บทที่ ๒๒

นครกบิลพัสดุ. ภูมิประเทศอันรกร้างว่างเปล่า.

ตำบลที่กำเนิดของพระพุทธองค์.

และเหตุการณ์อันเป็นไปอย่างอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยภูมิประเทศแห่งนี้

จากตำบลที่กล่าวแล้วไปทางตะวันออกเกือบ ๑ โยชน์, ฟาเหียนไปถึงนครกบิลพัสดุ์.๒๓๓ แต่ภายในนครปราศจากกษัตริย์และผู้คนพลเมือง ตลอดบนเนินเป็นที่ถูกทำลายลงแล้วยับเยินจนรกร้างว่างเปล่าไปทั้งหมด. มีพลเมืองซึ่งเป็นราษฎรสามัญในราว ๒๐ หรือ ๒๒ ครัวเรือน, และมีพระภิกษุบ้างเล็กน้อย. ณ สถานที่ที่ตั้งพระราชวังโบราณของพระเจ้าสุทโธทนะ๒๓๔มีพระรูปปั้นเป็นเจ้าชาย (เชษฐโอรส) กับพระราชมารดา.๒๓๕ และ ณ สถานที่ที่พระราชโอรสทรงช้างเผือกสำแดงพระองค์ให้ปรากฏอยู่บนเนินเขา, ในขณะเมื่อจะเสด็จเข้าปฏิสนธิสู่ครรโภทร๒๓๖แห่งพระราชมารดา, กับสถานที่พระราชโอรสทรงชักรถของพระองค์กลับไปโดยรอบพระนคร ทอดพระเนตรคนเจ็บป่วยพิการ, และภายหลังได้เสด็จออกจากประตูเมือง๒๓๗ทางด้านตะวันออกไป, เหล่านี้สตูปที่ได้ก่อสร้างไว้แล้วทุกแห่ง ณ สถานที่ (ที่กล่าวแล้วข้างต้น๒๓๘) ซึ่ง (พระฤษี) อา-อี๒๓๙มาตรวจทำนายพระลักษณะ๒๔๐แห่งพระปิยราโชรส (เมื่อยังทรงพระเยาว์วัย) ให้ปรากฏ. และสถานที่ซึ่งพระราชโอรสทรงเล่นอยู่กับนันทะและเพื่อนๆ, ได้ทรงลากช้างที่ล้มแล้วตัวหนึ่งไปไว้ด้านหนึ่งแล้ว และโยนทิ้งไปไกล.๒๔๑ณ สถานที่พระองค์ทรงแผลงธนูไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะถึง ๖๐๐ เส้น, และลูกธนูไปปักลงยังพื้นดินลึกลงไปจนถึงน้ำพุผุดพุ่งขึ้นมา, ซึ่งสืบต่อมาได้มีผู้กระทำให้เป็นบ่อน้ำสำหรับให้ผู้คนเดินทางอาศัยใช้ดื่มได้.๒๔๒ ณ สถานที่ซึ่งภายหลังเมื่อพระองค์ทรงบรรลุญาณปัญญา๒๔๓เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว, ได้เสด็จกลับเข้ามาพบพระราชบิดาของพระองค์.๒๔๔ และสถานที่ซึ่งศากยราชวงศ์ทั้งหลายรวม ๕๐๐ องค์สละครอบครัวเข้ากระทำการแสดงความเคารพนับถือต่อพระอุบาลี,๒๔๕ และในขณะเดียวนั้นได้บังเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ๖ ครั้ง. ณ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาแก่เทวดาทั้งหลายกับท้าวจตุเทวราช, และมีเทวดาอื่นฯ คอยเฝ้าประตูทั้ง ๔ (ของธรรมสภา), เพื่อมิให้พระราชบิดาของพระองค์เสด็จเข้าไป.๒๔๖ ณ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ประทับสงบนิ่งอยู่ภายใต้ต้นอันยโครธ,๒๔๗ โดยผินพระพักตร์ไปทางเบื้องตะวันออก, ในขณะนั้น พระมหาปชาบดี (พระมาตุจฉา) เข้าถวายสังฆาลิ,๒๔๘ และสถานที่ซึ่งวิฑูรยกษัตริย์ประหารเผ่าพันธุ์ศากยวงศ์และในขณะที่ศากยวงศ์เหล่านั้นจะมรณะก็สำเร็จโศรตาปันนะทุกองค์.๒๔๙ ในสถานที่เหล่านี้ได้มีสตูปก่อสร้างมาแต่ก่อนแล้วทุกแห่ง, ซึ่งยังคงมีอยู่จนเดี๋ยวนี้.

