- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒๗
นครปาฏลิบุตร หรือปัตนะ.
การสร้างพระราชวังและท้องพระโรงของพระเจ้าอโศก.
พราหมณ์พุทธมามกราธสามิ. สถานที่จ่ายยาและโรงพยาบาล.
เมื่อได้ข้ามแม่น้ำต่อลงไปทางทิศใต้หนึ่งโยชน์ ฟาเหียนก็ไปถึงนครปาฏลิบุตร,๒๘๖ ในราชอาณาจักรมคธ, เป็นนครที่พระเจ้าอโศก๒๘๗ครองราชย์สมบัติ. พระราชวังหลวงและท้องพระโรงตั้งอยู่กึ่งกลางแห่งนคร, ซึ่งยังคงมีมาแต่โบราณจนถึงเวลานี้. ทั้งหมดได้กระทำขึ้นด้วยนายช่างพิเศษอันสามารถและเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ที่พระองค์ได้ว่าจ้างมา, และล้วนแล้วไปด้วยการก่อสร้างขึ้นด้วยหิน, ตลอดจนกำแพงและประตูทั้งหลาย, สำเร็จพร้อมไปด้วยความวิจิตรงดงามด้วยลวดลายแกะสลักและระบายร่องในเชิงงานศิลปะประเภทนี้, ซึ่งไม่มีทางที่มนุษย์ในโลก (ทุกวันนี้) จะกระทำขึ้นด้วยฝีมือให้สำเร็จได้.
พระเจ้าอโศกมีพระอนุขาอยู่องค์หนึ่ง, บรรลุเป็นพระอรหันต์และอาศัยอยู่บนเขาคิชฌกูฏ,๒๘๘ อยู่ด้วยความบันเทิงใจต่อสถานที่ที่ได้ประสบความวิเวก, อันเป็นทางที่จะดับเชื้อ (กิเลส) ให้หมดสิ้นไป. พระเจ้าอโศกมีความเคารพนับถือต่อพระอรหันต์ผู้เป็นอนุชาอย่างแท้จริง, ได้แสดงความปรารถนาอ้อนวอนต่อพระอรหันต์ผู้เป็นอนุชา, (ให้กลับไปครองซีพ) อยู่ในครอบครัวของพระองค์, แม้จะต้องประสงค์สิ่งไรก็จะยอมอนุญาตให้ตามประสงค์ทุกประการ. อย่างไรก็ดี ทุกสิ่งทุกประการพระอรหันต์อนุชาก็ยังมีความยินดีที่จะคงอยู่บนภูเขาอันสงัดเงียบนั่น, โดยไม่สมัครใจที่จะยอมรับตามคำเชื้อเชิญ ซึ่ง (ในที่สุด) พระเจ้าอโศกได้กล่าวแก่พระอรหันต์เป็นอนุชาว่า, ขอให้ยอมรับคำอาราธนาของพระองค์โดยเฉพาะสักประการหนึ่ง, พระองค์จะไปสร้างภูเขาขึ้นภายในนครให้เป็นสถานที่สำหรับพระอนุชา. ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าอโศกจึงทรงเตรียมกระทำการประชุมสโมสรเลี้ยงอาหาร, และพระองค์ได้ทรงเรียกเชิญไปยังอสูรทั้งหลาย. โดยประกาศป่าวร้องไปว่า พรุ่งนี้เช้าท่านทั้งหลายที่ได้รับคำเชิญของเรา, ณ ที่นั้นไม่มีอาสนะสำหรับท่านจะนั่ง, เรายอมให้ทุก ๆ ท่านนำเอา (อาสนะ) ไป (สำหรับท่านนั่งเอง). พอรุ่งขึ้นพวกอสูรทั้งหลายต่างก็มาพร้อมกัน, ทุกๆ คนต่างเอาหินก้อนมหึมามาด้วยคนละหนึ่งก้อน, แต่ละก้อนโต ๔ เหลี่ยมตั้ง ๔ หรือ ๕ ก้าว (มาสำหรับนั่ง). เมื่อเสร็จธุระที่พวกอสูรใช้นั่งแล้ว พระองค์รับสั่งให้พวกอสูรเหล่านั้นขนไปกองสุมขึ้นจนใหญ่เป็นภูเขาลูกหนึ่ง. และที่เชิงเขาซึ่งลำดับไว้ด้วยหินก้อน ๔ เหลี่ยมใหญ่ๆ ๕ ก้อน, ได้ทำเป็นคูหาขึ้นแห่งหนึ่ง, โดยยาวกว่า ๓๐ ศอก กว้าง ๒๐ ศอก, และสูงกว่า ๑๐ ศอก.
