- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๒๐
แคว้นโกศลและนครศราวัสตี. เชตวันวิหาร, และวิหารอื่นๆ.
ถาวรวัตถุโบราณและนิยายแห่งพระพุทธศาสนา.
ความกรุณาของภิกษุอันมีต่อสังฆจาริก.
ฟาเหียน ออกเดินทางจากศาจีลงไปทางตอนใต้เป็นระยะทาง ๘ โยชน์ ก็ถึงนครศราวัสตี๒๐๐ (บาลี-สาวัตถี) ซึ่งอยู่ในแว่นแคว้นโกศล.๒๐๑ ในเมืองนี้ประชาชนพลเมืองมีน้อยไปตลอดย่านไกล, มีจำนวนในราว ๒๐๐ ครัวเศษ. พระเจ้าประเสนชิต๒๐๒เป็นผู้ครอบครอง. มีสถานโบราณวัตถุอันเป็นวิหารของพระมหาปชาบดี,๒๐๓ และกำแพง (บ้านของ) เศรษฐีสุทัตตะ.๒๐๔ และสถานที่ที่พระองคุลิมาล๒๐๕สำเร็จเป็นพระอรหันต์, กับสุสานที่เผาศพท่าน (ภายหลัง) ที่ได้ดับขันธปรินิพพานแล้ว. ในสถานที่ทั้งหมดนี้สืบต่อมาได้มีผู้สร้างสตูปขึ้นไว้ทุกแห่ง, ซึ่งยังมีปรากฏอยู่ในเมืองนี้. พวกพราหมณ์ผู้ถือลัทธิอันเป็นปรปักษ์, ซึ่งเต็มไปด้วยความขุ่นแค้นริษยา. ปรารถนาใคร่จะทำการสังหารถาวรวัตถุเหล่านี้เสีย, แต่ก็บังเกิดมีพายุฟ้าผ่าฟ้าแลบ และส่งเสียงกระหึ่มครึมครางมาจากท้องนภากาศ, จนเขาเหล่านั้นไม่สามารถที่จะกระทำให้สำเร็จไปตามความมุ่งหมายได้.
จากประตูเมืองไปทางทิศใต้เป็นระยะ ๑,๒๐๐ ก้าว, เศรษฐีสุทัตตะได้สร้างวิหารขึ้นไว้หลังหนึ่ง, หันหน้าไปทางทิศใต้. และเมื่อเปิดประตูออก, ภายในด้านหนึ่ง (จะแลเห็น) มีเสาหินต้นหนึ่ง, มีรูปล้ออันหนึ่งอยู่บนยอด เป็นด้านซ้าย และ (มีเสาหินอีกต้นหนึ่ง) มีรูปโคตัวหนึ่งอยู่บนยอด, ซึ่งเป็นด้านขวา. ทั้งด้านซ้ายและขวาของวิหารมีสระน้ำอันใสสะอาด, เดียรดาษไปด้วยต้นไม้หนาทึบเสมอกัน, ต่างชูดอกออกช่อเป็นสีต่าง ๆ มากหลายเหลือที่จะคณนานับ, เป็นที่ประกอบไปด้วยสิ่งอันน่ารักเจริญตา. สิ่งที่ปรากฏจากการกระทำโดยครบถ้วนเหล่านี้, รวมเรียกว่า เชตวันวิหาร.๒๐๖
เมื่อครั้งพระพุทธองค์ เสด็จขึ้นไปประทับอยู่บนสวรรค์,๒๐๗ และทรงแสดงพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่พระพุทธมารดา๒๐๘อยู่ ๙๐ วันนั้น, (ในระหว่างที่พระพุทธองค์ไม่อยู่, พระเจ้าประเสนชิตมีความปรารถนาใคร่จะได้เห็นพระพุทธองค์ (อยู่เสมอ), จึงเป็นมูลเหตุให้พระองค์สร้างพระพุทธปฏิมาแทนพระพุทธองค์ขึ้นองค์หนึ่ง, แกะสลักด้วยไม้โคศีรษะจันทน์,๒๐๙ และประดิษฐานไว้ในสถานที่ที่พระพุทธองค์เคยประทับนั่งอยู่เสมอ ๆ นั้น. เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับเข้าไปในวิหาร, ในทันทีนั้นพระพุทธปฏิมาก็ละที่เดิม, เข้าไปบรรจบกับพระพุทธองค์. พระองค์จึงตรัสกับพระปฏิมาว่า ‘ให้กลับไปยังที่นั่งเดิม, ภายหลังเมื่อเราบรรลุปรินิพพานแล้ว, จะเป็นตัวอย่างแก่บริษัท ๔ ซึ่งเป็นศิษย์ของเรา,๒๑๐ ดั่งนั้นแล้ว พระปฏิมาก็เลื่อนกลับไปสู่ที่นั่งเดิม. พระปฏิมาองค์นี้เป็นพระพุทธปฏิมาองค์แรกของพระพุทธปฏิมาทั้งหมด, และซึ่งบุคคลสืบต่อมาได้ถือเอาเป็นตัวอย่าง. พระพุทธองค์ได้เสด็จเลื่อนไปประทับอยู่ในวิหารเล็กทางด้านใต้อีกหลังหนึ่ง, ต่างหากจากสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น, ซึ่งห่างจากกัน ๒๐ ก้าว.
