. ตอนใต้แห่งลำแม่น้ำไปไกลมาก, มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งทรงดำเนินทอดพระเนตรประพาสอยู่ใกล้ ๆ (ลำน้ำ) เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นหีบไม้ (ลอยมา) ในน้ำ. (พระองค์ก็เก็บเอาขึ้นมา) เปิดออก, พบกุมารน้อย ๆ พันหนึ่งเป็นจำนวนครบถ้วนพอดี, และทุก ๆคนแปลกกัน. พระองค์ได้จัดการมาเลี้ยงไว้, จนเติบโตสูงใหญ่มีความองอาจกล้าหาญมั่นคงทุกคน. กุมารเหล่านี้พากันไปรุกรบ ณ ที่ใด,ๆ ย่อมทำให้ข้าศึกแตกละเอียดป่นปี้ทุกๆ ครั้งที่ได้รับอาสาไป. ในครั้งหลังนี้กุมารทั้งหลายได้ไปกระทำการรุกรบราชอาณาจักรบิดาอันแท้จริงของตนเอง. เมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่โตเกิดขึ้นเช่นนี้ กระทำให้กษัตริย์เป็นบิดาเป็นทุกข์เศร้าหมอง พระมเหษีรองจึงทูลถามว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้นหรือ, จึงกระทำให้พระองค์เป็นดั่งนี้, พระราชาจึงรับสั่งตอบว่า, กษัตริย์แห่งประเทศโน้นมีโอรสพันหนึ่งล้วนองอาจกล้าหาญ ไม่มีใครจะเทียมทานได้. และบัดนี้เขามีความปรารถนาที่จะมารุกรานตีแว่นแคว้นของเรา ด้วยเหตุนี้แลที่กระทำให้เราต้องเศร้าหมอง. พระมเหลีรองจึงทูลว่า พระองค์ไม่จำต้องทรงเศร้าหมองเป็นทุกข์, (ขอพระองค์) จงทำหอสูงหลังหนึ่งขึ้นบนกำแพงเมืองด้านตะวันออก, และเมื่อพวกเหล่าร้ายนั้นยก, มาข้าพระองค์สามารถจะกระทำให้พวกมันถอยกลับไปจงได้. พระราชาก็ทรงกระทำตามที่พระมเหษีรองกล่าว, และเมื่อพวกปัจจามิตรเหล่านั้นยกมาถึง, นางก็ขึ้นไปกล่าวกับพวกข้าศึกเหล่านั้นลงไปจากบนหอสูงว่า เจ้าเป็นบุตรของเรา. การที่เจ้ามากระทำดั่งนี้, มันเป็นการผิดธรรมดาและทำนอง เหมือนเป็นกบฎต่อเจ้านายและบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองมิใช่หรือ? กุมารเหล่านั้นจึงตอบว่า ท่านกล่าวประการใด, ท่านว่าท่านเป็นมารดาของเราหรือ ? นางกล่าวตอบ, ถ้าเจ้ายังไม่เชื่อถือเรา, เจ้าทุกคนจงมองมาทางเรานี้, และอ้าปากของเจ้าขึ้น, บัดนั้นนางก็บรีดนมของนางด้วยมือทั้งสอง, และฉีดน้ำนมส่งลงไปให้ปรากฏ ๕๐๐ ครั้ง, ซึ่งทุกๆ ครั้งไปตกลงในปากของบุตรชายทั้งพันคน. (ดั่งนั้น) เหล่ากุมารจึงทราบว่านางเป็นมารดาของพวกตน. กุมารทั้งหลายต่างก็วางคธาและอาวุธ.๒๗๖ ทั้งสองกษัตริบ์ผู้เป็นชนกได้พิจารณาตรีกตรองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนี้, จึงปลงพระหฤทัยถือเอาเพศเป็นพระปรัตเยกพุทธะ๒๗๗ด้วยกัน. สตูปสำหรับพระปรัตเยกพุทธะทั้งสององค์จึงบังเกิดขึ้น, และยังคงเหลือปรากฏอยู่จนบัดนี้.
