บทที่ ๓๑

พุทธคยา. พระศากยมุนีตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ, บรรลุเป็นพระพุทธองค์. นิยายอื่น ๆ.

จากสถานที่นี้, ภายหลังเมื่อฟาเหียนได้เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก ๔ โยชน์ ก็ถึงนครแห่งคยา.๓๒๘ แต่ภายในนครเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไปหมด. เดินทางต่อลงไปทางใต้อีก ๔๐๐ เส้น, ก็ถึงสถานที่ที่พระโพธิสัตว์กระทำทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี, โดยรอบเป็นป่าทั้งหมด.

จากสถานที่นี้ต่อไปอีก ๖๐ เส้น, ฟาเหียนถึงสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์เสด็จลงสรงน้ำ, มีเทพดาองค์หนึ่งได้โน้มกิ่งไม้กิ่งหนึ่งให้ต่ำลง, ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้พุทธองค์ทรงเหนี่ยวขึ้นจากสระ.๓๒๙

จากสถานที่ไปทางเหนือ ๔๐ เส้น, เป็นสถานที่ซึ่งเหล่าหญิงสาวครามิกถวายข้าวต้มผะสมกับน้ำนม.๓๓๐ และจากสถานที่นี้ไปทางเหนือ ๔๐ เส้น, เป็นสถานที่พระองค์ประทับนั่งบนศิลาแผ่นหนึ่งภายใต้ต้นไม้ใหญ่, และทรงหันพระพักตร์ไปทางตะวันออกทรงเสวย (ข้าวน้ำนม). ต้นไม้และแผ่นศิลายังมีอยู่ที่นั่นจนในวันปัจจุบันนี้. ศิลาแผ่นนี้ขนาดกว้างและยาว ๖ ศอก และ สูง ๒ ศอกเศษ. ในภูมิประเทศตอนกลางของอินเดียมีระดับความหนาวร้อนเสมอกัน. ต้นไม้ทั้งหลายจะมีชีวิตอยู่ได้ตั้งพันปีและหมื่นปี.

จากสถานที่นี้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือครึ่งโยชน์, ณ ที่นั้นมีคูหาเข้าไปในซอกศิลาแห่งหนึ่ง, ซึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปประทับนั่งขัดสมาธิหันพระพักตร์ของพระองค์ไปทางตะวันตก. แล้วพระองค์ตรัสแก่พระองค์เองว่า ‘ถ้าเราจะได้บรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์ (เป็นพระพุทธเจ้า) แล้ว, ขอให้อำนาจอันมีอยู่เหนือธรรมชาติในสากลโลกนี้, จงบันดาลให้บังเกิดสักขีพยานขึ้นสักสิ่งหนึ่ง.’ ในทันใดนั้น บนกำแพงหินก็ปรากฏพระฉายาของพระพุทธองค์ขึ้นองค์หนึ่ง, ยาว (สูง?) กว่า ๒ ศอก, ซึ่งยังคงปรากฏสดใสอยู่ในวันปัจจุบันนี้. ในบัดเดี๋ยวนั้นสวรรค์และโลกก็บังเกิดการสั่นสะท้านยิ่งใหญ่, และเทพดาทั้งหลายต่างก็กล่าวลงมาจากเบื้องนภากาศโดยถนัดชัดเจนว่า ‘ณ ที่นี้ไม่ใช่สถานที่พระพุทธเจ้าองค์ใด ๆ ในอดีตกาล, หรือที่จะมาใหม่, ได้บรรลุแล้วหรือจะบรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์.’ จากสถานที่นี้ไประยะครึ่งโยชน์กว่าเล็กน้อยโดยทางตะวันตกเฉียงใต้, พระองค์ก็จะถึงต้นปัทร,๓๓๑ ณ ที่นั้นพระพุทธเจ้าในอดีตทุกองค์ได้บรรลุแล้ว, และที่จะมา (ใหม่) ทุกองค์ก็จะต้องบรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์ที่นั่น’ เมื่อฝูงเทพดาได้กล่าวถ้อยคำดั่งนั้นแล้ว, ในทันทีต่างก็ (ลงมา) ออกหน้านำทางไปยังสถานที่นั้น, แล้วและกระทำการร้องรำทำเพลงไป. เมื่อฝูงเทพดาออกเดินไปแล้ว, พระโพธิสัตว์ทรงลุกขึ้นทรงพระดำเนิน (ตามไป). ในระยะทางอีก ๓๐ ก้าวจากต้นไม้นั้น, มีเทพดาองค์หนึ่งนำ (ฟ่อน) หญ้าถวายแด่พระองค์, อันเป็นศุภมงคลนิมิต๓๓๒, ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับแล้วและเสด็จต่อไป. ภายหลังที่ (ได้ทรงพระดำเนินต่อไปอีก) ๑๕ ก้าว, มีนกสีเขียว ๕๐๐ ตัวมาบินร่อนอยู่เบื้องบนพระองค์, และบินไปโดยรอบ ๓ ครั้ง แล้วก็ลับตาหายไป. พระโพธิสัตว์ได้เสด็จต่อไปถึงต้นปัทร, ทรงปูหญ้ากุศลง ณ ที่พระบาทนั้น, แล้วและลงนั่งประทับหันพระพักตร์ของพระองค์ไปเบื้องตะวันออก. ขณะนั้น พระยามารได้ส่งนางงามรุ่นสาว ๓ คนมาจากทางทิศเหนือให้ล่อลวงพระองค์, พร้อมกันนั้นตัวพระยามารเองก็มาจากทางทิศใต้กระทำอาการดุจเดียวกัน. พระโพธิสัตว์ได้จรดนิ้วพระบาทของพระองค์ลงยังพื้นธรณี, มารร้ายกับทหารก็ถอยกระจัดกระจายไป, และนางสาวทั้ง ๓ ก็เปลี่ยนร่างเป็นหญิงชรา.๓๓๓

