- คำนำ
- บทนำ
- ประวัติพระภิกษุฟาเหียน
- บทที่ ๑
- บทที่ ๒
- บทที่ ๓
- บทที่ ๔
- บทที่ ๕
- บทที่ ๖
- บทที่ ๗
- บทที่ ๘
- บทที่ ๙
- บทที่ ๑๐
- บทที่ ๑๑
- บทที่ ๑๒
- บทที่ ๑๓
- บทที่ ๑๔
- บทที่ ๑๕
- บทที่ ๑๖
- บทที่ ๑๗
- บทที่ ๑๘
- บทที่ ๑๙
- บทที่ ๒๐
- บทที่ ๒๑
- บทที่ ๒๒
- บทที่ ๒๓
- บทที่ ๒๔
- บทที่ ๒๕
- บทที่ ๒๖
- บทที่ ๒๗
- บทที่ ๒๘
- บทที่ ๒๙
- บทที่ ๓๐
- บทที่ ๓๑
- บทที่ ๓๒
- บทที่ ๓๓
- บทที่ ๓๔
- บทที่ ๓๕
- บทที่ ๓๖
- บทที่ ๓๗
- บทที่ ๓๘
- บทที่ ๓๙
- บทที่ ๔๐
- จบ
บทที่ ๑๒
นครปุรุษปุระหรือเปษาวูร. พุทธพยากรณ์ถึงพระเจ้ากนิษกะ.
พระสตูปของพระเจ้ากนิษกะ. บาตรของสมเด็จพระพุทธเจ้า.
พระภิกษุฮวุย-ยิง มรณภาพ.
ฟาเหียนกับเพื่อนภิกษุได้ออกจากคันธาระเดินทางต่อไปทางตอนใต้เป็นเวลา ๔ วัน ก็ลุถึงราชธานีปุรุษปุร.๑๐๑ เมื่อครั้งพุทธสมัยพระพุทธองค์ได้เสด็จท่องเที่ยวมาถึงนครแห่งนี้พร้อมด้วยพุทธสาวก, พระองค์ได้มีพระดำรัสแก่พระอานนท์๑๐๒ว่า ภายหลังเมื่อเวลาพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว,๑๐๓ ณ ที่นี้จะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่ากนิษกะ๑๐๔ขึ้นองค์หนึ่ง จะเป็นผู้สร้างพระสตูปขึ้น ณ ที่แห่งนี้. สืบต่อมา พระเจ้ากนิษกะองค์นี้ก็อุบัติขึ้นในโลก. ครั้งหนึ่งพระเจ้ากนิษกะเสด็จออกประพาสทอดพระเนตรประชาชนพลเมืองไปโดยรอบพระนคร ท้าวสักกเทวราชปรารถนาจะยั่วทดลองดูความคิดเห็นในน้ำพระหฤทัยของพระเจ้ากนิษกะ, จึงจำแลงแปลงองค์ออกสำแดงให้ปรากฏเป็นเด็กเล็กๆ หมู่หนึ่งแล้ว, ทำการก่อพระสตูปเล่นอยู่เบื้องขวาของทาง, (ที่พระเจ้ากนิษกะเสด็จไป, เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็น), พระองค์จึงรับสั่งถามว่า ‘สิ่งที่พวกเจ้ากำลังทำอยู่นั้นคืออะไร ?’ เด็กได้ทูลตอบว่า ‘ข้าพเจ้ากำลังสร้างพระสตูปถวายองค์พระพุทธเจ้า., พระเจ้ากนิษกะรับสั่งว่า ‘ดีมาก’ และในขณะเดียวนั้นพระองค์ (ก็รับสั่งแก่นายช่าง) ให้เริ่มทำการสร้างพระสตูปครอบลงตรงที่ตั้งสตูปของเด็กหมู่นั้น ซึ่ง (เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว) สูงกว่า ๔๐๐ ศอก, และประดับประดาด้วยวัตถุอันมีค่าประเสริฐไว้ตลอดทุกๆ ชั้น (ฟาเหียนกล่าวว่า) บรรดาสตูปและอุโบสถวิหารทั้งหลายที่ฟาเหียนกับพวกได้เดินทางพบเห็นมาแล้ว. ไม่มีสักแห่งเดียวที่จะเทียบเคียงกับพระสตูปอันสำคัญและใหญ่โตสง่างามยิ่งองค์นี้ได้. มีคำกล่าวกันอยู่ทั่วไปว่า พระสตูปองค์นี้เป็นองค์งดงามที่สุดในชมพูทวีป,๑๐๕ และว่าเมื่อพระสตูปของพระเจ้ากนิษกะได้สร้างขึ้นสำเร็จบริบูรณ์แล้ว, พระสตูปเล็ก ๆ (ของเด็ก) ก็ผุดขึ้นสูง ๓ ศอกเศษภายใต้พระสตูปองค์ใหญ่ด้วยเหมือนกัน.