สืบต่อมาถึงในสมัยเมื่อพระบรมโลกนาถบัลลุถึงความตรัสรูด้วยญาณปัญญาอันบริสุทธิ์ (เป็นพระพุทธองค์) แล้ว, พระองค์ได้รับสั่งแก่สาวกทั้งหลายว่า ณ สถานที่นี้เป็นสถานที่ซึ่งในปางก่อนเราได้วางคธาและอาวุธของเราลง.๒๗๘ เหตุที่เป็นมาดั่งนั้นสืบต่อมามีผู้ทราบ (เรื่องราว) จึงได้สร้างสตูปขึ้นที่ตำบลนี้. และได้รับนามตามเหตุการณ์. กุมารน้อย ๆ พันคนนั้น คือพระพุทธเจ้าพันองค์แห่งภัทรกัลป๒๗๙นี้.
ณ สถานที่ด้านข้างหนึ่งของสตูปวางอาวุธนี้, พระพุทธองค์ได้ทรงเลิกถอนพระดำริที่จะดำรงพระชนม์ชีพให้ยืนยาวอยู่ต่อไป. ทรงรับสังแก่พระอานนท์ว่า ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือนเราจะดับขันธปรินิพพาน. และพระยามาร๒๘๐ได้กระทำให้พระอานนท์เคลิ้มหลงงงงวยและตกตลึงหมดสติ, จนไม่สามารถที่จะกราบทูลขอร้องให้พระพุทธองค์คงดำรงพระชนม์ชีพให้ยืนยาวอยู่ในโลกนี้ (ต่อไป).
จากสถานที่นี้ไปทางตะวันออก ๖๐ หรือ ๙๐ เส้นมีสตูปอีกองค์หนึ่ง, (เป็นอนุสาวรีย์ตามกรณียเหตุ) :- ภายหลังเวลาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี (ล่วงแล้วมา) มีภิกษุบางองค์แห่งนครไวศาลีถือวัตรปฏิบัติฝ่าฝืนกฎวินัย, อันเป็นข้อที่มีบัญญัติไว้แล้วโดยถี่ถ้วน ๑๐ ประการ, และร้องว่าข้อวัตตปฏิบัติที่เขาทั้งหลายกล่าวนั้นถูกต้องคลองธรรม, และต้องด้วยพระพุทธโอวาทแห่งพระพุทธองค์แล้ว. เพราะเหตุนี้ พระอรหันต์กับพระภิกษุผู้ซึ่งถือกฎและวินัยแห่งนิกายต่าง ๆ เป็นจำนวนทั้งหมด ๗๐๐ องค์, จึงกระทำสังคีติเทียบเคียงสอบทานและรวบรวมคัมภีร์พระธรรมวินัย,๒๘๑ สำหรับปฏิบัติและศึกษาเล่าเรียนกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง. สืบต่อมาได้มีผู้สร้างสตูปขึ้น ณ สถานที่นี้, ซึ่งยังคงมีอยู่ถึงบัดนี้.
-
๒๗๒. ตามที่กล่าวถึงวิหารหลังนี้เป็นที่เข้าใจด้วยยาก, น่าประหลาดที่ว่าเป็นแบบ ๒ ชั้น. มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราคาดประมาณให้ถูกกับแบบวิหารที่ได้อสร้างกันไว้ทั่วๆ ไป, มีประตูเป็น ๒ ชั้น, หรือมีเฉลียงยกพื้นเป็น ๒ ชั้น ? ↩
-
๒๗๓. ดูคำบรรยายเรื่องนี้ในบทหน้า. ↩
-
๒๗๔. อัมพปาลี, อัมรปาลี, อัมรทาริกา หมายความว่า ‘ผู้ดูแลรักษาต้นอัมพะ (มะม่วง),’ นางเป็นผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในพงศาวดารพุทธศาสนา. ดูเรื่องของนางใน M. B. หน้า ๔๕๖-๔๕๘. เดิมนางเป็นหญิงนครโสเภณี, ต้องไปบังเกิดในนรกหลายชาติ, แล้วไปเกิดเป็นหญิงขอทานอีกแสนชาติ, และเป็นหญิงแพศยาอีกหมื่นชาติ. แต่นางได้รักษาความบริสุทธิ์ บังคับใจตนเองละจากราคจริตอยู่ตลอดสมัยที่พระกัศยปพุทธะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลก่อน, นางจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา, และในที่สุดก็มาบังเกิดในโลกภายใต้ต้นมะม่วงในนครไวศาลี. และเป็นชายาของพระเจ้าพิมพิสารมีโอรสองค์หนึ่ง, แต่นางก็ได้ประสบชัยชนะล่วงพ้นจากอกุศลกรรมทั้งหลาย, โดยพระพุทธองค์ทรงโปรดให้บัลลุถึงแดนพระอรหัตต์. ดูเรื่องนางถวายสวนใน Buddhist Suttas หน้า ๓๐-๓๓ กับโน๊ตของ Bishop Bigandet หน้า ๓๓-๓๔. พระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่ม ๑๐ มหาปรินิพพานสูตร หน้า ๑๑๓. ↩
-
๒๗๕. ความที่พระพุทธองค์รับสั่งประโยคนี้ มีผู้แต่งสำนวนให้หลายอย่าง, Beal ว่า ณ สถานที่นี้เราได้กระทำแล้วเป็นครั้งสุดท้าย, ด้วยความศรัทธาของเราที่ได้รีบหว่านพืชลงไว้. Giles ว่า นี่เป็นสถานที่สุดที่เราได้มาเยี่ยม. ปฐมสมโพธิ (พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๔๖) ว่า ตถาคตจะเล็งแลดูเมืองไวศาลีเป็นปัจฉิมทัศนาในคราวนี้เป็นที่สุด. แต่อย่างไรก็ดี, คำรำพึงของพระพุทธองค์ประโยคนี้, มีคำกริยาอันเป็นความประสงค์สำคัญที่ต่างคนต่างก็เดาเพื่อจะให้ตรงกับพระพุทธดำรัส, จนเกิดความแตกต่างกันขึ้นในคำว่า เล็งแล, เยี่ยม, กระทำ, เหล่านี้, จะรู้ได้แน่อย่างไรว่ากิริยาคำไหนจะตรงกับพระพุทธดำรัส, ซึ่งเป็นการที่จะยืนยันไม่ได้ง่ายนัก. ↩
-
๒๗๖. ดูเรื่องราวของนิยายนี้ในโน๊ตหนังสือ M. B. หน้า ๒๓๕-๒๓๖. แต่มีข้อที่จะเชื่อได้น้อยเต็มที. ที่แรกคิดว่าฟาเหียนจะเลือนไปเผยเอาเรื่องเด็กโมเสสซึ่งมีเรื่องราวอยู่ในคัมภีร์ เอ็กซโอดุส (คัมภีร์ที่ ๒ ของไบเบิลเก่า) มากล่าว ↩
-
๒๗๗. ดู หน้า ๖๗ บทที่ ๑๓ โน๊ต ๓. ↩
-
๒๗๘. ถ้าเป็นดั่งนี้จริง, พระศากยมุนีก็ต้องเคยเป็นเด็กคนหนึ่งในพันที่อยู่ในหีบลอยไปในแม่น้ำกันจีส์ (คงคา), เมื่อครั้งเก่าแก่นานเท่าใดก็มิได้บอกไว้ด้วย. ข้าพเจ้าคิดว่าจะมีความจริงก็เพียงการสร้างสตูปให้เป็นอนุสสาวรีย์สำหรับกษัตริย์ทั้งสองที่ต่างวางอาวุธเข้าถือเพศเป็นพระปริเยกพุทธะ, เมื่อภายหลังเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จผ่านมาทางนี้เท่านั้น. ↩
-
๒๗๙. ภัทรกัลป, Eitel กล่าวว่า เป็นนามที่ตั้งขึ้นสำหรับกัลปหนึ่งแห่งยุคเวลาที่ยืดยาว. ที่เรียกนามดังนี้ เพราะเหตุว่ามีพระพุทธเจ้าพันองค์มาปรากฏในยุคนี้. แต่ในชั่วยุคของเรานี้จะมีพระพุทธเจ้าเพียง ๔ องค์. รวมเวลาในภัทรกัปถึง ๒๓๖ ล้านปี, แต่ได้ล่วงไปแล้ว ๑๕๑ ล้านปี. ↩
-