ณ สถานที่ซึ่ง (พระพุทธองค์) กระทำทุกกรกิริยาอยู่ ๖ ปีดั่งได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้, กับสถานที่อื่น ๆ ทั้งหลาย, ต่อมาภายหลังได้มีบุคคลสร้างสตูปและพุทธรูปขึ้นไว้ทั้งหมด, ซึ่งยังคงมีอยู่ในวันปัจจุบันนี้ทุกแห่ง

ภายหลังที่พระพุทธองค์ได้บรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์แล้ว, พระองค์ได้ประทับพิจารณาไตร่ตรองอยู่ใต้ต้นไม้นั้น ๗ วัน, ทรงเกษมสำราญอยู่ด้วยความตรัสรู้เห็นแจ้งแห่งวิมุตติ.๓๓๔ ณ บริเวณสถานที่ภายใต้ต้นปัทรซึ่งพระองค์ได้ทรงพระดำเนิน (จงกรม) กลับไปกลับมา, จากตะวันตกไปตะวันออกอยู่ ๗ วัน, สถานที่ซึ่งเทพดาทั้งหลายนิรมิตศาลาขึ้นหลังหนึ่ง, ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งอันประเสริฐ ๗ ประการ และกระทำการสักการบูชาพระพุทธองค์อยู่ ๗ วัน. สถานที่ซึ่งพระยานาคราชจักษุวิการนามว่ามุจลินท์๓๓๕ขนดตัวให้เป็นพระพุทธอาสน์อยู่ ๗ วัน ณ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์นั่งประทับภายใต้ต้นนิโครธบนแผ่นศิลา ๔ เหลี่ยมแผ่นหนึ่ง, โดยหันพระพักตร์ไปทางเบื้องทิศตะวันออก, และท้าวมหาพรหม๓๓๖ลงมากราบทูลอาราธนาต่อพระพุทธองค์. สถานที่ซึ่งท้าวจตุโลกบาลนำบาตรมาถวายแด่พระพุทธองค์๓๓๗ ณ สถานที่ที่พวกพ่อค้า๓๓๘ ๕๐๐ ถวายแป้งปิ้งกับน้ำผึ้งแด่พระพุทธองค์. และสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงโปรดพี่น้องกับสานุศิษย์๓๓๙พันคนของพระกัศยป. ณ สถานที่ทั้งหมดเหล่านี้ได้มีพระสตูปซึ่งได้สร้างขึ้นไว้แล้วทุกแห่ง.

