บทที่ ๔

ข้ามภูเขาตซุงหรือโอเนียนถึงกีห-จา

อาจเป็นสการโดหรือบางจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออก ในแคว้นลาดัก.

เมื่อการแห่พระในเดือนที่ ๔ เสร็จไปแล้ว. พระภิกษุเซ็ง-ชาว โดยลำพังผู้เดียว, ได้ออกตามชาวตารตาร์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ขวนขวายในพระธรรมวินัย,๔๙ ออกเดินทางไปทางจังหวัดโก-พิน.๕๐ ส่วนฟาเหียนกับเพื่อนสงฆ์ได้ออกเดินทางต่อไปทางราชอาณาจักรตซี-โฮะ,๕๑ โดยใช้เวลาเดินทาง ๒๕ วันจึงถึง. พระราชาแห่งแคว้นนี้นับถือธรรมวินัย๕๒ในพระพุทธศาสนาโดยเคร่งครัดเช่นเดียวกัน มีพระภิกษุอยู่ในแว่นแคว้นนี้กว่า ๑,๐๐๐ องค์, ส่วนมากที่สุดเป็นนิกายมหายาน. คณะของฟาเหียนได้หาที่พักอาศัยอยู่ ๑๕ วัน, จึงออกเดินทางต่อไปทางทิศใต้เป็นเวลา ๔ วัน, เมื่อได้ผ่านไปในระหว่างภูเขาตซุง-ลิงอันยืดยาวแล้ว ก็พบนครยุ-หวุย.๕๓ ณ ที่นี้ฟาเหียนกับเพื่อนสงฆ์ได้หยุดพักการเดินทางหาที่พักอาศัย.๕๔ เมื่อเวลาพัก (ประจำฤดูร้อน) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว, ฟาเหียนกับเพื่อนสงฆ์ได้ออกเดินทางต่อไปในระหว่างภูเขา๕๕เป็นเวลา ๒๕ วัน ถึงนครกีห-จา,๕๖ ณ ที่นี้ได้บรรจบพบกันกับภิกษุฮุย-กิง๕๗และเพื่อนสงฆ์ที่ไปด้วยกันอีก ๒ รูป.

  1. ๔๙. ตารตาร์, ณที่ตรงนี้ฉบับจีนใช้อักษร 道人 ซึ่งแปลว่า ชายคนหนึ่งแห่งแว่นแคว้นตาโอ. ที่เคารพนับถือพุทธศาสนา. Legge กล่าวว่า คนเช่นนี้มีมากหลายที่เห็นสำคัญผิดไปว่าไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เป็นคนนอกพุทธศาสนา. แต่จริงเป็นคนในพระพุทธศาสนา เพราะเขาเหล่านั้นมีความเคารพนับถืออยู่เสมอไปในทางที่จะกระทำตนให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยวิถีทั้งหลาย ที่จะดำเนินไปในชีวิตของเขา. ผู้ที่ได้นามเช่นนี้ ถือเอาประโยชน์ในการที่จะปฏิบัติกรณียกิจไปตามลำดับ ยิ่งกว่าที่จะเคารพต่อพิธีอันเป็นลัทธิในพุทธศาสนา.

  2. ๕๐. ดูเรื่องราวแห่งราชอาณาจักรโกพิน ในหนังสือจดหมายเหตุแห่งปฐมราชวงศ์ฮั่น พ.ศ. ๖๓๙ หน้า ๗๘ กล่าวว่า นครหลวงตั้งอยู่ห่างจากเชียงคัน ๒๔๔,๐๐๐ เส้น. ดินแดนทั้งหมดในภาคนี้ คือกาบุลอิสตานในปัจจุบันนี้. นามโกพินเป็นนามที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโกเฟส ซึ่งเห็นกันแน่ว่าเป็นสายเดียวกันกับแม่น้ำที่ในปัจจุบันนี้เรียกว่าคาบุล ซึ่งไหลลงไปบรรจบแม่น้ำสินธูจากทิศตะวันตกที่ตรงแอตต๊อกส์และผ่านไปลงเปษาวูร. เมืองคาบุลเป็นนครหลวงของประเทศอ๊าฟกันนิสตาน ซึ่งอาจเป็นโกพินที่กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ก็ได้. แต่ทราบไม่ได้ว่าทำไมเซ็ง-ชาวกับพวกของคนเดินทางไกลไปทางทิศตะวันตกดั่งนี้. ในสมุดเล่มนี้กล่าวไว้ชัดเจนโดยเฉพาะว่าภิกษุสงฆ์คณะนี้ได้ออกจากโข-เตนไปถึงโกพิน.

