- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๗
ข้ามแม่น้ำสินธู สมัยเมื่อพระพุทธศาสนาได้แผ่ข้ามแม่น้ำสินธูไปทางทิศตะวันออกเป็นครั้งแรก
ฟาเหียนกับพวกได้ออกเดินทางต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นับเวลา ๑๕ วัน โดยสถลมารคที่เลียบไปตามเชิงแห่งพืดภูเขา. เป็นทางเดินที่ขรุขระแสนจะลำบากยากเย็น. และเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน, ซึ่งประมาณส่วนสูงจากระดับฐานพื้นล่างขึ้นไปตั้ง ๑๐,๐๐๐ ศอก. เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ริมขอบทาง (ชะโงกมองลงไป) ตาจะลายทีเดียว. และถ้าปรารถนาจะเดินตัดตรงไปข้างหน้าท่าเดียว, จะไม่มีพื้นที่สำหรับจะวางเท้าก้าวเดินต่อไปได้เลย, โดยเบื้องล่างของริมทางด้านหนึ่งนั้นก็คือ, กระแสน้ำแห่งแม่น้ำที่เรียกว่าสินธู๖๙ ในสมัยก่อนได้มีผู้ทำการสะกัดหินทำเป็นขั้นบันไดไต่เฉียงลงไปตามยาวของหน้าผา, นับจำนวนได้ ๗๐๐ ขั้น, ถึงในขั้นต่ำที่สุดมีสะพานเชือกแขวนข้ามแม่น้ำ, ซึ่งจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งหนึ่งในราว ๘๐ ก้าว๗๐ เรื่องราวของทางตอนนี้ (ที่จดไว้เรียบร้อย) มีปรากฏแล้วในจดหมายเหตุของล่าม ๙ คน,๗๑ แต่ไม่ใช่จัง-กอีน,๗๒ หรือกัน-ยิง,๗๓ ที่ได้มาถึงตำบลนี้.
พระภิกษุเหล่านั้น (พวกที่เดินทางไปด้วยกัน ?) ถามพระภิกษุฟาเหียนว่า เท่าที่ทราบกันมาว่า พระไตรปิฎกแห่งพุทธศาสนาได้แผ่ไปทางทิศตะวันออกเป็นครั้งแรกนั้นเมื่อไร ? ฟาเหียนตอบว่า เมื่อได้สืบสวนจากประชาชนในแว่นแคว้นเหล่านั้น (ในเมืองจีนและตามทางที่ผ่านมา ?) โดยตลอดแล้ว, ก็กล่าวกันเพียงว่า บรรพบุรุษได้บอกกล่าวสั่งสอนสืบเนื่องกันต่อ ๆ มาแต่โบราณกาล. และว่าภายหลังกาลเมื่อรูปปฏิมาพระไมเตฺรยโพธิสัตว์ได้ประดิษฐานขึ้นแล้ว (ในอินเดีย), ขณะนั้นมีพระภิกษุในอินเดียองค์หนึ่งได้นำเอาพระสูตรและวินัยเดินทางมาข้ามแม่น้ำที่ตรงนี้ (ดังกล่าวไว้ในตอนต้น), พาเอาไปเผยแผ่ทางแว่นแคว้นเบื้องทิศตะวันออก๗๔ บัดนี้รูปพระโพธิสัตว์ไมเตฺรยได้ประดิษฐานล่วงมาได้ ๓๐๐ ปีเศษ,๗๕ ภายหลังการเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานมาแล้ว, ซึ่งในขณะนั้นเป็นในรัชชสมัยพระเจ้าปิงแห่งราชวงศ์เจ้าเสวยราชสมบัติ.๗๖ ดังนั้นจึงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระพุทธโอวาทได้เริ่มต้นแพร่หลายไป (ทางทิศตะวันออก), ในสมัยครั้งเมื่อประดิษฐานรูปปฏิมา (ไมเตฺรย) ขึ้นดั่งกล่าวมาแล้วนี้. และถ้าไม่มีพระไมเตฺรย๗๗ไว้ตลอดต่อมาแล้ว, (ก็จะมี) มหาวิญญาณของพระบรมครูองค์๗๘ใดเล่า ซึ่งจะเป็นผู้สืบเชื้อสายแห่งองค์พระศากยะ, ผู้ทรงเป็นปฐมเหตุแห่งการที่จะได้ประทานสิ่งอันประเสริฐ ๓ ประการ๗๙ไว้ และได้ประกาศแก่มหาชนในแว่นแคว้นแดนไกล ๆ ทั่วไป, ดั่งที่พวกเราได้ทราบกันอยู่แล้วนี้. เราทราบกันอยู่แล้วว่า แท้จริงการที่จะเผยความลึกลับออกให้เห็นกระจ่างแจ้งกันโดยแพร่หลายนั้น ไม่เป็นการที่บุคคลธรรมดาจะพึงกระทำได้ และดั่งนั้น, ความฝันของพระมหาจักรพรรดิมิงแห่งราชวงศ์ฮั่น๘๐ จึงเป็นมูลเหตุที่สมควรให้มีขึ้นแท้.
