- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๑๖
ถึงมถุราหรือมุตตระ. ข้อบังคับและธรรรมเนียมของภิกษุสงฆ์แห่งมัชฌิมประเทศอินเดีย. วิหารและอาราม.
จากสถานที่นี้ ฟาเหียนกับพวกได้ออกเดินทางต่อลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้, ผ่านอารามต่อเนื่องกันมามากมาย และมีพระภิกษุมากต่อมาก, จนเหลือความสามารถที่จะนับ, ภายหลังเมื่อได้ผ่านสถานที่ทั้งหมด (ดั่งกล่าว) นั้นแล้ว, ก็ไปถึงนครแห่งหนึ่ง มีนามว่ามะถาวอุ-โล.๑๔๐ ฟาเหียนกับพวกเดินไปตามวิถีของแม่น้ำปู-นา,๑๔๑ บนฝั่งแม่น้ำทั้งซ้ายและขวามีอาราม ๒๐ แห่ง, ซึ่งสามารถบรรจุพระภิกษุได้ราวสามพัน. และ (ที่นี่) ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้ากำลังรุ่งเรืองสดใสอีกแห่งหนึ่ง. ทุก ๆ แห่งตั้งแต่ทะเลทรายตลอดมาจนถึงในอินเดียทุก ๆ นคร, พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายทรงเคารพนับถือธรรมในพุทธศาสนาอย่างมั่นคง. เมื่อพระองค์จะทรงกระทำการถวายสิ่งของเครื่องสักการบูชาแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์, พระองค์ทรงถอดพระมาลาออก, และพร้อมด้วยพระวงศานุวงศ์กับเสนาข้าราชบริพารจะจัดภัตตาหารเข้าประเคนถวาย แด่พระภิกษุทั้งหลายด้วยมือของตนเอง. ณ สถานที่ซึ่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินจะประทับนั้น ได้ปูลาดไว้ด้วยพรมอยู่กับพื้น, และได้ประทับลงข้างหน้าเป็นประธาน ณ ที่นั้น. ไม่เคยเห็นว่ากษัตริย์องค์ใดจะประมาทนั่งเอนกายลงต่อหน้าหมู่พระภิกษุสงฆ์เลย. ขนบธรรมเนียมตามที่กษัตริย์ทั้งหลายได้เคยกระทำสักการบูชากันมา, ตั้งแต่เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังดำรงอยู่ในโลกนี้ประการใดนั้น, ก็ยังคงกระทำกันด้วยความอ่อนน้อม (เช่นเดียวกัน), ตราบเท่าจนถึงวันปัจจุบันนี้.
ดินแดนในภาคตอนใต้ทั้งหลายนี้นามว่ามัชฌิมประเทศ.๑๔๒ ในภาคนี้อากาศเย็นและร้อนกำลังพอดี, ปราศจากหมอกและหิมะ. มีจำนวนผู้คนพลเมืองคับคั่งหนาแน่น. อยู่กันด้วยความสุขสำราญ. ราษฎรทั้งหลายไม่ต้องจดทะเบียนครอบครัว, และไม่จำต้องคอยฟังคำพิพากษาเพื่ออาศัยความคุ้มครองแห่งกฎหมาย. โดยเฉพาะสำหรับพวกที่ทำการกสิกรรมลงในดินแดนอันเป็นของหลวงเท่านั้น, จะต้องเสียภาษีในส่วนกำไรจากสิ่งที่ทำได้. ใครต้องประสงค์จะไปก็ไปได้, หรือประสงค์จะพักก็พักได้, พระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองด้วยปราศจากการประหารชีวิต, หรือลงอาชญาแก่ร่างกาย. ผู้ต้องโทษทั้งหลายก็เพียงแต่ถูกปรับไหม, เบาหรือหนักแล้วแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น, ในคดีที่จะกระทำให้บังเกิดความไม่สงบราบคาบ, และสำหรับผู้ที่เพียรพยายามกระทำการชั่วร้ายเป็นกบฏซ้ำกันหลายครั้งนั้น. โดยเฉพาะผู้ร้ายเหล่านี้ก็จะได้รับโทษเพียงตัดมือข้างขวาเสียเท่านั้น