เชตวันวิหารนั้น แต่เดิมทีเดียวมี ๗ ชั้น, บรรดากษัตริย์และประชาชนแห่งนครต่าง ๆโดยรอบ, ต่างประกวดกันจัดหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งถวายเป็นเครื่องสักการบูชา, เบื้องบนโดยรอบแขวนห้อยด้วยธงราวที่ทำด้วยไหม, และผ้าที่ดาดเพดานก็เต็มไปด้วยพวงดอกไม้. (เบื้องล่าง) เผาเครื่องหอม, และแสงสว่างของชวาลาซึ่งตามไว้ในเวลากลางคืนแจ่มแจ้งดุจกลางวัน. ต่างกระทำกันอยู่เช่นนี้ทุก ๆ วัน โดยปราศจากการงดเว้น. (บังเอิญมีเหตุเกิดขึ้น), มีหนูตัวหนึ่งคาบเอาไส้ตะเกียงที่ยังมีไฟติดอยู่, พาเอาขึ้นไปวางไว้ที่ผ้าเพดานและธงราว, เป็นเหตุให้เกิดเพลิงเผาพลาญวิหารทั้ง ๗ ชั้นพินาศหมด. บรรดากษัตริย์และเสนาอำมาตย์ราษฎรทั้งหลาย. ต่างเศร้าโศกเป็นทุกข์กันยิ่งนัก. ด้วยคิดว่าพระพุทธปฏิมาไม้จันทน์หอมนั้น, จะถูกเพลิงเผาผลาญเสียหมดด้วย. แต่ภายหลังต่อมาอีก ๔ หรือ ๕ วัน, เมื่อประตูวิหารหลังเล็กทางด้านตะวันออกเปิดขึ้น, ในทันใดนั้นก็เห็นพระพุทธปฏิมาองค์เดิมนั้นคงประดิษฐานอยู่. เขาทั้งหลายต่างมีความยินดีกันเป็นล้นพ้น, จึงต่างออกแรงช่วยกันสร้างวิหารให้กลับมีขึ้นอีก. และเมื่อได้กระทำสำเร็จบริบูรณ์เป็น ๒ ชั้นสมประสงค์แล้ว, ต่างก็ช่วยอัญเชิญพระพุทธปฏิมากลับคืนเข้าสู่สถานที่เดิม.
เมื่อเวลาที่ฟาเหียนกับ ตาว-จิงไปถึงเชตวันอารามทีแรกนั้น, บังเกิดความระลึกขึ้นว่า พระบรมโลกนาถได้ทรงประทับพักอาศัยอยู่ที่นี่ในครั้งกระโน้นเป็นเวลาถึง ๒๕ ปี, แล้วกลับหวนระลึกถึงตนเองกับพวก, ที่ได้เพียรพยายามอุตสาหะอดทนต่อความทุกข์ยากมาด้วยกัน, ปรากฏขึ้นในใจว่า ตนกับเพื่อนเกิดอยู่ในแดนไกล, และได้เป็นเพื่อนร่วมใจพากันท่องเที่ยวมาตลอดราชอาณาจักรมากหลาย, เพื่อนบางคนก็กลับ (ถิ่นฐานของตน), และบางคนก็ปรากฏความจริงขึ้นว่า ไม่ถาวรและไม่แน่นอนในชีวิตความเป็นอยู่ (มรณะ). และวันนี้ก็ได้มาเห็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้เคยสำนักอาศัย, แต่เดี๋ยวนี้พระองค์ก็มิได้ทรงใช้สถานที่นี้อีกแล้ว. กระทำให้บังเกิดความหม่นหมองเศร้าโศกปวดร้าวขึ้นในใจตนและเพื่อนทุกคน. จนกระทั่งมีหมู่ภิกษุออกมา, และกล่าวทักถามว่า ‘มาจากประเทศไหนกัน?’ ฟาเหียนกับเพื่อน (ได้สติ) จึงได้ตอบไปว่า ‘มาจากประเทศฮั่น.’ ‘แปลก.’ เป็นคำที่พระภิกษุเหล่านั้นกล่าวแล้วถอนใจใหญ่ (และกล่าวต่อ), ‘บุคคลผู้อยู่ถึงต่างประเทศแดนไกล, ยังอุตสาหะสามารถมาถึงที่นี่, เพื่อสืบเสาะค้นคว้าหาธรรมวินัยของเรา,’ แล้วจึงหันไปกล่าวกับเพื่อนภิกษุอีกองค์หนึ่งว่า ‘ตลอดชั่วสมัยเวลาของเรา, และคณาจารย์หรือภิกษุ๒๑๑ทั้งหลายองค์ใดองค์หนึ่งที่ได้มีมาแล้วโดยลำดับ, เราไม่เคยพบเห็นเลยว่า มีบุคคลจากประเทศฮั่นมาถึงที่นี่.’
ระยะ ๘๐ เส้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร, เป็นหมู่ต้นไม้เล็กใหญ่กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “การได้ตา.” ในกาลก่อนว่ามีคนตามืดมัว ๕๐๐ คนอาศัยอยู่ที่นี่, โดยพระพุทธดำรัสสั่งให้รวมกันอยู่ให้ใกล้วิหาร๒๑๒เท่าที่สามารถจะอยู่ได้. พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่คนพวกตามืดมัว, จนบุคคลเหล่านั้นกลับเป็นคนตาสว่างได้หมดทุกคน. ด้วยความยินดีอันเต็มเปี่ยม, พวกเขาเหล่านั้นได้เอาไม้เท้าของตนปักลงไว้บนพื้นแผ่นดิน, แล้วน้อมเศียรเกล้าซบหน้าลงกระทำความเคารพยังพื้นพสุธา. ในทันใดนั้นไม้เท้าทั้งหลายเหล่านั้นก็เริ่มเจริญ, และเติบโตขึ้นจนเป็นไม้ใหญ่ ๆ พวกชาวบ้านนับถือไม้เหล่านี้มาก, ไม่มีผู้ใดบังอาจเข้าไปกระทำการตัดฟันหมู่ไม้เหล่านั้นลงให้เสียไป. หมู่ไม้แห่งนี้จึงได้นามตามเหตุผลที่กล่าวแล้ว. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาพระภิกษุในเชตวัน. ภายหลังเวลาเมื่อได้กระทำการฉันอาหารตอนเที่ยงวันเสร็จแล้ว, ต่างก็เข้าไปในหมู่ไม้แห่งนี้ นั่งเจริญภาวนาตรึกตรอง.