ณ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุถึงญาณปัญญาอันบริสุทธิ์แล้วนี้มีอารามอยู่ ๓ แห่ง, และทุกอารามมีพระภิกษุอยู่พำนักอาศัย. บรรดาราษฎรชาวบ้านซึ่งมีครอบครัววงศ์วานอยู่โดยรอบ, ได้อุปการะเกื้อหนุนต่อพระภิกษุทั้งหลายเหล่านี้อยู่โดยอุดมสมบูรณ์, พอเพียงแก่ความประสงค์ด้วยประการทั้งปวง, โดยมิขาดตกบกพร่องตามกำหนดเวลา. พระภิกษุเหล่านี้ได้บำเพ็ญปฏิบัติและศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยกันอยู่โดยเคร่งครัด. พระพุทธบัญญัติและกฎธรรมเนียมทั้งหลายอันว่าด้วยมรรยาทในการที่จะนั่งลุกและเข้าออก, เมื่อไปเข้าในที่ชุมนุมใด ๆ, ซึ่งได้ประทานให้ไว้สำหรับภิกษุทั้งหลาย เพื่อความสำรวมปฏิบัติให้คุ้นเคยอยู่เป็นเนืองนิตย์, อันมีอยู่ตั้งแต่ครั้งพระพุทธองค์ยังดำรงอยู่ในโลกนี้ประการใด, ก็ยังคงเป็นอยู่ดุจเดิมถึงในวันปัจจุบันนี้. ณ สถานที่ซึ่งได้สร้างพระมหาสตูปทั้ง ๔ ขึ้นไว้แล้วตั้งแต่ครั้งพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์บรรลุปรินิพพาน, ก็ยังไม่มีใครกระทำให้ชำรุดสลักหักพัง. พระมหาสตูปทั้ง ๔ เหล่านี้ คือ พระมหาสตูปซึ่งตั้งอยู่ ณ สถานที่พระพุทธองค์เสด็จมาอุบัติ. สถานที่ซึ่งพระองค์บรรลุถึงความตรัสรู้ สถานที่ซึ่งพระองค์ (เริ่ม) แสดงเทศนาธรรมจักรของพระองค์, และสถานที่ซึ่งพระองค์เสด็จดับขันธ์บรรลุปรินิพพาน.

  1. ๓๒๘. คือพุทธคยา เป็นเมืองในแคว้นมคธจังหวัดหนึ่ง, อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ, ในปัจจุบันนี้เรียกคยา, (แลตติจู๊ต ๒๔° ๔๗′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๘๕° ๑′ ตะวันออก). ณ ที่นี้ พระศากยมุนีพำนักอาศัยอยู่ ๖ ปี, ภายหลังจากที่พระองค์ได้เริ่มสละจากครอบครัวมาแล้วจนกระทั่งบรรลุถึงสัพพัญญุตญาณ. ณ ที่นี้มีคนเดินทางมานมัสการอยู่เสมอ (ดูหนังสือ E. H. หน้า ๔๑. กับปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๔๙-๑๕๐)

  2. ๓๒๙. ข้อความที่กล่าวไว้ตรงนี้กระทำให้คิดไปว่า เพื่อช่วยให้พระพุทธองค์พ้นภัยจากการตกน้ำ, แต่เรื่องราวเท่าที่ปรากฏนี้ยังไม่พบในที่ใดๆ, ทั้งในตอนที่ตรัสรู้แล้วและยังมิได้ตรัสรู้, พระพุทธองค์ลงสรงน้ำที่กล่าวในปฐมสมโพธิ (หน้า ๑๔๖), ไม่ปรากฏว่ามีใครโน้มกิ่งไม้ให้.

  3. ๓๓๐. เรื่องที่กล่าวไว้ตรงนี้คล้ายคลึงกับเรื่องราวที่ปรากฏในตำราหลายเล่มคือ Hardy’s M. B. หน้า ๑๖๑-๑๖๘. และ The Life of Buddha หน้า ๓๐. กับ Buddhist Birth Stories หน้า ๙๑-๙๒. แต่นามหญิงสาวนั้นต่างๆ กัน. ในโน๊ตของ Beal แปลคำครามิกแก้ไขไปอีกต่อหนึ่ง ในปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๔๐-๑๔๕ ว่า นางสุชาดาเป็นผู้ทำมธุปายาสอันผะสมขึ้นด้วยนมโคนำไปถวายพระพุทธองค์, ในขณะซึ่งประทับอยู่ภายใต้ต้นนิโครธพฤกษ์.

  4. ๓๓๑. ต้นปัทร, ปฐมสมโพธิ (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๕๐-๑๕๑) ว่าต้นโพธิ์ สูงประมาณ ๕๐ ศอก Legge ว่าปาล์มชนิดหนึ่ง Barassus flabellifela ใน E. H. หน้า ๙๒ ว่าปีปปล, ซึ่งมีสำเนียงใกล้กับที่ชาวไทยเหนือเรียกต้นโพธิ์ว่าป่าแป้น. ในปทานุกรมธรรมการ (หน้า ๕๐๖) แปลต้น พัทร ว่า พุทรา.

  5. ๓๓๒. ดุศ, ปฐมสมโพธิ (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๔๙) ว่าหญ้าคา, โสตถิยพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ๘ กำ ไม่ใช่เทวดา.

  6. ๓๓๓. เรื่องมารวิชัย ดูปฐมสมโพธิฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๔๗-๑๗๗ และ ๑๙๗-๒๐๐ M. B. หน้า ๑๗๑-๑๗๙ Buddhist Birth Stories หน้า ๙๖-๑๐๑.

