- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๓
ราชอาณาจักร โข-เตน, การแห่พระพุทธปฏิมา.
วัดใหม่ของกษัตริย์
ยุตีน เป็นราชธานีที่เพียบพร้อมไปด้วยความสุขความเจริญ, มีพลเมืองอันกำลังอยู่ในความสดใส สะพรั่งพร้อมหนาแน่นมากมาย, และล้วนแต่เคารพนับถือพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น. ต่างก็ชักชวนรวบรวมพร้อมกันเข้าเล่นดนตรีดีดสีตีเป่า บรรเลงเพลงขับกล่อมตามลัทธิของฝ่ายศาสนา, ด้วยความโสมนัสยินดี๓๒. มีจำนวนพระภิกษุหลายหมื่น, โดยมากเป็นนิกายฝ่ายมหายาน.๓๓ ได้รับอาหารจากสถานโรงร้านสามัญ.๓๔ ตลอดทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยบ้านเรือนของประชาชนพลเมือง, ต่างปลูกสร้างตั้งอยู่เดียรดาษไป ประดุจดวงดาวในอากาศ, และในครอบครัวหนึ่ง ต่างก็สร้างพระสตูปองค์เล็ก ๆ๓๕ ไว้ที่ตรงหน้าประตูบ้าน, สตูปขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒๐ ศอกหรือกว่านั้นก็มี. ภายในวัดได้จัดแบ่งส่วนสถานที่ไว้ เพื่อประโยชน์แห่งภิกษุสงฆ์อาคันตุกะ๓๖ผู้จะท่องเที่ยวเดินทางไปขอพักอาศัย, กับทั้งจะได้รับจตุปัจจัยเกื้อหนุนด้วยบ้างตามสมควร.
ผู้ครองนครได้อาราธนาให้ฟาเหียนกับพระภิกษุอื่นๆ พักอยู่ในโคมติอาราม,๓๗ อันเป็นสถานศึกษาในฝ่ายนิกายมหายาน, ด้วยความสุขสบาย, และได้ทรงถวายสิ่งที่จำต้องประสงค์ตามสมควร. ในอารามแห่งนี้มีภิกษุถึง ๓,๐๐๐ รูป ในเวลาพระฉันอาหารมีระฆังตีเรียกเป็นสัญญา. เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นเข้าไปพร้อมกันยังหอฉันแล้ว, ต่างก็สำรวมกิริยามรรยาทนั่งลงโดยมีระเบียบเรียบร้อยสงบนิ่งอยู่, เป็นที่ชวนให้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา, ไม่ได้ยินเสียงอันบังเกิดจากบาตร, หรือภาชนะอย่างอื่น ๆ กระทบกระทั่งกันเลย, เมื่อท่านผู้บริสุทธิ์องค์๓๘ใดมีความประสงค์จะขอรับเครื่องอาหารเพิ่มเติม, ก็มิได้ออกเสียงร้องเรียก (ผู้ปรนนิบัติ) เลย, เพียงแต่จะยกมือขึ้นทำอาณัติสัญญาณเท่านั้น.
ฮุย-กิง, ตาว-จิง, กับ ฮุย-ตะ, คณะหนึ่งได้เริ่มออกเดินล่วงหน้าไปทางเมืองกีห-จา๓๙ก่อน. ฟาเหียนกับภิกษุรูปอื่น ๆ ปรารถนาจะอยู่คอยดูการแห่พระพุทธปฏิมาเสียก่อน, จึงคงรออยู่ต่อไปอีก ๓ เดือน. ในนครนี้มีอารามใหญ่อยู่ ๔ แห่ง,๔๐ โดยมิได้นับจำนวนอารามเล็ก ๆ เข้าร่วมด้วย. ในวันต้นแห่งเดือนที่ ๔, เขาเริ่มต้นทำการปัดกวาดและรดน้ำตามถนน, โดยระดมกันทำการอย่างใหญ่โตไปทั่วทุกถนนหนทาง, ภายนอกประตูเมืองตั้งกระโจมผ้าขนาดใหญ่ไว้แห่งหนึ่ง, และตบแต่งไว้งดงามที่สุดเท่าที่จะทำได้, ภายในมีพระเจ้าแผ่นดินและพระมเหสีประทับ, กับบรรดาสุภาพสตรีผู้ดีซึ่งประดับกายด้วยเครื่องเพ็ชรพลอย, นั่งเรียงรายกันอยู่ตามลำดับโดยระเบียบเรียบร้อย๔๑ภายในกระโจมนั้น.