ในนครนี้มหาพราหมณ์๒๘๙ตั้งเคหสถานอยู่คนหนึ่งมีนามว่าราธสามิ๒๙๐ เป็นศาสตราจารย์แห่งนิกายมหายาน ทรงปัญญาญาณเห็นสว่างแจ่มใสยิ่งนัก. เป็นผู้มีความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่จักดำเนินชีวิตของตนเองไปโดยปราศจากมลทินโทษ, ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์. กษัตริย์แห่งนครนี้ให้เกียรติเคารพนับถือ. และให้พราหมณ์ผู้นี้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระราชครูของพระองค์. เมื่อพระองค์จะไปศึกษาไต่ถามหรือจะทำการต้อนรับพราหมณ์ผู้นี้ก็ดี, พระองค์จะไม่กระทำด้วยความประมาทเข้าไปนั่งข้างเคียงกับพราหมณ์. และเมื่อพระองค์จะทรงแสดงความโปรดปรานและแสดงคารวะ, โดยที่ทรงสัมผัสพระหัตถ์กับพราหมณ์, ในขณะเดียวที่ได้ทรงประทานอนุญาตให้ไปแล้ว, พราหมณ์จะไปกระทำการล้างมือของตนเองโดยทันที. พราหมณ์ผู้นี้มีอายุกว่า ๕๐ ปี. ตลอดราชอาณาจักรนี้รู้จักพราหมณ์อยู่ทั่วไป. ด้วยความมุ่งหมายของพราหมณาจารย์ผู้เดียวนี้, ได้กระทำการเผยแผ่พระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ให้ได้ทราบกันทั่วไปโดยกว้างขวาง. จนผู้ที่เคารพนับถือโอวาทของลัทธิอื่นๆ, ไม่มีอำนาจที่จะมากระทำการรบกวนรังแกภิกษุทั้งหลายได้โดยทางใด.
ณ ที่ด้านข้างหนึ่งแห่งพระสตูปของพระเจ้าอโศกนั้น, มีอารามฝ่ายมหายานอยู่วัดหนึ่งใหญ่โตและงดงามยิ่งนัก. ดุจเดียวกันนี้ อารามฝ่านหินยานอีกแห่งหนึ่ง, ทั้ง ๒ อารามรวมกันบรรจุพระภิกษุได้ราว ๖๐๐ หรือ ๗๐๐ องค์ กฎธรรมวินัยสำรับการปฏิบัติในทางกิริยามารยาท, และการศึกษาเล่าเรียนในทางวิชาการฝ่ายศาสนา, ซึ่งได้มีระเบียบเรียบร้อยอยู่ในอารามทั้ง ๒ แห่งนี้, เป็นการสมควรที่จะพึงสังเกตพิจารณายิ่งนัก
บรรดาพระสงฆ์งหลาย ที่หวังต่อคุณงามความดีอย่างสูงสุดจากทุกส่วน, ต่างมาศึกษาเล่าเรียนสอบสวนด้วยความปรารถนาที่จะได้พบความแท้จริงอันเป็นหลักฐานจากที่นี่, แล้วและต่างก็นำเอาไปยังอาวาสแห่งตน. เพราะเหตุที่ในอารามแห่งนี้พราหมณาจารย์พักอาศัยอยู่, ซึ่งมีนามดุจดั่งพระมัญชุศรี,๒๙๑ เป็นผู้ที่ทรงคุณงามความดีอย่างใหญ่หลวงอยู่ในราชอาณาจักรนี้, ซึ่งพระภิกษุฝ่ายนิกายมหายานทั้งหลายรู้จักและเคารพนับถืออยู่ทั่วไป.