-
๖๙. แม่น้ำสินธู. นามที่เรียกกันในประเทศจีนมาแต่เดิมว่าอินทุล์, แต่สำหรับในอินเดียเป็นสินธู, อินทุสเป็นอีกนามหนึ่งที่เรียกตอนใต้ของแม่น้ำสายเดียวกับสินธู. ↩
-
๗๐. Beal กับ Watters อ้างตามคำกล่าวในหนังสือของ Cunningham (Ladok หน้า ๘๘-๘๙) พรรณนาลักษณะและวิถีกระแสน้ำของแม่น้ำสินธูที่ไหลผ่านไป, เพื่อประโยชน์สำหรับหนังสือเรื่องนี้ไว้ กล่าวคือ.- จากสการโดถึงรองโด, และจากรองโดถึงมักปู-อี-ชัง-รอง เป็นระยะทางยาวประมาณ ๔,๐๐๐ เส้น และต่อจากนี้ก็ไหลผ่านเข้าไปในช่องหุบเขาอันมืดและสูงชันจนทะลุตลอดลูกภูเขา ซึ่งเป็นป่าดงพงชัฎและเป็นเกาะแก่งสูง ๆ ต่ำ ๆ ตลอดไป. รองโดเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในตอนที่แม่น้ำสินธูจากด้านหนึ่งถึงอีกด้านหนึ่ง. แต่ละล้วนเป็นห้วงหุบเหว. ซึ่งกระแสน้ำไหลตกต่อๆ ไปเดือดเป็นฟองเย้ยหยันอยู่ทุกขณะ. และไม่มีทางใดที่จะระงับความดุเดือดของมันได้. ถึงแม้ว่าการที่คิดจะกระทำให้เรียบราบลงนั้น จะประกอบขึ้นด้วยบุคคลที่เฉลียวฉลาดกล้าหาญสักปานใด, ก็ไม่สามารถจะต่อสู้เอาชนะกับธรรมชาติที่แต่งสร้างแม่น้ำสินธูตอนนี้ได้. การข้ามเหวนรกพวกนี้ มีสะพานเชือกอันไม่น่าไว้ใจอย่างเดียว. และก็ทำได้แต่ตรงในตอนที่แคบซึ่งมีหินชะโงกเป็นเงื้อมผาเข้าหากัน โดยมีทางเดินเป็นดุจบันไดไต่อย่างน่าเวียนหัวลงไปสู่สะพานเชือก. ต่ำจากนั้นลงไปที่มองเห็นก็คือ หม้ออันใหญ่มหันซึ่งมีน้ำกำลังต้มเดือดพล่านอยู่. ↩
-
๗๑. ในฉบับของฝ่ายญี่ปุ่นแตกต่างกับที่ได้ความจากฉบับฝ่ายจีน. เรื่องนี้มี Remusat คนเดียวแถลงเรื่องราวไว้ละเอียดตามปัญญาความคิด อันเป็นการคาดคะเนที่เราจะสมควรเห็นพ้องตามด้วยหรือไม่, ไม่ใช่ง่าย. ตามข้อความที่เขาแต่งลำพังผู้เดียวแสดงไว้ให้เห็นนั้นคือว่า ล่าม ๙ คนนั้น ควรจะเป็นทั่วไปสำหรับนายทหารในกองทัพของประเทศฮั่น. เมื่อครั้งยกกำลังเข้าบุกลุกรานอาณาจักรต่าง ๆ ทางทิศตะวันตก ด้วยความเพียรที่จะล้างผลาญเพื่อประสงค์ชัยชนะ. และว่าเป็นเรื่องตอนหนึ่งซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นที่ระลึกสำหรับจัง-กอีน ดั่งปรากฏอยู่ในโน๊ตต่อไปนี้. ↩
-
๗๒. จัง-กอีนเป็นเสนาบดีคนหนึ่งของพระราชาธิราชวูแห่งราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. ๔๐๓-๔๕๖). เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังคนแรกของจีน. ในการที่ได้รุกรานเข้าไปในแว่นแคว้นทางประเทศตะวันตก. ตลอดถึงประเทศเตอรกีสตาน. ใน พ.ศ. ๔๒๘ จัง-กอีนได้จัดให้มีการค้าขายเป็นหลักฐานในระหว่างประเทศจีนกับประเทศราช ๓๖ แคว้น. ในส่วนตอนกลางแห่งทวีป. (ดูหนังสือ Maylers’ Chinese Reader’s Manual หน้า ๕. กับเรื่องราวของจัง-กอีน ซึ่ง Mr. Wylie ได้แปลจากสมุดแห่งปฐมราชวงศ์ฮั่นอันปรากฏอยู่ใน The Journal of the Antropolgical Institute ที่ได้อ้างถึงในบทที่ ๒ หน้า ๑๗ โน๊ต ๑ นั้นแล้ว). ↩
