บทที่ ๔๐

ภายหลังเวลา ๒ ปีล่วงแล้วไป, ฟาเหียนโดยสารเรือกำปั่นใบจากซีลอนกลับเมืองจีน. เคราะห์ร้ายในระหว่างเดินทางไปชวา, และจากที่นั่นไปเมืองจีน. ถึงชานตุงและต่อไปนานกิง.

ฟาเหียนพักอาศัยอยู่ในนครนี้ ๒ ปี. ได้รับคัมภีร์เพิ่มขึ้น (จากที่ได้ไว้ในปัตนะ) สมความปรารถนาอีกคัมภีร์หนึ่ง คือวินัยปิฎกแห่งมหีศาสกาห,๔๑๑ ทีรคหาคม และสัมยุกตาคม๔๑๒ (สูตร) กับ สัมยุกตสัญจยปิฎก๔๑๓ดุจเดียวกันอีกผูกหนึ่ง, ทั้งหมดนี้ยังไม่ทราบทางปฏิบัติกันเลยในแดนฮั่น. เมื่อได้ทำงานคัดคัมภีร์สันสกฤตสำเร็จแล้ว, ฟาเหียนได้โดยสารเรือพาณิชขนาดใหญ่ลำหนึ่ง, ซึ่งมีผู้โดยสารในเรือกว่า ๒๐๐ คน และมีเรือเล็กผูกเชือกใหญ่เกาะข้างห้อยไปด้วยลำหนึ่ง, เพื่อเป็นกำลังในเมื่อประสบเหตุภัยอันตรายร้ายแรงจากการเดินเรือ. เมื่อมีลมพัดมาตามความต้องการ, นายเรือจึงดำเนินการออกเรือไปทางตะวันออกเป็นเวลา ๓ วัน ก็ไปเผชิญเข้ากับมหาวาตะ. เรือเกิดรั่วมีน้ำพุ่งเข้ามาภายในได้แห่งหนึ่ง, นายเรือพาณิชปรารถนาที่จะ (แบ่ง) ให้ไปกันโดยเรือเล็ก, แต่คนที่ต่างตกใจกลัวมีอยู่บนเรือมากเกินกว่าที่จะไปได้, จึงต้องตัดเชือกเรือเล็กที่ผูกติดอยู่ (ให้หลุดไป) นายพาณิชกลัวอันตรายมาก, กำลังมีความรู้สึกอยู่ว่าคนโดยสารทั้งหลายจะถึงความตายเพราะด้วยภัยอยู่โดยเร็วที่สุดแล้ว. เกรงว่าเรือจะบรรทุกสิ่งของอยู่หนักเกินไป, เขาจึงขนเอาสินค้าที่ใหญ่โตรุงรังทั้งหลายทิ้งลงในน้ำหมด ดุจเดียวกันฟาเหียนก็ได้เอากุณฑิกา๔๑๔และชามอ่างซักผ้าของตน, กับสิ่งของอย่างอื่นบ้างทิ้งลงไปในทะเล. แต่ (ก็ยัง) เกรงว่านายพาณิชจะเอาสมุดคัมภีร์และพระพุทธรูปที่ยังเหลืออยู่บนเรือทิ้งเสียอีก, ฟาเหียนได้รวบรวมความรู้สึกในใจทั้งหมดให้ระลึกถึงไปโดยเฉพาะต่อพระกวัน-ชิ-ยิน,๔๑๕ และมอบชีวิตของตนไว้ (ในความคุ้มครอง) ต่อวิหารแห่งประเทศฮั่น.๔๑๖ (และอธิษฐานว่า) ‘ข้าพเจ้าได้เดินทางไกลไปเสาะแสวงหาพระธรรมมาแล้ว. ภยันตรายที่น่าพึงกลัวอันจะบังเกิดขึ้นต่อไปด้วย (อำนาจ) เหนือความเป็นธรรมดาของพระองค์นั้น, ได้โปรดให้ข้าพเจ้ารอดพ้นจากความพลัดพรากจากถิ่นฐานกลับไปสู่สำนักของข้าพเจ้า (ด้วยเถิด).’

