บทที่ ๓๖

ในนครปัตนะ. ฟาเหียนกระทำการคัดลอกพระไตรปิฎกจากต้นฉบับเดิม, และศึกษาเล่าเรียนภาษาอินเดียอยู่ ๓ ปี

จากพาราณสี ฟาเหียนกลับไปทางตะวันออกถึงนครปาฏลิบุตร (อีก). ตามความมุ่งหมายเดิมของฟาเหียนนั้นมีอยู่ว่า จะเที่ยวเสาะแสวงหาพระวินัยเพื่อคัดลอก, ตามในราชอาณาจักรต่างๆ ของอินเดียภาคเหนือ. แต่เพราะเหตุที่ (ในตอนเหนือ) ฟาเหียนได้พบแต่อาจารย์ที่สั่งสอน (ธรรมวินัย) กันด้วยปากเปล่าอีกวิธีหนึ่ง, ไม่มีตำราที่ได้จารึก (เป็นตัวอักษรขึ้นไว้) ซึ่งพอจะคัดได้. เพราะฉะนั้นฟาเหียนจึงต้องท่องเที่ยวไกลลงมาจนถึงอินเดียตอนกลาง. ณ ที่นี่ในอารามของนิกายมหายาน๓๖๖แห่งหนึ่ง, ฟาเหียนได้พบคัมภีร์วินัยซึ่งบรรจุมหาสางคหิกบัญญัติ๓๖๗ คัมภีร์เหล่านี้สังเกตเห็นได้ว่า มีมาตั้งแต่ในครั้งเมื่อมีการประชุมใหญ่ (กระทำสังคีติ) ครั้งแรก, ในขณะที่พระพุทธองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลก. คัมภีร์ฉบับเดิมทรงไปมอบไว้ในเชตวันวิหาร. (ส่วนคัมภีร์ของ) สถานที่ศึกษาเล่าเรียนอื่นๆ อีก ๑๘๓๖๘ แห่งนั้น, ได้สังเกตเห็นทุก ๆ แห่งมีข้อพิพากษ์ของคณาจารย์ปนอยู่ด้วย. คัมภีร์เหล่านั้นมีความหมายในข้อสำคัญทั่วไปก็ลงกันได้, แต่ข้อที่ไม่สำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ แตกต่างกัน, เช่นเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเปิดแต่อีกฝ่ายหนึ่งปิด.๓๖๙ ส่วนคัมภีร์ที่มีอยู่ครบถ้วนและมีคำอธิบายไขความไว้โดยบริบูรณ์ที่สุด.๓๗๐

ฟาเหียนได้กระทำการคัดลอกคัมภีร์สรวาสติวาทาหแห่งวินัย๓๗๑ได้ไว้ก่อนแล้ว ๖,๐๐๐ หรือ ๗,๐๐๐ คาถา.๓๗๒ ซึ่งวินัยบัญญัติเหล่านี้ คณะสงฆ์ในดินแดนตฺซิน (จีน) กระทำบำเพ็ญอยู่แล้ว. แต่ทั้งหมดสั่งสอนกันสืบต่อมาด้วยปากเปล่า. จากอาจารย์หนึ่งถึงอาจารย์หนึ่ง โดยมิได้กระทำการขีดเขียนไว้เลย. ณ ที่ชุมนุมสงฆ์ที่นี่ฟาเหียนจึงทำการคัดลอกคัมภีร์พระธรรมวินัยต่อไปอีกคือ สังยุกตาภิธรรม-หฤทัย๓๗๓ (ศาสตร์), บรรจุคาถาในราว ๖,๐๐๐ หรือ ๗,๐๐๐ คาถา. ดุจเดียวกันฟาเหียนได้คัดสูตรอีก ๒,๕๐๐ คาถา, กับปรินิรวาณ-วิบุลยสูตร๓๗๔อีกบทหนึ่ง, ประมาณ ๕,๐๐๐ คาถา, และมหาสางคหิกาหอภิธรรม.

ในเหตุการณ์ (ที่จะให้สำเร็จตามความประสงค์), ฟาเหียนจึงพักอยู่ที่นี่ ๓ ปี, เรียนหนังสือสํสฤตและพูดสํสฤต และกระทำการคัดเขียนธรรมวินัยทั้งหลาย. เมื่อตาว-จิงมาถึงในมัชฌิมประเทศนี้, ได้เห็นการวัตตปฏิบัติตามธรรมเนียมวินัยของพระสมณะ, และมรรยาทอันเป็นเกียรติศักดิ์ในสมาคมแห่งภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย, ซึ่งเป็นเครื่องหมายของสมณะภายใต้เหตุการณ์ที่เป็นไปทุกอย่าง. กระทำให้เขาบังเกิดความรู้สึกเศร้าสลดใจ, ในความไม่สมประกอบและความบกพร่องด้วยลักษณะต่าง ๆ ต่อธรรมวินัย, ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในระหว่างชุมนุมสงฆ์ในดินแดนตฺซิน (จีน). อันเป็นเหตุที่เขาต้องกระทำการติดตามมา, ด้วยความปรารถนาต่อคุณธรรมความดีอันแรงกล้า, (เขาอธิษฐานว่า) ‘ตั้งแต่สืบไปจนกระทั่งที่จะมาปรากฏอีกในเบื้องหน้า, ขอให้ข้าพเจ้ามาสู่ในพุทธอาณาจักรเถิด, ขออย่าให้ข้าพเจ้าไปบังเกิดในดินแดนต่างด้าวเลย.๓๗๕’ (ดั่งนั้น) ตาว-จิง จึงตกค้างอยู่ (ในอินเดีย) ตามความปรารถนา, และไม่กลับ (ประเทศจีน). แต่อย่างไรก็ดี, ฟาเหียนได้ตั้งใจไว้แต่เดิมโดยมั่นคงแล้วว่าจะนำเอาพระธรรมวินัยอันครบถ้วนบริบูรณ์ไปเผยแผ่ในประเทศฮั่น (จีน) ให้สำเร็จ, ฟาเหียนจึงคงกลับจากที่นี่แต่โดยลำพัง.