เป็นระยะหลายสิบเส้น จากนครไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ, เป็นทุ่งนาหลวงสำหรับพระราชโอรสรัชทายาทไปประทับภายใต้ต้นไม้ทอดพระเนตรคนไถนา๒๕๐

จากนครไปทางตะวันออก ๓๐๐ เส้น, มีสวนแห่งหนึ่งนามว่าลุมพินี๒๕๑ เป็นสถานที่ที่พระมเหษีลงสรงน้ำใสสระนั้น, แล้วก็เสด็จขึ้นทรงพระดำเนินจากสระต่อไปข้างหน้าทางทิศเหนือ ๒๐ ก้าว, พระนางก็ยกพระหัตถ์ขึ้นโหนจับกิ่งไม้กิ่งหนึ่งไว้, ผินพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แล้วและประสูติพระราชโอรส.๒๕๒ เมื่อพระราชกุมารเสด็จลงสู่พื้นพสุธา, (ในทันใดนั้น) ก็ทรงพระราชดำเนินไป ๗ ก้าว. พระยานาค ๒ ตน (ก็สำแดงตัวปรากฏ) มากระทำการโสรจสรงชำระองค์พระสรีรกายพระราชกุมาร. ณ สถานที่ที่พระยานาคได้กระทำการแล้วดั่งนี้, ในทันใดนั้นก็กลายเป็นสระน้ำ, และสระน้ำแห่งนี้กับทั้งสระน้ำที่ (พระมเหษี) ลงสรง,๒๕๓ บัดนี้พระภิกษุได้อาศัยตักน้ำไปใช้และฉันอยู่เสมอ.

บันดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมมีสถานที่ ๔ แห่ง, ซึ่งกำหนดขึ้นไว้ตามเหตุการณ์ (ในประวัติ) อยู่เสมอกล่าวคือ สถานที่แห่งแรกเป็นสถานที่ที่พระองค์ได้บรรลุถึงญาณปัญญาอันสะอาดบริสุทธิ์ (ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า). สถานที่ที่ ๒ ทรงหมุนกลับกงล้อแห่งพระธรรม.๒๕๔สถานที่ที่ ๓ ทรงแสดงธรรมเทศนาว่าด้วยความบริสุทธิ์, และชี้แจงให้เห็นประจักษ์จริงในโอวาทที่จะพาให้หลงผิด (ของผู้เสนอมา). และที่ ๔ คือสถานที่ที่เสด็จกลับลงมาสู่เบื้องต่ำ, ภายหลังเวลาที่ได้เสด็จขึ้นไปประทับบนสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์, แสดงธรรมเทศนาโปรดให้เป็นคุณประโยชน์แก่พระพุทธมารดาแล้ว. กับสถานที่อื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์ที่เป็นไปในการสำคัญ, ตามที่ปรากฏการกระทำของพระองค์โดยถี่ถ้วนในเวลานั้น

นครกบิลพัสดุ (เวลานี้) เห็นเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยการถูกทำลายลงแล้วจนยับเยิน. ตามถนนหนทางผู้คนจะเดินไปมา, ก็ต้องคอยระวังว่าจะไปประสบเข้ากับช้างเผือก๒๕๕และสิงห์, ไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดที่จะไม่พึงต้องระวังรักษาตน.

  1. ๒๓๓. กบิลพัสดุ, เป็นนครที่งามและเป็นปิตุภูมิที่อุบัติแห่งองค์พระศากยมุนี. แต่ได้ถูกทำลายดั่งปรากฏเรื่องในโน๊ตสุดท้ายของบทนี้. นครนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ใกล้กับเมืองโคกรักปุระในปัจจุบันนี้. แลตติจู๊ต ๒๖° ๔๖′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๘๓° ๑๙′ ตะวันออก. Davids กล่าวไว้ในหนังสือ Manual หน้า ๒๕, ว่าตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโรหินี, ในปัจจุบันนี้เรียกโกหนะ,ประมาณ ๔,๐๐๐ เส้นจากนครเพนาเรส (พาราณสี) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ

  2. ๒๓๔. สุทโธทนะเป็นนามพระราชบิดาขององค์พระศากยมุนี. ฟาเหียนเรียกว่า ‘กษัตริย์ข้าวบริสุทธิ์.’ มีพระนามสามัญอีกคำหนึ่งว่า ‘พระราชาแห่งข้าวบริสุทธิ์,’ หรือ ‘พระราชาแห่งพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์.’