ในทางนี้พายุใหญ่๔๑๗มีเรื่อยต่อไปตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน, จนกระทั่ง ๑๓ วันพาเอาเรือไปสู่ข้างเกาะแห่งหนึ่ง, ณ ที่นั้นเมื่อกระแสน้ำไหลลง, จนพบรอยช่องที่เรือรั่ว, และได้หยุดพักการเดินเรือชั่วคราวแล้วจึงทำการเดินทางต่อไป. ในทะเล (ย่านแถวนี้) มีพวกโจรสลัดชุกชุม, ถ้าพบกับมันก็คือความตายซึ่งจะมาถึงโดยด่วน. มหาสมุทรแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขต, จนไม่ทราบว่าตะวันออกตะวันตกทางไหน, จะตรวจตราเห็นได้แต่เฉพาะพระอาทิตย์พระจันทร์และดาว ที่ช่วยให้สามารถเดินทางมุ่งหน้าต่อไปได้. ถ้าเมื่อท้องฟ้าอากาศมืดมัวไปด้วยฝน, ลมก็พาเรือเดินทางไปโดยปราศจากวิถีทางใด ๆ ซึ่งจะเป็นการแน่นอน. ในความมืดมิดแห่งรัตติกาล, สิ่งที่จะเห็นได้โดยเฉพาะก็คือคลื่นก้อนมหึมากระทบซึ่งกันและกัน, บังเกิดเป็นประกายแสงสว่างพลุ่งขึ้นประหนึ่งดวงไฟ. และเต่าขนาดใหญ่กับสัตว์อื่นๆ ที่ใหญ่โตดุจดั่งยักษ์อันมีอยู่ในท้องทะเลลึก. นายพาณิชเต็มไปด้วยความหวาดกลัวด้วยเหตุที่ไม่ทราบว่าจะไปทางไหน, ท้องทะเลก็ลึกเหลือที่จะหยั่ง, และไม่มีสถานที่แห่งใดที่จะทอดสมอหยุดลงได้. แต่เมื่อขณะที่ท้องฟ้าอากาศแจ่มใส, บอกทิศตะวันออกตะวันตกได้, (เรือ) ก็จะเดินทางก้าวหน้าไปถูกต้องตามทิศทางได้อีก. ถ้าเรือเข้าไปสู่หินที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ, ณ ที่นั้นก็เป็นอันหมดหนทางที่จะรอดพ้นได้ต่อไป.

ภายหลังที่ได้ดำเนินมาในทางนี้ได้ ๙๐ วันกว่าๆ, เรือก็ไปถึงนครแห่งหนึ่งเรียกว่า ชวา-ทวีป. ณ ที่นี้ศาสนาแบบลัทธิของพราหมณ์ที่หลงผิดต่าง ๆ กำลังรุ่งเรือง, ฝ่ายพุทธศาสนา ณ ที่นี้ไม่เป็นประโยชน์ที่จะกล่าวถึง. ภายหลังที่ได้พักอยู่ในที่นี้ ๕ เดือน, ฟาเหียนได้ลงโดยสารเรือพาณิชขนาดใหญ่อีกลำหนึ่ง ซึ่งมีคนโดยสาร ๒๐๐ กว่าเช่นเดียวกัน. เรือลำนี้บรรทุกเสบียงไปด้วยสำหรับ ๕๐ วัน, และได้ตั้งต้นเดินทางเมื่อ ณ วันที่ ๑๖ แห่งเดือนที่ ๔