  3. ๕๑. ตซี-โฮะไม่ปรากฏว่าอยู่ไหน. Beal คิดว่าเป็นยารกันต์ ถึงกระนั้นก็ต้องอยู่ทางเบื้องตะวันตกเฉียงเหนือของโข- เตน. Watters กล่าวไว้ในหนังสือ China Review หน้า ๑๓๕ ว่า ที่เห็นชอบว่าใกล้จะถูกดีนั้นคือ ในบริเวณที่สืบต่อมาเรียกว่าตัษกูรกันในสิริกุล. ระยะทางที่ฟาเหียนเดินนานถึง ๒๕ วัน, ดั่งนั้น จากโข-เตนอย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็น ๖,๐๐๐ เส้น.

  4. ๕๒. พระราชาองค์นี้กล่าวตามลักษณะที่นั้น ย่อมเป็นพุทธศาสนิกชนจำพวกหนึ่ง ซึ่งยึดถือเอา ‘วิริยพละ’ (อำนาจแห่งกำลังความเพียร) เป็นสำคัญ ให้อยู่ในอำนาจของตน. ความเพียรมานะอดทนในการใช้กำลังแรงของตนเป็นหนึ่งในห้าแห่งอำนาจของกรณียะอันพึงกระทำ. (ดู E. H. หน้า ๑๗๐)

  5. ๕๓. ยุ-หวุย ไม่ปรากฏชัดว่าอยู่ที่ไหน. แต่ปรากฏว่าเมืองนี้อยู่ตรงไปทางทิศใต้จากจังหวัดซี-โฮะ และในระหว่างภูเขาโอเนี่ยน. Watters กล่าวตามบุญตามกรรมคาดคะเนว่าคืออักตัสกที่ปรากฏในแผนที่.

  6. ๕๔. ครั้งนี้เป็นการพักประจำฤดูร้อนอีกครั้งหนึ่ง จากที่ได้หยุดพักมาก่อนแล้วสองครั้ง, ตามระยะทางเดินของฟาเหียน แสดงว่าใกล้เข้าไปทางอินเดียแล้ว. คำนวณเวลาที่ฟาเหียนกับพรรคพวกได้เดินทางมาจากเชียง-กันล่วงแล้วมา ๒ ปี, ไม่ใช่ ๓ ปี. ขณะนี้เป็น พ.ศ. ๙๔๕.

  7. ๕๕. ตรงนี้ในฉบับเกาหลีใช้คำว่า 山, แต่สมัครที่จะใช้คำ 止 ตามฉบับจีนมากกว่า.

  8. ๕๖. ดูหน้า ๒๕ โน๊ต ๑. Watters เห็นชอบที่จะให้เป็นในแว่นแคว้นกลาปรอตส์และกำหนดว่าจังหวัดกีห-จา คืออิสการดูหรือสการโด. ที่กล่าวแล้ว-นี้เป็นการยากที่จะพิจารณาให้เห็นพ้องตามไปด้วย แต่ประโยชน์ยิ่งใหญ่อันควรจะทราบในการเดินทางก็ปรากฏแล้วว่า ข้ามแม่น้ำสินธุไป. และตามวิถีของแม่น้ำสายนี้เอง ซึ่งจะทำให้การเดินทางของฟาเหียนสามารถไปสู่จุดที่หมายได้สำเร็จตลอดไป. เพราะฉะนั้น จึงไม่สู้จำเป็นนัก ที่จะต้องพรรณนาให้ละเอียดถี่ถ้วนในตอนนี้.

  9. ๕๗. ภิกษุคณะนี้ได้ออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนคณะฟาเหียนจากที่โข-เตน. ดู ธ. เล่ม ๒๒ ตอน ๙ หน้า ๗๕๑.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