ราชองครักษ์และมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินมีเบี้ยหวัดเงินเดือนทุกคน. ตลอดทั่วทุกนคร ราษฎรพลเมืองไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสรรพสัตว์ทั้งหลาย, ไม่ดื่มสุราและเครื่องดองของเมา, ไม่รับประทานหัวหอมหรือกระเทียม. เว้นแต่เฉพาะพวกคนที่เป็นจัณฑาล๑๔๓ทั้งหลายเท่านั้น. คนที่ได้นาม (จัณฑาล) เหล่านี้, เป็นบุคคลที่ประพฤติแต่ความชั่ว, และมีความเป็นอยู่ต่างหากจากคนอื่น ๆ. ขณะเมื่อพวกจัณฑาลเข้ามาภายในประตูเมืองหรือในตลาด, เขาจะเดินตีไม้ท่อนหนึ่งอันเป็นเครื่องหมายให้รู้จักว่าพวกเขา, เพื่อบุคคลที่รู้แล้วจะได้หลบเลี่ยง, ไม่กระทำการแตะต้องใกล้ชิดกับพวกจัณฑาล. ในนครไม่มีใครกระทำการเลี้ยงสุราและไก่, และไม่กระทำการขายโคกระบืออันมีชีวิต, ในตลาดไม่มีโรงฆ่าสัตว์เอาเนื้อขาย, และไม่มีใครขายเครื่องดองของที่จะดื่มมึนเมา, ใช้เบี้ยสำหรับในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของอันเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน, โดยเฉพาะพวกจัณฑาลที่เป็นคนหาปลาและพรานล่าสัตว์เท่านั้นจึงขายเนื้อสด.
ในกาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน๑๔๔ล่วงแล้วต่อมา, บรรดากษัตริย์ตามนครต่าง ๆ กับพวกหัวหน้าแห่งไวศยะ๑๔๕ทั้งหลาย, ต่างได้ก่อสร้างวิหารไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์, และอุทิศถวายสิ่งของเป็นกัลปนา เช่น ที่นา, บ้านเรือน, อุทยาน, และสวนต้นผลไม้. ตลอดจนผู้คนบ้านเรือนและปศุสัตว์. การอุทิศถวายไว้เช่นนี้ ได้ทำการจารึกลงไว้บนแผ่นเหล็กเคลือบ๑๔๖ ดังนั้น ในกาลภายหลังสืบต่อมา, กษัตริย์ต่อกษัตริย์จึงรับทอดต่อกันมาด้วยความเคารพอ่อนน้อม, ไม่มีผู้ใดที่จะบังอาจรื้อถอนเลิกล้ม, และคงเรียบร้อยอยู่มาตราบเท่าจนถึงปัจจุบันนี้.
ตามปกติ ภารกิจของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ตามธรรมวินัยนั้น สมควรแก่ผู้ที่บำเพ็ญกุศลและทรงคุณธรรมความดี, กล่าวคือ อ่านสวดพระสูตรทั้งหลาย และนั่งสำรวมไตร่ตรองพิจารณา. เมื่อมีพระภิกษุเป็นแขกไปถึง (วัดใด ๆ), พระภิกษุซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นมาก่อน ย่อมออกมาพบปะและจัดการรับรอง ด้วยขอรับเอาผ้าเครื่องนุ่งห่มและบาตรไป, แล้วให้น้ำล้างเท้า, และจัดอาหารเหลวออกมาอนุญาตให้ขบฉันตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมและเวลา.๑๔๗ เมื่อ (พระภิกษุเป็นแขก) ได้หยุดพักรับความสบายพอเป็นสังเขปแล้ว, พระภิกษุที่อยู่เก่า จะสอบถามถึงจำนวนพรรษาที่มีอยู่ของพระภิกษุ (ใหม่), ภายหลังจึงได้รับห้องนอนกับเครื่องอุปกรณ์ตามระเบียบแบบธรรมเนียม ณ ที่นั้น, และทุกๆ สิ่งจะจัดทำให้โดยควรแก่บัญญัติและวินัย.๑๔๘
