บทที่ ๓๔

กลับย้อนไปทางปัตนะอีก. นครพาราณสี.

พฤติการณ์ในตอนแรกที่พระศากยมุนีพุทธองค์บรรลุสัมโพธิญาณแล้ว.

ฟาเหียน๓๔๙เดินทาง (จากที่นี่) กลับไปทางปาฏลิบุตร,๓๕๐ เลียบไปตามวิถีของแม่น้ำกันจีส์ (คงคา) โดยทางทิศตะวันตก. ภายหลังเมื่อได้เดินทางไปแล้ว ๑๐ โยชน์, ฟาเหียนได้พบวิหารแห่งหนึ่งนามว่าป่าชัฏ. เป็นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์มาพัก, และบัดนี้ก็ยังเป็นสถานที่ที่พระภิกษุอาศัยอยู่.

โดยทางเดียวกันนี้ต่อไปทางทิศตะวันตก, ภายหลังเมื่อได้เดินทางไปได้ ๑๒ โยชน์, ฟาเหียนก็บรรลุถึงนครพาราณสี๓๕๑ในแว่นแคว้นแห่งกาศี. จากนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๐๐ เส้นกว่านิดหน่อย, ฟาเหียนได้พบวิหารในสวนของมฤคฤษี.๓๕๒ สวนแห่งนี้แต่กาลก่อนเป็นที่พักอาศัยของพระปัจเจกพุทธะ๓๕๓องค์หนึ่ง, และในเวลากลางคืนมีกวางเคยมาหยุดพักอยู่เสมอ. เมื่อเวลาที่พระบรมโลกนาถใกล้จะตรัสรู้บรรลุญาณปัญญาอันบริสุทธิ์, ฝูงเทวาได้เปล่งเสียงร้องลงมาจากนภากาศว่า พระราชกุมารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ๓๕๔ได้สละจากพระราชวงศ์ของพระองค์มาศึกษาเล่าเรียนวิถี (แห่งญาณปัญญา), จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าภายใน ๗ วันนี้. พระปัจเจกพุทธะได้ฟังถ้อยคำ (เทวา) ทั้งหลาย, ในทันทีนั้นก็บรรลุปรินิรพาน. ด้วยสาเหตุที่กล่าวแล้ว สถานที่นี้จึงได้นามว่า อุทยานของมฤคฤษี.๓๕๕ ภายหลังเมื่อพระบรมโลกนาถทรงบรรลุญาณปัญญาอันบริสุทธิ์แล้ว. จึงมีผู้สร้างวิหารขึ้นในที่นี้.

พระพุทธองค์ปรารถนาจะทรงโปรดโกณฑัญญะ๓๕๖กับสหายของโกณฑัญญะอีก ๔ คน, แต่โกณฑัญญะกับสหาย (ทราบความมุ่งหมายของพระองค์เสียก่อนแล้ว), กล่าวคำปรารภซึ่งกันและกันว่า พระสมณโคตม๓๕๗ได้อดทนฝึกฝนกระทำทุกกรกิริยาอย่างเคร่งครัดมาแล้ว ๖ ปี, (จนถึง) เสวยอาหารวันละครั้งเดียวทุกๆ วันด้วยข้าวเมล็ดเดียว, แต่ปราศจากความบรรลุถึงวิถี (ตรัสรู้สัมโพธิญาณ) บัดนี้พระองค์กลับเข้าไปในระหว่างบุคคล (อีก) พฤติการณ์ของพระองค์เช่นนี้อย่างน้อยที่สุดผลจะเป็นประการใด, ในเมื่อพระองค์ปล่อยสายบังเหียน (ให้เป็นไปตามอำเภอใจ) ของร่างกาย, ของถ้อยคำ และของความคิดของพระองค์ดั่งนี้. พระองค์จะกระทำฉันใดกับมรรคา (แห่งความตรัสรู้สัมโพธิญาณ) ได้ ? เมื่อพระองค์มาสู่สำนักเราวันนี้. เรายอมให้พระองค์มาประทับอยู่บนนี้ด้วยความระมัดระวังของเราที่จะไม่สนทนาปราศรัยกับพระองค์