บรรดาเขตแขวงและหัวเมืองของแว่นแคว้นนี้, นับว่าใหญ่ที่สุดกว่าบรรดาราชอาณาจักรในมัชฌิมประเทศทั้งหลาย. ประชาชนพลเมืองอุดมสมบูรณ์และ ร่มเย็นเป็นสุข, และต่างประกวดกันในอันที่จะประกอบกิจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, ซึ่งเป็นประเพณีแห่งการประกอบกุศลผลทานด้วยความบริสุทธิ์. ทุก ๆ ปีในวัน ๘ ค่ำเดือนยี่, ประชาชนได้ทำการแห่และมีงานสมโภชพระพุทธปฏิมากันครั้งหนึ่ง. ต่างทำรถ ๔ ล้อขึ้นคันหนึ่ง, และเบื้องบนสร้างเป็นรูปโครงเรือน ๕ ชั้น ขนด้วยไม้ไผ่ที่ผูกรัดเข้าด้วยกัน, และค้ำจุนไว้ด้วยเสา. กับมีไม้เรียวแหลมปักเอียงเรียงกันไปเป็นแถว ๆ, สูงในราว ๒๐ ศอกกว่าเล็กน้อย, มีรูปดุจดั่งสตูปองค์หนึ่ง, หุ้มคลุมด้วยผ้าไหมขาวและผ้าที่ทอด้วยขน๒๙๒โดยรอบ อันได้ระบายด้วยสีต่าง ๆ, และได้ทำเป็นรูปเทวดาระบายด้วยสีเงินและทอง และสีพลอยหินเขียวครามอันสูงสง่างาม ประกอบกับผ้าธงราวไหมแขวนห้อยไว้โดยรอบเพดานเบื้องบน. เบื้องบนทั้ง ๔ ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่งไว้ทุกๆ ช่องคูหา, และมีรูปพระโพธิสัตว์ตั้งไว้คอยปรนนิบัติรับใช้ช่องละหนึ่งองค์. รถชนิดนี้มี ๒๐ คัน, และทุกคันกว้างใหญ่สง่างาม, แต่ (ตกแต่ง) ต่าง ๆ กัน. ครั้นถึงวันงานตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้, ภิกษุและฆราวาสทั้งหลายออกจากอาณาเขตต่าง ๆ มาพร้อมกันตามกำหนด. เหล่านักร้องก็การขับร้อง, ผู้ชำนาญการดนตรีทั้งหลายต่างก็ทำเพลง. เขาทั้งหลายต่างถวายดอกไม้และเครื่องหอมด้วยความเลื่อมใสศรัทธา. พวกพราหมณ์มาอัญเชิญพระพุทธรูปไปกลางนคร. และมีคำสั่งให้หยุดพักอยู่ ณ ที่นั้น, แล้วกระทำการสมโภชเป็นเวลา ๒ คืน. ในเวลากลางคืนมีการตามประทีปโคมไฟและเผาเครื่องหอมอยู่ตลอดทุกคืน, ผู้ชำนาญก็ทำการบรรเลงเพลงดนตรี, ประชาชนทั้งหลายกระทำการถวายเครื่องสักการบูชา. งานเช่นนี้เป็นประเพณีที่แม้ในราชอาณาจักรอื่นๆ ก็ได้กระทำกันอยู่โดยทั่วไป. หัวหน้าแห่งครอบครัวไวศยะได้ตั้งศาลาไว้ในเมือง, สำหรับแจกจ่ายยาให้เป็นทานด้วยความเมตตากรุณา. คนยากจนอนาถาในนคร, ลูกกำพร้า, พ่อหม้าย, และคนเป็นหมัน, คนอวัยวะพิการและคนง่อย, และคนที่ป่วยด้วยโรคาพยาธิทั้งปวง. เหล่านี้เมื่อไปถึงศาลาซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะอุปการะให้ด้วยความเมตตากรุณาเป็นอย่างดี, และแพทย์ก็จะตรวจโรคาพยาธิ, และจัดอาหารจัดยาห่อให้ตามความต้องการ, อันเป็นทางที่จะกระทำให้บังเกิดความรู้สึกมีความสุขใจ. และเมื่อการป่วยไข้ค่อยทุเลาดีขึ้นแล้ว, คนไข้จะกลับบ้านของตนได้ตามความพอใจ.
เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกรื้อทำลายพระสตูปลงแล้ว ๗ องค์, (พระองค์มีความมุ่งหมาย) ที่จะสร้างใหม่เป็น ๔๘,๐๐๐ องค์.๒๙๓ องค์แรกพระองค์ได้สร้างเป็นมหาสตูปใหญ่โตมาก, ซึ่งอยู่ทางทิศใต้จากนครไป ๖๐ เส้นเศษ. ทางด้านหน้าแห่งพระสตูปเป็นพระพุทธบาท, ซึ่งพระองค์ได้สร้างวิหารขึ้นไว้หลังหนึ่ง, มีประตูด้านหน้าอยู่ทางทิศเหนือ. และในทางทิศใต้เป็นเสาศิลาต้นหนึ่ง, ตั้งอยู่ในขอบบริเวณภายนอกห่างจากวิหารไป ๑๔ หรือ ๑๕ ศอก, และสูงกว่า ๓๐ ศอก. ซึ่งได้จารึกข้อความไว้ว่า ‘พระเจ้าอโศกได้ถวายชมพูทวีปแด่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทั่วไป, และได้ขอถ่ายคืนแล้วด้วยเงินตรา. พระองค์ได้กระทำเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง.๒๙๔ ทางทิศเหนือของพระสตูป ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ ก้าว, พระเจ้าอโศกได้สร้างเมืองเน-เล๒๙๕ไว้แห่งหนึ่ง ในที่นั้นมีเสาหินต้นหนึ่ง, ซึ่งสูง ๓๐ ศอกเศษดุจเดียวกัน, และมีรูปสิงห์ตัวหนึ่งอยู่บนยอด. บนเสาต้นนี้ได้จารึกเรื่องราวตามที่ได้นำเอาวัตถุต่าง ๆ ไปสร้างเมืองเน-เล, และบอกจำนวนปี วัน เดือนไว้.
