- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๘
วู-จังหรืออุทยาน อาราม
และถนนหนทางทั้งหลาย รอบพระพุทธบาท
ภายหลังเมื่อฟาเหียนกับพรรคพวกได้ข้ามแม่น้ำ (สินธู) แล้ว, ณ บัดนั้นก็เข้าสู่ราชอาณาเขตแห่งวู-จัง,๘๑ ซึ่งที่จริงก็คืออินเดียภาคเหนือนั่นเอง. ประชาชนใช้ภาษาคำพูดอย่างมัชฌิมประเทศแห่งอินเดีย. มัชฌิมประเทศ๘๒อินเดีย, ที่เรา (ฟาเหียน) เรียกนั้นคือ, ราชอาณาจักรซึ่งตั้งอยู่ศูนย์กลางแห่งประเทศอินเดีย. อาหารและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็อย่างสามัญ, และเป็นแบบเดียวกันกับในมัชฌิมประเทศอินเดีย. พระธรรมวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังรุ่งเรือง. นิวาสสถานซึ่งพระภิกษุพักชั่วขณะหนึ่งก็ดี, หรือเป็นสถานที่อาศัยอยู่ประจำโดยถาวรดี, เรียกกันว่าสังฆาราม.๘๓ สังฆารามเช่นนี้มีหมดด้วยกันในราว ๕๐๐ แห่ง, พระภิกษุในอารามเหล่านั้นเป็นนิกายฝ่ายหินยานทั้งหมด เมื่อมีพระภิกษุ๘๔เป็นแขกเดินทางไปถึง, มีความประสงค์จะขอพักอาศัย ก็จะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้องค์ละ ๑ วัน ภายหลังกำหนดนี้แล้ว ก็จะได้รับคำบอกให้ไปหาสถานที่พักของตนเองใหม่.
มีเรื่องราวที่เล่ากันสืบต่อ ๆ มาเรื่องหนึ่งว่า ในกาลครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่อินเดียภาคเหนือ, พระองค์ได้เสด็จมาถึงนครแห่งนี้ ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายลงไว้ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้ไปพบเห็นมาแล้วบางคนก็ว่ายาว บางคนก็ว่าสั้นตามแต่ความคิดเห็นของเขา. รอยพระบาทนี้ยังคงมีปรากฏอยู่, และถือกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทอันแท้จริงจนตราบเท่าทุกวันนี้. มีสถานที่เป็นศิลาอีกแห่งหนึ่งซึ่งยังคงเห็นปรากฏอยู่ กล่าวกันว่าเป็นสถานที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงตากผ้า, และเป็นสถานที่ ๆ พระองค์ทรงกระทำให้นาค๘๕ผู้เป็นพาลตนหนึ่งกลับความประพฤติเป็นธรรม. ศิลาลูกนี้สูง ๔๐ ศอก และกว้างกว่า ๒๐ ศอก ด้านหนึ่งของศิลาลูกนี้เกลี้ยงเกลา.
พระภิกษุฮุย- กิง, ฮุย-ตะ, กับตาว-จิง, ออกเดินทางล่วงหน้าไปยังสถานที่อันสถิตพระพุทธฉายาลักษณ์ ซึ่งอยู่ในเมืองนาคร๘๖ก่อน ส่วนฟาเหียนกับภิกษุอื่น ๆ อีกยังคงยับยั้งอยู่ในวู-ชัง, และถือเอาเป็นที่พักอาศัยอยู่ตลอดเวลาในฤดูร้อน๘๗ เมื่อล่วงพ้นฤดูร้อนแล้ว, ฟาเหียนกับพวกก็ออกเดินทางต่อลงไปทางใต้, บรรลุถึงจังหวัดซู-โฮ-โต.๘๘
-
๘๑. คืออุทยาน ตามคำหมายว่าสวน. อยู่ตรงทิศเหนือของปันจาป เป็นเมืองซึ่งมีภูมิฐานยาวไปตามลำน้ำศุภวัสดุ, เดี๋ยวนี้เรียกว่าสมัส. มีชื่อเสียงว่าเป็นป่าดอกไม้และผลไม้. ดู E. H. หน้า ๑๕๓. ↩