๒๘๐. ราชาแห่งปีศาจ. คำว่า มาร มีอรรถาธิบายว่า ‘ผู้ฆ่า’ และ ‘ผู้ประหารบุญกุศล.’ Eitel อธิบายว่าคือ ตัวกิเลสที่สมมติให้เป็นประดุจมนุษย์อันมีความคิดและ ปัญญา. เจ้าแห่งครามรัก, อกุศล, และความมรณะ, เป็นศัตรูตัวสำคัญของความมีใจดี. มีสถานที่อยู่บนสวรรค์ปรนิรมิตวัศวรติน ณ สตูปแห่งกามธาตุ. มารมักทำตนให้แปลกกับมนุษย์โดยใหญ่โต, เพื่อลวงหลอกหรือให้เป็นที่น่ากลัวของพวกที่คิดจะระงับการอกุศล. มีวิธีใช้ลูกสาวของมัน, หรือดลใจคนพาลให้ทำกิจการตามที่มันปรารถนา, เคยมีแขนตั้งร้อยบางทีขี่ช้างด้วย. พระพุทธองค์ทรงรับสั่งแก่พระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง, เพื่อให้ทูลขอผัดการเสด็จดับขันธ์. (ดูปฐมสมโพธิ ฉะบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๔๗-๔๔๘. กับ Buddhist Suttas Sacred Books ของ Eitel เล่ม ๑๑ หน้า ๔๑-๕๕). ↩
-
๒๘๑. คือพระไตรปิฎก. การประชุมครั้งนี้อ้างว่าเป็นการสำคัญอีกครั้งหนึ่ง, และที่กล่าวอยู่ทั่วไปก็ว่า เป็นการประชุมใหญ่เพื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ของพุทธศาสนายุกาล. ดูตำรา The Buddhist Canon, Hardy’s E. M. บทที่ ๑๘. และ David’s Manual บทสุดท้าย. การทำสังคีติครั้งแรกที่กรุงราชคฤห์, ใกล้กับเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้วในราว ๔ เดือน, พระกัศยปเถระเป็นประธาน, ครั้งที่ ๒ นี้ในราว พ.ศ. ๑๔๓ ใน Davids’ Manual หน้า ๒๑๖ ว่า มีข้อวินัยแบบทำเนียม ๑๐ ประการ, ซึ่งพวกที่ถือแตกต่างได้เรียกร้องให้มีการประชุมเพื่อทำความประณีประนอมกัน. จึงได้เกิดมีการสอบสวนพิจารณาวินัยแบบทำเนียมเฉพาะข้อที่ใต้แย้งกันขึ้น, เพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องตรงกับกฎธรรมเนียมแต่เดิมมา, สำหรับเป็นเครื่องยึดถือไว้เป็นข้อปรับโทษภิกษุประพฤติย่อหย่อนเท่านั้น. แต่ตามที่ฟาเหียนกล่าวดูประหนึ่งว่าการประชุมครั้งที่ ๒ นี้เป็นการใหญ่โต, ซึ่งความจริงก็เป็นเพียงกิจการธรรมดาของการพิจารณาตัดสินให้สำเร็จลุล่วงไปเท่านั้น. และในขณะเดียวกันนี้บันดาคัมภีร์วินัยแบบทำเนียม, ก็ดูเหมือนจะได้มีผู้พากเพียรเอาใจใส่ได้ตรวจตราทำไว้โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว.
ในฉบับเกาหลีได้ความชัดกว่าฉบับจีน, ว่าคณะสงฆ์สมาชิกของที่ประชุมนั้น, รวบรวมจากพระอรหันต์กับภิกษุแห่งนิกายต่างๆ. ผู้อ่านในระหว่างท่ามกลางที่ชุมนุมสงฆ์ คือพระยศหรือยศทหรือเยทศปุตต. ท่านผู้นี้นัยว่าศิษย์พระอานนท์, ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูงมาก. (ดูความพิสดารในพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑๑-๑๓. กับสังคีติกถา หน้า ๕๒-๘๔) ↩