  3. ๒๓๕. เชษฐโอรสหรือเจ้าชายนั้นคือ องค์พระศากยมุนี. พระราชมารดาของพระองค์ไม่มีพระราชโอรสองค์อื่น ๆ อีก. (ดู หน้า ๘๔ บทที่ ๑๗ โน๊ต ๑). พระนางเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะหรืออนุศากยกษัตริย์แห่งนครโกลิยะ, ซึ่งอยู่ใกล้เคียงติดต่อกับนครกบิลพัสดุ, กับพระนางยโสธราซึ่งเป็นพระมาตุจฉาของพระเจ้าสุทโธทนะ. ซึ่งปรากฏว่าราชวงศ์แห่งนครทั้งสองนี้ความสัมพันธ์ในทางแต่งงานกัน. (ดู Birth Storys ของ Rhys Davids หน้า ๕๒). ในปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ เรียกพระนามพระเจ้าอัญชนะเป็นชนาธิปราช, ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นคำสรรพนาม และเรียกนครโกลิหรือโกลิยะเป็นเทวทหะตามพระนามของพระเจ้าเทวทหะพระอัยยกา.

  4. ๒๓๖. ในหนังสือ The Life of the Buddha หน้า ๑๕ มีความว่า ในขณะนั้น พระพุทธองค์เสวยชาติอยู่บนสวรรค์เทวโลก, ทรงทราบในพระหฤทัยว่าสมัยที่พระองค์จะต้องจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษยโลกตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. พระองค์ได้พิจารณาเห็นความจำเป็นในข้อนี้แล้ว, และได้ปลงพระหฤทัยที่จะให้พระนางมหามายาเป็นพระราชมารดาแน่แล้ว. ในเวลาเที่ยงคืนจึงทรงจุติเข้าสู่ครรโภทรแห่งพระนางมหามายา, ซึ่งสำแดงนิมิตปรากฏว่าเสด็จลงมาโดยคชาธาร (ดูหนังสือ M. B. หน้า ๑๔๐-๑๔๓ กับ Birth Storys ของ Rhys Davids หน้า ๕๘ – ๖๓). ในปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๐-๔๘ ว่า เทพยดาชั้นดุสิตสวรรค์ชุมนุมกันเชิญเสด็จให้จุติมาบังเกิดในมนุษยโลกเพื่อโปรดสัตว์. ในคืนวันที่จะทรงจุติ. พระพุทธมารดาทรงพระสุบินได้ทอดพระเนตรเห็นช้างเผือกตัวหนึ่ง, มีงวงกำดอกบังขาวชูมาจากยอดเขาทางทิศเหนือ, มาประทักษิณ ๓ รอบแล้วก็หายเข้าสู่อุทรประเทศของพระนาง.

  5. ๒๓๗. ในหนังสือของ Hardy’s M. B. หน้า ๑๕๔-๑๕๕ มีความว่า วันหนึ่งเจ้าชาย (สิทธารถ เป็นพระนามเบื้องต้นของพระศากยมุนี ดู Eitel ในคำว่า สรวารถสิทธ. ปฐมสมโพธิ หน้า ๘๓, ว่าพราหมณ์ถวายพระนามอังคีรสราชอีกพระนามหนึ่ง) ได้เสด็จผ่านไปตามทาง, ทอดพระเนตรเห็นเทวดาซึ่งจำแลงรูปให้ปรากฏเป็นคนโรคเรื้อนคนหนึ่ง, มีร่างกายเต็มไปด้วยแผลเน่าเปื่อย, และชุ่มโชกประดุจภาชนะที่ชุบน้ำ, และมีขาทั้งสองประดุจสากสำหรับตำข้าว. พระองค์ได้บทเรียนเช่นนี้จากบนรถทรงของพระองค์ที่ประทับไป, และเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว, เป็นเหตุให้ตกพระหฤทัยกระวนกระวาย, จึงเสด็จกลับเข้าพระราชวัง. เรื่องดุจเดียวกันนี้ดู Rhys Davids Buddhism หน้า ๒๙. กับปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๙๘-๑๐๐, ว่าทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔. คือ เสด็จครั้งที่ ๑ เห็นคนชรา, ครั้งที่ ๒ เห็นคนเจ็บ, ครั้งที่ ๓ เห็นคนตาย, ครั้งที่ ๔ เห็นบรรพชิต. ดูแยบคายดีกว่าที่เห็นโรคเรื้อนคนเดียว.