หนึ่งร้อยยี่สิบหรือหนึ่งร้อยสี่สิบเส้นจากวิหารเชตวันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ, วิศาขมารดา๒๑๓ได้สร้างวิหารไว้อีกแห่งหนึ่ง, นางได้อาราธนาให้พระพุทธองค์กับสงฆ์สาวกไปพำนักอาศัย, ซึ่งยังคงมีปรากฏอยู่.
บรรดาอาศรมใหญ่ ๆ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ทุก ๆ หลังในบริเวณเชตวันมหาวิหารมีประตู ๒ ทาง, หันหน้าไปทางตะวันออกทางหนึ่ง, และไปทางเหนืออีกทางหนึ่ง. มีอุทยานคั่นอยู่ในระหว่างพื้นที่ที่ว่าง, ตัววิหารตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางทีเดียว. ทั้งนี้ มหาเศรษฐีสุทัตตะได้จัดซื้อถวายไว้ด้วยค่าของทองและเงินตรา. สถานที่นี้พระพุทธองค์ทรงประทับพักอาศัยอยู่นานกว่าสถานที่ใด ๆ, และได้ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลให้เปลี่ยนความประพฤติเป็นอันมาก. ในสถานที่ที่พระพุทธองค์เคยเสด็จประพาส, และสถานที่ที่พระองค์เคยประทับนั่ง, ในที่สุดได้มีผู้สร้างสตูปขึ้นไว้ทุกๆ แห่ง, และให้นามโดยเฉพาะสิ่งนั้นๆ. และที่นี่ยังมีสถานที่ของสุนทรี๒๑๔ผู้ร้ายฆ่าคนผู้หนึ่ง, แล้วและมากล่าวคำมุสาวาทใส่ไคล้ลงเอาว่าเป็นพระพุทธองค์. ภายนอกประตูบริเวณเชตวัน. เป็นระยะทางห่างออกไปอีก ๗๐ ก้าวทางทิศเหนือด้านตะวันตกของถนน, มีสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมสากัจฉา (ซึ่งมีผู้เสนอ) ด้วยหัวข้อพฤติการณ์ ๙๖ ประการแห่งโอวาทที่มักจะทำให้หลงผิด. ซึ่งเมื่อครั้งกระนั้นได้มีกษัตริย์และเสนาข้าราชการมหาดเล็กเด็กชา, และประชาชนพลเมืองเนืองแน่นกันมาประชุมฟัง ณ ที่นี้. และมีหญิงผู้หนึ่งเป็นคนอยู่ในลำดับของพวกที่หลงคิดผิดนั้น. มีนามว่าจัญจมาน๒๑๕เข้าไปร้องตักเตือนชวนด้วยความริษยาขุ่นแค้นอยู่ในใจ, และใส่ผ้าเข้าไว้ข้างหน้าของตน, ดุจดั่งให้ปรากฏว่าตนกำลังเป็นผู้มีครรภ์, แล้วและร้องกล่าวโทษด้วยคำเท็จว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะมาสู่ที่ชุมชนทุกแห่งนั้น, พระองค์ได้ไปกระทำความอันไม่ชอบธรรม (แก่นาง). ดั่งนี้ ท้าวสักกเทวราชกับเทวดาบางองค์ก็จำแลงแปลงกายเป็นหนูหริ่งเผือก, เข้าไปกัดเชือกเส้นเล็ก ๆ ที่รัดรอบเอวนาง, และเมื่อเป็นเช่นนั้น, ผ้าซึ่งนางใส่ไว้ก็ขาดหลุดร่วงลงยังพื้นดิน. และในเวลาเดียวกันนั้นพระธรณีก็แยกออก, (สูบ) นางลงไปสู่นรก๒๑๖ทั้งๆ เป็น. ณ สถานที่แห่งเดียวกันนี้ เทวทัตต์๒๑๗ ผู้คิดวางยาพิษและประทุษร้ายต่อพระองคุลีบาทของพระพุทธองค์, ก็ได้ลงไปสู่นรกทั้ง ๆ เป็นจุดเดียวกัน. สืบต่อมาได้มีผู้สร้างสถานที่ไว้เป็นเครื่องหมายซึ่งจะสังเกตเห็นได้ตามเหตุการณ์ทั้งสองเรื่อง.