บาตรของพระพุทธเจ้าก็อยู่ในพระนครนี้. ในกาลก่อน ครั้งหนึ่งกษัตริย์แห่งรัฐยูเอะ-เษ๑๐๖พระองค์หนึ่งได้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีพระนครนี้ ด้วยความปรารถนาจะเอาบาตรใบนี้ไป. เมื่อได้ทำการปราบปรามเรียบร้อยและได้ราชอาณาจักรนี้แล้ว. พระองค์กับเสนาข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้เคารพนับถืออันแท้จริงต่อธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ต่างก็จัดหาเครื่องสักการะไปกระทำการนอบน้อมบูชากันอย่างมโหฬาร. เมื่อได้ทำการสักการบูชาต่อพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว. จึงจัดเอาคชสารขนาดใหญ่เชือกหนึ่งพร้อมด้วยกูบสัปคับอันงดงามยิ่ง แล้วและอัญเชิญบาตรขององค์พระพุทธเจ้าขึ้นไปวางประดิษฐานบนกูบหลังช้าง. แต่ช้างกลับคุกเข่าลงยังพื้นดินและไม่สามารถที่จะย่างออกเดินไปข้างหน้าได้. เมื่อเป็นดั่งนั้น. พระองค์จึงให้จัดการอีกอย่างหนึ่ง, โดยจัดตระเตรียมรถ ๔ ล้อขนาดใหญ่ขึ้นคันหนึ่ง, แล้วอัญเชิญบาตรขึ้นประดิษฐานบนรถนั้นเพื่อที่จะพาไป. และจัดช้างเข้าเทียมรถนั้น ๘ เชือก เพื่อรวมกำลังให้เรี่ยวแรงแข็งขันในการที่จะฉุดลากรถไป. แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะให้ (รถ) เคลื่อนที่เดินไปข้างหน้าได้. กษัตริย์แห่งยูเอะ-เษจึงรู้สึกพระองค์ในขณะนั้นว่า วาสนาของพระองค์ยังเข้าไม่ถึง๑๐๗บาตรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้, เป็นเหตุให้ทรงเศร้าโศกเสียพระหฤทัยอย่างลึกซึ้ง, และทรงละอายต่อพระองค์เอง. ณ บัดนั้นพระองค์รับสั่งให้จัดการสร้างพระสตูปและอารามขึ้นณที่นั้น, กับได้จัดให้มีคนดูแลเฝ้ายามประจำรักษา (บาตร) ต่อไป. สิ่งที่ได้ก่อสร้างขึ้นทุกชนิดได้มาจากการเรี่ยราย
