- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒๓
นครราม, และสตูปของพระนคร.
จากสถานที่บังเกิดแห่งพระพุทธองค์ไปทางตะวันออกเป็นระยะทาง ๕ โยชน์, ถึงนครแห่งหนึ่งมีนามว่าราม.๒๕๖ กษัตริย์แห่งนครนี้ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ส่วนหนึ่ง,๒๕๗ กลับมาสร้างสตูป (บรรจุพระบรมธาตุ) ขึ้นองค์หนึ่งนามว่ารามสตูป. ที่ข้างสตูปมีสระอยู่แห่งหนึ่ง, ในสระนั้นมีพระยานาคตนหนึ่ง, คอยเฝ้าดูแลรักษา (สตูป) อยู่เป็นเนืองนิตย์, และจัดเครื่องสักการบูชาถวายอยู่ทุกวันและคืน. ในกาลครั้งเมื่อพระเจ้าอโศกมาปรากฏในโลก, พระองค์ปรารถนาจะรื้อพระสตูปทั้ง ๘ (ที่บรรจุพระบรมธาตุ), และจะสร้าง (ขึ้นแทน) ๔๘,๐๐๐ องค์.๒๕๘ ภายหลังเวลาที่พระองค์ได้รื้อทำลายลงแล้ว ๗ องค์, พระองค์ปรารถนาจะรื้อทำลายสตูปองค์นี้อีก. แต่พระยานาคได้นำเครื่องสักการบูชาของตนออกอวดพระราชา (อโศก) ในพระราชวัง.๒๕๙ และเมื่อพระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องสักการบูชาที่จัดไปนั้นทั่วแล้ว, พระยานาคตนนั้นจึงทูลแก่พระราชาว่า ‘ถ้าพระองค์สามารถจัดหาเครื่องสักการบูชาได้ดียิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้แล้ว, พระองค์จะรื้อทำลายพระสตูปองค์นี้, และเอาไปเสียให้พ้นทั้งหมดก็ได้, ข้าพเจ้าจะไม่โต้แย้งต่อพระองค์เลย.’ พระราชา (อโศก) ทรงทราบดีว่าสิ่งของเครื่องสักการบูชาเหล่านี้ไม่มีอยู่ ณ ที่แห่งใดในโลกนี้, พระองค์ก็กลับพระหฤทัย (ไม่กระทำการตามที่มุ่งหมาย)
(สืบต่อมา) พื้นที่โดยรอบ (สตูปองค์นี้) รกเรื้อไปด้วยพืชพันธุ์ต้นไม้ใบหญ้าเกิดขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีผู้ใดจะแผ้วถางปัดกวาด. แต่ตามปกติช้างฝูงหนึ่งต่างช่วยกันเอางวงดูดน้ำมารดพื้นที่, และหาดอกไม้ชะนิดต่างๆ, กับเครื่องหอมมาถวายพระสตูป. (ยังมี) ผู้มีความประพฤติอันเคร่งครัดในทางศาสนาคนหนึ่ง๒๖๐ มาจากราชอาณาจักรแห่งหนึ่งถึงที่พระสตูปอันเป็นที่เคารพนี้. เมื่อได้มาประสบเข้ากับฝูงช้างบังเกิดความตกใจกลัวเป็นอย่างยิ่ง, แล้วเข้าไปกำบังตนอยู่ในระหว่างต้นไม้. แต่เมื่อได้เห็นช้างทั้งหลายต่างเข้าไปกระทำการสักการบูชาด้วยกิริยาอันบังควรอย่างยิ่ง, กระทำให้ตนเต็มไปด้วยความคิดรำพึงเศร้าสลดใจ, ด้วยเห็นสถานที่นี้ไม่มีอารามที่สามารถจะช่วยดูแลรักษาพระสตูป (อยู่ด้วย), ฝูงช้างจึงต้องมากระทำการรดน้ำปัดกวาด. ในขณะเดียวนั้นเขาก็ห้ามเสียซึ่ง (ศีล) ส่วนใหญ่,๒๖๑ และคงปฏิบัติต่อไป (เพียง) ศีลและวินัยของสามเณร.๒๖๒กระทำการถากถางต้นไม้ใบหญ้าด้วยมือของตนเองให้แก่สถานที่นี้โดยลำดับต่อไปเป็นอันดี, และกระทำ (สตูป) จนสะอาดบริสุทธิ์. ด้วยอำนาจแห่งคำตักเตือนสติของสามเณรองค์นี้, ครอบงำ (น้ำพระหฤทัย) กษัตริย์แห่งนครนี้, จนบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา, (จึงให้) ทรงสร้างเคหสถานที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุขึ้น. และในขณะเดียวที่ได้ทำการขึ้นแล้วนั้น, สามเณรผู้นี้ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็นสมภารแห่งอาราม. และในสมัยปัจจุบันนี้ก็มีพระภิกษุสำนักอาศัยอยู่ในอาวาสนี้. เหตุการณ์เรื่องนี้ได้บังเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้. สืบต่อมาจากเวลานั้นจนถึงบัดนี้, ณ สถานที่นี้ผู้ซึ่งจะเป็นสมภารทั้งหมดต้องเป็นสามเณรเสมอไปโดยมั่นคง.
-
๒๕๖. รามหรือรามคาม, อยู่ในระหว่างกบิลพัสดุกับกุศานคร. ↩
-
๒๕๗. ดูเรื่องราวการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ออกเป็น ๘ ส่วน, ในคัมภีร์ Sacred Books of the East เล่ม ๑๑, Buddhism Suttas หน้า ๑๓๓-๑๓๖ กับปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๙๓-๔๙๔. ↩
-
๒๕๘. ความตอนนี้มาจากนิยายเรื่องพระเจ้าอโศกราชทรงปรารถนาที่จะสร้างพระสตูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ๔๘,๐๐๐ องค์ไว้ให้ทั่วชมพูทวีป. (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๐๔-๔๐๕). ↩
-
๒๕๙. ฟาเหียนมีความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านอยู่ในฐานที่เข้าใจเอาว่า พระยานาคนั้นมีวังของตนเองอยู่เบื้องใต้แห่งสระนั้น. แต่อย่างไรก็ดี, ในปฐมสมโพธิ (พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๐๕), ไม่ปรากฏว่าพระยานาคได้อวดเครื่องบูชาของตน, แต่กลับเป็นว่าพระเจ้าอโศกได้ให้พลโยธาขุดทำลายจนจอบเสียมสิ่วขวานหักหมด, ก็ทำลายไม่ได้, เพราะมีหมู่พระยานาคป้องกันอยู่. ↩
-
๒๖๐. คำนี้ในเรื่องราวไม่ได้ให้ความเข้าใจอะไรทั้งหมด, นอกจากผู้เดินทางที่มีความประพฤติเคร่งครัดในทางศาสนาคนหนึ่งเท่านั้น. ↩
-
๒๖๑. ‘ห้ามเสียซึ่งส่วนใหญ่,’ หมายความว่ากระไร? เพราะมิได้บอกให้ปรากฏชัดว่าผู้ปฏิบัติเคร่งครัดนั้นทำประการใด, เป็นพระภิกษุองค์หนึ่งมีอัธยาศัยและความประพฤติเคร่งครัดยิ่งกว่าธรรมดากระมัง? จึงเข้ารับงานอันประหลาดซึ่งตามความอธิษฐานของตน จะกระทำไม่ได้ง่าย ๆ นัก. ↩
-
๒๖๒. สามเณร, ซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า ษาไม, (ดู หน้า ๖๙ บทที่ ๑๖ โน๊ต ๒). ↩