  1. ๓๖๖. ได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ ๒๒.

  2. ๓๖๗. คือมหาสางคหิกาห ซึ่งแปลตรง ๆ ตามตัวพยัญชนะว่า การประชุมใหญ่แห่งสงฆ์. เมื่อทำปฐมสังคีตินั้นเป็นสมัยที่พระพุทธองค์ยังคงดำรงพระชนม์อยู่หรือ ? หรือจะเป็นครั้งที่พระสารีบุตรเป็นผู้ปรารภโดยเหตุที่พวกนิครนถ์เดียรถีย์เกิดแก่งแย่งกันภายหลังจากนิครนถนาฏบุตร ผู้อาจารย์ทำกาลกิริยาลง พระสารีบุตรนำเหตุการณ์ทั้งนี้เทียบเคียงกับพุทธสาวก เกรงจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงทำเพื่อป้องกัน (พระไตรปิฎก สยามรัฐ, ที. ปา. สังคีติสูตรหน้า ๒๒๒). แต่ก็มิได้นับเข้าในจำนวนสังคีติครั้งหลัง ๆ. ที่ฟาเหียนว่าพบฉบับเดิมนั้น, เป็นธรรมวินัยทั้งหลายที่ได้จดขึ้นไว้เป็นต้นฉบับแรก, หรือสำเนาที่ได้คัดขึ้นไว้อีกฉะบับหนึ่ง ? แต่เดิมมาก็ไม่เคยปรากฏจากเชตวันวิหารว่าได้จดเหตุการณ์อะไรกันไว้. แต่แน่นอนตามที่ฟาเหียนกล่าวนี้, ต้องมีคัมภีร์พระธรรมวินัยอยู่ในขณะที่ฟาเหียนมาอยู่ที่นี่, และได้กระทำการคัดสำเนา. (ดูพุทธเจดีย์สยาม หน้า ๑๐).

  3. ๓๖๘. ภาคจีนใช้คำว่า ปู (部) ในบทนี้ ๔ แห่ง. ที่อื่นๆ ก็พอจะแปลให้ตรงกับความหมายของคำว่า ต้นฉะบับ ได้. แต่ที่ตรงนี้จะแปลว่า สำเนา ๑๘ ฉะบับได้หรือ ? จะผิดความหมายเดิมตลอดเรื่องทีเดียว. เพราะเหตุนี้ จึงต้องจำใจแปลว่า สถานที่ศึกษาเล่าเรียน ๑๘ แห่ง. สถานที่ศึกษาธรรมวินัย ๑๘ แห่งนี้, ดูตำราของ Rhys Davids manual หน้า ๒๑๘.

  4. ๓๖๙. เท่ากับความว่า ‘กำลังผูก’ และ ‘กำลังแก้’ ‘กำลังเปิด’ และ ‘กำลังปิด’, ที่ได้พบอีกแห่งหนึ่งในคัมภีร์ใหม่ภาคหนึ่งของพระคริสตในศาสนาคริสเตียน, ซึ่งมาจากสถานศึกษาของนักปราชญ์พวกยิว (The Jewish Rabbins).

  5. ๓๗๐. คัมภีร์เหล่านี้สืบต่อมาฟาเหียนได้แปลเป็นภาษาจีนแล้ว. (ดูพระไตรปิฎกจีน Nanjio’s Catalogue ตอนที่ ๔๐๐ และ ๔๐๑, กับเลขที่ ๑๑๑๙ และ ๑๑๕๐. กับตอนที่ ๒๔๗ และ ๒๕๓.

  6. ๓๗๑. Eitel กล่าวว่าเป็นกิ่งหนึ่งของวิภาษิกที่สำหรับใช้สั่งสอน. อันว่าด้วยการปฏิบัติตามความจริงที่อาจเห็นได้ด้วยญาณจักษุทั้งสิ้น.

  7. ๓๗๒. คำว่า คาถา, คือ กาพย์, ฉันท์, คำประพันธ์ตอนหนึ่ง.

  8. ๓๗๓. ในสมุด Nanjio’s Catalogue ลำดับที่ ๑๒๘๗, ไม่ได้กล่าวถึงว่าฟาเหียนได้แปลคัมภีร์นี้. แต่เรียกนามไปว่าคัมภีร์สังยุกต-ปิฎกสูตร.

  9. ๓๗๔. เห็นจะเป็นตอนที่ได้เอาไปติดต่อกันเข้าไว้ใน Nanjio’s Catalogue ลำดับที่ ๑๒๐.

  10. ๓๗๕. ตาว-จิง คงคิดว่า เมื่อได้เห็นเพศสมณะสมตามความปรารถนาแล้ว. ก็ควรมุ่งบำเพ็ญกิจเพื่อความปรารถนาให้บรรลุถึงพระอรหัตต์ต่อไป, ซึ่งอาจสมปรารถนาตามความตั้งใจได้ในชาติหนึ่งต่อไปกาลหน้า. โดยที่ได้พิสูจน์เห็นแล้วในชั่วขณะเวลาอันน้อยที่ตาว-จิงมามีชีวิตอยู่ในอินเดีย. ความในใจของตาว-จิงใช่แต่เท่านั้น, ยังรู้สึกว่าทุกๆ ลำดับของชีวิตที่จะได้เสพความสุขความเจริญนั้น, ต้องมีความเป็นอยู่ในอินเดีย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