ฟาเหียนจำพรรษาอยู่ในเรือ. พวกพาณิชเดินเรือไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ, ด้วยความประสงค์จะไปขายของที่กวางเจา. ต่อมาเป็นเวลาเดือนเศษ, เมื่อกลองในราตรีกาลย่ำเสียงยาม ๒, เรือก็ไปเผชิญเข้ากับลมดำและพายุฝนอย่างหนัก, ซึ่งพวกพ่อค้าและคนโดยสารต่างตกใจหวาดกลัวต่อภยันตรายด้วยกัน. ฟาเหียนได้รวบรวมกำลังใจของตนทั้งหมดระลึกมุ่งเฉพาะถึงพระกวัน-ชิ-ยินและคณะภิกษุสงฆ์ในประเทศฮั้นอีกครั้งหนึ่ง. ด้วยอำนาจอันลึกลับช่วยคุ้มครองป้องกันจึงตลอดรอดพ้นมาได้จนถึงเวลารุ่งขึ้นเช้าตรู่. ภายหลังเวลารุ่งเช้าพวกพราหมณ์ปรึกษาพร้อมกันว่า ณ ที่นี้มีพระสมณะองค์นี้อยู่บนเรือ, ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความอาเพศเคราะห์กรรม, ที่นำมาให้พวกเราต้องทนทุกข์ลำบากอยู่อย่างขมขื่นอันสาหัสในเวลานี้. ควรจะส่งให้พระภิกษุรูปนี้ขึ้นเสียที่ชายฝั่งแห่งใดแห่งหนึ่ง, เราไม่ควรจะยอมเห็นแก่คน ๆ เดียวให้พวกเราเองต้องเผชิญอยู่กับความใกล้ต่ออันตรายเช่นนี้. แต่อย่างไรก็ดี, มีผู้อนุเคราะห์ฟาเหียนคนหนึ่งกล่าวแก่พวกนั้นว่า ถ้าท่านส่งภิกษุรูปนี้ขึ้น, ท่านก็จะต้องส่งฉันขึ้นในเวลาเดียวกันนั้นด้วย, และถ้าท่านไม่กระทำดั่งนั้น, ท่านจะต้องฆ่าฉันเสียก่อน. ถ้าท่านส่งสมณะรูปนี้ขึ้น, เมื่อฉันไปถึงประเทศฮั่น, ฉันจะเข้าไปเฝ้าพระราชาและจะฟ้องท่านขึ้น. พระราชาทรงเคารพและเชื่อถือต่อพระธรรมของพระพุทธองค์ดุจเดียวกัน, และทรงเคารพต่อพระภิกษุทั้งหลาย. พวกพ่อค้าบนเรือต่างมีความฉงนใจ, และในบัดเดียวนั้นก็ไม่กล้าที่จะกระทำการส่ง (ฟาเหียน) ขึ้นฝั่ง.