-
๗๓. กัน-ยิง. มีผู้รู้เรื่องกันน้อยกว่าจัง-กอีน. เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑ ปัน-จาวได้มีความอุปการะจัดส่งกัน-ยิงให้ไปอยู่ที่สถานทูตจีนที่กรุงโรมครั้งหนึ่ง. แต่กัน-ยิงไปได้เพียงทะเลแคสเปียนก็ต้องกลับเมืองจีน. แต่อย่างไรก็ดี กัน-ยิงเป็นคนกว้างขวางและรอบรู้วิชาการในประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นชาวเมืองเดียวกันกับกัน-ยิง. (ดูหนังสือเรื่องราวของปัน-จาว ใน Book of the second hand and Mayers’ Manual หน้า ๑๖๗-๑๖๘). ↩
-
๗๔. ที่ไหน. เมื่อไร ? เห็นจะเป็นที่ๆ พักแห่งแรกเมื่อได้ข้ามแม่น้ำสินธูไปแล้ว. ↩
-
๗๕. ตอนที่อ้างนี้ ควรจะเป็นเวลาเริ่มตั้งแต่พระศากยมุนีตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว. ตลอดมาจนเสด็จดับขันธปริพพานและต่อมา. ถ้าอ้างเอาตั้งแต่ปรินิพพานต่อมาเห็นจะต้องมากกว่า ๓๐๐. ↩
-
๗๖. ถ้าดั่งนั้น, พระราชปิงก็ต้องขึ้นเสวยราชสมบัติในระหว่างก่อน พ.ศ. ๒๐๗ ถึง ๒๗๖. และเวลาที่พระพุทธเจ้านิพพานก็ต้องเป็นเวลาถึงในรอบที่ ๑๑ ก่อนคริสตกาล ดั่งนี้จึงได้สอบสวนหลักฐานใหม่ได้ความว่า เป็นเวลาในระหว่างก่อน พ.ศ. ๖๓ หรือ ๗๓ ซึ่งเป็นเวลาที่พระพุทธองค์กำลังดำรงพระชนม์อยู่, และใกล้กับเวลาเกิดของขงจื้อภายหลังต่อมา ๑ หรือ ๒ ปี. อันเป็นยุคที่เกิดมีพระมหาอาจารย์นทางฝ่ายตะวันออก ๒ แห่ง. อันเป็นความจริงอยู่ในขณะนั้น. แต่ Rhys Davids ได้คิดดัดแปลงเวลาใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า ถือเอากำหนดเวลาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วต่อมา คือระหว่างภายในปี พ.ศ. ๑๓๑ ดู Manual หน้า ๒๑๓. ขงจื้อหนุ่มกว่าพระพุทธเจ้ามาก. ↩
-
๗๗. ณ ที่นี้เป็นการรับรองคำของ Eitel ในบทที่ ๖ หน้า ๓๙ โน๊ต ๑ ซึ่งว่า เรื่องพระไมเตฺรยนั้น, ความประสงค์เดิมก็คือจะประกาศเผยแผ่ให้บังเกิดความเชื่อถือให้ยิ่งขึ้นเท่านั้น. ↩
-
๗๘. คำตรงนี้ตามตัวอักษรจีนใช้คำสามัญมีความหมายว่า นักเรียนผู้ใหญ่ หรือเจ้าพนักงานผู้ใหญ่. แต่ในสมุดคู่มือของ Eitel หน้า ๙๙ ใช้คำว่าบุรุษ. ↩
-
๗๙. สิ่งประเสริฐ ๓ ประการของพระพุทธศาสนานั้นคือ. วินัย. สูตร. ปรมัตย์ รวมเรียกว่าพระไตรปิฎก. กับพระพุทธ. พระธรรม. พระสงฆ์. ซึ่งรวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย” อันเป็นองค์ครบถ้วนที่มีอยู่ในพุทธศาสนา. ↩
-
๘๐. ที่ฟาเหียนได้เอ่ยถึงพระนามพระมหาจักรพรรดิมิงหรือหมิง ณ ที่นี้, ก็คงเพ่งเล็งถึงกาลที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปจนเป็นที่รู้จักกันตลอดประเทศจีน. ในสมัยระหว่างเวลาที่พระมหากษัตริย์องค์นี้ครองราชสมบัติคือ พ.ศ. ๖๐๑-๖๑๘. และทรงพระสุบินเมื่อ พ.ศ. ๖๐๔. ↩