บทที่ ๑๙

เมืองศาจี. เรื่องทันตกาษฐ์.

จากสถานที่ที่กล่าวแล้ว, ฟาเหียนเดินทางต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ๓ โยชน์, ถึงมหานครศาจี.๑๙๗ เมื่อออกจากนครศาจีไปทางทิศใต้, ตะวันออกของทางเดินแห่งหนึ่ง, (มีสถานที่) ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเคี้ยวแขนงไม้ทันตกาษฐ์,๑๙๘ แล้วทรงทิ้งแขนงไม้นั้นลงยังพื้นดิน, ในทันทีนั้นไม้ทันตกาษฐ์ก็งอกขึ้นสูง ๗ ศอก, แล้วก็ไม่เจริญขึ้นอีกหรือลดต่ำลง. พวกพราหมณ์ซึ่งถือลัทธิตรงกันข้าม๑๙๙มีความริษยาขัดใจ, บางคราวเขาทั้งหลายช่วยกันตัดต้นไม้ต้นนี้เสียจนต่ำ, บางคราวก็ถอนขึ้นเอาไปทิ้งเสีย, แต่ (ต้นทันตกาษฐ์) ก็ยังเจริญงอกขึ้นในตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อครั้งแรก ดุจเดียวกัน, ที่นี่เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์เคยเสด็จประพาสและนั่งประทับ, จึงมีผู้สร้างสตูปขึ้นไว้องค์หนึ่งซึ่งยังคงปรากฏอยู่.

  1. 197. ศาจี, ควรจะเป็นศาฆี Cunningham ชี้นครนี้ให้ว่าเป็นสาเกต. ซึ่งน่าจะเป็นจริง.

  2. 198. ทันตกาษฐ์, (บาลีเป็น ทนฺตกฏฺ) ไม้สีฟัน. Legge ให้เป็นนามสามัญไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า วิลโล, ซึ่งในภาษาพฤกษศาสตร์เรียกว่า ฟิกุส อินดิ กุส หรือบันยัน. ในฉบับจีนให้สำเนียงนามไม้นี้ว่ายัง ซึ่งไม่ใช่ไม้บันยัน, แต่เป็นไม้ชนิดหนึ่งในจำพวกวิลโล. ปทานุกรม Childer’s บอกชื่อไม้ชนิดนี้ไว้ว่า นาค-ลตา (นาค-ลัดดา) สำเนียงตามนามบอกว่าเป็นไม้เถา. ในภาคไทยข้าพเจ้าไม่กล้าจะชี้นามว่าไม้อะไรที่แน่ใจได้. แต่ก่อนมาเราเคยเห็นไม้สีฟันที่หลาวข้างหนึ่งโตและทุบเป็นปุย, อีกข้างหนึ่งแหลมสำหรับจิ้มฟัน, นำเอาไปถวายพระในเวลาเข้าพรรษากันมาก, ไม้สีฟันขนิดนี้ทำขึ้นจากไม้ที่เรียกว่าสีฟัน-คนธา. มีแขกฮินดูจำพวกหนึ่งซึ่งมาอยูในเมืองไทย, ในเวลาเช้าเราจะเห็นเขาเคี้ยวไม้สีขาวๆ ชนิดหนึ่ง, นั่นคือกิ่งข่อย, ที่เอามาลอกเปลือกไว้สำหรับเคี้ยวและสีฟันแทนแปรงนั่นเอง. ธรรมเนียมของชาวอินเดียแต่สมัยโบราณนั้น, เขาใช้เคี้ยวไม้แล้วแปรงถูที่ฟัน, เพื่อทำความสะอาดทุก ๆ เวลาเช้า.

  3. 199. เล็งถึงฝ่ายพราหมณ์ที่มีลัทธิและคำสั่งสอนขัดขวางโต้แย้งกับฝ่ายพุทธศาสนา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