  6. ๒๓๘. ตรงนี้เราจำเป็นต้องบวกข้อความเข้าไปด้วย, เพื่อช่วยชี้ให้เห็นชัดว่า เหตุการณ์นั้นสำหรับสตูปที่ได้สร้างขึ้นแห่งไหน. เพราะฟาเหียนไม่ได้กล่าวไว้ให้ปรากภฏชัดเจน.

  7. ๒๓๙. คืออสิต ดูหนังสือ Eitel หน้า ๑๕, เรียกชื่อตามบาลีว่า กาลเทวละ, และว่าเป็นอมาตย์ผู้หนึ่งของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา. ปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๖๓ เรียกนามก่า กาฬเทวิลดาบส, เป็นกุลุปกาจารย์แห่งกรุงกบิลพัสดุของพระเจ้าสุทโธทนะ,

  8. ๒๔๐. ดู หน้า ๖๖ บทที่ ๑๓ โน๊ต ๒.

  9. ๒๔๑. ในหนังสือ The Life of the Buddha อ่านได้ความว่า มัลลกษัตริย์ลิจฉวีแห่งนครไพศาลีส่งช้างงามเชือกหนึ่งไปถวายเจ้าชายรุ่นหนุ่ม, แต่เมื่อไปใกล้จะถึงกรุงกบิลพัสดุ, เทวทัตต์ออกสกัดด้วยความริษยา, และฆ่าช้างตัวนั้นด้วยเอากำปั้นทุบหน้าผากตาย. นันทะ (ไม่ใช่อานนท์, แต่เป็นน้องต่างมารดากับพระสิทธารถอีกองค์หนึ่ง). เดินมาตามทาง, เห็นศพช้างตายขวางทางอยู่, จึงลากเข้าไปไว้ข้างทางด้านหนึ่ง. แต่เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จไปถึงที่นั่นทอดพระเนตรเห็นเข้า, จึงทรงจับหางศพช้างยกขึ้นขว้างข้ามรั้วไปถึง ๗ ชั้น, ตกลงในท้องร่อง, และด้วยกำลังแรงที่ซากช้างไปตกลง, กระทำให้ท้องร่องนั้นกว้างใหญ่ขึ้นเป็นอันมาก. เรื่องราวตอนนี้ออกจะยุ่งยิ่ง, พระสิทธารถกุมารก็มีพระชนม์เพียง ๑๐ ขวบเท่านั้น.

  10. ๒๔๒. พระศากยราชกุมารทรงแผลงธนูขณะนี้, พระองค์กำลังเจริญวัยรุ่นหนุ่มคะนองพระชนมายุ ๑๗ พรรษา. เมื่อจะทรงกระทำอะไรทั้งหมดมักถูกปั้นให้มีเรื่องเกินไปดังนี้เสมอ ๆ. ปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว่า แผลงธนูไปไกล ๑ โยชน์, ถูกขนจามรีขาด.

  11. ๒๔๓. ญาณปัญญา, คือความรู้แจ้งด้วยปัญญา, หรือญาณปัญญาอันบริสุทธิ์, สองคำนี้เป็นศัพท์ฟาเหียนชอบใช้แทนคำว่า ตรัสรู้สัมโพธิญาณ, ในสำนวนไทย.