ไกลจากสถานที่ที่ทรงแสดงธรรมสากัจฉา, มีผู้สร้างวิหารไว้อีกหลังหนึ่ง, สูงกว่า ๖๐ ศอกเล็กน้อย, ภายในมีพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่งประดิษฐานไว้เฉพาะเป็นประธาน. ทางเบื้องตะวันออกของถนนเป็นสถานเทวาลัย๒๑๘ (หลังหนึ่ง), สำหรับฝ่ายลัทธิที่ไม่ต้องกัน (กับพุทธศาสนา) เรียกนามสถานว่า ‘เงาบัง’ อยู่ตรงหน้าวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ทรงแสดงธรรมสากัจฉา, ระหว่างฟากถนนคนละข้าง, และสูง ๖๐ ศอกกว่าเล็กน้อยดุจเดียวกัน. เหตุไฉนสถานที่แห่งนี้จึงมีนามว่า ‘เงาบัง’ เป็นดั่งนี้คือ เมื่อดวงอาทิตย์อยู่เบื้องตะวันตก, เงาวิหารของพระบรมโลกนาถ จะเอนตกไปบังเทวาลัยวิหาร. แต่ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ทางเบื้องตะวันออก, เงาของเทวาลัยก็เอนไปเสียทางทิศเหนือ, ไม่มีเลยที่จะไปบังบนวิหารแห่งพระพุทธองค์. ตามปกติบุรุษผู้มีความเคารพนับถือได้จ้างคนให้อยู่เฝ้าสถานเทวาลัยของเขาทั้งหลาย, และคอยเช็ดล้างปัดกวาด, เผาเครื่องหอม, จุดตะเกียง, จัดเครื่องสักการบูชาถวาย. แต่ครั้นรุ่งขึ้นในเวลาเช้าจะเห็นได้ทันทีว่าตะเกียงนั้นได้เคลื่อนที่ไปเสียแล้ว, และไปอยู่ในวิหารแห่งพระพุทธองค์. พวกพราหมณ์ทั้งหลายต่างมีความเจ็บใจและกล่าวว่า ‘พวกสมณะเหล่าโน้นมาเอาตะเกียงของเราไป, และเอาไปใช้สำหรับพระพุทธเจ้าของตน, แต่เราก็จะไม่หยุดการกระทำของเราเพื่อประโยชน์ท่าน.๒๑๙’ ในคืนนั้นพวกพราหมณ์ได้นั่งเฝ้ายามด้วยตนเอง, ก็ได้แลเห็นเทวดาทั้งหลายมานำเอาตะเกียงเหล่านั้นไปกระทำการประทักษิณวิหารแห่งพระพุทธองค์ ๓ รอบ, แล้วก็นำเข้าไปกระทำการสักการะบูชา, ภายหลังเมื่อพวกเทวดาได้กระทำการเคารพต่อพระพุทธองค์ดั่งนั้นแล้ว, ต่างก็อันตรธานหายลับไปจากตาทันที. เมื่อพวกพราหมณ์ได้ประจักษ์แจ้งว่าอำนาจวิญญาณแห่งพระพุทธองค์ยิ่งใหญ่เพียงไรเช่นนั้นแล้ว, เขาทั้งหลายต่างก็ละครอบครัวเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ. สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนี้มีเรื่องที่กล่าวกันสืบมาว่า ในสมัยที่ใกล้กับเวลาเมื่อจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้นั้น, โดยรอบเชตวันวิหารมีอารามอยู่ถึง ๙๘ แห่ง, ในอารามทั้งหมดมีพระภิกษุอาศัยอยู่, เว้นแต่เฉพาะสถานที่แห่งเดียวซึ่งว่างเปล่า, อยู่ในแดนกึ่งกลางแห่งราชอาณาจักรนี้.๒๒๐ ซึ่งเป็นหมู่ที่ยึดถือมติเพ่งเล็งแยกทางกันถึง ๙๖ จำพวก,๒๒๑ อันเป็นทางที่เห็นผิดและแตกต่างจากลัทธิฝ่ายพุทธศาสนาของเรา ทั้งหมดยอมรับเอาทั้งโลกนี้และโลกหน้า๒๒๒อันไกลโพ้น (ติดต่อในระหว่างกันได้). ทุกจำพวกมีคนเป็นอันมากดำเนินตาม, และพวกเหล่านี้ทั้งหมดไปเที่ยวขออาหารโดยเฉพาะตน, มิได้ถือเอาบาตรไปด้วย. นอกจากนี้เขาเหล่านั้นแสวงหาคำให้ศีลให้พร (จากกิจการที่ดี), โดยจัดวางศาลาทำทานไว้ตามข้างหนทางที่ไม่สู้จะมีใครไปมาเนือง ๆ, ได้จัดห้องนอนและอาหารน้ำดื่มไว้แจกจ่ายให้แก่ผู้เดินทางทั้งหลาย. และถ้าภิกษุไปมาก็จะได้รับเชิญด้วยเหมือนกัน, และจะได้อยู่โดยเฉพาะต่างหาก (จากพวกเก่าที่ยังค้างอยู่) ในเวลานั้น.
ณ ที่นั้น บริษัทบุคคลผู้ซึ่งมีความเคารพนับถือดำเนินตามรอย๒๒๓พระเทวทัตต์ก็ยังคงมีอยู่, เขาเหล่านั้นสักการบูชาพระพุทธเจ้าแต่อดีต ๓ พระองค์, ซึ่งมิใช่พระศากยมุนีพุทธเจ้า.
จากนครศราวัสตีไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ๘๐ เส้น, มีสตูปก่อสร้างขึ้นที่นั่นองค์หนึ่ง, ซึ่ง ณ ที่นั้นเป็นสถานที่ที่พระบรมโลกนาถพบกับพระเจ้าวิรูธห๒๒๔กษัตริย์, ในขณะเมื่อปรารถนาจะยกพลเข้าตีราชอาณาจักรเษย-อี. พระพุทธองค์เสด็จไปประทับนิ่งอยู่ก่อนที่ข้างถนน.๒๒๕
-
๒๐๐. ในสิงหลเรียกเสเวต, เป็นนครหลวงของแคว้นโกศล. สถานที่แห่งนี้ Cunningham นักปราชญ์ฝ่ายโบราณวัตถุได้ไปตรวจแล้ว, ในภูมิประเทศบนฝั่งใต้แห่งแม่น้ำรัปติ, ตอนเหนือแห่งนครอโยธยาประมาณ ๓,๕๐๐ เส้น. มีมหานครร้างอันสลักหักพังอยู่แห่งหนึ่ง, ที่มีปรากฏนามอยู่เดี๋ยวนี้ว่า สาเหต มาหัต ในนครหรือตำบลนี้เองที่พระศากยมุนีมาประทับอยู่ปลายปี, ภายหลังเวลาที่ตรัสรู้แล้ว ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๒๘. ↩
-
๒๐๑. ในอินเดียมีราชอาณาจักรนามว่าโกศล ๒ แห่ง, คือ โกศลภาคเหนือและโกศลภาคใต้. แต่ที่กล่าวถึงตรงนี้คือโกศลภาคเหนือแห่งนครอโยธยาหรือโอธะ. ↩
-
๒๐๒. ในภาษาสิงหลเรียกปเสนฏิ (บาลี-ปเสนทิ). กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้มีความเลื่อมใสเข้ารับเป็นผู้อุปถัมภ์องค์พระศากยมุนี. Eitel กล่าวไว้ (หน้า ๙๕) ว่า กษัตริย์พระองค์นี้เป็นผู้เริ่มประดิษฐ์ให้มีการเคารพกราบไหว้พระพุทธปฏิมาในพุทธศาสนาขึ้น, ดั่งข้อความที่กล่าวไว้ในบทนี้. ดูหนังสือ Hardy M. B. หน้า ๒๘๓-๒๘๔. กับตำนานพุทธเจดีย์สยาม ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ หน้า ๓ กับ ๓๕-๓๘. ↩
-
๒๐๓. มหาปชาบดี มีอรรถาธิบายโดยศัพท์ว่า วิถีแห่งความรักความเสน่หา, หรือผู้มีอิสสระแห่งชีวิต. เป็นพระมาตุจฉา (น้า) และผู้บำรุงเลี้ยงรักษาองค์พระศากยมุนี, มาตั้งแต่เยาว์วัยพระชนม์ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์. และเป็นสตรีคนแรกที่ยอมรับปฏิบัติตามวินัยเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุณี. และเป็นสตรีคนแรกที่เป็นใหญ่ในชุมนุมสงฆ์ภิกษุณี. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๘๖, ๓๗๘-๓๘๑. ↩
-
๒๐๔. สุทัตตะ, มีความหมายว่าผู้ให้ทาน. นามเดิมอนาถบิณฑิกะหรือบิณฑัต. เป็นเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง, และเป็นหัวหน้าตระกูลไวศยะแห่งนครศราวัสตี, เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง, และเป็นคนใจบุญโอบอ้อมอารีกว้างขวาง, บ้านของอนาถบิณฑิกะแต่โบราณ, ยังคงมีเหลืออยู่ในเวลานี้เฉพาะแต่สระน้ำกับกำแพงบ้าน, ตามที่ฟาเหียนไปพบ. ↩
-
๒๐๕. องคุลิมาล, เป็นคนที่เคารพนับถือลัทธิพระศิวะและภูตผีปีศาจจำพวกหนึ่ง, เป็นผู้กระทำการฆาตกรรมด้วยความศรัทธาตามข้อบัญญัติศาสนาพราหมณ์ พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดให้กลับความประพฤติเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ ในขณะที่กำลังจะทำร้ายพระพุทธองค์. นามในภาคบาลีว่า องคุลิมาล, เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่ได้นิพนธ์ประวัติตนเองเป็นกาพย์ฉันท์ไว้อย่างไพเราะ, ตามบทที่ใช้สวดกันนั้น (อังคุลิมาลสูตร). ↩
-
๒๐๖. เป็นวิหารซึ่งมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง, อยู่ภายนอกใกล้กับกำแพงเมืองศราวัสตี, ก่อสร้างขึ้นในวโนทยานซึ่งมหาเศรษฐีสุทัตตะได้ซื้อจากเจ้าเชต โอรสของพระเจ้าประเสนชิต. พระศากยมุนีทรงโปรดอาวาสสถานแห่งนี้มาก. ประทับอยู่ ๒ คราวรวมเวลา ๒๐ พรรษา. ดูหนังสือ Eitel หน้า ๓๗. ปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๒๘. ↩
-
๒๐๗. ดูบทที่ ๑๗. ↩
-
๒๐๘. ดูบทที่ ๑๗. ↩
-
๒๐๙. ดูบทที่ ๑๓. ↩
-