ในเวลานี้ท้องฟ้าอากาศยังคงมืดมัวอยู่มาก, และพวกพนักงานที่ใช้ใบต่างมองดูซึ่งกันและกัน, ในเหตุที่ได้กระทำการพลาดพลั้งลง. โดยเวลาก็ได้ผ่านพ้นมาแล้วกว่า ๗๐ วัน, เสบียงอาหารและน้ำก็เหลือน้อยใกล้จะหมดอยู่แล้ว. ต่างต้องใช้น้ำเค็มในทะเลสำหรับทำครัว, และต้องแจกปันน้ำ (จืด) กันโดยประณีตเพียงคนละ ๒ ถ้วย (แก้ว) และในขณะเดียวกับที่เสบียงทุกอย่างจวนจะหมดลิ้นลงไปนี้, ผู้แทนพวกพาณิชคนหนึ่งได้กล่าวขึ้นว่า ตามธรรมดาเท่าที่กะประมาณเวลาแห่งการแล่นใบมา เราควรจะถึงกวาง-เจาแล้ว, และบัดนี้เป็นเวลาล่วงแล้วมามากมายหลายวัน, ต้องเป็นการที่เราได้ยึดเอาหนทางเดินเรือผิดมาแล้วกระมัง ? ในทันใดนั้น พวกพนักงานก็บังคับเรือให้แล่นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ, และคอยมองตรวจดูฝั่ง. ภายหลังเมื่อได้แล่นใบทั้งกลางวันกลางคืนมาได้ ๑๒ วัน, ก็บรรลุถึงชายฝั่งทางทิศใต้แห่งภูเขาลาว,๔๑๘ ซึ่งเป็นชายอาณาเขตของมณฑลจัง-กวัง.๔๑๙ และในขณะเดียวนั้น ก็ไปจัดหาน้ำจืดและผักสดกัน. พวกเราได้ผ่านตลอดรอดฝั่งมาได้จากอันตรายและความลำบากยากเข็ญมากหลาย, อันเป็นไปด้วยความกระวนกระวายหวาดเกรงต่อภัยมาด้วยกันแล้วหลายวัน. และบัดนี้ได้มาถึงชายฝั่งแห่งนี้, ทันทีที่ได้เห็นต้นลายและต้นโควะ๔๒๐เหล่านั้น จึงทราบความจริงได้ว่าที่นี่เป็นดินแดนของประเทศฮั่น. แต่ถึงกระนั้นก็ดี, เรายังมิได้เห็นผู้คนหรือแม้แต่ร่องรอยของผู้ใดเลย. จึงไม่กระทำให้เป็นที่ทราบได้ว่า ณ ที่นี้เป็นที่ไหน. บางคนกล่าวว่า พวกเรายังไม่ถึงกวัง-เจา, บางคนว่าผ่านเลยมาแล้ว. ในที่สุดเมื่อ (ยัง) ไม่ทราบว่าถึงที่ไหนกันแน่แล้ว. (บางคน) จึงเอาเรือเล็กลำหนึ่งลงพายเข้าไปในลำธาร, เพื่อดูว่าจะมีใครบ้างที่พวกเราอาจสอบถามให้ทราบได้ว่าที่ตำบลนี้เป็นที่ไหน. พวกเหล่านั้นไปพบพราน ๒ คน, และได้พาเขาทั้ง ๒ กลับมาพร้อมกัน, และได้เรียกให้ฟาเหียนทำหน้าที่เป็นล่ามสอบถามคนทั้ง ๒ นั้น. ฟาเหียนเริ่มต้นกล่าวไปในทางที่จะให้คนทั้ง ๒ ไว้วางใจ, และถามเขาอย่างช้า ๆ โดยชัดเจนว่า ‘ท่านเป็นใคร?’ เขาตอบ ‘เราเป็นพุทธสาวก.’ เมื่อฟาเหียนถามอีกว่า ‘ท่านกำลังมาดูอะไรอยู่ในระหว่างเขาเหล่านี้?’ เขาเริ่มต้นกล่าวมุสา๔๒๑ว่า ‘พรุ่งนี้เช้าเป็นวัน ๑๕ ค่ำ เดือน ๗, เราต้องการเก็บผลมะเดื่อบ้างเล็กน้อยเอาไปถวายพระพุทธเจ้า.๔๒๒ ฟาเหียนถามต่อไป. ‘ที่เป็นจังหวัดอะไร?’ เขาตอบ, ‘ที่นี่เป็นชายแดนของมณฑลรจัง-กวัง, ภาคหนึ่งแห่งตซิง-เจาภายใต้ ( (ความครอบครองของ) ราชวังแห่งตฺซิน.’ เมื่อได้ความดั่งนี้พวกพาณิชดีใจมาก, ได้สอบถามถึงเรื่องเงินและสินค้า (ที่จะซื้อขาย), และในทันใดนั้นได้ส่งคนไปยังเมืองจัง- กวัง. ลี-อีข้าหลวงเทศบาลเป็นคนเคารพนับถือพระพุทธศาสนา, เมื่อได้ทราบว่ามีสมณะองค์หนึ่งข้ามทะเลมาถึงโดยเรือใบลำหนึ่ง, และนำเอาคัมภีร์กับพระพุทธรูปมาด้วย, ในทันทีเขาได้มาถึงฝั่งทะเลพร้อมด้วยคนป้องกันรักษา พบ (กับฟาเหียน). และรับเอาพระคัมภีร์ทั้งหลายกับพระพุทธรูป, และเชิญฟาเหียนกลับไปพร้อมกัน, ให้พักอยู่ ณ ที่ทำงานของเทศาภิบาล. ส่วนพวกพาณิชได้ออกเรือกลับไปยังยัง-เจา๔๒๓ตามความต้องการ. เมื่อ (ฟาเหียน) มาถึงที่ตซิง-เจานี้แล้ว, (เทศาภิบาล๔๒๔ที่นี่) ได้ขอให้ฟาเหียน (พักอยู่ด้วย) ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน. ภายหลังเมื่อฤดูร้อนได้ถึงที่สุดล่วงแล้วไป, ฟาเหียนได้พลัดพรากจาก (เพื่อนฝูง) ครูบาอาจารย์ของตนไปเป็นเวลานาน, ใคร่จะรีบกลับไปให้ถึงเชียง-กัน. แต่ยังมีภาระซึ่งเป็นการสำคัญอยู่ในมือ ฟาเหียนจึงออกเดินไปทางใต้จนถึงนครหลวง.๔๒๕ และได้สอบถามไล่เลียงกับคณาจารย์ (ณ ที่นั้น), และได้สำแดงสูตรต่างๆ กับเรื่องราวแห่งวินัย (ซึ่งฟาเหียนไปขวนขวายหามา).