ณ ที่อารามนี้มีพระภิกษุสงฆ์กว่า ๗๐๐ องค์. เมื่อใกล้จะถึงเวลาเที่ยง, พระภิกษุก็อัญเชิญบาตร (ของพระพุทธเจ้า) ออกมา, และภิกษุทั้งอุบาสก๑๐๘ทั้งหลายต่างก็เข้ากระทำการบูชาด้วยเครื่องสักการะต่าง ๆ ในเวลาภายหลัง เมื่อได้บริโภคอาหารตอนก่อนเที่ยงวันกันเสร็จแล้ว. ครั้งถึงเวลาตอนเย็น, ซึ่งเป็นเวลาที่จะเผาเครื่องหอมบูชา, เขาได้อัญเชิญบาตรออกอีกครั้งหนึ่ง.๑๐๙ บาตรนั้นบรรจุได้สักสองโทณะกว่าเล็กน้อย, และมีสีต่าง ๆ, สีดำเป็นสีพื้นมากกว่าสีอื่น ๆ, กับมีตะเข็บแสดงให้เห็นว่าทับกันเข้าเป็น ๔ ชั้นในเมื่อทำขึ้นโดยชัดเจน.๑๑๐ ความหนาโดยประมาณหนึ่งในห้าของนิ้ว, ดูสุกใสเป็นเงาเลื่อมสะอาดตา, เมื่อคนยากจนอนาถาจะใส่ดอกไม้ถวายลงในบาตรนั้นเพียงเล็กน้อย, ก็จะเต็มขึ้นทันที, แต่ส่วนผู้ที่เป็นเศรษฐีปราถนาจะทำการสักการบูชาด้วยดอกไม้มากหลาย. แม้จะถวายใส่ลงนับเป็นร้อยเป็นพันจนไม่หยุดหย่อน, หรือจะเอาถังตวงมาให้มากมายใหญ่โตสักปานใด, ก็จะไม่สามารถทำให้เต็มบาตรขึ้นได้เลย.๑๑๑
ปาว-ยันกับเซง-กิง เมื่อได้ทำการนมัสการถวายเครื่องสักการบูชาบาตรแล้ว, คิดตกลงกลับแต่เพียงนี้. ฮุย- กิง ฮุย-ตะ, กับตาว-จิงซึ่งได้เดินทางไปหยุดพักอยู่นคาร,๑๑๒ เพื่อทำการสักการบูชาพระพุทธฉายา พระทนต์, กับอัฏฐิพระเศียร, ก่อนแล้วนั้น. ณที่นั้น ฮุย-กิงล้มเจ็บลง, ตาว-จิงคงดูแลอยู่ด้วยต่อมา, ฝ่ายฮุย-ตะแต่ลำพังผู้เดียวมายังปุรุษปุระ, และได้พบกับปาว-ยันและเซง-กิง, แล้วและได้ร่วมทางกันออกเดินกลับไปยังประเทศตฺซิน. ฮุย-กิง๑๑๓มาถึงที่สุดลง๑๑๔ในอาวาสที่ประดิษฐานบาตรของพระพุทธองค์. และจากที่นี้ฟาเหียนแต่ลำพังผู้เดียวได้ออกเดินทางไปยังสถานที่ ๆ ประดิษฐานอัฏฐิพระเศียร.