๒๑๐. Legge ให้อรรถาธิบายว่า อารยะมีความหมายว่า ควรเป็นที่นับถือ หรือซึ่งเป็นที่นับถือ. ตำแหน่งทั้ง ๔ ที่พระบรมครูให้ไว้เพื่อนำดวงวิญญาณไปสู่ความแท้จริงนั้น คือ (๑) ความตระหนี่ เป็นความประสงค์ในลักษณะทั้งหมดที่ปรับโทษตนเองในเวลายังมีชีวิตอยู่, นั้นเป็นทุกข์ (๒) การสะสมอันบังเกิดจากความตระหนี่, เป็นมูลเหตุของความร้อนใจ, นั้นเป็นสมุทัย. (๓) การดับศูนย์ของชีวิตความเป็นอยู่, เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้, นั้นคือนิโรธ. (๔) วิธีที่จะเดินไปสู่ความดับศูนย์, เป็นสิ่งที่จะเป็นไปได้, นั้นเป็นมรรค. ตามที่กล่าวแล้วนี้ ผู้พิจารณาทั้งหลายจะประสบถึงความแท้จริงทั้งปวง, ซึ่งอารยะผู้เจริญตามรอยแห่งองค์พระพุทธเจ้า จะบำเพ็ญไปตามลำดับแห่งการบรรลุถึงชั้นทั้ง ๔ คือ โสดาบัน. สกทาคามี, อนาคามี, อรหันต์. ดู E. H. หน้า ๑๔. วินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๕๑. ↩
-
๒๑๑. ณ ที่นี้เป็นครั้งแรกที่ฟาเหียนใช้นามโอ-ชัง 和尙 ซึ่งในปัจจุบันนี้ประชาชนชาติจีนพอใจเรียกพระภิกษุทั้งหมด, ที่มิได้มียศหรือเป็นเจ้าอธิการซึ่งกระทำให้ต่างกัน. คำนี้ถ้าหมายถึงผู้ดูแลแทน, ในภาษาสํสกฤตเรียกว่า อุปัธยาย. มีอรรถาธิบายในหนังสือของ Eitel หน้า ๑๕๕ ว่า ครูผู้สอนตนเอง, โดยที่เป็นผู้รู้แจ้งแล้วว่า สิ่งใดเป็นบาปและสิ่งใดไม่เป็นบาป. และทำโน๊ตอธิบายไว้อีกว่า ภาษาพื้นเมืองในอินเดียเรียกคำนี้เป็น 殞社 มุนชี, (คนบวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีในพุทธศาสนา). ในกัสตะตนะและกัชคาร เรียกว่า 鵑社 ฮวา-เชย. และออกจากสำเนียงคำนี้ต่อมาจีนเรียกออกเสียงว่า 和閱 โฮ-เชย, และ 和尙 โฮ-ชัง. แต่แรกทีเดียวคำนี้ในภาษาอินเดียใช้เฉพาะสำหรับพวกครูผู้สอนพระเวทและเวทางค์. พุทธศาสนาในตอนกลางทวีปเอเชียยอมรับกันว่า เพื่อที่จะกระทำให้รู้คำว่า พระภิกษุนั้นเป็นลัทธิเก่ากว่า, และต่างกันกับลามา (นักบวชในประเทศธิเบต) ในประเทศจีนจึงใช้คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันนี้มาแต่แรกทีเดียว, สำหรับคำว่า 法師 รวมเข้าในความหมายถึงภิกษุเป็นครูผู้สั่งสอนธรรมวินัยทั้งหลาย, ซึ่งต่างกับคำว่า 律師 ผู้ฝึกหัดตามแบบแผน, กับคำว่า 褌師 ผู้พิจารณาตรึกตรองตามธรรมวินัย, ซึ่งใช้ในความหมายถึงตำแหน่งสมภารเจ้าวัด. แต่ในเวลาบัดนี้รวมเข้าใช้ในคำว่าภิกษุแห่งพุทธศาสนาทั้งหมด. ในสมุดเล่มนี้ดูเหมือน (ฟาเหียน) จะเล็งความหมายในระหว่างคำว่า อาจารย์ กับคำว่า โฮ-ชัง ต่างกันบ้าง, อาจเป็นดั่งคำในบาลี อาจริย กับ อุปคฺคหาย ก็ได้. ดู Sacred Book of the East เล่ม ๑๓ คัมภีร์วินัย หน้า ๑๗๘-๑๗๙. ↩
-
๒๑๒. ตรงนี้ถ้าได้เพิ่มคำว่า เป็นที่พึ่ง เข้าด้วย. ก็จะได้ความเต็มตามความหมายของคำว่า 侬 ในสมุดเล่มนี้. ทำให้นึกถึงพวกขอทานในงานเทศกาลไหว้พระที่ต่าง ๆ, ที่เกลื่อนกล่นก่อความรำคาญแก่ผู้เข้าไปนมัสการอยู่ไม่น้อย, ต่างหวังชูคอคอยคนที่ใจอ่อนเลื่อมใสศรัทธา. ตามวัดในฮ่องกงและปักกิ่ง, และตามทางที่จะขึ้นเนินเขาตอาอิในชัน-ลุงก็เช่นเดียวกัน, จนต้องมีตำรวจควบคุมรักษา. ↩
-
๒๑๓. วิศาขมารดาเป็นนามภรรยาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี, (ดูหน้า ๑๐๐ โน๊ต ๑). นางเป็นอธิการปกครองอาวาสของภิกษุณีหลายแห่ง. ดูประวัติของนางในหนังสือ M. B. หน้า ๒๒๐-๒๒๗. ↩
-