ณ สถานที่ซึ่งบุคคลทั้ง ๕ ลูกขึ้นกระทำการคารวะด้วยความนับถือยำเกรง (ต่อพระพุทธองค์) ในขณะเมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปสู่บุคคลทั้ง ๕. และจากสถานที่นี้ไปทางทิศเหนือ ๖๐ ก้าว, พระพุทธองค์ลงนั่งประทับหันพระพักตร์ไปทางตะวันออก, ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดโกณฑัญญะกับสหายทั้ง ๔. เลยไปทางทิศเหนือ ๒๐ ก้าว เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ประทานคำพยากรณ์ว่าด้วยเรื่องพระไมเตฺรย.๓๕๘ และสถานที่อีกแห่งหนึ่งไปทางใต้โดยระยะทาง ๕๐ ก้าว, พระยานาคเอลาปัททร๓๕๙กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า เมื่อไรข้าพระพุทธเจ้าจะได้รับความอิสสระพ้นจากร่างกายของนาค ? ณ สถานที่ทั้งหมดเหล่านี้มีสตูปซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วทุกแห่ง, และยังคงมีปรากฏอยู่. ใน (สวน) ที่นี้มีอารามอยู่ ๒ แห่ง, มีพระภิกษุตั้งที่สำนักอยู่ทั้ง ๒ อาราม.

เมื่อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ, จากวิหารมฤคอุทยานโดยระยะทาง ๑๓ โยชน์, ณ ที่นั้นเป็นราชอาณาเขตแห่งหนึ่งนามว่าโกศามพี.๓๖๐ มีวิหารของอาณาเขตนี้อยู่แห่งหนึ่งนามว่าโฆจิรวนะ,๓๖๑ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งแต่กาลก่อนพระพุทธองค์เคยพักอาศัย. บัดนี้ก็ดุจเดียวกันกับแต่ก่อน. ณ สถานที่นี้มีพระภิกษุพุทธบริษัทอยู่สำนักอาศัย. พระภิกษุโดยมากศึกษาเล่าเรียนทางนิกายหินยาน.

จากสถานที่ไปทางตะวันออก. เมื่อได้เดินทางต่อไป ๘ โยชน์, เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงทรมานมารร้าย๓๖๒. กับสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพระราชดำเนิน (จงกรม) แล้วและเสด็จไปประทับนั่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่หยุดพักของพระองค์เสมอ. ณ ที่นี้มีสตูปที่ได้ก่อสร้างขึ้นไว้แล้วทุกแห่ง. และดุจเดียวกัน ณ ที่นี้เป็นอารามแห่งหนึ่ง. ซึ่งสามารถจะบรรจุพระภิกษุไว้ได้ตั้งร้อยกว่า.

  1. ๓๔๙. ตอนที่กล่าวนี้เป็นฟาเหียนคนเดียว, เช่นเดียวกับในตอนที่ฟาเหียนขึ้นเยี่ยมบนเขาคิชฌกูฏ. ตาว-จิงเพื่อนเดินทางของฟาเหียนที่เหลืออยู่อีกคนหนึ่ง, คงจะตกค้างอยู่เสียที่ปัตนะ, ในครั้งที่เขาทั้งสองแรกไปถึงนั้น.

  2. ๓๕๐. ดูบทที่ ๒๗ หน้า ๑๔๐ โน๊ต ๑.

  3. ๓๕๑. พาราณสี, ตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำคงคา, ซึ่งมีลำแม่น้ำยุมนาไหลลงมาบรรจบกันตอนใต้ใกล้กับนครแห่งนี้ และล้อมนครเกือบรอบ. ในปัจจุบันนี้เรียกเพนาเรส, แลตติจู๊ต ๒๕° ๒๓′ เหนือ, ลองติจู๊ด ๔๓° ๕′ ตะวันออก.

  4. ๓๕๒. คือที่เรียกในปฐมสมโพธิว่า อิสิปตนมฤคทายวัน, อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์. เดี๋ยวนี้เรียกตำบลสารฺนาถ มฤคฤษีตนนี้ Eitel กล่าวว่า มีร่างกายอันประกอบขึ้นบริบูรณ์อย่างบุรุษธรรมดา, เพราะความเพียรอดทนที่ได้แปลงร่างของตนโดยฤทธิ์อำนาจของสมาธิเจริญภาวนาอย่างเคร่งครัดที่สุด ดังนั้น จึงอยู่ได้ตลอดมาโดยไม่มีกำหนดกาลเวลา, พ้นจากความแก่ชราด้วยอายุและมรณะ. ความเชื่อถือเช่นนี้ได้ขยายกว้างขวางออกไปถึงว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อาจยืนยาวทนทานอยู่ได้เกินกว่าปกติธรรมดา, ซึ่งความเชื่อถือชนิดนี้เรียกกันว่าอมฤต. ฤษีแบ่งชั้นไว้ต่างๆ กัน, ตามลัทธิของโยคีกล่าวไว้ว่า วิถีที่จะข้ามวัฏฏสงสารมี ๗ แพร่ง, และฤษีก็แบ่งเป็น ๗ ชั้นดุจเดียวกัน, ตามกำลังของความคิดเห็นที่เพ่งอยู่. ในลัทธิเต๋าดุจเดียวกับลัทธิพุทธะและศีลของลัทธิชิน.

