บทที่ ๓๗

จัมปานครและตามลิปตี. พักทำงานที่นี่ ๓ ปี ลงเรือไปสิงหฬ.

ตามวิถีแห่งแม่น้ำกันจีส์ (คงคา) ไปทางตะวันออกโดยระยะทาง ๑๘ โยชน์, ฟาเหียนได้เดินทางไปพบมหาอาณาจักรจัมปา๓๗๖ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งใต้. กับพระสตูปซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินจงกรม, และต่อท้ายไปเป็นวิหารของพระองค์, กับสถานที่ที่พระองค์และพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ แต่อดีตทรงประทับนั่ง. สถานที่ทุกแห่งมีพระภิกษุอยู่สำนักอาศัย. ฟาเหียนได้เดินทางต่อไปทางตะวันออกอีกเกือบ ๕๐ โยชน์, ก็ไปถึงนครตามลิปตี,๓๗๗ ซึ่งเป็นเมืองท่าชายทะเลแห่งหนึ่ง (ของแคว้นจัมปา). ในนครนี้มีอารามอยู่ ๒๒ แห่ง. ทุกอารามมีพระภิกษุอยู่สำนักอาศัย, พระธรรมวินัยของพระพุทธองค์กำลังรุ่งเรืองดุจเดียวกัน. ณ ที่นี้ฟาเหียนพักอยู่ ๒ ปี, เพื่อทำการคัดเขียนพระสูตร๓๗๘ของตน, และวาดภาพพระพุทธปฏิมา.

ต่อจากนี้ฟาเหียนได้ลงเรือกำปั่นใหญ่ของพาณิชลำหนึ่ง, และได้ลอยลำไปบนพื้นทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้. เป็นเวลาเริ่มต้นแห่งฤดูหนาว, กระแสลมช่วยพัดส่งให้ตามความประสงค์, ภายหลังจากเวลาที่ออกเรือแล่นใบมาได้ ๑๔ วัน กับ ๑ คืน ก็ถึงนครสิงหฬ.๓๗๙ พวกชาวบ้านราษฎรพูดกันว่า สิงหฬห่างไกล (จากตามลิปตี) ประมาณ ๗๐๐ โยชน์.

ราชอาณาจักรนี้ตั้งอยู่บนเกาะใหญ่, มีขอบเขตจากตะวันออกถึงตะวันตก ๕๐ โยชน์, และจากเหนือถึงใต้ ๓๐ (โยชน์). ด้านซ้ายและขวาของเกาะใหญ่นี้, มีเกาะเล็ก ๆ อีกมากมายในราว ๑๐๐ เกาะ, ห่างจากกันและกัน ๒๐๐, ๔๐๐, หรือในที่สุด ๔,๐๐๐ เส้น. แต่ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของเกาะใหญ่ทั้งหมด. เกาะเหล่านี้เป็นที่บังเกิดไข่มุกด์และพลอยหินอันมีค่าชนิดต่างๆ. ณ ที่เกาะแห่งหนึ่งเป็นที่กำเนิดไข่มุกด์น้ำดีบริสุทธิ์,๓๘๐ เป็นเกาะรูป ๔ เหลี่ยมจัตุรัสประมาณ ๒๐๐ เส้น. พระราชาได้จ้างคนให้คอยเฝ้าป้องกันรักษา, เพื่อประสงค์คอยเรียกเก็บภาษีชักสามจากจำนวนทุกๆ สิบของไข่มุกด์ที่หาได้.

  1. ๓๗๖. เห็นทีจะเป็นเมืองซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกจัมปนคุระ, ห่างจากพาคลิปุระไปทางตะวันตก ๑๒๐ เส้น. แลตติจู๊ต ๒๕° ๑๔′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๕๖° ๕๕′ ตะวันออก.

  2. ๓๗๗. เป็นเมืองที่ชุมนุมการค้าขายแลกเปลี่ยนอันสำคัญในระหว่างซีลอน (สิงหฬ) กับเมืองจีน.ในปัจจุบันนี้เรียกตัม-ลุก. แลตติจู๊ต ๒๒° ๑๗′ เหนือ, ลองติจู๊ต ๘๘° ๒′ ตะวันออก. ใกล้กับปากอ่าวฮูกลี.

  3. ๓๗๘. บางทีจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎก, ซึ่งฟาเหียนมาได้ที่นี่อีก.

  4. ๓๗๙. สิงหฬ, คือราชอาณาจักรของราชสีห์, หรือที่เรียกกันโดยมากว่า ซีลอน. สิงหฬเป็นนามที่พวกพ่อค้าอินเดียผู้มาเผชิญภัยแต่โบราณตั้งนามให้. ในสยามเราโดยมากเรียกกันว่าลังกาหรือเกาะลังกา

  5. ๓๘๐. เรียกว่ามณีมุกดา. มณีมีอรรถาธิบายว่า ปราศจากราคี. มักใช้เรียกเปรียบเทียบธรรมวินัยของพระพุทธองค์. และลูกประคำก็มักว่าทำด้วยมณีอันมีค่าประเสริฐ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