ตั้งแต่ฟาเหียนได้ออกจากเชียง-กันเดินทางไปจนลุถึงมัชฌิมประเทศในอินเดียเป็นเวลา ๖ ปี, หยุดพักอยู่ (ในอินเดีย) เป็นเวลาอีก ๖ ปี และเดินทางกลับตซิง-เจา ๓ ปี ตลอดอาณาจักรที่ได้ท่องเที่ยวผ่านไปกว่า ๓๐ แห่ง. ตั้งแต่จากทะเลทรายไปทางตะวันตกจนถึงอินเดีย. เกียรติศักดิ์แห่งมรรยาทของภิกษุทั้งหลาย. ที่แปรรูปขึ้นโดยความชุบย้อมด้วยธรรมวินัยนั้น. เป็นที่งดงามจนเกินกว่าอำนาจภาษาถ้อยคำที่จะกล่าวพรรณนาให้บริบูรณ์ได้. ส่วนคณาจารย์ของเราไม่มีใครเป็นหัวหน้าที่จะดำริพิจารณาในเรื่องนี้ให้สำเร็จไปได้โดยสถานใด. โดยเหตุนี้ฟาเหียนจึง (ท่องเที่ยวไปอินเดียโดย) ปราศจากความอาลัยใยดีต่อชีวิตอันยากเข็ญของตน. จนกลับมา เผชิญภัย ในท้องทะเลลึก, อันตกอยู่ในห้วงอันตรายและอุปสรรคต่างๆ ถึง ๒ คราว. แต่เดชะบุญพอดีที่ได้ตลอดรอดฝั่งมาจากความหวาดเกรงต่อภยันตรายได้ ก็โดยอำนาจแห่งสิ่งที่เคารพทั้ง ๓,๔๒๖ ซึ่งได้โปรดประทานความเมตตาอนุเคราะห์รับคุ้มครองป้องกันในเหตุภยันตรายทั้งปวงของตน. เพราะฉะนั้น ฟาเหียนจึงมาเขียนเรื่องราวอันเป็นความรู้รอบของตนในเรื่องนี้ขึ้น. ซึ่งสมควรที่ผู้อ่านทั้งหลายจะมีส่วนได้ร่วมรู้เห็นในข้อความที่ฟาเหียนผู้เป็นประธานได้กล่าวมาแล้วนี้ด้วย.

  1. ๔๑๑. คัมภีร์นี้ พุทธชีวะกับพระสมณะจีนอีกองค์หนึ่งแปลออกเป็นภาษาจีน เมื่อในราว พ.ศ. ๙๖๘. ดั่งปรากฏในคันภีร์ Najio’s Catalogue ลำดับที่ ๑,๑๒๒. เป็นคัมภีร์สำหรับการศึกษาส่วนหนึ่งที่ได้แบ่งแยกออกจากสารวาสติวาท.

  2. ๔๑๒. คัมภีร์ Nanjio’s ลำดับที่ ๕๐๔ กับ ๙๔๕. อาคมหรือสูตรของหีนยาน, แบ่งส่วนตามหนังสือ Eitel หน้า ๔-๕ เป็น ๔ แผนก, เริ่มต้นด้วย ทีรฆาคม ซึ่งเป็นโอวาทอันว่าด้วยความประพฤติอันเที่ยงธรรม, สัมยุกตาคม รวมอาคมทั้งหลาย.

  3. ๔๑๓. มีความหมายว่า ปกิณณกะ. เป็นส่วนหนึ่งของปิฎกที่ ๔. ใน Nanjio’s แบ่งเอาข้อบัญญัติเหล่านี้ออกเป็นส่วนที่ ๔ ของปิฎก, ซึ่งบรรจุข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของอินเดียและจีนไว้. แต่ Dr David’s กล่าวว่า ข้อปฏิบัติที่มีนามดั่งนี้ไม่มีในหนังสือฝายสันสกฤตและบาลี.

  4. ๔๑๔. กุณฑิกา, Eitel อธิบายว่าในภาษาสันสกฤตคือหม้อน้ำมีหู.

  5. ๔๑๕. ดูโน๊ต ๒ หน้า ๘๘.

  6. ๔๑๖. ครั้งนี้ฟาเหียนเพิ่งเริ่มต้นนึกแสวงหาที่พึ่งอันประเสริฐ ๓ ดั่งกล่าวไว้ในท้ายบทนี้.

  7. ๔๑๗. ฟาเหียนเขียนอักษรจีนไว้ว่า ตาฟุง คือลมไทฟูน.

