บทที่ ๙

เมืองซู-โฮ-โต นิยายพระพุทธเจ้าเรื่องหนึ่ง

ในเมืองนี้พระพุทธศาสนา๘๙กำลังเจริญรุ่งเรือง. มีสถานที่ในนครนี้แห่งหนึ่ง, (มีนิยายกล่าวกันสืบต่อมาว่า), ท้าวศักร๙๐ผู้ปกครองเทวดาทั้งหลาย, ใคร่จะทดลองน้ำพระหฤทัย (พระพุทธองค์) ในกาลครั้งเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์แต่ปางก่อน,๙๑ โดยจำแลงกายเป็นนกเหยี่ยวตัวหนึ่ง (บินไล่ขับ) นกพิราบตัวหนึ่งไป, เมื่อ (พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็น) ได้ทรงเชือดเนื้อออกจากพระองค์เองสด ๆ ชิ้นหนึ่งแล้ว, และทรงวางไว้เป็นค่าถ่ายแทน (ชีวิต) นกพิราบ. ต่อมาเมื่อตรัสรู้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณทรงปัญญาเห็นแจ้ง๙๒หมดจดทุกประการแล้ว ได้ทรงท่องเที่ยวพร้อมด้วยสาวก (บรรลุถึงตำบลนี้), ได้ทรงเล่าให้พระสาวกทั้งหลายฟังว่า ณ สถานที่นี้ (ในกาลก่อนครั้งหนึ่ง) พระองค์ได้ทรงถ่าย (ชีวิต) นกพิราบไว้ด้วยก้อนเนื้อสดของพระองค์เองชิ้นหนึ่ง. เพราะฉะนั้น ประชาราษฎร์ในเมืองนี้จึงทราบเรื่องอยู่ด้วยกันทุกถ้วนหน้า, และในตำบลนี้ได้สถาปนาพระสตูปขึ้นองค์หนึ่ง ซึ่งประดับประดาด้วยแผ่น๙๓อันกะไหล่ด้วยทองและเงิน.

  1. ๘๙. พุทธศาสนา, ต้นฉบับใช้ตัวอักษรจีน ๒ ตัว 佛法 วินัยของพระพุทธเจ้า. ตามความในวรรคที่กล่าวแล้วนี้, มีอยู่ในเรื่องราวบ่อยๆ ซึ่งเราจะต้องยึดถือใช้ในที่ต่อไป. คำว่า ฟา หรือ วินัยเท่ากับคำว่าธมฺม, ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ซึมซาบอยู่ในพระหฤทัยแห่งพระบรมครู.Dr. Rhys Davids ใน HIbbert Lectures หน้า ๔๔ กล่าวว่า คำนี้คือวิทยาการแห่งความชอบธรรมและความรอบรู้, และลำดับแห่งการศึกษาด้วยตนเอง. มีข้อความปรากฏอยู่ในหนังสือของ Cunningham (Bhilsa Topes หน้า ๑๐๒) ว่าธรรมที่มีอยู่ในแท่งหินทั้งหมด ซึ่งพระเจ้าอโศกราชได้ทรงประกาศไว้นั้น ก็เพื่อจะให้บรรลุสมความมุ่งหมายประการหนึ่งว่า การที่ได้บังเกิดความเจริญรุ่งเรืองด้วยสรรพวิชชาการนั้น, ก็คือธรรมวินัยและพระพุทธโอวาท. ตัวอักษรของจีนไม่มีตัวใดที่จะเขียนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่า 法 (หรือวินัย) ซึ่งผู้แต่งประสงค์จะให้กินความได้มากเป็นพิเศษตามความคิด สำหรับในวงการแห่งพุทธศาสนาโดยทั่วไป.

  2. ๙๐. ศักร เป็นนามที่ใช้เรียกกันโดยสามัญ. สำหรับในลัทธิพราหมณ์เรียกว่า อินทร, ฝ่ายพุทธศาสนารับเอาไว้เป็นเพียงบริวารที่อยู่รอบล้อมสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องที่จะยึดเหนี่ยวขึ้นไปสู่องค์พระมหาบุรุษ. ที่ให้คงเป็นอยู่ดังกล่าวแล้วนี้ ก็เพราะเหตุว่าพระอินทร์เป็นที่ชอบใจของมหาชนทั่วไป. จีนตั้งนามพระอินทร์ไว้ว่า เทียนตี่, พระเป็นเจ้าหรือผู้ปกครองทวยเทพ. พระอินทร์เป็นผู้ทรงอำนาจที่จะเล็งทิพย์เนตรดูแลโลกปัจจุบันทั่วไป, และเคยช่วยป้องกันพระพุทธองค์อย่างกล้าหาญ. แต่ปรากฏว่าเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ต่ำกว่าองค์พระศากยมุนี, และพระสมณะอันเป็นพุทธสาวกทุก ๆ องค์. พระอินทร์มีปรากฏในเรื่องราวของฟาเหียนบ่อย ๆ.

  3. ๙๑. กาลก่อน ในภาคจีนเขียนตัวอักษรดั่งนี้ 昔 ‘แต่เดิมมา.’ มีบ่อย ๆ ที่กล่าวไว้เป็นประโยคแรกของเรื่องราวแต่เพียงล้วน ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นคำกิริยาวิเศษ. ส่วนที่มีคำอื่นๆ ประกอบกาลอีกก็มี เช่น ‘ในกาลครั้งก่อน.’ ดั่งนี้. บางทีเป็นถ้อยคำที่แสดงว่า มีมาก่อนขณะที่เกิดมาแล้วแต่ชาติก่อน, เรื่องนี้เป็นคำที่ฟาเหียนเล่าบรรยายถึงเหตุและความเป็นไปได้ในชาดกเรื่องหนึ่ง.

  4. ๙๒. ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้า.

  5. ๙๓. ดูเหมือนจะเป็นการเรี่ยราย หรือทำด้วยกำลังแรงช่วยกันทำ. ตามสำนวนถ้อยคำอาจเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง บังเกิดมีปัญหาในถ้อยคำสำนวนเช่นนี้บ่อยๆ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