๒๑๔. ดูหนังสือ E. H. หน้า ๑๓๖. แต่เรื่องราวในหนังสือเล่มที่กล่าวแล้วนี้ Hsüan Chwang ก็มิได้บอกนามผู้ร้ายฆ่าคนไว้. ในหนังสือ Julien’s ‘Vie et Vogas de Hionen thsang หน้า ๑๒๕ ว่า พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งเป็นผู้ฆ่าหญิง, แล้วไปกล่าวเท็จใส่ร้ายเอาพระพุทธองค์. เรื่องอย่างเดียวกันนี้มีในหนังสือ Record of Western Countries หน้า ๗-๘ ว่า หญิงพรหมจารีหลายคนเป็นผู้ฆ่า, Beal (ผู้แต่ง) เลยประสมเอานามสุนทรีนี้ว่าเป็นหญิงเพศยาฆ่าคน. ในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่มีคำอธิบายไว้เสียด้วย, แต่อย่างไรก็ดี, ในสุนทรีสูตร อุทานเมฆิยวรรค เล่ม ๒๕ หน้า ๑๓๗ ว่า พวกปริพพาชกเป็นผู้ฆ่านางสุนทรีแล้วเอาไปหมกไว้ที่คูพระเชตวัน, แล้วขุดเอาศพนางไปเที่ยวประกาศใส่ร้ายว่าพระสมณโคดม (พระศากยมุนี) เป็นผู้ทำร้ายนาง. ↩
-
๒๑๕. Eitel (หน้า ๑๔๔) เรียกนามว่า จัญจ. ในภาษาสิงหลเรียกจินจิ. (ดูเรื่องราวของนางในหนังสือ M. B. หน้า ๒๗๕-๒๗๗). และในธัมมปทัฏฐกถาภาค ๖ หน้า ๑๗๕ เรียกจิญจมาณวิกา. ↩
-
๒๑๖. ธรณีสูบ Legge ใช้คำว่าคุกของธรณี, แล้วอธิบายต่อไปว่า คืออวีจินรก. ซึ่งนางต้องลงไปสู่ชั้นต่ำที่สุดของ ๘ ชั้นซึ่งมีความร้อน. ณ ที่นั่นนักโทษจะต้องตาย, และก็เกิดแล้วตายอีกโดยมิได้พักหยุดหย่อน, แต่ก็ยังไม่หมดหวังที่สุดแห่งการที่จะถ่ายบาป. (ดู E. H. หน้า ๒๑). ↩
-
๒๑๗. เทวทัตต์เป็นพระญาติสนิทกับองค์พระศากยมุนีคนหนึ่ง ในฐานที่เป็นเขฏฐภาดาของพระนางพิมพา และได้เป็นศัตรูกับพระพุทธองค์, ต้องถูกธรณีสูบในเวลาต่อมา. เป็นผู้ที่จองเวรกับพระพุทธองค์มาแล้วแต่ปางก่อน, และด้วยความเคืองแค้นมาบังเกิดในโลกนี้ร่วมกับพระพุทธองค์อีก, เพื่อทำการแก้แค้นต่อไป. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๓๖, ๓๔๒-๓๔๙ M. B. หน้า ๓๑๕-๓๒๑, ๓๒๖-๓๓๐. และที่ดียิ่งกว่านั้นในสมุด Sacred Book of the East เล่ม ๒๐ คัมภีร์วินัย หน้า ๒๓๓-๒๖๕. ที่มีความละเอียดและกล่าวถึงโดยเฉพาะในสมุด The Life of Buddha หน้า ๑๐๗. เมื่อเทวทัตต์ถูกธรณีสูบลงไปแล้วและมีเปลวไฟลุกล้อมอยู่ทั่วตัวนั้น, ได้ร้องเรียกหาพระพุทธเจ้าให้ช่วย. ตอนนี้น่าที่จะมีใครบอกเทวทัตต์ให้ทราบว่า ตนยังมีหวังที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าซึ่งทรงพระนามว่าเทวราช, ซึ่งในสากลโลกจะเรียกว่า เทวโสปนะ ในอดีตสืบไป. (E. H. หน้า ๓๙). ↩
-
๒๑๘. เทวาลัย, (禾寺 หรือ 禾祠 ) สถานที่สถิตเทวราชที่เคารพนับถือ, เป็นนามทั่วไปสำหรับเทวสถานของพวกพราหมณ์. ถ้าเราอ่านปทานุกรม Khang-hsi ตรงคำ 寺 จะพบคำอธิบายว่า เมื่อเวลาที่พระกัศยปมถังค์ไปจากประเทศทางตะวันตก, ถึงนครหลวงในสมัยพระมหาจักรพรรดิหมิงทรงราชย์ในรัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์ฮั่นนั้น, ได้นำเอาพระสูตรไปด้วย, และไปวางพักไว้โรงพิธีของประเทศ. สืบต่อมาจึงได้สร้างสถานที่สำหรับประดิษฐานพระสูตรไว้. ซึ่งเรียกว่าศาลม้าขาว ( 白馬寺) และนามที่เรียกกันตามธรรมดาว่าเซ (寺), เลยเป็นนามของอารามในพุทธศาสนาประเทศจีนทั่วไป. แต่อย่างไรก็ดี, ฟาเหียนใช้คำที่ตรงนี้ว่าเทวาลัย, หมายเฉพาะถึงเทวสถานของพราหมณ์. ↩
-
๒๑๙. คำพูดของพวกพราหมณ์ดูไม่ติดต่อกันให้สมกับเหตุการณ์ตามธรรมดาเลย. เรื่องนี้คล้ายคลึงกับเรื่องราวของ อารค และ ดากอน พระเป็นเจ้าของปาเลสไตส์ที่ Samuel เขียนไว้ ↩
-
๒๒๐. ตรงนี้ไม่ได้ความชัดเจนเลยว่า ผู้แต่ง (ฟาเหียน) มุ่งหมายจะกล่าวถึงอินเดียทั้งหมดหรือไม่. แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเฉพาะแคว้นโกศลอันเป็นภาคที่ฟาเหียนกำลังกล่าวถึง. พวกคณาจารย์โบราณนอกพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๓๒ จำพวก. แต่ยังแบ่งแยกออกเป็นสาขาย่อยๆ อีกจำพวกละ ๓ ทุกๆ จำพวก จึงรวมกันเป็น ๙๖ จำพวก. (ดูหนังสือ Rhys Davids, Buddhism หน้า (๖๘-๖๙). ↩
-