  5. ๓๕๓. ดูบทที่ ๑๓ หน้า ๕๖๗ โน๊ต ๓.

  6. ๓๕๔. ดูบทที่ ๒๒ หน้า ๑๑๕ โน๊ต ๒

  7. ๓๕๕. มีนิยายที่เกี่ยวกับสวนแห่งนี้อีกเรื่องหนึ่งเรียกว่า ป่าไม้งาม, อยู่ในโน๊ตของหนังสือฉบับที่ Beal’s แปลครั้งแรก หน้า ๑๓๕.

  8. ๓๕๖. โกณฑัญญะเป็นราชวงศ์แห่งมคธราราชองค์หนึ่ง, เป็นพระปิตุล ฝ่ายพระราชชนนี ของพระศากยมุนี. มีผู้เรียกนามว่า อัชญาต. โดยหมายถึงว่าเป็นผู้ฝึกตนเอง. นอกจากนี้ที่ปรากฏบ่อยๆ นั้นว่า อัชญาติโกณฑัญญะ. (บาลี. อัญญาโกณฑัญญะ) โกณฑัญญะกับเพื่อน ๔ คนคือ วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ, และอัสสชิ, ซึ่งเรียกรวมกันว่า ปัญจวัคคีย์, ชวนกันออกบวชตั้งแต่แรกที่พระศากยมุนีเสด็จออกบรรพชา. แล้วติดตามไปอยู่ปรนนิบัติพระศากยมุนีอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ (อุรุวิลวา) ด้วยความสมเพช, ตลอดเวลาที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่อย่างเคร่งครัดที่สุด, โดยความเลื่อมใสและหวังว่าพระองค์จะสำเร็จสัมโพธิญาณได้โดยทางนี้. ครั้นเมื่อพระศากยมุนีทรงละทุกกรกิริยากลับปฏิบัติในทางมัชฌิมาปฏิปทา, ปัญจวัคคีย์หมดความเลื่อมใส, จึงหนีกลับมาอยู่อิสิปตนมฤคทายวันบำเพ็ญพรตอยู่ตามลำพัง. ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๒๖-๑๓๔ และ ๑๓๘.

  9. ๓๕๗. ปัญจวัคคีย์สิ้นความเลื่อมใสต่อองค์พระศากยมุนีดั่งได้กล่าวแล้วในโน๊ตก่อน. กับทั้งไม่ทราบว่าพระองค์สำเร็จพระโพธิญาณแล้วด้วย, จึงไม่ประสงค์ที่อยากจะรับรองพระองค์ในคราวที่จะเสด็จมาโปรดครั้งนี้โดยควรแก่เกียรติคุณ. แต่ในที่สุดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา, เริ่มต้นด้วยธัมมจักกัปปวัตนสูตรและอื่นๆ ต่อไปแล้ว, ก็กลับเลื่อมใสและสำเร็จพระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์. ซึ่งเป็นปฐมกาลที่มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๖ องค์, รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วย. ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๒๒๖-๒๒๘ และ ๒๔๓-๒๔๔. กับ M. B. หน้า ๑๘๖.

    โคตม, คำนี้ดูเหมือนฟาเหียนเพิ่งใช้เป็นคำแรกในสมุดเล่มนี้. ด้วยหมายถึงว่าโคตมเป็นนามเดิมของพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธองค์. ที่ใช้ดั่งนี้รวมความได้ว่า พระศากยพุทธองค์นั้น คือพระพุทธองค์เป็นศากยะโดยชาติกำเนิด. พระศากยมุนีนั้นคือพระศากยะโดยเพศ. ที่ในภาษาจีนใช้คำทั้งสองสำหรับเรียกพระพุทธองค์อย่างธรรมดาสามัญนั้น, ข้าพเจ้าคิดว่าดีที่สุดและสมควรแล้ว. แต่ในระหว่างพวกชาวพุทธศาสนิกชนอื่นๆ, ยังมีคำว่าพระโคตมหรือพระพุทธโคตม ใช้เป็นนามที่ตั้งให้พระพุทธองค์อีก. Oldenberg สารภาพว่าในการที่เกิดมีนามว่าโคตมขึ้นในวงศ์ศากยะนั้น, ไม่ใช่เรื่องที่จะวิจารณ์กันได้ง่าย ๆ. และกล่าวต่อไปอีกว่า ศากยะเป็นนามธรรมดาสำหรับตระกูลผู้ดีของชาวอินเดียพวกหนึ่ง, ซึ่งอาจยืมมาจากวงศ์ของพวกบาร์คแต่โบราณ, ที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไวทิกของชาวฮินดูนั้นก็ได้. Dr. Darvids’กล่าว (Buddhism หน้า ๒๗) ว่า โคตมน่าจะเป็นนามที่มีในราชสำนักนี้จริง, และกล่าวเพิ่มเติมในโน๊ตอีกว่า เป็นที่น่าประหลาดที่ทราบกันมาอย่างไรว่า โคตมเป็นนามพระยุพราชของนครที่รู้จักกันว่ากบิลพัสดุ. Dr. Eitel กล่าวว่า โคตมเป็นนามนักบวซของวงศ์ศากยะ, ซึ่งเนื่องมาจากพระฤาษีโคตมอันเป็นต้นสกุลแต่โบราณ. นี่เราจะพยายามดำเนินตามรอยได้โดยสถานใด, ในการที่จะเอาเรื่องฤษีของฝ่ายพราหมณ์มาติดต่อเข้ากับราชวงศ์ศากยะ ตามพงศาวดารต่าง ๆ ของอินเดียรวมทั้ง Nanjio’s Catalogue ด้วย, พบข้อความอีกนิดหน่อย, แต่ก็ไม่มีหลักฐานอันครรเชื่อได้ยิ่งไปกว่าความเคลื่อนไปมาของทราย ดู E. H. หน้า ๑๐๘-๑๐๙ ในคำว่า ศากยะ. ในการที่จะให้เรารับเอาง่าย ๆ ว่า โคตมเป็นนามเดิมของพระพุทธองค์นั้น, ต้องขอตั้งปัญหาไว้พลางก่อน.

