บทที่ ๑๐

คันธาระ นิยายแห่งพระพุทธเจ้า

ฟาเหียนกับเพื่อนสงฆ์ได้ออกเดินทางจากทิศตะวันออกต่อลงไปทางตอนใต้, เป็นระยะทาง ๕ วันก็ถึงแว่นแคว้นแห่งคันธาระ.๙๔ ณ ที่นี้ ธรรมวิวรรธนะ๙๕ราชโอรสพระเจ้าอโศกราช๙๖เป็นผู้ครอบครองอยู่. ในครั้งเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่, พระองค์ได้ทรงสละดวงพระเนตรให้กับชายคนหนึ่ง ณ ที่นี้.๙๗ และที่ตำบลนี้ประชาชนได้ (พร้อมใจกัน) สร้างพระสตูปใหญ่ขึ้นไว้องค์หนึ่ง, ประดับประดาด้วยแผ่นโลหะที่ชุบอาบด้วยทองและเงิน. ประชาชนในแว่นแคว้นนี้ส่วนมากเป็นนิกายฝ่ายหินยาน.

  1. ๙๔. คันธาระ Eitel กล่าวว่า ‘เป็นราชอาณาจักรแต่โบราณแห่งหนึ่ง, เหมาะที่จะเป็นเขตแขวงซึ่งอยู่ใกล้กับเทริและบันเจอร์,’ ดูหนังสือพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๓๖-๓๗, เป็นแว่นแคว้นตอนเหนือของประเทศอินเดีย, มีนครหลวงชื่อบุรุษบุรี (ปุรุษปุระ). เดี๋ยวนี้เรียกเปษวา. ในแว่นแคว้นนี้ปรากฏว่ามีกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงในตำนานของพุทธศาสนาแต่โบราณอยู่ ๒ องค์คือ พระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) ที่ปรากฏพระนามในหนังสือมิลินทปัญหา. เป็นชาวชนชาติกรีก, ขึ้นทรงราชย์ในราว พ.ศ. ๔๐๐. และในยุคนี้เอง ว่าได้เกิดมีพระพุทธรูปคันธารราษฎ์ขึ้นเป็นครั้งแรก. ต่อจากนี้ก็คือพระเจ้ากนิษกะ เป็นชาวกุศานะ, ทรงราชย์เมื่อราว พ.ศ. ๖๒๐. เป็นพุทธศาสนูปถัมภกแบบเดียวกับพระเจ้าอโศก. ดูหนังสือลัทธิของเพื่อน ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า ๗๒-๗๔.

  2. ๙๕. ธรรมวิวรรธนะ เป็นนามในภาษาสันสกฤต. ฟา-ยี เป็นคำเดิมที่ฟาเหียนกล่าวไว้ในสมุดเล่มนี้. ดูหนังสือลัทธิของเพื่อน ภาค ๒ หน้า ๗๕-๗๖.

  3. ๙๖. นามพระเจ้าอโศก เป็นกษัตริย์ปรากฏชื่อเสียงมาแต่ปฐมพุทธกาล. มีกล่าวถึงเนือง ๆ ในวงการพุทธศาสนา. และมีชื่อเสียงโด่งดังในการก่อสร้างวิหารสตูปไว้มากมาย. พระเจ้าอโศกเป็นพระราชนัดดาแห่งพระเจ้าจันทรคุปต์. เดิมเป็นคนมีกิริยาหยาบคายและพอใจเสี่ยงโชคไปตามบุญตามกรรม. ครั้งหนึ่งได้หลบหลีกซ่อนตนเพื่อให้พ้นอันตรายจากกองทัพ ซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีกยกเข้ามาย่ำยีอินเดีย, จนกระทั่งในราว ๒๕ ปีต่อมา เมื่อพวกกรีกยกทัพกลับออกจากอินเดียแล้ว. จึงได้กลับเข้ามากระทำการปราบปรามสิลิอูคุสชาวกรีก ผู้ครอบครองแว่นแคว้นแม่น้ำสินธูจนพ่ายแพ้. และในขณะเดียวกัน ก็ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งมคธราษฎร์. พระเจ้าอโศกได้กลับใจเป็นพุทธมามกชน, โดยความแกล้วกล้าและพากเพียร, เป็นผู้ตั้งใจที่จะเกื้อหนุนต่อสิ่งที่เคารพนับถือด้วยใจร้อนรนขวนขวายเป็นอย่างยิ่ง. Dr Rhys Davids (sacred Books of the East เล่ม ๑๑ หน้า ๑๖) กล่าวว่าพระเจ้าอโศกได้ราชาภิเษกโดยกำหนดอันมั่นคงในระหว่างปีก่อนหรือปีที่ ๒ แห่ง พ.ศ. ๒๗๖. ในหนังสือพุทธเจดีย์สยาม (หน้า ๒๐-๒๒) กล่าวถึงประวัติพระเจ้าอโศกว่า ภายหลังที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ราชาธิราชแห่งโยนกประเทศ (กรีก, ทรงราชย์ พ.ศ. ๑๘๗), ยกกองทัพเข้ามาย่ำยีประเทศอินเดียตอนเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗ กลับไปแล้ว. มีชาวอินเดียชื่อจันทรคุปต์ตระกูลโมลิยะคนหนึ่ง. ซ่องสุมผู้คนยกเข้าตีอาณาเขตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้. แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๑, ทรงพระนามพระเจ้าจันทรคุปต์. ครั้นพระเจ้าจันทรคุปต์ทิวงคต, ราชโอรสทรงราชย์แทน, ทรงพระนามว่า พระเจ้าพินธุสารอมิตตฆาต. ทรงทำสงครามได้อาณาเขตเพิ่มเติมอีก, จึงส่งราชโอรสทรงนามว่าอโศกเป็นอุปราชไปครองเมืองอุชเชนี (มณฑลอวันติน), จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๗๐ พระเจ้าพินธุสารทิวงคต, พระเจ้าอโศกจึงขึ้นทรงราชย์แทน, และยาตราทัพไปตีได้ประเทศกลิงคราษฎร์ (อินเดียตอนใต้). ดั่งนี้ จึงเป็นที่ปรากฏขึ้นว่าในเรื่องประวัติของพระเจ้าอโศกไม่ค่อยจะลงรอยเดียวกัน. แต่ทั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ รับสั่งว่า ประวัติพระเจ้าอโศกแต่ก่อนกล่าวกันตามหนังสือมหาวงศ์ ซึ่งพระมหานามเถระแต่งไว้ในลังกา, ครั้นต่อมานักปราชญ์ตรวจพบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก, จึงมีความแตกต่างเกิดขึ้น.

  4. ๙๗. เรื่องนี้เป็นดุจดั่งชาดกเรื่องหนึ่ง Eitel พิจารณาสันนิษฐานไว้ว่า เป็นเรื่องไม่มีความจริง. แต่เป็นเรื่องที่ได้แต่งขึ้นจากเรื่องราวเหตุการณ์ที่ธรรมวิวรรธนะผู้ครองประเทศเป็นคนตาบอด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