ณ ที่แห่งไหนมีคณะสงฆ์ตั้งอยู่, ชนทั้งหลายได้จัดสร้างสตูปสำหรับพระสารีบุตร,๑๔๙ พระมหาโมคคัลลายนะ,๑๕๐ และพระอานนท์,๑๕๑และดุจเดียวกันยังมีสตูปสำหรับพระอภิธรรม, พระวินัย, และพระสูตร.๑๕๒ ในเดือนที่สุดภายหลังเวลาที่ได้หยุดพักผ่อน (ออกพรรษา) แล้ว, บุคคลในครอบครัวใดต้องประสงค์จะขอพร, ย่อมเป็นกิจที่ประกวดประขันกันอีกประการหนึ่ง.๑๕๓ ในการที่จะทำเครื่องสักการะไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์, และสิ่งนั่นคือเครื่องอาหารเหลว, ซึ่งได้ส่งไปถวายกันทั่วไปโดยรอบเท่าที่สามารถจะไปได้, ตามกำหนดเวลาที่เคยมา. พระภิกษุต่างก็พร้อมกันมาสู่ในที่ชุมนุมชนเป็นอันมาก, แล้วและมีการแสดงธรรมเทศนา๑๕๔ ครั้นเสร็จแล้วจึงไปกระทำการถวายเครื่องสักการบูชาสตูปพระสารีบุตร ด้วยดอกไม้และเครื่องหอมทุกชนิด. ตลอดในเวลากลางคืนได้ตามประทีปโคมไฟไว้สว่างไสวและอบอุ่นไปด้วยความร้อน, ผู้ชำนาญการดนตรีที่จ้างมา ก็กระทำการบรรเลง๑๕๕อยู่เรื่อย ๆ ไป.
ครั้นเมื่อพระสารีบุตรเป็นมหาพราหมณ์, ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระพุทธองค์, ขอ (ประทานอนุญาต) สละจากครอบครัวของตน (เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ). พระมหาโมคคัลลายนะกับพระมหากัศยปะ๑๕๖ก็ได้กระทำดุจเดียวกัน. ภิกษุณี๑๕๗ทั้งหลายส่วนมากที่ไปกระทำการสักการะบูชาต่อสตูปพระอานนท์นั้น, ก็เพราะเหตุว่า พระอานนท์เป็นผู้ที่ได้ร้องขอเกียรติศักดิ์ในโลกนี้ให้, จนครั้งหนึ่ง (พระพุทธองค์) ได้ทรงยอมประทานพุทธานุญาตให้สตรีสละครอบครัว (เข้าบรรพชาเป็นภิกษุณีได้). ส่วนสามเณร๑๕๘โดยมากก็ถวายเครื่องสักการบูชาแต่พระราหุล.๑๕๙อาจารย์ฝ่ายอภิธรรม๑๖๐ก็กระทำสักการบูชา (สตูป) พระอภิธรรม. อาจารย์ฝ่ายวินัยก็กระทำการสักการบูชา (สตูป) พระวินัย. ณ ที่นี้มีการกระทำการสักการบูชาเช่นนี้ทุก ๆ ปี, ใคร (นิยมบูชาสตูป) ชนิดใด, ก็กระทำตามวันที่กำหนดนมัสการสำหรับสิ่งที่ตนเคารพนั้น. ส่วนพวกนิกายมหายานก็กระทำการสักการบูชาปรัชญา-ปารมิตา,๑๖๑ มัญชุศรี.๑๖๒ และกวัน-ชิ-ยิน.๑๖๓ เมื่อภิกษุสงฆ์ได้กระทำการรับทานบรรณาการประจำปี (จากฤดูเกี่ยวข้าว) แล้ว.๑๖๔ พวกหัวหน้าไวศยะกับพราหมณ์ทั้งหลาย, ก็จัดสรรผ้าและสิ่งของอย่างอื่น ๆ, ตามที่พระภิกษุจำต้องประสงค์สำหรับใช้สอย, (ถวาย) เพื่อแจกจ่ายกันในระหว่างสงฆ์. เมื่อภิกษุทั้งหลายได้รับดังนั้นแล้ว, ต่างก็แบ่งเฉลี่ยออกเป็นส่วน ๆ แจกจ่ายแก่ภิกษุอื่น ๆ โดยทั่วกัน. นับตั้งแต่พระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุถึงนิพพาน๑๖๕ล่วงแล้วมา, แบบธรรมเนียมแห่งจารีตพิธี, ศีลธรรมและวินัย, ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาด้วยความบริสุทธิ์ของหมู่ชนทั้งหลาย, ด้วยความนอบน้อมสืบต่อมาตลอดชั่วอายุกาล, โดยปราศจากการหยุดยั้งเสื่อมคลาย.