  12. ๒๔๔. ในหนังสือ The Life of the Buddha หน้า ๒๕ กล่าวว่า ในขณะที่พระสิทธารถเสด็จหนีออกจากกรุงกบิลพัสดุนั้นไม่ใช่เวลากลางคืน, พระองค์ประทับอยู่ในพระราชวัง, และคอยเฝ้าสังเกตดูในเวลาที่พระราชบิดาทรงบรรทม. พระองค์รับสั่งในขณะที่จะหนีว่า ‘ข้าแต่พระราชบิดา! ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะรักพระองค์, และประกอบไปด้วยความเกรงกลัวปานใด, ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะคงพักอยู่ได้ต่อไป.’ เรื่องนี้ควรดูหนังสือปฐมสมโพธิแบบธรรมยุต หน้า ๒๙-๓๐. กับ M. B. หน้า ๑๙๙-๒๐๔. หนังสือ Buddhist Stories หน้า ๑๒๐-๑๒๗. และปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๑๐๙-๑๑๓ ว่า ขณะเวลาที่เสด็จหนีเป็นราตรีกาล.

  13. ๒๔๕. ธรรมบทขุททกนิกาย ภาค ๑ หน้า ๑๓๓ กล่าวว่าเป็นศากยราช ๖ องค์เท่านั้น คือภัททิยะ-อนุรุทธ-อานนท์-ภัคคุ-กิมพิละ-เทวทัตต์ที่ออกบวช พร้อมทั้งพระอุบาลีและแสดงความเคารพ ไม่ใช่ ๕๐๐. ที่กระทำดั่งนี้, ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นพระพุทธประสงค์, ที่จะให้ศากยราชวงศ์ทั้งหลายของพระองค์สำแดงความสุภาพอ่อนน้อมต่อพระอุบาลีเถระ, ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นศูทรและเป็นช่างตัดผมมาแต่เดิม, ซึ่งตามประเพณีในอินเดียแต่โบราณมาถือว่าเป็นคนชั้นต่ำ. ดังนั้น จึงอาจกล่าวยืนยันได้ว่า พุทธศาสนาย่อมใช้บังคับแก่บุคคลได้ทุกชั้น, โดยไม่เลือกยศและตระกูล. พระอุบาลีเป็นพระเถระองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า เป็นผู้รอบรู้แตกฉานเป็นพิเศษในวินัย, เป็นพุทธสาวกองค์หนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องสรรเสริญ. พระอุบาลีเป็นหัวหน้าองค์หนึ่งในจำนวนสาม ของการประชุมสงฆ์กระทำปฐมสังคีติ.

  14. ๒๔๖. ข้าพเจ้ายังไม่พบเรื่องราวเฉพาะตอนที่ทรงเทศนาคราวนี้.

  15. ๒๔๗. ปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ ว่า ขณะนี้พระพุทธองค์ประทับอยู่นิโครธาราม, ‘นิโครธ, ไม้ไทร.’ แต่ ณ ที่นี้เรียกว่าต้นอันยโครธ, คำอธิบายในภาคจีนว่า ไม้ที่ไม่มีปมชนิดหนึ่ง. ในภาษาพฤกษศาสตร์ว่า ฟิกุสอินดิก้า. Rhy Davids ทำคำอธิบายไว้ในโน๊ตของหนังสือ Manual หน้า ๓๙ ว่า ไม้เช่นเดียวกันนี้กิ่งหนึ่งได้ตอนเอาไปจากพุทธคยา, ไปปลูกไว้อนุราชปุระในสิงหล, ในเมื่อราวกึ่งกลางศัตวรรษที่ ๒ แห่งพุทธศาสนายุกาล, เจริญงอกงามใหญ่โต. เป็นต้นไม้โบราณต้นหนึ่งในพงศาวดารของโลก.

  16. ๒๔๘. สังฆาลิที่ฟาเหียนเรียกนี้คือสังฆาฏิ. ปฐมสมโพธิ. พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๓๕๓-๓๖๑ ว่า พระมหาปชาบดีได้นำผ้าไปถวายพระพุทธองค์, แต่ไม่ทรงรับ, รับสั่งให้ถวายแก่หมู่สงฆ์. พระสมณะองค์อื่นๆ ก็ไม่ยอมรับเหมือนกัน, จนในที่สุดถึงอชิตภิกษุซึ่งเป็นนวกะองค์สุดท้ายจึงยอมรับโดยพุทธานุญาต. ดูเรื่องอันยืดยาวของพระมหาปชาบดีในหนังสือ M. B. หน้า ๓๐๖-๓๑๕.