ด้วยเหตุที่พระภิกษุในวัดโคมติเป็นนิกายมหายาน, ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเคารพนับถืออย่างสูง, จึงเป็นผู้ออกนำหน้าพระภิกษุวัดอื่น ๆ ในกระบวนแห่. ณ สถานที่แห่งหนึ่งห่างจากนครไป ประมาณ ๖๐ หรือ ๘๐ เส้น, เขาสร้างรถ ๔ ล้อขึ้นประดิษฐานพระพุทธปฏิมาคันหนึ่ง, ซึ่งเมื่อเห็นแล้วดูเป็นประดุจศาลาขนาดใหญ่, แลตระหง่านสูงกว่า ๓๐ ศอก, แล้วลากเคลื่อนไป. เพดาน (ภายในหลังคารถ) บุดาดด้วยแพร, และประดับด้วยสัปตรัตน์๔๒ห้อยแขวนทั่วไปโดยรอบ, แลดูเป็นเงาเลื่อมประดุจกระแสน้ำในลำธาร. พระพุทธปฏิมา๔๓ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางรถ, กับมีพระโพธิสัตว์๔๔คู่หนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรนนิบัติประดิษฐานอยู่เบื้องพระพักต์, และมีเทวดา๔๕ทั้งหลายคอยรับใช้ประดิษฐานอยู่ต่อมา, ภาพทั้งหมดล้วนแต่มีแสงแวววาวอันพราวไปด้วยลวดลายแกะสลักลงในพื้นทองและเงิน, ประดุจภาพอันปรากฏอยู่บนท้องนภากาศ เมื่อ (รถอันประดิษฐานพระพุทธปฏิมา) เคลื่อนเข้ามาห่างจากประตูเมืองประมาณ ๑๐๐ ก้าว, พระเจ้าแผ่นดินทรงถอดพระมงกุฎสำหรับประเทศออก, ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์ชุดใหม่, และพระบาทปราศจากเครื่องรองและปิดบัง, พระหัตถ์ทรงถือดอกไม้และเครื่องหอม, (เสด็จออกไปพร้อมด้วยราชบริพารทั้งหลาย) เรียงเป็น ๒ แถว, คอยเข้าสมทบบรรจบกับกระบวนแห่ที่ประตูเมืองแล้วและเสด็จตามไป, เมื่อรถพระพุทธปฏิมามาถึง, พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปบนรถทำการนมัสการ, โดยซบพระเศียรกราบลงแทบพระพุทธบาทยุคล, และทรงโปรยดอกไม้เผาเครื่องหอม, เมื่อรถพระพุทธปฏิมากำลังผ่านเข้าไปในประตูเมือง, พระมเหสีกับสุภาพสตรีทั้งหลาย, ออกไปยังริมเฉลียงของรถโปรยดอกไม้ลงไปโดยรอบ, เป็นประดุจหนึ่งดอกไม้ที่ลอยเกลื่อนกลาดไปตามกระแสน้ำไหล, ล่วงหล่นเดียรดาษอยู่ตามพื้นดินประดุจภาพที่ช่างเขียนวาดไว้, ตามทางทุก ๆ แห่ง ต่างได้ตั้งใจทำกันเป็นอย่างดีสำหรับในเทศกาลนี้. ในพิธีนี้อารามทั้งหลายต่างก็จัดสรรสร้างรถของตน, โดยลักษณะต่าง ๆ กันวัดละ ๑ คันนำไปเข้ากระบวนแห่ด้วยพร้อมกัน. เริ่มต้นในวันที่ ๑ ของเดือนที่ ๔, และไปสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๔, พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีจึงเสด็จกลับเข้าพระราชวัง.
จากนครไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง ๑๔๐ หรือ ๑๖๐ เส้น, มีอาวาสอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่าวัดใหม่ของกษัตริย์. วัดนี้ได้สร้างกันมาถึง ๘๐ ปี เป็นเวลายืดยาวตลอดถึง ๓ รัชกาลจึงสำเร็จ. มีสตูปองค์หนึ่งสูง ๒๕๐ ศอก, อุดมไปด้วยความงดงามด้วยฝีมือวิจิตรกรรมลวดลายแกะสลัก. สิ่งที่ปิดเบื้องบนประดับไว้ด้วยทองเงินสำเร็จเรียบร้อยตลอดทั่วไป, ซึ่งรวบรวมไว้ด้วยความดีวิเศษโดยประการทั้งปวง. เบื้องหลังแห่งพระสตูปมีสถานที่ที่ได้สร้างไว้เป็นศาลาแห่งพระพุทธเจ้า๔๖หลังหนึ่ง, วิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง, ขื่อ, เสา, ประตู, หน้าต่าง, ล้วนประดับประดาไว้ด้วย (ลาย) ใบไม้ทอง. นอกจากนี้ยังมีห้องที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์, ซึ่งได้สร้างไว้โดยสง่างาม, และประดับประดาตกแต่งไว้เหมาะเจาะ, จนไม่สามารถจะหาถ้อยคำมากล่าวชมให้ถูกถ้วนได้. แต่อย่างไรก็ดี, บรรดาสิ่งอันมีค่าสูงและวิเศษทั้งหลายเหล่านี้, บรรดาพระราชาแห่งแว่นแคว้นทั้ง ๖, ซึ่งอยู่ทางแถบตะวันออกแห่งพืดภูเขา ตฺซุง๔๗ เป็นเจ้าของเดิม, และได้สละมารวมกันเป็นส่วนใหญ่ให้เป็นการช่วยอุปถัมภ์ (สำหรับอาวาสนี้), ด้วยจำนวนผลประโยชน์แห่งละเล็กละน้อยจากขัตติยราช๔๘เหล่านั้น.
-
๓๒. เพลงเช่นนี้เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนชาวโข-เตน. ↩
-
๓๓. มหายาน, ดูโน๊ตหน้า ๑๘. มหายาน เป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธสมัย, หมายถึงนิกายประเภทที่ ๒, ซึ่งแสดงให้รู้แจ้งและยอมรับว่า พระโพธิสัตว์สามารถจะขนมวลมนุษย์ไปสู่นิพพานได้. ประดุจเกวียนใหญ่ฉะนั้น. (ดูหนังสือพุทธเจดีย์สยามหน้า ๗๒-๗๔, กับหนังสือของ David’s เรื่อง Key note of Great Vehicle และปาฐกถาของ Hibbert หน้า ๒๕๔, หนังสือพระราชวิจารณ์ลัทธิพุทธศาสนาหีนยานกับมหายาน และหนังสือลัทธิของเพื่อน หน้า ๖๕-๖๘). ↩
-
๓๔. ฟาเหียนกล่าวไว้ว่า ‘โรงร้านสามัญ’ นั้นอย่างไรกัน ? เป็นสถานที่ที่วัดจัดหาเสบียงสะสมไว้ดั่งนั้นหรือ ? ในบทที่ ๑๖ และ ๓๙ เป็นที่สำหรับผู้เดินทางอื่น ๆ อีกต่างหาก. ขอชักเอาข้อสำคัญในเรื่องการทำทานมาให้เห็นจากหนังสือของ David’s เล่ม ๕, ปาฐกถาของ Hibbert หน้า ๑๗๘ ว่า ‘มีถ้อยคำบางคำที่ย้อมสีพุทธศาสนาเสีย.’ และสมุดที่มีชื่อว่า The Great Decead ได้ทำภาพแสดงประกอบกับคำอธิบายว่า ‘ความยั่งยืนของสมาคมควรจะทำด้วยความเพียรอันบังเกิดจากความเมตตากรุณา, ที่จะกล่าวและนึกคิดของสัตบุรุษทั้งหลายทั้งในทางสาธารณะและโดยเฉพาะ (แห่งทาน), ซึ่งสมควรจะแบ่งสรรปันส่วนของตนโดยปราศจากความลำเอียง, เช่นหุ้นส่วนสามัญซึ่งเป็นการซื่อตรงต่อกันอันปราศจากมลทินโทษ. ดั่งนั้นสิ่งทั้งหมดตามที่ภิกษุทั้งหลายจะได้รับไป, ก็จะเป็นการถูกต้องกับความประสงค์ของการแสวงหาสะเบียงอาหารอันเนื่องจากทาน. ด้วยความเสมอภาคเรียบร้อยเพียงเท่านี้, ย่อมเป็นความอิ่มใจของผู้ที่จะเริ่มต้นถือบาตร, และจะเป็นความยั่งยืนของสังฆสมาคม, ซึ่งมีความหวังอยู่เพียงเท่านี้. ย่อมจะไม่แปรปรวนลดน้อยถอยลง, แต่จะกลับเป็นความเจริญวัฒนาขึ้นสืบต่อไป.’ ↩
-
๓๕. ตามสำเนียงจีนเหนือเรียก 塔 ต๊ะ, กวางตุ้งเป็น ตั๊บ. ที่ฟาเหียนกล่าวไว้นั้นไม่ต้องสงสัย, ได้ออกสำเนียงตามภาษาสํสกฤตคือ สตูป หรือในบาลีว่า ถูป. และเพื่อให้การแปลณที่นี้ถูกต้องตรงกับความหมายแห่งรูปร่างลักษณะของวัตถุที่กล่าวถึงนี้ จึงใช้คำว่า สตูป. เรื่องนี้ Cunningham ผู้เชี่ยวชาญในโบราณวัตถุของอินเดียได้แต่งตำราไว้เล่มหนึ่ง. ในบทที่ ๑๓ กล่าวถึงสตูปองค์หนึ่ง ซึ่งได้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ทันทอดพระเนตรเห็น, และยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้, ซึ่งอาจเป็นตัวอย่างของสตูปที่จะมีขึ้นในอนาคตกาลสืบไป. พระสตูปนั้นตามธรรมเนียม, ตอนเบื้องบนเป็นรูประฆังตันไม่มีโพรงข้างใน, ต่อจากนั้นค่อยๆ ยาวเรียวเป็นจอมสูงขึ้นไป. ต่อจากนี้ทำเป็นปล้องเรียงลำดับสูงขึ้นไปเป็นเถาต่าง ๆ กันตามจำนวนของปล้องหรือลูกแก้วนั้น. แต่อาจผิดแผกกันกับที่ว่ามานี้จะมีบ้าง. ส่วนพระเจดีย์ในเมืองจีนรูปร่างลักษณะผิดแผกแตกต่างกันไปทีเดียว. รูปพระสตูปต่างๆ ในอินเดีย, ที่อ๊อกซฟอร์ดรวบรวมเอาไปจากพุทธคยานั้น, แม้จะเป็นองค์ขนาดใหญ่ก็ยังเล็กกว่าองค์ขนาดเล็กในโข-เตนเสียอีก. พระสตูปทั้งหลายนั้นโดยมากบังเกิดขึ้นจากความมุ่งหมายเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้า, อันเป็นพระบรมครูผู้ประสาทพระธรรม-ไตรปิฎกอันขจรอยู่ในโลก. แต่พระบรมสารีริกธาตุอะไรที่ได้บรรจุไว้ภายในพระสตูปตรีรัตนะ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในบทที่ ๑๖ นี้ ? (ดูหนังสือพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๓๓-๓๔). ↩
-
๓๖. ความหมายณที่นี้อาจเป็นที่สงสัยก็ได้. แต่ผู้แต่งหนังสือ (ฟาเหียน) มิได้มีความหมายที่จะกล่าวว่า ได้จัดห้องให้ในสถานที่ซึ่งมีพระภิกษุอยู่ประจำแล้วนั้น, ที่จริงฝ่ายอารามได้สร้างที่รับแขกไว้ต่างหาก. ↩
-
๓๗. คำในภาษาสํสกฤตใช้เรียกวัดว่า สังฆาราม. แต่เดิมทีเดียวหมายถึงสวนสำหรับการประชุมสงฆ์, โดยเฉพาะก็คือ วโนทยาน ซึ่งจัดให้มีเขตล้อมรอบ. ภายหลังสืบมาเลยอุทิศให้เป็นที่ธรณีสงฆ์โดยเด็ดขาด. (ดูหนังสือ E. H. หน้า ๑๑๘). ‘โคมติ’ เป็นนามของอาราม. แปลตามความหมายว่าอุดมไปด้วยโค. หนังสือพุทธเจดีย์สยามหน้า ๑๖-๑๙ ว่า ต้นเหตุที่จะเกิดมีสังฆารามนั้น. เนื่องจากพวกพุทธศาสนิกชนนิยมไปทำการสักการบูชาสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งในอินเดีย ↩