-
๘๒. กำหนดเขตมัชฌิมชนบทในสมัยพุทธกาล. ตามหนังสือพุทธประวัติหน้า ๖ อ้างถึงบาลีจัมมขันธกะ ในมหาวรรคแห่งวินัยดังนี้. ทิศบูรพา ภายในแต่มหาศาลนครเข้ามา ทิศอาคเนย์ ภายในแต่แม่น้ำสัลลวตีเข้ามา ทิศทักษิณ ภายในแต่เสตกัณณิกนิคมเข้ามา ทิศปัศจิม ภายในแต่ถูนคามเข้ามา ทิศอุดร ภายในแต่ภูเขาอุสีรชะเข้ามา. ↩
-
๘๓. ดูบทที่ ๓ หน้า ๒๔ โน๊ต ๒. ↩
-
๘๔. ภิกษุเป็นนามสำหรับเรียกพระสงฆ์ ซึ่งดำรงชีวิตความเป็นอยู่โดยทาน คือผู้ขอ. แต่ภิกษุทั้งหมดเรียกตนเองว่าสมณะ นามทั้ง ๒ อย่างนี้เราจะใช้อย่างใดก็ได้. ↩
-
๘๕. นาคเป็นนามในภาษาสันสกฤต สำหรับในภาษาจีนเรียกว่ามังกร. แต่พบบ่อยๆ ใช้เรียกงูใหญ่ชนิดที่เรียกว่างูเหลือม. หนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน (Eitel หน้า ๗๙) บรรยายไว้ว่า เมื่อกล่าวถึงคำว่านาค ซึ่งหมายถึงเป็นพิเศษว่างูเหลือม ย่อมสำแดงอยู่เสมอว่าเป็นศัตรูกับมนุษย์. แต่ถ้าเล็งถึงว่าเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำทะเลสาบหรือมหาสมุทร, มักสำแดงลักษณะเอียงไปข้างว่าเป็นสัตว์ใจบุญ. แต่อย่างไรก็ดี มังกรในฝ่ายจีนซึ่งหมายถึงว่าเป็นผู้ครอบครองประเทศโดยราชธรรม หรือนักปราชญ์นั้น ไม่มีปรากฏว่าใช้ในฝ่ายพุทธศาสนาเลย. เมื่อกล่าวถึงคำว่านาคที่หมายถึงผู้ซึ่งมีความประสงค์จะอุปสมบทในพุทธศาสนา ก็คือผู้ที่ปราถนาจะศึกษาให้บรรลุแจ้งถึงภูมิธรรมชั้นสูงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตาทีเดียว. ตัวอักษรที่ใช้ 度 มีความหมายโดยใจความว่า การพลิกกลับความประพฤติ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามทางพระพุทธศาสนาคือ ปารมิตา ๖ ประการอันเป็นกุศลธรรม. ซึ่งบุคคลผู้เป็นนาคจะต้องถือพาไปข้ามห้วงมหรรณพ คือความเป็นอยู่และความตาย เพื่อให้ดวงวิญญาณที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน. มีนิยายของนาคผู้ซึ่งกลับเปลี่ยนความประพฤติกิริยาวาจาได้โดยละเอียดถี่ถ้วนผู้หนึ่ง, (Eitel หน้า ๑๑) กล่าวว่า นาคผู้นั้นมีนามว่า อปทาล เป็นเจ้าควบคุมแม่น้ำศุภวัสดุ, และนาคผู้นี้ได้เปลี่ยนความประพฤติโดยองค์พระศากยมุนี ด้วยเวลาอันน้อยก่อนที่จะถึงแก่ความมรณะ. ↩
-
๘๖. ในภาคจีนเรียกว่า น-กีห. เป็นราชอาณาจักโบราณแห่งหนึ่ง, มีนครตั้งอยู่บนฝั่งใต้แห่งแม่น้ำกาบุล, ห่างจากเจลลาลบัดทางทิศตะวันออกประมาณ ๑,๒๐๐ เส้น. ↩
-
๘๗. ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปในปี พ.ศ. ๙๔๖. ↩
-
๘๘. ซู-โฮ-โต ไม่ปรากฏชัดเจนว่าอยู่ไหน ? Beal กล่าวว่า ถัดจากที่ฟาเหียนได้ออกจากอุทยานไปแล้ว. ก็ต้องเป็นภูมิประเทศในระหว่างแม่น้ำสินธูกับสวัต ซึ่งคาดคะเนเอาว่า ณตำบลเขตแขวงที่เรียกกันอยู่เดี๋ยวนี้ว่าสวัสติน. ↩