  17. ๒๔๙. ดู หน้า ๑๐๒ บทที่ ๒๐ โน๊ต ๑. โศรตาปันนะ (โสดาบัน), เป็นขั้นแรกของนักพรตในพุทธศาสนาที่จะบรรลุถึง. เป็นอันว่าจะไม่ไปบังเกิดในนรก, แต่จะบรรลุถึงนิพพานภายหลังต่อเมื่อได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์และเทวดา, บำเพ็ญศีลทานเป็นลำดับเรื่อยไปอย่างมาก ๗ ครั้ง. ตำราทางฝ่ายจีนว่า วงศ์ศากยะถูกฆ่าและสำเร็จโสดาบันในตอนนี้พันหนึ่ง. แต่ตามเรื่องราวทั่วไปว่า ๕๐๐ รวมทั้งหญิงสาวด้วยทั้งหมด, พระราชาวิฑูรยะไม่ยอมรับเอาใครไปไว้ยังพระราชวังของพระองค์เลย, รับสั่งให้ตัดมือตัดเท้าแล้วเอาไปทิ้งลงในสระหมด. พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปช่วยรักษาบาดแผล, และได้แสดงธรรมเทศนาโปรด. ราชวงศ์เหล่านั้นได้ถึงมรณะไปพร้อมด้วยความเลื่อมใสศรัทธา, และไปบังเกิดในแดนสวรรค์แห่งจตุมหาราช. ต่อจากนี้ต่างได้พร้อมกันกลับมาเฝ้าพระพุทธองค์ที่เชตวันวิหารในเวลากลางคืน, และก็บรรลุถึงโสดาบันด้วยกัน. (ดู The Life of the Buddha หน้า ๑๒๑)

  18. ๒๕๐. ดูเรื่องนี้ในหนังสือ M. B. หน้า ๑๕๐. กับปฐมสมโพธิ พ. ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๘๖, ต้นไม้ประทับนั้นว่าเป็นชมพูพฤกษ์ = หว้า. พิธีแรกนานี้ใช่มีแต่ในเมืองไทย, เมืองจีนก็เคยมีมาในครั้งกษัตริย์ครอบครองประเทศเหมือนกัน.

  19. ๒๕๑. ดูปฐมสมโพธิ ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๓.

  20. ๒๕๒. ดูปฐมสมโพธิ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๕๔-๕๕. กิ่งไม้พระนางทรงจับกิ่งรัง. ธ่ออุทกธารางที่ไหลมาโสรจสรงนั้น, ไม่ใช่พระยานาคดั่งที่ฟาเหียนกล่าว, เป็นธ่อไหลลงมาจากอากาศ, แต่เป็น ๒ สายเท่าพระยานาคของฟาเหียน. เรื่องยังมีสดารกว่าที่ฟาเหียนกล่าวนี้มาก. (ดู M. B. หน้า ๑๔๕-๑๔๖. และ The Life of Buddha หน้า ๑๕-๑๖. กับ Buddhist Birth Stories หน้า ๖๖).

  21. ๒๕๓. ความตอนโสรจสรงในเล่มนี้อยู่ข้างจะเข้าใจยาก. Mr. Bel กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเป็นด้วยการแปลในครั้งแรกทิ้งความเสียบ้าง.

  22. ๒๕๔. Davids’ Manual หน้า ๔๕ ว่า สำนวนถ้อยคำที่ว่า ‘หมุนกลับกงล้อแห่งธรรม,’ ใช้กันมาในคัมภีร์แต่โบราณ. ต่อมามีเพิ่มเติมอีกว่า ‘กงล้อแห่งราชยานหลวง ซึ่งได้หมุนไปบนอาณาจักรสากลโลกแห่งความจริงและความบริสุทธิ์.’ ทั้งนี้จะต้องยอมรับกันว่า เป็นถ้อยคำสำนวนที่กลั่นกล่าวกันให้สูงและงดงาม, เป็นคำแปลก ๆ ที่แต่งให้สำหรับพุทธศาสนาจนออกจะเกินไป. ข้าพเจ้าสมัครใจตามที่ Eitel ย่อไว้ว่า ‘ท่านกลับแล้ว.’

  23. ๒๕๕. นี่ฟาเหียนมีความหมายอย่างไร จึงกล่าวว่าช้างเผือก? ส่วนสิงห์หาได้กล่าวไม่ว่าสีอะไร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