-
๑๐๑. ในปัจจุบันนี้เรียกเปษาวูร. แลตติจูต ๓๔-๘ เหนือ. ลองติจูต ๗๑-๓๐ ตะวันออก ↩
-
๑๐๒. พระอานนท์ เป็นพระญาติลูกพี่ลูกน้องกับองค์พระศากยมุนี. เกิดเมื่อภายหลังพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วเล็กน้อย, ได้ศึกษาอยู่ภายใต้พระบรมพุทธาจารย์จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง. เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังว่ามีความทรงจำได้แม่นยำเป็นเลิศ. และเป็นพระญาติองค์หนึ่งซึ่งมักมีพฤติการณ์อันเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดมีพระพุทธบัญญัติขึ้นเสมอ, เป็นศิษย์ติดตามรับใช้ปรนนิบัติองค์พระศากยมุนีอยู่กขณะ, มีสิ่งซึ่งบังเกิดจากความรู้สึกอันหนักของพระอานนห์ ซึ่งไม่สามารถจะทนสงบอยู่ได้โดยปราศจากน้ำตาก็คือ ขณะที่พระพุทธองค์กำลังจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้ทรงบรรยายมหาปรินิพพานสูตรแก่พระอานนท์. ดู E. H. หน้า ๙. กับ Sacred Books of the East เล่ม ๑๑. ปฐมสมโพธิฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘ หน้า ๔๔๔-๔๗๔. แต่ในอรรถกถาชาดก (ภาค ๑ หน้า ๘๕) ว่าพระอานนท์เป็นสหชาติ คือเกิดพร้อมกับพระพุทธองค์, และยังมีผู้ที่เป็นสหชาตอีกคือ พระนางพิมพา ฉันนอมาตย์ กาฬุทายีอมาตย์. ↩
-
๑๐๓. James Legge ผู้แปลเรื่องนี้ (จากภาคจีน) แถลงความเห็นไว้ว่า “ในการที่องค์พระศากยมุนีเสด็จบรรลุถึงปรินิพพานนั้น ที่จริงก็ไม่น่าที่ใครจะร่ำไห้ปรารถนาให้พระองค์ความเป็นอยู่ในปริมณฑลแห่งวัฏฏสงสาร, แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ควรจะเป็นความชื่นชมยินดีในความอิสระอันสำเร็จเด็ดขาดแล้วจากความร้อนทั้งหลาย, และการชำระล้างจนบริสุทธิ์แล้วของพระองค์. พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในระหว่างที่ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วถึง ๔๕ พรรษา, จึงบรรลุถึงปรินิพพาน, พระองค์ได้อุทิศเวลาในพระชนม์ชีพของพระองค์ทั้งหมดด้วยพระกำลังสติปัญญา ให้แก่มหาสมาคมโดยมิได้งดเว้นที่จะกระทำการฝึกฝนกระแสความคิดเลย. พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว, แต่พระองค์ได้ถึงความสำเร็จแล้ว. และได้ทรงกระทำพระองค์ให้หยุดโดยครบถ้วนแล้ว. เช่นนั้นหรือไม่ ? ด้วยกำลังสติปัญญาใด ๆ, ก็ไม่สามารถที่จะกล่าวถ้อยคำออกได้ง่าย ๆ. แต่ทางที่เห็นความจริงอยู่นั้น, (คือจะ) ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว และไม่มีพระพุทธโอวาทอีกแล้ว. นี่แลเป็นความแท้จริงแห่งจุดสำคัญ. ถึงกระนั้นก็ดี ภาษาคำพูดซึ่งถือเอาเป็นภาระกล่าวเพื่อประโยชน์ที่กล่าวมานี้ ต้องแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเคารพนับถืออันแท้จริง ซึ่งตรึงอยู่ในความหวังว่าจะดำรงอยู่โดยมิรู้จักเลื่อมสลาย. การปรินิพพานของพระองค์ ก็คือความมรณะดับศูนย์ไป.” ↩