-
๓๘. ผู้บริสุทธิ์, เป็นคำที่ใช้สำหรับเรียกพระภิกษุอีกคำหนึ่ง, ดุจดั่งคำว่า วิมล, บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน. ↩
-
๓๙. กีห-จา ไม่ปรากฏว่าเป็นที่ไหน. Rémusat ว่า แคชเมียร์. Beal ว่า การ์ตเจา. Eitel ว่า กัลส. ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชาติโบราณจำพวกหนึ่ง. ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะเป็น ลาดัก ใน ธิเบต หรือในแถบเหล่านั้น ? ↩
-
๔๐. แทนที่จะเป็น ๔, ในฉบับจีนว่ามี ๑๔, แต่ตามที่กล่าวไว้ในฉบับเกาหลีนี้เห็นจะได้แก้ไขไว้ถูกต้องแล้ว. ↩
-
๔๑. ณ ที่นั้นควรจะมี, (ตามที่ Giles กล่าว) ‘นางกำนัลสำหรับเกียรติยศ.’ แต่ตามตัวอักษรเท่าที่ปรากฏไม่ได้บ่งถึงดั่งนั้น. ↩
-
๔๒. สัปตรัตน์, คือ ทอง, เงิน, พลอยสีดอกตระแบก, หินแก้วแกลบ, เพ็ชรหรือมรกต, โมรา. (ดูหนังสือ Davids’ Sacred Books of the East Buddhism Sutra เล่ม ๑๑ หน้า ๒๔๙). ↩
-
๔๓. ไม่ต้องสงสัย พระพุทธรูปอย่างแน่ ๆ. แต่ฟาเหียนใช้คำว่ารูปปั้น. ↩
-
๔๔. โพธิสัตว์, คือสัตว์ผู้ทรงปัญญาและคุณธรรมสูง, ประดุจน้ำมันหอมที่กลั่นจากดอกไม้. เมื่อพ้นชาตินี้แล้วจะไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้า, ได้บรรลุสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. นามว่า พระโพธิสัตว์ ไม่รวมอยู่ในจำพวกพุทธะ, เพราะยังจะไม่บรรลุถึงพระนิพพาน. กระดานป้ายในประเทศหนึ่ง, มีรูปช้างกำลังเดินลุยข้ามแม่น้ำ. ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ต้องใจของชนทั้งหลายในเมืองจีน, สิ่งนั้นคือตัวอักษรย่อว่า พู-ซา. และรูปปั้นใด ๆ อันเป็นที่เคารพ. เหล่านี้ได้นามว่า โพธิสัตว์ อันเป็นสิ่งสำคัญทั้งนั้น. (ดูหนังสือลัทธิของเพื่อน หน้า ๑๔๓). ↩
-
๔๕. คำว่า เทียน, เป็นพหูพจน์. ตัวอักษรจีนเขียนดั่งนี้ 天 , มีความหมายว่า สวรรค์, และคำว่า เทียน มักไปปนสับสนกับคำว่า ตี่, ซึ่งมีความหมายว่า พระเป็นเจ้า ในพุทธศาสนา คำว่า เทว มักหมายถึงพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์, หรือพลเมืองแห่งสวรรค์เทวโลก ๖ ชั้นฟ้า. แต่ตามธรรมดาย่อมสำแดงปรากฏอยู่ว่า ในลัทธิพุทธศาสนากับลัทธิพราหมณ์, มักมีการต่อสู้แข่งขันกันอยู่เสมอ, และกับในระหว่างลัทธิ ขงจื๊อ ก็ด้วยอีกลัทธิหนึ่งเช่นเดียวกัน. ↩
-