จากสถานที่นี้ฟาเหียนกับพวกได้ออกเดินทางข้ามแม่น้ำสินธูลงไปทางภาคใต้ของอินเดีย, จนบรรลุถึงทะเลใต้, เป็นระยะทางสองพันหรือสองพันห้าร้อยโยชน์, ตลอดทางเป็นที่ทุ่งราบโล่ง, ไม่มีเนินเขาใหญ่และลำห้วยธาร, มีแต่เพียงกระแสน้ำในลำแม่น้ำเท่านั้น.
-
๑๔๐. มุตตระ ‘เมืองนกยุง’ แลตติจู๊ต ๒๗° ๓๐′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๗๗° ๓๓′ ตะวันออก (พราน). เป็นสถานที่เกิดของกฤษณะ, ซึ่งมีรูปงามเปรียบประดุจนกยูง. ↩
-
๑๔๑. แม่น้ำนี้ต้องเป็นยุมน, หรือยมมุนา. แต่เหตุไรฟาเหียนจึงเรียกปูนานั้น, ยังหาคำอธิบายไม่ได้. ↩
-
๑๔๒. ในบาลีใช้คำว่ามัชฌิมประเทศ, ‘แว่นแคว้นภาคกลาง.’ (ดูพุทธประวัติของ Davids’ Buddhist Stories หน้า ๖๑). ↩
-
๑๔๓. จัณฑาล, ปทานานุกรม กรมตำรา หน้า ๑๗๓ ว่า คนชาติต่ำ, คนพันทาง. (เกิดจากบิดาเป็นศูทร์มารดาเป็นพราหมณ์. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายว่า คนที่เกิดแต่วรรณะ ๔ เหล่า สมสู่กับวรรณะอื่นจากพวกของตน เช่น พวกพราหมณ์ได้กับศูทร์ มีบุตรออกมาจัดเป็นอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า จัณฑาล (พุทธประวัติ เล่ม ๑ หน้า ๘). Eitel หน้า ๑๔๕-๑๔๖ อธิบายนามคำนี้ว่า คนฆ่าสัตว์เอาเนื้อขาย. คนชั่วหรือคนพาล. และธงหรือเครื่องหมายที่เขาถือเคาะไปนั้น เพื่อเป็นการบอกล่วงหน้าแต่ไกลเสียก่อนดีกว่า. เพราะเขาเป็นคนตระกูลต่ำที่สุด. และเป็นที่รังเกียจประมาทหมิ่นของชาวอินเดีย. แต่อย่างไรก็ดี, ถ้าเมื่อได้กลับความประพฤติเป็นคนเรียบร้อยแล้ว, ทางพระพุทธศาสนาก็ยอมรับให้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุด้วยได้. ↩
-
๑๔๔. ดู หน้า ๕๕ บทที่ ๑๒ โน๊ต ๑. พุทธปรินิพพาน เท่ากับความว่า พระพุทธองค์สวรรคต. ↩
-
๑๔๕. ไวศยะ. ดูหน้า ๖๓ บทที่ ๑๓ โน๊ต ๒ ↩
-
๑๔๖. ดูคำบรรยายในบทที่ ๓๙ ซึ่งได้มีการตระเตรียมกระทำกันเป็นพิเศษเช่นเดียวกันนี้. ไม่ต้องสงสัยในสมัยฟาเหียน สิ่งนี้ย่อมมีมาก่อนแล้วและภายหลัง. ตามธรรมเนียมของการจารึกเช่นนี้, มักจารึกกันลงบนแผ่นเหล็กเคลือบ. ↩
-
๑๔๗. หนังสือ Davids Manual หน้า ๑๖๓ กล่าวว่า ไม่มีพระภิกษุรูปใดจะบริโภคอาหารข้นได้ในเวลาวิกาล, นอกจากภายในเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเที่ยงวัน, และรวมทั้งงดเว้นไม่ดื่มเครื่องดองของมึนเมาทั้งหลาย, อันเป็นกิจจำต้องปฏิบัติตลอดทุกเวลานั้นด้วย. อาหารที่บริโภคเมื่อล่วงพ้นเวลาเที่ยงวันไปแล้ว เรียกว่าวิกาล, อันเป็นสิ่งต้องห้าม. แต่ผู้เดินทางมาอ่อนเพลียอาจรับอาหารเครื่องว่างบางอย่างในอเทศกาลได้. Watters แสดงว่าอาหารพวกนี้คือ น้ำผึ้ง เนย น้ำอ้อยเหนียว น้ำมันงา. (Ch. Rev. ๘ หน้า ๒๘๒). ดูวินัยมุข เล่ม ๑ หน้า ๑๔๑-๑๔๓ และ ๑๔๘. ↩