  10. ๓๕๘. ดูบทที่ ๖ หน้า ๓๙ โน๊ต ๑. พระพุทธพยากรณ์ว่าพระไมเตฺรยจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อไปในอนาคตนั้น, ได้เคยมีพระพุทธดำรัสที่นิโครธารามครั้งหนึ่งแล้ว. แต่นี่มากล่าวว่ามีพระพุทธพยากรณ์ที่มฤคทายวันอีก, มิเป็นการซ้ำกันอีกหนหนึ่งดังนั้นหรือ ?

  11. ๓๕๙. เรื่องราวของนาคตนนี้ตามที่ปรากฏในอรรถกถาธรรมบทภาค ๖ มีชื่อว่า เอรกปัตตนาคราช ในสมัยของพระกัศยปพุทธะ นาคตนนี้เป็นภิกษุรูปหนึ่งโดยสารเรือไปในแม่น้ำคงคาทำใบตะไคล้น้ำขาด ล่วงละเมิดพระวินัยและมิได้แสดงโทษโดยความประมาท เมื่อใกล้จะถึงมรณกรรม ระลึกกรรมนั้นได้ แต่ไม่มีภิกษุรูปใดที่จะช่วยรับการแสดงโทษด้วยกรรมนั้น เธอจึงต้องมาถือกำเนิดเป็นนาคในสมัยของพระศากยมุนี ปรารถนาจะได้พบพระพุทธองค์ จึงให้ธิดาของตนม้วนเป็นพังพานขับเพลงเป็นปัญหา ตลอดทั้งชมพูทวีปก็ไม่มีใครตอบปัญหานั้นได้ จนความทราบถึงองค์พระศากยมุนี จึงทรงแต่งคำตอบให้มาณพผู้หนึ่งไปขับเพลงตอบธิดาพระยานาค โดยเหตุนี้ จึงได้พบกับองค์พระศากยมุนี

  12. ๓๖๐. โกศามพี (บาลี-โกสัมพี) เมื่อเรียกว่ากุเสียก็จักกันบ้าง, อยู่ใกล้กับกูร์รห. แลตติจู๊ต ๒๕° ๔๑′ เหนือ, ลองติจู๊ด ๘๑° ๒๗′ ตะวันออก) ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยุมนา ห่างจากอัลลหะบัดในราว ๑,๒๐๐ เส้น.

  13. ๓๖๑. โฆจิร (บาลี-โฆสิตาราม) เป็นนามของไวศยผู้เฒ่าหรือหัวหน้าคนหนึ่ง, ซึ่งได้อุทิศสวนจะสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งถวายแด่พระพุทธองค์. Hardy (M. B. หน้า ๓๕๖) เล่าตามเรื่องราวที่ได้จากสิงหฬว่า พระศากยมุนีได้ประทับพักอาศัยอยู่ที่วิหารแห่งนี้ ๙ ปี. ไม่ปรากฏในปฐมสมโพธิ.

  14. ๓๖๒. Dr. Darvids คิดว่าเรื่องตรงนี้อาจมุ่งหมายถึงเรื่องราวอันงดงามตอนหนึ่ง, ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดอาฬวกยักษ์, ซึ่งบรรยายไว้ในอุรุควัคค อาฬวกสูตร หน้า ๒๙-๓๑ แห่ง Sacred Books of the East เล่ม ๑๐ ภาค ๒.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