๔๖. Giles กับ William ว่าเป็น ‘พุทธธรรมสภา.’ แต่ ‘ธรรมสภา’ คิดว่าจะเล็กกว่านี่, และไม่น่าจะเป็นเช่นนี้. ตามนามแห่งนี้ชวนให้คิดเห็นว่าเป็นศาลาใหญ่หลังหนึ่ง, หรืออีกอย่างหนึ่งก็เป็นสถานที่ชุมนุมสงฆ์ ซึ่งใช้สำหรับอารามใหญ่ๆ เช่นนี้ในเมื่อเวลาลงฉันอาหาร คือที่เรียกว่า หอฉัน จึงเป็นสถานที่สูงใหญ่กว้างขวางสง่างาม ↩
-
๔๗. พืดเขา ตฺซุง หรือ หัวหอม เรียกนามดุจเดียวกันกับภูเขา เพลูรตัคห ซึ่งรวมอยู่ในจำนวนภูเขา กราโกรัม, และโยงติดต่อกันไปทางทิศเหนือจนจดภูเขา ตีนชัน และ กวุนลุน อันเป็นภาคส่วนเหนือของประเทศธิเบต. ในภูมิประเทศเหล่านี้เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะสันนิษฐานนามจังหวัดทั้ง ๖ แห่งที่ฟาเหียนกล่าวไว้นี้. ↩
-
๔๘. อะไรที่เป็นความหมาย ณ ที่นี้ ? ก่อนที่จะได้เขียนข้อความตอนนี้ ได้คำนึงอยู่ว่า (ฟาเหียน) ผู้บันทึกเรื่องนี้ มุ่งหมายที่จะกล่าวให้เข้าใจว่า โดยที่หัวหน้าภิกษุสงฆ์ทำการเรี่ยไรมารวบรวมไว้สำหรับใช้จ่ายในการก่อสร้าง ตามแต่จะได้โดยควรแก่ภูมิประเทศเล็กใหญ่แห่งเขาทั้งหลาย เช่นนั้นหรือ ? ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัยลังเลใจยังเพ่งเล็งถึงการแปลอยู่จนบัดนี้.
เรื่องนี้เป็นเหมือนความตอนหนึ่งใน กุงยัง (供養), ซึ่งเป็นนิยายธรรมดาตลอดเรื่อง. ประโยชน์แห่งการเรี่ยไรนั้น, แท้จริงมิใช่จะเกื้อกูลเฉพาะสำหรับภิกษุหรืออาราม, แต่สำหรับการทั่วไปอันเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาที่เคารพ, แล้วแต่จะควรเป็นครั้งคราวหรือติดต่อกันเรื่อยๆ ไป. ขอนำเอาถ้อยคำที่วิจารณ์ไว้ในหนังสือ Davids’ manual (หน้า ๑๖๘-๑๗๐) มากล่าวสู่กันฟังสักตอนหนึ่ง ซึ่งมีความว่า ‘ภิกษุพุทธบริษัทผู้อยู่ในคำสั่งสอนนั้น เป็นผู้ซึ่งพ้นแล้วจากความประสงค์ ไม่คิดที่จะก่อสร้างแม้แต่โบสถ์วิหาร, จะทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้และเครื่องหอมก็เพียงต่อพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ หรือต่อองค์พระพุทธปฏิมาอันเป็นที่เคารพในพุทธศาสนาเท่านั้น. ไม่ทำการหรือยอมรับผลประโยชน์อันบังเกิดแต่การกระทำทั้งปวง. และในแว่นแคว้นที่มีความอบอุ่นซึ่งพุทธบริษัทครองชีวิตอยู่. แต่เดิมมีกิจวัตรเพียงอ่านเรียนธรรมวินัย, แสดงธรรมเทศนาให้คำสั่งสอนแก่สาธารณชน, ถือเอาสถานที่ ๆ อากาศปลอดโปร่งดีที่สุดเป็นที่อาศัยเช่น ในที่ว่างท่ามกลางแสงแห่งดวงจันทร์ ภายใต้หลังคาธรรมชาติคือร่มไม้ใหญ่หรือใบต้นปาล์ม. บรรดาพุทธบริษัทมีหลักความประพฤติอันสำคัญ ๕ ประการ (ศีล ๕ ?), อันเป็นทางให้บังเกิดความเมตตากรุณาเป็นสังวรอยู่ในใจเสมอ ซึ่งถือเอาเป็นกิจวัตร’ ที่ Dr. Rhys Davids กล่าวไว้นี้, ขอให้พึงเข้าใจว่า หมายถึงบรรดาภิกษุในอินเดียครั้งก่อน ๆ. ↩