-
๑๔๘. ตามสำนวนที่กล่าวตรงนี้เป็นอะไรบ้าง ทำให้เข้าใจยาก. แต่มีอีกแห่งหนึ่งในบทที่ ๓๘ มีความหมายชัดเจน. (ดูหนังสือของ Watters Ch. Rev. ๘ หน้า ๒๘๒-๒๘๓. และ Sacred Books of the East เล่ม ๒๐ หน้า ๒๗๒-๒๗๖) และต่อไป, กล่าวบรรยายไว้ยืดยาว. การต้อนรับอาคันตุกะ, ดูวินัยมุข เล่ม ๒ กัณฑ์ที่ ๑๔ ว่าด้วยกิจวัตร หน้า ๕๖-๕๘. ↩
-
๑๔๙. สารีบุตร, (สิงห, เสริยุต), เป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์. และความจริงก็เป็นผู้ซึ่งคงแก่เรียนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในคุณธรรมยิ่งนัก, ดังนั้น จึงได้นามว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาและความรอบรู้ในวิทยาการทั้งปวง. และอาจกล่าวได้ว่าเป็นประดุจดั่งพระหัตถ์เบื้องขวาของพระพุทธองค์ ที่คอยติดตามปรนนิบัติรับใช้อยู่ทุกขณะ. นามว่าสารีบุตร เนื่องมาจากนามของมารดาว่าศาริกา, ผู้เป็นภรรยาของติศยะ, ชาวเมืองนาลันทะ ในสมุดของ Spence Hardy ปรากฏนามที่ใช้เรียกบ่อยๆ ว่าอุปติสสะ (อุปติสยะ) ซึ่งบังเกิดจากนามทางฝ่ายบิดาของพระสารีบุตร, กล่าวกันว่าวิทยาศาสตร์ในครั้งพุทธการเป็นอันมากมีขึ้นเพราะพระสารีบุตร, และความจริงพระสารีบุตรก็เป็นผู้เจริญตามรอยพระอภิธรรมจนประจักษ์แจ้งแก่ตน, ดั่งที่คนทั้งหลายพบเห็น, พระสารีบุตรนิพพานก่อนองค์พระศากยมุนี. (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๗๙-๒๘๗. และ Eitel หน้า ๑๒๓-๑๒๔. ↩
-
๑๕๐. ชาวสิงหฬเรียกมุคลัน ตามสำเนียงที่พวกเขาพอจะเปล่งเสียงออกได้ตามถนัด. ท่านองค์นี้เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้ายขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า. เป็นผู้มีชื่อเสียงว่ามีอำนาจในทางญาณและอิทธิฤทธิ. ในนามท่านผู้นี้แต่เดิมถูกซัดว่าเป็นทุสิทะ ช่างวาดเขียนแกะสลักคนหนึ่ง, ที่ต่อมาได้แกะรูปพระศากยมุนีขึ้นองค์หนึ่ง. (เทียบเคียงดูคล้ายคลึงกับเรื่องราวในบทที่ ๖). พระโมคคัลลานะได้ไปนรกโปรดมารดา. ดับขันธ์ก่อนสมเด็จพระศากยมุนี. (ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๗๙-๒๘๗. และ Eitel หน้า ๖๕). ↩
-
๑๕๑. อานนท์, ดูหน้า ๕๔ บทที่ ๑๒ โน๊ต ๒. ↩
-
๑๕๒. ประเภทธรรมต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก. (ดูหน้า ๑๒ บทที่ ๑ โน๊ต ๒). ↩
-