-
๑๐๔. พระเจ้ากนิษกะปรากฏว่าขึ้นเสวยราชย์ในศัตวรรษที่ ๕ ราว พ.ศ. ๕๕๓, (ในพุทธเจดีย์สยามว่า พ.ศ. ๖๒๐) เป็นน้องชายคนเล็กในจำนวนชายพี่น้อง ๓ คน กำเนิดในรัฐยูเอะ-เษหรือทูขาระที่กำลังกล่าวถึงอยู่ในบทนี้. พระองค์กับความประพฤติเป็นคนใจบุญปรากฏขึ้นโดยรวดเร็ว. เป็นพุทธศาสนิกชนที่ใจร้อนรน. และเป็นผู้ที่มีใจคอกว้างขวางช่วยเหลือเกื้อหนุนโดยทั่วไป. ดุจดั่งพฤติการณ์ของพระเจ้าอโศก. พระสตูปหลายองค์ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ว่ากันว่าเป็นของพระองค์สร้างขึ้น เห็นจะเป็นความจริง เพราะว่าพระองค์เป็นมหาบุรุษและเป็นผู้ครองประเทศอันงดงามใหญ่โต ดูหน้า ๕๙ บทที่ ๑๐ โน๊ต ๑. ดูลัทธิของเพื่อนภาค ๓ ตอน ๑ หน้า ๖๖ ↩
-
๑๐๕. ชมพูทวีป เป็นมหาภาคพื้นธรณีส่วนหนึ่งในสี่แห่งสากลโลก ซึ่งสำแดงว่าตั้งอยู่ในโลกนี้ ตามมติความคิดเห็นของฝ่ายพุทธศาสนิกชน. และการที่เรียกนามดังนี้ ก็เพราะเหตุที่นึกเอาตามลำพังอำเภอน้ำใจว่า ทวีปนี้มีลักษณาการรูปร่างคล้ายคลึงกับต้นชมพู่, หรืออุดมไปด้วยชมพู่. ทวีปนี้กล่าวกันว่าอยู่ทิศเบื้องใต้แห่งเขาพระสุเมรุ และได้แบ่งปันในระหว่างกษัตริย์ทั้ง ๔ อันเป็นเรื่องปราศจากความจริง (E. H. หน้า ๓๖) ชื่อทวีปนี้เห็นใช้เรียกกันบ่อยๆ และบางที (ในหมู่พุทธศาสนิกชน) นามนี้หมายเฉพาะถึงอินเดีย. แต่ตามพุทธประวัติหน้า ๕ ว่าหมายถึงอินเดียทั้งประเทศ แบ่งเป็น ๒ ตอน ร่วมในซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวชาติที่เรียกว่าอริยกะ เรียกว่ามัชฌิมชนบท ร่วมนอกหรือหัวเมืองชั้นนอกเรียกว่าปัจจันตชนบท ซึ่งกำหนดว่าเป็นที่อยู่ของพวกมิลักขะหรือทัศยุ ↩
-
๑๐๖. กษัตริย์องค์นี้บางทีเป็นพระเจ้ากนิษกะนั่นเอง, ฟาเหียนเอามาเล่าปนกัน ด้วยขาดความชำนาญในข้อแตกต่างของเรื่องที่ตนกล่าว. Eitel เตือนว่ายังมีวัตถุธาตุโบราณอยู่ในนครที่มีนามว่าเชตล์หรือชัตส์ในทุกวันนี้แห่งหนึ่ง, และมีนามที่เรียกกันอยู่โดยสามัญอีกอย่างหนึ่งว่าทุขาระ, กษัตริย์องค์เป็นขาวเมืองอินโด-ไซเทียนแห่งประเทศกรีก, และเป็นนักประพันธ์อยู่ในประเทศตารตาร์ของจีน. ถูกพวกฮั่นยกกำลังเข้าขับไล่รุกรานเมื่อ พ.ศ. ๓๖๓ ซึ่งกระทำการได้ชัยชนะแว่นแคว้นทรานโซซิเอนาแล้ว เข้าสังหารราชอาณาจักรแบ็กเทรียน พ.ศ. ๔๑๗, และในที่สุดก็รุกรานชนะแว่นแคว้นปัญจาป, แคชเมียร์ ตลอดดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดีย. ในหมู่กษัตริย์ที่ถูกฮั่นรุกรานในยุคนี้เป็นพระเจ้ากนิษกะด้วยผู้หนึ่ง. ↩