  8. ๔๑๘. ตรงที่ตอนใต้ของชาน-ตุงซึ่งมีเนินเขาเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล, อันเป็นเชิงภูเขาลาว, และนามนี้ใช้เรียกตำบลตอนใต้ที่สุดของแหลมแห่งนี้. ทางทิศตะวันออกจากเกียว-เจามีหมู่บ้านตเซียะ-มิหมู่หนึ่งซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแหลมนี้. ตำบลเหล่านี้รวมอยู่ในจังหวัดปิง-ตู-เจา, ซึ่งขึ้นอยู่กับเลียว-เจาในปัจจุบันนี้. นามปิ่ง-ตูมีอยู่ในครั้งราชวงศ์ฮั่น, ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๒๒-๑๐๔๔. แล้วเปลี่ยนเป็นจัง-กวัง. ฟาเหียนเขียนเรื่องราวการเดินทางภายหลังที่ได้เปลี่ยนนามที่กล่าวแล้วนี้. ดูหนังสือ Topographical Tables of different Dynasties ซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘.

  9. ๔๑๙. ตรงที่ตอนใต้ของชาน-ตุงซึ่งมีเนินเขาเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล, อันเป็นเชิงภูเขาลาว, และนามนี้ใช้เรียกตำบลตอนใต้ที่สุดของแหลมแห่งนี้. ทางทิศตะวันออกจากเกียว-เจามีหมู่บ้านตเซียะ-มิหมู่หนึ่งซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแหลมนี้. ตำบลเหล่านี้รวมอยู่ในจังหวัดปิง-ตู-เจา, ซึ่งขึ้นอยู่กับเลียว-เจาในปัจจุบันนี้. นามปิ่ง-ตูมีอยู่ในครั้งราชวงศ์ฮั่น, ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๒๒-๑๐๔๔. แล้วเปลี่ยนเป็นจัง-กวัง. ฟาเหียนเขียนเรื่องราวการเดินทางภายหลังที่ได้เปลี่ยนนามที่กล่าวแล้วนี้. ดูหนังสือ Topographical Tables of different Dynasties ซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘.

  10. ๔๒๐. ต้นผัก ๒ อย่างที่ฟาเหียนกล่าวถึงนี้, ยากจะเข้าใจได้ว่าอะไรแน่. ในปทานุกรมของวิลเลียมส์ (Williams) รวมคำทั้ง ๒ (ลาย-โควะ) เข้าในวรรคเดียวกัน, อธิบายเอาง่าย ๆ ว่า ผักต้มซุปชนิดหนึ่ง.

  11. ๔๒๑. คนทั้ง ๒ น่าจะเป็นพรานจริง. แต่เมื่อมาพบฟาเหียนซึ่งเห็นเป็นสมณะ, อยากจะพูดให้ถูกใจ, เลยบอกว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า. แต่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทำไมจึงมีอาชีพในทางเป็นพราน. เมื่อถูกฟาเหียนถามดักคอจนแต้มเข้า, เลยไถลไปว่ามาเที่ยวหาเก็บลูกมะเดื่อ.

  12. ๔๒๒. ที่ว่าหาผลไม้ไปถวายพระพุทธเจ้านั้น, ดูเป็นเรื่องแตกต่างไปจากความเข้าใจตามปกติอยู่บ้าง. แต่ Rémusat Beal กับ Giles บอกว่า เท่ากับพิธีถวายเครื่องสักการบูชาตามธรรมดานั้นเอง. แต่ที่จริงผลไม้น่าจะเป็นของถวายพระสงฆ์จะเหมาะกว่า.

  13. ๔๒๓. เห็นจะเป็นยัง-เจาที่รวมอยู่กับเกียง-ซูในปัจจุบันนี้. แต่ตามเรื่องราวที่ฟาเหียนกล่าวไม่ได้ความชัดเจนว่าไปทางนั้น, ดังที่กล่าวไว้แล้วในโน๊ตก่อน.

  14. ๔๒๔. คือลี-อีเทศาภิบาลกระมัง.

  15. ๔๒๕. เห็นจะไม่ใช่เชียง-กัน, แต่เป็นนาน-กิงซึ่งเป็นนครหลวงแห่งราชวงศ์ตฺซินตะวันออก.

  16. ๔๒๖. คำว่า ‘สิ่งที่เคารพทั้ง ๓’ นี้เป็นครั้งแรกที่ฟาเหียนใช้, ซึ่งคงมีความหมายอย่างเดียวกันกับคำว่า ‘สิ่งอันประเสริฐทั้ง ๓’ (พระรัตนตรัย), กับคำว่า ‘สิ่งที่เคารพของโลก’ ซึ่งข้าพเจ้าใช้คำแปลว่า ‘พระบรมโลกนาถ,’ อันเป็นคำที่ฟาเหียนเคยใช้มาตลอดเรื่องนี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