๑๕๓. จะแปลความตอนนี้ให้ดีกว่าถ้อยคำเท่าที่ปรากฏอยู่นั้น. ไม่เป็นการที่จะทำได้ง่าย ๆ, พวกบ้านใกล้เรือนเคียงจะแข่งขันกันว่า ใครจะศรัทธากล้าแข็งมากกว่ากันดั่งนั้นกระมัง ? ↩
-
๑๕๔. งานมีธรรมเทศนาเช่นนี้ ในเมืองจีนก็มีอยู่บ้างนาน ๆ ครั้งหนึ่ง. ที่โอซากาประเทศญี่ปุ่นก็ปรากฏว่าเคยมี ตามที่ James Legge เล่าถึงพิธีการมีการเทศน์ในประเทศจีน ก็เช่นเดียวกับที่ทำในสยาม. แต่แทนที่จะยกมือประณมขึ้นสาธุอย่างไทย. พวกจีนจะน้อมศีรษะของตนลงเป็นคราว ๆ ในเมื่อได้ฟังคำเทศนารู้สึกจับใจ. Legge ว่าคล้ายกับเมื่อครั้ง Tomas Caryle แสดงสุนทรพจน์ในที่ประชุม Ironside ของ Oliver Cromwell. ↩
-
๑๕๕. ข้อความที่กล่าวไว้ในประโยคสุดท้ายตอนนี้ เป็นความต้องการของหนังสือสำหรับประชาชนที่เป็นจีน. ↩
-
๑๕๖. พระมหากัศยปะองค์นี้ เป็นพราหมณ์ชาวมคธ, พระพุทธองค์ทรงโปรดให้กลับความประพฤติเข้าอุปสมบทเป็นพุทธสาวกองค์หนึ่ง. ภายหลังเมื่อองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว, ท่านผู้นี้ได้เป็นหัวหน้าให้มีการชุมนุมเถรานุเถระกันเป็นครั้งแรก, และให้นามการประชุมสงฆ์ครั้งนี้ว่า อารยะสตวิระ ซึ่งเป็นมูลนิกายเถรวาท สถวิรวาท หรือหินยานขึ้นภายหลัง. อันเป็นปฐมเหตุแห่งการสังคายนา, ที่รวบรวมพระธรรมวินัยทั้งหลายขึ้นไว้เป็นหลักฐานสืบมา. ท่านองค์นี้นับได้ว่าเป็นกระแสชลธารที่ให้ความร่มเย็นแก่ประชาชนชาวจีน ผู้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยอันเคร่งครัดทั้งหลาย, ซึ่งพวกจีนยกย่องท่านไว้ในตำแหน่งที่เคารพนับถืออย่างสูงสุด, รองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. และว่าจะได้มาบังเกิดตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้าต่อไปอีกครั้งหนึ่ง. (ดู Eitel หน้า ๖๔). ↩
-
๑๕๗. ภิกษุณี เป็นสมณะฝ่ายสตรี อยู่ในบังคับแห่งวินัยบัญญัติดุจเดียวกันกับพระภิกษุทั้งหลาย, แต่มีวินัยบังคับเพิ่มเป็นพิเศษสำหรับเหนี่ยวรั้งไว้อีก. และคณะสงฆ์ภิกษุณีนัยว่าได้สิ้นสุดลงเพียงคณะพระสังฆมิตตาภิกษุณีราชบุตรีพระเจ้าอโศกราชเท่านั้น. (ดู ปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๗๘-๓๘๑. และ Hardy’s E. M. บทที่ ๑๗. กับ Sacred Books of the East, เล่ม ๒๐ หน้า ๓๒๑). ↩
-