-
๒๘๖. ปัจจุบันนี้เรียกปัตนะ. อยู่ในระดับแลตติจู๊ต ๒๕° ๒๘′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๘๕° ๑๕′ ตะวันออก. นามนี้ในสํสกฤตมีความหมายว่า นครสวนดอกไม้. เมื่อใกล้ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงนครนี้ซึ่งเป็นเวลาที่กำลังสร้าง โดยสุนิธะและวัสสการพราหมณ์มหาอมาตย์แห่งแคว้นมคธเป็นผู้บงการ. เดิมเมืองนี้เป็นเพียงตำบลหนึ่งของแคว้นมคธชื่อปาฏลิคาม การที่สร้างเมืองนี้เพื่อประสงค์จะป้องกันการรุกรานจากพวกกษัตริย์วัชชีจึงได้สร้าง พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์กับพระอานนท์ว่า ต่อไปจักเป็นเมืองอันสำคัญ เป็นที่แก้ห่อสินค้า เป็นแดนของอารยชน และจักเป็นอันตรายขึ้นด้วยเหตุ ๓ คือ ไฟไหม้ น้ำท่วม และสงคราม. (ดูมหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่ม ๑๐ หน้า ๑๐๒) ↩
-
๒๘๗. ดูบทที่ ๑๐ หน้า ๕๐ โน๊ต ๓. พระเจ้าอโศกได้ย้ายจากนครราชคฤห์ไปประทับอยู่กรุงปาฏลิบุตร, และทรงราชย์อยู่ที่นั่น ๑๘ ปี. ได้อาราธนาพระเถรานุเถระทางภาคใต้ของอินเดียทั้งหมดเป็นอย่างน้อย, กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓, อันเป็นการประชุมอย่างขนานใหญ่ราวใน พ.ศ. ๒๙๓. Eitel ว่า พ.ศ. ๒๙๗. (ดูพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๒๖-๒๗) ↩
-
๒๘๘. ภูเขาคิชฌกูฏ, คือภูเขาที่ยอดเหมือนแร้งอยู่ในเขตแคว้นราชคฤห์. ที่เรียกนามว่าคิชฌกูฏ, เพราะมีนิยายเรื่องหนึ่งในพุทธศาสนาที่เล่าลือกันสืบต่อ ๆ มาว่า มีมารตนหนึ่ง จำแลงตัวเป็นแร้งไปทำการขัดขวางพระอานนท์ในขณะที่นั่งเจริญภาวนาอยู่ภูเขานี้. และความจริงในตอนแรก พระอานนท์ได้เคยมาพักอยู่ที่เขาคิชฌภูฏใกล้นครราชคฤห์ อันเป็นนครหลวงของพระเจ้าอโศกนี้ครั้งหนึ่ง. เพราะเหตุนี้ เห็นฟาเหียนจะเอามารวมกล่าวเข้าในเรื่องราวของฟาเหียนในตอนกล่าวถึงนครปัตนะ. ซึ่งว่ามีถ้ำมากมายที่พระภิกษุอันเคร่งครัดได้ไปพักอาศัยอยู่. ↩
-
๒๘๙. พราหมณ์โดยชาติตระกูล, แต่นับถือพุทธศาสนา. ↩
-
๒๙๐. Beal กับ Legge ว่านามคำนี้ควรจะเป็นราธสวามิ. ↩
-
๒๙๑. มัญชุศรี, ดูบทที่ ๑๖ หน้า ๘๐ โน๊ต ๓. ที่ว่าพราหมณ์มีชื่อเสียงดุจดั่งพระมัญชุศรี, บางทีจะหมายถึงว่า มีชื่อเสียงโด่งดังดุจดั่งพระมัญชุศรี, หรือพระโพธิสัตว์ที่มีชื่อเสียงองค์ใดกระมัง ? ↩
-
๒๙๒. ผ้าแค๊ชมีร์หรือ ? เมื่อไม่นานมานี้สตรีญี่ปุ่นพวกหนึ่งเอาผมของพวกเขารวมกันทอผ้าทำธงให้แก่กองทหาร. ↩
-
๒๙๓. ดูบทที่ ๒๓ หน้า ๑๒๓ โน๊ต ๓. กับปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๐๕-๕๐๙. ↩
-
๒๙๔. ข้อที่เราปรารถนาอยากจะได้รู้อีกนั้นก็คือ งานใหญ่โตที่ได้กระทำสำเร็จไปนั้นประการใด, จำนวนเงินที่พระเจ้าอโศกถ่ายโลกคืนนั้น, ทั้งหมดเท่าไร ? ↩
-
๒๙๕. เน-เล ทราบไม่ได้อีกว่าอยู่ที่ไหน. น่าจะเป็นเมืองเล็กๆ สักแห่งหนึ่ง เป็นด่านสำหรับป้องกันนครปาฏลิบุตร. ↩