-
๑๐๗. Watters ให้อรรถาธิบายความคิดและความเข้าใจของ (ฟาเหียน) ผู้แต่งความประโยคนี้ไว้โดยชัดเจนว่า ‘เป็นเคราะห์กรรมของ (กษัตริย์องค์นี้)’ ที่จะกระทำการติดต่อกับบาตรใบนี้ให้ยืดยาวอีกต่อไปไม่ได้, ดังนี้ คำว่า ‘เคราะห์กรรม’ สังเกตได้ว่าปราศจากการบังคับบัญชาด้วยอำนาจ. ตามความคิดของกษัตริย์องค์นี้ก็คือว่า บุญกุศลของพระองค์ที่ได้สร้างสมมาแต่ปางก่อน. ยังมีไม่พอกับที่จะถือเอาฐานะว่าเป็นเจ้าของบาตรใบนี้ได้. ↩
-
๑๐๘. คำในต้นฉบับภาษาจีนเขียนไว้ตรง ๆ ว่า ‘พวกนุ่งผ้าขาว,’ และใช้ตัวอักษรเดิมความหมายว่า ‘บุคคลธรรมดา’ ลง เพื่อจะให้พวกจีนสามัญทั้งหลายมีความเข้าใจดีขึ้นอีกด้วย, ดังนั้น ก็ควรกับความหมายแล้วว่า ‘อุบาสก.’ ดูปทานุกรมของ Williams ในคำว่า 白. ↩
-
๑๐๙. วิธีถวายเครื่องสักการะบูชาเช่นนี้ เรียกว่า ‘ขอเรติ.’ ในอินเดียทำเป็นแบบเดียวกันทั่วไปทุกอารามและเทวสถาน ถือเอาเวลาเป็นสำคัญที่จำต้องกระทำกัน ↩
-
๑๑๐. หนังสือ Hardy’s M. B. หน้า ๑๘๓ กล่าวไว้ว่า บาตรใบที่มหาพราหมณ์ถวายไว้เมื่อใกล้ ๆ กับเวลาที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้นั้นศูนย์ไปเสียแล้ว. ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงคิดจะไปเอาลูกมรกตมาทำบาตรถวาย แต่ไม่สำเร็จ ต่างจึงไปนำเอาหินมาทำเป็นบาตรขึ้น ๔ ใบ มีสีประดุจผลมังคุด. แล้วต่างองค์ต่างก็นำบาตรที่ตนทำนอบนำเข้าไปวิงวอนถวายแด่องค์พระพุทธเจ้าขอให้ทรงรับแล้ว. เมื่อมีเหตุดั่งนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบรรดาลให้บาตรทั้ง ๔ นั้นซ้อนรวมเข้าเป็นใบเดียวกัน ดังนั้นจึงปรากฏว่าริมขอบปากบาตรเบื้องบนยังคงเห็นมีรอยทับซ้อนกันอยู่. ดูเรื่องราวที่เป็นความแท้จริงอีกเรื่องหนึ่งใน Buddhist Birth Stories หน้า ๑๐๐. ปฐมสมโพธิ (ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๘) หน้า ๑๔๕ ว่าบาตรใบแรกที่อันตรธานไปแล้วนั้น เป็นบาตรดินที่ท้าวฆฏิการมหาพรมหมถวาย. ↩
-
๑๑๑. เทียบเคียงดูกับเรื่องราวในหนังสือ Luke’s Gospel, บทที่ ๒๑ หน้า ๑-๔ ↩
-
๑๑๒. ดูบทที่ ๘. ↩
-
๑๑๓. นี้ไม่ต้องสงสัยควรจะเป็นฮวุย-กิง, ฮุย-กิงในเวลานั้นเจ็บอยู่ที่นคาร, และความจริงภายหลังต่อมาได้ถึงมรณภาพลงในระหว่างทางข้ามภูเขาหิมวันต์น้อย. แต่หนังสือเรื่องนี้ทุกฉบับบอกว่ามรณภาพทั้งคู่ นามทั้ง ๒ นี้ทำให้ยุ่งในที่หมาย, เนื่องจากนักปราชญ์จีน. ↩
-
๑๑๔. ‘มาถึงที่สุดลง’ ตามตำรามีอรรถาธิบายว่า ได้พิสูจน์แล้วเป็นสิ่งที่ไม่ถาวรและไม่เที่ยงแท้, สำหรับความเป็นอยู่ของมวลมนุษย์. ดูปทานุกรมของ William ในคำ เป็นจำพวกคำแปลก ๆ สำหรับใช้ในครบถ้วนถูกต้องตามทางพุทธศาสนา. ↩