๑๕๘. สามเณร, เป็นยุวพรหมจรรย์ที่พึ่งฝึกหัดเข้าอุปสมบท, จะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ได้, ต้องเข้าสมาทานปฏิญาณตนรับบำเพ็ญสิกขาบทหรือศีล ๑๐ ประการ. ฟาเหียนเป็นคนหนึ่งที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรมาแต่เมื่อยังเยาว์วัย. เริ่มต้นด้วยการสมาทานเพ่งเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง, แล้วรับสมาทานศีล ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นข้อห้ามให้งดเว้น คือ : - ๑. ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต. ๒. กระทำอทินนาทาน. ๓. กระทำการลามกอนาจาร. ๔. กล่าวคำเท็จ. ๕. ดื่มเครื่องดองของเมา. ๖. บริโภคอาหารหลังเวลาเที่ยง. ๗. เต้นรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี แบบแสดงละคร ๘. ดมดอกไม้ ใช้เครื่องหอม น้ำมันหอม และตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับใด ๆ. ๙. นอนบนที่นอนสูงและใหญ่เกินขนาด. ๑๐. รับทองคำและเงิน. ดู Davids Manual หน้า ๑๖๐. Hardy’s E. H. หน้า ๒๓-๒๔. ↩
-
๑๕๙. พระราหุล เป็นราชโอรสขององค์สมเด็จพระศากยมุนีกับพระนางยโสธรา, เข้าอุปสมบทตามพระราชบิดาและเป็นผู้คอยติดตามรับใช้ปรนนิบัติ. ภายหลังที่พระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว. ได้เป็นผู้ตั้งสถานการศึกษาฟิลอโซฟี (วิพาสิกะ) ขึ้น. ท่านองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือของภิกษุสามเณรทั่วไป, และว่าจะกลับชาติอุบัติขึ้นเป็นเชฏฐโอรสของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลต่อไป, Eitel หน้า ๑๐๑. พระราชมารดาก็ว่าจะกลับชาติไปอุบัติในตำแหน่งเดิมดุจเดียวกัน ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๐๓, ๓๓๐. ↩
-
๑๖๐. ดูหน้า ๑๒ บทที่ ๑ โน๊ต ๒. ↩
-
๑๖๑. ปารมิตา มี ๖ ประการ, (แต่บางแห่งเพิ่มขึ้นถึง ๑๐), เป็นที่หมายอันจะผ่านไปสู่นิพพาน คือ ความเมตตากรุณา. ประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม. มีความเพียร. ความอุสาหะ. สงบอารมณ์ตรึกตรอง. ดำรงสติปัญญา (ปรัชญา). ต่ออีกให้ครบ ๑๐ ประการ คือ หาผลประโยชน์ตนแต่พอควร. ศึกษาศิลปวิทยา. ปฏิญาณตนเป็นคนเคารพต่อพระศาสดาและศาสนาอย่างแท้จริง. ตั้งความมานะข่มขี่น้ำใจตน. เหล่านี้เป็นปรัชญาโดยเฉพาะที่บุคคลจะถือพาเอาไปข้ามสังสารถึงฝั่งนิพพาน. (ดู Eitel หน้า ๙๐). ↩
-
๑๖๒. พระมัญชุศรี. ตามฉบับ Eitel หน้า ๗๑-๗๒ ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่ง. ในปัจจุบันนี้เป็นที่เคารพนับถืออย่างพิเศษในภาคดินแดนชานสี. พงษาวดารและนิยายของพระโพธิสัตว์องค์นี้ปะปนกันยุ่งเหยิงมาแต่เดิม, จนหมดหวังที่จะจับต้นชนปลายให้ถูกต้องได้. ฟาเหียนว่าเป็นที่เคารพนับถือของนิกายฝ่ายมหายาน, พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นผู้สั่งสมการศึกษาลัทธินิกายมหายานสืบมา. แต่ Shüan Chwang ว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นที่เคารพนับถือและเกี่ยวข้องด้วยการศึกษาฝ่ายลัทธิโยคาวจร หรือตันตระมายา. ที่ฝ่ายผู้ศึกษามหายานนับถือและยกย่องไว้เป็นที่เคารพ, ก็ด้วยมีกล่าวอยู่ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาแจ่มใสบริสุทธิ์. นามของพระโพธิสัตว์องค์นี้ที่ใช้กันโดยสามัญทั่วไปนั้น ก็คือมหามติ, และกุมาร-ราช, กษัตริย์ผู้เป็นครูสั่งสอน, มีแขนหนึ่งพันและอุ้มบาตรได้ร้อยใบ. ตามหนังสือลัทธิของเพื่อน ภาค ๔ ตอน ๒ หน้า ๓๒ ว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์ที่ ๔ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ามัญชุโฆษ เป็นโพธิสัตว์ประจำปัญญา มีกำเนิดจากรัศมีนลาฏพระศากยมุนีพุทธ์ มีหน้าที่กำจัดอวิชชาความโง่เขลา เป็นประธานในธรรม และช่วยเหลือผู้ประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปในโลก เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๒๕๐ ปี พระมัญชุศรีได้ไปประกาศศาสนาที่แคว้นเนปาล. ↩
-
๑๖๓. กวัน-ชิ-ยิน, มีเรื่องราวคำสั่งสอนอันเป็นความลึกลับมาก, ใกล้เคียงดุจดั่งมัญชุศรี. นามในภาษาจีนแปลงมาผิดจากนามที่เรียกในภาษาสํนสกฤตว่า อวโลกิเตศวร ผู้เล็งแลครอบครองโลก. หรือผู้เล็งแลดูสัตวโลก. และเป็นผู้ถือเอาภาระหรือเพ่งเล็งอยู่ทางทิศใต้แห่งโลก. ผู้ฟังความเป็นไปของมนุษยโลก. แต่เดิมทีเดียวว่าอยู่ในธิเบต. อวโลกิเตศวรองค์นี้เป็นบุรุษ. แต่มีเทพเจ้าในจีนและญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่ง, จีนเรียกกวัน-ยิน. ญี่ปุ่นเรียกกวัน-นอน. เทพเจ้าองค์นี้แสดงว่าเป็นสตรี, ผู้มีความเมตตาอันใหญ่หลวง, มีแขนหนึ่งพัน, และมีตาหนึ่งพัน, ประทับนั่งเป็นประธานอยู่บนเกาะปอู-ตอู, ชายฝั่งทะเลแห่งประเทศจีน, ซึ่งเป็นสถานที่ตามแบบอย่างที่ควรจะเดินทางไปนมัสการ. กวัน-ชิ-ยินองค์ที่ฟาเหียนกล่าวถึงนี้ คงต้องหมายเฉพาะถึงพระอวโลกิเตศวรแน่. แต่ทำไมฟาเหียนจึงกลับเอามาเรียกนามปนไปกับนางเทพเจ้าผู้ทรงความเมตตากรุณา, ซึ่งมีสถานที่เคารพอยู่ในประเทศจีนปัจจุบันนี้นั้น, เป็นเรื่องที่จะพิจารณาให้จะแจ้งไม่ได้ง่าย ๆ, (ดูสมุดคู่มือของ Eitel หน้า ๑๘-๒๐ กับปาฐกถาว่าด้วยเรื่องพุทธศาสนาของ Eitel ครั้งที่ ๓ หน้า ๑๒๔-๑๓๑. ลัทธิของเพื่อน หน้า ๑๔๔-๑๔๕). ↩
-
๑๖๔. เทียบเคียงดูกับเรื่องราวที่กล่าวในบทที่ ๕. ↩
-
๑๖๕. นิพพานตรงนี้ต้องไม่ใช่เป็นเสด็จดับขันธปรินิพพาน. แต่เป็นเมื่อเวลาตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์แล้วต่อมา. ↩