๒๒๑. ตรงนี้ไม่ได้ความชัดเจนเลยว่า ผู้แต่ง (ฟาเหียน) มุ่งหมายจะกล่าวถึงอินเดียทั้งหมดหรือไม่. แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเฉพาะแคว้นโกศลอันเป็นภาคที่ฟาเหียนกำลังกล่าวถึง. พวกคณาจารย์โบราณนอกพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๓๒ จำพวก. แต่ยังแบ่งแยกออกเป็นสาขาย่อยๆ อีกจำพวกละ ๓ ทุกๆ จำพวก จึงรวมกันเป็น ๙๖ จำพวก. (ดูหนังสือ Rhys Davids, Buddhism หน้า (๖๘-๖๙). ↩
-
๒๒๒. ความตรงที่กล่าวไว้ว่า โลกเบื้องหน้า นี้, เป็นความสำคัญที่แตกต่างกันข้อหนึ่งในระหว่างฉบับเกาหลีกับจีน. ความประสงค์ตรงนี้อาจเกิดจากความพลาดพลั้งของผู้แปลในสมัยต่อมา. Rémusat เขียนโน๊ตไว้ในสมุดของเขาว่า พวกนอกพุทธศาสนาประหยัดถ้อยคำของตนเองที่จะกล่าวแก่ผู้ที่เคารพนับถือในความแท้จริงแห่งชีวิตของเขา, เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าไม่จำต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับสิ่งที่มุ่งหมายว่า จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในกาลเบื้องหน้า, ตลอดความเป็นอยู่แห่งชีวิตที่จะต้องผ่านไปเท่านั้น. แต่ความจริงเราก็ใคร่จะทราบเพียงว่า ฟาเหียนจะมีความหมายตรงกันข้ามกับข้อความตามฉบับเกาหลีหรือไม่เท่านั้น. ความคิดเห็นในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ความจริงลัทธิทั้ง ๙๖ ประการ, ก็มักจะมีมติความเห็นไม่ลงรอยในระหว่างกันเอง, กับทั้งฝ่ายพุทธศาสนาอยู่แล้วด้วย. แม้ว่าฟาเหียนปรารถนาที่จะกล่าวความหมายตามความคิดของ Rémusat ที่กล่าวไว้, ฟาเหียนก็ควรจะเขียนข้อความนอกจากนั้นอีกว่า 皆如今世耳. แต่อย่างไรก็ดี, เราก็ยอมรับความยึดถือเพิ่มเข้าในพุทธศาสนาว่า โลกในอดีตและปัจจุบันนี้ติดต่อกันได้, แต่ก็ไม่ใช่การจุติจากสัตว์นี้ไปเข้าสัตว์นั้นในโลกหน้า, อันเป็นทางเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ, ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกระทำให้ปรากฏหรือยอมรับในข้อใดได้ว่า ต่างหากไปจากความเป็นอยู่ของวิญญาณเดิม. ข้อนี้ Legge มีความเห็นว่า ที่ข้าพเจ้านับถืออยู่นั้นคือกงล้อ, ซึ่งจะขอเรียกว่า โอวาทแห่งการบังเกิดคำแปล. ดู Rhys Davids, Third Hibbert Lecture. ↩
-
๒๒๓. ดูหน้า ๑๐๘ โน๊ต ๒. และหน้า ๘๙ โน๊ต ๒. ฟาเหียนคงหมายถึงผู้ปฏิบัติตามวัตถุ ๕ ประการของเทวทัตต์ที่ทูลขอพรพระพุทธองค์เมื่อครั้งทำสังฆเภท. ↩
-
๒๒๔. วิรูธหะ, เป็นคำที่เรียกตามสำเนียงของฟาเหียนผู้แต่งหนังสือเล่มนี้, ที่ถูกต้องเป็นวิทูรยะ (บาลี-วิฑูฑภะ). เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นโกศล, ราชโอรสและรัชทายาทของเจ้าประเสนซิต. เป็นผู้ยกพลเข้าทำลายกรุงกบิลพัสดุ์, ซึ่งเป็นนครหลวงของราชวงศ์ศากยะ. นามเษย-อี, ตามหนังสือ Julien’s Methode หน้า ๘๙, ว่าอ่านออกเสียงเป็นจาย-อี, เป็นคำเดียวกับกาย-อี, ซึ่งจีนหมายถึงกรุงกบิลพัสดุ์. ↩
-
๒๒๕. เป็นพระพุทธประสงค์ที่จะทำการสัมภาษ. ในหนังสือ Life of the Buddha in Prübner’s Oriental Series หน้า ๑๑๖ กล่าวว่า ‘วิทูรยะพบกับพระพุทธองค์ที่ภายใต้ต้นสโกตโตเก่าแก่ต้นหนึ่ง. วิทูรยะหยุดพลอยู่ในที่ปราศจากร่มเงา, พระพุทธองค์ทรงคิดว่าจะเกิดการป่วยไข้, จึงมีพระดำรัสบอกให้วิทูรยกษัตริย์, ผู้เป็นพระญาติลูกพี่ลูกน้องเข้าไปพบกันในร่ม. วิทูรยกษัตริย์ได้เข้าไปเฝ้าแล้วและยกทัพกลับนครศราวัสตี แต่กรุงกบิลพัสดุก็ได้รอดพ้นจากความพินาสไปได้ชั่วเวลาอันน้อย. พระพุทธองค์ก็ทรงทราบอยู่แก่พระองค์เองแล้ว, และได้ทรงรับสั่งว่า ความพินาสของกรุงกบิลพัสดุ์นั้นจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้, เพราะด้วยเหตุและผลที่สองนครมีความอริกันอยู่ในขณะนี้. ↩