  7. ๓๓๔. วิโมกษ์. ดูหน้า ๖๓ บทที่ ๑๓ โน๊ต ๓.

  8. ๓๓๕. เรียกดุจดั่งมหามุจลินท์. Eitel กล่าวว่า พระยานาคตนหนึ่งเห็นว่าพระศากยมุนียังขาดผู้ป้องกันรักษา, จึงมาเฝ้าคอยทำการพิทักษ์รักษาอยู่ใกล้ๆ กับที่ประทับ ๗ วัน. ใน The Life of Buddha หน้า ๓๕ มีว่า พระยานาคราชมุจลินทมีความปรารถนาที่จะทำการป้องกันแดดฝนให้พระพุทธองค์, จึงมาขนดตัวอยู่โดยรอบและยกศีรษะขึ้นแผ่พังพานปิดอยู่เบื้องบนพระเศียรตลอด ๗ วัน. เรื่องเช่นเดียวกันนี้ในนิทานกถา (Buddhist Birth Stories หน้า ๑๐๙). และพระไตรปิฎกสยามรัฐ (เล่ม ๔ หน้า ๕) กับปฐมสมโพธิ (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๐๐-๒๐๑) มีว่า พระยานาคนามว่ามุจลินทนาคราช (จักษุไม่วิการดั่งที่ฟาเหียนกล่าว) มาขนดตัวและแผ่พังพานปกป้องกันแดดฝนให้พระพุทธองค์. มีข้อที่น่าสังเกตคำนามของพระยานาคว่า มุจลินทนั้นก็คือแปลว่าไม้จิกที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ในภายใต้นั้นเอง.

  9. ๓๓๖. คือท้าวมหาพรหมสหัมปติ, มากราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดสัตว์. ดูพระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่ม ๔ หน้า ๙. กับปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๐๘-๒๑๒. และ Nidana Katha หน้า ๑๑๑.

  10. ๓๓๗. ดูหน้า ๕๙ บทที่ ๑๒ โน๊ต ๓. ในปฐมสมโพธิฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๐๔ มีว่า บาตรใบเดิมนั้นพระพุทธองค์นำลงไปลอยในกระแสน้ำเนรัญชรานที, แล้วจมลงไปอยู่ในนาคพิภพแห่งพระยากาฬนาคราช, ครั้งเมื่อทรงรับมธุปายาสของนางสุชาดา. ในครั้งนี้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงนำเอาบาตรศิลาเขียวดั่งสีถั่วเขียวมาถวายองค์ละ ๑ ใบ, แต่พระพุทธองค์ได้ทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง ๔ รวมกันเข้าเป็นใบเดียว.

  11. ๓๓๘. พ่อค้าเกวียนสองพี่น้องมีนามว่าตปุสสะและผลิกะกับเกวียนบรรทุกสินค้า ๕๐๐ เล่มจะไปค้าขายยังอุกกลชนบท, มาพบพระพุทธองค์ประทับอยู่ภายใต้ราชายตนพฤกษ์. ก็นำเอาสะตูก้อนสะตูผงเข้าไปถวาย. (ดูพระไตรปิฎกสยามรัฐเล่ม ๔ หน้า ๖. ปฐมสมโพธิฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๐๒-๒๐๓. M. B. หน้า ๑๘๒ กับ Nidana Katha หน้า ๑๑๐).

  12. ๓๓๙. พระกัศยปองค์นี้ ไม่ใช่พระมหากัศยปดั่งที่กล่าวไว้ในหน้า ๗๘ บทที่ ๑๖ โน๊ต ๓. ณ ที่นี้คือวงศ์กัศยปโคตร ๓ พี่น้อง, ซึ่งบำเพ็ญพรตเป็นชฎิลอยู่ในอุรุเวลาพนสณฑ์, ตอนต้นของแม่น้ำเนรัญชรานที, ในแว่นแคว้นกรุงราชคฤห์แห่งพระเจ้าพิมพิสาร, ผู้พี่มีนามว่าอุรุเวลากัศยป, น้องรองนามว่านทีกัศยป, น้องที่ ๓ นามว่าคยากัศยป. มีศิษย์เคารพนับถือเป็นบริวาร ๕๐๐. ๓๐๐. และ ๒๐๐. ได้ทิ้งลัทธิเดิมเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุกับพระพุทธองค์แล้วติดตามไปทั้ง ๓ คน. ดูพระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่ม ๔ หน้า ๔๕-๖๔. ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๕๔-๒๖๓. กับ Nidana Katha หน้า ๑๑%-๑๑๕.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